หน้าหลัก ภาษาไทย การอ่านและการเขียน การวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมร้อยแก้ว
การวิเคราะห์วรรณคดีและวรรณกรรมร้อยแก้ว PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันพุธที่ 07 สิงหาคม 2013 เวลา 12:56 น.

 


 วรรณคดี/วรรณกรรมประเภทร้อยแก้วควรพิจารณาองค์ประกอบดังต่อไปนี้


 


๑. รูปแบบคำประพันธ์ วรรณคดีร้อยแก้วจำแนกตามลักษณะของการเขียนได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
 

 

๑.๑ สารคดี หมายถึง งานนิพนธ์ที่มุ่งให้ความรู้ เสนอสารที่เป็นจริงตามข้อเท็จจริง เหตุการณ์ และบุคคลที่เป็นจริง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความรู้และได้รสจากการอ่าน รสของการอ่านจะได้รับมากน้อยอยู่ที่ศิลปะการใช้ภาษาของผู้เขียนแต่ละบุคคล
๑.๒ บันเทิงคดี หมายถึง งานนิพนธ์ที่เป็นเรื่องเล่าสมมุติหรือมีความเป็นจริงตามข้อเท็จจริงอยู่บ้าง หรือ มุ่งให้ความบันเทิงและความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งบันเทิงคดีอาจแทรกความรู้ ความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ไว้ด้วย

 

สารคดี
การวิจารณ์วรรณกรรมร้อยแก้วประเภทสารคดี พิจารณาองค์ประกอบดังต่อไปนี้
๑. รูปแบบลักษณะการเขียนวรรณกรรมร้อยแก้วประเภทนี้มีหลายรูปแบบ เช่น เรียงความ ความเรียง

 

บทความ จดหมายเหตุ บันทึกเหตุการณ์ บันทึกความทรงจำ คำบรรยาย เป็นต้น

 

งานเขียนแต่ละรูปแบบล้วนมีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาในการเขียนแตกต่างกันไป มุ่งให้ความรู้ทางวิชาการความรู้ทางเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เสนอความคิดให้แง่คิดในการปฏิบัติตน มุ่งโน้มน้าวใจ ปลุกใจ วิจารณ์ เป็นต้น

 

การวิจารณ์วรรณกรรมร้อยแก้วนี้ ผู้อ่านต้องพิจารณารูปแบบและจุดมุ่งหมายของวรรณกรรมนั้นๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่

 

๒. เนื้อหาประกอบด้วยโครงเรื่องและเนื้อเรื่อง
๒.๑ โครงเรื่อง คือหัวข้อย่อยที่สร้างขึ้นจากแนวคิดสำคัญ จากโครงเรื่อง จะมีการต่อเติมเสริมแต่งจนกลายเป็นเนื้อเรื่อง
๒.๒ เนื้อเรื่อง เป็นส่วนที่ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องอะไรบ้าง มีสาระสำคัญอะไร

 

เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้
ส่วนขั้นนำเป็นการกล่าวข้อความที่จะนำไปสู่เรื่อง ผู้เขียนอาจเริ่มด้วยประโยคเด่นที่เป็นประโยคสำคัญ
ส่วนที่เป็นตัวเรื่องเขียนกล่าวถึงความเป็นจริง หรือเป็นข้อความรู้ ความคิดเห็นอาจมีการอ้างอิงข้อความที่เป็นคำกล่าวของผู้ทรงคุณวุฒิ หรือสอด- แทรกประสบการณ์ อุทาหรณ์ของผู้เขียนลงไป    เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้น่าเชื่อถือ มีการเสนอปัญหาทางแก้ไขปัญหา    ทั้งนี้อยู่ที่จุดมุ่งหมายของผู้เขียนว่าต้องการอย่างไร                                           

ส่วนท้ายเรื่อง เป็นการเน้นข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้อ่านเห็นเด่นชัด อาจทิ้งท้ายด้วยปัญหาเพื่อท้าทายให้ผู้อ่านคิดต่อไป
                   การวิจารณ์วรรณคดีร้อยแก้วประเภทสารคดีนี้ นักเรียนต้องจับแนวความคิดสำคัญของผู้เขียนให้ได้ว่าเนื้อความที่เขียนเป็นความรู้ ความคิดเห็น หรือเป็นข้อเท็จจริง พิจารณาดูความถูกต้อง ความมีเหตุผลน่าเชื่อถือในการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียน พิจารณาถึงประโยชน์และความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอไปปฏิบัติ

 

๓. กลวิธี การวิจารณ์กลวิธีนักเรียนต้องพิจารณาวิธีเขียนของผู้เขียนว่า ใช้วิธีแบบเรียบง่ายหรือซับซ้อน การลำดับความเป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่ เนื้อความน่าอ่าน ลื่นไหล หรือวกไปวนมาจนจับใจความไม่ได้ การแบ่งเนื้อหาเป็นหัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย สัมพันธ์กัน และ สอดคล้องกันหรือไม่ การนำเสนอมีแนวคิดสร้าง-สรรค์ไปปฏิบัติได้

 

๔. การใช้ภาษา ผู้เขียนวรรณคดีแต่ละคนมีลักษณะการเขียนเฉพาะตน ดังนั้นการอ่านและวิจารณ์การใช้ภาษาของผู้เขียน ว่าใช้ภาษาได้เหมาะสมกับเนื้อเรื่องหรือไม่ สำนวนภาษาที่ใช้เป็นภาษาที่เป็นทางการ หรือ ภาษาที่ไม่เป็นทางการ การเรียบเรียงข้อความมีลักษณะที่ชัดเจน เข้าใจง่าย หรือซับซ้อนอย่างไร มีการใช้คำศัพท์วิชาการได้ถูกต้องและเหมาะสมเพียงใด

 

 

บันเทิงคดี
พิจารณาองค์ประกอบ ดังนี้
๑. รูปแบบ วรรณคดีร้อยแก้วประเภทร้อยแก้วประเภทบันเทิงคดีมีรูปแบบเป็นเรื่องสั้นและนวนิยายจะพิจารณาได้ดังนี้

 

เรื่องสั้น      

จะมีลักษณะแตกต่างจากนวนิยาย เรื่องสั้นจะมีขนาดของเรื่องสั้นกว่า มีองค์ประกอบที่แตกต่างไปในด้านความคิดคือ เรื่องสั้นจะมีแนวคิดสำคัญเพียงแนวเดียว ตัวละครมีจำนวนน้อยประมาณ ๒ - ๓ ตัว ตัวเอกควรมีตัวเดียว เรื่องสั้นที่ดีจะมีลักษณะเด่นคือ มีจุดแห่งความสนใจซึ่งสามารถดึงดูดผู้อ่านให้เกิดความเห็นคล้อยตามหรือขัดแย้งก็ได้ จุดสนใจอาจเป็นพฤติกรรมตัวละครเหตุการณ์ ข้อขัดแย้ง หรือตัวละคร บางทีจุดสนใจอยู่ที่แนวความคิดซึ่งผู้เขียนประสงค์จะสื่อให้ผู้อ่านโดยตรง ไม่พะวงกับการสร้างเหตุการณ์ หรือพฤติกรรมแต่อย่างใด เรื่องสั้นจะมีจุดสนใจไม่มากและไม่ซับซ้อน

 

นวนิยาย   

         เป็นเรื่องสมมุติที่แต่งขึ้น มีขนาดยาวเพียงใดไม่มีการจำกัด มีโครงเรื่องที่ดำเนินติดต่อและประสานกันตลอด ตัวละครในเรื่องแต่ละตัวมีลักษณะนิสัยใจคอที่หลากหลายเพื่อความมุ่งหมายสำคัญคือ ให้มีความสมจริงการเสนอตัวละคร และ พฤติกรรม จะซับซ้อนมากน้อยอย่างไรไม่จำกัดแล้วแต่เรื่องที่วางไว้ บางเรื่องอาจดำเนินเรื่องโดยเริ่มเนื้อเรื่องกล่าวถึงตอนจบของเหตุการณ์ เรียงไปตามลำดับ บางเรื่องเสนอเนื้อเรื่องย้อนไปย้อนมาซึ่งล้วนเป็นกลวิธีการดำเนินเรื่องที่ผู้เขียนประสงค์จะใช้เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน

 

๒. เนื้อหา คือสาระสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราวอันประกอบด้วย แก่นของเรื่อง ตัวละคร ฉาก หรือบรรยากาศ ผู้เขียนที่มีความสามารถจะต้องประสมประสานสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกันเป็นเรื่องราวตลอดเรื่องได้อย่างแนบเนียน
        ๒.๑ แก่นของเรื่องหรือแนวคิด คือ จุดสำคัญที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสารถึงผู้อ่าน เช่น ค่านิยม อารมณ์ต่างๆ สภาพหรือเหตุการณ์ เป็นต้น แก่นของเรื่องจะเชื่อมโยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกันโดยเสนอทรรศนะที่ผู้เขียนต้องการ ผ่านพฤติกรรมของตัวละครออกมาเป็นลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่อง

 

๒.๒ โครงเรื่อง คือการลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่อง เชื่อมโยงเหตุการณ์ใน เรื่องให้ดำเนินต่อเนื่องเป็นเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนจบ

 

๒.๓ ตัวละคร หมายถึง ผู้ประกอบพฤติกรรมตามเหตุการณ์ในเรื่อง หรือ ผู้ที่ได้รับผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามโครงเรื่อง ตัวละครต้องมีชีวิตคือ แสดงบทบาท พูด คิด ทำกิริยาหรือปฏิบัติเช่นเดียวกับคนจริงๆ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

 

๒.๓.๑ ตัวละครที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือ มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมด้านเดียวไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อม

 

๒.๓.๒ ตัวละครที่เปลี่ยนแปลงได้ คือ มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมจะมีลักษณะคล้ายบุคคลที่มีชีวิตจริง การวิจารณ์ตัวละคร ต้องพิจารณาการนำเสนอตัวละครของผู้เขียนว่ามีความสมจริงหรือไม่ พฤติกรรมตัวละครเป็นอย่างไร เป็นพฤติกรรมดีหรือไม่อย่างไร

 

๒.๔ บทสนทนา บทสนทนาที่ดีต้องง่ายและเหมาะสมกับบุคลิก/ลักษณะนิสัยของตัวละคร การสร้างความสมจริงและชีวิตจิตใจให้แก่ตัวละคร ขึ้นอยู่กับวิธีเขียนบทสนทนาให้แก่ตัวละคร บทสนทนาที่สั้นๆย่อมเข้าใจง่ายและน่าอ่านกว่าบทสนทนายาวๆที่มักเป็นการสั่งสอน/จูงใจ

 

๒.๕ ฉาก บรรยากาศ หรือสถานที่ บรรยากาศหรือรายละเอียดในเรื่องที่ก่อให้เกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นพลังให้เกิดพฤติกรรมตามโครงเรื่อง การวิจารณ์จะพิจาณาการเสนอฉากของผู้เขียนว่า ใช้วิธีพรรณนา และ สร้างบรรยากาศ ให้เกี่ยวข้องกับสถานที่และสอดคล้องกับเหตุการณ์หรือไม่ ฉาก บรรยากาศ หรือสถานที่ต้องสอดคล้องและสัมพันธ์กันตลอดเรื่องได้ดีเพียงไร
การวิจารณ์วรรณคดีร้อยแก้วประเภทนี้ นักเรียนควรพิจารณาส่วนประกอบเหล่านี้ ทุกส่วน

 

พิจารณาดูความสมจริง มีลักษณะใดที่กวีแสดงออกมาเป็นพิเศษแตกต่างไปจากผู้เขียนคนอื่นบ้างหรือไม่ อย่างไร ผู้เขียนใช้ตัวละคร เหตุการณ์ สถานที่ บทสนทนา เป็นเครื่องมือให้ผู้อ่านเกิดความซาบซึ้งหรือประทับใจอย่างไร

 

๓. กลวิธี การวิจารณ์วรรณคดี ผู้อ่านควรพิจารณากลวิธีที่ผู้เขียนใช้ในการดำเนินเรื่อง เช่น เล่าไปตามลำดับเวลา หรือเล่าเรื่องย้อนกลับ การแสดงทรรศนะที่ผู้เขียนส่งผ่านไปยังตัวละคร และพฤติกรรมตัวละครแสดงทรรศนะออกมาให้เห็นชัดเจนหรือไม่ เหตุการณ์ที่ผู้เขียนนำเข้าไปใส่เพื่อเป็นเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมานั้น สอดคล้องและสัมพันธ์กันตลอดเรื่องหรือไม่

 

๔. ภาษาที่ใช้ วรรณคดีร้อยแก้วประเภทนี้ ผู้เขียนจะใช้ลักษณะการเขียนด้วยศิลปะเฉพาะตน จึงควร พิจารณาโดยรวมดังนี้

 

๔.๑ การเลือกใช้คำ ถ้อยคำที่ใช้ควรมีความหมายเหมาะสมกับทำนองเรื่องที่เขียนและลักษณะของตัวละคร เช่น ถ้าตัวละครอยู่ในท้องถิ่น คำที่เกี่ยวเนื่องหรือบทสนทนาควรจะต้องเหมาะกับสภาพท้องถิ่นนั้นๆ เป็นต้น

 

๔.๒ การใช้โวหารในการเขียน วรรณคดีร้อยแก้วที่ผู้อ่านประทับใจ เกิดจากการที่นักเขียนรู้จักเลือกใช้สำนวนโวหารต่างๆ มาผสมผสานกับเนื้อเรื่องได้อย่างแนบเนียนและประณีต โวหารต่างๆ ที่ผู้เขียนใช้คือ

 

๔.๒.๑ บรรยายโวหาร ผู้เขียนใช้โวหารนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเล่าเรื่องอธิบายเรื่องราว

 

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ บรรยายโวหารจะใช้ถ้อยคำตรงไปตรงมา รวบรัด ไม่เยิ่นเย้อ

 

๔.๒.๒ พรรณนาโวหาร ผู้เขียนใช้เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว หรือ ความรู้สึกอย่างละเอียดลออ

 

เกี่ยวกับ เหตุการณ์ อารมณ์และจินตนาการ มุ่งเน้นให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ประทับใจสะเทือนอารมณ์ใช้สำนวนโวหารที่ไพเราะมักเล่นคำเล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ทำให้เกิด ความไพเราะและเพลิดเพลิน

 

๔.๒.๓ อุปมาโวหาร เป็นการเขียนโดยใช้ถ้อยคำแสดงการเปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจ หรือ

 

เห็นภาพอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

๔.๒.๔ สาธกโวหาร เป็นการเขียนโดยใช้ถ้อยคำที่มุ่งให้ความชัดเจนโดยยกตัวอย่าง เพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้ง เพื่อให้ข้อความมีความสมบูรณ์หนักแน่นน่าเชื่อถือ ตัวอย่างที่นำมายกประกอบต้องมีเหตุผล มีข้ออ้างอิง การเลือกตัวอย่างต้องเข้ากันได้กับเนื้อความเป็นอย่างดี

 

๔.๒.๕ เทศนาโวหาร เป็นการเขียนที่ใช้ถ้อยคำเพื่อการสั่งสอน ชักจูง โน้มน้าว แนะนำอย่างมีเหตุผล มีข้อเท็จจริง แสดงจุดมุ่งหมายอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านเลื่อมใสปฏิบัติตามหรือคล้อยตาม

 

 

 

การวิจารณ์ด้านการใช้ภาษา ต้องพิจารณาสำนวนโวหาร ถ้อยคำ ที่ผู้เขียนใช้ว่าแนบเนียน สอดคล้องกับเหตุการณ์หรือพฤติกรรมตัวละครได้ดีเพียงใด สามารถสร้างความประทับใจ ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน สร้างความจรรโลงใจได้มากน้อยเพียงใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ฉันทนา ธูปตาก้อง. ๒๕๕๓. (ออนไลน์) แหล่งที่มา:http:/www.kpsw.ac.th/teacher/chantana/page1.htm%20 
แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 07 สิงหาคม 2013 เวลา 12:59 น.
 

Facebook Like Box

ออนไลน์

เรามี 8 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ผู้เยี่ยมชม

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้66
mod_vvisit_counterเมื่อวาน198
mod_vvisit_counterอาทิตย์นี้767
mod_vvisit_counterเดือนนี้4105
mod_vvisit_counterทั้งหมด6426471