วัดอินทขีลสะดือเมือง เชียงใหม่ |
![]() |
![]() |
![]() |
เขียนโดย ภาษาสยาม |
วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม 2012 เวลา 19:13 น. |
วัดอินทขีลสะดือเมือง
หลังเขียนนวนิยายบุพนิวาสจบ จึงมีเวลาไปกราบนมัสการหลวงพ่ออุ่นเมือง วัดอินทขีลเชียงใหม่ เพื่อบอกกล่าว ขออนุญาตเขียนอ้างอิงถึงในนวนิยาย และเก็บภาพบรรยากาศภายในวัดมาให้ชมกันค่ะ จากนั้นจึงมานั่งเขียนประวัติวัดสำคัญที่ปรากฏใน"บุพนิวาส"แห่งนี้ "วัดอินทขีลสะดือเมือง"
ปีพุทธศักราช ๑๘๓๘ พญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาได้เสด็จมาพบซากเสาอินทขีลและรูปกุมภัณฑ์ ณ บริเวณเมืองนพบุรีซึ่งป็นเมืองร้าง จึงมีรับสั่งให้ขุนนางชื่อ สรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปถวายพญาลัวะซึ่งอยู่บนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงถวายคำแนะนำว่า หากทรงมีพระประสงค์ที่จะสร้างเมืองขึ้นใหม่และอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขก็จงบูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขีล ต่อมาเมื่อพญามังรายทรงสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้ว จึงทรงโปรดให้นำเสาอินทะขีลไปประดิษฐานไว้ในบริเวณวัดสะดือเมือง ต่อมาจึงเรียกว่า วัดอินทขีล ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงใหม่นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทว่าเป็นที่น่าเสียดาย เมื่อหลังจากล้านนาตกเป็นของพม่าในปี พุทธศักราช ๒๑๐๑ แล้ว วัดอินทขีลจึงกลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๓๔๓ พระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในราชวงศ์พระเจ้าเจ็ดตนได้รับการช่วยเหลือจากเมืองสยามจนสามารถขับไล่พม่าออกไปจากดินแดนล้านนาและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ขึ้น และย้ายเสาอินทขีลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวง พร้อมกับสร้างพระวิหารคร่อมฐานเดิม และอัญเชิญหลวงพ่ออุ่นเมือง หรือหลวงพ่อขาวมาเป็นพระประธาน หลักฐานทางโบราณคดีของวัดอินทขีลที่เหลือในปัจจุบัน หลวงพ่ออุ่นเมือง พระวิหาร องค์พระเจดีย์สี่เหลี่ยม และองค์พระเจดีย์แปดเหลี่ยม บริเวณองค์พระเจดีย์แห่งนี้นั้น เชื่อกันว่า เป็นบริเวณที่พญามังรายทรงต้องอัสนีบาตสวรรคต ต่อมาพระไชยสงคราม พระราชโอรสได้ทรงสร้างพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิเอาไว้ ปัจจุบันวัดอินทขีลสะดือเมืองได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ ๘๐ พรรษา จึงทำให้วัดอิลทะขีลอันเป็นเสาหลักของพุทธศาสนิกชนชาวเชียงใหม่ได้กลับมาเป็นศรีสง่าแห่งเมืองอีกครั้ง
|
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2013 เวลา 07:58 น. |