หน้าหลัก ประวัติศาสตร์ เมืองล้านนา พระเจ้าติโลกราช(มหาราชแห่งล้านนา)
พระเจ้าติโลกราช(มหาราชแห่งล้านนา) PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2013 เวลา 21:50 น.

                                               

พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็น กษัตริย์พระองค์ที่เก้า แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าลก (แปลว่า ๖ )เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๖ ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาก็ทรงโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน(ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของเจ้าลกยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้(อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ต่อมามีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ สามเด็กย้อย คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงได้ซ่องสุมกำลังและลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่พญาสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดริน เชิงดอยสุเทพ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ยกกำลังไปเผาเวียงเจ็ดรินแล้วจึงบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชย์ จากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญเจ้าลก มาขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๑๙๘๕ โดยทรงมีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๓๒ พรรษา ส่วนพระราชบิดานั้น พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาดในรัฐฉาน ประเทศพม่า และปูนบำเหน็จความชอบสามเด็กย้อยเป็น “เจ้าแสนขาน” แต่อยู่มาได้เพียง ๑ เดือน ๑๕วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฎอีก พระเจ้าติโลกราช จึงให้หมื่นโลกนคร พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น หมื่นขาน และให้ไปครองเมืองเชียงแสน หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพอโยธยาของพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพระยา)ที่ยกมารุกราน จากนั้นจึงทรงขยายแสนยานุภาพไปยึดครองเมืองน่านและเมืองแพร่ได้สำเร็จ ทำให้เชียงใหม่สามารถรวมดินแดนทั้งหมดในล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก่อนจะขยายอาณาเขตต่อไปถึงแคว้นเชียงรุ่งสิบสองปันนา แคว้นเชียงตุงและหัวเมืองไทใหญ่ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองในเขตรัฐฉานทางภาคตะวันออก รวมทั้งยังแผ่อำนาจเข้าครอบงำอาณาจักรล้านช้าง อีกทั้งยังทำสงครามได้ชัยชนะเหนือกับกองทัพจีนจากมณฑลยูนนานที่ยกมารุกรานล้านนาอีกด้วย

  ใน ปี พ.ศ.๑๙๙๔ พญาสองแคว ยุทธิษเฐียร ได้แปรพักดิ์จากอโยธยามาขอสวามิภักดิ์ต่อล้านนา ครั้น เมื่อทางอโยธยาทราบเรื่อง จึงยกทัพมาตี เมืองสองแคว ทว่าพญาสองแควได้อพยพผู้คนมาพึ่งพระเจ้าติโลกราช และจากนั้น สงครามระหว่างเชียงใหม่กับอโยธยาก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

  โดยในช่วงแรกนั้น กองทัพเชียงใหม่ สามารถยึดเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัยได้ จนในปี พ.ศ. ๒๐๐๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอโยธยาต้องใช้วิธีออกผนวชและส่งสมณทูตมาขอบิณฑบาตรเมืองคืน แต่ พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงคืนให้ ด้วยเห็นว่ามิใช่กิจของสงฆ์

  ต่อมา ทางอโยธยาได้วางอุบายส่งไส้ศึกมาสร้างความปั่นป่วนในเมืองเชียงใหม่ โดยส่งพระเถระจากพุกามลอบเข้ามากระทำให้พระเจ้าติโลกราชเลื่อมใสและหลอกให้ทรงตัดไม้นิโครธ อันเป็นศรีเมือง จนทำให้เชียงใหม่เกิดเรื่องวุ่นวายถึงขั้นที่พระเจ้าติโลกราชได้สั่งให้ประหาร ท้าวศรีบุญเรือง พระโอรสองค์เดียวของพระองค์ด้วยข้อหากบฏ และยังสั่งประหาร เจ้าหลวงหมื่นด้งนคร แม่ทัพใหญ่คู่บัลลังก์ ด้วยทรงเกิดระแวงว่า หมื่นด้งจะแปรพักตร์ไปเข้ากับอโยธยา เหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลายนี้ทำให้กองทัพเชียงใหม่อ่อนแอลง เป็นโอกาสให้ฝ่ายอโยธยาสามารถชิงเอาเมืองเชลียงกลับคืนไปได้ในปี พ.ศ.๒๐๑๘ และในปีต่อมา ล้านนาและอโยธยาก็ได้เจรจาสงบศึกกัน หลังสงครามกับอโยธยายุติลง พระเจ้าติโลกราชได้ทรงหันมาใฝ่พระทัยในทางศาสนาโดยทรงโปรดให้สร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก และที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้ทำสังคายนา พระไตรปิฎกในปี พ.ศ.๒๐๒๐ ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการสังคายนา ครั้งที่ของโลก

  เข้าปี พ.ศ.๒๐๒๓ เวียดนามยกทัพใหญ่มารุกรานล้านช้างและเมืองน่านที่เป็นประเทศราชของล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงทรงยกทัพไปปราบปรามและสามารถตีทัพใหญ่รี้พลสี่แสนนายของเวียดนามจนแตกพ่ายยับเยิน ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ทางจีนที่เป็นคู่ศึกกับเวียตนามในเวลานั้น ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นราชันย์ผู้พิชิตแห่งตะวันตกโดยให้มีฐานะรองลงมาจากองค์ฮ่องเต้ นอกจากนั้นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิงของจีนยังทรงพระราชทานเครื่องยศและทองคำจำนวนมากมามอบให้พระเจ้าติโลกราชเพื่อเป็นพระเกียรติอีกด้วย

พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๓๐ พระชนมายุ ๗๘ พรรษา ครองราชย์รวมทั้งสิ้น ๔๖ ปี หลังจากนั้นพญายอดเชียงราย พระนัดดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ



  ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชนั้น นอกจากอาณาจักรล้านนาจะได้รวมกันเป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรกแล้ว ล้านนายังได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญอย่างที่สุดในทุกด้านอีกด้วย

 


 

ตลอด ๔๖ ปีของรัชกาลพระเจ้าติโลกราช มีการทำสงครามขยายพระเดชานุภาพนับได้ หลายครั้ง ดังนี้

  1. ปราบหัวเมืองฝางที่แข็งเมืองเจ้าเมืองหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเทิง (อ.เทิง จ.เชียงราย) แต่ถูกประหารชีวิตต่อหน้าเจ้าเมืองเทิง เป็นการกระทำที่ไม่ไว้หน้าเจ้าเมืองเทิง จึงส่งสารลับแจ้งให้อยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่ นับว่าเป็นปฐมเหตุแห่งศึกสิงห์เหนือ เสือใต้ (เชียงใหม่ -อยุธยา) ยืดเยื้อยาวนาน จนสิ้นรัชกาลทั้งพระเจ้าติโลกราชกับพระเจ้าสามพระยาและพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ

 

  1. อยุธยามาตีเมืองเชียงใหม่ ตามที่เจ้าเมืองเทิงแปรพักตร์แจ้งให้ยกทัพมาชิงเมือง ผล อยุธยาถูกกลศึกตอบโต้โดนโจมตีแตกพ่าย ส่วนเจ้าเมืองเทิงถูกประหารชิวิต ตัดคอใส่แพหยวกกล้วยล่องนำปิง โดยมีนัยว่าเพื่อให้ไปถึงพระเจ้าอยุธยา (พระบรมราชาที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา)

 

  1. ปราบเมืองน่านที่แข็งเมือง พระญาเมืองน่านหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเชลียงของอยุธยา

 

  1. ขับไล่เมืองหลวงพระบางที่ยกทัพลอบโจมตีเมืองน่าน

 

  1. ปราบเมืองยอง ไทลื้อ (รัฐฉาน พม่า)

 

  1. ปราบเมืองหลวงพระบาง เมืองขรองหลวง เมืองขรองน้อย

 

  1. ปราบเมืองเชียงรุ่ง หรือ เชอหลี่ใหญ่ หรือจิ่งหง- Jinghong (สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่
  2. ปราบเมืองเชียงรุ่งที่แข็งเมืองอีกครั้ง และเข้าตีเมืองอิง

 

  1. ปราบเมืองนาย ไลค่า ล๊อกจ๊อก เชียงทอง เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง จำคา เมืองพุย สีป้อ กวาดต้อนผู้คนจำนวน ๑๒,๓๒๘ คนมาใส่เมืองเชียงใหม่

 

  1. ยกทัพไปตีเมืองไทใหญ่ ครั้นถึงเมืองหาง (รัฐฉาน-พม่า) ทราบข่าวเวียดนามยกทัพ ๔๐๐,๐๐๐ นาย มาตีหลวงพระบาง และมาโจมตีเมืองน่านจึงยกทัพกลับมาช่วยเมืองน่าน เจ้าเมืองน่านต่อสู้อย่างทรหด รบชนะกองทัพมหาศาลของจักรพรรดิเลทันตองแห่งเวียดนาม ตัดศีรษะแม่ทัพ มาถวายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าติโลกราชจึงมีพระบรมราชโองการให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ควบคุมเชลยศึกเวียดนาม พร้อมศีรษะแม่ทัพ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อถวายแด่จอมจักรพรรดิ์ ในตอนแรกจอมจักรพรรดิจีนไม่เชื่อว่ากองทัพล้านนาจะต่อตีกองทัพจักรพรรดิ๋เลทันตองแห่งเวียดนามได้ เพราะกองทัพจีนเพิ่งรบแพ้แก่กองทัพเวียดนามมาหยกๆจอมจักรพรรดิ์จีนจึงมีพระบัญชาสั่งสอบสวนเชลยศึกเวียดนาม ทีเดียวพร้อมๆกันโดยแยกสอบสวนคนละห้อง เพื่อป้องกันมิให้เชลยศึกเวียดนาม บอกข้อมูลให้แก่กัน ผลการสอบสวน ตรงกันหมดว่ากองทัพที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ์เลทันตองแห่งเวียดนาม พ่ายแพ้หมดรูปแก่กองทัพพระเจ้าติโลกราช ณ สมรภูมิที่ เมืองน่าน จักรพรรดิ์จีนถึงกับยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ตรัสด้วยพระสุรเสียงดังทั่วท้องพระโรงต่อหน้าเสนา อำมาตย์ ที่ชุมนุมที่นั้นว่า "เหวยๆ ข้าคิดว่าในใต้หล้ามีเพียงข้าผู้เดียวที่มีเดชานุภาพมาก แต่บัดเดี๋ยวนี้มี ท้าวล้านนาพระเจ้าติโลกราช มีเดชานุภาพทัดเทียมข้า ข้าจึงแต่งตั้งให้ท้าวล้านนาเป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก"ให้เป็นใหญ่รองจากข้า มีอำนาจที่จะปราบปรามกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ก่อการแข็งเมืองต่อข้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป" พร้อมกับทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องประกอบเกียรติยศ กองทหารพร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่ เดินทางมาประกอบพิธีที่เชียงใหม่อย่างยิ่งใหญ่ อลังการโดยทรงยกย่องให้เป็น "รอง" จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิง เป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก" (King of the West) ส่วนจักรพรรดิจีนเป็นจักรพรรดิแห่งทิศตะวันออก

 

  1. ตีกำแพงเพชร (ชากังราว) แตก ส่งทัพหน้ามากวาดครัวถึงเมืองชัยนาท เข้าตีสุโขทัยมิได้ จึงถอยทัพกลับ

 

  1. เจ้าเมืองเชลียงแห่งสุโขทัย มาสวามิภักดิ์

 

  1. เจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองเหนือของอยุธยา มาสวามิภักดิ์ พร้อมนำไพร่พลเมือง ทหารกว่า หนึ่งหมื่นคน มาอยู่ในเชียงใหม่

 

  1. ยกทัพไปล้อมเมืองพิษณุโลก พระบรมไตรโลกนาถ ใช้กลศึกหลบหนีออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืนและเดือนมืดสนิท ทางลำน้ำน่านกลับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชทรงพระพิโรธ รับสั่ง ให้"ควักลูกตา "ทหารทุกนายที่ซุ่มล้อมพื้นที่ลำน้ำน่าน "หมื่นด้งนคร"แม่ทัพใหญ่รุดเข้าเฝ้า กราบบังคลทูลถวายรายงานว่า พระบรมไตรโลกนาถ ใช้ "กลศึก" ตีสัญญาณ ฆ้อง กลองล่องเรือหนีมาตามลำน้ำน่านโดยให้จังหวะเคาะสัญญาณ เลียนแบบสัญญาณ ของ "มหาราชเชียงใหม่" ทุกประการ ประกอบกับเดือนมืด มองเห็นไม่ถนัด ทหารที่ซุ่มเฝ้าระวัง จึงไม่เฉลียวใจ ต่างคิดว่า เป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าติโลกราช เสด็จ จึงไม่ยับยั้ง และข้าในฐานะแม่ทัพ ขอรับโทษแทนทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมด หากจะควักลูกตาทหารผู้น้อย ก็ขอให้ควักลูกตาของข้าแต่เพียงผู้เดียว พระเจ้าติโลกราช ได้ฟังทหารเอกผู้ภักดี ยอมสละแม้กระทั่งลูกนัยตาของตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง รับแทนทหารลูกน้อง อีกทั้ง ความจงรักภักดีของหมื่นด้งนคร ที่มีต่อ มหาราชเชียงใหม่ รุกรบไปทั่วดินแดนใกล้ ไกล เคียงบ่า เคียงไหล่ ร่วมเป็น ร่วมตาย มาด้วยกัน นับครั้งไม่ถ้วน ทรงตรึกตรอง แล้วนิ่งเสีย ไม่ตรัสถึงอีกต่อไป ต่อมากองทหารม้าทัพหน้าไล่ตาม เรือพระที่นั่งของพระบรมไตรโลกนาถ ขณะยั้งพักที่ปากยม และกองทัพม้าได้รายล้อมทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้แล้ว จึงได้ส่งม้าเร็วรีบแจ้งขอรับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราช พระองค์ทรงตรัสว่า "มันก็พญา (กษัตริย์) กู ก็ พญา กูแป้ (ชนะ) มัน มันก็ละอายแก่ใจแล้ว หมื่นด้ง มึงอย่าทำเลย" ต่อมากองทัพหน้าไปตีเมืองปากยม (พิจิตร)

 

  1. แต่งให้หมื่นด้งนครไปตีเมืองเชลียง

 

  1. อยุธยาถูกกลศึกผ่านสายลับที่ถูกจับได้ ให้เห็นกองทัพเชียงใหม่จะยกทัพไปทำศึกทางเหนือ จึงแจ้งให้อยุธยายกทัพมาชิงเอาเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่รอซุ่มโจมตีที่ดอยขุนตาล (รอยต่อ ลำพูนกับลำปาง) ตีกองทัพอยุธยาแตกพ่าย ถูกไล่ติดตามตลอดทั้งคืนผ่านห้างฉัตร ลำปาง เด่นชัย จนถึงเขาพลึง (เขตต่อแดน แพร่กับอุตรดิตถ์) ครั้งนั้นพระอินทราชา พระราชโอรสในพระบรมไตรโลกนาถต้องปืนที่พระพักตร์

 

  1. อยุธยา สบโอกาส กองทัพเชียงใหม่ยกขึ้นขึ้นเหนือไปตี เมืองพง ไทลื้อ (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) จึงยกทัพเข้าตีเมืองแพร่ ฝ่ายหมื่นด้งนคร ผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ป้องกันเมือง ครั้นกองทัพพระเจ้าติโลกราชแผด็จศึกเมืองพงไทลื้อ เสร็จแล้วจึงกลับยังไม่ทันถึงเชียงใหม่ ทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปช่วยเมืองแพร่ พระบรมไตรโลกนาถ ทรงเห็นกองทัพเชียงใหม่ใหญ่เกินกำลังจะต้านทานได้จึง ถอยทัพกลับ โดยทัพหลวงมหาราชเชียงใหม่ไล่ติดตามไปแต่ไม่ทัน จึงไม่ได้รบกัน ทัพหลวงผ่านเมืองเชลียง เมืองเชลียงหวั่นเกรงจะเป็นภัยจึงขอเป็นข้าราชบริภาร จากนั้นทัพมหาราชเชียงใหม่เข้าตีเมืองพิษณุโลกสองแคว แต่ไม่สำเร็จ จึงถอยทัพไปตีเมืองปางพล แล้วกลับผ่านเมืองเชลียง ลำปาง เชียงใหม่
  2. ต่อมาเจ้าเมืองเชลียงเป็นกบถจึงให้หมื่นด้งนครยกทัพไปจับกุมตัวเจ้าเมืองเชลียงมายังเชียงใหม่ และเนรเทศไปอยู่เมืองหาง พร้อมกับแต่งตั้งให้หมื่นด้งนคร ครองเมืองเชลียง (สวรรคโลก) เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง

 

  1. ต่อมาเชียงใหม่ถูกพระเถระพุกามที่รับจ้างจากอยุธยา มาเชียงใหม่ หลอกให้ตัดต้นไม้นิโครธ ไม้แห่ง "เดชเมือง" ซึ่งชาวเชียงใหม่สักการบูชาที่แจ่งศรีภูมิ จนบ้านเมืองปั่นป่วน ต่อมามีเหตุการณ์ไม่คาดคิด คือ พระเจ้าติโลกราช สั่งประหารท้าวบุญเรือง พระราชโอรสองค์เดียวที่ถูกท้าวหอมุก (นางสนม) ใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังก์ ภายหลังทราบว่าพระโอรสบริสุทธิ์ ก็ทรงเสียพระทัย อีกทั้งทรงกริ้วและหวาดระแวงว่าหมื่นด้งนคร ทหารเอกคู่บัลลังก์ ที่ส่งให้ไปต้านทานกองทัพอยุธยาที่ชายแดนเมืองเชลียง เชียงชื่น (สวรรคโลก จ.สุโขทัย) จะแปรพักตร์ไปเข้าอยุธยา จึงเรียกตัวไปเชียงใหม่และถูกประหารชีวิต เมื่อทหารเอกคู่บัลลังก์หมื่นด้งนครถึงแก่อนิจกรรมแล้ว พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นแคว่นผู้ครองเมืองแจ้ห่ม (อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) ไปครองเมืองเชียงชื่น (สวรรคโลก) แต่ถูกพระยาสุโขทัยยกทัพเข้าตี จนหมื่นแคว่นตายในที่รบ เมืองสุโขทัยจึงได้เมืองเชียงชื่นกลับคืน หลังจากอยู่ใต้ธงมหาราชเชียงใหม่ มายาวนาน ๒๓ ปี อันเป็นต้นเรื่องและเป็นประเด็นหลักใน ลิลิตยวนพ่ายที่เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ตีเมืองเชลียง เมืองเชียงชื่นหรือเมืองสวรรคโลก (อดีตเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) กลับคืนมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารได้อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๐๑๗
  2.  

 

  1. ศักราช ๘๓๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๑๘) มหาราช (เชียงใหม่) ขอมาเป็นไมตรี...พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
  2.  
  3.  
  4. นับจากนี้เป็นเวลา ๑๒ ปีที่อาณาจักรทั้งสองเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน และมหาราชทั้งสองพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยชรา มหาราชเชียงใหม่สวรรคตในปี ๒๐๓๐ ขณะพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษาครองราชย์ ๔๖ ปีและตามติดกันในปีต่อมา มหาราชอยุธยา สวรรคตในปี ๒๐๓๑ ขณะพระชนมายุได้ ๕๗ พรรษา ครองราชย์ ๔๐ ปี
  5.  

 

ที่มา ประวัติศาสตร์ล้านนา.สรัสวดี อ๋องสกุล

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 08 มกราคม 2015 เวลา 05:59 น.
 

Facebook Like Box

ออนไลน์

เรามี 3 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ผู้เยี่ยมชม

mod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_countermod_vvisit_counter
mod_vvisit_counterวันนี้198
mod_vvisit_counterเมื่อวาน218
mod_vvisit_counterอาทิตย์นี้701
mod_vvisit_counterเดือนนี้4039
mod_vvisit_counterทั้งหมด6426405