บ้านสันทราย ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พิมพ์
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันอังคารที่ 21 ตุลาคม 2008 เวลา 20:56 น.
                            
 

 

      บ้านสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

 

 

 

บ้านสันทรายนั้นตั้งอยู่ใน ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ประกอบด้วยประชากรที่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ในอดีตนั้นบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านสันทรายเป็นเกาะทรายกลางแม่น้ำ ไม่ได้อยู่ติดกับผืนแผ่นดินดังเช่นทุกวันนี้ และต่อมาจึงเริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมากขึ้น

 

บ้านสันทราย คนเมืองจากบ้านโป่งหนองขวาง อำเภอดอยสะเก็ดมาตั้งถิ่นฐานเมื่อราวพ.ศ. ๒๓๙๓ -๒๔๐๒ โดยการนำของนายไฝและนางเหมย(ไม่ทราบนามสกุล) นายคำ ขรรดา ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดสันทรายเป็นศาสนสถาน วัดนี้มีการย้ายวัดบ่อยครั้ง พบซากวัดร้าง ๕ แห่ง ในจำนวนนี้ ๔ แห่งเรียกชื่อเหมือนกันว่าวัดสันทราย สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะโรคระบาดหรือประสบอุทกภัย อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า ดงหมะซัก (มีต้นลูกซัก-สมุนไพรสำหรับซักผ้า เป็นสัญลักษณ์)

 

         ผู้เขียน สอบถามจากพ่ออุ๊ยปวง ทะกลกิจ ได้ความว่า ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐ พี่น้องนามสกุล ทะกลกิจ คือ นายคำ นายปวง และนายถา ชาวอำเภอสันทราย ได้พากันเข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านสันทราย ประกอบกับพ่อเลี้ยงหม่องแก้ว - แม่เอ้ย สิทธิราช เป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่มาก่อน ปัจจุบันหมู่บ้านสันทรายจึงมีนามสกุล สิทธิราช และทะกลกิจ เป็นตระกูลใหญ่ที่มีลูกหลานอาศัยอยู่มากในหมู่บ้านสันทราย ในส่วนของทิศใต้ของหมู่บ้านสันทรายนั้นเป็นพื้นที่ที่เรียกภาษาปากว่า "สันต้นปุย" เป็นกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นชาวบ้านจากท้องถิ่นอื่นที่ได้อพยพเข้ามาในภายหลัง (คาดว่าประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ - ๒๕๑๐)

 

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน  สรุปได้ว่าหมู่บ้านสันทรายแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งเลยทีเดียว  เนื่องจากเคยมีการสู้รบกับกองทัพพม่า ณ บริเวณที่เรียกว่า “ โละ ” ว่ากันว่าการต่อสู้ในครั้งนั้นทำให้ทหารพม่าเสียชีวิตในที่รบมากมาย  จนทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านไม่กล้าไปยุ่มย่ามในบริเวณดังกล่าว  เพราะเชื่อว่าดวงวิญญาณของทหารพม่านั้นเต็มไปด้วยความดุร้ายและแรงอาฆาต ด้วยเหตุที่เคยมีการสู้รบเกิดขึ้นในอดีตทำให้ปัจจุบันบ้านสันทรายมีวัดร้างประมาณ ๑๐ แห่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าวัดห่าง ” (แปลว่าวัดร้าง) หรือ ธรณีสงฆ์สิ่งที่หลงเหลือให้เห็นถึงร่องรอยอดีตคือก้อนอิฐที่เคยเป็นเจดีย์งดงามเท่านั้น

 

 

 

          ปัจจุบันวัดในหมู่บ้านเหลือเพียงแห่งเดียว คือ วัดสันทรายซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๑๓ ภายในวัดมีปูชนียวัตถุสำคัญ คือพระพุทธรูปเก่าแก่อายุหลายร้อยปี นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระอุโบสถเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีที่ชาวบ้านได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ให้อยู่คู่กับวัดสันทรายตราบนานเท่านาน

 

 

วัดสันทรายแห่งนี้มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

 

          ๑.พระทองอินทร์( พ.ศ.๒๔๖๐ – ๒๔๖๓)

 

          ๒. พระสุพรรณ( พ.ศ. ๒๔๖๔๒๔๙๐)

 

          ๓. พระบุญศรี( พ.ศ. ๒๔๗๑๒๔๗๔)

 

          ๔. พระไชยลังกา( พ.ศ. ๒๔๗๐๒๔๗๖)

 

          ๕.พระธรรมจักร( พ.ศ. ๒๔๗๘๒๔๘๐)

 

          ๖. พระศรีนวล( พ.ศ. ๒๔๘๑๒๔๘๔)

 

          ๗. พระดวงทิพย์( พ.ศ. ๒๔๘๖๒๔๙๗)

 

          ๘. พระเมธา( พ.ศ. ๒๔๘๙ - ๒๕๐๓ )

 

          ๙.พระดวง สิกขาสโภ( พ.ศ. ๒๕๐๔ - ๒๕๑๙ )

 

          ๑๐. พระประทีป ( พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๒๔)

 

          ๑๑. พระสมพล ปัญญาวชิโร (พ.ศ. ๒๕๒๕ปัจจุบัน)

 

 

 

 

ตำนานบ้านสันทราย

 

 

 

 

 

 

 

 

จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า หมู่บ้านสันทรายเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ โดยก่อนหน้าที่จะมีชาวบ้านเข้ามาจับจองพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินนั้น นับถอยหลังไปนับพันปี พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองโบราณมาก่อน ซึ่งสิ่งที่อ้างอิงได้แก่โบราณสถานและวัดร้างดังกล่าวไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ภายในหมู่บ้านจึงมีแหล่งต้องห้ามไม่ให้เด็กๆเข้าไปเที่ยวเล่นหลายจุด เพราะเหตุผลความเชื่อเรื่องผีสาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมีตำนานเกี่ยวกับบริเวณโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน ซึ่งเล่าลือต่อๆกันมาว่า เป็นสถานที่อันเต็มไปด้วยภูติผีหลายชาติหลายภาษา  เนื่องจากเคยเป็นที่อยู่อาศัยของคนโบราณ

 

 

 

ตำนานเมืองเก่ากล่าวถึงบริเวณที่มีกู่โบราณ ต้นฉำฉา ๒ ต้น  หนึ่งในสองจะมีสีเขียวอ่อน และเหลืองในบางฤดู  บริเวณนี้เคยมีกรุพระแตก เนื่องจากบริเวณนี้เคยเป็นวัด ชื่อ "วัดดงพญาปั๋น"  ต่อมาจึงมีคนแห่แหนไปขุดพระเครื่องกันมากมาย  แต่ไม่เคยมีใครประสบโชคดีเลย ผู้ที่นำสิ่งของต่างๆในบริเวณเมืองเก่าและวัดเก่าไปเก็บไว้ต่างก็พบเจอเหตุการณ์อวมงคลต่างๆกัน

 

 

 

ตำนานเมืองเก่า..เมืองโบราณในหมู่บ้านสันทราย

 

 

 

          เมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา  เจ้าเข็มคำเสด็จจากเมืองจันทน์ ( เวียงจันทน์ ) มาถึงบริเวณที่ราบลุ่มภายใต้อ้อมกอดขุนเขาจึงคิดสร้างบ้านแปงเมือง จนเกิดเมืองอันยิ่งใหญ่ชื่อ อนิรันดร์กาล ซึ่งเป็นศูนย์รวมความเจริญรุ่งเรืองทุกด้านของแถบนั้น

 

 

 

          เจ้าเข็มคำทรงมีพระชายาพระนามว่าพระนางอมิตตาและพระราชธิดาพระองค์เดียวคือ องค์หญิงอมรา  เมื่อเกิดความรุ่งเรืองถึงขีดสุด ความเสื่อมก็มาถึง  ชาวเมืองอนิรันดร์กาลเกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น  รบราฆ่าฟันกันเหมือนผักปลา จนบ้านเมืองร้อนเป็นไฟ เทวดาฟ้าดิน แถนอินทร์ที่ปกปักรักษาเมืองจึงเกิดพิโรธ  บ้านเมืองร้อนร้าย แผ่นดินแยกเมืองทั้งเมืองจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองที่อยู่ใต้พิภพมานานนับพันปี

 

 

 

 

          ปัจจุบันบริเวณที่เคยเป็นเมืองอนิรันดร์กาลนั้นไม่หลงเหลือซากใดๆให้เห็นเลย มีเพียงความเชื่อท่ามกลางแมกไม้ตระหง่านเท่านั้น  หมู่บ้านสันทรายแห่งนี้มีวัดห่าง(วัดร้าง) ประมาณ ๑๐ วัดซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชัดได้ดีว่า ความเจริญรุ่งเรืองในบวรพระพุทธศาสนาเคยเกิดขึ้น ณ ผืนแผ่นดินนี้มานานแสนนาน

 

 

 

          บ้านสันทรายเป็นหมู่บ้านสำคัญของตำบลสันทรายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนในปัจจุบันส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรในอำเภอพร้าว มีสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน ได้แก่ วัดสันทราย และคริสตจักร

 

 

 

 

ในส่วนของผู้นำหมู่บ้านนั้น บ้านสันทรายมีผู้ใหญ่บ้านเท่าที่ทราบนาม ดังต่อไปนี้

 

 

 

          นายคำมา (พ.ศ.๒๔๘๐)

 

          นายจั๋น กอบเงิน

 

          นายนวล มณีโชติ (ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๑)

 

          นายไหล สิทธิราช

 

          นายนวล ตาเป็ง

 

          นายต๋า วิภาคกิจ

 

          นายเสงี่ยม สิทธิราช

 

          นายศรี สิทธิชัย

 

          นายอินแหลง ผิวสุวรรณ์ (พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๕๘)

 

          นายบรรจง สุใจ (พ.ศ.๒๕๕๘-ปัจจุบัน)

 

 
                  น้ำฟ้า

 

ที่มา จากเรื่องราวมุขฐานะและการสอบถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ พ่ออุ๊ยปวง ทะกลกิจ และรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2021 เวลา 06:32 น.