ตำนานดอยนางแล อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ พิมพ์
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2016 เวลา 10:14 น.

 

 

ตำนานดอยนางแล อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
 
ดอยนางแลในอดีตกาล พุทธศตวรรษที่ ๑๗ แห่งอาณาจักรล้านนา
 
ดอยนางแลเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระเจ้าแสนคำลือ เป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน ในท้องถิ่น มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ยุคสมัยของพระเจ้าพรหมมหาราช ผู้กอบกู้ชาติบ้านเมืองกลับคืนจากขอมที่ยึดครองอาณาจักรน่านเจ้าของไทย (พ.ศ.๑๕๙๙) ต่อพระเจ้าพรหมราชได้สร้างเมืองให้พระราชโอรสไปปกครองชื่อเมือง เวียงหินนคร พระองค์ทรงปกครองไพร่ฟ้าด้วยหลักทศพิธราชธรรมบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ประชาราษฎร์มีความจงรักภักดีเคารพบูชาประดุจเทพเจ้า
 
หลังจากพระเจ้าพรหมมหาราชได้เสด็จสวรรคต เวียงหินนครเมืองลูกหลวงตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าแสนคำลือ พระราชโอรสองค์ที่ ๗ (พระเจ้าพรหมมหาราชมีพระราชโอรส ๘ พระองค์ พระราชธิดาพระองค์) พระองค์ทรงปกครองประชาราษฎร์ด้วยหลักทศพิธราชธรรม เจริญรอยตามพระราชบิดา บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็บังเกิดขึ้น คือดวงแก้วชะตาเมืองได้เกิดสูญหาย ค้นหาจนทั่วไม่พบที่ใดเลย พระเจ้าแสนคำลือทรงพิจารณาโทษของพระองค์ด้วยการสละราชสมบัติให้พระเจ้าแสนหวีผู้เป็นพระอนุชาน้องชายของพระองค์ปกครองสืบต่อไป
 
ส่วนพระองค์ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระดาบส นุ่งขาวห่มขาว อยู่บนภูเขาด้านทิศตะวันตกของเวียงหินนคร ก่อนเสด็จออกผนวชพระนางเจ้าศรีสุชาดาพระราชชายาของพระองค์ ขอติดตามเสด็จออกผนวชด้วย พระเจ้าแสนคำลือไม่ทรงอนุญาต ได้ตรัสห้าม กลัวพระชายาจะไปทุกข์ลำบาก และกลัวชาวเมืองจะครหานินทาจะทำให้การบำเพ็ญพรหมจรรย์ของพระองค์มัวหมอง พระนางเจ้าศรีสุชาดาทรงห่วงใยในพระสวามีมาก จึงตัดสินพระทัยไปอธิษฐานบวชศีลจาริณี บำเพ็ญเนกขัมมะบารมี อยู่บนหอคอยกลางใจเมืองเวียงหินนคร บำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเสริมพระบารมีให้พระเจ้าแสนคำลือดาบสให้พ้นจากวิบากกรรม พระนางทรงบำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุด ปรมัตถะบารมี ไม่เสวยพระกระยาหารติดต่อกันนานถึง ๑๒ วัน จนในที่สุดพระหทัยวายสิ้นพระชนม์บนหอคอย พระเนตรทั้งไม่หลับ ยังจ้องมองไปที่ภูเขาซึ่งพระสวามีของพระนางทรงบวชอยู่
 
เวลาต่อมาพระเจ้าแสนหวีได้ถวายพระเพลิงบรมศพของพระนาง ปรากฎว่าพระอัฐิของพระนางเจ้ากลายเป็นพระธาตุ ได้อัญเชิญขึ้นไปถวายพระเจ้าแสนคำลือดาบส พร้อมกับได้กล่าวเล่าเรื่องราวของพระนางเจ้าฯ ให้ฟัง พระเจ้าแสนคำลือดาบสซาบซึ้งในความจงรักภักดีของพระนาง จึงรับสั่งให้สร้างพระสถูปเจดีย์ขึ้นบนยอดเขา เพื่อบรรจุพระอัฐิธาตุของพระนางไว้เป็นอนุสรณ์ ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกพระนามสถูปเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุดอยนางแล” สถานที่ปฏิบัติธรรมของพระเจ้าแสนคำลือดาบสจึงเป็นสำนักปฏิบัติธรรมของพระธาตุดอยนางแล สืบมาจนถึงทุกวันนี้
 
ราวๆต้นฤดูฝนของทุกปีนั้นจะมีการจัดสรงน้ำพระธาตุ( ขึ้นธาตุ )ทุกปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ซึ่งในงานนั้นจะจัดให้ มีการสรงน้ำพระธาตุ การแข่งขันจุดบั้งไฟ และมหรสพต่างๆอีกมากมาย
 
 
#มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า พญาแสนคำลือเป็นผู้สร้างวัดบนดอยนางแล และวัดพระธาตุกลางใจเมืองก่อนพญากือนากษัตริย์เชียงใหม่องค์ที่ ๖  สันนิษฐานว่าวัดคงจะกลายเป็นวัดร้างก่อนที่พญากือนาจะสร้าง เนื่องจากในอดีตวัดต่างๆจะสร้างด้วยไม้จึงผุพังได้ง่าย อีกทั้งไม่ได้ทำการจารึกไว้ คนทั่วไปจึงเข้าใจว่าผู้สร้างวัดพระธาตุกลางใจเมือง (สะดือเมือง) ครั้งแรก คือพญากือนา 
 
ทั้งนี้วัดพระธาตุกลางใจเมืองถือเป็นใจบ้านใจเมืองของเมืองพร้าวมาแต่ครั้งอดีต จึงควรให้ความสำคัญให้อยู่เป็นศรีบ้านศรีเมืองสืบไป
 
ที่มา เรื่องราวมุขปาฐะ,ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม
 
น้ำฟ้า เรียบเรียง
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2019 เวลา 19:27 น.