ที่มาของกลอนสุนทรภู่ พิมพ์
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2008 เวลา 07:13 น.

                                                            ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่"


            ต้นแบบ"กลอนสุนทรภู่" มาจาก"กลอนอ่าน"ตำนานปราสาทพิมาย "(จังหวัดนครราชสีมา)

 

สมัยกรุงธนบุรีปรับปรุงและตัดตอนจากหนังสือการศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมเรื่องอิทธิพลกลอนอ่าน

 

ในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่ โดย ทิพวัน บุญวีระ กองวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

 

พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๔๑



           ปาจิตกุมารกลอนอ่าน (ต้นฉบับตัวเขียน เล่ม ๒ ถึง ๕) เป็นวรรณกรรมตำนานปราสาทพิมาย

 

แต่งขึ้นระหว่างสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยกรุงธนบุรี เนื่องจากผู้แต่งระบุวัน เดือน ปี ที่แต่ง และวันที่เขียน

 

ลงสมุดแล้วเสร็จบริบูรณ์ว่า "แต่งแล้ว เดือนเก้า ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาน เขียนแล้ว เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาล

 

ฉอศก สักราช ๒๓๑๖ วาษา ปริยบูนน้านิถิตา"  ต่อด้วยคำอธิษฐานของผู้แต่งซึ่งไม่ปรากฏนาม   ศักราชที่

 

ปรากฏในต้นฉบับ ยืนยันได้ว่า ต้นฉบับสมุดไทย 4 เล่มนี้มีอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๖ ในสมัยกรุงธนบุรี

 

และมีอยู่แล้วก่อนการแต่งนิทานคำกลอนเรื่องใดๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

กลอนอ่านเรื่องปาจิตกุมารนี้มีเค้าโครงเรื่องจากนิทานปัญญาสชาดก เป็นฉบับรวมของนิทานคำกลอน

 

เป็นต้นว่าจันทโครบ, สุวรรณเศียร, นิทานสุภาษิต "หัวล้านนอกครู" , และเรื่องอื่นที่สันนิษฐานไม่ได้

 เนื่องจากมีแต่ตอนเริ่มเรื่องแล้วต้นฉบับขาดหายไป



          ชุมชนคนโคราช-พิมายอยู่วังหลัง ปากคลองบางกอกน้อย   ต้นฉบับสมุดไทยกลอนอ่านชุดนี้ได้เข้ามา

ยังกรุงธนบุรีเพราะการย้ายถิ่นฐานจากหัวเมืองเข้ามา ณ กรุง ด้วยการย้ายถิ่นฐานคือการเคลื่อนที่ของวัฒนธรรม

การโยกย้ายถ่ายเทคนครั้งใหญ่จากนครราชสีมาเข้ามายังกรุงธนบุรี ตอนต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จ

พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คราวประดิษฐานพระราชวงศ์ขึ้นใหม่นั้น ทรงสถาปนาพระราชวงศ์ให้มี

อิสริยศักดิ์สูงขึ้น เหตุการณ์นี้น่าพิจารณาว่าเป็นการย้ายถิ่นฐานครอบครัวจากนครราชสีมาเข้ามายังกรุงธนบุรี

ทำให้มีการตั้งชุมชนย่านฝั่งธนบุรีขึ้นใหม่ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า



      "ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระยาสุริยอภัย พระราชนัดดาผู้ใหญ่ เป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า

 

กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ครั้นภายหลังเห็นว่ายศศักดิ์ยังไม่สมควรแก่ความชอบที่มีมาก จึงโปรดให้เลื่อนขึ้น

 

เป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายหลัง รับพระราชบัญชาตั้งวังอยู่ที่สวนลิ้นจี่ ในเมืองฝากตะวันตก

 

ริมคลองบางกอกน้อย ดำรัสให้ข้าหลวงไปหาพระอภัยสุริยาราชนัดดา ลงมาแต่เมืองนครราชสีมา โปรดฯตั้ง

 

เป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ ให้เสด็จอยู่ ณ วังเก่าเจ้าตาก     ตำแหน่งกรม

 

พระราชวังบวรสถานพิมุขนี้ คนทั่วไปเรียกว่า "วังหลัง" เหตุที่ตั้งวังบริเวณสวนลิ้นจี่ จึงมีชื่อเรียกวังของท่านว่า

 

"วังสวนลิ้นจี่" วังสวนลิ้นจี่มีความสำคัญในฐานะเป็นที่ประทับของเจ้านายคนสำคัญผู้มีบุญบารมีดังกล่าวใน

 

พงศาวดารข้างต้น จึงเป็นเรื่องแน่นอนว่าบริเวณวังของท่านต้องเป็นที่อาศัยของครอบครัวข้าราชบริพาร และ

 

คงมีบ้างที่ติดตามมาจากนครราชสีมา    อนึ่งเจ้านายวังหลังโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวัง

 

บวรสถานพิมุข นั้น ทรงสนพระทัยทางด้านอักษรศาสตร์อยู่มาก พระกรณียกิจด้านวรรณกรรมที่สำคัญคือ

 

 เป็นแม่กองอำนวยการแปลพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น ในรัชกาลที่ ๑



สุนทรภู่ได้นิทานต้นแบบจาก"กลอนอ่าน"

           สุนทรภู่เติบโตในวังหลังเนื่องจากมารดาของสุนทรภู่ได้เข้าถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวัง

 

บวรสถานพิมุข และได้เป็นแม่นมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขที่

 

ประสูติแต่พระอัครชายา ในการนี้ได้พาสุนทรภู่มาอาศัยอยู่ด้วย

           สุนทรภู่มีชีวิตอยู่ในวังหลังตั้งแต่เป็นเด็ก ในวัยเรียนได้เล่าเรียนตามสมควรแก่ฐานะที่วัดชีปะขาว

 

 (วัดศรีสุดาราม) ริมคลองบางกอกน้อย จนถึงรุ่นหนุ่มมีความปราดเปรื่องในวิชาอักษรศาสตร์ สามารถบอก

 

ดอกสร้อยสักวา แต่งกลอนสุภาษิต แต่งกลอนเพลงยาว และแต่งกลอนนิทาน จากสภาพแวดล้อมในวังหลัง

 

ที่ท่านเจ้าของวังทรงเอาพระทัยใส่ในทางหนังสือ จนถึงเป็นแม่กองแปลพงศาวดารจีนเรื่อง "ไซ่ฮั่น"

 

อาจเป็นเหตุจูงใจอย่างหนึ่งที่ทำให้สุนทรภู่ได้ซึมซับสิ่งดีๆ จากวรรณคดี ปลูกฝังให้รักการอ่านเป็นอุปนิสัย

การอ่านการฟังในวัยเด็ก และความเป็นนักอ่านที่สนใจเรื่องรอบๆ ตัว ทำให้สุนทรภู่มีความรอบรู้กว้างขวาง

 

 การสั่งสมข้อมูลอันเป็นวัตถุดิบในการประพันธ์นิทานคำกลอนของสุนทรภู่จึงบังเกิดจากการรับรู้และ

 

ประสบการณ์ที่ได้รับเมื่ออยู่ในวังหลัง

           การแต่งกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณีที่มีคนอ่านมากต่อมากนี้ สุนทรภู่ได้แนวคิดการสร้างตัวเอก

 

"พระอภัยมณี" ให้มีความชำนาญเพลงปี่ เรื่องนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน

 

 ตำนานหนังสือสามก๊ก ว่า

         "สังเกตเห็นได้ในเรื่องพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่ง ซึ่งสมมุติให้พระอภัยมณี มีวิชาชำนาญการ

 

เป่าปี่ก็คือเอามาแต่เตียวเหลียงในเรื่องไซ่ฮั่น ข้อนี้ยิ่งพิจารณาดูคำเพลงปี่ของเตียวเหลียงเทียบกับ

 

คำเพลงปี่พระอภัยมณี ก็ยิ่งเห็นชัดว่าถ่ายมาจากกันเป็นแท้"

        จากกรณีการสร้างตัวละครพระอภัยมณี ชี้ให้เห็นว่าวิธีการสร้างงานของสุนทรภู่นั้นท่านได้อาศัยข้อมูล

 

นิทานเรื่องต่างๆ เป็นแบบอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นต้นของการฝึกหัดแต่ง เป็นแน่ว่าต้องมีเรื่องนิทาน

 

ต้นแบบอยู่ก่อน

         การเปรียบเทียบวรรณกรรมเรื่องปาจิตกุมารกลอนอ่าน กับนิทานคำกลอนทุกเรื่องที่นำเสนอใน

 

บทวิเคราะห์เปรียบเทียบโดยลำดับข้างต้น จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเด็นที่เป็นหัวข้อเรื่องได้แก่ 

 

อิทธิพลกลอนอ่านในนิทานคำกลอนของสุนทรภู่ นั้นเป็นสมมติฐานที่ชอบด้วยเหตุผล มิใช่เหตุบังเอิญ

 

เพราะการแต่งหนังสือของกวีย่อมมิใช่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นจากความคิดฝันโดยอัตโนมัติ แต่ต้องมีการรับรู้

 

มีการสะสมข้อมูลไว้ในใจ แล้วจึงมากลั่นกรองถ่ายทอดเป็นผลงาน

          การแต่งกลอนนิทานของสุนทรภู่ตามการศึกษาวิเคราะห์ จึงเป็นไปตามเหตุผลที่นำเสนอดังกล่าว

 

การแต่งกลอนนิทานเรื่องจันทโครบเป็นตัวอย่างอันดีในการใช้ข้อมูลเดิมจากกลอนอ่านทั้งเรื่อง นำมาทำเป็น

 

กลอนนิทานที่มีชีวิตชีวา จันทโครบกลอนอ่านได้นำเสนอเป็นเรื่องเล่า ซึ่งสุนทรภู่แต่งใหม่เป็นกลอนนิทาน

 

ให้ตัวละครทุกตัวมีชีวิต มีอารมณ์ มีความรู้สึก รัก โกรธ สมหวัง ผิดหวัง และแสดงความรู้สึกด้วยบทเจรจา

 

มีการพรรณนาความเปรียบ การพรรณนาธรรมชาติ มีการเดินทาง เป็นการเพิ่มเติมอรรถรส และเนื้อหาแก่

 

วรรณกรรมที่เกิดใหม่อย่างมากมาย

         นอกจากการแปลงกลอนอ่านมาสร้างเป็นกลอนนิทานที่มีชีวิต กลอนนิทานเรื่องจันทโครบยังตีประเด็น

 

อันเป็นเจตนารมณ์ของเรื่องอย่างชัดเจน ว่าเป็นนิทานเพื่อสั่งสอนกุลบุตรให้ระมัดระวังในการเลือกคู่ การมี

 

คู่ก่อนเวลาอันสมควร (เปรียบจันทโครบเปิดผอบก่อนถึงเมือง) หรือการเลือกหญิงงามที่ปราศจากคุณสมบัติ

 

 ไม่ได้รับการอบรมกิริยามารยาท (เปรียบนางโมราที่เกิดอยู่กลางป่า) เป็นภรรยานั้น นางจะไม่รู้จัก

 

รักนวลสงวนตัว ไม่รู้จักควบคุมความรู้สึกการแสดงอารมณ์ใคร่ย่อมเป็นไปตามความต้องการโดยปราศจาก

 

การยับยั้งชั่งใจซึ่งไม่เหมาะสม ในขณะที่ผู้อ่านวัดคุณค่าของผู้หญิงด้วยมาตรฐานอุดมคติ นางโมราจึงมีค่า

 

เท่ากับชะนีตัวหนึ่ง (ถูกสาปเป็นชะนี)

         นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าอิทธิพลการตั้งชื่อตัวละครเอกของสุนทรภู่ ยังอาศัยราชทินนามของบุคคล

 

จริง เช่น ชื่อโคบุตรสุริยา และพระอภัยมณีนั้น เชื่อว่าตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญผู้เป็นที่เคารพนับถือ คือ

 

เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ซึ่งเดิมมีบรรดาศักดิ์ และราชทินนามว่า "พระสุริยอภัย"

 

กับเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร์ เจ้านายในพระราชวังเดิม ซึ่งเดิมมีบรรดาศักดิ์ และราชทินนามว่า

 

"พระอภัยสุริยา" จากชื่อทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของสุนทรภู่ในความถนัดใช้ข้อมูลใกล้ตัวแต่ง

 

กลอนนิทาน

         สุนทรภู่คงจะได้ฟังนิทานเรื่องปาจิตกุมารเป็นกลอนอ่านสู่กันฟังมาแต่วัยเด็ก ต่อมาภายหลังจึงนำ

 

เนื้อเรื่องจากนิทานดั้งเดิมมาผูกเป็นเรื่องใหม่ที่สนุกกว่าเก่า นับเป็นกลวิธีที่ชาญฉลาดอีกประการหนึ่ง

 

แต่ไม่อาจนำวิธีนี้ไปใช้ได้ตลอด นิทานคำกลอนของสุนทรภู่เรื่องถัดมาจึงมีเนื้อหาจากกลอนอ่านปรากฏ

 

อยู่น้อยลงตามลำดับ ตั้งแต่โคบุตร ลักษณวงศ์ สิงหไกรภพ จนถึงพระอภัยมณี



         สุนทรภู่สร้างเรื่องพระอภัยมณีเป็นกลอนนิทานที่ยิ่งใหญ่โดยอาศัยโครงเรื่องจากวรรณกรรมหลายฉบับ

 

ผสมผสานกับความรอบรู้ของท่าน อิทธิพลกลอนอ่านเรื่องปาจิตกุมารที่ประจักษ์ชัดในนิทานเรื่องพระอภัยมณี

 

จึงปรากฏเพียงบทชมดาวเท่านั้น

 



ที่มา  หน้า ๒๐คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม มติชน ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑


ที่มา
http://www.thaipoet.net/index.php?lay=s ... 15&Ntype=2