พระสุริโยทัย พิมพ์
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันเสาร์ที่ 06 กันยายน 2008 เวลา 06:58 น.

                                                                   พระสุริโยทัย


                                                               ขอขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


             ข้อความจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งแต่งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จ

พระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๓ ถือเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ที่สุดเล่มหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์

กรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าหงสาวดี รวมทั้งการสูญเสียสมเด็จพระองค์มเหสี

คือ "พระสุริโยทัย" ไว้ดังนี้ "เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรับศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี

และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตก

มาประทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วย

ข้าเศิกเถิงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น" เรื่องราวเกี่ยวกับพระสุริโยทัยตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์นั้นได้ถูกระบุไว้

้เพียงเท่านี้ (เฉพาะช่วงไสช้างออกช่วยรบ) ซึ่งนับว่าน้อยเต็มทีที่จะทำให้เราทราบไปถึงชีวิตความเป็นอยู่

ู่ของพระองค์ รวมทั้งบริบททางสังคมที่เกี่ยวโยงกับช่วงชีวิตท่านในสมัยนั้นอย่างละเอียด นักประวัติศาสตร์จำต้อง

ใช้้ความอุตสาหะยิ่งในการประมวลหลักฐานจากพงศาวดารที่บันทึกในเวลาต่อมา รวมทั้งเทียบเคียงตรวจสอบ

กับเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น อันเป็นช่วงสมัยที่

พระสุริโยทัยดำรงพระชนม์อยู่ กระนั้นก็ยังมี "ช่องว่างทางประวัติศาสตร์" ที่ยังถกเถียงกันไม่จบหรือมีประเด็น

ใหม่ๆ เกิดขึ้นให้วิเคราะห์กันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ฉะนั้นกว่าจะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับช่วงชีวิตของพระสุริโยทัย

ก็ต้องค้นคว้าตำราอ้างอิงกันมากมาย และไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเลย ที่คนไม่มีพื้นความรู้ทางนี้จะทำความเข้าใจ

เรื่องราวเหล่านั้นได้ในเวลาอันสั้น แต่ผู้คนในปี ๒๐๐๑ นั้นโชคดีกว่าใคร เพราะหากเป็นไปตามกำหนด

เดือนสิงหาคมนี้ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย "สุริโยไท" ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

คงจะทำให้ประชาชนที่ตั้งตารอคอยการเปิดตัวของหนังได้สมหวังปรีดากันถ้วนหน้า ด้วยว่าเป็นภาพยนตร์

ที่ท่านมุ้ยได้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและพม่ามาอย่างละเอียด เพื่อจะได้เสนอภาพชีวิตของ

พระสุริโยทัยและเรื่องราวในสมัยนั้นได้อย่างสมจริงที่สุด ภาพยนตร์ของท่านมุ้ยย่อมทำหน้าที่เป็นดังสะพานทอด

ให้คนในยุคไฮเทคเดินข้ามกลับไปค้นหารากเหง้าของตัวเอง และพยายามทำความเข้าใจประวัติศาสตร์

์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นผ่านเรื่องราวในช่วงชีวิตของ "พระสุริโยทัย" ได้อย่างสะดวกสบายยิ่ง เพียงเข้าไปในห้อง

สี่เหลี่ยมที่ดับไฟมืด ภาพชีวิตของบุคคลต่างๆ ในสมัยนั้นก็จะปรากฏขึ้น พาเราจินตนาการย้อนกลับไปสู่อดีตอัน

รุ่งเรืองของราชธานีไทยเมื่อเกือบห้าร้อยปีที่ผ่านมา ขณะนั้นกษัตริย์แห่งกรุงศรีฯ คือ พระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งนับเป็น

กษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่นานที่สุดยุคนั้นคือ ๔๐ ปี และสิ้นพระชนม์ในปีที่ดาวหางฮัลเล่ย์ปรากฏในปี พ.ศ. ๒๐๗๒

สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรกว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ก็อายุมากแล้ว ครองราชย์สืบมาอีก ๔ ปีก็เสด็จ

สวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนั้น รัฏฐาธิราช โอรสหน่อพุทธางกูรถูกอุปโลกน์ขึ้นเป็นกษัตริย์

ทั้งๆ ที่อายุเพียง ๕ พรรษา พระไชยราชาธิราช จึงกระทำรัฐประหาร และทรงรวมอำนาจไว้ที่กรุงศรีอยุธยาได้อย่าง

เป็นปึกแผ่นมั่นคง ในรัชสมัยของพระไชยราชา พระสุริโยทัยทรงสมรสกับพระเฑียรราชาแล้วและย้ายจากทางเหนือ

มาประทับที่กรุงศรีอยุธยา ณ "วังไชย" พ.ศ. ๒๐๗๐ พระไชยราชาเสด็จสวรรคต พระราชโอรสองค์ใหญ่เกิดจาก

พระสนมเอก คือ "พระยอดฟ้า" ซึ่งมีพระชนม์เพียง ๑๐ พรรษาได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยมี

ีพระราชมารดา "แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์" เป็นผู้สำเร็จราชการแทน แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์

์กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากพระนางให้ขึ้นเป็นกษัตริย์นาม "ขุนวรวงศาธิราช" เมื่อพระนาง

มีครรภ์ ทั้งสองจึงคบคิดจับพระยอดฟ้าอันเกิดแต่พระไชยราชาสำเร็จโทษเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ถูกมองว่าได้ลอบ

วางยาพิษพระไชยราชา เพราะพระนางมีชู้ นอกจากนี้ก็ยังฆ่าลูกของตัวเองเพื่อให้ชู้ขึ้นเป็นกษัตริย์ การแย่งชิง

อำนาจทางการเมืองในช่วงนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นและย่อมอยู่ในความรับรู้ของพระสุริโยทัยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งเป็นไปได้ที่จะสืบต่อราชวงศ์

ทรงเกรงว่า อาจมีภัยบังเกิดแก่ตนจากการชิงอำนาจกันขึ้นเป็นใหญ่ จึงเสด็จฯ หนีออกผนวชที่ "วัดราชประดิษฐาน"

พระราชภารกิจของพระสุริโยทัยแห่งการเป็นพระมเหสีที่ต้องคอยตัดสินใจจัดการปัญหาต่างๆ ระหว่างพระราช-

สวามีออกผนวช รวมทั้งหน้าที่ของการเป็นพระมารดาในการดูแลทุกข์สุขปกป้องราชภัยของพระโอรสธิดา

ย่อมเป็นสิ่งที่พระสุริโยทัยทรงแบกรับไว้ด้วยความรับผิดชอบตลอดระยะเวลาแห่งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวังหลวง

ครั้งนั้น เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศ ข้าราชการที่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดินจึงเกิดความไม่พอใจกันมาก ขุนนางส่วนหนึ่งนำโดย

ขุนพิเรนทรเทพ ปรึกษากันเห็นควรกำจัดแม่อยู่หัว ขุนวรวงศาและบุตรที่เกิดขึ้นนั้นเสีย เพื่อจะอัญเชิญ

พระเฑียรราชา ซึ่งทรงผนวชอยู่ กลับมาขึ้นครองราชย์ต่อไป ก่อนทำการใหญ่ครั้งนั้น ทั้งหมดตกลงกันไปเสี่ยงเทียน

ที่พระอุโบสถ "วัดป่าแก้ว" หลังจากนั้นเหล่าขุนนางที่นำโดยขุนพิเรนทรเทพ ได้วางแผนลวงให้ท้าวศรีสุดาจันทร์

และขุนวรวงศา เสด็จฯ ทางชลมารคเพื่อไปคล้องช้างเผือก แล้วจึงรุมจับทั้งสองและพระธิดาที่เกิดขึ้นด้วยกันนั้นฆ่า

เสีย จากนั้นนำศพไปเสียบหัวประจานไว้ที่ "วัดแร้ง" พระเฑียรราชาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์นามว่า "พระมหาจักรพรรดิ"

หลังจากครองราชย์ไม่นาน พม่าทราบข่าวความระส่ำระสายในกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงยกทัพมา

ประชิดกรุง และเกิดศึกคราวที่เราต้องสูญเสียพระสุริโยทัยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๙๑ หากใครได้รับรู้ประวัติศาสตร์

์เกี่ยวกับพระสุริโยทัย ไม่ว่าจะผ่านการค้นคว้าทางเอกสารหรือการชมภาพยนตร์ แล้วมีความสนใจอยากเยือน

สถานที่จริงเพื่อดูว่า ณ ปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ไม่เป็นการลำบากเลยที่จะกางแผนที่อยุธยาแล้วเดินทางไปพบสถานที่

ี่รวมทั้งหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับพระสุริโยทัยเหล่านั้นด้วยตนเองตามรายละเอียดต่อไปนี้ วัดวังไชย วังของพระ-

เฑียรราชา (พระมหาจักรพรรดิ) และพระสุริโยทัย "วังไชย" เป็นวังเดิมของพระเฑียรราชา ตั้งอยู่ทางทิศใต้

ของเมือง ต่อมาเมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติเป็น "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" จึงได้เสด็จฯ ย้ายไปประทับ

ที่พระราชวังหลวง และพระราชทานวังไชยให้เป็นวัด จึงเรียกกันต่อมาว่า "วัดวังไชย" ปัจจุบันยังเหลือซากโบสถ์

และพระพุทธรูปให้เห็นอยู่ ภายในบริเวณวังไชยย่อมมีตำหนักของพระสุริโยทัย พระราชโอรสและธิดา รวมทั้ง

ข้าราชบริพารรับราชการอยู่กับพระเฑียรราชา ที่พักของไพร่พล ของทาส โรงครัว โรงอาวุธ โรงช้าง โรงม้า ยุ้งฉาง

และอื่นๆ ในเอกสาร "จดหมายเหตุพระสุริโยไท" ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงกล่าวถึงวังไชยไว้ว่า

 
            ...อาณาเขตของวังกว้างขวาง ล้อมรอบด้วยรั้วไม้ระเนียดและมีคูน้ำล้อมรอบอีกชั้น ภายในตัววังจะถูกแบ่ง

เป็นสามส่วน คือส่วนหน้า ซึ่งจะเป็นส่วนที่พระเฑียรราชาใช้เป็นที่ว่าราชการ จะมีพระที่นั่งเป็นตึกก่ออิฐถือปูน

แล้วย้ายมาอยู่ริมน้ำ ตัวพระที่นั่งเองก็คงถูกดัดแปลงเป็นโบสถ์ ซึ่งซากของโบสถ์ก็ยังคงเหลืออยู่พอให้มองเห็นว่า

รูปร่าง ของพระที่นั่งควรจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร (พระประธานที่ตั้งอยู่ในโบสถ์เห็นได้ชัดเจนว่า

จำลองมาจากพระพุทธชินราชของพิษณุโลก จากฐานบัวคว่ำบัวหงายที่เป็นศิลปะของพิษณุโลก ไม่ใช่ของอยุธยา)


             ... หลักฐานที่ยืนยันการมีอยู่แต่เดิมของวังไชย คือหนังสือแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์

(พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้ทำการศึกษาสำรวจจัดทำหนังสือและแผนผัง

ของอยุธยา ซึ่งระบุไว้ว่า "ด้านขื่อปัดจิมทิศ แต่หัวเลี้ยววังไชยมาบ้านชีย มีปตูช่องกุดสามช่อง แล้วมาถึงปตูใหญ่

ชื่อปตูคลองแกลบ ๑ แล้วมีปตูช่องกุดสองช่องมาถึงปตูใหญ่ชื่อปตูถ้าพระวังหลัง ๑ แล้วมีปตูช่องกุดสองช่องมาถึง

ปตูใหญ่ชื่อปตูคลองฉางมหาไชย ๑ แล้วมีปตูช่องกุดสามช่องมาถึงปตูใหญ่ชื่อปตูคลองฝาง ๑ แลมาถึงป้อมปืน

ตรงแม่น้ำหัวแหลมสุดด้านขื่อประจิมทิศ" วัดราชประดิษฐาน วัดที่พระเฑียรราชา หนีราชภัยทางการเมืองออกผนวช

วัดราชประดิษฐานนี้ตั้งอยู่ริมปากคลอง "ประตูข้าวเปลือก" ฝั่งตะวันตก ภายในกำแพงพระนคร ตำบลหัวรอ

อำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นพระอารามหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ส่วนคลองที่เรียกกันว่า

"คลองประตูข้าวเปลือก" นั้นเป็นคลองที่แยกจากคลองเมือง (แม่น้ำลพบุรีเก่า) ตรงออกไปแม่น้ำทางด้านใต้

พระนครปากคลองทางโน้นเรียกว่า "คลองประตูจีน" คลองที่ปากคลองประตูข้าวเปลือกนี้ มีป้อมเก่าแก่เรียกกันว่า

"ป้อมประตูข้าวเปลือก" มีช่องปืนสำหรับยิงตรงออกไปจากกำแพงป้อมละ ๒ ช่อง สำหรับยิงกวาดตาม

เชิงกำแพงเมืองป้อมละ ๘ ช่อง ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน หลังจากเสียกรุงแล้ว วัดราชประดิษฐาน

ก็ถูกทิ้งเป็นวัดร้างและชำรุดทรุดโทรม ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ขุนศรีสงคราม

(เฮา ศรีคชินทร์) ซึ่งรับราชการอยู่ในสังกัดกรมคชบาล ได้มีจิตศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชประดิษฐาน

ขึ้นใหม่ให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษามาจนทุกวันนี้ อาณาเขตวัดปัจจุบันได้รวม ๓ วัดเข้าด้วยกันคือ วัดท่าทราย

วัดสุวรรณาวาส (วัดกลาง) และวัดคงคา วิหาร อุโบสถหลังเก่ามีผนังมีภาพเขียนสมัยอยุธยาเป็นรูปภาพสมัยครั้ง

คนไทยไว้ผมยาว แต่ทางวัดได้รื้อและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ ตามรากฐานอุโบสถของเดิม

ซึ่งมีใบเสมาคู่หินทรายแดงเป็นหลักฐาน


             ฉะนั้นสิ่งที่เห็นในวันนี้ทั่วบริเวณวัดและพระอุโบสถจึงเป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ล้วนไม่มีร่องรอยทาง

ประวัติศาสตร์เหลืออยู่แล้ว วัดใหญ่ชัยมงคล (วัดป่าแก้ว) วัดที่พระเฑียรราชาเสี่ยงเทียนก่อนขึ้นเป็นกษัตริย์

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวความถึงตอนนี้ไว้ว่า "ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว

ก็จุดเทียนทั้งสองเล่มนั้นเข้า ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพไปถึง เห็นเทียนของขุนวรวงศายาวกว่าเทียนพระเฑียรราชา

ก็โกรธ จึงว่าห้ามมิให้ทำสิขืนทำเล่าก็คายชานหมากดิบทิ้งไป จะได้ตั้งใจทิ้งเอาเทียนขุนวรวงศาธิราชนั้นก็หามิได้

เป็นศุภนิมิตเหตุพอไปต้องเทียนขุนวรวงศาธิราชนั้นดับลง คนทั้งห้าก็บังเกิดโสมนัสยินดียิ่งนัก" หลังเทียนของ

ขุนวรวงศาดับลง นั่นแสดงว่าพระเฑียรราชามีบุญบารมีที่จะขึ้นครองราชย์ คณะของขุนพิเรนทรเทพจึงวางแผน

กำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาเสีย แล้วยกพระเฑียรราชาขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า

"สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" "วัดป่าแก้ว" ปัจจุบันคือวัดใหญ่ชัยมงคล พระอุโบสถที่ทำการเสี่ยงเทียน ได้รับการ

บูรณะขึ้นใหม่บนฐานเดิม ให้อยู่ในโอบล้อมของซากโบสถ์เดิมที่ยังเห็นได้ในปัจจุบัน แต่ดั้งเดิมวัดนี้ชื่อวัด

"เจ้าพญาไท" ต่อมาเรียกว่า "วัดป่าแก้ว" เพราะเป็นที่ประทับของพระราชาคณะของสงฆ์นิกายวนรัตน

(แปลว่า ป่าแก้ว) ซึ่งมีราชทินนามในสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระวนรัตน วัดนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดใน

พระนครศรีอยุธยา (เป็นเจดีย์ทรงระฆัง สูงประมาณ ๖๐ เมตร) มีหลักฐานในพระราชพงศาวดารเหนือระบุว่า

สร้างขึ้นก่อนกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสอดคล้องกับเทคนิคการก่อสร้างแบบก่ออิฐไม่สอปูน อันเป็นเทคนิคการก่อสร้าง

ก่อนสมัยอยุธยา แต่คนทั่วไปมักเชื่อว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเล่ากันว่า เมื่อพระนเรศวรได้ชัยชนะ

ในการทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่าใน พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระวันรัตนได้ขอพระราชทานอภัยโทษ

แก่นายทัพนายกองที่ตามเสด็จไม่ทัน และได้กราบบังคมทูลให้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่เฉลิมพระเกียรติที่

ตำบลหนองสาหร่าย จังหวัดสุพรรณบุรี และที่วัดเจ้าพญาไท ให้เป็นคู่กับเจดีย์ภูเขาทองที่พระเจ้าหงสาวดีสร้างไว้

ขนานนามว่า พระเจดีย์ชัยมงคล แต่เรียกเป็นสามัญว่า พระเจดีย์ใหญ่ ต่อมาจึงเรียกชื่อวัดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า

วัดใหญ่ชัยมงคล อย่างไรก็ดี การก่อสร้างเจดีย์วัดใหญ่ในสมัยพระนเรศวรนี้ไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารใดๆ

ยืนยัน นอกจากในหนังสือ "ไทยรบพม่า" ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในสมัย

รัตนโกสินทร์เท่านั้น คลองปลาหมอ วัดแร้ง คลองปลาหมอเป็นบริเวณที่กองกำลังของ "ขุนพิเรนทรเทพ"

ดักอยู่เพื่อลอบปลงพระชนม์แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาขณะเสด็จฯ ทางชลมารค ปัจจุบันตื้นเขิน

แล้วและมีบ้านเรือนขึ้นเต็มสองฝั่ง ไม่มีป้ายเขียนบอกหรือสิ่งใดระบุไว้ นอกจากต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรืออาศัย

ถามชาวบ้านเก่าแก่ เช่นเดียวกับ "วัดแร้ง" ที่เสียบหัวประจานท้าวศรีสุดาจันทร์ ที่เหลือเพียงฐานอิฐเก่าซึ่งยากจะ

จินตนาการถึงลักษณะวัดทั้งหลังได้ รวมทั้งทางเข้าก็ต้องบุกป่าดงหญ้าเข้าไปในเส้นทางที่ไม่อาจคาดเดา

ได้เลยว่าบริเวณนั้นจะมีซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ นอกเสียจากว่าต้องมีผู้รู้พานำเข้าไป หมู่บ้านโปรตุเกส

ชาวโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๕๔ โดยส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับ

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น ในสมัยพระสุริโยทัยดำรงพระชนม์อยู่ จึงมีชาวโปรตุเกส

เข้ามาเผยแผ่ศาสนาและรับราชการทหารอยู่บ้างแล้ว นักเดินทางชาวโปรตุเกส เมนเดส ปินโต ยังได้บันทึกถึง

บ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นหนังสือชื่อ "The Travels of Mendes Pinto" (บันทึกราว พ.ศ. ๒๑๑๒-

๒๑๒๑) ซึ่งถือว่าใกล้เคียงเหตุการณ์สมัยนั้นมากที่สุด เพราะเป็นบันทึกหลังพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์เพียง ๒๐ ปี

ชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้อยู่เป็นชุมชนในอำเภอสำเภาล่ม และอำเภอเมืองบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทาง

ทิศตะวันตกอยู่ทางใต้ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันที่ดินแห่งนี้ ปรากฏมีโบราณสถานอยู่รวม ๓ แห่ง

คือ ซานเปาโล ซานเดอมิงโก และซานเปรโด ซึ่งเข้าใจว่าเป็นโบสถ์คริสต์ที่พระเจ้าทรงธรรมโปรดให้สร้างขึ้น

เพื่อเป็นศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของชาวโปรตุเกส นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้น

ในแผ่นดินไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ กรมศิลปากรและมูลนิธิกุลเบงเกียน ประเทศโปรตุเกสได้เข้ามาดำเนินการ

ขุดแต่งบูรณะโบราณสถานบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกส โดยเริ่มขุดแต่งโบราณสถานซานเปรโดขึ้นก่อน

จากการขุดแต่งได้พบหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญคือพบซากของโบราณสถานโครงกระดูก และเครื่องปั้นดินเผา

ภายในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก วัดสวนหลวง สบสวรรค์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย หลังยุทธหัตถี

เมื่อสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์กลางศึกแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเชิญพระศพมาไว้ที่สวนหลวง

ครั้นเสร็จศึกจึงปลูกพระเมรุทำพระศพและสถาปนาบริเวณที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ชื่อว่า "วัดสบสวรรค์"

อุทิศให้แก่สมเด็จพระสุริโยทัย อันเป็นลักษณะการสร้างอนุสาวรีย์ตามคติแบบไทย ที่ถือเอาทั้งวัดซึ่งย่อม

ประกอบด้วยเจดีย์บรรจุพระอัฐิ โบสถ์ วิหาร และสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เป็นอนุสรณ์สถาน ต่างจากการสร้างรูปเคารพ

หรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับวัดดังเช่นปัจจุบัน หลังสงคราม พ.ศ. ๒๓๑๐

กรุงศรีอยุธยาถูกทำลายอย่างย่อยยับ วัดสบสวรรค์ถูกทิ้งร้างเนิ่นนานต่อมา มีสิ่งก่อสร้างหลายอย่าง

เกิดขึ้นในบริเวณนี้และใกล้เคียง ปลายรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้มีการรื้อถอน

ทำลายซากโบราณสถานบริเวณนี้เพื่อตั้งเป็นกรมทหารมณฑลกรุงเก่า โดยไม่มีใครรู้ประวัติความเป็นมาของวัดนี้

สองปีให้หลัง พระยาโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าได้ทำหนังสือ "อธิบายแผนที่พระนคร

ศรีอยุธยา" ขึ้น ซึ่งระบุว่า กรมทหารที่จะสร้างใหม่นั้นตั้งตรงบริเวณที่เคยเป็นสวนหลวงและวัดสบสวรรค์ซึ่งเคยเป็น

์ที่ไว้พระอัฐิพระสุริโยทัย แต่การถางทำลายพื้นที่ได้กระทำลงไปแล้วตามความจำเป็นของการก่อสร้าง มีผู้เชี่ยวชาญ

กล่าวว่าเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิสมเด็จพระสุริโยทัยน่าจะเป็นพระเจดีย์องค์ระฆังในทรงกลม อยู่คู่กับเจดีย์แบบเดียวกัน

อีกองค์หนึ่งซึ่งบรรจุพระอัฐิของพระราชบุตรีที่ตามเสด็จออกลองกำลังข้าศึกและสิ้นพระชนม์ในคราวนั้นด้วย

ดังมีระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ แต่เจดีย์ทั้งสององค์นี้สันนิษฐานว่าอาจถูกรื้อทิ้งไปพร้อมซาก

โบราณสถานต่างๆ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างไรก็ดี ยังคงเหลือเจดีย์ใหญ่อยู่องค์เดียวจากการรื้อถอน

พ.ศ. ๒๔๕๔ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงสถาปนาให้เจดีย์ที่เหลืออยู่องค์เดียวในบริเวณนั้นว่า

"เจดีย์ศรีสุริโยทัย" ซึ่งเป็นชื่อที่เราเรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน ถือเป็นการสถาปนาอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึง

ความกล้าหาญและเสียสละของสมเด็จพระสุริโยทัยขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง หากพิจารณาเครื่องทองและวัตถุมีค่าที่พบ

ในเจดีย์ศรีสุริโยทัย โดยเฉพาะเจดีย์หกเหลี่ยม (จำลอง) บรรจุผอบทอง ทำจากหินควอทซ์ รอบฐานตั้งเครื่องสูง

โดยรอบ ภายในองค์เจดีย์ประดิษฐานผอบทอง ซึ่งบรรจุพระอัฐิธาตุ (ของพระสุริโยทัย?) นั่นแสดงว่า

"เจดีย์ศรีสุริโยทัย" ต้องเคยเป็นพระเจดีย์องค์สำคัญของวัดสวนหลวงสบสวรรค์มาก่อน และจากการศึกษารูปแบบ

ของเจดีย์นี้อย่างละเอียด ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรก็สามารถยืนยันได้

้ว่าเจดีย์ศรีสุริโยทัยมีรูปแบบการก่อสร้างเก่าแก่ย้อนได้ไปถึงสมัยพระเจ้าจักรพรรดิอย่างแน่นอน แต่ยังมิอาจสรุป

ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระอัฐิพระสุริโยทัยหรือไม่ ซึ่งยังต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป นอกจากการ

สถาปนา "เจดีย์ศรีสุริโยทัย" แล้ว รัชกาลที่ ๖ ยังทรงสร้าง "อนุสาวรีย์เทิดพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัย"

พร้อมจารึกข้อความสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ไว้ทางทิศเหนือของเจดีย์ ๘๐ เมตร บริเวณหน้ากรมทหาร

ซึ่งคนส่วนใหญ่มักคิดไปว่านั่นเป็นอนุสาวรีย์ทหารผ่านศึก เพราะมีการนำอัฐิของทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลก

ครั้งที่ ๑ มาไว้ใกล้กัน และยังจัดพื้นที่ให้ดูเหมือนตัดขาดจากองค์เจดีย์อีกด้วย พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา วัตถุมีค่า

ที่ค้นพบใน "เจดีย์ศรีสุริโยทัย" คราวบูรณะองค์พระเจดีย์ศรีสุริโยทัยครั้งใหญ่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ อันได้แก่ พระพุทธรูป

ปางมารวิชัยและเจดีย์ทรงกลมทำจากหินควอทซ์ รวมทั้งผอบทองที่บรรจุพระอัฐิธาตุภายในเจดีย์แก้วหกเหลี่ยม

แผ่นทอง ฯลฯ ได้ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย เยื้องสถาบัน

ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ

พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรก

ของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแผนใหม่โดยนำหลักแสงมาใช้จัดแสดง และไม่ตั้งวัตถุแน่นจนเกินไป โบราณวัตถุ

ที่ค้นพบ เช่น เครื่องทองที่ขุดพบจากกรุวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ รวบรวมไว้ในห้องมหรรฆภัณฑ์ มีเครื่องราชูป-

โภคทองคำ ทองกร พาหุรัด ทับทรวง เครื่องประดับ เศียรสำหรับชายหญิง พระแสงดาบฝักทองคำประดับพลอย

รวมทั้งพระอัฐิธาตุที่ขุดพบจากพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่

เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย "ทุ่งมะขามหย่อง" เป็นบริเวณที่กองทัพไทยปะทะ

กับทัพพม่า ในศึกที่พระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์บนคอช้างครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ทรงมีน้ำพระราชหฤทัยมุ่งที่จะเทิดทูนพระเกียรติคุณและวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของพระสุริโยทัย จึงโปรดฯ ให้สร้าง

พระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ สถานที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลบ้านใหม่ จ.พระนครศรีอยุธยา โครงการ

อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ แล้วเสร็จในปี ๒๕๓๘ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น

๒๙๘ ล้านบาท กินเนื้อที่ทั้งหมดถึง ๒๕๗ ไร่ โดยจัดเป็นสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัย

เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นอ่างเก็บน้ำสำหรับเกษตรกร และจำลองสถานที่ทาง

ประวัติศาสตร์ให้รำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญเสียสละของพระสุริโยทัย เคยมีคดีประหลาดพาดหัวข่าวเมื่อต้นปี

๒๕๔๒ ให้ขบขันเกี่ยวกับพระราชานุสาวรีย์นี้ว่า มีคนปีนขึ้นไปหักดาบทหารที่พิทักษ์เท้าช้างพระสุริโยทัย แถมยัง

หักให้งออีกตั้ง ๖ เล่มอย่างน่าสงสัย?! ชายผู้นั้นหลังถูกตำรวจจับให้การว่า ดาบทหารของพระสุริโยทัยพุ่งชี้ไปทาง

บ้านของเขาเลยเกิดมีแต่เรื่องเดือดร้อน!! สภอ.พระนครศรีอยุธยาได้รับแจ้งเหตุเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑

หลังสอบสวนสรุปความได้ว่า ช่วงนั้นมีการทำความสะอาดอนุสาวรีย์ จึงมีนั่งร้านทิ้งไว้ ชายผู้นั้นซึ่งเคยต้องโทษ

มียาเสพติดในครอบครอง คงกำลังเมาค้างช่วงฉลองปีใหม่จึงปีนขึ้นไปหักดาบ งอดาบด้วยความเพี้ยน กระนั้น

ก็ทำให้เกิดค่าเสียหายทั้งหมดถึงหนึ่งแสนสามหมื่นบาท ถึงป่านนี้คงปิดคดีความไปเรียบร้อยแล้ว ภาพวาด

พระสุริโยทัยชนช้าง ภาพวาดพระสุริโยทัยชนช้าง เป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ที่ได้รับรางวัลที่ ๓ จากการ "ประกวดภาพวาดประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย" พ.ศ. ๒๔๓๐ ในรัชสมัยพระบาท

สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ส่วนภาพที่ได้รางวัลที่ ๑ คือภาพช้างพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่งในแผ่นดิน

พระเจ้าท้ายสระ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงวาดเช่นกัน (รางวัลที่ ๑ สมัยนั้นได้เงิน ๑ ชั่ง

๔๐ บาท ลูกปืน ๑) รางวัลที่ ๒ เป็นภาพตีเมืองสวางคบุรี ในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี หลวงสุวรรณสิทธิวาด

ปัจจุบันบางส่วนของภาพวาดเหตุการณ์สำคัญในพงศาวดารและฉากในวรรณคดีไทยประกอบโคลงบรรยายภาพ

ที่เข้าร่วมในงาน ได้ประดับอยู่ใน "พระที่นั่งวโรภาสพิมาน" พระราชวังบางปะอิน พระที่นั่งวโรภาสพิมาน เป็น

พระที่นั่งทรงตึกชั้นเดียว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดฯ ให้สร้างขึ้นตรงบริเวณที่ประทับเดิม

ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารตึก ๒ ชั้น ต่อมาได้

ดัดแปลงรื้อลงเป็นชั้นเดียว ใช้เป็นที่ประทับและมีท้องพระโรงเสด็จออกว่าราชการภายในห้องโถงรับรองและห้อง

ทรงพระสำราญ ปัจจุบันพระที่นั่งวโรภาสพิมานมิได้เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม เพราะยังใช้เป็นที่ประทับเมื่อ

มีการเสด็จแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอิน พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล สมเด็จพระนางเจ้าฯ

พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กองบัญชาการทหารสูงสุด

ดำเนินการสร้างพระพุทธปฏิมากร "พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล" เพื่อประดิษฐานในองค์พระเจดีย์

และทำพระราชพิธีสมโภชพระเจดีย์ศรีสุริโย พร้อมเปิดอาคารนิทรรศการเกียรติประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัย

ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๔ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชัย สิทธิรัตน์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้เขียนแบบและ

ปั้นองค์พระพุทธปฏิมากร เป็นพระพุทธปฏิมากรทรงเครื่อง ปางประทานพร สมัยอยุธยาตอนกลาง

ก่อนจะมีการปั้นหุ่นหล่อองค์พระพุทธปฏิมากรที่ทรงพระราชอุทิศนี้ ทรงโปรดฯ ให้ตั้งการพิธีมังคลาภิเษก

เสกดินและน้ำพุทธมนต์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อนำไปใช้ประกอบกรรมวิธีปั้นผิวนอก

พระพุทธปฏิมากรที่จะหล่อ ในการนั้น กองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดสร้างพระพุทธปฏิมากรองค์ทองคำและเงิน

ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นอกจากนี้ยังผลิต

เนื้อโลหะปิดทองและเนื้อโลหะรมดำ รวมทั้งเหรียญรูปไข่ เพื่อให้ประชาชนผู้มีความเลื่อมใส

ในพระมหากรุณาธิคุณพระสุริโยทัยได้มีโอกาสนำไปสักการบูชา ทุกก้าวที่ได้เหยียบย่างไปยังสถานที่ต่างๆ

อันเกี่ยวเนื่องกับพระสุริโยทัย ห้วงความคิดในอดีตที่ขาดหายไปคงได้รับการปะติดปะต่อให้เป็นรูปร่าง

จุดประกายให้จินตนาการไปถึงบ้านเมืองกรุงศรีอยุธยาในช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงและเผชิญกับเหตุการณ์คับขัน

สะท้อนด้านดีเลวของมนุษย์ที่มีทั้งความซื่อสัตย์ และแก่งแย่งช่วงชิง มองเห็นสัจธรรมแห่งความรุ่งโรจน์และร่วงโรย

ในอดีต


             ... หนึ่งช่วงชีวิตของ "พระสุริโยทัย"ที่เรากำลังเดินตามคงทำให้เรามองเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์และ

โบราณสถานทุกแห่งที่ยังหลงเหลืออยู่ อย่างที่ใครๆ มักบอกกันเสมอว่า ก้อนดิน ก้อนอิฐทุกก้อนในกรุงศรีอยุธยา

นั้น ล้วนแล้วแต่มีความหมาย


ที่มา : โดย สุธิดา อ่าวสุคนธ์ คอลัมน์เรื่องจากปก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒๖๒ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 02 ธันวาคม 2009 เวลา 06:26 น.