บทความ คุณค่าภาษาไทย พิมพ์
เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2014 เวลา 14:32 น.

 

 

                                                                            (ภาพประกอบจาก uplode.wikipedie)

 

 

     

                                                                 ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

                                                                            คุณค่าภาษาไทย

 

 

                                                                                        โดย น้ำฝน ทะกลกิจ (น้ำฟ้า)

                                                                                                                                      

                                                                                                                 ครูผู้สอน โรงเรียนปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

 

 

         “เก๊าคิเถิงเพิ่ลๆมว๊ากกกรุย เตงคิเถิงเก๊าป่าว” เรามักจะได้เห็นข้อความทำนองนี้อยู่ดาษดื่นในโซเชียลเน็ตเวิร์ค เมื่อเห็นบ่อยครั้งเข้าก็พานรู้สึกไปเองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าสนใจ แต่ถ้ามองด้วยสายตาของคนในวงการภาษาไทยแล้ว ยิ่งคนรุ่นใหม่นิยมใช้ภาษาวิบัติมากขึ้นเท่าไร ความน่าหนักใจก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เพราะนั่นเป็นเครื่องชี้วัดว่า “ภาษาไทย” ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์ขึ้นนั้นถูกลดทอดคุณค่าลงอย่างสิ้นเชิง ปัญหาการมองไม่เห็นคุณค่าของภาษาไทยของคนรุ่นใหม่นั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้จากต้นเหตุซึ่งก็ คือ แก้ที่จิตสำนึก แก้ที่ค่านิยมของคน นั่นเอง

 

 

       ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า แม้เราจะเห็นการใช้ภาษาวิบัติหรือภาษาที่ไม่ถูกหลักภาษาไทยอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็แทบจะไม่มีใครให้ความสนใจเลย เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนทั่วไปทำกันเป็นปกติ แต่หากเรามองไม่เห็นว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่ควรเร่งแก้ไขก็จะยิ่งทำให้เกิดการบานปลาย เนื่องจากสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นกว้างใหญ่ เมื่อมีการใช้ภาษาวิบัติซ้ำๆนานวันเข้าคนทั่วไปก็จะจำและพานเข้าใจว่าเป็นนั่นวิธีการเขียนที่ถูกต้อง ดังเช่นหลายๆคำซึ่งบัญญัติไว้ในพจนานุกรมว่าเขียนได้หลายแบบ อ่านได้หลายแบบหรือปรับเปลี่ยนไปตามความนิยม น่าแปลกใจนักว่าเหตุใดจึงไม่ยึดมั่นในแบบแผนที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพราะแท้จริงแล้วถ้าจะปรับตามความนิยมไปเรื่อยๆก็จะต้องปรับกันไปไม่รู้จักจบสิ้น แล้วจุดยืนของหลักภาษาไทยจะอยู่ที่ใดกันเล่า

 

 

 

       มิใช่แต่ในวงการอินเทอร์เน็ตเท่านั้นที่เกิดปัญหาการใช้ภาษาไทย แม้แต่ในวงการศึกษาเองก็มีปัญหาเรื่อง “ไม่ตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทย” เช่นเดียวกัน คนทั่วไปมักจะมองเห็นว่าภาษาไทยเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและเราใช้ภาษาไทยกันเป็นประจำอยู่แล้วจึงไปให้ความสำคัญกับวิชาอื่นๆที่คิดว่ายากกว่า ยิ่งเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ยิ่งเกิดความเห่อสนใจสิ่งใหม่ที่กำลังเข้ามา จนลืมภาษาไทยอันเป็นรากเหง้าของความเป็นไทยและเป็นรากฐานทางวิชาการของทุกๆวิชา ลืมว่าภาษาไทยมีรูปแบบเฉพาะตัวและมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ หากแม้แต่ภาษาที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเรายังทำความเข้าใจไม่ได้ คิดหรือว่าการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นนั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

 

       เริ่มจากการรับสาร ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟังและการดูก็ล้วนแต่ต้องใช้ภาษาไทยเป็นแม่บททั้งสิ้น โดยเฉพาะการอ่านนั้นบางจังหวะเราต้องรับสารที่ใช้ภาษาอย่างเป็นทางการ มีข้อมูลที่ต้องอ่านยาวๆ ทั้งยังมีความละเอียดและซับซ้อน หากผู้อ่านไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้เกิดการตีความออกมาผิดๆ นำไปใช้ผิดๆ และอาจจะนำไปสอนคนอื่นต่อผิดๆตามไปด้วย

 

 

       การส่งสารอย่างการพูดและการเขียนก็สำคัญไม่แพ้กัน หากผู้ส่งสารสื่อสารไปไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้ผู้รับสารเข้าใจผิดและนำไปสื่อความผิดๆต่อได้ ดังนั้นเราจึงควรศึกษาหลักภาษาไทยให้ดี เนื่องจากเราต้องใช้ประโยชน์จากมันทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสอบเลื่อนชั้น ศึกษาต่อ สอบเข้าทำงาน ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่วัดมาตรฐานความรู้ทางภาษาไทยทั้งสิ้น

 

 

       คนไทยมักจะคิดว่าตนเองใช้ภาษาไทยเป็นประจำอยู่แล้วจึงคิดว่ามีความชำนาญในการใช้และหากจุดไหนไม่เข้าใจก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก จึงทำให้ละเลย มองไม่เห็นคุณค่าและนิยมใช้ภาษาไทยแบบผิดๆ เพื่อความเท่ ความเป็นจุดเด่น ความทันสมัย ทั้งๆที่การแสดงออกทางภาษาอย่างนั้นเป็นการดูถูกภูมิความรู้ของตนเอง แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในชั้นเชิงทางภาษาไทย ทำให้เกิดบุคลิกที่ไม่สง่างาม ไม่น่าเชื่อถือ ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเลิกใช้ภาษาตามสมัย เลิกหลงใหลค่านิยมผิดๆ และมีจุดยืนของตนเอง ตระหนักกันสักทีว่า “ภาษาไทยมีคุณค่า ควรรักษา อย่าทำลาย อย่าปล่อยให้เสียหายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ”

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 11 สิงหาคม 2014 เวลา 15:22 น.