เล่าเรื่องเมืองสยาม

เสวนาภาษาไทย

เล่าเรื่องเมืองสยาม

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 27 พ.ค. 2015 3:26 pm

กวีศรีอยุธยา เจ้าฟ้ากุ้ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์

0.jpg
0.jpg (17.38 KiB) เปิดดู 9146 ครั้ง


สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือขานพระนามกันโดยทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร ประสูติ พ.ศ. ๒๒๔๘ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ กับกรมหลวงอภัยนุชิต พระมเหสีใหญ่ ทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าเอกทัศ(พระเจ้าเอกทัศน์) และ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าดอกเดื่อ (พระอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด) จุลศักราช ๑๑๐๓ ปีระกา ตรีศก พ.ศ. ๒๒๘๔ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ได้เข้าพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเถลิงถวัลยราชสถิต ที่พระมหาอุปราช เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และอภิเษกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงอินทสุดาวดี เมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและ พระองค์ได้เป็นกองการปฏิสังขรณ์ วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ มากมาย

เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงพระปรีชาสามารถหลายด้าน โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่า โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่น ๆ

งานนิพนธ์ที่เหลือจนบัดนี้มีที่รวบรวมได้ดังนี้

๑. กาพย์เห่เรือ
๒. บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน
๓. บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท
๔. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก
๕. กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง
๖. นันโทปนันทสูตรคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช
๗. พระมาลัยคำหลวง ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ. ๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช
๘. เพลงยาวบางบท

กวีผู้เป็นเพชรน้ำเอกแห่งวรรณคดีไทยผู้นี้ น่าจะมีคำเติมตอนท้ายว่า "เจ้าฟ้าผู้มีชะตาจากสูงสุดลงต่ำสุด" พระประวัติของพระองค์ท่านเต็มไปด้วยสีสันเข้มข้น เริ่มต้นอย่างงดงามแต่จบลงอย่างน่าเศร้ายิ่งกว่าโศกนาฎกรรมเรื่องใดๆ

ถ้าพูดแบบความเชื่อไทยๆก็ต้องพูดว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" ต้องทำบุญเก่ามาประเสริฐ จึงได้ประสูติในฐานะพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมโกศ กับกรมหลวงอภัยนุชิตพระมเหสีเอกในจำนวน ๓ พระองค์ของพระราชบิดา ด้วยศักดิ์ที่สูงกว่าพระอนุชาทุกพระองค์นี้เอง จึงทรงได้รับสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งวังหน้ามหาอุปราช เฉลิมพระนามว่ากรมขุนเสนาพิทักษ์ สิ้นพระเจ้าบรมโกศเมื่อใด แผ่นดินก็ต้องตกเป็นของพระมหาอุปราชตามโบราณราชประเพณี

เท่านี้ยังไม่พอ สวรรค์ยังเอื้อเฟื้อประทานพรสวรรค์มาให้อีก ให้นิพนธ์การกวีได้ยอดเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนทั้งแผ่นดิน พระนิพนธ์ที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ได้ชื่อว่าเป็นชิ้นเอกในประเภทเดียวกัน ดังที่กล่าวมาแล้ว งานเหล่านี้ไพเราะขนาดไหน ลองวาดภาพขบวนเรือล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนค่ำเมื่อพระอาทิตย์ลับไป พระจันทร์เต็มดวงลอยใสสว่างพ้นขอบฟ้าขึ้นมา และมีเสียงเห่ต่อไปนี้กังวานไปตามลำน้ำ เห็นสักครั้ง แล้วจะพบว่าสุดแสนจะซาบซึ้งจริงๆ

เรื่อยเรื่อยมารอนรอน สุริยจรเข้าสายัณห์
เรื่อรองส่องสีจันทร์ ส่งแสงกล้าน่าพิศวง
ลิ่วลิ่วจันทร์แจ่มฟ้า เหมือนพักตราหน้านวลผจง
สูงสวยรวยรูปทรง ส่งศรีเจ้าเท่าสีจันทร์

ถ้ายังไม่หวานพอ ลองฟังบทรำพึงถึงนางยามอยู่ห่างไกลกัน ทรงสร้างบรรยากาศฝนตกลมพัดเย็นในขุนเขา แต่หัวอกคนรักยามจากคู่ก็ยังร้อนรุมอยู่ดี นอกจากนี้ มีคำไพเราะอยู่คำหนึ่งที่ไม่ซ้ำแบบกับกวีคนใด คือเรียกนางว่า "แก้วกับอก" ให้ภาพความรักและทะนุถนอมสิ่งมีค่าที่เปราะบาง เหมือนกอดดวงแก้วเอาไว้แนบอก ส่วน "แก้วโกมล" หมายถึง แก้วใจ ค่ะ

ฝนตกฝนหากตก แก้วกับอกอย่างโกรธฝน
ลมพัดรับขวัญบน แก้วโกมลมานอนเนา
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เย็นแหล่งหล้าในภูเขา
ไม่เย็นในอกเรา เพราะคู่เคล้าเจ้าอยู่ไกล

อ่านจากพระนิพนธ์ รู้สึกว่าเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เป็นศิลปินผู้มีอารมณ์รักอ่อนหวานและอ่อนไหว บทรักของท่านกับนางในจึงฟังน่ารักเหมือนหนุ่มสาววัยรุ่น เมื่อนางร้อยดอกลำดวนถวาย ตามแบบผู้หญิงสมัยนั้นเขานิยมเอาดอกลำดวนมาร้อยเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือเล่นกันน่ารักน่าเอ็นดู เจ้าฟ้ากวีของเราก็ทรงคล้องสร้อยดอกลำดวนให้นางด้วยองค์เอง เหมือนหนุ่มสาวคู่รักแสดงต่อกัน ไม่ใช่เจ้านายต่อนางบริวาร

ลำดวนเจ้าเคยร้อย กรองเป็นสร้อยลำดวนถวาย
เรียมชมดมสบาย พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง
ลำดวนปลิดกิ่งก้าน สนสาย
กรองสร้อยลำดวนถวาย ค่ำเช้า
ชูชมดมกลิ่นสบาย ใจพี่
เอาสร้อยห้อยคอเจ้า แนบหน้าชมโฉม

ถ้าหากว่าเจ้าฟ้ากวีทรงจำกัดความรักไว้แค่เจ้าจอมหม่อมห้าม เรื่องเศร้าก็คงไม่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ว่าทรงทำบุญมามากแค่ไหนก็น่าจะเคยทรงกรรมหนักมากเท่านั้น เพราะท่านเกิดไปรักใคร่กับเจ้าฟ้าสังวาลมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาว เจ้าฟ้าสังวาลนี้เป็นเจ้าเชื้อสายในเจ้านายอีกองค์หนึ่งของอยุธยา ต่อมาก็ถูกส่งขึ้นถวายพระเจ้าบรมโกศ ทรงแต่งตั้งเป็นพระมเหสีองค์ที่สาม มีพระโอรสธิดาด้วยกันถึง ๔ องค์ เชื่อกันว่าด้วยความรักที่ยังตัดกันไม่ขาดก็ทรงลักลอบติดต่อกับเจ้าฟ้าสังวาล เรื่องนี้สะท้อนภาพอยู่ในกาพย์เห่เรือกากี นิพนธ์ไว้เฉพาะตอนที่พญาครุฑผู้เป็นชายชู้ลักพานางกากี ชายาท้าวพรหมทัตไปสมสู่กันบนวิมานฉิมพลี

กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี
ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว
ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ
หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง

ในเรื่องนี้ มีกาพย์บรรยายบทสังวาสเอาไว้ เป็นวรรณศิลป์ที่งดงามจับใจ เล่นเสียง "ส" และคำว่า "สอง" อย่างวิจิตร ขอยกมาตอนหนึ่งนะครับ

สองสุขสองสังวาส แสนสุดสวาทสองสู่สม
สองสนิทนิทรารมณ์ กลมเกลียวชู้สู่สมสอง
แย้มยิ้มพริ้มพักตรา สาภิรมสมจิตปอง
แสนสนุกสุขสมพอง ในห้องแก้วแพรวพรรณราย

เจ้าฟ้ากวีทรงมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ เรียกรวมกันว่าเจ้าสามกรม ไม่ทรงถูกกันเลย ถึงกับครั้งหนึ่งมีเรื่องกริ้วเจ้าสามกรมว่าทำตัวสูงเกินศักดิ์ ก็ทรงเรียกตัวข้าราชบริพารของเจ้าสามกรมมาโบยหลัง ๑๕ ทีบ้าง ๒๐ ทีบ้าง เป็นการประชดไปถึงเจ้านาย เจ้าสามกรมก็คงจะแค้นพระทัย จึงตอบแทนสาสมด้วยการนำความไปทูลฟ้องพระเจ้าบรมโกศว่า เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงเล่นชู้กับพระมเหสีของพระราชบิดา

เมื่อเรื่องอื้อฉาวขึ้นมาก็กลายเป็นเรื่องใหญ่โต เกิดสอบสวนกันเป็นการใหญ่ ทั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์และเจ้าฟ้าสังวาลถูกสอบสวนจนทรงยอมรับผิดตามข้อหา จึงถูกลงโทษอย่างหนัก

ตามกฎมณเฑียรบาล การละเมิดสตรีในวังมีโทษถึงประหารชีวิต ถ้าหากว่าเจ้าฟ้ากวีทรงถูกประหารตามกฎเสียให้รู้แล้วรู้รอดก็คงจะน่าเศร้าสลดใจน้อยกว่านี้ แต่พระราชบิดาทรงลดหย่อนผ่อนโทษให้ไม่ให้ถูกประหาร น่าสะเทือนใจตรงที่ผลกลับกลายเป็นว่า การลดโทษกลับเลวร้ายสาหัสกว่าถูกประหารเสียอีก

พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า เริ่มต้นด้วยถูกถอดลงเป็นไพร่ แล้วถูกทรงเฆี่ยนด้วยหวายได้ ๒๐ ที ทรงเจ็บปวดมากจนสลบไป พระเจ้าบรมโกศก็ทรงให้หยุดเฆี่ยน แก้ไขจนฟื้นขึ้นมาในวันต่อไปก็เฆี่ยนต่ออีก ๖๐ ที เอาเหล็กเผาไฟนาบพระนลาฎ (หน้าผาก) และพระบาทเป็นการลงโทษ แล้วให้เฆี่ยนต่อไปจนครบ ๒๓๐ ที ตามโทษที่ถูกลดหย่อนจากประหารชีวิต แต่เฆี่ยนไปได้ ๑๘๐ ที ทรงทนความเจ็บปวดบอบช้ำไม่ไหวก็สิ้นพระชนม์คาหลักเฆี่ยน ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลถูกเฆี่ยนสามสิบที แล้วนำไปจองจำ อยู่ได้สามวันก็สิ้นพระชนม์ตามไปอีกองค์หนึ่ง

ถ้าจะถามว่าเหตุใดพระราชบิดาทรงทำได้ถึงขนาดนี้ มองอย่างตรงไปตรงมาก็คือทรงเคร่งครัดต่อกฎมณเฑียรบาล เล่ากันว่าก่อนพระมเหสีจะสิ้นพระชนม์ได้ทูลขอไว้ว่าถ้าพระราชโอรสทำผิด ให้ลดหย่อนโทษลงจากประหารเป็นเฆี่ยน จากเฆี่ยนเป็นเนรเทศ เมื่อปรากฏว่าทรงทำผิดจริงๆ ก็โปรดฯให้เป็นไปตามที่ทูลขอไว้

แต่ถ้าให้เดาเป็นส่วนตัว ขอเดาว่าพระเจ้าบรมโกศคงจะไม่พอพระทัย พระราชโอรสองค์ใหญ่มานานแล้ว เพราะเจ้าฟ้ากวีของเรานอกจากไม่ถูกกับพระอนุชาทั้งสาม ก็ยังไม่พอพระทัยพระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ ผู้เป็นพระเจ้าหลานยาเธอองค์ที่พระเจ้าบรมโกศทรงโปรดปรานอย่างยิ่ง ทรงระแวงว่าเจ้าฟ้านเรนทร์จะเป็นศัตรูราชสมบัติ ทั้งที่เจ้าฟ้านเรนทร์ผนวชมานานหลายปีแล้ว ไม่เคยมีท่าทีว่าจะมากีดขวางใคร วันหนึ่งทรงซุ่มดักรอที ตอนฝ่ายนั้นมาเข้าเฝ้าพระเจ้าบรมโกศ ทรงไล่ฟันจะให้ถึงตาย แต่เจ้าฟ้านเรนทร์ทรงโชคดีหรือมีวิชาดีหนังเหนียวก็ไม่แน่ ทรงรอดดาบไปได้โดนแค่จีวรขาด เรื่องรู้ไปถึงพระเจ้าบรมโกศ ถึงกับพิโรธหนักจนพระมเหสีต้องรีบพาพระราชโอรสไปผนวชให้พ้นราชภัย รอดไปได้อย่างฉิวเฉียดมาครั้งหนึ่ง พอสิ้นพระราชมารดาก็ไม่มีใครปกป้องพระองค์อีก

ถ้าหากว่าไม่เกิดเรื่องนี้เสียก่อน ทรงอยู่มาได้อีก ๓ ปีก็จะได้ครองราชย์ น่าจะเป็นยุคเฟื่องฟูของวรรณคดีไทยอีกยุคหนึ่ง

พระศพของเจ้าฟ้ากวีมิได้รับการถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี แต่ถูกฝังเอาไว้ที่วัดไชยวัฒนาราม ในเจดีย์สร้างอย่างหยาบๆคู่กับเจ้าฟ้าสังวาล วัดนี้เป็นวัดใหญ่อยู่ที่บางปะอินริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากพระวิญญาณยังอยู่ที่นั่น ก็คงจะได้ทอดพระเนตรลำน้ำที่เคยใช้ล่องเรือ เห่บทพระนิพนธ์เมื่อสองร้อยปีก่อนและยังเป็นที่ขับขานจดจำรำลึกกันมาจนถึงวันนี้

มีบทเห่บทหนึ่ง แสนเศร้า เหมือนจะเป็นการสะท้อนชะตากรรมของเจ้าฟ้ากวี โดยที่พระองค์ท่านคงไม่ทรงรู้องค์ว่าจะทรงเป็นไปอย่างพระนิพนธ์บทนี้ทุกประการ

แต่เช้าเท่าถึงเย็น กล้ำกลืนเข็ญเป็นอาจิณ
ชายใดในแผ่นดิน ไม่เหมือนพี่ที่ตรอมใจ
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

เล่าเรื่องเมืองสยาม

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พฤหัสฯ. 28 พ.ค. 2015 1:23 pm

"อำแดงเหมือน" วีรสตรีที่ถูกลืม ผู้เรียกร้องสิทธิสตรีให้แก่หญิงไทยเป็นครั้งแรก...


209168.jpg
209168.jpg (37.54 KiB) เปิดดู 9144 ครั้ง



"อำแดงเหมือน" เมื่อกล่าวถึงชื่อนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า เธอคือใครและมีความสำคัญอย่างไร แต่หารู้หรือไม่ว่า เธอคนนี้คือผู้จุดประกายแสงแห่งสิทธิสตรีของประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก นับเป็นวีรสตรีที่ถูกลางเลือนในกันสมัยนี้จนน่าแปลกใจ เรื่องราวของอำแดงเหมือน เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ นับเป็นช่วงที่สตรีถูกประเมินค่าต่ำมากในสังคมไทย เพราะบิดามารดาหรือสามีสามารถขาย บุตรสาว ภรรยาของตนให้กับชายใดก็ได้ แม้สตรีผู้นั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จนมีคำกล่าวว่า "ผู้หญิงเป็นควาย...ผู้ชายเป็นคน"

ตามประวัติศาสตร์มีการบันทึกว่าเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ อำแดงเหมือนนั้นมีอายุ ๒๑ ปี ชอบพอรักใคร่ กับนายริด โดยที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือนไม่ทราบ ต่อมาบิดามารดา ของอำแดงเหมือน จัดการบังคับแต่งกับนายภู แต่เธอไม่สมัครใจที่จะอยู่กินฉันสามีภริยากับนายภู บิดามารดาของอำแดงเหมือนจึงทุบตีและบีบบังคับให้แต่งงานกับนายภู และได้สมคบกับนายภูให้ฉุดคร่าอำแดงเหมือนไปไว้ในที่บ้านถึงสองครั้ง แต่อำแดงเหมือนก็ดิ้นรนและยืนกรานไม่ยอมเข้าไปในเรือนของนายภูและหลบหนีกลับมาบ้าน เมื่อมาถึงบ้านบิดามารดาก็ทุบตี และข่มขู่จะฆ่า ในที่สุดอำแดงเหมือนจึงหลบหนีไปอยู่บ้านนายริด หลังจากนั้นบิดามารดาของอำแดงเหมือน บอกให้นายริดนำผู้ใหญ่ไปสู่ขอและขมาโทษที่บ้านกำนัน เมื่อนายริดแลญาติผู้ใหญ่ไปถึง พบนายภู นายภูจัดการกักตัวญาติผู้ใหญ่ของนายริดไว้ที่บ้านกำนัน และอำแดงเหมือน , นายริดและบิดามารดาของนายริด ก็ถูกหมายเรียกตัว ไปยังศาลากลางเมืองนนทบุรีเพื่อดำเนินคดี ซึ่งอำแดงเหมือนให้การต่อพระนนทบุรีและกรมการว่าไม่ได้รักใคร่ยอมเป็นเมียนายภู กรมการจึงเปรียบเทียบว่าถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าอำแดงเหมือนยินยอมเป็นเมียนายภู ก็ให้นายริดแพ้ความ แต่นายภูไม่ยอมสาบานตัว กรมการจึงเปรียบเทียบว่าให้อำแดงเหมือนสาบานว่าไม่ได้ยอมเป็นเมียนายภูและให้คดีเลิกแล้วต่อกัน แต่นายภูก็ไม่ยอมให้อำแดงเหมือนสาบานอีก ต่อมานายภูได้มาฟ้องกล่าวหานายริด บิดามารดาของนายริด และญาติผู้ใหญ่ของนายริดอีก ๒ คน พระนนทบุรี และกรมการบังคับให้นายริดส่งตัวอำแดงเหมือนให้แก่ตุลาการ อำแดงเหมือนได้ให้การตามเดิมว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภู แต่เธอกลับถูกควบคุมตัวไว้ในห้องขัง ในระหว่างนั้นมารดาของเธอก็ได้ขู่เข็ญให้ยอมเป็นเมียนายภู และแกล้งใช้งานต่างๆ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนมาก ในที่สุดอำแดงเหมือนจึงได้หนีมาถวายหนังสือฎีกาแก่พระเจ้าอยู่หัว ยืนยันว่าไม่ได้เป็นภริยาของนายภู และสมัครใจที่จะอยู่กินกับนายริด พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้" แต่ให้นายริดจ่ายค่าเบี้ยละเมิด และค่าฤชาธรรมเนียม แก่บิดามารดาอำแดงเหมือนและนายภู ให้เลิกอายัดและยกฟ้องปล่อยตัวญาติผู้ใหญ่ ของนายริด และวินิจฉัยถึงสาเหตุ ที่บิดามารดา ของอำแดงเหมือน ยอมให้นายภูมาฉุดคร่าตัวอำแดงเหมือนไปถึงสองครั้งนั้นว่า อาจเนื่องมาจาก เหตุที่บิดามารดาได้ทำหนังสือขายอำแดงเหมือนให้แก่นายภูไปแล้วซึ่งหาเป็นเช่นนั้นได้ตัดสินว่า "บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา" ถือว่าอำแดงเมือนเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง คดีนี้จึงโด่งดังมาก ผู้เขียนขอยกข้อความทั้งหมดจากคัดจากชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔ เพื่อใช้อ้างอิง และประกอบความรู้ในเรื่องนี้ด้วย


ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา
ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก
มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการโรงศาล แลราษฎรในกรุงหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มีหญิงสาวคนหนึ่ง ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ความในฎีกาดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าอำแดงเหมือนเป็นบุตรนายเกต อำแดงนุ่น อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ ๒๑ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อนขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายเรื่องราวให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๔ ปีชวดฉศก๑๔ นายภูให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าต่อบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่า บิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า

ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดฉศก๑๔ เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภู นายภูให้ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านรู้เห็นเป็นอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้า ได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึงพาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยอยู่ที่บ้านกำนัน นายภูจึงอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน
ครั้น ณ เดือน ๗ ปีฉลูสัปตศก๑๕ มีหมายหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดไปเกาะข้าพระพุทธเจ้ากับนายริด กับบิดามารดานายริด มาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าให้การว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีและกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายริดแพ้ความนายภู นายภูไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หาให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่
ครั้นเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ นายภูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริด กับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน มีความแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการ เกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดากับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนมาแล้ว บังคับให้นายริดส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตุลาการ นายริดกับบิดามารดานายริด แลผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนก็เป็นคู้สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าได้ให้การไว้ต่อตุลาการเป็นความสัตย์จริง ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว นายเปี่ยม พะทำรงคุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตะราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาขู่เข็ญจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเป็นภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนตุลาการให้ชำระความต่อไป ก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยม พะทำรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ แกล้งใช้แรงงานต่างๆ เหลือทนได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัครเป็นภรรยานายริดชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ฎีกานี้ทรงแล้วจึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาลง ถ้าความเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไกลจากการที่เป็นจริงนัก ให้จมื่นราชามาตย์ กับนายรอดมอญ มหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฎีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายชู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่ง ให้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นเงินสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิง แลชายที่ว่าเป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเป็นเลิกแล้วต่อกันทั้งเรื่อง
แต่ถ้าความแปลกจะมีนอกจากที่ว่าในฎีกานี้ จะต้องตัดสินตามสักสองอย่าง คือ กิริยาที่บิดามารดายอมยกให้บุตรหญิงของตัวไปแก่ชายนั้นกระมัง จึงต้องยอมให้เขาฉุด ก็ถ้าการเป็นดังนี้ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา เพราะฉะนั้นในความเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชานชู้เดิมแลตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย
แลหญิงนั้นเมื่อหนีบิดามารดาตามชู้ไป ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วย ถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้ก็เร่งคืนให้ เว้นไว้แต่ผ้านุ่งห่มแลเบี้ยเงินหรือสิ่งของราคาสักสามตำลึง ให้บิดามารดาลดให้หญิง เพื่อจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่สักเดือนหนึ่งสองเดือน กว่าจะมีที่ทำมาหากินกับชายที่ตัวหญิงนั้นยอมเป็นเมียเขา

ความวิวาทอายัดแลฟ้องเถ้าแกให้เลิกเสีย

ตามลัทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใด ชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเป็นเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของ แลให้เมียเป็นดังสัตว์เดียรัจฉาน เพราะลัทธิอย่างนั้น แลจึงได้ตัดสินในเวลาหนึ่ง ให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงหย่าชายหย่าได้นั้นให้ยกกฎหมายนั้นต้องยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นประมาณ ความเรื่องนี้ที่เปรียบเทียบพิจารณาว่าเป็นเมียว่าไม่ได้เป็นเมียให้ยกเสีย เอาแต่ตามใจหญิงที่สมัครไม่สมัครเป็นประมาณ หญิงใดมีชายมาขอ บิดามารดายกให้ ตัวยอมไปอยู่ด้วยกัน มีผู้รู้เห็นด้วยกันมากกว่าสองคน เป็นผัวเมียกัน ร่วมสุขทุกข์รุนรอนเดียวกันอยู่นานหลายวันหลายเดือนประจักษ์แจ้งแก่คนรอบบ้านรอบเมือง ไม่มีใครขัดใครเถียง จึงควรตัดสินว่าเป็นผัวเมียกัน ในความเรื่องนี้จะให้เป็นถึงอย่างนั้นจะไม่ได้ จึงต้องให้เป็นไปตามใจหญิงสมัคร

ความคล้ายกับเรื่องนี้แต่ก่อนก็เคยตัดสินมา แต่ก่อนมีผู้มีชื่อพาบุตรหญิงไปขายไว้แก่พระยาสิงหราชฤทธิไกร ผู้บิดาหลวงเสนาภักดี แต่หญิงนั้นยังเป็นเด็ก ครั้นหญิงนั้นเจริญเป็นสาว หลวงเสนาภักดีสมคบเป็นภรรยา ครั้นภายหลังบิดามารดาของหญิงมายุยงหญิง ให้ถอนตัวจากหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมเป็นภรรยา จะสมัครคืนไปกับบิดามารดา หลวงเสนาภักดีก็ยอมปล่อย บิดามารดาจึงเอาเงินค่าตัวมาส่งหลวงเสนาภักดี แล้วรับตัวหญิงไปไว้ ไม่ช้าก็ไปบอกขายให้ผู้อื่นยอมยกหญิงนั้นให้เป็นภรรยาผู้อื่น หญิงนั้นไม่สมัครมาร้องทุกข์ จะขอกลับคืนมาเป็นภรรยาหลวงเสนาภักดี หลวงเสนาภักดีก็ยอมใช้เงินแรงกว่าค่าตัวเดิม แต่ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่บิดามารดาขืนใจบุตรไปขายให้ผู้อื่น ความเรื่องนี้ก็ได้โปรดตัดสินให้ตามใจหญิงแลหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมให้ตามใจบิดามารดา แลชายซึ่งจะเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่
ความสองเรื่องนี้โปรดตัดสินให้ตามหญิงแลชายที่รักใคร่กัน ไม่ตามใจบิดามารดา ชะรอยคนบางจำพวกที่มีคดีของตัว ที่ตัวสำคัญว่าคล้ายกับเรื่องสองเรื่องนี้ แต่ได้ถูกตัดสินไปอย่างอื่นแต่ก่อนแล้ว จะมาบ่นหรือคิดว่าทรงตัดสินความต่างๆ ครั้งก่อนไม่เหมือนกัน การนั้นทรงพระราชดำริทราบแล้วว่า จะมีผู้ว่าอย่างนั้นจะคิดอย่างนั้น ขอให้ผู้สังเกตคดีถ้อยความพิจารณาดูให้ละเอียด ซึ่งทรงตัดสินต่างๆ ไปนั้น ตามบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของหญิงแลชาย แลเกี่ยวข้องในที่สูงที่ต่ำ มีที่กำหนดผิดกันอยู่จึงทรงตัดสินยักเยื้องไป

ชักเรื่องเทียบให้เห็นว่า แต่ก่อนนี้ไป นายไทยมหาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนเป็นนายรองชิด บัดนี้เป็นขุนนครเกษมศรี รองปลัดกรมกองตระเวนขวา แต่เถ้าแก่ไปขอทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุน เป็นภรรยา ได้ปลูกหอปลูกเรือนอยู่ด้วยกัน แล้วได้ให้ท้าวสมศักดิ์นก พาทรัพย์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทข้างใน ได้พระราชทานเงินตราให้ทรัพย์เมื่อเวลาเข้าไปเฝ้าบ้าง ครั้นภายหลังทรัพย์กับนายรองชิดโกรธขึ้งขุ่นเคืองกัน นายรองชิดมาอยู่บ้านเดิมไปมาหาสู่ทรัพย์แต่ห่างๆ ภายหลังทรัพย์มีชู้กับพันสรสิทธิ์ปั่น ในกรมพระตำรวจ
แลเมื่อพระยาเทพอรชุนไม่ได้อยู่บ้าน ไปราชการมณฑลนครศรีธรรมราช นายรองชิดไปหาทรัพย์ จับได้พันสรสิทธิ์ปั่นชายชู้ในที่นอน เถียงไม่ได้ นายรองชิดเห็นว่าทรัพย์เคยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงรู้จักอยู่ จึงนำความนั้นกราบทูบพระกรุณา จึงมีพระบรมราชโองการให้ลูกขุนปรับชายชู้ตามศักดินานายรองชิด เสร็จแล้วหญิงสมัครจะไปอยู่กับชายชู้ ชายชู้ก็สมัครจะรับไป เพราะได้เสียเบี้ยปรับมากแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ทรัพย์เป็นบุตรขุนนางมีบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นหญิงบุตรบิดามารดาสามัญเสมอราษฎร จะโปรดให้เป็นไปตามใจสมัครทรัพย์และชายชู้ของทรัพย์ไม่ได้ พระยาเทพอรชุนบิดาของทรัพย์ก็ไปราชการอยู่ไกล ภายหลังเกิดความเรื่องนี้ขึ้น พระยาเทพอรชุนจะว่าอย่างไรก็ยังไม่ทราบ

จึงโปรดให้หาตัวนายพิศาลหุ้มแพรในพระบวรราชวัง แลบุตรพระยาเทพอรชุนที่เป็นมหาดเล็กหลายนายมาแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า ทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุนนอกใจนายรองชิดผู้ผัว ยอมให้พันสรสิทธิ์ทำชู้จนนายรองชิดผู้ผัวจับได้ บัดนี้ชายชู้ก็เสียงเบี้ยปรับเสร็จแล้ว ตัวทรัพย์จะสมัครไปอยู่กับชายชู้ ญาติพี่น้องจะยอมให้หรือไม่ คาดเห็นว่า พระยาเทพอรชุนจะยอมยกให้ชายชู้หรือไม่ บุตรพระยาเทพอรชุนทุกนายกราบทูลพระกรุณาว่าไม่ยอม คาดใจพระยาเทพอรชุนว่าเห็นจะไม่ยอมให้ไปคบกับชายชู้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้มอบตัวทรัพย์ให้นายพิศาลพี่ชายของทรัพย์รับตัวทรัพย์ไปจำไว้คอยท่าพระยาเทพอรชุน การต่อไปข้างหน้าสุดแต่พระยาเทพอรชุนผู้บิดา

อนึ่งกฎหมายเก่าว่าผัวเมียหย่าร้างกันแยกย้ายกันไป บุตรชายให้ได้แก่มารดา บุตรหญิงให้ได้แก่บิดา กฎหมายบทนี้มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ให้ใช้ได้แต่ในบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์ต่ำ ก็ถ้าว่าบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์สูงศักดินากว่า ๔๐๐ ขึ้นไปให้ตามใจบิดา ถ้าบิดาไม่รับเลี้ยงขับไล่บุตรเสียด้วย บุตรจึงตกเป็นของมารดา ถ้าบิดารักชาติตระกูลยศศักดิ์อยู่ ไม่ยอมให้ไปกับมารดา บุตรก็ต้องเป็นของบิดาหมด ด้วยนัยนี้ ถ้าในบางที่บางคราว หญิงที่มีศักดิ์สูงจะไปได้ผัวไพร่มีบุตรเกิดด้วยกัน บุตรนั้นก็ต้องเป็นของมารดา หรือของตาแลญาติข้างมารดาหมดตามบรรดาศักดิ์ เมื่อตัดสินดังนี้ จะว่าเข้าข้างผู้ดีข่มขี่ไพร่เกินไปก็ตาม แต่เห็นว่าผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นอันมากจะเห็นชอบด้วย ถ้าจะไม่ตัดสินอย่างนั้น จะว่าไปตามกฎหมายเก่าก็จะเป็นที่เสียใจแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์มากนัก ชักเรื่องว่ามาทั้งนี้จะให้เห็นหลักความที่ทรงพระราชดำริแล้วตัดสิน อย่างความบางเรื่องคล้ายๆ กับความที่ร้องฎีกาสองเรื่องนี้ คือผู้หญิงสมัครจะไปอยู่กับผู้ชาย ผู้ชายก็สมัครจะรับ แต่ญาติพี่น้องของหญิงเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเขาไม่ยอมเลย ก็ในความเรื่องนั้นตามรูปความก็ควรจะทรงตัดสินให้ตามใจหญิงสมัคร เหมือนกับความฎีกาสองเรื่องนี้
ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ไม่ได้มาพิจารณาการให้ละเอียด ก็ดูเหมือนจะเห็นไปอย่างนั้นด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ละเอียดไป ระลึกดูการแต่หลังมา เห็นว่าหญิงในตระกูลนั้นไม่เคยตกไปเป็นภรรยาผัวที่ต่ำศักดิ์เสมอกับชายที่หญิงนั้นรักนั้นเลย ชายคนนั้นมักใหญ่ใฝ่สูงเอื้อมเข้าไปสมคบกับหญิงในตระกูลสูงเช่นนั้น เป็นที่แปลกใจคนในตระกูลนั้นทั้งสิ้น ถ้าจะตัดสินให้ตามใจหญิงแล้ว คนในตระกูลนั้นทั้งสิ้นเขาคงคิดว่าผู้ครองแผ่นดินลดศักดิ์ตระกูลเขาให้ต่ำไป ตัวอย่างจะเป็นที่เขาเสียใจไม่รู้หาย ถึงจะบังคับชายให้เสียเบี้ยละเมิดให้แก่เขาตามกฎหมาย อย่าว่าเลย ถึงจะเสียให้เขาสัก ๑๐๐ ชั่งเป็นเบี้ยปรับ เขาก็ลั่นวาจาว่าไม่ยอมยินดีรับเป็นอันขาดทีเดียว
อนึ่งถ้าจะตัดสินให้ชายหญิงคู่นั้นได้อยู่ด้วยกันตามสมัครรักใคร่กันแล้ว ผู้ตัดสินก็ดูเป็นโง่งมนักไม่รู้เท่ารู้ทันคนเสียคมเสียคาย ถูกหลอกถูกลวงกล้ำกรายเข้ามาในพระราชวัง โทษเสมอขบถแต่แผ่นดินเก่ามาจนแผ่นดินใหม่ ก็จะเป็นอันไม่รู้เท่าอ้ายขบถเสียการที่ปรากฏว่าไม่รู้เท่านั้น จะเป็นที่จะให้คนลามๆ ต่างๆ เดินทางนั้นมาลูยลายพระราชฐานต่อไปในภายหน้า จึงประกาศมาขอให้ผู้มีปัญญาตริตรองดู
แต่ความสามัญในโรงศาลในกรุงแลหัวเมืองทั้งปวง ให้ตุลาการพิจารณาสังเกตตระกูลหญิงตระกูลชาย แลเปรียบเทียบให้คล้ายกับกระแสพระราชดำริ ก็ซึ่งถือลัทธิว่าชายถูกต้องหญิงแล้ว ก็เชื่อว่าเป็นเมียนั้นใช้ไม่ได้ ให้บังคับตามใจสมัครในตระกูลหญิงที่ต่ำ แลตามใจบิดามารดาพี่น้องหญิงในตระกูลที่สูงศักดิ์ ตามบังคับนี้เถิด
วิสัยตระกูลต่ำมีแต่คิดจะหาเงินหาทอง ย่อมข่มขืนบุตรหลานของตัวแล้วเอาไปขายไปให้ ให้ไปต้องทนยากอยู่ในที่ที่ตัวจะได้เงินได้ทองมาก แต่บุตรไม่ควรที่จะต้องยากเพราะบิดามารดา จึงต้องตัดสินให้ตามใจบุตรสมัคร ประการหนึ่ง หญิงก็ไม่ควรจะสึกหรอมากไปหลายแห่ง ในตระกูลต่ำ ถ้าตัดสินให้เป็นของบิดามารดาแล้ว ก็จะทำให้สึกหรอมากไปดังเช่นเป็นในความฎีกาสองเรื่องนี้ ก็ในตระกูลสูงโดยว่าหญิงพลัดไปสึกหรอในสถานที่ต่ำ เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้อง ก็เมื่อคืนมาให้ญาติพี่น้องถึงต้องสึกหรอเป็นสองซ้ำสามซ้ำ ญาติพี่น้องทั้งปวงคงจะไม่ยอมให้ไปสึกหรอในตระกูลต่ำ โดยจะต้องสึกหรอเขาคงจะให้ไปสึกหรอในที่มีศักดิ์สูงเป็นที่ยำเยงกลัวของคนเป็นอันมาก คนทั้งปวงเกรงใจไม่ออกปากพูดถึงความเรื่องนั้นได้ ก็เป็นอันแก้อายให้หายไปโดยลำดับ เพราะจะทำคนทั้งหลายให้ลืมความนั้นเสีย

ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ หรือเป็นวันที่ ๕๓๓๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เล่าเรื่องเมืองสยาม

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 30 พ.ค. 2015 9:40 pm

คดีที่สะท้อนถึง จุดต่ำสุดของความเป็นมนุษย์ "คดี พรหมพิราม" อาชญากรรมทางเพศที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย


217359.jpg
217359.jpg (92.95 KiB) เปิดดู 9143 ครั้ง



พาดหัวข่าวหน้า ๑ นสพ.ไทยรัฐ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๐

เรียงคิว ๓๐ คน ฆาตกรสารภาพเผยนาทีฆ่าโหด "จับสาวให้ม้าเหล็กขยี้"

เผยสาวหัวขาดคดีข่มขืนโหด ผัวยืนยัน ๓๐ คนเถื่อนโทรมเมียตาย

รองนายกระบุข่มขืนสาวให้รถไฟทับโหดร้ายทารุณ"ไม่พ้นืม.๒๑ แน่"

สั่งย้ายที่คุมขัง ๘ มนุษย์บ้ากามพบแผนแหกโรงพักหนีคดีข่มขืนโหด

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของข้อความพาดหัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในช่วงเดือนสิงหาคมจนถึงกันยายนในปีพ.ศ.2520 เป็นข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในปีเดียวกันกับที่ขวัญใจชาวไทยไอ้แสบ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์นักมวยขวัญใจชาวไทยเพิ่งขึ้นชกชนะนักมวยชาวต่างชาติ อาชญากรรมสะเทือนขวัญที่กล่าวได้ว่าไม่เพียงสร้างความอัปยศให้กับพี่น้องชาวพรหมพิราม จ.พิษณุโลก จากการที่อมนุษย์จำนวน 30 ชีวิตก่อกรรมอันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์รุมข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาวต่างถิ่นด้วยความไร้จิตสำนึก ปราศจากมนุษยธรรม เป็นการกระทำที่มนุษย์ไม่พึงกระทำต่อกัน สะท้อนถึงศีลธรรมที่ไม่มีอยู่ในใจของคนกลุ่มหนึ่งที่เกิดมาในเมืองไทยที่ได้ชื่อว่าเมืองพุทธ นี่คืออุทาหรณ์ครั้งสำคัญที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะเป็นยุคไหนสมัยใด ถ้าการ์ดรถไฟไม่ไล่หญิงสาวผู้เคราะห์ร้ายลงจากรถไฟเพราะไม่มีเงินจะตีตั๋ว เหตุการณ์เลวร้ายจะไม่เกิดขึ้นถ้าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคน คดีอัปยศจะไม่เกิดขึ้นถ้ากลุ่มคนทั้ง 30 ชีวิตมีความเป็นคน


เรื่องราวความเป็นมาของคดี


ข่าวนี้ในสมัยนั้นคึกโครมมาก เพราะมีผู้ต้องหาถึง 30 คนหรือมากกว่านั้น เรียกได้ว่าแทบจะหมดหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ และไทยรัฐนำเรื่องหรือการสอบสวนผู้ต้องหามาลงรายละเอียดในหน้า 1 ทุกวัน ผู้ต้องหารายสุดท้าย สารภาพว่า ข่มขืนผู้หญิงนี้ไปรอบหนึ่งแล้ว และผู้หญิงเดินไปล้างเลือดที่ข้างบ่อน้ำ จำเลยได้ตามไปจะข่มขืนซ้ำอีก แต่ผู้หญิงบอกว่า ไม่พออีกหรือ และพยายามขัดขืน จึงจับผู้หญิงมานั่งพิงแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนที่โคนต้นไม้และลงมือข่มขืน พร้อมกับบีบคอไปด้วย จนเสียชีวิตในที่สุด

หลังจากข่าวนี้ก็มีการสืบหา การ์ดรถไฟคนที่ไล่ผู้หญิงลงจากรถ ก็พบตัว โดยการ์ดนั้นสารภาพว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ซื้อตั๋วรถ โดยอ้างว่าไม่มีเงิน เพราะกำลังจะไปตามสามี ขอนั่งไปลงพิจิตร แต่การ์ดไม่อนุญาต โดยอ้างว่าผิดระเบียบ และไล่ให้ลงที่สถานีพรหมพิราม ซึ่งเป็นสถานีเล็กๆจนต้องมาประสบชะตากรรมดังกล่าว


ประเด็นนี้มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางมากว่าทำไมรถไฟต้องโหดร้ายขนาดนั้น อย่างน้อยก็น่าจะรอให้ถึงสถานีระดับจังหวัดที่มีคนหรือเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ก่อนแล้วให้ลงก็ได้ จำได้ว่ามีพวกองค์กรสตรีกับนักการเมืองออกมาพูดกันหลายคน แล้วก็เงียบ ๆ ไปไม่รู้ว่ารถไฟยังมีนโยบายไล่ลงจากรถอีกหรือเปล่า

เรื่องจริงคดีนี้ถูกสร้างเป็นหนัง ชื่อเรื่อง "คนบาปพรหมพิราม" แต่ถูกชาวบ้าน อ.พรมพิราม รวมตัวกันคัดค้าน จึงเปลี่ยนเป็นเรื่อง "คืนบาป พรมพิราม"

สมัยนั้นมีข่าวเล็ก เสนอใน นสพ.ไทยรัฐ มีการเสนอข่าวว่า มีหญิงไทยไม่ทราบชื่อถูกรถไฟทับคอ ร่างขาด เป็น 3 ท่อนที่ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก

ข่าวนี้ทีแรกก็เป็นแค่ข่าวอุบัติเหตุธรรมดา แต่ต่อมามีการขุดคุ้ยจากนักข่าวท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่ว่า ผู้หญิงคนนี้ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ทำไมอยู่ดี ๆ มาถูกรถทับตายที่นี่ได้ และคนแถวนั้นก็ไม่รู้จัก ทำไมอยู่ ๆ ถึงมาที่อำเภอนี้ แสดงว่าต้องถูกฆ่าตายมาจากที่อื่นแล้วนำมาอำพรางคดี หรือ ตกรถไฟแล้วถูกรถทับตายซึ่งสมัยนั้นเกิดบ่อยเพราะพวกชอบปีนหลังคารถไฟนั่งฟรี


ผู้หญิงคนนั้นถูกการ์ดรถไฟไล่ลงจากรถกลางดึกเพราะไม่มีเงินค่าตั๋ว พอดีกับในช่วงนั้นมีการจัดงานบุญอะไรสักอย่าง ทำให้มีชาวบ้านที่พึ่งกลับจากร่วมงานมาจำนวนมาก มาพบกับผู้หญิงคนนี้เดินตามทางรถไฟอยู่ จึงหลอกพาไปข่มขืน

ครั้งแรกจำนวนที่ข่มขืนก็ไม่มาก แต่มีการตามพวกผู้ชายที่เมาเหล้าจากในงานอีกมาร่วมด้วย โดยทยอยกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งคนสุดท้ายที่นอกจากจะข่มขืนแล้วยังเผลอบีบคอผู้หญิงคนนั้นให้ด้วย ทำให้เสียชีวิต
มีหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ทำให้ตำรวจไม่เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ คือ เหล่าทรชน ได้ทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อสะกดวิญญาณศพด้วย







ขอบคุณที่มา ::ตำนาน คดีดัง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เล่าเรื่องเมืองสยาม

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 31 พ.ค. 2015 2:12 pm

นางกิ่งแก้ว นักโทษประหารหญิง คนที่ ๒ ของไทย

untitled_resize.png
untitled_resize.png (121.48 KiB) เปิดดู 9141 ครั้ง


นางกิ่งแก้ว ลอสูงเนิน เธอคนนี้คนไทยเองน้อยคนไม่ค่อยรู้จัก แต่ไม่ยากที่จะค้นหา เพราะประเทศไทยเรามีนักโทษประหารหญิงไม่กี่คน ซึ่งนางกิ่งแก้วนั้นเป็นนักโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของไทยเรา

เรื่องราวของนางกิ่งแก้ว ลอสูงเนินน่าเชื่อว่ามาจากเนื้อหาหนังสือที่เชาวเรศน์จารุบุณย์เชาวเรศน์ จารุบุณย์เพชฌฆาตคนสุดท้ายที่ลั่นกระสุนปืนประหารชีวิตนักโทษหลายราย ก่อนที่การประหารชีวิตไทยจะเปลี่ยนเป็นฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดแทน ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้คนต่างชาติรู้เรื่องการประหารชีวิตยิงเป้ามาก ซึ่งพอดีผมไปค้นที่ห้องสมุดไม่เจอหนังสือดังกล่าว ดังนั้นผมขอแปลเท่าที่จะทำได้ล่ะกันน่ะครับ ผิดพลาดประการใดขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วย

นางกิ่งแก้ว เป็น พี่เลี้ยงเด็กชาวโคราชที่ทำงานในกรุงเทพ ที่คุ้นเคยและได้รับวางใจกับครอบครัวหนึ่งที่ได้จ้างเธอมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ชายอายุ 6 ขวบ ซึ่งวันที่เกิดเหตุนั้นเธอได้ไปรับเด็กชายที่โรงเรียน ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักกันดีในคุณครูในโรงเรียนดีอยู่แล้วและส่งให้เธอโดยไม่ เกิดความสงสัยใดๆ แต่กลายเป็นนางกิ่งแก้วได้ร่วมมือกับพวกโจรผู้ชาย (2 คน) จับเด็กชายไปเรียกเงินค่าไถ่จากพ่อแม่เด็ก โดยตามแผนการนั้นพ่อแม่เด็กจะต้องโยนเงินออกจากรถไฟที่กำลังแล่นและใกล้กับ ธงที่กำหนด ที่นี้ก็เกิดปัญหาขึ้นเมื่อเวลาส่งมอบเงินดันเป็นตอนกลางคืน ผู้ปกครองเด็กมองไม่เห็นธง และส่งเงินผิดพลาดไม่ตรงจุดที่กำหนด ส่งผลทำให้การเลือกเปลี่ยนเงินค่าไถ่ล้มเหลว พวกโจรโกรธแค้นและแทงเด็กตายเพื่อปิดปาก แม้ว่านางกิ่งแก้วพยายามห้ามพวกโจรไม่ทำร้ายเด็ก แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจแทงเด็กตายและนำศพไปฝัง ก่อนที่จะแยกย้ายกันหลบหนี (จากการชันสูตรศพต่อมาพบว่ามีเศษดินในปอดแสดงให้เห็นว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่ หลังฝังศพของเขาบนดินแล้ว)


ด้วยการกระทำของเธอในการฆาตกรรมเด็กชาย นางกิ่งแก้วถูก ตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้า สำหรับการยิงเป้าของไทยนั้น นักโทษถูกผ้าปิดตาและผูกติดกับเสาหลักรูปไม้กางเขนฟันหน้าเข้ากับกำแพง ไม่ว่าจะเป็นเอว หน้าอก ข้อศอกทั้งสองข้างต้องติดกับไม้กางเขนทั้งสองด้าน และที่ข้อมือมีลักษณะพนมมือโอบรอบเสา ซึ่งต้องมัดให้แน่นจนนักโทษขยับตัวไม่ได้ และจากนั้นก็ตั้งปืนไรเฟิลอัตโนมัติชี้ไปยังหัวใจบริเวณแผ่นหลังของนักโทษ ประหาร (ซึ่งจะทำเครื่องหมายบริเวณหัวใจนักโทษเอาไว้) เมื่อถึงเวลาประหารเพชฌฆาตที่ อยู่ด้านหลังนักโทษจะทำการยิงกระสุนเข้าไปสิบห้านัดเข้าไปบริเวณที่ทำ เครื่องหมาย เพื่อให้นักโทษประหารตายทันทีไม่ให้ทรมานมากเกินไป

นางกิ่งแก้ว ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ 13 มกราคม 1976 ในเวลานั้นสภาพจิตใจนางกิ่งแก้วย้ำแย่มาก (เคยพยายามฆ่าตัวตายเพื่อหนีโทษประหาร) ซ้ำยังหน้ามืดจะเป็นลม มีอาการทางจิตประสาท ทำให้พี่เลี้ยงต้องคอยดูแลอาการและคอยให้ยาดม ในระหว่างรอประหารเธอก็ยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ของเธอในคดีฆาตกรรมเด็กชาย ว่า "ฉันไม่ได้ทำ ฉันไม่ได้เป็นคนฆ่าเด็ก" เธอขอร้อง "ได้โปรดอย่าฆ่าฉัน ฉันไม่ได้ฆ่าเขา" เธอพูดซ้ำซากแบบนี้ตลอดเวลา แต่หมดสิ้นความหวังเพราะเธอก็ถูกส่งไปยังเวทีประหาร ปืนถูกโหลดและเพชฌฆาตเล็ง อีกสักครูก็มีกระสุนกว่าสิบนัดถูกยิงออกมาเข้าไปจุดที่เชื่อว่าจัดขั้วหัวใจของนางกิ่งแก้ว

ไม่นานหลังจากยิงปืนเสร็จสิ้น หมอได้เดินเข้ามาใกล้ผู้หญิงแล้วตรวจหาชีพจรก็พบว่าเธอเสียชีวิตแล้ว จุดที่ถูกยิงมีเลือดออกมาปริมาณมาก พวกเขาจัดการแก้ร่างของเธอและวางคว่ำหน้าของเธอลงบนพื้น ซึ่งตอนนั้นเธอก็ชักและกระตุกเล็กน้อย หน้าอกของเธอปริออกเพราะแรงกระสุน ร่างของเธอถูกย้ายไปที่ห้องเก็บศพและวางอยู่บนเตียง ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นเตรียมประหารคนต่อไปที่รอคิวอยู่


แต่แล้วก็เกิดเรื่องเหลือเชื่อขึ้น นางกิ่งแก้วยังไม่ตาย เธอเริ่มส่งเสียง (ดูเหมือนจะพูดว่า"ฉันไม่ผิดๆๆๆๆๆๆๆ") และพยายามลุกขึ้นนั่ง พี่เลี้ยงต้องวิ่งเข้าไปห้องเก็บศพ และพวกเขาพยายามกลิ้งเธอหลายครั้งและกดบนหลังของเธอเพื่อให้เลือดออกเร็ว ขึ้นให้ธอตายสงบ (บางคนพยายามที่จะบีบคอ) แต่เธอก็ยังอ้าปากหายใจไม่เสียชีวิตในทันที แม้จะทำยังไงเธอก็หายใจและยังมีชิวิตอยู่ แม้เลือดจะออกมามากมายก็ตาม ผลสุดท้ายเธอก็ถูกยกกลับไปเวทีประหารและประหารชีวิตใหม่ด้วยการยิงกระสุนอีก 15 นัดอีกครั้ง เธอจึงเสียชีวิต

ไม่มีใครทราบว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น บางทีอาจเป็นเพราะผูกติดกับเสาหลักไม่แน่นพอ ทำให้เธอดิ้นจนกระสุนเลยจุดตาย และอีกทั้งหัวใจของเธอนั้นอยู่ด้านขวาไม่ใช่ด้านซ้ายเป็นเหตุทำให้การประหาร ผิดพลาดดังกล่าว

(มีเหตุหลังจากนี้นิดหน่อย มีเรื่องเล่าว่าหลังจากที่นำศพของเธอมาไว้ห้องเก็บศพ ยังคงมีคนได้ยินเสียง "ฉัน ไม่ ผิด" ดังจากในห้องซ้ำแบบนี้ตลอดเวลา และทุกวันนี้ยังมีผู้พบเห็นเธอเป็นผีวนเวียนที่เรือนจำบางขวาง)


อีกเรื่องเล่าหนึ่งจากปากพัสดี

พัสดีหลายคนเล่าว่า นางกิ่งแก้วรักเด็กคนนี้มาก รักเหมือนลูกของตน และเมื่อวันที่เด็กถูกสังหาร เป็นวันที่นางกิ่งแก้วไม่อยู่ ทางฝ่ายสามีจึงลงมือสังหารเด็กเสีย ฝ่ายนางกิ่งแก้วกลับมาและไม่พบเด็ก ก็รู้ได้ทันทีว่าอาจเกิดอันตรายกับเด็กคนนั้น นางจึงออกตามหาเด็กคน และมาพบรอยดินที่เหมือนพึ่งฝังเสร็จใหม่ นางกิ่งแก้วจึงลงมือขุดจนพบร่างเด็ก แต่ไม่ทันการเสียแล้ว เด็กหมดลมหายใจไปเสียก่อน นางกอดศพและร้องไห้อยู่พักนึง เป็นเวลาเดียวกับที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังบุกจับพอดี นางกิ่งแก้วจึงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่าคนตาย นี่คือคำสารภาพที่นางกิ่งแก้ว พูดกับพัสดีภายในเรือนจำ


พัสดีเล่าต่อว่า ขณะที่นางกิ่งแก้วโดนจองจำอยู่นั้น สุขภาพจิตของเธอแย่มาก ได้แต่ร้องไห้และพร่ำเพ้อว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด อยู๋อย่างนั้น ดั่งคนเสียสติ จนนักโทษในเรือนจำเกิดความเวทนานางกิ่งแก้วมาก และเป็นอย่างนี้อยู่ประจำ

จนเมื่อถึงวันประหาร ขณะที่นางกิ่งแก้วโดนคุมตัวไปยังแดนประหาร นางพร่ำเพ้ออยู่ตลอดว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด

เมื่อเข้าสู่หลักประหาร เพชรฆาตก็เตรียมตัวลั่นไกไปที่หัวใจของนางกิ่งแก้ว เสียงปืนชุดแรกดังขึ้น กระสุนพุ่งสู่ร่างนางกิ่งแก้ว จากนั้นเลือดก็สาดพร้อมกับเสียงโหยหวนของนางกิ่งแก้วว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด เพชรฆาตตกใจมากที่นางกิ่งแก้วยังไม่ตาย จึงยิงใส่อีกชุดนึงเพื่อที่จะให้นางกิ่งแก้วพ้นทุกข์โดยเร็ว ปรากฎว่า นางกิ่งแก้วก็ยังไม่หมดลมหายใจและยังตะโกนโหยหวนด้วยความทรมารว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ทางพัสดีและหมอประจำเรือนจำจึงรีบเข้าไปตรวจสอบที่่ร่างนางกิ่งแก้วอีกครั้ง และผลปรากฏว่านางมีหัวใจอยู่ด้านขวา ทางพัสดีจึงต้องวัดเป้าอีกครั้งและทำการประหารใหม่ และคราวนี้นางกิ่งแก้วได้พ้นทุกข์เแล้วสียที พร้อมกับพูดสุดท้ายว่า ฉันไม่ผิด

ยังมีเรื่องเล่าหลังจากจากนางกิ่งแก้วเสียชีวิตไปแล้ว ว่ามีนักโทษและชาวบ้านแถวนั้นพบเจอวิญญาณนางกิ่งแก้วออกมาปรากฎตัวอยู่บ่อยครั้ง บ้างก็เห็นนางกิ่งแก้วเดินร้องไห้และพูดว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด และหายเข้าไปในกำแพงเรือนจำ บ้างก็เห็นว่าเธอลอยอยู่บนเหนือกำแพงเรือนจำ ส่งเสียงร้องไห้โหยหวนว่า ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด ฉันไม่ผิด...และทุกวันนี้ก็ยังมีคนพบเจอวิญญาณของนางกิ่งแก้วอยู่ แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม







ขอบคุณที่มา ::: ตำนาน คดีดัง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm


ย้อนกลับไปยัง สนทนากับคนภาษาไทย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 138 ท่าน

cron