เทียนจำนำพรรษา..เป็นคำที่ใช้ถูกหรือไม่

- maxresdefault_resize.jpg (76.02 KiB) เปิดดู 7356 ครั้ง
เทียนจำนำพรรษา เป็นคำที่ใช้ผิดแน่นอน และผิดถึงสองชั้น เรียกว่าผิดทับซ้อน ผิดซ้อนแรกคือ ไปเรียก ผ้าอาบน้ำฝน ว่า ผ้าจำนำพรรษา
ผ้าอาบน้ำฝน ถวายก่อนเข้าพรรษา ผ้าจำนำพรรษา คือผ้าที่ถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว คนละเรื่องกันเลย ประเภทของผ้าและวัตถุประสงค์ของผ้า ก็คนละเรื่องกันด้วย
ผิดซ้อนสองคือ ไปเรียกชื่อเทียนตามผ้าจำนำพรรษา ซึ่งเรียกผิดอยู่ก่อนแล้วว่า เทียนจำนำพรรษาด้วยความคิดเอาเองว่า เมื่อผ้าชนิดนั้นถวายก่อนเข้าพรรษา เรียกว่า ผ้าจำนำพรรษา และเทียนชนิดนี้ก็ถวายก่อนเข้าพรรษาเหมือนกัน ก็ควรจะเรียก เทียนจำนำพรรษา เสียด้วย จะได้เหมือนๆ กัน เข้าชุดกันพอดี
เทียนชนิดนี้เขามีคำเรียกมาก่อนแล้วตั้งแต่โบราณนานไกลว่า เทียนพรรษา ไม่ใช่ เทียนจำพรรษา หรือเทียนจำนำพรรษา อะไรทั้งนั้น จำนำ แผลงมาจาก จำ จำนำพรรษา ก็คือ จำพรรษา นั่นเอง
จริงอยู่ คำว่า จำ หรือ จำนำ อาจหมายถึง ประจำ อย่างในคำว่า เจ้าประจำ ขาประจำ หรือทำอย่างนั้นอยู่เป็นประจำ แต่นั่นต้องในบริบทอื่น ถ้าควบอยู่กับคำว่า พรรษา เป็น จำพรรษา หรือ จำนำพรรษา ต้องมีความหมายเดียวเท่านั้น คือ อยู่ประจำที่ และใช้กับพระสงฆ์ในความหมายเฉพาะว่า อยู่ประจำที่ในระหว่างฤดูฝน ที่พูดกันติดปากว่า เข้าพรรษา
ผ้าจำนำพรรษา พูดลัดตัดความมาจากคำว่า ผ้าที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบตามเวลาที่กำหนดแล้ว ผ้าชนิดนี้จึงต้องถวายหลังจากออกพรรษาแล้ว ไม่ใช่ถวายก่อนเข้าพรรษา ความประสงค์ก็คือเพื่อให้พระท่านผลัดเปลี่ยนจีวรชุดเก่าที่ใช้มาตลอด ๓ เดือนแล้ว โดยเจตนาเดียวกับผ้ากฐินนั่นเอง
ผ้าที่ถวายก่อนเข้าพรรษา ก็มีคำเรียกมาก่อนแล้วตั้งแต่โบราณนานไกลว่า ผ้าอาบน้ำฝน เรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ คำเก่าของคนเก่าเรียก ผ้าชุบอาบ ผ้าชนิดนี้พระท่านใช้ผลัดสรงน้ำ (อาบน้ำ) จึงเรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน ประโยชน์ใช้สอยก็คล้ายๆ กับผ้าขาวม้าของชาวบ้านนั่นเอง
ตลอดเวลา ๓ เดือนในช่วงฤดูฝน มักมีฝนตกชุก ก่อนหน้าที่จะมีพระพุทธานุญาตให้มีผ้าอาบน้ำฝน พระเปลือยกายอาบน้ำฝน ชาวบ้านไปเห็นเข้าจึงคิดอ่านถวายผ้าสำหรับผลัดนุ่งอาบน้ำ กำหนดเวลาถวายช่วงก่อนเข้าพรรษา เพราะพระท่านจะได้ใช้ในระหว่างพรรษา ผ้าอาบน้ำฝนไม่ใช่ผ้าสบง สบง คือผ้านุ่งประจำ เป็น ๑ ในจีวร ๓ ผืน (ไตรจีวร) ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าพิเศษ นอกไตรจีวร
ผ้าอาบน้ำฝน จึงไม่ใช่ ผ้าจำนำพรรษา ดังที่เรียกกันผิดๆ ซ้ำยังมาพาเอา เทียนพรรษา ให้ผิดตามกลายเป็น เทียนจำนำพรรษา ไปอีกคำหนึ่ง
นี่คือโทษของการไม่ศึกษา แล้วพอใครเขาจะให้ความรู้ ก็ไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่สน ฉันจะเรียกตามที่ฉันเข้าใจ พอใครทักท้วงเข้า ก็โกรธ อ้างหน้าตาเฉย ?คนมันไม่รู้นี่ ฉันไม่ใช่นักปราชญ์เหมือนคุณนี่ โดนว่าอย่างนี้เข้า ก็เลยเป็นโรควางเฉยกันหมด เห็นใครพูดผิดเขียนผิด ใช้ผิด ก็ไม่ทักท้วง ปล่อยให้คำผิดลอยนวล ทั้งๆ ที่คำว่า เทียนจำนำพรรษา นั้นเกิดมาจาก
๑. ความไม่รู้ คือไม่รู้ว่าเทียนชนิดนี้เขามีคำเรียกอยู่แล้วว่า เทียนพรรษา
๒. รู้ผิด คือคิดเอาเองว่า เมื่อเรียก ผ้าจำนำพรรษา ได้ ก็ควรเรียกเทียนชนิดนี้ว่า เทียนจำนำพรรษา (ผิดทับซ้อนกันเข้าไป)
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ พยายามหาทางอธิบายผิดให้เป็นถูก เช่น บอกว่า จำนำ หมายถึง ประจำเทียนจำนำพรรษา หมายถึงเทียนที่ถวายเป็นประจำทุกปีก่อนเข้าพรรษา กลายเป็นฟังได้ ฟังขึ้น มีเหตุผล ลืมไปว่ามีคำว่า เทียนพรรษา หนักเข้า นานเข้า ราชบัณฑิตยสถานก็คงต้องเพิ่มเติมนิยามคำว่า เทียนพรรษา เข้าไป เป็น
เทียนพรรษา น. เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สําหรับจุดในโบสถ์บูชาพระตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา, เทียนจำนำพรรษา ก็เรียก
แล้วก็ต้องเพิ่มลูกคำของคำว่า เทียน ขึ้นมาอีกคำหนึ่งว่า เทียนจำนำพรรษา มีคำนิยามดังนี้
เทียนจำนำพรรษา น. เทียนขนาดใหญ่และยาวเป็นพิเศษกว่าเทียนชนิดอื่น สําหรับจุดในโบสถ์บูชาพระตั้งแต่วันเข้าพรรษาจนถึงวันออกพรรษา, เทียนพรรษา ก็เรียก
คำผิดก็กลายเป็นคำถูกไปโดยสมบูรณ์
แทนที่จะช่วยกันทักท้วงหน่วงรั้งให้เลิกใช้คำผิด กลับไปใช้คำถูก เรากลับพยายามอธิบายคำผิดให้กลายเป็นคำถูก ทำนองเดียวกับ การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง เดี๋ยวนี้ก็พูดกันบนหน้ากระดานสนทนานี้เองว่า แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีใครทักท้วง ปล่อยให้คำผิดลอยนวล ในบ้านของผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลความถูกต้องของภาษานั่นเอง อีกไม่นานก็คงมีคนช่วยอธิบายคำนี้ให้กลายเป็นถูกไปอีกคำหนึ่ง หนักเข้า นานเข้า ผิดก็กลายเป็นถูกไปเอง
แล้วเราก็บอกกันว่า คำที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้ หรือรู้ผิด แล้วเรามาช่วยกันหาทางอธิบายให้ กลายเป็นคำถูกนั้น เป็นความคลี่คลายขยายตัวของภาษา แสดงให้เห็นว่าภาษาของเรามีวิวัฒนาการขึ้น
ที่มา : นาวาเอกทองย้อย
ที่มา
http://www.royin.go.th/th/webboardnew/a ... &QID=10399