การใช้ภาพพจน์

เสวนาภาษาไทย

การใช้ภาพพจน์

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 17 พ.ค. 2016 5:14 am

การใช้ภาพพจน์

เสน่ห์ของภาษาไทยอย่างหนึ่งคือ มีซอกมุมที่น่าค้นหา นอกจากเราจะมีสุภาษิต คำพังเพย ที่เปรียบเทียบและสอนใจแล้ว ยังมีการใช้ภาพพจน์ เพื่อไม่ต้องกล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งตรงๆ เป็นการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร ที่ทำให้ผู้รับสารเกิดมโนภาพ เกิดจินตนาการ ถ่ายทอดอารมณ์ ทำให้มีความรู้สึกร่วมตรงตามความปรารถนาของผู้ส่งสาร ภาพพจน์ที่ใช้ในการสื่อสารมีอยู่มากมายหลายประเภท ดังนี้

๑.อุปมา (simile) คือ การเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งที่โดยธรรมชาติแล้วมีสภาพที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะเด่น ร่วมกันและใช้คำที่มีความหมายว่า เหมือนหรือคล้ายเป็นคำแสดงการเปรียบเทียบเพื่อเน้นให้เห็นจริงว่า เหมือนอย่างไร ในลักษณะใด ได้แก่คำว่า เหมือน เสมือน ดัง ดั่ง คล้าย ดูราว เหมือนดั่ง ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง ละม้าย เสมอ ปาน เพียง ราว ราวกับ พ่าง เทียบ เทียม เฉก เช่น ฯลฯ เป็นการกล่าว การเปรียบเทียบสิ่งที่เหมือนกันหรือต่างกันใช้คู่กับ อุปไมย อุปมา คือ สิ่งหรือข้อความที่ยกมากล่าวมาเปรียบ อุปไมย คือ สิ่งหรือข้อความที่พึงเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นเพื่อให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เช่น เงียบราวกับป่าช้า มีความรู้เหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน

๒. อุปลักษณ์ (metaphor) คือการเปรียบเทียบด้วยการกล่าวว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่กล่าวตรงๆ ใช้การกล่าวเป็นนัยให้เข้าใจเอง เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาลักษณะ สำคัญของสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบ มาเปรียบเทียบทันทีโดยโดยไม่ต้องมีคำเชื่อมโยง ไม่ต้องใช้คำแสดงการเปรียบเทียบ ไม่มีคำแสดงความหมายว่า เหมือน ปรากฏอยู่ หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้คำว่า “เป็น” หรือ “คือ” อุปลักษณ์ เป็นการใช้ถ้อยคำภาษา ในเชิงการเปรียบเทียบที่มีชั้นเชิงและลึกซึ้งกว่าอุปมา นิยมใช้กับ ภาษาหนังสือพิมพ์ เพราะใช้คำน้อย ได้ความมากเหมาะกับเนื้อที่อันจำกัด เช่น เหยี่ยวข่าวกำลังบินว่อนอยู่แถวทำเนียบรัฐบาล ทองกวาวทิ้งไร่นามาอยู่ป่าคอนกรีต เลือดในอกแท้ ๆ ยังทิ้งได้

๓. บุคลาธิษฐาน (personification) คือ การสมมุติให้สิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความคิด สิ่งที่เป็นนามธรรม หรือสัตว์ให้มีสติปัญญา อารมณ์หรือกิริยาอาการ เหมือนมนุษย์เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นเกิดปรากฏการณ์เสมือนเป็น สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก นึกคิดขึ้นมา แล้วสื่อความรู้สึกออกมาให้ผู้รับสารได้รับรู้เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาสิ่งไม่มีชีวิต หรือมีชีวิต แต่ไม่ใช่คนมากล่าวถึงราว กับเป็นคน หรือทำกิริยาอาการอย่างคน “ภาพพจน์ประเภทนี้จะทำให้สิ่งที่กล่าวถึง มีชีวิตชีวา ผู้รับสารจะมองเห็นภาพสิ่งนั้นเคลื่อนไหวทำกิริยาอาการเหมือนคนมีอารมณ์ มีความรู้สึก และสามารถสื่อความรู้สึกนั้นมาสู่ผู้รับสารได้” (นภาลัย สุวรรณธาดา, ๒๕๓๓: ๒๙๕) เช่น ตั๊กแตนโยงโย่ ผูกโบว์ทัดดอกจำปา พระจันทร์ยิ้มทักทายกับหมู่ดาวบนท้องฟ้า

๔. อติพจน์ (hyperbole) คือ การกล่าวเกินจริง ซึ่งเป็นความรู้สึกหรือความคิดของผู้กล่าวที่ต้องการย้ำความหมาย ให้ผู้ฟังรู้สึกว่าหนักแน่นจริงจัง เน้นความรู้สึกให้เด่นชัดและน่าสนใจ โดยไม่เน้นความเป็นจริง เพราะต้องการ ให้ผู้รับ สารเกิดความซาบซึ้งและประทับใจ ซึ่งอาจจะมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ได้ เพื่อเน้นความ รู้สึกมากกว่า ความเป็นเหตุเป็นผล มุ่งเร้าอารมณ์และความรู้สึกสะเทือนใจเป็นสำคัญ ภาพพจน์ประเภทนี้นิยม ใช้สื่อสารกันมากทั้งการพูดและการเขียน ที่ต้องการแสดงความรู้สึกเพราะสามารถเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้ง่าย เช่น ฉันหิวไส้จะขาดแล้วนะ อากาศร้อนจนแทบจะสุกอยู่แล้วสายเลือด การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า

๕. นามนัย (Metonymy) คือ การเปรียบเทียบโดยการใช้คำหรือวลีซึ่งบ่งลักษณะหรือคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่น หรือลักษณะสำคัญ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือการกล่าวถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของสิ่งใด ๆ มากล่าวแทนคำที่ใช้เรียก สิ่งนั้นโดยตรง เป็นภาพพจน์ที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำธรรมดา ๆ ซ้ำซาก เช่น เลือดของวีรชนจะจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ตลอดไป (เลือด แทนการต่อสู้) คนไทยไม่ยอมให้ใครมาทำลายขวานทองได้ (ขวานทองแทนประเทศไทย) การจัดสรรงบประมาณควรให้ได้ไปสู่ระดับรากหญ้าจริง ๆ (รากหญ้าแทนคนยากคนจน)

๖. อนุนามมัย (Synecdoche) คือ การกล่าวถึงส่วนย่อยที่มีลักษณะเด่นของสิ่งนั้น ๆ มากล่าวแทนสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงทั้งหมด เป็นการเปรียบเทียบโดยนำเอาลักษณะเด่นที่เป็นส่วนหนึ่งมากล่าวแทนทั้งหมด เช่น เรื่องนี้ได้กลิ่นตุ ๆ ว่า คนมีสีอยู่เบื้องหลัง (คนมีสี หมายถึง ข้าราชการ) มีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรงให้ฉันทนา (ฉันทนา หมายถึง สาวโรงงาน) มือที่เปื้อนชอล์กยังคงมุ่งมั่นที่จะสานฝันให้เป็นจริง (มือที่เปื้อนชอล์ก หมายถึง ครู)

๗.ปฏิพจน์ (paradox) คือ การใช้ถ้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกันมากล่าวร่วมกันได้อย่างกลมกลืนกัน ภาพพจน์ประเภทนี้ผู้รับสารจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ความหมาย หรือ ตีความจึงจะเข้าใจได้ดี เช่น ไฟเย็น ชัยชนะของผู้แพ้ สันติภาพร้อน

๘. สัทพจน์ (onomatopoeia) คือ การใช้ถ้อยคำที่เลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงดนตรีเสียงร้องของสัตว์ หรือเลียนเสียงกิริยาอาการต่าง ๆ ของคน การใช้ภาพพจน์ประเภทนี้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน จะช่วยสื่อให้ผู้รับสารรู้สึกเหมือนได้ยินเสียง โดยธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ และเห็นกิริยาอาการของสิ่งนั้น ๆ ด้วย เช่น บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว เสียงปืนดัง ปัง! ปัง! ขึ้นสองนัด

๙. ปฏิวาทะ (oxymoron) คือ การใช้คำที่มีความหมายตรงกันข้ามกันหรือขัดแย้งกันมารวมไว้ด้วยกันเพื่อให้มีความหมาย ใหม่ หรือให้ความรู้สึก ขัดแย้งกัน หรือเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความหมายของคำแรก เช่น แฟนของนายหน้าอกใหญ่ฉิบหาย (หมายถึง หน้าอกใหญ่มาก) ลูกสาวของเขาช่างน่ารักน่าชัง (หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู) เดชทำคะแนนได้น้อยมาก (หมายถึง น้อยเหลือเกิน)

๑๐. สัญลักษณ์ (symbol) คือ การเปรียบเทียบที่เรียกสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยใช้คำอื่นแทน คำที่ใช้เรียกนั้นเกิดจากการเปรียบเทียบและ ตีความซึ่งใช้กันมานานจนเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป อาจเป็นคำๆ เดียว ข้อความ บุคคลในเรื่อง เป็นเรื่อง เฉพาะตอน หรือเรื่อง ๆ หนึ่งก็ได้ เช่น สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ ดอกหญ้าหมายถึงความต่ำต้อย


ที่มา ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับไปยัง สนทนากับคนภาษาไทย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 134 ท่าน

cron