เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

เสวนาภาษาไทย

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อังคาร 21 พ.ค. 2024 6:51 am

บทที่๒
วัยเด็กของแม่
fam_03.jpg
fam_03.jpg (40.66 KiB) เปิดดู 2998 ครั้ง

ในภาพคือพี่ๆน้องๆของหม่อนดี เริ่มจากคนยืนซ้าย หม่อนปัน หม่อนหนานนนท์ หม่อนดี หม่อนเฮือน
คนนั่ง คือ หม่อนต๋าและหม่อนลูน เป็นพี่น้องกัน ทั้งหมดเป็นลูกของหม่อนปวงและหม่อนสุ


ช่วงที่แม่เริ่มจำความได้วิถีชีวิตของทุกคนในครอบครัวเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง”เราอยู่กับธรรมชาติ ทุ่งนาป่าเขา ช่วงปฐมวัยของแม่สังคมรอบตัวไร้การปรุงแต่ง ไร้เทคโนโลยี บ้านยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา เราตักน้ำจากบ่อน้ำมากินและใช้ บ่อน้ำที่ใสกินได้ใกล้ ๆ บ้าน คือ บ่อบ้านอุ๊ยมอญ ยังจำภาพเดิม ๆ ได้เสมอ บ้านอุ๊ยมอญกับบ้านเราอยู่ตรงข้ามกันโดยมีถนนกั้น ช่วงเช้าหรือเย็น ๆ น้าผู้หญิงจะใช้ไม้คานหาบคุไปตักน้ำที่ใช้ดื่ม ส่วนน้ำใช้สามารถตักที่บ่อน้ำบ้านเราได้ บ่อน้ำแต่ละบ่อไม่เหมือนกัน บางบ้านใสแจ๋วกินได้ บางบ้านใสพอที่จะซักผ้า ล้างจานได้ แต่กินไม่ได้ บางบ้านน้ำจะเป็นสีส้ม เราเรียกว่า น้ำฮาก น่าจะหมายถึงรากไม้


บ่อน้ำบ้านอุ๊ยมอญจะมีคนไปตักน้ำไม่ขาด เป็นที่พบปะพูดคุย สนุกสนาน แต่ถ้าตอนกลางคืนก็จะน่ากลัว เพราะบ้านอุ๊ยมอญพื้นที่กว้างขวาง มีบ้านอยู่ทางทิศเหนือ ส่วนทางทิศใต้เป็นป่าบอนและต้นไม้อย่างอื่นดูอึมครึม ใกล้บ่อน้ำจะมีต้นมะม่วงเก่าแก่ซึ่งเป็นที่เล่าลือกันว่า ถ้าใครมาตักน้ำตอนกลางคืนอาจจะมีกิ่งไม้ถูกเขย่าทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอยู่แถวนั้นก็ได้ เช่นเดียวกับซอยเล็ก ๆ ตรงข้ามบ้านเราและฝายกั้นน้ำ ที่คนบ้านเราเรียกว่า ปุม ที่ถูกลือว่า ผีดุมาก แต่ปุมนี่แหละเป็นสถานที่โปรดของแม่ แม่ชอบเอายอไปจับปลาซิวที่นั่นบ่อย ๆ น้ำใต้ปุมจะไหลเอื่อย ๆ ตื้น ๆ และมักจะมีปลาซิวลอยทวนน้ำมาเป็นฝูง ๆ ช่วงไหนที่ปลาซิวขึ้นเราจะนำยอไปดักจับมัน หากเป็นหน้าแล้งแถวนั้นจะมีปลาหมอ ปลาช่อน ปลาดุก ให้งมอีกด้วย


หนูคงสงสัยว่าแม่งมปลาได้อย่างไร คืออย่างนี้ สมัยก่อนลำน้ำที่ไหลผ่านบ้านเราจะกว้างกว่านี้ เขาจะนำไม้มาปักเป็นแนวกันตลิ่งพัง จุดไหนเป็นสะพานถึงจะมีปูน ปลามันชอบหลบอยู่ตามซอกหลืบไม้เหล่านั้น เราสามารถใช้มือเปล่าสองข้างค่อย ๆ โอบเข้าหากัน ปลามันจะว่ายหนี เราก็ใช้มือข้างใดข้างหนึ่งจับมันได้ หรือถ้ามันอยู่ในแม่น้ำหรือแอ่งน้ำก็ใช้สุ่มดักมันก่อนจะใช้มือควานลงไป ตอนนั้นเน้นความสนุก ผลพลอยได้ก็คือเป็นอาหาร แม่ไปจับปลาโดยใช้มือเปล่าบ่อยจนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ถูกงูไซกัดมือ ถ้ามันเป็นงูเห่าแม่คงตายไปแล้วเพราะไม่กล้าบอกผู้ใหญ่ เนื่องจากถูกห้ามเสมอเรื่องจับปลา


นอกจากปุมก็จะมี โละ ที่ปลาชุกชุมมาก โละเกิดจากลำน้ำสองสายไหลที่ไหลมาบรรจบกันกลางเป็นทางสามแพร่ง ที่นี่สถานที่ต้องห้ามเพราะคนบ้านเราเชื่อว่า ที่นี่ผีกั่น หมายถึง มีความดุร้ายและหมอผีเอาชนะได้ยาก เนื่องจากที่จุดนี้เคยเป็นทั้งโบราณสถาน อนันตกาล ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเมืองโบราณที่จมอยู่ใต้พื้นดิน เคยขุดกรุพระได้พระพุทธรูปและพระเครื่องโบราณจำนวน ๒ กรุ นอกจากนี้ยังเคยเป็นสถานที่รบกันระหว่างคนล้านนากับทัพพม่า มีคนตายเป็นจำนวนมาก บางคนก็ตายอย่างทรมาน เช่น ศัตรูที่ถูกจับมัดแล้วใช้ช้าง ม้า ลากจนขาดใจตาย ถึงจะมีความเชื่อแสนน่ากลัวแต่ที่นี่เป็นจุดโปรดของแม่ ถ้าไม่มาจับปลาก็มักจะมาเล่นอยู่คนเดียว ถ้าเราดูด้วยตามันก็ไม่ได้น่ากลัวหรอก น้ำตื้นแค่ข้อเท้า คนมักจะกลัวตำนานที่เล่าลือสืบต่อกันมานั่นแหละ สำหรับแม่นั้นไม่รู้สึกอะไร บางทีมันอาจจะจริงก็ได้นะ ที่มีคนทำนายทายทักว่าชาติที่แล้วแม่เคยเกิดที่นี่ ความฝันมันก็ผนวกกันเสียด้วยสิ เคยฝันถึงผู้ทรงศีล พญาเจ้าเมือง และผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้ เป็นเรื่องราวที่นึกถึงแล้วชวนเพ้อฝันดีแต่แม่ไม่ได้สืบเสาะไปตามความเชื่อแต่อย่างใด แม่ถือว่า สิ่งใดที่พิสูจน์ไม่ได้ สิ่งใดที่ผ่านพ้นไปแล้ว คือหมดวาระ ไม่ควรนำมาเชื่อมโยงให้เป็นพันธะอีก ชีวิตคือวันนี้..อยู่กับปัจจุบัน ถ้าเราเพ้อพกถึงอดีตชาติก็คงเหนื่อยมากเพราะไม่รู้ผ่านมากี่ชาติกี่ภพ เคยเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์มากี่ยุคกี่สมัย
7151019.jpg
7151019.jpg (59.34 KiB) เปิดดู 3017 ครั้ง

ภาพนี้เป็นภาพใต้ถุนบ้านอุ๊ยดี (หม่อนดีของคำแก้ว)มุมขวาของภาพเป็นเล้าไก่ ไกลออกไปแสงจ้ามองเห็นไม่ชัดเป็นบ้านของหม่อนปัน

แม่ชอบเดินไปตามลำน้ำ เดินเรื่อย ๆ มาขึ้นท่าน้ำบ้านเรา เมื่อก่อนบ้านเรามีท่าน้ำทำด้วยไม้ ข้าง ๆ ท่าน้ำจะมีต้นมะกอกฝรั่งซึ่งเราเรียกมันว่า มะกุก กิ่งก้านสาขามันแผ่เต็มไปหมด ลูกของมันก็เยอะเช่นกัน หม่อนดีนั้นนอกจากจะชอบปลูกดอกไม้แล้วยังชอบปลูกผลไม้อร่อย ๆ หลายอย่าง ที่แม่ชอบที่สุดคือ มะพร้าว หม่อนปลูกห่าง ๆ ไว้รอบ ๆ เขตรั้วบ้าน ในช่วงหน้าร้อนเราจะขึ้นมะพร้าวมาผ่ากิน บางทีก็เอาทั้งน้ำและเนื้อมะพร้าวมารวมกัน เติมน้ำอ้อยหรือน้ำตาล แล้วใส่น้ำแข็งลงไป อร่อยชื่นใจมาก จริง ๆ คนที่ขึ้นมะพร้าวไม่ใช่คนในครอบครัวเราหรอก แกชื่อ ลุงปิน เป็นคนที่ปั่นจักรยานรับจ้างขึ้นมะพร้าวไปทั่วอำเภอ เป็นคนมีเอกลักษณ์นะ แกจะมีวิทยุหนึ่งเครื่องผูกไว้กับจักรยานและเปิดมันตลอดเส้นทางที่ปั่น ถ้าอยากกินมะพร้าวก็รอฟังเสียงเพลงได้เลย

เล่าย้อนกลับมาถึงการเดินมาที่ท่าน้ำบางทีมันก็มีปลิงเหมือนกันนะ แต่มันจะเห็นด้วยตาเปล่า เวลามันเข้ามาใกล้ตัวแม่จะรีบวิ่งหนี ที่น่ากลัวสุดคือปลิงควายที่ตัวมันใหญ่มาก แต่หน้าแล้งไม่ค่อยมีปลิงเพราะน้ำมันแห้งขอด ความทรงจำที่ท่าน้ำของแม่มีเยอะเหมือนกัน แม่ยังจำได้สมัยที่น้ายุ้ยกับน้าเบนเล็ก ๆ เราซักผ้าอ้อมกันที่นี่ หนูอาจจะสงสัยว่าทำไมซักในแม่น้ำมันไม่สกปรกหรือ มันเป็นวิถีชีวิตของพวกเรา น้ำไหลมาจากภูเขาไหลไปทางทิศใต้เรื่อย ๆ ถึงจะไม่ค่อยถูกสุขอนามัยแต่ทุกคนก็โตมาแบบนี้ แม่เองก็เช่นกัน

แม่เป็นเด็กที่ซนมาก หลายคนทายถูกที่ว่าคำแก้วซนเหมือนแม่ ฟังจากที่ผู้ใหญ่เล่าแล้วแม่คงซนกว่าพ่อ รอบ ๆ บ้านเราจะมีเด็กรุ่นพี่หลายคนซึ่งล้วนแต่เป็นญาติกัน แม่ชอบเล่นกับลุงหวัด ลุงนู ลุงสันต์ แต่ด้วยความที่เขาอายุห่างจากเราหลายปีเขาจึงเล่นซนได้เต็มที่ สนุกที่สุดคือ ช่วงน้ำนองเต็มคลองพวกลุง ๆ เขาจะตัดต้นกล้วยมาขี่ไหลไปตามน้ำ แหวกว่ายกันทั้ง ๆ ที่น้ำไหลแรงมาก หนึ่งในนั้นคือแม่ อันที่จริงรุ่นพี่ผู้หญิงใกล้บ้านก็มีป้าแรมกับป้าปูแต่เขาไม่มาเล่นกับพวกผู้ชายจึงมีแค่แม่คนเดียวที่เล่นแบบนั้น สรุปแม่เล่นกระโดดหนังยางไม่เป็น ไม่เคยเล่น แต่เล่น อีจ้ง ปีโป้ง หมากฮอส หมากเก็บ และเล่นเบี้ย ที่กล่าวมานี่ชำนาญมากเลย บางทีแม่ก็ตามแม่หล้าแสงเดือนไปไล่นกที่ทุ่งนา เขาจะเอาเชือกฟางมาผูกรอบ ๆ นาข้าวแล้วนั่งอยู่ในห้างนาดึงเชือกให้ขยับนกก็จะบินหนีไป ถ้ามันไม่บินเราก็ยิงด้วยก๋ง(หนังสติ๊ก) เหมือนได้เฝ้าไปเล่นไป แม่ไม่ได้มีแค่การเล่นซนอย่างเดียวนะ บางทีก็เอาผ้าห่มมาแขวนเป็นชั้น ๆ เหมือนฉากลิเกแล้วเล่นบทบาทสมมติอยู่คนเดียว ตัวละครอื่น ๆ ก็มโนเอา สนุกเหมือนกัน
Camera360_2015_10_17_082008_2.jpg
Camera360_2015_10_17_082008_2.jpg (118.5 KiB) เปิดดู 3225 ครั้ง

ภาพนี้ถ่ายที่โละสมัยที่ยังไม่ได้ลาดซีเมนต์ในลำน้ำ
การเล่นซนของแม่จะเกิดขึ้นได้จากการหลบผู้ใหญ่ไปเล่นแต่โดยปรกติถ้าแม่ไม่ไปนาไปสวนกับอุ๊ยสมอุ๊ยซอนแล้วหม่อนดีก็จะเป็นคนดูแล ไม่ค่อยได้เล่นโลดโผนหรอก บางทีก็เล่นขายของเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไปนี่แหละ เสียดายที่หม่อนทาถึงแก่กรรมตอนที่แม่อายุแค่ ๔ ขวบ แต่ก็ยังจำเหตุการณ์ตอนที่อยู่กับหม่อนได้นะ ที่จำฝังใจที่สุดคือตอนหม่อนแสง (แม่แสง สิทธิราช) ซึ่งเป็นพี่สาวหม่อนทาพาหม่อนทาไปถือศีลที่วัดสันทราย หม่อนนุ่งห่มสีขาวเหมือนแม่ชี แม่นั่งรอท่านอยู่ในศาลาบาตร ในอดีตวัดเรามีศาลาบาตรด้วย จะเป็นศาลายาว ๆ ขนาบไปกับกำแพงวัด เวลามีงานสลากภัตหรือปอยหลวง ศรัทธาต่างหมู่บ้านก็จะมานั่งกันที่นี่ ศาลาบาตรเป็นศาลาดั้งเดิมของทางล้านนาเรา น่าเสียดายที่ทุกอย่างถูกกลืนไปกับกาลเวลา เพราะความนิยมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และความไม่รู้ว่าของเก่าแบบเบ้าโบราณมีค่าเพียงใด

ชีวิตวัยเด็กเล็กของแม่นอกจากอยู่กับหม่อนดีแล้ว ก็ยังมีหม่อนต๋า หม่อนปันที่เป็นน้องของหม่อนดีแล้วอยู่บ้านติดกัน ทำให้เราเป็นเสมือนครอบครัวเดียวกัน ทำกับข้าวก็จะตักมาแบ่งกัน ในความรู้สึกของแม่นี่คือครอบครัวใหญ่ของเรา โดยมีหม่อนปวงเป็นเสาหลัก (หม่อนปวงคือเทียดของคำแก้ว) ทุก ๆ เช้า หม่อนปันจะพาแม่ซ้อนจักรยานไปตลาด แม่เคยไปทั้งตลาดสันปงและตลาดบ้านดง ตลาดเช้าเป็นอะไรที่ละลานตามาก มันก็เหมือนกาดหมั้วสมัยนี้นั่นแหละ มีของกินเยอะแยะ แม่มักจะได้กินขนมปาด ขนมครก และโอวัลติน หม่อนปันนั้นเปย์หลานได้เต็มที่เพราะภรรยาและลูกแยกไปอยู่ที่เมืองฝางกันหมด หม่อนปันอยู่คนเดียวและเลี้ยงชีพด้วยฝีมือการนำสังกะสีมาตัดแต่งเป็นของใช้ เช่น ลิตร หม้อนึ่งข้าวใหญ่ ๆ ที่เก็บน้ำ จ๊อบ ๆ เล็ก ๆ ของหม่อนปันก็คือ ซ่อมน้ำคุที่รั่ว บ้านหม่อนปันจะมีเสียงดังโป๊ก ๆ ป๊าก ๆ อยู่ทั้งวัน แต่เราก็ชินแล้ว เอกลักษณ์ของหม่อนปันก็คือ ชอบสูบยานัตถุ์ แต่ก็ไม่สูบบุหรี่นะ ถ้าจะสูบบุหรี่ต้องหม่อนต๋า รายนั้นสูบไปหัวเราะไป อารมณ์ดี

แม่อยู่บ้านที่สันทรายแต่ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับญาติทางบ้านสันผักฮี้ (ญาติทางอุ๊ยซอน) เพราะอุ๊ยซอนจะพาแม่ซ้อนรถเอนตาโร่ (เอนดูโร่) ไปบ้านหม่อนสุขกับหม่อนแต่มบ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่เมืองแม่จะตามไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ด้วยทุกครั้ง ปีใหม่เมืองสมัยก่อนสนุกกว่าเดี๋ยวนี้ ตามหมู่บ้านจะดักสาดน้ำหน้าบ้านตนเอง สาดได้โดยไม่โกรธกัน ยกเว้นเห็นคนใส่ชุดไปทำนาทำสวนกลับมาเราจะไม่สาดเพราะมันจะคัน แม่เองก็ถ้าไม่เล่นน้ำหน้าบ้านก็จะไปเล่นที่น้ำโยกคือ ปั๊มโยกน้ำบาดาล ซึ่งอยู่ริมถนนหน้าบ้านน้องไข่หวานนี่แหละ สะดวกดี


บ้านหม่อนสุขหม่อนแต่มที่ปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดมาถึงแม่นั้น เมื่อก่อนหม่อนจะอาศัยอยู่ในบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง บ้านอยู่ทางทิศเหนือของพื้นที่ ทางทิศใต้ไว้เลี้ยงวัวควาย มีบ่อน้ำ ข้าง ๆ บ่อน้ำจะมีต้นมะเฟืองต้นหนึ่ง ทางทิศเหนือของบ้านเป็นข่วงสาธารณะของหมู่บ้าน เวลาที่แม่ไปเยี่ยมหม่อนก็ต้องแวะไปตามบ้านป้า ๆ ลุง ๆ ที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันจนครบถึงจะกลับบ้านได้ ถ้าไม่ไปก็จะมีคนงอน นี่เป็นข้อปฏิบัติที่แม่ทำมาจนถึงบัดนี้ ในความรู้สึกของแม่นั้นคำว่าญาติมีค่าเสมอ ตลอดชีวิตที่ผ่านมาเชื่อเสมอว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” ดังนั้นไม่ว่าเราจะเติบโตมาอย่างไร อยู่ไกลแค่ไหน เป็นญาติฝ่ายไหนแม่ก็ไม่เคยลืม มีเหมือนกันที่เราเสียความรู้สึกกับญาติบางคน เพราะถึงจะอยู่ไกลแต่ก็รู้ทุกเรื่อง แต่พอเวลาผ่านไปลมมันก็พัดความรู้สึกไม่ดีเหล่านั้นไปหมด ชีวิตสอนแม่ว่า กาลเวลาและบริบทชีวิตเปลี่ยนใจคนได้เสมอแต่หากเราปล่อยวางแล้วรักษาสัมพันธ์ดี ๆ เอาไว้ มิตรภาพก็ยังคงอยู่ แน่นอนเรื่องที่รู้มันอยู่ในความทรงจำแต่มันก็แค่ทำให้เรารู้ว่า “ใคร” ที่รักเราด้วยใจจริง
tayay_resize.jpg
tayay_resize.jpg (54.55 KiB) เปิดดู 2998 ครั้ง

หม่อนสุขและหม่อนแต่ม พ่อและแม่ของอุ๊ยซอน

ในลิงก์ด้านล่างเป็น "โมเดลบ้านหนองอ้อ"ที่ทำออกมาสื่อถึงวิถีล้านนา วิถีชนบทดั้งเดิม ดูแล้วมีความสุขเหมือนย้อนอดีต
(ผู้สร้างโมเดล คือ ร.ต.ท.เสรี ศรีวิชัย เป็น ตชด. อยู่ กก.ตชด.๓๓)

https://www.facebook.com/NamfarRamink/v ... 4972672503
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1181
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » จันทร์ 27 พ.ค. 2024 6:41 am

คุณแม่วัยรุ่นยุค๙๐ สารคดีเรื่องเล่าให้คำแก้ว บทที่ ๓ ชีวิตคนชนบท
309650_2.jpg
309650_2.jpg (153.65 KiB) เปิดดู 2990 ครั้ง

ผามปู่ย่าของครอบครัวเราจะอยู่บ้านอุ๊ยอร พี่สาวของอุ๊ยซอน

วัยเด็กของแม่ไม่มีมือถือ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่ยูทูป และไม่มีเทคโนโลยีหลาย ๆ ที่ยุคของคำแก้วมี ของเล่นของแม่คือของเล่นพื้นบ้าน เช่น ต้นไม้ใบหญ้า ก้อนหิน ยางรัด เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดตอนนั้นคงจะเป็นโทรทัศน์ที่เปิดจากเครื่องปั่นไฟ เท่าที่แม่ทราบทั้งหมู่บ้านจะมีโทรทัศน์แค่เครื่องเดียวแต่คนไปรอดูกันเหมือนหนังกลางแปลงเลยทีเดียว บ้านเราไม่มีโทรทัศน์แต่อุ๊ยหม่อนปวงมีวิทยุเอาไว้สำหรับฟังละครวิทยุ ฟังเพลง และฟังข่าว ถ้าหม่อนหลับแม่มักจะแอบเอาวิทยุของหม่อนมาฟังเพลง ตอนเด็ก ๆ แม่ร้องเพลงเพราะนะคำแก้ว การันตีด้วยการถูกนำไปเป็นตัวแทนประกวดร้องเพลงอยู่บ่อย ๆ คงเป็นเพราะแม่อยู่กับคนร้องเพลงเก่งมาตั้งแต่เด็ก แม่เป็นหลานของช่างซอ ก็คือ “แม่คำ” ของคำแก้ว ซึ่งจริง ๆ มีศักดิ์เป็นยายเพราะเป็นน้องของอุ๊ยสม แต่บ้านเรามักจะเรียกน้องของอุ๊ยว่าพ่อหรือแม่ แม่จึงให้คำแก้วเรียกตามนั้น แม่คำเป็นช่างซอที่คนรู้จักในนาม “บัวคำ เมืองพร้าว” แม่คำเป็นสาวฮอตมีหนุ่ม ๆ เอฟซีเขียนจดหมายมาหาตลอด ความลับคือแม่นางเป็นคนช่วยตอบจดหมายแทน ตอนเด็ก ๆ แม่คำจะสอนแม่ให้ร้อง ซอเก็บนก ซึ่งเป็นซอช่วงที่ตลก ๆ หรือเพลงที่ดัดแปลงให้ทะลึ่งหน่อย เป็นการอำลาผามซอที่เป็นการอำลาคนดูก่อนเลิกซอนั่นแหละ วันไหนหนุ่ม ๆ มาแอ่วหาแม่คำ พวกแม่นาง แม่แอร์ แม่หล้า ก็จะยุให้แม่ร้องเพลงทะลึ่งที่แม่คำสอนเพื่อล้อเลียนเจ้าตัว แม่คำก็จะเขินไปไม่เป็นทีเดียวแหละ

ชีวิตคนบ้านนอกกลางวันทำงาน กลางคืนเป็นช่วงผ่อนคลาย หนุ่มก็จะไปแอ่วสาว สาวก็จะอยู่นอก (หมายถึงนั่งอยู่เติ๋นรอรับหนุ่ม ๆ ที่มาเที่ยวหา) แต่บ้านเราพิเศษกว่านั้น น้า ๆ ของแม่มักจะได้เป็นประธานกลุ่มหนุ่มสาวดังนั้นตกเย็นบ้านเราจึงครึกครื้นมีการซ้อมเต้นซ้อมฟ้อนกันบ่อย ๆ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมของหนุ่ม ๆ สาว ๆ ในหมู่บ้านแล้ว หนุ่มต่างถิ่นที่หมายปองสาวก็จะมาเฝ้าสาวที่ตนหมายปองด้วย ภาพเหตุการณ์ทุกอย่างอยู่ในสายตาแม่ตลอดเพราะแม่เป็นหลานที่ต้องนอนกับน้า ตอนเล็ก ๆ อุ๊ยตอง แม่แอร์ แม่หล้าจะให้แม่นอนด้วยที่บ้านอุ๊ยดีแต่ไม่รอดเพราะแม่ยังเล็กนัก เริ่มนอนกับน้าได้จริงตอนเรียนชั้นประถมศึกษา คือมานอนกับแม่นางแม่หล้า แม่นางเพิ่งบอกแม่ว่าการที่แม่มานอนด้วยนั้นนอกจากจะทำให้หายกลัวผีแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญของแม่คือสามารถจัดการกับหนุ่ม ๆ ได้ แม่นางเขาเป็นสาวฮอตมักจะถูกพาไปประกวดนางงามท้องถิ่นอยู่บ่อย ๆ จึงมีหนุ่ม ๆ มาชอบหลายคน คนไหนที่แม่นางรำคาญก็จะส่งแม่ไปบอกว่า “ไม่อยู่” แน่นอนหนุ่มเหล่านั้นมักจะไม่เชื่อ แต่แม่ก็จะมีวิธีการทำให้เขาเหล่านั้นกลับไปได้เสมอ

ตอนหัวค่ำวันไหนแม่ยังไม่ไปบ้านแม่หล้าแม่นาง แม่ก็จะตามอุ๊ยซอนไปแอ่วบ้านใกล้ ๆ บางบ้านก็เป็นญาติ บางบ้านก็ไม่ใช่ อุ๊ยซอนมักจะไปบ้าน อุ๊ยกี้ที่มาจากบ้านสันผักฮี้เหมือนกัน บ้านอุ๊ยนางนุซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ และบ้านอุ๊ยแปง อุ๊ยแปงอยู่กับอุ๊ยตาสองคนไม่มีลูก ทั้งคู่ประกอบอาชีพขายเมี่ยง จะมีทั้งเมี่ยงหวานเมี่ยงฝาด ใกล้ ๆ บ้านอุ๊ยแปงเป็นบ้านของลูกหลานที่มาอยู่ใกล้เพื่อดูแล ตอนเด็ก ๆ เป็นบ้านน้าติ๋มน้าต๋อม สองคนนี้เป็นแฝดกัน แต่พอโตมาหน่อยน้าติ๋มน้าต๋อมย้ายบ้านไปอยู่ข้างวัด พี่ศรีจึงมาอยู่แทน อุ๊ยซอนสนิทกับหลานอุ๊ยแปงทั้งคู่ กลางคืนมานั่งคุยกัน หลังบ้านอุ๊ยแปงเป็นทางไปทุ่งนาก่อนถึงจะเป็นที่สาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ของเมืองเก่าอนันตกาล ตรงนั้นจะมีกอไผกอใหญ่อยู่หลายจุด เป็นกอไผ่ที่มีมาแต่โบราณจึงมีขนาดใหญ่มาก ค่ำคืนหนึ่งแม่เคยเห็นงูตัวใหญ่และยาวมากเลื้อยผ่านบ้านอุ๊ยแปงไปยังฝั่งทุ่งนา บ้านเรามีความเชื่อเรื่องผี ไม่ว่าจะเป็นวิญญาณหรือร่างทรงเราจึงไม่ทำร้ายงูใหญ่ มันจึงเลื้อยผ่านไปเฉย ๆ โดยที่หลังจากนั้นแม่ก็ไม่เห็นมันอีกเลย
13806_resize.jpg
13806_resize.jpg (53.06 KiB) เปิดดู 2988 ครั้ง

คนเฒ่าคนแก่จะเข้าวัดอยู่เสมอ ในภาพคือหม่อนสุขแม่อุ๊ยซอนกับญาติ ๆ และคนในหมู่บ้านสันผักฮี้
ความเชื่อเรื่องผีนั้นอยู่คู่กับคนชนบทมาตั้งแต่โบราณ เริ่มตั้งแต่ผีปู่ย่าซึ่งจะตั้งศาลอยู่ในบ้านฝ่ายหญิงที่เป็นผู้อาวุโสสูงสุดหรือที่คนในตระกูลเห็นว่าเหมาะสม ในทุก ๆ ปีจะมีการเลี้ยงผีปู่ย่ากันในช่วงเดือน ๘ เดือน ๙ เหนือ (เดือนเหนือจะเร็วกว่าเดือนของภาคกลางไป ๒ เดือน) แต่ถ้ามีการผิดผีหรือเสียผีก็จะต้องเลี้ยงตามวาระนั้น ๆ ผิดผีคือการที่ลูกสาวบ้านใดใกล้ชิดหรือถูกฝ่ายชายล่วงเกินแตะเนื้อต้องตัว มักจะมีผู้ใหญ่ในตระกูลเจ็บป่วย ถ้าถามผีหม้อนึ่งหรือร่างทรงก็จะได้คำตอบว่ามีการผิดผี ที่น่าแปลกก็คือร่างทรงมักจะบอกเหตุการณ์ได้ตรงกับความเป็นจริง ส่วนการเสียผีคือการที่ฝ่ายชายมาสู่ขอฝ่ายหญิงก็จะต้องจ่ายค่าผีและเลี้ยงผีจึงจะครบถ้วนตามประเพณี

คนเหนือเรานั้นถ้ามีคนเจ็บป่วยโดยเฉพาะเด็ก ๆ มักจะเชื่อมโยงไปยังเรื่องผีสาง โดยหาคำตอบจากการถามผีหม้อนึ่งหรือร่างทรง เรามักจะเรียกร่างทรงว่า ม้าขี่ ร่างทรงแถวบ้านเราไม่ใช่องค์เทพแต่เป็นเจ้าในอดีตมาประทับทรง อาทิ พ่อปู่ที่อยู่ดงเหนือ บ้านเราจะมีดงเหนือดงใต้ตามความเชื่อคือ ผีกะยักษ์ที่ปกป้องคุ้มครองหมู่บ้าน เหมือนปู่แสะย่าแสะ ของแม่เหียะ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ที่มีการเลี้ยงดงมาจนถึงปัจจุบัน ม้าขี่จะไม่มีการเรียกเงินมากมายเหมือนที่เราเห็นตามข่าว เวลาคนถามเมื่อก็จะใส่ขันตั้งซึ่งมีราคา ๙ บาท ๑๒ บาท ว่ากันไป เวลามีคนป่วยก็จะไปถามว่าเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นวิญญาณของคนที่ตายไปแล้วทัก ผีกับคนอยู่คนละภพ เวลาที่ผีมาคุยด้วยไม่ว่าจะพูดในแง่ดีหรือไม่ดีคนที่ขวัญอ่อนก็มักจะป่วย บางครั้งเด็กเล็ก ๆ ที่ถูกลูบหัวก็ป่วย ตอนเด็ก ๆ เห็นคนอื่นโดนกันประจำ แม้แต่น้าเบนก็ต้องเลี้ยงผีบ่อย ๆ แต่แม่ผู้ชอบบุกป่าฝ่าดงไปทั่วไม่เคยถูกผีทักเลยซึ่งมันก็แปลก เคยมีครั้งหนึ่งที่หม่อนดีจี่เห็ดให้กิน พอกินแล้วแม่เคลิ้มฝันเหมือนเป็นลมไป ในช่วงสะลืมสะลือลืมตามาเห็นคนเดินสวนกันไปมาเต็มไปหมด ตอนนั้นแม่นอนอยู่ที่ฮ้านใต้ถุนบ้านหม่อนดี (ตั่งขนาดใหญ่ไว้นั่งรวมตัวกินข้าว หรือนั่งเล่นกัน) แต่พอโตขึ้นได้ถามถึงเหตุการณ์นี้กับผู้ใหญ่ท่านกลับบอกว่าวันนั้นไม่ได้มีใครมามีแค่คนในบ้านไม่กี่คน แม่เป็นลมครั้งนั้นสักพักก็ฟื้นไม่ได้ไปหาหมอ ไม่มีอาการป่วยต่อ สมัยแม่เป็นเด็กไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย ดูเอาเถอะแม้แต่จะคลอดอุ๊ยซอนยังคลอดเองที่บ้าน

ในส่วนของผีหม้อนึ่ง ก็คือปู่ย่าหม้อนึ่งที่เป็นปู่ย่าตายายเรานี่แหละ ในการนึ่งข้าวจะมีอุปกรณ์คือ ไหข้าว หม้อนึ่ง และผ้าพันรอบ ๆ ไหข้าวกันไม่ให้ไอน้ำระเหยไป เวลาใครเจ็บไข้ถ้าไม่ไปถามเจ้าทรงก็จะถามผีหม้อนึ่ง โดยมีคนแก่สตรีเป็นผู้มานั่งจับหูหม้อนึ่งเพื่อถามข้อมูลเหมือนเป็นการเสี่ยงทาย ส่วนใหญ่ก็ถามเรื่องคนป่วยนี่แหละ ได้เรื่องผิดผีเยอะเหมือนกัน เพราะคนล้านนาโบราณหนุ่มมาแอ่วสาวนั่งใกล้ไม่ได้ จับมือไม่ได้ ถ้าทำคือผิดผีทันที แม่ไม่รู้ว่าสิ่งเร้นลับเหล่านี้มีจริงไหม ไม่สามารถพิสูจน์ได้แต่ไม่เคยลบหลู่ เวลาแม่ไปเข้าค่ายลูกเสือ ไปป่าไปเขาแม่ก็จะไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา จะกินอะไรก็วางไว้เป็นเครื่องพลีก่อน หากสิ่งเหล่านี้มีจริงจะได้ปกป้องคุ้มครองเรา หากไม่มีก็ไม่เสียหายเพราะทำแล้วเรามีมั่นใจ ความเชื่อโบราณจะห้ามหลายอย่าง เช่น ห้ามแคะหูกลางคืน ผีจะมาตบบ้องหูทำให้หูทะลุ อย่าดมดอกไม้คาต้นจมูกจะโม อย่านอนดินโตขึ้นจะเสียตัวก่อนแต่ง อย่านั่งคาประตูจะคลอดลูกยาก ทุกคำที่ถูกพร่ำสอนมาล้วนทำให้แม่ตระหนักว่าสิ่งที่เป็นข้อห้ามในความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่อันตราย ไม่ดีต่อตัวเรา เราจะต้องระวังรักษาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่สำคัญว่าจะเป็นจริงหรือไม่เพราะมันคือความนัยที่เตือนสติว่า “อย่าทำ”

29062_2.jpg
29062_2.jpg (73.19 KiB) เปิดดู 2989 ครั้ง

ภาพประกอบคือ บัวคำเมืองพร้าว หรือ ศรีสวาท ทะกลกิจ กับเพื่อน ๆ น้ายอดและพี่เทพ เสื้อขาวไม่แน่ใจว่าเป็นใคร ด้านหลังที่เป็นพ่อชายคือหม่อนปันของคำแก้ว

อ่านก่อนหน้าได้ที่ viewtopic.php?f=11&t=708&start=12
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » พฤหัสฯ. 30 พ.ค. 2024 10:17 pm

4444888589.jpg
4444888589.jpg (18.17 KiB) เปิดดู 2543 ครั้ง

ชาวล้านนามีการไหว้ผี มีความเชื่อเรื่องผี แต่ก็ไม่ได้ลดทอนความศรัทธาในศาสนาลงแต่อย่างใด ในหมู่บ้านของแม่เป็นหมู่บ้านที่มีทั้งวัดและโบสถ์คริสต์ บ้านเราเป็นหนึ่งในไม่กี่หมู่บ้านที่มีคนศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธอาศัยอยู่ แต่เราก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข คนพุทธมีงานสลากภัตคนคริสต์ก็จะมาร่วมงาน วันคริสต์มาสคนพุทธก็ไปร่วมกิจกรรมเช่นกัน แม่จำได้ว่าตอนอยู่ ป.๑ อยู่ดี ๆ อุ๊ยสมก็มารับแม่ไปงานคริสต์มาสที่โบสถ์ พอไปถึงเขาก็ประกาศให้แม่ขึ้นร้องเพลง ตอนเล็ก ๆ แม่เป็นเด็กขี้อายแต่เมื่อเขาเรียกแล้วก็ยอมขึ้นเวที แม่ร้องเพลงแก้วรอพี่ ของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ซึ่งในสมัยนั้นพุ่มพวงดังมาก แม่ฝึกร้องตอนแอบเอาวิทยุอุ๊ยหม่อนปวงมาฟังอย่างไรละ พอผู้ใหญ่เห็นว่าแม่ชอบร้องเพลงก็ส่งเสริม แม่หล้าสมศรีบอกว่า นึกว่าโตขึ้นแม่จะเป็นนักร้องเสียอีก นั่นสินะ พอโตขึ้นเป็นครูเสียงมันก็แหบเพราะใช้เสียงเยอะ การเป็นครูนักเขียนก็ดีไปอีกแบบ แม่จึงได้บันทึกเรื่องราวทั้งหมดส่งต่อให้คำแก้วได้อย่างไรละ ยิ่งเขียนก็ยิ่งชำนาญ การบอกเล่าของแม่จึงเป็นการเขียนเรื่อย ๆ เหมือนได้นั่งเล่าให้หนูฟังต่อหน้า
1255.jpg
1255.jpg (109.63 KiB) เปิดดู 2543 ครั้ง

หมู่บ้านของเราในอดีตมีหลายอย่างที่ในสมัยนี้ไม่มี ข้างบ้านของเรามีโรงสีข้าวของอุ๊ยแหลงและอุ๊ยนวลซึ่งเป็นตากับยายของพี่ข้าวกล้า ทุกวันแม่จะได้ยินเสียงเครื่องจักรโรงสี เสียงคนตะโกนคุยกัน เพราะจะมีคนมากหน้าหลายตามาที่นี่ โรงสีอุ๊ยแหลงเป็นโรงสีที่ใหญ่โตโอ่อ่า แม่เคยไปเดินเล่นอยู่หลายครั้ง รู้สึกตื่นตากับเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา สีข้าวเสร็จคนจะแยกแกลบอ่อนแกลบแก่ใส่กระสอบ บางคนก็ขายให้ชาวบ้านที่เลี้ยงหมู บางคนก็ขนกลับไปเลี้ยงหมูตัวเอง เพราะสมัยก่อนเราจะเลี้ยงหมู วัว ควาย และไก่กันแทบทุกบ้าน

โรงทำขนมจีนบ้านอุ๊ยหม่อนหนานนนท์ แม่เรียกอุ๊ยหม่อนว่า อุ๊ยหนาน เพราะอุ๊ยหนานบวชพระแล้วสึกมาเป็นทิด คนล้านนาเรียกทิดว่า หนาน อุ๊ยหม่อนหนานนนท์เป็นน้องชายของอุ๊ยหม่อนดี ภรรยาของท่านชื่ออุ๊ยหม่อนอวน ทั้งสองประกอบอาชีพทำขนมจีนขาย โดยมีโรงขนมจีนอยู่ทางทิศใต้ของบ้านติดกับบ่อน้ำ แม่จะตามผู้ใหญ่ไปเที่ยวเล่นบ่อย ๆ เพราะจะได้กินขนมจีนที่มันเป็นก้อน ๆ ไม่เป็นเส้นซึ่งเขาคัดออก ผู้ใหญ่เขาอยากให้เป็นเส้นสำหรับขาย แต่เด็กอย่างแม่นั้นถ้ามันเป็นก้อนอร่อยกว่าเยอะเลย โรงขนมจีนในความรู้สึกของแม่ดูเป็นกิจจะลักษณะดีนะ เป็นอาคารหลังโปร่ง ๆ มีครกมองด้วย ช่วงที่จะตำข้าวแป้งทำขนมเพื่อไปทำบุญลูก ๆ หลาน ๆ ก็จะพากันมาตำข้าวแป้งที่นี่ ครกมองมีอีกที่คือบ้านอุ๊ยหม่อนถาน้องชายคนเล็กของอุ๊ยหม่อนปวงทวดของแม่ อุ๊ยหม่อนคำ อุ๊ยหม่อนปวง อุ๊ยหม่อนถา สามพี่น้องย้ายถิ่นฐานมาจากอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พากันมาสร้างครอบครัวอยู่ในอำเภอพร้าว ดังนั้นเราจึงมีญาติอยู่ที่อำเภอสันทรายและดอยสะเก็ดทว่าไม่เคยรู้จักหรือติดต่อกัน
LINE_ALBUM_รวมรูป_๒๔๐๕๒๐_6_2.jpg
LINE_ALBUM_รวมรูป_๒๔๐๕๒๐_6_2.jpg (38.73 KiB) เปิดดู 2543 ครั้ง

โรงเรียนบ้านสันทราย เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดสันทราย ตอนนี้เหลือแค่อาคารตึก เพราะถูกยุบโรงเรียนไปนานแล้ว แม่ค่อนข้างเสียดายเพราะโรงเรียนแห่งนี้ตั้งมานาน คนในหมู่บ้านต่างเคยมาเรียนที่นี่รวมถึงแม่ด้วย ที่นี่เป็นความทรงจำของคนหลายคน เราเคยเล่น เคยเรียน เคยหัวเราะ และร้องไห้กันที่นี่ คงเป็นไปตามยุคสมัยนั่นแหละลูก คนโบราณจะมีลูกกันครอบครัวละหลายคนเพราะไม่มีการคุมกำเนิด แต่คนสมัยใหม่มีการวางแผนครอบครัว นโยบายรัฐบาลสมัยนั้นเน้นให้มีลูกไม่เกิน ๒ คน จำนวนเด็กที่ไปโรงเรียนจึงลดลง สุดท้ายโรงเรียนก็ถูกปิดตัวลง ทิ้งไว้เพียงความทรงจำในอดีต

อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแล้วคือ โรงหนังข้างวัด ในอำเภอพร้าวจะมีโรงหนังอยู่ในตัวอำเภอโรงหนึ่ง แม่ไม่แน่ใจว่าตามหมู่บ้านจะมีที่ไหนบ้าง แต่ก็มีหมู่บ้านเราหนึ่งโรง โรงหนังที่ว่าไม่ได้โอ่โถงเหมือนโรงหนังในห้างหรอกนะลูก เป็นโรงหนังที่ไม่มีหลังคา เขาจะมีเก้าอี้ให้นั่งเรียงรายไป ถ้าฝนตกก็ดูไม่ได้ แต่ข้อดีคือเราได้ดูหนังใหม่เหมือนในตัวเมือง ค่าบัตรตอนนั้นไม่เกินยี่สิบบาท โรงหนังตั้งอยู่หลายปีแล้วก็ถูกปิดตัวลงเนื่องจากหลัง ๆ คนชอบดูโทรทัศน์กันมากกว่า
130594489.jpg
130594489.jpg (135.34 KiB) เปิดดู 2543 ครั้ง

ภาพในอดีตไม่อาจย้อนคืนมาได้ทว่ามันจะอยู่ในความทรงจำอันงดงามเสมอ แม่ยังจดจำวันที่ได้นั่งล้อเกวียนไปทุ่งนากับอุ๊ยสมได้ วัวเทียมเกวียนพาเราขนข้าวมาใส่หลองข้าว แม่ชอบมากเลยนะเพราะบ้านเราไม่มีเกวียน นาน ๆ ได้นั่งที ยิ่งตอนที่มันเดินลัดทุ่งนาเราก็หัวสั่นหัวคลอนเป็นอะไรที่แปลกใหม่ดี คนในหมู่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมรวมถึงครอบครัวเราด้วย หน้านาแม่ก็จะขอตามไปดูเขาทำนากัน ผู้ใหญ่ทำงานส่วนแม่ก็จะเล่นน้ำอยู่ใกล้ ๆ เป็นลำน้ำเล็ก ๆ สองสายตัดผ่านกัน สายหนึ่งอยู่สูงสายหนึ่งอยู่ต่ำ เส้นที่อยู่สูงไม่ได้ไหลลงมาเป็นน้ำตกหรอกนะ ผู้ใหญ่เขาจะเอาต้นมะพร้าวผ่าครึ่งเจาะข้างในออกแล้วเอามาต่อให้น้ำไหลผ่านไปอีกฝั่งได้ ตรงนั้นจะมีต้นมะม่วงอยู่ต้นหนึ่งพอให้ร่มเงา แม่เล่นอยู่ตรงนั้นทุกครั้งที่ไป ช่วงไหนเกี่ยวข้าวก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่ง ถ้าเกี่ยวข้าวอาจมีกิจกรรมตอนกลางคืน เช่น ตีข้าว สนุกตรงที่เขาเอาฟางข้าวมาทำเป็นเพิงชั่วคราว และเอาฟางข้าวที่ตีแล้วมากองเรียงกันเป็นภูเขา เด็ก ๆ อยากเล่น แต่ผู้ใหญ่คงไม่ชอบเพราะมันจะล้มระเนระนาด ที่สำคัญเล่นกองฟางแล้วถ้ากลับไปอาบน้ำเราจะแสบขาไปหมดทรมานน่าดูเหมือนกัน

ชีวิตเด็กบ้านนอกคือชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ เก็บเกี่ยวความสวยงามอย่างที่คนในเมืองไม่ได้สัมผัส ตอนเด็ก ๆ เราอาจจะบ่นถ้าหากเลอะขี้โคลน แต่ครั้นโตขึ้น แม่ทำงานราชการ เป็นนักเขียน มีคนรู้จักหลากหลายสาขาอาชีพ แม่กลับรู้สึกว่าดินโคลนเหล่านั้นมีค่ามาก สร้างประสบการณ์และจินตนาการได้อย่างมหาศาล แม่จึงอยากให้ลูกได้สัมผัสดิน สัมผัสทราย ได้อยู่กับธรรมชาติ ให้เรียนรู้อย่างหลากหลาย แน่นอนมันจะทำให้ลูกเข้าใจชีวิตได้ถึงแก่นแท้ เพื่อให้เกิดความสมดุลของชีวิต และทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจโลกทุกมุมได้จริง ๆ
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » จันทร์ 17 มิ.ย. 2024 6:39 am

บทที่ ๔
เมื่อแม่เป็นนักเรียน
448017713_7921145667937400_2290148867236259138_n.jpg
448017713_7921145667937400_2290148867236259138_n.jpg (13.35 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

ตอนที่แม่ยังเล็ก ๆ อุ๊ยสมอุ๊ยซอนเคยพาแม่ไปเข้าศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่คนบ้านเราเรียกว่า โรงเรียนสันต้นปุย โรงเรียนแห่งนี้อยู่ในโบสถ์คริสต์ หนูคงนึกภาพออก หมู่บ้านของเราจะเป็นหมู่บ้านที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยาวขนาบถนนจากเหนือไปใต้ คนบ้านเหนือประมาณ ๗๐% นับถือพุทธ คนบ้านใต้ไปทางท้ายหมู่บ้านประมาณ ๓๐% นับถือคริสต์ ในโบสถ์นั้นทำเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กโดยมีครูที่เป็นชาวบ้านดูแลอยู่ ๒ - ๓ คน เพื่อน ๆ ของแม่ล้วนแต่ถูกส่งให้มาเข้าโรงเรียนที่นี่ ก็จะได้เรียน ก ไก่ ข ไข่ พื้นฐานก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา แม่เองก็ถูกพาไปเข้าโรงเรียนแห่งนี้เหมือนกัน แม่ยังจำภาพเหตุการณ์ตอนนั้นได้ดี ตอนนั้นแม่อายุประมาณ ๔ - ๕ ขวบ อุ๊ยพาแม่ไปโรงเรียนวันแรกคุณครูก็มารับไปดูแลอย่างดีแต่แม่กลับร้องไห้ไม่หยุด จนครูต้องพาปั่นจักรยานออกไปนอกโรงเรียนหวังจะให้เงียบแต่ก็ไม่สามารถทำให้แม่หยุดร้องได้ แม่ร้องไห้ทั้งวัน ความรู้สึกตอนนั้นมันคิดถึงทุกคนที่บ้าน แม่เป็นคนที่ติดอุ๊ยมากเหมือนจะรู้อนาคตว่าต้องอยู่ไกลพ่อแม่ญาติพี่น้อง ตอนเด็ก ๆ จึงทุ่มเทเวลากับครอบครัวเต็มที่

วันที่สองของการไปโรงเรียนที่บ้านเรามีงานสลากภัตซึ่งเป็นงานทำบุญตานก๋วยสลาก กิจกรรมมีสองวันวันแรกจะมีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องเอาเงินใส่ซองมาร่วมทำบุญ เป็นงานที่สนุกมากใครที่ไม่ได้เจอกันนาน ๆ ก็จะมาหา เจ้าของบ้านก็ทำขนมจีนน้ำเงี้ยว ห่อขนม และเตรียมน้ำหวาน เหล้ายาปลาปิ้งไว้รับแขก ญาติต่างหมู่บ้านเขาจะเอาเงินใส่ซองซองละ ๒๐ บาท เดินขึ้นบ้านนั้นบ้านนี้จนครบ พอวันที่สองก็จะนำต้นสลากไปถวายวัด มีต้นจากวัดอื่น ๆ มาถวายด้วย แต่ละวัดจะมีขบวนฆ้องกลองและช่างฟ้อนนำต้นสลากเข้ามา พ่อค้าแม่ขายก็มากันเต็มวัด ขนมที่เราไม่ค่อยได้กินก็จะได้กินในวันนั้น เป็นงานที่สนุกครื้นเครงมาก หม่อนปันซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ของแม่จึงปั่นจักรยานไปรับแม่ออกมาจากโรงเรียนทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้าไปได้ไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นอุ๊ยสมก็ตัดสินใจให้แม่เลิกไปโรงเรียนเพราะสงสารที่แม่ร้องไห้ไม่ยอมหยุด แม่ดีใจมาก ได้อยู่บ้านโดยมีหม่อนดีคอยดูแลในตอนกลางวัน จนถึงวันที่แม่อายุถึงเกณฑ์เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาซึ่งแม่แอบคิดว่าถ้าตนเองร้องไห้ไม่หยุดอย่างคราวก่อนอุ๊ยสมก็คงให้อยู่บ้านเหมือนเดิม แต่แม่คิดผิดครั้งนี้ถึงวัยที่ต้องเรียนหนังสือแล้วทำอย่างไรอุ๊ยก็ไม่ยอมให้หยุดเรียนเด็ดขาด

โรงเรียนบ้านสันทราย คือโรงเรียนแห่งแรกของแม่ เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ แต่ใหญ่โตโอ่โถงมากในสายตาเด็กตัวเล็ก ๆ ในวันนั้น โรงเรียนตั้งอยู่กลางหมู่บ้านติดกับกำแพงวัดสันทรายด้านทิศเหนือ แม่เดินทางจากบ้านเราไปทางทิศใต้ สมัยก่อนเป็นการเดินจริง ๆ อุ๊ยพาแม่ไปโรงเรียนวันแรก ครูเวรยืนอยู่บนสะพานคอนกรีตซึ่งเชื่อมระหว่างถนนในหมู่บ้านกับพื้นที่อีกฝั่งคลอง เราต้องสวัสดีครูแล้วจึงเดินเข้าไปในซอยเป็นระยะทางสั้น ๆ ครู่เดียวก็ถึงบริเวณโรงเรียน
321681_615175641843772_945897771_n.jpg
321681_615175641843772_945897771_n.jpg (99.88 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

โรงเรียนบ้านสันทรายไม่มีรั้ว ทิศเหนือติดกับบ้านคน ทิศตะวันออกติดทุ่งนา ทิศใต้ติดวัด ทิศตะวันตกเป็นบ้านคนโดยมีซอยทางเข้าโรงเรียนอยู่ตรงกลาง เมื่อไปถึงแม่ก็รู้สึกถึงความกว้างใหญ่ของสนามหญ้าและอาคารเรียนซึ่งเป็นอาคารเรียนสองหลัง อาคารหลังเก่าเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูงขึ้นมาจากพื้นดินประมาณครึ่งเมตร ตัวอาคารสร้างขนานไปกับถนน คือ ยาวจากทิศหรือจรดใต้ อาคารหลังใหม่เป็นคอนกรีต เราเรียกว่าอาคารตึก ตัวอาคารสร้างอยู่เหนือสุดของพื้นที่ เป็นอาคารที่หันหน้าไปทางทิศใต้โดยสร้างจากทิศตะวันออกยาวมาทิศตะวันตก มีสนามหญ้าอยู่ตรงกลางรอบ ๆ สนามปลูกต้นยูคาลิปตัสและดอกไม้ต้นสูงสลับกันไป ถัดไปวงรอบนอกจะเป็นต้นฉำฉาต้นใหญ่อายุน่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยปีตั้งตะหง่านอยู่ ๓ ต้น บางต้นมีโพรงเป็นเหมือนอุโมงค์ แม่เคยเข้าไปส่องดูมันก็น่ากลัวอยู่นะ ทั้งความมืดและสัตว์ร้าย ตอนที่แม่เข้าเรียนใหม่ ๆ เสาธงจะอยู่ตรงกลางสนามหน้าอาคารไม้ แต่ย้ายมาอยู่หน้าอาคารตึกในช่วงหลัง ๆ โดยมีการสร้างหอพระพุทธรูปเอาไว้ใกล้ ๆ ด้วย

นอกจากอาคารเรียนแล้วในโรงเรียนยังมีสิ่งปลูกสร้างอีก ๓ อย่าง ก็คือ ๑.โรงครัว โรงครัวเป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง ทราบว่าก่อนหน้านี้เป็นบ้านพักครูแต่เมื่อไม่มีใครอยู่จึงกั้นทำโรงครัวเอาไว้ด้านล่าง โรงครัวนี้ถ้าเราเป็นเวรก็จะต้องไปทำอาหารกลางวัน กล่าวคือ เราจะห่อเฉพาะข้าวเหนียวไปโรงเรียนแล้วในแต่ละวันครูจะสลับกันเป็นเวรทำอาหาร ถ้าเวรครูของชั้นไหนนักเรียนชั้นนั้นก็จะไปช่วย นอกจากทำอาหาร จัดวางถาดอาหารแล้วต้องล้างถาดหลุม คว่ำไว้ ถ้าแห้งก็นำไปเก็บจึงจะหมดหน้าที่ ๒.อาคารอเนกประสงค์ แรกทีเดียวเป็นอาคารไม้ แม่ยังจำได้ตอนมาเรียนใหม่ ๆ มันคือหอประชุม ใช้ประชุมหมู่บ้าน เด็ก ๆ เองก็กินข้าวกลางวันกันบนนี้ รวมถึงเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น สวดมนต์ทั้งโรงเรียน กิจกรรมวันพ่อ วันแม่ ก็จัดในหอประชุมไม้ ต่อมาได้งบประมาณเพิ่มจึงสร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์ขึ้นมาแทน ๓.ห้องน้ำเป็นห้องเล็ก ๆ มีอยู่ ๓ ห้อง มีโถปัสสาวะ ๒ โถ ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารไม้ ถัดจากห้องน้ำก็จะเป็นแปลงเกษตรที่แม่จะต้องปลูกผักสวนครัว แล้วรดน้ำ พรวนดินเอง เราไม่ได้ใช้น้ำจากก๊อกน้ำมารดหรอกนะลูก เราจะใช้บัวรดน้ำไปตักน้ำจากสระบัวที่อยู่ติดกันมารดน้ำผัก ในสระมีดอกป๊าน หรือ บัวสายอยู่หลายสี แม่ชอบไปยืนดูดอกบัวเพราะมันสวยมาก
310874_615175291843807_2015360789_n.jpg
310874_615175291843807_2015360789_n.jpg (157.28 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

ในช่วงแรกที่ไปโรงเรียนแม่ก็ไม่อยากไปเหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ตอนนั้นหกขวบแล้วเริ่มโตจะไม่กล้าร้องไห้เพราะอายเพื่อน แต่แม่ก็มักจะอิดออดไม่ยอมไปโรงเรียนอยู่เสมอ ในเทอมแรกจึงขาดเรียนบ่อย ครูประจำชั้นของแม่ ชื่อ ครูพิกุล ปันทา พูดขึ้นมาว่า น้ำฝนกับนายชูชาติขาดเรียนบ่อยต่อไปจะมัดมือติดกัน แม่กลัวครูผูกข้อมือกับลุงชาติก็เลยยอมไปโรงเรียนทุกวัน แต่ก่อนหน้านั้นก็มีอยู่วันหนึ่งที่แม่หนีเรียน

มันเป็นวันธรรมดา ๆ วันหนึ่งที่ตื่นมาตอนเช้าก็ต้องไปโรงเรียน เจ็ดโมงแม่อ้อเดินจากบ้านมารอแม่ให้เดินไปโรงเรียนพร้อมกัน แต่แม่อ้างว่าไม่สบาย อุ๊ยก็ยังคะยั้นคะยอให้ไปจนได้ พอไปถึงแม่ไม่ยอมเข้าแถว วางกระเป๋าเสร็จก็ไปห้องพยาบาล ครูให้ยาพารามาหนึ่งเม็ดแล้วลงไปคุมแถว แม่จึงมีแค่น้าโหน่งซึ่งเป็นญาติผู้น้องมาถามไถ่ว่าเป็นไงบ้าง ก่อนที่เขาจะลงไปเข้าแถวเช่นเดียวกับคนอื่น

วันนั้นแม่ไม่ได้กินยาที่ครูให้ แม่ปีนระเบียงไต่ลงจากอาคารอ้อมไปทางแปลงเกษตร แล้วกระโดดข้ามคลองสายเล็ก ๆ ไปยังทุ่งนาก่อนจะเดินลัดเลาะกลับมาถึงบ้านถึงได้รู้ว่า “เกม” เพราะครูพิกุลขี่มอเตอร์ไซค์มารออยู่ก่อนแล้ว วันนั้นแม่ไม่ต้องไปโรงเรียน พออีกวันกลับไปโรงเรียนอีกครั้งครูไม่ได้ทำโทษแต่บอกว่าจะผูกข้อมือกับลุงชาติ แม่จึงต้องพยายามฝืนใจเรียนหนังสือจนคุ้นเคยกับโรงเรียนมากยิ่งขึ้น

หลังจากนั้นแม่ก็เริ่มตั้งใจเรียน เช้าขึ้นมาเราจะเรียนรู้จากวิทยุโรงเรียนซึ่งเป็นรายการจากส่วนกลาง ครูจะเปิดวิทยุให้เราทำตามพี่เอกพี่แก้ว สอนภาษาไทย คณิตศาสตร์ พอใกล้เที่ยงเดินแถวไปหอประชุมไม้ที่รับหน้าที่เป็นโรงอาหารของเด็ก ๆ ด้วย หอประชุมไม้เปิดโล่งจะมีถาดใส่อาหารวางไว้เป็นจุด ๆ ให้นักเรียนนั่งรับประทานเป็นกลุ่ม ๆ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วก็จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนชอบก็คือการได้เล่นช่วงพักกลางวัน แต่ละคนจะไปเล่นกันตามใจชอบ บางคนเล่นเบี้ย บางคนเล่นกระโดดหนังยาง บางคนไปอ่านหนังสือในห้องสมุด สำหรับแม่นั้นเล่นแบบเด็กผู้หญิงไม่เป็น เกิดมาไม่เคยกระโดดหนังยาง จึงไปเล่นเบี้ย เล่นอีโป้งกับเพื่อนผู้ชาย หรือบางวันมีเพื่อนผู้หญิงมาขอให้วาดรูปให้แม่ก็จะอยู่บนอาคาร ตอนเด็กแม่เป็นศิลปินรุ่นจิ๋วที่มีความโดดเด่นเรื่องการวาดการ์ตูนมักจะมีเพื่อนนำสมุดวาดเขียนมาวางไว้ให้แม่วาดเป็นประจำ ในส่วนของการชอบอ่านหนังสือนั้นเริ่มเป็นตอน ป.๒ หนังสือเล่มโปรดเล่มแรกเป็นหนังสือแปลชื่อ แม่มดแสงจันทร์ เหตุใดเด็กเรียนช้าอย่างแม่ถึงชอบอ่านหนังสือ เป็นเพราะแม่เรียนรู้แล้วว่าการอ่านหนังสือทำให้เราได้คะแนนดี กล่าวคือในเทอมแรกของ ป.๑ แม่สอบได้ลำดับที่ ๑๒ ของห้อง เทอม ๒ ได้ที่ ๘ เทอม๓ ได้ที่ ๓ พอขึ้น ป.๒ เริ่มอ่านออกเขียนได้ก็ชอบอ่านหนังสือขึ้นมาเทอมแรกจึงสอบได้ที่ ๑ เลย แต่ไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไปคะแนนของแม่ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ก็ไม่เกินลำดับที่ ๕ จำได้ว่าเทอมสุดท้ายของ ป.๖ แม่สอบได้ที่ ๓ ที่หนึ่งที่สองเป็นของแม่อ้อกับแม่ม่อมซึ่งแม่เรียกว่าพี่ทั้งสองคน ในห้องเรียนของแม่มี ๒ พ.ศ.เกิด แม่เป็นคนกลุ่มน้อยและเป็นน้องเขาจึงมีเพื่อนเป็นพี่อยู่หลายคน ตอนเข้า ป.๑ เรามีกัน ๓๖ คน ตอนจบ ป.๖ เหลือ ๒๖ คน บางคนซ้ำชั้นไปบ้างก็มี
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » จันทร์ 17 มิ.ย. 2024 6:43 am

448157987_7921145427937424_8125951832906097674_n.jpg
448157987_7921145427937424_8125951832906097674_n.jpg (117.49 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

ผ่านพักเที่ยงไปแล้วมาถึงการเรียนช่วงบ่าย เราจะเรียนกันไปถึงเวลาบ่ายสามโมง หลังจากนั้นครูจะปล่อยให้เล่นจนถึงสี่โมงค่อยเข้าแถวกลับบ้าน ในช่วงพักรอบบ่ายอากาศจะเย็นสบายเพราะบ่ายสามแล้ว สมัยก่อนโลกไม่ร้อนแบบนี้ ช่วงบ่ายแก่ ๆ อากาศจะเริ่มเย็นสบาย ประกอบกับในโรงเรียนมีต้นฉำฉาต้นใหญ่ที่ช่วยบังแดดทำให้ร่มรื่น ถ้ามีคุณหมอมาฉีดวัคซีนพวกเราก็จะเข้าแถวฉีดกันใต้ต้นฉำฉาต้นที่อยู่ทิศเหนืออาคารไม้ เมื่อถูกฉีดยาเด็ก ๆ ก็จะร้องไห้บ้างเหมือนกัน แต่แม่จะไม่ร้องไห้ให้ใครเห็นเพราะมันเสียหน้าทั้ง ๆ ที่ใจก็กลัวอยู่บ้าง ตอน ป.๕ ครูสมศักดิ์แซวคนที่ร้องไห้ว่า “ดูหญิงฝนสิ ไม่เห็นร้อง” แล้วมาตีแขนแม่เบา ๆ แม่หันขวับไปมองแอบเคืองอยู่เล็ก ๆ “แหม ! ถึงไม่ร้องแต่ก็เจ็บนะคะครู” ในความทรงจำของแม่ ถ้านึกถึงช่วงพักจะมองเห็นสนามหญ้าอันเต็มไปด้วยหญ้าเจ้าชู้ บางวันถ้าครูพิกุลว่างก็จะลงมานั่งเล่านิทานอยู่กลางสนามใต้ต้นหางกระรอกสีแดงสด นิทานของครูเป็นเทพนิยายสนุกมาก สนุกจนพวกเราอยากให้เล่าต่อไม่ยอมกลับบ้านกันเลยทีเดียว

การกลับบ้านของเราเป็นการเข้าแถวตามโซนที่พัก พอทำกิจกรรมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเสร็จจะมีพี่ประถมปลายซึ่งเป็นหัวแถวถือธงสีเขียวเดินนำน้อง ๆ กลับบ้าน ธงเขียวเป็นสัญลักษณ์ให้คนเห็นแต่ไกลว่านักเรียนตัวน้อยกำลังเดินมาจะได้ระวัง เราเดินกันไปโดยไม่เคยมีอุบัติเหตุเพราะบ้านเรารถไม่เยอะ

พูดถึงการเดินกันไปบนถนนทำให้แม่นึกถึงยามที่โรงเรียนแห่เทียนเข้าพรรษาไปถวายวัด เราจะตีฆ้องกลองพร้อมกับเดินขบวนแห่เทียนกันไปก่อนวันอาสาฬหบูชา ๑ วัน วันนั้นเป็นวันที่คนในหมู่บ้านจะห่อขนมและห่อนึ่งกันอยู่แล้วจึงมักจะนำทั้งสองอย่างมาร่วมทำบุญกับขบวนแห่เทียนของโรงเรียน เราจะแห่ตามถนนไปทางทิศเหนือของโรงเรียนแล้ววกกลับมาทิศใต้ ก่อนจะวนกลับมาที่วัดซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน แม่ชอบกิจกรรมแบบนี้มากเพราะได้ไปนั่งมองภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดซึ่งเป็นภาพวาดที่สวยและทำให้จินตนาการได้ไกลมาก ภาพพระพุทธประวัติที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในป่ามีสีสันสวยงามและที่สำคัญนักวาดที่แม่ไม่รู้ว่าเป็นใครเขาวาดภาพบุคคลได้งดงามยิ่ง ฝีมือยากจะมีใครมาเทียบชั้น แม้ในปัจจุบันที่เห็นตามฝาฝนังวัดก็วาดใบหน้าคนได้ไม่งดงามเท่า เมื่อไปถึงพวกเราจะนั่งสวดมนต์ด้วยบทสวดที่ชำนาญกันอยู่แล้วเพราะจะมีการสวดมนต์กันทุกบ่ายวันศุกร์ หลังถวายเทียนเสร็จก็ฟังเทศน์จากตุ๊หม่อนซึ่งเป็นตุ๊ลุงของแม่ แน่นอนก่อนกลับบ้านแม่จะได้ขนมนมเนยติดมือกลับมาด้วย ไม่ใช่แม่คนเดียวนะคนอื่นก็ได้เช่นกัน ตุ๊หม่อนเป็นลูกพี่ลูกน้องของอุ๊ยสม ท่านบวชตั้งแต่เป็นวัยรุ่นจนปัจจุบันอายุเกือบเจ็ดสิบปีแล้ว

ชีวิตคนชนบทได้สัมผัสคำว่า บวร อย่างแท้จริง บ้าน วัด โรงเรียน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เท่าที่แม่สังเกตคนในหมู่บ้านจะให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนามาก ทุก ๆ วันพระ ซึ่งเราเรียกว่า วันศีล ทุกบ้านจะไปทำบุญและฟังเทศน์ที่วัด บ้านเราเป็นสังคมเกษตรจึงเป็นนายตนเอง ไม่ต้องรีบร้อนไปทำงานเหมือนในสังคมเมือง ถ้าเราไปยืนอยู่ในวัดจะมองเห็นวิหาร อุโบสถ กุฎิ โรงเรียน ทุ่งนา ดอย และบ้านคน ถ้าไปยืนในโรงเรียนจะเห็นเสาธง อาคารเรียน วัด ทุ่งนา ดอย และบ้านคนเช่นกัน เสียงกรุ๋งกริ๋งของระฆังรอบวิหารก็ดังมาตามลมไม่ขาดสาย ในช่วงยี่เป็งทางวัดจะปล่อยว่าวไฟและว่าวลมขึ้นฟ้า ครูไม่อนุญาตให้พวกเราวิ่งไปดูที่วัดเพราะเกรงจะวุ่นวาย แต่ถ้ายืนอยู่ในสนามโรงเรียนก็สามรถมองเห็นได้

ว่าว ที่ตุ๊ลุงปล่อยในวันยี่เป็งนั้นถึงจะมีชื่อต่างกันทั้งที่จริง ๆ มันคือสิ่งเดียวกันเพียงแต่ตอนกลางคืนจะมองเห็นไฟวับแวมทำให้การเรียกชื่อว่าวจึงเปลี่ยนไปตามสิ่งที่เห็น ว่าวไฟไม่ใช่โคมลอยที่นำไปลอยกันในปัจจุบันนะคำแก้ว ว่าวของล้านนาเต็มไปด้วยคติธรรมมากมาย ทั้งการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์และความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ทั้งยังมีความเชื่อเพื่อความปลอดภัยรองรับอยู่ ว่าวที่ปล่อยในวันยี่เป็งเกิดจากกระดาษว่าวที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด ในหมู่บ้านจะนำกระดาษว่าวมารวมกันในวัด ลักษณะของว่าวเป็นเหมือนบอลลูนลอยขึ้นได้เมื่อมีควันดันให้ลอยขึ้น จะไม่มีการทำแล้วลอยเองที่บ้านเพราะคนล้านนามีความเชื่อว่าอัปมงคล พอโตขึ้นแม่คิดว่านัยแฝงของความเชื่อนี้คงเป็นการจำกัดจำนวนของว่าวไม่ให้มากเกินไป ทั้งยังสร้างความสามัคคีในหมู่บ้านอีกด้วย ว่าวลมของล้านนาจะปล่อยกันในวันยี่เป็งเท่านั้น ไม่มีในเทศกาลอื่น ยี่เป็งช่วงที่แม่เป็นเด็กนั้นอากาศเย็นจัดกลางคืนต้องใส่เสื้อกันหนาวสองชั้นกันเลยทีเดียว เรื่องไฟไหม้เพราะว่าวไฟเป็นไปได้ยากเนื่องจากความชื้นสูง ชื้นขนาดที่ว่าบางครั้งไม้ขีดไฟจุดไม่ติดต้องพยายามกันหลายครั้ง อีกทั้งว่าวก็ลูกใหญ่มากพอมันลอยขึ้นไปนาน ๆ ไฟจึงดับ ส่วนว่าวลมนั้นเรื่องไฟไหม้เป็นไปไม่ได้เลยเพราะใช้เพียงควันดันให้ลอย ไม่เพียงแต่ว่าวเท่านั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของยี่เป็งแต่ละหมวด(หมายถึงการแบ่งกลุ่มในหมู่บ้าน)จะทำบอกไฟดอกมาจุดเป็นพุทธบูชาที่วัดด้วย ลักษณะคล้าย ๆ กับพลุไฟเย็นในภาคกลางนั่นแหละเพียงแต่ในภาคเหนือจะทำใส่กระบอกไม้ไผ่เมื่อจุดแล้วจะอลังการมากเพราะสูงกว่ายอดมะพร้าวกันเลยทีเดียว
WP_20141106_037_2.jpg
WP_20141106_037_2.jpg (152.9 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

บรรยากาศของยี่เป็งเหมือนความฝัน พอตกเย็นทุกบ้านจะจุดผางประทีปซึ่งเป็นถ้วยเล็ก ๆ ทำจากดินเผาใส่ขี้ผึ้งที่มีขี้สายสำหรับจุดไฟ แต่ละบ้านมักจะวางผางประทีปเรียงรายไว้บนรั้วบ้าน พอมาถึงจุดที่เป็นประตูบ้านที่ปรกติจะไม่มีบานประตู ชาวบ้านก็จะทำซุ้มประตูป่าตกแต่งด้วยทางมะพร้าวและดอกไม้อย่างสวยงาม เมื่อความมืดคืบคลานเข้ามาอุ๊ยซอนจะจุดเทียนบนบ้านก่อน เป็นเทียนเล่มใหญ่ที่เขียนด้วยอักขระล้านนา อุ๊ยจะเฝ้ารอจนเทียนดับจึงไปทำอย่างอื่นได้ ส่วนแม่นั้นเริ่มต้นด้วยการไปลอยกระทงตรงท่าน้ำของบ้าน กระทงก็จะลอยเอื่อยไปตามลำน้ำ จากนั้นแม่จะเดินเท้าไปบนถนนเพื่อไปวัด สองข้างทางสว่างไสวไปด้วยผางประทีป หนาวแต่ก็อบอุ่น ไม่น่ากลัว ถึงแม้คืนนั้นจะเป็นคืนวันพระซึ่งตามความเชื่อเป็นวันปล่อยผี แต่ด้วยความสว่างของผางประทีปความน่ากลัวของค่ำคืนก็จางหายไป


เมื่อไปถึงวัดแม่จะไปเล่นเขาวงกตที่ประตูวิหารก่อนแล้วค่อยลงมาเล่นของเล่นอื่น ๆ ที่ลานวัดเพื่อรอให้ถึงเวลาประกวดบอกไฟดอก ในขณะที่คนด้านล่างกำลังสนุกสนานคนที่อยู่ในวิหารก็กำลังฟังเทศน์ด้วยความตั้งใจ เป็นคืนที่มีแค่เสียงประทัดและความครึกครื้น ถ้าตุ๊ลุงปล่อยว่าวไฟพวกเราก็จะล้อมวงกันลุ้นให้ว่าวลอยขึ้นสูง ๆ เพราะถือว่าถ้าปล่อยได้สูงจะช่วยส่งเสริมดวงชะตาคนในหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าว่าวขึ้นไม่นานแล้วตกเด็ก ๆ จะรีบวิ่งตามไปเก็บเพราะตุ๊ลุงจะมีรางวัลเป็นแบงก์ร้อยให้ แบงก์ร้อยในยุคนั้นถือว่าเยอะมาก มีอยู่ปีหนึ่งเพื่อนของแม่ชื่อดำ วิ่งมาบอกว่า “ไปเก็บว่าวไฟก่อนนะ” แม่ก็รอลุ้นว่าเขาจะได้รางวัลกลับมา คืนนั้นลุงดำกับลุงต้อมวิ่งไปพร้อม ๆ กันและกลับมามือเปล่า แม่ถามอย่างสงสัยว่าทำไมไวนักล่ะ ทั้งสองตอบว่า วิ่งไปถึงหลังบ้านแม่เอ๋ซึ่งขณะนั้นเป็นป่ารกดันมองเห็นผู้หญิงแก่สวมชุดขาวนั่งอยู่บนขอนไม้ ก็เลยตะโกนบอกเพื่อน ๆ ว่า “ผี” หลังจากนั้นทุกคนจึงวิ่งตาเหลือกกลับวัดกันหมด ไม่มีใครไปเก็บว่าวไฟอีกเลย สรุปว่าทุกคนกลับมาทันได้ดูบอกไฟดอกพอดี นี่แหละชีวิตของเด็กรุ่นแม่ ชีวิตที่ผูกพันกับวัดและโรงเรียนอย่างเหนียวแน่น

โรงเรียนในยุคของแม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ เทียบเท่าวิชาการ ไม่ได้เน้นการเรียนเพื่อสอบแข่งขันอย่างในทุกวันนี้ แม่จึงเรียนอย่างมีความสุขไม่ต้องกดดัน วันลอยกระทงในโรงเรียนของแม่จะเรียนกันแค่ในช่วงเช้า พอช่วงบ่ายจะให้นักเรียนมารวมตัวกันประดิษฐ์กระทงแล้วประกวด เช่นเดียวกับวันพ่อ วันแม่ที่จะมีการประกวดวาดภาพระบายสีและเขียนเรียงความประกวด แม่เคยได้รางวัลชนะเลิศจากการเขียนเรียงความครั้งแรกในวันแม่ตอน ป.๔ ครูนำมาอ่านให้ทุกคนในงานฟัง บางคนเข้าใจว่าอุ๊ยเป็นคนเขียนให้แม่นำมาส่งครูทั้ง ๆ ที่เขาให้เขียนกันในโรงเรียนแท้ ๆ ถ้าเขารู้ว่าโตขึ้นแม่จะเป็นนักเขียนเขาคงไม่สงสัยแบบนั้นกระมัง แต่ก็ช่างเถิดนักล่ารางวัลอย่างแม่ไม่เคยสะทกสะท้านต่อถ้อยคำผู้ใด แม่เป็นเด็กที่เข้มแข็งไม่ว่าจะสถานการณ์ไหนก็ต้องผ่านไปให้สวยงามที่สุด ไม่เพียงแค่การประกวดภายในสถานศึกษาเท่านั้น การประกวดในเขตตำบลแม่ก็ได้เป็นตัวแทน มีทั้งร้องเพลงและทักษะต่าง ๆ ด้านภาษาไทย น่าเสียดายที่วันประถมศึกษาตอน ป.๖ ครูให้แม่ไปแข่ง สลน.เพราะร้องเพลงได้ดีและวาดรูปสวย ปรากฏว่าแม่แพ้เขาด้วยสาเหตุที่ว่า ไม่เก่งวิชาพละ เป็นเรื่องขำขันสำหรับแม่แต่ตอนนั้นครูท่านคงแอบเสียดายที่ในชั้นสูงสุดแม่ไม่ได้เป็นตัวแทนวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นวิชาที่ชำนาญที่สุด
CCI12232020_0013_2.jpg
CCI12232020_0013_2.jpg (63.78 KiB) เปิดดู 2204 ครั้ง

ชีวิตในวัยประถมของแม่เป็นช่วงชีวิตที่ได้ทำกิจกรรมเยอะมาก แม่เป็นหัวหน้ากลุ่มในห้องเรียน เป็นหัวหน้าเวรต้องออกไปรายงานเวรหน้าแถว การเรียนของเราเป็นการเรียนรู้เพื่อให้ได้รับประสบการณ์อย่างแท้จริง ตอนเรียนวิชา กพอ.ครูให้ถนอมอาหารจากกล้วย กลุ่มของแม่เลือกทำกล้วยกวนกว่าจะสุกก็เล่นเอาปวดข้อแขนไปตาม ๆ กัน ไม่อยากเหมือนเพื่อนไง กลุ่มอื่นเขาทำกล้วยฉาบเสร็จไวมาก การเรียนการสอนสมัยนั้นเน้นให้ปฏิบัติจริง มีโครงการที่ให้แม่ไปเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านด้วย อุ๊ยคนไหนเก่งงานสาน งานปัก งานดอกไม้ งานใบตอง งานโครเชต์ ฯลฯ ก็จะเป็นวิทยากรให้เรา เราจะเดินกันไปเป็นกลุ่ม ๆ สลับกันไป ลูกเอ๋ย ครั้งนั้นทำให้แม่ได้เรียนรู้ว่า วุฒิการศึกษามันเป็นเพียงใบเบิกทางให้เราทำงานเท่านั้น ยังมีคนเก่งอีกมากที่เขาไม่มีใบปริญญาและคนเหล่านั้นทำให้เราทึ่งได้เสมอ เพราะถึงในวันนี้ที่แม่มีใบปริญญาอยู่ในมือก็มีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านเหล่านั้น มันเป็นคติธรรมให้แม่จดจำมาถึงวันนี้ว่า ไม่ว่าจะเติบโตสักเพียงไหน เรียนสูง มีหน้าที่การงานดีเพียงใด จะต้องไม่ดูถูกคนอื่น นั่นแหละคือเสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ ความนอบน้อมจะทำให้ทุกคนเมตตาเรา
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 23 มิ.ย. 2024 6:02 pm

บทที่ ๕
เมืองพร้าวในความทรงจำ
paragraph__110_289.jpg
paragraph__110_289.jpg (106.16 KiB) เปิดดู 1498 ครั้ง

เมื่อเล่าถึงวัยเด็กของคนยุค ๙๐ ก็คงต้องเล่าถึงเมืองพร้าวในสมัยนั้นด้วย แม้อำเภอพร้าวจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ แต่หลายสิบปีมานี้ก็เปลี่ยนไปมากอยู่เหมือนกัน ความทรงจำในวัยเด็กของแม่มีแต่ความสวยงาม แม่เคยแปลกใจที่นึกถึงอดีตแล้วช่างอบอุ่นใจและมีพลังต่อสู้ชีวิต วันนี้แม่เข้าใจแล้วว่าเป็นเพราะในวัยเด็กนั้นแม่เก็บพลังบวกเอาไว้เต็มหัวใจเมื่อเติบโตขึ้นจึงมีทัศนคติที่ดีในการจัดการชีวิต เพิ่งมีผู้ปกครองคนหนึ่งบอกกับแม่ว่า “แม่เป็นครูที่มีจิตวิทยาสูงโดยเขาตัดสินจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขา เขาคุยกับคนอื่นแล้วไม่เข้าใจ แต่เมื่อแม่พูดกลับทำให้เขาเข้าใจและเย็นลงได้” เขาใช้คำว่า “เอาเขาลง” แม่วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะแม่ได้ใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ ทั้งชนบทและในเมือง มีคนมาขอคำปรึกษาอย่างหลากหลายจึงทำให้เราเข้าใจคนอื่นแม่จึงนำสิ่งเหล่านั้นมาสังเคราะห์และปรับใช้ได้อย่างสมดุล ความเป็นแม่ทุกวันนี้มาจากการกล่อมเกลาที่ดีจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ประสบการณ์ชีวิต และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่นคือ พลังบวกที่ทำให้เรากล้าสู้ กล้าที่จะคิดอย่างไม่มีวันท้อถอย ขอบคุณเมืองพร้าวที่เป็นเบื้องหลังของทุก ๆ ความสำเร็จ แม่ภูมิใจเสมอที่ได้เกิดในอ้อมกอดขุนเขาแห่งนี้


ช่วงปฐมวัยเมืองพร้าวคือโลกอันกว้างใหญ่ของแม่ อาจจะเป็นเพราะการไปไหนมาไหนต้องมีผู้ใหญ่พาไปจึงทำให้การเดินทางออกนอกหมู่บ้านเป็นเรื่องแสนพิเศษ ช่วงที่แม่ยังเล็กสถานที่ที่คนให้ความสนใจก็จะมีวัดสันปง ถ้ำดอกคำ วัดดอยแม่ปั๋ง โรงหนัง และกาดต่าง ๆ โดยเฉพาะกาดเวียงพร้าวที่ตระการตามากเป็นพิเศษ กาดเวียงตั้งอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอพร้าว สถานีตำรวจ และโรงเรียนแจ่งกู่เรือง จึงเป็นศูนย์รวมของคนในอำเภอ เมื่อก่อนกาดเวียงจะตั้งอยู่บริเวณกาดเก่าคือฝั่งตรงข้ามกับกาดของสดทุกวันนี้ ภายในกาดจะแบ่งพื้นที่เป็นล็อก ๆ สำหรับขายของ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายเสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ ร้านเย็บผ้า ฯลฯ แม่จะตามอุ๊ยหรือญาติผู้ใหญ่ไปกาดในช่วงที่ใกล้งานบุญสำคัญ เช่น สลากภัต ปอยหลวง สงกรานต์ ฯลฯ เพราะเราต้องซื้อของไปเตรียมไว้ ส่วนใหญ่แม่จะไปกับอุ๊ยซอน และมักจะได้กินข้าวมันเย็นที่อร่อยที่สุดในสามโลก ยืนยันว่าอร่อยจริง ๆ เพราะหลังจากเติบโตมาแม่ไม่เคยได้กินข้าวมันเย็นอีกเลยเพราะที่อื่นเขาไม่มี เห็นมีแต่รวมมิตรที่รสชาติเทียบกันไม่ได้


การเดินทางจากเชียงใหม่มายังอำเภอพร้าวในช่วงที่อุ๊ยยังเป็นเด็กต้องขึ้นรถสายเหนือมาทางแม่ริม แม่แตง เข้าเชียงดาวก่อนจะเลี้ยวเข้าเมืองพร้าว แต่ในยุคของแม่มีรถโดยสารประจำทางขับผ่านถนนเชียงใหม่ - พร้าว มาทางอำเภอสันทราย ผ่านห้วยน้ำจ๋างอำเภอแม่แตง แล้วเข้าพร้าวทางโหล่งขอด ว่ากันว่าถนนเส้นนี้เกิดขึ้นเพราะบารมี หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง ซึ่งร่ำลือกันว่าเป็นพระสงฆ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกราบนมัสการบ่อยที่สุด ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั้งประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีนักบินให้สัมภาษณ์นักข่าวว่าเห็นท่านลอยอยู่บนก้อนเมฆ ทำให้สื่อต่างชาติคือ "เอเชีย แมกกาซีน" ได้ส่ง นายชาร์ลส์ บราวส์ มาทำข่าวและเขียนเป็นบทความขึ้นมาว่า
งานหลวงปู่แหวน2_resize.jpg
งานหลวงปู่แหวน2_resize.jpg (89.14 KiB) เปิดดู 1498 ครั้ง

นักบินแห่งกองทัพอากาศไทยคนหนึ่ง ขณะบิน (ซึ่งผู้เขียนไม่ทราบว่าบินสูงแค่ไหน เอาเป็นว่าบินอยู่บนท้องฟ้า ปะปนอยู่กับหมู่เมฆ) ทันใดนั้น นักบินก็สังเกตเห็นพระองค์หนึ่งนั่งสมาธิอยู่นอกเครื่องบินของเขา แน่ละ... เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด จึงเล่าให้เพื่อนฟัง แต่ไม่มีใครรู้จัก นักบินคนนั้นกางแผนที่สำรวจว่าบริเวณนั้นอยู่ที่ไหน พบว่าอยู่เหนือดอยแม่ปั๋ง เขาจึงเดินทางไปและสอบถามชาวบ้าน จนมีผู้บอกกับเขาว่า น่าจะเป็นหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ซึ่งเป็นพระที่พวกเขาเคารพนับถือมากที่สุด เขาจึงปลงใจเชื่อว่าน่าจะเป็นองค์นี้ที่เขาเห็น" นอกจากข้อความในข่าวฉบับนี้ พันโทณัฐวุธ ประสิทธิ์‬ นักบินคนดังกล่าวได้เล่ารายละเอียดเพิ่มเติมว่า เขาได้ไปเฝ้ารอกราบหลวงปู่แหวนที่วัดแม่ปั๋งอยู่หลายครั้ง เมื่อได้เจอก็มั่นใจว่าพระสงฆ์รูปนั้นคือหลวงปู่แหวนอย่างแน่นอน ต่อมามีนักข่าวต่างประเทศไปขอสัมภาษณ์หลวงปู่และถามท่านว่า จริงหรือไม่ที่ท่านไปนั่งอยู่บนก้อนเมฆ ท่านตอบว่า “ท่านไม่ใช่นก” สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ใช่คำปฏิเสธ (ข้อมูลจากหนังสือที่ระลึก อาคารสุจิณโณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่‬)

หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ละขันธ์ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘ หลังจากนั้นก็มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ สาธุชนทั่วประเทศหลั่งไหลกันมายังอำเภอพร้าวเพื่อกราบนมัสการท่าน แม่เองก็มีโอกาสติดตามผู้ใหญ่ไปกราบท่านเช่นเดียวกัน เราเดินทางกันไปในช่วงกลางคืนก่อนพระราชทานเพลิงศพ ส่วนวันจริงก็รับชมทางโทรทัศน์ขาวดำได้เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ

หากเดินทางจากเชียงใหม่มายังอำเภอพร้าวจะผ่านด่านโหล่งขอดขับไปทางทิศเหนือเรื่อย ๆ ผ่านทางเข้าวัดดอยแม่ปั๋ง ผ่านโรงเรียนพร้าววิทยาคมที่ตั้งอยู่พื้นที่บ้านหม้อ ก่อนจะเข้าสู่ตัวอำเภอพร้าวทางทิศใต้ สัญลักษณ์คือ เมื่อถึงสามแยกหน้าอำเภอจะมองเห็นอาคารที่ว่าการอำเภอพร้าวตั้งอยู่ติดกับสภ.พร้าว หากเลี้ยวซ้ายขับรถวนขวาจะขับผ่านโรงเรียนแจ่งกู่เรืองและโรงพยาบาลพร้าว หากเลี้ยวขวาแล้วเลี้ยวซ้ายจะผ่านกาดเวียง ตรงไปยังสี่แยกวัดกลางเวียงซึ่งมีเสาอินทขีลประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวัด ตรงข้ามวัดเป็นสถานีขนส่งพร้าว ในช่วงที่แม่เป็นนักเรียนมัธยมจนถึงปัจจุบัน “รถเมล์พร้าว” จะมาจอดรับผู้โดยสารที่นี่ ช่วงนั้นอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างรุ่งเรืองมาก เพราะคนมีรถกันน้อยมาก ผู้ที่เดินทางจากเชียงใหม่มายังเมืองพร้าวจะจ้างรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งจอดรออยู่เป็นสิบ ๆ คันพากลับบ้าน แต่ในช่วงที่แม่ยังเล็ก ๆ ที่จอดรถเมล์ไม่ได้อยู่จุดนี้ รถเมล์พร้าวจะจอดรอผู้โดยสารอยู่ใกล้ ๆ ศาลาหลังเล็ก ๆ บริเวณสามแยกทิศใต้ของกาดเวียงซึ่งก็คือเส้นที่มาจากหน้าอำเภอนั่นแหละ แม่เองก็ทันได้ขึ้นรถบริเวณนั้นเข้าเชียงใหม่ไปเยี่ยมอุ๊ยตอง ตอนนั้นอุ๊ยตองทำงานอยู่ที่เกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งในตัวเมืองเชียงใหม่
เจ้าแม่กวนอิม_resize.jpg
เจ้าแม่กวนอิม_resize.jpg (93.55 KiB) เปิดดู 1498 ครั้ง

ไม่เพียงแค่ตัวอำเภอที่รถเมล์พร้าวจะมาจอดรอรับผู้โดยสาร ในอดีตนั้นเคยมีการเดินรถมารอรับคนที่เดินทางไปยังวัดพระธาตุดอยนางแลซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านของเราด้วย เนื่องจากช่วงนั้น อดีตพระครูใบฎีกานิกร ธรรมวาที กำลังเป็นที่นับถือของคนไทยในฐานะพระนักเทศน์ชื่อดัง(ต่อมาต้องปาราชิกจนต้องสึกจากการเป็นพระ) มีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือมาร่วมทำบุญและปฏิบัติธรรมบนดอยนางแลเป็นจำนวนมากทุกวันจึงต้องมีรถเมล์มาบริการรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวก ไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวสายบุญเท่านั้น นักท่องเที่ยวทั่วไปก็ให้ความสนใจมาเยี่ยมชมวัดสันปงและวัดพระธาตุดอยนางแลเนื่องจากประทับใจในศิลปะอันวิจิตรและวิวทิวทัศน์อันงดงาม แม่เองก็มีรูปถ่ายที่ได้ยืนอยู่ด้านหน้าพระธาตุเกตุเเก้วจุฬามณี วัดสันปง เก็บเอาไว้เหมือนกัน ตอนนั้นจะมีช่างภาพที่คอยรับจ้างถ่ายภาพให้นักท่องเที่ยวอยู่ที่วัดสันปงและบนดอยนางแลด้วย เรียกได้ว่าเวลานั้นทั้งการท่องเที่ยว การค้าขาย การขนส่ง และบริการ ล้วนทำรายได้ให้ชาวบ้านอย่างเต็มที่

สำหรับวัดพระธาตุดอยนางแลนั้นแม่ชอบป๋าเวณีขึ้นธาตุมากที่สุด ทางล้านนาเราจะมีประเพณี “ขึ้นธาตุ” กันในต้นฤดูฝนทุกปี ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุดอยนางแล พระธาตุกลางใจเมือง พระธาตุวัดพระเจ้าล้านทอง พระธาตุขุนโก๋น ฯลฯ ก็ล้วนมีการขึ้นธาตุทั้งสิ้น การขึ้นธาตุจะมีการทำบุญ จุดบอกไฟ ฯลฯ วัดอื่นมักจะจัดกันในตอนกลางวันแต่พระธาตุดอยนางแลนั้นจะแห่แหนกันขึ้นไปในตอนเย็น กลางคืนก็จะมีมหรสพต่าง ๆ ตอนเด็ก ๆ แม่เคยเดินขึ้นธาตุ ตกกลางคืนมีผู้คนมากมายที่ต่างพากันเดินชมความงดงามของวัด ท่ามกลางแสงไฟหลากสีมองเห็นรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมยืนโดดเด่น น้ำในน้ำเต้าหลั่งลงมาเป็นสายราวน้ำตกน้อย ๆ ต่ำลงมาก็เป็นรูปปั้นอื่น ๆ ที่มีความสวยงามไม่แพ้กัน สำหรับแม่นั้นชอบรูปปั้นไดโนเสาร์ที่อยู่ตรงทางขึ้นมากที่สุด ถัดมาก็เป็นสะพานสวรรค์ซึ่งเป็นบันไดสูง ๆ ขึ้นบนดอยสู่อ่างเก็บน้ำแต่ตอนนี้ไม่มีน้ำแล้ว คงเป็นกลไกแห่งกาลเวลาที่มักเกิดความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
พระเกศแก้ว วัดสันปง_resize.jpg
พระเกศแก้ว วัดสันปง_resize.jpg (109.17 KiB) เปิดดู 1498 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 23 มิ.ย. 2024 9:03 pm

บทที่ ๕ เมืองพร้าวในความทรงจำ (ต่อ)
Screenshot_2016-07-31-09-15-37-1.png
Screenshot_2016-07-31-09-15-37-1.png (490.79 KiB) เปิดดู 1446 ครั้ง

แน่นอนวิถีชีวิตคนเมืองพร้าวเปลี่ยนแปลงเพราะมีความเจริญเข้ามา ในช่วงที่แม่ใช้ชีวิตอยู่ในอำเภอพร้าวเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวิถีดั้งเดิมสู่วิถีชีวิตที่เริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง จากบ้านเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ยามค่ำคืนได้แสงไฟจากตะเกียงและกมไฟ วันหนึ่งเราได้เห็นเจ้าหน้าที่นำเสาไฟฟ้าต้นแรกมาฝังลงดิน จากเคยดูทีวีเครื่องเดียวในหมู่บ้านด้วยเครื่องปั่นไฟ กลายเป็นหลาย ๆ บ้านซื้อทีวีได้เอง จากโรงหนังฟิล์ม ๓๕ มม. มาเป็น ๗๐ มม. และกลายเป็นแต่ละบ้านสามารถดูหนังจากม้วนวีดีโอได้เอง จนก้าวสู่ยุคที่มีคอมพิวเตอร์..จากการเปิดหนังด้วยซีดี ก็กลายเป็นดูจากเว็บไซต์และดูผ่านแอปได้ดังเช่นทุกวันนี้ ทุกอย่างล้วนเป็นวัฏจักร ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือความทรงจำ...

แม่จำได้ว่าตอนเรียนในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนพร้าววิทยาคมเมืองพร้าวจะมีโรงภาพยนตร์หรืออยู่โรงหนึ่งชื่อ เมืองทองรามา สถานที่ตั้งอยู่บริเวณเทศบาลนครเวียงพร้าวในปัจจุบัน โรงหนังแห่งนั้นมีลักษณะไม่ต่างจากหนังขายยามากนัก เพราะเป็นลานโล่งไม่มีหลังคา มีเพียงรั้วกั้นไม่ให้คนภายนอกเห็นด้านใน และมีที่นั่งสำหรับผู้เข้าชม ดีหน่อยที่เป็นหนังชนโรงได้ดูพร้อม ๆ กับคนในเมือง วันใดมีหนังเข้าฉายตอนกลางวันจะมีรถโฆษณาตระเวนป่าวประกาศไปทั้งอำเภอ ในขณะที่ฝ่ายปกครองในโรงเรียนจะสั่งห้ามไม่ให้นักเรียนไปดูอย่างเด็ดขาดเพราะการออกจากบ้านในเวลากลางคืนเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับนักเรียนในสมัยนั้น ถามว่ามีคนแอบไปดูไหม แน่นอนว่าต้องมีและมักจะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว ส่วนตัวแม่นั้นไม่เคยไปเพราะในหมู่บ้านก็มีโรงหนังอยู่แล้ว เป็นโรงหนังไม่มีหลังคาเช่นเดียวกัน หนังบางเรื่องที่เราเฝ้ารอดูอย่างใจจดใจจ่อก็อาจดูไม่จบเรื่องหากมีฝนเทลงมา มันเป็นความยากลำบากแต่เมื่อนึกถึงในวันนี้ก็อดยิ้มให้กับความทรงจำเดิม ๆ ไม่ได้ มันสนุกดีนะ

ประวัติโรงหนังในเมืองพร้าว ไม่ได้เริ่มต้นที่เมืองทองรามา ได้ข้อมูลจากคนรุ่นก่อนว่า โรงหนังแห่งแรกในเมืองพร้าวคือโรงหนังครูอ้ายที่ยกเลิกกิจการไปหลังจากมีหนัง ๗๐ มม.เข้ามา ถัดมาเป็นยุคเป็นโรงหนังเมืองทองที่ฉายอยู่ฝั่งตรงข้ามวัดกลางเวียง และโรงหนังฟ้าใหม่ฉายอยู่บริเวณเทศบาลในปัจจุบัน โรงหนังทั้งสองแห่งมีการแข่งขันกันสูงมาก แล้วกาลเวลาก็ทำให้เจ้าของโรงหนังฟ้าใหม่ต้องย้ายไปรับราชการอำเภออื่น โรงหนังเมืองทองจึงย้ายไปฉายแทนที่และเหลือเพียงโรงเดียวจนมาถึงรุ่นของแม่ แม้การออกไปดูหนังตอนกลางคืนจะถูกฝ่ายปกครองห้ามแต่ก็มียกเว้นในช่วงงานสลากภัต งานปอยหลวง และงานฤดูหนาวประจำอำเภอที่เมื่อก่อนจัดในพื้นที่โรงเรียนแจ่งกู่เรือง ในยุคนี้ไม่ได้ยินว่ามีการจัดงานฤดูหนาวแล้วเปลี่ยนเป็นงานข้าวหอมของสหกรณ์การเกษตรอำเภอพร้าวแทน แต่มหรสพต่าง ๆ ก็มีคล้ายคลึงกัน เพียงแต่ในยุคของแม่จะเธค รถไต่ถัง รถบั๊ม และบ้านผีสิง ที่จะต้องมีในทุก ๆ งาน บรรยากาศนั้นบางคนก็ว่าครึกครื้น บางคนก็ว่าหนวกหู

ถึงแม้จะมีโอกาสเที่ยวงานต่าง ๆ ตามที่ได้เล่าไปข้างต้นแต่แม่ก็ไม่ชอบออกไปไหนจนอุ๊ยสมต้องไปบอกเพื่อนในหมู่บ้านให้มาชวนไปเที่ยวบ้าง ไม่ใช่เพราะกลัวครูจะตีหรอกนะ ที่แม่ไม่ออกไปไหนเพราะชอบอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นและหนังสือนิยาย หนังสือเหล่านั้นแม่เช่ามาจากร้านเช่าหนังสือหน้าอำเภอบ้าง ยืมห้องสมุดโรงเรียนมาบ้าง เก็บเงินซื้อเองบ้าง เวลาได้เงินไปโรงเรียนไม่ค่อยได้กินของแพง ๆ หรอกเพราะต้องเก็บออมไว้สำหรับซื้อหนังสือเป็นส่วนใหญ่ แม่ไปโรงเรียนโดยการขึ้นรถโรงเรียนซึ่งแม่เรียกว่ารถเดือน ในตอนเย็นมักจะมีคนขอให้รถจอดเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียนหรือทำธุระอื่น ๆ แม่ก็จะลงดูหนังสือในร้านตันประดิษฐ์ วันไหนมีเงินก็ซื้อเลย วันไหนไม่มีเงินก็เลือกไว้แล้วเก็บออมเงินเพื่อไปซื้อในวันถัดไป


โลกของแม่อาจจะแตกต่างจากโลกของหลาย ๆ คนเพราะเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน แต่การอยู่บ้านของแม่ไม่ได้เป็นเพราะอินโทรเวิร์ต ในวันสำคัญต่าง ๆ แม่ก็ยังไปวัด ไปบ้านญาติ ๆ ที่อยู่อีกหมู่บ้าน และสนุกสนานกับการเข้าสังคม ชีวิตจึงมีความสมดุลอยู่พอสมควร โดยเฉพาะยามที่อยู่ในโรงเรียนก็จะสนุกสนานกับเพื่อน ๆ ได้โดยไม่มีศัตรู ไม่เคยมีใครมาหาเรื่องและไม่เคยไปหาเรื่องใคร ในสมัยที่แม่เป็นนักเรียนจะมีเพื่อนบางคนที่มีลักษณะเป็นเจ้าแม่ เราอยู่คนละห้องกันแต่เขาก็ทำตัวน่ารักกับแม่ จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขากำลังอารมณ์เสียท้าทายกับเพื่อนอีกคนแต่พอหันมาคุยงานกับแม่เขาก็ทำสีหน้าและน้ำเสียงเป็นปรกติ โดยรวมแม่เป็นนักเรียนที่อยู่ในระเบียบวินัยเป็นอย่างดี ถึงแม้ทรงผมจะไม่ใช่หน้าม้าสั้นเต่อเห็นคิ้วแต่ก็ติดกิ๊บผมสีดำเก็บปอยผมเรียบแปล้ หน้าตาไม่เคยแต่ง ปล่อยให้มีสีสันตามช่วงวัยเป็นปรกติ แต่เคยมีครั้งหนึ่งที่จะถูกอาจารย์พจมานเรียกไปตี สาเหตุเพราะตะโกนคุยกับเพื่อนที่อยู่คนละชั้นของอาคาร เมื่อเดินเข้าไปจริง ๆ อาจารย์กลับลงโทษด้วยการให้ไปเก็บขยะ โทษฐานที่ไม่มีความเป็นกุลสตรี ที่ถูกตีจริง ๆ ได้จากรอยไม้เรียวของอาจารย์วิโรจน์ เวชกิจ สาเหตุคือลืมทำการบ้านตอน ม.๑ หลังจากนั้นไม่เคยลืมอีกเลย ถึงแม้ภาคเรียนถัดไปอาจารย์จะเกษียณไปแล้วก็ตามที การถูกตีสำหรับแม่ไม่ได้เจ็บอะไรมากมาย (ถึงแม้จะเป็นรอย) แต่ความอายนั้นมากกว่า เพราะการถูกตีดูเหมือนเราจะเป็นเด็กที่แย่ ขาดความรับผิดชอบ
35536_2.jpg
35536_2.jpg (52.92 KiB) เปิดดู 1446 ครั้ง

ชีวิตในโรงเรียนพร้าววิทยาคมของแม่นั้นดำเนินไปอย่างราบเรียบ ในช่วงแรกที่เข้าเรียนแม่ปรับตัวไม่ได้ คนอื่น ๆ เขาดูมีความสุขกับโรงเรียนใหม่แต่แม่กลับไม่อยากไปเรียน เขาดูเป็นตัวของตัวเองแต่แม่อึดอัด อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้นมีคนเรียนต่อน้อย เพื่อนที่เรียนจบชั้นประถมด้วยกันเรียนต่อไม่ถึงครึ่งของทั้งหมด มองดูชีวิตเขามีอิสระ ไปทำไร่ทำสวน อยากไปไหนก็ไป อุ๊ยซอนอ้างกับแม่ว่าจ่ายค่าชุดกับค่าเล่าเรียนไปแล้ว แม่ควรจะเรียนให้คุ้มก่อนค่อยลาออก จากวันนั้นแม่ก็เรียนไปเรื่อย ๆ จนคุ้นเคยกับชีวิตเด็กมัธยมไปเอง


ในทุก ๆ เช้าแม่จะต้องตื่นไปโรงเรียนให้ทัน วันไหนมีวิชางานเกษตรหรือคาบพัฒนาก็ต้องแบกจอบขึ้นรถไปด้วย เมื่อถึงคาบก็ขึ้นแปลง ปลูก และรดน้ำพืชผักแปลงของตนเองจนผลิดอกออกผล วันไหนมีคาบคหกรรม งานผ้าก็ต้องเตรียมอุปกรณ์ไปจนครบครัน แม่ชอบสองวิชานี้อยู่เหมือนกันเพราะเป็นวิชาที่ให้นั่งทำงานเรื่อย ๆ ไม่ปวดหัว แต่ที่ชอบที่สุดก็คือภาษาไทยและศิลปะซึ่งเป็นวิชาที่แม่ถนัดที่สุดในชีวิต ชุมนุมที่แม่มักจะเข้าก็เป็นชุมนุมห้องสมุดเพราะชอบอ่านหนังสือ ส่วนวิชาที่ไม่ชอบที่สุดคือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากยากและอาจารย์ดุมาก เริ่มรู้สึกตัวว่าตนเองไม่ถนัดวิชานี้ตั้งแต่ ม.ต้น ถึงแม้ตอนนั้นแม่จะอยู่ห้อง ๑ โปรแกรมคณิต – อังกฤษ ก็ตาม

แม่ไม่ใช่เด็กที่ชอบกิจกรรมแต่ก็ยอมทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนกำหนด กิจกรรมที่ประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้คือ ได้ไปพัฒนาวัดพระเจ้าล้านทอง ทำให้ได้รู้ว่าในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเมืองเก่า “เวียงพร้าววังหิน” และประดิษฐาน พระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๐๖๙ โดยพระเมืองเกษเกล้าเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นผู้สร้าง วันนั้นแม่ได้ไปเดินดูร่องรอยคูเมืองเก่าซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่สวนของชาวบ้านไปแล้ว อาจจะเป็นเพราะความทรงจำนั้นทำให้เมื่อเติบโตขึ้น แม้จะทำงานในกรุงเทพฯ เมื่อกลับไปเยี่ยมบ้านก็จะแวะไปที่วัดแห่งนี้เสมอ การได้รับรู้และมีความผูกพันทำให้เมื่อมีผู้ชักชวนให้ไปทอดผ้าป่าเมื่อ ปี ๒๕๖๕ แม่จึงมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพสร้างสัปทนพระธาตุในวัดพระเจ้าล้านทองทั้ง ๔ มุม ด้วยความปีติยินดี


เมืองพร้าวเป็นบ้านเกิดที่แม่รัก อุ๊ยสอนแม่ในวันที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่ ๆ ว่า “อยู่ที่ไหนให้รักที่นั่น” วันนี้แม้มาทำงานไกลบ้านแม่จึงทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ไม่ให้ใครว่าได้ว่าเสียดายภาษี ทำทุกอย่างเต็มศักยภาพ ให้สมศักดิ์ศรีที่ได้เกิดมาเป็นลูกหลานเมืองพร้าว ลูกหลานคนล้านนา เผื่อว่าสักวันที่กลับมาอยู่บ้านก็จะกลับมาอย่างสมศักดิ์ศรีและด้วยความภาคภูมิใจเช่นเดียวกัน
45340_539214372797270_85110971_n_2.jpg
45340_539214372797270_85110971_n_2.jpg (69.26 KiB) เปิดดู 1446 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1186
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง สนทนากับคนภาษาไทย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน