มุมมองปัญหาการศึกษายุค ไทยแลนด์ ๔.๐

เสวนาภาษาไทย

มุมมองปัญหาการศึกษายุค ไทยแลนด์ ๔.๐

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 07 มี.ค. 2019 9:50 pm

มุมมองปัญหาการศึกษายุค ไทยแลนด์ ๔.๐

000e8c3bd5e53acaf1cec32cf9999614.jpg
000e8c3bd5e53acaf1cec32cf9999614.jpg (53.5 KiB) เปิดดู 4197 ครั้ง



การพัฒนาการศึกษาไทยเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศที่ผู้นำประเทศควรวางระบบตั้งแต่รากเหง้าไปจนถึงปลายยอดอย่างเหมาะสม ตั้งแต่เรื่องบุคลากร หลักการ สื่อ ฯลฯ เนื่องจากองค์ประกอบข้างต้นนั้นล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนการศึกษาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และสร้างความสำเร็จ คล้ายกับการ ติดกระดุมเสื้อที่ควรติดให้ถูกตั้งแต่เม็ดแรก หากติดผิดก็ต้องกลับไปติดใหม่จนกว่าจะถูกต้องทั้งหมด แล้วจะพัฒนาอย่างไรให้เข้าถึง เหมาะสม และสามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง เพราะหากการจัดการศึกษา ๔.๐ เกิดขึ้นแล้ว ประเทศไทยย่อมก้าวไปสู่การพัฒนาให้เทียบเท่านานาชาติได้ แต่กระบวนการพัฒนาดังกล่าวต้องใช้เวลา และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทุกระดับองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันผลักดันให้ยุทธศาสตร์ทาง การศึกษาได้ดำเนินไปตามที่ตั้งหวังไว้

การวางนโยบายระดับประเทศ

การศึกษาไทยนั้นมีการจัดระบบการศึกษาลดหลั่นไปตามระดับขั้นจากสูงลงไปต่ำ จากระดับกระทรวง ไปจนถึงระดับโรงเรียน โดยนโยบายต่างๆล้วนมาจากระดับกระทรวงอันมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีนักวิชาการอันมาจากหลายหน่วยงานเป็นผู้ช่วยในการวางแผน ทุกคนมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหา และพัฒนาการศึกษาไทยให้ประสบความสำเร็จสูงสุด แต่นับวันกลับห่างไกลจากเป้าหมายไปทุกทีๆ เพราะยังไม่สามารถเข้าถึง จับต้อง และแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้ เพราะองค์กรระดับกระทรวงเป็นผู้เสนอแนวทาง แต่ปัญหาที่แท้จริงนั้นเริ่มจากองค์กรเล็กๆ คือ บ้าน และโรงเรียน ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ผู้วางแผนยังไม่สามารถเข้าถึง และยังไม่เข้าใจ เนื่องจากบริบทชีวิตของผู้เสนอแนวทาง และผู้ที่ต้องได้รับการพัฒนานั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


นักการศึกษาไทยเป็นผู้ได้รับการศึกษาระดับสูงมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และต่างประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้มักคลุกคลีอยู่กับคนระดับเดียวกัน กล่าวคือ ระดับปัญญาชน แต่ในประเทศไทยนั้นคนส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ระดับการศึกษา ฐานะครอบครัว และพื้นฐานชีวิตด้อยกว่า สิ่งที่เป็นปัญหาชีวิตจึงหลากหลาย ละเอียดอ่อน และมีซอกมุมที่เข้าถึงได้ยาก อีกทั้งนักการศึกษาไทยมักจะนำทฤษฎี การวิจัย และนวัตกรรมจากต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย ทั้งๆที่ควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๒๒ ได้กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ กล่าวคือ การวางรากฐานนโยบายในระดับกระทรวงฯ ควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างคนไทย และบุคคลในประเทศต้นแบบของทฤษฎี หรือการวิจัยจากต่างประเทศ ก่อนวางระบบการศึกษาไทย ควรมีการศึกษาข้อมูลระดับพื้นฐาน มีการทำวิจัยโดยศึกษาตัวอย่างจากบุคคลภายในประเทศก่อน เพื่อให้เกิดการเข้าใจ และเข้าถึงปัญหาได้มากกว่าการนำวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้ผลจากประเทศหนึ่งมาใช้กับอีกประเทศหนึ่ง เพราะแต่ละประเทศล้วนมีรากฐานชีวิต ความคิด สังคม และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กระทรวงฯจะต้องมีการยอมรับ ปรับแก้ แท้จริง อิงความรู้ ดูความแตกต่าง และเป็นแบบอย่างของสังคม จึงจะทำให้ระบบการศึกษาไทยเข้มแข็ง และมีรากฐานอันมั่นคงสืบไป


04.jpg
04.jpg (51.5 KiB) เปิดดู 4197 ครั้ง


การวางนโยบายระดับโรงเรียน

โรงเรียนเป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด ในปัจจุบันโรงเรียนมีหลักสูตรสถานศึกษาในการใช้บริหารวิชาการภายใน มีนโยบายการเยี่ยมบ้าน PLC การแนะแนว มีโครงการต่างๆเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงเสริมที่ดีของการพัฒนาการศึกษาอยู่แล้ว แต่ความจริงในปัจจุบันมีหลากหลายประเด็นที่ทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่มีการพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า เพราะความกังวลอันมาจากปัจจัยภายนอก เช่น นโยบายจากเขตฯจังหวัด กระทรวงฯ อันเป็นนโยบายรายวันซึ่งสอดแทรกเข้ามามากเสียจนทำให้การจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนขาดความเป็นเอกเทศ โรงเรียนจึงควรได้ศึกษาบริบทของสังคมภายในโรงเรียน และท้องถิ่นให้
ถ่องแท้ เพื่อแก้ไข สร้างเสริม เติมเต็ม และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนอย่างสูงสุด


บทบาทของผู้สอน

ผู้สอน หรือครู เป็นผู้ให้ความรู้ และเป็นบุคลากรที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้เรียนมากที่สุด สังคมจึงมักได้พบปัญหาระหว่างครู และนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากวิธีปฏิบัติ การเรียนการสอน การวางตน ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะหมดไปหากครูคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ เข้าใจ เมตตาต่อศิษย์ และวางตนให้เหมาะสมกับความเป็นครู ครูต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ และมีคุณธรรม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับศรัทธาของศิษย์ จึงจะทำให้การพัฒนาการศึกษา พัฒนาคน เป็นไปอย่างราบรื่น แต่หากเบื้องบนมีการยัดเยียดนโยบาย โครงการ กิจกรรมอื่นๆให้ครูทำมากเกินไป ถึงแม้ครูจะมีจิตสำนึกที่ดีแค่ไหนก็ไม่สามารถเป็นครูที่ดีได้ เนื่องจากไม่มีเวลามากพอ การเตรียมการสอน สื่อ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนย่อมลดลง ดังนั้นหากต้องการคุณภาพอย่าเน้นปริมาณ อย่าเอาแต่สร้างงานเพื่อให้เป็นผลงานของตน เพราะไม่ว่าจะเป็นนโยบายจากกระทรวงต่างๆ สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา จังหวัด อำเภอ โรงเรียน ผู้ที่ลงมือสร้างงานต่างๆจริงๆคือ ครู ควรคืนครูสู่ห้องเรียน คนเป็นครูไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่สอน แม่พิมพ์ทุกคนย่อมมีหน้าที่อบรมบ่มนิสัย สร้างจิตสำนึก ดูแลและช่วยแก้ปัญหาต่างๆของนักเรียนด้วย


หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับครูและบุคลาการทางการศึกษา

หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลครูและบุคลากรมีอยู่หลายหน่วยงาน ได้แก่ ก.ค.ศ. คุรุสภา เป็นต้น หน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้กำหนดระเบียบ ข้อบังคับที่ใช้ในการควบคุม ดูแล ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งข้อกำหนด กฎ ระเบียบต่างๆเหล่านี้ควรคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่นักเรียนเป็นสำคัญ ไม่ควรสร้างงานขึ้นมาโดยใช่เหตุยกตัวอย่าง ล่าสุดหลังเปลี่ยนระเบียบการเลื่อนเงินเดือนครูจากขั้นมาเป็นเปอร์เซ็นต์ และได้กำหนดวิธีประเมินความดีความชอบเพื่อเลื่อนขั้นเงินเดือนโดยตั้งเกณฑ์ขึ้น ๑๓ ตัวชี้วัด แต่ละโรงเรียนก็นำไปตีความ โดยส่วนใหญ่ระบุให้ครูทุกคนนำเสนอผลงานตามตัวชี้วัดแต่ละข้อ ทำให้ครูต้องแบกภาระในการทำแฟ้มผลงานของตนเอง ควบคู่ไปกับการสอนช่วงปลายเทอมและการทำคะแนน ทั้งที่จริงในการทำงานของครูโรงเรียนจะมีการออกคำสั่งทุกครั้ง เพียงแค่ครูรายงานผลการปฏิบัติงานก็เพียงพอ และประหยัดเวลามากกว่า ปัจจุบันระเบียบนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วหลังจากมีกระแสด้านลบโจมตี แต่บางโรงเรียนก็มิได้ปฏิบัติตาม ทำให้ครูยังต้องเจียดเวลามาทำงานเอกสาร แทนที่จะใช้เวลาในการทำคะแนน เตรียมรับเด็กม.๑ เตรียมการสอนปรับพื้นฐาน ฯลฯ ถามว่าครูเหล่านั้นทำเพื่อให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรือ เปล่าเลย ครูจำเป็นต้องทำเพราะหากทำตัวเป็นแกะดำก็จะถูกหาว่ากระด้างกระเดื่อง กลายเป็นผิดวินัยที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของโรงเรียน


ในส่วนของระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆที่ใช้ในวงการศึกษานั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะ เช่น ในปี ๒๕๖๑ มีการเปลี่ยนวิธีการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่ ระยะเวลาในการเลื่อนวิทยฐานะเลื่อนออก การประเมินเชิงประจักษ์ได้นำกลับมาใช้เฉพาะกับผู้บริหาร ไม่มีของครู ทั้งๆที่งานทุกงาน ผู้ที่เป็นมดงานสร้างงานทั้งหมดคือครู แต่กลับเป็นครูที่เสียสิทธิ์ในยามที่ได้รับประโยชน์ จุดนี้เป็นมุมมองในส่วนของความยุติธรรม และขวัญกำลังใจในการทำงาน


บทบาทของผู้เรียน

ผู้เรียน หรือนักเรียนเป็นตัวแปรสำคัญในการวัดผลความสำเร็จของการศึกษา โดยนักเรียนจะเป็นผู้รับสารจากครู เพื่อทำความเข้าใจ นำไปใช้ และขยายผลต่อยอดชีวิต หากนักเรียนรู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ กอบโกย(ความรู้) ช่วยเหลือตนเอง เก่ง ดี และมีคุณธรรม ย่อมแสดงว่าบุคคลผู้นั้นประสบความสำเร็จทางการศึกษา แต่ในปัจจุบันความเป็นจริงกลับสวนทาง เนื่องจากสังคมไทยกลายเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ให้ความสำคัญต่อการหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัวมากกว่าเห็นความสำคัญของจิตใจ ส่วนใหญ่มักให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยง หรือโรงเรียน จึงทำให้เด็กขาดที่พึ่งทางใจ ไม่มีแบบอย่างที่ดี และห่างเหินจากพ่อแม่ ในด้านของการศึกษานั้น เด็กเหล่านี้มักจะกลายเป็นผู้เรียนที่ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา มาโรงเรียนตามหน้าที่ โดยไม่มีความใส่ใจที่จะพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง แต่ปัจจุบันกลับมีนโยบาย NO ZERO ผุดขึ้นมา แต่ละโรงเรียนให้ครูทำ MOU ให้ปลอด ๐ ร มส. แต่ไม่ทำ MOU กับนักเรียนซึ่งตัวกลางที่จะรับความรู้เข้าสู่ตัว มันจะทำให้เด็กเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการเรียน หรือมองว่าการเรียนเป็นเรื่องง่าย ตกได้เดี๋ยวก็แก้ผ่าน เพราะนโยบายไม่ให้เด็กติด ๐ น่าแปลกเหลือเกิน..เมื่อมีการจัดอับดับการศึกษาของไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ผลออกมาว่าการศึกษาไทยถดถอยลง แต่ผู้ใหญ่กลับไม่แก้ไขด้วยวิธีการเข้มงวด ให้ผู้เรียนรู้ว่าควรให้ความสำคัญและมีความตั้งใจเรียนถึงจะสอบผ่าน วิธีที่เลือกใช้คือให้ครูทำ MOU เพื่อการไร้เกรด ๐ และทำสัญญาลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องได้เกรด ๓ เกรด ๔ เพิ่มมากยิ่งขึ้น การให้ความสำคัญต่อเกรดมากกว่าความรู้ที่ได้ การศึกษาไทยจะมีคุณภาพได้จริงหรือ เมื่อให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์มากกว่าเนื้อแท้ความรู้ในสมอง


บทบาทของผู้ปกครอง

ผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการคิด และพฤติกรรมของผู้เรียน เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิด เป็นแบบอย่าง และเป็นผู้บ่มเพาะแนวคิดด้านต่างๆให้แก่ผู้เรียนมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของชีวิต ในสังคมแห่งเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ทำให้ความผูกพันของคนในครอบครัวลดน้อยลง ช่องว่างระหว่างบุคคลจึงทำให้การอบรมดูแลบุตรให้ใฝ่ศึกษา และอยู่ในกรอบของความดีงามนั้นค่อนข้างยาก ผู้ปกครองจึงควรทำความเข้าใจต่อบุตร และรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อลดปัญหาดังกล่าว จากที่พบมา มีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่เข้าข่ายมีปัญหา โดยมีสาเหตุมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่สนใจ และมีบางรายที่ครอบครัวอบอุ่นแต่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อันเป็นผลพวงมาจากการเลี้ยงดู ปลูกฝังมาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่เขาจำความได้นั่นเอง


นอกจากวิธีการจัดระบบการศึกษาที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทุกภาคส่วนจะต้องคำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นไทย ผสมผสานทุกสิ่งให้ลงตัว มีการพัฒนาสิ่งใหม่ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญต่อสิ่งเก่าอันเป็นรากเหง้าของประเทศ การพัฒนาการศึกษาในยุค ๔.๐ นั้นเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถของเยาวชนให้เรียนรู้ และต่อยอดความคิดได้ เหมือนดังที่คนไทยทุกคนต่างก็คาดหวังว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิต ดังนั้นทุกภาคส่วนของสังคมจึงต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษา พยายามเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนไทยทุกคนมีการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า เต็มศักยภาพ สร้างสรรค์ และเป็นทรัพยากรบุคคลอันมีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติสืบไป
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับไปยัง สนทนากับคนภาษาไทย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 140 ท่าน

cron