เข้าวัดทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว เพื่อกราบครูบาอินสม สุมะโน

- วัดทุ่งน้อย1_resize.jpg (51.11 KiB) เปิดดู 35709 ครั้ง
ครูบาอินสม สุมโน แห่งวัดทุ่งน้อย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
ครูบาอินสม สุมโน (พระครูสีลวุฒากร) พระอริยะสงฆ์ แห่งวัดทุ่งน้อย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ศิษย์สาย ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญแห่งล้านนาไทย
ครูบาอินสมนั้นเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือครูบาเจ้าศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพจนสำเร็จลุล่วง ท่านผู้พร้อมด้วยศีลาจารวัตรอันงดงาม เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้และไกล เป็นผู้หนักแน่นมั่นคงในพระพุทธศาสนา ดำเนินตามปฏิปทาที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ยึดติดกับลาภยศใดๆทั้งสิ้น ตลอดจนสิ้นอายุขัยของท่าน ปฏิปทาประการสำคัญที่เด่นชัดยิ่ง คือ เมตตาธรรม ซึ่งท่านได้ช่วยสงเคราะห์ผู้อื่นที่มีความเดือดร้อน เมื่อมาขอความเมตตา ท่านก็ช่วยให้พ้นจากทุกข์ภัยได้มีความสุข โดยมิได้เลือกชั้นวรรณะ หมู่เหล่า ยากดีมีจนอย่างไรชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตที่ทรงคุณค่า เกิดมาเพื่อยังประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนทุกหมู่เหล่า ดั่งรังสีแห่งสังฆรัตนที่เปล่งประกายให้แสงสว่างแก่โลกมนุษย์ จึงนับว่าครูบาอินสมเป็นพระสุปฏิปันโนโดยแท้จริง

- 11181338_833121013432368_3460294693042536337_n.jpg (35.92 KiB) เปิดดู 35709 ครั้ง
ในหนังสือปฏิปทาของท่านครูบาอินสม สุมโน ที่คณะศิษย์พิมพ์ถวาย เมื่อปี พ.ศ ๒๕๒๘ ได้บอกเล่าถึงประวัติของท่านว่า
ครูบาอินสม สุมโน มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านป่าหวาย หมู่ ๗ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเดิมนั้นบ้านป่าหวายขึ้นกับบ้านทุ่งน้อย หมู่ ๖ ตำบลบ้านโป่ง อาณาเขตติดต่อกันต่อมาทางราชการแยกบ้านป่าหวายไปขึ้นกับบ้านหนองไฮ หมู่ ๗ เพราะการไปมาลำบากต้องข้ามน้ำแม่งัด ละแวกดังกล่าวชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากที่อื่น เช่น บ้านแม่เหียะ อำเภอหางดง บ้านแม่แรม บ้านแม่ริม และจากเมืองเชียงราย
ครูบาอินสม สุมโน เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๔๔ บุตรของนายแปง นางเที่ยง เปาะนาค ฝ่ายโยมบิดาเป็นคนบ้านงิ้วเฒ่า อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ส่วนโยมมารดาป็นคนบ้านหนองอาบช้าง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โยกย้ายมาอยู่ที่อำเภอพร้าว ครูบาอินสม มีพี่น้อง ๔ คน คือ ครูบาอินสม สุมโน นายตุ้ย เปาะนาค นายดวงแก้ว เปาะนาค และนางสาวหน้อย เปาะนาค
วัยเด็กครูบาอินสม มีหน้าที่เลี้ยงควายและเลี้ยงน้องดังเด็กชาวบ้านทั่วไป เมื่ออายุ ๑๒ ขวบได้มาอยู่วัดเป็นขะโยมวัดทุ่งน้อย จึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือตัวเมืองล้านนา ได้ ๑ ปี เมื่อประมาณปี พ.ศ ๒๔๕๖ และแล้วอนิจจาโยมพ่อของท่านก็ได้เสียชีวิต ท่านจึงบวชจูงหัว(บวชหน้าไฟ)เพื่อเป็นการทดแทนพระคุณบิดา ต่อมาก็ได้บวชบรรพชาจริง เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ ๒๔๕๖ โดยมีครูบาคำอ้ายสีธิวิชโย หรือชาวบ้านเรียกชื่อท่านว่า ครูบาสีธิ เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อเป็นเณรได้ ๗ พรรษา อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๗ เดือนมิถุนายน พ.ศ ๒๔๖๔ ณ ศาลากลางลำน้ำแม่งัด มีครูบาคำอ้าย สีธิวิชโย เป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาเมืองใจ๋ อินทจักโก เจ้าอาวาสวัดบ้านโป่ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และครูบาอุต อุตตโม เจ้าอาวาสวัดป่าฮิ้น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ นับตั้งแต่นั้นมาท่านได้เล่าเรียนวิชาปฏิบัติธรรมวินัยกับครูบาคำอ้าย สีธิวิชโย วัดทุ่งน้อย(ชาวบ้านเรียกครูบาสีธิ) ครูบาคำจันทร์ วัดท่ามะเกี๋ยง ครูบาเมืองใจ๋ อินทจักโก วัดบ้านโป่ง ครูบาอุต อุตตโม วัดป่าฮิ้น และครูบาชนัญ ธนันชโย วัดป่าลัน จนมีความรู้แตกฉานสำเร็จวิชาทุกแขนง
“ท่านครูบาสีธิ นี้เป็นชาวอำเภอพร้าวโดยกำเนิด เป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงของอำเภอพร้าวในสมัยนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวท่านมากมาย ท่านเป็นผู้อุดมด้านวิชาอาคม ทั้งความขลังและมหานิยม สามารถรู้ภาษานกภาษาหนูได้ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านวิปัสสนากรรมฐาน มีสมาธิที่แข็งกล้า เป็นที่เคารพนับถือของพุทธสาสนิกชนในอำเภอพร้าว โดยเฉพาะพระเถระในอำเภอและต่างอำเภอก็มาขอเรียนวิชากับท่าน”
“เมื่อครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย (ครูบาศีลธรรม) นักบุญแห่งล้านนาไทย ท่านมาบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเมือง ตำบลสันทราย อำเภอพร้าว ท่านได้มาพำนักและจำพรรษาอยู่ที่วัดพระธาตุกลางเมือง ในวันอุโบสถศีล พระภิกษุสงฆ์ต้องเข้าอุโบสถทำพิธีกรรมทางศาสนา ครูบาสีธิซึ่งอยู่ในวัยชรามากแล้วก็ไปร่วมอุโบสถด้วย สมัยนั้นทางเดินระหว่างวัดทุ่งน้อยไปยังวัดพระธาตุกลางใจเมืองลำบากมาก ครูบาอินสมและลูกศิษย์วัดจึงได้ทำเสลี่ยงให้ท่านนั่งไป ครั้นข่าวคราวทราบถึงครูบาเจ้าศรีวิชัย ท่านก็รีบมาช่วยหามเสลี่ยงให้ครูบาสีธิไปยังอุโบสถวัดพระธาตุกลางใจเมือง และระหว่างทางท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยยังบอกกับ ครูบาอินสมและลูกศิษย์วัดคนอื่นๆด้วยว่า ท่านครูบาสีธิเป็นพี่ชายของท่านในชาติปางก่อน และมาพบกันในชาตินี้จึงมาแสดงความนับถือและยึดถือปฏิบัติเป็นแบบอย่างตลอดมา”
“ครูบาอินสม สุมโน ได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย เมื่อครั้งที่ท่านได้มาบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเมือง หลังจากช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยบูรณะวัดพระธาตุกลางใจเมืองเสร็จแล้ว ท่านก็ได้ติดตามไปร่วมสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ โดยได้พำนักที่วัดสวนดอก อำเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาแรมปี”
การเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อย ท่านครูบาอินสม สุมโน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ ๒๔๖๕ สืบจากครูบาสีธิ ท่านได้เริ่มพัฒนาหมู่บ้านและวัดให้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา ครูบาอินสมได้ปฏิบัติธรรมวินัย เจริญรอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และครูบาอาจารย์ของท่านมาโดยตลอด
อนึ่งด้วยท่านมีวิชา ความรู้เรื่องยาสมุนไพรแผนโบราณดี ชาวบ้านสมัยนั้นจึงมาขอรับการรักษาจากท่านอยู่เสมอ สำหรับเรื่องพุทธาคมของท่านนั้นได้มีผู้เฒ่าท่านหนึ่งเล่าว่า มีวัวตัวหนึ่งที่เขาเลี้ยงไว้ดุร้ายมาก เวลาตอนใกล้ค่ำเขาจะต้องย้ายวัวเพื่อนำมาผูกในโรงเรือน เขาถูกวัวขวิดจนได้รับบาดเจ็บแทบเอาชีวิตไม่รอดมาถึง๓ ครั้ง จึงได้มาปรึกษาและขอรับยารักษาตัว พร้อมเล่าเหตุการณ์ให้ท่านครูบาฟัง ครูบาก็ให้ยาและเศษผ้าเหลืองมาผืนหนึ่ง ให้นำไปผูกกับปลายไม้เรียวเมื่อเข้าไปหาวัวหรือสัตว์ดุร้ายต่างๆ ผู้เฒ่าก็นำไปปฏิบัติตาม ผลคือวัวดุร้ายตัวนั้นถึงกับหมอบลงไป ไม่กล้าลุกขึ้นมาขวิดเหมือนก่อน และยอมให้จับจูงเชือกจูงเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันในท้องถิ่น ถึงกิตติศัพท์ความรอบรู้เชี่ยวชาญในสรรพวิชาต่างๆ ของท่านนั้นมีมากมาย ท่านเคยบอกกับศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า อย่าได้หลงอะไรมากนัก ที่ท่านให้วัตถุมงคลต่างๆไปก็เป็นเพียงการผูกใจและให้กำลังใจ เมื่อนำไปใช้ที่ถูกที่ควรก็ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายได้ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม สิ่งเหล่านี้เมื่อมีแล้วก็ทำให้สุขใจอบอุ่นใจแก่ตนเองและครอบครัว
ครูบาอินสม สุมโน ได้เผยแผ่พระศาสนาอย่างหนึ่งด้วยการเทศนาธรรมแบบพื้นบ้าน ด้วยภาษาล้านนา และสอนการทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐาน ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์ ตลอดจนศรัทธาสาธุชนทั่วไป ทั้งได้ทำการสอนหนังสือพื้นเมือง ภาษาล้านนาไทย แก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่สนใจ โดยไม่ปิดบังอำพลาง ผลที่ท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้มาก ตั้งแต่เด็กจนถึงเฒ่าแก่ชรา ทั้งงานส่วนตัวและส่วนรวม เป็นที่ประจักแก่สายตาของชุมชนทั้งหลายมาโดยตลอด ส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พัดยศ ชั้นโท เป็นพระครูสีลวุฒากร เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ ๒๕๓๕ นำความปิติยินดีมายังศรัทธาสาธุชนเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่านครูบาอินสม หาได้มีความปิติยินดีไม่ กลับบอกให้คณะศิษย์เอาไปส่งคืน เพราะกลัวจะเป็นความทุกข์ กว่าลูกศิษย์จะอธิบายให้ท่านเข้าใจต้องใช้เวลานานทีเดียว
ท่านครูบาอินสม สุมโน ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ ณ วัดทุ่งน้อย เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ ๒๕๔๐ เวลา ๑๓.๕๕ น.ด้วยโรคชรา สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี ๗๖ พรรษา และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดทุ่งน้อย เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๔๒ ท่านได้จากพวกเราไปก็เพียงรูปกายเท่านั้น ส่วนนามธรรมชื่อเสียงคุณงามความดีของท่านยังไม่สูญสิ้นไป สิ่งที่พวกเราพึงกระทำเพื่อเป็นการบูชาพระคุณของท่าน ก็คือการนำเอาธรรมะ คำสั่งสอนของท่านมาประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นการน้อมนำรำลึกถึงท่านอย่างแท้จริง
อ้างอิง : หนังสือปฏิปทาของท่านครูบาอินสม สุมโน
กู่เวียงยิง บ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่ง
ซากโบราณสถานกู่เวียงยิง จุดที่ขุนเครื่องพระโอรสพระองค์ใหม่ในพญามังรายต้องธนูสิ้นประชนม์

- กู่เวียงยิง.jpg (56.58 KiB) เปิดดู 35709 ครั้ง
พญามังราย มีทหารผู้ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งชื่อว่า ขุนฟ้าเป็นชนเชื้อสาย ละว้า แต่มีความเฉลียวฉลาดและซื่อสัตย์มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งนักได้รับอาสาไปทำกลอุบายต่าง ๆ นานา ต่อพระยายีบา ผู้ครองเมืองหริภุญชัย เป็นเวลานานถึง ๗ ปี เช่นในฤดูร้อน แผ่นดินแห้งผากได้เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองไปขุดเหมืองส่งน้ำ ชาวบ้านสอบถามก็บอกว่าเป็นคำสั่งของเจ้าเหนือหัว พอถึงฤดูฝนข้าวเต็มนาก็เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองไปปลูกบ้านสร้างเมือง ชาวบ้านแบกไม้ หามเสาผ่านทุ่งนาอย่างทุลักทุเลทำให้ไร่นาเสียหายมาก ครั้นชาวบ้านชาวเมืองสอบถามก็ตอบอย่างเดิม จึงทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนจงเกลียดจงชังท่านพระยายีบาเป็นที่ยิ่ง ในขณะที่ท่านพญามังรายได้ส่งขุนฟ้าไปเมืองหริภุญชัยแล้ว จึงรับสั่งให้ราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่าขุนเครือง ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษาให้ไป ครองเมืองเชียงราย ส่วนพญามังรายครองราชย์สมบัติ ณ เมืองฝาง ฝ่ายขุนเครื่อง ราชโอรส เสด็จไปครองเมืองเชียงราย อยู่ไม่นานนักอำมาตย์ผู้หนึ่ง มีชื่อว่า ขุนใสเวียง ได้กราบทูลยุยงให้คิดกบฎต่อพระบิดา โดยให้ชิงเอาราชสมบัติ เมืองเชียงรายเสีย และให้จัดกำลังพลแข็งเมืองฝ่ายพญามังรายทรงทราบ จึง ปรารภว่าขุนเครืองผู้มีบุญน้อยจะมาคิดแย่งราชสมบัติกูผู้เป็นพ่อเช่นนี้ จักละไว้มิได้จึงมอบให้ขุนอ่องซึ่งเป็นทหารผู้ไว้วางพระราชหฤทัยผู้หนึ่ง ไปเชิญขุนเครื่องผู้โอรสให้มาเฝ้าที่เมืองฝาง ในขณะที่ราชโอรสเดินทางจากเมืองเชียงราย จะมาเฝ้า พระราชบิดาตามคำบอกเล่าของขุนอ่อง ท่านพญามังรายจึงมอบให้ทหารผู้แม่น ธนูได้ดักยิงที่กลางทางด้วยธนูอาบยาพิษ ทำให้ขุนเครืองสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง ณ ที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอพร้าว บริเวณนั้นพญามังรายได้เสด็จมาจัดการพระศพราชโอรสและทรงให้สถาปนา บริเวณ ที่ขุนเครืองถูกปลงพระชนม์นั้นเป็นอาราม เรียกว่า วัดเวียงยิง มีซากเจดีย์ร้างอยู่แห่งหนึ่งอยู่บนเนินเขาที่บ้านทุ่งน้อย ตำบล บ้านโป่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดเชียงยิง หรือวัดกู่ยิง(วัดสันป่าเหียง) ครั้นแล้วก็โปรดให้อัญเชิญพระศพไปฌาปนกิจเสียที่เมืองเชียงรายและในวัดแห่งนี้ต่อมาเป็นวัดร้าง และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ ๒ องค์ มีลักษณะสวยงามมาก ขณะนี้เก็บไว้ที่ วัดป่าลัน ตำบลบ้านโป่ง และที่วัดหนองอ้อตำบลเวียง เรียกว่า พระฝนแสนห่า
ที่มา หนังสือเวียงพร้าววังหิน