เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 24 ต.ค. 2016 10:41 am

fam_03.jpg
fam_03.jpg (40.66 KiB) เปิดดู 119299 ครั้ง


น้ำฟ้า เป็น นามปากกาของน้ำฝน ทะกลกิจ นักเขียนนวนิยาย ที่มีภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดเชียงใหม่ กระทู้นี้จะเป็นเรื่องเล่าที่ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องราวในอดีตย้อนไปหลายปีก่อน ความรู้สึกนึกคิด จินตนาการ และอาจจะเขียนเรื่องสั้น นวนิยายต่อๆกันไปตามสะดวก และตามอารมณ์ ผลงานทุกชิ้นมีลิขสิทธิ์ นำมาให้อ่านเพื่อความบันเทิงและแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันเท่านั้น กรุณาอย่าคัดลอกหากไม่ได้รับอนุญาต หากต้องการนำไปเผยแพร่ กรุณาแจ้งที่เพจ บ้านน้ำฟ้า หรือ นวนิยายล้านนา ค่ะ

เรื่องที่ ๑ เมืองพร้าวในความทรงจำ

เมืองพร้าวในความทรงจำ เป็นการย้อนความทรงจำไปยังเมืองพร้าวเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว ความเชื่อ วัฒนธรรม และประเพณีต่างๆ ล้วนแทรกเจืออยู่ในการเล่าชีวประวัติของข้าพเจ้า แม้วันนี้หลายสิ่งจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ความทรงจำในหัวใจจะยังงดงามเสมอ

S__1974282_resize.jpg
S__1974282_resize.jpg (76.8 KiB) เปิดดู 119473 ครั้ง


ตอนที่ ๑ บ้านเกิด

อดีตมักจะฝังรากลึกอยู่ในซอกหลืบความทรงจำของมนุษย์ทุกคน ยามใดที่ได้เห็นภาพเก่าๆ บุคคลเก่าๆ หรือได้ยินเรื่องราวเก่าๆ ความทรงจำเหล่านั้นก็จะหวนคืนกลับมา และฉายชัดให้เกิดความรู้สึกดีๆอยู่เสมอ เช่นเดียวกับข้าพเจ้าที่มีความรู้สึกผูกพันต่อบ้านเกิดอย่างยากจะลืมเลือน ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่ใด เรื่องราวความหลังก็ยังกระจ่างชัดราวกับเหตุการณ์ในอดีตมาปรากฏอยู่ตรงหน้า “เมืองพร้าว” บ้านเกิดของข้าพเจ้า บ้าน...ที่มีภูเขาโอบล้อมโดยมีทุ่งนาเขียวขจีโอบกอดอยู่อีกชั้นหนึ่ง บ้าน...อันเงียบสงบแต่กลับมีเรื่องราวน่าพิศวงอย่างมากมาย ซึ่งข้าพเจ้าจะค่อยๆเล่าสอดแทรกไปกับการเล่าเรื่องราววัยเยาว์เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น


ความทรงจำของข้าพเจ้าเริ่มต้นเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีก่อน ข้าพเจ้าเป็นลูกสาวคนโตของพ่อและแม่ซึ่งเป็นคนเชื้อสายล้านนาแท้ๆ เกิดในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ วีถีชีวิตจึงถูกบ่มเพาะด้วยวัฒนธรรมประเพณีล้านนาอยู่ตลอดเวลา จวบจนทุกอย่างแทรกซึมเข้ามาอยู่ในทุกความรู้สึกนึกคิดและการกระทำมาจนถึงปัจจุบัน

ในความทรงจำอันงดงาม บ้านหลังแรกในชีวิตของข้าพเจ้าเป็นบ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของบ้านอุ๊ย หรือตามภาษาไทยนั้นหมายถึงปู่ ย่าตา ยาย โดยในที่นี้ คือบ้านปู่กับย่า ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของบ้านแม่ต๋าซึ่งเป็นน้องสาวคนเล็กของปู่ ถัดจากบ้านจะเป็นป่าละเมาะกินเนื้อที่ไปจนถึงแนวกอไผ่ซึ่งขึ้นอยู่ตามแนวคลองเล็กๆที่เราเรียกกันว่าน้ำเหมือง ลำน้ำสายชีวิตที่หล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านมาตั้งแต่โบราณกาล

ครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวที่ว่าประกอบด้วยพ่อแม่ ปู่ย่า ป้า และน้าๆอีก ๕ คน นอกจากนี้ยังมีครอบครัวแม่ต๋าที่มีสมาชิกอีก ๗ คน อันได้แก่ อุ๊ยหม่อน พ่อของปู่ผู้มีอายุประมาณเก้าสิบกว่าปี พ่อปัน น้องชายของปู่และเป็นพี่ของแม่ต๋า แม่ต๋ากับสามี และลูกๆอีก ๓ คน พวกเราทั้ง ๓ ครอบครัวอาศัยอยู่ภายในรั้วเดียวกัน รั้วที่ว่าก็เป็นการปลูกไม้ดอกและไม้ประดับเป็นแนวให้รู้อาณาเขตเท่านั้นเอง ไม่ได้มีความแน่นหนาใดๆ เช่นเดียวกับประตูรั้วที่ปล่อยเอาไว้เป็นช่องว่าง ใครจะเดินเข้าเดินออกก็สะดวก แต่ก็ระวังมะพร้าวหล่นใส่หัวด้วยก็แล้วกัน เพราะตรงประตูทางเข้าบ้านนั้นจะปลูกต้นมะพร้าวขนาบไว้ทั้งสองฝั่ง


สมัยที่ยังเด็กนั้นข้าพเจ้ารู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าอาณาจักร เหตุเพราะเป็นหลานสาวคนแรกของครอบครัว และยังเป็นเด็กสาวหนึ่งในไม่กี่คนในละแวกบ้าน ที่สำคัญพวกพี่ๆมักจะชวนกันมาเล่นที่กลางข่วงบ้านข้าพเจ้าอยู่เสมอ เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง ทำเลเหมาะสม มีหน้าบ้านติดถนน หลังบ้านบ้านติดน้ำเหมือง ช่วงเวลาปกติเราก็จะชวนกันเล่นเบี้ย อีโป้ง ซ่อนหา อีจ้ง เป่ากบฯลฯ แต่ถ้าช่วงน้ำนองพวกเราก็จะแอบไปเล่นน้ำเหมืองหลังบ้านโดยการตัดต้นกล้วยแล้วเอามาขี่ให้ไหลตามน้ำไปถึง “ปุม” หรือฝายซึ่งอยู่ถัดไปไม่ไกลนัก ชีวิตในวัยเด็กของข้าพเจ้าจึงค่อนข้างซนประหนึ่งเป็นเด็กผู้ชาย เนื่องจากได้เล่นกับเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ประกอบกับพ่อชอบให้ใส่กางเกงมากกว่ากระโปรง แถมยังทำกระสอบทรายให้ฝึกมวยอีก แต่กระนั้นแม่ก็ไม่ยอมให้ตัดผม ปล่อยผมข้าพเจ้าให้ยาวสลวยลงมาถึงบั้นเอว พ่อคงไม่ชอบเท่าไรนักแต่ก็ทำอะไรไม่ได้


ก่อนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ นั้น ข้าพเจ้าไม่ยอมไปอยู่ศูนย์เด็กเล็กที่โบสถ์คริสต์เหมือนเพื่อนคนอื่น จริงๆพ่อแม่ก็พยายามพาไปอยู่เหมือนกัน แต่ข้าพเจ้านั้นร้องไห้ไม่หยุด ครูที่ศูนย์เด็กถึงขั้นพาซ้อนท้ายจักรยานออกไปเที่ยวตามบ้านคนแต่ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมหยุดร้อง เป็นเช่นนั้นอยู่นานพ่อจึงตัดสินใจว่าค่อยรอไปเรียนชั้นประถมฯเลยก็แล้วกัน ระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงานข้าพเจ้าก็จะอยู่กับปู่ ย่า หรือน้าๆ บางวันถึงได้ติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปบ้าง


ครอบครัวของข้าพเจ้าเป็นครอบครัวเกษตรกรโดยแท้ จำได้ว่าตอนยังเล็กๆ เราจะเลี้ยงควายเอาไว้ใต้ถุนหลองข้าว มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มันคลอดลูกแล้วลูกควายน้อยไม่แข็งแรง พ่อต้องซื้อนมมาใส่ขวดนมให้มันกิน ข้าพเจ้าเป็นคนดูแลมันอยู่หลายวันแต่สุดท้ายมันก็ตาย เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าแอบร้องไห้อยู่นานทีเดียว นอกจากควายแล้วครอบครัวเรายังเลี้ยงสุนัขพันธุ์ไทยไว้สองตัวมันชื่อดิ๊กกับมุม มันทั้งสองทำตัวน่ารักไม่เคยกัดคนหรือแม้แต่ไก่ที่พ่อกับปู่เลี้ยงเอาไว้เต็มบ้าน มีเห่าคนแปลกหน้าอยู่บ้างแต่พอห้ามก็หยุด มันอยู่กับครอบครัวเราไปจนอายุประมาณ ๑๐ ปีจึงตายตามอายุขัย ข้าพเจ้าแอบร้องไห้อีกเช่นเคย หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าคนในครอบครัวจะนำสุนัขมาเลี้ยงอีกเลย

20161001_104511_resize.jpg
20161001_104511_resize.jpg (202.79 KiB) เปิดดู 119473 ครั้ง


ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าครอบครัวของเราเป็นเกษตรกร แต่น้าคนที่ ๔ กลับประกอบอาชีพแตกต่างจากคนอื่นๆ นั่นคือมีอาชีพเป็นช่างซอ โดยคนจะรู้จักในนาม บัวคำเมืองพร้าว น้าบัวคำเป็นศิษย์ของแม่ครูคำปัน บ้านทุ่งหลวง และเป็นรุ่นน้องของแม่ครูบัวซอนศิลปินแห่งชาติ ยามน้าไปซอตามงานต่างๆที่มีคนว่าจ้าง ปู่ก็จะตามไปเป็นช่างปี่ คอยเป่าปี่เพื่อให้จังหวะช่างซอบนเวที ไม่เพียงแต่งานที่ถูกว่าจ้างเท่านั้น หลายครั้งที่น้าไปช่วยซอการกุศลตามวัดต่างๆ น่าเสียดายที่น้าบัวคำอายุสั้นนัก อายุเพียงสามสิบต้นๆก็จากครอบครัวไปอย่างไม่มีวันกลับ ผลงานสุดท้ายของน้า คือการแสดงละครซอของโทรทัศน์ช่อง ๘ อสมท. หากน้าบัวคำยังมีชีวิตอยู่ ท่านคงเป็นอีกผู้หนึ่งที่จะช่วยรักษาศิลปะการซอเอาไว้ตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

#จบตอน

เดี๋ยวว่างๆมาเล่าต่อค่ะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อาทิตย์ 25 ก.พ. 2018 8:05 am

ตอนที่ ๒ ปี๋ใหม่เมือง

namfar999.jpg
namfar999.jpg (80.06 KiB) เปิดดู 119299 ครั้ง


ชีวิตของคนชนบทเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและความสุข ในช่วงต้นๆของชีวิตนั้น ด้วยความที่ข้าพเจ้าเป็นหลานคนเดียว พวกน้าๆจึงอยากให้ไปนอนด้วย ทว่าพอได้ครึ่งคืนข้าพเจ้าก็จะร้องไห้หาแม่ แต่พอนานไปก็ชิน จึงเปลี่ยนที่นอนเป็นว่าเล่น แต่ถึงจะไม่ได้ไปนอนกับน้าๆ ตอนเช้าก็จะมีคนมาปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นอยู่ดี โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่น้าๆจะตื่นแต่เช้ามืดเพื่อกวาดเศษใบไม้ ทำความสะอาดบ้าน แต่ข้าพเจ้าว่าคงนอนไม่หลับมากกว่า เพราะพอย่างเข้าเที่ยงคืนวันที่ ๑๒ เมษายน ก็จะมีเสียงประทัด เสียงเคาะเกราะ หรือแม้แต่เสียงปืนดังอยู่ตลอดเวลา แม่บอกว่าเขาทำเสียงดังแบบนั้นเพื่อไล่


ขุนสังขานต์ ในขณะที่น้าๆบอกว่าให้รีบตื่นมาดูสังขานต์ตอนเช้าวันที่ ๑๓ เมษายน เพราะสังขานต์จะเดินทางมาปีละครั้งโดยเดินจากทิศเหนือไปทิศใต้ สังขานต์ จะตัวสูงใหญ่มีตะกร้าแบกไว้ที่หลังเพื่อเก็บขยะที่แต่ละบ้านกวาดไปรวมๆไว้ พอถึงตอนเช้าน้าๆก็จะตะโกนโหวกเหวกปลุกข้าพเจ้าให้ตื่นมาดูสังขานต์ แต่ลงมาทีไรสังขานต์ก็ไปเสียแล้วทุกที เพิ่งจะมารู้ตอนโตว่า แท้จริงแล้ว “ขุนสังขานต์” คือ สุริยเทพ ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของพระอาทิตย์ดังตำราโบราณล้านนาชื่อ คัมภีร์สุริยาตร์ ได้กล่าวถึงการใช้การโคจรของดวงอาทิตย์เป็นหลักในการคำนวณและกำหนดวันเปลี่ยนศักราชใหม่ คือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันแรก หรือประมาณช่วงกลางเดือนเมษายนของทุกปี


วันสังขานต์ล่อง คือ วันแรกของวันสงกรานต์ ครอบครัวของเราจะช่วยกันทำความสะอาดบ้าน
ตัดใบตองมาตากแดดเตรียมไว้สำหรับที่จะห่อขนมและทำห่อนึ่ง สำหรับข้าพเจ้านั้นไม่มีหน้าที่ใดมากนัก จึงออกไปเล่นน้ำสงกรานต์กับเพื่อนๆพอตกเย็นก็กลับมาสระเกล้าดำหัว ซึ่งก็คือการสระผมนั่นเอง ทุกๆปีหนังสือปีใหม่เมืองจะระบุให้ทราบว่าจะต้องสระผมไปทางทิศใด เมื่อสระผม อาบน้ำ แต่งตัว ใส่เสื้อผ้าใหม่แล้วจะต้องนำดอกไม้ชนิดใดมาเหน็บมวยผม สงกรานต์เป็นช่วงเวลาความสุขของข้าพเจ้า เพราะนอกจากจะเป็นประเพณีที่สนุกสนานแล้ว ญาติพี่น้องที่อยู่ไกลๆยังกลับมาบ้านพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วย

ถัดจากวันสงขานต์ล่องเป็น วันเนาว์ หรือ วันเน่า แม่สอนว่าในวันนี้ห้ามพูดจาไม่ดี ห้ามด่าทอคนอื่น ในวันเนาว์นี้เป็นวันขนทรายเข้าวัด ซึ่งเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าโดยตรง ข้าพเจ้าจะเป็นตัวแทนของครอบครัวไปขนทรายทุกปี โดยเราจะไม่ใช้ทรายจากลำคลองเพราะถือว่าไม่สะอาดพอ ทรายที่ใช้จะเป็นทรายในนา ข้าพเจ้าจะถือน้ำคุ ถังน้ำเล็กๆไปขนจนครบจำนวนคนในบ้าน ตักทรายได้ก็วิ่งแข่งกับเพื่อนแต่ก็ต้องระวังคันนาให้ดี มิเช่นนั้นอาจจะหกคะเมนตีลังกาได้ ทรายที่ขนมานั้นทางวัดจะก่อเป็นเจดีย์ทราย เอาไว้ปัก ตุงตั๋วเปิ้ง หรือ ตุงนักษัตรในวันพญาวันนั่นเอง เมื่อขนทรายเสร็จแล้วข้าพเจ้าก็จะรีบกลับบ้านเพื่อไปกินขนมจ็อกหรือขนมเทียน กับห่อนึ่งที่แม่ทำเตรียมไว้ไปวัดและเผื่อแผ่ถึงทุกคนในบ้านด้วย คนทางภาคเหนือจะทำเช่นนี้ทุกบ้าน สำหรับข้าพเจ้านั้นถ้าครั้งไหนกลับมาทันแม่ทำขนมก็จะช่วยนวดแป้งและห่อขนม แรกๆก็ห่อขนมไม่ค่อยสวยเนื่องจากไม่มีมุม แต่ทุกอย่างก็พัฒนาไปตามวัย พอโตขึ้นการห่อขนมหรือห่อนึ่งก็พัฒนาตาม ทว่าข้าพเจ้ากลับไม่ค่อยได้ทำ เหตุเพราะรับราชการอยู่ไกลบ้าน


วันที่สามของปีใหม่เมือง คือ วันพญาวัน ข้าพเจ้าจะถูกจับแต่งตัวแต่เช้าเพื่อไปวัดกับพ่อแม่ โดยพ่อจะแยกไปตานขันข้าวให้ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ส่วนแม่จะไปตักบาตรบนวิหาร ส่วนเด็กๆอย่างข้าพเจ้าก็วิ่งไปทางนั้นทีทางนี้ที จนเบื่อก็กลับบ้านไปทำหน้าที่แท้จริงของตนเอง นั่นคือ การดำหัวญาติผู้ใหญ่ การดำหัวของครอบครัวเรานั้นใช้เวลาเกือบทั้งวัน ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นโดยไปดำหัวอุ๊ยหม่อนก่อน แล้วตามด้วยการดำหัวปู่ จากนั้นจึงตามป้ากับน้าๆออกจากบ้านไปดำหัวพี่ๆน้องๆของปู่กับย่า นับจำนวนแล้วสิบกว่าท่าน เมื่อกลับมาก็ต้องนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ที่พวกเราเรียกว่า “รถเอ็นตาโร่”เพื่อไปดำหัวตากับยายที่ต่างหมู่บ้านอีก จวบจนหมดวันข้าพเจ้าจะมีด้ายไหมมือ หรือสายสิญจน์มัดอยู่เต็มข้อมือราวกับเพิ่งผ่านพิธีเรียกขวัญมาหยกๆ


วันที่สี่ของวันสงกรานต์ คือ วันปากปี วันนี้จะมีกิจกรรมสำคัญหลายอย่าง ตั้งแต่เช้าแม่จะนำเสื้อผ้าของทุกคนในบ้านไปสะเดาะเคราะห์ที่วัด หลังจากนั้นช่วงสายๆจะเป็นพิธีส่งเคราะห์บ้าน ช่วงบ่ายก็พากันไปแห่ไม้ค้ำ และดำหัววัด คือ การดำหัววัดต่างๆในละแวกใกล้เคียง ในวันนี้ทุกบ้านจะแกงขนุนตามความเชื่อที่ว่าจะได้มีสิ่งดีๆมาหนุนนำตลอดปี นอกจากนี้ในช่วงกลางคืนยังมีการจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย และเทียนที่เขียนชื่อ วันเดือนปีเกิดของคนในบ้านเพื่อเป็นการต่ออายุและเสริมดวงให้แก่ทุกคนอีกด้วย

ประเพณีสงกรานต์นั้นเป็นประเพณีแห่งการเริ่มต้นจึงมีความละเอียดอ่อนและพิถีพิถัน นอกจากวันปากปีแล้ว วันที่ห้าของสงกรานต์ยังเป็นวันปากเดือน วันที่หกเป็นวันปากวัน แต่สองวันหลังนี้จะไม่มีพิธีการใดๆ เป็นการพักผ่อนหย่อนใจและอยู่กับครอบครัวเสียมากกว่า กระนั้นก็ยังมีญาติพี่น้องจากต่างอำเภอทยอยมาดำหัวอุ๊ยหม่อน และปู่อยู่ประปราย เนื่องจากในวันพญาวันและวันปากปีเหล่าญาติๆก็ล้วนแต่มีกิจกรรมในหมู่บ้านเช่นเดียวกัน

เนื่องจากครอบครัวของเราเป็นครอบครัวเกษตรกร หลังสงกรานต์ยังไม่มีการเพาะปลูกใดๆจึงค่อนข้างว่าง ข้าพเจ้าวิเคราะห์เอาเองว่าน่าจะเป็นเพราะช่วงนี้มักจะมีพายุเข้า ทุกครัวเรือนจึงรอให้ผ่านพ้นช่วงมรสุมไปก่อน ข้าพเจ้าจำได้ว่า ช่วงหลังสงกรานต์จะมีพายุรุนแรงอยู่บ่อยครั้ง พอตกบ่ายท้องฟ้าจะมืดครึ้มเป็นสีดำทะมึน พ่อแม่จะห้ามไม่ให้ข้าพเจ้าลงจากบ้านไปไหน แต่กระนั้นก็ยังไม่ปลอดภัยเท่าใดนัก เพราะลมพายุนั้นพัดแรงจนข้าพเจ้ารู้สึกว่าเสาเรือนโอนเอน และหลายครั้งที่กระเบื้องถึงกับปลิวหลุดออกไปจากหลังคา แต่ข้าพเจ้าจะอยู่ในบ้านแค่ช่วงที่พ่อกับแม่อยู่บ้านเท่านั้น หากท่านไม่อยู่ข้าพเจ้าก็มักจะวิ่งตากฝนในข่วงบ้านจนสาแกใจแล้วก็ไปเล่นน้ำรางรินที่บ้านปู่ จนฝนหยุดตกค่อยวิ่งไปหลังบ้านบริเวณที่เป็นป่าละเมาะบ้านแม่ต๋า ซึ่งบริเวณนั้นจะมีมะม่วงแก้มแดงอยู่ต้นหนึ่ง ลำต้นของมันสูงมากจนยากที่จะเอาไม้ส้าวสอยผลสุกลงมาได้ ก็ต้องรอจังหวะมีลมพายุนี่แหละที่มันจะร่วงลงมาเอง อันที่จริงใกล้ๆกันก็มีมะม่วงน้ำตาลอยู่ต้นหนึ่งแต่ข้าพเจ้าไม่ชอบรสชาติของมันเท่าใดนัก เพราะหวานเกินไป สู้มะม่วงแก้มแดงที่มีรสชาติหวานซ่อนเปรี้ยวไม่ได้ ที่สำคัญการได้ช่วงชิงกับเพื่อนๆที่มักจะวิ่งมาเก็บมะม่วงเป็นเรื่องที่สนุกมาก อันที่จริงพอใครเก็บได้ก็เอามาแบ่งกันกิน แต่การได้วิ่งไปถึงก่อนนั้นเป็นเรื่องที่พวกเราภูมิใจราวกับได้รับรางวัลจากการวิ่งระดับโลกก็ไม่ปาน

มัวแต่บรรยายเรื่องลมพายุเสียนาน ทำให้ข้าพเจ้าลืมกล่าวถึงช่วงเวลากลางวันหลังสงกรานต์ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าประทับใจมาก เนื่องจากญาติพี่น้องจะวนเวียนมาพบกันและสถานที่อันเป็นที่ชุมนุมคือใต้ถุนบ้านของปู่ ภาพบ้านไม้ทรงโบราณยังประทับในความทรงจำของข้าพเจ้าเสมอ บ้านไม้ใต้ถุนสูงขนาดกลาง แต่ไม่ได้มีการเลี้ยงวัวควายเหมือนบ้านอื่น ส่วนด้านล่างที่ติดพื้นดินเยื้องไปทางทิศเหนือของตัวบ้านมีการต่อเติมเพื่อทำเป็นลานกิจกรรมของครอบครัว ห้องครัว และชานเรือนที่ไม่มีหลังคา สำหรับวางโอ่งมังกร และอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้น้ำ แต่ส่วนที่เป็นใต้ถุนจริงๆนั้นปล่อยให้เป็นลานโล่ง บริเวณนั้นเป็นดินเหนียวและแข็งมาก ปู่จะนำแคร่ไม้ขนาดใหญ่ไปตั้งไว้ ๒ ตัว พอกลางวันแดดร้อนๆก็ตักน้ำใส่ฝักบัวมารดพื้นทำให้บริเวณนั้นเย็นสบาย พอตกบ่ายพวกน้าๆก็มักจะพากันตำส้มตำ ฝานมะม่วงกินกับน้ำพริกน้ำอ้อย หรือช่วงไหนที่มีคนขึ้นมะพร้าวก็จะขูดเอามะพร้าวอ่อนใส่กะละมัง เทน้ำมะพร้าวลงไป ใส่ข้าวเหนียว แล้วเติมน้ำอ้อยให้รสหวานขึ้น ก่อนที่จะใส่น้ำแข็งลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย เราเรียกมันว่ามะพร้าวจ๋าวน้ำอ้อย ซึ่งเป็นอาหารที่อร่อย กินแล้วสดใส เย็นชื่นใจจริงๆ

มิใช่เพียงกลางวันเท่านั้นที่บ้านของปู่เป็นศูนย์กลางของพวกญาติๆและเพื่อนบ้าน ในตอน
กลางคืนก็เช่นเดียวกัน น้าแอซึ่งเป็นลูกคนที่ ๖ ของปู่กับย่านั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากลุ่มหนุ่มสาวในหมู่บ้าน ตอนกลางคืนจึงมีการซ้อมฟ้อนกันอยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการฟ้อนนำต้นของหมู่บ้านไปร่วมงานสลากภัตและปอยหลวง คืนไหนที่ว่างเว้นจากการงาน สาวๆในหมู่บ้านก็จะพากันมารวมตัวกันที่ข่วงบ้านของครอบครัวเรา และซ้อมฟ้อนโดยมีหนุ่มๆในหมู่บ้านและต่างบ้านมาช่วยตีกลอง ซ้อมฟ้อนเสร็จก็มักจะทำขนมหรือส้มตำกินกัน หากคืนใดไม่มีการซ้อมฟ้อนก็จะมีหนุ่มๆแวะเวียนมาหาน้า ตามวัฒนธรรม“บ่าวแอ่วสาว” ข้าพเจ้าจำได้ว่า ถ้าน้ามีใจให้หนุ่มคนไหนก็จะออกมานั่งคุยกันบนเติ๋นหรือโถงของเรือน แต่ถ้าคนไหนที่ไม่ชอบใจก็จะทำทีเป็นไม่อยู่บ้าน หลายครั้งที่ข้าพเจ้าจึงต้องทำหน้าที่ผู้ประสานงานลงไปบอกหนุ่มๆว่าน้าไม่อยู่

namfar99.jpg
namfar99.jpg (52.06 KiB) เปิดดู 119300 ครั้ง
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 11 มี.ค. 2018 7:06 pm

บ่าวแอ่วสาวเป็นวิถีชีวิตของคนล้านนาแท้ๆ กลางคืนหนุ่มๆจะไปแอ่วบ้านสาวที่ตนเองชอบ เพื่อไปนั่งคุยทำความรู้จักกัน สาวก็จะนั่งทำกิจกรรมในครัวเรือน เช่น ปั่นฝ้าย จักตอกฯลฯ อยู่บริเวณเติ๋น พอหนุ่มมาก็จะมาช่วย ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นรับหน้าที่ผู้ช่วยนางเอก ถูกขอร้องให้นั่งเป็นก้างขวางคออยู่ทุกคืน ดังนั้นข้าพเจ้าจึงรู้จักหนุ่มๆทุกคนที่มาจีบน้าๆ บางคนก็มาตีสนิทข้าพเจ้า ทำให้ข้าพเจ้าพลอยเรียกเขาว่า “น้า” ตามไปด้วย อันที่จริงบุคคลที่ข้าพเจ้าเรียกว่าน้านั้นมีศักดิ์เป็นอา เพราะเป็นน้องของพ่อ แต่ก็แปลกดีที่ในละแวกนั้นมักจะเรียกทั้งน้องพ่อและน้องแม่ว่าน้า ในชีวิตข้าพเจ้าจึงไม่เคยมีอาและมีแต่น้าเต็มไปหมด

13046251_870178849757414_1246721565_n (1).jpg
13046251_870178849757414_1246721565_n (1).jpg (107.92 KiB) เปิดดู 119233 ครั้ง



การรับแขกของครอบครัวเราก็เหมือนกับครอบครัวคนล้านนาทั่วไป คือ เมื่อมีแขกมาบ้านก็จะพาไปนั่งที่เติ๋น ส่วนน้ำท่าที่ต้อนรับก็จะเป็นน้ำในน้ำต้น ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาทรงสูงคล้ายๆแจกัน แต่ถ้าคนไหนที่สนิทชิดเชื้อกันมากๆก็จะไปตักน้ำในน้ำหม้อน้ำกินเองโดยไม่ต้องบอก ครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่มักจะมีแขกมาเยือนอยู่เสมอ ส่วนใหญ่เป็นคนในหมู่บ้าน บางทีเป็นญาติๆ เพื่อนพ่อ เพื่อนน้า แต่ละคนก็มาเยี่ยมบ้าง มาคุยกันบ้าง บางช่วงก็ใช้ข่วงบ้านของข้าพเจ้าเป็นลานกีฬา เล่นวอลเล่ย์บอล เตะตะกร้อกันเป็นที่สนุกสนาน ส่วนเพื่อนๆของข้าพเจ้านะหรือ ไม่น่าจะเรียกแขกได้เนื่องจากมาทุกวัน จะพิเศษก็ตอนประชุมหมู่บ้าน ที่คนในหมู่บ้านจะมาประชุมกันที่บ้านแม่ต๋า เพราะพ่อศรีสามีของแม่ต๋านั้นเป็นแก่บ้าน หรือผู้ใหญ่บ้าน หากมีการประชุมคราใด แต่ละคนก็มักจะพาลูกๆหลานๆ มาด้วย คืนนั้นข้าพเจ้าจะสนุกสนานเป็นพิเศษ เพราะมีเพื่อนเล่นในตอนกลางคืน แต่น้าๆก็ต้องระวังกอไม้ประดับหน้าบ้านเป็นพิเศษ เนื่องจากข้าพเจ้ามักจะไปนอนเล่นทำให้กอไม้นั้นเสียรูปเสียทรง แต่ก็ไม่ใช่แค่ช่วงประชุมหมู่บ้านเท่านั้นที่ข้าพเจ้ามีเพื่อนเล่นตอนกลางคืน ช่วงใกล้ๆเดือนยี่ก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่เด็กๆมักจะไปเล่นกับเพื่อน กลางคืนเราจะไปซื้อประทัด ไฟเย็น บอกไฟดอกเล็กๆมาจุดด้วยกัน แต่ก็ยังไม่สนุกเท่าวันยี่เป็งจริงๆ ที่ไม่ว่าวันนั้นจะตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ หรือเป็นวันที่ข้าพเจ้าต้องไปโรงเรียน ข้าพเจ้าก็สามารถไปร่วมกิจกรรมที่วัดได้


ประเพณียี่เป็งนั้นตรงกับวันลอยกระทงของทางภาคกลาง แต่ที่คนล้านนาเรียกว่ายี่เป็งเป็นเพราะ ตรงกับวันเพ็ญเดือนยี่เหนือ กล่าวคือ เดือนของล้านนาจะมาถึงก่อนเดือนไทยสองเดือน โดยทั่วไปยี่เป็งมักจะตรงกับเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาว ข้าพเจ้าไม่เคยลืมว่าหน้าหนาวสมัยนั้นหนาวมาก ยี่เป็งก็หนาวจนสั่น ถึงแม้เราจะใส่เสื้อกันหนาวแล้วก็ตาม ช่วงก่อนยี่เป็งราวหนึ่งสัปดาห์พ่อศรีและพ่อของข้าพเจ้ามักจะ ต้อกบอกไฟ คือ ทำบอกไฟดอกเพื่อนำไปแข่งขันกันที่วัด การแข่งขันนี้จะทำกันเป็นหมวด ซึ่งในหมู่บ้านจะแบ่งหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ หมวด ๔ ตามจุดที่ตั้ง เมื่อมีกิจกรรมก็ทำกันเป็นหมวดๆ บ้านของข้าพเจ้าอยู่หมวด ๒ เราจึงต้องทำบอกไฟของหมวด๒ไปแข่งขันเพื่อเป็นสีสันค่ำคืนวันยี่เป็ง


เมื่อถึงวันยี่เป็ง ช่วงสายๆที่วัดจะมีการปล่อยว่าวลม ว่าวลมที่ว่านี้คนภาคอื่นมักจะเรียกว่าโคมลอย ส่วนภาคเหนือแท้ๆจะเรียกว่าว่าวลมหากปล่อยในเวลากลางวัน และเรียกว่าว่าวไฟหากปล่อยในเวลากลางคืน การปล่อยว่าวดังกล่าวนั้นเราจะปล่อยกันเป็นหมู่บ้าน โดยจะหากระดาษว่าวไปรวมกันเพื่อประดิษฐ์ว่าวซึ่งมีลักษณะทรงกลม เวลาจะปล่อยว่าวนั้นก็ไม่ได้ใช้ไฟแบบในปัจจุบัน แต่เป็นการรมควันให้เข้าไปอยู่ในว่าว จนมีแรงดันลอยขึ้นเอง การปล่อยว่าวต้องใช้คนหลายคนช่วยกันจับและรมควัน เมื่อเติบโตขึ้นทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นนัยสำคัญของกิจกรรมนี้ ซึ่งก็คือการสร้างความสามัคคีนั่นเอง

20278e5f4_resize.jpg
20278e5f4_resize.jpg (48.3 KiB) เปิดดู 119233 ครั้ง



ตอนเด็กๆข้าพเจ้ามองว่าการปล่อยว่าวลมเป็นเรื่องสนุกสนาน ตุ๊ลุง (พระสมพล ปัญญาวชิโร)มักจะนำเอาธนบัตรใบละร้อยใส่ไปในว่าวเพื่อเป็นการปล่อยเคราะห์) การปล่อยว่าวนี้เพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ เช่นเดียวกับการจุดเทียนและผางประทีปบูชาไว้ใต้หิ้งพระในตอนค่ำ จากนั้นพ่อก็จะนำผางประทีปไปวางบริเวณรั้วบ้านเป็นจุดๆ เช่นเดียวกับบริเวณซุ้มประตูป่าตกแต่งประตูบ้านตามคติความเชื่อว่าเป็นการต้อนรับการกลับมาของพระเวสสันดร วิธีการทำคือ นำก้านมะพร้าว ต้นกล้วย ต้นอ้อย และดอกไม้ต่างๆมาประดับเป็นซุ้มโค้งหน้าประตูบ้าน ดังนั้นในค่ำคืนยี่เป็งข้าพเจ้ามักจะมายืนอยู่บริเวณถนนหน้าบ้านเพื่อมองดูดวงไฟวิบวับสุดลูกหูลูกตา ซึ่งให้ความรู้สึกอบอุ่นใจอย่างประหลาด จากนั้นจึงไปดูการแข่งขันบอกไฟดอกที่วัด และที่ข้าพเจ้าชื่นชอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ การจำลองทางขึ้นวิหารเป็นเขาวงกต ซึ่งนำไม้ไผ่มาทำเป็นทางเดินคดเคี้ยว ทำให้ข้าพเจ้าได้เดินวกไปเวียนมาได้อย่างสนุกสนาน แต่ก็มีความเศร้าลึกๆปรากฏอยู่ในใจ เนื่องจากเมื่อมองขึ้นไปบนวิหารซึ่งมีการเทศนาธรรม เรื่อง เวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ ๑๓ คือ นครกัณฑ์ บนนั้นจะเต็มไปด้วยคนเฒ่าคนแก่ที่นุ่งขาวห่มขาวไปฟังธรรมเช่นเดียวกับย่าของข้าพเจ้าปฏิบัติเมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ น่าเสียดายที่ท่านเสียชีวิตตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุเพียง ๔ ขวบ แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็เชื่อมั่นว่าย่ายังคงคุ้มครองข้าพเจ้าเสมอ แม่เล่าให้ฟังว่า ย่าเป็นคนดุมาก ตีเจ็บ ลูกทุกคนกลัวย่ากันหมด แต่ย่าไม่เคยตีข้าพเจ้าเลย ไม่ว่าข้าพเจ้าจะต้องการสิ่งใด ย่าก็หามาให้ทุกอย่าง ตอนเด็กๆย่านำเอาแมงอี่บึ้ง ซึ่งตัวคล้ายแมงมุมแต่ตัวใหญ่กว่ามาให้ข้าพเจ้ากิน ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้ผีมองไม่เห็น หรือเห็นก็ไม่กล้าทัก ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ว่ามันเป็นเรื่องจริงแค่ไหน แต่ตลอดชีวิตของข้าพเจ้าจนถึงบัดนี้ไม่เคยโดยผีทักมาก่อนเลย


คนรุ่นใหม่อาจจะสงสัยว่าผีทักเป็นอย่างไร มันคือความเชื่อว่า ผีเร่ร่อนทั้งหลายมักจะทักคนที่จิตอ่อนเพื่อให้ผู้นั้นไม่สบายแล้วนำเครื่องเซ่นไปถวาย แถวบ้านข้าพเจ้ามีเมืองเก่าอยู่หลายจุด และหลายจุดเป็นสถานที่ที่เคยมีคนตายโหง เมื่อมีใครป่วยแล้วรักษาไม่หายคนจึงพึ่งพาไสยศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการถามผีหม้อนึ่ง หรือถามเจ้าทรง ซึ่งมักจะได้คำตอบว่าโดนผีทัก และต้องนำเครื่องเซ่นไปถวาย น่าประหลาดใจทีเดียวที่พอทำตาม และให้ปู่จ๋านมาเรียกขวัญแล้วคนที่ป่วยก็มักจะหายเป็นปลิดทิ้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 11 มี.ค. 2018 7:16 pm

WP_20150807_015_resize.jpg
WP_20150807_015_resize.jpg (198.37 KiB) เปิดดู 119233 ครั้ง


เรื่องผีสางนับว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่คู่กับข้าพเจ้ามาตลอดชีวิต ครอบครัวของเราจะนับถือเจ้าที่ และผีปู่ย่า ซึ่งทุกๆประเพณีสำคัญเราจะนำของไปถวายในตอนเช้า ข้าพเจ้าขอเล่าเน้นไปที่ผีปู่ย่า ซึ่งคนล้านนาจะสร้างศาลเล็กๆเอาไว้เป็นศาลประจำตระกูล ความเชื่อเรื่องผีปู่ย่านี้จะให้ความคุ้มครองทุกครอบครัวในตระกูลโดยเฉพาะลูกผู้หญิง หลายครั้งที่ข้าพเจ้ามักจะได้ยินว่าบางคนต้องนำเครื่องเซ่นไปถวายผีปู่ย่าเพราะผิดผี ซึ่งก็เกิดจากการที่มีผู้ชายตระกูลอื่นมาแตะเนื้อต้องตัวทำให้ฝ่ายหญิงในตระกูลด่างพร้อยนั่นเอง ประเพณีล้านนาจึงส่งเสริมให้หญิงสาวทุกคนหวงเนื้อหวงตัว แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบันความเชื่อนี้ค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา บ่อยครั้งเราจึงได้เห็นเลือดเนื้อเชื้อไขชาวล้านนาปฏิบัติอย่างไม่สมควรนัก เหตุนี้ข้าพเจ้ามองว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมาหลายประการ น่าเสียดายกุศโลบายเก่าๆที่เกื้อหนุนสถาบันครอบครัวและช่วยปกป้องเกียรติภูมิของฝ่ายหญิงที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องคร่ำครึ ไม่น่าเชื่อถือ นึกถึงข้อนี้แล้วข้าพเจ้าก็เกิดความสะท้อนใจขึ้นมาทันที นอกจากหมู่บ้านของข้าพเจ้าจะเชื่อถือผีบรรพบุรุษเช่นเดียวกับที่อื่นๆในล้านนาแล้ว ยังมีผีอื่นๆที่ข้าพเจ้าได้ยินเรื่องราวมาตั้งแต่เด็ก เริ่มต้นจากผีซ้าบ้าน หรือผีกะยักษ์ ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่าหมู่บ้านอื่นจะมีซ้าบ้านหรือไม่ แต่ในฐานะหมู่บ้านที่เป็นเมืองเก่าอย่างหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่นั้นมีมานาน ซ้าบ้านประจำหมู่บ้านจะอยู่ทางทิศเหนือสุดและใต้สุดของหมู่บ้าน ในทุกๆวันปีใหม่เมือง แต่ละบ้านจะนำเครื่องเซ่นรวมกันไปถวายท่าน เคยมีอยู่ปีหนึ่งที่ข้าพเจ้านำขนมและห่อนึ่งไปรวมบ้านปู่จ๋านไม่ทัน จึงต้องตามไปที่ “ดงเหนือ” ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของศาลซ้าบ้านเหนือ ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นพิธีกรรมการเซ่นไหว้ซ้าบ้านด้วยตาตนเอง ซ้าบ้านที่ว่านี้ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้าก็คล้ายๆกับอารักษ์หรือเสื้อเมืองที่ปกปักรักษาบ้านเมืองนั่นเอง

ได้เกริ่นเรื่องเมืองเก่าไปบ้างแล้ว หากไม่พูดถึงเลยก็คงจะทำให้ผู้อ่านคาใจอยู่ไม่น้อย ข้าพเจ้าเคยบอกว่าในหมู่บ้านมีโบราณสถานอยู่ประมาณสิบแห่ง บ้างก็อยู่ในที่สาธารณะ บ้างก็อยู่ในบ้านคน แต่จุดที่สำคัญและมีความโดดเด่นกว่าที่อื่นๆ คือ บริเวณหลังบ้านของข้าพเจ้าเยื้องไปทางทิศเหนือ ข้าพเจ้ารู้จักสถานที่นี้มาตั้งแต่เกิด สาเหตุเพราะถูกห้ามไม่ให้ไปเล่นที่นั่น แม่บอกว่าผีกั่นมาก คำว่ากั่นในที่นี้หมายถึงเฮี้ยนมากนั่นเอง บริเวณหลังบ้านข้าพเจ้ามีที่ดินสาธารณะทอดยาวไปทางทิศเหนือ บริเวณนั้นจะมีต้นไผ่ ต้นมะม่วงต้นใหญ่ ต้นฉำฉา และน้ำเหมืองที่มีสภาพเป็นสามแพร่งตรงบริเวณที่เรียกว่า โละ แต่ข้าพเจ้าก็ชอบไปเล่นบริเวณนั้นอยู่ดี เพราะที่นั่นปลาชุมมาก เวลาหน้าฝนน้ำหลากปลาจะเข้าไปหลบอยู่ในบวก บวกที่ว่านี้ไม่ใช่บวกควาย แต่เป็นที่ดินริมแม่น้ำที่ถูกขุดให้ลึกเข้าไปและนำกิ่งไม้ไปทับๆไว้เพื่อให้เป็นที่อยู่ของปลา พอน้ำลดเจ้าของบวกก็จะไปวิดน้ำออกจากบวก จนน้ำแห้งก็ลงไปจับปลา เดิมทีเดียวข้าพเจ้าเคยเข้าใจว่าโละกับจุดที่เป็นเมืองเก่าคือสถานที่เดียวกันเพราะอยู่ติดกันมาก เมื่อโตขึ้นจึงเข้าใจว่า โละ คือบริเวณที่เคยเป็นสนามรบเก่าซึ่งคนในอำเภอพร้าวเคยรบกับพวกเงี้ยว แต่เลือดชาวเมืองพร้าววังหินในฐานะเมืองนักรบของเมืองนครพิงค์ยังเข้มข้น ทำให้พวกเงี้ยวพ่ายแพ้ไปในที่สุด แต่สงครามอย่างไรก็นำพาความเจ็บปวดและความตายมาให้ผู้คนเสมอ ครั้งนั้นทหารเงี้ยวถูกนำไปผูกเชือกแล้วฝ่ายเราก็ขี่ม้าลากศัตรูไปบนพื้นดินที่ดารดาษไปด้วยก้อนหินจนถึงแก่ความตาย หลายชีวิตที่จบลงบริเวณนั้นทำให้โละในยามค่ำคืนเต็มไปด้วยความสงัด ใครจะรู้เล่าว่าอีกภพภูมิที่ทับซ้อนกับโลกมนุษย์กำลังดำเนินไปอย่างไร


ข้าพเจ้าย้อนคิดถึงความหลังพบว่า ข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบไปที่โละเท่าใดนัก จะหลีกเลี่ยงทุกครั้งที่จะต้องเดินผ่าน ตรงข้ามกับเมืองเก่า ข้าพเจ้ามักจะไปเล่นน้ำบริเวณนั้นอยู่เสมอ หากเล่าให้แม่ฟังท่านคงตกใจ เพราะข้าพเจ้าเคยไปเล่นที่นั่นคนเดียวอยู่บ่อยๆ บริเวณนั้นช่างร่มรื่น สงบ และสายน้ำที่ไหลรินก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกดีได้อย่างประหลาด บริเวณเมืองเก่าแห่งนี้เคยมีกรุพระแตกอยู่ ๒ กรุ ทำให้คนรุ่นปู่รุ่นตาได้พระเครื่องโบราณไปอยู่หลายองค์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือพระพุทธรูปองค์ใหญ่สมัยเชียงแสน อันได้แก่


พระสิงห์สาม พระฝนแสนห่า พระเจ้าแสนแซ่ ส่วนพระพุทธรูปอีกองค์นั้นข้าพเจ้าไม่รู้ว่าชื่ออะไร เนื่องจากปัจจุบันท่านได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดประจำหมู่บ้านอื่น ซึ่งคนรุ่นเก่าเล่าว่าที่ท่านได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนั้นมิใช่ความประสงค์ของคนในหมู่บ้าน แต่เป็นเพราะไม่สามารถยกองค์ท่านขึ้นได้ ทั้งๆที่องค์ท่านก็ไม่ใหญ่นัก แต่เมื่อคนจากหมู่บ้านอื่นนำธูปเทียนมาขออัญเชิญท่านไปกลับยกขึ้นได้สบาย ทุกคนจึงลงความเห็นว่าคงจะเป็นความประสงค์ของท่าน จึงเนรมิตให้เห็นประจักษ์ต่อหน้าคนทั้งหลายเช่นนั้น


เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็ก บริเวณเมืองเก่าจะมีเจดีย์ปรากฏอยู่องค์หนึ่ง และมีต้นไม้อันมีลักษณะประหลาดอยู่คู่กัน ๒ ต้น คนในหมู่บ้านจะเรียกที่นี่ว่า วัดห่าง สาเหตุคงเป็นเพราะเมื่อพบโบราณสถานทุกคนมักจะเข้าใจว่าเป็นวัดเหมือนกันหมด ทว่าข้าพเจ้ากลับได้รับรู้ในภายหลังว่าแท้จริงแล้วบริเวณนั้นไม่ได้มีแค่เพียงวัดที่ชื่อ วัดดงพญาปั๋น เท่านั้น แต่เป็นที่ตั้งของวังเก่า เมืองแห่งตำนานธรณีสูบ อนิรันดร์กาล อีกด้วย


เมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา เจ้าเข็มคำเสด็จจากเมืองจันทน์ มาถึงบริเวณที่ราบลุ่มภายใต้อ้อมกอดขุนเขาจึงคิดสร้างบ้านแปงเมือง จนเกิดเมืองอันยิ่งใหญ่ชื่อ อนิรันดร์กาล ซึ่งเป็นศูนย์รวมความเจริญรุ่งเรืองทุกด้านของแถบนั้น เจ้าเข็มคำทรงมีมเหสีพระนามว่าพระนางอมิตตา และมีพระราชธิดาพระองค์เดียวคือ องค์หญิงอมรา เมื่อเกิดความรุ่งเรืองถึงขีดสุด ความเสื่อมก็มาถึง ชาวเมืองอนิรันดร์กาลเกิดการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น รบราฆ่าฟันกันเหมือนผักปลา จนบ้านเมืองร้อนเป็นไฟ เทวดาฟ้าดิน แถนอินทร์ที่ปกปักรักษาเมืองจึงเกิดพิโรธ บ้านเมืองร้อนร้าย แผ่นดินแยก เมืองทั้งเมืองจึงล่มสลายกลายเป็นเมืองที่อยู่ใต้พิภพมานานนับพันปี


ปัจจุบันบริเวณที่เคยเป็นเมืองอนิรันดร์กาลนั้นไม่หลงเหลือซากใดๆให้เห็นเลย มีเพียงความเชื่อท่ามกลางแมกไม้ตระหง่านเท่านั้น หมู่บ้านแห่งนี้มีวัดห่างประมาณ ๑๐ แห่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งชัดได้ดีว่า ความเจริญรุ่งเรืองในบวรพระพุทธศาสนาเคยเกิดขึ้น ณ ผืนแผ่นดินนี้มานานแสนนาน


อย่างที่ได้เล่าในข้างต้นแล้วว่าบริเวณใกล้ๆเมืองเก่าเป็นน้ำเหมืองที่มีลักษณะสามแพร่ง ตามตำนานบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นแม่น้ำกว้างใหญ่ และเคยเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของคนหลายเชื้อชาติ เรื่องบางเรื่องผูกพันร้อยเกี่ยวกันได้อย่างประหลาด คงขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านว่าจะเลือกเชื่ออย่างไร สำหรับตัวผู้เขียนนั้น สิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ข้าพเจ้าอาจจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแต่ไม่ก็ไม่ลบหลู่ เพราะข้าพเจ้าเชื่อว่า ด้วยประสบการณ์ชีวิตของแต่ละบุคคลย่อมทำให้เกิดมุมมองที่แตกต่างกันออกไป
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 17 มี.ค. 2018 7:02 am

ตอนที่ ๓ เมืองพร้าววังหิน ประวัติศาสตร์เมืองพร้าว

183020_183358481705304_3051997_n.jpg
183020_183358481705304_3051997_n.jpg (80.56 KiB) เปิดดู 119051 ครั้ง


ด้วยเหตุที่เมืองพร้าวมีเรื่องราว เรื่องเล่า และตำนานมากมายทำให้เมื่อเติบโตขึ้นข้าพเจ้าเกิดความใคร่รู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ผืนแผ่นดินอันเป็นถิ่นกำเนิดได้ผ่านวันเวลามาอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงเริ่มหาข้อมูลจากงานเขียนหลายเล่ม ประกอบกับข้อมูลจากจารึกต่างๆที่ได้อ้างอิงถึงอำเภอพร้าว ทำให้ทราบถึงปูมหลังของถิ่นเกิดโดยสังเขป ดังนี้

อำเภอพร้าว เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีการขุดพบพระพุทธรูป เครื่องมือหิน และโบราณวัตถุทำจากหินและดินเผา ซึ่งเป็นเครื่องยืนว่าดินแดนแห่งนี้เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน ต่อมาในยุคที่มีการบันทึกด้วยการจารึกได้มีการกล่าวถึงอำเภอพร้าวว่า เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าชื่อว่า เมืองพร้าววังหิน เมืองแห่งนักรบของเมืองเชียงใหม่ เดิมทีบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมือง

เวียงหวาย แจ้สัก หรือแช่สัก โดยตำนานเมืองเทิงได้กล่าวอ้างถึงเมืองพร้าวในชื่อ แช่สักเมืองพร้าว ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๒๓ หลังจากขุนฟ้าทำอุบายจนสร้างความแตกแยกให้แก่เมืองหริภุญไชยแล้ว จึงแจ้งแก่พระญามังรายให้ยกทัพมาโจมตีเมืองหริภุญไชย พระญามังรายจึงเกณฑ์ไพร่พลเสด็จออกจากเมืองฝางมาทางเมืองแจ้สัก และหยุดพักประชุมพลกันบริเวณนั้น จากนั้นจึงทรงสร้างเมืองขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ ชื่อว่า เมืองพร้าววังหิน ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ก็ได้มอบหมายให้ ขุนเครือ พระราชโอรสลำดับที่ ๓ สร้างเมืองต่อ ขณะที่พระองค์ก็ทรงโยธาทัพจากไป สอดคล้องกับตำนานเมืองเชียงใหม่ฉบับวัดพระงามที่เขียนชื่อ

เมืองพร้าวด้วยอักษรฝักขามว่า ปาว หมายถึงการหยุดพักทัพ หลังจากสร้างเมืองจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขุนเครือจึงอยู่ครองเมืองพร้าว แต่ไม่นานก็ได้กระทำผิดทางชู้สาวกับพี่สะใภ้ซึ่งเป็นชายาของขุนคราม พระราชโอรสลำดับที่๒ในพญามังราย ทำให้ถูกพระราชบิดาเนรเทศไปครองเมืองนาย

พ.ศ. ๑๘๖๐ ขณะที่พระญามังรายมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พระองค์ได้เสด็จประพาสตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ อสนีบาตตกพระองค์ถึงทิวงคตที่นั่น หมู่เสนาอำมาตย์จึงได้อันเชิญขุนครามซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาไชยสงครามเนื่องจากทรงรบชนะพระยาเบิกแห่งนครเขลางค์มาจัดการพระศพและเสด็จขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาไชยสงครามจึงอภิเษกโอรสองค์ใหญ่ชื่อท้าวแสนภู ซึ่งมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา ครองเมืองเชียงใหม่แทน ส่วนพระองค์นั้นทรงกลับไปครองเมืองเชียงราย เมื่อขุนเครือทรงทราบข่าวพระราชบิดาทิวงคตแล้ว และเจ้าแสนภูได้ครองเมืองแทน จึงออกอุบายว่าจะมาถวายบังคมพระศพ แต่กลับยกพลโยธามาล้อมเมืองเชียงใหม่ ท้าวแสนภูทราบความจึงทรงหลบหนีออกจากเวียงไป ขุนเครือจึงได้ขึ้นเสวยเมืองแทน

ต่อมาเจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าพระอนุชาชิงราชสมบัติก็พิโรธ ในปี พ.ศ.๑๘๖๒ จึงมีรับสั่งให้ ท้าวน้ำท่วม พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ผู้ครองเมืองฝางให้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จนล้อมจับขุนเครือได้ เจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าพระราชโอรสได้รับชัยชนะก็ยกพลโยธามายังเมืองเชียงใหม่ แล้วรับสั่งให้เจ้าน้ำท่วมซึ่งเวลานั้นมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่แทน ส่วนขุนเครือนั้นถูกคุมขังไว้ที่ตำบลทับคันได ตำบลโหล่งขอด ประมาณ ๔ ปี ขุนเครือก็สิ้นพระชนม์ ราวพ.ศ. ๑๘๗๒ คำนวณพระชนมายุ ได้ ๓๗ พรรษา ในการควบคุมขุนเครือนั้นเจ้าพระยาไชยสงครามทรงแต่งตั้งท้าวบุญเรืองเป็นหัวหน้าผู้ควบคุม ต่อมาเมื่อท้าวบุญเรืองเสียชีวิตลงจึงได้สร้างกู่ไว้เป็นที่เก็บอัฐิไว้บริเวณแจ่งเมืองชั้นนอก คือโรงเรียนบ้านแจ่งกู่เรืองในปัจจุบันนั่นเอง

เวียงพร้าววังหิน ถือเป็นเมืองลูกหลวงอันเต็มไปด้วยนักรบผู้มีฝีมือและเป็นที่ประชุมพลของเมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองและมีคนอยู่หนาแน่น มีเนื้อที่มากกว่า ๒๐๐ ไร่ ปัจจุบันมีวัดร้างรอบเมืองหลายวัด อาทิ วัดพระเจ้าล้านทอง วัดในโรงเรียนบ้านหนองปลามัน และวัดที่อยู่ทางทิศตะวันตกของโรงเรียน บริเวณชั้นนอกซึ่งก็คือเขตตัวอำเภอในปัจจุบันก็มีวัดร้างหลายแห่ง เช่น วัดดงต้นกลาง วัดดงต้นปอ วัดดงอาทิตย์ วัดศรีชมภู วัดศรีชุม วัดต้นแก้ว วัดสุพรรณ ฯลฯ ซึ่งสันนิษฐานจากหนังสือพงศาวดารได้ว่า เมืองเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับเมืองพร้าววังหินมากจึงแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดมาเป็นเจ้าผู้ครองนครดังปรากฏรายนามต่อไปนี้ ท้าวลก พระโอรสลำดับที่ ๖ ในพระเจ้าสามฝั่งแกน ซึ่งภายหลังได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ ๙ พระนามว่าพระเจ้าติโลกราช ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ได้ส่งหมื่นมอกลองมาครองเวียงพร้าว หมื่นมอกลองมีความกล้าหาญมาก จนกระทั่งตัวเองตายในที่รบ และได้รับคำชมเชยจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราชได้มีการทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา ระหว่างที่หมื่นมอกลองซึ่งเป็นแม่ทัพได้สั่งพักกองทัพเพื่อกินข้าวเช้า หมื่นแก้วนคร แห่งเมืองเขลางค์ ตะโกนบอกมาว่า “ไล่ข้าศึกทันแล้ว เหตุใดไม่รบ เอาแต่กินข้าว ฉะนั้นจงหลีกทางให้กูไป”

หมื่นมอกลองเกิดความขุ่นใจขึ้นมาทันควันจึงป้อนเหล้าให้ช้างแล้วไสช้างเข้าไปหาหมื่นแก้วนคร และโต้กลับไปว่า “คนอย่างกู ถ้าจะปล่อยให้เด็กน้ำนมยังติดหน้าผากมาตะโกนให้หลีกทางไปดังนี้น่าโมโหนัก” แล้วไสช้างเข้าชนช้างพระยาเชลียง ท่ามกลางไพร่พลชาวกำแพงเพชรและสุโขทัยรวม ๔ เชือก ช้างศึกต่างมารุมชนกับช้างหมื่นมอกลองที่เชิงดอยมะกอกจนงาช้างหมื่นมอกลองหัก แต่ก็ทำให้ช้างของฝ่ายอยุธยาตกดอยไป ๑๓ เชือก พระยาสองแควเห็นท่าไม่ดีจึงทูลให้พระบรมไตรโลกนาถเสด็จหนีไป ว่าแล้วพระยาสองแควก็ตัดสินใจชนช้างกับหมื่นมอกลองด้วยตนเอง ด้วยกำลังช้างงาหักนั้นลดถอยลงเพราะต่อสู้กับช้างอื่นมาหลายตัวแล้ว มันจึงอ่อนแรงตกลงไปข้างดอย พระยาสองแควบอกให้หมื่นมอกลองยอมแพ้ แต่หมื่นมอกลองกลับรักในศักดิ์ศรีไม่ยินยอมทำตาม จึงถูกตัดหัวนำไปถวายพระบรมไตรโลกนาถ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้นำพานทองมารองรับ แล้วตรัสชมว่ากล้าหาญมาก ไม่ควรฆ่า จากนั้นจึงมีรับสั่งให้นำหมื่นมอกลองไปฝัง สิ้นหมื่นมอกลองพระเจ้าติโลกราชก็ได้ส่งผู้ใกล้ชิดขึ้นมาครองเมืองพร้าวตามปรากฏนาม ดังนี้ หมื่นแพง,เจ้ายอดเมือง ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของพระองค์เอง,หมื่นแก่งพร้าว,หมื่นเงิน, หมื่นเวียงพร้าว,พันล่ามบุญ ทั้ง ๖ ท่านล้วนแต่เป็นผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย อีกทั้งยังมีความเก่งกล้าสามารถในด้านการรบเป็นอย่างยิ่ง ดังความในหนังสือ ความดีเมืองเหนือ ของสงวน โชติสุขรัตน์ ความว่า กองทัพหลวงพระบางยกทัพมาตีเมืองน่าน จึงโปรดให้หมื่นเงิน เจ้าเมืองพร้าวเป็นแม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองน่าน และได้สู้รบกับกองทัพหลวงพระบางปรากฏว่ากองทัพหลวงพระบางแตกพ่ายไป และหนังสือพงศาวดารโยนกก็ได้กล่าวถึงตอนที่พระเจ้าติโลกราชจัดทัพใหญ่เพื่อสู้รบกับกองทัพแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระไตรโลกนาถไว้ดังนี้

พระองค์ได้จัดกองทัพไว้เป็น ๕ ทัพ คือ ทัพท้าวบุญเรือง ราชบุตรของพระองค์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงราย, ทัพเจ้ายอดเมือง พระนัดดาของพระองค์ ซึ่งครองเมืองแจ้สัก (เวียงพร้าววังหิน), ทัพหมื่นกึ่งตีนเมือง, ทัพหมื่นหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปาง และทัพพระยาสองแคว เจ้าเมืองพะเยา ทั้ง ๕ ทัพนี้ ได้สู้รบจนทัพหลวงของกรุงศรีอยุธยาล้มตายเป็นจำนวนมากและแตกพ่ายไป

กระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระยอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ ทรงส่ง เพลาสลง ชายเชื้อสายจีนฮ่อ ซึ่งเป็นราชบุตรบุญธรรมของพระองค์ขึ้นมาครองเมืองพร้าว เพลาสลงเป็นที่รังเกียจของไพร่พลเมืองเนื่องจากการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นการผิดราชประเพณี เหล่าข้าราชการชั้นสูงในเมืองพร้าวจึงพร้อมใจกันยึดอำนาจ ต่อมาสมัยที่ พระเมืองแก้ว พระราชโอรสของพระยอดเชียงรายได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ส่งท้าวเชียงตงมาครองเวียงพร้าวอยู่นานถึง ๖ ปี จากนั้นในสมัยที่พระมหาเทวีจีรประภาทรงขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เวลานั้นมีผู้ครองเวียงพร้าวอยู่แล้ว คือ พระยาเวียงพร้าว ซึ่งเข้ามาปกครองตั้งแต่พ.ศ. ๒๐๗๓ จนในปี ๒๑๐๑ ท่านได้พาครอบครัวและไพร่พลหลบหนีจากเวียงพร้าวไปอยู่ที่นครเขลางค์ เนื่องจากมีกองทัพใหญ่จากพม่ายกพลเข้ามาโจมตีอาณาจักรล้านนา ทำให้สิ้นความเป็นเวียงพร้าววังหิน เมืองอันเป็นที่สะสมกำลังพลของเมืองล้านนานับตั้งแต่นั้น ศิลาจารึกของวัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เวลานั้นว่า ในปีเปิกสง้า ศักราช ๙๒๐ ปี มะเมีย สัมฤทธิ์ศก พ.ศ. ๒๑๐๑ เมืองเชียงใหม่เป็นขัณธสีมาของสมเด็จพระมหาธรรมมิกราชาธิราชเจ้าแล้ว ซึ่งเป็นกษัตริย์ของพม่า

หลังถูกโจมตี เมืองพร้าวจึงเกิดความระส่ำระสายไม่เป็นปึกแผ่นและตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเช่นเดียวกับเมืองเชียงใหม่ ต่อมาประมาณสองร้อยกว่าปีเมืองเชียงใหม่ได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสยาม ในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้แต่งตั้งนายบุญมามาเป็นแคว่นปกครองเมืองพร้าว ในปีพ.ศ.๒๔๑๔ แคว่นบุญมาได้ฟื้นฟูเมืองพร้าวพร้อมกับสร้างวัดศรีบุญเรืองกลางเวียง ทำให้ได้รับความดีความชอบแต่งตั้งให้เป็น พระยาเขื่อนเมือง ผู้ครองเมืองพร้าวซึ่งขณะนั้นมีชาวเมืองในปกครองจำนวน ๖,๔๘๒ คน

ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองจากหัวเมืองเป็นแขวง ผู้ดำรงตำแหน่งแขวงเมืองพร้าวคนแรก คือ นายจันทร์ (ไม่ทราบนามสกุล) ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากแขวงเป็นอำเภอ อำเภอพร้าวจึงมีนายอำเภอเป็นผู้บริหารราชการมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » เสาร์ 18 พ.ค. 2019 10:31 pm

ตอนที่ ๔

ประวัติศาสตร์ได้สะท้อนให้เห็นว่าเมืองพร้าวเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแผ่นดินล้านนาและก่อนหน้า วันเวลาอันยาวนานทำให้เมืองพร้าวมีโบราณสถานเก่าแก่อยู่หลายแห่ง ซึ่งข้าพเจ้ามีความผูกพันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยได้ไปร่วมงานประเพณีต่างๆอยู่เสมอ โบราณสถานสำคัญในเมืองพร้าว ได้แก่

พระธาตุดอยนางแล ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าแสนคำลือ พระโอรสลำดับที่ ๗ ในพระเจ้าพรหมมหาราชได้ปกครองเมืองเวียงหินนคร ต่อมาดวงแก้วชะตาเมืองได้สูญหาย พระองค์จึงพิจารณาโทษตนเองโดยการยกเมืองให้แก่พระเจ้าแสนหวีพระอนุชา แล้วเสด็จออกบวชเป็นพระดาบสอยู่บนดอยทางทิศตะวันตกของเมือง ทำให้พระนางศรีสุชาดาผู้เป็นมเหสีทรงห่วงใยพระองค์มาก พระนางจึงบำเพ็ญบารมีเพื่อส่งเสริมพระสวามี จนไม่เสวยพระกระยาหารนานถึง ๑๒ วัน ทำให้พระทัยวายสิ้นพระชนม์อยู่บนหอคอยกลางเมืองวังหินนคร โดยพระเนตรทั้งสองของพระนางไม่หลับ จดจ้องไปยังดอยที่ประทับของพระสวามี หลังจากนั้นพระเจ้าแสนหวีจึงบำเพ็ญพระศพของพระนางและพบว่าพระอัฐิของพระนางเป็นพระธาตุจึงนำไปถวายพระเจ้าแสนคำลือ พระเจ้าแสนคำลือทรงซาบซึ้งในความจงรักภักดีของพระนางจึงทรงสร้างเจดีย์และนำพระอัฐิธาตุของพระนางบรรจุไว้ ต่อมาคนจึงเรียกดอยลูกนั้นว่าดอยนางแล

วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณของอำเภอพร้าว สร้างในสมัยพระราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา มีอายุการสร้างประมาณ ๗๓๐ ปี เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลหลังจากล่มสลายไปตามกาลเวลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ ได้มีการค้นพบวัดพระธาตุดอยเวียง พบพระธาตุซึ่งภายในบรรจุเส้นพระเกศาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นธาตุเจดีย์โบราณที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอพร้าว มีขนาดความกว้างของฐานทั้งสี่ด้านรวม ๓๖ เมตร อดีตใช้เป็นที่พักทัพ ตั้งทัพของกษัตริย์ล้านนาเมื่อครั้งเดินทางผ่านเข้าออกเมืองพร้าว ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยแนวคูค่ายให้เห็นรอบวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล จึงนับว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ และสำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าวอันควรค่าแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาสืบไป


วัดพระธาตุกลางใจเมือง มีความเชื่อว่า ในสมัยพญาแสนคำลือ พระโอรสในพระเจ้าพรหม-มหาราช บริเวณวัดพระธาตุกลางใจเมืองเคยเป็นวัดและวังมาก่อน แต่ตามหลักฐานนั้นอ้างถึง พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ ๖ ว่าทรงสร้างวัดขึ้นแล้วได้ทรงประทานนามว่า “วัดสะดือเมือง” อันหมายถึงจุดศูนย์กลางของเวียงพร้าววังหิน จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๑๐๑ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดพระธาตุสะดือเมืองก็ถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม เดือนเกี๋ยงเหนือ ( เดือน ๑๑) แรม ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาเจ้าศรีวิชัย แห่งสำนักบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ โดยท่านแจ้งว่า วัดนี้ตรงกับที่รุกขเทวดามาบอก ท่านจึงพาคณะศรัทธาค้นตามกองอิฐ และองค์พระธาตุซึ่งพังลงมาตามกาลเวลา ประมาณ ๒ชั่วโมง ท่านก็ได้พบศิลาจารึก เป็นหินสีนิลจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา มีใจความว่า “วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๑๙๒๘ กือนาธรรมมิกราชา วัดนี้ชื่อว่าสะดือเมือง “ และได้พบของมีค่าจำนวนมาก อาทิ ผอบบรรจุพระธาตุ เทียนเงินเทียนทอง ส่วนหินสีนิลนั้นครูบาท่านว่าเป็นของมีค่ามากจึงนำมาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ให้รักษาไว้กับวัด มีระฆังทองปนเงินสลักอักษรขอมโดยรอบ ๑ อัน ระฆังนี้เสียงกังวานมาก ต่อมาท่านจึงสร้างพระธาตุ และโบสถ์ พร้อมๆกัน เป็นเวลานานสองเดือนก็เสร็จบริบูรณ์ จึงถวายทานและตั้งชื่อใหม่ว่า วัดพระธาตุกลางใจเมือง ต่อมาหลังจากท่านมรณภาพ ทางคณะกรรมการก็ได้แบ่งอัฐิกระดูกแขนเบื้องขวามาบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุกลางใจเมืองให้เป็นที่สักการบูชาแก่ทุกๆ คน พี่น้องชาวอำเภอพร้าว และอำเภอใกล้เคียงจะมาสรงน้ำพระธาตุ และอัฐิของครูบาเจ้าทุกเดือน ๙ เหนือ ( เดือน ๗) ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นประจำ
ทุกปี ในวันนั้นจะมีการสมโภชตลอดคืน และมีการจุดบอกไฟเป็นพุทธบูชาตลอดวัน


วัดพระเจ้าตนหลวง ในระหว่างปี พ.ศ.๑๙๒๘ พระญากือนาธรรมมิกราชเจ้าได้มีพระราช-ประสงค์ที่จะนำพระธรรมคัมภีร์และพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่เมืองพร้าว ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นวัดสะดือเมืองหรือวัดพระธาตุกลางใจเมืองนั่นเอง เพราะตามจารึกนั้นวัดสะดือเมืองก็สร้างในปี พ.ศ.๑๙๒๘ เช่นเดียวกัน ขบวนเสด็จของพระองค์นั้นเป็นขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคที่ยิ่งใหญ่ มีผู้ตามเสด็จนับหมื่นคน โดยผู้ทำหน้าที่อัญเชิญพระพุทธรูปคือเจ้าน้อยจันต๊ะ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงบริเวณบ้านสบปั๋ง ตำบลแม่ปั๋ง ช้างเผือกซึ่งบรรทุกพระคัมภีร์และพระพุทธรูปได้คุกเข่าลง ไม่ยอมเดินทางต่อ พระญากือนาทรงเห็นเป็นนิมิตหมายอันดีจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น โดยทรงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งบนหลังช้างเอาไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดพระเจ้านั่งช้าง ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเจ้าตนหลวง


วัดพระเจ้าล้านทอง วัดพระเจ้าล้านทองนั่นเองเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าว เนื่องจากสันนิษฐานว่าที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองพร้าววังหินหรือเวียงหวายแต่เดิม ปัจจุบันยังคงมีคูเมืองหลงเหลือให้เห็นอยู่โดยรอบวัด และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองพร้าว อันได้แก่ “ พระเจ้าล้านทอง ”
พระเจ้าล้านทอง ( พระเจ้าล้านตอง ) ถูกขนานนามว่า " พระเจ้าหลวง "เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพร้าววังหินมาช้านานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองสำริด ขนาดหน้าตัก ๑๘๐ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๒๗๔ เซนติเมตร วัดพระเจ้าล้านทองและพระเจ้าล้านทองสร้างขึ้นโดยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ลำดับที่ ๑๒ ในสมัยที่ท้าวเชียงตงเป็นผู้ครองเมืองพร้าววังหิน ต่อมาเมื่อล้านนาเสียเอกราชให้แก่พระเจ้ากรุงหงสาวดีผู้คนหนีออกจากเมือง พระเจ้าล้านทองประดิษฐานอยู่ในเมืองร้างนานถึง ๓๔๙ ปีจึงถูกค้นพบโดยดาบสซึ่งชาวบ้านเรียกว่าปู่กาเลยังยัง วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ พระเจ้าล้านทองได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุตามประกาศกรมศิลปากรในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๒ ตอนที่ ๒


วัดพระธาตุขุนโก๋น เป็นพระธาตุเก่าแก่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองพร้าว พระธาตุแห่งนี้มีมานานจนไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง มีข้อมูลเพียงว่าในอดีตพระธาตุขุนโก๋นมีชื่อว่า พระธาตุเจ้าหัวเมือง เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองเคารพนับถือกันมาก หากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เจ้าเมืองพร้าวจะนิมนต์พระตามวัดต่างๆ และเป็นผู้นำชาวเมืองพร้าวขึ้นไปขอฝน หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และ
พระอาจารย์เนียมเคยมาธุดงค์และภาวนาอยู่ที่นี่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นที่วิหารด้านหน้าพระบรมธาตุเจดีย์
วัดถ้ำดอกคำ เป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร จากนั้นหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ,หลวงปู่สาร,หลวงปู่เทสก์,หลวงปู่อ่อนสี ก็ได้มาร่วมบำเพ็ญเพียรด้วยระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระอาจารย์มั่นได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด ณ วัดแห่งนี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปธุดงค์ยังดอยมะโน


ตำนานถ้ำดอกคำ เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก หรือตำนานพระบาทพระธาตุฉบับพิสดาร เขียนด้วยตัวอักษรไทยยวนภาษาบามีความว่า"พระพุทธเจ้าของเราพร้อมด้วยพระยาอินทร์พระยาอโศก พระอานนท์ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ได้เสด็จไปเทศนาโปรดสัตว์ตามราชธานีน้อยใหญ่ แล้วจึงมาถึงเขตเมืองล้านนา วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังวัดถ้ำดอกคำเพียงพระองค์เดียว ช่วงเวลาเดียวกับที่ยักษ์ผัวเมียแห่งถ้ำหลวงเชียงดาวออกหาอาหารในบริเวณถ้ำดอกคำ ยักษ์สามีเห็นชายผู้หนึ่งมีรูปร่างงามมากนั่งอยู่ในถ้ำ จึงเข้าไปหาเพื่อจะจับกินเป็นอาหาร พอเข้าไปใกล้ พระพุทธองค์ก็ทรงเหาะหนี มันจึงหยิบเอาก้อนผา ขว้างตามหลังไปหลายก้อน โดยไปตกที่ริมปากถ้ำ ๒ ก้อนแต่ไม่ถูกพระองค์พระพุทธเจ้าเลย ยักษ์ตนนั้นจึงมีความเจ็บใจมาก จึงคิดหาอุบายโดยการแปลงร่างเป็นอีกาบินไล่กวด พระพุทธองค์จึงทรงแปลงร่างเป็นตัวหมัดจับอยู่ที่หัวของอีกา อีกาไม่รู้ว่าพระพุทธองค์เสด็จไปอยู่ที่ไหน ก็บินวนเวียนหาอยู่นาน จนหลงเข้าไปในป่าทึบแห่งหนึ่ง ต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านดงกาหลง จนทุกวันนี้ ในที่สุดมันก็ลดทิฐิมานะยอมแพ้ ยกมือไหว้พระพุทธองค์ แล้วเหาะกลับไปยังถ้ำเชียงดาว บอกเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ภรรยา ยักษ์ผู้เป็นภรรยาจึงได้ชวนสามีแต่งดาขันข้าวตอกดอกไม้อันได้แก่ ดอกบัวคำ มาสักการะพระพุทธองค์ ถ้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ถ้ำดอกคำ นับแต่นั้นยักษ์สองผัวเมียก็ตั้งอยู่ในศีลธรรมเรื่อยมา และไม่กินเนื้อกินสัตว์อีกเลย

โบราณสถานสำคัญของเมืองพร้าวมิได้มีเพียงที่กล่าวไว้ในข้างต้น ยังมีสถานที่อีกมากมายอันเป็นสื่อสะท้อนถึงความรุ่งเรืองและเหตุการณ์ในอดีต อาทิ กู่เวียงยิง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขุนเครื่อง พระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระญามังรายถูกธนูยิงจนสิ้นพระชนม์ นอกจากนี้ยังมีพระธาตุผายอง พระธาตุดอยจอมหด

พระธาตุสันยาว วัดป่าอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระธรรมเจดีย์นิมิต ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเมืองพร้าวเป็นเมืองที่ผู้คนตั้งมั่นอยู่ในบวรพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งอดีต ซึ่งนอกจากโบราณสถานที่มีอยู่หลายแห่งแล้ว เมืองพร้าวยังมีพระอริยสงฆ์อันเป็นที่รู้จักและมีศิษยานุศิษย์อยู่ทั่วประเทศไทย ดังจะขอบันทึกผ่านความทรงจำเอาไว้ดังนี้

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระสงฆ์ชื่อดังรูปหนึ่งของประเทศไทย มีคำร่ำลือถึงบุญญานุภาพของท่านมากมาย อาทิ เมื่อครั้งที่ท่านได้นั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้นได้มีนักบินที่ขับเครื่องบินผ่านมาที่อ.พร้าว ได้เห็นท่านในระดับความสูงเดียวกับเครื่องบิน จึงนำไปโจษขานเล่าต่อกันไป จนหนังสือพิมพ์สมัยนั้นนำไปลงข่าวหน้า ๑ หลายฉบับ

paragraph__110_289_resize.jpg
paragraph__110_289_resize.jpg (62.07 KiB) เปิดดู 107927 ครั้ง


หลวงปู่แหวนนั้น เดิมมีนามว่า ญาณ กำเนิดเมื่อ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๐หรือวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุนในตระกลูของช่างตีเหล็ก ณ บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านได้บวชเณรเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ตามคำขอร้องของมารดาและผู้เป็นยายซึ่งขอให้หลวงปู่บวชตลอดชีวิต พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากเด็กชาย ''ญาณ'' เป็นสามเณรแหวนนับแต่นั้นมา หลังจากบวช ๒ ปีหลวงปู่ได้
ฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดบ้านสร้างถ่อ ต.หัวตะพาน จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นเจ้าอาวาส กระทั่งอุปสมบทจึงได้ออกธุดงค์แสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาต่างๆ หลายแห่ง และถวายตนเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตในเวลาต่อมา หลังจากนั้น ในพ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้เข้าพบท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เปลี่ยนจากมหานิกาย มาเป็น ธรรมยุติ และได้รับฉายาใหม่ว่า ''สุจิณโณ'' จากนั้นได้ออกจาริกแสวงบุญต่อ ขณะที่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดอุบลราชธานี มีศิษย์พระอาจารย์มั่น ที่มีอัธยาศัยตรงกัน ๒ ท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม

ปีพ.ศ.๒๔๘๙ หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด พระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากวัดดอยแม่ปั๋งได้เข้ามาดูแลปรนนิบัติ และดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่มีอายุมากแล้ว แต่ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้

ปีพ.ศ.๒๕๐๕ ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ ๗๕ ปี คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดได้ยินเสียงของหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาว่า “จะไปอยู่ด้วยคนนะ” หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวน ผ่านไปอีกสามวันพระอาจารย์หนูก็รับถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่จำวัดอยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาจำวัดที่วัดดอยแม่ปั๋งตั้งแต่วันนั้น

paragraph__102_552_resize.jpg
paragraph__102_552_resize.jpg (102.47 KiB) เปิดดู 107927 ครั้ง


ระหว่างที่หลวงปู่แหวนยังมีชีวิตอยู่นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋งเพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวนอยู่เนืองนิตย์ และครั้งใดที่มีการจัดสร้างสิ่งมงคล พระองค์จะทรงใช้รูปของหลวงปู่แหวน และนำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญเสมอ จึงนับว่าหลวงปู่แหวนเป็นพระสงฆ์องค์แรกในประเทศไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่งเช่นนี้

ครั้นต่อมาหลวงปู่แหวนอาพาธหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาให้หลวงปู่ไปรักษาตัวที่ตึกสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และทรงรับเอาหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ในพระองค์ จนในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ หลวงปู่แหวนจึงละขันธ์อย่างสงบนิ่ง ในเวลา ๒๑.๕๓ น. สิริอายุ ๙๘ ปี ท่านอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์รวม ๗๗ พรรษา


ครูบาอินสม สุมโน นับเป็นพระอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ในอำเภอพร้าวจนตลอดชีวิต แม้ปัจจุบันท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่ร่างกายของท่านกลับไม่มีการเน่าเปื่อย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหายิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาต่อท่านขึ้นอีกหลายเท่าตัว

717kj_resize.jpg
717kj_resize.jpg (104.05 KiB) เปิดดู 107927 ครั้ง


ครูบาอินสม สุมโน เดิมชื่อ อินสม เปราะนาค เกิดวันศุกร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับเดือนเกี๋ยงเหนือขึ้น ๑ ค่ำ ณ บ้านป่าหวาย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๔ คน ครูบาอินสมเป็นลูกคนโต เมื่ออายุได้ ๑๒ ปีได้เข้ามาอยู่เป็นเด็กวัด บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๓ ปี โดยมีท่านครูบาสีธิวิชโยเป็นพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ ต่อมาได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๖๔ มีท่านครูบาสีธิวิชโยเป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาอินสม สุมโน ละขันธุ์เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๖ พรรษา พระราชทานเพลิงศพ พ.ศ.๒๕๔๒

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเคยได้ยินแม่กล่าวถึง พระครูบาคำจันทร์ ธัมมจันโท แห่งวัดท่ามะเกี๋ยง ซึ่งมรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์จนตลอดชีวิต คงจะเป็นจริงดังคำที่พระธรรมมงคลญาณได้กล่าวกับญาติโยมว่า หากต้องการกราบพระอริยสงฆ์ให้ไปภาคเหนือ เพราะมีพระที่บรรลุธรรมอยู่มากมายแต่กลับไม่มีใครรู้เนื่องจากท่านไม่แสดงตน
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » เสาร์ 08 มิ.ย. 2019 11:39 am

นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเคยได้ยินแม่กล่าวถึง พระครูบาคำจันทร์ ธัมมจันโท แห่งวัดท่ามะเกี๋ยง ซึ่งมรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์จนตลอดชีวิต คงจะเป็นจริงดังคำที่พระธรรมมงคลญาณได้กล่าวกับญาติโยมว่า หากต้องการกราบพระอริยสงฆ์ให้ไปภาคเหนือ เพราะมีพระที่บรรลุธรรมอยู่มากมายแต่กลับไม่มีใครรู้เนื่องจากท่านไม่แสดงตน

98050.jpg
98050.jpg (25.07 KiB) เปิดดู 107174 ครั้ง



ชีวิตในวันเด็กของข้าพเจ้าเป็นชีวิตอันเต็มไปด้วยความสุข และผูกพันกับวัดอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากย่าของข้าพเจ้านั้นท่านจะนุ่งขาวห่มขาวไปปฏิบัติธรรมอยู่เสมอ และเมื่อเข้าเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านสันทราย โรงเรียนของข้าพเจ้าก็อยู่ติดกับวัด ทุกๆสัปดาห์ทางโรงเรียนจะพานักเรียนสวดมนต์ในช่วงบ่าย และก่อนวันพระใหญ่ ๑ วัน ทางโรงเรียนก็จะพานักเรียนเดินแถวเข้าไปฟังเทศน์ที่วัดสันทราย ทำให้ข้าพเจ้าซึมซับเอาชีวิตวิถีพุทธไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก


เมื่อกล่าวถึงโรงเรียนบ้านสันทราย ข้าพเจ้าเข้าเรียนที่นี่ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่๑ – ๖ โรงเรียนแห่งนี้มีครูเพียง ๗ คน เป็นโรงเรียนเล็กๆที่มีนักเรียนไม่ถึงร้อยคน บริเวณโรงเรียนเป็นพื้นที่ของป่าช้าเก่า ในสายตาของข้าพเจ้าโรงเรียนเล็กๆนี้น่าอยู่และร่มรื่นมาก ประตูทางเข้าของโรงเรียนติดกับถนนใหญ่ในหมู่บ้าน ทุกเช้าคุณครูจะมายืนอยู่บนสะพานข้ามคลองหน้าโรงเรียน เพื่อให้ทุกคนสวัสดีและตรวจเครื่องแต่งกายก่อน แล้วจึงปล่อยให้นักเรียนแต่ละคนเดินเข้าไปตามถนนโรยกรวดซึ่งสองข้างทางขนาบด้วยต้นซาฮกเกี้ยนที่เจ้าของบ้านแถวนั้นปลูกเป็นรั้ว เมื่อไปถึงโรงเรียนหากยืนมองอยู่ตรงทางเดินจะเห็นสนามหญ้าเขียวขจี มีเสาธงเก่าตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารไม้ชั้นเดียวยกพื้นขึ้นมาประมาณครึ่งเมตร มีบันไดที่เตี้ยแต่กว้างอยู่กึ่งกลางอาคาร ใกล้ๆกันเป็นซุ้มม้านั่งที่มีดอกเฟื่องฟ้าหลากสีเลื้อยคลุมอยู่ทำให้บริเวณนั้นดูสดใสอยู่กระจ่างตา ส่วนด้านซ้ายของสนามคืออาคารก่อด้วยปูนที่มีเสาธงใหม่ที่ใช้ทำพิธีทุกเช้าตั้งอยู่ด้านหน้า อาคารดังกล่าวมีห้องเรียนอยู่เพียง ๒ ห้อง นอกนั้นเป็นห้องร้านค้าสหกรณ์ ห้องพักครู ห้องพยาบาลและห้องสมุด ถัดจากอาคารตึกมาทางทิศใต้เป็นบ้านพักครูที่ไม่มีครูพัก ทางโรงเรียนจึงใช้ด้านล่างเป็นห้องครัวที่ครูและนักเรียนแต่ละชั้นจะสลับกันมาทำอาหารและล้างจานทุกวัน โดยนักเรียนทุกคนจะจ่ายค่าอาหารเพียงแค่มื้อละ ๒ บาท ส่วนข้าวนั้นให้นำมาเอง ถัดจากบ้านพักครูเป็นต้นฉำฉาใหญ่ขนาดหลายคนโอบ อันที่จริงโรงเรียนมีต้นฉำฉาอยู่หลายต้น แต่ข้าพเจ้าชอบต้นที่อยู่หน้าโรงเรียนมากที่สุดเพราะมีโพรงให้เข้าไปเล่นได้ บนต้นฉำฉาจะมีครั่งที่สามารถเก็บไปขายได้และยังเป็นที่อาศัยของกระรอกตัวเล็กๆที่วิ่งเร็วจนไม่เคยไล่จับมันทันสักครั้ง


ทุกๆเช้าเมื่อไปถึงโรงเรียนข้าพเจ้าจะมีหน้าที่พาน้องๆทำเวรและตรวจเวร เวรที่ว่าคือการเก็บเศษขยะตามจุดต่างๆในบริเวณโรงเรียน ข้าพเจ้าชอบเวรอาคารไม้มากที่สุดเพราะแอบลอดเข้าไปเล่นใต้อาคารได้โดยไม่เป็นที่สะดุดตา ที่ไม่ชอบที่สุดคือเวรทำความสะอาดห้องน้ำซึ่งตั้งอยู่หลังอาคารไม้ เพราะทำเวรทีไรต้องถอดถุงเท้าเนื่องจากเปียกน้ำ ใกล้ห้องน้ำด้านซ้ายจะมีเรือนเพาะชำ ส่วนด้านขวาเป็นแปลงเกษตร สำหรับให้พวกเราฝึกขุดดินและขึ้นแปลงเพื่อปลูกผักสวนครัว ดังนั้นทุกวันนักเรียนตัวน้อยๆจะต้องไปดูแลแปลงผักของกลุ่มตนเองรวมทั้งรดน้ำโดยใช้น้ำจากสระใกล้ๆ ในสระจะมีดอกบัวสีชมพูและสีขาวขึ้นอยู่ประปราย ส่วนในน้ำก็มีการเลี้ยงปลานิลเอาไว้ พอถึงปลายปีการศึกษาคุณครูจะปล่อยน้ำออกจากสระ เพื่อให้นักเรียนชายช่วยกันลงไปงม แต่นักเรียนหญิงอย่างข้าพเจ้าไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปจับปลาด้วย ทั้งๆที่ข้าพเจ้านั้นเป็นนักจับปลาตัวยง เนื่องจากน้ำเหมืองข้างบ้านของข้าพเจ้านั้นมีการนำไม้ไปปักเอาไว้ไม่ให้ดินพังทลาย ทำให้ด้านในเป็นโพรงจึงมีปลาหลายชนิดเข้าไปอาศัยอยู่ ช่วงน้ำแห้งทีไรข้าพเจ้าและเพื่อนๆจะลงไปเดินช้าๆ แล้วใช้สองมือยื่นเข้าไปในโพรง ตีโอบมือเข้ามาหากัน ทำให้ได้ปลาไปให้แม่ทำอาหารอยู่เป็นประจำ แต่วิธีการโปรดของข้าพเจ้าคือการ ตกจ๋ำ หรือยกยอ โดยช่วงน้ำแห้งฝูงปลาซิวจะพากันว่ายทวนน้ำขึ้นมาที่ฝาย ข้าพเจ้าก็จะนำยอไปวางดักไว้ พอเห็นมันขึ้นมาก็ใช้เท้ากวาดต้อนให้มันเข้าไปในยอก่อนจะยกขึ้น จึงได้ปลาซิวมาทำปลาแอ็บซึ่งเป็นอาหารโปรดอยู่เนืองๆ


ชีวิตในวัยเด็กของข้าพเจ้านั้นก็เหมือนเด็กบ้านนอกทั่วไป ที่เวลาพ่อแม่ไม่อยู่ก็อาจจะแอบซนบ้าง บางทีก็ไปส้อนจับเอาลูกอ๊อด ลงไปจับแมงจอนเวลาที่มีการไถนา หรือแอบตามผู้ใหญ่ไปหาเห็ดบนดอย แต่ถ้าพ่อแม่อยู่บ้านก็จะเล่นแบบเด็กผู้หญิงทั่วไป คือนำเอาใบอ่องล็อดมาบีบน้ำสีเขียวผสมน้ำแล้วนำไปตากแดดเพื่อทำเป็นแกงกระด้าง และเอาผักปั๋งมาบี้ผสมน้ำเป็นน้ำหวาน ขายให้กับเพื่อนๆที่มาเล่นด้วย ถ้าวันไหนโชคดีหน่อยก็จะได้ติดตามพ่อกับแม่ไปเก็บใบยาสูบที่แพะ ซึ่งหมายถึงบริเวณดอยก้อม ก็จะได้เล่นพวกของป่า แต่การเดินทางนั้นเหนื่อยมาก เพราะเราต้องเดินเท้าผ่านทุ่งนาไปยังดอยก้อม แต่ที่ข้าพเจ้าชอบที่สุดคือเวลาเดินผ่านถ้ำหมาจั๊กวอ ซึ่งปากถ้ำจะมีดอกไม้ป่าสีสวยห้อยย้อยลงมาเป็นภาพความงามตามธรรมชาติอันน่าประทับใจ เช่นเดียวกับในช่วงฤดูกาลทำนา ถ้าข้าพเจ้าได้ตามพ่อกับแม่ไปนา ข้าพเจ้าจะไปเล่นที่น้ำเหมืองเล็กๆ ๒ สายซึ่งตัดกันเป็นรูปกากบาท โดยสายที่น้ำไหลจากทิศเหนือไปทางทิศใต้นั้นจะมีการนำเอาต้นมะพร้าวผ่าครึ่งแล้วขุดเอาเนื้อไม้ออก ก่อนจะนำไปวางพาดไว้ให้น้ำไหลผ่านไปยังอีกฝั่งหนึ่งของน้ำเหมือง ข้าพเจ้าจึงมักจะเล่นอยู่บนต้นมะพร้าวซึ่งน้ำใสและเย็นมาก ประกอบบริเวณใกล้ๆกันเป็นห้างนาและมีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ ทำให้มีอะไรเล่นหลายอย่าง แต่พ่อแม่จะห้ามไม่ให้ไปเล่นบริเวณเนินดิน เหตุเพราะบริเวณนั้นเคยเป็นที่เผาศพของ พ่อเลี้ยงหม่องแก้ว พ่อบุญธรรมของย่า ข้อนี้ข้าพเจ้าทำตามอย่างเคร่งครัด ทว่าปัจจุบันเนินดินดังกล่าวถูกไถหลบให้หน้าดินเสมอกับพื้นที่อื่นๆเรียบร้อยแล้ว


หลังฤดูกาลทำนาข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสไปที่ทุ่งนาอีกเลย เพราะเกรงจะไปเหยียบย่ำต้นข้าวเสียหาย จวบจนในฤดูเกี่ยวข้าวจึงได้ตามพ่อกับแม่ไปทุ่งนาอีกครั้งในช่วงตีข้าว ซึ่งเมื่อเกี่ยวและมัดข้าวด้วยตอกเป็นฟ่อนๆแล้ว พ่อกับแม่จะนำต้นข้าวไปวางเรียงกันเป็นวงกลมเพื่อรอตี ข้าพเจ้าก็จะไปรอท่านอยู่ที่ห้างนา พอตกเย็นก็จับตั๊กแตนหรือเล่นว่าว แต่ความสนุกมักจะหมดลงขณะอาบน้ำ เหตุเพราะการวิ่งผ่านตอข้าวไปมาทำให้โดนน้ำแล้วแสบขาเหลือประมาณ


หลังจากตีข้าวแล้วจะเป็นการขนข้าวมาใส่หลองข้าว การขนก็จะเป็นการตักข้าวเปลือกใส่กระสอบแล้วใช้ควายเทียมเกวียนขนกลับไป ข้าพเจ้ามักจะตามพ่อไปนั่งเกวียนเล่น แต่ในช่วงที่เกวียนผ่านทุ่งนาที่มีทั้งตอข้าวและคันนาก็ทำเอาหัวสั่นหัวคลอนมิใช่เล่น หลังจากหมดฤดูกาลเกี่ยวข้าวก็จะเป็นการปลูกถั่วเหลือง หลังจากนั้นก็ถือเป็นช่วงพักผ่อนของทุกคน เช่นเดียวกับแม่ของข้าพเจ้าที่มีหน้าที่เพียงทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆ เมื่อเสร็จกิจทั้งปวงแล้ว แม่มักจะพาข้าพเจ้าซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปบ้านยายที่หมู่บ้านสันผักฮี้ ครอบครัวของแม่นามสกุล พรมปัญญา ตากับยายมีลูกทั้งหมด ๙ คน ส่วนใหญ่จะปลูกบ้านอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงมีลูกพี่ลูกน้องเป็นเพื่อนเล่นหลายคน บางวันแม่ก็นอนค้างกับยายเพราะตาของข้าพเจ้านั้นเสียชีวิตตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ ๖ ขวบ ยายจึงอยู่กับน้าคนเล็ก โดยมีลุงอีกคนปลูกบ้านอยู่ในเขตรั้วเดียวกัน ช่วงใดที่แม่หายไปนานๆยายจะเดินเท้าจากบ้านเป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร เพื่อไปค้างกับครอบครัวของข้าพเจ้า ดังนั้นเพื่อไม่ให้ยายลำบาก แม่จึงมักจะพาข้าพเจ้ามาอยู่ปรนนิบัติท่านให้หายคิดถึง การใช้ชีวิตอยู่บ้านยายก็ไม่แตกต่างจากบ้านตนเองนัก เนื่องจากข้าพเจ้าคุ้นเคยกับคนในหมู่บ้านแห่งนี้และร่วมกิจกรรมกับคนในหมู่บ้านอยู่เนืองๆ


บ้านสันผักฮี้ ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่เดิมเป็นชุมชนของชาวไทยลื้อมีชื่อเรียกว่าบ้านสันแก่วงค์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ๓ ต้น มีนายแสนอินตาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เมื่อตั้งชุมชนแล้วได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง เล่ากันว่าขณะที่ชาวบ้านขุดบ่อน้ำไว้บริโภคในที่ตั้งวัด ขุดลึก ๓ เมตรพบตาน้ำมีเต่าอาศัยอยู่ จึงตั้งชื่อว่า “ วัดบ่อเต่า” มีโบราณสถานวัดร้าง ๔ แห่ง คือ ที่ตั้งวัดบ่อเต่าปัจจุบัน เป็นวัดที่
ครูบาศรีมรรย์ ยโสธโร เกจิดังเป็นเจ้าอาวาสมาอย่างยาวนาน ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ด้วยอายุ ๘๖ ปี ๘๑ พรรษา วัดสันผักฮี้หรือกู่หนานคำและวัดร้างไม่ทราบชื่ออีก ๒ แห่ง สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดเดียวกับมีการเคลื่อนย้ายชุมชนไปมาในบริเวณใกล้เคียง


ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นเด็กนั้น การเดินทางไปตัวเมืองเชียงใหม่เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ดังนั้นเมื่อขาดเหลือสิ่งใด กาดเมืองพร้าว จึงเป็นสถานที่แห่งเดียวที่ครอบครัวเรานึกถึง กาดเมืองพร้าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวอำเภอ เป็นกาดที่ใหญ่มากในสายตาของข้าพเจ้า เพราะเมื่อเทียบกับกาดสันปงและกาดบ้านดงที่พ่อปันซึ่งเป็นน้องของปู่มักจะพาข้าพเจ้าซ้อนท้ายจักรยานไปซื้อขนมตอนเช้าแล้ว กาดพร้าวเป็นความตื่นตาตื่นใจแก่ข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าจะมีโอกาสตามพ่อหรือแม่ไปกาดพร้าวในช่วงใกล้วันสำคัญ เพื่อหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ พอซื้อเสร็จท่านก็จะพาแวะไปที่รถเข็นขายน้ำแข็งไสซึ่งเมนูที่ข้าพเจ้าชอบกินมากที่สุดคือ นมเย็น ซึ่งเป็นนมเย็นทรงเครื่องเหมือนรวมมิตร รสชาติหอมหวานอร่อยเหลือเกิน

ในอ้อมกอดป่าเขานั้นความบันเทิงที่ใกล้ตัวที่สุด คือ โทรทัศน์ ซึ่งในหมู่บ้านหนึ่งจะมีแค่ไม่กี่เครื่อง เป็นโทรทัศน์ขาวดำ และเมื่อไม่มีไฟฟ้าใช้จึงต้องใช้เครื่องปั่นไฟ ตกกลางคืนเจ้าของจะเปิดไว้โดยไม่หวง ใครอยากดูก็พากันเอาเสื่อไปนั่งดูได้ นอกจากนี้ความบันเทิงอีกอย่างของคนพร้าวคือการดูภาพยนตร์ สมัยนั้นมีโรงหนังเมืองทองรามาตั้งอยู่บริเวณเทศบาลตำบลเวียงในปัจจุบัน ภายหลังจึงมีโรงหนังแยกออกไปตามตำบลต่างๆ ในส่วนของตำบลสันทรายนั้นโรงหนังจะอยู่ในบริเวณวัดสันทราย โรงหนังของเราไม่ได้หรูหราเหมือนปัจจุบัน เป็นบริเวณโล่ง ไม่มีหลังคา และมีม้านั่งเรียงรายให้ชมเท่านั้น วันใดฝนตกก็ยกเลิกการฉาย แต่ถึงจะลำบากอย่างไรพวกเราก็มีความสุขตามอัตภาพ พอใจกับสิ่งที่ตนมี

ทั้งหมดนี้คือประสบการณ์ชีวิตที่ทับซ้อนอยู่ในความทรงจำของลูกชาวนาอย่างข้าพเจ้า ซึ่งเมื่อนึกถึงคราใดก็สุขใจครานั้น แม้เวลานี้ข้าพเจ้าจะอยู่ไกลบ้านแต่ก็ยังจำทุกซอกทุกมุมของเมืองพร้าวได้เสมอ จำถ้ำดอกคำ ถ้ำผาแดง น้ำตกม่อนหินไหล น้ำตกห้วยป่าปู น้ำฮู ดอยม่อนล้าน น้ำพุร้อนหนองครก เขื่อนขุนโก๋น ฯลฯ ได้ทุกอณูพื้นที่ รวมไปถึงยังจำรสชาติอาหารเหนือได้ดี ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเกิด ดังนั้นจึงตั้งใจว่า สักวันหนึ่งข้าพเจ้าจะกลับไปซบไอดิน คืนถิ่นบ้านเฮาอย่างแน่นอน


บรรณานุกรม
พระครูโสภณกิตติญาณ,พระภิกษุ.ประวัติศาสตร์เมืองพร้าว.เชียงใหม่
อนุ เนินหาด.อดีตเมืองพร้าว(สังคมเชียงใหม่ เล่มที่ ๒๑).เชียงใหม่:วนิดาเพลส,๒๕๒๑
สรัสวดี อ๋องสกุล.ประวัติศาสตร์ล้านนา.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์อมรินทร์,๒๕๕๒
ข้อมูลจาก วัฒนธรรมอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
คัมภีร์ตำนานพระบาทพระธาตุ
เว็บไซต์ภาษาสยาม,เว็บไซต์วิกิพีเดีย
คำบอกเล่าของพระธีรศักดิ์ กาวิโล ,พระบุญศิริชัย กิติวงค์
คำบอกเล่าของชาวบ้านศรีค้ำ ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย admin » จันทร์ 21 ต.ค. 2019 10:25 pm

วันเดือนเป็ง สิบสองเป็ง หรือที่ทางภาคกลางเรียกว่า วันชิงเปรต..(ขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบ) ทางเหนือเราก็เป็นวันปล่อยผีเหมือนกัน ต่างกันแค่ของเราเป็นเดือนสิบสอง เพราะเดือนล้านนาจะเร็วกว่าเดือนไทย ๒ เดือน

122.jpg
122.jpg (109.16 KiB) เปิดดู 103206 ครั้ง


ในภาพคือจุดที่เป็นเมืองเก่าในหมู่บ้านของเราเอง ก็เมืองเก่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขียน ตราบสิ้นอสงไขย นั่นแหละ เชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นเมืองและวัดเก่าที่มีดวงวิญญาณมากมายเพราะเป็นเมืองล่ม ธรณีสูบ ทุกปีไม่เคยได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณเหล่านี้ แต่ปีนี้ญาติผู้ใหญ่ของเราเพิ่งเสีย วันสิบสองเป็ง (๑๓ กันยายน ๒๕๖๒) น้าจึงอยากทำบุญและนิมนต์พระมาสวดอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณเมืองเก่าแห่งนี้ด้วย จะได้ปลดปล่อยวิญญาณที่ถูกจองจำไว้ด้วยบ่วงกรรม

121.jpg
121.jpg (127.44 KiB) เปิดดู 103206 ครั้ง


"สิบสองเป็ง" (ประเพณีปล่อยผี ปล่อยเปรต)
วันปล่อยผีของล้านนาคือวัน ๑๒ เป็ง ซึ่งวันนี้ชาวล้านนานิยมทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บรรพบุรุษของตน คือ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีนี้เรียกกันในแต่ละท้องถิ่นก็มีชื่อแตกต่างกันไป บางจังหวัดในล้านนาเรียกประเพณีอุทิศหาผีตายบ้าง เรียกประเวณีเดือนสิบสองบ้าง เรียกประเวณีปล่อยผีปล่อยเปรต ตรงกับของภาคกลางว่า “ตรุษสารท” ปักษ์ใต้ เรียกว่า ประเพณีเดือนสิบชิงเปรต และ ทางภาคอีสานก็คือ ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ประเพณีที่กล่าวมานี้ โดยความหมายและจุดประสงค์เป็นอันเดียวกัน ต่างกันด้วยวิธีการทำตามจารีตประเพณีที่เคย ทำมาในท้องถิ่นของตน สำหรับการอุทิศหาผู้ตายของล้านนา สัมภเวสีต่างๆ เรียกว่า บุพเปรตพลี ประเพณีสืบต่อกันมาเนื่องในการอุทิศกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ที่ตายไปแล้ว

ในวันเดือน ๑๒ เหนือ ขึ้น ๑ ค่ำถึงเดือนแรม ๑๔ ค่ำนั้น พระยายมราชได้ปล่อยวิญญาณสัตว์ ผู้ตายจะกลับมาสู่เมืองมนุษย์เพื่อขอรับเอาส่วนบุญกุศลจากญาติพี่น้องลูกหลานเพื่อให้พ้นจากภาวะแห่งเปรตอสุรกายทั้งหลาย ดังนั้นการปฏิบัติประเพณีก็ด้วยความกตัญญู ต้องการให้บุคคลผู้เป็นที่รักพบกับความสุขในปรโลก

123.jpg
123.jpg (115.39 KiB) เปิดดู 103206 ครั้ง
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย admin » จันทร์ 21 ต.ค. 2019 10:41 pm

"ประตูเมืองเก่าพร้าววังหิน" ด้านหน้าวัดพระเจ้าล้านทอง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

IMG_20191020_170648_629.jpg
IMG_20191020_170648_629.jpg (104.31 KiB) เปิดดู 103206 ครั้ง


ที่แห่งนี้เริ่มอยู่ในใจเราตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น ทางโรงเรียนพร้าววิทยาคมพาไปพัฒนาวัดพระเจ้าล้านทอง ได้ทราบประวัติว่าเป็นเมืองเก่าของเมืองพร้าว เราก็เดินๆไปดูจนเห็นแนวคูเมืองซึ่งเป็นที่ดินของชาวบ้าน ตอนนั้นอิฐเก่าๆยังมีให้เห็น

เมื่อโตขึ้นจึงทราบว่า 'เมืองพร้าววังหิน' สร้างตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๒๔ โดยพญามังราย (ก่อนหน้าก็เป็นเมืองแจ้สัก) มีพระพุทธรูปสำคัญคือพระเจ้าล้านทอง สร้างโดยพระเมืองเกษเกล้า พ.ศ.๒๐๖๙

กลับบ้านทีไรเราไปกราบพระเจ้าล้านทองอยู่เป็นประจำ มีคนบ่นให้ฟังว่านักท่องเที่ยวมักจะมากราบพระเจ้าล้านทองและมาดูเมืองเก่า ก็ได้กราบพระตามตั้งใจ ทว่าความเป็นเมืองเก่านั้นไม่หลงเหลือ..จึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจ แอบเสียดายลึกๆ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีหน้าที่

บัดนี้ทางวัดได้สร้างประตูเมืองเก่าพร้าววังหินขึ้น เป็นประตูไม้มีบันไดขึ้นไปด้านบนเหมือนประตูเมืองโบราณ มีปืนใหญ่อยู่หัวท้าย สวยงาม เราประทับใจมาก มองว่าสะท้อนความเป็นเมืองเก่าได้เป็นอย่างดี แต่ผู้หญิงไม่ควรขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนนะคะ พระสงฆ์ คนเฒ่าคนแก่ต้องผ่านประตูนี้เข้าไป..มันไม่ดี
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า

โพสต์โดย admin » อาทิตย์ 17 พ.ย. 2019 2:18 pm

ดงใต้..ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆบ้านเพียงพอ
35678 (1)_resize.jpg
35678 (1)_resize.jpg (70.43 KiB) เปิดดู 102054 ครั้ง


ดงใต้เป็นจุดที่มีต้นไม้ใหญ่หนาทึบโดยมีทุ่งนาอยู่ล้อมรอบ ถนนเข้าบ้านเพียงพอจะเป็นถนนดินสายเล็กๆที่เวลาเข้าจะต้องผ่านดงใต้เสมอ และเราจะได้เห็นฝูงนกบินจากทุ่งนาเข้าไปในดง ช่วงเย็นจะมีเสียงนกร้องดังลั่น ราวกับมันกำลังคุยกันอย่างสนุกสนาน

ดงใต้เป็นศูนย์รวมความเชื่อของหมู่บ้าน บ้านเรามีดงเหนือกับดงใต้ เชื่อกันว่ามีผีกะยักษ์ที่ปกปักษ์รักษาหมู่บ้านอาศัยอยู่ที่นั่น ในวันเน่าปีใหม่เมืองหลังห่อขนม ห่อนึ่ง เสร็จแล้ว ทุกครอบครัวจะนำของไปดำหัวที่ดง โดยเอาของไปฮอมไว้ที่บ้านปู่จ๋าน หรือคนเฒ่าคนแก่ที่รู้ฮีตฮอย แล้วท่านจะนำไปถวายที่ดงอีกต่อหนึ่ง

ในหมู่บ้านเรามีโบราณสถานเก่าแก่สิบกว่าแห่ง เราวิเคราะห์เองว่าที่นี่น่าจะเคยเป็นเมืองใหญ่ เนื่องจากมีจุดหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นวังเก่า ประกอบกับดงเหนือ - ดงใต้นี้เป็นประหนึ่งที่อยู่ของอารักษ์รักษาเมือง เหมือนที่เมืองสำคัญๆในล้านนามี เสียดายที่ 'บ้านสันทราย' ไม่เหลือซากโบราณให้เห็นเลย ลูกหลานจึงไม่รู้ความเป็นมา ฝากวัฒนธรรมอำเภอพร้าวด้วยนะคะ เชื่อว่าถ้ามีการขุดค้น..ในดินจะต้องมีฐานอิฐให้เห็นอยู่บ้าง เผื่อมีโอกาสบูรณะเป็นมิ่งขวัญเมืองพร้าวต่อไป #เมืองก่อนประวัติศาสตร์
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

Re: เรื่องเล่าของน้ำฟ้า.."คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

โพสต์โดย admin » พฤหัสฯ. 22 ก.ย. 2022 6:11 am

"คุณแม่ วัยรุ่นยุค๙๐"

922_3.jpg
922_3.jpg (72.06 KiB) เปิดดู 61577 ครั้ง



บทนำ


คำแก้วที่รักของแม่ ตาส่งภาพลูกยืนเกาะคอกดูวัวในสวนบ้านเพียงพอของเราแล้วแม่อดที่จะยิ้มออกมาไม่ได้ แม่อยากให้ลูกได้สัมผัสธรรมชาติแบบนี้ ให้ลูกได้ซึมซับสังคมชนบทเอาไว้ให้เต็มหัวใจ ให้สูดลมหายใจแห่งธรรมชาติเอาไว้ให้เต็มปอด แน่นอน..เติบโตมาลูกต้องอยู่ในสังคมเมือง เพราะอนาคตของลูกต้องไปอีกไกล แต่ลูกเอ๋ย..สังคมในเมืองใหญ่มีแต่ความวุ่นวาย ทำงานแข่งกับเวลา ผู้คนมากหน้าหลายตา และมีปัญหาหลากหลายรายล้อม ประสบการณ์ของแม่สอนว่า หากลูกสั่งสมความงดงามและอบอุ่นเอาไว้ให้เต็มใจ พื้นฐานความคิดลูกจะเป็นบวก แน่นอนในวันที่โลกเป็นสีเทาลูกจะสามารถดึงความงามนั้นมาเยียวยาหัวใจ สร้างพลังยิ่งใหญ่ให้ฮึดสู้ได้..เหมือนที่แม่เป็น

งานเขียนฉบันนี้แม่จะเขียนเป็นสารคดีเรื่องเล่า ที่แม่จะเล่าให้หนูฟังถึงชีวิตวัยเด็กและเรื่องราวของครอบครัวเรา กับสิ่งที่ลูกไม่เคยได้สัมผัส ชีวิตของวัยรุ่นยุค ๙๐ คือคนที่อายุตั้งแต่ ๑๒ ปีขึ้นไปในช่วงปี ๑๙๙๐-๑๙๙๙ หรือ พ.ศ.๒๕๓๓ - ๒๕๔๒ ยุคที่มีเสน่ห์ กลิ่นอายผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ ยุคที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคอะนาล็อกและดิจิทัล ยุคที่ลูกคงสัมผัสได้แค่เพียงในภาพยนตร์หรือละคร

เอาละ..แม่จะเล่าถึงภาพจำของแม่ ความจำที่ค่อยๆเบ่งบานในความรู้สึก ทว่า สว่างไสว งดงามในความมืดมน

“บ้าน” หลังแรกที่แม่จำได้ เป็นบ้านไม้หลังเล็กกะทัดรัด เรือนไม้ชั้นเดียวยกสูงครึ่งชั้น ตั้งอยู่ใกล้ๆกับบ่อน้ำเก่าของบ้านอุ๊ยหม่อนในเวลานี้ แม่เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆที่มีน้าสาวน้าชายหลายสิบคน ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวใหญ่มาก เดี๋ยวจะค่อยๆเล่าความเป็นมา ตอนนี้ขอพูดถึงชีวิตวัยเด็กก่อน
“บ้าน” หลังแรกในชีวิตของแม่คือบ้านหลังนั้นที่อยู่ติดกับบ้านอุ๊ยหม่อนศรีและอุ๊ยหม่อนต๋า ซึ่งเป็นน้องของอุ๊ยหม่อนดีและอุ๊ยหม่อนทา ท่านทั้งสองเป็นพ่อแม่ของอุ๊ยสมกับอุ๊ยตอง นึกภาพตามนะ หากเป็นรูปสามเหลี่ยม บ้านหม่อนศรีหม่อนต๋าจะอยู่ทิศเหนือ บ้านของแม่จะอยู่ถัดมาทางทิศใต้ ส่วนบ้านอุ๊ยหม่อนดีอุ๊ยหม่อนทาจะอยู่ทางทิศตะวันตกจากบ้านของแม่

บ้านเรามีลำเหมืองไหลผ่าน ทุกวันแม่จะได้ยินเสียงน้ำไหลเบาๆ แทรกเสียงจอแจของอึ่งอ่างและแมลง ตอนนั้นอุ๊ยหม่อนศรีกำลังสร้างบ้านหลังใหม่ จึงทำบ้านพักชั่วคราวเอาไว้ใต้หลองข้าว โดยจะเก็บกระเบื้องดินขอซึ่งใช้มุงหลังคาบ้านหลังเก่าเอาในสวนซึ่งปลูกมะพร้าว ชะอม กล้วย และมันเทศเอาไว้จนเป็นป่ารกชัฏ ดินขอนั่นแม่ชอบมาก จะแอบขโมยเอาหินทุบๆมาเล่นเป็นเบี้ยกับเพื่อนๆ

บ้านอุ๊ยหม่อนดีอุ๊ยหม่อนทาเป็นบ้านไม้สองชั้น ใต้ถุนสูง แบ่งเป็นโซนแบบนี้นะ โซนทิศเหนือจะเป็นชั้นเดียวติดดิน ก่ออิฐบล็อกใหญ่ๆสูงประมาณหนึ่งเมตร ไม่ฉาบ เป็นอิฐเปลือยโล่งๆ ด้านบนเอาไม้ไผมาตีต่อๆกันเป็นผนัง ด้านทิศตะวันตกของโซนนี้คือเตาไฟหรือห้องครัว อันประกอบด้วยเตาอั้งโล่ ที่แม่เรียกติดปากว่า เตาฮังโล ถัดไปทางทิศใต้เป็นที่เก็บโอ่งน้ำ เอาไว้สำหรับใช้ในครัวเรือน บริเวณนี้จะไม่มีหลังคา เวลาฝนตกน้ำฝนจะชะไหลไปทางทิศตะวันตก มีรางรินรับน้ำเอาไว้ด้วย แม่ชอบรางรินนี้มาก เวลาแอบมาเล่นน้ำฝนมันไหลแรงสะใจดี น้ำใช้ที่ว่านี้ถ้าไม่เป็นน้ำฝนก็เป็นน้ำบ่อ คือน้ำที่ตัดขึ้นมาจากบ่อใส่น้ำคุหรือถังน้ำ หาบไม้คานมาเทเก็บไว้ เพราะบ่อน้ำอยู่ห่างจากตัวบ้านหลายเมตร

บ้านโซนทิศใต้เป็นไม้ยกสูง ใต้ถุนจะมีแคร่ไม้หนึ่งตัวสำหรับนั่งเล่น บันไดอยู่ทางทิศใต้สุดของบ้าน ตัวบันใดก่อชีเมนต์สูงขึ้นมาต่อจากบันใดไม้ อุ๊ยหม่อนทำเป็นที่เก็บน้ำสำหรับล้างเท้าเอาไว้ด้วย โดยรอบบันใดจะปลูกไม้ดอกไม้ประดับเอาไว้จนเต็ม ฝีมือของอุ๊ยหม่อนดี ท่านชอบต้นไม้ดอกไม้สวยๆ บริเวณบ้านที่เหลือก็จะปลูกดอกไม้และผลไม้เอาไว้ เว้นแต่บริเวณช่วงบ้านโล่งๆไปจนจรดประตูรั้วติดถนนใหญ่ ซึ่งตอนแม่ยังเล็กๆจะเป็นถนนลูกรัง
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm


ย้อนกลับไปยัง แนะนำนวนิยาย

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน

cron