กู่เวียงยิง บ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

- 2358999.jpg (94.11 KiB) เปิดดู 41856 ครั้ง
หลังจากที่พระญามังรายได้ส่งขุนฟ้าไปเมืองหริภุญชัยแล้ว จึงรับสั่ง ให้ราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่าขุนเครื่อง ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษาให้ไป ครองเมืองเชียงราย ส่วนพระญามังรายครองราชย์สมบัติ ณ เมืองฝาง ฝ่ายขุนเครื่อง ราชโอรส เสด็จไปครองเมืองเชียงรายได้ไม่นานนักอำมาตย์ผู้หนึ่ง มีชื่อว่าขุนใสเวียง ได้กราบทูลยุยงให้คิดกบฎต่อพระบิดา โดยให้ชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงรายเสีย และให้จัดกำลังพลแข็งเมือง
ฝ่ายพระญามังรายทรงทราบ จึงปรารภว่าขุนเครื่องผู้มีบุญน้อยจะมาคิดแย่งราชสมบัติกูผู้เป็นพ่อเช่นนี้ จักละไว้มิได้ จึงมอบให้ขุนอ่องซึ่งเป็นทหารผู้ไว้วางพระราชหฤทัยผู้หนึ่ง ไปเชิญขุนเครื่องผู้โอรสให้มาเฝ้าที่เมืองฝาง ในขณะที่ราชโอรสเดินทางจากเมืองเชียงราย จะมาเฝ้าพระราชบิดาตามคำบอกเล่าของขุนอ่อง ท่านพระญามังรายจึงมอบให้ทหารผู้แม่นธนูได้ดักยิงที่กลางทางด้วยธนูอาบยาพิษ ทำให้ขุนเครืองสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง ณ ที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอพร้าว
บริเวณนั้นพระญามังรายได้เสด็จมาจัดการพระศพราชโอรสและทรงให้สถาปนา บริเวณ ที่ขุนเครื่องถูกปลงพระชนม์นั้นเป็นอารามเรียกว่า วัดเวียงยิง มีซากเจดีย์ร้างอยู่แห่งหนึ่งอยู่บนเนินเขาที่บ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดเชียงยิง หรือวัดกู่ยิง(วัดสันป่าเหียง) ครั้นแล้วก็โปรดให้อัญเชิญพระศพไปฌาปนกิจเสียที่เมืองเชียงราย

- 872509.jpg (103.4 KiB) เปิดดู 41856 ครั้ง
วัดเวียงยิง ตั้งอยู่บริเวณสันป่าเหียง และทำการสร้างวัดบริเวณพระธาตุกู่เวียงยิง ด้วยลักษณะที่ตั้งอยู่สูงเกินไป ประกอบกับได้เกิดฟ้าผ่าบนยอดฉัตรพระธาตุบ่อยครั้งจนเป็นเหตุให้ยอดฉัตรเจดีย์พังทลายลงมา จนชาวบ้านต่างเรียกขานว่า “ธาตุกุด” ต่อมาได้เกิดปัญหาภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำเพราะลักษณะการตั้งวัดอยู่ในที่สูง ชาวบ้านและเจ้าอาวาสจึงได้ย้ายวัดลงมาตั้ง บริเวณที่แห่งใหม่ ลงมาอีก ประมาณ ๑๐๐ เมตร หรือวัดทุ่งน้อยในปัจจุบัน นับจากนั้นเป็นต้นมาพระธาตุกู่เวียงยิงจึงถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ถูกปกคลุมด้วยวัชพืช ในวัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ ๒ องค์มีลักษณะสวยงามมาก ขณะนี้เก็บไว้ที่ วัดป่าลัน ตำบลบ้านโป่ง และที่วัดหนองอ้อ ตำบลเวียง เรียกว่า พระฝนแสนห่า
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ อาจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว นักประวัติศาสตร์ และกรมศิลปากรเข้าไปตรวจสอบ และขุดค้นเพิ่มเติม พบว่านอกจากองค์เจดีย์แล้ว ยังพบซากฐานอุโบสถ ซากวิหาร และประตูวัดทั้งสี่ด้าน น่าสนใจว่า ฐานอุโบสถและวิหารดังกล่าวตอนนี้ยังมีอยู่ไหม
ข้อมูล : ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว , เวียงพร้าววังหิน