พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

บทกวี โคลง กลอน ต่างๆ

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 10 ธ.ค. 2015 10:54 am

lanna_Dara_Rasmi_04.jpg
lanna_Dara_Rasmi_04.jpg (119.42 KiB) เปิดดู 16125 ครั้ง


....ดวงดาราระยิบรัศมี
เหนือฟากฟ้าราตรีศรีเชียงใหม่
ดวงดาวพร่างสว่างจ้าค่าวิไล
เปล่งแสงนวลอำไพทั่วล้านนา

....ซ้องพระบารมีพระแม่แก้ว
อันงามพร้อมเพริศแพร้วหนึ่งในหล้า
องค์แม่เจ้าศูนย์รวมใจแห่งศรัทธา
พระเกียรติเกริกก้องฟ้าตรัยสากล

....ทรงปลูกฝังหยั่งลึกสำนึกรัก
ให้ประจักษ์แจ่มแจ้งทุกแห่งหน
ทั่วแหล่งหล้าล้านนาซึ้งกมล
จารึกในใจชนล้นทวี

....น้อมดวงจิตรวมดวงใจแห่งศรัทธา
ตามเบื้องบาทเจ้าดารารัศมี
ร่วมรักษาวัฒนธรรมประเพณี
คู่วิถีภูมิปัญญาล้านนาเทอญ

(น้ำฟ้า ประพันธ์)
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:10 pm

untitled.png
untitled.png (51.13 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าหญิงดารารัศมี" พระนามลำลองเรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า "เจ้าอึ่ง" ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา (หากนับทางเหนือ เป็นเดือน ๑๐) หรือตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อเวลา ๐๐.๓๐ น.เศษ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง นครเชียงใหม่ (ที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม)

เป็นพระราชธิดาใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ กับ แม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี ซึ่งแม่เจ้าเทพไกรสรนั้นทรงเป็นพระราชธิดาใน พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ และพระมหาเทวี เจ้าหญิงดารารัศมี มีพระพี่นางร่วมพระโสทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าหญิงจันทรโสภา

เมื่อทรงพระเยาว์ เจ้าหญิงดารารัศมีทรงพระอักษรทั้งฝ่ายล้านนา สยาม และภาษาอังกฤษ จนแตกฉาน ทั้งยังได้ทรงศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆจนนับได้ว่าทรงเป็นผู้รอบรู้ในด้านขนบประเพณีอันเก่าแก่เหล่านั้น ดีที่สุดคนหนึ่งทีเดียว ในด้านการกีฬานั้นเล่า ก็ทรงโปรดการทรงม้าเป็นอย่างยิ่ง


เหตุแห่งการเสด็จเข้าวังหลวง

หลังจาก อังกฤษ ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครอง พม่าแล้ว อังกฤษได้พยายามขยายอิทธิพลเข้ามายังนครเชียงใหม่และอาณาจักรหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดย สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ได้ส่งราชทูตมาทูลขอ เจ้าหญิงดารารัศมี พระราชธิดาพระองค์เล็กอันประสูติแต่แม่เจ้าเทพไกรสรมหาเทวีใน พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม

ในเวลานั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงมีรับสั่งกราบทูลตอบกลับไปว่าอย่างไร โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระองค์นั้นได้พระราชทานเงื่อนไขว่า หากยกเจ้าหญิงดารารัศมีให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระนางเจ้าฯ แล้วไซร้ เจ้าหญิงดารารัศมีจะได้ทรงครองพระอิสริยยศในทางราชการเป็นภาษาอังกฤษว่า "Princess Of Siam" เทียบเท่ากับพระราชโอรส-พระราชธิดาของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามทุกประการ และเวียงพิงค์เชียงใหม่จะได้มีอำนาจมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลว่า หากเจ้าหญิงดารารัศมีได้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมในสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งอังกฤษแล้ว นครเชียงใหม่อาจจะต้องกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษไป

เนื่องจากในสมัยนั้นมีการล่าอาณานิคมเป็นเมืองขึ้นตามประเทศต่างๆ แม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดูผิวเผินเพียงแค่เจรจาไมตรี หากมองดูลงไปให้ลึกซึ้งอังกฤษต้องการนครเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง (พม่า แล รัฐฉานหรือ เมิงไต นั่นเอง)

อย่างไรก็ตาม ความดังกล่าวได้ทราบถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร (เวลานั้นดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ) ได้อัญเชิญพระกุณฑล และพระธำมรงค์เพชร ไปพระราชทานเป็นของเฉลิมพระขวัญแก่เจ้าหญิงดารารัศมี นัยว่าเป็นของทรงหมั้นนั่นเอง

รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ฯ พระราชทานเจ้าหญิงดารารัศมีตามแบบอย่างเจ้านายใน "พระบรมราชจักรีวงศ์" เป็นกรณีพิเศษ (แม่เจ้าเทพไกรสรพระมหาเทวี พระราชชนนีได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปในปี ๒๔๒๖)

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ (ตรงกับ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ อัฐศก จุลศักราช ๑๒๔๘) พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้เสด็จลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมในพระราชพิธีลงสรง และสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร เจ้าหญิงดารารัศมีได้โดยเสด็จพระราชบิดาลงมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ด้วย และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ตำแหน่งพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงประทับอยู่ ณ กรุงเทพพระมหานครนับแต่นั้นมา
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:11 pm

K8120501-3.jpg
K8120501-3.jpg (26.42 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


พระราชชายาฯได้รับพระราชทานตำหนักที่ประทับในบริเวณพระบรมมหาราชวังซึ่งต่อมาได้ทรงขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบิดาเพื่อมาต่อเติมพระตำหนักสำหรับให้พระประยูรญาติที่ตามเสด็จไปพักอยู่ด้วย พระราชบิดาได้พระราชทานเงินค่าตอไม้ (ค่าสัมปทานไม้สักในเขตแคว้นล้านนา ซึ่งตอนนั้นถือกันว่าป่าไม้สักทั้งหมดในดินแดนล้านนาเป็นของพระเจ้านครเชียงใหม่ทั้งสิ้น จะยกประทานแก่ผู้ใดก็ได้ ทรงยกผลประโยชน์เป็นค่าสัมปทานประทานพระราชธิดา) เพื่อสร้างพระตำหนักขนาดใหญ่ขึ้นใหม่ในเขตพระราชฐานชั้นใน ในพระบรมมหาราชวังเพื่อเป็นที่ประทับของ เจ้าจอมเจ้าดารารัศมี และข้าราชบริพารในพระองค์ ต่อมาดูเหมือนภายในพระบรมมหาราชวังดูจะคับแคบลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักที่ประทับพระราชทานแก่เจ้าจอมและพระราชวงศ์ในบริเวณพระราชวังสวนดุสิตมีชื่อว่า"สวนฝรั่งกังไส" ในระหว่างที่พระราชชายาเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรกปัจจุบันตำหนักนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว
ตลอดเวลาที่ประทับรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพฯพระราชชายาฯได้อนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาทรงโปรดให้ผู้ที่ติดตามจากเชียงใหม่แต่งกายแบบชาวเหนือ คือนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงและไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งต่างจากการนุ่งโจงกระเบนไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่มของชาววัง แม้แต่ภายในพระตำหนักยังเต็มไปด้วยบรรยากาศล้านนาโปรดให้พูด"คำเมือง" มีอาหารพื้นเมืองรับประทานไม่ขาด แม้กระทั่งการ "อมเหมี้ยง"ซึ่งชาววังเมืองกรุงเห็นเป็นของที่แปลกมาก
พระราชชายาฯทรงเปิดพระทัยรับวัฒนธรรมอื่นด้วยโดยโปรดการทรงม้า โปรดให้มีการเล่นดนตรีไทยและสากล ดำริให้มีการเรียนดนตรีไทยในพระตำหนักทรงตั้งวงเครื่องสายประจำตำหนัก และทรงดนตรีได้หลายอย่าง ทั้งซออู้ ซอด้วง และจะเข้แต่ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมากคือ "จะเข้"ทั้งยังสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งเพิ่งเข้ามาจากต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ทรงสนับสนุนให้พระญาติคือเจ้าเทพกัญญาได้เรียนรู้และกลายเป็นช่างภาพอาชีพหญิงคนแรกของเมืองไทยไปด้วย



ในช่วงแรกที่รับราชการฝ่ายในยังทรงเป็นเพียงเจ้าจอม พระสนม ยังไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี จนกระทั่งปี ๒๔๕๑ ที่เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมีมีพระประสงค์จะเสด็จกลับไปเยือนนครเชียงใหม่ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ขึ้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง ดำรงอิสริยยศ "พระราชชายา" และดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์จักรีนับแต่นั้น ถึงแม้จะทรงศักดิ์เป็นพระราชชายา แต่กระบวนเสด็จพระราชดำเนินคืนสู่นครเชียงใหม่ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชทานอย่างเต็มตามโบราณราชประเพณีเสมอด้วยทรงครองอิสริยยศ "พระอัครชายาเธอ" ดังปรากฏความตามสำเนาพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดกระบวนเสด็จครั้งนั้นอย่างชัดเจน
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:12 pm

pa000032.jpg
pa000032.jpg (163.98 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


ด้วยการดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย หากแต่แฝงไว้ด้วยพระปรีชาญาณ ความมุ่งมั่น และความเชื่อมั่นในพระองค์ กอปรกับความจงรักภักดีที่ทรงมีต่อพระราชสวามี จึงเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระประสูติกาลพระราชธิดา เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ในคราวนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่ง "เจ้าจอม เจ้าดารารัศมี" ขึ้นที่ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี"

พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี หรือพระนามเรียกขานในหมู่ข้าราชบริพารว่า เสด็จเจ้าน้อย เป็นที่โปรดปรานในพระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา พระธิดาทรงมีพระชันษาเพียง ๓ ปี ๔ เดือน ๑๘ วัน ก็ได้ประชวรและสิ้นพระชนม์ลง เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕

การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาในคราวนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า "ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า"ตามศักดิ์แห่งพระชนนีซึ่งเป็นเจ้าหญิงพระราชธิดาในพระเจ้าประเทศราช เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์"

(เรื่องนี้มีตัวอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ทรงรับเจ้าหญิงคำสุก พระราชธิดาในพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตศิริบุญสาร อาณาจักรลาวล้านช้าง ซึ่งเป็นพระเจ้าประเทศราชเช่นเดียวกันกับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ในครั้งนี้ เป็นบาทบริจาริกาฝ่ายใน ครั้งแรกเจ้าหญิงคำสุกก็ดำรงตำแหน่งเป็นเพียงเจ้าจอม และเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงทองสุกตามลำดับ (ไทยเรียกคำสุกเป็นทองสุก) พระราชธิดาก็ทรงพระยศเป็นเพียงพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี ต่อมาเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงทองสุกสิ้นพระชนม์ ต่อมาไม่นานพระราชธิดาซึ่งยังทรงพระเยาว์นักได้ทรงพลัดตกน้ำที่ท่าราชวรดิฐ แต่ทรงรอดมาได้โดยทรงเกาะแพลูกบวบไว้ได้จึงทรงรอดพ้นอันตรายมาได้ รัชกาลที่ ๑ มีพระราชดำริว่าชะรอยพระราชธิดาพระองค์นี้จะมีบุญญาธิการสูงส่งกว่าพระเจ้าลูกเธออื่นๆ

ทั้งเจ้าจอมมารดาก็ล่วงลับไปก่อน พระราชธิดานั้นเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าประเทศราชพระองค์หนึ่ง พระเกียรติยศสมควรจะยกย่องไว้ในที่เจ้าฟ้าได้ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าพระชนนีคือเจ้าจอมมารดาเจ้าหญิงคำสุกนั้นเป็นพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง เพราะเหตุที่พระมารดาเจ้าฟ้าต้องมีพระยศชั้นพระมเหสีเท่านั้น แต่เนื่องจากเจ้าหญิงคำสุกได้สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียก่อนการสถาปนาพระราชธิดา จึงไม่ได้โปรดให้มีการสถาปนาเจ้าหญิงคำสุกขึ้นเป็นพระมเหสีแต่อย่างใด จึงยังทรงเป็นเจ้าจอมมารดาทองสุกอยู่เช่นเดิม

ครั้นเจ้าฟ้ากุณฑลฯเจริญพระชันษาขึ้น พระสิริโฉมอันงดงามประกอบกับพระบุญญาธิการและพระอิสริยยศเจ้าฟ้า ส่งผลให้ได้ทรงรับราชการฝ่ายในในรัชกาลที่ ๒ ครองอิสริยยศ พระราชชายานารี เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี นับเป็นพระมเหสีคู่กันกับเจ้าฟ้าบุญรอด พระธิดาในพระพี่นางพระองค์น้อยในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีมาแต่เดิม พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี จึงคล้ายกันกับเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีด้วยประการข้างต้น) แต่สำหรับ เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ไม่สามารถรับสั่งเป็นคำพูดได้ ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่ "พระราชสวามี" ประทับร่วมอยู่กับ "พระองค์" และ "พระราชธิดา" เสียจนหมดสิ้น

หลังจากทรงได้รับลายพระหัตถเลขา จากพระราชบิดาที่ส่งมาประทานแล้ว ทำให้ทรงมีกำลังพระทัยดีขึ้นโดยลำดับ ต่อมาภายหลัง เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมีมิได้ทรงมีพระประสูติกาลอีกเลย ทั้งที่โดยความจริงแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยเอาไว้ก็ตาม ไม่ว่าจะอย่างไรเจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี ก็ยังทรงมุ่งมั่นรับใช้เบื้องพระยุคลบาท และถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมราชสวามีอย่างหาที่สุดไม่ได้
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:13 pm

ss142.jpg
ss142.jpg (74.44 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


ตำหนักที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ตำหนักหลังนี้ตั้งอยู่ริมถนนจากประตูราชสำราญ อยู่ใกล้กับตำหนัก กรมหลวงวรเสรฐสุดา(พระธิดาในรัชกาลที่ ๓) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชทานเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เป็นตำหนักรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐฉาบปูนมี ๓ ชั้น ตำหนักทาสีชมพูสลับสีเขียว หลังคาเป็นทรงปั้นหยา แต่เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสีปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระเบื้องลอนคู่ ผนังโดยรอบตกแต่งด้วยการฉาบปูนโดยทำบัวปูนปั้นเป็นเส้นรอบทั้งตำหนัก หน้าต่างเป็นบานไม้แบบบานกระทุ้งเหนือหน้าต่างเป็นช่องลมไม้ฉลุลาย ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อนสีดำสลับขาวใช้ปูที่โถงทางเข้าและบันได ส่วนพื้นห้องและบันไดปูด้วยไม้แผ่น
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:14 pm

M11968360-14.jpg
M11968360-14.jpg (54.8 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


ชีวิตอันแสนเศร้าในวังหลวงของเจ้าหญิงดารารัศมี ทรงเผชิญปัญหาชีวิตอย่างหนัก จนบางครั้งอยากจะเสวยลูกลำโพงให้วิกลจริตไปเสียเพราะทน “มือมืด” แกล้งไม่ไหว เผื่อบางทีทางกรุงเทพฯ จะส่งกลับบ้าน


ความรักยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย พิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราช กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี แห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ อันมีผลสืบเนื่องทางการเมืองที่มิได้มีความหมายถึงการสามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของผืนแผ่นดินในแหลมทองเท่านั้น แต่เป็นความรักความหลังอันแฝงด้วยการเมืองด้วยเอกราชอธิปไตยเป็นเดิมพันนี้ไม่เคยมีปรากฏเป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือเล่มใดมาก่อน และจะเป็นบันทึกหลักฐานแห่งเดียวของอนุชนรุ่นต่อไป

รอบๆ เมืองไทยสมัยนั้น สมัยที่เมืองเชียงใหม่ ยังต้องส่งราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ เป็นประจำปี มีเหตุผันผวนยุ่งเหยิงอุบัติขึ้นทุกแห่งหน ทางด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ของพรมแดนกำลังถูกย่ำยีบีฑาโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างน่า สะพรึงกลัว ทางด้านตะวันออกเล่า ฝรั่งเศสก็กำลังจะกลืนอินโดจีนอันรวมญวน – เขมร – ลาวเข้าไว้ ประเทศไทยในฐานแดนกันชนระหว่างสองพี่เบิ้มจึงพลอยร้อนระอุคุกรุ่น พยายามประคับประคองมิให้แผ่นดินต้องถูกแล่เนื้อเถือหนัง ถูกเชือดเฉือนประดุจบ้านใกล้เรือนเคียงให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำ อันพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าที่ทรงธำรงรักษาประเทศรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาจะประจักษ์เห็นเด่นชัดในระยะนี้เอง ถ้ามิฉะนั้นแล้วลักษณะรูปขวานของประเทศไทยก็คงจะเว้าแหว่ง เพราะการบั่นทอนทำลายอย่างไม่น่าดู
ณ ที่นี้จะขอเริ่มต้นด้วยความรักในประวัติศาสตร์ตอนที่ยังมิมีผู้ใดทราบมาก่อน คือตอนพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จพระราชดำเนินสู่กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ก่อนพระราชพิธีอภิเษกอันเกริกเกียรติในพระราชวังหลวงนั้น


หลังจากขบวนเรือหางแมงป่องที่พาพระองค์พร้อมทั้งเจ้านายราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่ไปส่งถึงนครสวรรค์แล้ว เรือยนต์พระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดมารับก็พาพระองค์ท่านต่อไปยังพระนครศรีอยุธยาและมีพระตำหนักประทับพักร้อนที่บางปะอินก็มีพระราชพิธีรับขวัญ ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราช บรรดาเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีเสด็จมารออยู่ก่อนแล้ว เจ้านายองค์เล็กๆ ที่ไม่ยอมห่างสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระราชชายาได้รับพระราชทานเงินร้อยชั่ง และของถวายอื่นๆ อีกและมีการฉลองกินเลี้ยงใหญ่โตมโหฬาร


ครั้นขบวนเรือถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าจอดเทียบที่แพวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) มีเจ้านายต่างกรม ๒ – ๓ องค์ เสด็จมารับพร้อมทั้งเจ้านายฝ่ายกรมโขน กรม จากแพที่ประทับขบวนแห่พระราชชายาเข้าสู่พระบรมมหาราชวังเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ มีพนักงานชาววังถือหีบหมากเงินหีบหมากทอง กระโถนเงิน กระโถนทอง ตามเสด็จ มีเจ้าหญิงฝ่ายเหนือตามขบวนหลายองค์ อาทิ เจ้าข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่ เจ้าบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ขบวนได้ผ่านเข้าประตูอนงคมนตรีไปยังพระราชวังกรงนก เข้าประทับยังห้องสมเด็จ พระตำหนักภายในห้องประดับประดาแพรวพราวตระการตา ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ตอนนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษาเท่านั้น
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:15 pm

lanna_Dara_Rasmi_12.jpg
lanna_Dara_Rasmi_12.jpg (78.44 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


ชีวิตทุกชีวิตย่อมหลีกหนีความยุ่งยากไม่พ้น แต่ “แดดดีมีมาภายหลังฝน” ฉันใด พระราชชายาเจ้าก็ทรงประสบมรสุมทำนองเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระสนมกำนัลภายในวังพากันอิจฉาตาร้อน คิดเสียว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีพื้นอยู่ทางภาคเหนือและคนทางเหนือในสมัยนั้น ได้รับการคบค้าสมาคมและต้อนรับจากภาคกลางอย่างต่ำต้อยด้อยหน้า เมื่อพูดถึง “ลาว” แล้ว เจ้าจอมหม่อมห้ามคงเข้าใจว่า สมเด็จพระปิยมหาราชก็คงจะทางเห็นด้วยกับการกระทำกลั่นแกล้งหยามเหยียดต่างๆ ที่พวกเธอทั้งหลายมีต่อพระราชชายาของพระองค์ ซึ่งวิธีการเล่นสกปรกต่างๆ ก็ทำให้พระราชชายาทรงรู้สึกกลัดกลุ้มรุ่มร้อนพระทัยเป็นยิ่งนัก

ตามคำบอกเล่าของท่านผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า แม้แต่ในขันทองสรงน้ำของพระองค์ก็มีกระดาษเขียนตัวอักษรเลขยันต์คล้ายคาถาอะไรวางอยู่ และน้ำในห้องสรงของพระองค์ก็ถูกโรยด้วยหมามุ่ย อยู่ดีๆ บางทีก็มีถุงเงินพระราชทานของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มาวางอยู่ตามทวารห้องบรรทมเพื่อหาเรื่องให้พระราชชายาว่าขโมยมา อย่าว่าแต่อะไรเลยภายในสวนสวรรค์ข้างๆ พระตำหนัก ยังมีสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ทิ้งเรี่ยราดอยู่ทั้งๆ ที่เจ้านายหญิงฝ่ายเหนือที่ติดตามรับใช้พระราชชายาจะคอยระแวดระวังพระองค์ท่านทุกฝีก้าวปกป้องผองภัยให้ตลอดเวลา จู่ๆ ก็มีตัวบุ้งตัวหนอนไต่ยั้วเยี้ยตามพระแท่นบรรทมเล็กหน้าห้อง สร้างความรำคาญพระทัยมิให้ให้พระองค์ทรงสุขเกษมได้เลย

บางทีพระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า “ เหม็นปลาร้า” บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ยิ่งกว่านั้นเครื่องเพชรอันหาค่ามิได้ของในหลวงก็มาปรากฏวางทิ้งอยู่ในพระตำหนักของพระราชชายา ผู้ที่ปรนบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีขันติอดทนอย่างน่าชมเชย พระองค์ท่านมิได้ทรงแพร่งพรายเรื่องราวอะไรต่างๆนานาให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบเลย นอกจากบุคคลที่ใกล้ชิดยุคลบาทเพียงไม่กี่คน อาทิ คุณประภาส สุขุม ธิดาของเจ้าพระยายมราช เป็นต้น ข้ารับใช้จากฝ่ายเหนือก็มี แม่เขียว – เจ้าบึ้ง หรือ เจ้าหญิงบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์แท้จริง

ด้วยเหตุนี้เอง พระราชชายาเจ้าดารารัศมีซึ่งไม่เคยลืมเจ้าหญิงบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ถึงจะมีอะไรหนักนิดเบาหน่อยพระองค์ก็ไม่ทรงถือสาหาเรื่อง ซึ่งถ้าเป็นบุคคลอื่นก็มีหวังถูกเฆี่ยนตีหรืออัปเปหิไปแล้ว แต่นี่พระองค์ทรงรำลึกถึงเหตุการณ์ในพระราชวังหลวงครั้งนั้น ครั้งถวายตัวต่อสมเด็จพระปิยมหาราชด้วยกัน และโดยเฉพาะก็ตอนที่พระองค์ได้รับความวิปโยคโศกศัลย์ต่างๆ จาก “มือมืด” ทั้งหลายนี่เอง

หลายครั้งที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตอันไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระองค์ท่านมิได้ทรงคาดคิดมาก่อนว่า ขนาดพระองค์ท่านเป็นถึงพระธิดาของเจ้าผู้ครองนครที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ เป็นพระธิดาองค์เดียวที่เจ้าพ่อโปรดปรานที่สุด จะเรียกร้องต้องการสิ่งใดเป็นได้สมพระประสงค์ทุกสิ่งอัน ทรงจับจ่ายใช้สอยเงินทองได้อย่างเต็มที่ และทรงมีข้าราชบริพารรับใช้ปราศจากอนาทรร้อนใจ เหตุไฉนพระองค์จึงต้องทรงตกระกำลำบากเมื่อมาประทับในพระราชวังหลวง ซึ่งควรจะอบอุ่นหฤหรรษ์ ด้วยความรักยิ่งยวดที่สมเด็จพระปิยมหาราช ราชสวามีทรงมีต่อพระองค์

พระราชชายาบ่นกับผู้ใกล้ชิดว่า พระองค์ใคร่จะเสวยลำโพง (มะเขือบ้า) เป็นคนวิกลจริต แล้วทางกรุงเทพฯจะได้ส่งกลับนครเชียงใหม่บ้านเกิดให้รู้แล้วรู้รอด จะได้พ้นจากความลำบากยากแค้นเสียที และผู้ใกล้ชิดของพระองค์ได้ทัดทานไว้ว่าขอให้อดใจรอจนกว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีในวันหนึ่ง ว่ากันว่าเจ้าจอมแส (ข้าหลวงของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรือพระนางเรือล่ม) ที่โดยลำดับเครือญาติเป็นน้องหม่อมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยยั่วเย้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีว่าหน้าอกไม่สวย ซึ่งพระองค์ท่านก็มิได้ทรงตอบโต้ว่ากล่าวประการใด

อย่างไรก็ดี ความก็ล่วงรู้ถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนได้พระองค์ทรงเล็งเห็นความร้าวฉานภายในพระราชฐานว่าเรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ถ้าทรงขืนปล่อยไว้จะลุกลามไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศและอาจถึงระหว่างประเทศก็ได้ อันเป็นการขัดแย้งกับนโยบายที่พระองค์ทรงหวังตั้งพระทัยจะรวบรวมหัวเมืองเหนือมารวมกับส่วนอื่นๆ ให้เป็นประเทศไทยอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกเสียมิได้ และขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลว่าถ้าหากมิเช่นนั้นแล้ว แผ่นดินล้านนาไทยทั่วภาคก็มีหวังถูกอังกฤษฮุบเอาเพราะประเทศอังกฤษในเวลานั้น ได้กลืนเอาภาคเหนือของประเทศพม่าเข้าไว้โดยเรียบร้อยยกให้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย นักการเมืองของอังกฤษผู้แสวงประโยชน์จากความเป็นทาสของชาวเอเชียกำลังจ้องมองดูหัวเมืองฝ่ายเหนือด้วยความพิสมัยใคร่ตะครุบเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้เองสมเด็จพระปิยมหาราชจึงทรงว่ากล่าวตักเตือนบรรดาเจ้าจอม หม่อมห้ามพระสนมกำนัลให้ยุติการกลั่นแกล้งทำพิเรนทร์ต่างๆ กระทบกระเทือนพระทัยพระราชชายาโดยเด็ดขาด

แล้วก็โดยไม่นึกฝันเช่นเดียวกัน ดังภาษิตอังกฤษว่า “ ภายหลังพายุร้ายก็ถึงซึ่งความสงบ” พระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ผ่านยุคเข็ญทารุณทางจิตใจและไม่มีผู้ใดกล้ากลั่นแกล้งทำให้เสียชื่อเสียงอีกเลย บุคคลที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับท่านกลับยิ้มแย้มแจ่มใสผูกสนิทชิดชอบและเป็นญาติดี ทั้งนี้รวมทั้งเจ้าจอมแสอีกคนหนึ่ง

K11282633-12.jpg
K11282633-12.jpg (43.91 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


รถแก้วจักรพรรดิ
จากซ้ายไปขวา พระยาบุษรถ (ฟ้อน ศิลปี), ท้าววรจันทร์, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ท่านผู้หญิงตลับ,
เจ้าจอมมารดาชุ่ม, เจ้าจอมมารดาโหมด, พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจอมเลียม
ถ่ายเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๘
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:37 pm, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:16 pm

ae872dff696daafae38ac8ae0242063d.jpg
ae872dff696daafae38ac8ae0242063d.jpg (104.08 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นับว่าทรงมีพระคุณต่อพระราชชายาอย่างยิ่ง เป็นที่ทราบกันภายหลังว่า พระองค์มิได้ทรงเชื่อหรือสนพระทัยกับการยุยงส่งเสริมจากพระสนมกำนัลเลย พระองค์ท่านทรงทราบดีว่าคุณธรรมของเจ้านายฝ่ายเหนือนั้นสูงส่งเกินกว่าที่จะมาทำเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของราชวงศ์ ลักขโมยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ดุจดังที่พระราชชายาโดนกล่าวหามาแต่แรก
พระราชชายาทรงเป็นเจ้านายที่ตรัสชัดทั้งภาษาไทยเหนือ และภาษาไทยภาคกลาง ทรงชนะใจผู้ที่ได้เข้าเฝ้าได้ทั้งหมด แม้แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงตรัสกับหม่อมเจ้าพูนพิศ¬มัยพระธิดา ว่า “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถอะลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกี¬ยจ แม้กำเนิด ท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกั¬น”

โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี"

วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศ "เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี" ขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี มีพระอิสริยยศเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ออกพระนามว่า "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี"

นับเป็นพระอิสริยยศในตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงนับได้ว่า "พระราชชายา เจ้าดารารัศมี" ทรงเป็นพระมเหสีลำดับที่ ๕ ในเวลานั้น (ลำดับที่ ๑-๔ มีรายพระนามดังนี้ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ไม่นับ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอัครวรราชกัลยา และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ สมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรกและพระมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ที่สวรรคตและ สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

ในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์พระเชษฐาของพระราชชายาฯลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระบรมมหาราชวัง พระราชายาฯจึงได้กราบบังคมทูลลาขึ้นมานครเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนมาตุภูมิ วันที่ ๑๒กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ได้เสด็จจากพระราชวังสวนดุสิตไปขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปส่งพระราชชายาฯพร้อมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบรรดาข้าราชการเป็นจำนวนมากไปส่งถึงสถานีรถไฟปากน้ำโพมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทรงรถไฟสายเหนือเวลานั้นและประทับลงเรือพระที่นั่งเก๋งประพาสมีขบวนเรือตามเสด็จกว่า ๕๐ ลำในการเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาหัวเมืองที่เสด็จผ่านจัดพิธีต้อนรับให้สมพระเกียรติ พระราชชายาฯ ทรงเห็นว่ามากเกินไปได้มีพระอักษรกราบบังคมทูลขอพระราชทานรับสั่งให้เพลาพิธีการลงบ้างใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๕๖ วัน จึงเสด็จถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน
ระหว่างประทับอยู่ที่เชียงใหม่ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครลำพูนลำปาง และพระประยูรญาติในจังหวัดนั้น ๆ และเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ และปูชนียสถานสำคัญ ๆ อีกหลายแห่งในการเสด็จนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเอาพระธุระโปรดเกล้าฯ ให้ทำแผ่นกาไหล่ทองมี สัญลักษณ์ของพระราชชายาฯคือรูปดาวมีรัศมีอีกทั้งพระราชทานข้อความที่โปรดเกล้าฯให้จารึกเป็นเกียรติยศแก่พระราชชายาฯ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:18 pm

228947-51ac72a319fd4.jpg
228947-51ac72a319fd4.jpg (84.44 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


ในระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่พระราชชายาฯทรงดำริเห็นว่าบรรดาพระอัฐิของพระประยูรญาติผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ที่สร้างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณข่วงเมรุเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายตระกูล ณ เชียงใหม่จึงโปรดให้รวบรวมและอัญเชิญพระอัฐิไปสร้างรวมกันไว้ ณ บริเวณวัดบุบผาราม(วัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานฉลองอย่างมโหฬารมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการจัดมหรสพต่าง ๆ เช่น หนัง ละคร ซอ มวยตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญทองคำทำด้วยกะไหล่ทองและกะไหล่เงินมีตัวอักษร "อ"และ"ด" ไขว้กันพระราชทานเป็นของแจกในงานเฉลิมฉลองกู่ พระราชชายาฯเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จโดยลงเรือพระที่นั่งที่ท่าหน้าคุ้ม มีกระบวนเรือรวม ๕๐ ลำเมื่อถึงอ่างทองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จมารับถึงที่นั่นแล้วทรงพาไปประทับที่พระราชวังบางปะอินและพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ


หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจ้าแก้วนวรัฐฯเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯได้กราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่


วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟซึ่งวิ่งไปถึงเพียงสถานีผาคอ จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้นจากนั้นเสด็จโดยขบวนช้างม้านับร้อย คนหาบหามกว่าพัน ข้าราชการจากเชียงใหม่ ลำพูนลำปาง จัดไปคอยรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อพระราชชายาฯประทับอยู่ที่เชียงใหม่แล้วทรงมีพระตำหนักหรือคุ้มที่ประทับอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ

ตำหนักแรกตำหนักที่เจดีย์กิ่วเรียกว่า "คุ้มเจดีย์กิ่ว"ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่

ตำหนักที่สองสร้างขึ้นที่ถนนห้วยแก้ว เรียกว่า "คุ้มรินแก้ว" เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปเป็นตำหนักที่พระราชชายาฯเสด็จมาประทับเป็นครั้งสุดท้ายและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ตำหนักที่สามสร้างบนดอยสุเทพสำหรับประทับในฤดูร้อน เรียกว่า "ตำหนักพระราชชายา"เป็นอาคารไม้หลังใหญ่ชั้นเดียว ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้จึงได้ทรุดโทรมผุผังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนไปในที่สุด

ตำหนักที่สี่ตั้งอยู่อำเภอแม่ริมพระราชชายาฯทรงโปรดตำหนักแห่งนี้และทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักอื่นๆ เรียกว่า"ตำหนักดาราภิรมย์" โปรดให้เรี่ยกชื่อว่า"สวนเจ้าสบาย"ตัวตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐปนไม้ลักษณะค่อนไปทางทรงยุโรป

ในระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่พระราชชายาฯทรงดำริเห็นว่าบรรดาพระอัฐิของพระประยูรญาติผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ที่สร้างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณข่วงเมรุเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายตระกูล ณ เชียงใหม่จึงโปรดให้รวบรวมและอัญเชิญพระอัฐิไปสร้างรวมกันไว้ ณ บริเวณวัดบุบผาราม(วัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานฉลองอย่างมโหฬารมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการจัดมหรสพต่าง ๆ เช่น หนัง ละคร ซอ มวยตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรียญทองคำทำด้วยกะไหล่ทองและกะไหล่เงินมีตัวอักษร "อ"และ"ด" ไขว้กันพระราชทานเป็นของแจกในงานเฉลิมฉลองกู่ พระราชชายาฯเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จโดยลงเรือพระที่นั่งที่ท่าหน้าคุ้ม มีกระบวนเรือรวม ๕๐ ลำเมื่อถึงอ่างทองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จมารับถึงที่นั่นแล้วทรงพาไปประทับที่พระราชวังบางปะอินและพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ


หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เจ้าแก้วนวรัฐฯเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯได้กราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่


วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟซึ่งวิ่งไปถึงเพียงสถานีผาคอ จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้นจากนั้นเสด็จโดยขบวนช้างม้านับร้อย คนหาบหามกว่าพัน ข้าราชการจากเชียงใหม่ ลำพูนลำปาง จัดไปคอยรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อพระราชชายาฯประทับอยู่ที่เชียงใหม่แล้วทรงมีพระตำหนักหรือคุ้มที่ประทับอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ

ตำหนักแรกตำหนักที่เจดีย์กิ่วเรียกว่า "คุ้มเจดีย์กิ่ว"ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่

ตำหนักที่สองสร้างขึ้นที่ถนนห้วยแก้ว เรียกว่า "คุ้มรินแก้ว" เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปเป็นตำหนักที่พระราชชายาฯเสด็จมาประทับเป็นครั้งสุดท้ายและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ตำหนักที่สามสร้างบนดอยสุเทพสำหรับประทับในฤดูร้อน เรียกว่า "ตำหนักพระราชชายา"เป็นอาคารไม้หลังใหญ่ชั้นเดียว ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้จึงได้ทรุดโทรมผุผังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนไปในที่สุด

ตำหนักที่สี่ตั้งอยู่อำเภอแม่ริมพระราชชายาฯทรงโปรดตำหนักแห่งนี้และทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักอื่นๆ เรียกว่า"ตำหนักดาราภิรมย์" โปรดให้เรี่ยกชื่อว่า"สวนเจ้าสบาย"ตัวตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐปนไม้ลักษณะค่อนไปทางทรงยุโรป
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 3:31 pm

imagesCAFXMB6H.jpg
imagesCAFXMB6H.jpg (10.72 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง


เมื่อพระราชชายาฯเสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจหลายด้านตลอดเวลา ๑๙ ปี ที่ดำรงพระชนม์อยู่สรุปได้ดังนี้

ทรงส่งเสริมการเกษตร
ทรงให้มีการทดลองค้นคว้าปรับปรุงวิธีการปลูกพืชเผยแพร่แก่ประชาชนณ ที่ตำหนัก สวนเจ้าสบายอำเภอแม่ริม ทรงควบคุมการเพาะปลูกและปลูกเพื่อขายทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพในด้านการเกษตรแก่ราษฎร

ทรงทำนุบำรุงศาสนา
โดยปกติพระราชชายาฯ จะถวายอาหารบิณฑบาตและถวายจตุปัจจัยสำหรับวัดและพระสงฆ์สำหรับพระสงฆ์บางรูปได้รับการสนับสนุนเป็นรายเดือนตลอดพระชนม์ชีพทรงทำบุญวันประสูติและถวายกฐินทุกปีนอกจากนั้นยังทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานเป็นจำนวนมากอาทิ สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ วัดพระธาตุจอมทองยกตำหนักบนดอยสุเทพถวายเป็นของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ทรงส่งเสริมการศึกษา
ทรงอุปการะส่งเสริมให้เจ้านายลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนแม้กระทั่งส่งไปเรียนที่ทวีปยุโรป ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนต่าง ๆ ในนครเชียงใหม่อาทิเช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ได้ประทานที่ดินทั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยกับทรงอุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย

ทางด้านวรรณกรรม
ทรงสนับสนุนวรรณกรรมประเภท"ค่าวซอ" จนเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุคนั้นพระองค์มีนักกวีผู้มีความสามารถประจำราชสำนักหลายคน เช่นท้าวสุนทรพจนกิจได้ประพันธ์บทละครเรื่อง "น้อยไจยา" ถวายพระองค์มีส่วนในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นยังได้นิพนธ์บทร้องเพลงพื้นเมืองทำนองล่องน่านเพื่อขับร้องถวายสดุดีพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่พ.ศ.๒๔๖๕

ทางด้านการหัตถกรรม
ทรงเห็นว่าซิ่นตีนจกเป็นเครื่องนุ่งห่มตามประเพณีวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณเป็นผ้านุ่งที่ต่อชาย(ตีน)ด้วยผ้าจกอันมีสีสันลวดลายสวยงามการทอตีนจกเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องใช้ฝีมือในการทอมากจึงทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้าซิ่นตีนจกจากที่ต่างๆ เข้ามาทอในตำหนักนอกจากจะทอไว้ใช้เป็นการส่วนพระองค์และสำหรับประทานให้ผู้อื่นในโอกาสต่างๆแล้ววัตถุประสงค์ใหญ่เพื่อเป็นที่ฝึกสอนให้ลูกหลานได้มีวิชาติดตัวนำไปประกอบอาชีพได้

การทอผ้าซิ่นยกดอกศิลปะการทอผ้าอันสูงส่งของล้านนาอีกผลงาน ที่พระราชชายาฯทรงพบว่าผ้าซิ่นยกดอกทั้งผืนมีเหลืออยู่ผืนเดียวคือผ้าซิ่นยกดอกไหมทองของแม่เจ้าทิพไกสร ที่พระราชชายาฯได้ไว้เป็นมรดกจึงได้ใช้ซิ่นไหมผืนนี้เป็นตัวอย่างในที่สุดพระองค์ก็ทรงประดิษฐ์คิดค้นการทอผ้ายกดอกชนิดเดียวกันนี้ได้สำเร็จศิลปะด้านนี้จึงได้ดำรงคงอยู่สืบมา

นอกจากนั้นทรงรวบรวมผู้มีฝีมือในการเย็บใบตองและบายศรีในเชียงใหม่มาฝึกสอนแก่ผู้ที่มีความสนใจในตำหนักทรงจัดแบบอย่างระดับชั้นของบายศรีให้เหมาะสมแก่การจัดถวายเจ้านายในชั้นต่าง ๆและบุคคลทั่วไป นับเป็นต้นแบบที่ได้นำมาปฏิบัติจนกระทั่งในปัจจุบัน
ด้านการทำดอกไม้สดทรงสอนให้คนในตำหนักร้อยมาลัย จัดพุ่มดอก จัดกระเช้าดอกไม้ทั้งสดและแห้งจัดแต่งด้วยดอกไม้สดทุกชนิด

ตำหนักพระราชชายาฯในครั้งนั้นจึงเป็นแหล่งรวมแห่งศิลปวัฒนธรรมเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเชียงใหม่และส่งผลดีในการอวดแขกบ้านแขกเมืองอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

อนุเคราะห์พระประยูรญาติ
ทรงให้ความอุปการะแก่สมณะประชาชนทั่วไปและพระประยูรญาติแล้ว ทรงเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษทรงสร้างกู่แล้วอัญเชิญพระอัฐิของพระประยูรญาติ มาไว้รวมกัน ณบริเวณวัดสวนดอกในครั้งเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่และเมื่อเสด็จกลับมาประทับเชียงใหม่แล้วได้ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งของพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดาไปบรรจุไว้ที่สถูปบนยอดดอยอินทนนท์ตามพระประสงค์

เครื่องราชอิสสริยาภรณ์ที่พระองค์ท่านได้รับพระราชทานดังนี้

๑.ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้า
๒.มหาวชิรมงกุฎ
๓.ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
๔.เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๕
๕.เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๖
๖.เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๗
๗.เข็มพระปรมาภิธัยรัชกาลที่ ๖ ประดับเพ็ชร์ล้วน


สิ้นพระชนม์
พระราชชายาฯได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระปับผาสะ(ปอด)แต่ยังคงประทับอยู่ที่ตำหนักดาราภิรมย์ กระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖เจ้าแก้วนวรัฐจึงเชิญเสด็จมาประทับที่คุ้มรินแก้ว และได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษาเศษ ในการพระศพนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชโกษาเป็นหัวหน้านำพนักงาน ๒๕ นายนำน้ำพระสุคนธ์สรงพระศพ กับพระโกศและเครื่องประกอบอีกหลายประการพระราชทานมาเป็นพระเกียรติยศและโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ถวาย ๗ วัน

K6539337-0.jpg
K6539337-0.jpg (24.81 KiB) เปิดดู 16120 ครั้ง



ที่มา หนังสือเจ้าหลวงเชียงใหม่ โดย เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ และคณะ, ๒๕๓๙ ,หนังสือ ดารารัศมี ,หนังสือ เพชร์ล้านนา
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm


ย้อนกลับไปยัง บทกวี

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 20 ท่าน

cron