วัดเจ็ดยอด มหาโพธาราม เชียงใหม่

- DSCF0126_resize.JPG (146.8 KiB) เปิดดู 75195 ครั้ง
น้ำฟ้า (น้ำฝน ทะกลกิจ) ไปสักการะพระเจดีย์วัดเจ็ดยอด มหาโพธาราม เชียงใหม่
ประวัติ องค์พระเจดีย์เจ็ดยอด
องค์เจดีย์ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานชั้นล่างประกอบด้วยฐานเขียง และฐานปัทม์อย่างละ ๑ ชั้น ไม่มีลูกแก้วและบัวหงาย ด้านหน้ามีการเจาะช่องคูหาหรืออุโมงค์ลึกเข้าไปในตัววิหารประตูทางเข้าก่อเป็นซุ้มโค้ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานเขียงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ตรงกลางของช่องอุโมงค์เจาะด้านข้างทั้งสองข้างทะลุขึ้นไปชั้นบน ด้านหลังมีอุโมงค์ เช่นเดียวกันแต่ขนาดเล็กด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ผนังภายนอกฉาบปูนและตกแต่งด้วยรูปเทวดาปูนปั้นซึ่งพบทั้งในลักษณะนั่งขัดสมาธิเพชรและยืนถือดอกบัวแบ่งคั่นเทวดาแต่ละองค์โดยการใช้เสาพรางแปดเหลี่ยมกั้นในแนวตั้งและใช้ลูกแก้วแบ่งช่องในแนวนอนทำให้ผนังแต่ละด้านถูกแบ่งเป็นช่องประดับเทวดาช่องละ ๑ องค์ และคาดว่ามีเทวดาทั้ง หมด ๗๐ องค์ ( ท่านั่ง ๒๖ องค์ และท่ายืน ๔๔ องค์ )
เครื่องภูษิดาภรณ์ และ ลวดลายประดับบนเทวดาเหล่านี้แตกต่างกัน ลักษณะของภูษาหรือผ้านุ่งของเทวดาในท่านั่งยืนเอียงสะโพก จะเป็นแบบชักชายพกออกมาห้อยคลุมด้านหน้าบังทับเข็มขัดและรัดสะเอวบางส่วนจึงไม่เห็นส่วนประดับหัวเข็มขัด ส่วนเทวดาในท่ายืนตรงจะไม่ชักชายออกมาทำให้เห็นส่วนประดับหัวเข็มขัดและรัดสะเอวทุกส่วน ท่อนพระองค์ส่วนบนอยู่ในลักษณะเปลือยเปล่ามีเครื่องประดับพระเศียรเป็นทรงกรวยสูง
ชั้นบนขององค์พระเจดีย์เจ็ดยอดประกอบด้วยเจดีย์เจ็ดองค์ องค์ใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลางเป็นทรงสี่เหลี่ยมมีซุ้มเข้าทางทิศตะวันออก ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งขัดสมาธิเพชรปางมารวิชัย และมีเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมลักษณะเดียวกันแต่ขนาดเล็กอีกสี่องค์เป็นเจดีย์ประจำมุมองค์ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และมีซุ้มทางขึ้นจากชั้นล่างในเจดีย์ประจำมุมสององค์ด้านหน้า ส่วนอีกสององค์ด้านหลังมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสององค์ เจดีย์ทั้งห้าองค์ประดับลวดลายปูนปั้นเป็นรูปเปลวเพลิงหรือใบเสมา และด้านหน้ามีลานกว้างที่มุมทั้งสองข้างมีเจดีย์ทั้งกลมขนาดเล็กอีกสององค์ทั้งหมดรวมเป็น ๗ องค์
องค์พระเจดีย์เจ็ดยอด นับเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นเอกทางพุทธศาสนา ของล้านนาไทยมีความวิจิตรงดงามสะท้อนถึงความเจริญทางด้านศิลปกรรม และ สถาปัตยกรรมอย่างสูงสุด แม้ไม่ปรากฏปีศักราชหรือสร้างในสมัยใดอย่างชัดเจน แต่นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าน่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชที่หมายถึงปฐมโพธิบัลลังก์ หนึ่งในสัตตมหาสถาน ส่วนรูปแบบทางสถาปัตยกรรมนักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าได้แบบอย่างมาจากมหาโพธิ์วิหารจากพุกาม แต่สมหมาย เปรมจิตต์ ศึกษาเปรียบเทียบเจดีย์เจ็ดยอดกับมหาโพธิ์วิหารที่พุทธคยา พบว่าคล้ายคลึงกันมากทั้งสัดส่วน รูปทรงและแม้แต่การตกแต่งรูปเทวดาปูนปั้นก็มีเครื่องทรงเครื่องประดับเหมือนกันอย่างไม่ผิดเพียนจนพูดได้ว่าเพียงแต่ย่อส่วน มหาโพธิ์วิหารมาเท่านั้น
เจดีย์บรรจุอัฐิพระเจ้าติโลกราช
พระเจ้าติโลกราชทรงสวรรคตในปี พ.ศ.2030 (ค.ศ.1487) พระเจ้ายอดเชียงราย ผู้เป็นพระราชนัดดา (หลาน) ขึ้นเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่แทน นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์เม็งราย พระเจ้ายอดเชียงรายได้โปรดสร้างสถูปขนาดใหญ่ บรรจุพระอัฐิของพระอัยกาธิราช ( พระเจ้าติโลกราช ) ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชนรุ่นหลังให้ได้ตระหนักและระลึกถึงพระองค์ท่าน ในฐานะเป็นผู้สถาปนาวัดเจ็ดยอดนี้ขึ้นซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
องค์เจดีย์นั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์พระเจดีย์เจ็ดยอดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผสมทรงกลม กล่าวคือมีเรือนธาตุทรงปราสาทย่อเก็จขนาดใหญ่ ส่วนบนเป็นเจดีย์ทรงกลมประกอบด้วยฐานเขียงสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสองชั้น ฐานเขียงย่อเก็จซ้อนกันสามชั้น ฐานปัทม์ยย่อเก็จมีลูกแล้ว ๑ เส้น เรือนธาตุทรงปราสาทย่อเก็จมีซุ้มทั้งสี่ด้านแต่มีพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบปางมารวิชัย ประดิษฐานเพียงซุ้มด้านทิศตะวันออกเพียงซุ้มเดียว อีกสามซุ้มเป็นซุ้มตื้น ๆ มีลายบัวคอเสื้อและบัวเชิงบาตรประดับที่เสาของแต่ละซุ้ม ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ย่อเก็จอีก ๑ ชั้น และชั้นบัวถลา มีชั้นมาลัย เถาทรงกลมรองรับองค์ระฆัง ก้านฉัตร ปล้องไฉนและปลียอดตามลำดับ