งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับเขต ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี นางสาวลักษมณ ภูมิพัฒน์ และ เด็กชายเจตภานุ พลอยสัมฤทธิ์ เป็นตัวแทนแข่งขันกวีเยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้รับรางวัล เหรียญทอง ครูน้ำฝน ทะกลกิจ เป็นผู้ฝึกสอน

- LINE_ALBUM_๒๕๖๕_230219_2.jpg (72.54 KiB) เปิดดู 3637 ครั้ง
จากการเป็นกรรมการตัดสินการเขียนเรียงร้อยถ้อยความ(เรียงความ) ระดับ ม.ปลาย งานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ ๗๐ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับงานเขียนของนักเรียน จึงอยากแนะนำเผื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ และแน่นอน เผื่อนักเรียนวิชาการเขียนของครูแวะมาอ่าน

- 322215716_29692258669.jpg (59.54 KiB) เปิดดู 4031 ครั้ง
๑.การตั้งชื่อเรื่อง เกณฑ์คือแจ้งหัวข้อแล้วให้นักเรียนไปตั้งชื่อเรื่องใหม่ นักเรียนจะต้องตั้งชื่อเรื่องให้มีความสัมพันธ์กับหัวข้อที่กำหนด ไม่หลุดประเด็น ไม่ตีกรอบให้แคบจนเกินไป เพราะชื่อเรื่องจะต้องสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง ดังนั้นถ้าชื่อเรื่องตีกรอบเนื้อหาให้แคบเกินไป เนื้อเรื่องเราจะน่าสนใจน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ควรมีความคิดสร้างสรรค์ สื่อถึงเนื้อเรื่อง กระชับ มีความคมคาย อ่านแล้วสะดุดใจ
๒.คำนำ จะต้องเป็นการเกริ่นนำสู่เนื้อเรื่อง หากมีคำกลอน สุภาษิต คำคม หรือบทเพลงมาช่วยดึงความสนใจผู้อ่าน จะทำให้น่าสนใจยิ่งขึ้น สัดส่วนของคำนำจะต้องสมดุลกับเนื้อเรื่อง อย่าให้มากหรือน้อยจนเกินไป ถ้าน้อยไปเนื้อความจะไม่สมบูรณ์ ถ้ามากเกินไปจะกลายเป็นการเขียนเวิ่นเว้อ มีแต่น้ำโหรงเหรง
๓.เนื้อเรื่อง แน่นอนคะแนนหลักในการเขียนทุกประเภทจะอยู่ที่ส่วนของเนื้อเรื่อง ปัญหาที่พบบ่อยคือ เนื้อหาหลุดประเด็น เราตั้งชื่อเรื่องว่าอย่างไรต้องเขียนให้อยู่ในกรอบ อย่าเขียนเรื่อยเปื่อยเพื่อให้จำนวนบรรทัดมันครบตามที่ตั้งเป้าไว้ จะต้องมีสติอยู่ตลอดว่าเขียนถึงเรื่องใด ควรวางโครงเรื่องก่อนเขียนจะช่วยในส่วนนี้ได้ดี
การใช้คำเชื่อมซ้ำซาก เลือกใช้คำเดิมในหลายๆวรรคใกล้ๆกัน มันจะทำให้คนอ่านเห็นถึงคลังคำของผู้เขียนว่ามีน้อย รูปประโยคสลับหน้าหลัง ติดใช้ภาษาพูด ที่พบบ่อยคือ คำว่า เยอะ เยอะเป็นภาษาพูด ควรใช้คำว่า มาก แทน เช่น เปลี่ยนจาก มีคนมาเยอะ เป็น มีคนมาจำนวนมาก ใช้คำผิดความหมาย คำว่า ทาน แปลว่า ให้ ไม่ได้แปลว่า กิน ใช้คำตามรูปแบบภาษาอังกฤษ เช่น สองโจร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ใช้ไม่ได้จะถูกหักคะแนน
การเขียนจะต้องมี เอกภาพ คือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่หลุดประเด็น
มีสารัตถภาพ คือ การเน้นสาระสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้า กล่าวคือ เขียนตามรูปแบบการเขียนย่อหน้าให้ถูกต้อง ย่อหน้า มี ๒ องค์ประกอบ คือ ใจความสำคัญ+พลความ(ส่วนขยาย) ดังนั้นใน ๑ ย่อหน้าจะต้องเขียนถึงประเด็นเดียว ถ้าจะขึ้นประเด็นใหม่จะต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ เกณฑ์ของศิลปหัตถกรรมปีนี้ชัดมาก ระบุชัดเจนถึงเรื่องใจความสำคัญ ต้องชมผู้ออกเกณฑ์ว่ารัดกุมมาก
มีสัมพันธภาพ คือ เนื้อหาจะต้องเชื่อมโยงกัน ข้อนี้ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่สำคัญมาก เพราะหากขาดความเชื่อมโยง งานเขียนจะขาดอรรถรส ไม่มีความกลมกล่อม
เรียงความมี ๓ ส่วน ไม่ควรเข้าใจว่ามี ๓ ย่อหน้า ที่ตรวจไปยังเห็นหลายโรงเรียนเขียนย่อหน้าเนื้อเรื่องมาแค่ ๑ ย่อหน้า แต่ละย่อหน้ายาวมาก และขาดสารัตถภาพ เพราะด้วยความยาวนั้นจึงเขียนปนกันหลายๆประเด็น การที่จะให้เป็น ๑ ย่อหน้า ๑ ใจความสำคัญนั้นเป็นไม่ได้ คะแนนจุดนี้จึงต้องถูกหักไป องค์ประกอบการเขียนย่อหน้าสำคัญมาก ไม่ว่าจะเรียงความ บทความ สารคดี ฯลฯ หากเขียนย่อหน้าไม่เป็น จะไม่น่าอ่าน
๔.สรุป การเขียนสรุปในเรียงความจะต้องไม่เป็นการนำเนื้อความที่เคยเขียนแล้วมาเขียนซ้ำ ควรเขียนสรุปแนวคิดตามประเด็นหัวข้อ “สุดท้ายนี้...ที่ฉันเขียนเรียงความเรื่องนี้เพราะว่า... ขอจบการเขียนเพียงเท่านี้” อย่าเขียน...มันเป็นการนำวิธีการเขียนจดหมายหรือวิธีการพูดในที่ชุมชนมาปน เขียนแล้วดูไม่มีภูมิ อ้อ แล้วต้องไม่มีหางเสียง ครับ ค่ะ เรียงความไม่ใช่การพูด
๕.แต่ละคนจะมีเทคนิคการเขียนที่ต่างกัน มีความแพรวพราวทางภาษาที่ต่างกัน คนที่จะได้ที่หนึ่งนั้นอ่านแล้วจะมองเห็นความกลมกล่อมของเนื้องาน มีวรรณศิลป์ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ดังนั้นเมื่อเขียนจบควรทิ้งไว้สักพักแล้วอ่านทวน จะพบคำผิด ตกหล่น อีกประการที่ลืมเตือนไม่ได้เลย คือ การตัดคำ คำเดียวกันอย่าเขียนคนละบรรทัดเป็นอันขาด ถึงแม้จะหมดบรรทัดแล้วก็ให้ลงไปเขียนบรรทัดใหม่ ถ้าตัดคำคะแนนจะหายจุดละ ๐.๕ คะแนน
เล่าให้ฟังเผื่อจะเกิดประโยชน์แก่ผู้สนใจ ในฐานะผู้ที่เริ่มต้นการเป็นนักเขียนจาก การประกวดการเขียนเรียงความ

- messageImage_1673362665479.jpg (137.66 KiB) เปิดดู 4024 ครั้ง