ตอนที่ ๔
ประวัติศาสตร์ได้สะท้อนให้เห็นว่าเมืองพร้าวเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของแผ่นดินล้านนาและก่อนหน้า วันเวลาอันยาวนานทำให้เมืองพร้าวมีโบราณสถานเก่าแก่อยู่หลายแห่ง ซึ่งข้าพเจ้ามีความผูกพันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเคยได้ไปร่วมงานประเพณีต่างๆอยู่เสมอ โบราณสถานสำคัญในเมืองพร้าว ได้แก่
พระธาตุดอยนางแล ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าแสนคำลือ พระโอรสลำดับที่ ๗ ในพระเจ้าพรหมมหาราชได้ปกครองเมืองเวียงหินนคร ต่อมาดวงแก้วชะตาเมืองได้สูญหาย พระองค์จึงพิจารณาโทษตนเองโดยการยกเมืองให้แก่พระเจ้าแสนหวีพระอนุชา แล้วเสด็จออกบวชเป็นพระดาบสอยู่บนดอยทางทิศตะวันตกของเมือง ทำให้พระนางศรีสุชาดาผู้เป็นมเหสีทรงห่วงใยพระองค์มาก พระนางจึงบำเพ็ญบารมีเพื่อส่งเสริมพระสวามี จนไม่เสวยพระกระยาหารนานถึง ๑๒ วัน ทำให้พระทัยวายสิ้นพระชนม์อยู่บนหอคอยกลางเมืองวังหินนคร โดยพระเนตรทั้งสองของพระนางไม่หลับ จดจ้องไปยังดอยที่ประทับของพระสวามี หลังจากนั้นพระเจ้าแสนหวีจึงบำเพ็ญพระศพของพระนางและพบว่าพระอัฐิของพระนางเป็นพระธาตุจึงนำไปถวายพระเจ้าแสนคำลือ พระเจ้าแสนคำลือทรงซาบซึ้งในความจงรักภักดีของพระนางจึงทรงสร้างเจดีย์และนำพระอัฐิธาตุของพระนางบรรจุไว้ ต่อมาคนจึงเรียกดอยลูกนั้นว่าดอยนางแล
วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณของอำเภอพร้าว สร้างในสมัยพระราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา มีอายุการสร้างประมาณ ๗๓๐ ปี เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลหลังจากล่มสลายไปตามกาลเวลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน โดยเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ ได้มีการค้นพบวัดพระธาตุดอยเวียง พบพระธาตุซึ่งภายในบรรจุเส้นพระเกศาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระมหาธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นธาตุเจดีย์โบราณที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอพร้าว มีขนาดความกว้างของฐานทั้งสี่ด้านรวม ๓๖ เมตร อดีตใช้เป็นที่พักทัพ ตั้งทัพของกษัตริย์ล้านนาเมื่อครั้งเดินทางผ่านเข้าออกเมืองพร้าว ปัจจุบันยังปรากฏร่องรอยแนวคูค่ายให้เห็นรอบวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล จึงนับว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ และสำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าวอันควรค่าแก่การศึกษา และอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาสืบไป
วัดพระธาตุกลางใจเมือง มีความเชื่อว่า ในสมัยพญาแสนคำลือ พระโอรสในพระเจ้าพรหม-มหาราช บริเวณวัดพระธาตุกลางใจเมืองเคยเป็นวัดและวังมาก่อน แต่ตามหลักฐานนั้นอ้างถึง พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์เชียงใหม่ลำดับที่ ๖ ว่าทรงสร้างวัดขึ้นแล้วได้ทรงประทานนามว่า “วัดสะดือเมือง” อันหมายถึงจุดศูนย์กลางของเวียงพร้าววังหิน จนกระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๑๐๑ ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วัดพระธาตุสะดือเมืองก็ถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมาถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม เดือนเกี๋ยงเหนือ ( เดือน ๑๑) แรม ๕ ค่ำ พ.ศ.๒๔๗๒ ครูบาเจ้าศรีวิชัย แห่งสำนักบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ โดยท่านแจ้งว่า วัดนี้ตรงกับที่รุกขเทวดามาบอก ท่านจึงพาคณะศรัทธาค้นตามกองอิฐ และองค์พระธาตุซึ่งพังลงมาตามกาลเวลา ประมาณ ๒ชั่วโมง ท่านก็ได้พบศิลาจารึก เป็นหินสีนิลจารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา มีใจความว่า “วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๑๙๒๘ กือนาธรรมมิกราชา วัดนี้ชื่อว่าสะดือเมือง “ และได้พบของมีค่าจำนวนมาก อาทิ ผอบบรรจุพระธาตุ เทียนเงินเทียนทอง ส่วนหินสีนิลนั้นครูบาท่านว่าเป็นของมีค่ามากจึงนำมาบรรจุไว้ในองค์พระธาตุ ให้รักษาไว้กับวัด มีระฆังทองปนเงินสลักอักษรขอมโดยรอบ ๑ อัน ระฆังนี้เสียงกังวานมาก ต่อมาท่านจึงสร้างพระธาตุ และโบสถ์ พร้อมๆกัน เป็นเวลานานสองเดือนก็เสร็จบริบูรณ์ จึงถวายทานและตั้งชื่อใหม่ว่า วัดพระธาตุกลางใจเมือง ต่อมาหลังจากท่านมรณภาพ ทางคณะกรรมการก็ได้แบ่งอัฐิกระดูกแขนเบื้องขวามาบรรจุไว้ที่วัดพระธาตุกลางใจเมืองให้เป็นที่สักการบูชาแก่ทุกๆ คน พี่น้องชาวอำเภอพร้าว และอำเภอใกล้เคียงจะมาสรงน้ำพระธาตุ และอัฐิของครูบาเจ้าทุกเดือน ๙ เหนือ ( เดือน ๗) ขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นประจำ
ทุกปี ในวันนั้นจะมีการสมโภชตลอดคืน และมีการจุดบอกไฟเป็นพุทธบูชาตลอดวัน
วัดพระเจ้าตนหลวง ในระหว่างปี พ.ศ.๑๙๒๘ พระญากือนาธรรมมิกราชเจ้าได้มีพระราช-ประสงค์ที่จะนำพระธรรมคัมภีร์และพระพุทธรูปมาประดิษฐานที่เมืองพร้าว ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะเป็นวัดสะดือเมืองหรือวัดพระธาตุกลางใจเมืองนั่นเอง เพราะตามจารึกนั้นวัดสะดือเมืองก็สร้างในปี พ.ศ.๑๙๒๘ เช่นเดียวกัน ขบวนเสด็จของพระองค์นั้นเป็นขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคที่ยิ่งใหญ่ มีผู้ตามเสด็จนับหมื่นคน โดยผู้ทำหน้าที่อัญเชิญพระพุทธรูปคือเจ้าน้อยจันต๊ะ เมื่อขบวนเสด็จมาถึงบริเวณบ้านสบปั๋ง ตำบลแม่ปั๋ง ช้างเผือกซึ่งบรรทุกพระคัมภีร์และพระพุทธรูปได้คุกเข่าลง ไม่ยอมเดินทางต่อ พระญากือนาทรงเห็นเป็นนิมิตหมายอันดีจึงโปรดให้สร้างวัดขึ้น โดยทรงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประทับนั่งบนหลังช้างเอาไว้ด้วย ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดพระเจ้านั่งช้าง ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระเจ้าตนหลวง
วัดพระเจ้าล้านทอง วัดพระเจ้าล้านทองนั่นเองเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าว เนื่องจากสันนิษฐานว่าที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองพร้าววังหินหรือเวียงหวายแต่เดิม ปัจจุบันยังคงมีคูเมืองหลงเหลือให้เห็นอยู่โดยรอบวัด และเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปเก่าแก่คู่เมืองพร้าว อันได้แก่ “ พระเจ้าล้านทอง ”
พระเจ้าล้านทอง ( พระเจ้าล้านตอง ) ถูกขนานนามว่า " พระเจ้าหลวง "เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองพร้าววังหินมาช้านานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อทองสำริด ขนาดหน้าตัก ๑๘๐ เซนติเมตร สูงรวมฐาน ๒๗๔ เซนติเมตร วัดพระเจ้าล้านทองและพระเจ้าล้านทองสร้างขึ้นโดยพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ ลำดับที่ ๑๒ ในสมัยที่ท้าวเชียงตงเป็นผู้ครองเมืองพร้าววังหิน ต่อมาเมื่อล้านนาเสียเอกราชให้แก่พระเจ้ากรุงหงสาวดีผู้คนหนีออกจากเมือง พระเจ้าล้านทองประดิษฐานอยู่ในเมืองร้างนานถึง ๓๔๙ ปีจึงถูกค้นพบโดยดาบสซึ่งชาวบ้านเรียกว่าปู่กาเลยังยัง วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๘ พระเจ้าล้านทองได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุตามประกาศกรมศิลปากรในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ ๒ ตอนที่ ๒
วัดพระธาตุขุนโก๋น เป็นพระธาตุเก่าแก่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองพร้าว พระธาตุแห่งนี้มีมานานจนไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง มีข้อมูลเพียงว่าในอดีตพระธาตุขุนโก๋นมีชื่อว่า พระธาตุเจ้าหัวเมือง เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองเคารพนับถือกันมาก หากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เจ้าเมืองพร้าวจะนิมนต์พระตามวัดต่างๆ และเป็นผู้นำชาวเมืองพร้าวขึ้นไปขอฝน หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ และ
พระอาจารย์เนียมเคยมาธุดงค์และภาวนาอยู่ที่นี่ ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นที่วิหารด้านหน้าพระบรมธาตุเจดีย์
วัดถ้ำดอกคำ เป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตได้ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียร จากนั้นหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ,หลวงปู่สาร,หลวงปู่เทสก์,หลวงปู่อ่อนสี ก็ได้มาร่วมบำเพ็ญเพียรด้วยระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๘ พระอาจารย์มั่นได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด ณ วัดแห่งนี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางไปธุดงค์ยังดอยมะโน
ตำนานถ้ำดอกคำ เป็นเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลก หรือตำนานพระบาทพระธาตุฉบับพิสดาร เขียนด้วยตัวอักษรไทยยวนภาษาบามีความว่า"พระพุทธเจ้าของเราพร้อมด้วยพระยาอินทร์พระยาอโศก พระอานนท์ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ได้เสด็จไปเทศนาโปรดสัตว์ตามราชธานีน้อยใหญ่ แล้วจึงมาถึงเขตเมืองล้านนา วันหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังวัดถ้ำดอกคำเพียงพระองค์เดียว ช่วงเวลาเดียวกับที่ยักษ์ผัวเมียแห่งถ้ำหลวงเชียงดาวออกหาอาหารในบริเวณถ้ำดอกคำ ยักษ์สามีเห็นชายผู้หนึ่งมีรูปร่างงามมากนั่งอยู่ในถ้ำ จึงเข้าไปหาเพื่อจะจับกินเป็นอาหาร พอเข้าไปใกล้ พระพุทธองค์ก็ทรงเหาะหนี มันจึงหยิบเอาก้อนผา ขว้างตามหลังไปหลายก้อน โดยไปตกที่ริมปากถ้ำ ๒ ก้อนแต่ไม่ถูกพระองค์พระพุทธเจ้าเลย ยักษ์ตนนั้นจึงมีความเจ็บใจมาก จึงคิดหาอุบายโดยการแปลงร่างเป็นอีกาบินไล่กวด พระพุทธองค์จึงทรงแปลงร่างเป็นตัวหมัดจับอยู่ที่หัวของอีกา อีกาไม่รู้ว่าพระพุทธองค์เสด็จไปอยู่ที่ไหน ก็บินวนเวียนหาอยู่นาน จนหลงเข้าไปในป่าทึบแห่งหนึ่ง ต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า บ้านดงกาหลง จนทุกวันนี้ ในที่สุดมันก็ลดทิฐิมานะยอมแพ้ ยกมือไหว้พระพุทธองค์ แล้วเหาะกลับไปยังถ้ำเชียงดาว บอกเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ภรรยา ยักษ์ผู้เป็นภรรยาจึงได้ชวนสามีแต่งดาขันข้าวตอกดอกไม้อันได้แก่ ดอกบัวคำ มาสักการะพระพุทธองค์ ถ้ำแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า ถ้ำดอกคำ นับแต่นั้นยักษ์สองผัวเมียก็ตั้งอยู่ในศีลธรรมเรื่อยมา และไม่กินเนื้อกินสัตว์อีกเลย
โบราณสถานสำคัญของเมืองพร้าวมิได้มีเพียงที่กล่าวไว้ในข้างต้น ยังมีสถานที่อีกมากมายอันเป็นสื่อสะท้อนถึงความรุ่งเรืองและเหตุการณ์ในอดีต อาทิ กู่เวียงยิง ซึ่งเป็นบริเวณที่ขุนเครื่อง พระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระญามังรายถูกธนูยิงจนสิ้นพระชนม์ นอกจากนี้ยังมีพระธาตุผายอง พระธาตุดอยจอมหด
พระธาตุสันยาว วัดป่าอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระธรรมเจดีย์นิมิต ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเมืองพร้าวเป็นเมืองที่ผู้คนตั้งมั่นอยู่ในบวรพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งอดีต ซึ่งนอกจากโบราณสถานที่มีอยู่หลายแห่งแล้ว เมืองพร้าวยังมีพระอริยสงฆ์อันเป็นที่รู้จักและมีศิษยานุศิษย์อยู่ทั่วประเทศไทย ดังจะขอบันทึกผ่านความทรงจำเอาไว้ดังนี้
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เป็นพระสงฆ์ชื่อดังรูปหนึ่งของประเทศไทย มีคำร่ำลือถึงบุญญานุภาพของท่านมากมาย อาทิ เมื่อครั้งที่ท่านได้นั่งวิปัสสนากรรมฐานอยู่นั้นได้มีนักบินที่ขับเครื่องบินผ่านมาที่อ.พร้าว ได้เห็นท่านในระดับความสูงเดียวกับเครื่องบิน จึงนำไปโจษขานเล่าต่อกันไป จนหนังสือพิมพ์สมัยนั้นนำไปลงข่าวหน้า ๑ หลายฉบับ

- paragraph__110_289_resize.jpg (62.07 KiB) เปิดดู 56632 ครั้ง
หลวงปู่แหวนนั้น เดิมมีนามว่า ญาณ กำเนิดเมื่อ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๓๐หรือวันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุนในตระกลูของช่างตีเหล็ก ณ บ้านนาโป่ง ตำบลหนองใน อำเภอเมือง จังหวัดเลย ท่านได้บวชเณรเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ตามคำขอร้องของมารดาและผู้เป็นยายซึ่งขอให้หลวงปู่บวชตลอดชีวิต พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากเด็กชาย ''ญาณ'' เป็นสามเณรแหวนนับแต่นั้นมา หลังจากบวช ๒ ปีหลวงปู่ได้
ฝึกปฏิบัติธรรมที่วัดบ้านสร้างถ่อ ต.หัวตะพาน จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นเจ้าอาวาส กระทั่งอุปสมบทจึงได้ออกธุดงค์แสวงหาสัจธรรมตามป่าเขาต่างๆ หลายแห่ง และถวายตนเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตในเวลาต่อมา หลังจากนั้น ในพ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านได้เข้าพบท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เปลี่ยนจากมหานิกาย มาเป็น ธรรมยุติ และได้รับฉายาใหม่ว่า ''สุจิณโณ'' จากนั้นได้ออกจาริกแสวงบุญต่อ ขณะที่ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นที่ดงมะไฟ บ้านค้อ จังหวัดอุบลราชธานี มีศิษย์พระอาจารย์มั่น ที่มีอัธยาศัยตรงกัน ๒ ท่านคือ หลวงปู่ขาว อนาลโย และ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
ปีพ.ศ.๒๔๘๙ หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด พระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากวัดดอยแม่ปั๋งได้เข้ามาดูแลปรนนิบัติ และดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่มีอายุมากแล้ว แต่ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้
ปีพ.ศ.๒๕๐๕ ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ ๗๕ ปี คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดได้ยินเสียงของหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาว่า “จะไปอยู่ด้วยคนนะ” หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวน ผ่านไปอีกสามวันพระอาจารย์หนูก็รับถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่จำวัดอยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาจำวัดที่วัดดอยแม่ปั๋งตั้งแต่วันนั้น

- paragraph__102_552_resize.jpg (102.47 KiB) เปิดดู 56632 ครั้ง
ระหว่างที่หลวงปู่แหวนยังมีชีวิตอยู่นั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋งเพื่อนมัสการและสนทนาธรรมกับหลวงปู่แหวนอยู่เนืองนิตย์ และครั้งใดที่มีการจัดสร้างสิ่งมงคล พระองค์จะทรงใช้รูปของหลวงปู่แหวน และนำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญเสมอ จึงนับว่าหลวงปู่แหวนเป็นพระสงฆ์องค์แรกในประเทศไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่งเช่นนี้
ครั้นต่อมาหลวงปู่แหวนอาพาธหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอาราธนาให้หลวงปู่ไปรักษาตัวที่ตึกสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ และทรงรับเอาหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ในพระองค์ จนในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ หลวงปู่แหวนจึงละขันธ์อย่างสงบนิ่ง ในเวลา ๒๑.๕๓ น. สิริอายุ ๙๘ ปี ท่านอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์รวม ๗๗ พรรษา
ครูบาอินสม สุมโน นับเป็นพระอาจารย์ชื่อดังอีกท่านหนึ่งที่จำพรรษาอยู่ในอำเภอพร้าวจนตลอดชีวิต แม้ปัจจุบันท่านได้ละสังขารไปแล้ว แต่ร่างกายของท่านกลับไม่มีการเน่าเปื่อย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหายิ่งเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาต่อท่านขึ้นอีกหลายเท่าตัว

- 717kj_resize.jpg (104.05 KiB) เปิดดู 56632 ครั้ง
ครูบาอินสม สุมโน เดิมชื่อ อินสม เปราะนาค เกิดวันศุกร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ตรงกับเดือนเกี๋ยงเหนือขึ้น ๑ ค่ำ ณ บ้านป่าหวาย ต.บ้านโป่ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๔ คน ครูบาอินสมเป็นลูกคนโต เมื่ออายุได้ ๑๒ ปีได้เข้ามาอยู่เป็นเด็กวัด บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ อายุได้ ๑๓ ปี โดยมีท่านครูบาสีธิวิชโยเป็นพระอุปัชฌาย์และอาจารย์ ต่อมาได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๖๔ มีท่านครูบาสีธิวิชโยเป็นพระอุปัชฌาย์ ครูบาอินสม สุมโน ละขันธุ์เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยโรคชรา สิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๖ พรรษา พระราชทานเพลิงศพ พ.ศ.๒๕๔๒
นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเคยได้ยินแม่กล่าวถึง พระครูบาคำจันทร์ ธัมมจันโท แห่งวัดท่ามะเกี๋ยง ซึ่งมรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ว่าเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์จนตลอดชีวิต คงจะเป็นจริงดังคำที่พระธรรมมงคลญาณได้กล่าวกับญาติโยมว่า หากต้องการกราบพระอริยสงฆ์ให้ไปภาคเหนือ เพราะมีพระที่บรรลุธรรมอยู่มากมายแต่กลับไม่มีใครรู้เนื่องจากท่านไม่แสดงตน