เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

ทำสวนผสมผสานทั้งปลูกพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » พุธ 14 ธ.ค. 2016 10:45 pm

จัดการเพลี้ยมะม่วง

มหัศจรรย์มะม่วง-3-ยุค2-800x600.jpg
มหัศจรรย์มะม่วง-3-ยุค2-800x600.jpg (131.29 KiB) เปิดดู 17805 ครั้ง


กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงให้ระวังการระบาดของเพลี้ยจักจั่น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ระยะที่มะม่วงกำลังแทงช่อดอก ต้องระวัง โดยเพลี้ยจักจั่นจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอกทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระบาดตลอดปี พบมากและทำความเสียหายในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนถึงระยะดอกตูม และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นปริมาณสูงสุดเมื่อดอกใกล้บาน ช่วงธันวาคมถึงมกราคม

สำหรับวิธีป้องกันกำจัด คือสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในช่วงมะม่วงเริ่มแทงช่อดอกจนกระทั่งติดผล อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน แมลงวันตาโต แตนเบียนมวนตาโต เชื้อรา บิวเวอร์เรีย ระยะดอกมะม่วงกำลังบาน การพ่นน้ำเปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดมะม่วงดีขึ้น แต่ควรปรับหัวฉีดอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป

ระยะใกล้จะออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ให้พ่นด้วยสมุนไพรน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 100 – 150 ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน 85) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร เมื่อเริ่มแทงช่อดอกให้พ่นด้วยน้ำส้มควันไม้ อัตราน้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ต่อน้ำ 150-200 ส่วน หรือจะใช้สารเคมีกำจัดแมลงคาร์บาริล (เซฟวิน 85) อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ในสวนที่มีการระบาดรุนแรงควรเปลี่ยนไปพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลง หรือสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ ตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิต จะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลง

ที่มา เชียงใหม่นิวส์
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 31 ธ.ค. 2016 7:07 pm

โรคของปลาและวิธีการรักษาปลา

fish25.jpg
fish25.jpg (236.53 KiB) เปิดดู 17781 ครั้ง


โรคของปลาเกิดขึ้นได้ทั้งในแหล่งนํ้าธรรมชาติและปลาที่เลี้ยงในบ่อ การเกิดโรคและพยาธิย่อมมีสาเหตุมาจากปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัย เมื่อปลาที่เลี้ยงเป็นโรคและพยาธิแล้วถ้าคุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมโทรมมากขึ้น อาการของโรคก็เพิ่มทวียิ่งขึ้นและถึงตายในที่สุด
น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของปลา ถ้าคุณสมบัติของน้ำเสื่อมโทรมลงอันเกิดจากการขาดออกซิเจน มีปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 20 ppm. แก๊สแอมโมเนีย ไนไตรท์ และไฮโดรเจนซัลไฟด์สูง เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาเกิดความเครียดและถึงตายในที่สุดได้ ดังนั้นการป้องกันโรคและพยาธิจึงทำได้ง่ายโดยรักษาคุณสมบัติของน้ำในบ่อที่เลี้ยงปลาให้มีสภาพดีอยู่เสมอ การใช้ยาและสารเคมีในการรักษาปลาในระดับความเข้มข้นที่สามารถทำลายโรคและพยาธิให้ตายได้ ย่อมมีผลกระทบต่อปลาไม่มากก็น้อย จึงควรนำมาใช้เป็นวิธีสุดท้าย

การป้องกันโรค
เกษตรกรควรใช้เกลือเม็ดหว่านลงในบ่ออัตรา 80 กิโลกรัม ต่อไร่ ร่วมกับการใช้ปูนขาว อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ละลายในน้ำแล้วสาดให้ทั่วบ่อ อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดขึ้นในบ่อเลี้ยงปลาหมอไทยมักเกิดจากปรสิตภายนอก เชื้อรา และแบคทีเรีย ต่อไปนี้

โรคจุดขาว
อาการ ปลาจะมีจุดสีขาวขุ่นขนาดเท่าหัวเข็มหมุด กระจายอยู่ตามลำตัวและครีบ สาเหตุ เกิดจากเชื้อโปรโตซัว ที่กินเซลล์ผิวหนัง การป้องกันและรักษา เนื่องจากปรสิตชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนัง การกำจัดได้ผลไม่เต็มที่ วิธีที่ดีที่สุด คือการทำลายตัวอ่อนในน้ำ หรือทำลายตัวแก่ขณะว่ายน้ำอิสระ โดยการใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ซีซีต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 1 ชั่วโมง และแยกปลาที่เป็นโรคออกจากบ่อ

โรคจากเห็บระฆัง
อาการ ปลาจะเป็นแผลตามผิวหนังและเหงือก สาเหตุ เกิดจากเห็บระฆังเข้าไปเกาะตามลำตัวและเหงือก การป้องกันและรักษา ปรสิตชนิดนี้จะแพร่ได้รวดเร็ว และทำให้ปลาตายได้ในระยะเวลาอันสั้น และมีการติดต่อระหว่างบ่อที่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน การกำจัดทำได้โดยใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ซีซี ต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 1 ชั่วโมง

โรคตกเลือดตามซอกเกล็ด
อาการ ปลาจะมีแผลสีแดงเป็นจ้ำๆ ตามลำตัวโดยเฉพาะที่ครีบและซอกเกล็ด ถ้าเป็นแผลเรื้อรังอาจมีอาการเกล็ดหลุด บริเวณรอบๆ และด้านบนของแผลจะมีส่วนคล้ายสำลีสีน้ำตาลปนเหลืองติดอยู่ สาเหตุ เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวที่อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มหรือกระจุก

การป้องกันและรักษา
1. ใช้เกลือเม็ด 5-10 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ไว้ 48 ชั่วโมง
2. ใช้ฟอร์มาลิน 25-40 ซีซี ต่อน้ำ 1000 ลิตร หลังจากแช่ยาแล้ว ถ้าปลามีอาการไม่ดีขึ้น ควรเปลี่ยนน้ำแล้วพักไว้ 1 วัน จากนั้นจึงใส่ยาซ้ำอีก 1-2 ครั้ง

โรคจากเชื้อรา
อาการ ปลาจะมีแผลเป็นปุยขาวๆ ปนเทา คล้ายสำลีปกคลุมอยู่ สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา

การป้องกันและรักษา
1. ใช้มาลาไคท์กรีน 0.1-0.15 กรัม ต่อน้ำ 1000 ลิตร แช่ 24 ชั่วโมง
2. ใช้ปูนขาว 20 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับคุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยง
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 31 ธ.ค. 2016 7:11 pm

เทคนิคการเพาะเมล็ดของผักแต่ละชนิด

15741055_1187070841370750_5510331729038355_n.jpg
15741055_1187070841370750_5510331729038355_n.jpg (38.44 KiB) เปิดดู 9288 ครั้ง


1. ผักบุ้ง นำเมล็ดแช่น้ำก่อนประมาณ 6 - 12 ชั่วโมง นำเฉพาะเมล็ดที่จมน้ำไปเพาะ
ผักบุ้งจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 14 วัน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 18 - 25 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 20 - 25 วัน

2. คื่นช่าย นำเมล็ดแช่น้ำประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง แล้วห่อด้วยผ้า หรือใส่กล่องพลาสติกถนอมอาหาร
ปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดาประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาเพาะตามปกติ จะทำให้
คื่นฉ่ายจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 7 วัน
อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกคือ 15 - 20 องศาเซลเซียส
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 - 80 วัน

3. ผักชี นำเมล็ดมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าแล้วใช้ท่อพีวีซี กลิ้งคลึงเมล็ดให้แตกเป็น 2 ซีก แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง (หรือจนกว่าเมล็ดจะจม) แล้วนำไปเพาะตามปกติจะทำให้ผักชีงอกได้เร็วขึ้น ปกติผักชีจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 7 วัน
- ผักชีไทย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 - 50 วัน
- ผักชีลาวอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 55 - 60 วัน

4. ผักชีฝรั่ง นำเมล็ดแช่น้ำอุ่นประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง แล้วนำไปเพาะตามปกติ โดยจะใช้เวลางอกประมาณ 5 - 7 วัน
อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 100 - 120 วัน

5. พืชตระกูลแตง ได้แก่ แตงกวา, แตงโม, แคนตาลูป, เมล่อน, แตงไทย, ฟักทอง, น้ำเต้า ฯลฯ นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 40 - 50 องศาเซลเซียส โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าเมล็ดจะจมน้ำ จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหารโดยวางรองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดในช่วงเช้าประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น โดยปกติจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 4 - 7 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- แตงโมเปลือกลาย, แตงโมเปลือกดำ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 35 - 40 วันหลังจากดอกบาน
- แตงไทย อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 55 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- แตงกวา อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 6 - 7 วันหลังดอกบาน
- เมล่อน, แคนตาลูป อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 40 - 60 วันหลังผสมเกสร (แล้วแต่ชนิดของสายพันธุ์)

6. พืชกลุ่มพริก, มะเขือ, มะเขือเทศ นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง หรือจนกว่าเมล็ดจะจมน้ำ จากนั้นให้นำเมล็ดมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหารโดยวางรองด้วยกระดาษชำระพรมน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดในช่วงเช้าประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น โดยปกติจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 5 - 10 วัน เมื่อเมล็ดเริ่มงอกก็นำไปเพาะลงวัสดุปลูกต่อไป
- มะเขือเทศ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70 - 80 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- พริก อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด
- มะเขือเปราะ อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50 - 60 วันหลังจากหยอดเมล็ด

7. ปวยเล้ง เป็นพืชที่หลายคนคิดว่าเพาะได้ยาก แต่จริงๆแล้วการเพาะปวยเล้งไม่ยากอย่างที่คิดแต่อาจจะใช้เวลา และเทคนิคยุ่งยากกว่าเมล็ดพืชชนิดอื่น โดยมีขั้นตอนดังนี้
- นำเมล็ดปวยเล้งไปแช่ในน้ำเย็นประมาณ 1 คืน แต่อย่านานกว่านั้นเพราะเมล็ดจะเน่าได้
- นำกล่องพลาสติกถนอมอาหารที่มีฝาปิดมิดชิด รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 - 3 ชั้น แล้วพรมน้ำให้พอชุ่มทั่วกระดาษแต่อย่าให้ท่วมกระดาษมากเกินไป ให้เทน้ำที่ค้างออกด้วยนะครับ
- นำเมล็ดปวยเล้งที่แช่น้ำมาแล้วประมาณ 3 - 5 ชั่วโมงมาล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วนำเมล็ดไปโรยลงบนกระดาษชำระในกล่องพลาสติกถนอมอาหารปิดฝาให้สนิทแล้วนำไปแช่ในตู้เย็น (ช่องแช่ปกติ) อุณหภูมิของตู้เย็นปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4 - 7 องศา C ซึ่งเป็นอุณหภูมิทีเหมาะต่อการงอกของเมล็ดปวยเล้งอยู่แล้ว
- ประมาณ 7 - 14 วัน ปลายเมล็ดปวยเล้งจะเริ่มแตกออก และมีปลายรากโผล่ออกมาจากเมล็ด จึงสามารถนำเมล็ดที่มีรากงอกออกมานั้นไปเพาะลงวัสดุปลูกได้ครับ
อายุเก็บเกี่ยวปวยเล้งประมาณ 35 - 45 วัน (นับจากวันปลูก)

8.ผักสลัดชนิดต่างๆ
เพาะกล้าสลัดโดยใช้กล่องถนอมอาหารที่มีฝาปิดสนิท รองด้านในด้วยกระดาษชำระประมาณ 2 ชั้นแล้วพรมน้ำให้กระดาษเปียก และเทน้ำออก จากนั้นให้นำเมล็ดสลัดมาโรยลงบนกระดาษชำระ โดยไม่ต้องพรมน้ำซ้ำ แล้วปิดฝากล่องให้สนิท (แนะนำให้นำไปวางไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำ เช่น ห้องปรับอากาศ หรือในตู้แช่ผัก) ประมาณ 24 - 48 ชั่วโมงเมล็ดจะเริ่มงอกให้ย้ายลงวัสดุปลูกได้เลยครับ อย่าปล่อยให้ 72 ชั่วโมง (3 วัน) เพราะรากจะยาวเร็วมากและทำให้ย้ายปลูกได้ยาก การกระตุ้นการงอกด้วยวิธีนี้จะทำให้เมล็ดที่เราเพาะมีเปอร์เซ็นต์การงอกและความสม่าเสมอของการงอกสูงขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากเชื้อโรคที่จะเข้าทำลายเมล็ดจากการเพาะเมล็ดลงวัสดุปลูกโดยตรง ให้ผักที่ปลูกมีความสม่ำเสมอของต้นที่เท่ากัน มากกว่าการเพาะลงในวัสดุปลูกโดยตรง เนื่องจากการเพาะลงวัสดุปลูกโดยตรงนั้นเมล็ดสลัดมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายโดยเชื้อโรคหรือแมลง อีกทั้งผู้ปลูกยังควบคุมปัจจัยการงอกของเมล็ดได้ยากกว่าด้วย

#ขอบคุณข้อมูลจากเพจเกษตรอินทรีย์
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 08 ม.ค. 2017 6:16 pm

1436688569-746s-o.jpg
1436688569-746s-o.jpg (265.31 KiB) เปิดดู 9279 ครั้ง


การปลูกและขยายพันธุ์ดอกบัวดิน

บัวดินเป็นไม้หัว (Bulb) ล้มลุก ขนาดเล็ก กึ่งยืนต้น ในวงศ์ว่านสี่ทิศ (Amaryllidaceae) โดยจัดอยู่ในสกุล
Zephyranthes ดอกเป็นรูปกรวย มี ๖ กลีบ การจัดเรียงของกลีบดอกเป็นแบบสลับ ดอกแบบชั้นเดียว มีก้านดอกยาว ๔-๑๒ นิ้ว ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว เหลือง ชมพู และ ส้ม หัวมีลักษณะกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๒ นิ้ว ต้นเจริญจากหัว มีใบยาวเรียว บางชนิดใบแบน บางชนิดใบกลม ความยาวของใบ ๖-๑๒ นิ้ว ในประเทศหนาวพอเข้าฤดูหนาว บัวดินจะทิ้งใบหมด คงเหลือแต่หัวอยู่ในดิน พอเข้าปลายฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อนจึงเริ่มงอกต้นใหม่



บัวดิน หรือ Rain Lily ออกดอกช่วงฝนอย่างเดียวหรือเปล่า จริง ๆ แล้วบัวดินสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
เพียงแต่จะพบเห็นมากในช่วงฤดูฝนและต้นฤดูหนาว ในช่วงฤดูหนาวนี้เองดอกจะบานได้นานถึง ๒-๓ วัน ไว้ในห้องแอร์ก็สามารถบานได้นาน ๓ วันเช่นกัน บัวดินปลูกง่าย ใช้หัวหรือเมล็ดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่ใช้หัวจะง่ายกว่า เพราะเมล็ดบัวดินพันธุ์ลูกผสมทั้งหลายส่วนมากจะฝ่อไม่ติดเมล็ด และการเพาะต้องใช้เวลานานประมาณ ๔-๖ เดือนจึงงอก บัวดินชอบแสงแดด ดังนั้นควรปลูกกลางแจ้งแดดจัด



หากปลูกรำไรใต้ต้นไม้ใหญ่ ชายคาบ้าน ใบจะยืดยาว ดอกจะน้อยและสีดอกจะเพี้ยน ถ้าอากาศหนาวเย็นนอกจากดอกบานทนแล้ว สีสันและขนาดของดอกจะสวยงามสะดุดตาเป็นพิเศษ ส่วนของดินปลูกนั้นก็ควรระบายน้ำดี เพราะหากน้ำขัง หัวจะไม่เจริญเติบโต และเน่าในที่สุด หากปลูกในกระถางปัญหาการระบายน้ำจะหมดไปแต่ใน ๑ ปี ก็ต้องแยกหัวและเปลี่ยนกระถางใหม่เพื่อคุณภาพหัวและดอกที่ดีกว่า เติบโตได้ดีในดินร่วนซุย กักเก็บความชื้นดี แต่น้ำไม่ขังจนแฉะ วางหัวในแนวตั้ง กลบดินนิดหน่อยเพียงเพื่อรักษาความชื้นไว้เท่านั้น ไม่ควรปลูกลึกเพราะจะทำให้หัวเน่าได้ แต่ถ้าปลูกตื้นเกินไป ต้นอาจล้มได้ รดน้ำวันละครั้งในช่วงเช้า



การขยายพันธุ์บัวดิน

การขยายพันธุ์บัวดินทำได้ง่าย ๆ โดยการเพาะเมล็ด แยกหน่อ แยกหัว และผ่าหัว



การบังคับให้บัวดินออกดอก ใช้หลักการ dry & wet เหมือนที่ใช้กับไม้หัวทั่ว ๆ ไป คือ ถ้าเราต้องการให้ออกดอก ก็งดน้ำติดต่อกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ควรต่ำกว่า ๑๕ วัน ในช่วงนี้อาหารจะถูกเก็บสะสมที่หัว หลังจากนั้นจึงค่อยรดน้ำ ตาดอกจะเจริญทันที และจะออกดอกหลังจากรดน้ำเพียง ๕-๗ วัน
เทคนิคการทำให้บัวดินออกดอก

หลังจากฝนตกหนักประมาณ ๒-๓ วัน หรือ ๑ อาทิตย์ จะเห็นบัวดินมีดอกบาน ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่าในช่วง
ไม่มีฝนแต่มีการรดน้ำ สามารถหลอกให้บัวดินมีดอกได้รึเปล่า ขอตอบว่าได้ แต่มีข้อแม้คือ

๑. บัวดินต้องมีความสมบูรณ์ คือมีการได้รับปุ๋ยและน้ำ
๒. บัวดินต้องมีหัวขนาดใหญ่พอสมควร



บัวดินสีขาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zephyranthes candida

๑. บัวดินปลูกในกระถางจะบังคับดอกได้ง่ายกว่าอยู่ในแปลง เพราะในแปลงปลูกจะมีปริมาณน้ำใต้ดินอยู่ ทำให้การงดน้ำไม่เป็นผล

๒. งดน้ำประมาณ ๑-๒ เดือน หลังจากนั้นให้รดน้ำให้ชุ่ม ๓ วันติดกัน บัวดินก็จะออกดอกได้ ส่วนในแปลงก็ควรจะงดน้ำนานกว่านี้ประมาณ ๒-๓ เดือน ก็พอช่วยได้


การงดน้ำอีกวิธีหนึ่ง ให้ทำดังนี้

สำหรับพันธุ์ที่มีการให้ปุ๋ยและน้ำสม่ำเสมอแล้วทำให้มีดอกได้ ได้แก่ พันธุ์สีขาว สีชมพูดอกใหญ่ ส่วนพันธุ์อื่นอาจยาก ให้ขุดหัวขึ้นมาผึ่งลมสัก ๖-๑๐ อาทิตย์ แล้วนำไปปลูกใหม่ก็ได้ดอกเช่นกัน


คงไม่ยากเกินไปสำหรับท่านที่เริ่มคิดจะปลูกไม้หัวชนิดนี้ เพราะพันธุ์หาง่าย มีหลายสีให้เลือก ปลูกง่าย ไม่ค่อยพบโรคและแมลงรบกวน หลังฝนตกไม่นานก็ชูช่อดอกสวยงามเหมือนจะบอกเราว่าที่ใดมีน้ำที่นั่นก็มีชีวิตชีวา


บัวดินดอกสีเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zephyranthes citrina


นอกจากวิธีงดน้ำ ยังมีวิธีตัดใบทิ้งให้เหลือสักนิ้วก็พอ งดรดน้ำสัก ๓-๔ วัน หรือมากกว่านั้นก็ได้
ให้ดูว่าลักษณะใบเกือบจะโทรมก็ให้น้ำ หรืออีกวิธีคือขุดขึ้นมาตัดแต่งรากและใบ ผึ่งแดด ซัก ๑-๒ อาทิตย์ แล้วค่อยเอาไปปลูกใหม่ เทคนิคนี้ใช้ได้กับหัวบัวดินที่สมบูรณ์เท่านั้น ถ้าบัวดินที่ยังไม่เคยออกดอก แล้วทำวิธีการตัดใบงดน้ำยังไงดอกก็ไม่ออก

โดยธรรมชาติแล้วในต่างประเทศ บัวดินจะออกดอกในช่วงฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง โดยเฉพาะหลังฝนตกไม่กี่วัน จึงได้ชื่อว่า Rain Lily และออกดอกอยู่เพียงวันหรือสองวัน หลังจากนั้นก็จะเหี่ยวแห้งหายไปอย่างรวดเร็ว จึงถูกเรียกว่า Fairy Lily เพราะมาเร็วไปเร็วเหมือนนางฟ้า ในเมืองไทย หน้าแล้งบัวดินจะหยุดการเจริญเติบโต ไม่ถึงกับทิ้งใบแต่จะอยู่เฉย ๆ ไม่ออกดอก มองดูคล้ายต้นหญ้า พอได้น้ำได้ฝนก็จะแทงช่อดอกและออกดอกพรึบพรับ หลังจากดอกบัวดินบานหมดทุกดอกแล้ว ตัดใบให้กุดเกือบติดดินแล้วให้ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๑๖ รดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เผลอเดี๋ยวเดียวก็ได้เห็นดอกบัวดินอีก หากดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยดี ๆ ก็จะได้เห็นดอกตลอด

ที่มาข้อมูล บล็อกแก๊ง ภาพ : วี บัวดิน

การผสมสีบัวดิน

การผสมสีก็เหมือนกับการผสมสีวาดภาพ แต่จะได้อย่างที่ต้องการหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับยีนส์ของแต่ละพันธุ์ว่าจะยอมรับการผสมแค่ไหน

อยากได้สีส้มก็ผสมข้ามสีระหว่างสีเหลืองกับสีชมพู สลับกันเป็นพ่อและแม่ แต่สีชมพูจะติดเมล็ดยากมาก สีเหลืองติดเมล็ดง่ายมากแต่ก็เป็นสีที่ดื้อมากเช่นกัน

ควรผสมตอนเช้าเมื่อดอกบานเต็มที่ ไม่ควรเกิน ๙ โมงเช้า สายมากเกสรแห้งจะผสมไม่สำเร็จ

-ใช้สีเหลืองเป็นแม่ให้อุ้มท้องติดฝักติดเมล็ด ต้องเด็ดเกสรตัวผู้ของดอกสีเหลืองออกให้หมดตั้งแต่ดอกเริ่มแย้ม (เพื่อป้องกันเกสรหล่นลงไปผสมเอง) แล้วก็นำเกสรตัวผู้ของดอกสีชมพูมาป้ายที่เกสรตัวเมียดอกสีเหลือง

- ใช้สีชมพูเป็นแม่ให้อุ้มท้องติดฝักติดเมล็ด เกสรตัวเมียของสีชมพูจะชูสูงกว่าเกสรตัวผู้ ไม่ต้องเด็ดทิ้งก็ได้ แค่เอาเกสรตัวผู้ที่สุกแล้วมาป้ายก็พอ ง่ายๆแค่นี้แต่ติดเมล็ดยากมาก

ที่มา at the Blue Moon
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » พุธ 01 ก.พ. 2017 8:38 am

เปรียบเทียบมะนาวแป้นพิจิตร๑ และมะนาวแป้นรำไพ

20120313221024DSC08616.jpg
20120313221024DSC08616.jpg (196.83 KiB) เปิดดู 9253 ครั้ง


ในปัจจุบันมะนาวแป้นพิจิตร๑ และมะนาวแป้นรำไพ นั้นได้รับความนิยมสูงในการปลูกเพื่อการค้า โดยมะนาวทั้งสองสายพันธุ์นั้นมีข้อดี และข้อด้อยที่แตกต่างกันไปตามแต่คุณลักษณะของสายพันธุ์ ส่วนเรื่องการขายผลผลิตนั้น หากทำเป็นมะนาวนอกฤดูคือมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตขายในช่วง เดือนมกราคม-เดือนเมษายน นั้นไม่ต้องห่วงเรื่องปัญหาว่าจะขายผลผลิตมะนาวไม่ได้ เพราะที่ผ่านมามะนาวช่วงนี้มีราคาทั้งนั้นไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนๆ อาจจะเป็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวมะนาวพื้นบ้านทั่วไปไม่ออกผลผลิต และอาจจะมีเรื่องของจิตวิทยาการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ฉะนั้นทุกปีเราจะรู้กันว่าช่วงเวลาดังกล่าวมะนาวมีราคาแพง

คุณลักษณะของมะนาวแป้นพิจิตร๑ ลักษณะหนามจะยาว ใบค่อนข้างใหญ่หนาสีเขียวเข้ม ช่วงข้อจะยาว ออกยอดใหม่แต่ละครั้งจะออกในลักษณะพุ่ง ฉะนั้นทำให้มะนาวแป้นพิจิตร๑ ปลูกแล้วจะโตเร็วมาก จุดเด่นของมะนาวสายพันธุ์นี้คือทนต่อโรคต่างๆเป็นอย่างดี ฉะนั้นการดูแลไม่ต้องดูแลแบบใกล้ชิดมาก ภาพรวมของส่วนต้นใบกิ่ง ของมะนาวแป้นพิจิตร๑ จะดีมาก การออกลูกก็จะออกเป็นทรงแป้นติดผลดกมากเช่นกันและผลโต แต่ข้อด้อยมีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือผลของมะนาวแป้นพิจิตร๑ นั้นเปลือกจะหนา เมล็ดจะแยะทำให้ในช่วงมะนาวล้นตลาดอาจจะมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายผลผลิตได้ แต่หากเป็นการทำมะนาวนอกฤดูละก็ข้อเสียนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย

คุณลักษณะของมะนาวแป้นรำไพ หากมองด้วยสายตาแล้วนั้นสิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนคือใบ จะเล็กปานกลางสีจะออกมาทางเขียวอ่อนๆ หนามและข้อจะสั้น ฉะนั้นเวลาแตกยอดใหม่จะได้ช่วงประมาณ ๑ คืบ แต่จะแตกออกมาเป็นลักษณะทวีคูณ ยิ่งโตทรงพุ่มจะยิ่งแผ่กว่างขึ้นจุดเด่นของมะนาวแป้นรำไพที่ไม่มีมะนาวสายพันธุ์ไหนๆเทียบได้เลยก็คือ ทรงแป้น ผลโตออกลูกดก เปลือกบาง เมล็ดน้อยมากมีแค่ ๓-๔ เมล็ดเท่านั้นเอง ส่วนกลิ่นจะเป็นกลิ่นที่เราคุ้นเคยมากๆหากมีการให้คะแนนผูเขียนจะให้คะแนน ๑๐ เต็ม ๑๐ เลยทีเดียว ส่วนการจำหน่ายผลผลิตสามารถขายได้ตลอดปี แต่ข้อเสียของมะนาวแป้นรำไพที่มือใหม่หลายคนอาจจะพบเจอคือ จะเป็นโรคได้ง่าย เช่น แคงเกอร์ ยางไหล เป็นต้น ฉะนั้นการดูแลต้องเน้นไปที่การป้องกัน แล้วปัญหานี้จะทุเลาเบาบางหรือหมดไปในที่สุด

ดังนั้นในการเลือกสายพันธุ์การปลูกมะนาวหากทำมะนาวนอกฤดูแล้วละก็จะใช้สายพันธุ์ไหนก็ได้แต่ที่สำคัญ ควรศึกษาให้รู้จักกับมะนาวแบบจริงจังเสียก่อน แล้วการทำสวนมะนาวของคุณจะประสบความสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ต้องการ ส่วนการดูแลให้เน้นไปที่การป้องกันเป็นสำคัญอย่าให้ปัญหาเกิดแล้วตามแก้ไขแบบนี้คงไม่ดีแน่ สุดท้ายนี้ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกท่าน
ที่มา http://www.manowpan.com/
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » พุธ 01 ก.พ. 2017 8:40 am

วิธีทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย

15665970_1849725635270025_5861810363476041332_n.jpg
15665970_1849725635270025_5861810363476041332_n.jpg (156.5 KiB) เปิดดู 9253 ครั้ง


จุลินทรีย์หน่อกล้วยสูตรหัวเชื้อ
กล้วยปลูกที่ไหนดินบริเวณกอกล้วย ณ นั้น จะดี เบื้องหลังความร่วนซุยอุ้มน้ำของดินดังกล่าวเกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์ดินรอบๆ รากกล้วย
ซึ่งหากขยายเชื้อให้มากแล้ว ย่อมนำไปใช้ปรับปรุงดินในที่อื่นๆให้ดีขึ้นได้
หน่อกล้วย มีน้ำยางฝาดหรือสารแทนนินมาก เมื่อหมักแล้วน้ำหมักที่ได้ยังสามารถนำมาใช้ในการควบคุมโรคพืชบางอย่างได้
สามารถนำไปใช้ปรับปรุงสภาพน้ำที่เน่าเสียให้ฟืนสภาพกลับดีได้อีกด้วย
ส่วนผสม
๑. หน่อกล้วยสับบดละเอียด ๓ กก.
๒. กากน้ำตาล ๑ กก.
วิธีทำ
ขุดหน่อกล้วยต้นสมบูรณ์ที่ไม่เป็นโรคขนาดหน่อใบธงหรือใบหูกวางสูงไม่เกิน ๑ เมตรเอาเหง้าพร้อมรากที่มีดินติดรากขึ้นมาด้วย
สับหรือบดให้ละเอียดโดยไม่ต้องล้างน้ำ
นำมาคลุกเคล้ากับกากน้ำตาลในอัตราส่วนเป็นน้ำหน่อกล้วย ๓ ส่วนต่อกากน้ำตาล ๑ ส่วนเช่นหน่อกล้วย ๓ กิโลใช้กากน้ำตาล ๑ กิโล ถ้าหน่อกล้วย ๖ กิโล ใช้กากน้ำตาล ๒ กิโล
หมักในภาชนะพลาสติกมีฝาปิดเก็บไว้ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกจากนั้นคนเช้าเย็นทุกวันจนครบ๗ วันแล้วคั้นเอาน้ำออกเก็บไว้ได้นาน ๖ เดือน ในกรณีต้องการใช้มากให้ขยายเชื้อโดยใช้สูตรขยาย
จุลินทรีย์หน่อกล้วยสูตรขยาย
ส่วนผสม
๑.หยวกกล้วยสับบดละเอียด ๖๐ กก.
๒. กากน้ำตาล ๒๐ กก.
๓. น้ำ ๑๐ ลิตร
๔. ลูกแป้งข้าวหมาก ๑ ก้อน
๕. หัวเชื้อ ๑ ลิตร
วิธีทำ
ผสมส่วนต่างๆในถังพลาสติก โดยบี้ลูกแป้งข้าวหมากให้เป็นผงเสียก่อน
ต้นกล้วยใช้เฉพาะส่วนของต้นที่ใหญ่หรือตัดเครือแล้ว สับบดย่อยหรือโขลกให้ละเอียดก่อนใส่
คนให้เข้ากันปิดฝาเก็บในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก จากนั้นคนเช้าเย็นจนครบ ๗ วัน จึงคั้นเอาแต่น้ำเก็บไว้ซึ่งใช้ได้ดีเช่นเดียวกับ หัวเชื้อจุลินทรีย์หน่อกล้วย
ประโยชน์และวิธีใช้
๑.ใช้ปรับปรุงโครงสร้างของดินและกำจัดเชื้อโรคในดินผสมจุลินทรีย์หน่อกล้วยในอัตรา ๒๐ -๔๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร ราดลงบนดินรวมไปพร้อมกับการให้น้ำ
๒. ใช้ป้องกันกำจัดโรคพืช ผสมจุลินทรีย์หน่อกล้วย ๑๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตรฉีดต้นพืชให้เปียกชุ่มโชกทั่วทั้งใบและใต้ใบเพื่อล้างน้ำฝนภายหลังจากที่ฝนหยุดตกนานเกิน ๓๐นาทีเพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำ หรือฉีดพ่นใน๒๐ ซีซี ต่อน้ำ ๒๐ ลิตรเมื่อพบการระบาดของโรคพืชทั้งเว้นการให้น้ำ ๔๘ ช.ม. เพื่อลดความชื้น
๓. ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในร่องสวนสระเก็บน้ำและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำใส่จุลินทรีย์หน่อกล้วย ๑๐ ลิตร ต่อน้ำ ๑๐,๐๐๐ ลิตร
๔. ล้างทำความสะอาดคอกสัตว์ฉีดพ่นจุลินทรีย์หน่อกล้วย ๑ ลิตรต่อน้ำ ๑๐๐ ลิตร
๕. เร่งการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุหรือดับกลิ่นขยะของเน่าเสียให้ฉีดพ่นจุลินทรีย์หน่อกล้วย ๑ ลิตรต่อน้ำ ๑๐๐ ลิตรกรณีหมักฟางข้างในแปลงนาใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ๕ ลิตรต่อพื้นที่นา ๑ ไร่
๖. จุลินทรีย์หน่อกล้วยเก็บไว้ใช้ได้นาน ๖ เดือน
หมายเหตุ กรณีฉีดพ่นหรือราดลงดินโดยไม่ให้ถูกใบพืชสามารถใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย๑ ลิตร ต่อน้ำ ๒๐๐ลิตรเพื่อปรับโครงสร้างของดินแต่การใช้แต่ละครั้งไม่ควรเกิน ๕ ลิตรต่อ ๑ ไร่
ที่มา ขายหน่อกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า พันธุ์ตะไคร้ ทุเรียน ลำไย มะละกอ
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อาทิตย์ 05 ก.พ. 2017 2:49 pm

วิธีเพาะพันธุ์ถั่วดาวอินคา

sachainchi1.jpg
sachainchi1.jpg (88.39 KiB) เปิดดู 9239 ครั้ง


การเพาะพันธุ์ถั่วดาวอินคา ถ้าทำผิดวิธี โอกาสที่จะขึ้นน้อยมาก (จากประสบการณ์ ๑๐-๕๐ %) มาเรียนรู้วิธีการเพาะพันธุ์แบบที่ใช้แล้วได้ผล ๗๐-๙๐%
ขั้นตอนการเพาะพันธุ์ถั่วดาวอินคา
๑. คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ไม่เกิน ๒๐ วัน และต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่เมล็ดเต็ม (ลีบคัดออก) เมล็ดพันธุ์ที่เปลือกขึ้นเชื้อราจากการเก็บไว้นานให้แยกออก
๒. นำเมล็ดพันธุ์มาแช่ในน้ำอุ่น (ต้องไม่ร้อนเกินไป) ๒๔ ชม. แล้วนำภาชนะครอบไว้
๓. นำเมล็ดพันธุ์ขึ้น ใส่ผ้าขาวห่อไว้ แล้วรดน้ำ เช้าเย็น
๔. ประมาณ ๓-๗ วัน เมล็ดพันธุ์จะเริ่มงอกออกมา
๕. เตรียมนำลงกระถาง แช่น้ำยาเร่งรากในน้ำเย็น ๑๐-๒๐ นาที นำลงกระถาง รดน้ำให้แค่ชุ่มเท่านั้น และไม่ควรรดน้ำเยอะเกินไป เพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้
๖. ๑-๒ อาทิตย์ ถั่วดาวอินคาจะเริ่มงอกออกมา (ช่วงนี้รดน้ำอย่าให้ขาด ควรรดให้ดินชุ่มเท่านั้น อาจจะวันเว้นวัน)
๗. รอต้นถั่วดาวอินคามีอายุ ๒๐-๔๐ วัน ค่อยนำไปปลูก (ความสูงของต้นประมาณ ๒๐-๔๐ ซม.)
พืชชนิดนี้มีอายุมากกว่า ๓๐๐๐ปี ดอกจากต้นถั่วดาวอินคามี ๒ เพศมีลักษณะต่างกัน ดอกตัวผู้มีขนาดเล็กสีขาวและอยู่เป็นกลุ่ม ดอกเพศเมียจะอยู่ที่ ฐานของช่อดอก ผลจากต้นถั่วดาวอินคาจะมีขนาด ๓ ถึง ๕ ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๔-๗ ผลสดจะเป็นสีเขียวและผลแก่จะเป็นสีน้ำตาลดำ ลักษณะของเมล็ดมีประมาณ ๔-๕ แฉก แต่บางครั้งอาจมีได้ถึงเจ็ดแฉก ภายในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลเข้ม, มีขนาด๑.๕-๒ ซม. จากเส้นผ่าศูนย์กลางและ หนักประมาณ ๔๕-๑๐๐ กรัม และคล้ายกับอัลมอนด์ เมล็ดดิบกินไม่ได้ แต่หลังจากอบเปลือกจนสุกแล้ว ก็สามารถทานได้ เมล็ดจากต้นถั่วดาวอินคา เมื่อแก่เต็มที สามารถเอาเมล็ดมาสกัดออกมาเป็นน้ำมันได้ น้ำมันที่ได้ออกมามีองค์ประกอบ มีสูงโปรตีน (๒๗%) และน้ำมัน (๓๕ - ๖๐%) และในน้ำมันยังอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็น
๑.โอเมก้า ๓ กรดไลโนเลนิ (๔๕-๕๓%ของปริมาณไขมัน)
๒.โอเมก้า ๖ กรดไลโนเลอิก (๓๔-๓๙% ของปริมาณไขมัน)
๓.โอเมก้า ๙ (๖-๑๐% ของปริมาณไขมัน)
๔.ยังอุดมไปด้วยไอโอดีน
๕.วิตามิน เอ
๖.วิตามิน อี
น้ำมันจากเมล็ดถั่วดาวอินคา ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติสำหรับรสชาติและคุณสมบัติทางด้านสุขภาพ ในเดือนมิถุนายนปี ๒๐๐๗ น้ำมันถั่วดาวอินคา ได้รับรางวัลMedaille (เหรียญทอง)ในการแข่งขันอาหารพิเศษสินค้าโภคภัณฑ์ AVPA (กระบวนการสกัดนวัตกรรมเทคโนโลยี)งานวิจัยใหม่ที่เน้นประโยชน์ต่อสุขภาพของกรดไขมันโอเมก้า, ให้ความสนใจในแหล่งที่ยั่งยืนของโอเมก้าเพิ่มขึ้น น้ำมันถั่วดาวอินคาถูกนำมาใช้ในอาหารมังสวิรัติเพราะเพื่อให้ได้มากรดไขมันโอเมก้า ๓ ประโยชน์ต่อสุขภาพของน้ำมันจากถั่วดาวอินคา
๑.ช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล HDL
๒.ป้องกันการแข็งตัวของเลือด โดยรักษาระดับไขมันอิ่มตัวในกระแสเลือด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและความดันเลือดสูง
๓.ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และป้องกันความดันโลหิตสูง
๔.ในโรคเบาหวาน / ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดอาการซึมเศร้า / สุขภาพจิตแจ่มใส
๕.รักษาความลื่นไหลและความแข็งแกร่งของเยื่อหุ้มเซลล์
๖.ช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดโรคไขข้อ
๗.ช่วยดูแลโรคผิวหนัง หอบหืด แผล ไมเกรน ต้อหิน
๘.มีสารต้านอนุมูลอิสระ ควบคุมความดันตาและเส้นเลือด
๙.การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันหน้าที่เป็นสื่อกลางขนส่งออกซิเจนจากเซลล์ของเลือดไปยังเนื้อเยื่อของไตทำงานให้เหมาะสม
ที่มา : http://boontaweee.blogspot.com/๒๐๑๓/๑๒/sacha-inchi.html
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อาทิตย์ 05 ก.พ. 2017 2:52 pm

สละอินโด

Salak 08.JPG
Salak 08.JPG (206.4 KiB) เปิดดู 9239 ครั้ง


ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacca magnifica J.P.Mogea สละอินโด จัดเป็นพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกับปาล์ม มีใบแตกขึ้นมาจากผิวดิน ไม่มีลำต้น ความสูงในช่วง ๑-๓ เมตรจะมีรูปทรงที่สวยงาม ออกเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบพับจีบซ้อนกันไปมา ปลายใบแยกออกจากกันคล้ายหางปลา บริเวณเส้นกลางใบมีหนามปกคลุมอยู่เป็นจำนวนมาก มีความยาวของใบประมาณ ๔ เมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ ๑-๒ เมตร ออกดอกเป็นช่อระหว่างกาบใบ ช่อดอกยาวประมาณ ๓๐ ซม. มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ภายในช่อเดียวกัน ลักษณะของผลมีรูปร่างกลม เปลือกผลเป็นเกล็ด ผลสุกมีสีแดงคล้ำ มีเนื้อภายในผลสีเหลืองแบ่งเป็น ๑-๓ กลีบ มีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย มีเมล็ดสีดำรูปรี หรือกลมรีอยู่ภายในเท่ากับจำนวนกลีบ ผลที่โตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ ๑.๕ ซม.
เกษตรกรกำลังให้ความสนใจสละอินโด ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความต้องการของตลาดสูง รสชาติอร่อย ปลูกได้ง่ายในหลายพื้นที่ และยังขายได้ราคาดีอีกด้วย


การขยายพันธุ์
สามารถทำได้ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ไม่แนะนำให้แยกหน่อออกจากต้นแม่ เพราะอาจทำให้รากต้นแม่ขาดจนหยุดการเจริญเติบโตไปนานหลายปี สละอินโดเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถระบายน้ำได้ดี ต้องการน้ำในปริมาณมาก แต่ไม่ชอบให้มีน้ำท่วมขัง ชอบแสงแดดแบบรำไร


การเพาะเมล็ด
คัดเลือกเมล็ดพันธุ์จากผลขนาดใหญ่ ให้ผลดก มีรสชาติอร่อย หากไม่ได้นำเมล็ดไปเพาะทันทีควรใช้ดินหรือทรายกลบรักษาความชุ่มชื้นไว้ก่อน เนื่องจากถ้าทิ้งตากแดดตากลมไว้จนเมล็ดแห้ง จะทำให้การงอกของเมล็ดไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจจะไม่งอกเลยก็ได้
ในการเพาะเมล็ด ให้ใช้ถุงเพาะใส่ดินปลูกจนเต็ม นำเมล็ดพันธุ์ที่จะเพาะวางกดลงไปให้จมดิน นำไปวางในที่ร่มรำไร รดน้ำให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยคอกเล็กน้อย ต้นกล้าจะงอกขึ้นมาหลังจากที่เพาะเมล็ดไปได้ประมาณ ๗ เดือน ในช่วงที่กำลังเพาะต้นกล้า รากของสละอินโดมักแทงออกมานอกถุงเพื่อหาอาหาร หากมีการเคลื่อนย้ายอาจทำให้รากขาดเสียหายและหยุดการเจริญเติบโตได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องย้ายถุงเพาะต้นกล้า ก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง ให้การดูแลบำรุงรักษาจนต้นกล้ามีอายุประมาณ ๑-๒ ปี เพื่อให้ต้นแข็งแรงสมบูรณ์ แล้วจึงค่อยย้ายลงแปลงปลูกต่อไป


การปลูก
ให้ยกร่องแปลงปลูกโดยใช้ระยะ ๒.๕×๓ เมตร ขุดหลุมปลูกให้มีขนาด ๓๐×๓๐ ซม. ในพื้นที่ ๑ ไร่ จะปลูกได้ประมาณ ๓๐๐ ต้น ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่าให้มีน้ำขังบริเวณโคนต้นเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่าได้ ทุกๆ ๑-๒ เดือน ให้ใช้ปุ๋ยคอก เช่น ปุ๋ยขี้ไก่โรยรอบๆ โคนต้นเพื่อเป็นการบำรุง สละอินโดจะแตกหน่อออกมามากหลังจากที่ต้นมีอายุประมาณ ๑ ปี ควรตัดแต่งออกไปให้เหลือไว้แค่กอละ ๓ ต้น เพื่อให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและให้ผลผลิตได้รวดเร็ว หมั่นตัดแต่งหน่อที่ไม่ต้องการออกอยู่เสมอๆ
เมื่อสละอินโดมีอายุได้ประมาณ ๑-๒ ปี ก็จะเริ่มมีดอก การช่วยผสมเกสรให้ต้นสละอินโดจะทำให้ติดผลได้เร็ว สามารถทำได้โดยนำผงสีเหลืองจากเกสรดอกตัวผู้มาใส่ในเกสรดอกตัวเมียที่มีสีแดง หลังจากผสมเกสรได้ประมาณ ๖ เดือน ก็จะเริ่มให้ผลผลิต หากมีการติดผลในปริมาณมากจนแน่น ก็ให้เด็ดทิ้งไปจนเหลือปริมาณที่พอเหมาะกับความสมบูรณ์ของต้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ไม่ควรตัดแต่งทางใบที่รองรับทะลายผลของสละอินโดก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกเสียจากจะเป็นใบที่เหลืองจนหมดสภาพแล้วเท่านั้น เมื่อตัดแล้วก็นำไปคลุมรอบโคนต้น โดยคว่ำด้านที่มีหนามลงดิน เพื่อให้เป็นปุ๋ยหมักบำรุงต้นต่อไป ส่วนใบที่กีดขวางการทำงานแต่ยังมีสภาพดีอยู่ ก็ให้ผูกรวบไว้ด้วยเชือกไนล่อน


โรคพืช
ต้องให้การดูแลรักษาต้นสละอินโดมากเป็นพิเศษในช่วงปลายของฤดูฝน เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโคนเน่าจากน้ำที่ท่วมขัง ทำให้ใบสละแห้งและลุกลามไปยังต้นอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกันได้ โรคนี้มักหยุดการระบาดเมื่อมีฝนรอบใหม่ตกลงมา หากดินที่ใช้ปลูกมีสภาพเป็นดินเหนียวมีการระบายน้ำได้ไม่ดี ก็อาจให้ทำโรคชนิดนี้ได้เช่นกัน


การเก็บเกี่ยวผลผลิต
สละอินโดจะเริ่มให้ผลผลิตหลังจากที่ย้ายลงปลูกในแปลงได้ประมาณ ๒ ปี ผลภายในช่อหนึ่งๆ มักจะสุกไม่พร้อมกัน ผลที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ต้องมีผลขนาดใหญ่ กลิ่นหอม รสหวานอร่อยไม่ฝาด ใช้มีดที่คมและสะอาดตัดช่อสละด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลหลุดร่วง ขนาดผลที่มีคุณภาพจะมีขนาดใหญ่ประมาณ ๑๗-๑๘ ผล/กิโลกรัม ในแต่ละต้นจะให้ผลผลิตได้ประมาณ ๑๐-๑๕ กก./ปี นำไปจำหน่ายได้ในราคาค่อนข้างสูง


ต้นสละอินโด จะมีการแตกหน่ออ่อนขึ้นมาใหม่ตามธรรมชาติตลอดเวลาเหมือนต้นไผ่ โดยหน่อใหม่จะขึ้นมาแทนที่หน่อที่ตายไป หากให้การดูแลบำรุงรักษา และจัดการเรื่องโรคระบาดได้เป็นอย่างดี ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 26 ก.พ. 2017 2:46 pm

๑๐ สมุนไพรรักษา "ริดสีดวง" ชะงัด

AAmQi0T.jpg
AAmQi0T.jpg (43.06 KiB) เปิดดู 9192 ครั้ง


เชื่อว่าแทบจะทุกคนคงจะผ่านประสบการณ์การเป็น โรคริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) กันมาบ้าง เป็นโรคที่พบบ่อยมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย และเมื่อเกิดอาการก็เพิ่มความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันมากทีเดียว ดังนั้น หากใครกำลังมองหาวิธีแก้โรคนี้กันอยู่ อย่าปล่อยให้มันอยู่กับเรานานเกินไป เพราะนอกจากตัวยาและการฉีดรักษาแล้ว ยังมีวิธีแก้ให้หายขาดด้วย"สมุนไพรไทย"หลายชนิด

เพชรสังฆาต-อัคคีทวาร

- ว่านหางจระเข้ ทำความสะอาดทวารหนักให้สะอาดและแห้ง ควรปฏิบัติหลังจากอุจจาระ หลังอาบน้ำ หรือก่อนนอน ปอกส่วนนอกของใบว่านหางจระเข้ แล้วเหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อยเพื่อใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ถ้าจะให้เหน็บง่ายควรนำไปแช่ตู้เย็นให้วุ้นว่านหางแข็งตัวพอที่จะสอดเข้าไปได้ง่ายขึ้น และควรหมั่นเหน็บวันละ ๑-๒ ครั้ง จนกว่าจะหาย - ขลู่ ใบของต้นขลู่มีกลิ่นหอม นำมาต้มเป็นชาขลู่ดื่มแก้ริดสีดวงทวารหนัก หรือจะใช้เปลือกต้นต้มน้ำ ให้ไอของต้นรมทวารหนักรักษาอาการอักเสบได้ อีกทั้ง ยังเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วในไต ช่วยย่อยอาหาร และรักษาริดสีดวงจมูกได้ด้วยเช่นกัน

- หญ้าขัดหลวง นำราก ๑๕๐ กรัม ต้มพอเดือด คั้นเอาแต่น้ำข้นๆดื่ม ๑ ถ้วยชา ที่เหลือนำไปอุ่นเพื่อให้มีไอไว้รมที่ก้นพออุ่นๆ ใช้รมวันละ ๕-๖ ครั้ง จากนั้นล้างแผลด้วยน้ำอุ่น

- อัคคีทวาร นำรากหรือต้นยาว ๑-๒ นิ้ว ฝนกับน้ำปูนใส แล้วนำมาทาที่ริดสีดวงทวาร หรือจะนำใบ ๑๐-๒๐ ใบ ตากแห้ง บดให้เป็นผง แล้วคลุกกับน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นเม็ดขนาดพอเหมาะ กินครั้งละ ๒-๔ เม็ด ทุกๆวันติดต่อกัน ๗-๑๐ วัน แต่ถ้าใครสะดวกใช้ใบแห้งป่นเป็นผง โรยในถ่านไฟ เผาเอาควันรมหัวริดสีดวงที่งอกออกมา มันจะค่อยๆยุบและหดหายไปเอง

ขลู่-แมงลัก

- เพชรสังฆาต : ใช้เพชรสังฆาตสด ๑ ปล้อง หั่นเป็นข้อเล็กๆ แล้วหุ้มด้วยกล้วยสุก หรือมะขามเปียก แล้วกลืนวันละ ๒ ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น ให้กินติดต่อกันเป็นเวลา ๑๐-๑๕ วัน อาการริดสีดวงจะค่อยๆ บรรเทาและหายในที่สุด

- แมงลัก ใช้เมล็ดแมงลัก ๑ ช้อนแกง ผสมน้ำสุกอุ่น ทิ้งให้บานเต็มที่ ใส่น้ำมากหน่อย ดื่มก่อนนอนเป็นประจำ

- กระเจี๊ยบมอญ ช่วยหล่อลื่น ลดการอักเสบ โดยกินเป็นผักในปริมาณมากๆ ต่อเนื่องเป็นประจำ

- ย่านาง ใช้รากสดหรือแห้ง ๑ กำมือ ต้มกับน้ำ ๓-๔ แก้ว ต้มเดือด ๓๐ นาที ดื่มแทนน้ำครั้งละ ๑ แก้ว

- ไผ่รวก เป็นยาเย็น นำต้นและรากอย่างละ ๑ กำมือ ใส่น้ำพอท่วมยา เติมเกลือแกงเล็กน้อย พอให้มีรสเค็ม ดื่มแทนน้ำ หรือวันละ ๔-๕ แก้ว นาน ๑๕ วัน และ

- เหงือกปลาหมอ สมุนไพรรสร้อน มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้กับพริกไทยในสัดส่วน ๒ : ๑ ตากแห้ง ตำผง ผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นลูกกลอ กินครั้งละ ๑-๒ เม็ด ก่อนอาหาร วันละครั้ง

ไผ่รวก-ว่านหางจระเข้

วิธีป้องกัน - กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้ต่างๆ ข้าวกล้อง ถั่ว น้ำลูกพรุน เม็ดลูกพรุน เพื่อให้การขับถ่ายคล่องตัวและไม่เสี่ยงกับอาการท้องผูก

- ดื่มน้ำสะอาดวันละ ๘-๑๐ แก้ว เพราะน้ำมีส่วนช่วยให้กากอาหารอ่อนตัว ช่วยให้อาหารเคลื่อนผ่านลำไส้ได้สะดวกขึ้น

- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะไม่เพียงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการเคลื่อนที่ ทำให้สุขภาพแข็งแรงด้วย

- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ กาแฟ ชา น้ำอัดลม เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุจจาระแข็ง และถ่ายลำบาก
- ไม่ควรกลั้นอุจจาระเป็นเวลานาน

- หลีกเลี่ยงการนั่งอุจจาระเป็นเวลานานๆ อย่านั่งอ่านหนังสือหรือเล่นมือถือไปด้วย

- ควรหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณทวารหนักอย่างรุนแรง

กระเจี๊ยบมอญ-หญ้าขัดหลวง

ริดสีดวงทวารเกิดขึ้นได้กับทุกๆคน ดังนั้น ใครที่ยังไม่เป็นโรคนี้ก็ควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีตามคำแนะนำเบื้องต้น หรือหากใครที่เป็นอยู่แล้วก็พยายามดูแลตัวเองรวมทั้งรักษาให้ถูกวิธีด้วย

แหล่งที่มา : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากรพะราชดำริ,โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 26 ก.พ. 2017 2:50 pm

ผักสวนครัว" ฆ่าแมลงตายเรียบ

AAmRzkA.jpg
AAmRzkA.jpg (35.24 KiB) เปิดดู 9192 ครั้ง


สมุนไพรของไทยนั้นมีประโยชน์นับพันประการ เพราะนอกจากจะเป็นยารักษาโรคแล้ว ยังช่วยกำจัดศัตรูพืชได้แบบอยู่หมัด จึงรวบรวมผักสวนครัวหลากชนิดที่กำจัดศัตรูพืชอย่างได้ผล มาให้ทุกท่านได้ทราบกัน

- กระเพรา ส่วนที่ใช้คือใบ ยอดสด และยอดแห้ง ทุกส่วนที่กล่าวมาทั้งหมด ป้องกันมด แมลงวัน และยุง

- ขึ้นฉ่าย ส่วนที่ใช้คือใบ และต้น ป้องกันด้วงงวง ด้วงปีกแข็ง บุ้ง มอดเจาะไม้ และม่วนปีกแข็ง

- พริก ส่วนที่ใช้คือผลและราก ป้องกันด้วงงวง ด้วงปีกแข็ง

บวบเหลี่ยม-กระเทียม

- ขิง ส่วนที่ใช้คือเหง้า ป้องกันแมลงวันทอง มด แมลงวัน และยุง

- ขมิ้น ส่วนที่ใช้คือเหง้า ป้องกันแมลงวันทองได้

- ข่า ส่วนที่ใช้คือเหง้าสด และเหง้าแห้ง ป้องกันมด แมลงวัน และยุง

- บวบเหลี่ยม ส่วนที่ใช้คือดอกและเมล็ด ป้องกันด้วงงวง ด้วงปีกแข็ง และบุ้ง

- สะเดา ส่วนที่ใช้คือเมล็ด และใบ สำหรับป้องกันแมลง

AAmRkfj.jpg
AAmRkfj.jpg (36.39 KiB) เปิดดู 9192 ครั้ง


ข่า-ขิง

- กระเทียม ส่วนที่ใช้คือหัว หัวของมันป้องกันมด แมลงวัน และยุง

- กะหล่ำปลี ส่วนที่ใช้คือใบของมัน ใบของกะหล่ำปลีป้องกันหนอนกระทู้ และหนอนชอนใบ

ส่วนผสม - สารป้องกันแมลงศัตรูพืชพืชสมุนไพร ๓๐ กก. กากน้ำตาล ๑๐ กก. น้ำ ๕๐ ลิตร สารเร่งพด.๗ จำนวน ๑ ซอง ประมาณ ๒๕ กรัม

วิธีทำ -

๑.สับพืชสมุนไพรให้เป็นชิ้นเล็กๆ จะทุบหรือตำให้แตกก็ได้

๒.นำพืชสมุนไพรและกากน้ำตาลผสมลงในถังหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากัน

๓.ละลายสารเร่งในน้ำ ๕๐ ลิตร ผสมให้เข้ากัน ๕ นาที

๔.เทสารละลายสารเร่ง ใส่ลงในถังหมัก คลุกเคล้าหรือละลายให้ส่วนผสมเข้ากันอีกครั้ง

๕.ปิดฝาไม่ต้องสนิท ทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ ๒๐ วัน

ขึ้นฉ่าย-พริก

วิธีใช้ - สารที่เจือจางแล้ว ๑:๕๐๐ อัตรา ๕๐๐ ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในพืชไร่ พืชผักและไม้ดอก

- สารที่เจือจางแล้ว ๑:๒๐๐ อัตรา ๑๐๐ ลิตรต่อไร่ สำหรับใช้ในไม้ผล

- โดยฉีดพ่นสารเหล่านั้นที่ใบหรือลำต้น และรดลงดินทุก ๒๐ วัน หรือถ้าในช่วงที่แมลง ศัตรูพืชระบาด ให้รดทุกๆ ๓ วัน ติดต่อกัน ๓ ครั้ง

แหล่งที่มาข้อมูล - สํานักเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย pasasiam » อังคาร 14 มี.ค. 2017 6:31 pm

ผักไฮโดรโปนิกส์

60.jpg
60.jpg (284.52 KiB) เปิดดู 12006 ครั้ง


ไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) หรือ ผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การปลูกผักโดยไม่ใช้ดิน หรือเป็นการปลูกพืชผักในน้ำที่มีธาตุอาหารพืชละลายอยู่ หรือเป็นการปลูกพืชในสารละลายธาตุอาหารพืช และอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ผักไร้ดิน” ก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืชที่กำลังได้รับความนิยม โดยเฉพาะการปลูกพืชผักที่เราใช้เป็นอาหาร เนื่องจากการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดพื้นที่ในการปลูกและไม่ปนเปื้อนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่มีความสะอาดเป็นอาหาร

ในอดีตตัวอย่างของความพยายามในช่วงแรก ๆ ที่จะปลูกพืชไร้ดินก็คือ สวนลอยบิบาโลน (ราว 600 ปีก่อนครีสตกาล) และสวนลอยแห่งอัสเต็กซ์ (คริสต์ศตวรรษที่ 11) ส่วนนักวิจัยการปลูกปลูกพืชไร้ดินคนแรก ๆ ก็คือ ชาวอังกฤษที่ชื่อ จอห์น วูดเวิด (John Woodward) เมื่อปี ค.ศ.1700 เขาได้ทดลองปลูกพืชในน้ำ โดยได้เติมดินลงไปหลายชนิด ซึ่งการปลูกครั้งนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่านอกจากน้ำแล้วยังมีสารอื่น ๆ ที่พืชต้องการ และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักสรีรวิทยาพืชชาวเยอรมัน ชื่อซาคส์ (Sachs) และคนอพ (Knop) ได้ทำการปลูกพืชในสารละลายอย่างง่ายของเกลืออนินทรีย์ ส่วนศาสตราจารย์ Gericke แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และเมื่อปี ค.ศ.1929 เขาได้แสดงให้เห็นว่าพืชสามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่ต้องใช้ดิน และสามารถเจริญเติบโตไปได้จนเต็มที่ โดยเขาได้ทำการปลูกมะเขือเทศในน้ำจนได้ผลขนาดใหญ่อย่างน่าแปลกใจ และเขาได้ทำการเทียบคำศัพท์ในภาษากรีก ที่มีความหมายว่า “การเกษตร” คือ geoponics ที่หมายถึง ศาสตร์แห่งการปลูกพืชโดยใช้ดิน ด้วยเหตุนี้เขาจึงคิดคำใหม่ว่า “ไฮโดรโปนิกส์” (hydroponics) ที่หมายถึง การปลูกพืชในน้ำ ซึ่งมาจากภาษากรีกคำว่า hydros ที่แปลว่าน้ำ และ ponos ที่แปลว่างาน ซึ่งเมื่อนำมารวมกันจะมีความหมายว่า “การทำงานที่เกี่ยวกับน้ำ”

ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า “ไฮโดรโปนิกส์” (hydroponics) มาจากการผสมคำระหว่างคำ 3 คำ คือ ไฮโดร (hydro) ที่แปลว่าน้ำ, โปโนส (ponos) ซึ่งเป็นภาษากรีกที่แปลว่าการทำงาน, และคำว่า อิกส์ (ics) ที่แปลว่าศาสตร์หรือศิลปะ เมื่อรวม 3 คำเข้าด้วยกันจึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า “ศาสตร์หรือศิลปะว่าด้วยการทำงานของน้ำ”

ในปัจจุบันก็มีเทคนิคการปลูกผักแบบไร้ดินกันหลากหลายรูปแบบด้วยกัน มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการปลูกพืชในน้ำเท่านั้น เพราะบางกรณีจะมีการใช้วัสดุปลูกทดแทนดินทั้งหมดและรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืช หรือที่เรียกกันว่า ซับส์เทรต คัลเจอร์ (substrate culture) หรือมีเดีย คัลเจอร์ (media culture) หรือแอกกรีเกตไฮโดรโปนิกส์ (aggregate hydroponics) จากเทคนิคดังกล่าวจึงนิยมเรียกว่า “การปลูกพืชไร้ดิน” หรือ “การปลูกโดยไม่ใช้ดิน” (soilless culture) ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการปลูกพืชในน้ำก็ดี หรือการปลูกพืชด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์รูปแบบอื่น ๆ ก็ดี บางครั้งก็อาจจะเรียกรวมว่า ๆ “soilless culture” แทนคำว่า “hydroponics” ก็ได้ครับ

การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ กับการปลูกผักออแกนิก (การปลูกผักแบบธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติเป็นหลัก) ถ้ามองผิวเผินแล้วจะคิดว่าการปลูกพืชทั้งสองวิธีนี้มีความแตกต่างกันมาก และอาจมองว่าการปลูกผักแบบไร้ไม่เป็นการปลูกผักแบบธรรมชาติ แต่ถ้ามองให้ลึกซึ้งแล้วเราก็จะทราบว่าการปลูกผักทั้งสองวิธีนี้คือการปลูกแบบธรรมชาติเหมือนกัน เนื่องจากปุ๋ยธรรมชาติหรือปุ๋ยอินทรีย์ทั้งหลายเริ่มแรกพืชจะยังนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะจะต้องถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกลายเป็นสารอนินทรีย์ก่อนพืชถึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ในระบบไฮโดรโปนิกส์เราจะให้สารละลายธาตุอาหารที่เตรียมขึ้นจากปุ๋ยอนินทรีย์บริสุทธิ์แทน รากและขนอ่อนก็จะดูดธาตุอาหารและน้ำได้ไม่ว่าจะจากดินหรือจากระบบไฮโดรโปนิกส์ในลักษณะที่เหมือนกัน สรุปก็คือ การปลูกพืชไร้ดินเป็นการปลูกแบบเป็นธรรมชาติเหมือนกับการปลูกบนดิน เพียงแต่เป็นการปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีที่มีการจัดการที่ดีกว่า
ประโยชน์ของระบบไฮโดรโปนิกส์

1. ข้อดีที่เป็นจุดแข็งของผักชนิดนี้ก็การได้ผลผลิตที่สะอาดกว่าการปลูกในดิน ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง ผักที่ได้มีความสวยงามน่ารับประทาน ผักมีรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และผักสดที่ได้จะมีความนุ่มและกรอบกว่าผักที่ปลูกในดิน

2. การปลูกผักแบบไฮโดรไปนิกส์ไม่ต้องใช้ดินในการเพาะปลูก จึงสามารถปลูกได้ทุกที่ ปลูกได้ทั้งพืชขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่ปลูกน้อย (เช่น ผู้ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์) และไม่มีขอบเขตไม่ว่าจะเป็นการปลูกในจำนวนน้อยเพื่อใช้บริโภคเองภายในครัวเรือนหรือปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ในเชิงธุรกิจ ด้วยเหตุนี้เองวิธีนี้จึงเป็นที่นิยมในการปลูกเป็นอย่างมากในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เนเธอแลนด์ เป็นต้น

3. ช่วยทำให้มีสิ่งแวดล้อมในการปลูกที่เราสามารถควบคุมเองได้มากขึ้นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช เพราะเราสามารถกำจัดตัวแปรต่าง ๆ ที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมากเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกผักบนดิน

4. การปลูกผักรูปแบบนี้สามารถนำมาใช้ได้กับพืชหลายชนิด (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในการปลูกด้วย) ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ รวมไปถึงพืชไม้เลื้อยไปจนถึงพืชยืนต้น แต่ในด้านการผลิตเชิงธุรกิจแล้ว จะนิยมปลูกพืชจำพวกผักและไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่เก็บเกี่ยวช่วงอายุสั้นกันมากกว่า

5. พืชผักเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้เร็วกว่าการปลูกพืชผักในดินอย่างน้อยประมาณ 1-2 สัปดาห์

6. ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพและมีความสม่ำเสมอมากกว่าการเพาะปลูกในดินปกติ เพราะสามารถจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมต่อพืชที่ปลูกได้ จึงสามารถผลิตพืชได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพราะสามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มาก มีอายุสั้น และได้คุณภาพสูง

7. ระบบการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะช่วยประหยัดน้ำมากกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติไม่น้อยกว่า 10 เท่า จึงทำให้สามารถปลูกพืชผักได้แม้ในฤดูแล้งหรือนอกฤดูกาลได้ และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอีกด้วย

8. การปลูกผักประเภทนี้จะมีความสม่ำเสมอของการให้น้ำได้ดีกว่าการปลูกพืชผักในดินปกติ และยังสามารถควบคุมการให้น้ำได้ตามความต้องการของพืชได้ด้วย

9. เราสามารถควบคุมการให้ธาตุอาหารของพืชผักได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน เพราะช่วยแก้ปัญหาความไม่สม่ำเสมอของธาตุอาหารในดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน ช่วยควบคุมปริมารและรูปของจุลธาตุที่พืชผักต้องการจำนวน 7 ธาตุ (ธาตุเหล็ก, โบรอน, คลอรีน, แมงกานีส, โมลิบดีนัม, ทองแดง, สังกะสี) ให้อยู่รูปที่รากของพืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้และไม่ให้ในปริมาณที่มากเกินไปจนเป็นพิษต่อพืชผักที่ปลูก ช่วยควบคุมค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ได้ง่าย ซึ่งค่า pH นี้เองที่มีส่วนในการควบคุมรูปของธาตุอาหารให้อยู่ในรูปแบบที่พืชผักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที อีกทั้งวิธีการนี้ยังช่วยให้ธาตุอาหารของพืชไม่สูญหาย ทั้งในรูปแบบการถูกชะล้างไปจากดิน การจับตัวกับธาตุบางชนิดในดินที่ตกตะกอนไป หรือการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบที่พืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมผลตกค้างองการมีธาตุอาหารสะสมในพืช ในดิน และในสภาพแวดล้อมจนเกิดเป็นพิษต่อระบบนิเวศ

10. การปลูกพืชผักแบบไฮโดรโปนิกส์สามารถควบคุมโรคในดินได้ง่ายกว่าการปลูกพืชผักในดิน

11. เนื่องจากเป็นการปลูกพืชผักโดยไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืชมารบกวน ไม่ต้องทำการจัดการดิน และยังสามารถปลูกพืชผักใกล้กันมากได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์มีผลผลิตที่มากกว่าเดิมในพื้นที่จำกัด

12. หมดปัญหาเรื่องสภาพดินในการที่ไม่มีความเหมาะสม เช่น ดินเค็ม ดินเป็นกรดหรือด่าง รวมไปถึงสภาพการขาดแคลนน้ำต่าง ๆ

13. การจัดการลดปริมาณของไนเตรทในพืชที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินจะทำได้ง่ายกว่าพืชที่ปลูกบนดิน เพราะเราสามารถกำหนดใช้ความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหารที่ปลูกเลี้ยงได้ระดับต่ำ หรือเลือกใช้สารละลายธาตุอาหารที่มีความเข้มข้นต่ำมาก นอกจากนี้การลดไนเตรทยังทำได้ด้วยการให้พืชได้รับแสงเพียงพอและอย่าให้พืชขาดโมลิบดีนัม (พืชผักที่มีไนเตรทสูง เมื่อนำมาบริโภคจะเกิดโทษต่อร่างกาย เพราะไนเตรทเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นไนไตรท์ ซึ่งสามารถยับยั้งการพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกายของเม็ดเลือดแดงได้ ทำให้เกิดอาการขาดอากาศเฉียบพลัน และยังสามารถไปรวมกับสารประกอบอะมีนในร่างกาย และกลายเป็นไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่งได้)

14. การปลูกผักแบบไร้ดินก็มีประโยชน์ในด้านภูมิทัศน์เช่นกัน เพราะเราสามารถผลิตพืชสวนประดับเพื่อใช้ประดับอาคารได้

15. ช่วยในการประหยัดต้นทุนต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงาน เนื่องจากการปลูกผักในระบบนี้จะเป็นระบบที่ไม่ต้องมีการเตรียมแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่เหมือนการปลูกพืชผักในดิน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องการเตรียมดิน การยกร่อง ค่าปุ๋ย รวมไปถึงค่ากำจัดวัชพืชต่าง ๆ และช่วยลดการนำเข้าของผักและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดค่าขนส่งได้อีกด้วย เพราะเราสามารถเลือกผลิตใกล้แหล่งรับซื้อได้ จึงทำให้มีศักยภาพในเชิงการค้าสูง

16. สามารถสร้างอาชีพทำรายได้ให้กับบุคคลทั่วไปที่สนใจ และผู้ด้อยโอกาสทางร่างกายได้ เช่น ผู้พิการโดยกำเนิด ทหารผ่านศึกที่ได้รับความพิการจากการสู้รบ เป็นต้น

17. ในด้านประโยชน์อย่างอื่น เช่น มีประโยชน์ในด้านการส่งเสริมการนันทนาการในครอบครัว เพราะการปลูกผักไว้เพื่อบริโภคภายในครอบครัวก็ช่วยทำให้เกิดความเพลินเพลินใจและทำให้รู้หลักการปลูกพืชในเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และการปลูกพืชไร้ดินยังมีประโยชน์ในด้านการศึกษาอีกด้วย เช่น การศึกษาทดลองของนักเรียน นักศึกษา รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจ เป็นต้น

18. ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ เนื่องจากเราสามารถควบคุมอุณหภูมิของสารอาหารและจัดการผลิตพืชผักเมืองหนาวที่เป็นคุ้นเคยของชาวต่างชาติได้ มันจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานได้บริโภคพืชผักที่ตนคุ้นเคย

19. การปลูกพืชผักไร้ดินกับโครงการอวกาศ จะทำให้ยานอวกาศหรือสถานีอวกาศสามารถปลูกพืชผักไรดินได้เอง และการปลูกพืชผักไร้ดินไม่เพียงแต่จะก่อประโยชน์กับชีวิตและความเป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในอนาคตเป็นอย่างมาก


ข้อเสียของระบบไฮโดรโปนิกส์

• การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์จะมีต้นทุนการผลิตเริ่มต้นค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้อุปกรณ์ในการเพาะปลูกต่าง ๆ มากมายและมีราคาแพง แต่มีศักยภาพในการคืนทุนเร็ว (ในปัจจุบันเราสามารถหาซื้อชุดปลูกผักสำเร็จรูปได้ในแบบราคาย่อมเยา หรือจะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำเองก็ได้)

• ผู้ปลูกต้องมีความชำนาญและมีประสบการณ์มากพอสมควรในการควบคุมดูแล เพราะถ้าไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถในการจัดการที่ดีพอก็อาจทำให้พืชผักที่ปลูกมีปริมาณธาตุอาหารในพืชสูงได้

• ผู้ปลูกจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของสรีรวิทยาของชนิดพืชที่จะปลูก รวมไปถึงพื้นฐานทางเคมีและธาตุอาหารที่พืชต้องการ

• การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ต้องมีการควบคุมดูแลอย่างสม่ำเสมอ

• วัสดุที่ใช้ในการเพาะปลูกบางอย่างจะเน่าเปื่อยหรือสลายตัวได้ยาก ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ

• มีข้อจำกัดของชนิดพืชที่ปลูกมีค่อนข้างสูง ทำให้การเลือกพืชที่จะเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์จะต้องมีการศึกษาตลาดอย่างถี่ถ้วน และควรเป็นพืชที่แตกต่างจากพืชที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปบนดิน

• นอกจากนี้ในบริเวณที่จะติดตั้งระบบไฮโดรโปนิกส์ จะต้องมีระบบไฟฟ้าและระบบน้ำที่พร้อม เนื่องจากเป็นพื้นฐานของการติดตั้งระบบการปลูกด้วยวิธีนี้

ประโยชน์ของผักไฮโดรโปนิกส์

1. ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย

2. มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง เนื่องจากการปลูกผักไร้ดินเป็นการนำสารละลายธาตุอาหารมาละลาย โดยใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการพืช เช่นเดียวกับการปลูกพืชบนดิน แต่ต่างกันตรงที่ผักที่ปลูกในดินจะต้องอาศัยจุลินทรีย์มาเปลี่ยนเป็นอาหาร ทำให้บางครั้งหากในดินมีธาตุโลหะหนักที่เป็นพิษต่อผู้บริโภค จุลินทรีย์ก็จะเปลี่ยนให้พืชสามารถดูดธาตุที่เป็นพิษเข้าไปได้ ในขณะที่การปลูกพืชไร้ดิน จะสามารถควบคุมแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ ผู้บริโภคจึงได้รับประทานผักสดสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง

3. ข้อดีของการบริโภคผักไฮโดรโปนิกส์ คือ การคงคุณประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดของผักเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น กากใยอาหาร ที่เป็นตัวช่วยในการล้างผนังลำไส้และเป็นตัวช่วยในการขับถ่าย

4. มีการรับรองว่าพืชผักไร้ดินจะมีปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชผักที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย แต่พืชผักไร้ดินจะมีกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยและมีรสชาติน่าชวนชิมมากกว่าพืชผักที่ปลูกบนดิน

5. ผักไฮโดรโปนิกส์ที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัดที่นำมารับประทานสด เช่น ผักกรีนคอส (Green Cos) เป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง นอกจากจะใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดแล้ว ยังนิยมนำไปผัดน้ำมันอีกด้วย, ผักกรีนโอ๊ค (Green Oak) หรือ ผักเรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี โฟเลท และธาตุเหล็ก, ผักเรดคอรัล (Red Coral) เป็นผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร โฟเลท สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน, ผักบัตเตอร์เฮด (Butterhead) เป็นผักที่อุดมไปด้วยโฟเลทและสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

ความปลอดภัยของผักไฮโดรโปนิกส์

ความปลอดภัยในการบริโภคผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นสิ่งที่ถูกถามกันมามากคำถามหนึ่ง ด้วยความกังวลที่ว่าผักชนิดนี้ต้องแช่ในสารละลายธาตุอาหารที่เป็นสารเคมีอย่างหนึ่ง เมื่อบริโภคเข้าไปอาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูดกินอาหารทางรากในรูปของแร่ธาตุที่อยู่ในรูปของอิออนหรือประจุเท่านั้น แม้ว่าเราจะปลูกพืชลงในดินแล้วทำการให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อพืชจนกว่าจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินจนกระทั้งกลายเป็นแร่ธาตุที่อยู่ในลักษณะของเคมีธาตุอาหารพืช แล้วละลายอยู่ในน้ำในดิน จากนั้นพืชจึงดูดซึมไปใช้งานได้
สรุปแล้วก็คือ ไม่ว่าเราจะปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์หรือปลูกพืชในดิน พืชก็จะต้องดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ ซึ่งก็เรียกว่าเป็น “เคมี” เช่นกัน โดยพืชจะนำเอาแร่ธาตุต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ โปรตีน แป้ง ไขมัน หรือวิตามินต่าง ๆ ให้มนุษย์นำมาบริโภคอีกที ดังนั้น ถ้าคุณไม่กังวลว่าจะรับประทานผักที่ปลูกบนดินด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คุณก็ไม่ควรที่จะกังวลกับการบริโภคผักที่ปลูกในสารละลายหรือผักไฮโดรโปนิกส์เช่นกัน

ส่วนเรื่องการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจนนั้น ที่พืชต้องการนำไปใช้มากในช่วงการพัฒนาด้านลำต้น กิ่ง หรือใบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกรูปแบบใดก็จะต้องพบว่ามีไนเตรทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้ามีไม่เกิน 2,500-3,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัมน้ำหนักสดของผัก ก็ถือว่าเป็นผักที่ปลอดภัยครับ และในประเทศไทยเราเองก็มีแสงแดดค่อนข้างจัด พืชจึงมีการสังเคราะห์แสงค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทในต้นพืชกลายเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้มีปริมาณของไนเตรทลดลง อีกทั้งการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ก็สามารถลดไนเตรทก่อนการเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยการงดให้ธาตุอาหารหรือเลี้ยงพืชในอัตรา EC ต่ำกว่า 1.0 ประมาณ 1-3 วัน ก่อนเก็บเกี่ยวพืชก็จะสามารถช่วยลดปริมาณของไนเตรทได้
คำแนะนำสำหรับบางท่านที่อาจมีความสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสารตกค้างที่มีอยู่ในผักไฮโดรโปนิกส์ วิธีการรับประทานผักไฮโดรไปนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผักที่หาซื้อมาจากตลาดหรือปลูกได้เองจากแปลง ก่อนนำมาบริโภคให้นำผักไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ผักจะอิ่มตัว และคายสารที่ตกค้างออกมาทั้งหมด ทำให้สามารถนำมาบริโภคได้อย่างปลอดภัย

References ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย pasasiam » พุธ 15 มี.ค. 2017 6:53 pm

#วิธีปลูกต้นหม่อนกินผลสด

17353578_1254125361331964_2487844512618986380_n.jpg
17353578_1254125361331964_2487844512618986380_n.jpg (57.98 KiB) เปิดดู 12004 ครั้ง


ระยะปลูก อาจปลูกเป็นแถว แต่ละต้นห่างกัน 4 เมตร เพื่อเผื่อรัศมีทรงพุ่มไว้อย่างน้อย 2.00 เมตร หรือจะปลูกในแปลงพื้นที่สี่เหลี่ยมด้วยระยะปลูก 4.00 x 4.00 เมตรก็ได้

การเตรียมหลุมปลูก ขุดหลุมลึก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 10 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปูนโดโลไมท์หรือปูนขาว ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อหลุม และปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัมต่อหลุม หรือจะให้แม่นยำต้องใส่ตามค่าการวิเคราะห์ดิน คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วกลบหลุมด้วยหน้าดินให้พูนเล็กน้อย

วิธีการปลูก ขุดดินบนหลุมที่เตรียมไว้ให้ลึกพอประมาณ แล้วนำต้นหม่อนที่เตรียมไว้ด้วยวิธีการต่างๆลงปลูกกลบดินให้แน่น

การบังคับทรงต้น ต้นหม่อนที่ปลูกจากกิ่งชำชนิดล้างราก หรือชนิดชำถุง หรือปลูกด้วยท่อนพันธุ์จากกิ่งพันธุ์โดยตรง เมื่อต้นหม่อนเจริญเติบโตได้ประมาณ 6-12 เดือน จะต้องบังคับทรงพุ่มโดยตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียงกิ่งเดียวไว้เป็นต้นตอ

มีความสูงประมาณ 80-100 เซนติเมตร จากพื้นดิน ปล่อยให้หม่อนแตกกิ่งใหม่หลายๆกิ่ง เก็บกิ่งที่สมบูรณ์ไว้ กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้ตัดทิ้งเพื่อให้ด้านล่างโปร่ง ง่ายต่อการปฏิบัติดูแลรักษาด้านเขตกรรมต่างๆ เช่น การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย การพรวนดิน การตัดแต่งกิ่งแขนงและการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น อนึ่งสำหรับหม่อนที่ปลูกในปีแรกๆ ลำต้นและระบบรากยังเจริญเติบโตไม่มาก อาจจะหักล้มได้ง่าย ดังนั้นจะต้องทำการยึดลำต้นไว้ด้วยไม้ หรือไม้ไผ่ให้แน่นหนา

การใส่ปุ๋ย ในปีที่ 2 ให้ใส่ปูนขาวหรือปูนโดโลไมท์ตามการวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดินเพิ่ม ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 10 กิโลกรัมต่อต้น ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 250 กรัมต่อต้น

การให้น้ำ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้น้ำหม่อนในระยะที่หม่อนติดผลแล้ว (โดยปกติจะมีฝนหลงฤดูหรือฝนชะช่อมะม่วงผ่านเข้ามา จะทำให้ต้นหม่อนแตกตาติดดอก ถ้าไม่มีฝนหลงฤดู หลังโน้มกิ่ง รูดใบ ต้องให้น้ำกระตุ้นการแตกตาแทนน้ำฝน) หากขาดน้ำจะทำให้ผลหม่อนฝ่อก่อนที่จะสุก หรือทำให้ผลหม่อนมีขนาดเล็ก

การตัดแต่งกิ่งและการดูแลรักษาทรงพุ่ม ตัดเฉพาะกิ่งแขนงที่ไม่สมบูรณ์และเป็นโรคทิ้ง เพื่อลดการสะสมโรคและแมลการบังคับให้หม่อนติดผลนอกฤดูกาล ใช้วิธีการบังคับต้นหม่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตผลหม่อนในระยะเวลาที่ต้องการ มีวิธีการดังนี้

1) ทำการโน้มกิ่งหม่อนที่ปลูกแบบทรงพุ่ม โดยการโน้มกิ่งให้ปลายยอดขนานกับพื้น หรือโน้มลงพื้นดิน รูดใบหม่อนออกให้หมด พร้อมทั้งตัดยอดส่วนที่เป็นกิ่งสีเขียวออกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ใช้เชือกผูกโยงติดไว้กับหลักไม้ไผ่ ซึ่งปักไว้บนพื้นดินสำหรับยึดเชือกไว้

2) หลังการโน้มกิ่ง 8-12 วัน ดอกหม่อนจะแตกออกพร้อมใบ จากนั้นจะมีการพัฒนาการของ ผลหม่อน โดยผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีขาว สีชมพู สีแดง และสีม่วงดำ ตามลำดับ โดยใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ผลจะเริ่มแก่และสุก สามารถเก็บไปรับประทานสดหรือนำไปแปรรูปได้ มีระยะเวลาในการเก็บผลประมาณ 30 วันต่อต้น เพราะผลหม่อนจะทยอยสุก เนื่องจากออกดอกไม่พร้อมกัน

เมื่อต้นหม่อนมีอายุตั้งแต่ 2 ปี เป็นต้นไปจะให้ผลผลิตผลหม่อนประมาณ 1.5-35 กิโลกรัม(ประมาณ 750-1,850 ผลต่อครั้งต่อต้น) เพียงพอต่อการบริโภคผลสดทั้งครอบครัวทุกวัน ตลอดปี ซึ่งร่างกายต้องการวันละ 10-30 ผลเท่านั้น อีกทั้งยังมีผลหม่อนสดไว้แปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้อีกหลายชนิด เช่น น้ำหม่อน แยมหม่อน เชอเบทหม่อน ฯลฯ

ที่มา ศูนย์รวมความรู้เกษตร
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง บ้านเพียงพอ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน

cron