เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

ทำสวนผสมผสานทั้งปลูกพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 7:42 am

การเพาะเลี้ยงปลาช่อน

cropped-e0b88ae0b988e0b8ade0b899.jpg
cropped-e0b88ae0b988e0b8ade0b899.jpg (51.21 KiB) เปิดดู 6535 ครั้ง


ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ มีชื่อสามัญ STRIPED ANAKE-HEAD FISH และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striatus ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี ก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขิน ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นปลาโตขนาดตลาดต้องการต่อไป
อุปนิสัย

โดยธรรมชาติปลาช่อนเป็นปลาประเภทกินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งปลาขนาดเล็กและแมลงในน้ำชนิดต่างๆ เป็นอาหารเมื่ออาหารขาดแคลน ปลาจะมีพฤติกรรมกินกันเองโดยปลาช่อนตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก


รูปร่างลักษณะ

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลม ยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่ ปากกว้างมาก มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางกลม ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงสามารถเคลื่อนไหวไปบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ
การผสมพันธุ์วางไข่

ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่ มีนาคม – ตุลาคม ช่วงที่มีความพร้อมที่สุดคือ มิถุนายน – กรกฎาคมในฤดูวางไข่ จะสังเกตความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมียอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาเพศเมีย ลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่ มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวมีสีเข้มใต้คางจะมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าปลาเพศเมีย

ตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งความลึกของน้ำประมาณ 30 –100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพรรณไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลาเพื่อที่จะทำให้พื้นที่เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 –40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางของรัง ส่วนพื้นดินใต้น้ำ ปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ หลังจากที่ปลาช่อนได้ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากินจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลลูกปลาวัยอ่อน เมื่อลูกปลามีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จึงแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ลูกครอก หรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอก ประมาณ 2,000 ตัว ลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลาอีกต่อหนึ่งในราคากิโลกรัมละ 70 – 100 บาท ซึ่งรวบรวมได้มากในระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่มีรูปร่าง ลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ 800 – 1,000 กรัมขึ้นไป และอายุ 1 ปีขึ้นไป

ลักษณะแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปลาช่อนที่ดีซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือสีชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไป เป็นปลาขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน

ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมบริโภค ทำให้ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สำหรับเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรคและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ ลูกปลาช่อนที่เกษตรกรรวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนดังนั้นการเพาะพันธุ์ปลาจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตพันธุ์ปลาช่อน

ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาช่อนที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะมีอายุ 1ปีขึ้นไป ขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0 – 1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำเชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธี คือ

1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5 – 1.0 ไร่ พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1:1 ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณ 2.5 – 3.0 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา

2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาช่อนด้วยวิธีผสมเทียมโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อหรือปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH – a โดยใช้ร่วมกับโดมเพอริโดน (Domperidone)

การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์สามารถฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่นั้น ด้วยการฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับโดมเพอริโดน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับโดมเพอริโดน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8–10 ชั่วโมง สามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสมเทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้ง เพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตัน ภายในถังเพิ่มออกชิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆ ในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน

การฟักไข่

ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30 –35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด – ด่าง 7.8 ความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน

การอนุบาลลูกปลาช่อน

ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใสปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2 – 3 วันจึงพลิกตัวกลับลง และว่ายไปมาตราปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัว เมื่อถุงไข่แดงยุบ วันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดบด โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และพฤติกรรมการกินกันเอง ทำให้ตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำ

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลา

การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป ดังนี้

1. ตากบ่อให้แห้ง

2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน ในอัตราประมาณ 60 – 100 กิโลกรัม / ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน

3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา ในอัตราประมาณ 40 – 80 กิโลกรัม/ไร่

4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก 30–40 เซนติเมตร ระยะไว้ 1 – 2 วันจึงปล่อยลูกปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินหลังจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว

5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในภาชนะลำเลียงและบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า

ขั้นตอนการเลี้ยง

ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด

1. อัตราการปล่อยปลา ลูกปลาขนาด 8 – 10 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 30 – 35 ตัว / กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร / น้ำ 100 ตัน) ในวันแรกที่จะปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4 : 1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ด 40 เปอร์เซ็นต์ รำ 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบนลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2 – 3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด

3. การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30 – 40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำ สัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร จนได้ระดับ 50 เซนติเมตร จึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด มิฉะนั้นปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็ก

4. ผลผลิต หลังจากอนุบาลปลาในช่วง 2 เดือนแล้ว ต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4 – 5 เดือน จะให้ผลผลิต 1 – 2 ตัว/กิโลกรัม เช่นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน จะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม

5. การจับ เมื่อปลาโตได้ขนาดตลาดต้องการจึงจับจำหน่าย ก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1 – 2 วัน

6. การป้องกันโรค โรคของปลาช่อนที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหา คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดการให้อาหารทันที
ผลผลิต

ช่วงเวลาในการเลี้ยงปลาช่อนประมาณ 8 – 9 เดือน สำหรับปลาลูกครอก ส่วนปลาช่อนที่เริ่มเลี้ยงจากขนาดปลารุ่น 20 ตัว / กิโลกรัม ถึงขนาดตลาดต้องการ ใช้เวลาเลี้ยงอีก 5 เดือน น้ำหนักจะอยู่ระหว่าง 0.6 – 1.0 กิโลกรัม โดยทั่วไปน้ำหนักปลาที่ตลาดต้องการขนาด 0.5 – 0.7 กิโลกรัม สำหรับอัตราแลกเนื้อประมาณ 5 – 6 : 1 กิโลกรัม ผลผลิต 12 ตัน/ไร่

สำหรับปลาผอมและเติบโตช้า เกษตรกรเลี้ยงปลาช่อนเรียกว่า ปลาดาบ นอกจากนี้น้ำที่ระบายออกจากบ่อปลาช่อน ควรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลาบึก ปลานิล ฯลฯ

การลำเลียง

ใช้ลังไม้รูปสี่เหลียมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตร ยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร จุปลาได้ 50 กิโลกรัม สามารถขนส่งโดยรถยนต์บรรจุไปทั่วประเทศ จังหวัดสุพรรณบุรีจัดว่าเป็น

แหล่งเลี้ยงและส่งจำหน่ายปลาช่อนอับดับหนึ่งของประเทศโดยส่งไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ สำหรับภาควันออกเฉียงเหนือต้องการปลาน้ำหนัก 300 – 400 กรัม และ 700 – 800 กรัม ส่วนภาคเหนือต้องการปลาน้ำหนักมากกว่า 300 – 400 กรัม และ มากกว่า 500 กรัมขึ้นไป

โรคปลาและการป้องกัน โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ได้แก่

1. โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ แอโรโมนาส โฮโดรฟิลา เฟลคซิแบคเตอร์ คอลัมนาริส และไมโครแบคทีเรียม อาการของโรคโดยทั่วไปที่พบ ได้แก่ ผิวหนังบริเวณเกล็ดเกิดแผลที่มีลักษณะช้ำเป็นจุดแดงๆ สีลำตัวซีดหรือด่างขาว เมือกมากผิดปรกติ เกล็ดหลุด แผลเน่าเปื่อย ว่ายน้ำผิดปรกติ เสียการทรงตัวหรือตะแคงข้าง เอาตัวซุกขอบบ่อ ครีบเปื่อยแหว่งตาฟางหรือตาขุ่นขาว ตาบอด ปลาจะกินอาหารน้อยลง

2. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก อาทิ เห็บระฆัง ปลิงใส ฯลฯ พยาธิเห็บระฆังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นแผลขนาดเล็กตามผิวตัวและเหงือก การรักษาใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ลิตร ต่อน้ำ1,000 ลิตรแช่ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือ 25-50 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง

3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหาร ลดลง การรักษาใช้ยาถ่ายพยาธิ แต่ทางที่ดีควรใช้วิธีป้องกัน

วิธีป้องกันโรค

ในฟาร์มที่มีการจัดการที่ดีจะไม่ค่อยประสบปัญหาปลาเป็นโรคแต่ในฟาร์มที่มีการจัดการไม่ดี ปัญหาปลาเป็นโรคตายมักจะเกิดขึ้นเสมอบางครั้งปลาอาจตายในระหว่างการเลี้ยงสูงถึง 60 –70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับปลาเป็ดที่นำมาใช้เลี้ยงในปัจจุบันคุณภาพมักจะไม่สดเท่าที่ควรและหากมีเศษอาหารเหลือตกค้างในบ่อจะทำให้บ่อเกิดการเน่าเสียเป็นเหตุให้ปลาตาย ดังนั้นจึงควรมีวิธีป้องกันดังนี้ คือ

1. ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยก่อนปล่อยลูกปลา

2. ซื้อพันธุ์ปลาที่มีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรค

3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นอาการผิดปรกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว

4. หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3 – 4 วัน ควรราดน้ำยาฟอร์มาลิน 2 – 3 ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ

100 ตัน และหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 – 5

ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน (การใช้น้ำยาฟอร์มาลินควรระวังเรื่องปริมาณออกซิเจนในน้ำ

ถ้าต่ำมากควรมีการให้อากาศด้วย)

5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับพื้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ

6. อย่าให้อาหารมากเกินความต้องการของปลา

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดีอีกทั้งยัง สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ จึงมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทำให้แนวโน้มด้านการตลาดดี สามารถส่งผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ปัญหาอุปสรรค

1. เนื่องจากปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อและกินจุ จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วงการเลี้ยง

2. ต้นทุนอาหารการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่หากใช้ปลาทะเลเป็นหลักซึ่งมีราคาสูงขึ้นก็จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตปลาช่อนสูงขึ้นตามไปด้วย
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 7:49 am

การปลูกเมล่อน

1755453_1470196451.jpg
1755453_1470196451.jpg (86.27 KiB) เปิดดู 6535 ครั้ง

(ภาพจากฟาร์มเมล่อนเพื่อชุมชนหนองประดู่ เขาอีโก้ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี)

เมล่อน อยู่ในตระกูล Cucurbitaceae ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งพืชตระกูลแตง”กันเลยทีเดียว เพราะเป็นพืชที่มีรสหวาน กลิ่นหอม อร่อย โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา
โดยเมล่อนจะสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม
1. C. melon var.cantaloupensis กลุ่ม Cantaloupe โดยสีของเนื้อเป็นสีส้ม เปลือกจะมีลักษณะผิวขรุขระ เป็นร่องยาว มีน้ำหนักประมาณ 1 – 3 กก.
2. C. melon var. recticulatus กลุ่ม Persian melon, musk melon โดยสีของเนื้อเป็นสีส้ม หรือ สีเขียว เปลือกจะมีลักษณะเป็นตาข่ายสานกัน เป็นลายนูน และจะมีขนาดเล็กกว่าแคนตาลูป
3. C. melon car.conomon กลุ่ม oriental picking melon
4. C. melon var.inodorus กลุ่ม winter melon เป็นเมลอนผิวเรียบ
5. C. melon var,flexuosus กลุ่ม snak melon เป็นกลุ่มของแตงไทย ที่เราคุ้นเคยกัน
โดยเมล่อนจัดว่าเป็นพืชที่โตได้ในดินหลากหลายชนิด แต่ด้วยความที่เมล่อนไม่สามารถอยู่ในน้ำขังได้
แต่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ สภาพดินที่เหมาะสมเลยเป็นดินร่วนปนทราย เพราะระบายน้ำได้ดี และไม่อมน้ำ
แต่ในเมลอนที่มีอายุมากจะต้องการน้ำที่ลดน้อยลง และค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 6.5 – 7 หรือเป็นกลาง และเหมาะกับสภาพอากาศ โดยรากของเมล่อนจะมีระบบรากแก้วที่อาจลงไปในดินลึกถึง 120ซม. และมีรากอยู่เยอะในแนวนอน ซึ่งอยู่ลึกลงไปในดินประมาณ 30ซม. ไม่ร้อนจนเกินไป อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 25 – 35 องศาเซลเซียสต้องการแสงแดดที่เพียงพอให้อบอุ่น และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
การเตรียมดิน
• ดินที่ปลูก ควรเป็นดินร่วนปนทราย
• หลังจากได้ดินแล้ว ก็เริ่มไถหน้าดิน ให้ลึกประมาณ 20-30ซม.
• ตากแดดทิ้งไว้ เพื่อฆ่าเชื้อโรค 13 – 15วัน โดยจำต้องปิดโรงเรือนที่ปลูกให้สนิท
พยายามไม่ให้มีอากาศถ่ายเท เพราะเราต้องการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น
• หลังจากนั้น ดูค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 6.5 – 7 ถ้าดินเป็นกรดให้ใส่ปูนขาวช่วย
• ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก และปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 ประมาณ 40-60 กิโลกรัม/ไร่ และทำการไถแปร
• หลังจากนั้นให้พรวนดิน พร้อมกับยกแปลงให้สูงขึ้น 35 ซม. สันแปลงห่างกัน 1.5เมตร
• วางสายน้ำหยด ในลักษณะหงาย ให้น้ำ เพื่อความชุ่มชื่นของดิน
• คลุมด้วยพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นให้กับดินและกับวัชพืข พร้อมกับเจาะหลุมปลูกไว้ให้ห่างกันประมาณ
50 x 60 ซม. แต่ถ้าหากดินนั้น เคยปลูกเมล่อนมาหลายครั้งติดต่อกัน ควรทำตามขั้นตอนดังนี้ก่อน

• ควรจะ พักการเพาะปลูกประมาณ 2-4 เดือน
• เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง เช่นพืชตระกูลถั่ว
• ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา พร้อมกับปุ๋ยคอก ในการช่วยปรับปรุงสภาพของดิน

วิธีการเพาะกล้าเมล่อน
1.การบ่มเมล็ด
• การบ่มเมล็ดให้เริ่มเหมือนการบ่มทั่วๆไปคือ แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำผสมอโทนิค (ต้องไม่แช่จนมากเกินปริมาณน้ำ) โดยอัตราส่วนคือ น้ำ1ลิตรกับอโทนิค 1 cc. แช่เมล็ด20นาที
• เมื่อแช่จนครบกำหนดเวลาแล้ว ให้วางบนผ้าขาวบาง หรือกระดาษเพาะกล้า
• นำถุพลาสติกมาห่ออีกครั้งและเก็บไว้ในที่มิดชิด และอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ใช้เวลา1วัน

2. เพาะกล้า
• นำดินใส่ลงไปในถาดเพาะกล้า โดยให้วางทำมุม 45องศา ในแนวนอน โหยให้รากแทงลงในดิน ต้องระวังไม่ให้รากอ่อนเสียหาย และกลบด้วยดินเล็กน้อย พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม
• หลังจากนั้น นำถาดเพาะกล้าไปเก็บในที่ๆมีแสงแดด หรือเก็บโรงเพาะกล้า
• ในระยะ 10-15วัน ต้องรดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดทุกวัน
3. ย้ายกล้า
• เริ่มย้ายตั้งแต่อายุไม่เกิน 15วัน หรือ เห็นใบแท้ออกมาได้ประมาณ 2ใบ

สิ่งที่ควรทำและต้องระวังในระหว่างย้ายกล้า
1. ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก ต้องรดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มเป็นเวลา 2วัน
2. ควรระวังไม่ให้รากขาดหรือได้รับการกระทบกระเทือนมาก เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี
3. ฉีดยาป้องกันเชื้อรา
4. หากต้องย้าย ไปที่ห่างกันมากๆ เมื่อไปถึง ต้องพักต้นกล้าก่อนอย่างน้อย 1-2วัน
5. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้า คือช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน
6. ความกว้างของหลุมปลูก ควรมรขนาดพอๆกับหลุมถาดเพาะกล้า
7. กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว
การขึ้นยอดและเตรียมค้าง
• ช่วงเวลาที่ควรใช้ในการขึ้นยอดที่สุดคือช่วงเช้า
• การจัดเถาของเมล่อนคือ 1เถา ต่อ เมล่อน 1ต้น และเมื่อเริ่มออกยอด ให้ทำการพันยอดไว้กับ
เชือก พยายามอย่าปล่อยให้ยอดเลื้อย ควรทพอย่างน้อย 2วัน/ครั้ง
การเด็ดแขนง
• หลังย้ายแปลงปลูกเสร็จแล้วประมาณ 9-1วัน ให้เด็ดแขนงข้อที่ 1-8ออก
• ช่วงเวลาที่ควรทำคือช่วงเช้า และควรทำในช่วงที่ขนาดยังไม่ใหญ่ เพราะแผลจะแห้งเร็วกว่า
หลังจากนั้น พ่นกันเชื้อราในตอนเย็น
• การเด็ดแขนงมีส่วนช่วยทำให้ ยอดเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
ไว้แขนงก่อนผสม และ การตัดแต่งแขนง
• เด็ดยอดแขนงให้เหลือ 2ใบ
• เลี้ยงแขนงข้อ 9-12 เพื่อไว้ผสม เหนือจากข้อ 12 ให้เด็ดแขนงย่อยออก
• ในข้อ 25 ให้เด็ดใบให้เหลือประมาณ 22- 25 ใบ


ผสมเกสร
• ช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่การผสมเกสรคือ ช่วง 7โมง ถึง 10โมง เช้าของวัน
• ให้เลือกผสมดอก 2-3 แขนง/ต้น
• ผสมน้ำกับนูริช อัตราส่วน 15 cc. ต่อน้ำ 20ลิตร โดยพ่นทุกๆ 3วัน เป็นเวลา 2อาทิตย์
• โดยดอกตัวผู้จะอยู่บริเวณข้อบนของลำต้น
• จดบันทึกจำนวนดอกที่ผสม อาจจะหาอะไรพันไว้เพื่อกำหนดวันที่จะเก็บเกี่ยวของแต่ละต้น
การแขวนผล และการคัดเลือก
• ยึดผลกับค้างที่ไว้ใช้ยึดต้นเมล่อน และใช้เชือกคล้องที่ขั้วผล เพื่อรองรับน้ำหนัก
• ให้เลือกผลที่มีรูปทรงไข่ ผลสมบูรณ์, ใหญ่, ไร้รอยขีดข่วน
• ไม่มีโรคและแมลง
• เมื่อคัดได้ลูกที่ดีที่สุดแล้ว ควรตัดที่เหลือทิ้ง ให้เหลือเพียงแค่ ผลเดียวเท่านั้น
• ภายหลังที่ผสมเกสร 18วัน ควรเพิ่มปุ๋ยและน้ำ เพื่อให้ผลเจริญเติบโตได้เต็มที่
• ควรให้ผลได้รับแสงสม่ำเสมอ และอยู่ในที่โปร่ง
การเก็บเกี่ยวและระยะเวลา
• ระยะเวลาจะประมาณ 40-45วัน หลังจากผสมดอกแล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์
และฤดูกาลด้วย
• โดยในช่วงระยะผลเริ่มสุก ความต้องการน้ำของเมล่อนจะลดน้อยลง
• ตาข่ายเริ่มขึ้นนูนเห็นได้ชัด สีเริ่มเขียวเข้ม
• ดูที่ก้นผล ถ้าก้นผลนิ่ม แสดงว่าสุกมากเกินไป
• ต้นต้องไม่มีโรค
• ตรงขั้วของผลจะยกนูนขึ้น
• ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ไม่ควรวางเมล่อนไว้บนพื้น ควรหาภาชนะมาใส่จะดีที่สุด
• ควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิไม่สูงและไม่โดนแดด เพื่อลดการหายใจของตัวเมล่อน
การเก็บรักษา
• ระยะเก็บรักษาจะอยู่ได้ประมาณ 2-3สัปดาห์
• จะต้อง ไม่มีโรค และแมลง ติดมาด้วย
• หลังจากเก็บให้ล้างทำความสะอาด และเก็บในอุณหภูมิประมาณ10 องศาเซลเซียส
โดยไม่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
1. ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก ต้องรดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มเป็นเวลา 2วัน
2. ควรระวังไม่ให้รากขาดหรือได้รับการกระทบกระเทือนมาก เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี
3. ฉีดยาป้องกันเชื้อรา
4. หากต้องย้าย ไปที่ห่างกันมากๆ เมื่อไปถึง ต้องพักต้นกล้าก่อนอย่างน้อย 1-2วัน
5. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้า คือช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน
6. ความกว้างของหลุมปลูก ควรมรขนาดพอๆกับหลุมถาดเพาะกล้า
7. กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 8:00 am

เทคนิคการปลูกเมล่อนแบบไร้สารของโอโซนฟาร์ม จังหวัดเชียงราย

nyatrn5s8o03wPmuTHQ-o_resize.jpg
nyatrn5s8o03wPmuTHQ-o_resize.jpg (77.68 KiB) เปิดดู 6474 ครั้ง


การปลูกเมล่อนแบบไร้สาร โดยใช้วัสดุปลอดเชื้อเป็นวัสดุปลูก คือ ทราย + กาบมะพร้าวสับ อัตรา 1:1 ใช้ถุงขาวขนาด 8 x16 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้นต่อ 1 ถุง ปลูกในโรงเรือนขนาด 5 x 20 เมตร ทั้งหมด 204 ต้นต่อโรงเรือน ระยะห่างระหว่างถุงคือ 50 x 50 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการวางถุงปลูกแบบห่าง โดยทางฟาร์มมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการให้ใบเมล่อนหนาแน่นเกินไป เพราะนอกจากการสังเคราะห์แสงของพืชที่ไม่เต็มที่ยังก่อให้เกิดปัญหาโรคราน้ำค้างได้ง่ายด้วย

การควบคุมศัตรูพืช เราใช้โรงเรือนและมุ้งกันแมลงควบคุมแมลงศัตรูพืชตัวใหญ่ แต่สำหรับศัตรูพืชขนาดเล็กอาทิเช่นเพลี้ยไฟ เราจะเลือกใช้ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง เชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiasna) และสำหรับโรคพืชอาทิเช่นโรคราน้ำค้างและโรคใบไหม้ เราใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา. ( Trichoderma sp. ) ในการควบคุม

บริเวณพื้นของโรงเรือนเราใช้ทรายหยาบปูทางเดินทั้งหมด นอกจากลดปัญหาด้านวัชพืชแล้ว ยังตัดวงจรโรคที่มากับดินได้อย่างดีเลยทีเดียว

สำหรับวิธีการให้ปุ๋ยนั้นทางโอโซนฟาร์มใช้ปุ๋ยไฮโดรโพนิกส์สูตรผสมเอง ที่คิดขึ้นมาใช้กับเมล่อนโดยเฉพาะ โดยจะให้ทางระบบน้ำหยดทุกวัน ช่วงแรกให้วันละ 1 ซีซี/ต้น/วัน หลังจากนั้นช่วงผสมเกสรจะให้อัตรา 2 ซีซี/ต้น/วัน และจะงดการให้ปุ๋ยในช่วง 10 วันก่อนตัดผลผลิต เพื่อไม่ให้ปุ๋ยตกค้างในผลผลิตเลย

ด้านการผลิตนั้นนอกจากเราจะเน้นเรื่องคุณภาพแล้วยังเน้นเรื่องความปลอดภัยอย่างที่สุด ในมาตรฐานที่ว่าเมล่อนทุกลูกในฟาร์มต้องปลอดภัยและสะอาดอย่างแท้จริง โดยทางฟาร์มได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์กับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย อย่างเสมอ จนได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยผลวิเคราะห์ที่ได้รับคือ ไม่พบสารตกค้างใดๆในผลผลิตเลย

จึงทำให้เมล่อนของโอโซนฟาร์มเป็นเมล่อนรสชาติดีเยี่ยม เพราะเรียกได้ว่า กลิ่นและรสชาติดีเยี่ยม ประกอบกับการปลูกไม่ถูกปนเปื้อนโดยสารเคมีทุกชนิด จนได้รับคำชมจากลูกค้าที่ซื้อไปรับประทานว่า “กินเมล่อนของโอโซนฟาร์ม เหมือนกินที่ญี่ปุ่นเลย”
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 8:10 am

อินทผลัมไทย ปลูกง่ายให้ผลเร็วกว่าต่างประเทศ ฝีมือ ศักดิ์ ลำจวน แม่โจ้ 36

Date-Palm-5.jpg
Date-Palm-5.jpg (71.6 KiB) เปิดดู 6474 ครั้ง


อินทผลัมไทย เป็นผลงานการผสมพันธุ์ที่เป็นฝีมือของเกษตรกรไทย นามว่า คุณศักดิ์ ลำจวน หรือที่ชาวอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ รู้จักในนามของ โกหลัก เป็นศิษย์เก่าเกษตรแม่โจ้ รุ่นที่ 36 และเพื่อเป็นเกียรติแด่สถาบันการศึกษา จึงได้ตั้งชื่อว่า พันธุ์ KL.1. (แม่โจ้ 36) ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จได้สายพันธุ์ที่แน่นอนและคงที่ ได้เคยนำเสนอผลงานในงานพืชสวนโลกราชพฤกษ์ 2549

ผู้เขียนเองได้นำเสนอไปแล้วตั้งแต่ปีนั้น ทำให้มีเกษตรกรให้ความสนใจสั่งซื้อต้นอินทผลัมไทยไปปลูกทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงต่างประเทศที่นิยมบริโภค สั่งซื้อไปปลูกรายละไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่ เช่น คูเวต ซาอุดีอาระเบีย โอมาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะอินทผลัมไทยพันธุ์นี้ ให้ผลผลิตในระยะเวลาเพียง 3 ปี บางพื้นที่ 1-2 ปี เริ่มให้ผล แต่ในต่างประเทศต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี การปลูก ดูแลรักษาเหมือนกับการปลูกปาล์มหรือมะพร้าว โรคแมลงรบกวนน้อย สามารถผลิตแบบพืชปลอดสารพิษ ได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ให้ผลดก รสชาติหวานมัน เนื้อมาก เมล็ดเล็ก รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก เก็บไว้รับประทานได้นาน เป็นไม้มงคลและไม้ประดับได้สวยงาม มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ย่อยง่าย ลดอาการท้องผูก ป้องกันมะเร็งช่องท้อง มะเร็งลำไส้ รับประทานเพียงครึ่งชั่วโมงจะรู้สึกอิ่มท้อง มีสรรพคุณทางยาคือ ลดเสมหะในลำคอ แก้เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ

จากการติดตามผลการปลูกและการติดต่อสอบถามกลับไปยัง คุณศักดิ์ ลำจวน ทำให้ทราบว่า ก่อนที่เกษตรกรจะสั่งซื้อต้นอินทผลัมไปปลูก จะได้รับคำแนะนำวิธีการปลูก การดูแลรักษา และเกษตรกรบางรายเข้าเยี่ยมชมภายในสวน เกษตรกรหลายรายได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูลในเรื่องของการจัดการดูแลรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะว่ายังไม่มีเอกสารคำแนะนำวิธีการปลูกต้นอินทผลัม แม้แต่ตำราในต่างประเทศก็ยังไม่มี คงมีแต่การปลูกอินทผลัมที่ใช้ในการจัดสวนเท่านั้น บ้านสวนโกหลักจึงได้รวบรวมวิธีการปลูก ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา และขั้นตอนต่างๆ การเก็บเกี่ยว จึงขอแนะนำแก่เกษตรกรที่ปลูกไปแล้วและสนใจที่จะปลูกต้นอินทผลัมไทย ดังนี้

ปีแรก ต้นอินทผลัมใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักและเปลือกถั่วลิสงแห้ง หลังจากปลูกไปแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอดและโตเร็ว โดยใช้ปุ๋ย สูตร 27-5-5 หรือ 15-15-15 ใส่เดือนละ 2 ครั้ง ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 ศอก ในช่วงฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ในปีแรกอาจจะติดผลหรือออกจั่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตัวผู้ ปีที่สอง เป็นปีที่จะเริ่มให้ผล ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลค้างคาว มูลไก่ ควรใส่ช่วงต้นฝน เมื่อถึงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่สะสมอาหาร ควรใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 หากปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อีกครั้งหนึ่ง แล้วหยุดให้น้ำ อินทผลัมจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม ระยะที่เริ่มออกดอกควรช่วยในการผสมเกสรเพื่อจะได้ติดผลดก ดีกว่าปล่อยให้ผสมเองตามธรรมชาติที่ต้องอาศัยลมหรือแมลง ช่วงปีที่สาม ปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่สอง ไม่ควรใช้ปุ๋ยเร่งลำต้น แต่เน้นการใช้ปุ๋ยที่สะสมอาหาร สังเกตทรงต้น กิ่งก้านใบ ควรใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงก้านใบและทะลายผลที่มีจำนวนมาก น้ำหนักมาก ทำให้ก้านใบโค้งต่ำติดดินหรือหักได้ง่าย ใช้เชือกหรือยางในรถจักรยานยนต์ผูกก้านใบที่มีทะลายอินทผลัมช่วยรับน้ำหนัก และสามารถโยกไปมาตามกระแสลมได้ สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด หรือต้องการปลูกเป็นไม้มงคลที่ให้ผลสีเหลืองทองไว้หน้าบ้าน สามารถปลูกในกระถางหรือเข่งขนาดใหญ่ ก็ให้ผลผลิตได้เช่นกัน

การปฏิบัติดูแลรักษาอินทผลัมทั่วไปคือ บางต้นอาจจะมีหน่อแตกออกด้านข้าง ควรขุดออกทิ้งไป เพราะจะเป็นการแย่งอาหารจากต้นแม่ อาจจะนำไปขยายพันธุ์ก็ได้แต่ต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงนานกว่าต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด ปุ๋ยที่เหมาะสมกับอินทผลัมคือ ปุ๋ยจากมูลไก่ไข่ เพราะมูลไก่มีธาตุอาหารเสริมที่เหลือจากการให้อาหาร เป็นประโยชน์กับต้นอินทผลัม ศัตรูพืชของอินทผลัมคือ ด้วงมะพร้าว หนู ตุ่น และคน ควรหมั่นตรวจดูแลสวนบ่อยครั้ง ต้นที่อายุมากควรตัดใบแก่ด้านล่างออก คล้ายกับการตัดใบของปาล์มน้ำมันหรือปาล์มประดับ เพื่อไม่ให้เป็นที่วางไข่ของด้วงมะพร้าว ควรใช้สารอินทรีย์ชีวภาพราดบริเวณโคนต้นเพื่อกำจัดไข่ด้วงมะพร้าว หากปลูกในพื้นที่ใกล้กับสวนมะพร้าวหรือมีด้วงมะพร้าวระบาด ควรใช้สารเคมีฟูราดานหว่าน ปีละ 2 ครั้ง การป้องกันหนูขึ้นไปกัดกินผล ควรใช้แผ่นสังกะสี กว้างประมาณ 1 เมตร ล้อมรอบลำต้น และอย่าให้ก้านใบติดกับต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ที่หนูสามารถเดินผ่านมายังต้นอินทผลัมได้

วิธีช่วยผสมเกสร เกษตรกรบางรายที่ปลูกอินทผลัมไทยพันธุ์ KL.1 หากพบว่ามีต้นเพศเมียมากจะทำให้ได้ผลผลิตมากด้วย มีต้นเพศผู้น้อยจะเป็นการดี แต่ควรช่วยในการผสมพันธุ์ การช่วยผสมพันธุ์ให้กับต้นเพศเมียนั้น ทำได้ง่าย ด้วยการนำถุงพลาสติคใสคลุมที่ช่อเกสรตัวผู้ เขย่าให้เกสรตัวผู้หล่นลงในถุง เกสรตัวผู้จะมีสีขาวขุ่นคล้ายแป้ง จากนั้นนำมาแบ่งลงในถุงเปล่าอีกหนึ่งใบ ตักเกสรตัวผู้ ประมาณ 1 ช้อนกาแฟ ใส่ในถุงใบใหม่ นำไปครอบที่ช่อเกสรตัวเมีย เขย่าให้ละอองเกสรตัวผู้ฟุ้งกระจายไปติดที่ยอดละอองเกสรตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้ที่เหลือนำไปใช้กับต้นตัวเมียอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก ที่เหลือจึงนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น สามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 1 ปี จากนั้นปล่อยช่อเกสรตัวเมียทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะเริ่มติดผลเต็มทั้งช่อเกสร แล้วจะกลายเป็นผลที่เต็มทั้งทะลาย ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 100-200 กิโลกรัม ต่อต้น

การเก็บเกี่ยว เมื่อผลเริ่มออกสี ควรห่อช่อผลทั้งทะลายด้วยกระดาษหนาสีน้ำตาล แล้วใช้กระสอบปุ๋ยเก่าห่อทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะได้มีรูระบายอากาศ การห่อผลเป็นการป้องกันน้ำฝน นก หนู แมลง และช่วยให้ผลมีสีสวยงามน่ารับประทาน ในสภาพอากาศร้อนจะทำให้ผลสุกเร็ว พื้นที่อากาศเย็นจะสุกช้าลง ผลอินทผลัมจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ผลผลิตจะทยอยออกเป็นรุ่นๆ บางปีอากาศแปรปรวนจะทำให้ผลผลิตอินทผลัมออกได้ถึง 2 รุ่น การเก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกประมาณ 5% ของทะลาย จึงตัดลงมาเก็บไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิประมาณ 8 องศาเซลเซียส ผลจะสุกเองตามธรรมชาติไปเรื่อยๆ บางคนที่บริโภคอินทผลัม มีความเข้าใจว่าผลอินทผลัมต้องผ่านการแปรรูปด้วยการนำไปเชื่อมกับน้ำตาล แต่จากการศึกษาที่บ้านสวนโกหลัก พบว่าผลของอินทผลัมวางไว้ในอากาศปกติ ผลของอินทผลัมจะสุกเองตามธรรมชาติ เนื้อในจะอ่อนนุ่มและหวานมาก วัดความหวานได้ประมาณ 17-18 บริกซ์ ผิวเปลือกนอกของผลเป็นสีใสแยกออกจากเนื้อ หลังจากเก็บผลแล้วไม่ควรนำไปแช่น้ำ เพราะจะทำให้ผลแตก หากต้องการเก็บไว้นานหรือเก็บไว้ขายตลอดทั้งปี ควรเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 0-2 องศาเซียลเซียส ใช้ห้องเย็น ขนาด 4x4 เมตร ต้นทุนประมาณ 300,000 บาท จะทำให้มีผลผลิตอินทผลัมไทยรับประทานและจำหน่ายตลอดทั้งปี ไม่จำเป็นต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ

ผลพลอยได้จากการปลูกอินทผลัม เป็นผลการวิจัยของประเทศตะวันออกกลาง พบว่า กาบเกสรตัวผู้มีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกับยาหอมยาดม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วยกำจัดไขมันในลำไส้ ลดไขมันในเส้นเลือด แต่ที่บ้านสวนโกหลักทดลองสกัดเป็นน้ำด้วยวิธีคล้ายกับการต้มเหล้าแบบพื้นบ้าน แต่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยได้ส่งผลให้สถาบันการศึกษาวิเคราะห์ผล คาดว่าจะทราบผลเร็วๆ นี้

คุณศักดิ์ ลำจวน ได้บอกส่งท้ายว่า ต้นอินทผลัมเป็นพืชประเภทที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละต้นกัน แต่ที่บ้านสวนโกหลักได้พบโดยบังเอิญว่า มีบางต้นที่เพาะเมล็ดแล้วนำไปปลูกกลายเป็นต้นกะเทย ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ต้นอินทผลัมกะเทย ทำให้ได้ต้นอินทผลัมที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จะได้สายพันธุ์ที่คงที่ อีกประมาณ 6-7 ปี ได้เป็นอินทผลัมสายพันธุ์ KL.2 ในอนาคต สนใจศึกษาดูงานหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 1 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทรศัพท์ (053) 457-081, (089) 855-9569, (081) 582-4444 หรือ http://www.intapalum.com

โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อาทิตย์ 09 เม.ย. 2017 2:58 pm

วิธีแก้ปัญหาบ่อน้ำดินลูกรังที่เก็บน้ำไม่อยู่

(1)วิธีแก้ปัญหาบ่อน้ำดินลูกรังที่เก็บน้ำไม่อยู่ไม่สามารถเลี้ยงปลาได้

(2)ใช้ขี้วัว50กก./บ่อ1งานโรยพื้นบ่อทำซ้ำประมาณ4-5 ปีจะสามารถช่วยได้

fr.jpg
fr.jpg (46.79 KiB) เปิดดู 6470 ครั้ง



สำหรับหลายๆ พื้นที่ที่เป็นดินลูกรัง ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ นั้น อาจจะเจอกับปัญหาหลายอย่างเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการ ทำเกษตรแบบผสมผสานที่ต้องใช้น้ำอยู่เป็นประจำ หรือ ไม่ก็ไม่สามารถที่จะทำ การเลี้ยงปลาได้ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ตามมา สำหรับคุณอำนาจ มอญ พันธุ์ เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านหนองผักแว่น ต.หนอง ผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี นั้น ถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา หลัก เพราะคุณอำนาจ ได้ทำการทดลองนำมูลวัวมาใช้ในการรองพืชก้นบ่อสำหรับ เลี้ยงปลา และบ่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับการทำเกษตร ซึ่งเดิมทีแล้ว พื้นที่ ดังกล่าว หรือบ่อน้ำของคุณอำนาจนั้น ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลย เพราะ พื้นที่บริเวณนั้น จะเป็นดินลูกรัง มีการดูดซึมน้ำอย่างรวดเร็ว มา วันนี้ คุณอำนาจสามารถเลี้ยงปลา และนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้อย่าง สบาย ด้วยวิธีการดังนี้



หลังจากที่ทำการขุดบ่อเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าบ่อให้เต็ม เมื่อปล่อยน้ำได้ในระยะสั้น ๆ (ถ้าเป็นดินลูกรัง) น้ำก็จะแห้ง และในขณะที่บ่อแห้งนั้น ให้นำมูลวัว ประมาณ 3 กระสอบ (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ต่อพื้นที่ประมาณ 1 งาน โรยให้ทั่วก้นบ่อ หลังจากนั้นก็ให้ทำการสูบน้ำเข้าบ่อให้เต็ม โดยครั้งแรกนั้น อาจจะเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน เมื่อบ่อแห้งอีกรอบ ก็ให้นำมูลวัวมาโรยให้ทั่วบ่ออีกรอบ ทำอย่างนี้ประมาณ 4-5 ปี บ่อก็จะกักเก็บน้ำได้นานตลอดทั้งปี แถวยังช่วยให้หน้าดินภายในบ่อดีขึ้นอีกด้วย
ซึ่งวิธีดังกล่าว คุณอำนาจ บอกว่า สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี จากเดิม ที่ไม่สามารถกักเก็บได้เลย หรือกักเก็บได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งถือว่า มูลวัวจะช่วยในการเคลือบ หรือรองกันบ่อ ทำให้ก้นบ่อเกิดดินเลน ปกปิดดินทรายที่จะคอยดูดซึมน้ำทำให้คุณอำนาจสามารถใช้บ่อดังกล่าวเลี้ยงปลา ได้ตลอดทั้งปี


ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.สระบุรี
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 22 เม.ย. 2017 1:00 pm

วิธีการแต่งกลิ่นกล้วย

การเพิ่มมูลค่าของกล้วยด้วยวิธีการแต่งกลิ่นเข้าไป อยากได้กล้วยรสทุเรียน รสสตรอเบอรี่ รสวานิลลา หรือรสสละก็สามารถทำได้ตามใจชอบ

เริ่มจากเมื่อกล้วยออกปลีก็เจาะหรือกรีดลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยมจนถึงไส้ทำให้เกิดแผล จากนั้นนำหัวเชื้อเข้มข้นและกลิ่นต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดจำพวกเดียวกับที่ใช้ทำกลิ่นไอศครีม ตกขวดละ ๑๐ กว่าบาท นำมาชุบสำลีแล้วยัดเข้าไปในไส้ต้นกล้วย จากนั้นปิดไส้ต้นกล้วยให้เหมือนเดิม สักสองเดือนกล้วยก็สุกและจะได้กล้วยตามกลิ่นที่ใส่เข้าไป

Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 22 เม.ย. 2017 1:26 pm

การเขียนลายลูกเมล่อน เพิ่มมูลค่าให้เมล่อนขายได้แพงขึ้น

๑.ใช้ปากกาลูกลื่น ที่หัวเสียแล้ว

๒.เริ่มเขียนลายลงบนเมล่อน ที่ มีขนาด เท่ากำปั้นหรือ เริ่มมีการแตกลาย เริ่มขูดๆเขียนๆ ให้มีน้ำยางไหลเยิ้มออกมาซิบๆ อีกสองสามวัน เขียนทับอีกที จะทำให้ลาย ชัดเจนขึ้น

๓.การเขียนลาย ควรคำนึง ถึงการตลาด ในขณะที่เขียน จะเกิดไอเดีย เองว่า จะขายให้ใคร หน้าคนนั้น จะ ลอยเข้ามาในหัวอัตโนมัติ

๔.การเขียน ชื่อ เพื่อการจอง ควร รับชำระเงินก่อน เพราะ เมื่อ ลูก ตัดแล้ว ไม่อาจเอาชื่อ คนนี้ไปขายให้คนอื่นได้

๕.ไอเดีย การ เขียน อาจมาจาก เรื่องใกล้ตัว เช่น การ์ตูน สติกเกอร์Line หรือ การ์ตูนญี่ปุ่น

-ไอเดีย ข้อความกวนๆ หรือ ข้อความประทับใจ เช่น คำอวยพร เป็นต้น




Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 01 พ.ค. 2017 10:28 am

วิธีปลูกต้นผักบุ้งจีนอ่อน


16195719_374104386292883_381760545307843606_n-1.jpg
16195719_374104386292883_381760545307843606_n-1.jpg (112.93 KiB) เปิดดู 6467 ครั้ง



ขั้นตอนการเพาะเมล็ด

1.นำเมล็ดผักบุ้งไปล้างน้ำให้สะอาด จนน้ำใส จากนั้นแช่เมล็ดผักบุ้งในน้ำต่ออีก 12 ชั่วโมง


2. นำเมล็ดผักบุ้งที่ได้แช่น้ำมา 12 ชั่วโมงแล้ว มาเช็ดให้แห้ง และห่อด้วยผ้าเปียกต่ออีก 12 ชั่วโมง

3.เมล็ดผักบุ้งที่ผ่านการแช่น้ำ จะมีรากสีขาวงอกออกมา

ขั้นตอนการเตรียมดิน

1.นำดินละเอียด มาผสมกับแกลบดำ ผสมขุยมะพร้าวละเอียดด้วย ปริมาณ 1 ต่อ 1

2.นำดินเทใส่ภาชนะที่จะปลูก อาทิ ตะกร้า กะละมัง ใส่ดินสูง 1นิ้วครึ่ง

3.นำเมล็ดผักบุ้งโรยลงไปในดิน กะปริมาณให้พอดีกับภาชนะที่จะปลูก รดน้ำให้ชุ่ม หาตะกร้ามาวางทับบนดินอีกที เพื่อให้รากยั่งลึกลงดิน 2 วัน

4.วันที่ 3 เปิดตะกร้าที่วางทับบนดิน เพื่อให้ต้นอ่อนผักบุ้ง โดนแสงแดด รดน้ำ เช้า – เย็น ปลูกต่อไปอีก 7 วัน ก็สามารถตัดไปรัปประทานได้

ราคาเมล็ดผักบุ้ง 1 กิโลกรัม ท้องตลาดขาย 150 บาท เมล็ดผักบุ้ง 1 กิโลกรัม เพาะต้นอ่อน 4 กิโลกรัม



สำหรับหน้าที่ที่น้องภูริจะต้องทำ คุณแม่แอน บอกว่า ทำทุกขั้นตอน ตั้งแต่เพาะเมล็ด รดน้ำเช้า – เย็น ยกเว้นตอนตัด เพราะต้องใช้ของมีคม

ด้านสถานที่จำหน่ายผัก ปัจจุบันหญิงสาวนำไปขายที่ตลาดนัดในหมู่บ้าน และส่งตามออเดอร์ ราคาขาย เบบี้คะน้า ขีดละ 20 บาท ผักบุ้งอ่อนขีดละ 15 บาท ต้นอ่อนหัวไชเท้าขีดละ 20 บาท รายได้จากการจำหน่ายเฉลี่ย 1 หมื่นบาท

ที่มา เส้นทางเศรษฐี

14781747731478174898l.jpg
14781747731478174898l.jpg (151.87 KiB) เปิดดู 6467 ครั้ง



หมดปัญหาหอมเเดง-กระเทียม เชื้อราขึ้น ชมเคล็ดลับการเก็บให้อยู่นาน

ทุกคนคงเคยเจอปัญหาหอมเเดงเเละกระเทียมที่ซื้อมาเน่าเร็ว เเละเชื้อราขึ้น รวมไปถึงรากงอกออกจากหอมเเดง มาชมเคล็ดลับการเก็บง่ายๆ

ด้วยการนำถุงพลาสติกมาเจาะรูเเล้วใส่ถ่านลงไปในถุง นำไปวางไว้ในตะกร้าที่เตรียมไว้ เเล้วนำหอมเเดงหรือกระเทียมไปวางทับด้านบน เเค่นี้ก็หมดปัญหาเชื้อรา เเละยังเก็บไว้ทานได้นานขึ้นอีกด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 01 พ.ค. 2017 10:32 am

วิธีตัดแต่งหน่อกล้วยอย่างไร เพื่อให้กล้วยเครือใหญ่

BN-25-การไว้หน่อในสวนกล้วยคุณคมกฤช-576x1024-1.jpg
BN-25-การไว้หน่อในสวนกล้วยคุณคมกฤช-576x1024-1.jpg (123.03 KiB) เปิดดู 6467 ครั้ง


การตัดแต่งหน่อกล้วย ให้มีจำนวนพอเหมาะ ไม่ไปแย่งอาหารต้นแม่ ซึ่งมีผลทำให้ขนาดของเครือเล็กลง เริ่มตั้งแต่ปลูกกล้วยไปแล้ว 5-6 เดือน ในระยะที่ต้นแม่ยังไม่ตกเครือ ให้ไว้หน่ออ่อนเพียง 2 หน่อ แต่ไม่ควรเกิน 3 หน่อ การไว้หน่อทั้ง 2 ดังกล่าว ให้อยู่ตรงกันข้ามโดยมีต้นแม่กั้นกลาง เพราะจะได้หน่อที่แข็งแรงที่สุด ส่วนหน่อที่เกิดตามมา เรียกว่า หน่อตาม ให้ตัดออกแล้วคว้านไส้ในทิ้ง ราดด้วยน้ำมันก๊าด หลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วให้ตัดต้นเดิมทิ้ง รักษาหน่อไว้ 1-2 หน่อ แทนต้นแม่ต่อไปได้อีก 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ทั้งนี้ ต้องตัดแต่งใบที่แห้ง หรืออมโรคเผาทำลาย เหลือไว้เพียง 7-8 ใบ จนถึงระยะใกล้ตกเครือ ตัดให้เหลือใบที่สมบูรณ์ไว้เพียง 4-5 ใบ ก็พอ

โรคตายพราย เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ถ้าหากต้นไม้ในที่นี้หมายถึงต้นกล้วย เมื่ออ่อนแอ หรือสภาพแวดล้อมเหมาะสมสำหรับเชื้อโรค มันก็จะเข้าทำลายทันที อาการของโรคตายพรายของกล้วย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบสีเหลืองอ่อนที่ก้านใบแก่ ต่อมาปลายใบหรือขอบใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วขยายออกไปอย่างรวดเร็ว จนเหลืองทั้งใบ ต่อมาใบอ่อนก็เปลี่ยนเป็นสีเหลืองเช่นเดียวกัน คล้ายถูกน้ำร้อนลวก หรือตายนึ่ง ต่อมาใบจะหักพับลงที่บริเวณโคนก้านใบ และเหี่ยวตายในที่สุด หากเกิดการระบาดในระยะตกเครือ ผลจะเหี่ยว เนื้อฟ่าม ผลลีบเล็ก ขนาดไม่สม่ำเสมอ เมื่อตัดลำต้นตามขวาง พบว่า มีรอยช้ำสีน้ำตาลแดงให้เห็นอย่างชัดเจน อันเกิดจากการเข้าทำลายท่อน้ำท่ออาหารของต้นกล้วยจึงส่งน้ำและอาหารไปเลี้ยงส่วนบนไม่ได้ จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว

วิธีป้องกันกำจัด เนื่องโรคตายพรายมักระบาดรุนแรงในกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมทอง ดังนั้น ควรปลูกสลับหมุนเวียนกับกล้วยไข่ หรือกล้วยหักมุกแทน ที่สำคัญควรระวังอย่าให้น้ำขังแฉะในแปลงปลูก โดยเฉพาะดินที่เป็นกรด จำเป็นต้องใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดลง อัตรา 800-1,200 กิโลกรัม ต่อไร่

และเมื่อพบว่า เริ่มมีการระบาดของโรค ต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง ต้นที่เกิดโรคแล้วให้ตัดและขุดโคนขึ้นมาเผาทำลาย แล้วโรยปากหลุมด้วยปูนขาว หรือยาฆ่าเชื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง ประการสำคัญควรเลือกหน่อกล้วยจากแหล่งไม่มีโรคตายพรายมาเป็นพันธุ์ปลูกดีที่สุด

ที่มา เทคโนฯเกษตร
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 01 พ.ค. 2017 10:34 am

เทคนิคติดหลอดไฟ! สูตรเด็ด เร่ง มะยงชิด-มะปรางหวาน ออกลูกดก

3-74-696x464.jpg
3-74-696x464.jpg (95.26 KiB) เปิดดู 6467 ครั้ง


ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดาบนวย” นายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก จะเป็นผู้เฉลยให้ฟัง ซึ่งตำรวจวัยเกษียณ อายุ 63 ปี รายนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะปรางมะยงชิดขั้นเทพทีเดียว เพราะปลูกมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเป็นเจ้าของ “สวนนพรัตน์” ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เกือบ 50 ไร่ รวมกับอีกแปลงที่อยู่ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง ถือเป็นเกษตรกรยุคแรกๆ ที่เริ่มปลูกมะปรางในจังหวัดนครนายก ซึ่งมีไม่กี่ราย



ดาบนวย เล่าว่า ปีนี้มะปรางและมะยงชิดจะยังคงมีขายไปจนถึงเดือนเมษายน เพราะช่วงปลายมีนาคมบางสวนลูกยังเขียวอยู่ อย่างที่สวนนพรัตน์คาดว่าจะมีผลผลิตขายได้ถึง 10 ตัน แต่เป็นช่วงปลายฤดู ไม่แน่ใจว่าขนาดลูกจะใหญ่เท่าชุดแรกหรือไม่ สาเหตุที่ทำให้มะปรางติดลูกดกปีนี้เพราะได้เรียนรู้เทคนิคบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญ

“เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลอดไฟ ขนาด 40 วัตต์ ที่ติดไว้แถวโต๊ะม้าหินอ่อน เปิดตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึงเช้า มีแสงสว่างไปถูกกิ่งพันธุ์ต้นมะปรางที่ตั้งทิ้งไว้ 10 กว่าต้น ทำให้ออกช่อ 1-2 กิ่ง ทั้งๆ ที่ช่อดอกจะออกตอนช่วงหน้าหนาว แต่ตอนนั้นเป็นหน้าฝน ปกติถ้าไม่หนาวมะปรางจะไม่ออกช่อ อุณหภูมิจะต้องต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นอุณหภูมิจะขยับขึ้นมา 22-24 องศา หลังจากหนาวแล้วก็มาอุ่น มะปรางถึงจะแทงช่อ”

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ช่วงปลายปี 2559 ลูกน้อง แขวนกิ่งต้นมะปรางไว้ที่แผงขายของ ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม และช่วง ตี 4-6 โมงเช้า พอถึงหน้าฝน ยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาว ปรากฏว่ามะปรางออกช่อเดียวอยู่ต้นเดียว และออกเฉพาะกิ่งที่ถูกแสงไฟ ทำให้รู้ว่า การออกช่อแบบนี้ผิดธรรมชาติ

จากนั้น ดาบนวย จึงเริ่มทดลองครั้งแรก จำนวน 20 ต้น โดยใส่ไฟตรงกลางต้นใหญ่ แต่ออกช่อไม่เยอะ มีอยู่ 8-9 ต้น ที่ออกช่อเต็มต้น และเริ่มทำอีกประมาณ 40 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 8×8 เมตร โดยสลับแถวกัน ใช้เปิดไฟในบางแถว บางแถวไม่ใช้ไฟ ปรากฏว่าในส่วนมะปรางที่ใช้แสงไฟจะออกช่อทุกต้น ในขณะที่แถวมะปรางที่ไม่ใช้ไฟไม่ออกช่อ

ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่า วิธีการใช้แสงไฟได้ผล ต่อมาทำอีกรุ่น ห่างกันประมาณไม่เกิน 7 วัน ใช้จำนวนหลอดไฟ 40 หลอด ในจำนวนมะปราง 20 ต้น ใช้ต้นละ 2 หลอด เพื่อให้แสงไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง และติดนานเป็นเดือน ส่งผลให้ออกช่อติดดีมาก ติดเกือบจะทุกกิ่ง

“วิธีติดดวงไฟ เพื่อให้มะปรางออกช่อดอก เป็นการค้นพบโดยบังเอิญ และผมก็ได้ลองผิดลองถูก ทดลองอีก 3-4 รุ่น อย่างล่าสุด ทำเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ติดช่อแล้ว แต่ดูแล้วไม่น่าจะดี เพราะอากาศร้อนมาก ทำได้ 10 กว่าต้นที่ออกช่อ จากการสังเกต ปกติช่อดอกช่อหนึ่งจะออกลูก 2-3 ลูก แต่พอใส่ไฟ ทำให้ออกลูกติดผลเป็น 10 ลูกเยอะมากเกิน 3 เท่า ของการออกลูกปกติ ตอนแรกคิดว่าไม่น่าอยู่รอด แต่แม้จะร่วงก็ยังเยอะอยู่ ร่วงประมาณครึ่งหนึ่ง ได้ผลดกมาก กิ่งย้อยลงมา”

สำหรับรสชาตินั้น ดาบนวย ระบุว่า เท่าที่ชิมใช้ได้ และผิวสะอาดใส โรคหนอนและแมลงแทบจะไม่ค่อยมี

ปกติมะปรางมะยงชิด จะออกช่อหน้าหนาว พอแทงช่อแล้ว นับไปอีก 75 วัน จะเก็บผลได้ บวกลบไม่เกิน 5 วัน ถ้าหน้าหนาวจะเป็น 80 วัน หากอากาศร้อนลดลงไปเหลือ 70 วัน เพราะหน้าร้อนลูกจะสุกเร็ว ส่วนหน้าหนาวลูกจะสุกช้า



ทำนอกฤดูเหมือนมะม่วงไม่ได้

ดาบนวย เล่าว่า ช่วงหลายปีมานี้ ทั้งมะปรางและมะยงชิดที่นครนายกไม่ค่อยติดลูก จึงได้ไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากอากาศแปรปรวน นอกจากนี้ ยังเคยทดลองเพื่อให้ออกนอกฤดูแบบมะม่วงแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้


เดิมนั้นสวนของดาบนวยปลูกมะปราง 30% ปลูกมะยงชิด 70% รวมพันกว่าต้น ต่อมาเจอปัญหาไม่ค่อยออกลูกเลยโค่นมะยงชิดปลูกมะปรางแทน เพื่อให้ได้ 50% เท่ากัน โดยปลูกมะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์และมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า


ลูกดก
นายกสมาคมชาวสวนมะปรางฯ บอกว่า ได้แนะนำให้สมาชิกของสมาคมใช้หลอดไฟติดตรงต้นมะปรางเพื่อให้ออกลูกดก หลายรายทดลองไปทำก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดงาน งานมะยงชิด-มะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายก ในปีต่อๆ ไป เพราะสามารถกำหนดการจัดงานล่วงหน้าได้เป็นปี ตนเองมั่นใจว่า 90% ใช้ได้ผล นอกนั้นขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ

อย่างเช่น กำหนดจัดงาน ช่วง วันที่ 10 มีนาคม ก็ให้นับย้อนหลังไป ประมาณ 80 วัน แล้วเปิดไฟพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงเดียวกัน


มะปราง
ดาบนวย แนะนำว่า ควรจะทำเป็นรุ่นๆ เพื่อให้ดูแลได้ง่าย และมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝนหมดแล้ว ก็ให้เริ่มติดหลอดไฟรุ่นแรก 100 ต้น ห่างอีก 1 เดือน ก็ทำอีก 100 ต้น โดยให้ติดประมาณ 25-30 วัน เน้นให้ทุกกิ่งได้รับแสงไฟอย่างทั่วถึง บางต้นอาจจะต้องติดมากกว่า 1 หลอด ซึ่งแม้จะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่หากคำนวณกับจำนวนมะปรางที่ติดลูกและขายได้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะเสียค่าไฟหลักหลายพันบาท ขณะที่จะขายมะปรางมะยงชิดได้หลักหลายแสนบาท

สำหรับนครนายกนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการปลูกมะปราง-มะยงชิดหวาน ที่มีคุณภาพ โดยมีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 ตัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ในส่วนขนาดลูกใหญ่สุด (เท่าไข่ไก่ เบอร์ 0) ไม่เกิน 13 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 250-300 บาท บางปีขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 400-450 บาท ในปีที่มีปัญหาแล้งจัด ส่วนเบอร์รองลงมาประมาณ 10 ลูก ขายกิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนั้นราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ทั้งมะปรางและมะยงชิด ราคากิ่งละ 200-300 บาท ความสูงประมาIเมตรเศษๆ



เตือน 7-10 วัน อันตราย ช่วงแทงช่อ

ทั้งนี้ มะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรที่นครนายกนิยมปลูกกัน เพราะมะปรางหวานพันธุ์นี้มีจุดเด่น คือ ออกลูกง่าย ใช้เวลาปลูกเพียง 2 ปีเท่านั้น มีรสชาติหวาน และมีผลใหญ่เท่ากับมะยงชิด น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 10-12 ลูก ต่อกิโลกรัม ทั้งยังมีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี ขณะที่มะปรางพันธุ์ทั่วไปจะออกลูกช่วง 3-5 ปี

ดาบนวย แจกแจงว่า แม้จะติดหลอดไฟที่ต้นมะปรางเพื่อให้ออกช่อและออกลูกดกนั้น แต่ในการดูแลรักษาก็ต้องใส่ใจเหมือนเดิม ซึ่งมะปรางและมะยงชิดนับเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ดีและไม่ต้องดูแลมากเหมือนผลไม้อื่นๆ

กรณีผู้ซื้อกิ่งพันธุ์ที่ทาบกิ่งไปปลูก ปกติจะออกช่อประมาณ 3 ปี เขาแนะนำว่า ควรขุดหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร ก็พอ จากนั้นใช้ดินผสมกับขี้วัวและแกลบฝังกลบหลุม ถัดมาอีก 3 เดือน ให้ปุ๋ยอีกรอบ หรือถ้าจะใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้ ซึ่งไม่ควรให้ปุ๋ยมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นเฉาตาย และถ้าแดดร้อนเกินไปจะทำให้ใบแห้งไหม้

ในเรื่องการรดน้ำนั้น ดาบนวย กล่าวว่า หากให้น้ำมากเกินไปจะแฉะ แต่ช่วงปีแรกในการปลูก ต้องให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ ต้องดูดินอย่าให้แห้ง พอผ่านไปถึงปี 2 ปี 3 ถึง 7 วัน ก็ให้น้ำสักครั้ง แต่ช่วงปลูกใหม่ๆ ต้องคอยหมั่นดูแล โดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน ซึ่งอาจจะแตกได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง อาจจะเจอแมลงหรือหนอนมากินใบอ่อน ทำให้ใบโกร๋นและเติบโตช้า

นอกจากนี้ ตอนมะปรางออกช่อ อาจจะเจอปัญหาเพลี้ยไฟหรือหนอนลงมาทำลายช่อ ส่งผลให้ไม่ติดลูก ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลช่อ ซึ่งช่วง 7-10 วัน ถือเป็นอันตราย ต้องสังเกตอย่างละเอียด หากเกิดปัญหาที่ว่าต้องใช้สารเคมีเข้าช่วย จะใช้พวกสารชีวภาพไม่ได้ผล อย่างไรก็ดี สามารถปรึกษาร้านขายปุ๋ยเคมีได้เลย เพราะใช้สารเคมีประเภทเดียวกับมะม่วง อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีกำจัดต้องใช้อย่างมีเหตุผล และรู้ระยะเวลาปลอดภัย

ส่วนเรื่องที่มีเกษตรกรและผู้คนทั่วไป ซื้อกิ่งพันธุ์ มะปราง-มะยงชิด จากนครนายก แล้วไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ นั้น ดาบนวย บอกว่า อย่างไรเสียรสชาติและคุณภาพก็คงไม่อร่อยเหมือนปลูกที่นครนายกแน่นอน เพราะอากาศและดินแตกต่างกัน เนื่องจากตำบลดงละคร มีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่า 10 เมตร นั่นเอง

สนใจไปชมสวนนพรัตน์ของ ดาบนวย (ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง) หรือซื้อกิ่งพันธุ์ มะยงชิด-มะปรางหวาน ติดต่อได้ที่ โทร. (081) 762-4082 หรือ (093) 113-2694

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » พุธ 03 พ.ค. 2017 7:30 pm

วิธีกำจัดไรไก่ชนและขจัดกลิ่นเหม็นในเล้าไก่

พ่อพันธุ์ไก่บ้าน-650x439.jpg
พ่อพันธุ์ไก่บ้าน-650x439.jpg (47.28 KiB) เปิดดู 15258 ครั้ง



กำจัดไรไก่ด้วยเปลือกทุเรียน

เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองมักจะประสบปัญหาเรื่องไรไก่ และกลิ่นเหม็นในเล้าไก่ คุณสมศรี เพชรดง เกษตรกรบ้านโนนสมบรูณ์ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดไรไก่และกลิ่นเหม็นในเล้าไก่ ด้วยวิธีการที่แสนง่ายดังนี้

เพียงนำเปลือกทุเรียนที่ยังไม่แห้งมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตากแห้งประมาน 3 แดด พอแห้งได้ที่แล้วให้นำไปรองรังไก่ก่อนที่จะเอาเศษฟางใส่ทับอีกที วิธีการนี้ช่วยกำจัดไรไก่ได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว

นอกกำจัดไรไก่แล้วเปลือกทุเรียนแห้งยังสามารถดับกลิ่นมูลไก่ตามเล้าไก่ได้อีกด้วย โดยนำเปลือกทุเรียนแห้งไปวางเป็นจุดๆตามเล้าไก่ สรรพคุณของเปลือกทุเรียนที่ตากแห้งแล้วเมื่อนำมาสูดดมจะมีกลิ่นจะหอมคล้ายยาจีน จึงสามารถดับกลิ่นมูลไก่ได้เป็นอย่างดี




วิธีกำจัดไรไก่ชนและขจัดกลิ่นเหม็นในเล้าไก่

วิธีการทำโดยนำใบตะไคร้หอม 3 กก.มาหั่นเป็นชิ้นๆและนำไปตากแห้งประมาณ 3 แดด หลังจากนั้นลองนำใบตะไคร้หอมมาสูดดมดูจะได้กลิ่นที่หอม นำใบตะไคร้หอมประมาณ 2 กำมือไปโรยในรังไก่ที่กำลังฟักไข่อยู่นั้น กลิ่นจากใบตะไคร้หอมแห้งนี้สามารถกำจัดไรไก่ที่เป็นปัญหาของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองได้อย่างดี และสามารถดับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ในเล้าไก่ได้โดยการนำใบตะไคร้หอมแห้งโรยตามเล้าไก่ กลิ่นของใบตะไคร้สามารถดับกลิ่นมูลไก่ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม

วิธีนี้เป็นภูมิปัญญาของคุณพ่อสมพาส สุโลก เกษตรกรบ้านหันเทา ต.ปะโค อ.กุดจับ จ.อุดรธานี เป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชาวชนบทที่นำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับกิจกรรมในพื้นที่อย่างลงตัว

ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร * 1677
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 21 พ.ค. 2017 4:24 pm

วิธีทำมะม่วงให้ออกตามจุดที่เราต้องการ

18527597_1324629987614834_8931115037950874059_n.jpg
18527597_1324629987614834_8931115037950874059_n.jpg (82.1 KiB) เปิดดู 15239 ครั้ง


การปฏิบัติ

1.เมื่อใบอ่อนที่แตกออกมาใหม่เริ่ม "แผ่กาง" ให้เด็ดทิ้ง (เด็ดด้วยมือ) ทั้งหมด

2.เด็ดใบอ่อนทิ้งแล้ว เริ่มบำรุงทางใบด้วยสูตรสะสมตาดอก 1-2 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน.....ช่วงนี้งดการให้น้ำทางรากเด็ดขาด

3.สะสมตาดอกครบกำหนดแล้ว ให้เปิดตาดอกด้วย "ฮอร์โมนไข่ + 13-0-46 + ไธโอยูเรีย" (ฮอร์โมนไข่สูตรสเปน) 2-3 รอบ ห่างกันรอบละ 5-7 วัน

ผลลัพธ์เมื่อไม่มี "ตุ่มตา" ที่ซอกใบปลายยอด เนื่องจากถูกเด็ดใบทิ้งแล้ว และพัฒนาขึ้นมาใหม่ไม่ทัน ต้นจะพัฒนาตาที่อยู่ใต้เปลือกบริเวณโคนกิ่ง (กิ่งแก่) หรือใต้เปลือกบริเวณลำต้นขึ้นมาแล้วกลายเป็นตุ่มตาที่มีดอกออกมาได้แทน

หลักการและเหตุผล :

1.มะม่วงเป็นไม้ผลประเภทออกดอกติดผลที่โคนใบปลายกิ่ง ผลจากการบำรุงด้วยสูตรสะสมอาหารเพื่อการออกดอก (สะสมแป้งและน้ำตาล) แล้วปรับ C/N เรโช ไม่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือ ถ้าปรับ C/N เรโชแล้ว N ยังมากกว่า C (อาจเป็นเพราะ N จากน้ำฝน) เมื่อเปิดตาดอก มะม่วงต้นนั้นจะออกเป็นใบอ่อนแทนออกเป็นดอก

2.ผลจากการให้อาหารกลุ่มสร้าง C ที่เคยให้ไว้เมื่อครั้งบำรุงด้วยสูตรสะสมตาดอกนั้น แม้มะม่วงต้นนั้นจะแตกใบอ่อนออกมา แต่สารอาหารกลุ่มนั้นบางส่วนยังคงเหลืออยู่ภายในต้น ซึ่งสารอาหารกลุ่มนี้ยังพร้อมที่จะส่งเสริมให้มะม่วงออกดอกชุดใหม่ได้
ประสบการณ์ตรง :

สวนมะม่วงที่ประสบความสำเร็จจากการปฏิบัติบำรุงตามแนวนี้ ได้แก่ สวนมะม่วงน้ำดอกไม้ที่เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา
สวนมะม่วงน้ำดอกไม้-เขียวเสวย-ฟ้าลั่น ที่ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ส่วนมะม่วงขาวนิยม ที่บางบอน กทม. และ สวนมะม่วงขาวนิยม ที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรีออกดอกติดผลที่โคนกิ่ง ทั้งกิ่งอ่อน กิ่งแก่ กิ่งกลางอ่อนกลางแก่ และกลางลำต้นได้ดอกที่ออกมานี้เมื่อบำรุงตามขั้นตอนปกติ ก็สามารถพัฒนาเป็นผลระดับเกรด เอ. ได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจากลุงคิมภาพประกอบข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง บ้านเพียงพอ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน

cron