เลี้ยงลูกไม่หมู โพสต์นี้จะเล่าถึงการใช้หลักจิตวิทยาที่ศึกษาจากนักเรียนมาเลี้ยงลูก และเล่าพัฒนาการของคำแก้วสองขวบสิบเอ็ดเดือน เมื่อไม่ได้เจอกันสองเดือนกว่าๆ โดยจะเล่าแบบรวมๆไปทีละข้อนะคะ

- 332295_0_2.jpg (120.4 KiB) เปิดดู 272 ครั้ง
๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ คำแก้วจะอายุครบ ๓ ขวบแล้วค่ะ ในการพบกันครั้งล่าสุดนี้ แม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก ทั้งการแสดงความคิดและพฤติกรรมของลูก
แน่นอนสำหรับเด็กวัยนี้ซึ่งมักจะเรียกกันว่า "วัยทอง" เพราะจะอารมณ์แปรปรวน ยังไม่เข้าใจเหตุผลต่างๆ ดังนั้น "ลูกคุณอาจจะไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน" เพราะคำแก้วมีความเอาแต่ใจและหัวรั้นอยู่ไม่น้อย ตอนอยู่เชียงใหม่จะงอแงขอไปซื้อไอติมบ้านแม่เอ๋ ตัวโปรดคือ วอลล์รสส้ม ร้านที่ไปบ่อยมากคือบ้านแม่มลที่มีของเล่นขายเยอะแยะ ซึ่งอุ๊ยก็มักจะตามใจคำแก้วอยู่เสมอ ดังนั้นกลิ่นอายของความเอาแต่ใจย่อมมีแน่นอน
ที่กล่าวมาทั้งหมดแม่ก็เข้าใจว่าลูกยังไม่รู้ความจึงต้องใช้ลูกล่อลูกชนในการ "ดัด" พฤติกรรมของลูกให้เข้าที่ ขอเล่าเรื่องคำแก้วเป็นข้อๆดังนี้ค่ะ

- 332296_0_2.jpg (127.55 KiB) เปิดดู 272 ครั้ง
๑.ด้านรูปร่าง คำแก้วสูงประมาณ ๙๕ - ๙๗ เซนติเมตร น้ำหนัก ๑๕ - ๑๖ กิโลกรรม แม่สังเกตว่าศีรษะของลูกบาลานซ์กับรูปร่างมากกว่าตอนเล็กๆ ที่ลูกเกิดมาเป็นเด็กหัวโต (เมื่อก่อนย่าจะเรียกคำแก้วว่าหัวโต)
คำแก้วเริ่มสนใจเรื่องความสวย โดยจะมีการเลือกเสื้อผ้าใส่เอง สีโปรดคือสีชมพู และถ้าใส่ชุดชมพูรองเท้าก็ต้องสีชมพู ชุดในดวงใจคือชุดราตรีสีชมพูฟูฟ่อง นอกจากชุดก็ผม ถ้ามัดผมก็จะให้ติดกิ๊บสวยๆแล้วห้ามแกะ จะแกะได้ก็ต่อเมื่อหลับแล้วเท่านั้น
๒.คำพูด คำแก้วพูดเก่งมาก เป็นเจ้าหนูจำไม ซึ่งการพูดนี่แหละทำให้แม่รู้ถึงกระบวนการคิด วิเคราะห์ แยกแยะของลูก
๒.๑ ในส่วนของการพูดต้องยกความดีให้ตายายและคุณครูที่สอนให้คำแก้วเป็นเด็กพูดจาไพเราะ มีหางเสียงว่า "เจ้า" ซึ่งแม่ฝากคุณครูไว้ว่าถ้าน้องพูดเหนือให้ลงท้ายว่า เจ้า ถ้าพูดภาษากลางให้ลงท้ายว่า ค่ะ เพราะที่บ้านจะสอนให้น้องเป็นเด็กล้านนาทั้งภาษาและความเป็นอยู่ ไม่อยากให้พูดเหนือแล้ว ค่ะ อยากให้อนุรักษ์ภาษาล้านนา
๒.๒ ช่วง ๑ - ๒ สัปดาห์ที่ผ่านมา คำแก้วเริ่มรู้จักอวัยวะเพศ ผ่านเพลง คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ มีการพูดถึงบ่อย แต่แม่ก็ไม่ได้ปิดกั้น อธิบายให้ลูกฟังถึงความแตกต่างและบอกว่าลูกเป็นผู้หญิง อย่าจับของผู้ชาย อย่าดูของผู้ชาย ถ้าเห็นให้วิ่งหนี ซึ่งคำแก้วก็แยกเพศตามรูปลักษณ์ได้ว่าคนไหนผู้ชาย คนไหนผู้หญิง
๒.๓ เมื่อวานแม่ได้ยินคำแก้วสอนอุ๊ยตองว่า ให้พูดดีๆ ต่อด้วยการเรียกอุ๊ยว่า "อุ๊ยตองจ๋า" อุ๊ยจึงต้อง จ๋า ตาม คำว่าจ๋านี่เริ่มได้ยินก่อนเดินทางมานนทบุรีนี่เอง คุณครูคงสอนมาจากโรงเรียน
๓.ความจำ ค่อนข้างมั่นใจว่าคำแก้วความจำดี สังเกตจากการไปบ้านปู่ย่า (ไม่ได้ไปมาครึ่งปี) คำแก้วจำได้ว่าทวดเคยอยู่ห้องไหน ชวนพ่อไปขี่รถไฟฟ้าเล่น พอไปถึงบ้านอาเอิร์นก็ถามถึง รถของเล่น ที่อาเคยให้เล่น ตอนพ่อไปรับมาจากสถานีรถไฟวันแรก พอมาถึงสามแยกซอยบ้าน คำแก้วสามารถชี้ได้ถูกว่าบ้านพ่อแม่คือหลังไหน ตอนไปเล่นของเล่นที่ห้างพ่อขนของออกไปก่อน แม่พาคำแก้วออกมา แต่น้องวิ่งเข้าไปร้านกิ๊ปชอปจึงตามพ่อไม่ทัน พอถึงประตูที่จอดรถแม่ก็บ่นว่า พ่อหายไปไหนแล้ว รถเราจอดที่ไหน คำแก้วเองก็พูดตามว่า "รถน้องจอดไหนนี่" สักพักจึงชี้ไปทางซ้ายบอกว่า รถน้องจอดโน่น แม่ไม่ค่อยเชื่อถือแต่ก็คิดว่า ลองดูก็ได้เพราะถ้าไม่ใช่ก็เดินวนเอา พอเดินไปได้หน่อยคำแก้วพูดต่อและชี้ "นั่นรถน้อง" จังหวะเดียวกับพ่อเปิดไฟกะพริบ เออ..ยอมละจำได้จริงๆ
๔.ความเข้าใจ คำแก้วมีการสังเกตและทำความเข้าใจได้ดี เช่น วันนี้แม่แต่งตัวมาทำงาน กลัวลูกร้องตามจึงไม่บอก แต่คำแก้วสังเกตเห็นชุดจึงหันขวับมาถาม "แม่จะไปไหน" แม่แกล้งบอกว่า ไม่ไปไหน แค่จะเอาขยะไปทิ้ง คำแก้วจึงตอบว่า อ๋อ ก่อนจะปล่อยให้แม่หิ้วถุงขยะออกมา หากมีสิ่งใดที่ลูกไม่ยอมก็จะมีการต่อรอง เช่น ถ้าน้องไปอาบน้ำตอนนี้แม่จะซื้อชุดสวยให้ คำแก้วก็จะยอมทำตาม พอพ่อไปทำงาน นางบ่นจะไปหาพ่อ พอแม่อ้างว่า พ่อไปซื้อชุดสวยให้ นางก็ร้อง อ๋อ..หยุดโวยวาย
คำแก้วติดหมอนข้าง แต่อุ๊ยตองซักแล้วลืมเก็บใส่กระเป๋ามานนท์ด้วย จากที่ติดมาก ไปไหนต้องเอาไปด้วย กอด หอมตลอด พอบอกว่าอุ๊ยลืมไว้เชียงใหม่ น้องก็ไม่ร้องหา ตอนแรกแม่นึกว่าจะไม่หลับ เพราะปกติจะจับหูหมอนนอน แต่พอมานี่นอนกอดตุ๊กตาหมูแทนได้

- 333044_0_2.jpg (35.14 KiB) เปิดดู 272 ครั้ง
๕.การแยกแยะ การวางแผน และการจัดการ คำแก้วสามารถแยกของใช้ของแต่ละคนได้และให้ทุกคนใช้ของตนเอง ห้ามใช้ของคนอื่น เช่น เมื่อวานคำแก้วจะออกไปดูเครื่องบิน จูงมือแม่ออกไป และบอกว่า แม่ใส่รองเท้าของแม่ อย่าใส่ของอุ๊ยตอง ตอนไปบ้านอาเอิร์น..อาขนขนมใส่ถุงให้เยอะมาก คำแก้วอยากได้เม็ดมะม่วงหิมพานต์ จึงถามอาเอิร์นเป็นภาษากลางว่า "อันนี้เอาไปได้มั้ย" พออาให้นางก็บอกให้พ่ออุ้มตนเอง ก่อนจะสั่งแม่พร้อมชี้ไปที่ถุงขนม "แม่เอาอันนี้มา"
เมื่อก่อนถ้าคำแก้วไม่นอนอุ๊ยจะเคาะฝาป๊กๆแล้วบอกว่า ผีโบ๋จะมาแล้วให้รีบนอน แม่กลับไปรอบนี้ คำแก้วเคาะเองแล้วบอกว่า "อีโบ๋มาละ" แสดงว่าเขารู้ว่าเสียงเคาะนั้นไม่ใช่ผีโบ๋แค่เป็นพวกเรานี่แหละเคาะ
คำแก้วจะชอบทำอะไรด้วยตนเอง เช่น ใส่และถอดเสื้อผ้า เปิด-ปิด ไฟ หรือประตู บางทีก็แย่งชงนมเอง น้องกำลังเรียนรู้ แม่จึงปล่อยให้ทำทุกอย่าง ถึงจะเลอะ ถึงซักไม่ออก แม่ก็ปล่อย เพราะแม่คิดว่ามันคุ้มกับการฝึกการเรียนรู้ของลูก แม้แต่ตอนที่ลูกปัดหนังสือนิยายลงจากชั้น นางเอามือปัดลงทุกเล่ม แม่ก็ปล่อยให้ทำ แล้วจึงบอกว่า น้องทำของแม่ตกน้องต้องจัดให้เป็นระเบียบ ไม่งั้นแม่ไม่รัก คำแก้วก็ทำ ที่น่าสนใจคือน้องสามารถจัดเลียนแบบของเดิม คือ เรียงสันหนังสือ แสดงถึงการสังเกตและจดจำ
๖.การเลียนแบบผู้ใหญ่ คำแก้วกำลังอยู่ในวัยช่างเลียนแบบ ทั้งการกระทำและคำพูด เช่น ถ้าเราโทรศัพท์ กดโทร.ออก คำแก้วจะกดลำโพงให้เสียงดัง และแม้จะอ่านไม่ออกแต่จำตัวหนังสือชื่อพ่อได้ พอเป็นชื่อพ่อน้องจะเรียกชื่อพ่อขึ้นมาเลย แม่เรียกน้าหล้า(ลูกพี่ลูกน้องอุ๊ยสม) คำแก้วก็เปลี่ยนมาเรียกน้าตามแม่ แรกๆคำแก้วจะเรียกแม่และตามด้วยชื่อ พอเห็นแม่เรียกอุ๊ยว่า อี่แม่ คำแก้วก็จะเรียกว่า อี่แม่ แทนคำเดิม หรือแม้แต่การกินข้าว เดี๋ยวนี้คำแก้วจะป้อนผู้ใหญ่แทน วันก่อนเอาข้าวเหนียวไปจิ้มน้ำพริกตาแดงมาป้อน แรกๆพ่อเขาห้ามกลัวจะเผ็ด แต่แม่ไม่ห้าม พอเขาป้อนแม่ก็กิน เขาดีใจมากที่แม่ยอมกิน ตะโกนว่า เย่! แม่จึงบอกทุกคนว่ากินเถอะ มันคือความสำเร็จเล็กๆของเขา เมื่อวานคำแก้วจึงเปลี่ยนมาเป็นตักแกง แต่ถ้าเรายอมกินที่เขาป้อนเราก็ต้องทนกินอันนั้นทั้งมื้อนะ วันก่อนแม่ก็ได้กินแต่น้ำพริกตาแดง
จากการที่แม่เคยดูแลเด็กเตรียมอนุบาล สอนเด็กประถมฯ และมัธยมมา เมื่อได้ฟังความคิดหรือความคับข้องใจของเด็กๆ แม่ก็พอจะรู้ว่าเราควรเลี้ยงลูกแบบไหน ดูแลลูกแบบไหนจะได้ลูกแบบใด
แน่นอน..โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เราตั้งใจเลี้ยงอย่างดีแต่เขาจะดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวเด็กเอง แต่แม่มั่นใจว่า หากเราปลูกฝังสิ่งที่ดี สอนให้เขาคิดดี คิดเป็น เขาจะต้องเลือกสิ่งที่ดีอย่างแน่นอน

- 337594_0_2.jpg (117.68 KiB) เปิดดู 272 ครั้ง