ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » ศุกร์ 11 ต.ค. 2013 6:49 am

575444_535683676477867_106233500_n.jpg
575444_535683676477867_106233500_n.jpg (85.29 KiB) เปิดดู 14509 ครั้ง


ในสมัยก่อน การขึ้นไปนมัสการพระธาตุดอยสุเทพนั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากเหลือเกิน เพราะไม่มีถนนสะดวกสบายเหมือนปัจจุบัน ทางเดินก็แคบๆ และ ไม่ราบเรียบ ต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร และปีนเขาต้องใช้เวลายาวนานถึง ๕ ชั่วโมงกว่า จนมีคำกล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้นว่า ถ้าไม่มีพลังบุญและศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ ก็จะไม่มีโอกาสได้กราบไหว้พระธาตุดอยสุเทพ
ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย มาจากวัดบ้านปาง จังหวัดลำพูน เป็นผู้เริ่มดำเนินการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพ โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นผู้เริ่มขุดดินด้วยจอบเป็นปฐมฤกษ์ ตรงที่หน้าสวนสัตว์เชียงใหม่ปัจจุบัน ใกล้ๆ กับบริเวณน้ำตกห้วยแก้ว โดยเริ่มสร้างวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗
ครูบาศรีวิชัย เจ้าแก้วนวรัฐและพระภิกษุสงฆ์ ประชาชน ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่บันใดนาค เมื่อ ๓๐เมษายน ๒๔๗๘ เมื่อข่าวการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพได้แพร่สะพัดไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ชาวพุทธผู้เลื่อมใสในครูบาศรีวิชัย ต่างทยอยกันมาจากทั่วสารทิศจนเต็มบริเวณเชิงดอยหมด เพื่อมาร่วมสละแรงงานช่วยสร้างถนน โดยไม่มีค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น วันๆ หนึ่งจะมีประชาชนมาร่วมสร้างถนนประมาณ ๓-๔ พันคนจากทั่วทุกจังหวัดภาคเหนือ รวมไปถึงอุตรดิตถ์-พิษณุโลก ปริมาณคนงานที่มาช่วยมีมากเกินความต้องการครูบาศรีวิชัยจึงได้กำหนดให้สร้างถนนหมู่บ้านละ ๑๐ วาเท่านั้น และต่อมายังได้ลดลงอีกเหลือประมาณหมู่บ้านละ ๒ วา ๓ วา เพราะมีคนมาขอร่วมแรงงานสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ
นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่การสร้างถนนบนภูเขายาวถึง ๑๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง ๕ เดือนกับอีก ๒๒ วัน ทั้งๆ ที่อุปกรณ์การสร้างทางมี เพียงจอบ และเสียม เท่านั้น อุปกรณ์ทันสมัย เช่นในปัจจุบันยังไม่มี

พิธีเปิดใช้ถนนใหม่ได้เริ่มเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๗๘ โดยแปะโหง ศรัทธาวัดคนสำคัญได้ขับรถนำท่านครูบาศรีวิชัยนั่งรถยนต์ขึ้นดอยสุเทพเป็นคนแรกเพื่อเป็นปฐมฤกษ์ นับแต่นั้น..จึงเรียกถนนเส้นนั้นว่า "ถนนศรีวิชัย"

ข้อมูล : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 19 ต.ค. 2013 9:16 pm

2.jpg
2.jpg (51.07 KiB) เปิดดู 14496 ครั้ง


พระธาตุครูบาเจ้าศรีวิชัย วัดสันติธรรมได้รับจากทันตแพทย์ท่านหนึ่ง ซึ่่งได้ไปขอมาจากวัดบ้านปาง องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเศษอัฐิแปรสภาพเป็นผลึกหินปูน

ประวัติครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนาไทย)

ความหมายของคำว่าครูบา คำว่า "ครูบา" เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า "ครุปิ อาจาริโย " แปลว่าเป็นทั้งครูและอาจารย์ มาจากคำว่า"ครุปา" และเพี้ยนเป็น "ครูบา" ในที่สุด เป็นคำที่พบว่า ใช้กันเฉพาะในวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น เป็นตำแหน่งทางสังคมของสงฆ์ หมายถึงการยกย่องเชิดชูพระสงฆ์ผู้ได้รับ การยกย่องและ นับถือศรัทธา จากประชาชน หรือมีผลงานปรากฎแก่ชุมชน โดยจะใช้คำว่า ครูบานี้ เป็นสรรพนามนำหน้า ภิกษุสงฆ์รูปนั้นๆ พระสงฆ์ทั่วๆไปไม่มีสิทธิ์แต่งตั้งตัวเองเป็นครูบา ปัจจุบันตำแหน่งดังกล่าวยังคงมีการใช้อยู่โดยทั่วไป เช่น ครูบาวงค์ (ไชยวงค์ศาพัฒนา ) วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ครูบาคำปาน วัดหัวขัว ตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัย เป็นพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับยกย่องว่าเป็น ครูบา เพราะท่านมีมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด และเป็นที่เคารพและศรัทธาของประชาชนทั่วภาคเหนือ ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าท่านเป็นตนบุญซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกิดจากศรัทธาของ ชุมชนและเป็นตำแหน่ง ที่อยู่ในฐานะของการเป็นศูนย์รวมของพลังศรัทธาประชาชนอย่างแท้จริง


ครูบาศรีวิชัย พระผู้ทรงคุณประโยชน์ทางด้านการศาสนา กำเนิดที่บ้านปาง ต.แม่ตืน อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อวันอังคารที่ ๑๑ มิ.ย.๒๔๒๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล เวลา ๑๘.๐๐ น. บิดามารดาของท่าน คือ นายควาย และนางอุสา มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด ๕ คน คือ
๑. นายอินทร์ไหว
๒. นางอวน
๓. นายอินทร์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)
๔. นางแว่น
๕. นายทา
เริ่มการศึกษาเมื่ออายุ ๑๗ ปี โดยได้ศึกษาอักษรไทยล้านนากับท่านครูบาขัตติยะ ต่อมาเมื่ออายุ ๑๘ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร โดยพระครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับสมญานามว่า “สามเณรศรีวิชัย”
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๒ สามเณรศรีวิชัย ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบ้านโฮ่งหลวง อ. บ้านโฮ่ง จ. ลำพูน โดยมีพระครูบาสมณะเจ้าอาวาส วัดบ้านโฮ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ได้รับฉายานามว่า “สิริวิชะโยภิกขุ”
เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๓ หลังอุปสมบทได้ ๑ ปี ท่านได้ขอลาไปศึกษา กัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับพระครูบาอุปละ (อุบล) วัดดอยแต อ.แม่ทา จ.ลำพูน หลังจากได้ศึกษากัมมัฏฐานกับพระครูบาอุปละได้ ๑ พรรษา ก็ได้อำลามาสู่วัดบ้านปาง จนถึงพรรษาที่ ๖ จึงได้รับเป็นเจ้าอาวาส วัดบ้านปาง

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้ทรงศีลจริยวัตรปฏิบัติบำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา กัมมัฏฐานอย่างเคร่งครัด มุ่งมั่นปฏิบัติธรรมเจริญรอยตามพระบรมศาสดา ท่านจะคอย แนะนำอบรมสั่งสอนพระเณรเด็กวัดและแนะนำศรัทธาญาติโยมสาธุชนที่เคารพเลื่อมใส ให้ตั้งมั่นในศีลในธรรมช่วยกันบำรุงบวรพุทธศาสนา ไม่ให้ทอดทิ้งประเพณีอันดีงาม กิตติศัพท์การครองวัตรอันเคร่งครัดของท่านได้เลื่องลือไปทั่ว ผู้คนเกิดศรัทธาทำบุญถวาย ทักขินาทานมากขึ้นตามลำดับบรรดาพระภิกษุ สามเณร ตามวัดต่างๆ ต่างตำบล ต่างอำเภอ ได้พากันมาขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ด้วยเป็นอันมากและได้มีกุลบุตรจำนวนมากมาขอ บรรพชาและอุปสมบทอยู่ในสำนักบ้านปาง


ครูบาศรีวิชัย ได้ใช้ความศรัทธาของประชาชน และสานุศิษย์ ชักชวนให้ก่อสร้างพัฒนาวัดวาอาราม พระธาตุ พระบาท พระเจดีย์ ศาสนสถานรวม ๑๐๖ แห่ง ใน ๕ จังหวัด คือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำปาง และจ.ลำพูน ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่ประชาชน ชาวไทยยกย่องไม่รู้ลืมก็คือเป็นองค์ประธานในการสร้างพระบรมธาตุดอยสุเทพ โดยสร้างทางขึ้นระยะทาง ๑๒ กม. ใช้เวลา ๕ เดือน ๒๒ วัน คือเริ่มสร้างเมื่อ ๙ พ.ย.๒๔๗๗ และเปิดใช้ทางขึ้นดอยสุเทพครั้งแรกเมื่อ ๓๐ เม.ย.๒๔๗๘ ค่าก่อสร้างประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล


เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๙ - ๒๔๗๑ พระครูบาศรีวิชัยได้รวบรวมสังคายนาพระไตรปิฏก ฉบับล้านนาที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ ตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆ เก็บมารวบรวมจารลงในใบลานขึ้นมาใหม่


ครูบามรณภาพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๑ ก.พ. ๒๔๘๑ รวมสิริอายุได้ ๖๑ ปี ๕ เดือน ๙ วัน ณ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ข่าวการ มรณภาพของครูบาเจ้ายังความเศร้าสลด อาลัยนักบุญผู้ทรงศีล จึงพากันหลั่งไหลมายังวัดบ้านปางมากมาย สรีระสังขารของท่าน ตั้งบำเพ็ญ กุศลให้ผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสกราบสักการะเป็นเวลา ๒ ปี จึงเคลื่อนศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดจามเทวีนานถึง ๗ ปี และได้กำหนด พิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านในวันที่ ๒๒ มี.ค. ๒๔๘๙ โดยมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้น ได้เข้าแย่งชิงอัฐิธาตุของครูบาศรีวิชัยตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่เผาสรีระสังขาร ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการะบูชา อัฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่างๆ ดังนี้

๑. ส่วนที่ ๑ บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
๒. ส่วนที่ ๒ บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
๓. ส่วนที่ ๓ บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
๔. ส่วนที่ ๔ บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
๕. ส่วนที่ ๕ บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
๖. ส่วนที่ ๖ บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
๗. ส่วนที่ ๗ บรรจุที่ วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


ปัจจุบัน วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้จัดสร้าง พิพิธภัณฑ์เก็บรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ของครูบาศรีวิชัย เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้ศึกษา กราบไหว้บูชาและยึดถือครูบาศรีวิชัยเป็นแบบอย่างในด้านปฏิบัติอันดีงามต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก วัดสันติธรรม
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 21 ส.ค. 2014 7:54 pm

ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเตา (อ่าน"เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้(ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันใน ระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแตโดยสืบวิธีการนี้มาจากลังกา การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑(พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯนี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง

กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้น อันเป็นนโยบายหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเจริญของคณะสงฆ์ หลังจากการตราพ.ร.บ.นี้ออกมา รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นคือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พร้อมด้วยพระที่ปรึกษาอีกสององค์เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อแต่งตั้งพระสงฆ์ตามตำแหน่งใหม่ต่อไป

กฎข้อหนึ่งของพ.ร.บ.ลักษณะสงฆ์นี้คือการบวชเณรและพระจะต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอก่อน ในปี ๒๔๕๑ ชาวบ้านหลายคนได้มาขอให้พระศรีวิชัยบวชลูกหลานของพวกตน พระศรีวิชัยก็ไปขออนุญาตต่อพระครูมหารัตนากร วัดลี้หลวง เจ้าคณะแขวงลี้ และเจ้าหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบว่าอนุญาตหรือไม่ คำขอนั้นเงียบหายไป เมื่อเวลาเนิ่นนานไป พระศรีวิชัยจึงตัดสินใจว่าการบวชนั้นแต่ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องของนายอำเภอ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคือบิดามารดาต้องเป็นผู้อนุญาต การบวชก็ไม่ได้ผิดศีลหรือวินัยข้อไหน ตนเองก็เป็นพุทธบุตรผู้ภักดีเจริญรอยเยี่ยงสาวกที่ดีของพระพุทธองค์ ดังนั้นการบวชพระก็น่าจะเป็นไปโดยชอบธรรม ท่านจึงทำการบวชให้กับลูกหลานชาวบ้านเหล่านั้น

หลังจากการบวชพระสิ้นสุดลง ก็มีเสียงเล่าลือกันว่าพระศรีวิชัยบังอาจเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน เจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอเมื่อรู้เรื่องก็เดือดดาลมากเพราะเป็นการหมิ่นอำนาจ ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง นายอำเภอจึงนำตำรวจพร้อมหมายไปเชิญตัวพระศรีวิชัยมาควบคุมไว้ยังวัดลี้หลวงเป็นเวลา ๔ วันเพื่อทำการสอบสวน เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องก็พากันมาชุมนุมเต็มวัด จนต้องย้ายพระศรีวิชัยไปอีกวัด ผลการสอบสวนคือให้เจ้าคณะจังหวัดว่ากล่าวตักเตือนพระศรีวิชัย อย่าให้ทำอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วให้กลับได้ จากการถูกจับกุมตัวในครั้งแรกทำให้ชื่อเสียงของพระศรีวิชัยเป็นที่โจษขานกับมากขึ้นในหมู่ชาวบ้านและชาวเมืองด้วย

อีก ๓ เดือนต่อมาเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในปริมณฑลไปร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์ใหม่นี้ พระศรีวิชัยไม่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ ท่านให้เหตุผลว่าการเข้าบวชเป็นพระก็เพื่อสละโลกฆราวาส ละทิ้งโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้งหลาย ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บัดนี้ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ครั้นจะไปประชุมพระราชบัญญัติสงฆ์ก็จะมีเรื่องต้องข้องเกี่ยวกับโลกมากขึ้น อันจะขัดกับการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ทำก็จะผิดระเบียบสงฆ์อีก ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว การไม่ไปร่วมประชุมของท่านทำให้พระบางแห่งก็ไม่ไปบ้าง ผลจากการขัดขืนนี้เจ้าคณะจังหวัดก็ให้เจ้าหน้าที่มาเชิญท่านไปสอบสวนอีก หลังจากสอบถึง ๒๓ วันก็เอาผิดท่านไม่ได้ จึงปล่อยตัวให้กลับวัดดังเดิม

ในปลายปีนั้นเจ้าคณะแขวงลี้ก็เรียกประชุมเจ้าอาวาสอีก เพื่อรับทราบข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์นี้ พระศรีวิชัยก็ไม่ไปอีก เป็นครั้งที่ ๓ ที่ท่านฝ่าฝืนคำสั่งของบ้านเมืองและเจ้าคณะสงฆ์ การสอบสวนครั้งที่ ๓ มีมติให้ลงโทษ ด้วยการถอดพระศรีวิชัยออกจากเจ้าคณะหมวด ให้กักบริเวณอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา ๑ ปีเพื่อให้ศึกษาพระราชบัญญัติสงฆ์ และเมื่อกลับวัดบ้านปางให้มีฐานะเป็นแต่เพียงพระลูกวัดเท่านั้น การลงโทษดังกล่าวกลับทำให้ชาวบ้านจากที่ต่างๆ พากันมานมัสการกราบไหว้พระศริวิชัยมากขึ้น เมื่อครบกำหนดการลงโทษ ๑ ปี บรรดาญาติโยมและศรัทธาทั้งหลายต่างยกขบวนมารับและแห่แหนพระศรีวิชัยกลับสู่วัดบ้านปาง มีชาวบ้านบางคนโกรธแค้นคณะกรรมการที่ลงโทษพระศรีวิชัย แต่ท่านตักเตือนให้ชาวบ้านมีเมตตาและละเสียซึ่งความโกรธ

ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ ในปีพ.ศ.๒๔๕๔ เจ้าคณะอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้พระศรีวิชัยทำการสำรวจรายชื่อพระภิกษุสามเณรทุดวัดในตำบลบ้านปาง เพื่อเป็นการชื่นชมยินดีในการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เป็นการเฉลิมฉลองเทิดทูนพระเกียรติ แต่พระศรีวิชัยซึ่งถูกถอดจากตำแหน่งแล้ว ก็คิดว่าตนเองคงไม่เกี่ยว จึงไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งให้ทุกวัดทำซุ้มประตูไฟและโคมไฟประดับเพื่อการสมโภช ท่านก็ไม่ได้ทำตามอีกเช่นกัน หากแต่ท่านปฏิบัติธรรมสวดมนต์แผ่เมตตาจิตคุ้มครองพระมหากษัตริย์แทน ท่านยังชวนพระสงฆ์และสามเณรในวัดสวดมนต์เจริญพรแด่องค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนา ก็เป็นอันสิ้นพิธีกรรมเฉลิมฉลองของพระศรีวิชัย ในขณะที่วัดอื่นๆ ในอำเภอลี้สว่างไสวไปด้วยแสงไฟ และมีงานเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น แต่วัดบ้านปางกลับเงียบสงัด ครั้งนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรจากทางการในทันที

ทว่าในอีกไม่นานเกิดมีข่าวลือแพร่สะพัด “ว่าพระศรีวิชัยได้ตั้งตนเป็นผู้หลอกลวงประชาชนโดยใช้เวทมนตร์ คาถาอาคม บ้างก็ลือว่าเป็นผีบุญ ที่หนักข้อคือกล่าวหาว่าพระศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมผู้คนเป็นจำนวนมาก ให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่อยู่ในความปกครองของเจ้าคณะแขวงลี้ นายอำเภอและขัดขืนต่ออำนาจรัฐบาลกลาง”

ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ดำเนินการลงโทษอย่างหนักด้วยการตั้งข้อกล่าวหา ๘ ประการ หลักๆ คือการทำตัวไม่เป็นพระตามพ.ร.บ. และขัดขืนอำนาจและคำสั่งของทางการทั้งทางสงฆ์และทางโลก ให้ออกจากวัดบ้านปางไปโดยทันที และไม่ให้วัดอื่นๆ ในลำพูนรับเข้าอาศัยโดยเด็ดขาด พระศรีวิชัยเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ไม่ยอมออกจากวัด ท่านจะยอมตายในวัด สานุศิษย์และชาวบ้านจำนวนมากก็มาสนับสนุนพระศรีวิชัย สถานการณ์ทำท่าจะตึงเครียด เจ้าเมืองลำพูนจึงเรียกให้พระศรีวิชัยไปพบว่าจะให้ความยุติธรรม ในที่สุดพระศรีวิชัยตัดสินใจเดินทางไปพบเจ้าเมืองลำพูน

ตรงนี้คือข้อที่น่าสนใจมาก มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในพระศรีวิชัยทั้งพระและฆราวาสจากที่ต่างๆ พากันมาร่วมขบวนเดินเท้าไปเมืองลำพูนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๕๐๐ คน เป็นชาวบ้าน ๑,๐๐๐ เป็นพระและสามเณร ๕๐๐ รูป วันออกเดินทาง “บรรดาพระก็ครองผ้าแบบพระศรีวิชัย ทุกองค์มีผ้ามัดอก สวมประคำห้อยคอ ถือตาลปัตร (พัดทำด้วยใบตาล) และไม้เท้า ออกเดินอย่างสำรวม บรรดาศรัทธาทั้งหลายช่วยกันจัดขบวนประหนึ่งจะแห่ไปในงานปอยอันสำคัญ บ้างก็มีกังสดาล ฆ้อง ระฆัง บัณเฑาะว์ หอยสังข์ กลอง ปี่ ดีดสีตีเป่ากัน บรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ ก็นำเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมของตนตามถนัดเข้าร่วมขบวน” นี่คือกองทัพธรรมที่ถูกจุดประกายจากผลแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครองทั้งทางโลกและทางธรรมนั่นเอง

เรื่องราวการพยายามจับกุมพระศรีวิชัยให้อยู่ที่เมืองลำพูนไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากจำนวนประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมนับพันและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าเมืองหวาดกลัวรีบขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ทำการของมณฑลพายัพมารับตัวไปเชียงใหม่โดยด่วน (เหมือนกับตอนที่ฮัจยีสุหรงถูกจับไปดำเนินคดีข้อหากบฏและแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ทางการก็ต้องส่งตัวไปขึ้นศาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพราะเกรงคนมุสลิมมาชุมนุมประท้วง)

เมื่อไปถึงเชียงใหม่ พระศรีวิชัยถูกกักบริเวณอยู่ในวัดศรีดอนชัยเป็นเวลา ๓ เดือน ๘ วัน ตลอดระยะเวลานั้นมีประชาชนมามุงดู เมื่อทราบข้อเท็จจริงกลับเลื่อมใสในพระศรีวิชัย พากันมาทำบุญเป็นที่ครึกครื้นราวกับมีงานวัด จนทางวัดต้องหาทางปรามด้วยการจดชื่อผู้มาทำบุญ เพื่อจะส่งรายชื่อไปให้ทางการลงโทษ แต่ผู้คนก็ไม่ลดลง กล่าวกันว่าวัดศรีดอนชัยกลายเป็นแหล่งพบปะของประชาชนที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเห็นทางการเมือง กลายเป็นโรงเรียนการเมืองขนาดย่อมไป เฉกเช่นเดียวกับสนามหลวงในเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองไป

ในที่สุดคณะกรรมการสอบสวนก็ไม่สามารถเอาผิดพระศรีวิชัยได้ เพราะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อ จึงตกลงส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงไต่สวนและพิจารณาลงโทษต่อไป

ผลของการสอบสวนในกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกันคือไม่อาจหาข้อมาทำโทษได้ หลังจากได้รับผลของการสอบสมเด็จฯ พระสังฆราชทรงมีพระดำริวินิจฉัยโดยสรุปว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปภูมิลำเนาของตน


เรียบเรียงจาก ประวัติครูบาศรีวิชัย และบทความ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจำ ‘ครูบาศรีวิชัยกับการปกครองรวมศูนย์ของกรุงเทพฯ’ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 21 มิ.ย. 2016 5:36 am

ครูบาศรีวิชัย....หนึ่งในอริยสงฆ์บนเส้นทางแห่งพระพุทธศาสนาแผ่นดินล้านนา ที่ชาวล้านนายังฝังในจิตใต้สำนึกด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่าคือ ต๋นบุญ หรือ นักบุญ

พระภิกษุศรีวิชัย สิริวิชโย คือ ครูบาศรีวิชัย หรือบางที่ชาวบ้านก็เรียกว่า ครูบาศีลธรรม และ ตุ๊เจ้าบ้านปาง ด้วยท่านเกิดที่ บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน...ในปี ๒๔๒๑ เริ่มเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์...หรือนุ่งห่มผ้าเหลืองครั้งแรกเป็น สามเณร ณ วัดบ้านปาง จนกระทั่งอายุครบบวชจึงได้ อุปสมบท ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนจากนั้นก็ได้ เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆในแผ่นดินล้านนา โดย กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้า และ พัด ปฏิบัติธรรม ศีลวัตรสัจคุณ เว้นการเสพหมาก เมี่ยง งดฉันเนื้อสัตว์ และ อาหารเพียงมื้อเดียว ตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี ด้วย ปรารถนาบรรลุโมกขธรรม ตามอธิษฐานบารมีว่าขอตั้งปรารถนา ขอหื้อได้ธรรม ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานเพียงสิ่งเดียว บั้นปลายชีวิตท่านได้กลับไป จำวัด ณ วัดบ้านปาง โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม่น้ำปิงไม่ไหลย้อน จะไม่กลับไปเชียงใหม่อีก กระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๑ จึงได้ละสังขาร แล้วเคลื่อนศพมาตั้งที่วัดจากเทวี จนถึงปี ๒๔๘๙ จึงได้พระราชทานเพลิงศพ

ฮูปปราสาทศพและโกศเผาศพครูบาเจ้า

ครูบา1.jpg
ครูบา1.jpg (77.01 KiB) เปิดดู 5860 ครั้ง
ไฟล์แนป
ครูบา2.jpg
ครูบา2.jpg (19.18 KiB) เปิดดู 5860 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อังคาร 06 ก.ย. 2016 8:08 pm

ครูบาศรีวิชัยในบั้นปลายชีวิต ท่านนั่งอยู่ในศาลาที่วัดบ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

14199589_1233670920011489_7125515144626470342_n.jpg
14199589_1233670920011489_7125515144626470342_n.jpg (109.41 KiB) เปิดดู 5803 ครั้ง


ที่มา Salid Salidnoi
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 56 ท่าน

cron