หน้า 2 จากทั้งหมด 2

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์เมื่อ: พฤหัสฯ. 21 ส.ค. 2014 7:54 pm
โดย น้ำฟ้า
ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์

ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเตา (อ่าน"เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้(ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันใน ระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯ เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา

ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแตโดยสืบวิธีการนี้มาจากลังกา การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑(พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯนี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง

กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ขึ้น อันเป็นนโยบายหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ ๕ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความเจริญของคณะสงฆ์ หลังจากการตราพ.ร.บ.นี้ออกมา รัชกาลที่ ๕ ได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชขณะนั้นคือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส พร้อมด้วยพระที่ปรึกษาอีกสององค์เดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ เพื่อแต่งตั้งพระสงฆ์ตามตำแหน่งใหม่ต่อไป

กฎข้อหนึ่งของพ.ร.บ.ลักษณะสงฆ์นี้คือการบวชเณรและพระจะต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอก่อน ในปี ๒๔๕๑ ชาวบ้านหลายคนได้มาขอให้พระศรีวิชัยบวชลูกหลานของพวกตน พระศรีวิชัยก็ไปขออนุญาตต่อพระครูมหารัตนากร วัดลี้หลวง เจ้าคณะแขวงลี้ และเจ้าหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ ถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบว่าอนุญาตหรือไม่ คำขอนั้นเงียบหายไป เมื่อเวลาเนิ่นนานไป พระศรีวิชัยจึงตัดสินใจว่าการบวชนั้นแต่ก่อนก็ไม่ใช่เรื่องของนายอำเภอ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงคือบิดามารดาต้องเป็นผู้อนุญาต การบวชก็ไม่ได้ผิดศีลหรือวินัยข้อไหน ตนเองก็เป็นพุทธบุตรผู้ภักดีเจริญรอยเยี่ยงสาวกที่ดีของพระพุทธองค์ ดังนั้นการบวชพระก็น่าจะเป็นไปโดยชอบธรรม ท่านจึงทำการบวชให้กับลูกหลานชาวบ้านเหล่านั้น

หลังจากการบวชพระสิ้นสุดลง ก็มีเสียงเล่าลือกันว่าพระศรีวิชัยบังอาจเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน เจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอเมื่อรู้เรื่องก็เดือดดาลมากเพราะเป็นการหมิ่นอำนาจ ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง นายอำเภอจึงนำตำรวจพร้อมหมายไปเชิญตัวพระศรีวิชัยมาควบคุมไว้ยังวัดลี้หลวงเป็นเวลา ๔ วันเพื่อทำการสอบสวน เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องก็พากันมาชุมนุมเต็มวัด จนต้องย้ายพระศรีวิชัยไปอีกวัด ผลการสอบสวนคือให้เจ้าคณะจังหวัดว่ากล่าวตักเตือนพระศรีวิชัย อย่าให้ทำอีกเป็นครั้งที่สอง แล้วให้กลับได้ จากการถูกจับกุมตัวในครั้งแรกทำให้ชื่อเสียงของพระศรีวิชัยเป็นที่โจษขานกับมากขึ้นในหมู่ชาวบ้านและชาวเมืองด้วย

อีก ๓ เดือนต่อมาเจ้าคณะแขวงอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในปริมณฑลไปร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์ใหม่นี้ พระศรีวิชัยไม่ไปร่วมประชุมครั้งนี้ ท่านให้เหตุผลว่าการเข้าบวชเป็นพระก็เพื่อสละโลกฆราวาส ละทิ้งโลภะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้งหลาย ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน บัดนี้ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ครั้นจะไปประชุมพระราชบัญญัติสงฆ์ก็จะมีเรื่องต้องข้องเกี่ยวกับโลกมากขึ้น อันจะขัดกับการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ทำก็จะผิดระเบียบสงฆ์อีก ดังนั้นจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว การไม่ไปร่วมประชุมของท่านทำให้พระบางแห่งก็ไม่ไปบ้าง ผลจากการขัดขืนนี้เจ้าคณะจังหวัดก็ให้เจ้าหน้าที่มาเชิญท่านไปสอบสวนอีก หลังจากสอบถึง ๒๓ วันก็เอาผิดท่านไม่ได้ จึงปล่อยตัวให้กลับวัดดังเดิม

ในปลายปีนั้นเจ้าคณะแขวงลี้ก็เรียกประชุมเจ้าอาวาสอีก เพื่อรับทราบข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสงฆ์นี้ พระศรีวิชัยก็ไม่ไปอีก เป็นครั้งที่ ๓ ที่ท่านฝ่าฝืนคำสั่งของบ้านเมืองและเจ้าคณะสงฆ์ การสอบสวนครั้งที่ ๓ มีมติให้ลงโทษ ด้วยการถอดพระศรีวิชัยออกจากเจ้าคณะหมวด ให้กักบริเวณอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นเวลา ๑ ปีเพื่อให้ศึกษาพระราชบัญญัติสงฆ์ และเมื่อกลับวัดบ้านปางให้มีฐานะเป็นแต่เพียงพระลูกวัดเท่านั้น การลงโทษดังกล่าวกลับทำให้ชาวบ้านจากที่ต่างๆ พากันมานมัสการกราบไหว้พระศริวิชัยมากขึ้น เมื่อครบกำหนดการลงโทษ ๑ ปี บรรดาญาติโยมและศรัทธาทั้งหลายต่างยกขบวนมารับและแห่แหนพระศรีวิชัยกลับสู่วัดบ้านปาง มีชาวบ้านบางคนโกรธแค้นคณะกรรมการที่ลงโทษพระศรีวิชัย แต่ท่านตักเตือนให้ชาวบ้านมีเมตตาและละเสียซึ่งความโกรธ

ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ ๖ ในปีพ.ศ.๒๔๕๔ เจ้าคณะอำเภอลี้ได้มีคำสั่งให้พระศรีวิชัยทำการสำรวจรายชื่อพระภิกษุสามเณรทุดวัดในตำบลบ้านปาง เพื่อเป็นการชื่นชมยินดีในการเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ เป็นการเฉลิมฉลองเทิดทูนพระเกียรติ แต่พระศรีวิชัยซึ่งถูกถอดจากตำแหน่งแล้ว ก็คิดว่าตนเองคงไม่เกี่ยว จึงไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งให้ทุกวัดทำซุ้มประตูไฟและโคมไฟประดับเพื่อการสมโภช ท่านก็ไม่ได้ทำตามอีกเช่นกัน หากแต่ท่านปฏิบัติธรรมสวดมนต์แผ่เมตตาจิตคุ้มครองพระมหากษัตริย์แทน ท่านยังชวนพระสงฆ์และสามเณรในวัดสวดมนต์เจริญพรแด่องค์พระมหากษัตริย์ เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนา ก็เป็นอันสิ้นพิธีกรรมเฉลิมฉลองของพระศรีวิชัย ในขณะที่วัดอื่นๆ ในอำเภอลี้สว่างไสวไปด้วยแสงไฟ และมีงานเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น แต่วัดบ้านปางกลับเงียบสงัด ครั้งนั้นไม่มีเหตุการณ์อะไรจากทางการในทันที

ทว่าในอีกไม่นานเกิดมีข่าวลือแพร่สะพัด “ว่าพระศรีวิชัยได้ตั้งตนเป็นผู้หลอกลวงประชาชนโดยใช้เวทมนตร์ คาถาอาคม บ้างก็ลือว่าเป็นผีบุญ ที่หนักข้อคือกล่าวหาว่าพระศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมผู้คนเป็นจำนวนมาก ให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่อยู่ในความปกครองของเจ้าคณะแขวงลี้ นายอำเภอและขัดขืนต่ออำนาจรัฐบาลกลาง”

ในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ดำเนินการลงโทษอย่างหนักด้วยการตั้งข้อกล่าวหา ๘ ประการ หลักๆ คือการทำตัวไม่เป็นพระตามพ.ร.บ. และขัดขืนอำนาจและคำสั่งของทางการทั้งทางสงฆ์และทางโลก ให้ออกจากวัดบ้านปางไปโดยทันที และไม่ให้วัดอื่นๆ ในลำพูนรับเข้าอาศัยโดยเด็ดขาด พระศรีวิชัยเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ไม่ยอมออกจากวัด ท่านจะยอมตายในวัด สานุศิษย์และชาวบ้านจำนวนมากก็มาสนับสนุนพระศรีวิชัย สถานการณ์ทำท่าจะตึงเครียด เจ้าเมืองลำพูนจึงเรียกให้พระศรีวิชัยไปพบว่าจะให้ความยุติธรรม ในที่สุดพระศรีวิชัยตัดสินใจเดินทางไปพบเจ้าเมืองลำพูน

ตรงนี้คือข้อที่น่าสนใจมาก มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในพระศรีวิชัยทั้งพระและฆราวาสจากที่ต่างๆ พากันมาร่วมขบวนเดินเท้าไปเมืองลำพูนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๑,๕๐๐ คน เป็นชาวบ้าน ๑,๐๐๐ เป็นพระและสามเณร ๕๐๐ รูป วันออกเดินทาง “บรรดาพระก็ครองผ้าแบบพระศรีวิชัย ทุกองค์มีผ้ามัดอก สวมประคำห้อยคอ ถือตาลปัตร (พัดทำด้วยใบตาล) และไม้เท้า ออกเดินอย่างสำรวม บรรดาศรัทธาทั้งหลายช่วยกันจัดขบวนประหนึ่งจะแห่ไปในงานปอยอันสำคัญ บ้างก็มีกังสดาล ฆ้อง ระฆัง บัณเฑาะว์ หอยสังข์ กลอง ปี่ ดีดสีตีเป่ากัน บรรดาชาวเขาเผ่าต่างๆ ก็นำเครื่องดนตรี และวัฒนธรรมของตนตามถนัดเข้าร่วมขบวน” นี่คือกองทัพธรรมที่ถูกจุดประกายจากผลแห่งการรวมศูนย์อำนาจการปกครองทั้งทางโลกและทางธรรมนั่นเอง

เรื่องราวการพยายามจับกุมพระศรีวิชัยให้อยู่ที่เมืองลำพูนไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากจำนวนประชาชนที่มาร่วมการชุมนุมนับพันและจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าเมืองหวาดกลัวรีบขอให้ทางจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นที่ทำการของมณฑลพายัพมารับตัวไปเชียงใหม่โดยด่วน (เหมือนกับตอนที่ฮัจยีสุหรงถูกจับไปดำเนินคดีข้อหากบฏและแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ทางการก็ต้องส่งตัวไปขึ้นศาลที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเพราะเกรงคนมุสลิมมาชุมนุมประท้วง)

เมื่อไปถึงเชียงใหม่ พระศรีวิชัยถูกกักบริเวณอยู่ในวัดศรีดอนชัยเป็นเวลา ๓ เดือน ๘ วัน ตลอดระยะเวลานั้นมีประชาชนมามุงดู เมื่อทราบข้อเท็จจริงกลับเลื่อมใสในพระศรีวิชัย พากันมาทำบุญเป็นที่ครึกครื้นราวกับมีงานวัด จนทางวัดต้องหาทางปรามด้วยการจดชื่อผู้มาทำบุญ เพื่อจะส่งรายชื่อไปให้ทางการลงโทษ แต่ผู้คนก็ไม่ลดลง กล่าวกันว่าวัดศรีดอนชัยกลายเป็นแหล่งพบปะของประชาชนที่มาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความเห็นทางการเมือง กลายเป็นโรงเรียนการเมืองขนาดย่อมไป เฉกเช่นเดียวกับสนามหลวงในเวลาที่มีการชุมนุมประท้วงทางการเมืองไป

ในที่สุดคณะกรรมการสอบสวนก็ไม่สามารถเอาผิดพระศรีวิชัยได้ เพราะสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ทุกข้อ จึงตกลงส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงไต่สวนและพิจารณาลงโทษต่อไป

ผลของการสอบสวนในกรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกันคือไม่อาจหาข้อมาทำโทษได้ หลังจากได้รับผลของการสอบสมเด็จฯ พระสังฆราชทรงมีพระดำริวินิจฉัยโดยสรุปว่า พระศรีวิชัยไม่มีความผิด เจ้าคณะลงโทษเกินไป ควรปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปภูมิลำเนาของตน


เรียบเรียงจาก ประวัติครูบาศรีวิชัย และบทความ ประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกจำ ‘ครูบาศรีวิชัยกับการปกครองรวมศูนย์ของกรุงเทพฯ’ โดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์เมื่อ: อังคาร 21 มิ.ย. 2016 5:36 am
โดย Namfar
ครูบาศรีวิชัย....หนึ่งในอริยสงฆ์บนเส้นทางแห่งพระพุทธศาสนาแผ่นดินล้านนา ที่ชาวล้านนายังฝังในจิตใต้สำนึกด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่าคือ ต๋นบุญ หรือ นักบุญ

พระภิกษุศรีวิชัย สิริวิชโย คือ ครูบาศรีวิชัย หรือบางที่ชาวบ้านก็เรียกว่า ครูบาศีลธรรม และ ตุ๊เจ้าบ้านปาง ด้วยท่านเกิดที่ บ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน...ในปี ๒๔๒๑ เริ่มเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์...หรือนุ่งห่มผ้าเหลืองครั้งแรกเป็น สามเณร ณ วัดบ้านปาง จนกระทั่งอายุครบบวชจึงได้ อุปสมบท ณ วัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนจากนั้นก็ได้ เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆในแผ่นดินล้านนา โดย กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้า และ พัด ปฏิบัติธรรม ศีลวัตรสัจคุณ เว้นการเสพหมาก เมี่ยง งดฉันเนื้อสัตว์ และ อาหารเพียงมื้อเดียว ตั้งแต่อายุ ๒๖ ปี ด้วย ปรารถนาบรรลุโมกขธรรม ตามอธิษฐานบารมีว่าขอตั้งปรารถนา ขอหื้อได้ธรรม ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานเพียงสิ่งเดียว บั้นปลายชีวิตท่านได้กลับไป จำวัด ณ วัดบ้านปาง โดยตั้งจิตอธิษฐานว่า หากแม่น้ำปิงไม่ไหลย้อน จะไม่กลับไปเชียงใหม่อีก กระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๘๑ จึงได้ละสังขาร แล้วเคลื่อนศพมาตั้งที่วัดจากเทวี จนถึงปี ๒๔๘๙ จึงได้พระราชทานเพลิงศพ

ฮูปปราสาทศพและโกศเผาศพครูบาเจ้า

ครูบา1.jpg
ครูบา1.jpg (77.01 KiB) เปิดดู 5879 ครั้ง

Re: ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

โพสต์เมื่อ: อังคาร 06 ก.ย. 2016 8:08 pm
โดย ภาษาสยาม
ครูบาศรีวิชัยในบั้นปลายชีวิต ท่านนั่งอยู่ในศาลาที่วัดบ้านปาง ตำบลแม่ตืน (ปัจจุบันคือตำบลศรีวิชัย) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

14199589_1233670920011489_7125515144626470342_n.jpg
14199589_1233670920011489_7125515144626470342_n.jpg (109.41 KiB) เปิดดู 5822 ครั้ง


ที่มา Salid Salidnoi