หน้า 1 จากทั้งหมด 4

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: อาทิตย์ 01 ก.พ. 2015 4:03 pm
โดย ภาษาสยาม
พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงปล่อยเส้นพระเกศายาวตามแบบประเพณีสตรีล้านนา

428806_10151033054859350_760723542_n.jpeg
428806_10151033054859350_760723542_n.jpeg (92.33 KiB) เปิดดู 25624 ครั้ง



คณะทำงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคเหนือ ได้ระบุข้อไม่ควรกระทำในการทำผมและการแต่งกายของ “แม่ญิงล้านนา” เอาไว้ว่า


๑.ไม่ควรใช้ผ้าโพกศีรษะ ในกรณีที่ไม่ใช่ชุดแบบไทลื้อ

๒. ไม่ควรเสียบดอกไม้ไหวจนเต็มศีรษะ

๓. ไม่ควรใช้ผ้าพาดบ่าลากหางยาว หรือคาดเข็มขัดทับ และผ้าพาด
ที่ประยุกต์มาจาก ผ้าตีนซิ่นและผ้า “ตุง” ไม่ควรนำมาพาด

๔. ตัวซิ่นลายทางตั้งเป็นซิ่นแบบลาว ไม่ควรนำมาต่อกับตีนจกไทยวน

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: อาทิตย์ 01 ก.พ. 2015 6:58 pm
โดย ภาษาสยาม
เจ้าศรีพรหมา ผู้กล้าปฏิเสธ"ความรักจาก ร.๕"

220px-หม่อมศรีพรหมา_กฤดากร_ณ_อยุธยา01.jpg
220px-หม่อมศรีพรหมา_กฤดากร_ณ_อยุธยา01.jpg (13.68 KiB) เปิดดู 25622 ครั้ง


เจ้าศรีพรหมา เป็นธิดาของเจ้าผู้ครองนครน่าน เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๓๑ เมื่อเจ้าศรีพรหมาอายุได้ ๓ ขวบเศษ พระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงในรัชกาลที่ ๕ และคุณหญิงอุ๊น ภรรยา ได้ขอเจ้าศรีพรหมา ไปเป็นบุตรบุญธรรม เจ้าศรีพรหมาจึงได้ไปอยู่กับพระยามหิบาลฯ ที่กรุงเทพฯ

เจ้าศรีพรหมาใช้ชีวิตและเรียนหนังสืออยู่ในวังร่วมกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี เป็นเวลา ๓ ปี จึงได้ตามครอบครัวพระยามหิบาลบริรักษ์ไปอยู่ที่ประเทศรัสเซียและประเทศอังกฤษ ตามลำดับ ทำให้ได้มีโอกาสฝึกฝนภาษาอังกฤษไปด้วย

เมื่อเจ้าศรีพรหมากลับจากต่างประเทศ ก็ได้เข้าไปรับราชการเป็นคุณข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งบางคราวก็ทำหน้าที่เป็นล่ามติดต่อกับชาวต่างประเทศ

ในช่วงนั้นเจ้าศรีพรหมากำลังเป็นสาวเต็มตัว มีทั้งความสวย และอุปนิสัยโอบอ้อมอารี มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ผิดจากสตรีชาววังทั่วไป เนื่องจากได้ไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่ต่างประเทศ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๕ ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมากถึงกับจะโปรดให้รับราชการเป็นเจ้าจอม จนมีขุนนางบางท่านได้พูดถึงเรื่องนี้กันว่า ถึงกับจะให้เป็นพระสนมเอกเลยทีเดียว แต่เจ้าศรีพรหมาก็ได้กราบทูลปฏิเสธโดยเลี่ยงที่จะทูลเป็นภาษาไทย จึงทูลเป็นภาษาอังกฤษแทนเมื่่อแปลเป็นไทยความว่า"ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าเคารพพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ มิได้รักใคร่พระองค์ท่านในทางชู้สาว" ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ก็ทรงเมตตาให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าศรีพรหมา และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าศรีพรหมาเสมอ ถึงกับฉายรูปเจ้าศรีพรหมาด้วยพระองค์เอง และเก็บไว้ในห้องบรรทมตลอดมา

เจ้าศรีพรหมาได้เษกสมรสกับหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เจ้าศรีพรหมาจึงมีฐานะเป็น “หม่อมศรีพรหมา” ตั้งแต่นั้น

ที่มา:คลังประวัติศาสตร์ไทย

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 24 มี.ค. 2015 7:08 pm
โดย น้ำฟ้า
พระตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ภายในพระบรมมหาราชวัง



5588999.jpg
5588999.jpg (182.92 KiB) เปิดดู 18499 ครั้ง




ตำหนักหลังนี้เป็นตำหนักขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในส่วนของเขตพระราชฐานชั้นใน ภายในพระบรมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่าจะปลูกตำหนักพระราชทานเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แต่เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทราบข่าวเรื่องปลูกตำหนักนี้ พระองค์จึงขอพระบรมราชานุญาต ขอเป็นผู้ปลูกตำหนักหลังนี้เอง เสมือนว่าเมื่อลูกสาวออกเรือนไปก็อยากจะเป็นผู้ปลูกบ้านให้ลูกสาวของท่านเอง ตำหนักนี้นอกจากจะเป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมีแล้ว ยังใช้เป็นที่ประทับของพระธิดาองค์น้อย นั่นก็คือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี แต่เป็นที่น่าเสียดาย พระธิดาองค์น้อยนี้มีพระชนม์ได้เพียง ๓ พรรษาเศษ ก็สิ้นพระชนม์ ตำหนักนี้ได้ชื่อว่ามนต์เสน่ห์แห่งล้านนา เพราะเป็นตำหนักที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของล้านนา ไม่ว่าจะเป็นนางข้าหลวงที่ล้วนแต่เป็นเจ้าหญิงจากล้านนา ธรรมเนียมการแต่งกายเอย อาหารการกินเอย ปฏิกิริยาต่างๆเอยก็ล้วนแต่เป็นล้านนาไปเสียหมด จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า “ท่านยกเอาวังเชียงใหม่มาอยู่กลางวังหลวง”




ลักษณะของตำหนักเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างเต็มพื้นที่ มีถนนตัดผ่านโดยรอบทั้งสี่ด้าน ตัวอาคารก่ออิฐฉาบปูนสูงสามชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ผนังของตำหนักตกแต่งด้วยลายปูนปั้นอย่างวิจิตรพิสดาร และเป็นอีกหนึ่งตำหนักที่ดูแปลกแตกต่างไปจากตำหนักอื่น นั่นก็คือไม่มีซุ้มประตูทางเข้า ดังนั้นทางเข้าของตำหนักนี้จะคล้ายกับการเจาะผนังเป็นช่องสี่แหลี่ยมเข้าไปในตัวอาคาร และประดับด้วยลายปูนปั้นตรงด้านบนของประตู ซึ่งเป็นรูปแบบของประตูที่นิยมสร้างกันมากในสังคมเมืองยุโรปในขณะนั้น ภายในตำหนักมีลานกว้าง ประตูและหน้าต่างของตำหนักนี้มีความวิจิตรบรรจงงดงามไม่เป็นรองตำหนักมเหสีองค์อื่นๆเลย




ความโดดเด่นอีกหนึ่งสิ่งอย่างของตำหนักนี้ก็คือ จะใช้ผนังของตำหนักเป็นเป็นโครงสร้างหลักเพื่อเป็นตัวรับน้ำหนักของอาคาร โดยพนังของตำหนักนี้มีความหนาถึง ๐.๖๐ เมตร ปูพื้นด้วยหินอ่อนสีขาวสลับดำจากอิตาลี ส่วนพื้นและโครงสร้างด้านบนของตำหนักนั้นเป็นไม้สักทองเกรดดีที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ล่องแม่น้ำส่งตรงลงมาจากเชียงใหม่ แต่ละห้องนั้นสามารถเปิดทะลุหากันได้หมด ด้านบนเป็นที่ประทับของเจ้าดารารัศมีและพระราชธิดารวมถึงพระญาติวงศ์คนสนิท ด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของเหล่าข้าหลวงและเจ้าหญิงเล็กๆจากเมืองเหนือที่ตามเสด็จเจ้าดารารัศมีมาจากเชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหญิงจาก เชียงใหม่ น่าน แพร่ ลำพูน เป็นต้น หลังจากที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สวรรคตลง เจ้าดารารัศมีจึงตัดสินพระทัยเสด็จกลับคืนล้านนาเป็นการถาวร ภายหลังจึงเป็นที่ประทับของ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี พระราชธิดาในรัชกาลที่๔




ประวัติการบูรณะ : ปีพ.ศ.๒๕๒๖ เปลี่ยนพื้นตามเฉลียงทางเดินทั้งสามชั้น ปูกระเบื้อพื้นห้องน้ำ ฉาบปูนซ่อมเปลี่ยนผนังไม้ บันไดไม้ ประตูไม้ หน้าต่างไม้ ปูกระเบื้อฝาห้องน้ำ พ.ศ.๒๕๓๐ รื้อกระเบื้องหลังคา ซ่อมเปลี่ยนโครงไม้หลังคาเป็นกระเบื้องรอนคู่สมัยใหม่ สกัดผนังเดิมออกแล้วฉาบใหม่ พ.ศ.๒๕๔๔ ปรับปรุงผนังปูนที่ผุและฉาบใหม่ ทาสีประตูหน้าต่างรอบนอกทั้งหมดพร้อมซ่อมฝ้าเพดานรอบนอก รวมค่าใช้จ่ายในการบูรณะทั้งสิ้น ๑,๙๘๕,๐๐๐ บาท*




หนังสืออ้างอิง : พระบรมหาราชวังและการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยสำนักพระราชวัง, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง โดยสำนักราชเลขาธิการ

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: เสาร์ 11 เม.ย. 2015 8:58 pm
โดย ภาษาสยาม
เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่

pra02100258p1_resize.jpg
pra02100258p1_resize.jpg (73.72 KiB) เปิดดู 18464 ครั้ง


เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ เป็นธิดาลำดับที่ ๙ หรือ ๑๐ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าธิดาคนสุดท้องของเจ้าน้อยดวงทิพย์ และเจ้าหญิงคำแสน ณ เชียงใหม่ และเป็นน้องสาวของเจ้าน้อยแก้วมุงเมือง (เจ้าบุรีรัตน์)ซึ่งเป็นบุตรลำดับที่ ๓

เจ้าดวงทิพย์ ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรคนสุดท้องเจ้าราชวงศ์คำคง และเจ้าหญิงคำหล้าและเป็นน้องชายของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์ (บิดาพระราชชายาเจ้าดารารัศมี)

เจ้าบัวชุม อายุได้ประมาณ ๗ ขวบ ได้ติดตามขบวนเรือของเจ้าหลวงอินทวิชยานนท์มากรุงเทพฯเพื่อมาอยู่กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และมาพร้อมกับเจ้าหญิงยวงแก้ว สิโรรส (ธิดาเจ้าน้อยคำคง สิโรรส) อายุ ๗ ขวบเหมือนกัน

เจ้าบัวชุมภายหลังท่านได้แต่งงานกับเจ้าน้อยศุขเกษมและแต่งงานใหม่อีกครั้งกับเจ้าไชยวรเชษฐ์ หรือ เจ้ามงคลสวัสดิ์ซึ่งเป็นนายอำเภอสันทรายคนแรก บุตรชายเจ้าหญิงกาบเมือง (ธิดาเจ้าหนานมหาเทพ บุตรเจ้าหลวงมโหตรประเทศ) แต่ภายหลังได้เลิกรากัน เจ้าหญิงบัวชุมท่านได้ใช้ชีวิตภายหลังอยู่เจ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีจนพระราชายาฯสิ้นพระชน เมื่อปี ๒๔๗๖แล้วเจ้าหญิงบัวชุมท่านได้ย้ายไปพำนักอยู่กับเจ้าหญิงวัฒนา โชตนา ธิดาเจ้าแก้วมุงเมืองกับเจ้าหญิงเรณุวรรณนา จนท่านเสียชีวิต อายุท่านได้ประมาณ ๘๐ กว่าปี น่าจะตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๑๘

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: เสาร์ 11 เม.ย. 2015 9:27 pm
โดย ภาษาสยาม
โศกนาฏกรรมหญิง!...ชิงสวาท“รักสามเส้า”


20100906-162031-180610256.jpg
20100906-162031-180610256.jpg (40.37 KiB) เปิดดู 18463 ครั้ง


โศกนาฏกรรมหญิง!...ชิงสวาท“รักสามเส้า”
ปีพ.ศ.๒๔๙๙ ภายในพระบรมหาราชวัง ในสมัยนั้นผู้คนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หากจะยลโฉมหญิงงามจากเมืองเหนือแล้วไซร้ ให้ไปที่ตำหนักของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ ตำหนักหลังนี้นอกจากจะเป็นที่ประทับของพระราชชายาเจ้าฯแล้ว ยังเป็นที่อยู่ของเหล่าข้าหลวงนางในที่ล้วนแต่เป็นพระญาติ และเป็นเจ้าหญิงจากพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือทั้งสิ้น จึงทำให้ตำหนักหลังนี้อบอวลไปด้วยขนบธรรมเนียมและราชประเพณีล้านนา เช่น ทุกคนจะแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างสตรีชั้นสูงในคุ้มเจ้าหลวง เกล้าอวยมวยผมอย่างสาวชาวเหนือ มีดนตรีขับร้องและฟ้อนรำเป็นเอกลักษณ์ อาหารการกินและภาษาเป็นคำเมือง.

ความงามของข้าหลวงนางในตำหนักนี้ขจรขจายไปทั่วในราชสำนัก แต่ที่งามสวยรวยเสน่ห์จนลือชื่อนั้นเห็นจะเป็นเจ้าหญิงองค์หนึ่ง นามว่า “ยวงแก้ว สิโรรส" เจ้าหญิงเมืองเหนือองค์นี้มีอุปนิสัยใจคอเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและห้าวหาญ มิค่อยจะเกรงผู้ใดนัก ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เจ้าหญิงยวงแก้วมีคู่รักเป็นผู้หญิง นามว่า “หม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพ” หญิงสาวราชนิกุลผู้นี้เป็นข้าหลวงอยู่ตำหนักของเจ้านายพระองค์หนึ่งในละแวกเดียวกัน แต่หารู้ไหมว่าหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพผู้นี้ก็มีแฟนสาวอยู่ก่อนแล้วคนหนึ่ง ชื่อว่า นางสาวหุ่น เมื่อความเป็นเช่นนี้แล้วจึงเกิดศึกชิงรักหักสามเส้า ระหว่างนางสาวหุ่นกับเจ้าหญิงยวงแก้ว ต่างคนต่างชิงดีชิงเด่น ชิงไหวชิงพริบหวังจะเอาชนะกัน เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่พักหนึ่ง ไม่นานนางสาวหุ่นจึงปล่อยข่าวเป็นเชิงใส่ไฟเจ้าหญิงยวงแก้ว ประมาณว่าเจ้าหญิงยวงแก้วนี้หลงใหลใคร่เสน่ห์ในตัวหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพมากมายถึงขนาดเอาทรัพย์สินมีค่าที่พระราชชายาเจ้าฯประทานให้ไปปรนเปรอหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์เทพเสียหมดสิ้น.

จนในที่สุดเรื่องใส่ไฟนี้ก็แดงขึ้น รู้กันไปถึงไหนๆ สุดท้ายก็ไปถึงหูพระราชชายาเจ้าฯ พระองค์ก็ทรงกริ้วเจ้าหญิงยวงแก้วอย่างรุนแรงถึงกับเอ่ยปากให้เอาของประทานมาคืนพระองค์ให้หมด และคาดโทษไว้ว่าจะส่งตัวกลับนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ให้เร็วที่สุด.

ไม่มีใครทราบความรู้สึกของเจ้าหญิงยวงแก้วได้ดีเท่ากับตัวของท่านเองอีกแล้ว แต่ที่รับรู้ได้ชัดเจนทั่วพระบรมหาราชวังคือ มันได้สร้างความอับอายให้เจ้าหญิงยวงแก้วเป็นอย่างมาก อายต่อเพื่อนๆข้าหลวง อายต่อผู้คนและคุณพนักงานในวัง จนไม่กล้าที่จะออกไปไหนมาไหน ปัญหาต่างๆสั่งสมมากขึ้นจนกลายเป็นความเครียด กลุ้มอก กลุ้มใจ ทุกข์ระทม อมระทวย ๓ วันต่อมาในคืนนั้นเองเจ้าหญิงยวงแก้วได้นอนปรับทุกข์กับ เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ เพื่อนร่วมตำหนักถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เจ้าหญิงยวงแก้วพร่ำรำพันถึงสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นว่าแทนที่ทุกคนจะเห็นใจแต่กลับเยาะเย้ยเหยียดหยามซ้ำเติม เจ้าหญิงบัวชุมก็ได้แต่ปลอบใจให้คลายโศกเศร้าลง แต่แล้วในคืนนั้นเองหลังจากเจ้าหญิงบัวชุมนอนหลับสนิทนั้น...

**...เจ้าหญิงยวงแก้ว จึงตัดสินใจแอบเดินขึ้นไปยังชั้นบนสุดของตำหนัก แล้วกระโดดลงมาจนถึงแก่ความตายโดยไร้คำสั่งเสีย ด้วยวัยเพียง... ๑๙ ปี ปิดฉากตำนานรักสามเส้านี้อย่างค้างคาใจหลายคน เพราะไม่มีผู้ใดคาดคิดว่าเจ้าหญิงยวงแก้วจะเด็ดเดี่ยวถึงเพียงนี้

อ้างอิง: หนังสือเพ็ชรล้านนา โดยปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: เสาร์ 18 เม.ย. 2015 1:53 pm
โดย Namfar
กู่เจ้านาย


" กู่เจ้าหลวงเชียงใหม่ เป็นกู่ที่บรรจุอัฐิของเจ้าหลวงเชียงใหม่ และพระญาติวงศ์ในสายสกุล แต่เดิมประดิษฐานบริเวณข่วงเมรุ (ตลาดวโรรส) ซึ่งเป็นสนามโล่งไว้ใช้เผาศพของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ ก็คือ ทุ่งพระเมรุ หรือสนามหลวงในปัจจุบันและเมื่อเผาแล้วก็จะสร้างกู่หรือที่เก็บอัฐิขึ้นในบริเวณนั้น แล้วต่อมาได้มีการย้ายมารวมไว้เป็นที่แห่งเดียว ณ บริเวณวัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระดำริของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ "

" หลังจากงานพระศพของพระเจ้าดินทราวิชยานนท์แล้ว บริเวณนั้นได้เริ่มมีการสร้างบ้านเรือนขึ้น โดยบางส่วนนั้นได้มีการบุกรุกเข้าไปในบริเวณข่วงเมรุ เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ต้องจ่ายเงินถึง ๑๓,๐๐๐ รูปีเป็นค่ารื้อย้ายบ้านเรือนที่บุกรุกเข้าไปข่วงเมรุและจัดสรรพื้นที่นี้เป็นกาด หรือตลาด (บริเวณตลาดวโรรสหรือกาดหลวงในปัจจุบัน)"

" ต่อมา พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้เสด็จกลับเชียงใหม่ทรงเห็นว่ากู่ต่างๆ นั้นกระจัดกระจายอยู่ดูไม่เป็นระเบียบไม่เหมาะสม พระองค์ได้ประทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการรื้อย้ายกู่บริเวณนั้นทั้งหมด และโปรดให้สร้างกู่ใหม่ขึ้นในบริเวณวัดสวนดอก โดยเมื่อสร้างกู่และรื้อย้ายอัฐิมาไว้ ณ วัดสวนดอก แล้วได้โปรดให้เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๕๒ เป็นวันอัญเชิญพระอัฐิ ส่วนพิธีการทางศาสนาได้เริ่มในวันที่ ๑๕-๑๙ พฤษภาคม ๒๔๕๒ และนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำศิลปะการแสดง ละครแบบเมืองหลวง มาเผยแพร่ในนครเชียงใหม่"

" เมื่อก่อสร้างกู่ที่วัดสวนดอกเรียบร้อยแล้ว พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงได้ทรงอัญเชิญพระอัฐิเจ้าหลวงและพระอัฐิพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่มาประดิษฐานที่วัดสวนดอก ดังนี้

๑. พระอัฐิของ พระเจ้ากาวิละ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๑

๒. พระอัฐิของ เจ้าหลวงธรรมลังกา (พระเจ้าช้างเผือก) เจ้าหลวงองค์ที่ ๒

๓. พระอัฐิของ เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าหลวงองค์ที่ ๓

๔. พระอัฐิของ เจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๔

๕. พระอัฐิของ พระเจ้ามโหตรประเทศ (มะ-โห-ตะ-ระ-ประ-เทด) เจ้าหลวงองค์ที่ ๕

๖. พระอัฐิของ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าหลวงองค์ที่ ๖

๗. พระอัฐิของ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๗

๘. อัฐิ พระเทวีแม่เจ้าอุสาห์ ชายาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (เจ้าชีวิตอ้าว) เจ้าหลวงองค์ที่ ๖

๙. อัฐิ พระเทวีแม่เจ้าเทพไกรสรหรือแม่เจ้าทิพเกสรชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์

๑๐. อัฐิแม่เจ้ารินคำ ชนนีเจ้าอินทวโรรส เจ้าหลวงองค์ที่ ๘

๑๑. อัฐิพระเทวีแม่เจ้าพิณทอง (ปินตอง) ชายาในเจ้าหลวงพุทธวงศ์

หลังจากนั้นก็ได้มีการสร้างกู่

๑๒. กู่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๘ พิราลัย พ.ศ. ๒๔๕๓

๑๓. กู่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๔๗๖

๑๔. กู่เจ้าแก้วนวรัฐ พิราลัย พ.ศ. ๒๔๘๒

และ กู่พระญาติวงศ์อื่นๆ จนมีจำนวน ๑๐๕ กู่

กู่สุดท้าย ๑๐๕.คือกู่ของท่านผู้หญิงฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี (พระนามเดิมหม่อมเจ้าฉัตรสุดา ชัย) สิ้นชีพิตักษัย พ.ศ. ๒๕๓๙

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: พฤหัสฯ. 07 พ.ค. 2015 7:07 am
โดย ภาษาสยาม
พระมหาเทวีจิรประภา กษัตรีย์แห่งล้านนา


ch8.jpg
ch8.jpg (55.36 KiB) เปิดดู 18416 ครั้ง



ระยะเวลาครองราชย์

"พระมหาเทวีจิรประภา " หรือ "พระเปนเจ้ามหาจิรประภา" ทรงเป็นกษัตรีองค์แรกของอาณาจักรล้านนา ที่ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2088 - 2089 เป็นกษัตรีลำดับที่ 16 .แห่งราชวงค์มังราย โดยทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพญาเกส หรือ เกสเชษฐา หรือ พระเมืองเกส



พระประวัติ

จากการสืบค้นประวัติของ"พระมหาเทวีจิรประภา " หรือ "พระเปนเจ้ามหาจิรประภา" ยังไม่หลักฐานที่บ่งชี้ถึง วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิดและพระบิดาพระมารดาของพระองค์ หากแต่จากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ และศิลาจารึกวัดพระธาตุเมืองหลวงพระบาง รวมทั้งตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ สามารถประมวลโดยสรุปได้ว่า

"พระมหาเทวีจิรประภา" ทรงเป็นพระมเหสีของพระเกส กษัตริย์ลำดับที่ 14 แห่งราชวงค์มังราย ซึ่งขึ้นครองราชสองสมัยคือ สมัยแรกระหว่างปี พ.ศ. 2069 - 2081 และสมัยที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2086 - 2088 และเป็นพระมารดาของท้าวชาย กษัตริย์ลำดับที่.16 ของราชวงค์มังราย ซึ่งครองราชย์ในระหว่างปี พ.ศ. 2082- 2085

สันนิฐานว่า พระมหาเทวีจิรประภา น่าจะทรงเป็นหญิงที่มาจากตระกูลสูงศักดิ์และมีอำนาจทางการเมือง ดังจะปรากฎจากขึ้นครองราชย์เป็น "กษัตรีย์ " ที่มีอำนาจสิทธิ์ขาดเพียงผู้เดียว ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในการระบบการปกครองของล้านนาที่ล้วนแต่มี "กษัตริย์"



บทบาททางการเมือง

สวัสวดี อ๋องสกุล (2547) ได้เสนอพระราชประวัติของพระมหาเทวีจิรประภา กล่าวโดยสรุปดังนี้

ในช่วงปลายราชวงศ์มังราย อาณาจักรล้านนามีความอ่อนแอ เนื่องการแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์และขุนนาง และขุนนางในสมัยนั้นมีอำนาจสูงมาก สามารถแต่งตั้งหรือปลดกษัตริย์ออกได้ตามความพึงพอใจ ทั้งนี้เป็นผลเนื่องจากปัญหาโครงสร้างของรัฐที่มีการกระจายการปกครองไปตามการตั้งถิ่นฐาน ประกอบกับลักษณะทางกายภาพให้เอื้อให้เมืองต่าง ๆ มีความสามารถในการพึงพาตนเอง มีความสามารถในการคุมกำลังคน และมีอำนาจทางเศรษฐกิจจากการเก็บส่วย ทำให้เมืองต่าง ๆ มีความเป็นอิสระค่อนข้างสูง ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงตอนต้นและตอนกลางของราชวงศ์มังราย มีการจัดการควบคุมระบบเมืองขึ้นอย่างได้ผล หากแต่ก็เริ่มอ่อนแอลงตามลำดับ

ดังจะปรากฏในสมัยที่พญาเกส ขึ้นครองราชย์ครั้งที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2077 ที่เริ่มเกิดความขัดแย้งระหว่างพญาเกสกับขุนนาง โดยมีกลุ่มขุนนางลำปางเป็นแกนนำ และมีความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ในที่สุด ปี พ.ศ. 2581 กลุ่มขุนนางได้ปลดพญาเกสออกและส่งไปอยู่เมืองน้อยจากนั้นจึงเชิญท้าวชาย ซึ่งเป็นโอรสของพญาเกส ขึ้นปกครองในระหว่างปี พ.ศ. 2081- 2086

ต่อมาท้าวชายได้ถูกขุนนางฆ่าตายในคุ้มพร้อมครอบครัว และกลุ่มขุนนางได้ไปเชิญพญาเกสให้กลับมาครองราชย์ครั้งที่สอง ในระหว่างปี พ.ศ. 2086 - 2088 และได้ถูกแสนคราวหรือแสนดาว ขุนนางใหญ่ ปลงพระชนม์ ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง เนื่องจากจารีตล้านนาที่เชื่อว่า กษัตริย์ต้องสืบเชื้อสายกษัตริย์ ดังนั้น ขุนนางแม้ว่าจะปลดกษัตริย์ได้แต่ก็ไม่สามารถครองราชย์ได้ นำสู่สงครามกลางเมืองและการชักนำกำลังจากภายนอกเข้าช่วย ทั้งนี้กลุ่มขุนนางที่มีบทบาทสำคัญมี 3 กลุ่มคือ

กลุ่มแสนคราวหรือแสนดาว เป็นกลุ่มที่ปลงพระชนม์พญาเกส และเชิญเจ้านายเมืองเชียงตุง ซึ่งมีเชื้อสายราชวงศ์มังราย ให้มาครองเมืองเชียงใหม่ แต่เจ้านายเมืองเชียงตุงไม่มา จึงไปเชิญเจ้าเมืองนาย

กลุ่มหมื่นหัวเคียน เป็นกลุ่มที่สู้รบกับกลุ่มแสนคราว และพ่ายแพ้จึงหนีไปลำพูน และไปแจ้งให้กรุงศรีอยุธยายกทัพขึ้นมายึดเมืองเชียงใหม่ และเป็นเหตุให้พระไชยราชา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา

กลุ่มเชียงแสน เป็นกลุ่มของพระมหาเทวีจิรประภา ประกอบด้วยเจ้าเมืองเชียงแสน เจ้าเมืองเชียงราย เจ้าเมืองลำปาง และเจ้าเมืองพาน กลุ่มนี้สามารถกวาดล้างกลุ่มแสนคราวสำเร็จและอัญเชิญพระไชยเชษฐาจากล้านช้าง เพื่อมาปกครองเมืองเชียงใหม่

พระไชยเชษฐาเป็นโอรสของพระโพธิสาลราช กษัตริย์แห่งล้านช้างและพระนางยอดคำ ธิดาของพญาเกสและพระมหาเทวีจิรประภา ทั้งนี้ระหว่างที่รอการเสด็จมาของพระไชยเชษฐา บรรดาขุนนางได้อัญเชิญพระมหาเทวีจิรประภาขึ้นครองราชย์ ระหว่างปี 2088 - 2089 ซึ่งคาดว่าน่าจะทรงมีอายุประมาณ 45 - 46 ปี และแม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในการครองราชย์ หากแต่พระมหาเทวีจิรประภาก็ได้ช่วยให้บ้านเมืองพ้นวิกฤตจากสงครามระหว่างเชียงใหม่และกรุงศรีอยุธยา

วันพุธ ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 7 พระไชยราชานำกองทัพจากกรุงศรีอยุธา มาถึงเชียงใหม่ในวันอาทิตย์ แรม 14 ค่ำ เดือน 7 ซึ่งขณะนั้นพระมหาเทวีจิรประภา เพิ่งขึ้นครองราชย์และเชียงใหม่ยังไม่พร้อมที่จะทำสงคราม จึงทรงเลือกใช้ยุทธวิธีทางการฑูต โดยการแต่งบรรณการไปถวายพระไชยราชา พร้อมทั้งเชิญพระไชยราชาให้ไปประทับที่เวียงเจ็ดลิน และเชิญพระไชยราชาร่วมทำบุญอุทิศให้พญาเกส ณ วัดโลกโมลี ซึ่งในครั้งนั้นพระไชยราชาได้ร่วมบริจาคเงินสมทบสร้างกู่บรรจุอัฐิพญาเกส พร้อมทั้งรางวัลแก่เจ้านายและขุนนางที่ไปต้อนรับ จากนั้นจึงเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา

ยุทธวิธีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความปรีชาสามารถของพระมหาเทวีจิรประภา ในการเจรจาหว่านล้อมชักชวนให้พระไชยราชายกทัพกลับไป โดยใช้เวลาประทับเชียงใหม่ไม่นาน และยังไม่ได้เสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่ เพราะเวียงเจ็ดลินอยู่ห่างจากกำแพงเมือง 3 กิโลเมตร เช่นเดียวกับวัดโลกโมลี ซึ่งอยู่นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือ ทั้งนี้การให้เกียรติอย่างสูงสุดของกษัตริย์ควรหมายถึงการอัญเชิญเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ โดยผ่านประตูช้างเผือกด้านหัวเวียง ดังนั้นนัยนี้ความจริงในครั้งนี้ จึงเป็นการแฝงถึงแนวคิดในการไม่ยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยา

ในปีเดียวกันนี้เอง หลังจากที่กองทัพกรุงศรีอยุธยายกกลับไป กองทัพ"เงี้ยว" จากเมืองนายและเมืองยองห้วย จากรัฐฉาน ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ แม้ว่าขณะนั้นเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาความยุ่งยากจากภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหว จนเป็นเหตุให้เจดีย์หลวง เจดีย์วัดพระสิงห์ หักพังลงมา แต่กระนั้นพระมหาเทวีจิรประภาก็ได้ทำสงครามกับกองทัพ "เงี้ยว" จนได้รับชัยชนะ

และเหตุจากการที่เมืองเชียงใหม่มีศึกมาติดพันอยู่ตลอด พระมหาเทวีจิรประภาจึงได้ขอกำลังจากอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเป็นเมืองของพระโพธิสาลราชและพระนางยอดคำ ซึ่งเป็นพระธิดาของพระองค์มาช่วยป้องกันเมืองเชียงใหม่ สร้างความไม่พอใจแก่พระไชยราชา แห่งกรุงศรีอยุธยาเพราะเกรงการแทรกแซงอำนาจจากล้านช้าง จึงได้ยกทัพขึ้นมาปราบเชียงใหม่ โดยหวังจะตีเชียงใหม่ให้แตก จากการยกทัพใหญ่มีทหารและอาวุธจำนวนมากทำให้ได้เปรียบกว่าเมืองเชียงใหม่

หากแต่ในคราวนี้พระมหาเทวีจิรประภาทรงต่อสู้ศึก โดยมีกองทัพจากล้านช้างมาช่วยเหลือทำให้สามารถต้านทัพกรุงศรีอยุธยาและตีกองทัพกรุงศรีอยุธยาแตก ประกอบกับพระไชยราชาทรงพระประชวรมาก จึงถอยทัพกลับและสวรรคตในเวลาต่อมา

หลังจากสงครามได้สร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างล้านนาและล้านช้าง ดังนั้นในปี พศ. 2089 พระโพธสาลราชและพระนางยอดคำ ได้แต่งขบวนเกียรติยศให้พระไชยเชษฐามาครองล้านนา ขณะที่มีอายุ 12 ปี ดังนั้นจึงยังเป็นยุวกษัตริย์ ที่พระมหาเทวีจริประภาย่อมให้คำแนะนำดูแลอยู่เบื้องหลังระหว่างการครองราชย์ใน ปี พ.ศ. 2089 -2090 และได้เสด็จกลับไปครองราชย์ที่ล้านช้างต่อจากพระโพธิสาลราชซึ่งสวรรคต

ในการนี้พระมหาเทวีจิรประภา ได้เสด็จไปล้านช้างพร้อมกับพระไชยเชษฐา และไม่ประสงค์จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองล้านนา แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระมหาเทวีประทับล้านช้างตลอดพระชนม์ชีพหรือเสด็จกลับมาประทับเชียงใหม่ยามชราภาพและไม่ทราบว่า สิ้นพระชนม์ลงเมื่อใด

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: เสาร์ 31 ต.ค. 2015 2:37 pm
โดย Namfar
เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา เจ้านางแห่งล้านนาที่ถูกลืม



1327035972.jpg
1327035972.jpg (146.92 KiB) เปิดดู 18221 ครั้ง





เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระอัครชายาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทแห่งราชวงศ์จักรี และพระขนิษฐาในพระเจ้ากาวิละ ประสูติเมื่อจุลศักราช ๑๑๑๒ ปีมะเมียโทศก (พ.ศ. ๒๒๙๓) ในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (ทรงมีพระนามที่ถูกเรียกขานหลายพระนาม ได้แก่ เจ้าศรีอโนชา หรือเจ้าศรีอโนจา หรือเจ้าศิริรจนา หรือเจ้ารจจา)

เป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๔ ใน เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองนครลำปาง กับ แม่เจ้าจันทาราชเทวี และเป็นพระราชนัดดา (หลานปู่) ใน พระเจ้าทิพย์จักรสุละวะฤๅไชยสงคราม (พระญาสุละวะฤๅไชยสงคราม) กับ แม่เจ้าพิมพาราชเทวี ซึ่งเป็นองค์ปฐมวงศ์ "ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน)"

เจ้าศรีอโนชา มีพระเชษฐา พระอนุชาและพระขนิษฐารวม ๑๐ พระองค์ (หญิง ๓ ชาย ๗)
เจ้าชายทั้ง ๗ พระองค์ได้ทรงช่วยกันต่อสู้อริราชศัตรูขยายขอบขัณฑสีมาล้านนาออกไปอย่างเกรียงไกร เป็นเหตุให้ทรงมีพระสมัญญาว่า "เจ้าเจ็ดตน" มีพระนามตามลำดับ ดังนี้

พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๑ (นับเป็น "พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑" ในสมัยกรุงธนบุรี)

พระเจ้าคำโสม พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๒

พระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๒

พระเจ้าดวงทิพ พระเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๒

เจ้าศรีอโนชา ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

เจ้าหญิงสรีวัณณา (พิราลัยแต่เยาว์)

เจ้าอุปราชหมูหล้า พระราชมหาอุปราชานราธิบดีศรีสุวรรณฝ่ายหน้าหอคำนครลำปาง

เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๓ และ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๑

เจ้าหญิงสรีบุญทัน (พิราลัยแต่เยาว์)

พระเจ้าบุญมาเมือง พระเจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๒

เจ้าศรีอโนชา เสกสมรสกับ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทะพระอนุชาของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงค์จักรีในปัจจุบัน) แต่ครั้งยังทรงดำรงตำแหน่ง เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) แม่ทัพมณฑลฝ่ายเหนือและผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช ผู้ภัสดา ได้รับโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในการนี้ พระเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาคุณพิกุลทอง ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร



เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา ผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์สองอาณาจักร (ล้านนา-สยาม)

เจ้าศรีอโนชา เป็นประดุจโซ่ทองคล้องสายสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรล้านนากับกรุง รัตนโกสินทร์ มีบทบาทอย่างสำคัญในการเสริมสร้างพระบารมีและพระเกียรติราชวงศ์จักรี ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่า พ.ศ.๒๓๑๗ เมื่อพญากาวิละพร้อมด้วยพญาจ่าบ้าน ได้คบคิดกันต่อต้านพม่าที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพของพระเจ้าตากสิน ซึ่งมีเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพ จนสามารถขับไล่พม่าออกไปจากเมืองเชียงใหม่ได้ ในครั้งนั้น พญาจ่าบ้านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละได้เป็นพระยานคร (ลำปาง) เจ้าเมืองลำปาง เมื่อพญากาวิละเห็นว่าเจ้าพระยาสุรสีห์ มีใจรักใคร่เจ้าศรีอโนชา ประกอบกับเห็นว่าจะเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีอันดีต่อไปในภาย ภาคหน้า จึงได้ยกเจ้าน้องนางให้เป็นภรรยาเจ้าพระยาสุรสีห์

เจ้าศรีอโนชาได้ช่วยพระยาสุริยอภัยปราบพระยาสรรค์ช่วงเกิดความไม่สงบในปลายสมัยกรุงธนบุรี ขณะที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกทัพไปสู้รบกับเขมรปี พ.ศ. ๒๓๑๔ ในการปราบพระยาสรรค์ เจ้าศรีอโนชาได้เกณฑ์ชาวลาวที่ปากเพรียว สระบุรี เข้าผสมกับกองกำลังของพระยาสุริยอภัยจากนครราชสีมา รวมประมาณ ๑,๐๐๐ คน ยกเข้ามาต่อสู้กับฝ่ายพระยาสรรค์ที่ธนบุรี การปะทะกันครั้งแรกฝ่ายพระยาสุริยอภัยได้เพลี่ยงพล้ำ เจ้าศรีอโนชาจึงบัญชากองทัพเรือชาวมอญเข้าช่วยตีขนาบจนฝ่ายพระยาสรรค์พ่ายแพ้ และในตำนานเจ้าเจ็ดตนเองก็กล่าวถึงบทบาทของเจ้าศรีอโนชาว่า "เจ้าครอกศรีอโนชาหงายเมืองได้ไว้แล้ว ก็ใช้ไปเชิญเอาเจ้าพระยาจักรี พระยาสุรสีห์ ๒ องค์พี่น้องเข้ามาผ่านพิภพขึ้นเสวยราชย์ เจ้าพระยาจักรีเป็นพี่กษัตริย์องค์หลวง... พระยาสุรสีห์ คนน้องปรากฏว่า ล้นเกล้าล้นกระหม่อมกรมพระราชวังบวรสถานมงคลวังหน้า"


ในการนี้เจ้าศรีอโนชาเองก็ได้รับความชอบไม่น้อย ซึ่งเพิ่มพูนอำนาจและความไว้วางใจต่อราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน และหลังจากการทราบข่าวการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระเจ้ากาวิละได้นำเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก "ทรงพระกรุณาเป็นอันมาก" จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้านที่เสียชีวิตลงในปลายกรุงธนบุรี


ภายหลังเมื่อเจ้าพระยาจักรีได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก(ทองด้วง) หรือที่เรารู้จักกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ จึงได้สถาปนาเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้เป็นพระอนุชาและได้ร่วมออกศึกสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาโดยตลอด ให้เจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช (บุญมา) มีพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มหาอุปราชวังหน้า ในขณะที่ท่านผู้หญิงเจ้าศรีอโนชา สุรสีห์พิษณุวาธิราช ก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา (เจ้าครอก = เจ้าโดยกำเนิด ชั้นพระเจ้าลูกเธอ)

กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

เจ้าศรีอโนชา มีธิดา ๑ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ซึ่งนับเป็นพระราชธิดาองค์ ที่ ๑ หรือพระองค์แรกของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ที่มีศักดิ์เป็น “เจ้าฟ้า” เพราะมารดาเป็นน้องของเจ้าประเทศราช ต่อมารัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนาเป็นกรมศรีสุนทร
เจ้าศรีอโนชาสิ้นชีวิตเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ปรากฏกู่บรรจุอัฐิของท่านตั้งอยู่ทางทิศใต้ ติดกับกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

ที่มา กู่บรรจุอัฐิเจ้าศรีอโนชา

สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เจ้าศรีอโนชา : ผู้เสริมสร้างความสัมพันธ์สองอาณาจักร

สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552. หน้า 316

กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 110.

สงวน โชติสุขรัตน์ (ปริวรรต). ตำนานเจ้าเจ็ดตน ฉบับสิงฆะ วรรณสัย. เชียงใหม่ : สงวนการพิมพ์, 2511, หน้า 35

เครดิตภาพ- ตามภาพ

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: อังคาร 08 ธ.ค. 2015 2:10 pm
โดย ภาษาสยาม
เจ้าเทพไกรสร สตรีผู้กุมอำนาจเหนือบัลลังก์เชียงใหม่


200px-แม่เจ้าทิพไกรสรราชเทวี.jpg
200px-แม่เจ้าทิพไกรสรราชเทวี.jpg (26.79 KiB) เปิดดู 18156 ครั้ง


เจ้าเทพไกรสรบ้างว่า เจ้าทิพย์เกสร หรือเจ้าทิพเกษรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ประสูติแต่เจ้าอุษาเป็นพระชายาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ต่อมา และเป็นพระมารดาในเจ้าดารารัศมีพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์สยาม

พระนางมีพระนิสัยเฉียบขาดเยี่ยงพระบิดา ทรงเป็นราชนารีที่มีบทบาทด้านการปกครองที่โดดเด่น เคียงคู่กับพระขนิษฐาคือเจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่ ที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจอันโดดเด่น

เจ้าเทพไกรสร ประสูติในปี พ.ศ.๒๓๘๔ เป็นพระธิดาองค์โตของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๖ กับเจ้าอุษา มีขนิษฐาร่วมอุทรหนึ่งพระองค์ คือ เจ้าอุบลวรรณา ณ เชียงใหม่

เจ้าเทพไกรสรอภิเษกสมรสกับเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ เป็นบุตรของเจ้าราชวงศ์(มหาพรหมคำคง) ซึ่งต่อมา เจ้าอินทนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็น "พระเจ้าอินทวิชยานนท์" พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ลำดับที่ ๗ ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือเจ้าจันทรโสภาและเจ้าดารารัศมี

ในช่วงที่เจ้าเทพไกรสรทรงประชวรช่วงนั้นได้มีการพิจารณาการผูกขาดต้มเหล้าของชาวจีน เจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาจึงใช้โอกาสนี้จัดการเข้าทรง โดยรับเป็น "ม้าขี่" หรือร่างทรง เมื่อวิญญาณที่มาเข้าร่างทรงได้แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่จะอนุญาตให้คนจีนผูกขาดการต้มเหล้า ทั้งยังได้ขู่สำทับด้วยว่าหากมีการอนุญาตจะเกิดเหตุใหญ่ร้ายแรงกว่านี้ และการที่เจ้าเทพไกรสรเจ็บป่วยครั้งนี้เป็นเพียงการสั่งสอนเท่านั้น ภายหลังจึงได้มีการล้มเลิกการผูกขาดการต้มเหล้าไป เจ้าเทพไกรสรถึงพิราลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ขณะที่เจ้าดารารัศมี พระธิดามีชันษาเพียง ๑๑ ปีเจ้าดารารัศมีจึงตกอยู่ในพระอุปการะของเจ้าอุบลวรรณาและสองปีหลังจากนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพมหานคร

การที่ได้เสกสมรส

แต่เดิมเจ้าเทพไกรสรเป็นพระธิดาในพระเจ้ากาวิโลรสที่ทรงครองโสดอยู่ผู้เดียว เนื่องจากเจ้าอุบลวรรณาพระขนิษฐาได้เสกสมรสไปแล้วก่อนหน้าต่อมาเมื่อถึงวันงานแห่ครัวทานพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ผู้บิดา ได้รับสั่งเจ้าเทพไกรสร ว่า "เจ้าเห็นชายคนไหนดีพอจะเป็นคู่กับเจ้า ก็จงเลือกเอาตามแต่จะเห็นว่าเหมาะควร" และเมื่อเจ้าเทพไกรสร ทอดพระเนตรเจ้าอินทนนท์ก็ทรงชื่นชมในท่าฟ้อนนำแห่ครัวทานกับแต่งกายตามประเพณีอย่างสวยงาม จึงทูลตอบพระบิดาว่า"ลูกดูแล้วเห็นแต่เจ้าราชวงศ์อินทนนท์คนเดียวเท่านั้นเจ้าที่น่าจะเป็นผู้ใหญ่ครอบครองบ้านเมืองต่อไปได้" เมื่อเจ้ากาวิโลรสสดับความเช่นนั้นจึงส่งท้าวพญาผู้ใหญ่ไปติดต่อ

แต่ขณะนั้นเจ้าอินทนนท์เองก็มีหม่อมและพระบุตรอยู่หลายคนจึงได้ปฏิเสธไป แต่พระเจ้ากาวิโลรสมีรับสั่งให้ท้าวพญานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ไปเจรจาบิณฑบาตรให้เจ้าอินทนนท์ยอมตกลงปลงใจ คราวนี้เจ้าอินทนนท์ปฏิเสธไม่ได้จึงยอมรับแต่โดยดี เจ้าเทพไกรสรเองก็จัดขันคำส่งให้ข้าหลวงอัญเชิญมาขอสามีจากหม่อมบัวเขียวเชิงบังคับให้ตัดขาดจากความเป็นสามีภรรยากับเจ้าอินทนนท์นับแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งสองมีพระธิดาสององค์ คือ เจ้าจันทรโสภา และเจ้าดารารัศมีที่ต่อมาได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพมหานคร

เจ้าเทพไกรสรเป็นพระชายาในพระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ที่มีความเฉลียวฉลาด หลักแหลม รอบรู้ในด้านราชการ และมีพระอำนาจเหนือพระสวามี มีหลักฐานของชาวต่างประเทศกล่าวถึงพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เป็นผู้ที่มีใจเมตตากรุณาแต่อ่อนแอ"และเจ้าหลวงถูกครอบงำโดยพระชายาผู้ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จิตใจเข้มแข็งทดแทนความอ่อนแอของพระองค์..." ด้วยเหตุนี้ชาวเมืองจึงเรียกพระเจ้าอินทวิชยานนท์ว่า "เจ้าหลวงตาขาว" บทบาทด้านการบริหารบ้านเมืองจึงตกอยู่กับเจ้าอุปราช (บุญทวงศ์) และเจ้าเทพไกรสร พระชายา และมีบทบาทเรื่อยมาจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ และ พ.ศ. ๒๔๒๗ ตามลำดับ

ดร. แดเนียล แมคกิลวารี หัวหน้าคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันซึ่งได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการสนทนากับเจ้าเทพไกรสร ความว่า "ท่านเป็นพระชายาองค์เดียวของเจ้าหลวงอินทนนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ โดยกำเนิดท่านมีฐานันดรศักดิ์ที่สูงกว่าเจ้าหลวงและท่านก็ทรงคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอันสูงส่งที่ท่านดำรงอยู่ในขณะนี้ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีปฏิภาณเฉียบแหลม และตั้งใจมั่นคง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสวามีของท่านคือเจ้าหลวงองค์ใหม่หลีกเลี่ยงความบกพร่องและความผิดพลาดได้เป็นอันมาก… ในการสนทนาระหว่างข้าพเจ้ากับเจ้าหญิงนั้นเรามักจะวกมาถึงเรื่องศาสนาเกือบตลอดเวลา แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเจ้าหญิงมีความประสงค์จะเอาชนะในการโต้ตอบเรื่องศาสนานี้มากกว่าจะค้นเอาความจริง ท่านมีไหวพริบเหมือนหมอความ คอยจับคำพูดที่หละหลวม และด้วยสติปัญญาอันเฉียบแหลมของท่านทำให้ท่านเป็นนักโต้คารมที่มีอารมณ์ครื้นเครง"และ"อิทธิพลของสตรีในทางวิเทโศบายต่างๆจงเพิ่มทวีขึ้นอย่างมากมายมาตั้งแต่ครั้งเจ้าหลวงองค์ก่อน[พระเจ้ากาวิโลรส]ยังทรงครองราชย์อยู่ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ไม่มีพระโอรส จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่พระธิดากลายเป็นผู้มีอำนาจ และยังได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจถึงงานต่างๆของรัฐด้วย...โดยกำเนิดแล้วพระนางมียศสูงกว่าพระสวามี...ฐานะของพระนางจึงจำเป็นต่อการคานอำนาจกับองค์อุปราช [บุญทวงศ์]...

เจ้าเทพไกรสรเป็นราชนารีที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็ง ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เกิดกบฏพระยาปราบสงครามทรงไม่เห็นด้วยและแสดงความไม่พอพระทัย จึงสั่งให้จับพระยาปราบมาประหารชีวิตเสีย ทำให้พวกพระยาปราบเกรงกลัวและแตกหนีไป และอีกกรณีที่เจ้าเทพไกรสรได้บัญชาให้ประหารชีวิตพระญาติสาย"ณ ลำพูน" ที่กระทำการอุกอาจแทงช้างพระที่นั่งพระสวามีของพระองค์ด้วยความคะนอง

นอกจากด้านการปกครองแล้ว เจ้าเทพไกรสรยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการละครฟ้อนรำและเครื่องสายตามแบบอย่างราชสำนักกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรกในคุ้มของพระเจ้าอินทวิชยานนท์

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: พฤหัสฯ. 10 ธ.ค. 2015 10:59 am
โดย Namfar
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ID_60738_13.jpg
ID_60738_13.jpg (18.6 KiB) เปิดดู 16525 ครั้ง



วันอังคารเดือน๑๐เหนือ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖เป็นวันคล้ายวันประสูติของเจ้าดารารัศมีพระธิดาองค์สุดท้าย ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ประสูติจากแม่เจ้าทิพไกสร เจ้าดารารัศมีทรงมีเชษฐา ๖ ท่าน และเชษฐภคินีถึง ๕ท่านด้วยกัน

ครั้นยังทรงพระเยาว์นั้นได้ทรงศึกษาอักษรไทยเหนือและไทยกลางทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมขัติยประเพณีเป็นอย่างดี เมื่อพระชนม์มายุ ๑๑ พรรษาเศษพระบิดาโปรดให้มีพิธีโสกันต์ ภายหลังเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากรขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหกก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระกุณฑลประดับเพชรมาพระราชทานเป็นของขวัญด้วยและโปรดเกล้าฯตั้งให้นางเต็มเป็นแม่นางกัลยารักษ์ ให้นายน้อยบุญทาเป็นพญาพิทักษ์เทวีตำแหน่งพี่เลี้ยงทั้งสองคนตั้งแต่ครั้งนั้น

วันที่ ๑๙พฤศจิกายน ๒๔๒๙ ปีจอ ได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯทรงอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอม ได้โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชเป็นการรับรอง พระราชชายาฯได้รับพระราชทานตำหนักที่ประทับในบริเวณพระบรมมหาราชวังซึ่งต่อมาได้ทรงขอพระราชทานพระราชทรัพย์จากพระบิดาเพื่อมาต่อเติมพระตำหนักสำหรับให้พระประยูรญาติที่ตามเสด็จไปพักอยู่ด้วยต่อมาดูเหมือนภายในพระบรมมหาราชวังดูจะคับแคบลงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างตำหนักที่ประทับพระราชทานแก่เจ้าจอมและพระราชวงศ์ในบริเวณพระราชวังสวนดุสิตมีชื่อว่า"สวนฝรั่งกังไส" ในระหว่างที่พระราชชายาเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่ครั้งแรกปัจจุบันตำหนักนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ตลอดเวลาที่ประทับรับราชการฝ่ายในที่กรุงเทพฯพระราชชายาฯได้อนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาทรงโปรดให้ผู้ที่ติดตามจากเชียงใหม่แต่งกายแบบชาวเหนือ คือนุ่งผ้าซิ่นสวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบเฉียงและไว้ผมยาวเกล้ามวย ซึ่งต่างจากการนุ่งโจงกระเบนไว้ผมสั้นทรงดอกกระทุ่มของชาววัง แม้แต่ภายในพระตำหนักยังเต็มไปด้วยบรรยากาศล้านนาโปรดให้พูด"คำเมือง" มีอาหารพื้นเมืองรับประทานไม่ขาด แม้กระทั่งการ "อมเหมี้ยง"ซึ่งชาววังเมืองกรุงเห็นเป็นของที่แปลกมาก

พระราชชายาฯทรงเปิดพระทัยรับวัฒนธรรมอื่นด้วยโดยโปรดให้มีการเล่นดนตรีไทยและสากล ดำริให้มีการเรียนดนตรีไทยในพระตำหนักทรงตั้งวงเครื่องสายประจำตำหนัก และทรงดนตรีได้หลายอย่าง ทั้งซออู้ ซอด้วง และจะเข้แต่ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมากคือ "จะเข้"ทั้งยังสนพระทัยในการถ่ายรูปซึ่งเพิ่งเข้ามาจากต่างประเทศในรัชกาลที่ ๕ทรงสนับสนุนให้พระญาติคือเจ้าเทพกัญญาได้เรียนรู้และกลายเป็นช่างภาพอาชีพหญิงคนแรกของเมืองไทยไปด้วย

หลังจากทรงประสูติพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี(ประสูติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ พระชนม์มายุได้เพียง ๓ พรรษาเศษก็สิ้นพระชนม์)ทรงได้รับพระเกียรติยศสูงขึ้นตามโบราณราชประเพณีจากเจ้าจอมเป็นเจ้าจอมมารดา ในปีพ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯสร้างตราปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานแก่ผู้รับราชการฝ่ายในพระราชชายาทรงได้รับพระราชทาน พร้อมกับพระมเหสีและพระราชธิดารวมทั้งหมด ๑๕พระองค์เท่านั้น พ.ศ.๒๔๕๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น "พระราชชายา"เป็นตำแหน่งพระมเหสีเทวีที่เพิ่งจะมีการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยนั้น

ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์พระเชษฐาของพระราชชายาฯลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระบรมมหาราชวัง พระราชายาฯจึงได้กราบบังคมทูลลาขึ้นมานครเชียงใหม่ เพื่อเยี่ยมเยียนมาตุภูมิ วันที่ ๑๒กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ ได้เสด็จจากพระราชวังสวนดุสิตไปขึ้นรถไฟที่สถานีสามเสนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปส่งพระราชชายาฯพร้อมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบรรดาข้าราชการเป็นจำนวนมากไปส่งถึงสถานีรถไฟปากน้ำโพมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่สิ้นสุดทรงรถไฟสายเหนือเวลานั้นและประทับลงเรือพระที่นั่งเก๋งประพาสมีขบวนเรือตามเสด็จกว่า ๕๐ ลำในการเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระบัญชาให้บรรดาหัวเมืองที่เสด็จผ่านจัดพิธีต้อนรับให้สมพระเกียรติ พระราชชายาฯ ทรงเห็นว่ามากเกินไปได้มีพระอักษรกราบบังคมทูลขอพระราชทานรับสั่งให้เพลาพิธีการลงบ้างใช้เวลาเดินทางทั้งหมด ๕๖ วัน จึงเสด็จถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน

ระหว่างประทับอยู่ที่เชียงใหม่ได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครลำพูนลำปาง และพระประยูรญาติในจังหวัดนั้น ๆ และเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ และปูชนียสถานสำคัญ ๆ อีกหลายแห่งในการเสด็จนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเอาพระธุระโปรดเกล้าฯ ให้ทำแผ่นกาไหล่ทองมี สัญลักษณ์ของพระราชชายาฯคือรูปดาวมีรัศมีอีกทั้งพระราชทานข้อความที่โปรดเกล้าฯให้จารึกเป็นเกียรติยศแก่พระราชชายาฯ

ในระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่พระราชชายาฯทรงดำริเห็นว่าบรรดาพระอัฐิของพระประยูรญาติผู้ล่วงลับไปแล้วซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ที่สร้างกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณข่วงเมรุเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้านายตระกูล ณ เชียงใหม่จึงโปรดให้รวบรวมและอัญเชิญพระอัฐิไปสร้างรวมกันไว้ ณ บริเวณวัดบุบผาราม(วัดสวนดอก) ตำบลสุเทพ เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้จัดงานฉลองอย่างมโหฬารมีคนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก มีการจัดมหรสพต่าง ๆ เช่น หนัง ละคร ซอ มวยตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึง ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างเหรีญทองคำทำด้วยกะไหล่ทองและกะไหล่เงินมีตัวอักษร "อ"และ"ด" ไขว้กันพระราชทานเป็นของแจกในงานเฉลิมฉลองกู่ พระราชชายาฯเสด็จกลับกรุงเทพฯ วันที่ ๑๑พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จโดยลงเรือพระที่นั่งที่ท่าหน้าคุ้ม มีกระบวนเรือรวม ๕๐ ลำเมื่อถึงอ่างทอง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรือยนต์พระที่นั่งเสด็จมารับถึงที่นั่นแล้วทรงพาไปประทับที่พระราชวังบางปะอินและพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ ณ ที่นั่น

หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๔๕๓ ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๗รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖เจ้าแก้วนวรัฐฯเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพฯ พระราชชายาฯได้กราบถวายบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อกลับมาประทับที่นครเชียงใหม่

วันที่๗มกราคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชชายาฯ เสด็จออกจากกรุงเทพฯโดยขบวนรถไฟซึ่งวิ่งไปถึงเพียงสถานีผาคอ จังหวัดอุตรดิตถ์เท่านั้นจากนั้นเสด็จโดยขบวนช้างม้านับร้อย คนหาบหามกว่าพัน ข้าราชการจากเชียงใหม่ ลำพูนลำปาง จัดไปคอยรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อพระราชชายาฯประทับอยู่ที่เชียงใหม่แล้วทรงมีพระตำหนักหรือคุ้มที่ประทับอยู่สี่แห่งด้วยกันคือ

ตำหนักแรกตำหนักที่เจดีย์กิ่วเรียกว่า "คุ้มเจดีย์กิ่ว"ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงเป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปปัจจุบันเป็นสถานกงสุลอเมริกันประจำจังหวัดเชียงใหม่

ตำหนักที่สองสร้างขึ้นที่ถนนห้วยแก้ว เรียกว่า "คุ้มรินแก้ว" เป็นอาคารสองชั้นทรงยุโรปเป็นตำหนักที่พระราชชายาฯเสด็จมาประทับเป็นครั้งสุดท้ายและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ตำหนักที่สามสร้างบนดอยสุเทพสำหรับประทับในฤดูร้อน เรียกว่า "ตำหนักพระราชชายา"เป็นอาคารไม้หลังใหญ่ชั้นเดียว ตำหนักนี้สร้างด้วยไม้จึงได้ทรุดโทรมผุผังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนไปในที่สุด

ตำหนักที่สี่ตั้งอยู่อำเภอแม่ริมพระราชชายาฯทรงโปรดตำหนักแห่งนี้และทรงใช้เวลาประทับมากกว่าตำหนักอื่นๆ เรียกว่า"ตำหนักดาราภิรมย์" โปรดให้เรี่ยกชื่อว่า"สวนเจ้าสบาย"ตัวตำหนักเป็นอาคารก่ออิฐปนไม้ลักษณะค่อนไปทางทรงยุโรป

เมื่อพระราชชายาฯเสด็จกลับมาประทับเป็นการถาวรที่นครเชียงใหม่พระองค์ได้ประกอบพระกรณียกิจหลายด้านตลอดเวลา ๑๙ ปี ที่ดำรงพระชนม์อยู่สรุปได้ดังนี้

ทรงส่งเสริมการเกษตร
ทรงให้มีการทดลองค้นคว้าปรับปรุงวิธีการปลูกพืชเผยแพร่แก่ประชาชนณ ที่ตำหนัก สวนเจ้าสบายอำเภอแม่ริม ทรงควบคุมการเพาะปลูกและปลูกเพื่อขายทรงตั้งพระทัยที่จะให้เป็นตัวอย่างในการประกอบอาชีพในด้านการเกษตรแก่ราษฎร

ทรงทำนุบำรุงศาสนา
โดยปกติพระราชชายาฯ จะถวายอาหารบิณฑบาตและถวายจตุปัจจัยสำหรับวัดและพระสงฆ์สำหรับพระสงฆ์บางรูปได้รับการสนับสนุนเป็นรายเดือนตลอดพระชนม์ชีพทรงทำบุญวันประสูติและถวายกฐินทุกปีนอกจากนั้นยังทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานเป็นจำนวนมากอาทิ สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ วัดพระธาตุจอมทองยกตำหนักบนดอยสุเทพถวายเป็นของวัดพระธาตุดอยสุเทพ

ทรงส่งเสริมการศึกษา
ทรงอุปการะส่งเสริมให้เจ้านายลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนแม้กระทั่งส่งไปเรียนที่ทวีปยุโรป ทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนต่าง ๆ ในนครเชียงใหม่อาทิเช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ได้ประทานที่ดินทั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยกับทรงอุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย

ทางด้านวรรณกรรม
ทรงสนับสนุนวรรณกรรมประเภท"คร่าวซอ" จนเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุคนั้นพระองค์มีนักกวีผู้มีความสามารถประจำราชสำนักหลายคน เช่นท้าวสุนทรพจนกิจได้ประพันธ์บทละครเรื่อง "น้อยไชยา" ถวายพระองค์มีส่วนในการปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นยังได้นิพนธ์บทร้องเพลงพื้นเมืองทำนองล่องน่านเพื่อขับร้องถวายสดุดีพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสด็จประพาสเชียงใหม่พ.ศ.๒๔๖๕

ทางด้านการหัตถกรรม
ทรงเห็นว่าซิ่นตีนจกเป็นเครื่องนุ่งห่มตามประเพณีวัฒนธรรมล้านนามาแต่โบราณเป็นผ้านุ่งที่ต่อชาย(ตีน)ด้วยผ้าจกอันมีสีสันลวดลายสวยงามการทอตีนจกเป็นศิลปะชั้นสูงที่ต้องใช้ฝีมือในการทอมากจึงทรงรวบรวมผู้ชำนาญการทอผ้าซิ่นตีนจกจากที่ต่างๆ เข้ามาทอในตำหนักนอกจากจะทอไว้ใช้เป็นการส่วนพระองค์และสำหรับประทานให้ผู้อื่นในโอกาสต่างๆแล้ววัตถุประสงค์ใหญ่เพื่อเป็นที่ฝึกสอนให้ลูกหลานได้มีวิชาติดตัวนำไปประกอบอาชีพได้

การทอผ้าซิ่นยกดอกศิลปะการทอผ้าอันสูงส่งของล้านนาอีกผลงาน ที่พระราชชายาฯทรงพบว่าผ้าซิ่นยกดอกทั้งผืนมีเหลืออยู่ผืนเดียวคือผ้าซิ่นยกดอกไหมทองของแม่เจ้าทิพไกสร ที่พระราชชายาฯได้ไว้เป็นมรดกจึงได้ใช้ซิ่นไหมผืนนี้เป็นตัวอย่างในที่สุดพระองค์ก็ทรงประดิษฐ์คิดค้นการทอผ้ายกดอกชนิดเดียวกันนี้ได้สำเร็จศิลปะด้านนี้จึงได้ดำรงคงอยู่สืบมา
นอกจากนั้นทรงรวบรวมผู้มีฝีมือในการเย็บใบตองและบายศรีในเชียงใหม่มาฝึกสอนแก่ผู้ที่มีความสนใจในตำหนักทรงจัดแบบอย่างระดับชั้นของบายศรีให้เหมาะสมแก่การจัดถวายเจ้านายในชั้นต่าง ๆและบุคคลทั่วไป นับเป็นต้นแบบที่ได้นำมาปฏิบัติจนกระทั่งในปัจจุบัน

ด้านการทำดอกไม้สดทรงสอนให้คนในตำหนักร้อยมาลัย จัดพุ่มดอก จัดกระเช้าดอกไม้ทั้งสดและแห้งจัดแต่งด้วยดอกไม้สดทุกชนิดตำหนักพระราชชายาฯในครั้งนั้นจึงเป็นแหล่งรวมแห่งศิลปวัฒนธรรมเป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวเชียงใหม่และส่งผลดีในการอวดแขกบ้านแขกเมืองอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

อนุเคราะห์พระประยูรญาติ
ทรงให้ความอุปการะแก่สมณะประชาชนทั่วไปและพระประยูรญาติแล้ว ทรงเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษทรงสร้างกู่แล้วอัญเชิญพระอัฐิของพระประยูรญาติ มาไว้รวมกัน ณบริเวณวัดสวนดอกในครั้งเสด็จเยี่ยมนครเชียงใหม่และเมื่อเสด็จกลับมาประทับเชียงใหม่แล้วได้ทรงอัญเชิญพระอัฐิส่วนหนึ่งของพระเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดาไปบรรจุไว้ที่สถูปบนยอดดอยอินทนนท์ตามพระประสงค์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระองค์ท่านได้รับพระราชทานดังนี้

๑.ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้า
๒.มหาวชิรมงกุฎ
๓.ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
๔.เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๕
๕.เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๖
๖.เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพ็ชร์ รัชกาลที่ ๗
๗.เข็มพระปรมาภิธัยรัชกาลที่ ๖ ประดับเพ็ชร์ล้วน

สิ้นพระชนม์
พระราชชายาฯได้เริ่มประชวรด้วยโรคพระปับผาสะ(ปอด)แต่ยังคงประทับอยู่ที่ตำหนักดาราภิรมย์ กระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖เจ้าแก้วนวรัฐจึงเชิญเสด็จมาประทับที่คุ้มรินแก้ว และได้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๙ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษาเศษ ในการพระศพนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชโกษาเป็นหัวหน้านำพนักงาน ๒๕ นายนำน้ำพระสุคนธ์สรงพระศพ กับพระโกศและเครื่องประกอบอีกหลายประการพระราชทานมาเป็นพระเกียรติยศและโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ทุกข์ถวาย ๗ วัน

(จากเจ้าหลวงเชียงใหม่ โดย เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ และคณะ, ๒๕๓๙)

....ดวงดาราระยิบรัศมี
เหนือฟากฟ้าราตรีศรีเชียงใหม่
ดวงดาวพร่างสว่างจ้าค่าวิไล
เปล่งแสงนวลอำไพทั่วล้านนา

....ซ้องพระบารมีพระแม่แก้ว
อันงามพร้อมเพริศแพร้วหนึ่งในหล้า
องค์แม่เจ้าศูนย์รวมใจแห่งศรัทธา
พระเกียรติเกริกก้องฟ้าตรัยสากล

....ทรงปลูกฝังหยั่งลึกสำนึกรัก
ให้ประจักษ์แจ่มแจ้งทุกแห่งหน
ทั่วแหล่งหล้าล้านนาซึ้งกมล
จารึกในใจชนล้นทวี

....น้อมดวงจิตรวมดวงใจแห่งศรัทธา
ตามเบื้องบาทเจ้าดารารัศมี
ร่วมรักษาวัฒนธรรมประเพณี
คู่วิถีภูมิปัญญาล้านนาเทอญ

(น้ำฟ้า ประพันธ์)

หมายเหตุ*

พระภรรยาเจ้า คือ ตำแหน่งที่สำคัญของราชสำนักฝ่ายในที่สำคัญตำแหน่งหนึ่ง หมายถึง พระภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระยศเดิมเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ระดับสมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า พระภรรยาเจ้าอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงอิสริยยศต่างกันไป อาทิ พระบรมราชินี พระอัครมเหสี พระอัครเทวี พระราชเทวี พระอัครชายา

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: พฤหัสฯ. 10 ธ.ค. 2015 4:43 pm
โดย Namfar
ข่าวลือทั่วนครเชียงใหม่ที่ว่าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระเจ้ากรุงอังกฤษ ชาติมหาอำนาจทรงสู่ขอเจ้าหญิงดารารัศมี ราชบุตรีเจ้านครเชียงใหม่ ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม พร้อมทั้งมีพระราชดำริจะสถาปนาให้เป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษ และเป็น “ทายาทเจ้านครเชียงใหม่ “ ที่จะครองนครต่อไปในอนาคต

K8120501-3.jpg
K8120501-3.jpg (26.42 KiB) เปิดดู 13482 ครั้ง



พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อเจ้าหญิงดารารัศมี มากแท้สุดจะพรรณนา ฯ มีเรื่องบางกรณีที่มีเจ้านายฝ่ายหญิงระดับสูงของพระราชวงศ์เคยกล่าวประนามและสบประมาท หมิ่นลับหลังเจ้าดารารัศมี ซึ่งในขณะที่ไปรับราชการฝ่ายในเป็น “ เจ้าจอม “ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ในพระราชสำนัก เมื่อเรื่องมาถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชดำรัสและตรัสตักเตือนสติบรรดาเจ้านายระดับสูงตลอดจนเจ้าจอมห้ามให้ทรงทราบความนัยและความสำคัญของเจ้าจอมดารารัศมี เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่ พระราชบุตรีของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ กับเจ้าแม่ทิพย์ไกรสรมหาเทวี ผู้เป็นพระราชบุตรของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้านครเชียงใหม่ที่ ๖ ไม่ใช่สามัญชน หาควรลบหลู่ไม่

พร้อมกับทรงอธิบายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจกำลังคิดแบ่งมณฑลภาคเหนือของกรุงสยามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๒๖ นับตั้งแต่เจ้าหญิงดารารัศมี เพิ่งมีอายุ ๑๑ ชันษามาแล้ว และได้ทรงตรัสเล่าถึงแผนการของพวกข้าหลวงใหญ่อังกฤษผู้สำเร็จราชการแคว้นเชียงตุง ได้กราบบังคมทูล จะให้ควีนวิคตอเรีย พระเจ้ากรุงอังกฤษ ทรงสู่ขอเจ้าหญิงดารารัศมี ไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม และให้เป็นทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และนับถือยกย่องให้เป็นเจ้านายในพระราชวงศ์ “ วินเซอร์ “ โดยสถาปนาเป็นพิเศษตามแผนจะยึดครองหัวเมืองประเทศราชในมณฑลพายัพ แต่พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ กับแม่เจ้าทิพย์ไกรสรไม่ทรงสนับสนุนและแสดงความจงรักภักดีต่อพระบรมวงศ์จักรี ไม่ปรวนแปรและเอนเอียงไปยุ่งกับพวกต่างชาติมหาอำนาจ มาตรแม้นพวกต่างชาติจะหวังดีอย่างไร ยกย่องอย่างไรก็จะไม่ขอรับความช่วยเหลือเกื้อกูลใด ๆ เพราะนับเป็นร้อยๆปีที่ผ่านมา พระราชวงศ์จักรีได้ช่วยคุ้มครองป้องกันภัยและสถาปนา ยกย่องบรรพชนของเจ้านายฝ่ายเหนือมาตลอดหลายชั่วคนแล้ว เป็นข้าในพระบรมราชวงศ์นี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นมิได้ นี่เป็นความดีของพระบิดาพระมารดาของเจ้าหญิงดารารัศมี แต่ถ้าพวกเจ้าอินทวิไชยยานนท์ผันแปรไป ยกเจ้าหญิงดารารัศมีให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้วของควีนวิคตอเรีย พระเจ้ากรุงอังกฤษแล้ว การเมืองจะผันแปรรูปไปได้ทั้งนั้นก็ไม่ทราบได้ เพราะไทยเราไม่สามารถจะไปสู้รบกับอังกฤษได้เลยในขณะนั้น จึงขอให้ทุกคนรำลึกถึงข้อนี้บ้าง ขออย่ามองเจ้าหญิงดารารัศมีไปในแง่ร้ายเลย

พระประวัติของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีในสมัยพระเยาว์ชนมายุได้ ๑๑ ชันษา และมีข่าวเรื่องสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจะทรงขอไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม ตามข่าวที่โจทย์กล่าวขานกันใน พ.ศ. ๒๔๒๖ – ๒๔๒๗ เป็นความจริงหรือไม่เพียงใดนั้น เรื่องดังกล่าวนี้ในสมัยที่เจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ อดีตนายอำเภอพร้าว จ. เชียงใหม่ คนแรกที่บุกเบิกสร้างอำเภอในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นั้น ท่านได้มีชีวิตมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๘ อายุท่านได้ ๗๙ ปีแล้ว ท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระจักรพรรดินีวิคตอเรีย พระมหากษัตริย์ของกรุงอังกฤษจะส่งเจ้าหญิงดารารัศมีต่อพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์เป็นความจริงให้ผู้เขียนซึ่งท่านรักประดุจหลานสนิทของท่านคนหนึ่ง และท่านได้บรรยายถ่ายอุบัติกาลต่างๆ เกี่ยวกับชีวประวัติของเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ “ทิพย์จักราธิวงศ์” ให้ทราบพร้อมกับข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อันเกี่ยวกับเมืองนครเชียงใหม่
ท่านเจ้าน้อยปิงเมือง ณ เชียงใหม่ ท่านเป็นนักครองรุ่นแรกของกระทรวงมหาดไทยที่ได้รับราชการเป็นนายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เป็นนักประวัติศาสตร์และนักจดบันทึกคนสำคัญในเหตุการณ์ต่างๆ ในอุบัติกาลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และกว่านั้นบรรพบุรุษของท่านคือ พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก น้อย ธรรมลังกาเป็นปู่ทวดของท่าน พระเจ้ามโหตรประเทศราชาคือ ปู่ของท่าน และเจ้าอุปราชน้อยปัญญาเป็นผู้รั้งรักษาการเจ้าเมืองเชียงแสน ในฐานะเป็นเจ้าอุปราชเป็นเจ้าบิดาของท่านได้เป็นนักจดบันทึกเหตุการณ์สืบๆ ต่อมาตลอดจนถึงตัวท่าน

สำหรับเรื่องเกี่ยวกับพระประวัติของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ท่านได้เล่าว่า ตอนนั้นใน พ.ศ. ๒๔๒๖ ท่านมีอายุย่างเข้า ๒๗ ปีแล้ว และได้เป็นมหาดเล็กอยู่กับพ่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ โอรสองค์กลางของพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ซึ่งขณะดังกล่าวนี้เจ้าอินทวโรรสพระนามเดิมว่า เจ้าสุริยาเมฆะ ยังมีพระยศเป็น เจ้าสุริยวงศ์ อยู่ และช่วยราชการพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ผู้เป็นพระบิดาท่านได้เล่าให้ฟังว่า

“งานโสกันต์ตัดจุกเจ้าดารารัศมีซึ่งมีพระชนม์ได้ ๑๑ ชันษานั้น เป็นความคิดของเจ้าพระยารัตนาธิเบศสมัยเป็นพระยาเทพประชุน ข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ มาแล้ว ท่านเองได้ตั้งชื่อให้เจ้าหญิงองค์พี่ใส่นามว่า “จันทรโสภา” และองค์น้องว่า “ดารารัศมี” องค์พี่มีบุญน้อยสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่อายุ ๕ ชันษา คงเหลือแต่องค์น้อง และท่านเจ้าคุณเทพประชุนแนะนำเสนอให้ไว้จุก เพราะเป็นเจ้านายชั้นสูง พระราชบุตรีของเจ้าผู้ครองนครและเป็น “เจ้า” ให้ถือเป็นแบบอย่างเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี พ่อเจ้าชีวิตเฒ่า (หมายถึง พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์) ก็ถือปฏิบัติตามแบบทุกอย่าง ครั้นพระชนมายุได้ ๑๑ ชันษา ก็กระทำพิธีโสกันต์คือโกนจุกนั่นเอง เมื่อก่อนเจ้านายฝ่ายเหนือไม่เคยมีและไม่เคยทำมาก่อน และได้กระทำเฉพาะเจ้าดารารัศมีองค์เดียวเท่านั้น ภายหลังก็ไม่ปรากฏว่า พระราชบุตรีเจ้าผู้ครองนครคนใดกระทำพิธีดังกล่าวนี้อีกเลย

พอกระทำพิธีโสกันต์เสร็จไม่กี่วันเสียงลือเล่าอ้างกันไปในหมู่พวกหัวหน้าพวกชาวพม่าต่องซู่ไทยใหญ่ (เงี้ยว) และได้กระจายต่อไปยังบรรดาชนสามเผ่าดังกล่าว ซึ่งเป็นคนในบังคับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งได้ครอบครองแคว้นเชียงตุงต่อแดนของไทยไว้หมดแล้ว ว่ากันว่า สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจักรพรรดินีกรุงอังกฤษจะทรงขอรับเอาเจ้าหญิงดารารัศมีไปเป็นพระราชธิดาบุญธรรม จะยกย่องเสมอเจ้านายในพระราชวงศ์อังกฤษ ให้มียศเทียบเท่าพระองค์เจ้าและจะให้เป็น เจ้าหญิงแห่งนครเชียงใหม่และเรื่องนี้พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์ ได้ทรงเรียก พวกเฮ็ดแมนอังกฤษ หัวหน้าชนชาติพม่า และต่องซู่ไทยใหญ่มาไต่ถามว่าได้ข่าวมาจากไหน ถึงข่าวลือดังกล่าวนี้แล้วลือกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองไปจนถึงพสกนิกรชาวเชียงใหม่ ตลอดไปกระทั่งถึงพระยาราชเสนาเสือ พยัคฆนันท์ และพระราชสัมภากร (ชุ่ม) พระอุดรพิสดาร (สายยู) ข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ต่างตื่นเต้นและมาถามพระเจ้าอินทวโรรสว่ามีการติดต่อกับทางรัฐบาลอังกฤษดังข่าวลือจริงหรือไม่

ปรากฏว่าเฮ็ดแมนชาวไทยใหญ่ และต่องซู่ (ปะโอ) ให้การว่า นายร้อยเอกเซอร์ยอร์ช สก๊อต ผู้สำเร็จราชการอังกฤษเมืองเชียงตุง ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนเมืองเชียงใหม่ได้ประกาศแก่ชาวเชียงตุงว่า พระนางเจ้าวิคตอเรียพระเจ้ากรุงอังกฤษได้มีพระราชดำริจะขอเอาเจ้าหญิงดารารัศมีมาเป็นพระราชธิดาบุญธรรมแล้ว ต่อไปเชียงใหม่กับเชียงตุงจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงตั้งเจ้าหญิงดารารัศมีเป็นทายาทเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่อีกด้วย และทางเฮ็ดแมนชาวพม่า (หัวหน้าคนในบังคับอังกฤษ) ก็ได้กราบทูลพ่อเจ้าอินทวิไชยยานนท์ว่า ชาวพม่าที่เดินทางจากเมืองย่างกุ้ง (แรงกูน) ได้ข่าวมา เช่นเดียวกับที่เมืองเชียงตุง โดยชาวพม่าพากันกล่าวขานกันทั่วไปหมดว่า ต่อไปเมืองเชียงใหม่กับเมืองเชียงตุงจะรวมกันเป็นแคว้นเดียวกันแล้วโดยไม่ต้องรบราฆ่าฟันกัน ทั้งนี้โดยพระเจ้าอินทวิไชยยานนท์จะยอมยกพระราชบุตรีชื่อสอว์ดารารัศมี ให้เป็นพระราชธิดาบุญธรรม แต่สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียจะสถาปนา สอว์ดารารัศมี (สอว์ หมายถึงคำว่าเจ้า ตามสำเนียงพม่าและไทยใหญ่เรียก “เจ้า”)

เมื่อเรื่องราวเป็นไปดังนี้ พระเจ้าอินทวิไชยยานนท์เลยประกาศให้พวกหัวหน้าชนเผ่าเมืองขึ้นของอังกฤษทราบในโอกาสนั้นเลยว่า เรื่องทั้งหมดไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น และยังยืนยันว่าเมืองเชียงใหม่และบรรดาเจ้านายในพระราชวงศ์ฝ่ายเหนือ “ทิพย์จักราธิวงศ์” ยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สยาม อยู่ตลอดเวลา มิได้ผันแปรและเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดทั้งสิ้น

K6539337-0.jpg
K6539337-0.jpg (24.81 KiB) เปิดดู 13482 ครั้ง


นี่คือเหตุการณ์ที่มาของข่าวลือกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง ซึ่งมีส่วนจริงอยู่บ้างว่าตัวการเสนอความเห็นในเชิงการเมืองขู่ขวัญรัฐบาลไทยตามขั้นตอนในการเตรียมยึดดินแดนไทยที่อยู่ในเขตเชียงใหม่ โดยเซอร์ยอร์ชสก๊อต ผู้สำเร็จราชการแคว้นฉาน (ไทยใหญ่) เหนือแคว้นแดนสยาม เสนอความคิดให้สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พระเจ้าจักรพรรดินีอังกฤษ ดำเนินพระราโชบายด้วยวิธีการดังกล่าวเพื่อขู่ขวัญรัฐบาลไทยให้กระวนกระวายใจ และระแวงเจ้าเชียงใหม่
และในปีนั้นเอง..พระยาราชเสนา (เสือพยัคฆนันท์) ข้าหลวงใหญ่กับพระราชสัมภากร (ชุ่ม) ได้ถูกย้ายกลับไปรับราชการในกรุงเทพมหานคร ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร (พระองค์เจ้าคัคณางยุคล) มาดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการณ์พิเศษต่างพระเนตรพระกรรณ และส่งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) มาเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่และ ๕ หัวเมือง พร้อมทั้งพระราชทานกุณฑลและพระธำมะรงค์ฝังเพชร พระราชทานเป็นพิเศษแก่เจ้าหญิงดารารัศมี พร้อมกับยกย่องฐานันดรศักดิ์ของเจ้าหญิงให้สูงขึ้น โดยทรงโปรดเกล้า ฯ ให้มีทำเนียบพระพี่เลี้ยงชายหญิงประดับพระบารมีโดยให้มีบรรดาศักดิ์แบบอย่างพระราชบุตรี พระเจ้าประเทศราชอันสูงส่งโดยแต่งตั้งนางเต็ม พระพี่เลี้ยงขึ้นเป็นนางกัลยารักษ์ และแต่งตั้งนายน้อยบุญทา พระพี่เลี้ยงผู้ชายเป็นพญาพิทักษ์เทวี เหตุการณ์ตอนนี้ตรงกับพ.ศ.๒๔๒๗

ผู้ค้นคว้ารวบรวมเรื่องนี้ได้รับการบอกเล่าในเห็นการณ์ดังกล่าวแล้ว ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ในขณะที่เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ ภริยาของเจ้าอุตรกาลโกศล (เจ้าศุขเกษม ณ เชียงใหม่) ศรีสะใภ้ของมหาอำมาตย์โทพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งเคยถวายตัวอยู่กับเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมีตั้งแต่เด็กอยู่ในราชสำนักพระราชวังดุสิตในพระตำหนักฝรั่งกังไสตั้งแต่เด็กจนเป็นสาวใหญ่เกือบ ๑๐ ปี ก็ได้เล่าเรื่องคำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ ๕ ที่ทรงตรัสให้บรรดาพระบรมราชเทวีและเจ้านายในพระราชวงศ์ ตลอดจนเจ้าจอมหม่อมห้ามเกี่ยวกับพระประวัติของเสด็จพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ก่อนที่จะเข้ามาเป็น “เจ้าจอม” รับราชการฝ่ายในเมื่อตอนเข้ามาใหม่ๆ ในครั้งกระโน้นได้เล่าให้ฟังคล้ายๆ กันกับที่เจ้าน้อยปิงเมืองท่านได้กรุณาเล่าให้ฟัง




ที่มา : จากหนังสือ เพ็ชร์ลานนา

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์เมื่อ: พฤหัสฯ. 10 ธ.ค. 2015 6:52 pm
โดย Namfar
8fmg2.jpg
8fmg2.jpg (110.06 KiB) เปิดดู 13481 ครั้ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติกับ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) หรืออีกพระนามในหมู่ข้าราชบริพารว่า เสด็จเจ้าน้อย ประสูติเมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลูเอกศก จ.ศ. ๑๒๕๑ ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒

สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรงจัตวาศก จ.ศ. ๑๒๕๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ สิริพระชันษา ๔ ปี

เสด็จเจ้าน้อย ทรงเป็นที่โปรดปรานใน พระราชบิดายิ่งนัก ด้วยทรงเป็นเจ้าหญิงพระองค์น้อยที่ฉลองพระองค์ซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา การสิ้นพระชนม์ของพระราชธิดาพระองค์เดียว ในครานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ทรงมีรับสั่งกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า ทรงเสียพระทัยยิ่งนักที่ทรงมิได้ตั้งพระธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์" ส่วนพระราชชายาเจ้าดารารัศมีผู้เป็นพระราชมารดา คงมิต้องบรรยายความรู้สึกว่าทรงเสียพระทัยเพียงใดออกมาได้ ทรงทำลายภาพพระฉายาทิสลักษณ์หมู่ ๓ พระองค์ ด้วยพระองค์เอง