พระพุทธรูปล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 6:56 am

พระพุทธรูปล้านนา พระพุทธรูปศิลปะล้านนา แบ่งออกเป็น ๔ ระยะคือ พระพุทธรูปล้านนา ระยะแรก (พุทธศตวรรษที่ ๑๙) พระพุทธรูปล้านนา ระยะที่ ๒ แบบสิงห์หนึ่ง(พุทธศตวรรษที่ ๒๐) พระพุทธรูปล้านนา ระยะที่ ๓ ยุคทองล้านนา(พุทธศตวรรษที่ ๒๑) ระยะที่ ๔ พระพุทธรูปล้านนา ระยะหลัง (พุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒)

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๑๖- ๒๑
ศิลปะล้านนา หรือ ศิลปะเชียงแสน อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย และมีลักษณะเก่าแก่มาก คาดว่ามีการสืบทอดต่อเนื่องของศิลปะทวาราวดี และลพบุรี ในดินแดนแถบนี้มาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย ศูนย์กลางของศิลปะ ล้านนาเดิมอยู่ที่เชียงแสน เรียกว่าอาณาจักรโยนก ต่อมาเมื่อ พระญามังราย ได้ย้ายมาสร้างเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางของของอาณาจักรล้านนาก็อยู่ที่ เมืองเชียงใหม่สืบต่อมาอีกเป็นเวลานาน ลักษณะสำคัญของพระพุทธรูป ศิลปะล้านนา ซึ่งมักเรียกว่า แบบเชียงแสน คือ พระวรกายอวบอูม พระ พักตร์อิ่ม ยิ้มสำรวม กระเกตุมาลาเป็นรูปต่อมกลม และดอกบัวตูม ไม่มีไร พระศก พระศกเป็นแบบก้นหอย พระขนงโก่งรับพระนาสิกงุ้มเล็กน้อยชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน พระอุระนูนดังราชสีห์ ท่านั่งขัดสมาธิเพชร
01.jpg
01.jpg (38 KiB) เปิดดู 9140 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 7:06 am

watmahawan_19.jpg
watmahawan_19.jpg (53.72 KiB) เปิดดู 9139 ครั้ง

พระรอดวัดมหาวัน จ. ลำพูน เป็นอุภาคีหนึ่งในเบญจภาคีฝ่ายบุญฤทธิ์ที่มีพระสมเด็จวัดระฆังเป็นประธานรวมกับพระพิมพ์อื่นๆอีก ๓ พิมพ์ คือ พระกำแพงซุ้มกอ (หรือพระกำแพงลีลาวัดขนุน), พระผงสุพรรณ, และพระนางพญาพิษณุโลก สำหรับพระรอดนั้นได้รับการขนานนามจากบรรดานักนิยมพระรุ่นบรรพบุรุษว่าเป็นสุดยอดนิรันตรายคือรอดจากภยันตรายต่างๆ ตลอดจนอำนวยผลในด้านเมตตามหานิยมและโชคลาภอีกด้วย พระรอดได้รับการยกย่องให้เป็นพระเครื่องชั้นนำยอดนิยมของวงการพระเครื่องเมืองไทย

ในสมัยก่อนหรือแม้แต่สมัยนี้ก็ตามที่มักจะมีการอ้างอิงตำนานของการปิดพระรอดว่า พระรอดน่าจะถูกสร้างขึ้นมาโดย พระฤาษีนารอด หรือ พระฤาษีนารทะ โดยอยู่ในพระบรมราชนูปถัมถ์ ของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งมหาอาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๒๒๓ และบรรจุกรุไว้ในพระเจดีย์วัดมหาวันซึ่งเป็นพระอารามประจำทางทิศตะวันตกของนครหริภุญไชย หรือจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน

การค้นพบพระรอดครั้งแรกมีขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งจากบันทึกของทางวัดมหาวันได้ระบุไว้ว่าในปี พ.ศ.๒๓๒๕ พระเจดีย์วัดมหาวันได้ชำรุดและพังทลายลงมาบางส่วน ตรงกับสมัยของเจ้าหลวงเหมพินทุไพจิตร เป็นเจ้าผู้ครองนครประเทศราชลำพูน ทางวัดจึงได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ซึ่งในครั้งนั้นก็มีการค้นพบพระรอดเป็นจำนวนมากที่สุดและได้นำบรรจุเข้าไว้ในพระเจดีย์ตามเดิม ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ฐานพระเจดีย์วัดมหาวันชำรุด ทางวัดก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์ก็ปรากฏพบพระรอดที่บรรจุไว้ จึงนำออกมาแจกจ่ายแก่ข้าราชการและผู้มาร่วมงานในครั้งนั้นพระรอดที่พบในครั้งนั้น เรียกว่า พระรอดกรุเก่า

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ก็มีการขุดพบพระรอดในบริเวณหน้าวัดมหาวัน และใต้ถุนกุฏิพระ ได้พบพระรอดจำนวนมากเกือบ ๓๐๐ องค์ เรียกว่า พระรอดกรุใหม่รุ่นแรก และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางวัดมหาวันได้รื้อพื้นอุโบสถเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ได้พบพระรอดที่มีจำนวนมากถึง ๓๐๐ องค์เศษๆ เรียกว่า พระรอดกรุใหม่รุ่นสอง และเป็นครั้งสุดท้ายที่ทางวัดมหาวันพบกรุพระรอดที่มีจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีผู้พยายามขุดหาพระรอดในบริเวณวัดมหาวันทุกซอกทุกมุมพบพระรอดบ้างแต่เป็นจำนวนน้อย นานๆจะได้สักองค์ แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการขุดหากันอยู่แม้ว่าจะหายากก็ตาม ความนิยมในพระรอดไม่มีวันเสื่อมคลายไปจากนักนิยมสะสมพระเครื่องของเมืองไทยนับวันมีแต่จะทวีค่าทวีราคายิ่งขึ้น และใช่ว่าจะหาของแท้ดูชมได้ง่าย ๆ ผู้ที่มีไว้จึงหวงแหนยิ่งนัก

ข้อมูลจาก http://www.moohin.com
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 7:19 am

1296491564.gif
1296491564.gif (68.39 KiB) เปิดดู 9139 ครั้ง

"พระเจ้าล้านทองเรียกอีกนามว่า พระเจ้าหลวง " วัดพระเจ้าล้านทอง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
ที่ฐานพระพุทธรูปมีข้อความจารึกเป็น หนังสือลายฝักขาม ซึ่งท่านผู้รู้ได้แปลไว้บ้างตอนว่า " ศาสนาพระได ๒๐๖๙วัสสาแล…๘๘๘ ปี รวายเสด หมายความว่า พระพุทธรูปองค์นี้หล่อขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๖๙ ปีจอ อัฐศก" สมัยพระเกษ แก้วครอง เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีท้าวเชียงตง ครองเวียงพร้าว วังหินตามหลัก ฐานจากหนังสือดัง กล่าวสันนิษฐานได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้น่า จะหล่อขึ้น ณ บริเวณวัดพระเจ้าล้านทองปัจจุบันซึ่งเป็นวัดในตัวเมืองชั้นในสมัยนั้นจากประวัติของเวียงพร้าววังหินจะทราบว่า หลังจากเวียงพร้าววังหินได้ร้างไปเพราะภัยสงครามของพระเจ้ากรุงหงสาวดี แต่ปี ๒๑๐๑ผู้คนหนีออกจากเมืองหมด คงปล่อยให้องค์พระเจ้าล้านทองประดิษฐานอยู่ในเมืองร้างนานถึง ๓๔๙ ปีจนมาถึง พ.ศ.๒๔๕๐ ได้มีดาบสนุ่งขาว ห่มขาวเป็นคนเชื้อชาติลาว เข้ามาอาศัยอยู่ที่วัดสันขวางตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าวเชียงใหม่ ชื่อจริงว่าอย่างไรไม่ปรากฎหลักฐานแต่ชาวบ้านในสมันนั้นเรียกว่า ปู่กาเลยังยังที่เรียก อย่างนี้เนื่องจากว่า ชาวบ้านได้ยินบทสวดของท่านดาบสท่านนี้ขึ้นต้นว่า "กาเลยังยัง"จึง เรียกชื่อว่า ปู่กาเลยังยังท่านดาบสองค์นี้ชอบทานข้าวกับหัวตะไคร้ใส่ปลาร้าเป็นประจำหรือเป็นอาหารโปรดของท่าน ส่วนท่านกาเลยังยังท่านไม่กลัว เมื่อท่านกาเลยังยังอยู่ที่วัดสันขวางได้ไปเที่ยวชมทิวทัศน์บริเวณวัดพระเจ้าล้านทอง ตั้งอยู่บนฐานอิฐที่ชำรุดทรุดโทรมจะล้มมิล้มแหล่ และองค์พระพุทธรูปก็ถูกไฟป่าที่เผาเศษไม้ใบไม้แห้งรอบองค์พระประดิษฐานอยู่จนพระองค์ถูกรมควันไฟจนดำสนิท ท่านกาเลยังยังจึงได้หาก้อนอิฐซึ่งพอหา ได้ใน บริเวณนั้นมาชุบด้วยน้ำไก๋ (ชื่อไม้ชนิดหนึ่งมียางเหนียว) ซึ่งอยู่แถวนั้นมากมายแล้วนำอิฐที่ชุบไก๋แล้วมาซ่อมแซมฐานพระพุทธรูป จนเป็นที่มั่นคงแล้วได้สร้างเพิงหมาแหงนด้วยเสาสี่ต้น มุงด้วยหญ้าคาเนื่องจากขาดคนดูแล เพิงหมาแหงนจึงถูกไฟป่าเผาไหม้หมดจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ท่านครูบาอินตา สาธร เจ้าอาวาสวัดหนองปลามัน ได้ร่วมกับคณะศรัทธาซึ่งบริเวณนั้นชาวบ้านไม่อยากสัญจรไป เนื่องจากกลัวต่อภูติผีปีศาจตามคำบอกเล่าของคนเฒ่า ใครไปทำอะไรแถวๆ นั้น มักจะเกิดความวิปริตจิตฟั่นเฟือน พูดจาไม่รู้เรื่อง เดือดร้อนถึงหมอผีต้องทำบนบานศาลกล่าวถึงจะหาย บางคนถึงตายไปก็มี จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ท่านครูบาอินตา สาธร ได้ไปขอกุฎิวัดสันขวางของ ท่านครูบาปัญญาเชื้อสายไทยใหญ่ซึ่งชาวบ้านจะเผาทิ้ง นำมาสร้างวิหารเพื่อเป็นที่ประดิษฐานองค์พระเจ้าล้านทองสาเหตุที่ชาวบ้านจะเผากุฏิ เนื่องจากกุฏิวัดสันขวางหลังนี้ ได้มาโดยท่าน พระยาเพชร และแม่เจ้านางแพอุทิศบ้านไม้สักขนาดใหญ่ของตนเอง สร้างเป็นกุฏิถวายแด่ท่านครูบาไว้เป็นที่จำวัดและอาศัย ซึ่งท่านทั้งสองมีความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่านครูบามากแต่หลังจากได้สร้างกุฏิหลังใหม่ถวายได้ไม่นาน ท่านก็เกิดอาพาธทั้งๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนชาวบ้านซึ่งมีความรักในตัวครูบาเป็นอย่างมาก ต่างก็ลงความเห็นว่าอาการเจ็บป่วยของท่านคงมาจากกุฏิหลังใหม่เป็นแน่ ความทราบไปถึงครูบาอินตาซึ่งเป็นเจ้าอาวาส "วัดหนองปลามัน " จึงได้ไปขอกุฏิหลังนี้แล้วนำไปสร้างวิหาร ณ วัดพระเจ้าล้านทอง (ขณะนี้เหลือแต่ฐานของวิหารเท่านั้น ซึ่งอยู่ ทางทิศตะวันออกของวิหารหลังปัจจุบัน)

ต่อมา พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีท่านครูบาอินถา แห่ง วัดพระเจ้าตนหลวง อำเภอสันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ ได้มาเป็นองค์ประธานก่อสร้างวิหาร แบบจตุรมุขทางทิศตะวันตกของวิหารหลังเดิมจนเสร็จได้ประมาณ ๘๐ % เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ แล้วได้ย้ายองค์พระเจ้าล้านทองขึ้นมาประดิษฐาน ณ วิหารหลังปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ตรงกับเดือน ๕ เหนือ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช๑๓๓๓ ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ได้มีการซ่อมแซมวิหารแบบจตุรมุข ให้มีสภาพดีขึ้นโดยการนำของท่านพระบุญชุ่มญาณสังวโร แห่งวัดพระธาตุดอนเมือง อำเภอท่าขี้เหล็ก สหภาพเชียงตุง ประเทศพม่า โดยมีพล.ท.ภุชงค์ นิลขำ (ถึงแก่กรรมแล้ว) กับคุณเทอดศักดิ์ แก้วสว่าง ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินใน การซ่อมแซม วิหารหลังนี้ ด้วยเงินประมาณ ๑ ล้านบาทเศษ นับได้ว่าวัดพระเจ้าล้านทองเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่สร้างมาแต่สมัยเวียงพร้าว วังหิน เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญและมีประวัติความเป็นมาอันยาว
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 7:28 am

พระพุทธรูปพระพุทธเจ้าเก้าตื้อ

1288050115.jpg
1288050115.jpg (87.31 KiB) เปิดดู 9139 ครั้ง


พระเจ้าเก้าตื้อ หรือ พระพุทธรูปพระพุทธเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสวนดอก หรือวัดบุบผาราม ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัดสำคัญของนครเชียงใหม่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดในล้านนา

คำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ ซึ่ง ๑ ตื้อ เท่ากับ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม (บางตำรากล่าวว่า ๑ ตื้อ หนักเท่ากับ ๑,๒๐๐ กิโลกรัม) พระเจ้าเก้าตื้อ หมายถึงพระพุทธรูปที่หล่อด้วยโลหะหนัก ๙,๐๐๐ กิโลกรัม หรือ ๙ ตัน

ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช หรืออีกพระนามหนึ่งคือ พระติลกปนัดดาธิราชกษัตริย์รัชกาลที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย ที่ครองอาณาจักรล้านนา ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เพื่อเป็นประธานในวิหารพระสิงห์

โดยได้เริ่มทำการหล่อในวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีชวด ฉอศก จุลศักราช ๘๖๕ (พ.ศ. ๒๐๔๗) เมื่อหล่อได้ทำการตกแต่ง จนถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช ๔๖๗ (พุทธศักราช ๒๐๔๘) จึงสำเร็จบริบูรณ์

องค์พระมีที่ต่อ ๘ แห่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากองค์พระมีน้ำหนักมากเมื่อหล่อเสร็จไม้สามารถชะลอเข้าเมืองได้ พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐาน ณ บริเวณใกล้ๆ กับพระอารามวัดบุปผารามหรือวัดสวนดอก

ครั้นถึงวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๘๗๐ (พุทธศักราช ๒๐๕๒) จึงได้มีการชักพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถในวัดบุบผาราม
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 7:52 am

พระเจ้าพร้าโต้ วัดพระธาตุห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่

พระเจ้าพร้าโต้เป็นพระพุทธรูปที่แกะด้วยพร้าโต้(มีดอีโต้)ศิลปะพื้นบ้านผสมผสานศิลปเชียงรุ้ง ซึ่งผู้สร้างใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการใช้พร้าโต้แกะให้ออกมาเป็นพระพุทธรูปที่สวยงาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเมืองลองที่มีการสร้างวัดศรีดอนคำ มีพระยาลำปางและพระยานครแพร่ช่วยกันสร้าง มีการขออนุญาตโบกปูนและสร้างกุฎิให้พระเจ้ามหาเถรเจ้าสุทธนะเป็นพระประธาน โดยได้สร้างวิหารขึ้นในปี ๒๒๓๖ พร้อมอุโบสถขนาดเล็กกว้าง ๔ วา ยาว ๘ วา โดยลาดพื้นและผูกพัทธสีมา มีการจัดทำพระพุทธรูปองค์หนึ่งเรียกว่า พระเจ้าพร้าโต้ โดยสร้างจากไม้แก่นจันทร์ทั้งต้นและส่วนที่มีขนาดเล็กได้สร้างพระขนาดเล็กอีก ๔ องค์รวมทั้งสิ้น ๕ องค์ โดยองค์ที่ ๒ กรมศิลปากรนำไปประดิษฐานที่ไร่แม่ฟ้าหลวง องค์ที่ ๓ นำไปประดิษฐานที่พิพิฑธภัณฑ์วัดหลวง อำเภอเมืองแพร่ องค์ที่ ๔ ถูกขโมยไป องค์ที่ ๕ มีขนาดเล็กที่สุดประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีดอนคำ พระเจ้าพร้าโต้มีความสูง ๓ เมตร หน้าตักกว้าง ๑.๕ เมตร
ไฟล์แนป
DSC_0089.jpg
DSC_0089.jpg (70.54 KiB) เปิดดู 9138 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 7:57 am

294111_561498583902182_1230764797_n.jpg
294111_561498583902182_1230764797_n.jpg (59.54 KiB) เปิดดู 9138 ครั้ง


“วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล (พระมหาธาตุเจดีย์ บารมี ๑๙ ยอด)อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณของอำเภอพร้าว สร้างสมัยพระราชวงศ์มังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย มีอายุการสร้าง ๗๓๐ ปี เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลหลังจากล่มสลายไปตามกาลเวลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ ได้มีการค้นพบวัดพระธาตุดอยเวียง มีการค้นพบพระธาตุภายในซึ่งบรรจุเส้นพระเกศาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากตำนานที่เล่าย้อนหลังถึงแบ่งเป็น ๔ ยุคในประวัติขององค์พระธาตุนี้ จากนั้นได้เริ่มพัฒนาบูรณะปฏิสังขรณ์ จนปัจจุบัน ได้ค้นพบโบราณวัตถุหลายรายการเช่น ก้อนอิฐที่จารึกตัวอักษรฝักขาม, ถ้วยชามสังคโลก, เครื่องปั้นดินเผา, ยอดฉัตรพระธาตุ (เจดีย์) ที่ทำจากทองจังโก้ และโบราณวัตถุอีกมากมาย

ประวัติพระพุทธรูปปางทรงเครื่อง (พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี) จำนวน ๑๐ องค์


องค์ที่ ๑ พระนามว่า พระมหาจักรพรรดิดับภยชัยมงคล (หลวงพ่อเศรษฐี) หล่อด้วยทองสำริด หน้าตัก ๘๔ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องล้านนาโบราณ

องค์ที่ ๒ พระนามว่า พระเจ้าล้านทองหล่อด้วยทองเหลือบริสุทธิ์ หน้าตัก ๔๒ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องเชียงแสนลังกาวงศ์


องค์ที่ ๓ พระนามว่า พระเจ้าแสนล้านหล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ หน้าตัก ๓๙ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องเชียงแสนสิงห์สาม


องค์ที่ ๔ พระนามว่า พระเจ้าห้ามมารบันดาลโชคหล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ ยืนสูง ๖๐ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องล้านนา


พระอัครสาวกปัจวัคคีย์ทั้ง ๕ องค์ หล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ หน้าตัก ๒๑ นิ้ว ศิลปะล้านนาทรงเครื่องปางนั่งพนมมือ
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 8:09 am

404-14-p4.jpg
404-14-p4.jpg (53.45 KiB) เปิดดู 9136 ครั้ง

"พระพุทธสิหิงค์" วัดพระสิงห์วรวิหาร จ.เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรุปขนาดหน้าตักกว้าง ๓๑ นิ้ว สูงจากขอบฐานถึงยอดพระเมาลีบัวตูม ๕๑ นิ้ว บนผนังด้านหลังพระประธานมีรูปปราสาทแวดล้อมด้วยมังกรและหงส์ มีความงดงามน่าชมยิ่ง มีเสาหลวง (เสากลม) เสาระเบียง (เสาสี่เหลี่ยม) ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบ ด้านเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงที่นี่แห่งเดียว อีกทั้งเป็นวิหารลายคำที่พบที่นี่ได้แห่งเดียวเท่านั้น และลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา ซึ่ง ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ประติมากร ชาวอิตาเลียน บิดาแห่งวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ได้สรุปไว้ว่า "จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวันเป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้ามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน"
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 8:26 am

paragraph_655.jpg
paragraph_655.jpg (81.68 KiB) เปิดดู 9132 ครั้ง


พระแก้วขาว หรือ “พระเสตังคมณี” วัดเชียงมั่น ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากแก้วสีขาวใส ตำนานพระแก้วขาวเล่าว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๗๐๐ ปี ในวันเพ็ญเดือน ๗ สุเทวฤๅษี ได้นำเอาดอกจำปา ๕ ดอก ขึ้นไปบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบปะสนทนาด้วยพระอินทร์ พระอินทร์จึงบอกกล่าวแก่สุเทวฤๅษีว่า ปีนี้ในเดือนวิสาขะเพ็ญ ที่ลวะรัฏฐะจะสร้างพระพุทธปฏิมากรด้วยแก้วขาว ครั้นเมื่อสุเทวฤๅษีกลับจากดาวดึงส์เทวโลกแล้ว จึงไปสู่เมืองละโว้ ขณะนั้น พระยารามราช เจ้าเมืองละโว้ กับ พระกัสสปเถรเจ้า มีความประสงค์จะสร้างพระแก้ว ซึ่งพระอรหันต์ไปได้แก้วขาวบริสุทธิ์บุษยรัตน์มาจากจันทเทวบุตร แล้วขอพระวิษณุกรรมมาเนรมิตสำเร็จเป็นองค์พระพุทธปฏิมากร สุเทวฤๅษี ผู้สร้างนครหริภุญไชย และฤๅษีองค์อื่นๆ ก็ได้ไปประชุมช่วยเหลือในการสร้างองค์พระด้วย ครั้นสำเร็จแล้วก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๔ องค์ไว้ในพระโมลี (กระหม่อม) ๑ องค์, พระนลาต (หน้าผาก) ๑ องค์, พระอุระ (หน้าอก) ๑ องค์ และพระโอษฐ์ (ปาก) ๑ องค์ รวมทั้งหมด ๔ แห่ง เมื่อสร้างเสร็จแล้ว พระแก้วขาวก็ได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองละโว้สืบมาเป็นเวลานาน

ต่อมาพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริยาแห่งนครหริภุญไชย (นครลำพูน) พระราชธิดาของเจ้ากรุงละโว้ เสด็จมาครองเมืองหริภุญไชย ก็ได้อัญเชิญพระแก้วขาวจากเมืองละโว้มายังเมืองหริภุญไชย มาเป็นพระพุทธรูปบูชาประจำพระองค์ด้วย พระแก้วขาวจึงได้มาประดิษฐานอยู่ในนครหริภุญไชยตั้งแต่บัดนั้น

เส้นทางตามรอยพระแก้วขาว เริ่มต้นที่ “วัดจามเทวี” หรือ “วัดกู่กุด” ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตามประวัติกล่าวไว้ว่า วัดจามเทวี ได้สร้างขึ้นโดยพระนางจามเทวี และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ก็ได้ทรงสละพระราชสมบัติออกบวชชี บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ วัดแห่งนี้ และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา ก็ได้เสด็จสวรรคต ดังนั้น พระเจ้ามหันตยศและพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ จึงได้นำพระอัฐิของพระนางจามเทวี พระราชมารดา มาบรรจุไว้ในเจดีย์สี่เหลี่ยมในวัดจามเทวี

เจดีย์สี่เหลี่ยมในวัดจามเทวี ที่ว่านั้น รู้จักกันในชื่อ “กู่กุด” หรือ “เจดีย์สุวรรณจังโกฏ” ซึ่งเป็นพระเจดีย์ศิลาแลงทรงสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๕ ชั้น แต่ละชั้นจะประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย รวมทั้งหมด ๖๐ องค์ พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นสถาปัตยกรรมต้นแบบให้แก่พระเจดีย์ต่างๆ ในภาคเหนือต่อมาอีกด้วย


ไม่ไกลกันนักเป็นที่ตั้งของ “วัดพระธาตุหริภุญไชย วรมหาวิหาร” ในจังหวัดลำพูนเช่นกัน วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวมาตลอดระยะเวลาของการตั้งเมืองหริภุญไชย โดยภายในพระวิหารหลวงของวัดพระธาตุหริภุญไชย นอกจากจะมีพระประธานก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง บนแท่นแก้วรวม ๓ องค์ และพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้นและชั้นกลางอีกหลายองค์แล้ว ก็ยังมี บุษบก ซึ่งภายในประดิษฐานพระเสตังคมณี หรือพระแก้วขาวองค์จำลอง ซึ่งสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพระแก้วขาวเคยประดิษฐานอยู่ที่นี่เมื่อครั้งนครลำพูนยังรุ่งเรืองอยู่ แต่ปัจจุบันหอพระแก้วขาวในอดีตนั้น ถูกแทนที่ด้วย หอระฆัง ของวัดไปแล้ว

ภายหลังจากที่พระนางจามเทวีเสด็จสวรรคต นครหริภุญไชยยังคงมีกษัตริย์ปกครองสืบเนื่องต่อมาอีกถึง ๔๗ พระองค์ด้วยกัน และทุกพระองค์ต่างก็นับถือพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านเมือง จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๑๘๒๔ ในรัชสมัยของพระยายีบา กษัตริย์เมืองหริภุญไชยองค์ที่ ๔๗ เมืองหริภุญไชยได้ถูกพญามังราย เจ้าครองนครเงินยวง (เมืองเชียงแสน) ยกกองทัพมาปราบ เมืองหริภุญไชยทั้งเมืองถูกเพลิงไหม้จนพ่ายแพ้ แต่หอพระแก้วขาวเป็นเพียงจุดเดียวที่ไม่ถูกเพลิงไหม้ตามไปด้วย

ด้วยความศรัทธาในปาฏิหาริย์นั้น พญามังราย จึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับของพระองค์ และทรงเคารพสักการะพระแก้วขาวเป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ตั้งแต่นั้น ส่วนพระแก้วขาวก็ได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองป้องกันอันตราย และอำนวยความสุขสวัสดิ์แก่ผู้ที่เคารพสักการะด้วยเช่นกัน


การเดินทางของพระแก้วขาวจากเมืองลำพูนสู่เมืองเชียงใหม่จึงเริ่มขึ้นตรงนี้ เมื่อ พญามังราย มาสร้างนครเชียงใหม่เป็นราชธานี เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๓๙ และได้อัญเชิญ “พระแก้วขาว” มาด้วย โดยพระองค์ได้สร้างพระราชมณเฑียรขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองเชียงใหม่ และหลังจากที่สร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จึงได้สร้างพระเจดีย์คร่อมทับหอนอนที่พระราชนิเวศน์ที่ประทับชั่วคราวนั้นเสีย เพราะทรงดำริว่า “ที่แห่งนี้เป็นหอนอนของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เกรงจะเป็นเสนียดจัญไรแก่ผู้นอนทับในภายหลัง” อีกทั้งยังได้สร้างวัดขึ้นในที่แห่งนี้ด้วย นั่นก็คือ “วัดเชียงมั่น” ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวัดแรกที่สถาปนาขึ้นในนครเชียงใหม่อีกด้วย

พระแก้วขาวมีอันต้องย้ายที่ประดิษฐานอีกหลายครั้ง ประมาณปี พ.ศ.๒๐๓๕ ในรัชสมัยพระยอดเชียงราย เจ้าครองเมืองเชียงใหม่ มีคนร้ายขโมยพระแก้วขาวไปถวาย กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระยอดเชียงรายจึงยกกองทัพไปยังกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้เดือนหนึ่งจึงได้อัญเชิญพระแก้วขาวกลับมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงใหม่ ตามเดิม

ปีพุทธศักราช ๒๐๘๙ พระแก้วขาวตกไปอยู่กับ อาณาจักรล้านช้าง เป็นเวลายาวนานกว่า ๒๒๕ ปี จวบจนกระทั่งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จไปปราบเมืองล้านช้างได้สำเร็จ จึงได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ ส่วนพระแก้วขาวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดเชียงมั่น ที่ซึ่งพญามังรายทรงมีพระราชศรัทธาอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นครั้งแรก โดยได้มีรับสั่งว่า “องค์เขียวเอาไปบางกอก องค์ขาวเอามาไว้ให้ชาวล้านนาเจ้าของเดิม”

ปัจจุบัน “พระแก้วขาว” หรือ “พระเสตังคมณี” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ประดิษฐานอยู่ ณ พระมณฑปด้านหลังพระประธาน ในพระวิหารจตุรมุข วัดเชียงมั่น

นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว วัดเชียงมั่นแห่งนี้ยังมีศาสนสถานและศาสนวัตถุที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิเช่น พระเจดีย์ช้างล้อม สถาปัตยกรรมล้านนาฐานช้างล้อม สร้างโดยพญามังราย เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลมสูง (ทรงปราสาท) ตรงฐานเจดีย์ทำเป็นรูปช้างล้อม ๑๖ เชือก สันนิษฐานว่าสร้างเลียนแบบพระเจดีย์ช้างล้อมของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่เมืองศรีสัชนาลัย และได้รับการบูรณะอีกหลายครั้ง ถัดมาเป็น หอไตร ที่ชั้นล่างก่ออิฐฉาบปูน ชั้นบนเป็นไม้ลงรักปิดทองสวยงาม ถัดมาอีกนิดเป็น พระอุโบสถทรงล้านนา (พระอุโบสถหลังเก่า) เป็นพระอุโบสถที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมล้านนา และเป็นที่เก็บรักษาหลักศิลาจารึกอักษรล้านนาอันเก่าแก่ ที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ และการสร้างวัดเชียงมั่น

หากผู้ที่สนใจในพระราชประวัติของ พญามังราย ผู้ก่อตั้งเมืองเชียงใหม่ ก็สามารถเดินชมภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถหลังใหม่ได้ด้วย และหากต้องการกราบสักการะพระแก้วขาว ก็ต้องไปที่ พระวิหารจตุรมุข ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วขาวแล้ว ก็ยังมี พระศิลา พระพุทธรูปแกะจากหิน ปางปราบช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่เมืองล้านนาด้วยเช่นกัน องค์พระแก้วขาวในวันนี้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีและอย่างระมัดระวัง โดยจะอัญเชิญออกมาจากพระวิหารเพียงปีละครั้งในวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำเท่านั้น
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 3:09 pm

พระแก้วมรกต วัดพระธาตุลำปางหลวง

prakhao11.jpg
prakhao11.jpg (47.18 KiB) เปิดดู 9125 ครั้ง


ตามตำนานนั้น เริ่มจากศิษย์ตถาคตหรือศิษย์พระพุทธเจ้า ได้จุติจากดาวดึงส์ลงมาปฏิสนธิที่เมืองกุกุตนคร(เมืองลำปาง) เมื่อเจริญวัยก็ออกบวชเป็นภิกษุ ต่อมาได้เป็นพระเถระ ขณะเดียวกันก็มีเทวดาอีกองค์หนึ่งได้ลงมาจุติที่เมืองกุกุตนครเช่นเดียวกัน ชื่อว่านางสุชาดา

นางได้เลื่อมใสพระพุทธศาสนา จนได้มาปรนนิบัติรับใช้พระเถระอยู่ที่วัดม่อนดอนเต้า อยู่มาวันหนึ่งพระเถระคิดจะสร้าง
พระพุทธรูปสักองค์ แต่หาวัตถุที่จะสร้างไม่ได้ ก็พอดีนางสุชาดาได้ไปที่ไร่เพื่อเก็บดอกไม้มาถวายพระ ได้พบหมากเต้า หรือผลแตงโม ลูกงามใบหนึ่ง จึงนำมาถวายพระเถระ แต่เมื่อผ่าออกมาปรากฏว่าในผลหมากเต้านั้นพบแก้วมรกตอยู่ข้างใน พระมหาเถระก็นำแก้วมรกตนั้นมาสลักให้เป็นพระพุทธรูป

เมื่อเสร็จแล้วก็มีพิธีฉลองสมโภชพระแก้วมรกต และตั้งชื่อวัดม่อนดอนเต้าเป็น “ วัดพระแก้วดอนเต้า ” มาจนทุกวันนี้

จากนั้นมีเสียงเล่าลือว่า พระมหาเถระกับนางสุชาดาเป็นชู้กัน ความทราบถึงอำมาตย์ผู้ปกครองนครนี้ และโดยที่ไม่ได้ไต่สวน ความจริงให้ปรากฏ จึงทรงกราบบังคมทูลให้เจ้านครทราบ และมีบัญชาให้เพชฌฆาตนำนางสุชาดาไปฆ่าเสีย ณ ริมฝั่ง แม่น้ำวัง โดยก่อนที่นางสุชาดาจะถูกประหารก็ได้อธิษฐานว่า หากนางเป็นชู้กับพระมหาเถระจริง ก็ขอให้เลือดตกลงพื้นดิน แต่ถ้าหากไม่มิได้เป็นชู้ ก็ขออย่าให้เลือดพุ่งขึ้นสู่อากาศ

เมื่อเพชฌฆาตลงดาบปรากฏว่าเลือดของนางพุ่งสู่อากาศโดยไม่ตกลงพื้นดินเลย เจ้านครเมื่อทราบเรื่องนี้ก็ทรงเสียพระทัย และขาดใจตายในเวลาต่อมา

จากนั้นพระมหาเถระก็หนีออกจากวัดพระแก้วดอนเต้าไปพักอยู่ที่วัดสัมภะกัปปะ (วัดพระธาตุลำปางหลวง) พร้อมกับนำเอาพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงมาจนทุกวันนี้


ประวัติพระแก้วมรกตจากคำบอกเล่าของชาวบ้าน

อาจเป็นตำนานภาคชาวบ้านที่บอกเล่าสืบต่อกันมารวมถึงข้อสังเกตจากพระเกจิอาจารย์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเหนือ และได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้

ขอเริ่มจากที่มาของพระแก้วมรกตที่กรุงเทพ ที่เกี่ยวข้องกับเมืองลำปางตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ได้บันทึกไว้ว่า พระแก้วมรกตหรือพระพุทธมหามณีรัตปฏิมากรนั้น ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่หลายประเทศและหลายเมืองของไทยในอดีต ตั้งแต่ ศรีลังกา นครธม (ยุคอาณาจักรขอม) กรุงอโยธยา หลวงพระบาง(ประเทศลาว) กำแพงเพชร เชียงราย เขลางค์ นคร(ลำปาง) เชียงใหม่ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร

ดังนั้นเขลางค์นคร หรือเมืองลำปาง จึงถือเป็นเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่วัดพระแก้วที่กรุงเทพในปัจจุบัน

ตามประวัติพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้ว กรุงเทพ นั้น ครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง นานถึง ๓๒ ปี หรือจาก พ.ศ. ๑๘๗๙ – ๒๐๑๑ เหตุที่มีความเกี่ยวข้องกับ จังหวัดลำปางก็เพราะเมืองเชียงราย ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตอยู่นั้นเกิดสงคราม เจ้าเมืองเชียงใหม่ (ถือเป็นเจ้าแห่ง อาณาจักรล้านนา) จึงจัดขบวนช้างให้อัญเชิญมาอยู่ที่เชียงใหม่เพื่อความปลอดภัย แต่เมื่อขบวนมาถึงเมืองลำปาง ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตเกิดไม่ยอมไป แม้จะเปลี่ยนเป็นช้างเชือกอื่น และควานช้างจะปลอบโยนอย่างไรแล้ว ก็ยังไม่ยอมไปอยู่ดี เจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งมีความเชื่อในโชคลาง จึงอนุโลมให้ประดิษฐานไว้ที่วัดดอนเต้าเป็นการชั่วคราว

พระแก้วมรกตได้ประดิษฐานอยู่เมืองลำปางมาเป็นเวลาหลายปี จนชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา บางคนก็ถือว่าเป็นบุญบารมีของของชาวลำปาง ที่มีโอกาสได้กราบไหว้พระแก้วมรกตองค์สำคัญที่มีลักษณะงดงาม และการที่ขบวนช้างขบวนม้าไม่ยอมเดินทางต่อไปยังเมืองเชียงใหม่นั้น ก็เชื่อกันว่าเป็นเพราะพุทธานุภาพของพระแก้วมรกต เป็นความประสงค์ที่จะอยู่เมืองลำปาง

ปี พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่เห็นว่า พระแก้วมรกตเป็นสมบัติล้ำค่าจึงได้อาราธนาอัญเชิญมายังนครเชียงใหม่ ที่เปรียบเสมือนเป็นเมืองเอกแห่งล้านนา รวมระยะเวลาที่อยู่เมืองลำปางนานถึง ๓๒ ปี

๓๒ ปีที่พระแก้วมรกตอยู่ที่เมืองลำปาง ชาวบ้านมีความรู้สึกว่าเสมือนหนึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองลำปาง และเมื่อต้องไป
ประดิษฐานอยู่เมืองเชียงใหม่ก็เกิดความรู้สึกเสียดายและหวงแหน จึงเห็นว่าน่าจะมีการจำลองพระแก้วมรกตเพื่อให้ชาว
ลำปางได้กราบไหว้สืบไป และได้นำมาประดิษฐานที่วัดลำปางหลวงในเวลาต่อมา

นี่เป็นความเข้าใจในตำนานพระแก้วมรกตฉบับของชาวบ้าน

แม้ตำนานพระแก้วมรกตจากหนังสือที่พิมพ์จำหน่าย กับ คำบอกเล่าของคนเก่าคนแก่ของเมืองลำปาง จะแตกต่างกัน แต่คำบอกเล่าของชาวบ้านก็น่าเชื่อถือไม่น้อย และดูจะมีน้ำหนักมากกว่าที่ว่าพระแก้วมรกตมีที่มาจากแก้วมรกตที่พบในผลแตงโม ที่นางสุชาดา(เทวดาจุติมาเกิด) นำมาถวายให้พระเถระ ที่จำพรรษาอยู่วัดดอนเต้า และต่อมาก็ถูกชาวบ้านกล่าวหาว่าทั้งสองเป็นชู้กัน

ยังมีข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งจากพระเกจิของภาคเหนือ
บอกว่า จริงๆแล้วพระแก้วมรกตที่วัดพระธาตุลำปางหลวงนั้นน่าจะเป็นองค์จริง ส่วนที่อัญเชิญไปเมืองเชียงใหม่นั้นเป็นองค์จำลอง โดยอ้างเหตุผลว่า คนโบราณเค้ามักจะทำองค์จำลองขึ้นมาคู่กัน เสมอ และจะเก็บรักษาองค์จริงไว้ในที่ปลอดภัยเช่นฝังไว้ยังใต้ฐานเจดีย์ และเป็นไปได้ว่าพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเมืองเชียงรายนั้นถูกปกปิดอย่างมิดชิด เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามและเกรงว่าไม่ปลอดภัย จึงน้อยคนนักที่จะเห็นองค์พระที่แท้จริงได้ พร้อมกับบอกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวเมืองลำปางจะรักและหวงแหนองค์จริง จึงมีการจำลองและสับเปลี่ยนกับองค์ ที่อัญเชิญไปอยู่เมืองเชียงใหม่ พร้อมกับปกปิดไม่แพร่งพรายให้ใครรู้
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 3:28 pm

หลวงพ่อดับภัย วัดดับภัย

1258282238.jpg
1258282238.jpg (76.43 KiB) เปิดดู 9124 ครั้ง


มีตำนานเล่าว่า เมื่อพญาอภัยล้มป่วยทำการรักษาอย่างไรก็ไม่ทุเลา จึงตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อดับภัย อาการเจ็บป่วยก็หายไปพลัน พญาอภัยจึงให้บริวารลูกหลานตั้งบ้านเรือนบริเวณวัด และบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงเรียกชื่อใหม่ว่าวัดดับภัย

วัดดับภัย เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองล้านนา วัดแห่งนี้มีบ่อน้ำอยู่หน้าวิหาร เชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ สมัยพระเจ้าอินทวโรรส เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๘ เสด็จกลับจากกรุงเทพ ฯ ต้องแวะมาวัดดับภัย เพื่อนำน้ำในบ่อนี้ไปสรงน้ำพระพุทธมนต์ ก่อนแวะไปวัดเชียงยืนเพื่อสืบดวงชะตา
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 3:31 pm

1258282650.jpg
1258282650.jpg (59.69 KiB) เปิดดู 7267 ครั้ง


พระพุทธสิหิงค์หยกขาวดับภัยแห่งวัดดับภัย ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระพุทธรูปล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 30 มิ.ย. 2013 3:36 pm

kanjan.jpg
kanjan.jpg (47.66 KiB) เปิดดู 7267 ครั้ง


พระพุทธรูปพระเจ้าไม้แก่นจันทร์ หรือพระจันทร์เจ้า พระพุทธรูปองค์สำคัญองค์หนึ่งของจังหวัดลำปาง จากตำนานพระแก่นจันทร์ และในชินกาลมาลีปกรณ์ ทำให้สันนิฐานว่าความนิยมสร้างพระพุทธรูปไม้ที่พบมากในภาคเหนือตอนบนเป็นความนิยมที่มีมาแต่สมัยล้านนา สำหรับพระแก่นจันทร์ หรือพระจันทร์เจ้า ที่ระบุไว้ในตำนานพระแก่นจันทร์ และในชินกาลมาลีปกรณ์ คือองค์ที่ประดิษฐาน ณ วัดป่าตัน อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

เป็นพระพุทธรูปไม้ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทะรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบอยู่บนฐานบัวคว่ำ-บัวหงายแบบบัวฟันยักษ์ พระรัศมีเป็นแปลวขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระโขนงโก่งพระเนตรเหลืบต่ำ พระวรกายบอบบาง ชายสังฆาฏิยาวจรตพระนาภี และแยกเป็น ๒ ปลายแบบเขี้ยวตะขาบ

และปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ เสมอกัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๒๔ พ.ย. ๒๕๓๖ เล่มที่ ๑๑๐ ตอน ๑๙๔
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 81 ท่าน

cron