บทความ ไวรัสการศึกษา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

บทความ ไวรัสการศึกษา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 06 ก.ค. 2013 8:50 am

บทความเรื่อง ไวรัสการศึกษา

360PX-~1.JPG
360PX-~1.JPG (29.88 KiB) เปิดดู 2901 ครั้ง


ในอดีต ถ้ามีคนกล่าวถึง”โรงเรียน”คนทั่วไปมักจะนึกถึงสถานที่ที่มีคุณครูเข้มงวด สอนความรู้ผนวกกับการสอนคนให้เป็นคน มีนักเรียนที่อยู่ในกรอบ มีระเบียบวินัยและมีความเคารพนบนอบ แต่ถ้าเป็นในยุคปัจจุบัน “โรงเรียน” คือสถานที่ที่ครูเป็นเพียงคนสอนหนังสือและนักเรียนเป็นคนที่ พ่อแม่จ้างมาเรียน เหมือนที่เขียนสถานะไว้ในเฟสบุ๊กกันให้เกลื่อนโลกออนไลน์ เคยมีผู้ใหญ่คนไหนเคยคิดหรือไม่ ว่าเรากำลังเดินมาผิดทางหรือเปล่า…


จากการติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำทุกวัน จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้สิ่งที่คนยุคใหม่ขาด คือ “จิตสำนึก”มีข่าวหลอกลวงฆ่าฟันกันไม่เว้นแต่ละวัน จนต้องตั้งคำถามกับตนเองว่า ศีลธรรมของคนยุคใหม่หายไปไหนหมด ทั้งๆที่ระบบการศึกษาของเรามีการพยายามปรับปรุง พัฒนาให้ดีให้ทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ แต่เหตุใด กมลสันดาน ของคนไทยกลับด้อยลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะ เขา ให้เน้นการสอนหนังสือ จนหลงลืมการสอนความเป็นคนหรือเปล่า


ในอดีต ใครอยากเรียนหนังสือต้องไปเรียนที่วัด โดยมีพระเป็นผู้สอน นักเรียนสมัยนั้นจะรู้กันถ้วนหน้าว่า พระท่านดุมาก นั่นเพราะการสอนคนไม่ใช่เรื่องง่าย การเป็นนักเรียนไม่ใช่สักว่าใส่ชุดนักเรียนแล้วไปเรียนหนังสือ นักเรียนที่แท้จริง จะต้องมีความตั้งใจที่จะเรียนรู้ มีระเบียบ วินัย มิเช่นนั้นก็จะเป็นเพียงแค่คนที่พ่อแม่จ้างมาเรียน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น


เราทุกคนย่อมจำได้ดีว่า ย้อนไปสักสิบกว่าปีที่แล้ว เช้าๆจะเห็นเด็กๆไปโรงเรียนกัน พอถึงหน้าโรงเรียนก็ยืนทำความเคารพครูก่อนเข้าไปในโรงเรียน แต่ในปัจจุบัน ๐๘.๐๐ น.นักเรียนบางคนยังยืนรอรถหน้าบ้าน บางคนยืนอยู่หน้าโรงเรียนคุยกัน น่าแปลกใจจริง ระเบียบ วินัยของเขา สำนึกของเขาหายไปไหนแล้ว เหตุใดจึงไม่มีความยำเกรงครูบาอาจารย์ ไม่ให้เกียรติสถานศึกษาหรือแม้แต่ให้เกียรติความเป็นนักเรียนของตน นั่นเป็นเพราะโรงเรียนทำโทษนักเรียนไม่ได้


มาถึงเรื่องการทำโทษ หลายท่านอาจเถียงว่า นักเรียนไม่ใช่วัวไม่ใช่ควายที่จะต้องถูกทำโทษหรือถูกตี เป็นความคิดที่ถูกค่ะ เพราะคนเป็นครูก็ไม่เคยมองว่านักเรียนเป็นวัวเป็นควายเลย เรามองว่าเด็กคือผู้ที่ต้องถูกขัดเกลา เมื่อทำไม่ถูกไม่ควร เขาก็ต้องรู้ว่านั่นคือสิ่งที่ผิด จะผิดมากผิดน้อยขึ้นอยู่กับบทลงโทษที่ได้รับ แต่เชื่อเถิดว่า ไม่มีครูคนไหนหรอกที่จะลงโทษนักเรียนด้วยความบ้าคลั่ง นอกจากครูที่ผิดปกติทางจิตจริงๆ การให้ครูทิ้งไม้เรียวย่อมเท่ากับว่า เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กขาดระเบียบวินัย แล้วเหตุใดไม่ตั้งกฎหมายหรือวินัยครูให้แรงขึ้นเล่า ว่าหากมีการสอบสวนแล้วพบว่าครูทำโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงควรให้ออกหรือไล่ออก การที่พบว่ามีครูบางคนซึ่งเป็นส่วนน้อย ลงโทษเด็กด้วยอารมณ์แล้วเหมารวมลดบทบาทครูไปหมดทั้งประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเอาเสียเลย อีกทั้งยังส่งผลให้การปกครองนักเรียนหย่อนยานตามไปด้วย


โรงเรียนในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรกขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือโรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สอนวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และขนบธรรมเนียมราชการต่อมายังได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรทั่วไปขึ้นตามวัดหลายแห่ง อาทิ โรงเรียนเบญจมบพิตร หรือโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงกำหนดหลักสูตรแนวการสอนด้วยพระองค์เอง เป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์โดยตรง ไม่ขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการสมัยนั้น เห็นจากข้อความข้างต้นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางรากฐานการศึกษาไทยด้วยพระองค์เองและนอกจากนี้ยังทรงกำหนดให้มีการใส่ชุดนักเรียนขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ว่าจะรวยหรือจนเมื่อใส่เครื่องแบบนักเรียนก็จะกลายเป็นนักเรียนที่มีหน้าที่ร่ำเรียนเพื่อศึกษาหาความรู้ซึ่งเป็นกุศโลบายอันแยบยล น่าเสียดายที่สิ่งดีงามเหล่านี้ค่อยๆถดถอยลง ทุกวันนี้นักเรียนหญิงชายกล้าพูดหยาบคายต่อหน้าครูอาจารย์ราวกับอยู่ในป่า ทะเลาะด่าทอกัน ทุบตีกันราวกับไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการศึกษา มิหนำซ้ำบางรายยังมองเรื่องชู้สาวในโรงเรียนเป็นเรื่องไม่น่าอาย ถ้าจะยอมรับกันตรงๆบางคนถึงกับกล้าชิงสุกก่อนห่ามในโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะสำนึกของคนทุกวันนี้ต่ำลงในขณะที่กระแสต่างชาติกลับกระพือความนิยมมากขึ้น การเลียนแบบจึงมีมากขึ้นตาม นักเรียนไทยในวันนี้(ที่เราอ้างว่าเป็นยุคของความเจริญก้าวหน้า)จึงมีความอ่อนด้อยทางศีลธรรมอย่างเห็นได้ชัด


เป็นเรื่องที่น่าเสียที่คนคิดระเบียบการศึกษาไทยไม่ใช่คนที่คลุกคลีกับการศึกษาอย่างแท้จริง การเคยเป็นนักเรียนมาก่อน มิได้แปลว่าท่านจะรู้ว่านักเรียนในปัจจุบันเป็นอย่างไรและควรแก้ปัญหาอย่างไร บางท่านจบจากโรงเรียนดังๆในกรุงเทพฯจึงมองเห็นแค่ภาพโรงเรียนในเมืองหลวง ไม่เคยรับรู้เลยว่าโรงเรียนตามชนบทห่างไกลเป็นอย่างไร ท่านให้ออกข้อสอบวัดผลให้มีความยาก มีการคิดวิเคราะห์สูง แล้วโรงเรียนจนๆที่ขาดแคลนสื่อ-อุปกรณ์การสอนเล่า จะทำได้เหมือนเด็กเมืองกรุงที่ไปติวเช้าติวเย็นไหม สร้างระบบการตรวจสอบ วัดผลโรงเรียน เกณฑ์คะแนนโรงเรียนไหนต่ำก็ไม่ผ่าน แล้วการเรียนการสอนจะยึดที่เด็กจริงๆได้ไหม อย่าดีแต่อ้างว่าต่างประเทศทำแบบนั้นแบบนี้ กรุณาเอาไปตรองดูว่าบริบทของคนไทยนั้นเหมือนกับต่างประเทศสักกะผีกริ้นหรือเปล่า การจ พัฒนาการศึกษาไทยต้องศึกษาวิสัยของคนไทยก่อนว่ามีจุดแข็ง จุดด้อยตรงไหน มีความเหลื่อมล้ำที่ใด ที่สำคัญควรเร่งพัฒนาศีลธรรมจรรยาให้มีมากขึ้น ก่อนที่เด็กไทยจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีสมองแต่ขาดสำนึกความเป็นคนในวันข้างหน้า
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน

cron