ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 07 ก.ค. 2013 10:07 am

1044640_614732068551880_207054831_n.jpg
1044640_614732068551880_207054831_n.jpg (54.76 KiB) เปิดดู 3825 ครั้ง

สังขารที่ไม่เน่าเปื่อยของครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

นามเดิม วงศ์ หรือ ชัยวงศ์ นามสกุล ต๊ะแหนม เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ (เหนือ) แรม ๒ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖ เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา โยมบิดาชื่อ น้อย จันต๊ะ (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๔๔ ปี) โยมมารดาชื่อ บัวแก้ว (ถึงแก่กรรม เมื่ออายุ ๗๘ ปี) จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ มีน้องต่างบิดาอีก ๑ คน รวมเป็น ๙ คน ดังนี้

๑. เด็กหญิงคำเอื้อย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๒. เด็กชายก่องคำ ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๓. เด็กชายวงศ์ ปัจจุบัน หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ถึงแก่มรณภาพ)

๔. เด็กชายคำตั๋ว ปัจจุบัน นายคำตั๋ว

๕. เด็กหญิงบัวผัน ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๖. เด็กหญิงบัวใย ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๗. เด็กหญิงเฮือนมูล ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๘. เด็กชายอินปั๋น ปัจจุบัน ถึงแก่กรรม

๙. เด็กชายหมอก ปัจจุบัน นายหมอก (เคยอุปสมบทกับหลวงปู่)

ชีวิตในวัยเด็ก

หลวงปู่เกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่ ควาย ๒-๓ ตัว ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าวและอาศัยของในป่า รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี แม่ต้องไปขอญาติพี่น้องๆ เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน แม่ต้องกลับมามือเปล่าพร้อมน้ำตาบนใบหน้า มาถึงเรือน ลูกๆ ก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยาก แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆ ละปั้นไปใส่บาตร บูชาพระพุทธทุกวันพระ

ชีวิตของ หลวงปู่ในสมัยเด็กมีความลำบากยากแค้นมาตลอด หลวงปู่มีนิสัยชอบพึ่งตนเองสิ่งใดที่ทำได้โดยไม่เกินกำลังแล้วจะทำเองทุกอย่าง ท่านเป็นนักพัฒนา นักก่อสร้าง และสนใจในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็กๆ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่ออายุประมาณ ๓ ปี ท่านชอบเอาดินมาปั้นแต่งเป็นบ้าน ปั้นวัว ปั้นควาย อายุ ๔-๕ ปี ชอบปั้นพระพุทธรูป เอาข้าวเปลือกมาตบแต่งทำพระเนตรแล้วก็กราบไหว้เอง

อายุ ๕-๖ ปี พอที่จะช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำงานได้ ในขณะนั้นโยมพ่อโยมแม่ไปทำนาซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้าน ระหว่างที่ข้าวออกรวง หลวงปู่ต้องไปไล่นกไม่ให้มากินข้าวที่ทำไว้ เวลาไปต้องไปแต่เช้า กว่าจะกลับก็มืดค่ำ ข้าวบางวันก็ได้กินบางวันก็ไม่ได้กิน เที่ยวเสาะหาอาหารตามป่าเขากินพอประทังชีวิตไปวันหนึ่งๆ

อายุ ๗-๑๒ ปี ท่านได้ไปหาบดินซึ่งเป็นขี้ค้างคาวในถ้ำกับโยมพ่อ นำมาทำเป็นดินปืนสำหรับทำบ้องไฟ (ทางเหนือเรียกดินไฟ) วิธีทำโดยการนำดินเหล่านี้ผสมกับขี้เถ้าแล้วเคี่ยวให้เข้ากัน เงินที่ได้เอามาซื้อแลกข้าวซึ่งในขณะนั้นราคาประมาณถังละ ๘๐ สตางค์ นับว่ามีราคาแพงมาก สมัยนั้น ๗ -๘ วัน ได้กินข้าวเท่ากำมือหนึ่งก็ดีมากแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งโยมพ่อพาลูกๆ ออกไปทำไร่ โยมแม่ได้นำอาหารกลางวันมาส่งให้ซึ่งประกอบด้วยขนุนที่ยังดิบอยู่นำมาต้มให้สุก พริกตำห่อด้วยใบตองห่อใหญ่และข้าวห่อเล็กๆ ห่อหนึ่ง โยมพ่อเรียกลูกๆ ทุกคนมานั่งรวมกันแล้วแบ่งปันอาหารให้กิน หลังจากกินอาหารเรียบร้อยแล้วโยมพ่อจึงอบรมสั่งสอนลูกๆ ว่า

"ตอนนี้พ่อแม่อด ลูกทุกคนก็อด แต่ลูกๆ ทุกคนอย่าท้อแท้ใจ ค่อยทำบุญ ไปเรื่อยๆ บุญมี ภายหน้าก็จะสบาย"

แล้วท่านชี้มือมาที่ หลวงปู่ และกล่าวว่า

"ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ ข้าวจะกินก็ไม่มี ต้องกินไปอย่างนี้ ค่อยอดค่อยกลั้นไปบุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก ทรมานมานานแล้วถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย มันจะตายก็ตายไม่ตายก็แล้วไป ให้ลูกอดทนไปนะ ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดีตายไปแล้วก็ดี บางทีลูกจะได้ 'นั่งขดถวาย หงายองค์ตีน (บวช)' กินข้าวดีๆ อร่อยๆ พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้"

หลังจากโยมพ่อได้อบรมสั่งสอนลูกๆ ได้สักพักหนึ่งต่างก็แยกทางกันไปทำงาน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 07 ก.ค. 2013 10:08 am

ครูบาชัยลังกาครูบาชัยลังก๋าเป็นพระอาจารย์องค์แรกของหลวงปู่ ท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม อบรมสั่งสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ให้ประพฤติอยู่ในศีลในธรรม แต่ท่านจะเลือกสั่งสอนเฉพาะผู้ที่ควรจะเมตตาได้เท่านั้น ดังมีเรื่องอยู่หลายครั้งตามที่ได้รับฟังมาว่า ท่านสามารถหยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ในภายหน้าได้ว่า ใครบ้างจะมาหาท่าน มาดีมาร้ายอย่างไร ถ้าผู้ใดมีจิตปรารถนาที่ดีต้องการมาเพื่อทำบุญทำทานรักษาศีลฟังธรรม ท่านจะต้อนรับด้วยความยินดีและเมตตาสั่งสอนให้สำเร็จสมความมุ่งหมายที่ได้ตั้งใจ แต่ถ้าต้องการมาพบในทางที่ไม่ชอบแล้ว ท่านจะหลบเข้าป่าไม่ให้พบตัว จนกว่าพวกนี้กลับไป ท่านจึงจะออกมา ท่านไม่มีกำหนดเวลาว่าจะเข้าป่าเมื่อไหร่ บางครั้ง ๕ ทุ่ม เที่ยงคืน ตี ๑ ตี ๒ ถ้าท่านต้องการจะไปแล้ว หลวงปู่ต้องเตรียมตัวให้ทันตามที่ท่านปรารถนา บางครั้งก็ไม่ได้ฉันอาหารเพราะไปอดอยู่ในป่า

ก่อนที่หลวงปู่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ท่านได้มาอยู่กับครูพรหมจักรที่วัดจอมหมอก ต.แม่ตืน และมีเหตุการณ์ที่เกือบจะทำให้หลวงปู่กระทำในสิ่งที่ร้ายแรงลงไป ถ้าไม่ได้รับคำเตือนให้มีสติกลับคืนมาจากครูบาพรหมจักร โดยมีพระเฒ่าองค์หนึ่งอายุ ๗๐ กว่าปีซึ่งติดตามครูบาพรหมจักรเช่นเดียวกัน ชอบพูดว่าหลวงปู่อยู่เสมอโดยเรียกหลวงปู่ว่า “ไอ้ก้อ” (หลวงปู่เกิดที่บ้านก้อ) หลวงปู่ท่านอดทนมาตลอดไม่เคยโต้ตอบ แต่ที่ทนไม่ไหวเนื่องจากดูถูกดูหมิ่นกันมากเกินไป โดยพระเฒ่าได้จัดที่นอนไว้ให้ลูกศิษย์ที่คอยรับใช้ตนนอน หลวงปู่ท่านเวลานอนก็นอนใกล้ครูบาพรหมจักร



เมื่ออายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ชัยยะวงศา" และออกเดินธุดงค์ไปบำเพ็ญสมณธรรมกับท่านเป็นเวลา ๒ ปี ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆ ทั้งลาวและพม่า ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรม ความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆ

หลวงพ่อท่านมีความเคารพในครูบาพรหมจักรเป็นอย่างมาก ท่านกล่าวเสมอว่าครูบาพรหมจักรเป็นผู้ที่มีความบริสุทธิ์ด้วยกาย วาจา ใจ อันจะหาผู้เสมอเหมือนได้ยากนัก
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 07 ก.ค. 2013 10:10 am

เมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงเดินทางกลับมาหาครูบาศรีวิชัยพร้อมกับชาวกะเหรี่ยงที่เป็นศิษย์ของท่าน เพื่อช่วยครูบาศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพในครั้งนี้ ครูบาศรีวิชัยได้เมตตาให้ท่านเป็นกำลังสำคัญทำงาน ร่วมกับครูบาขาวปี ในการควบคุมชาวเขาช่วยสร้างทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ยากลำบาก เช่น การสร้างถนนในช่วงหักศอกก่อนที่จะถึงดอยสุเทพ (ช่วงที่คนวิพากษ์วิจารณ์ครูบาศรีวิชัยกันมากที่สร้างถนนหักศอกมากเกินไป)

ในระหว่างกำลังสร้างทางช่วงนี้ ได้มีหินก้อนใหญ่มากติดอยู่ใกล้หน้าผา จะใช้กำลังคนหรือช้างลากเช่นไร ก็ไม่ทำให้หินนั้นเคลื่อนไหวได้ ชาวกะเหรี่ยงที่ทำงานอยู่นั้นจึงไปกราบเรียนให้ ครูบาศรีวิชัยทราบ ท่านจึงให้คนไปตามหลวงพ่อซึ่งกำลังสร้างทางช่วงอื่นอยู่ เมื่อหลวงพ่อวงศ์มาถึงท่านได้ยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง จึงได้เดินทางไปผลักหินก้อนนั้นลงสู่หน้าผานั้นไป เหตุการณ์นี้ทำให้ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แปลกใจไปตามๆ กันที่เห็นท่านใช้มือผลักหินนั้นโดยไม่อาศัยเครื่องมือใด ๆ ครูบาศรีวิชัยได้ยืนยิ้มอยู่ข้างๆ ท่านด้วยความพอใจ (เรื่องนี้ข้าพเจ้าได้ฟังจากพระและกะเหรี่ยงที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น)

ชีวิตเดินธุดงค์

ในสมัยนั้น ท่านได้ธุดงค์บำเพ็ญเพียรไปในที่ต่างๆ องค์เดียวเสมอ ท่านชอบธุดงค์ไปอยู่ในป่า ในถ้ำที่ห่างไกลผู้คน หลวงพ่อเล่าว่า ในสมัยนั้นการเดินธุดงค์ไม่สะดวกสบายเช่นสมัยนี้เพราะเครื่องอัฏฐบริขารและกลดก็หาได้ยากมาก ตามป่าตามเขาก็มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายอาศัยกันอย่างมากมาย ในขณะถือธุดงค์ในป่าในเขาก็ต้องอาศัยถ้ำหรือใต้ต้นไม้เป็นที่พักที่ภาวนา เมื่อเจอพายุฝนก็ต้องนั่งแช่อยู่ใน น้ำที่ไหลท่วมมาอย่างรวดเร็วเช่นนั้นจนกว่าฝนจะหยุดตก การภาวนาในถ้ำในสมัยก่อนนั้นก็มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย เช่น เสือ, ช้าง, งู, เม่น ฯลฯ เป็นต้น แต่มันไม่เคยมารบกวน หรือสร้างความกังวลใจให้ท่านเลย ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาในถ้ำแห่งหนึ่งที่ตำบลบ้านก้อ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ ต้นสักแต่ละต้นขนาด ๓ คนโอบไม่รอบ ในถ้ำนั้นมีเม่นและช้างอาศัยอยู่ บางครั้งก็มีเสือเข้ามาหลบฝน บ่อยครั้งที่ท่านกำลังภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น พวกมันจะมาจ้องมองท่านด้วยความแปลกใจ ทำให้ท่านรู้สึกถึงความบริสุทธิ์และความไร้เดียงสาของสัตว์ที่มองดูท่านด้วยท่าทางฉงนสนเท่ห์ ทำให้ท่านนึกถึงคำสั่งสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า "ความไม่เบียดเบียนกันเป็นความสงบสุขอย่างยิ่ง"

หลวงพ่อบอกว่าพระธุดงค์ในสมัยก่อนต้องผจญอุปสรรคและปัญหาต่างๆ มากมาย จึงต้องเคี่ยวจิตใจและกำลังใจให้เข้มแข็งและแกร่งอยู่เสมอ ดังนั้น พระธุดงค์รุ่นเก่าจึงเก่งและได้เปรียบ กว่าพระสงฆ์ในปัจจุบัน ทั้งในด้านจิตใจและการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนา แต่เสียเปรียบกว่า พระสงฆ์ในยุคนี้ในด้านการใฝ่หาความรู้ทางด้านปริยัติ เพราะในสมัยนี้ความเจริญทำให้ไปไหนมาไหนได้สะดวกและเร็วขึ้น พระสงฆ์ในรุ่นเก่าที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองจึงต้องบังคับจิตใจ บำเพ็ญเพียร ปฏิบัติภาวนาให้เกิดปัญญาและธรรมะขึ้นในจิตในใจ เพื่อนำมาพิจารณาและปฏิบัติให้ถึงพระนิพพาน

ธุดงค์น้ำแข็ง

บ่อยครั้งท่านได้ธุดงค์จาริกผ่านไปที่กิ่งอำเภออมก๋อย ในฤดูหนาวบริเวณภูเขาของกิ่งอำเภออมก๋อยจะมีเหมยค้างปกคลุมไปทั่ว (เหมยค้างนี้ภาษาภาคเหนือ หมายถึง น้ำค้างที่กลายเป็น น้ำแข็ง) ในบริเวณนี้มีต้นสนขนาดต่างๆ ขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย เวลาย่ำเดินไปบนพื้น น้ำแข็ง ขาจะจมลึกลงไปในน้ำแข็งนั้น ทำให้เกิดความหนาวเย็นเป็นอันมาก เพราะท่านมีแต่ผ้าที่ครองอยู่เพียงชั้นเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีลมพัดผ่านมา ท่านต้องสั่นสะท้านทุกครั้ง

ท่านได้เล่าว่า ความแห้งแล้งของอากาศและความหนาวเย็นของน้ำแข็ง ทำให้ผิวหนังของท่านแตกปริเป็นแผลไปทั้งตัว ต้องได้รับทุกขเวทนามาก สมัยนั้นในภาคเหนือจะหากลดมาสักอันหนึ่งก็ยากมาก การธุดงค์ของท่านก็มีแต่อัฐบริขารเท่านั้น ที่ติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง ช้อนก็ทำจากกะลามะพร้าว ถ้วยน้ำก็ทำจากกระบอกไม้ไผ่ ผ้าจีวรที่ครองอยู่ก็ต้องปะแล้วปะอีก

ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนว่า แต่การปฏิบัติภาวนาบนภูเขาที่มีน้ำแข็งปกคลุมมากเช่นนี้ ทำให้การปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานนั้นกลับแจ่มชัดและรวดเร็วดียิ่งกว่าในเวลาปกติธรรมดา เพราะทำให้ได้เห็นเรื่องของไตรลักษณ์ได้ชัดเจนดี และการพิจารณาขันธ์ ๕ อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ก็สามารถเห็นอย่างแจ่มชัด ทำให้ในขณะภาวนาทำสมาธิอยู่นั้น จิตสงบดีมาก ไม่พะวงกับ สิ่งภายนอกเลย

ในบางครั้ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น ไฟที่ก่อไว้ได้ลุกไหม้จีวรของท่านไปตั้งครึ่งค่อนตัวท่านยังไม่รู้สึกตัวเลย เมื่อจิตออกจากสมาธิแล้ว ท่านต้องรีบดับไฟที่ลุกไหม้อยู่นั้นอย่างรีบด่วน ทำให้ต้องครองผ้าจีวรขาดนั้นไปจนกว่าจะเดินทางไปพบหมู่บ้าน ท่านก็จะนำผ้าที่ชาวบ้านถวายให้มาต่อกับจีวรผืนเก่าที่เหลืออยู่นั้น ในบางครั้งท่านจะนำผ้าบังสุกุลที่พบในระหว่างทาง มาเย็บต่อจีวรที่ขาดอยู่นั้น ตามแบบอย่างที่ครูบาอาจารย์ในยุคก่อนๆ ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาล

หลวงพ่อ เป็นพระสงฆ์ผู้ถ่อมตนและไม่เคยโออวดเป็นนิสัย เมื่อมีผู้สงสัยว่าท่านคงเข้าสมาธิจนสูงถึงขึ้นจิตไม่จับกับ กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้ ตัวท่านมักตอบเลี่ยงไปด้วยใบหน้าเมตตาว่า

"คงจะอากาศหนาวมาก หลวงพ่อจึงไม่รู้ว่าไฟไหม้จีวร"
ไฟล์แนป
kb-chaiya-wongsa-99-01.jpg
kb-chaiya-wongsa-99-01.jpg (30.63 KiB) เปิดดู 3824 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ครูบาชัยวงศาพัฒนา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ.ลี้ จ.ลำพูน

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 07 ก.ค. 2013 10:11 am

บูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

เมื่อหลวงปู่ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ท่านได้บุกเบิกปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุหลายอย่าง เช่น วิหารครอบรอยพระพุทธบาท พระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ภายในทำเป็นชั้นสูง ๑๖ ชั้น พระบาทกบ โดยเฉพาะวิหารครอบรอยพระพุทธบาท ท่านก่อสร้างมาเป็นเวลา ๓๔ ปี ทั้งนี้เนื่องจากท่านมีภารกิจในการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์วัดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย ไม่ได้ทำเฉพาะวัดของท่านเท่านั้น ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๙ ท่านได้สร้างประธานถวายวัดต่าง ๆ ที่ขอมา เมื่อท่านพิจารณาเห็นสมควรจะให้ประมาณ ๒๐ องค์ ขนาดองค์หน้าตักตั้งแต่ ๘๙ นิ้ว ถึง ๓๐ นิ้ว

เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๔ พวกกะเหรี่ยงได้อพยพจากป่าเขามาพึ่งใบบุญอยู่กับหลวงปู่เป็นจำนวนมาก ก่อนที่พวกเหล่านี้จะมาอยู่หมู่บ้านห้วยต้ม หลวงปู่เคยไปโปรดเมตตาสงเคราะห์เป็นครั้งคราว สาเหตุที่โยกย้ายกันมาเนื่องจากการไปมาติดต่อลำบาก จะทำบุญกับหลวงปู่ต่อสักครั้งหนึ่งก็สิ้นเปลืองเงินทองและเสียเวลามาก บางพวกทางราชการได้มาสร้างเขื่อนภูมิพล ที่จังหวัดตากขึ้นทำให้มีที่ทำกิน การอพยพมาอยู่ในระยะแรกมีความลำบากมากเพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลงและแห้งแล้ง

วันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๔๓ หลวงปู่พระครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้เดินทางไปรักษาองค์ท่านที่ โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่หลวงปู่ได้เข้าทำการรักษาองค์ท่านเป็นประจำ เนื่องจากมีอาการ อ่อนเพลียและมีอาการหลงๆ ลืมๆ ขณะแพทย์ได้ทำการเติมโปรตีนและเปลี่ยนยาให้ท่าน เพราะมียาบางตัวมีผลทางด้านระบบประสาท องค์หลวงปู่มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และกำหนดจะกลับวัดในวันจันทร์ที่ ๑๕ พ.ค. ๒๕๔๓

คณะแพทย์ช่วยหลวงปู่จนถึงเวลา ประมาณตีหนึ่ง ของวันที่ ๑๗ พ.ค. ๔๓ คณะแพทย์ได้แจ้งว่าไตของหลวงปู่ไม่ทำงานแล้ว สมองไม่สั่งงาน เวลา ๐๑.๑๐ น. คณะแพทย์แจ้งว่าหัวใจของหลวงปู่ได้หยุดเต้น ไม่มีระบบการตอบรับของร่างกายหลวงปู่แล้ว แต่ยังใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอยู่ ถึงอย่างไรหลวงปู่ก็ไม่สามารถกลับมาหายใจได้อีก เพราะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ไตวาย สมองไม่ทำงาน ปอดอักเสบ ช่วงนั้นหลวงพ่อพระครูบาพรรณอยู่ในห้อง CCU พอดี ท่านจึงยังไม่ให้แพทย์เอา เครื่องกระตุ้นหัวใจออก

จนถึงเวลา ๐๗.๓๐ น. คณะศิษย์ นำโดยหลวงพ่อพระครูบาพรรณ วัดนาเลี่ยง อ.ลี้ จ.ลำพูน ได้ทำพิธีขอขมาพระศพหลวงปู่ และให้คณะแพทย์ถอดเครื่องกระตุ้นหัวใจหลวงปู่ออก หลวงปู่ จึงนอนพักอย่างสงบตั้งแต่นั้นมา
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am


ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 131 ท่าน

cron