เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 20 ก.พ. 2016 11:41 am

Seal_of_Lanna_Chiangmai_(Full).jpg
Seal_of_Lanna_Chiangmai_(Full).jpg (63.14 KiB) เปิดดู 6859 ครั้ง


ประวัติศาสตร์ล้านนา ตอนที่ ๒๒ คำว่าล้านนาและหัวเมืองในดินแดนล้านนา

ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ

ปัญหาที่นำไปสู่การโต้เถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ภายหลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๙๖ อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคำว่า ล้านนา ได้อาศัยศัพท์ภาษาบาลี โดยพบว่าท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง เขียนว่า ทสลกฺขเขตฺตนคร อ่านว่า ทะสะลักขะเขตตะนะคอน แปลว่า เมืองสิบแสนนา เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร ศรีสตนาคนหุต หรือช้างร้อยหมื่น

คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช

ส่วนการใช้ว่า #ล้านนาไทย นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้นหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณ ลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้าเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขาเช่นแม่นำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่นำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯโดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง เนื่องจากคนจีนออกเสียงภาษา"ไทยลื้อ"ไม่ชัด จาก "เจียงฮุ่ง" จึงกลายเป็น "จิ่งหง" (Jinghong) ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงในเมืองนั้นๆ

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี ๕๗ เมือง ดังปรากฏในตำนาน พื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา ๕๗ หัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗) และได้แปลเป็นภาษาพม่าต่อมาในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ทางมหาวิทยาลัย Yangon ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า ได้ระบุเมืองต่างๆ ๕๗ หัวเมือง โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มเมือง คือ กลุ่มเมืองขนาดใหญ่ มี ๖ เมือง กลุ่มเมืองขนาดกลางมี ๗ เมือง กลุ่มเมืองขนาดเล็กมี ๔๔ เมือง เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีซอ เมืองแหงหลวง เมืองหาง เมืองพง เมืองด้ง ฯลฯ

ภาพตราแผ่นดินล้านนา : วิกิพีเดีย

ที่มาของข้อมูล : สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๔๔). ประวัติศาสตร์ล้านนา. สำนักพิมพ์อมรินทร์., Zinme Yazawin, Chronicle of Chaing Mai, University Historical Research Centre, Yangon, 2003.
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 03 เม.ย. 2016 4:59 pm

ดำหัวปี๋ใหม่เมือง

ไม่ใช่การรดน้ำดำหัวแบบภาคกลาง แต่ดำหัวของคนล้านนาจะเป็นการนำน้ำส้มป่อยพร้อมเครื่องสักการะไปมอบให้ผู้ใหญ่ ท่านอาจจะนำน้ำส้มป่อยขึ้นลูบศีรษะตนเอง หรือสลัดไปใส่ผู้มาดำหัวเช่นเดียวกับการปะพรมน้ำมนต์ พร้อมกล่าวให้พรอันเป็นสิริมงคล

10154089_621450481266090_1697889036_n.jpg
10154089_621450481266090_1697889036_n.jpg (91.61 KiB) เปิดดู 6823 ครั้ง



ทางล้านนาจะให้ความสำคัญกับประเพณีสงกรานต์มาก โดยจะมีรายละเอียดดังนี้

วันสังขานต์ล่อง (สังขาร) เป็นวันแรกของวันปีใหม่เมือง ซึ่งจะมีประเพณีการสระผมในวันสังขานต์ล่อง ในแต่ละปีตำราล้านนาจะระบุว่าให้สระผมแล้วหันหน้าไปทิศไหน การสระ สระด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ท่องนะโม ๓ จบแล้ว ท่องคาถาว่า สัพพะทุกขา สัพพะภยา สัพพะอันตรายา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทะว่า วินาสันตุ ท่อง ๓ จบจึงเสร็จสิ้นพิธีการ

วันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ชาวล้านนาจะทำการขนทรายเข้าวัด และห่อขนม ห่อนึ่งเพื่อนำไปถวายพระและดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ในวันจะนี้ห้ามทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน

วันพญาวัน เป็นวันที่ชาวล้านนาจะไปทำบุญที่วัดและตานตุงตั๋วเปิ้ง (ตุงปีนักษัตร) พร้อมทั้งดำหัวคนเฒ่าคนแก่ การดำหัวคนเฒ่าคนแก่นั้น ทางล้านนาจะไม่เรียกว่า รดน้ำดำหัว ทั้งการดำหัวที่ว่านี้ ไม่ใช่การรดน้ำที่มือของผู้ใหญ่ แต่จะเป็นการนำขนม ดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย ฯลฯ ไปนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ซึ่งท่านจะปั๋นปอน(อวยพร)และผูกข้อมือให้





พรปีใหม่จะมีดังนี้



เอวังโหนตุ๊ อัจจะในวันนี้ ก่อเป๋นวันดี เป๋นวันศรีศุภภะมังคะละอันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าวันตั้งหลาย เป๋นวันดิถีอันวิเศษ เหตุว่าสังขารปี๋เก่าก็ข้ามล่วงไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วผญาวัน ก่อมาจุ๊ฮอดลอดเถิง ตั๋วเจ้าตังหลาย ก่อบ่อละเสียยังฮีตป๋าเวณีอันดีงามตี้ล่วงแล้วมาเมื่อป๋างก่อนตั๋วเจ้าตังหลายก่อบ่อผ่อนเสียยังศรัทธา จึ่งได้ตกแต่งแป๋งพร้อมน้อมนำมาซึ่งยังมธุรสะบุปผาลาจา น้ำขมิ้นส้มป่อย ข้าวตอก ดอกไม้ และลำเตียนสุกัณโทตกะทานะวัตถุตังหลาย และโภจนะอาหาร มาถวายเป๋นตานแก่ต๋นตั๋วแห่งข้า เปื้อจั๊กขอสูมาลาโต๊ด ผู้ก่อโผดอโหสิกรรม ตู๋ข้าก่อขอฮับเอาของต้านตังหลายแล้ว ตั้งแต่วันนี้ไปปายหน้า ขอหื้อต้านตังหลายเถิงจั๊กอยู่ก่อขอหื้อมีจัย แม้นว่าจั๊กไปก่อขอหื้อมีโจ้คมีลาภ ผาบแป๊ข้าศึกศัตตู๋ หมู่มารขออย่าได้มากล้ำกลาย ตุ๊กยากไร้ก่อขอหื้อจั๊กหน่ายเสีย ขอหื้อเจ้าตังหลาย จุ่งอยู่ด้วยสุขสามผะก๋าน มีพระนิพพานเป๋นตี้แล้ว ขออย่าได้คลาดคลา เตี้ยงแต้ดีหลี ต๋ามบทบาลี ตี้ได้กล่าวไว้ว่าสัพพีตีโย วิวัชชันตุ๊ สัพพะโรโก วินาสสันตุ๊ มาเต ภะวะตรั๋นตะระโย สุขีฑีฆายุโก ภะวะอะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจั๋ง วุฒฒาปะจ๋ายิโน จัตต๋าโรธัมมา วัฒฑันติ อายุวัณโณ สุขัง พะลัง



วันปากปี



เป็นวันที่ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันสะเดาะเคราะห์ โดยการนำเอาเสื้อผ้าของคนในครอบครัวไปร่วมพิธีที่วัด ในวันนี้ตามวัดต่างๆจะมีการไปดำหัวตุ๊พระตามวัดอื่นๆอีกด้วย



กำปัดเคราะห์



เคราะห์ ปู่ย่า เตปดาเมือง เคราะห์ต๋าเหลือง อิดอ่อน เคราะห์ไปก่อนและตวยหลัง เคราะห์ต่านจังตี่ด่า เคราะห์ต่านว่าจ๋าขวัญ เคราะห์ผิดผวนจักถูก เคราะห์มัดหลุดคืนมา เคราะห์ชราเถ้าถ่อย เคราะห์ไปก่อยมาแฮง เคราะห์ ฮักแปงพลักพราก เคราะห์ตุกข์ยาก บะมีของ เคราะห์ตกหนองข้ามต้า เคราะห์ปากว่าตี๋นไป เคราะห์น้ำไหลไฟคลอก เคราะห์ผีหลอกกล๋างคืน...

เคราะห์ สุราเมาเดือด เคราะห์เกี๋ยวเจือกมาปันเคราะห์หลายอันต่าง ๆเคราะห์บาทย่างเตียวตำ เคราะห์ตกขำตั้งอยู่ เคราะห์เป๋นคู่ผัวเมียเคราะห์กระเลยป๋มปาก เคราะห์ผีปีศาจ มาเบียดเบียน เคราะห์เปิ่นต๋ามเตียนใต้แคร่ เคราะห์ป้อแม่ขะกู๋ลวงศา หื้อตกจากก๋ายา พุทธรัตนา ธัมมะรัตนา สังฆะรัตนา

พุทธเสดาะออกไป ธัมมะเสดาะออกไป สังฆะเสดาะออกไป

ไสยะธิธัง หูลู หูลู สวาหาย...



ปัดเคราะห์เลาะภัย ฉบับ เจ้าน้อยแก้ว ณ เจียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖





นอกจากนี้ยังมีวันปากเดือน และปากวัน ซึ่งชาวล้านนาจะถือเป็นวันพักผ่อนและม่วนงันสันเล้ากันอยู่





ปี๋ใหม่เมืองล้านนาเป็นประเพณีที่คงอยู่กับชาวล้านนามานาน อย่าลืมช่วยกันรักษาให้คงอยู่และร่วมกันนุ่งชุดผ้าเมืองด้วยนะคะ




ขอบคุณภาพจากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยค่ะ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 08 เม.ย. 2016 4:18 pm

“กาแลและหำยนต์” จิตวิญญาณที่ถูกจองจำ

1194366656 - Copy.jpg
1194366656 - Copy.jpg (68.02 KiB) เปิดดู 5076 ครั้ง

กาแลความเท่บนหลังคา หำยนต์ความเท่บนประตูบ้านทรงล้านนา เมื่อเราพูดถึง กาแล หรือ แก๋แหล่ ทุกคนต้องเข้าใจว่าเป็นเครื่องประดับยอดนิยม และเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ปลูกบ้านทรงไทยภาคเหนือ บ้านทรงล้านนาหรือทรงไทยภาคเหนือ จะมีไม้ไขว้ บนหลังคาทุกหลังและไม้ประดับไขว้นี้ ถูกนำไปตกแต่งสลักเสลา ด้วยลวดลายสวยงาม ส่วนหำยนต์จะเป็นแผ่นไม้สี่เหลี่ยมแกะสลักฉลุลาย ติดไว้บนประตูห้องในบ้านเป็นที่ภูมิใจของเจ้าของบ้านว่าภูมิฐาน สวยงามหนักหนา ที่จริงแล้วทั้ง “ กาแลกำหำยนต์ ไม่ใช่ของล้านนาครับ ” เราย้อนรอยเท้าบนเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ ถ้าใครมีโอกาสได้ไปที่หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา ท่านต้องเปิดใจรับรู้ทางประวัติศาสตร์อ่านให้จบ ทบทวนแล้ว ในที่บางทีอาจจะต้องอึ้งกับสิ่งที่เรารับรู้มาตลอดชีวิต ว่า โอ้ว์...อึ้งกิมกี่ ...ว่าความเป็นจริงในนั้นมีคำอธิบายถึง ไม้สองชิ้น หมายถึง กาแลและหำยนต์ไว้ด้วย

เรื่องราวเกี่ยวกับหำยนต์และกาแลเอกลักษณ์หรือเครื่องหมายแห่งทาส

คนเมืองจะมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์เรื่องของ “หำยนต์หรือหำโยน” ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ว่ามันเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถี การดำเนินชีวิตของคนล้านนาอย่างไรลักษณะของหำยนต์เป็นไม้กระดานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านบนเรียบ ด้านล่างฉลุเว้าเป็นรูปเสี้ยววงกลมสองรูปมาชนกัน ตรงกลางทำเป็นส่วนย้อยแหลมออกมาทางช่องประตู หำยนต์หรือหำโยนนี้ ทำเอาไว้เพื่อเป็นการข่ม ตามพิธีไสยศาสตร์ คำว่า หำ แปลว่า อัณฑะอาจจะเป็นได้ของสัตว์หรือคนเพศผู้ คำว่ายนต์นั้นคงจะหมายถึงศาสตร์อันลี้ลับแขนงหนึ่ง เพราะคนโบราณนั้น กระทำสิ่งไหนที่เป็นศาสตร์อันลึกลับแล้ว มักจะมีคำว่ายนต์ปะปนอยู่ด้วย เช่นคำว่ายนต์ฟัน ยนต์ฟ้าผ่า ยนต์น้ำท่วมและยนต์คัน ซึ่งคนโบราณจะทำเอาไว้ในสถานที่ต้องห้าม เช่นอุโมงค์เก็บสมบัติ ในกรุฝังสมบัติของเจ้าพระยามหากษัตริย์ในสมัยก่อน ๆ เล่ากันว่า เมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปในที่ซ่อนสมบัติแล้ว ยนต์ต่าง ๆ นั้นก็จะทำงานทันที ยนต์ฟันก็จะฟันจนร่างของคนที่บุกรุกขาดเป็นสองท่อน ยนต์ฟ้าผ่าก็จะทำให้เกิดฟ้าผ่า ยนต์น้ำท่วมก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้นมา ยนต์คันก็จะทำให้ผู้บุกรุกเข้าไป มีอาการคันคะเยอไปทั่วร่างกาย และเกาจนขาดใจก็มี

576565_513969678680838_1608497516_n.jpg
576565_513969678680838_1608497516_n.jpg (64.85 KiB) เปิดดู 6760 ครั้ง


สำหรับหำยนต์หรือหำโยนนั้นเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งที่นครเชียงใหม่ได้สูญเสียเอกราชให้กับพม่าแล้ว พม่ามีความเกรงกลัวว่า ในนครเชียงใหม่จะมีผู้มีอำนาจบุญญาธิการมาจุติกอบกู้เอกราช จึงบังคับให้ชาวเชียงใหม่ทุกครอบครัวสร้างบ้านให้มีลักษณะข่มตนเอง หรือข่มอาถรรพณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นภัยต่อพวกพม่าให้หมดสิ้นลงไปจึงบังคับให้บ้านแต่ละหลังนั้นต้องสร้างให้มี “กาแล” อันแปลว่า อีกาชำเลือง บางแห่งเรียก “แก๋แล” แปลว่า นกพิราบชำเรือง กาแลนั้นต้องให้หน้าจั่วบ้านนั้น ยื่นไม้ให้พ้นจากหลังคาออกไปเป็นรูปตัว v ซึ่งการไขว้ไม้ลักษณะนี้ จะพบเห็นในการปักไขว้กันบนหลุมฝังศพเด็กที่ตายลงไปอายุยังไม่ถึงสามขวบนัยว่าเป็นการปักไม้เพื่อสะกดวิญญาณ นอกจากนี้ไม่ว่าทารกแรกเกิดจะถือกำเนิดออกมาที่ไหนในนครเชียงใหม่แล้ว จะต้องบังคับให้ฝังรกที่ใต้บันไดทางขึ้นบ้านเพื่อข่มบุญบารมีให้หมดสิ้นไป ไม่ให้มีโอกาสมาซ่องสุมกำลังผู้คนกอบกู้เอกราชเพราะใต้บันไดนั้นเป็นที่ข้ามเหยียบของผู้คนทั้งคนผู้หญิงและชาย หำยนต์หรือหำโยนนี้ ก็เช่นกัน ก็คงมีไว้สำหรับข่มชาวเชียงใหม่ไม่ให้มีโอกาสดิ้นรนต่อสู้กับพวกพม่าต่อไป การข่มโดยเอาของต่ำไปไว้บนที่สูงให้ผู้คนชาวเชียงใหม่ได้ลอดผ่านไปมานั้น ก็เท่ากับกดให้เป็นเบี้ยล่างตลอดไป

คนรุ่นต่อ ๆ มาไม่ทราบถึงเหตุผลในข้อนี้ ก็คิดว่าเป็นของดี เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงใหม่ ก็พากันสร้างสิ่งเหล่านี้มาประดับบ้าน โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็คือเครื่องหมายของความเป็นทาสของชนชาติต่างเผ่าพันธุ์ที่เข้ามากดขี่ข่มเหงเรามาก่อนนั่นเอง

(หนังสือคำคมแห่งล้านนา( กำบะเก่า ) อำนวย กล่ำพัด รวบรวม เอื้องผึ้ง ระมิงค์พันธ์ เรียบเรียง : 2530)

หำยนต์ (อ่านว่า หำ - ยน )

หำยนต์คือแผ่นไม้แกะสลักที่อยู่ในกรอบเหนือประตูห้องนอนในเรือนกาแลของชาวล้านนา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ก้านขด ลายเมฆ ลายน้ำ ลายประแจจีน หรือลายเรขาคณิตอย่างง่าย ชาวล้านนาเชื่อว่าหำยนต์มีพลังลึกลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปแก่เจ้าของบ้าน มีการทำหำยนต์ขึ้นในเวลาสร้างเรือนใหม่ โดยนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสามงคล (เสาเอก) เพื่อทำพิธีสูตรถอน และอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตที่หำยนต์ จากนั้นแกะสลักแล้วทำการติดตั้งโดยมีพิธียกขันตั้งหลวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดงและสุราอาหาร มีปราชญ์ประจำหมู่บ้านทำหน้าที่กล่าวอัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์การกำหนดขนาดของหำยนต์ ใช้วิธีวัดขนาดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นประตูขนาดเล็กจะใช้ขนาดสามเท่าของเท้าประตูขนาดใหญ่จะวัดให้ได้ขนาดสี่เท่าของเท้าเจ้าของบ้าน โดยถือว่าการทำหำยนต์เป็นการข่มผู้ที่จะเดินลอดผ่านข้างใต้ด้วย เชื่อกันว่าหำยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของเรือนและครอบครัวได้ในด้านการใช้งานหำยนต์อยู่เหนือข่มประตูห้องนอนแบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติ๋น ( ชานร่มรับแขกบนเรือน ) เป็นการแบ่งพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัวซึ่งนับถือผีตระกูลเดียวกันออกจากผู้มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของเรือนที่ผู้อื่นไม่ควรกล้ำกลายเข้าไปโดยพละการ การถลำก้าวล้ำเข้าไปถือเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมาลาโทษ ทัศนะของนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับหำยนต์มีมากหลาย เช่น เป็นยันตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตราย บ้างว่าอาจมีที่มาจากรูปแบบทับหลังซุ้มประตูในสถาปัตยกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพล มาจากชวาอีกต่อหนึ่ง แล้วแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนา

ภายหลังอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ อธิบาย คำว่า "หำ" ว่าเป็นภาษาล้านนาหมายถึง "อัณฑะ" อันเป็นสิ่งที่รวมพลังของเพศชาย ส่วนคำว่า "ยน" คงมาจาก "ยนตร์" แปลว่าสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหำยนต์จึงเป็นส่วนตกแต่งเรือนและทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันอันตรายจากภายนอก อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และหำยนต์เปรียบเป็นอัณฑะของพม่า เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่องต่อพม่า ส่วนอาจารย์เฉลียว ปิยะชน อธิบายว่าเมื่อชาวล้านนาจะขายบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากเจ้าของบ้านคนเก่า จะทำพิธีด้วยการตีหำยนต์แรงๆ หรืออาจทำลาย เพื่อขจัดความขลัง ถือเป็นการทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ส่วนอาจารย์มณี พยอมยงค์ เห็นว่า หำยนต์ อาจมาจากคำว่า ยันตะ แปลว่า ยันต์ของพระอรหันต์ โดยในลวดลาย ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนต์นั้น น่าจะมีคาถาติดอยู่ อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี สันนิษฐานว่า หำยนต์ น่าจะเรียกว่า หัมยนต์ มากกว่า มาจากคำว่า หัมมิยะอันตะ คำว่า "หัมมิยะ" แปลว่า ปราสาทโล้น หมายถึงเพิงบังแดดชั่วคราว คำว่า "อันตะ" แปลว่า ยอด รวมแล้วแปลความว่า ปราสาทที่ไม่มียอด และท่านเห็นว่าเป็นการทำเพื่อตกแต่งเรือนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคาถาอาคมที่มาของชื่อและความหมายนั้นนับว่ามีข้อคิดเห็นที่หลากหลายนัก

สมัยที่ตนเป็นเด็กมีเรือนกาแลให้เห็นมากมายหลายหมู่บ้านในแถบพื้นที่นั้น ผู้เป็นเจ้าของเรือนจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งตรงกับเจ้าของเรือนกาแลของ ชาวลัวะ ในไทย ที่ต้องเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ขุนสะมาง” และเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนชาวลัวะในเมืองลา ใกล้ชายแดนตะวันออกของเมืองเชียงตุงที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจเมื่อปีที่แล้วพบว่าเรือนชาวลัวะที่นั่นเหมือนกับเรือนชาวลัวะที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่แจ่มจังหวัดเชียงใหม่ ต่างกันตรงที่เรือนลัวะ ที่เมืองลาหลายหลังมีขนาดใหญ่กว่ามาก และไม่ค่อยเห็นการตกแต่งกาแลที่แกะสลักบนยอดจั่ว ส่วนหำยนต์พบว่ามีใช้เหมือนกันแต่ฝีมือการแกะสลักไม่งามเท่าอย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบกับข้อเท็จจริงในหลักฐานการดำรงชีวิตของชาวล้านนารวมทั้งชาวลัวะ ชนเผ่าที่มีเรือนกาแลคล้ายกัน

พอสรุปได้ว่า ชาวล้านนาแถบเชียงใหม่และชาวลัวะทางทิศใต้และตะวันตกของเชียงใหม่รวมทั้งในเขตพม่า ทำหำยนต์ขึ้นเป็นส่วนประกอบตกแต่งที่โดดเด่นพิเศษ แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าของเรือนและตระกูล โดยใช้กำหนดเขตทางเข้าพื้นที่หวงห้ามส่วนตัว และเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเร้นลับที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายและไม่ให้เข้ามาในพื้นที่เฉพาะ ดลบันดาลความเป็นศิริมงคลรุ่งเรืองแก่เจ้าของเรือนและคนในเรือนหรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือ (ใครเข้าประตูมาต้องลอดหว่างขากูเข้ามาละ ) หรือข่มไว้แล้ว คนที่มีครูจะไม่ล่วงล้ำเข้าไปในเขตเฉพาะที่หวงไว้ มีใครมานั่งคุยกันเจ้าบ้านก็จะนั่งบนข่ม ให้แขกนั่งข้างล่าง หรือเติ๋น ถ้าจะไปซื้อบ้านเก่าคนอื่นก่อนรื้อไปหรือเข้าอยู่ต้อง ทำพิธี “ บุบหำก่อน ” หมายถึงตีหำยนต์ของเจ้าบ้านเก่าให้แตกก่อน จึงจะเข้าไปดำเนินการใดๆ

ที่มา สุพิชัย สร้อยนาค ๒๕ มี.ค. ๒๕๕๙
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 12 เม.ย. 2016 7:04 pm

คาถาเสกส้มป่อย

โอม สิทธิก๋าร ครูบาอาจ๋ารย์หื้อแก่กู โอมประสิทธิพระฤๅษีทั้ง ๕ ต๋น โอมทิพพมนต์อันท่านประสิทธิหื้อแก่กู
กูจักมนต์ปู่ส้มป่อย ย่าส้มป่อย อันสูเจ้าเกิดมาฝ่ายหน้าขอกฟ้าจักรวาล สูเจ้าเกิดมาเป๋นต้นตะตุ้ม เป๋นตุ่มแต่เก๊า ต้นมึงจ้ำเมืองนาค ฮากมึงจ้ำดินดำ ลำมึงจ้ำดินแก่น ฅนทั้งหลายแล่นหามึงมาสระเกล้าดำหัว แม่นว่า
กูไปลอดฮาวขัวแสนท่า แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปลอดขี้หม่าน้ำจำ แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปถูกดินดำแกบก้อง แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปต้องหลังเฮือนแห่งท่าน แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปถูกยาแฝดแห่งท่านมาทา แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปถูกอ้ายลาน้อยตาเหลือง แก้เนอปล่อยเนอ
กูไปถูกผีแดนเมืองแลท่งนา แก้เนอปล่อยเนอ
กูได้ขำคาแต่ปีก่อน แก้เนอปล่อยเนอ
กูได้เดือดฮ้อนบ่ห่อนหาย แก้เนอปล่อยเนอ
กูได้ขงขวายฮิบ่มา แก้เนอปล่อยเนอ
กูได้ท่องค้าก็ค้าบ่ขึ้น แก้เนอปล่อยเนอ
โอม ทุรา ทุรา ดพทุรา สวาหาย ฯ
โอม พุทโธ พุทธัง รักษา ธัมโม ธัมมัง รักษา สังโฆ สังฆัง รักษา พุทโธ พุทธัง กั๋ณหะ ธัมโม ธัมมัง กั๋ณหะ สังโฆ สังฆัง กั๋ณหะ โอม สิริมา มหาสิริมา เตชะยัสสะลาภา อายุวัณณา ภะวันตุ เม ฯ

(สำนักส่งเสริมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 14 เม.ย. 2016 10:08 am

"สังขานต์" วันปีใหม่เมือง เขียนแบบนี้นะคะ ไม่ใช่ "สังขาร" ที่หมายถึงร่างกายของคนเรา สังขานต์ที่ว่าคือ ขุนสังขานต์เป็นเทพค่ะ

มารู้จัก “ขุนสังขานต์” แห่งวันสังขานต์ล่อง

ขุนสังขานต์ เป็นสุริยเทพ ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานของพระอาทิตย์ดังตำราโบราณล้านนาชื่อ คัมภีร์สุริยาตร์ ได้กล่าวไว้ คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์ที่อาศัยการโคจรของดวงอาทิตย์เป็นหลักในการคำนวณและกำหนดวันเปลี่ยนศักราชใหม่ คือ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันแรก หรือประมาณช่วงเวลากลางเดือนเมษายนของทุกปี ดังนั้นการนำเอาขุนสังขานต์มาเป็นบุคลาธิษฐานของดวงอาทิตย์ จึงนับเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของการก้าวเข้าสู่ปีใหม่เพื่อเป็นสัญญาณให้ชาวล้านนาได้ร่วมฉลองต้อนรับปีใหม่ และทำบุญปล่อยเคราะห์ต่าง ๆ ให้ล่วงพ้นไปกับปีเก่า



ภาพขุนสังขานต์ ๒๕๕๙ ทรงด้วยเครื่องอันมีสีดำ สุบกระโจม ต่างกระจอนหู มีแก้วอินทนิลเป็น เครื่องประดับ เนรมิตมือสี่เบื้อง มือขวาบนถือน้ำต้นแก้ว ลุ่มถือดาบสรีกัญไชย มือซ้ายบนถือปืน(หน้าไม้) ลุ่มถือไม้ไต้ นั่งพับพะแนงเชิงมาเหนือหลังนกยูงฅำเสด็จลีลาศจากหนปุพพะไปสู่หนทักขิณะ นางเทวดาชื่อสุรินทะ ถือดอกแก้วอันเป็นดอกไม้นามปี มาอยู่ถ้ารับเอาขุนสังขานต์ไป


13015455_707878566020882_8340140688035011808_n.jpg
13015455_707878566020882_8340140688035011808_n.jpg (54.8 KiB) เปิดดู 6654 ครั้ง



ภาพ : ลิปิกร มาแก้ว
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 01 พ.ค. 2016 3:31 pm

กำแพงเมืองลำปาง ถ่ายประมาณ พ.ศ.๒๔๒๕-๒๔๕๗
ภาพจาก หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพายัพ

4216905669211.jpg
4216905669211.jpg (258.22 KiB) เปิดดู 6605 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 01 พ.ค. 2016 3:34 pm

การล่องเรือหางแมงป่องไปตามลำน้ำปิง พ.ศ.๒๔๓๖

4216878823914.jpg
4216878823914.jpg (301.14 KiB) เปิดดู 6605 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 01 พ.ค. 2016 3:48 pm

เจ้าอุปราชบุญทวงษ์น้องพระเจ้าอินทวิชยานนท์ อุปราชผู้เสมือนกษัตริย์องค์ที่ ๒ เนื่องจากมีอำนาจมากสามารถลบล้างคำสั่งของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้ ภาพถ่าย พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๕๓

ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ไฟล์แนป
4216880154089.jpg
4216880154089.jpg (141.57 KiB) เปิดดู 6605 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 01 พ.ค. 2016 3:54 pm

"กาดเมืองน่าน" พ.ศ.๒๔๓๕-๒๔๕๓
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
4216881972972.jpg
4216881972972.jpg (230.47 KiB) เปิดดู 6605 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 01 พ.ค. 2016 3:56 pm

วัดโลกโมฬี สถานที่บรรจุพระอัฐิพระเมืองเกษเกล้า ถ่ายเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐-๒๔๕๗
ไฟล์แนป
4216883931618.jpg
4216883931618.jpg (214.53 KiB) เปิดดู 6782 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 02 พ.ค. 2016 6:11 am

#พระธาตุประจำปีเกิดตามคติล้านนา

คนเกิดปีใจ้ ( ปีชวด หรือปีหนู ) ธาตุน้ำ
พระธาตุประจำปีเกิด คือพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

พระบรมธาตุเจดีย์นี้ตั้งอยู่บนยอดจอมทอง เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนพระเศียรเบื้องขวามีความพิเศษแตกต่างจากที่อื่นคือ เป็นพระบรมธาตุ ที่มิได้ฝังใต้ดิน แต่ประดิษฐานอยู่ในกู่ ภายในวิหาร สามารถอัญเชิญมาสรงน้ำได้ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังดอยนี้และทรงพยากรณ์ว่า ที่นี่จะเป็นที่ประดิษฐานพระทักขิณโมลีธาตุ ของพระองค์ในภายหน้าต่อมาราวปี พ.ศ.๑๙๙๕ นางเม็งและนายสอยได้พบพระบรมธาตุ จึงได้ก่อพระเจดีย์และสร้างเสนาสนะ ที่ดอยต้นทอง คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อวัดนี้ว่า วัดจอมทอง ในสมัยพระแก้วเมือง (พ.ศ.๒๐๓๘ - พ.ศ.๒๐๖๘) กษัตริย์องค์ที่ ๑๔ แห่งราชวงศ์มังราย ได้สร้างวิหาจัตุรมุข ภายในมีมณฑปปราสาท เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ เจ้าเมืองเชียงใหม่หลายพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมธาตุศรีจอมทอง ไปยังเมืองเชียงใหม่ เพื่อทำการสักการะโดยมีวัดต้นเกว๋นที่ อ.หางดงเป็นวัดที่หยุดพักขบวนแห่พระบรมธาตุเข้าเมืองในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗มีพิธีแห่พระบรมธาตุ ไปบูชาข้าวที่อุโบสถ และให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำโดยจะมีการกล่าวบทอัญเชิญและใช้ช้อนทองคำเชิญ พระธาตุจากผอบมาประดิษฐาน ในโกศแก้วที่ตั้งบนพานเงินตามธรรมเนียมเดิมควรนำน้ำจากแม่น้ำกลาง เจือน้ำหอมหรือแก่นจันทร์มาใช้สรง หรือจะเป็นน้ำสะอาดเจือของหอมก็ได้



คนเกิดปีเป้า
( ปีฉลู หรือปีวัว ) ธาตุดิน พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองลำปาง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกเสด็จถึงหมู่บ้านสัมภาการีวัน ลัวะชื่ออ้ายคอน ได้นำน้ำผึ้งใส่กระบอกไม้พางและมะพร้าวมาถวาย พระองค์ได้ทรงพยากรณ์ว่า ที่นี่จะมีนครชื่อ ลัมพาง และได้มอบพระเกศาธาต ุให้ลัวะอ้ายคอน นำไปประดิษฐานภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพาน พระอรหันต์ได้นำพระธาตุหน้าผาก และพระธาตุลำคอ มาประดิษฐานที่นี่พระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่กลางเวียงโบราณ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเวียงทางศาสนา โดยเฉพาะ ภายในวัดมีสิ่งน่าชมมากมาย ได้แก่ วิหารพระพุทธ เป็นวิหารไม้แบบล้านนา ที่ตกแต่งด้วยลายคำ คือลายทองบนพื้นแดง และภายในสามารถเห็นภาพเงาพระธาตุ ที่ลอดผ่านรูผนังปรากฏบนผืนผ้า วิหารน้ำแต้ม เป็นวิหารโถง มีภาพจิตรกรรมเก่าแก่ของล้านนา วิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานซุ้มพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัด และมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติ และชาดก ที่เขียนในราวสมัยรัชกาลที่ ๕ หอพระพุทธบาท เป็นอีกแห่งที่ปรากฏภาพเงาพระธาตุแต่ห้ามมิให้ผู้หญิงขึ้น และที่หอพระแก้ว ประดิษฐานพระแก้วจากวัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดารามพระพุทธรูปคู่เมืองลำปาง


คนเกิดปียี ( ปีขาล หรือปีเสือ ) ธาตุไม้
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ บรรจุ พระธาตุข้อศอกข้างซ้าย

พระธาตุช่อแฮตั้งอยู่บริเวณเนินเขาเตี้ยๆ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมในวัด บ่งบอกว่ามีอายุราว
พ.ศ.๑๙๐๐ แต่ตำนานพระธาตุได้เล่าประวัติอันเก่าแก่ว่า พระพุทธเจ้า ได้เสด็จมาถึงดอยโกสิยธชัคคะบรรพต และพบกับเจ้าลาวนามลัวะอ้ายค้อม เมื่อขุนลัวะทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้าจึงได้นำภัตตาหารมาถวายพระพุทธเจ้า ทรงพยากรณ์ว่าที่นี่ต่อไป จะมีเมืองชื่อเมืองแพร่ในครั้งนั้น พระอรหันต์ และพระยาอโศก ที่เสด็จมาด้วยได้ทูลขอพระเกศาธาตุ มอบให้ขุนลัวะไปบรรจุโกศแก้วแล้วนำไปไว้ในถ้ำด้านตะวันออก ของดอยที่ประทับและพระพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่าหลังจากที่พระองค์ปรินิพานแล้วให้นำพระธาตุข้อศอกข้างซ้าย มาประดิษฐานที่นี่ นามของพระบรมธาตุเจดีย์นี้มีเรื่องเล่าว่า มาจากที่ขุนลัวะ นำผ้าแพรมารองรับพระเกศาธาตุ จึงมีชื่อว่า “ช่อแพร”และเพี้ยนเป็น “ช่อแฮ” ในภายหลัง แต่บ้างก็ว่ามีชาวบ้านนำผ้าแพรอย่างดีมาผูกบูชาองค์พระธาตุ

งานมนัสการพระธาตุจัดขึ้นระหว่างวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นงานประจำปีที่สำคัญของชาวเมืองแพร่ในงานมีการแห่ตุงหลวง ถวายแด่องค์พระธาตุและการแสดงมหรสพ


คนเกิดปีเหม้า
( ปีเถาะหรือปีกระต่าย ) ธาตุน้ำ พระธาตุประจำปีเกิด คือพระธาตุแช่แห้ง อ.เมือง จ.น่าน

พระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนยอดดอยขนาดเล็ก นอกเมืองน่านมีเรื่องราวเล่าว่า เมื่อครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราช และพระมเหสัที่มาสรงน้ำที่เดียวกับที่พระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงของพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทองโดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอกไว้ด้านบน ต่อมาราวพ.ศ.๑๘๙๖สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวง ที่สุโขทัยพระยาลือไทจึงมอบพระบรมธาตุ ๗ พระองค์ และพระพิมพ์คำพระพิมพ์เงินอย่างละ ๒๐ องค์ ให้พระยากานเมืองซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็นพระธาตุแช่แห้งคู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔
ทางวันมีการจัดงานมนัสการพระธาตุแช่แห้ง ในงานมีมหรสพ การแห่ตุงถวายพระบรมธาตุ และการจุดบอกไฟถวายเป็นพุทธบูชา ตามธรรมเนียมดั้งเดิม



คนเกิดปีสี ( ปีมะโรงหรือปีงูใหญ่เมืองเหนือเรียกพญานาค ) ธาตุดิน พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระพุทธสิหิงค์ วัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง ในตำนานสิหิงคนิทาน และพงศาวดารโยนกเล่าประวัติว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานไป ๗๐๐ ปี พระเจ้าสีหล และกษัตริย์องค์อื่นใคร่ทอดพระเนตรรูปของพระพุทธเจ้า มีแต่พระยานาคที่เคยเห็นพระองค์ จึงแปลงรูปเนรมิตตนเป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าสีหลได้กระทำการบูชา ๗ วัน ๗ คืน และให้ช่างถ่ายแบบพระพุทธรูปไว้ต่อมาพระร่วงแห่งสุโขทัย ได้ยินกิตติศัพท์ของพระพุทธสิหิงค์ ใครจะได้บูชา จึงบอกกับพระเจ้าสิริธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราช พระเจ้าสิริธรรมได้ส่งทูตไปขอจากลังกา อัญเชิญไปให้พระเจ้าสุโขทัยต่อมาพระพุทธสิหิงค์ถูกอัญเชิญ ไปยังเมืองสำคัญจนกระทั่งราวปี พ.ศ.๑๙๘๓ เจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์จากกำแพงเพชร มาถวายพญาแสนเมืองมา แห่งเชียงใหม่เดิมพญาแสนเมือง จะให้อัญเชิญไปประดิษฐาน ที่วัดบุปผาราม แต่เมื่อรถที่อัญเชิญมาถึงหน้าวัดลีเชียงพระ (ชื่อเดิมวัดพระสิงห์) รถเกิดติดขัดไม่สามารถชักลากไปได้ จึงให้ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัดนี้ ในปีพ.ศ.๒๐๖๓ พระเมืองแก้วได้สร้าง วิหารลายคำ เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ภายในวิหารมีภาพวิจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕ เรื่องสังข์ทอง ฝีมือช่างล้านนาและเรื่องสุวรรณชาดก ฝีมือช่างภาคกลาง ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานบนบุษบก แห่แหนรอบเมืองให้ประชาชนได้สรงน้ำสักการะ


คนเกิดปีใส้
( ปีมะเส็งหรือปีงูเล็ก ) ธาตุน้ำ พระธาตุประจำปีเกิด คือพระเจดีย์ศรีมหาโพธิ ที่พุทธคยาหรือไหว้ต้นโพธิ์ วัดโพธารามมหาวิหาร

พระศรีมหาโพธิ เป็นต้นไม้สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นที่ประทับและตรัสรู้สัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ณ พุทธคยา สำหรับชาวล้านนา ยังมีความเชื่อว่าต้นโพธิ์เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยขจัดความทุกข์ได้ จึงมีประเพณีถวายไม้ค้ำโพธิ์ และเครื่องประกอบพิธีกรรมใต้ต้นโพธิ์ สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเส็ง ที่มีพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำปีเกิด สามารถบูชาต้นโพธิ์ตามวัดแทนได้ โดยที่วัดโพธารามมหาวิหาร เชียงใหม่นี้ เป็นวัดสำคัญที่มีการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ของโลก และพระเจ้าติโลกราชผู้สร้างวัด ทรงให้นำต้นโพธิ์จากลังกามาปลูก พร้อมทั้งจำลองสัตตมหาสถานคือสถานที่ ๗ แห่งที่พระพุทธเจ้า ได้เสวยวิมุตติสุขก่อนเผยแผ่ศาสนา

คนเกิดปีสะง้า ( ปีมะเมียหรือปีม้า ) ธาตุไฟ
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุย่างกุ้ง (พระธาตุตะโก้ง) หรือพระธาตุเจดีย์ชเวดากองประเทศพม่า หรือวัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก แทน

สำหรับผู้ที่เกิดปีมะเมีย สามารถเดินทางไปมนัสการพระบรมธาตุเมืองตาก แทนพระธาตุชเวดากองที่ประเทศพม่าได้ เนื่องจากเป็นเจดีย์ที่พระครูพิทักษ์ (ทองอยู่) ได้จำลองแบบมา จากพระธาตุชเวดากองโดยครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้ ในตำนานพระเจ้าเลียบโลก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดนี้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเมืองตาก จนมาถึงดอยมหิยังคะที่ร่มรื่น และทรงมอบพระเกศาธาตุให้พระอรหันต์ พร้อมทั้งรับสั่งว่า หลังจากที่เสด็จปรินิพาน แล้วให้นำพระเกศาธาตุมาบรรจุไว้ที่นี่พระบรมธาตุเจดีย์เมืองตาก จึงเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ ในวันขึ้น ๑๔ และ ๑๕ ค่ำ เดือน ๗(ปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) ของทุกปี จะมีงานพิธีสมโภชและสักการะพระบรมธาตุเรียกว่า งานประเพณีขึ้นพระธาตุเดือนเก้า


คนเกิดปีเม็ด ( ปีมะแมหรือปีแพะ ) ธาตุดิน
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ การประดิษฐานพระบรมธาตุ เจดีย์บนเขาศักดิ์สิทธิ์ของเมืองมีขึ้นราวปี พ.ศ.๑๙๑๖ สมัยพญากือนา (พ.ศ.๑๘๙๘-๑๙๒๘)ในยุคทองของล้านนาพระองค์ได้อาราธนาพระสุมนเถระ จากสุโขทัย มาเชียงใหม่ พระสุมนเถระ จึงอัญเชิญพระบรมธาตุที่พบเมืองปางจามาด้วย พระบรมธาตุนี้ได้ทำปาฏิหาริย์แยกเป็นสององค์ องค์หนึ่งประดิษฐานที่วัดบุปผารามอีกองค์หนึ่งพญากือนา ได้อาราธนาสถิตเหนือช้างมงคล เพื่อเสี่ยงทายที่ประดิษฐาน ช้างมงคลเดินขึ้นมาถึงยอดดอยสุเทพ แล้วร้องสามครั้งทำทักษิณา วรรตสามรอบ และส้ม (ตาย) ลง ภายหลังอัญเชิญพระบรมธาตุลงมา พญากือนาให้ขุดหลุมประดิษฐานพระบรมธาตุ และก่อพระเจดีย์สูง ๕ วา ต่อมาปี พ.ศ.๒๐๘๑ สมัยพระเจ้าเกษเกล้า ได้ก่อเป็นพระเจดีย์สูงใหญ่สีทอง เช่นทุกวันนี้ มีความเชื่อว่าหากบูชาพระธาตุ ในทิศทั้งสี่แล้วจะทำให้มีสติปัญญาดี สมัยก่อนในวันวิสาขบูชามีประเพณีการขึ้นพระธาตุโดยชาวบ้าน จะเดินลัดเลาะป่าขึ้นสู่องค์พระธาตุ

คนเกิดปีสัน ( ปีวอกหรือปีลิง ) ธาตุดิน
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม


พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระ ได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า ตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัด พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้น ตำนานเล่าว่า ตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน พระธาตุพนมได้รับการบูรณะ และอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห่งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ.๒๒๒๓-๒๒๒๕ พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทน์ ๓,๐๐๐ คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมารัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อพ.ศ.๒๔๘๓ แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เกิดฝนตกหนัก และพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐ และเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบันงานมนัสการพระธาตุพนม จัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงวันแรก ๑ ค่ำ เดือน ๓



คนเกิดปีเร้า ( ปีระกาหรือปีไก่ ) ธาตุเหล็ก
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุคู่เมืองลำพูนมาแต่โบราณ มีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังชัยภูมิของชาวเม็ง ทรงหยุดประทับนั่ง ณ สถานที่หนึ่ง พระยาชมพูนาคราช และพระยากาเผือกได้มาอุปัฏฐาก และมีชาวลัวะผู้หนึ่ง นำลูสมอมาถวายพระองค์ ทรงมีพุทธพยากรณ์ว่าที่นี่ในอนาคตจะเป็น“นครหริภุญชัยบุรี ” เป็นที่ประดิษฐาน “ พระสุวรรณเจดีย์ ” ซึ่งบรรจุกระหม่อม ธาตุกระดูกธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง ในครั้งนั้นพระยาทั้งสองได้ทูล ขอพระเกศาธาตุนำไปบรรจุในกระบอกไม้รวก และโกศแก้วใหญ่ ไว้ในถ้ำใต้ที่ประทับ ต่อมาในสมัยพระยาอาทิตยราช ผู้ครองเมืองหริภุญชัย (ราว พ.ศ.๑๔๒๐) ได้เสด็จลงห้องพระบรรทม แต่มีการขัดขวาง มิให้เข้าภายหลังทรงทราบว่าที่แห่งนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ จึงทรงให้รื้อวัง และขุดพระบรมธาตุมาบรรจุโกศทองคำและสร้างมณฑปปราสาท เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุหริภุญชัย ได้รับการบูรณะเรื่อยมา โดยพระเจดีย์องค์ปัจจุบันบูรณะ ในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ เมื่อ ๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ภายในวัดยังมีพระสุวรรณเจดีย์เจดีย์ยุคแรกในศิลปะหริภุญชัย เจดีย์เชียงยัน เจดีย์เก่าแก่ทรงปราสาทห้ายอด และหอระฆัง
ที่แขวนกังสดาลใหญ่เป็นต้น ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๖ ของทุกปีจะมีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัยน้ำที่นำมาสรงองค์พระธาตุนี้ จะต้องนำมาจากบ่อน้ำทิพย์ บนยอดดอยขะม้อที่อยู่นอกเมืองตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ



คนเกิดปีเส็ด ( ปีจอหรือปีหมา ) ธาตุดิน
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สามารถบูชา รูปหรือไปไหว้พระเจดีย์ที่วัดเกตการาม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แทน

สำหรับผู้ที่เกิดปีจอ พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตามพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า ประดิษฐานพระทันตธาตุ ที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า ให้แก่เจ้าเมืองต่างๆ ด้วยเหตุที่พระธาตุเจดีย์องค์นี้ มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้นนอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้ว ยังสามารถบูชาพระเจดีย์ที่วัดเกตการาม เชียงใหม่ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ วัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติว่า สร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ.๑๙๗๑ แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลงในปี พ.ศ.๒๑๒๑ พระสุโธรับสั่งให้สร้างขึ้งใหม่ เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนานอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.)


คนเกิดปีใค้ ( ปีกุนหรือปีหมู บางตำราเป็นช้าง ) ธาตุน้ำ
พระธาตุประจำปีเกิด คือ พระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย จ.เชียงราย

พระบรมธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บนดอยสูง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ก่อนที่จะสร้างพระอชุตราชให้ทำทุง (ตุง) มีความยาว ๑,๐๐๐ วาปักบนยอดเขาหากทุงปลิวไปถึงที่ใด ก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ ๕๐๐ ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังราย พระมหาวชิรโพธิเถระ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย ๕๐ องค์พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม บางตำนานว่าที่มาชื่อดอยตุง เนื่องมาจาก พระมหากัสสปะได้อธิษฐานตุงยาว ๗,๐๐๐ วา ไว้ที่ยอดดอยแห่งนี้ พระบรมธาตุดอยตุงได้รับการบูรณะหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ได้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาท องค์ปัจจุบัน พระบรมธาตุดอยตุง เป็นที่เคารพสักการะของชาวล้านนา ไทใหญ่ หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ทุกปีจะมีงานนมัสการพระบรมธาตุในวันเพ็ญเดือน ๓
ไฟล์แนป
223290_458799164172125_618587124_n.jpg
223290_458799164172125_618587124_n.jpg (133.46 KiB) เปิดดู 9785 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 19 พ.ค. 2016 6:04 am

ข้าราชการตุลาการถ่ายภาพร่วมกันที่หน้าศาลเมืองลำปาง ประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๒๓-๒๔๕๓

ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

4216879495356.jpg
4216879495356.jpg (221.75 KiB) เปิดดู 9768 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 55 ท่าน

cron