เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อังคาร 24 พ.ย. 2015 10:30 pm

ประเพณีเป็งปุ๊ด ตักบาตรเที่ยงคืน..."วันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ"

8hj6ddcig5987ck8ickb6.jpg
8hj6ddcig5987ck8ickb6.jpg (42.24 KiB) เปิดดู 14139 ครั้ง



"พิธีตักบาตรเที่ยงคืน" เป็นการใส่บาตรด้วยเวลาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากการทำบุญตักบาตรโดยทั่วไป ทำให้ดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แต่สำหรับพุทธบริษัทในภาคเหนือแล้ว การตักบาตรในยามเที่ยงคืนในวัน "เป็งปุ๊ด" ถือเป็นหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนา ที่สืบทอดปฏิบัติมาหลายร้อยปี


ประเพณีตักบาตรเที่ยงคืน หรือพิธีตักบาตรเป็งปุ๊ด เป็นประเพณีของทางภาคเหนือ ในทุกปีที่มีวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่ตรงกับวันพุธ โดยไม่เจาะจงว่าต้องอยู่ในเดือนใด พระภิกษุสามเณรในเมืองทุกรูปจะออกบิณฑบาตในตอนเที่ยงคืน โดยมีความแตกต่างของการนับเวลาคือ ที่ จ.เชียงใหม่ จะตักบาตรคืนวันอังคารหลังเวลา ๐๐.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้าสู่วันพุธ ในขณะที่ จ.เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน จะใส่ตักบาตรในคืนวันพุธเวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บางปีอาจมีครั้งเดียว หลายครั้ง หรือไม่มีเลย ก็ได้ เป็นประเพณีนิยมที่มีเฉพาะในภาคเหนือเท่านั้น
สำหรับประวัติความเป็นมาของประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่เข้าใจว่าทางภาคเหนือคงรับเอามาจากพม่าอีกต่อหนึ่ง พม่ามีความเชื่อว่า พระอุปคุตซึ่งเป็นภิกษุที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นองค์อุปัชฌาย์ เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เสด็จลงไปจำศีลภาวนาอยู่ ณ สะดือทะเล ในรอบ ๑ ปีจะขึ้นมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ

ชาวพม่ามักตื่นแต่ดึก เพื่อเตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต โดยมีคติความเชื่อว่า หากผู้ใดได้ทำบุญตักบาตรพระอุปคุตแล้วจะได้บุญใหญ่หลวง เกิดโชคลาภ และความเป็นสิริมงคลในชีวิต คติความเชื่อนี้จึงทำให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ

พระครูพัฒนาธิมุต เจ้าอาวาสวัดอุปคุต อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นวัดเพียงหนึ่งเดียวในดินแดนล้านนา ที่สืบสานประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาไม่ต่ำกว่า ๒๕๐ ปี จากหลักฐานประวัติของวัดที่มีการบูรณะฟื้นฟูครั้งใหญ่ใน พ.ศ.๒๓๐๐ พบว่ามีการสืบทอดประเพณีตักบาตรเป็งปุ๊ดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าอาวาสวัดทุกยุคทุกสมัยได้จัดประเพณีตักบาตรเที่ยงคืนถือปฏิบัติโดยทั่วไปในภาคเหนือ แต่พบมากใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากพม่า ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเป็นเมืองขึ้นของพม่า ในช่วง พ.ศ.๒๑๐๑-๒๓๑๗ กระทั่งวัฒนธรรมไทยลื้อได้หล่อหลอมผสมผสานกับวัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมของคนไทยใหญ่ในรัฐฉาน ของพม่า ปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

"พุทธศาสนิกชนล้านนา ผู้มีจิตศรัทธาจะทำบุญตักบาตรในคืนเป็งปุ๊ดจำนวนมาก และจะเป็นการทำพิเศษกว่าวันอื่น เพราะถือว่าได้อานิสงส์แรง โดยจะตระเตรียมสำรับข้าวสาร อาหารแห้ง คอยใส่บาตร ยามเที่ยงคืน ขณะที่ปัจจุบัน วัดอุปคุตได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ใส่บาตรด้วยยารักษาโรค นอกเหนือไปจากข้าวสารอาหารแห้ง โดยปัจจัยเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังวัดในถิ่นทุรกันดาร" พระครูพัฒนาธิมุต กล่าว

ด้าน พระอธิการประพันธ์ อินฺทญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธสันติวิเวก ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง บอกว่า การทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ด ไหว้สาพระมหาอุปคุตเถรเจ้า ของวัด เป็นแห่งเดียวใน จ.ลำปาง โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. จะทำพิธีอัญเชิญพระมหาอุปคุตเถรเจ้า ขึ้นประดิษฐานบนปราสาทจำลอง เวลา ๒๐.๐๐ น. ไหว้พระรับศีล เจริญพระพุทธมนต์ พระเกจิอาจารย์นั่งปรกอธิษฐานจิต สมโภช พระมหาอุปคุตเถรเจ้า เทศนาเรื่องประวัติและอานิสงส์ใส่บาตรพระมหาอุปคุตเถรเจ้า และถวายทาน เมื่อใกล้ถึงเวลาเที่ยงคืน พระสงฆ์ ๕๐ รูปของวัดจะออกมารับบาตรข้าวสารอาหารแห้ง โดยผู้ที่ใส่บาตรมีความเชื่อว่า พระอุปคุตจะมาโปรดชาวเมืองก่อนเวลารุ่งอรุณ ชาวบ้านจะตื่นแต่ดึก เตรียมอาหารไว้ใส่บาตรพระอุปคุต เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตรุ่งเรืองด้วยโชคลาภ แคล้วคลาดจากอุบัติภัยทั้งปวง


มติคณะสงฆ์มิอาจขวางศรัทธา
อย่างไรก็ตาม โดยก่อนหน้านี้ ทางมติคณะสงฆ์หลายจังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ได้มีการสั่งห้ามแล้ว แต่เนื่องจากประเพณีดังกล่าวเป็นประเพณีความเชื่อที่สืบทอดกันมานาน การห้ามความเชื่อแรงศัทธา ถือได้ว่าเป็นเรื่องยาก

พระราชสิทธินายก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์วรวิหาร กล่าวว่า การตักบาตรกลางคืนเป็นประเพณีของชาวพม่ามาตั้งแต่โบราณกาล ส่วนชาวเหนือในพื้นที่ ๘ จังหวัด ที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกับพม่า จึงมีความกลมกลืนกันไป ซึ่งการออกมาบิณฑบาตในตอนกลางคืนของพระสงฆ์และสามเณรตามหลักของพระพุทธศาสนาถือว่าผิดวินัย เพราะเป็นยามวิกาล พระสงฆ์จะออกมาบิณฑบาตได้ในเวลาประมาณตีห้า หรือ ภาษาเหนือเรียกว่า "ตีนฟ้ายก" หรือ แบมือจนเห็นเส้นลายมือแล้ว จึงจะสามารถออกไปบิณฑบาตได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางคณะสงฆ์ได้มีการนำเอาเข้าที่ประชุมมาหลายครั้งแล้ว พร้อมกับได้ประกาศให้พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตได้ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ น. แต่พอมาถึงวันเป็งปุ๊ด จะพากันออกมาบิณฑบาตกันตั้งแต่เวลาห้าทุ่ม ไปจนถึงตีสี่ตีห้าของอีกวัน เรื่องนี้คงจะไปห้ามปรามไม่ได้

ดร.พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า คำว่า แสงเงินแสงทอง คือ การขึ้นไปแห่งอรุณ เป็นการเปรียบเทียบว่า แสงจากรุ่งอรุณเปรียบเป็นแสงเงินแสงทอง แต่ในสมัยโบราณยังไม่มีความเจริญทางเทคโนโลยี ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีนาฬิกาบอกเวลา ก่อนออกบิณฑบาตพระสงฆ์จึงต้องดูลายมือของตัวเอง หากไม่ปรากฏเส้นลายมือ ให้ถือว่ายังไม่รุ่งอรุณ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญแล้ว สถานที่ต่างๆ มีไฟฟ้าส่องสว่าง ทำให้กลางคืนเหมือนกลางวัน การดูลายมือจึงนำมาเป็นมาตรฐานไม่ได้ เมื่อกระแสสังคมเห็นว่า พระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาตในย่านชุมชนยามวิกาล เป็นสถานที่ไม่เหมาะสม แต่เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามไว้ ก็สมควรที่จะปรับเปลี่ยนมาจัดพิธีในวัด ให้ชาวบ้านรวมตัวทำบุญตักบาตรเป็งปุ๊ดในวัด ก็ไม่น่าจะเสียหายแต่อย่างใด

"พุทธศาสนิกชนล้านนาผู้มีจิตศรัทธา จะทำบุญตักบาตรในคืนเป็งปุ๊ดจำนวนมาก และจะเป็นการทำพิเศษกว่าวันอื่น เพราะถือว่าได้อานิสงส์แรง โดยจะตระเตรียมสำรับข้าวสาร อาหารแห้งคอยใส่บาตรยามเที่ยงคืน"


ที่มา คมชัดลึก
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 29 พ.ย. 2015 7:26 am

...ตำนานเจ้าหลวงคำแดงแห่งถ้ำเชียงดาว...


large_002.jpg
large_002.jpg (76.09 KiB) เปิดดู 14137 ครั้ง



ขอบคุณภาพโดย ร้อยตะวัน



ในตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ระบุการประกอบพิธีกรรมของบ้านเมืองไว้อย่างชัดเจนว่า---

(๖) “คันบุคคลผู้ใดจักกระทำมังคลกรรมด้วยประการต่าง ๆ จักสร้างแปงอันใดก็ดี จักไปทางใดก็ดี (ฯ/๑) (ฯ/๒) หื้อเจ้าและเสนาอามาตย์ทังหลาย หื้อได้พากันปูชาหื้อมีบุปผา เข้าตอก ดอกไม้ ลำเทียน มาตกแต่งพลีกรรมปูชาแกมเลี้ยง ยัง(ฯ/๓) และเทวดาอารักษ์ เชนเมืองเจ้าทังหลาย หมายมี ‘เจ้าหลวงคำแดง’ เป็นเค้าเป็นใหญ่กว่าอารักษ์เจ้าทังหลาย และ(ฯ/๔)”


เจ้าหลวงคำแดงคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขา เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นที่เคารพ สักการะ ของชาวเหนือ อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย และถ้ำเชียงดาวเป้นสถานที่ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเมืองเทวาของเจ้าหลวงคำแดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งเป็นขุนเขาที่ชาวเชียงใหม่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเมืองเชียงใหม่ทุกองค์ตั้งแต่ก่อนพระญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ผีเมืองเชียงใหม่มีเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานใหญ่กว่าผีเมืองทั้งหมด

มีเรื่องเล่าว่าทุกวันพระผีทุกผีในเมืองเชียงใหม่จะต้องไปร่วมเฝ้าและประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งในถ้ำเชียงดาวจะมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าเป็นห้องประชุม ในวันนั้นผีจะไม่เข้ามาหลอกหลอนชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ผีเมืองที่ดอยหลวงเชียงดาวได้เก็บข้าวจากชาวนาทุกคนที่วางไว้เซ่นไหว้พระแม่โพสพและเป็นค่าน้ำหัวนา ซึ่งจะนำข้าวไปวางไว้ที่หัวนาก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวมาใส่ในยุ้งฉาง ข้าวเหล่านี้ผีดอยจะนำมากิน แล้วจะเหลือเพียงเปลือกหรือแกลบไว้ซึ่งจะเก็บเปลือกข้าวหรือแกลบไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งทางทิศใต้ไม่ไกลจากดอยหลวงเชียงดาวชื่อว่า "ถ้ำแกลบ"

ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงมิเพียงแต่ชาวบ้านจะเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนแล้ว พระสงฆ์ในเขตล้านนาก็ได้แต่งและคัดลอกคัมภีร์ใบลานชื่อ ตำนานถ้ำเชียงดาวไว้หลายสำนวน ทั้งที่พบในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆที่ห่างไกลออกไป เช่น ที่เมืองน่าน เป็นต้น



...เจ้าหลวงคำแดงเจ้าตำนาน…แห่งอมตะนิยาย

มีหลายเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับเจ้าหลวงคำแดงเป็นไปในลักษณะของ อมตะนิยายพิศวาส อาทิ เล่าเป็นนิยายปรัมปรายุคต้นพุทธกาล กล่าวถึง

สมเด็จองค์อัมรินทราธิราชเจ้า ประมุขแห่งปวงเทพเทวาได้ดำริให้จัดทำสิ่งวิเศษเพื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าศรีอาริยะเมตตรัยที่จะมาตรัสรู้พระสัจธรรมในอนาคต ได้เล็งเห็นว่าถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษาของวิเศษเหล่านั้น เพราะลึกเข้าไปในถ้ำจนสุดประมาณมิได้ เป็นเมืองแห่งพวกครึ่งอสูรกาย เรียกว่าเมืองลับแล มีความเป็นอยู่ล้วนแต่เป็นทิพย์ ผู้คนทั้งหลายในมนุษย์โลกธรรมดาที่เต็มไปด้วยกิเลสยากนักที่จะเข้าไปพบเห็นได้ เพราะมีด่านภยันตรายต่างๆมากมายหลายชั้นกั้นขวาง ไว้เป็นอุปสรรค

มียักษ์สองผัวเมียบำเพ็ญภาวนารักษาศีลเพราะได้ปฏิบัติตนเป็นผู้ถึงซึ่งพระรัตนตรัยจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีนางผู้เลอโฉมนามว่า "อินเหลา" อยู่ปรนนิบัติบิดามารดาผู้ทรงศีลทั้งสอง จนวันหนึ่งได้พบกับ เจ้าหลวงสุวรรณคำแดง ยุวราชหนุ่ม ซึ่งเสด็จมาประพาสป่าจากแค้วนแดนไกล ได้บังเกิดความหลงใหลในความงามของนาง ก็ได้พยายามติดตามนางไปจนถึงถ้ำเชียงดาว และทิ้งกองทหารของพระองค์ไว้เบื้องหลัง จากนั้นก็ไม่กลับออกมาอีกเลย ว่ากันว่าเจ้าหลวงสุวรรณคำแดงอยู่ครองรักกับเจ้าแม่อินเหลาที่ถ้ำเชียงดาวนั่นเอง ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่าจะมีเสียงดังสะเทือนจากดอยหลวงเชียงดาว ปรากฏเป็นลูกไฟ ขนาดลูกมะพร้าว สว่างจ้าพุ่งหายไปในดอยนางซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งมีความเชื่อว่า เจ้าหลวงสุวรรณคำแดงลั่นอะม็อกไปเยี่ยมเจ้าแม่อินเหลาที่ดอยนาง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 16 ธ.ค. 2015 6:34 am

พระบรมราชานุสาวรีย์และศาลเจ้าพ่อขุนตาน เป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณพญาเบิก เจ้าผู้ครองนครลำปาง (เมืองเขลางค์นคร) อนุสาวรีย์สร้างจากหินอ่อนประดิษฐานอยู่เหนืออุโมงค์รถไฟขุนตานด้านทิศตะวันตก และศาลเจ้าพ่อขุนตานประดิษฐานอยู่บริเวณด้านหน้าอุโมงค์รถไฟขุนตาน เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนและนักท่องเที่ยวโดยทั่วไป
42.jpg
42.jpg (149.42 KiB) เปิดดู 14104 ครั้ง


ประวัติเจ้าพ่อขุนตาน

ในปี พ.ศ. ๑๘๐๕ (จ.ศ. ๖๒๔) พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น และทรงเห็นว่าล้านนาแยกกันเป็นหลายวงศ์ ควรรวมกันเป็นแผ่นดินเดียวกันเสีย ดำริแล้วจึงยกทัพไปตีเมืองมอบไร เชียงคำ เชียงร้าง ฝาง เชียงของและเชิง ต่อมาจะตีเมืองลำพูน (หริภูญชัย) เพราะเป็นเมืองที่มั่งคั่ง แต่ขุนนางชื่อขุนฟ้า ค้านว่าเป็นการยากเพราะกำลังข้าศึกกำแหงนัก ควรใช้อุบายยุยงให้แตกแยกกันเสียก่อน ครั้นแล้วพญามังรายจึงทำอุบายเนรเทศขุนฟ้าออกจากเมืองฐานกบฏ ขุนฟ้าจึงได้ไปรับราชการอยู่กับพญายีบาเจ้าเมืองลำพูน นานถึง ๗ ปี และได้ทำอุบายต่างๆ ให้พญายีบากดขี่ราษฎร จนชาวเมืองเกลียดชังพญายีบา ครั้นแล้วพญามังรายก็ยกทัพไปตี เมืองลำพูนได้ โดยง่ายเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๔ (จ.ศ. ๖๔๓)
DSC07367.JPG
DSC07367.JPG (92.1 KiB) เปิดดู 14104 ครั้ง

พญายีบาหนีมาอยู่กับพญาเบิกเจ้าเมืองลำปาง(เขลางค์) ผู้เป็นโอรส เวลาล่วงไป ๑๔ ปี พญาเบิก ทรงช้างชื่อปานแสนพล ยกทัพไปหมายจะตีเมืองลำพูนคืนให้พระบิดา พญามังรายให้เจ้าขุนสงครามทรงช้างชื่อแก้วไชยมงคลออกรับศึก ทั้งสองได้ทำยุทธหัตถีกัน ที่บ้านขัวมุงขุนช้างใกล้เมืองกุมกาม พญาเบิกถูกหอกแทงบาดเจ็บ และตีฝ่าวงล้อมออกมาได้ จึงมาตั้งรับอยู่ที่ตำบลแม่ตาล เขตเมืองลำปาง ได้สู้รบกันเป็นสามารถ ผล ที่สุดทัพลำปางแพ้ยับเยิน เจ้าขุนสงครามจับกุมตัวพญาเบิกแม่ทัพได้ และปลงพระชนม์เสียที่นี่ ดวงวิญญาณอันกล้าหาญเปี่ยมไปด้วยกตัญญูเวทิคุณนี้ จึงได้รับพระราชทานนามว่า "เจ้าพ่อขุนตาน" ซึ่งสถิตอยู่ศาลอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งนี้

ศาลเจ้าพ่อขุนตานสร้างขึ้นเป็นที่สักการะแด่ดวงวิญญาณ การสร้างวีรกรรม และความกตัญญูกตเวทิตาของพญาเบิก โอรสพญายีบา แต่เดิมสร้างเป็นศาลเล็กๆ ต่อมามีการสร้างรูปหล่อเจ้าพ่อขุนตานและศาลขึ้นควบคู่กับศาลเดิม เพื่อให้ประชากรสักการบูชา กราบไหว้

ที่มา : จากพงศาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ

#มีการปรับแก้พระนามให้ถูกต้องตามพระนามจริงของกษัตริย์ล้านนา
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 19 ธ.ค. 2015 7:32 am

ตำนานรักล้านนา เอื้องผึ้ง-จันผา

DSC_4873.jpg
DSC_4873.jpg (97.02 KiB) เปิดดู 14096 ครั้ง


ตำนานที่ ๑

เจ้าเอื้องผึ้งซึ่งเป็นคู่รักกับเจ้าจันทน์ผา จำใจต้องแต่งงานกับเจ้าจ๋วง เจ้าเอื้องผึ้งเสียใจที่ไม่ได้แต่งงานกับคนที่ตัวเองรักจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากหน้าผา เจ้าจันทน์ผาตามมาพบว่าเจ้าเอื้องผึ้งได้กระโดดหน้าผาไปแล้วจึงกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายตามคนรักตกไปอยู่ใกล้กัน และเจ้าจ๋วงได้เห็นหญิงที่ตนรักกระโดดหน้าผาไปจึงรู้สึกเสียใจและตัดสินใจกระโดดหน้าผาตามลงไปด้วยแต่กระเด็นห่างออกไป ด้วยความรักแท้ระหว่างเจ้าเอื้องผึ้งและเจ้าจันท์ผา ในชาติต่อมาเจ้าเอื้องผึ้งจึงเกิดเป็นดอกกล้วยไม้เกาะอยู่ใต้ต้นจันทน์ผา และเจ้าจ๋วงก็เกิดเป็นต้นสน ณ จุดที่ตกไปนั้นเอง ( “จ๋วง” เป็นภาษาเหนือแปลว่าต้นสน “เอื้องผึ้ง” แปลว่ากล้วยไม้) หน้าผาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ผาชู้” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา....


ตำนานที่ ๒

สาวเอื้องผึ้งและหนุ่มจันผานั้นเป็นคู่รักกัน ทั้งสองสัญญากันว่าจะรักกันตลอดไป ไม่มีวันพรากจากกัน ถ้าหากแม้นคนหนึ่งตายไป อีกคนหนึ่งก็ไม่ขออยู่ต่อ และแล้วโศกนาฏกรรมก็มาถึงโดยที่ไม่มีใครคาดคิด


จันผาพาเอื้องผึ้งไปเที่ยวที่ดอย(ภูเขา) ชายหนุ่มเหลือบไปเห็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งงอกอยู่ที่ต้นไม้ริมผา มีสีเหลืองอ่อน-เข้มแซมกันไป กลิ่นของมันหอมอ่อนๆ เขาคิดว่าคนรักของตนคงจะชอบ จึงปีนไปเก็บดอกไม้ชนิดนั้นอย่างระมัดระวัง แม้เอื้องผึ้งจะห้ามแต่จันผาก็ยังพยายามจะไปเด็ดดอกไม้มาให้ได้ และแล้วในที่สุดสิ่งที่เอื้องผึ้งกลัวก็เป็นความจริง จันผาพลาดตกลงไปในเหว เนื้อตัวเต็มไปด้วยบาดแผลที่ยากแก่การเยียวยา ชายหนุ่มคอหักตายสนิท เอื้องผึ้งร่ำไห้ประหนึ่งหัวใจแตกสลาย เธอไม่ขอมีชีวิตอยู่ต่อไปจึงวิ่งเอาหัวชนกับแง่หินที่หน้าผาหวังตายตามคนรักเหมือนที่เคยให้สัญญาว่าจะรักกันตลอดไป

จันทร์ผา.jpg
จันทร์ผา.jpg (82.66 KiB) เปิดดู 14096 ครั้ง


ขอบคุณคลิปเพลงโดย Jaran Janchum
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 26 ธ.ค. 2015 7:24 am

สาวงามเมืองเหนือยุคก่อนปีพ.ศ.๒๕๐๐

อัมพร.jpg
อัมพร.jpg (41.16 KiB) เปิดดู 14079 ครั้ง


คุณอัมพร บุรารักษ์ นางสาวไทย ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นสาวงามจากเมืองพาน จ.เชียงราย ปัจจุบัน คือ คุณอัมพร พัฒนานนท์ ยังแข็งแรง ออกงานกุศลบ่อย สามีเป็นนายตำรวจ เกษียณราชการแล้ว เธอพักอยู่กับลูกหลานหลายคนที่เชียงใหม่


reply580981_F0045_3_img1.jpg
reply580981_F0045_3_img1.jpg (45.06 KiB) เปิดดู 14079 ครั้ง



คุณสุชีลา ศรีสมบูรณ์ นางสาวไทย ปี พ.ศ.๒๔๙๗ ภูมิลำเนาจังหวัดลำพูน

สืบเนื่อง.jpg
สืบเนื่อง.jpg (62.95 KiB) เปิดดู 14079 ครั้ง



คุณสืบเนื่อง กันภัย นางเอกภาพยนตร์ "สวรรค์มืด" นางสาวถิ่นไทยงาม ประจำปี ๒๔๙๙ ภูมิลำเนาจังหวัดเชียงใหม่

ขอบคุณเจ้าของภาพด้วยค่ะ เครดิตตามภาพนะคะ
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 26 ธ.ค. 2015 7:08 pm

อนุสาวรีย์ช้างเผือก

อนุสาวรีย์ช้างเผือก2443.jpg
อนุสาวรีย์ช้างเผือก2443.jpg (138.68 KiB) เปิดดู 14079 ครั้ง


อนุสาวรีย์ช้างเผือก พ.ศ. ๒๔๔๓

จากตำนานบนแผ่นจารึกกล่าวไว้ในสมัยพญาแสนเมืองมา (กษัตริย์ลำดับที่ ๙ ราชวงศ์มังราย พ.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๕๔) ได้มีมหาดเล็กชื่ออ้ายออบและอ้ายยีระ ได้ช่วยเหลือพญาแสนเมืองมาจากกองทัพสุโขทัย โดยผลัดกันแบกพระองค์เดินทางมาจนถึงที่ปลอดภัย จึงได้รับบำเหน็จให้เป็นขุนช้างซ้ายและขุนช้างขวา และสร้างบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเวียงเชียงโฉม (บริเวณวัดเจดีย์ปล่อง หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่) และได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกไว้บนถนนก่อนถึงประตูหัวเวียง (ประตูช้างเผือกในปัจจุบัน)

ในสมัยเจ้ากาวิละได้มีสร้างรูปปั้นช้างเผือก ๒ เชือกให้มีขนาดใกล้เคียงกับช้างตัวจริง หันหน้าไปทางทิศเหนือ และทิศตะวันตก และทำซุ้มครอบช้างทั้งสองเอาไว้ มีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน ทาด้วยสีขาว สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๓ และให้ชื่อช้างทั้งสองว่า พญาปราบเมืองมาร (ทิศเหนือ) และ พญาปราบจักรวาล (ทิศตะวันตก) ในช่วงเวลานี้ เจ้ากาวิละได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ จากรัฐฉาน ประเทศพม่า ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณประตูช้างเผือกและประตูช้างม่อย ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ (พ.ศ.๒๔๑๖-๒๔๓๙) ได้อพยพเทครัวชาวไทใหญ่ บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าคง (แม่นํ้าสาละวิน) แถบบ้านแม่คะตวน ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณวัดป่าเป้านอกเมืองเชียงใหม่ ชาวไทใหญ่เหล่านี้ล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าจึงมีการสร้าง บูรณะ เปลี่ยนแปลง วัดในเขตบริเวณนั้น รวมถึงอนุสาวรีย์ช้างเผือกด้วย
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 06 ก.พ. 2016 3:57 pm

ความเป็นมาของ การแต่งคำประพันธ์ ประเภทโคลง ภาษาล้านนาเรียก กะโลง , คะโลง

hqdefault.jpg
hqdefault.jpg (55.78 KiB) เปิดดู 13985 ครั้ง


...[โคลงนั้น] จะคิดแต่งเมื่อครั้งไรไม่ปรากฏ มีเค้าเงื่อนแต่ว่าโคลงนั้นดูเหมือนจะเป็นของพวกไทยข้างฝ่ายเหนือคิดขึ้น มีกำหนดอักษรนับเป็นบาทสองบาท สามบาท สี่บาท เป็นบทเรียกว่าโคลงสอง โคลงสาม โคลงสี่ โคลงเก่า ๆ มีที่รับสัมผัสและที่กำหนดใช้อักษรสูงต่ำน้อยแห่ง แต่มามีบังคับมากขึ้นภายหลัง เห็นจะเป็นพวกไทยข้างฝ่ายใต้ได้รับอย่างมาแต่งประดิษฐ์เติมขึ้น...
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)



จากพระราชาธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่าชาวไทยล้านนาเป็นผู้ประดิษฐ์โคลงขึ้น และชาวไทยทางใต้คือชาวกรุงศรีอยุธยารับไปดัดแปลงจนพิศดารขึ้น

โคลงของชาวล้านนานั้นเรียก “ครรโลง” “คะโลง” หรือ “กะโลง” มีสามประเภทคือ ครรโลงสี่ห้อง ครรโลงสามห้อง และ ครรโลงสองห้อง กับทั้งยังมีกลวิธีแต่งที่ปลีกย่อยมากมาย เช่น โคลงบทหนึ่งว่า “กรนารายณ์ หมายกงรถ บทสังขยา สราสังวาล...”

จากการศึกษาของลมูล จันทน์หอม ได้กล่าวถึงฉันทลักษณ์โคลงล้านนาว่า “…โคลง เป็นฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ที่เก่าแก่ของล้านนา ซึ่งเรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า กลอนโคลง คะโลง กะโลง หรือกั่นโลง เท่าที่ปรากฏหลักฐานจากวรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลง อาจแบ่งโคลงออกเป็น ๕ ประเภท คือ โคลงดั้น โคลงสี่สุภาพ โคลงสาม โคลงสอง และโคลงกลบท…”

(ลมูล จันทน์หอม, ๒๕๓๒: ๓๐ - ๓๑)


หลักฐานที่แสดงว่าชาวล้านนาสนใจและนิยมแต่งโคลงมาแต่โบราณแล้วคือ จินดามณี ซึ่งกล่าวถึงโคลงลาวประเภทต่าง ๆ อันได้แก่ ๑. พระยาลืมงายโคลงลาว ๒. อินทร์เกี้ยวกลอนโคลงลาว ๓. พวนสามชั้นโคลงลาว ๔. ไหมยุ่งพันน้ำโคลงลาว และ ๕. อินทร์หลงห้องโคลงลาว

คำว่า “ลาว” ข้างต้น หมายถึง ชาวล้านนา ชาวอยุธยาแต่ก่อนเรียกรวมทั้งชาวล้านนาและชาวล้านช้างว่า ลาว

วรรณคดีของชาวไทยฝ่ายใต้เรื่องแรกที่ปรากฏโคลงคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ อันแต่งด้วยโคลงห้าและร่ายดั้นสลับกัน กับทั้งยังเป็นวรรณคดีเรื่องเดียวที่ปรากฏโคลงห้าอีกด้วย ต่อมาปรากฏเป็นรูปโคลงสี่ดั้นใน ลิลิตยวนพ่าย โคลงสุภาพ (โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่) ในลิลิตพระลอ ส่วนโคลงสองดั้นและโคลงสามดั้นเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง อย่างไรก็ตามจากหลักฐานทางวรรณกรรมอาจกล่าวได้ว่ากวีนิยมแต่งโคลงดั้นมาก่อนโคลงสุภาพ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 06 ก.พ. 2016 5:33 pm

พญามังราย เป็นพระนามถูกต้องโดยมีหลักฐานสนับสนุนมากมาย เช่น ศิลาจารึก, ตำนาน, เอกสารเก่าทุกประเภท ส่วนเม็งราย เป็นพระนามคลาดเคลื่อนอยู่ในพงศาวดารโยนกที่แต่งใหม่สมัย ร.๕

พ่อขุน เป็นคำขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน (เทียบเท่าคำว่ากษัตริย์) เป็นประเพณีมีในรัฐสุโขทัย จึงไม่เคยพบเอกสารโบราณเรียกพ่อขุนมังราย [สรุปจากบทความเรื่อง มังราย, พญา ในหนังสือประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด ของ ศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. ๒๕๔๙]

พญามังราย เป็นลาวลูกผสมระหว่างลัวะกับลื้อ บรรพชนฝ่ายพ่อเป็นลัวะ ในตระกูลภาษามอญ-เขมร เริ่มจากปู่เจ้าลาวจก อยู่ดอยตุง (เชียงราย) ต่อมาคือท้าวฮุ่งท้าวเจือง (พะเยา) บรรพชนฝ่ายแม่เป็นลื้อ ชื่อนางเทพคำขยาย เมืองเชียงรุ่ง สิบสองพันนา (ยูนนาน ในจีน)

ลาว มีคำอธิบายของจิตร ภูมิศักดิ์ แปลว่าผู้เป็นนาย, ผู้เป็นใหญ่, กษัตริย์ แล้วมีนักวิชาการบางท่านสืบค้นพบว่า มัง เป็นภาษาลัวะ หมายถึงผู้เป็นใหญ่ ทางการที่เคยเรียกพ่อขุนเม็งราย ควรแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักฐานประวัติศาสตร์ โดยไม่ดันทุรังไปน้ำขุ่นๆ ว่าเรียกอย่างนี้ เขียนอย่างนี้จนเคยชินแล้ว ขอให้เคารพหลักฐานประวัติศาสตร์ด้วย ดูแต่กองทัพไทยเคยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าวันยุทธหัตถีคือ ๒๕ มกราคม แต่เมื่อนักวิชาการยืนยันว่าที่ถูกต้อง คือ ๑๘ มกราคม กองทัพไทยยังน้อมรับแล้วประกาศเปลี่ยนแปลงเป็น ๑๘ มกราคม ซึ่งควรยกย่องอย่างยิ่ง

ผู้เขียน สุจิตต์ วงษ์เทศ

ที่มา มติชนออนไลน์

เผยแพร่ ๒๘ ม.ค. ๒๕๕๙
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 13 ก.พ. 2016 3:50 pm

ลุงต๋าคำ ครูดนตรีล้านนาผู้มาจากโลกมืด



ราวช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๕ หรือประมาณพ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๒๐ เมืองเชียงใหม่ได้มีตำนานเล่าถึงวณิพกตาบอดกับ "ซึง" ประจำตัว พร้อมกับฝีมือบรรเลงที่เหนือดนตรีทั่วไป ต่อมาตำนานนี้ก็ค่อยๆเลือนหายไปกับกาลเวลา น้อยคนนักที่จะจดจำนักดนตรีตาบอดผู้นี้ ทว่าภายหลังก็มีการค้นพบฟิล์มภาพยนตร์ที่บันทึกภาพ ยืนยันถึงตำนาน “ลุงต๋าคำ” วณิพกตาบอดแห่งล้านนา ทำให้เรื่องราวของวณิพกผู้เชี่ยวชาญการดนตรีได้กลับมาเป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง

ตำนานวณิพกตาบอดถ่ายทอดผ่านบทเพลง ลุงต๋าคำ จากเสียงร้อง และปลายปากกาของราชาโฟล์คซองคำเมือง จรัล มโนเพ็ชร คือหนึ่งในภาพจำที่คนทั่วไปรู้จักเกี่ยวกับตัวตนของลุงต๋าคำ มือซึงเทวดาแห่งล้านนา ตำนานยังเล่าว่าเสียงซึง และการขับซอของวณิพกเฒ่าสามารถเรียกฝูงนกให้บินลงมาเคล้าคลอเสียงเพลงได้อย่างน่าประหลาด

หากเรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงตำนานสำหรับ ไมเคิล เดนิสสัน อดีตอาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัยผู้เคยเดินทางไปเชียงใหม่พร้อมลูกศิษย์ เพื่อบันทึกภาพยนตร์ ๑๖ มิลลิเมตร ของลุงต๋าคำ ในช่วง ๑๐ ปีก่อนที่วณิพกเฒ่าจะเสียชีวิตในวัยร่วม ๙๐ หลังจากนั้นประมาณ ๔๕ ปี เดนิสสันได้หอบเอาต้นฉบับดิจิทัลของภาพยนตร์ชุดนี้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง หวังฟื้นตำนานวณิพกตาบอดแห่งล้านนา เพื่อสร้างความรำลึกถึงปูชยบุคคลทางดนตรีเมืองเชียงใหม่

ไมเคิล เดนิสสัน บอกว่าเขาในตอนนั้นเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่กรุงเทพฯ และรู้จักกับ บรู๊ซ แกสตัน ผู้ซึ่งเล่าถึงลุงต๋าคำให้ฟัง และรู้สึกว่าคงต้องรีบทำอะไรสักอย่างเพื่อเก็บความทรงจำนี้ เขาจึงตัดสินใจขึ้นไปบันทึกภาพลุงต๋าเอาไว้เป็นเวลา ๙๕ นาที ซึ่งหลังจากเกษียณก็ตั้งใจว่าจะกลับมาทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ โดยผลิตเป็นสารคดีออกฉาย ซึ่งจะสามารถเผยแพร่และรักษามรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้เอาไว้ได้

"ฟังครั้งแรกก็รู้ว่าคนเล่นฝีมือไม่ธรรมดา เพราะแนวการเล่นที่เป็นทางแบบล้านนาโบราณต่างจากที่เคยได้ยิน" นี่คือสิ่งที่ บรู๊ซ แกสตัน อาจารย์หนุ่มชาวอเมริกันไฟแรงแห่งวิทยาลัยดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพในเวลานั้นบรรยายถึงเสียงซึงของลุงต๋าคำ หลังพบวณิพกเฒ่าบรรเลงเพลงเครื่องดนตรีประจำตัวอยู่หน้าโรงหนัง ทำให้เขาตัดสินใจฝากตัวเรียนรู้กับครูเฒ่าในทันที และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีการถ่ายภาพยนตร์เก็บไว้ในเวลาต่อมา ซึ่งยุคนั้นศิลปินล้านนากำลังถูกอิทธิพลจากภายนอก และการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบไร้รากเหง้าจนเอกลักษณ์ผิดเพี้ยนไปจากของเดิม ฟิล์มบันทึกภาพการเล่นซึงและการขับซอของลุงต๋าคำจึงมีความสำคัญในฐานะต้นแบบการบรรเลงมีคุณค่ากับการศึกษาดนตรีล้านนา

แม้เรื่องเล่าของวณิพกตาบอดแห่งล้านนาจะเหลือเพียงตำนาน หากในแวดวงศิลปินพื้นเมืองเชียงใหม่นั้น “ลุงต๋าคำ” วณิพกเฒ่า คือปูชนียบุคคลที่มีลูกศิษย์ติดตามจำนวนหนึ่ง ด้วยรูปลักษณ์และความยากจน ทำให้ลุงต๋าคำไม่เคยถูกยอมรับในวงกว้าง หากวณิพกเฒ่าไม่เคยใส่ใจต่อชื่อเสียง ยังคงตระเวนขับกล่อมผู้คนด้วยเสียงซึง ตราบจนวาระสุดท้าย

ขอคารวะต่อครูดนตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา เราขอเรียกท่านว่า “พ่อครูต๋าคำ” ผู้อยู่ในความทรงจำ

เรียบเรียงจาก บทความของ FB ลุงสิทธิ เมืองชื่นฯ
ขอขอบคุณ ไมเคิล เดนิสสัน ผู้เล่าขานตำนานลุงต๋าคำ
ไฟล์แนป
ลุงต๋าคำ.jpg
ลุงต๋าคำ.jpg (37.49 KiB) เปิดดู 13973 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 13 ก.พ. 2016 6:18 pm



น้อยไจยา : ต้นฉบับราชสำนักเชียงใหม่

บทเพลงซอล่องน่าน น้อยไชยา - แว่นแก้ว เป็นบทขับซอที่ท่านท้าวสุนทรพจนกิจ กวีเอกแห่งราชสำนักล้านนา ได้ประพันธ์ขึ้นเพื่อทูลเกล้าถวายพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เพื่อใช้ประกอบอยู่ในละครร้องแบบล้านนาเรื่อง น้อยไชยา - แว่นแก้ว ตามพระราชประสงค์ของพระราชชายาฯ อันที่จริงแล้วมีบทร้องอยู่จำนวนหลายทำนองในเนื้อเรื่องนี้ที่แสดงถึงเรื่องราวของน้อยไชยาและนางแว่นแก้ว แต่บทขับร้องในตอนนี้เป็นที่จดจำและคงเป็นอมตะ ต่อมาอาจารย์จรัญ มโนเพ็ชร ได้นำมาขับร้องคู่กับแม่ครูสุนทรีย์ เวชานนท์ จนกลายเป็นเพลงที่คุ้นหูของสาธารณชนทั่วไป แต่เนื้อร้องบางตอนที่นำมาร้องเป็นเพลงโฟล์คซองคำเมืองนั้น ก็มีความแตกต่างและผิดเพี้ยนไปจากเดิมบ้าง และมีการร้องไว้เพียงแค่ ๖ บท ซึ่งอันที่จริงตามแบบฉบับดั้งเดิมของราชสำ­นักมีบทคำร้องอยู่ ๘ บท....บทขับซอนี้ถือเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญที่ เจ้ายายเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ (ศิลปินแห่งชาติ ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว) ผู้ได้รับการสืบทอดการขับร้องเพลงนี้มาจากราชสำนักเชียงใหม่ในสมัยที่พระราชายาเจ้าดารารัศมียังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ซึ่งเจ้าเครือแก้วได้ถ่ายทอดความรู้การขับร้องเพลงในราชสำนักไว้แก่คณาจารย์ของวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ และลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก ดังนั้นอาจารย์พิพัฒน์พงษ์ หน่อขัด ผู้เป็นลูกศิษย์ของเจ้ายายเครือแก้ว ณ เชียงใหม่ และคณาจารย์ในวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จึงได้นำบทร้องที่ถูกต้องตามแบบราชสำนักเชียงใหม่มาทำดนตรีให้ได้ความเป็นต้นฉบับที่ถูกต้องมากที่สุด ขับร้องไว้จนครบจำนวน ๘ บทตามแบบโบราณล้านนา ผู้ขับร้องหญิง ชื่อ นางสาววิไลย เชอหมื่อ บรรเลงดนตรีพื้นเมืองล้านนาโดยอาจารย์พิพัฒน์พงษ์ หน่อขัด และนายวิษณุการณ์ ทรายแก้ว ขับร้องถวายเป็นการบูชาคุณของปูชนียบุคคลแห่งล้านนา ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น และให้ลูกหลานล้านนาได้จดจำในคุณงามความดีนี้ชั่วนิรันดร์...
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 20 ก.พ. 2016 11:41 am

Seal_of_Lanna_Chiangmai_(Full).jpg
Seal_of_Lanna_Chiangmai_(Full).jpg (63.14 KiB) เปิดดู 6864 ครั้ง


ประวัติศาสตร์ล้านนา ตอนที่ ๒๒ คำว่าล้านนาและหัวเมืองในดินแดนล้านนา

ล้านนา หมายถึง ดินแดนที่มีนานับล้าน หรือมีที่นาเป็นจำนวนมาก คู่กับล้านช้าง คือดินแดนที่มีช้างนับล้านตัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คำว่า "ล้านนา" กับ "ลานนา" เป็นหัวข้อโต้เถียงกัน ซึ่งคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งมี ดร. ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน ได้ให้ข้อยุติว่า "ล้านนา" เป็นคำที่ถูกต้อง และเป็นคำที่ใช้กันในวงวิชาการ

ปัญหาที่นำไปสู่การโต้เถียงกันนั้น สืบเนื่องมาจากในอดีตการเขียนมักไม่ค่อยเคร่งครัดในเรื่องวรรณยุกต์ แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า แม้จะเขียนโดยไม่มีรูปวรรณยุกต์โทกำกับ แต่ให้อ่านเหมือนมีวรรณยุกต์โท สำหรับคำ "ลานนา" น่าจะมาจากพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า "ลานนาหมายถึงทำเลทำนา" ซึ่งทำให้คำว่าลานนาใช้กันมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ ภายหลัง พ.ศ. ๒๕๑๐ นักวิชาการระดับสูงพบว่าล้านนาเป็นคำที่ถูกต้องแล้ว และชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อ ดร. ฮันส์ เพนธ์ ค้นพบคำว่า "ล้านนา" ในศิลาจารึกที่วัดเชียงสา ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๙๖ อย่างไรก็ดี การตรวจสอบคำว่า ล้านนา ได้อาศัยศัพท์ภาษาบาลี โดยพบว่าท้ายคัมภีร์ใบลานจากเมืองน่านและที่อื่นๆ จำนวนไม่น้อยกว่า ๕๐ แห่ง เขียนว่า ทสลกฺขเขตฺตนคร อ่านว่า ทะสะลักขะเขตตะนะคอน แปลว่า เมืองสิบแสนนา เป็นคำคู่กับเมืองหลวงพระบางที่ชื่ออาณาจักร ศรีสตนาคนหุต หรือช้างร้อยหมื่น

คำว่าล้านนาน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพญากือนา เนื่องจากพระนาม "กือนา" หมายถึงจำนวนร้อยล้าน และต่อมาคำล้านนาได้ใช้เรียกกษัตริย์และประชาชน แพร่หลายมากในสมัยพระเจ้าติโลกราช

ส่วนการใช้ว่า #ล้านนาไทย นั้น เป็นเสมือนการเน้นความเป็นไทย ซึ่งใช้กันมาในสมัยหลังด้วยเหตุผลทางการเมือง

หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า ดินแดนล้านนานั้นหมายถึงดินแดนบางส่วนของอาณาเขตบริเวณ ลุ่มน้ำแม่โขง ลุ่มน้ำสาละวิน แม่น้าเจ้าพระยา ตลอดจนเมืองที่ตั้งตามลุ่มน้ำสาขาเช่นแม่นำกก แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปาย แม่นำแตง แม่น้ำงัด ฯลฯโดยมีอาณาเขตทางทิศใต้จดเมืองตาก (อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน) และจดเขตดินแดนด้านเหนือของอาณาจักรสุโขทัย ทิศตะวันตกเลยลึกเข้าไปในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ทิศตะวันออกจดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ทิศเหนือจดเมืองเชียงรุ่ง (หรือคนจีนเรียกในปัจจุบันว่า เมืองจิ่งหง เนื่องจากคนจีนออกเสียงภาษา"ไทยลื้อ"ไม่ชัด จาก "เจียงฮุ่ง" จึงกลายเป็น "จิ่งหง" (Jinghong) ซึ่งบริเวณชายขอบของล้านนา อาทิ เมืองเชียงตุง เชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองปุ เมืองสาด เมืองนาย เป็นบริเวณที่รัฐล้านนาแผ่อิทธิพล ไปถึงในเมืองนั้นๆ

ในสมัยโบราณได้กล่าวถึงเมืองขึ้นกับดินแดนล้านนามี ๕๗ เมือง ดังปรากฏในตำนาน พื้นเมืองของเชียงใหม่ว่า ใน สัตตปัญญาสล้านนา ๕๗ หัวเมือง แต่ก็ไม่ได้ระบุว่ามีเมืองใดบ้าง ปัจจุบันมีหลักฐานที่พม่านำไปจากเชียงใหม่ในสมัยที่พม่าปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๑๐๑-๒๓๑๗) และได้แปลเป็นภาษาพม่าต่อมาในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ทางมหาวิทยาลัย Yangon ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ Zinme Yazawin หรือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ฉบับภาษาพม่า ได้ระบุเมืองต่างๆ ๕๗ หัวเมือง โดยแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มเมือง คือ กลุ่มเมืองขนาดใหญ่ มี ๖ เมือง กลุ่มเมืองขนาดกลางมี ๗ เมือง กลุ่มเมืองขนาดเล็กมี ๔๔ เมือง เช่น เมืองฝาง เมืองเชียงของ เมืองพร้าว เมืองเชียงดาว เมืองลี้ เมืองยวม เมืองสาด เมืองนาย เมืองเชียงตุง เมืองเชียงคำ เมืองเชียงตอง เมืองน่าน เมืองเทิง เมืองยอง เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่ เมืองอิง เมืองไลค่า เมืองลอกจ๊อก เมืองปั่น เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง เมืองจำคา เมืองพุย เมืองสีซอ เมืองแหงหลวง เมืองหาง เมืองพง เมืองด้ง ฯลฯ

ภาพตราแผ่นดินล้านนา : วิกิพีเดีย

ที่มาของข้อมูล : สรัสวดี อ๋องสกุล. (๒๕๔๔). ประวัติศาสตร์ล้านนา. สำนักพิมพ์อมรินทร์., Zinme Yazawin, Chronicle of Chaing Mai, University Historical Research Centre, Yangon, 2003.
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 03 เม.ย. 2016 4:59 pm

ดำหัวปี๋ใหม่เมือง

ไม่ใช่การรดน้ำดำหัวแบบภาคกลาง แต่ดำหัวของคนล้านนาจะเป็นการนำน้ำส้มป่อยพร้อมเครื่องสักการะไปมอบให้ผู้ใหญ่ ท่านอาจจะนำน้ำส้มป่อยขึ้นลูบศีรษะตนเอง หรือสลัดไปใส่ผู้มาดำหัวเช่นเดียวกับการปะพรมน้ำมนต์ พร้อมกล่าวให้พรอันเป็นสิริมงคล

10154089_621450481266090_1697889036_n.jpg
10154089_621450481266090_1697889036_n.jpg (91.61 KiB) เปิดดู 6828 ครั้ง



ทางล้านนาจะให้ความสำคัญกับประเพณีสงกรานต์มาก โดยจะมีรายละเอียดดังนี้

วันสังขานต์ล่อง (สังขาร) เป็นวันแรกของวันปีใหม่เมือง ซึ่งจะมีประเพณีการสระผมในวันสังขานต์ล่อง ในแต่ละปีตำราล้านนาจะระบุว่าให้สระผมแล้วหันหน้าไปทิศไหน การสระ สระด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ท่องนะโม ๓ จบแล้ว ท่องคาถาว่า สัพพะทุกขา สัพพะภยา สัพพะอันตรายา สัพพะคะหา สัพพะอุปัทะว่า วินาสันตุ ท่อง ๓ จบจึงเสร็จสิ้นพิธีการ

วันเนาหรือวันเน่า เป็นวันที่ชาวล้านนาจะทำการขนทรายเข้าวัด และห่อขนม ห่อนึ่งเพื่อนำไปถวายพระและดำหัวคนเฒ่าคนแก่ ในวันจะนี้ห้ามทะเลาะวิวาท ด่าทอกัน

วันพญาวัน เป็นวันที่ชาวล้านนาจะไปทำบุญที่วัดและตานตุงตั๋วเปิ้ง (ตุงปีนักษัตร) พร้อมทั้งดำหัวคนเฒ่าคนแก่ การดำหัวคนเฒ่าคนแก่นั้น ทางล้านนาจะไม่เรียกว่า รดน้ำดำหัว ทั้งการดำหัวที่ว่านี้ ไม่ใช่การรดน้ำที่มือของผู้ใหญ่ แต่จะเป็นการนำขนม ดอกไม้ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย ฯลฯ ไปนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ ซึ่งท่านจะปั๋นปอน(อวยพร)และผูกข้อมือให้





พรปีใหม่จะมีดังนี้



เอวังโหนตุ๊ อัจจะในวันนี้ ก่อเป๋นวันดี เป๋นวันศรีศุภภะมังคะละอันประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าวันตั้งหลาย เป๋นวันดิถีอันวิเศษ เหตุว่าสังขารปี๋เก่าก็ข้ามล่วงไปแล้ว ปี๋ใหม่แก้วผญาวัน ก่อมาจุ๊ฮอดลอดเถิง ตั๋วเจ้าตังหลาย ก่อบ่อละเสียยังฮีตป๋าเวณีอันดีงามตี้ล่วงแล้วมาเมื่อป๋างก่อนตั๋วเจ้าตังหลายก่อบ่อผ่อนเสียยังศรัทธา จึ่งได้ตกแต่งแป๋งพร้อมน้อมนำมาซึ่งยังมธุรสะบุปผาลาจา น้ำขมิ้นส้มป่อย ข้าวตอก ดอกไม้ และลำเตียนสุกัณโทตกะทานะวัตถุตังหลาย และโภจนะอาหาร มาถวายเป๋นตานแก่ต๋นตั๋วแห่งข้า เปื้อจั๊กขอสูมาลาโต๊ด ผู้ก่อโผดอโหสิกรรม ตู๋ข้าก่อขอฮับเอาของต้านตังหลายแล้ว ตั้งแต่วันนี้ไปปายหน้า ขอหื้อต้านตังหลายเถิงจั๊กอยู่ก่อขอหื้อมีจัย แม้นว่าจั๊กไปก่อขอหื้อมีโจ้คมีลาภ ผาบแป๊ข้าศึกศัตตู๋ หมู่มารขออย่าได้มากล้ำกลาย ตุ๊กยากไร้ก่อขอหื้อจั๊กหน่ายเสีย ขอหื้อเจ้าตังหลาย จุ่งอยู่ด้วยสุขสามผะก๋าน มีพระนิพพานเป๋นตี้แล้ว ขออย่าได้คลาดคลา เตี้ยงแต้ดีหลี ต๋ามบทบาลี ตี้ได้กล่าวไว้ว่าสัพพีตีโย วิวัชชันตุ๊ สัพพะโรโก วินาสสันตุ๊ มาเต ภะวะตรั๋นตะระโย สุขีฑีฆายุโก ภะวะอะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจั๋ง วุฒฒาปะจ๋ายิโน จัตต๋าโรธัมมา วัฒฑันติ อายุวัณโณ สุขัง พะลัง



วันปากปี



เป็นวันที่ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันสะเดาะเคราะห์ โดยการนำเอาเสื้อผ้าของคนในครอบครัวไปร่วมพิธีที่วัด ในวันนี้ตามวัดต่างๆจะมีการไปดำหัวตุ๊พระตามวัดอื่นๆอีกด้วย



กำปัดเคราะห์



เคราะห์ ปู่ย่า เตปดาเมือง เคราะห์ต๋าเหลือง อิดอ่อน เคราะห์ไปก่อนและตวยหลัง เคราะห์ต่านจังตี่ด่า เคราะห์ต่านว่าจ๋าขวัญ เคราะห์ผิดผวนจักถูก เคราะห์มัดหลุดคืนมา เคราะห์ชราเถ้าถ่อย เคราะห์ไปก่อยมาแฮง เคราะห์ ฮักแปงพลักพราก เคราะห์ตุกข์ยาก บะมีของ เคราะห์ตกหนองข้ามต้า เคราะห์ปากว่าตี๋นไป เคราะห์น้ำไหลไฟคลอก เคราะห์ผีหลอกกล๋างคืน...

เคราะห์ สุราเมาเดือด เคราะห์เกี๋ยวเจือกมาปันเคราะห์หลายอันต่าง ๆเคราะห์บาทย่างเตียวตำ เคราะห์ตกขำตั้งอยู่ เคราะห์เป๋นคู่ผัวเมียเคราะห์กระเลยป๋มปาก เคราะห์ผีปีศาจ มาเบียดเบียน เคราะห์เปิ่นต๋ามเตียนใต้แคร่ เคราะห์ป้อแม่ขะกู๋ลวงศา หื้อตกจากก๋ายา พุทธรัตนา ธัมมะรัตนา สังฆะรัตนา

พุทธเสดาะออกไป ธัมมะเสดาะออกไป สังฆะเสดาะออกไป

ไสยะธิธัง หูลู หูลู สวาหาย...



ปัดเคราะห์เลาะภัย ฉบับ เจ้าน้อยแก้ว ณ เจียงใหม่ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖





นอกจากนี้ยังมีวันปากเดือน และปากวัน ซึ่งชาวล้านนาจะถือเป็นวันพักผ่อนและม่วนงันสันเล้ากันอยู่





ปี๋ใหม่เมืองล้านนาเป็นประเพณีที่คงอยู่กับชาวล้านนามานาน อย่าลืมช่วยกันรักษาให้คงอยู่และร่วมกันนุ่งชุดผ้าเมืองด้วยนะคะ




ขอบคุณภาพจากสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยค่ะ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน

cron