เจ้าชายรูปงามผู้มีหัวใจคงมั่น
'เจ้าอุตรการโกศล น้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่'
--รักแท้ที่ไม่ได้มีแค่ในนิยาย--

- เจ้าน้อยศุขเกษม.jpg (42.56 KiB) เปิดดู 7464 ครั้ง

- 12364_resize.jpg (74.48 KiB) เปิดดู 8099 ครั้ง
เจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะ เป็นตำนานรักอมตะที่จบลงอย่างโศกสลด และได้รับการกล่าวขานมาถึงปัจจุบัน ถูกถ่ายทอดโดย เจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ (ชายาของเจ้าน้อยศุขเกษม) แม้ว่ามะเมียะจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ล้านนาโดยตรง แต่สำหรับเจ้าน้อยศุขเกษม ราชบุตรองค์ใหญ่ของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๕๒-๒๔๘๒) กับแม่เจ้าจามรีแล้ว มะเมียะเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของเจ้าน้อยฯ ก็ว่าได้
เมื่อเจริญวัยเจ้าน้อยถูกส่งไปเรียนที่ รร.เซนต์แพทริก รร.แคธอลิกของฝรั่งที่ประเทศพม่า เพราะขณะนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ มะเมียะเป็นแม่ค้าสาวชาวพม่า ได้พบกับเจ้าน้อยศุขเกษมครั้งแรก เมื่ออายุเพียง ๑๖ ปี ขณะนั้นมะเมียะเป็นเพียงแม่ค้าขายบุหรี่ซะเล็กที่อยู่ตลาดใกล้บ้านในเมืองมะละแหม่ง
วันหนึ่งเมื่อเจ้าน้อยศุขเกษมได้ออกเดินเที่ยวตามห้างร้านในตลาด จึงได้พบกับมะเมียะ ทั้งคู่เกิดถูกใจในกันและกัน จึงได้คบหากันเรื่อยมา และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา ด้วยความสนับสนุนของทางบ้านของมะเมียะ และในวันพระ ทั้งสองจะพากันไปทำบุญตักบาตรและนมัสการพระบรมสารีริกธาตุตามสถานที่ต่างๆในเมืองมะละแหม่งอยู่เสมอ วันหนึ่ง ณ ลานกว้างหน้าพระธาตุใจ้ตะหลั่น ทั้งสองได้กล่าวคำสาบานต่อกันว่าจะรักกันตลอดไป และจะไม่ทอดทิ้งกัน หากผู้ใดทรยศต่อความรักที่มีให้กัน ก็ขอให้ผู้นั้นอายุสั้น
เมื่อถึงกำหนดการเดินทางกลับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าน้อยฯ เพิ่งจะมีอายุครบ ๒๐ ปี จึงให้มะเมียะปลอมตัวเป็นชายติดตามขบวนเพื่อกลับไปยังเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเพื่อนหนุ่มชาวพม่า โดยไม่รู้เลยว่าเจ้าพ่อและเจ้าแม่ของตนได้หมั้นหมายเจ้าหญิงบัวนวล ธิดาของเจ้าสุริยวงษ์ (คำตัน สิโรรส) ให้เป็นคู่หมั้นของเจ้าน้อยฯ เป็นการภายในตั้งแต่ปีที่เจ้าน้อยเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในเมืองพม่า
หลังจากที่ต้องแอบซ่อนมะเมียะไว้ในบ้านหลังเล็ก ที่เจ้าพ่อและเจ้าแม่จัดเตรียมไว้ให้เป็นที่พักมาแล้วหลายวัน เจ้าน้อยศุขเกษมได้ใช้เวลาคิดใคร่ครวญและตัดสินใจเล่าความจริงให้ท่านทั้งสองฟัง แม้ว่าจะไม่มีคำใดเอื้อนเอ่ยออกมาในขณะนั้น แต่เจ้าน้อยก็พอจะทราบได้ว่าทั้งสองไม่ยอมรับมะเมียะเป็นศรีสะใภ้อย่างแน่นอนเนื่องจากปัญหาใหญ่ในขณะนั้น คือเจ้าน้อยเป็นผู้ที่ได้รับการคาดหวังว่าจะได้รับตำแหน่งเจ้าหลวงองค์ถัดไปจากเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าลุง หากเจ้าน้อยเลือกมะเมียะมาเป็นศรีภรรยา ประชาชนย่อมต้องเกิดความอึดอัดใจในการยอมรับมะเมียะผู้เป็นหญิงต่างชาติมาดำรงฐานะศรีภรรยาของเจ้าเมืองอย่างแน่นอน
ในสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นน่าวิตกมาก เนื่องจากมหาอำนาจอังกฤษกำลังแผ่อิทธิพลไปทั่วดินแดนในคาบสมุทรเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มะเมียะซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษและกำลังอาศัยอยู่ในคุ้มของอุปราช (ขณะนั้นเจ้าแก้วนวรัฐดำรงตำแหน่งอุปราชเมืองเชียงใหม่) อาจเป็นชนวนของปัญหาทางการเมืองที่ใหญ่โตได้ในภายหลัง ในที่สุดเจ้าพ่อและเจ้าแม่จึงเรียกตัวเจ้าน้อยไปพบ และยื่นคำขาดให้เจ้าน้อยส่งตัวมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่ง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ในยามเย็นวันนั้นเอง เจ้าน้อยได้เข้าพิธีเรียกขวัญและรดน้ำมนต์ที่เจ้าพ่อกับเจ้าแม่จัดขึ้น เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายที่ท่านทั้งสองเชื่อว่ามะเมียะได้กระทำแก่เจ้าน้อยอันเป็นเหตุให้เจ้าน้อยหลงใหลในตัวนาง หลังจากพิธีรดน้ำมนต์ผ่านพ้นไป ช้างพาหนะและไพร่พลที่จะใช้ในการส่งตัวมะเมียะกลับเมืองมะละแหม่งก็ถูกจัดเตรียมทันทีตามคำสั่งของเจ้าแก้วนวรัฐ
เมื่อเจ้าน้อยกลับไปถึงที่พักในคืนนั้น มะเมียะได้รับการเกลี้ยกล่อมโดยหญิง-ชาย ชาวพม่าฝ่ายละคน ให้นางกลับไปรอเจ้าน้อยที่เมืองมะละแหม่ง มิฉะนั้นบ้านเมืองอาจเดือดร้อน นางได้เอ่ยขึ้นด้วยความเสียใจและยินยอมจากไปเพื่อมิให้ผู้ใดได้รับความเดือดร้อน แม้ตัวนางจะจากไกล แต่ความรักอันมั่นคงยังคงอยู่ดังคำสาบานที่เคยให้ไว้แก่กันและกัน ฝ่ายเจ้าน้อยยังคงยืนยันในความรักที่มีต่อมะเมียะ และขอให้นางกลับไปรอที่บ้านก่อน หากมีวาสนาจะกลับไปรับนางมาอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ให้ได้
ในเช้าวันหนึ่งของเดือนเมษายน นับเป็นวันเดินทางกลับเมืองมะละแหม่งของมะเมียะที่ดูเหมือนจะเป็นการจากลาชั่วนิรันดร์ ณ ประตูหายยาที่เนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่ใคร่เห็นโฉมหน้าของมะเมียะ ที่ลือกันว่างามนักงามหนา บรรยากาศเต็มไปด้วยความหดหู่และเศร้าหมอง เมื่อเจ้าน้อยพูดภาษาพม่ากับมะเมียะได้เพียงไม่กี่คำ นางผู้มีใจรักมั่นได้ร่ำไห้ด้วยความอัดอั้นตันใจ ในอ้อมแขนที่ยากจะแยกจากกันได้ เวลานั้นก็ล่วงเลยไปมากแล้ว เจ้าน้อยได้รับปากกับมะเมียะว่าตนจะยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ให้ไว้ต่อหน้าพระพุทธรูปวัดใจ้ตะหลั่นจนกว่าชีวิตจะหาไม่ หากท่านนอกใจมะเมียะโดยสมรสกับหญิงอื่น ขอให้ชีวิตของตนประสบแต่ความทุกข์ทรมานใจ แม้แต่อายุก็จะไม่ยืนยาว เจ้าน้อยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าภายในไม่กี่เดือนจะกลับไปหามะเมียะให้จงได้ นางจึงคุกเข่าลงกับพื้น ก้มหน้า สยายผมออกเช็ดเท้าเจ้าน้อยด้วยความอาลัยรัก ก่อนที่เธอจะขึ้นไปบนกูบช้าง
เมื่อกลับไปถึงเมืองมะละแหม่งแล้ว มะเมียะได้มอบเงินทองจำนวนหนึ่งซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐและเจ้าแม่จามรีมอบให้นางก่อนเดินทางกลับเป็นการปลอบขวัญแก่พ่อแม่และน้อง จากนั้นนางได้แต่เฝ้ารอคอยเจ้าน้อยจนครบกำหนดเวลาที่ท่านได้รับปากไว้ แต่กลับไร้วี่แววใดๆ มะเมียะจึงตัดสินใจเข้าพึ่งใต้ร่มพุทธจักร ครองตนเป็นแม่ชีเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่านางยังซื่อสัตย์ ต่อความรักที่มีต่อเจ้าน้อยศุขเกษม
หลังจากที่มะเมียะทราบข่าวการเข้าพิธีมงคลสมรส ระหว่างร้อยตรีเจ้าอุตรการโกศล (ยศของเจ้าน้อยฯ ในขณะนั้น) กับเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ แม่ชีมะเมียะจึงเดินทางมายังเมืองเชียงใหม่และขอเข้าพบเจ้าน้อยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความยินดีกับชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ องค์อดีตสวามีผู้เป็นที่รัก ก่อนที่ตนจะตัดสินใจครองตนเป็นแม่ชีไปตลอดชีวิต แต่เจ้าน้อยศุขเกษมผู้ยึดสุราเป็นที่พึ่งดับความกลัดกลุ้มอันเกิดจากความรักอาลัยในตัวมะเมียะ ชีวิตที่ไม่เคยมีความสุขในชีวิตสมรส ท่านไม่สามารถหักห้ามความสงสารที่มีต่อมะเมียะได้ จึงไม่ยอมลงไปพบแม่ชีมะเมียะตามคำขอร้อง เพียงแต่มอบหมายให้เจ้าบุญสูง พี่เลี้ยงคนสนิท นำเงินจำนวน ๘๐๐ บาท ไปมอบให้กับแม่ชีมะเมียะเพื่อใช้ในการทำบุญ พร้อมกับมอบแหวนทับทิมประจำกายอีกวงหนึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าน้อยฯ ให้กับแม่ชีมะเมียะ ทางด้านแม่ชีบอกว่าไม่มาขอรักคืน เพียงแต่มาถอนคำสาบานให้ เจ้าน้อยฝากมาบอกแม่ชีว่า เงินนี่ทำบุญตามแต่แม่ชีจะใช้สอย ส่วนแหวนให้แทนใจ ว่าหัวใจอยู่กับมะเมียะเสมอ แม่ชีเสียใจมาก รับไปแต่แหวนไม่รับเงิน เจ้าน้อยหลังจากกับแม่ชีคราวนั้น ก็เอาแต่ดื่มเหล้าไม่มีใจรักเจ้าบัวชุม ในที่สุดก็ตรอมใจตายหลังจากแต่งงานได้ไม่นาน ขณะที่อายุเพียง ๓๐ ปี (ในบันทึกบอกว่าสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพิษสุรา อีก ๖ ปีต่อมาหลังจากพบแม่ชีมะเมียะครั้งสุดท้าย
เจ้าน้อยศุขเกษม ตรอมใจกับเหตการณ์ครั้งนี้มาก และสิ้นชีพิตักษัยในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีพิธีปลงพระศพ ในวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
รองศาสตราจารย์จีริจันทร์ ประทีปะเสน ลงทุนตามหามะเมียะที่เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า ได้สัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดไจ้ตะหลั่น วัดที่เชื่อกันว่าเจ้าน้อยศุขเกษมกับมะเมียะเคยสาบานว่าจะรักกันมั่นยืนยาว เจ้าอาวาสเล่าว่าเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ตอนท่านบวชเณร ที่วัดแห่งนี้มีแม่ชีรูปหนึ่งอายุประมาณ ๗๐ ปี ชื่อ ด่อนางเหลี่ยน เล่ากันว่าแม่ชีชอบมวนบุหรี่มีคนรับไปขายเป็นประจำ ทุกวันนี้ข้าวของเครื่องใช้เดิมที่แม่ชีเคยใช้ยังมีอยู่ อาจารย์จีริจันทร์คาดว่าแม่ชีรูปนี้น่าจะเป็นคนเดียวกับมะเมียะ เพราะด้วยช่วงยามและเหตุการณ์อีกหลายอย่างพ้องกันมาก ตามเรื่องเล่ากล่าวว่า มะเมียเคยกลับไปหาเจ้าน้อยศุขเกษมที่เชียงใหม่แต่ไม่ได้พบกัน เจ้าน้อยจึงฝากของที่ระลึกมาให้เป็นแหวนทับทิมวงหนึ่งและเงินอีก ๘๐๐ บาท และเมื่อมะเมียะกลับมาเมาะละแหม่งก็บวชชี หากแม่ชีรูปนั้นเป็นมะเมียะจริง เหตุใดจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ด่อนางเหลี่ยน
มะเมียะมีจริงหรือ
ประเด็นนี้เกิดจากจดหมายจากผู้อ่านนาม เหนือฟ้า ปัญญาดี ส่งถึงบรรณาธิการหนังสือพลเมืองเหนือ เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๔๘ หลังจาก อาจารย์จีริจันทร์ ประทีปะเสน ตีพิมพ์หนังสือ ชื่อมะเมียะ ได้ ๑ ปี เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงการตามหาแม่ชีชื่อมะเมียะ ที่เมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า แต่พบเรื่องของแม่ชีด่อนางเหลี่ยน แทน
เหนือฟ้า ปัญญาดี พยายามไขปริศนานี้ โดยเขียนเล่าในจดหมายฉบับดังกล่าว ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเนื้อหาในจดหมาย (เกือบทั้งหมด) มาเล่าต่อ ขอกราบขอบพระคุณนักเขียนปริศนาท่านนี้ มา ณ ที่นี้ เนื้อความตามจดหมาย คือ
จดหมายถึงมะเมียะฉบับแรก
“เมื่อต้นปี ๒๕๒๓ คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่ใกล้จะเสร็จ จึงเขียนชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ ควบคู่กันไปด้วย คุณปราณีว่า เรื่องมะเมียะ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่าง ๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้า หรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้น เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่า เรื่องราวต่าง ๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย คุณปราณี เล่าต่ออีกว่า เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่าพี่) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ก็ติดอยู่ที่ว่าไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อยจึงจำเป็นต้องสมมติชื่อขึ้น ให้ชื่อว่ามะเมียะ ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิงไทใหญ่ที่พี่รู้จักดีและมีบ้านอยู่ใกล้กัน ที่ใช้ชื่อนี้เพราะจำง่ายสะดุดหู
จากคำพูดของคุณปราณีเมื่อยี่สิบห้าปีต่อมา มันจึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความลับว่า ทำไมการตามหามะเมียะจึงพบทางตัน ไม่พบแม่ชีมะเมียะที่เมาะละแหม่ง กลับพบแต่แม่ชีชื่อด่อนางเหลี่ยน
ต้นตอของชื่อมะเมียะเกิดขึ้นที่ปากซอยศิริธร (ซอยนี้ชื่อเดียวกับนามสกุลคุณปราณี อยู่ติดกับวัดป่าเป้าด้านทิศตะวันตก ถนนมณีนพรัตน์ เมืองเชียงใหม่) ตรงปากซอยแต่เดิมเป็นห้องแถวเรือนไม้หลายห้อง ห้องแรกเป็นร้านซ่อมนาฬิกาถัดมาเป็นเรือนพัก ร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ สุดท้ายเป็นร้านขายผลไม้ดอง ปัจจุบันรื้อปลูกเป็นตึกแถว ห้องที่ซ่อมนาฬิกาเป็นครอบครัวชาวไทใหญ่มีอยู่ ๓ คน พ่อแม่และลูกสาว พ่อชื่อส่างอ่อง แม่ชื่อแม่นางเหม่ ส่วนลูกสาวเป็นครู จำชื่อไม่ได้ ครอบครัวนี้คุณปราณีรู้จักและสนิทสนมอย่างดี จึงน่าคิดว่าว่า คุณปราณีน่าจะนำชื่อของแม่นางเหม่มาใช้ เพราะชื่อจริงของแม่นางเหม่คือ แม่นางเมียะ ส่วนคำว่า “มะ” ในภาษาพม่าคือคำนำหน้าของผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว จึงไม่แปลกที่จะเรียกตัวละครนี้ว่า นางมะเมียะ ส่วนคำว่า “ด่อ” ใช้นำหน้าชื่อ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไป เช่น ด่อนางเหลี่ยนณ บริเวณกู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอก มีกู่อยู่องค์หนึ่งศิลปะการก่อสร้างต่างไปจากกู่องค์อื่น คือมีรูปแบบอย่างพม่า ทำให้ผู้คนที่พบเห็นเข้าใจว่านี่คือกู่อัฐิของมะเมียะ ต่อข้อสงสัยนี้ ทางทายาทของเจ้าแก้วนวรัฐ จึงทำหนังสือชี้แจงว่า การนำพระอัฐิและอัฐิของผู้ใดไปประดิษฐานในบริเวณกู่แห่งนี้ นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ดูแลรับผิดชอบ ๒ ฝ่ายคือ (หนึ่ง) ฝ่ายสายตระกูล ณ เชียงใหม่ มีผู้ดูแลรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง (สอง) ฝ่ายวัดสวนดอก โดยความเห็นชอบของเจ้าอาวาส จะถือหลักปฏิบัติว่าต้องเป็นอัฐิบุคคลที่เป็นลูกหลานและเครือญาติของเจ้าหลวง และทั้งสองฝ่ายไม่เคยอนุญาตให้มีการนำอัฐิของบุคคลภายนอกเข้าไปไว้เลย แม้กระทั่งบุคคลใกล้ชิด เช่น หม่อมบัวเขียว ณ เชียงใหม่ ชายาเจ้าแก้วนวรัฐ หรือคุณหญิงหม่อมศรีนวล ณ เชียงใหม่ ต้องนำไปบรรจุไว้ ณ ที่แห่งอื่น จึงไม่เคยปรากฏหลักฐานว่า มีการนำอัฐิของมะเมียะมาไว้ในบริเวณกู่ดังกล่าว
และกู่ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นของมะเมียะนั้นทางคณะทายาทเจ้าแก้วนวรัฐได้ขออนุญาตกรมศิลปากรดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในกู่ เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ พบว่าเป็นกู่บรรจุอัฐิของเจ้าแม่ทิพโสม ธิดาของเจ้าราชบุตรธนันชัย โอรสในเจ้าหลวงพุทธวงศ์ เจ้าหลวงองค์ที่ ๔ ..”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.compasscm.com/default.asp?lang=TH