เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงใหม่

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 22 มิ.ย. 2014 5:07 pm

dsc00635_resize_resize.jpg
dsc00635_resize_resize.jpg (79.07 KiB) เปิดดู 20962 ครั้ง


เมืองพร้าววังหินเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน สร้างขึ้นในปีพ.ศ. ๑๘๒๔ โดย "พระญามังราย"(พญามังราย) ณ ตำบลแจ้สัก หรือเดิมเรียกว่า เวียงหวาย

872509.jpg
872509.jpg (103.4 KiB) เปิดดู 14018 ครั้ง


ท่านพระญามังราย มีทหารผู้ซื่อสัตย์ผู้หนึ่งชื่อว่า ขุนฟ้าเป็นชนเชื้อสาย ละว้า แต่มีความเฉลียวฉลาดและซื่อสัตย์มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งนัก ได้รับอาสาไปทำกลอุบายต่างๆ นานา ต่อพระยายีบา ผู้ครองเมืองหริภุญชัย เป็นเวลานานถึง ๗ ปี เช่นในฤดูร้อน แผ่นดินแห้งผากได้เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมือง ไปขุดเหมืองส่งน้ำ ชาวบ้านสอบถามก็บอกว่าเป็นคำสั่งของเจ้าเหนือหัว พอถึงฤดูฝนข้าวเต็มนาก็เกณฑ์ชาวบ้านชาวเมืองไปปลูกบ้านสร้างเมือง ชาวบ้านแบกไม้หามเสาผ่านทุ่งนาอย่างทุลักทุเลทำให้ไร่นาเสียหายมาก ครั้นชาวบ้านชาวเมือง สอบถามก็ตอบอย่างเดิม จึงทำให้ไพร่ฟ้าประชาชนจงเกลียดจงชังพระยายีบา เป็นที่ยิ่ง ในขณะที่พระญามังรายได้ส่งขุนฟ้าไปเมืองหริภุญชัยแล้ว จึงรับสั่ง ให้ราชโอรสองค์ใหญ่ ทรงพระนามว่าขุนเครื่อง ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๓ พรรษาให้ไป ครองเมืองเชียงราย ส่วนพระญามังรายครองราชย์สมบัติ ณ เมืองฝาง ฝ่ายขุนเครื่อง ราชโอรส เสด็จไปครองเมืองเชียงราย อยู่ไม่นานนักอำมาตย์ผู้หนึ่ง มีชื่อว่าขุนใสเวียง ได้กราบทูลยุยงให้คิดกบฎต่อพระบิดา โดยให้ชิงเอาราชสมบัติเมืองเชียงรายเสีย และให้จัดกำลังพลแข็งเมืองฝ่ายพระญามังรายทรงทราบ จึงปรารภว่าขุนเครื่องผู้มีบุญน้อยจะมาคิดแย่งราชสมบัติกูผู้เป็นพ่อเช่นนี้ จักละไว้มิได้ จึงมอบให้ขุนอ่องซึ่งเป็นทหารผู้ไว้วางพระราชหฤทัยผู้หนึ่ง ไปเชิญขุนเครื่องผู้โอรสให้มาเฝ้าที่เมืองฝาง ในขณะที่ราชโอรสเดินทางจากเมืองเชียงราย จะมาเฝ้าพระราชบิดาตามคำบอกเล่าของขุนอ่อง ท่านพระญามังรายจึงมอบให้ทหารผู้แม่นธนูได้ดักยิงที่กลางทางด้วยธนูอาบยาพิษ ทำให้ขุนเครืองสิ้นพระชนม์ระหว่างทางณ ที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอพร้าว บริเวณนั้นพระญามังรายได้เสด็จมาจัดการพระศพราชโอรสและทรงให้สถาปนา บริเวณ ที่ขุนเครื่องถูกปลงพระชนม์นั้นเป็นอารามเรียกว่า วัดเวียงยิง มีซากเจดีย์ร้างอยู่แห่งหนึ่งอยู่บนเนินเขาที่บ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านโป่งอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านเรียกว่า วัดเชียงยิง หรือวัดกู่ยิง(วัดสันป่าเหียง) ครั้นแล้วก็โปรดให้อัญเชิญพระศพไปฌาปนกิจเสียที่เมืองเชียงรายและในวัดแห่งนี้ต่อมาเป็นวัดร้าง และมีพระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานอยู่ ๒ องค์มีลักษณะสวยงามมาก ขณะนี้เก็บไว้ที่ วัดป่าลัน ตำบลบ้านโป่ง และที่วัดหนองอ้อ ตำบลเวียง เรียกว่า พระฝนแสนห่า

พระเจ้าล้านทองในอดีต.jpg
พระเจ้าล้านทองในอดีต.jpg (222.74 KiB) เปิดดู 15719 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ประวัติเมืองพร้าววังหิน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 22 มิ.ย. 2014 5:08 pm

พระเจ้าล้านทอง๑.jpg
พระเจ้าล้านทอง๑.jpg (41.01 KiB) เปิดดู 15719 ครั้ง


พุทธศักราช ๑๘๒๓ พระญามังรายทรงให้ขุนคราม โอรสองค์ที่สองไปครองเมืองเชียงราย จากนั้น ตามหนังสือประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุด แห่งชาติเล่มที่ ๒ กรุงเทพ ฯ หน้า ๕๕๑ มีความว่า "ส่วนพระญามังรายเมื่อทรง ทราบข่าวตามหนังสือขุนฟ้ามีมานั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก จึงได้เกณฑ์จตุรงค์พล โยธาเป็นทัพใหญ่ยกออกจากนครเมืองฝางมาทางเมืองแจ้สัก แล้วประชุมผลที่นั้นและได้สร้างเวียงเวียงหนึ่ง ให้ชี่อว่า เวียงพร้าววังหิน .เดิมนั้นเรียก เวียงหวายเวียงพร้าว เดิมเข้าใจว่าเดิมคงจะเป็น เวียงป่าว มาจากคำว่า ป่าวร้องกะเกณฑ์ ไพร่พล เนื่องจาก เวียงพร้าวเป็นเมืองสะสมนักรบและไพร่พล และเป็นเมืองหน้า ด้านที่สำคัญ ก่อนจะสร้างเมืองพร้าววังหิน มีนามเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวียงหวาย" เข้าใจว่าคงจะมีหวายขึ้นแถวนั้นเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันยังมีหมู่บ้านชื่อว่า บ้านโล๊ะป่าหวายอยู่ไม่ไกลจากเมืองเก่า ในขณะที่พระองค์มาพักและสร้างเวียงพร้าววังหินยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี ท่านก็เดินทัพต่อไป โดยมอบให้ขุนเครือราชโอรสองค์ที่ ๓ของพระองค์อยู่สร้างเมืองต่อ และครองเมืองพร้าวขุนเครือครองเมืองพร้าวได้ไม่นานก็ทำความผิดโดยทางชู้สาวกับพี่สะใภ้ คือพระมเหสีขุนคราม ณ เวียงเชียงดาว ความทราบไปถึงพระญามังราย จึงคิดว่าถ้าหากปล่อยละไว้ ลูกทั้งสองจะรบราฆ่าฟันกันขึ้น จึงเนรเทศขุนเครือให้ไปครองเมืองนาย (เข้าใจว่าน่าจะเป็นเมืองน่านในปัจจุบัน) ส่วนพระมังรายหลังจากเดินทัพจากเมืองพร้าวไป ก็ได้ยกทัพปล้นเอา เมืองลำพูนได้ ในวันขึ้น ๔ค่ำ เดือน ๕ จุลศักราช ๖๓๙ ปีมะเส็ง ตรีศก (ประมาณ เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พ.ศ. ๑๘๒๔) ซึ่งขณะนั้นพระมังรายมีพระชนมายุ๔๓ ปี พระญามังราย ย้ายจากเมืองลำพูนมาสร้างเวียงกุมกามขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๖ -๑๘๓๗ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท่าศาลา อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์พื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม และมักมีน้ำท่วมในฤดูฝน ต่อมาเนื่องจากมีน้ำ ปิงไหลผ่านและเปลี่ยนทิศทางเดิน พระญามังรายจึงย้ายจากเมืองกุมกาม มาสร้าง เมืองเชียงใหม่ในปีวอก อัฐศก วันพฤหัสบดี เดือน ๓ เหนือขึ้น ๕ ค่ำจุลศักราช ๖๕๘(พ.ศ. ๑๘๓๙) ทรงสร้างนาน ๔ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์ มีการจัดงานมหรสพสมโภช ฉลองเมืองเชียงใหม่เป็นการใหญ่ โดยให้ขนานนามว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ส่วนพระยายีบาผู้ครองเมืองลำพูนเดิมนั้น หนีไปอยู่กับพระยาเบิกผู้เป็นบุตรที่
นครเขลางค์ เพื่อคบคิดซ่องสุมประชุมพล จะยกมาชิงเมืองลำพูนคืน พระญามังรายทรงทราบ จึงได้ให้ขุนครามราชบุตรองค์ที่ ๒ รวมพลไปตีเมืองเขลางค์ ขุนครามรบชนะ จึงได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาไชยสงคราม เมื่อทำศึกเรียบร้อยแล้วเจ้าพระยาไชยสงครามก็กราบบังคมลากลับเมืองเชียงราย พอถึงเมืองเชียงรายแล้ว จึงแต่งตั้งขุนช่างไปแผ้วถางเมืองเชียงดาว สร้างคูวังที่ประทับพร้อมด้วยโรงพลช้าง ม้า ฉางข้าว ฯลฯ หลังจากนั้นชายาของพระยาไชยสงครามก็มาประทับที่วังเชียงดาวพระองค์ทรงมีราชบุตร ๓ พระองค์ คือ
๑. ท้าวแสนภู
๒. ท้าวพ่อน้ำท่วม
๓. ท้าวพ่องั่ว
จนถึงปีจุลศักราช ๖๗๙ ตรงกับ พ.ศ. ๑๘๖๐ พระญามังรายมีพระชนมายุ ๘๐ พระชันษา พระองค์ได้เสด็จประพาสตลาดกลางเมืองเชียงใหม่ อสนีบาตตกพระองค์ถึงทิวงคตที่นั่น หมู่เสนาอำมาตย์จึงได้อันเชิญพระเจ้าไชยสงครามมาจัดการพระศพและครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาไชยสงครามจึงอภิเษกโอรสองค์ใหญ่ชื่อท้าวแสนภู ซึ่งมีพระชนมายุ ๒๑ ชันษา ครองเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาไชยสงคราม กลับไปครองเมืองเชียงรายต่อไป เมื่อขุนเครือทรงทราบข่าวพระราชบิดาทิวงคตแล้วเจ้าแสนภูครองเมืองแทน จึงออกอุบายว่าจะมาถวายบังคมพระศพ แล้วยกพลโยธา มาล้อมเมืองเชียงใหม่ ท้าวแสนภูจะออกรบก็กลัวว่าจะเป็นอันตราย จึงได้หลบหนี ออกจากเวียงไป ขุนเรือจึงได้ครอบครองเมืองเชียงใหม่แทน ในปีจุลศักราช ๖๘๑(พ.ศ. ๑๘๖๒) เจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าขุนเครือชิงราชสมบัติโอรสของตนจึงทรงพิโรธ ได้ส่งพ่อท้าวน้ำท่วม ราชบุตรองค์ที่ ๒ ผู้ครองเมืองฝาง ให้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ จนล้อมจับขุนเครือได้ เจ้าพระยาไชยสงครามทรงทราบว่าราชบุตรทรงรบชนะ ก็พลโยธามาเชียงใหม่ ขณะนั้นเจ้าน้ำท่วมมีพระชนมายุ ๓๐ปี ได้ครองเมืองเชียงใหม่ ในปีจุลศักราช ๖๘๔ (พ.ศ. ๑๘๖๕) ฝ่ายขุนเครือได้ถูกคุมขังไว้ตำบลทับคันได (เข้าใจว่าน่าเป็นตำบลโหล่งขอดปัจจุบัน เนื่องจากมีชื่อลูกดอยลูกหนึ่งชื่อใกล้เคียง) ขุนเครือถูกกักขังนาน ๔ ปี ก็สิ้นพระชนม์ ราวพ.ศ. ๑๘๗๒ คำนวณอายุ ได้ ๓๗ พรรษา ในการควบคุมขุนเครือนั้นเจ้าพระยาไชยสงครามทรงแต่งตั้งท้าวบุญเรืองเป็นหัวหน้าผู้ควบคุม จนกระทั่งท้าวบุญเรืองชราภาพและเสียชีวิตจึงได้สร้างกู่ไว้เป็นที่เก็บอัฏฐิให้ชื่อว่า กู่ท้าวบุญเรืองไว้ตรงแจ่งของเมืองชั้นนอก (เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่บริเวณโรงเรียนบ้านบ้านแจ่งกู่เรืองในปัจจุบัน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ประวัติเมืองพร้าววังหิน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 22 มิ.ย. 2014 5:08 pm

พระเจ้าล้านทอง๒.jpg
พระเจ้าล้านทอง๒.jpg (162.06 KiB) เปิดดู 15719 ครั้ง


เวียงพร้าววังหิน เป็นเวียงที่รุ่งเรืองมากมีคนอยู่หนาแน่น เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านเป็นที่สร้างนักรบและประชุมพล สังเกตได้จากตัวเวียงชั้นใน (พร้าววังหิน)มีขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ ๒๐๐ กว่าไร่ และมีวัดร้างโดยรอบหลายวัด เช่น ที่บริเวณโรงเรียนบ้านหนองปลามันและทางทิศตะวันตกของโรงเรียน อีก ๒๐๐ เมตร และที่ใกล้เคียงอีกหลายแห่งต่างก็เป็นวัดร้าง ซึ่งวัดร้างดังกล่าวหมายรวมถึงวัดพระเจ้า ล้านทองด้วย ปัจจุบันก็อยู่ห่างกันไม่มากนัก และหัวเมืองชั้นนอก (เวียงพร้าวปัจจุบัน) ก็มีวัดร้างหลายแห่ง เช่น วัดดงต้นกลาง วัดดงต้นปอ วัดดงอาทิตย์ วัดศรีชมภู วัดศรีชุม วัดต้นแก้ว วัดสุพรรณ เป็นต้น ซึ่งวัดร้างเหล่านี้ก็อยู่ห่างกันไม่มาก จำนวนวัดก็ดูมากกว่าวัดในเวียงพร้าวในปัจจุบันนี้เสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งแสดงถึงความหนาแน่นของคนในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังสันนิษฐานได้จากหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมืองเชียงใหม่จะต้องแต่งตั้งผู้ที่ไว้วางใจได้มาครองเวียงพร้าววังหิน ดังปรากฏในสมัยพระสามฝั่งแกน กษัตริย์เมือง เชียงใหม่มราชบุตร ๑๐ พระองค์ ทรงพระนามตามลำดับดังนี้ คือ ท้าวอ้าย ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวใส ท้าวงั่ว ท้าวลก ท้าวเจ็ด ท้าวแปด ท้าวเก้า ท้าวสิบ ราชบุตรผู้ทรงนามท้าวอ้ายนั้นเมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา พระราชบิดาตั้งไว้ในที่อุปราช ผู้ซึ่งรับราชสมบัติสืบต่อพระองค์ ให้ประทับอยู่ในเวียงเจ็ดลิน ( เวียงเจ็ดลินตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพบริเวณถนนห้วยแก้ว ยังมีซากเมืองปรากฎอยู่จนปัจจุบัน) ทรงมีพระชนม์ ชีพอยู่อีก ๒ ปี จนพระชนมายุ๙ พรรษาก็เสด็จสวรรคต แต่ท้าวงั่วผู้ถ้วนห้านั้นพระบิดาให้ไปกินเมืองเชียงเรือ เรียกว่า เชียงลานท้าวลก ผู้ถ้วนหก พระบิดาให้ไปครองเวียงพร้าว ในที่แดนชาวพร้าววังหินห้าร้อยนา ท้าวเจ็ด ให้ไปครองเมือง เชียงราย ท้าวสิบผู้น้องให้ไปครองเมืองฝาง เรียกว่า ท้าวซ้อย (มาจากคำพื้นเมืองว่าสุดซ้อย) ส่วนราชบุตรอีก ๕ พระองค์ ท้าวยี่ ท้าวสาม ท้าวใส ท้าวแปด ท้าวเก้า หมู่นี้ได้ไปตามกรรม (ตาย) ส่วนท้าวลกผู้ถ้วนหกนั้น เกิดปีฉลู ศักราช ๗๗๑ (ประมาณพ.ศ. ๑๙๗๒) เมื่อครองเวียงพร้าววังหิน อยู่ได้ไม่นานเท่าไรก็ได้กระทำความผิดพระราชบิดาทรงพิโรธ จึงเนรเทศไปไว้ ณ เมืองยวมใต้ (อ. แม่สะเรียงจ.แม่ฮ่องสอน ในปัจจุบัน) ต่อมามีพญาสามเด็กน้อย อำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่ผู้หนึ่งก็คิดอ่านจะทำการกบฏต่อพระยาสามฝั่งแกนและได้เชิญท้าวลกมาเป็นหัวหน้า เจ้าท้าวลกซึ่งมีความน้อยพระทัยในพระราชบิดาอยู่แล้วจึงรับคำ และเมื่อ พระพญาสามเด็กน้อยซ่องสุ่มผู้คนพร้อมแล้ว จึงได้ให้คนสนิทมาเชิญเจ้าลก และได้ยกพลล้อมเมืองเชียงใหม่ในเวลากลางคืน ขณะนั้นพระเจ้าสามฝั่งแกน ทรงแปรพระราชฐานไปประทับอยู่ที่เวียงเจ็ดลิน พญาสามเด็กน้อยจึงแต่งไพร่พลลอบไปจุดไฟเผาเวียงเจ็ดลินในเวลาเที่ยงคืน พระเจ้าสามฝั่งแกนตกพระทัยจึงทรงม้าพระที่นั่งกลับเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ พอไปถึงคุ้มหลวงก็ถูกไพร่พลของเจ้าลก ควบคุมตัวไว้ ครั้นรุ่งเช้าก็นิมนต์พระสงค์เจ้าเข้าไปในราชมนเทียรบังคับให้เจ้าสามฝั่งแกนเวนราชสมบัติให้แก่พระองค์ พระเจ้าสามฝั่งแกนก็ทรงเวนราชสมบัติ และหลั่งน้ำให้แก่เจ้าท้าวลกสมความปรารถนาครั้นทำพิธีแล้ว เจ้าท้าวลกก็ได้ส่งพระราชบิดาไปอยู่ ณ เมืองสาด (อยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่าในปัจจุบัน)แล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อมา ขนานพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช และเรียกกันในสมัยต่อมาว่า "พระเจ้าติโลกราช"


ในรัชสมัยของ พระเจ้าติโลกราชนี้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองมากและการทหารก็เข้มแข็ง พระองค์ก็ยกทัพไปตีเมืองต่าง ๆ ดังนี้ คือ เมืองแพร่ เมืองนาย เมืองสุไลค่า เมืองงึดเมืองจาง เมืองกึง เมืองลอกจอก เมืองจำค่า เมืองกุน เมืองยองห้วย เมืองหนองบอน เมืองสีป๊อ ได้เลยครอบครัวเงี้ยวมา ๑๒,๓๒๘ คน ซึ่งได้แบ่งครัวไทยเงี้ยวนี้ไปอยู่ที่พระทะการเก้าช่อง และเวียงพร้าว เป็นการสะสมพลเมืองเพื่อไว้เป็นกำลังรบต่อไป ในสมัยของพระองค์ได้ส่งหมื่นมอกลองมาครองเวียงพร้าว ท่านหมื่นคนนี้มีความกล้าหาญมาก จนกระทั่งตัวเองตายในที่รบ และได้รับคำชมเชยจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา กาลต่อมาพระเจ้าติโลกราชได้ส่งราชบริวารที่ไว้วางใจได้ขึ้นมาครองเมืองพร้าวตามปรากฏนามดังนี้ หมื่นแพง เจ้ายอดเมืองซึ่งเป็นราชนัดดาหมื่นแก่งพร้าว หมื่นเงิน หมื่นเวียงพร้าว พันล่ามบุญ ทั้ง ๖ ท่านที่ได้กล่าวมานี้ได้ขึ้นมาปกครองเวียงพร้าว ล้วนแต่มีความใกล้ชิดสนิทชิดเชื้อนอกจากนั้น แต่ละท่านยังมีความเก่งกล้าสามารถในด้านการรบเป็นอย่างยิ่ง ดังความ ในหนังสือความดีเมืองเหนือ ของคุณสงวน โชติสุขรัตน์ หน้า ๗๗ มีความว่า"กองทัพหลวงพระบางยกทัพมาตีเมืองน่าน จึงโปรดให้หมื่นเงิน เจ้าเมืองพร้าวเป็นแม่ทัพยกทัพไปช่วยเมืองน่าน และได้สู้รบกับกองทัพหลวงพระบางปรากฏว่ากองทัพหลวงพระบางแตกพ่ายไป" จะเห็นว่าเจ้าเวียงพร้าวมีความสามารถในการรบทุกท่าน ตามหนังสือพงศาวดารโยนกก็ได้กล่าวไว้โดยละเอียดว่า "พระเจ้าติโลกราชตอนจัดทัพใหญ่เพื่อสู้รบกับกองทัพแห่งกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระไตรโลกนาถไว้ดังนี้ พระองค์ได้จัดกองทัพไว้เป็น ๕ ทัพ คือ ทัพท้าวบุญเรือง ราชบุตรของพระองค์ เจ้าเมืองเชียงราย ทัพเจ้ายอดเมือง พระนัดดาของพระองค์ ซึ่งครองเมือง แจ้สัก (เวียงพร้าววังหิน) ทัพหมื่นกึ่งตีนเมือง ทัพหมื่นหาญแต่ท้อง เจ้าเมืองลำปางทัพพระยาสองแคว เจ้าเมืองพะเยา ทั้ง ๕ ทัพนี้ ได้สู้รบจนทัพหลวงของกรุงศรีอยุธยาล้มตายเป็นจำนวนมากและแตกพ่ายไป
จะเห็นได้ว่าเจ้าเวียงพร้าวเป็นนักรบที่มีความสามารถในการรบยิ่งจนกระทั่งมาถึงสมัยของพระยอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่ ท่านได้ส่งเพลาสลงเชื้อสายจีนฮ่อ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของพระองค์ขึ้นมาครองเมืองพร้าวอันเป็นการผิดราชประเพณี ทำให้พระองค์เป็นที่รังเกียจของไพร่พลเมือง หมู่เสนาอำมาตย์จึงพร้อมกันโค่นราชบัลลังค์ ตามหลักฐานจากหนังสือชินกาลบาลีปกรณ์กรุงเทพ ฯ หน้า ๑๓๔ มีความว่า "พระองค์ทรงครองราชย์นาน ๘ ปี ก็ทรงมอบราชสมบัติให้ราชบุตรของพระองค์ในปีเถาะ" ครั้นต่อมาในสมัยพระเมืองแก้ว ซึ่งเป็นราชโอรสของพระยอดเชียงราย ผู้ประสูติกับอัครมเหสีศิริยสวดี ได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ส่งท้าวเชียงตงมาครองเวียงพร้าว ๖ ปี ไม่ทราบว่าได้ย้ายไปที่ อื่น ๆ หรือตายในที่รบก็ไม่ปรากฏหลักฐาน จนมาถึงสมัยของพระนางเจ้ามหาเทวีจีรประภาได้ครองเมืองเชียงใหม่ ปรากฏว่ามีผู้ครองเวียงพร้าวอยู่แล้ว ชื่อ พระยาเวียงพร้าว และไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้ส่งมาท่านได้ครองเวียงพร้าวอยู่นานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๗๓-๒๑๐๑ เป็นเวลานาน ๒๙ ปี ก็ได้ พาครอบครัวและไพร่พลหลบหนีจากเวียงพร้าว ไปอยู่ที่นครเขลางค์ เนื่องด้วยมีกองทัพมหึมาของนักรบผู้เก่งกล้าผู้ลือนามจากหงสาวดีได้ยกเข้ามาเพื่อช่วงชิงอาณาจักรล้านนา จึงเป็นอันว่าเมืองที่ท่านพระญามังรายได้สร้างไว้ เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านและสะสมกำลังพลอันได้ชื่อว่า เวียงพร้าววังหิน หรือแต่เดิมเรียกว่าเวียงหวาย ได้สิ้นสภาพการเป็นเวียงณ บัดนั้นเป็นต้นมา ดังหลักฐานในศิลาจารึกของวัดเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัด เชียงใหม่ ความว่า
" ในปีเปิกสง้า ศักราช ๙๒๐ ปี มะเมีย สัมฤทธิ์ศก พ.ศ. ๒๑๐๑ เมืองเชียงใหม่เป็นขัณธสีมาของสมเด็จพระมหาธรรมมิกราชาธิราชเจ้าแล้ว ซึ่งเป็นกษัตริย์ของพม่า" และไม่มีหลักฐานใด ๆ กล่าวถึงเวียงพร้าวอีกเลย


ที่มา หนังสือเวียงพร้าววังหิน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ประวัติเมืองพร้าววังหิน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 22 มิ.ย. 2014 5:11 pm

“วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล"วัดโบราณที่ประดิษฐานพระเจดีย์อายุกว่า ๗๓๐ ปี

65669_561496730569034_1077361447_n.jpg
65669_561496730569034_1077361447_n.jpg (38.82 KiB) เปิดดู 20962 ครั้ง


“วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล (พระมหาธาตุเจดีย์ บารมี ๑๙ ยอด)อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนกำแพงเมืองโบราณของอำเภอพร้าว สร้างสมัยพระราชวงศ์มังรายมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย มีอายุการสร้าง ๗๓๐ ปี เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคลหลังจากล่มสลายไปตามกาลเวลาเมื่อหลายร้อยปีก่อน เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๖ ได้มีการค้นพบวัดพระธาตุดอยเวียง มีการค้นพบพระธาตุภายในซึ่งบรรจุเส้นพระเกศาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากตำนานที่เล่าย้อนหลังถึงแบ่งเป็น ๔ ยุคในประวัติขององค์พระธาตุนี้ จากนั้นได้เริ่มพัฒนาบูรณะปฏิสังขรณ์ จนปัจจุบัน ได้ค้นพบโบราณวัตถุหลายรายการเช่น ก้อนอิฐที่จารึกตัวอักษรฝักขาม, ถ้วยชามสังคโลก, เครื่องปั้นดินเผา, ยอดฉัตรพระธาตุ (เจดีย์) ที่ทำจากทองจังโก้ และโบราณวัตถุอีกมากมาย

ประวัติพระพุทธรูปปางทรงเครื่อง (พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดี) จำนวน ๑๐ องค์

องค์ที่ ๑ พระนามว่า พระมหาจักรพรรดิดับภยชัยมงคล (หลวงพ่อเศรษฐี) หล่อด้วยทองสำริด หน้าตัก ๘๔ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องล้านนาโบราณ
องค์ที่ ๒ พระนามว่า พระเจ้าล้านทองหล่อด้วยทองเหลือบริสุทธิ์ หน้าตัก ๔๒ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องเชียงแสนลังกาวงศ์

องค์ที่ ๓ พระนามว่า พระเจ้าแสนล้านหล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ หน้าตัก ๓๙ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องเชียงแสนสิงห์สาม

องค์ที่ ๔ พระนามว่า พระเจ้าห้ามมารบันดาลโชคหล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ ยืนสูง ๖๐ นิ้ว ศิลปะทรงเครื่องล้านนา

พระอัครสาวกปัจวัคคีย์ทั้ง ๕ องค์ หล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์ หน้าตัก ๒๑ นิ้ว ศิลปะล้านนาทรงเครื่องปางนั่งพนมมือ

พระมหาธาตุดอยเวียงชัยมงคล เป็นธาตุเจดีย์โบราณที่ใหญ่ที่สุดของอำเภอพร้าว มีขนาดความกว้างของฐานทั้งสี่ด้านรวม ๓๖ เมตร อดีตใช้เป็นที่พักทัพ ตั้งทัพของกษัตริย์ล้านนาเมื่อครั้งเดินทางผ่านเข้าออกเมืองพร้าว ในยามบ้านเมืองสงบ และยามศึกสงคราม เพราะยังปรากฏร่องรอยแนวคู่ค่ายให้เห็นรอบวัดพระธาตุดอยเวียงชัยมงคล จึงนับว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ และสำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งของอำเภอพร้าว ที่ควรค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการะบูชาสืบไป
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:08 pm

มาอ่านข้อมูลแต่ละตำบลในอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่กันค่ะ ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ

ประวัติชุมชนตำบลสันทราย อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ตำบลสันทรายประกอบด้วยชุมชน ๑๕ หมู่บ้าน มีประวัติการตั้งชุมชนดังนี้ บ้านห้วยส้าน คนกลุ่มแรกที่ตั้งหมู่บ้านเป็นคนจากจังหวัดลำปางและลำพูนมาตั้งถิ่นฐานราวพ.ศ.๒๔๓๐ จนกลายเป็นชุมชนหมู่บ้าน ราว พ.ศ. ๒๔๕๓ โดย นายกาวิน ดีสวัสดิ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดห้วยส้านเป็นศาสนสถาน พบซากโบราณสถานที่เชื่อว่าเป็นวัดร้างอยู่บนดอย ชื่อวัดดงป่ายาง บ้านหนองปิด บุคคลที่มาตั้งหมู่บ้าน คือ นายวัน นางดี (ไม่ทราบนามสกุล) ได้ชักชวนเพื่อน และญาติมาแผ้วถางที่ทำกินจนสามารถก่อตั้งเป็นชุมชนครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๗๐ เมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการแล้ว นายวัน ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อหมู่บ้านมี ๓ ลักษณะ ลักษณะแรกหมู่บ้านนี้มีภูเขา หรือดอยล้อมรอบทุกด้าน เหมือนกับปิดกั้นพื้นของหมู่บ้านไว้ ลักษณะที่ ๒ เพื่อนของนายวัน ไปพบหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่ที่เชิงเขาดอยก้อม มีสภาพเหมือนถูกปกปิดไว้ เป็นหนองน้ำที่ถูกปิด ไม่มีใครสามารถพบเห็นได้โดยง่าย อีกประเด็นหนึ่งสันนิษฐานจากสภาพของถนนตั้งแต่สมัยเริ่มแรกตั้งชุมชน มีสภาพที่ชื้นแฉะเป็นบริเวณกว้าง ทำให้การคมนาคมไม่สะดวก ผู้คนที่จะเข้ามาติดต่อกับหมู่บ้านที่น้อยมาก จึงเรียกว่าบ้านหนองปิด พบซากโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง ๑ แห่ง เรียกว่า วัดหนองเขียว

บ้านสันผักฮี้ ก่อตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่เดิมเป็นชุมชนของชาวไทยลื้อมีชื่อเรียกว่าบ้านสันแก่วงค์ มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่กลางหมู่บ้าน ๓ ต้น มีนายแสนอินตาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เมื่อตั้งชุมชนแล้วได้ช่วยกันสร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง เล่ากันว่าขณะที่ชาวบ้านขุดบ่อน้ำไว้บริโภคในที่ตั้งวัด ขุดลึก ๓ เมตรพบตาน้ำมีเต่าอาศัยอยู่ จึงตั้งชื่อว่า “ วัดบ่อเต่า” มีโบราณสถานวัดร้าง ๔ แห่ง คือ ที่ตั้งวัดบ่อเต่าปัจจุบัน เป็นวัดที่
ครูบาศรีมรรย์ ยโสธโร เกจิดังเป็นเจ้าอาวาสมาอย่างยาวนาน ท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๒ ด้วยอายุ ๘๖ ปี ๘๑ พรรษา วัดสันผักฮี้หรือกู่หนานคำและวัดร้างไม่ทราบชื่ออีก ๒ แห่ง สันนิษฐานว่าคงเป็นวัดเดียวกับมีการเคลื่อนย้ายชุมชนไปมาในบริเวณใกล้เคียง

บ้านท่ามะเกี๋ยง ก่อตั้งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๗๕ แต่เดิมเป็นชุมชนไทยลื้ออพยพหนีภัยแล้งมาจากดอยสะเก็ด

บ้านสันปง ก่อตั้งเป็นชุมชนราว พ.ศ.๒๔๔๗ คนกลุ่มแรกที่ตั้งชุมชนเป็นชาวไทยลื้อมาจากดอยสะเก็ดโดยการนำของพ่อหนานกัณทะและแม่อุ๊ยสม สิทธิชัย ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายคำมูล เป็งด้วง(พ.ศ.๒๔๕๐) และได้รับเลือกเป็นกำนันคนแรกของตำบลสันทราย สถานที่ที่คนทั่วไปรู้จักคือ “พระธาตุดอยนางแล” ปูชนียสถานประจำตำบลสันทราย พบซากโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง ๕ แห่ง ประกอบด้วยวัดหัวกาด วัดล้องบอกไฟหรือกิ่วนางแล วัดดงขี้เหล็ก วัดดอยก่ำพ้า(กำพร้า) และไม่ทราบชื่ออีก ๑ วัด

บ้านขามสุ่มนอก มีชื่อเรียกหลายอย่างคือ ขามสุ่มเหนือ ขามสุ่มป่า ขามสุ่มนอก และขามสุ่มนางเหลียว สืบค้นได้ความว่าคนกลุ่มแรกเป็นคนเชื้อสายลื้อ โดยการนำของท้าวคำ เขื่อนค่าย ตั้งขึ้นเป็นชุมชนขึ้นก่อนราว พ.ศ.๒๐๕๐ สมัยพ่อท้าวเชียงคงเป็นเจ้าเมืองพร้าว และตั้งเป็นหมู่บ้านราว พ.ศ. ๒๔๙๑ ปู่แสนปุ๊ดเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า บ้านขามสุ่มป่า เรียกตามชื่อพันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่หน้าวัด คือต้นมะขาม มีนัยสองประการคือขึ้นเป็นกลุ่มหรือเป็นหย่อม ๆ มีลักษณะคล้ายสุ่มไก่ (หมะขามสุ่ม) อีกนัยหนึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นมะขามรสเปรี้ยว สำเนียงการพูด คำว่าเปรี้ยว คนพื้นเมืองว่า“ส้ม” ออกสำเนียงชาวไทยลื้อหรือคนยองจะออกเสียง “สุ่ม” เหตุที่เรียกว่าขามสุ่มเหนือ และขามสุ่มนอกก็เพื่อบ่งชี้ให้ต่างจากบ้านขามสุ่มที่ตั้งอยู่ในตำบลเวียง ส่วนที่เรียกว่าขามสุ่มนางเหลียวนั้นมีเรื่องเล่าว่า ช่างประติมากรรมก่อพระพุทธรูปในวิหารวัดขามสุ่มปั้นพระได้งดงามเป็นที่สดุดตาแก่ผู้ที่ผ่านไปมาโดยเฉพาะผู้หญิงจะพากันเหลียวมองเข้าไปในวัดเกือบจะทุกคนพบซากโบราณสถาน ๑ แห่งอยู่กลางทุ่งนาเรียกว่า กู่อุ๊ยพรหมซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าเคยเป็นวัดมาก่อนหรือไม่

บ้านสันทราย คนเมืองจากบ้านโป่งหนองขวาง อำเภอดอยสะเก็ดมาตั้งถิ่นฐานเมื่อราวพ.ศ. ๒๓๙๓ -๒๔๐๒ โดยการนำของนายไฝและนางเหมย(ไม่ทราบนามสกุล) นายคำ ขรรดา ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดสันทรายเป็นศาสนสถาน วัดนี้มีการย้ายวัดบ่อยครั้ง พบซากวัดร้าง ๕ แห่ง ในจำนวนนี้ ๔ แห่งเรียกชื่อเหมือนกันว่าวัดสันทราย สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะโรคระบาดหรือประสบอุทกภัย อีกแห่งหนึ่งเรียกว่า ดงหมะซัก (มีต้นลูกซัก-สมุนไพรสำหรับซักผ้า เป็นสัญลักษณ์)


ผู้เขียน สอบถามจากพ่ออุ๊ยปวง ทะกลกิจ ได้ความว่า ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ - ๒๔๙๐ พี่น้องนามสกุล ทะกลกิจ คือ นายคำ นายปวง และนายถา ชาวอำเภอสันทราย ได้พากันเข้ามาตั้งรกรากในหมู่บ้านสันทราย ประกอบกับพ่อเลี้ยงหม่องแก้ว - แม่เอ้ย สิทธิราช เป็นครอบครัวใหญ่ที่อยู่มาก่อน ปัจจุบันหมู่บ้านสันทรายจึงมีนามสกุล สิทธิราช และทะกลกิจ เป็นตระกูลใหญ่ที่มีลูกหลานอาศัยอยู่มากในหมู่บ้านสันทราย ในส่วนของทิศใต้ของหมู่บ้านสันทรายนั้นเป็นพื้นที่ที่เรียกภาษาปากว่า "สันต้นปุย" เป็นกลุ่มนับถือศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นชาวบ้านจากท้องถิ่นอื่นที่ได้อพยพเข้ามาในภายหลัง (คาดว่าประมาณ พ.ศ.๒๕๐๐ - ๒๕๑๐)


บ้านศรีค้ำ เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมปี พ.ศ. ๑๙๒๘ พระเจ้ากือนาธรรมมิการาช ได้สร้างวัดสะดือเมือง (ปัจจุบันเรียกวัดพระธาตุกลางใจเมือง) และปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ไว้ในวัด ต่อมาได้มีต้นโพธิ์ล้มเอนลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหว ต้นโพธิ์จะอยู่ในลักษณะที่เอน เป็นเวลากว่า ๒ ปี จากนั้นได้เกิดแผ่นดินไหว และมีพายุที่พัดแรงมากเกิดขึ้นเป็นระยะๆชาวบ้านในหมู่บ้านได้เห็นโพธิ์ที่เอนนั้น กลับพลิกตั้งต้นตรงเหมือนเดิมราวกับปาฏิหารย์ จึงพากันจัดงานสมโภชต้นศรีมหาโพธิ์และนำไม้มาค้ำต้นโพธิ์ป้องกันไม่ให้ต้นโพธิ์ล้มเอนลงอีกและตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านศรีค้ำ มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวอีกคือ ก่อนที่ต้นโพธิ์จะตั้งตรงดังเดิมนั้น ชาวนาคนหนึ่งชื่อ นายมูล เอาไซไปผูกติดต้นโพธิ์ที่เอนอยู่ในน้ำเพื่อดักปลาเช้า วันรุ่งขึ้นจึงไปกู้เก็บพบว่าไซของตนแขวนอยู่บนกิ่งต้นโพธิ์ เห็นเป็นอัศจรรย์จึงไปบอกคนในหมู่บ้านมาดู วัดพระธาตุกลางใจเมืองนี้มีประวัติว่า ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางมาเป็นประธานในการบูรณะวัด ได้พบแผ่นจารึกดวงเมืองพร้าวสมัยพระเจ้ากือนาว่าได้สร้างวัดสะดือเมือง พบโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง ๑แห่ง ชื่อวัดสันกู่ อยู่ทางทิศใต้ของพระธาตุกลางใจเมืองประมาณ ๕๐๐ เมตร

บ้านต้นโชค ก่อตั้งราว พ.ศ. ๒๔๐๐ คนกลุ่มแรกคือครอบครัวของนายด้วง มารัตน์และสิบเอกอ้าย อิ่มเอม ตั้งเป็นหมู่บ้านราว พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยนายปิน มารัตน์เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

บ้านหนองครก ตั้งเป็นชุมชน ราว พ.ศ. ๒๔๕๑ คนกลุ่มแรกมาจากบ้าน ห้วยทราย อำเภอสันกำแพง นายฝั้น กองเงินเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ที่ตั้งวัดหนองครก ปัจจุบันเคยเป็นวัดร้างชื่อวัดสันป่าสัก และพบซากวัดร้างอีกแห่งหนึ่งชื่อ วัดห้วยหนานยะ

บ้านสันฮกฟ้า ตั้งหมู่บ้านราวพ.ศ. ๒๔๙๕ คนกลุ่มแรกมาจากบ้านท่ามะเกี๋ยง ตำบลเดียวกัน นำโดย นายอ้าย สิทธิกับพวกนำควายมาเลี้ยงและปลูกกระท่อมพักแรม จนขยายเป็นชุมชนตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านราว พ.ศ. ๒๕๐๑

บ้านแม่ปาคี เดิมเรียกว่า บ้านโป่งเปา เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ส่วนใหญ่มาจากอำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน นำโดยนายกินะ นุโมนะ นายเราะเอาะ พระปาและนายดูบร้อ พระปา ตั้งเป็นชุมชนราว พ.ศ. ๒๔๔๗ มีนายแก่น ตาแกะ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีหย่อมบ้านบริวารสองหมู่คือบ้านล่อมและผาแดง ต่อมาบ้านแม่ปาคีได้รับการประกาศตั้งเป็นหมู่บ้านในปี พ.ศ. ๒๕๔๐

บ้านโป่งเย็น เดิมเป็นหมู่เดียวกับบ้านหนองปิดรวมกับหย่อมบ้านดงป่าข่าและห้วยบะหินตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ คนกลุ่มแรกย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านป่าเหมือด อำเภอสันทราย เชียงใหม่ ตั้งเป็นหมู่บ้านเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ นายสว่างศิลป์ วงค์ทันใจ ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พบซากโบราณสถาน วัดร้าง ๑ แห่งไม่ทราบชื่อใช้เป็นที่ตั้งหอเสื้อบ้าน บ้านผาแดง เป็นหมู่บ้านชาวเขาลีซู กะเหรี่ยง และมูเซอร์(ลาหู่) ตั้งชุมชนใหม่โดยแยกมาจากบ้านแม่ปาคีในปี พ.ศ.๒๕๔๔ มีหย่อมบ้านบริวารอีก ๒ หย่อมบ้านคือ บ้านล่อมและบ้านหนองผา พบโบราณวัตถุสำคัญ คือ เสาไม้หลัก บอกแนวเขตเส้นทาง อักขระล้านนา บอกระยะทาง ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นระยะทางจากเวียงพร้าว(ที่ว่าการอำเภอ) ไปยังอำเภอฝาง

บ้านท่ามะเกี๋ยงเหนือ เป็นชาวไทยลื้อ อำเภอดอยสะเก็ด เข้ามาตั้งถิ่นฐานใกล้กับลำน้ำแม่โก๋น ราว พ.ศ. ๒๓๗๕ แยกมาจากบ้านท่ามะเกี๋ยง ตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๕ พบซากวัดร้าง ๒ แห่ง ชื่อ วัดโละขุมเงิน และวัดหัวฝาย ใกล้ลำน้ำแม่งัด พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกัดเซาะไปจึงไม่พบหลักฐานทางโบราณคดี คำขวัญประจำตำบล “ท่องดินแดนธรรมชาติที่งามหรู น้ำตกสวยห้วยป่าพลู เชิญเที่ยวดูถ้ำผาแดง แวะพักแหล่งน้ำพุร้อน ”

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ #แก้ไขเพิ่มเติมโดยแอดมิน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:09 pm

ประวัติชุมชนตำบลบ้านโป่ง
ความหมายของชื่อตำบล มาจากบ่อน้ำร้อนผิวดิน (คนเมืองเรียกโป่ง) คนรุ่นแรกๆที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นคนเชื้อสายลื้อ เขิน เงี้ยว และเชื้อสายยอง มีพญามูลเมืองเป็นผู้นำ คนรุ่นหลังมาจากอำเภอดอยสะเก็ด และลำปาง สันนิษฐานว่าบริเวณบ้านโป่งบ้านทุ่งน้อยและหนองไฮ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเก่า เรียกว่า เวียงหวาย ปัจจุบันมีชื่อหย่อมบ้านป่าหวาย อยู่ติดกับลำน้ำแม่โก๋น (เห็นแย้งรายงานว่าน่าจะเป็นลำน้ำแม่งัดมากกว่า) ประกอบด้วย ๘ ชุมชน คือ บ้านโป่งมีวัดร้าง ชื่อวัดบัวนาค บ้านสันต้นม่วง คนรุ่นแรกมาจากบ้านโป่งเปา อำเภอดอยสะเก็ด โดยการนำของพ่ออุ๊ยหน้อย แม่คำมา นายสุข สุขแก้ว ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดร้าง ชื่อวัดโป่งเปาหรือโป่งงาม(ในทะเบียนวัดร้าง) ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์ตั้งชื่อว่า วัดป่าเจติยาราม บ้านดงหลวง ตั้งราวพ.ศ.๒๔๐๑ เป็นคนเชื้อสายชาวยองโดยการนำของ พระยาแสนใจ บ้านป่าฮิ้น ตั้งขึ้นราว พ.ศ.๒๔๗๐ คนกลุ่มแรกเป็นคนเชื้อสายชาวยอง นายอ้าย มหาขนาน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พระธาตุยองผาเป็นปูชนียสถานสำคัญของตำบลง มีวัดร้างอีก ๔ แห่ง ทราบชื่อเพียง ๒ แห่ง คือ วัดป่าฮิ้น และวัดกู่เบี้ย(ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต) บ้านป่าลัน คนกลุ่มแรกมาจากจังหวัดลำปาง ราว พ.ศ. ๒๔๐๐ มีพ่อค้าวัว ควาย กับพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อพระเป็ง เดินทางมาจากลำปางมาพบดงป่าไม้ลันที่อุดมสมบูรณ์ ชักชวนญาติพี่น้อง ๔ - ๕ ครอบครัวอพยพมาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน เดิมตั้งชื่อบ้านโล๊ะป่าลัน เนื่องจากมีแหล่งน้ำในที่ลุ่ม ต่อมาเมื่อตั้งเป็นหมู่บ้านทางการปกครองจึงตัดคำว่า โละ ออก เหลือแต่ “ป่าลัน” เดิมสร้างวัดไว้ท้ายหมู่บ้านชื่อวัดบ้านโละ ราว พ.ศ. ๒๔๒๐ ผู้คนอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางเหนือวัดมากขึ้นจึงย้ายวัดมาตั้งทางทิศเหนือของหมู่บ้าน และตั้งชื่อวัดเช่นเดียวกับชื่อหมู่บ้าน ส่วนวัดร้างนิยมเรียกว่าบวกพระเจ้า เพราะมีคนขุดได้พระพุทธรูปจำนวนมาก ส่วนที่ขนไปไม่หมดได้ทิ้งไว้ในบวกหรือหนองน้ำ(ตื้นเขินไม่คงสภาพแล้ว)

บ้านทุ่งน้อย ชุมชนเดิมเป็นคนมาจากเชียงแสนและเวียงป่าเป้า มีโบราณสถานสำคัญ คือกู่เวียงยิง เชื่อว่าเป็นอนุสรณ์เมื่อครั้งที่พระยาเม็งรายผู้สร้างเมืองเชียงใหม่สั่งให้นักแม่นธนูมาดักยิงราชโฮรส (ขุนเครื่อง -เมืองเชียงราย)ผู้คิดกบฎแล้วสร้างกู่หรือเจดีย์ไว้ที่นั้น นอกจากนั้นมีวัดร้างอีก ๒ แห่ง คือ วัดทุ่งน้อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกติดลำน้ำแม่งัด พระครูอาทรธรรมสารัตถ์(สมัย สารตฺถิโก) เจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อยเล่าว่า วัดทุ่งน้อยเดิมถูกน้ำท่วมบ่อยจึงย้ายขึ้นไปบนที่สูงใกล้กับกู่เวียงยิง แต่ขาดแคลนน้ำจึงย้ายวัดไปตั้งอยู่ที่วัดทุ่งน้อยปัจจุบันนี้ ในสมัยที่ท่านครูบาอินสม สุมโน เป็นเจ้าอาวาสอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญคือวัดสันป่าเหียง เล่ากันว่า พระพุทธ “พระเจ้าฝนแสนห่า” วัดหนองอ้อตำบลเวียง อีกองค์หนึ่งที่วัดป่าลันเป็นพระพุทธรูปที่ได้ไปจากวัดสันป่าเหียงนี้

บ้านหนองไฮ คนรุ่นแรกมาจากบ้านแม่ดอกแดง อำเภอดอยสะเก็ด มาตั้งเป็นชุมชน ราว พ.ศ. ๒๔๒๕ โดยการนำของ นายถา ศรีสุข พบวัดร้าง ๑ แห่ง ชื่อวัดป่ายะ(มีชื่อในทะเบียนวัดร้าง) บ้านดงป่าแดงตั้งเป็นหม่บ้านเมื่อวันที่ ๑ มกราคม .ศ. ๒๕๑๑ แยกมาจากบ้านดงหลวง สมัยนายจันทร์ โสภานะ เป็นผู้ใหญ่บ้าน พบโบราณสถาน ๒ แห่ง ชื่อวัดป่าแดง(ร้าง) และโบราณสถานไม่ทราบชื่อเดิมชาวบ้านเรียกว่า ดอยเฮือ คำขวัญประจำตำบลบ้านโป่ง “ พระธาตุยองผาเป็นสง่า ดูงามตาโป่งน้ำร้อน อนุสรณ์พระธาตุเวียงยิง ที่พึ่งพิงครูบาอินสม น่าชื่นชมน้ำแม่งัด ”

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:10 pm

ประวัติชุมชนตำบลป่าตุ้ม อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อตำบลมาจากชื่อต้นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ตำบลนี้มีชุมชนทั้งหมด ๑๒ หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสันคะมอก เดิมชื่อบ้านสันป่าแดง มีวัดร้างมาก่อน ๓ แห่ง คือ วัดดงเก๊าหมุ้น วัดสันเก๊ากอก ไม่ทราบชื่อ ๑ แห่ง นอกจากนั้นยังมีสถานที่เล่าขานเกี่ยวกับเสือและหนองน้ำขนาดใหญ่ ชื่อ บวกหัวเสือ ไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่าเป็นที่ตั้งชุมชนหรือเป็นวัดร้างมาก่อนแต่อย่างใด ชาวบ้านสันคะมอกมีปูชนียสถาน ชื่อ พระธาตุหินกอง ตั้งอยู่บนภูเขาใกล้หมู่

บ้าน บ้านทุ่งกู่ เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีส่วนช่วยพระยาเขื่อนเมืองสร้างเวียงพร้าว มีเรื่องเล่าถึงบรรพชนชื่อท้าวลือษรว่าผู้เป็นผู้นำชุมชนเมื่อพ.ศ. ๑๘๔๕ พบโบราณสถาน ๒ แห่ง คือเวียงกู่ หรือบางคนเรียกว่ากู่แก้ว ตั้งอยู่ที่โรงสีข้าวชุมชน และวัดร้างชื่อวัดดงหวาย

บ้านต้นรุง นอกจากจะเป็นชุมชนเดิมของลัวะแล้วยังมีเงี้ยว และคนเมืองที่ย้ายมาจากเวียงพร้าวบ้าง หนีคดีและหนีโรคระบาดจากที่อื่นและมาจากอำเภอสันทรายบ้าง ตั้งเป็นชุมชนถาวรราว พ.ศ. ๒๓๕๖ นำโดยพ่ออุ๊ยคำผาย (เชื้อสายไต–สกุลศิริปัญญา) ร่วมกับบรรพบุรุษในสกุลฟองรัตน์ และถนอมบุญ มีวัดร้าง ๓ แห่ง คือวัดดงอาทิตย์(ดงปู่ติ๊ด) วัดดงต้นลาน และวัดอุโบสถ(หรือฝั่งหมิ่น)

บ้านต้นกอก คนกลุ่มแรกมาจากอำเภอสารภี อำเภอเมืองเชียงใหม่และบางส่วนจากจังหวัดลำพูน เป็นชุมชนถาวร ราวพ.ศ.๒๔๖๕ มีนายกันแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล)เป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรกมีวัดร้างชื่อวัดผ้าขาว และวัดต้นโชคซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งวัดต้นกอกบ้านทุ่งห้า คนที่มาตั้งรกรากต่อจากชาวลัวะเป็นคนจากอำเภอสันกำแพง มีเจ้างัวต่าง คือครอบครัวของพ่อตุ่น ใจปิง เล่ากันว่าได้ย้ายวัดมา ๒ ครั้ง ครั้งแรกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกติดเชิงดอยเรียกดงบ่านะ ครั้งที่๒ ย้ายมาใกล้กับที่ตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลป่าตุ้มปัจจุบัน เรียกว่าวัดต้นตุ้ม มีเจดีย์ที่เป็นปูชนียสถานของคนในตำบลป่าตุ้มตั้งอยู่บนดอยด้านตะวันออกเรียกว่า“ พระธาตุจอมหิน”

บ้านสันถนน คนกลุ่มแรกที่มาตั้งชุมชนเป็นคนจังหวัดน่าน อำเภอสันทรายและอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เคยมีเจ้างัวต่าง(ตระกูลพ่อน้อยกุณา แปงจงกิจ) มีวัดร้าง ๑แห่งชื่อ วัดดงต้นป๋อ

บ้านห้วยกุ คนกลุ่มแรกเป็นชาวไทยลื้อ มาจากอำเภอสันทราย และอำเภอหางดง มีนายศรี เครือแก้ว เป็นผู้นำหมู่บ้านคนแรก ได้ย้ายชุมชนจากที่ลุ่ม(ปัจจุบันเรียกว่า ทุ่งบวกหมื้อ) ขึ้นไปที่สูงทางทิศตะวันออกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ มีวัดร้าง ๒ แห่ง คือ วัดสันป่าซางหรือสันบัวนาค และวัดม่วงคำ

บ้านป่าตุ้มโห้ง ตั้งเป็นชุมชนมานานกว่า ๒๐๐ ปี พี่น้องชาวไทยใหญ่อพยพมาจากเมืองตง เมืองหาง ประเทศเมียนม่าร์ ปรากฏชื่อผู้นำหมู่บ้านคนแรกคือ นายแสนสวัสดิรักษา มีวัดร้าง ๔ วัด เรียกเป็นชื่อเดียวกันว่า วัดป่าตุ้มโห้ง(ร้าง) สันนิษฐานว่าเป็นเพราะย้ายชุมชนหลายครั้งเนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำ

บ้านป่าตุ้มดอน ตั้งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๐ คนกลุ่มใหญ่เป็นคนเชื้อสายไทยใหญ่มาจากเมืองปาย สมัยเดียวกับคนบ้านสันขวาง ตำบลน้ำแพร่ เคยมีคนได้ถาแดง (หนังสือแสดงว่าเป็นคนในบังคับอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒) เคยมีเจ้าวัวต่าง(ตระกูลพ่ออุ๊ยจันทร์) บ้านปางฟาน เป็นชุมชนพื้นที่สูงชาวเขาเผ่ามูเซอร์หรือลาหู่ ที่อพยพมาจากที่ต่าง ๆ ไม่ทราบข้อมูลชัดเจน บนภูเขาโดยรอบบ้านปางฟานมีซากโบราณสถานเชื่อว่าเคยเป็นวัดร้าง ๔ แห่ง มีชื่อเรียกในปัจจุบัน คือ วัดห้วยเทียน หรือห้วยเตียน วัดป๋างมะก้วยเต้ด วัดสันป่าฮวก และวัดห้วยต้นขนุน

บ้านสหกรณ์แปลงห้า เป็นชุมชนตั้งใหม่ตามนโยบายจัดสรรที่ดินเป็นที่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าลีซูจากดอยขุนแจ๋และสามลี่ สถานที่สำคัญ คือถ้ำหลักลาน (ลากล้าน) และดอยม่อนล้าน ที่ตั้งโครงการพัฒนาเกษตรพื้นที่สูงตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่น่าแห่งหนึ่งเนื่องจากมีลักษณะภูมิอากาศเย็นสบาย บนภูเขาาพบซากโบราณสถานเชื่อว่าเป็นวัดร้าง ๗ แห่งคือ วัดห้วยโก๋น วัดห้วยแม่ธาตุ วัดสันป่ายาง(หย่อมบ้านอะบอเน) วัดป่าเฮี้ย(ห้วยน้ำดัง) วัดป่าเหมี้ยงปู่ป้องและวัดต้นลำไย

บ้านดอยใต้ เคยเป็นชุมชนของชาวลัวะ ส่วนคนเมืองที่มาก่อตั้งชุมชนบ้านดอยใต้กลุ่มแรกเป็นคนจากแม่วาง สันป่าตองและบ้านป่าบงหลวง อำเภอสารภี ตั้งเป็นหมู่บ้านราว พ.ศ. ๒๕๒๒ มีนายศรีทน มนตรี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดร้างชื่อวัดฝั่งหมิ่นได้รับการบูรณะยกขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาแล้ว ให้ชื่อว่าวัดดอยใต้ ตามชื่อหมู่บ้าน คำขวัญประจำตำบลป่าตุ้ม “ ป่าตุ้มน้ำอ้อยหวาน ประเพณีงานพระธาตุจอมหิน เกษตรกรรมแดนหอมจีน วัฒนธรรมท้องถิ่นถ้ำหลากลาน ธรรมชาติงามน้ำตกผาลาด ผาตั้ง วังชมพู ”


ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:11 pm

ประวัติชุมชนตำบลเขื่อนผาก อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อตำบลเขื่อนผากมาจากชื่อของหมู่บ้านหลักที่ตั้งอยู่สองฝั่งลำน้ำแม่งัด จากคำบอกเล่าในเวทีชาวบ้านทราบว่า ยุคแรกที่ตั้งชุมชนมีการเลี้ยงช้างสำหรับลากซุง และเป็นมีท่าแพขนส่งสินค้าเดินทางลงไปตามแม่น้ำออกสู่อำเภอแม่แตง ตำบลเขื่อนผากประกอบด้วยชุมชน ๑๐ หมู่บ้าน คือ บ้านแพะพัฒนา บ้านเขื่อนผาก บ้านห้วยบงเหนือ บ้านห้วยบง(ใต้) บ้านทรายมูล บ้านสหกรณ์แปลง สอง บ้านทรายทอง บ้านไชยมงคล บ้านขวัญประชาและบ้านม่วงหลวง

หมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด คือบ้านแพะ บ้านทรายมูล และบ้านเขื่อนผาก เดิมเป็นชุมชนเดียวกัน อยู่ติดลำน้ำแม่งัด ส่วนอีก ๘ หมู่บ้านเป็นชุมชนที่เกิดจากการจัดสรรที่ดินทำกินในรูปของนิคมสหกรณ์ ในเขตตำบลเขื่อนผากมีโบราณสถานและวัดร้าง ประกอบด้วยวัดพระเจ้าหลวงขัติ วัดเขื่อนแก้ว(หรือจอปู่หยา) วัดห้วยเฮี้ย วัดพระธาตุสุบแหวน ดงพระเจ้าต๋นหลวง (ปัจจุบันเป็นวัดสหกรณ์แปลงสอง) วัดสามัคคีธรรม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งสำนักงานที่ดินจังหวัด สาขาพร้าว) โบราณสถานอีกสองแห่งยังไม่สามารถสืบค้นประวัติความเป็นมาได้ชัดเจน คือ เวียงฮ่อ ตั้งอยู่ที่ด้านใต้ของโรงเรียนพร้าววิทยาคม นายสงคราม ทารักษ์ อดีตนักการภารโรงให้ข้อมูลว่า เมื่อมีการปรับพื้นที่เพื่อสร้างโรงเรียน ปี ๒๕๑๕ ยังปรากฏคันดินชัดเจน คนแถบนั้นเรียกว่าเวียงฮ่อสืบต่อกันมานานแล้ว ประวัติของชุมชนในตำบลเขื่อนผากที่สืบค้นได้เรียงตามลำดับหมู่บ้านมีดังนี้


บ้านแพะพัฒนา ตั้งขึ้นราว พ.ศ. ๒๔๖๕ คนกลุ่มแรกคือคนในสกุล แสงทอง สกุลเพิ่มบุญ และสกุลบรรชา เป็นชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งเดิมมีอาณาเขตรวมทั้งบ้านทรายมูล และเขื่อนผากในปัจจุบันด้วย แยกเป็นบ้านแพะเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ นายแสน บุญส่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พ.ศ.๒๕๑๖ กรมทางหลวงตัดถนนทางหลวงเชียงใหม่ สันทราย พร้าว ผ่านชุมชน (หมายเลข ๑๐๐๑) พ.ศ.๒๕๑๕ กรมสามัญศึกษาตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านแพะพัฒนา มีโบราณสถานเป็นวัดร้าง ๒ แห่ง คือ วัดพระเจ้าหลวงขัติ มีชื่อในทะเบียนวัดร้างของทางราชการ และวัดสามัคคีธรรม(ร้าง) เป็นที่ตั้งของสำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาพร้าว


บ้านเขื่อนผาก มีประวัติความเป็นมาเช่นเดียวกับบ้านแพะพัฒนา เนื่องจากเดิมเป็นชุมชนเดียวกัน แต่เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดลำน้ำแม่งัดฝั่งตะวันตก ไม่พบซากโบราณสถานบ้านห้วยบงเหนือ และบ้านห้วยบง(ใต้) เดิมเป็นชุมชนของคนลัวะ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ครอบครัวของนายกำจัด วรรณศิริ อพยพมาจากอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มาตั้งถิ่นฐานรวมกับคนที่มาจากที่ต่าง ๆ ราว พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔ ทางราชการจัดที่ทำกินในรูปนิคมสหกรณ์มีประชากรมากขึ้นจึงแยกออกเป็น ๒ หมู่บ้าน พบซากโบราณสถาน ๑ แห่ง คือ วัดพระธาตุสบแหวนพบเจดีย์ที่บูรณะแล้วไม่ทราบรูปทรงศิลปะเดิม

บ้านทรายมูล เดิมเรียกว่าบ้านป่าติ้ว คนกลุ่มแรกที่มาตั้งชุมชน คือสกุลจอมฟอง สกุลสอนถา สกุลกันสี สกุลคงวุฒิ สกุลวงศ์รักษ์และสกุลแก้วบุญเรือง ไม่พบซากโบราณสถาน บ้านสหกรณ์แปลงสอง เป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่เกิดจากนโยบายการจัดสรรที่ทำกินในรูปนิคมสหกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นแปลงที่ ๒ ต่อจากสหกรณ์ดำริ ตำบลน้ำแพร่ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองมาจากหลากหลายตำบล อำเภอ ได้ตั้งวัดในที่ดินซึ่งเคยเป็นวัดร้าง (ไม่ทราบชื่อเดิมแต่สันนิษฐานตามลักษณะของชิ้นส่วนพระพุทธรูปที่พบน่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่มาก จึงเรียกชื่อว่า ดงพระเจ้าหลวง) ในช่วงที่มีการปรับพื้นที่สร้างวัดพบโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องทองเหลือง เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในวัด

คุณ Thongin Wongrak ขอแย้งข้อมูลงานวิจัยว่า ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านแพะพัฒนา ชื่อ นายจันทร์แก้ว บุญส่ง และสกุลวงศ์รักษ์ ขอแก้เป็น ดวงเทศ
คุณ Sureerat Jompaeng ให้ข้อมูลว่า นายแสน บุญส่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และเป็นบิดาของนายจันทร์แก้ว บุญส่ง ที่คนสันสนเพราะนายจันทร์แก้วมีลูกชื่อแสน ชื่อซ้ำกั๋นกับพ่อ

ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ทางราชการแบ่งเขตการปกครองบ้านสหกรณ์แปลงสองออกเป็น ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านสหกรณ์แปลงสอง บ้านทรายทอง บ้านขวัญประชา และบ้านไชยมงคล บ้านม่วงหลวง เป็นชุมชนใหม่ในเขตนิคมสหกรณ์ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยแยกมาจากบ้านเขื่อนผาก พบซากโบราณสถาน ๒ แห่ง คือ วัดเขื่อนแก้ว(ร้าง) มีชื่อในทะเบียนวัดร้าง ชาวบ้านเรียกว่า จอปู่หยา เชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีเทพารักษ์รักษาและมักมีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:11 pm

ประวัติชุมชนตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนตำบลเวียงตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าวยกฐานะจากสุขาภิบาลเวียงพร้าวเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ประกอบด้วยชุมชน ๖ แห่ง คือ ชุมชนช่างคำ เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมในอดีตชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มีอาชีพทำทองรูปพรรณ ประเภทเครื่องประดับ สร้อยคอ แหวน กำไล และอื่น ๆ ในเขตชุมชนช่างคำมีศาสนสถาน ๒ แห่ง คือสำนักปฏิบัติธรรม “วัดป่าเลไลย์” ก่อตั้งโดยพระคุณเจ้าดาบส สุมโน อีกแห่งหนึ่งเป็นคริสตจักรเวียงพร้าว สังกัดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ชาวพุทธซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่จะไปประกอบศาสนกิจ ทำบุญที่วัดกลางเวียง และวัดหนองอ้อ มีฌาปนสถานสาธารณะประโยชน์สำหรับชุมชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว ๕ ชุมชน (ยกเว้นชุมชนบ้านแม่กอย-บ้านโจ้)
ชุมชนบ้านขามสุ่มเวียง เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม มีอายุกว่า ๒๐๐ ปี คนกลุ่มแรกมาจากบ้านขามสุ่มนอกหรือขามสุ่มป่า ตำบลสันทราย จึงได้ตั้งชื่อตามบ้านเดิม แต่เนื่องจากอยู่ในเขตตำบลเวียง จึงเติมคำว่า เวียง ให้แตกต่างกัน มีโบราณสถานเป็นวัดร้าง ๑ แห่งชื่อ วัดดงต้นกลาง

ชุมชนป่าเสี้ยว เดิมชื่อป่าเสี้ยวต้นแก้ว ตั้งขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างเวียงพร้าวสมัยพญาเขื่อนเมือง(พ.ศ.๒๔๑๔) นายหมื่นเกื้อคนบ้านทา อำเภอสันกำแพง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก วัดป่าเสี้ยวเป็นศาสนสถานประจำชุมชนเดิมชื่อ สันเก๊าโจ้กหรือวัดต้นแก้ว

ชุมชนบ้านแจ่งกู่เรือง เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมตั้งขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเวียงพร้าว บริเวณที่ตั้งชุมสายโทรศัพท์ และบ้านพักครูโรงเรียนบ้านแจ่งกู่เรือง เคยเป็นที่ตั้งวัดร้าง (ไม่ทราบชื่อ) ปัจจุบันไม่พบหลักฐานใด ๆ

ชุมชนหนองอ้อ ตั้งขึ้นสมัยพญาเขื่อนเมืองมาปกครองแขวงเมืองพร้าว เล่ากันว่าในราว พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๗๐ มีขุนนางตำแหน่งที่ “ขุนเวียงรักษาเหตุ” อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ เขตชุมชนท้ายหมู่บ้านมีชื่อเรียกเฉพาะว่าบ้านหัวฝาย มีวัดหนองอ้อ เดิมชื่อวัดศรีดอนชัยทรายมูลเป็นศาสนสถานประจำชุมชนประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเจ้าฝนแสนห่า ได้มาจากวัดสันป่าเหียง(ร้าง) ตำบลบ้านโป่ง

ชุมชนบ้านแม่กอย เดิมชื่อบ้านป่าแดง พ.ศ. ๒๔๗๐ เปลี่ยนเป็นบ้านแม่กอย ตามชื่อลำน้ำที่ไหลผ่าน เล่ากันว่ามีครั้งหนึ่งที่เกิดอุทกภัยรุนแรง ผู้คนหลั่งไหลกันไปดูน้ำท่วมบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านจึงเรียกว่าแม่กอย (กอย หมายถึง ดู ในที่นี้คงหมายถึงไปดูน้ำท่วม) ทางทิศเหนือของหมู่บ้านมีหย่อมบ้านที่อยู่ห่างกันออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร เรียกว่า บ้านโจ้ มีศาสนสถาน ๒แห่ง คือ วัดแม่กอย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย และวัดป่าอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต เดิมเป็นวัดร้างชื่อวัดร้างป่าแดง ได้รับการบูรณะพัฒนาเป็นอนุสรณ์สถานของบูรพาจารย์สายวิปัสสนา มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและรูปเหมือนหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต



ประวัติชุมชนตำบลทุ่งหลวง

ชื่อตำบลทุ่งหลวงมีความหมายว่าเป็นทุ่งนากว้างใหญ่ เป็นชุมชนที่อยู่ทางทิศใต้ของเวียงพร้าวเดิม ประกอบด้วยชุมชน บ้านทุ่งหลวง บ้านป่าจี้ บ้านสันมะนะ บ้านแม่งัด บ้านหม้อบน และบ้านหม้อล่าง

ชุมชนที่มีหลักฐานเชื่อได้ว่ามีความเก่าแก่คือชุมชนบ้านหม้อ จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่าเดิมตั้งชุมชนอยู่ในที่ราบลุ่มทางตะวันตกเฉียงเหนือของชุมชนปัจจุบัน แต่ถูกน้ำท่วมจึงย้ายขึ้นมาตั้งบนที่สูง คนในชุมชนตำบลทุ่งหลวงปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ย้ายมาจากอำเภอดอยสะเก็ดอำเภอหางดง บ้านทุ่งแดง ตำบลโหล่งขอด และบางส่วนจากในเขตชุมชนเวียงพร้าวเดิม มีศาสนสถาน ๔ แห่ง วัดทุ่งหลวง วัดป่าจี้ วัดบ้านหม้อ และอารามแม่งัด โดยมีวัดทุ่งหลวง เป็นศูนย์เรียนรู้วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นตำบลเวียง - ทุ่งหลวงให้บริการข้อมูลเพื่อการท่องเที่ยว ข้อมูลประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดกิจกรรมประเพณีพื้นบ้านล้านนาตามเทศกาล มีสินค้าผ้าทอพื้นเมืองของกลุ่มอาชีพทอผ้า เป็นที่ตั้งหน่วยกู้ภัยพร้าววังหิน ได้รับการยกฐานะเข้าอยู่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงพร้าว ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ โบราณสถานที่พบ คือ วัดร้างป่าตาล วัดม่วงจุม ซากอุโบสถเก่าวัดบ้านหม้อ และซากอุโบสถของวัดป่าจี้

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:12 pm

ประวัติชุมชนตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ความหมายของชื่อตำบล คือเป็นแหล่งที่มีน้ำมากแพร่กระจายทั่วทั้งตำบล ประกอบด้วย ๘ หมู่บ้าน มีประวัติเท่าที่ทราบดังนี้

บ้านหนองปลามันเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในเขตเมืองพร้าววังหิน มีร่องรอยโบราณสถานเป็นคูเมือง และซากปรักหักพังของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเงี้ยวหรือไทยใหญ่อพยพมาจากบ้านหนองปลามัน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อหมู่บ้านเดิม ในเขตเมืองเก่าพบซากอิฐโบราณที่สันนิษฐานว่าเป็นอาคารเสนาสนะและเจดีย์ของวัดร้าง นอกจากวัดพระเจ้าล้านทองแล้ว ยังมีวัดบัวนาค และวัดร้างไม่ปรากฏชื่ออีก ๑ แห่งในบริเวณที่ตั้งโรงเรียนบ้านหนองปลามัน (ยุบเลิกไปแล้ว)

บ้านป่างิ้ว เป็นชุมชนเดิมของชาวไต เข้ามาตั้งถิ่นฐานราว พ.ศ. ๒๒๐๐ โดยการนำของนายผัด กมลอารีย์ มีโบราณสถานเป็นวัดร้าง ๓ แห่ง คือ วัดขวยปู (หรือป่างิ้ว) วัดห่างน้อยและกู่เบี้ย บ้านสันขวางตั้งเป็นชุมชน ราว พ.ศ. ๒๓๙๗ บุคคลกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเป็นชนชาวไตหรือไทยใหญ่หรือ “เงี้ยว” มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คืออุโบสถไม้กลางน้ำศิลปะชาวไตตั้งอยู่หน้าวัด พบวัดร้าง ๒ แห่ง ชื่อวัดท่าล้อ สันนิษฐานว่าเป็นวัดของชุมชนสันขวางเดิมก่อนย้ายมาสร้างวัดในปัจจุบัน

บ้านน้ำแพร่ เป็นหมู่บ้านตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๙ บุคคลกลุ่มแรกที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านมาจากหลายอำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัด มีโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง ๒ แห่ง ได้แก่วัดบัวนาค และวัดดงกู่

บ้านโละป่าตอง ตั้งราว พ.ศ. ๒๔๐๘ คนกลุ่มแรกมาจากบ้านจอมแจ้ง อำเภอสันป่าตองโดยมีนายคำตั๋น ไฟเหลือง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีวัดร้างหนึ่งแห่ง ชื่อวัดโละป่าตอง เชื่อกันว่าเป็นอารามที่พักสงฆ์ของคนในหมู่บ้านแถบนี้ก่อนที่จะย้ายไปตั้งวัดน้ำแพร่

บ้านแม่ระงอง เป็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ตั้งชุมชนราว พ.ศ. ๒๓๐๐ ประกาศตั้งหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๐๑ นายทา ปันเร็วเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาในตำนานพระเจ้าเลียบโลกเรื่องยักษ์สองสามีภรรยาเดินทางผ่านมาที่ลำห้วยถึงบริเวณที่หน้าผาที่ยักษ์ทั้งสองตนเหยียบเท้าพลาดและลื่นไถลตกลงในลำห้วยได้รับบาดเจ็บลุกเดินไม่ไหว จึงนอนตัวงออยู่ในลำห้วย ลำห้วยนี้จึงถูกตั้งชื่อว่าห้วยแม่หล้องหง้อง เพี้ยนมาเป็น แม่ระงอง พบวัดร้าง ๒ แห่ง คือ วัดแม่ระงอง และวัดห้วยแม่หลุหรือวัดป่าลัน

บ้านสหกรณ์ดำริ หรือบ้านถ้ำดอกคำ มีประวัติเกี่ยวข้องตำนานพระเจ้าเลียบโลกปราบยักข์และประวัติการเดินธดงค์ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่แหวน สุจิณโณ (วัดดอยแม่ปั๋ง) ตั้งขึ้นเป็นหมู่บ้านราว พ.ศ.๒๕๑๗ ตามนโยบายจัดที่ทำกินในรูปนิคมสหกรณ์ เป็นแปลงแรกของอำเภอพร้าว จึงใช้เป็นชื่อหมู่บ้านพบที่วัดร้าง ๑ แห่ง คือวัดโป่งแกง ไม่มีชื่อในทะเบียนวัดร้างบ้านป่าอ้อ เป็นชุมชนหลายชนเผ่า โดยเฉพาะลีซอ และชาวจีนฮ่อ ตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ มีนายยุทธพงษ์ หมื่นสิริ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:12 pm

#ประวัติชุมชนตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ตำบลแม่แวนประกอบด้วยชุมชน ๑๑ หมู่บ้าน ได้แก่บ้านล้อง บ้านแม่เหียะ บ้านเหล่า บ้านป่าแขม บ้านแม่แวน บ้านหนองบัว บ้านแม่พวก บ้านขุนแจ๋ บ้านไชยงาม บ้านร่มเกล้าและบ้านสามลี่ มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม
บ้านล้อง ตั้งเมื่อพ.ศ.๒๔๓๒ บุคคลกลุ่มแรกมาจากอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยการนำของนายคำ ลองวิลัย จากการสืบค้นทราบว่ามีวัดร้างตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ๕ แห่งในจำนวนนี้ถูกน้ำกัดเซาะไปแล้ว ๓ แห่ง ที่มีหลักฐานชัดเจนคือ วัดพระธาตุสบแวน คงเหลือเจดีย์ ๑ องค์ได้รับการบูรณะแล้วและวัดต้นค่า นอกจากนั้นยังพบพระพุทธรูปศิลปะล้านนาตอนปลาย “พระสิงห์สาม” ในลำน้ำแม่แวน

บ้านแม่เหียะ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๔๗๕ เดิมชื่อบ้านต้นแหน แต่เนื่องจากคนก่อตั้งหมู่บ้านกลุ่มแรกส่วนใหญ่มาจากบ้านแม่เหียะ อำเภอหางดง ได้แก่อุ๊ยแดง อุ๊ยมี อุ๊ยน้อยและอุ๊ยมูล จึงตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อภูมิลำเนาเดิมนายแสน ศรีธิ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พบซากโบราณสถานที่เป็นวัดร้าง ๒ แห่ง คือวัดตะโขแดแล และลอมวัดน้อย บ้านเหล่า เดิมชื่อบ้านต้นม่วงตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.ใดไม่มีหลักฐานปรากฏคาดว่าประมาณ ๑๐๐ ปีล่วงมาแล้ว นายมูล วรรณกูล เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก พบซากโบราณสถานที่เชื่อว่าเป็นวัดร้าง ๑ แห่ง ชื่อวัดต้นม่วง

บ้านป่าแขม เป็นหมู่บ้านตั้งขึ้นใหม่ในเขตนิคมสหกรณ์พร้าว เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๑๓ คนกลุ่มแรกที่ก่อตั้งหมู่บ้านคือครอบครัวนายเขียมไชยรวม และครอบครัวนายฝูง พันอัน นิยมเรียกว่าบ้านดงป่าแขมหรือดงสมบัติ นายเขียว ไชยลอม เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ๑๐ ไร่กว่าเพื่อสร้างวัด พบซากโบราณสถานวัดร้าง ๑ แห่งชื่อวัดน้อย หรือลอมวัดน้อย

บ้านแม่แวน เป็นชุมชนเดิมไม่มีหลักฐานปรากฏว่ากลุ่มบุคคลใดเป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน และตั้งขึ้นเมื่อใด มีข้อมูลเล่าว่าสมัยที่พ่อน้อยก๋องแก้ว(ไม่ทราบนามสกุล)ยังเป็นเด็กในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าาฯ(ยุคพญาเขื่อนเมืองสร้างเมืองพร้าว) หมู่บ้านแห่งนี้ก็ตั้งเป็นชุมชนแล้วจึงสันนิษฐานได้ว่ามีอายุใกล้เคียงกับเวียงพร้าว หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคืออุโบสถของวัดแม่แวนสร้างและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเวทีชุมชนว่าชุมชนบ้านแม่แวนเดิมเรียกว่าแม่แวนหลวง เพราะเป็นชุมชนใหญ่ ครอบคลุมทั้งบ้านเหล่า หนองบัวและป่าแขม มีลักษณะพิเศษคือ ที่ตั้งวัดอยู่กลางทุ่งนาห่างจากชุมชน เคยถูกน้ำท่วมหลายครั้ง

บ้านหนองบัว ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านเมื่อใด มีผู้จำความได้ว่า นายติ๊บ สีสัน เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มักเรียกชื่อบ้านว่า “แม่แวนหนองบัว ” ไม่พบซากโบราณสถาน

บ้านแม่พวก เป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นหลังการจัดสรรที่ทำกินในเขตนิคมสหกรณ์(พ.ศ.๒๕๑๓) พบซากโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่าง ๆ ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเป็นโบราณสถานประเภทใดเคยมีวัดร้างหรือไม่อย่างไร

บ้านขุนแจ๋ ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอและจีนฮ่อ คนกลุ่มแรกที่ก่อตั้งหมู่บ้านเป็นชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากประเทศพม่าแต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.ใด จากการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนทราบว่ามีซากโบราณวัตถุประเภทอิฐก้อนใหญ่ เชื่อว่าเคยเป็นวัดร้างอยู่ตามยอดดอยหลายจุด(ยังไม่ได้สำรวจพื้นที่)

บ้านไชยงาม ตั้งเป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๐ โดยแยกมาจากบ้านแม่เหียะ บ้านร่มเกล้าเดิมชื่อบ้านป๋างป๋อ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร และตั้งเป็นหมู่บ้าน โดยใช้ชื่อว่าบ้านสหกรณ์นิคมร่มเกล้า แต่ในทางราชการเรียกโดยย่อว่า “บ้านร่มเกล้า” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริในการนำระบบสหกรณ์มาใช้แก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎร อีกทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้ด้วย ประกาศตั้งหมู่บ้านเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๗

บ้านสามลี่ เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐เดิมเป็นหย่อมบ้านบริวารของบ้านขุนแจ๋ หมู่ที่ ๘ ประกอบด้วยบ้านสามลี่ บ้านแม่แวนน้อยและห้วยทรายขาว ที่หย่อมบ้านแม่แวนน้อยพบรอยเท้ามนุษย์บนหินเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาท ๒ รอย(ซ้าย-ขวา) ตามตำนานพระเจ้าเลียบโลกชื่อว่า รอยพระบาทต้นน้ำ และพบซากโบราณสถานที่เป็นวัดร้างกอีก ๒ แห่ง ชื่อ คาลาจู(ภาษาลีซู) และวัดห้วยโป่ง คำขวัญประจำตำบล “ ถิ่นกำเนิดลำน้ำแวน ดินแดนพระสิงห์สาม ดอยเกษตรงาม ลือนามประเพณี ”

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: เล่าเรื่องเมืองพร้าว เมืองเก่าเมืองพร้าววังหิน จ.เชียงให

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 04 มี.ค. 2017 10:13 pm

#ประวัติชุมชนตำบลป่าไหน่

ชุมชนในตำบลป่าไหน่ เป็นชุมชนใหญ่ซึ่งมีบ้านเหล่าหรือบ้านเหล่าหลวงชุมชนแรกเป็นหลักประกอบกับอีก ๘ ชุมชนที่เกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการเพิ่มจำนวนประชากรและการอพยพเข้ามาหาที่ทำกินจากอำเภอสันทราย และจังหวัดลำปาง บ้านป่าไหน่ ตั้งราว พ.ศ. ๒๔๙๒ มาจากบ้านเหล่าหลวง หรือบ้านเหล่า โดยการนำของ ลุงใหม่และพวก นำสัตว์เข้ามาเลี้ยง พักค้างแรม และก่อตั้งเป็นชุมชนขึ้น ผู้ใหญ่บ้านคนแรก ชื่อนายก๋องใจ (ไม่ทราบนามสกุล) มีโบราณสถานและวัดร้าง ๖ แห่งไม่มีชื่อในทะเบียนวัดร้าง คือ วัดสันมน วัดห่างอุ๊ยปา วัดดงสะเคียน วัดดงเก๊าแดง วัดแม่กอย และโบราณสถานสันป่าโย (ไม่สามารถระบุได้ว่าเคยเป็นวัดร้างหรือไม่)

บ้านสันยาว ราว พ.ศ. ๒๔๐๐ ครอบครัวของพ่ออุ๊ยใจมา ไชยวรรณา และพ่ออุ๊ยตา จอมธรรม อพยพมาจากเมืองเชียงใหม่มาตั้งถิ่นฐานได้ร่วมกันบูรณะวัดตาลเปี้ย(ร้าง) ขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ได้ปลี่ยนชื่อวัดให้ตรงกับชื่อของหมู่บ้าน มีวัดร้าง ๓ แห่งแต่ไม่มีชื่อในทะเบียนวัดร้างคือวัดสันขะเจ๊าะ วัดต๋าลเปี้ย และวัดร้างไม่ทราบชื่อ

บ้านเหล่า เดิมเรียกบ้านเหล่าหลวง ก่อตั้งราว พ.ศ. ๒๔๑๕ คนกลุ่มแรกมาจากจังหวัดลำปาง และอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำหมู่บ้านคนแรกคือ นายวงศ์ (ไม่ทราบนามสกุล) มีวัดร้างในชุมชน ๒ แห่ง คือวัดดงมะดะ และวัดดงป่าเขียะ ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนวัดร้างกับข้อมูลที่ได้จากเวทีชุมชนพบว่าชื่อและที่ตั้งสลับกัน วัดดงมะดะ(ร้าง)ตั้งอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำขุนโก๋น วัดดงป่าเขียะ ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์วัดดงมะดะ(ธรรมยุต) พบวัดร้างในเขตบนภูเขา ๙ แห่ง คือวัดห้วยป่ากล้วย วัดต้นขนุน(ขุนห้วยงูเหลือม) วัดห้วยฝั่งตื้น วัดพระขาวแก้ว วัดห้วยกั๋นจัย (ห้วยบ้านห่าง) วัดห่างป่าหญ้าไทร วัดห่างบ้านอาแย วัดห่างบ้านอาเส่ และวัดร้างไม่ทราบชื่อ

บ้านตีนธาตุ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐ มีชื่อเรียกหลายชื่อคือบ้านศรีบุญเรือง บ้านเหล่าน้อย บ้านใหม่บ้าง คนกลุ่มแรกมาจากอำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันทราย โดยการนำของนายคำ สวะกิจ พบเจดีย์ขนาดเท่าจอมปลวก เล่ากันว่าสมัยก่อนนั้นมีคนพบเห็นพระธาตุเสด็จออกเป็นแสงสว่างจ้าในเทศกาลสำคัญทางศาสนาพระครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะเจดีย์นี้เรียกกันว่าพระธาตุขุนโก๋นหรือพระธาตุหัวเมืองขุนโก๋น มีโบราณสถานเป็นวัดร้าง ๓ แห่ง คือ วัดป่าลัน(มีชื่อในทะเบียนวัดร้าง) วัดสะหลีปันต้น และวัดเก๊าม่วง (ตกสำรวจวัดร้าง) นอกจากนั้นในที่ทำกินไร่สวนของราษฎรยังพบซากเตาหลอมโลหะ เศษกระเบื้อง ถ้วยชาม และวัตถุโบราณ เชื่อว่าเคยมีชุมชนตั้งอยู่ก่อนหลายยุคด้วยกัน

บ้านสันกลาง ตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๑ เดิมชื่อ ป่าบงกลาง คนกลุ่มแรกมาจากบ้านตีนธาตุ ตำบลป่าไหน่ โดยการนำของนายสามแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล) พบซากโบราณสถาน ๑ แห่ง ไม่ทราบชื่อและประวัติ บ้านสันปอธง ก่อตั้งเป็นชุมชนมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ผู้นำหมู่บ้านคนแรกชื่อ นายหลวง (ไม่ทราบนามสกุล) มีวัดร้าง ๒ แห่งชื่อวัดสันปอธง (ร้าง) เชื่อว่าเป็นวัดเดิมของหมู่บ้านที่ย้ายที่ตั้งใหม่มาอยู่ที่วัดสันปอธงปัจจุบัน

บ้านม่วงถ้อย ตั้งขึ้นราว พ.ศ.๒๔๒๕ พบซากโบราณสถานเป็นวัดร้างไม่ทราบชื่อ ๑ แห่ง

บ้านโละปูเลย ตั้งขึ้นราว พ.ศ.๒๓๒๕ ผู้นำหมู่บ้านคนแรก คือ นายตา อินต๊ะนนท์

บ้านม่วงคำ ตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๔๐ คนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ นายอ้าย นางปุ๊ นายคำ นายอิ่นแก้ว นายใจ๋ นายปั๋น นายจั๋น เป็นต้น พบวัดร้าง ๒ แห่ง คือ วัดดอกบัวนาค และวัดม่วงคำได้บูรณะและยกขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาแล้ว

บ้านสันต๊ะผาบ เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากหมู่บ้านม่วงถ้อย เมื่อพ.ศ. ๒๕๒๗ คนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานคือ ครอบครัวของพ่ออุ๊ยวัน แม่อุ๊ยบัว คำหนัก ครอบครัวพ่อสม แม่อ้วน ทรายคำ และญาติ มีชื่อผู้นำชุมชน “ท้าวพญาผาบ” หรือพญาผาบ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์เวียงพร้าวในสมัยพญาเขื่อนเมือง (พ.ศ. ๒๔๑๐-๒๔๑๔) ชาวบ้านได้บูรณะพัฒนาวัดสันต๊ะผาบ(ร้าง)ขึ้นเป็นวัดมีพระภิกษุอยู่จำพรรษา วัดนี้เดิมเรียกว่า วัดคันธกุฎี คำขวัญประจำตำบลป่าไหน่ “ ป่าไม้เมืองงาม ลือนามพระธาตุขุนโก๋น พืชผลเกษตรดินดี เขียวขจีข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ”

ที่มาจาก รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการการสืบค้นประวัติศาสตร์เมืองพร้าวผ่านกระบวนการศึกษาวัดร้างอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ โดย มนัส ตันสุภายน และคณะ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 67 ท่าน

cron