ภาษาล้านนา (คำเมือง-ตั๋วเมือง)

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

ภาษาล้านนา (คำเมือง-ตั๋วเมือง)

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 19 ส.ค. 2014 6:16 am

ภาษาล้านนา
ภาษาล้านนา หรือคำเมือง เป็นภาษาประจำราชอาณาจักรล้านนามาเป็นระยะเวลานาน ตามประวัติศาสตร์ล้านนา มีหลักฐานจารึกอักษรล้านนาเมื่อประมาณ ๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ตามความเป็นจริงสันนิษฐานว่า ภาษาล้านนาเป็นภาษาที่เกิดขึ้นมานานนับพันปีเลยทีเดียว ภาษาล้านนามีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ในอดีตประชาชนชาวล้านนาใช้ภาษาล้านนาในการพูดและการเขียน รวมไปถึงการบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โรงเรียนปรินส์รอยแยลวิทยาลัย ยกเลิกการใช้ภาษาพื้นเมือง หลังจากนั้นปี พ.ศ.๒๔๖๑ รัฐบาลออกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับแรก มีผลต่อโรงเรียนมิชชั่นพอสมควรเนื่องจากโรงเรียนของเอกชนทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กฏระเบียบและการดูแลของทางราชการ ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ เลิกใช้ภาษาพื้นเมืองพูดในโรงเรียน ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๘๓ รัฐบาลได้ประกาศให้ประเทศสยามใช้ภาษากลางเป็นภาษาประจาชาติหมายความว่าไม่มีการสอนและการพูดภาษาพื้นเมืองในโรงเรียน ผลกระทบเนื่องมาจากในช่วงที่โรงเรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ คำเมืองถูกปิดกั้นห้ามมีการสอนหรือถ่ายทอดในโรงเรียนตามกระแสการรวมชาติระหว่างสยามกับล้านนา และถูกปิดกั้นอย่างเด็ดขาดในยุคการเกิดกระแสชาตินิยมช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

ประวัติความเป็นมาของภาษาล้านนา (คำเมือง-ตั๋วเมือง)

ภาษาล้านนา หรือคำเมือง เป็นภาษาประจำราชอาณาจักรล้านนามาเป็นระยะเวลานาน ตามประวัติศาสตร์ล้านนา มีหลักฐานจารึกอักษรล้านนาเมื่อประมาณ ๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา แต่ตามความเป็นจริงสันนิษฐานว่า ภาษาล้านนาเป็นภาษาที่เกิดขึ้นมานานนับพันปีเลยทีเดียว ภาษาล้านนามีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ในสมัยโบราณการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ จะมีการประดิษฐ์อักษรใช้แตกต่างกัน ภาษาล้านนาเป็นภาษาที่มีสัณฐานกลมป้อม คล้ายอักษรมอญ มีเสียงสระภายในตัว ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในอดีต ภาษาล้านนาเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ ความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ ปราชญ์พื้นบ้าน และปราชญ์ราชสำนัก สามารถอ่านออกเขียนได้ มีการให้การสนับสนุนการเรียนภาษาล้านนาทั้งฝ่ายอาณาจักร และฝ่ายศาสนจักร สิ่งที่เป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเมืองในอดีต กฎหมายต่าง ๆ วรรณกรรมพื้นบ้าน ตำรายาสมุนไพร การรักษาโรค โหราศาสตร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ลงบนใบลาน พับสา ข่อย ศิลาจารึก ฝาผนักภาพโบราณที่ต่าง ๆ วรรณกรรมต่าง ๆ ที่มีการบันทึกเป็นภาษาล้านนา เช่น จามเทวีวงศ์ สิหิงคนิทาน พงศาวดารโยนก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ จักรวาฬทีปนี มังคลัตถทีปนี นิราศหริภุญชัย ( กะโลงเมิงเป้า ) ซึ่งเป็นนิราศอายุเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทย ลิลิตพระลอ ปัญญาสชาดก นิทานพื้นบ้านที่แต่งโดยปราชญ์พื้นบ้าน เป็นชาดกหลาย ๆ เรื่อง เช่น อุสาบารส หงษ์หิน กินรี สุวรรณสาม อมราพิศวาส ฯ กฎหมายมังรายศาสตร์ อวหาร๒๕ กฎหมายเช่านา ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การที่มีการใช้อักษรล้านนาจารึกพระไตรปิฎกในการสังคยานาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ในปีพุทธศักราช๒๐๒๐ ณ วัดมหาโพธาราม ( วัดเจ็ดยอด ) ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชมหาราช แห่งราชวงศ์มังราย ช่วงนั้นถือว่าเป็นยุคทองของภาษาและวรรณกรรมล้านนาเป็นอย่างมาก หลังจากที่ทำสังคยานาเสร็จสิ้นลง ได้แจกจ่ายใบลานพระไตรปิฎกเผยแพร่ไปยังที่ต่าง ๆ เช่น เมืองสิบสองปันนา เมืองหลวงพระบาง และหัวเมืองต่าง ๆ ของอาณาจักรล้านนา นอกจากนั้นในสมัยต่อ ๆ มา มีการเรียนรู้วรรณกรรมกันอย่างแพร่หลาย ตามพื้นบ้านล้านนาจะมีศิลปินชาวบ้าน พูดคุย ทักทายกันด้วยสำเนียงภาษาที่มีระเบียบระบบ เช่น ค่าวซอ กาพย์ เจี้ย จ๊อย กะโลง ฯลฯ ภาษาล้านนา เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อักษรธรรม สร้างนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น พระสิริมังคลาจารย์ พระโพธิรังษี พระรัตนปัญญาเถระ สามเณรใหญ่ แสนเมืองมา ศรีวิชัยโข้ พระยาพรหมโวหาร ( กวีเอกแห่งล้านนา ) ผู้แต่งค่าวกำจ่มพระยาพรหม ปู่สอนหลาย ย่าสอนหลาน ฯลฯ ความเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้ภาษาล้านนามีความสำคัญในบทบาทที่หลากหลาย คุณค่าทางภาษา ที่สะท้อนวิถีชีวิตในอดีต เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิตของอนุชนคนรุ่นหลังในปัจจุบัน ดังนั้น เราควรที่จะเรียนรู้ และสืบสานสิ่งที่ดีงามโดยปรับนำมาใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้มรดกวัฒนธรรมทางภาษาคงอยู่ตราบนานเท่านาน ภาษาล้านนามีทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ในสมัยโบราณการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นข้อมูลความรู้ด้านต่าง ๆ จะมีการประดิษฐ์อักษรใช้แตกต่างกัน ภาษาล้านนาเป็นภาษาที่มีลักษณะกลมป้อม คล้ายอักษรมอญ มีเสียงสระภายในตัว ใช้ในการติดต่อสื่อสารกันในอดีต ภาษาล้านนาเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ ความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ คำว่า ตั๋วเมือง หรือภาษาล้านนา นี้ เป็นชื่อเรียกตัวอักษรที่ใช้กันในบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย (ล้านนา) ซึ่งคนในบริเวณนี้เรียกตัวเองว่า คนเมือง ภาษาพูดก็เรียกว่า คำเมือง และอักษรเขียนก็เรียกว่า ตั๋วเมือง ซึ่งเป็นแบบฉบับของตนเองและได้วิวัฒนาการมาเป็นร่วม ๒,๐๐๐ ปี ยังคงปรากฏและใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ในอดีตการเรียนภาษาล้านนา จะเรียนทั้งฝ่ายอาณาจักรและฝ่ายศาสนจักร สิ่งที่เป็นวิถีชีวิตพื้นบ้าน ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรม หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบ้านเมือง กฎหมายต่างๆ วรรณกรรมพื้นบ้าน ตำรายาสมุนไพร การรักษาโรค โหราศาสตร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกบันทึกไว้ลงบนใบลาน พับสา ข่อย ศิลาจารึก ฝาผนังภาพโบราณที่ต่างๆ การบันทึกภาษาล้านนาที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุด คือ การใช้อักษรล้านนาจารึกพระไตรปิฎกในการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ปัจจุบันการเรียน ตั๋วเมือง หรือภาษาล้านนา น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะเยาวชนและคนทั่วไปต่างไม่ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ล้าสมัยหรือเห็นว่าเป็นสิ่งที่ พระ เณร ในวัดเท่านั้นที่ต้องเรียน จึงทำให้ขาดผู้ที่จะศึกษาและรักษามรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป

ภาษาล้านนา หมายรวมถึง ภาษาเขียน (ตั๋วเมือง) และภาษาพูด (กำเมือง) นอกจากจะใช้ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือแล้ว ยังมีผู้ใช้ภาษาล้านนาในบางท้องที่ของจังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย สระบุรี ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น นครเชียงตุง (เมียนม่าร์) สิบสองปันนา (จีน) และอีกหลายแห่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แม้จะมีสำเนียงพูดผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ตัวอักษรแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย แต่ก็สามารถสื่อสารกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาษาเขียนที่ใช้ในนครเชียงตุง ที่เรียกว่า ตั๋วขึน ทั้งลักษณะของตัวอักษร และอักขรวิธีเหมือนกับ ตั๋วเมือง ที่ใช้ในภาคเหนือของไทย อักษรล้านนา (ตั๋ว เมือง) ถือได้ว่าเป็นอักษรแห่งภาษาแม่ของชาวล้านนา เป็นมรดกอันล้ำค่าทางอักษรศาสตร์ เป็นศาสตร์อันสูงสุดของชาวล้านนา เป็นภูมิปัญญาของนักปราชญ์ชาวล้านนา เป็นอักษรแห่งมนต์ขลัง ถือกันมาว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การรับรองพระพุทธพจน์ จึงเป็นอักษรที่ใช้เกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ใช้ในการจารพระไตรปิฎก คัมภีร์ใบลาน ธรรมชาดก บทสวดมนต์ พงศาวดาร ตำนาน ศิลาจารึก โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตำรายาสมุนไพร วรรณกรรมล้านนา ตลอดถึงคติ คำสอนต่างๆ และที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือตำราไสยศาสตร์ เลขยันต์ คาถาเวทย์มนต์ต่างๆ ที่คนล้านนาถือว่าขลังมาแต่โบราณกาล

ชาวล้านนาถือว่า “ตั๋วเมือง” เป็นของสูง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่าสูงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น พับสา คัมภีร์ใบลาน สมุด ข่อย แม้แต่กระดาษที่เขียนด้วยตั๋วเมือง จะต้องเก็บไว้ในที่อันควร เช่น บนโต๊ะ บนหิ้ง บนหัวนอน จะไม่มีการทิ้งเรี่ยราด ไม่มีการเหยียบหรือเดินข้ามเป็นอันขาด แม้ว่าตั๋วเมืองจะเสื่อมลงในระยะที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า เกือบ ๒๐๐ ปี (ราว พ.ศ. ๒๑๐๑ – ๒๓๒๐) กอปรกับในเวลาต่อมาเมื่ออาณาจักรล้านนาพ้นจากการปกครองของพม่าแล้ว ล้านนาก็ต้องตกเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องการให้สยามประเทศเป็นหนึ่งเดียวในด้านภาษา จึงไม่สนับสนุนให้เรียนตั๋วเมือง ให้ใช้ภาษาไทยกลางเป็นสื่อ ไม่อนุญาตให้มีการสอนตั๋วเมืองในโรงเรียน คงมีสอนเฉพาะในวัดสำหรับผู้จะบวชเป็นภิกษุสามเณรเท่านั้น ผู้หญิงหรือผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้าเป็นศิษย์วัด (ขะโยม) เพื่อเตรียมบรรพชาอุปสมบทจึงไม่มีโอกาสได้เรียนตั๋วเมือง ในระยะหลังๆ ต่อมาแม้ในวัดก็ไม่มีการสอนตั๋วเมืองอีกเช่นกัน ทำให้ชาวล้านนาไม่รู้จักตั๋วเมือง อ่านตั๋วเมืองไม่ออก ทั้งๆ ที่เป็นภาษาที่บรรพชนนักปราชญ์ล้านนาคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นด้วยภูมิปัญญาอันสูงส่ง


ที่มา https://50lannalang.wordpress.com/
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน

cron