ประวัติความเป็นมาของจังหวัดในภาคเหนือตอนบน(ล้านนา)

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: ประวัติความเป็นมาของจังหวัดในภาคเหนือตอนบน(ล้านนา)

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อังคาร 20 ม.ค. 2015 5:22 am

ประวัติศาสตร์น่าน

น่าน.jpg
น่าน.jpg (462.89 KiB) เปิดดู 3159 ครั้ง


เมืองน่านในอดีตเป็นนครรัฐเล็ก ๆ ก่อตัวขึ้นราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน และแม่น้ำสาขา ในหุบเขา ทางตะวันออกของภาคเหนือ


ในอดีตผืนแผ่นดินเมืองน่านเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ย้อนหลังไปหลายพันปีก่อน จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีพบหลักฐานการผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว ๔,๐๐๐ ปี ในพื้นที่ต่อเนื่องมากกว่า ๑๐ ตร.กม. และพบแหล่งผลิตเครื่องถ้วยชามเคลือบเนื้อแกร่ง ฆ้อนหิน สะเก็ดหิน เครื่องมือหินรูปร่างหยาบๆในขั้นตอนแรกๆของการผลิตหรือโกลน และเครื่องมือที่ชำรุดแตกหักเสียหายระหว่างการผลิต

ราชวงศ์ภูคาสร้างเมืองวรนครหรือเมืองปัว
ประวัติศาสตร์เมืองน่านเริ่มปรากฏขึ้นราว พ.ศ. ๑๘๒๕ ภายใต้การนำของพญาภูคา เจ้าเมืองย่าง ศูนย์การปกครองอยู่ที่เมืองย่าง (เชื่อกันว่าคือบริเวณริมฝั่งด้านใต้ของแม่น้ำย่าง ใกล้เทือกเขาดอยภูคาในเขตบ้านเสี้ยว ตำบลยม อำเภอท่าวังผา) เพราะปรากฏร่องรอย ชุมชนในสภาพที่เป็นคูน้ำ คันดิน กำแพงเมืองซ้อนกันอยู่ ต่อมาพญาภูคา ได้ขยายอาณาเขตปกครองของตนออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยส่งราชบุตรบุญธรรม ๒ คน ไปสร้างเมืองใหม่ โดยขุนนุ่น ผู้พี่ไปสร้างเมืองจันทบุรี (เมืองหลวงพระบาง) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำของ (แม่น้ำโขง) และขุนฟองผู้น้องสร้างเมืองวรนคร(เมืองปัว) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ การที่ให้ชื่อว่าเมือง "วรนคร" ก็เนื่องมาจาก พญาภูคา ได้เลือกชัยภูมิที่ดี เหมาะสมในการสร้างเมือง เสร็จแล้วจึงขนานนามว่าเมือง "วรนคร" ซึ่งหมายถึง เมืองดี นับว่าเป็นการเริ่มต้นราชวงศ์ภูคา

เมื่อบ้านเมืองวรนครเริ่มมั่นคงเป็นปึกแผ่น เจ้าขุนฟองก็ได้เป็นพญาแล้วเสวยราชสมบัติในเมืองวรนคร ทรงมีพระโอรส ๑ พระองค์ ใส่ชื่อเบิกบายว่า "เจ้าเก้าเกื่อน" ต่อมาไม่นานักพญาขุนฟองถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนราชบุตรจึงได้ขึ้นครองเมืองปัวแทน ด้านพญาภูคาครองเมืองย่างมานานและมีอายุมากขึ้น มีความประสงค์จะให้เจ้าเก้าเถื่อนผู้หลานมาครองภูคาหรือเมืองย่างแทน จึงให้เสนาอำมาตย์ไปเชิญ แต่เจ้าเก้าเกื่อนไม่ค่อยเต็มใจนัก เจ้าเก้าเถื่อนเกรงใจปู่จึงยอมไปอยู่เมืองย่าง และมอบให้ชายาคือนางพญาแม่ท้าวคำปิน ซึ่งทรงครรภ์อยู่คอยปกครองดูแลรักษาเมืองวรนคร(เมืองปัว) แทน เมื่อพญาภูคาถึงแก่พิราลัย เจ้าเก้าเถื่อนจึงครองเมืองย่างแทน

ในช่วงที่เมืองวรนคร (เมืองปัว) ว่างจากผู้นำ เนื่องจากเจ้าเก้าเถื่อนไปครองเมืองย่างแทนปู่คือพญาภูคา พญางำเมืองเจ้าผู้ครองเมืองพะเยา จึงได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองบ้านเมืองปัวทั้งหมด นางพญาแม่เท้าคำปินพร้อมด้วยบุตรในครรภ์ ได้หลบหนีไปอยู่บ้านห้วยแร้ง จนคลอดได้บุตรชายท่ามกลางท้องไร่นั้น ชื่อว่า "เจ้าขุนใส" ปรากฎว่านายบ้านห้วยแร้งนั้น เป็นพ่อครัวพญาเก้าเกื่อนมาก่อน จึงรับนางพญาแม่ท้าวคำปินและกุมารไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ อายุได้ ๑๖ ปี ก็นำไปไหว้สาพญางำเมือง เมื่อพญางำเมืองเห็น ก็มีใจรักเอ็นดูรับเลี้ยงดูไว้ แลเติบใหญ่ได้เป็นขุนนาง รับใช้พญาคำเมืองจนเป็นที่โปรดปราน พญางำเมืองจึงสถาปนาให้เป็น เจ้าขุนใสยศ ครองเมือง เป็นเจ้าเมืองปราดภาย หลังมีกำลังพลมากขึ้นจึงยกทัพมาต่อสู้จนหลุดพ้นจากอำนาจเมืองพะเยา แล้วกลับมาเป็นพญาเสวยเมืองวรนคร (เมืองปัว) และได้รับการสถาปนาเป็น "พญาผานอง" เมืองวรนคร จึงกลายชื่อมาเป็นเมืองปัว ซึ่งหันไปมีความสัมพันธ์กับกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ดังปรากฎชื่อเมืองปัวอยู่ในหลักศิลาจารึก หลักที่ ๑

ความสัมพันธ์ด้านอารยธรรมระหว่างเมืองน่านกับกรุงสุโขทัย
พญาผานองเสวยเมืองปัวอยู่ได้ ๓๐ ปี มีโอรส ๖ คน คนแรกชื่อเจ้าการเมือง คนสุดท้องชื่อ เจ้าใส พอพญาผานองถึงแก่พิราลัยไปแล้ว เสนาอำมาตย์ทั้งหลายก็อภิเษกให้เจ้าใสผู้น้องเสวยเมืองแทน เพราะเป็นผู้มีความรู้เฉลียวฉลาด แต่อยู่ได้ ๓ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย ไปอีก เสนาอำมาตย์ทั้งหลายจึงเชิญเจ้าการเมืองขึ้นเสวยเมืองแทน

ในสมัยของพญาการเมือง (กรานเมือง) โอรสของพญาผานอง เมืองปัว ได้มีการขยายตัวมากขึ้น ตลอดจนมีความสัมพันธ์กับเมืองสุโขทัยอย่างใกล้ชิด พงศาวดารเมืองน่านกล่าวถึงพญาการเมืองว่า ได้รับเชิญจากเจ้าเมืองสุโขทัย (พระมหาธรรมราชาลิไท) ไปร่วมสร้างวัดหลวงอภัย (วัดอัมพวนาราม) ขากลับเจ้าเมืองสุโขทัย ได้พระราชทานพระธาตุ ๗ องค์ พระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ให้กับพญาการเมืองมาบูชา ณ เมืองปัวด้วย

ครั้งนั้น พญาการเมือง ได้ปรึกษาพระมหาเถรธรรมบาลและได้เลือกสถานที่ บรรจุพระบรมธาตุ จึงได้ก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่บนภูเพียงแช่แห้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นที่เคยบรรจุพระบรมธาตุมาแต่ปางก่อน ดอยภูเพียงแช่แห้งเป็นเนินไม่สูงนัก ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเตี๋ยนกับน้ำลิง ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำน่าน จึงได้ระดมผู้คนก่อสร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นที่เนินแล้วอัญเชิญพระบรมธาตุมาบรจุไว้ พร้อมทั้งได้อพยพผู้คนจากเมืองปัว ลงมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณพระธาตุแช่แห้ง เรียกว่า "เวียงภูเพียงแช่แห้ง" เมือปี พ.ศ. ๑๙๐๒ โดยมีพระธาตุแช่แห้งเป็นศูนย์กลางเมือง

เวียงใต้
พญาการเมืองครองเมืองภูเพียงแช่แห้งได้นานถึง ๕ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย หลังจากพญาการเมืองถึงแก่พิราลัย โอรสคือ พญาผากอง ขึ้นครองแทน ต่อมาอีก ๖ ปี พญาผากอง ตระหนักได้ถึงปัญหาน้ำไม่พอใช้ เพราะเวียงแช่แห้งอยู่บนเนินสูงและลำน้ำลิงที่แหล่งน้ำสำคัญนั้น มีขนาดเล็ก น้ำแห้งขอดในฤดูแล้งไม่พอกับพลเมืองที่เพิ่มขึ้น เกิดปัญหาความแห้งแล้ง จึงย้ายเมืองมาสร้างใหม่ที่ริมแม่น้ำน่านด้านตะวันตกบริเวณ บ้านห้วยไคร้ (ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของจังหวัดน่านในปัจจุบัน) เรียกว่า "เวียงน่าน" ซึ่งเมื่อมีการอพยพหนีน้ำท่วมไปเวียงเหนือจึงเรียกอีกชื่อว่า "เวียงใต้"

ในปี พ.ศ. ๑๙๑๑ พญาผากอง ครองเมืองน่านนี้อยู่ได้ ๒๑ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย และได้มีรัชทายาทครองเมืองน่านมาอีก ๑ องค์ คือ เจ้าคำตัน และครองเมืองน่านได้ ๑๑ ปี ก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าศรีจันตะได้ครองเมืองน่านแทน พระยาแพร่ ๒ องค์ ก็ยกทัพมาตีเมืองน่าน และครองเมืองน่านอยู่ได้ชั่วเวลาอันสั้น ราชวงศ์เมืองน่านก็ตีกลับคืนมาได้ ในสมัยเจ้าปู่เข่ง

ในสมัยเจ้าปู่เข่งครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๕๐ - ๑๙๖๐ ก็ได้สร้างวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร, วัดพระธาตุเขาน้อย, วัดพญาภู แต่สร้างไม่ทันเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยเสียก่อนพญางั่วฬารผาสุม ผู้เป็นหลานได้สร้างต่อจนแล้วเสร็จและได้สร้าง พระพุทธรูปทองคำปางลีลา ปัจจุบันคือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

เมืองน่านเข้ารวมอยู่ในอาณาจักรล้านนา
ต่อมาอีกไม่นาน แม้เมืองน่านซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ รักษาตัวอยู่รอดมาได้ตลอดสมัยสุโขทัย จนกระทั่งถึงสมัยอยุธยา แต่ทางอาณาจักรล้านนาไทย (เชียงใหม่) ก็มีกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพเกิดขึ้น นั่นคือ พระเจ้าติโลกราช และในปี พ.ศ. ๑๙๙๓ พระเจ้าติโลกราช มีความประสงค์จะครอบครองเมืองน่านและแหล่งเกลือบ่อเกลือสินเธาว์ ของเมืองน่าน (ต.บ่อเกลือใต้ อ.บ่อเกลือ) ที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์และหาได้ยากทางภาคเหนือ เพื่อจะได้ส่งส่วยค้ำจุนเมืองปิงเชียงใหม่ จึงได้จัดกองทัพผ่านมาทางเมืองลอ เมืองปง เมืองควัน ดอยวาว เข้าตีและยึดเมืองน่าน พญาอินต๊ะแก่นท้าว ไม่อาจต้านทาน จึงได้จึงอพยพหนีไปอาศัยอยู่ที่เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) ด้วยเหตุนี้ ทำให้พระเจ้าติโลกราชยกกองทัพลงมาตีเมืองชากังราว และจะเลยไปตีสุโขทัย แต่ก็ตีไม่ได้ จึงเลิกทัพกลับไป

เมืองน่านจึงถูกผนวกเข้าไว้ในอาณาจักรล้านนา แต่ก็ยังมีเจ้าผู้ครองนครน่านเป็นราชวงศ์ภูคาอยู่จนถึง พญาผาแสงถึงแก่พิราลัย ฐานะเมืองน่านก็เปลี่ยนเป็นหัวเมืองในราชอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่นั้นมาตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐๐ ปี เมืองน่านอยู่ในครอบครองของ อาณาจักรล้านนา ได้ค่อย ๆ ซึมชับเอาศิลปวัฒนธรรมของล้านนามาไว้ในวิถีชีวิต โดยเฉพาะการรับเอาศิลปกรรมทางด้านศาสนา ปรากฏศิลปกรรมแบบล้านนาเข้ามาแทนที่ศิลปกรรมแบบสุโขทัย อย่างชัดเจน ดังเช่น เจดีย์วัดพระธาตุแช่แห้ง เจดีย์วัดสวนตาล เจดีย์วัดพระธาตุช้างค้ำ แม้จะเหลือส่วนฐานที่มีช้างล้อมรอบ ซึ่งเป็นลักษณะศิลปะแบบสุโขทัยอยู่ แต่ส่วนองค์เจดีย์ขึ้นไปถึงส่วนยอดเปลี่ยนเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาไปจนหมดสิ้น

จนกระทั่งมาสมัย ท้าวขาก่าน เจ้าเมืองน่านองค์ที่ ๑๘ ครองเมืองน่าน ระหว่างปี พ.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๓ ได้บูรณะพระธาตุแช่แห้ง จากสภาพรกร้างเป็นจอมปลวกอยู่ในป่าไผ่ โดยการก่อสร้างเป็นเจดีย์ครอบองค์พระธาตุเดิมให้สูงขึ้นอีก ๖ วา นอกจากนั้น ยังได้ปราบญวนที่ยกมาตีเมืองน่านได้ราบคาบ ชาวเมืองน่านดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุข

เมืองน่านขึ้นพม่า
พ.ศ.๒๑๐๑ เจ้าฟ้าหงสามังตรา (บุเรงนอง) ได้ยึดเมืองเชียงใหม่เป็นประเทศราช พญาพลเทพฤชัยหนีไปเมืองล้านช้าง นับตั้งแต่นั้นมา เมืองน่านต้องขี้นตรงต่อการปกครองของพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เป็นระยะเวลาร่วม ๒๐๐ ปีเศษในระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๐๓ - ๒๓๒๘

พญาหน่อคำเสถียรชัยสงคราม ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๓-๒๑๓๔ ไดู้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระธาตุแช่แห้ง ร่วมกับเจ้าฟ้าสาระวดี พญาเชียงใหม่ (มังนรธาช่อ-โอรสบุเรงนอง)

เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ โอรสพญาหน่อคำ ครองเมืองน่าน พ.ศ. ๒๑๓๔-๒๑๔๖ สร้างวัดดอนแท่นที่เมืองป้อ (อำเภอเวียงสา) และสร้างวัดพรหมินทร์ ได้พยายามแข็งเมืองกับพม่า (ตรงกับสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกจับไปประหารชีวิตที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๑๔๖

เจ้าอุ่นเมือง ครองเมืองน่าน พ.ศ. ๒๑๕๘-๒๑๖๘ และเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๗ พระเจ้าสุทโธธรรมราชยกทัพมาตีเมืองน่าน ชาวเมืองน่านจำนวนมากถูกกวาดต้อนไปไว้ที่เมืองหงสาวดี

เมืองน่านคราวเป็นจลาจล
พระยาหลวงเมืองนคร (เจ้าเมืองลำปาง) ยกกำลังจากลำปางมาชิงเมืองน่าน

เจ้าพญาแหลมมุม (พ.ศ.๒๑๙๒-๒๒๐๕) ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยายกทัพมาตีเมืองน่าน และจับตัวไป

พระเมืองราชา (พ.ศ. ๒๒๓๒-๒๒๔๖) สมคบกับลาวแสนแก้ว แข็งเมืองกับพม่า พระเจ้ากรุงอังวะรู้ข่าวจึงยกทัพมาปราบปราม เมืองน่านถูกเผาทำลายเสียหายหนัก ผู้คนหลบหนีหลบซ่อนตามป่าเขา เมืองน่านถูกทิ้งร้างไปนานร่วม ๕ ปี

เจ้าเมืองอังวะแต่งตั้งให้พญานาซ้ายรักษาเมือง เพื่อรวบรวมไพร่พลเมืองน่านที่หลบซ่อนอยู่ในป่า ให้ออกมาร่วมสร้างเมืองขึ้นใหม่

เจ้าฟ้าเมืองคอง (เงี้ยว) ครองเมืองน่านร่วมกับพญานาซ้าย (พ.ศ.๒๒๕๑-๒๒๕๗) รวบรวม ผู้คนสร้างเมืองน่านให้เป็นปึกแผ่นและมิให้ก่อการกระด้างกระเดื่อง

เจ้าฟ้าเมียวซา (พม่า) ครองเมืองน่านร่วมกับพญานาซ้าย (พ.ศ. ๒๒๕๗-๒๒๕๙) บูรณะซ่อมแซมองค์พระธาตุแช่แห้ง พร้อมทั้งยกฉัตร ๗ ชั้น


สกุลเจ้าพญาหลวงติ๋น ต้นวงศ์เจ้านครเมืองน่าน
เมื่อพระนาขวาดูแลเมืองน่านร่วม ๑๑ ปี ก็ได้ไปทูลพระเจ้ากรุงอังวะเพื่อขอเจ้าพระยาติ๋นหลวงเมืองเชียงใหม่ มาเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน เจ้าพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ครองเมืองน่านระหว่าง พ.ศ. ๒๒๖๙-๒๒๙๔ เป็นลำดัีบที่ ๕๑ นับเป็นบรรพบุรุษสกุล "ณ น่าน" ปัจจุบัน

เมืองน่านรวมอยู่ในราชอาณาจักรสยาม
ในช่วง พ.ศ. ๒๒๙๗-๒๓๒๗ หัวเมืองล้านนาต่างๆ พยายามแข็งข้อต่อพม มีการสู้รบกันตลอดมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สามารถโจมตีขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่เป็นผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗ แต่เมืองน่านยังตกอยู่ในฝ่ายพม่า เจ้าน้อยวิฑูร เจ้าเมืองน่านถูกจับและถูกคุมตัวส่งไปยังกรุงธนบุรี (พ.ศ.๒๓๒๑) เมืองน่านจึงขาดผู้นำ

พม่าได้ยกทัพกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เชียงแสน ทำให้เมืองน่านถูกทิ้งร้างว่างเปล่า จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแต่งตั้งให้เจ้ามงคลวรยศ หลานเจ้าพญาหลวงติ๋น มาปกครองเมืองน่านที่รกร้างว่างเปล่า และในปีพ.ศ. ๒๓๒๘ กองกำลังพื้นเมืองล้านนาโดยการสนับสนุนของกองทัพไทย ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ น่านจึงรวมเข้าอยู่ในอาณาจักรสยาม และเจ้ามงคลวรยศได้ยกเมืองน่านให้เจ้าฟ้าอัตวรปัญโญปกครองสืบไป

เมืองน่านขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. ๒๓๓๑ เจ้าอัตถวรปัญโญ ได้ลงมาเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เพื่อขอเป็นข้าขอบขันฑสีมา เจ้าอัตถวรปัญโญ หลังจากขึ้นครองเมืองน่าน ยังมิได้เข้าไปอยู่เมืองน่านเสียทีเดียว เนื่องจากเมืองน่านยังรกร้างอยู่ ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ คือ บ้านตึ๊ดบุญเรือง เมืองงั้ว (บริเวณอำเภอนาน้อย) เมืองพ้อ (บริเวณอำเภอเวียงสา) หลังจากได้บูรณะซ่อมแซมเมืองน่านแล้ว พร้อมทั้งได้ขอพระบรมราชานุญาตกลับเข้ามาอยู่ในเมืองน่าน และรัชกาลที่ ๑ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครเมืองน่าน และแต่งตั้งเจ้าสุมนเทวราชขึ้นเป็นเจ้าพระยาหอหน้าฯ

ในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ เมืองน่านจึงมีฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ มีความสามารถในการปกครองและบริหารบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดปรานและรักใคร่ดังลูกหลาน
- นำกำลังทัพร่วมกับเมืองเชียงใหม่และลำปาง ตีเมืองเชียงแสน ยึดคืนจากพม่าได้
- นำเมืองสิบสองปันนา เชียงรุ้ง มาสวามิภักดิ์
- ถวายพระเกศาธาตุเจ้า
- บูรณะปฏิสังขรณ์และพุทธาภิเษกเฉลิมฉลอง วัดพระธาตุแช่แห้งครั้งใหญ่
- สร้างกำแพงและบูรณะเวียงเก่าน่านขึ้นใหม่
- บูรณะสร้างเวียงป้อ (เวียงสา) ขึ้นมาใหม่
- สร้างฝาย กั้นแม่น้ำสา
- สร้างวัดบุญยืนที่เวียงสา

ถึงแม้เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้าผู้ครองนครมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครองพลเมือง แม้ว่าการขึ้นครองนครจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรุงรัตนโกสินทร์ก็ตาม แต่โดยทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองน่าน เลือกตัวเจ้านายผู้มีอาวุโสเป็นเจ้าผู้ครองนครกันเอง มิได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน

เจ้าผู้ครองนครเมืองน่านในชั้นหลังทุกพระองค์ ต่างปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเที่ยงธรรม มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ได้ช่วยราชการบ้านเมืองสำคัญๆ หลายครั้งหลายคราวด้วยกัน เช่น ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงแสนในรัชกาลที่ ๑ ปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์ในรัชการที่ ๓ ช่วยราชการสงครามเมืองเชียงตุง ในรัชกาลที่ ๔ และ รัชกาลที่ ๕ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ ทำนุบำรุงกิจการพระพุทธศาสนาในเมืองน่าน ซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ อยู่เป็นนิจ ทำให้เมืองน่านกลับคืนสู่สันติสุข ร่มเย็น ต่างจากระยะแรกๆ ที่ผ่านมา

เวียงเหนือ
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๐ (ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำในแม่น้ำน่านไหลเข้าสู่ตัวเมืองน่านด้วยความแรงและเชี่ยว ได้พัดพากำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกพังทลายลงทั้งแถบ บ้านเรือนพังทลายเกือบหมด วัดวาอารามในนครน่านหักพังเป็นอันมาก พ.ศ. ๒๓๖๒ พญาสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่าน จึงได้ย้ายเมืองไปอยู่บริเวณดงพระเนตรช้าง ซึ่งเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเดิม ใช้เวลาสร้าง ๖ เดือน จึงแล้วเสร็จ เรียกว่า "เวียงเหนือ" (ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านมหาโพธิ์ และบ้านสถารส อ.เืมือง) ห่างจากเวียงใต้ประมาณ ๒ กิโลเมตร

เวียงเหนือ ทอดไปตามลำน้ำน่าน ห่างจากแม่น้ำน่านประมาณ ๘๐๐ เมตร มีคูเมืองล้อมรอบ ซึ่งปัจจุบัน ยังพบร่องรอยคูน้ำคันดินเวียงเหนือ สันนิษฐานว่า ครั้งที่ย้ายเมืองนั้น มีวัดสถารสเป็นวัดหลวงของเขตเวียงเหนือในปัจจุบัน คือ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน
ด้านเหนือ จดบ้านหัวเวียงเหนือ
ด้านใต้ จดทุ่งนาริน
ด้านตะวันออก ยาวไปตามถนนสุมนเทวราช
ด้านตะวันตก ตั้งแต่มุมรั้วสนามกีฬา จังหวัดน่าน ทิศเหนือ และทุ่งควายเฒ่าข้าวสาร
วัดสถารสเป็นวัดเดียวในเวียงเหนือ ที่มีพระธาตุเจดีย์ จึงสันนิษฐานว่าเป็นวัดหลวง

ศูนย์กลางนครน่าน อยู่ที่เวียงเหนือสืบกันมาได้ ๓๖ ปี จนถึงสมัยของเจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ ผู้ครองนครน่าน จึงได้ย้ายเมืองมาอยู่ ณ ที่ตั้งปัจจุบันใน จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๙๗

เวียงน่าน "เจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด"
หลังจากที่ย้ายเมืองมาเวียงเหนือแล้ว ต่อมาแม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเบี่ยงห่างจากกำแพงเวียงใต้ไปมาก ในปีพ .ศ. ๒๓๙๗ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ย้ายเมืองน่านจากเวียงเหนือ (บริเวณดงพระเนตรช้าง) กลับไปยังเวียงใต้ ปฏิสังขรณ์กำแพงเมือง ส่วนที่เคยถูกกระแสน้ำพัดพังทลายและซ่อมแซมสิ่งชำรุดทรุดโทรมให้ดีดังเดิม จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ (ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงทำเลที่ตั้งของเวียงเหนือ เวียงใต้ และเมืองน่านปัจจุบัน และแนวแม่น้ำน่านซึ่งเบี่ยงไปทางตะวันออก) อนึ่ง แม่น้ำส่วนที่เบี่ยงไปนั้น ความยาวเพียง ๑ กิโลเมตรเศษ ลำน้ำที่เบี่ยงเกิดจากธรรมชาติหรือคนขุดมิอาจสรุปได้ เพราะไม่มีหลักฐานบันทึกไว้

ตัวเมืองน่านมีกำแพง ๔ ด้าน มีคูเืมือง ๓ ด้าน เว้นด้านติดแม่น้ำ กำแพงสูงประมาณ ๒ วา กำแพงด้านตะวันออก มีประตูไชย (ประตูน้ำเข้ม) กำแพงด้านตะวันตก มีประตูปล่อง ประตูหนองห่าน กำแพงด้านทิศเหนือ มีประตูริม กำแพงด้านใต้มี ประตูเชียงใหม่ ประตูท่าลี่ จนคนน่านผูกเป็นคำคล้องจองว่า เจ็ดประตู หนึ่งหนอง สิบสองวัด (หนองในที่นี้คือ หนองแก้ว และวัดลำดับที่สิบสอง คือวัดน้อยในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านในปัจจุบัน)


เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน
สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้ไขวิธีการปกครองแผ่นดินขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็นมณฑลเทศาภิบาล ได้ทรงส่งข้าราชการผู้ใหญ่ที่วางพระราชหฤทัยจากกรุงเทพฯ เป็นผู้แทนต่างพระเนตรพระกรรณ มากำกับดูแลการบริหารบ้านเมืองของเจ้าผู้ครองนคร เรียกชื่อตามตำแหน่งทำเนียบว่า "ข้าหลวงประจำเมือง"

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านได้ประกอบคุณงามความดีแก่ราชการบ้านเมือง เป็นที่รักใคร่นับถือของเจ้านายท้าวพระยาและพลเมืองโดยทั่วไป จึงได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดชฯ เลือนยศฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น "พระเจ้านครน่าน" มีพระนามปรากฏตามสุพรรณปัฏว่า "พระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช กุลเชษฐมหันต์ ไชยนันทบุรมหาราชวงศาธิบดี สุริตจารีราชนุภาวรักษ์ วิบูลยศักดิ์กิติไพศาล ภูบาลบพิตรสถิตย์ ณ นันทราชวงษ์ พระเจ้านครน่าน" เป็นพระเจ้านครน่านองค์แรก และองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าน่าน


พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้สร้าง หอคำ (คุ้มหลวง) ขึ้นแทนหลังเดิมซึ่งสร้างในสมัยของ เจ้าอนันตวรฤิทธิเดชฯ และด้านหน้าหอคำ มีข่วงไว้ทำหน้าที่คล้ายสนามหลวง สำหรับจัดงานพิธีต่างๆ ตลอดจนเป็นที่จัดขบวนทัพออกสู้ศึก จัดขบวนนำเสด็จหรือขบวนรักแขกเมืองสำคัญ

เมื่อพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ถึงแก่พิราลัย เจ้ามหาพรหมสุรธาดา (เจ้าอุปราช) ได้ขึ้นครองเมืองน่าน ในสมัยนี้อำนาจของเจ้าผู้ครองนครลดน้อยลง ทางกรุงเทพฯ ได้จัดส่งข้าราชการ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คลังจังวหัด และสรรพากรจังหวัด มาประจำหน่วยงาน เรียกกันว่า "เค้าสนามหลวง" ส่วนตัวเจ้าผู้ครองนครได้กำหนดรายได้เป็นอัตราเงินเดือน ส่วยอากรต่างๆ ต้องเก็บเข้าท้องพระคลังทั้งสิ้น

และในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่าน ถึงแก่พิราลัย ตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครก็ถูกยุบเลิกตั้งแต่นั้นมา ส่วนหอคำได้ใช้เป็น ศาลากลางจังหวัดน่าน จนปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จังหวัดน่าน ได้มอบหอคำให้กรมศิลปากร ใช้เป็นสถานที่จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน จนกระทั่งปัจจุบัน

การเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองน่านให้ฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖

บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นเขตอิทธิพลของล้านนา ถือกันมาแต่โบราณแล้วว่า เขตแดนล้านนาจดกับแม่น้ำโขง โดยมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นล้านนาและล้านช้าง หลักการข้างต้น ยังปฏิบัติสืบมาถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ เพราะมีหลักฐานกล่าวถึง เมืองเงิน หรือ กุฎสาวดี ตั้งอยู่ฝั่งขวาริมแม่น้ำโขงอยู่ในความปกครองของเมืองน่าน

น่านครอบคลุมฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
หัวเมืองชายแดนด้านฝั่งขวาของแม่น้ำโขงที่ขึ้นกับเมืองน่าน ประกอบด้วย เมืองเิงิน เมืองคอบ เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อน แม้จะเป็นเมืองชายขอบของเมืองน่าน แต่เมืองน่านดูแลอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม เมื่อจักรวรรดินิยมมีความต้องการดินแดนส่วนนี้ ก็เข้าแทรกแซงด้วยกำลังที่เหนือกว่า จนกระทั่งได้ไปในที่สุด

สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ นั้น สืบเนื่องมาจากปัญหาสองประการคือ
ประการแรก ผลของการตีความในสนธิสัญญาที่ลงนามเืมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยเฉพาะในข้อ ๓ และข้อ ๔ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต ๒๕ กิโลเมตร ดังนี้
- ข้อ ๓ คอเวอนเมนต์สยาม จะไม่ก่อสร้างด่าน ค่ายคูหรือที่อยู่ของทหารในแขวงเมืองพระตะบอง เมืองเสียมราฐ และในจังหวัด ๒๕ กิโลเมตร (๖๒๕ เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง
- ข้อ ๔ ในจังหวัดที่กล่าวไ้ว้แล้วในข้อ ๓ นั้น บรรดากองตระเวนรักษาจะมีแต่กองตระเวนเจ้าพนักงานเมืองนั้นๆ กับคนใช้เป็นกำลังเพียงจำเป็นแท้ และทำการตามอย่างเช่นเคย รักษาเป็นธรรมเนียมในที่นั้นๆ จะไม่มีพลประจำหรือพลเกณฑ์ สรรพค่าย เป็นพลทหารอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ที่นั้นด้วย

ผลของสัญญาดังกล่่าวในข้อ ๓ ซึ่งห้ามไม่ให้สร้างซ่อมด่าน ค่าย คู นั้น ทำให้รัฐบาลไทยไม่อาจป้องกันการรุกรานของฝ่ายลาวหลวงพระบางได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้ามาอย่างรวดเร็ว ส่วนข้อความในสนธิสัญญาข้อที่ ๔ นั้น รัฐบาลไทยตีความว่า ไทยจะไม่ส่งกำลังทหารเข้าไปในเขต ๒๕ กิโลเมตร ซึ่งไม่ได้รวมถึงข้าราชการพลเรือนด้วย แต่รัฐบาลฝรั่งเศสกลับตีความว่า ห้ามส่งข้าราชการพลเรือนด้วย ฝรั่งเศสจึงขับไล่ข้าราชการพลเรือนของไทยออกจากบริเวณดังกล่าว แล้วฝรั่งเศสก็ส่งข้าราชการจากหลวงพระบางเข้าไปปกครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต ๒๕ กิโลเมตรนั้นเสียเอง ดังนั้นสนธิสัญญาข้อ ๓ และข้อ ๔ นี้ จึงเป็นข้อเสียเปรียบอย่างยิ่งของไทยในการป้องกันรักษาดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง

ประการที่สอง สาเหตุของการเสียดินแดนฝั่งขวา สืบเนื่องมาจากปัญหาการแย่งชิงบ่อเกลือ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณต้นแม่น้ำน่าน เมืองที่มีบ่อเกลือมากได้แก่ เมืองเงิน หรือเมืองกุสาวดี จึงเกิดปัญหาโต้แย้งกันบ่อยที่สุดและเป็นเมืองอยู่ในเขต ๒๕ กิโลเมตร ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง โดยตั้้งอยู่ริมแม่น้ำเงินซึ่งไหลลงแม่น้ำโขง ประกอบกับเป็นเมืองที่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มีพลเมืองไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ คน ราษฎรส่วนใหญ่มีเชื้อสายเป็นลื้อ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองสิง สิ่งต่างๆ ดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยยั่วยุให้ฝรั่งเศสคิดครอบครองบริเวณส่วนนี้มากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามราษฎรในเมืองเงินซึ่งเป็นพวกลื้อ มีความจงรักภักดีต่อเจ้าเมืองน่านมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยกล่อมของฝรั่งเศสไม่น้อย นอกจากเมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของปัญหาต่างๆ แล้ว ยังมีเมืองที่อยู่ในเขต ๒๕ กิโลเมตร เช่น เมืองคอบ เมืองเชียงลม และเมืองเชียงฮ่อน ล้วนต้องประสบปัญหาการแทรกแซงจากฝรั่งเศสทั้งสิ้น

การดำเนินงานของฝรั่งเศส เพื่อแทรกแซงในดินแดนส่วนนี้นั้น ใช้หลวงพระบางเป็นแนวหน้า โดยฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้เจ้าหลวงพระบาง ส่งคนเข้าแทรกแซงฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองน่าน และให้เจ้าหน้าที่กงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองน่าน สนับสนุนการกระทำของเจ้าหลวงพระบาง ดังจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี ร.ศ. ๑๑๔ หรือปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เป็นต้นมา ม.ฮารดูวิน รองกงสุลฝรั่งเศสประจำเมืองน่าน ได้เสนอความเห็นสนับสนุนการกระทำของเจ้าหลวงพระบางต่อพระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงประจำเมืองน่านว่า ฝรั่งเศสเห็นด้วยกับเจ้าหลวงพระบางในการที่อ้างว่า ดินแดนหัวเมืองริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นดินแดนที่เคยขึ้นกับหลวงพระบางมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ความจริงฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับในสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของไทย ในเรื่องนี้ ฝ่ายไทยจึงไม่ยอมเพราะถือว่าเมืองเหล่านั้น เป็นเมืองขึ้นของเมืองน่านมาช้านานแล้ว ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิครอบครองดินแดนส่วนนี้กัน

จากการที่ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างจริงจังดังกล่าว ทำให้เจ้าหลวงพระบางกำเริบใจยิ่งขึ้นถึงกับจัดส่งพระยาเมืองแพนพร้อมกับทหาร และข้าราชการพลเรือนจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองเงิน แล้วให้ดำเนินการปกครอง จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ โดยพลการ ทั้งๆที่ขณะนั้น เจ้าเมืองน่านได้จัดการปกครองเมืองเงินให้เป็นที่เรียบร้อยอยู่แล้ว โดยมีหนานสุทธิสาร บุตรชายเจ้าเมืองน่านเป็นผู้รักษาราชการเมืองเงิน สถานการณ์ในเมืองเงินขณะนั้น จึงอ้างสิทธิและแย่งชิงกัน

นอกจากเจ้าหลวงพระบางจะส่งคนเข้ามาปกครองในดินแดนดังกล่าวแล้ว เจ้าหลวงพระบางยังได้ดำเนินการแทรกแซงไทยด้วยวิธีการต่างๆ อีก เช่น ห้ามไม่ให้ข้าราชการพลเรือนฝ่ายไทยเข้าไปในเขต ๒๕ กิโลเมตร ริมฝั่งขวาแม่น้ำโขงซึ่งฝรั่งเศสได้ประกาศว่า เป็นแผ่นดินกลางที่ยังไม่ตกลงว่าเป็นของฝ่ายใดแน่ แต่พวกหลวงพระบางกลับเข้ามาเกลี้ยกล่อมให้ราษฎรฝั่งขวาแม่น้ำโขงอพยพไปอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส ผู้ใดขัดขืนจะบังคับจับกุมตัวไป โดยพวกหลวงพระบางได้ขยายขอบเขตการแทรกแซงเข้าสู่เมืองอื่นๆ นอกจากเมืองเงินด้วย เช่น การส่งคนเข้าปกครอบเมืองคอบ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ในบางครั้งฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการกระทำของหลวงพระบาง ยังได้แสดงอาการคุกคามไทยอย่างเด่นชัด เช่น กรณีทหารฝรั่งเศสยกกำลังเข้ายึดบ่อเกลือที่ตำบลบ่อเจ้า

การแทรกแซงและคุกคามไทยด้วยลักษณะต่างๆ ดังกล่าว ทางรัฐบาลไทยไม่ได้โต้ตอบอย่างรุนแรง แต่ตลอดเวลาไทยกลับใช้นโยบายทางการฑูตเจรจากับฝรั่งเศส เพราะไทยต้องการหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธกับฝรั่งเศส ด้วยเข้าใจดีว่าหากเกิดการปะทะกัน ไทยจะต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างแน่นอน ทั้งนี้นับเป็นบทเรียนที่ไทยได้รับมากจากการปะทะกันที่ปากน้ำในวิกฤตกาล ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อพ.ศ.๒๔๓๖ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางฑูตเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นได้อย่างเต็มที่นัก ดังนั้น รัฐบาลไทย จึงได้พยายามดำเนินนโยบายออกคำสั่งไม่ให้ผู้ว่าราชการเมืองทุกเมืองที่อยู่ในเขต ๒๕ กิโลเมตร ของฝั่งขวาแม่น้ำโขงถอนตัวออกตามคำสั่งของฝ่ายหลวงพระบางเป็นอันขาด แม้จะถูกข่มขู่เพียงใด ผู้ว่าราชการเมืองก็จะต้องรักษาเมืองไว้ให้ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิและอธิปไตยของไทยในดินแดนเหล่านั้นให้ถึงที่สุด หากไทยถอนตัวออกก็เท่ากับปล่อยให้ฝ่ายหลวงพระบางปกครองอยู่ฝ่ายเดียว อันนำไปสู่การยึดครองของฝรั่่งเศส ซึ่งจากคำสั่งให้ผู้ว่าราชการเมืองทุกเมืองในเขต ๒๕ กิโลเมตร รักษาเมืองจนถึงที่สุดนี้เอง รัฐบาลจึงได้อนุญาตให้แต่ละเมืองมีการกะเกณฑ์กำลังป้องกันตนเองเตรียมพร้อมเพื่อรักษาดินแดนส่วนนั้น อย่างไรก็ตาม หากฝรั่งเศสขับไล่ถึงขั้นใช้อาวุธปะทะกันแล้ว แต่ละเมืองจะต้องใช้กำลังในท้องถิ่นของตน ป้องกันเมืองเอง ไม่ต้องเกณฑ์กำลังจากเมื่องอื่นๆ ไปช่วย ทั้งนี้เพื่่อป้องกันมิให้การปะทะนั้นลุกลามกลายเป็นสงครามขึ้น

ในขณะเดียวกันข้าหลวงเมืองน่าน ก็ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการชี้แจงให้ข้าราชการและราษฎรทั้งหลายได้ทราบว่า ดินแดน ๒๕ กิโลเมตร ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงนั้นเป็นส่วนของไทย ไม่ใช่ดินแดนของกลางดังที่ฝรั่งเศสอ้าง ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการ และราษฎรในบริเวณนั้น เข้าใจในความเป็นจริง จะได้ร่วมมือร่วมใจกันรักษาดินแดนส่วนนั้น รวมทั้งไม่ต้องยอมเสียเงินให้แก่ฝ่ายหลวงพระบางอีก

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อป้องกันการรุกรานของหลวงพระบางและฝรั่งเศสนั้น ไม่เ็ป็นผลสำเร็จเ่ท่าที่ควร เพราะฝรั่งเศสมีความปรารถนาที่จะครอบครองดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง ประกอบกับฝ่ายไทยไม่ต้องการโต้ตอบด้วยการใช้อาวุธอย่างเต็มที่ ทำให้การป้องกันการรุกรานเป็นไปด้วยความยากลำบากและเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ซึ่งในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวก็ทรงตระหนักในเหตุผลเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากพระราชกระแสที่ทรงมีถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพตอนหนึ่งว่า
"...ฉันยังไม่แลเหรหนทางอย่างใด ซึ่งจะป้องกันพวกหลวงพระบางไม่ให้รุกเหลือมเอาเขตแดนตามอำเภอใจได้..."
หนทางแก้ไขปัญหาการรุกรานของฝ่ายหลวงพระบางจึงมีทางเดียว ดังที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งแต่ ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ.๒๔๓๘) คือจำเป็นจะต้องยกดินแดนฝั่งขวาให้แก่ฝรั่งเศส ซึ่งในระยะแรก ที่กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนอความเห็นดังกล่าวนี้ รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการทันที แต่ครั้นเมื่อการแก้ไขปัญหาในดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง ต้องประสบความล้มเหลวเรื่อยมา ไทยไม่อาจรักษาดินแดนส่วนนี้ไว้ได้จริงๆ จำเป็นต้องยกให้แก่ฝรั่งเศสไป ดังนั้น ปัญหาการรุกรานฝั่งขวาแม่น้ำโขงของฝ่ายหลวงพระบางและฝรั่งเศส ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๘ ก็ได้ยุติลงเมื่อฝ่ายไทยยินยอมยกดินแดนส่วนนี้ให้แก่ฝรั่งเศส โดยลงนามในสนธิสัญญา เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) ซึ่งมีสาระสำคัญระบุไ้ว้ในสัญญาข้อ ๒ ว่า
" ฝ่ายเขตแดนในระหว่างเมืองหลวงพระบางข้างฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเมืองพิไชยกับเมืองน่านนั้น เขตแดนตั้งแต่ปากน้ำเหืองที่แยกแม่น้ำโขงเนื่องไปตามกลางลำน้ำเหือง จนถึงที่แยกปากน้ำตามเลยขึ้นไปตามลำน้ำจนบันจบถึงยอดภูเขาปันน้ำ ในระหว่างดินแดนตกแม่น้ำโขงและดินแดนแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงที่แห่งหนึ่งที่เขาภู แดนดินตั้งแต่ที่นี้ เขตแดนต่อเนื่องไปทางทิศเหนือตามแนวยอดเขาปันน้ำในระหว่างดินแดนน้ำตกแม่น้ำโขง และดินแดนน้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยาจนบันจบถึงปลายน้ำคอบแล้ว เขตแดนต่อเนื่องไปตามลำน้ำจนบันจบไปกับแม่น้ำโขง"

จากสาระสำคัญของสัญญาดังกล่าว ไทยต้องสูญเสียดินแดนหัวเมืองฝั่งขวาที่ขึ้นกับเมืองน่าน อันเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลพายัพให้แก่ฝรั่งเศสไป หัวเมืองที่อยู่ในบริเวณเหล่านี้ได้แก่ เมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี เมืองเชียงลม เมืองเชียงฮ่อนและเมืองคอบ นั่นเอง

เหตุผลที่ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนดังกล่่าวให้แก่ฝรั่งเศสในครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะไทยต้องการยุติปัญหาการแย่งชิงเมืองเงินระหว่างเมืองน่านกับเมืองหลวงพระบาง ซึ่งทั้งสองได้เข้าแย่งกันปกครองจนเกิดการวิวาทถกเถียงกันเสมอ โดยทุกครั้งไทยต้องพยายามอดกลั้นไม่ใช้กำลังโต้ตอบตลอดมา เพราะไม่ปรารถนาจะประจัญหน้ากับฝรั่งเศส ผู้สนับสนุนการกระทำของฝ่ายหลวงพระบาง ฉะนั้น เพื่อยุุติปัญหาที่ยืดเยื้อ ไทยจึงจำเป็นต้องยกเมืองเงินหรือเมืองกุสาวดี และเมืองอื่นๆ ในบริเวณนั้นให้แก่ฝรั่งเศสตามต้องการ ซึ่งเป็นผลใหการคุกคามของฝรั่งเศสทางด้านมณฑลพายัพยุติลงด้วย ทำให้ฝ่ายไทยมีโอกาสจัดการปกครองภายในมณฑลพายัพได้อย่างเต็มที่ขึ้น นอกจากนั้นการสูญเสียดินแดนดังกล่่าว เพื่อแลกกับการเลิกยึดครองเมืองจันทบุีรีที่ฝรั่งเศสยึดไว้เป็นประกัน

การสูญเสีียเขตแดนล้านนาด้านฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขตเมืองน่านแก่จักรวัรรดินิยมดังกล่าวทำให้แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำโขงซึ่งควรใช้เป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศสยามกับพม่า และสยามกับลาว เปลี่ยนแปลงงไป เพราะพรมแดนได้ขีดเข้าไปในบริเวณป่าเขาที่ไม่ชัดเจน เป็นปัญหาต่อการรุกล้ำได้ง่าย และยากต่อการป้องกันประเทศตามรอยชายแดนที่ผ่านป่าเขา ผลกระทบจากการเสียดินแดนในครั้งนั้น จึงมีผลสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในรัชกาลที่ ๕ พระจุลจอมเก้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการปกครองโดยแบ่งการปกครองหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาลและทรงส่งข้าราชการผู้ใหญ่ไปประจำหัวเมืองต่าง “ข้าหลวงประจำเมือง” ซึ่งเป็นการลดตำแหน่ง หน้าที่และฐานะของเจ้านายฝ่ายต่างๆลง จนตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครน่านถูกยุบเลิกนับแต่นั้นมา และในช่วงนี้เองที่มีการเข้ามาของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส ชาวจีน เป็นต้น เข้ามาทำการค้า สัมปทานป่าไม้ พร้อมกับการมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ และในช่วงนี้ประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วย

ที่มา เรียงเรียงจากหนังสือวัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดน่าน , ข้อมูลท่องเที่ยงจังหวัดน่าน
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1160
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 85 ท่าน

cron