ศาสนาพุทธ วัด ความเชื่อ และความศรัทธาของล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: ศาสนาพุทธ วัด ความเชื่อ และความศรัทธาของล้านนา

โพสต์โดย Namfar » พุธ 18 ต.ค. 2017 4:07 pm

ครูบา สมณศักดิ์แห่งวัฒนธรรมล้านนา

ครูบา_resize.jpg
ครูบา_resize.jpg (67.65 KiB) เปิดดู 6893 ครั้ง




๑. "ครูบา" เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า "ครุปิ อาจาริโย" แปลว่า เป็นทั้งครูและอาจารย์ มาจากคำว่า "ครุปา" ภายหลังเพี้ยนเป็น "ครูบา" ในที่สุด เป็นคำที่พบว่า ใช้กันเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมล้านนาเท่านั้น ที่หมายถึง ตำแหน่งของพระสงฆ์ผู้ที่ได้รับการพิจารณา เลือกสรรแล้ว ว่ามีศีลาจารวัตรเรียบร้อย มั่นคงอยู่ในพระธรรมวินัย เป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของคณะสงฆ์ และฆราวาส ศรัทธาประชาชนทั่วไป หรือมีผลงานปรากฏแก่ชุมชน ในการก่อสร้างบูรณปฏิสังขรณ์ สร้างวัดวาอาราม เช่น ครูบาอภัยสารทะ(ครูบาหลวง วัดฝายหิน) ครูบาศรีวิชัย ครูบาขาวปี ครูบาบุญชุ่ม เป็นต้น หรือมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ในการทำงานเพื่อพระศาสนา หรือเป็นที่พึ่งของประชาชน เช่น ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง เป็นหมอยาแผนโบราณ ครูบากัญจนะ เมืองแพร่ เชี่ยวชาญเรื่องการจาร รวบรวมคัมภีร์ใบลาน ครูบา จึงเป็นคำนำหน้าเฉพาะพระสงฆ์ รูปนั้นๆ ซึ่งพระภิกษุทั่วๆไปไม่มีสิทธิ์ใช้ หรือแต่งตั้งตัวเองเป็นครูบา

๒.การสถาปนาครูบาในล้านนานั้นทำครั้งสุดท้ายในสมัยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ชุดที่ได้รับการสถาปนา รดน้ำมุรธานั้นก็คือ ครูบาหลวงวัดฝายหิน(อภัยสารทะ) จากนั้นการคณะสงฆ์ล้านนา ก็ถูกเรียกอำนาจการบริหารจัดการเข้าไปรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ และครูบาหลวงอภัยสารทะก็ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของ จังหวัดเชียงใหม่

๓. ครูบา เป็นตำแหน่งของพระสงฆ์สงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิต้องพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เปรียบเทียบสมณศักดิ์ของคณะสงฆ์ นครเชียงตุงในปัจจุบัน

๓.๑ สมเด็จพระอาชญาธรรม เป็นตำแหน่งสูงสุดในคณะสงฆ์ เป็นผู้มีอายุ ๗๐ และมีพรรษา ๕๐ ขึ้นไป

๓.๒ พระครูบา เป็นตำแหน่งของพระสงฆ์สงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้มีอายุ ๔๐ และมีพรรษา ๒๐ ขึ้นไป (มีผู้ให้ข้อมูลว่า ทางล้านนาพระสงฆ์จะต้องมีอายุ ๔๕ ปีขึ้นไป)

๓.๓ พระสวามี เป็นตำแหน่งของสงฆ์ผู้อุดมด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีอายุ ๓๐ และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป

๓.๔ พระสวาทิ เป็นตำแหน่งของสงฆ์ผู้ทรงศีล สมาธิ ปัญญา เป็นผู้มีอายุ ๓๐ และมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป

ทั้ง นี้ การถวายสมณศักดิ์จะอยู่ในดุลยพินิจของคณะสงฆ์ และสำนักโฆปก(คล้ายสำนักงานพระพุทธศาสนา)ของนครเชียงตุง ซึ่งในบางกรณี อาจมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อความเหมาะสม เช่นครูบาบุญชุ่ม เป็นต้น

นอกเหนือจากตำแหน่งที่เป็นทางการนี้ทางเชียงตุงยังปรากฏว่ายังมีตำแหน่งทางสังคมอื่นๆอีก ได้แก่

๓.๕ สามเณรศีลมั่น คือสามเณรที่ตั้งแต่บวชมาเณรถือศีลมาโดยตลอด ไม่ซุกซนเหมือนเณรน้อยทั่ว ๆ ไป ที่สำคัญการวัตรปฏิบัติก็ดี เรียบร้อย จึงเป็นที่เคารพรัก

๓.๖ หากสามเณรศีลมั่นยังมีความมั่นคงอยู่ถึงเป็นพระภิกษุ ก็จะเรียกว่า “ตุ๊เจ้าศีลธรรม” ดังที่ครูบาศรีวิไชยของล้านนาเรา ได้รับการเรียกขานอีกนามหนึ่งว่า “ครูบาศีลธรรม”

๓.๗ หากท่านได้ตั้งใจประพฤติดี ไม่หวั่นไหว ถึงขั้นสัจจะอธิษฐานว่า ขอเป็นพระโพธิสัตว์ หรือขอบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือผู้คนให้พ้นทุกข์ ขอเป็นพระพุทธเจ้าองค์ในอนาคต เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่า "เจ้าหน่อต๋นบุญ”

๔.ประเพณีการสรงน้ำ หรือรดน้ำพระสงฆ์ขึ้นเป็นครูบาจึงหายไปจากล้านนานับแต่นั้น ครูบาศรีวิชัย คือผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากกระบวนการรวมศูนย์นี้ เนื่องเพราะมาในจังหวัดหัวเลี้ยวหัวต่อพอดี เมื่อพิธีกรรมดังกล่าวหายไปจากล้านนากลับปรากฏว่า ในรัฐฉาน เมืองยอง และเมืองเชียงตุง อันเป็นบ้านพี่เมืองน้องของเชียงใหม่ยังคงมีประเพณีในการสรงน้ำสถาปนาครูบาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

๕.การถวายสมณศักดิ์จะอยู่ในดุลยพินิจของคณะสงฆ์ ในเชียงตุงคือ สำนักโฆปก(คล้ายสำนักงานพระพุทธศาสนา)ของนครเชียงตุง ซึ่งในบางกรณี อาจมีการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเพื่อความเหมาะสม เช่นครูบาบุญชุ่ม เป็นต้น

ก่อนการสถาปนาจะมีการป่าประกาศให้ ประชาชนได้ทราบก่อนว่า จะยกยอพระภิกษุรูปนี้ขึ้นไปเป็นครูบา ขอให้ศรัทธาชาวบ้านได้ไปร่วมอนุโมทนา สมเด็จอาชญาธรรม(ใส่) วัดเชียงยืนราชฐาน องค์ปัจจุบันโปรดเมตตาเล่าให้ฟังว่า“ หากพระภิกษุรูปใด ไม่มีศีลธรรม บ่มีคุณสมบัติตามที่นำเสนอมา อันเป็นการมุสาคณะสงฆ์ หลอกลวงเอาฐานะที่ไม่สมควรแก่ตน ยังแห่ไม่เสร็จก็จะเป็นไข้ ไม่สบาย แสดงว่าไม่มีบุญที่จะได้รับการสถาปนา แต่หากสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ นั้นย่อมหมายความว่า เป็นผู้มีบุญญาธิการ บุญศีลธรรมกัมมัฏฐานคุ้มครอง ควรแก่การยกยอขึ้นสู่ตำแหน่งนั้นๆ”

ที่มา พระมหาสง่า ธีรสํวโร จาก การสัมมนาวิชาการเรื่อง “เถราภิเษก พิธียอยกสมณศักดิ์พระสงฆ์ในล้านนา”
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ศาสนาพุทธ วัด ความเชื่อ และความศรัทธาของล้านนา

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » จันทร์ 02 ก.ย. 2019 9:02 pm

.......................
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot], Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 60 ท่าน

cron