จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » ศุกร์ 11 ต.ค. 2019 11:51 am

ขอขอบคุณภาพความทรงจำทุกภาพ จากฝีมือการถ่ายภาพของ ดร. โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน (Dr. Robert Larimore Pendleton) นักวิทยาศาสตร์ทางดินและการเกษตร ชาวอเมริกัน ซึ่งเข้ามาปฏิบัติงานในฐานะที่ปรึกษาของกรมเกษตรและการประมง กระทรวงเกษตราธิการในขณะนั้น ในภาพ ดร.โรเบิร์ต ลาริมอร์ เพนเดิลตัน กำลังมองแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าโรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓

ดร.โรเบิร์ต.jpg
ดร.โรเบิร์ต.jpg (302.39 KiB) เปิดดู 7074 ครั้ง
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย admin » พฤหัสฯ. 24 ต.ค. 2019 4:09 pm

"เจ้าวังโนราห์" ตำนานไอ้เข้จังหวัดสุราษฎร์ธานี

K9368342-11.jpg
K9368342-11.jpg (33.14 KiB) เปิดดู 7021 ครั้ง


คลองอีปันซึ่งเป็นคลองธรรมชาติแยกจากแม่น้ำตาปีในจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น เป็นคลองที่กล่าวกันว่าในอดีตชุกชุมด้วยจระเข้ใหญ่น้อยมากมาย และที่ถือว่าเป็นตำนานเล่าขานของสองฝั่งคลองอีปันก็ คือสถานที่ซึ่งเรียกกันว่า “วังโนราห์”

เหตุที่ได้ชื่อนี้มีเรื่องเล่ากันว่า ในค่ำคืนหนึ่งคณะมโนราห์กลับจากการไปแสดงในยามดึกจึงจำต้องล่องเรือสำปั้นใหญ่ผ่านเข้าสู่เวิ้งน้ำกว้างของคลองอีปัน ทันใดนั้นเองก็ปรากฏจระเข้ใหญ่อันซ่อนเร้นกายอยู่ในวังน้ำจู่โจมหมุนเรือจนคว่ำและขย้ำฉีกกินเหล่ามโนราห์เคราะห์ร้ายจนหมดทั้งลำเรือ สถานที่แห่งนั้นจึงเต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดและกระแสโลหิตอันไหลหลั่งเต็มท้องธาร ณ ที่แห่งนั้นจึงได้รับการเรียกขานกันว่า“วังโนราห์” และเรียกขานขนานนามจ้าวผู้ครอบครองวังน้ำแห่งนั้นว่า “เจ้าวังโนราห์”

จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็นกาลเวลาล่วงเลยผ่านไปไม่นานนักก็ปรากฏเหยื่อเคราะห์ร้ายอีก ๒ รายซ้อนๆ ทั้งคู่เป็นชายชาวบ้านและเป็นคู่หูกันมายาวนาน วันหนึ่งทั้งสองออกไปตัดหวายตามปกติเพื่อนำมาจุนเจือครอบครัวบริเวณทางตอนเหนือของคลองแล้ว ก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ชาวบ้านละแวกนั้นพร้อมผู้ใหญ่บ้านต่างระดมลูกบ้านออกตามหาแต่ก็ไม่เจอ พบแค่เพียงเรือของทั้งสองที่ถูกคว่ำจนจมและแตกละเอียดดั่งโดนแรงมหาศาลของพญาสัตว์เข้าขย้ำ จนชาวบ้านต่างลงความเห็นว่า ชายทั้งสองโดนจ้าววังโนราห์คาบไปกินเสียแล้ว

อีกไม่กี่วันต่อมามีหญิงสาวพายเรือกลับบ้าน แต่เมื่อผ่านวังโนราห์แล้วก็หายตัวไปเฉยๆ ชาวบ้านพบเพียงเรือพายที่คว่ำพร้อมกับมีรอยแตกจากการขบกัดด้วย แรงมหาศาล หลังจากได้ลิ้มรสชาติเนื้อมนุษย์มาหลายๆครั้ง จระเข้ร้ายคงรู้สึกติดใจจึงเริ่มออกอาละวาดอีก คราวนี้เหยื่อของมันเป็นชายชราผู้มีอาชีพหาของป่าถูกคว่ำเรือและลากไปกินอีกราย

ท่ามกลางความหวาดกลัวของชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านจึงทำการว่าจ้างหมอปราบจระเข้ฝีมือฉกาจมาจากแหล่งต่างๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าจ้าววังโนราห์จะรู้ทัน มันกบดานเงียบจนชาวบ้านต่างเล่าลือกันว่ามันเป็น “จระเข้ผีสิง”

แต่จะอย่างไรก็ตามแต่ด้วยความสามารถของ “โอม ชุมทอง” พรานจระเข้หนุ่มฝีมือดีที่เข้ามาล่าจ้าววังจนมันต้องเป็นฝ่ายหนีหัวซุกหัวซุนบ้างและถูกเผด็จศึกลงได้ในไม่ช้า ความสงบสุขของที่นี่จึงหวนกลับมาอีกครั้ง เหลือเพียงตำนานเล่าขาน ถึงความโหดร้ายอำมหิตของจระเข้ร้ายที่ชื่อ “เจ้าวังโนราห์” เอาไว้เล่าให้ลูกหลานฟัง

งานบวชพระ ที่บ้านศรีสวรรค์ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไม่ทราบ พ.ศ.
ภาพ :พนม ทรัพย์พร้อม
12638.jpg
12638.jpg (53.79 KiB) เปิดดู 7012 ครั้ง
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » พุธ 01 ม.ค. 2020 3:37 pm

ใครได้ดู "สี่แผ่นดิน" คงได้ชมฉากที่แม่พลอยต้องตามเสด็จไปยังบางปะอินเพื่อร่วมพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ นั่นคือพระศพของ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ และหลังจากนั้น ช้อย ได้มาบอกคุณสายและพลอยว่า สมเด็จหญิงใหญ่ สิ้นพระชนม์ เป็นพระองค์ต่อมาซึ่งก็คือ เจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวาร นั่นเอง

ความผูกพันของสองพี่น้อง จนวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
a1.jpg
a1.jpg (169.65 KiB) เปิดดู 6786 ครั้ง

เรื่องราวความรักและผูกพันที่คลังประวัติศาสตร์ไทยจะนำเสนอในค่ำคืนนี้ก็คือ ความรักและผูกพันระหว่างพี่สาวกับน้องสาว ที่เต็มไปด้วยความปลื้มปิติ ความสนุกสนาน และความเศร้าสลด สองพี่น้องที่ว่านี้ก็คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจันทราฯ ซึ่งทั้งสองพระองค์เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ โดยมีพระประวัติดังนี้

๑.พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๒ ประสูติในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๑ ชาววังออกพระนามว่า เสด็จพระองค์ใหญ่ ประสูติจากเจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค

๒.เจ้าฟ้าหญิงจันทราสรัทวาร ทรงเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๖ ประสุติในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๑๖ ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จหญิงใหญ่ ประสูติจากพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์

จะเห็นได้ว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพี่น้องต่างมารดากันและมีพระชนม์ที่ห่างกันถึง5ปี แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่ทั้งสองพระองค์กับมีความรักใคร่สนิทสนมกันเป็นพิเศษมากกว่าพี่น้องแม่เดียวกันเสียอีก เล่ากันว่าวันใดที่ต้องขึ้นเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวบนพระที่นั่ง ทั้งสองพระองค์ก็มักจะประทับอยู่ข้างๆกันเสมอ เมื่อเสร็จจากเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จหญิงใหญ่เป็นต้องขอตามเสด็จพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ไปประทับเล่นต่อที่พระตำหนักทุกครั้งไป บางวันสมเด็จหญิงใหญ่ก็จะเสด็จไปเฝ้าพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ตั้งแต่เช้า เสด็จกลับอีกทีก็ใกล้ค่ำ ทั้งสองพระองค์สามารถประทับทรงพระสำราญกันได้ครั้งละนานๆและมักจะหากิจกรรมทำร่วมกันอยู่เสมอๆเช่น งานประดิษฐ์ งานดอกไม้สด งานครัว เป็นต้น บางวันเสด็จพระดำเนินผ่านกันโดยบังเอิญก็เป็นต้องหยุดคุยกันเป็นนานสองนาน เป็นที่รู้กันของชาววังสมัยนั้นว่า ถ้าสองพระองค์นี้เจอกันทีไรเป็นต้องมีเรื่องสนุกสนานพูดคุยกันทุกที

แต่แล้วก็มาถึงวันที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด คือวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๔๗ พระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ทรงประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันรวมพระชนม์ ๓๖ พรรษา สร้างความโศกเศร้าให้แก่พระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพ่อและน้องๆทุกคน หนึ่งในนั้นก็คือ สมเด็จหญิงใหญ่ผู้เป็นน้องสาวที่รักใคร่และสนิทสนมกันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ในการนี้พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพที่บางปะอิน สมเด็จหญิงใหญ่จึงรีบพระดำเนินล่วงหน้าไปประทับที่บางปะอินเพื่อรอรับศพพระพี่นาง แต่เมื่อถึงวันพระราชทานเพลิง สมเด็จหญิงใหญ่กลับมีพระอาการประชวรเป็นไข้พิษพระวรกายร้อนกะทันหัน พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้แพทย์หลวงเข้ารักษาโดยไว และสั่งให้ทหารสูบน้ำจากสระแล้วฉีดขึ้นไปบนหลังคาพระตำหนัก เสมือนฝนตกเพื่อเป็นการคลายความร้อนให้แก่พระราชธิดา แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น พระองค์ทรงทนไข้ไม่ไหวถึงกับเพ้อตรัสเป็นภาษาอังกฤษ และสิ้นพระชนม์ลงในคืนบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์ รวมพระชนม์ ๓๒ พรรษา
a2.jpg
a2.jpg (126.67 KiB) เปิดดู 6786 ครั้ง

นับว่าสมเด็จหญิงใหญ่ทรงทำหน้าที่ในฐานะพระขนิษฐา(น้องสาว)ถวายงานพระพี่นางอย่างเต็มกำลังจนนาทีสุดท้ายของพระชนม์ชีพ คือการมารอรับพระศพทั้งๆที่ตัวของพระองค์เองยังประชวรอยู่ สุดท้ายผู้ที่ได้รับความโทรมนัสและทรมานจิตใจมากที่สุดเห็นจะเป็นพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องแห่พระศพพระราชธิดาองค์หนึ่งขึ้นมาเผาที่บางประอิน แต่ก็ต้องแห่พระศพพระราชธิดาอีกองค์หนึ่งกลับเข้าวังหลวง

อ้างอิง: บทสัมภาษณ์ หม่อมเจ้าหญิงจงจิตีถนอม ดิศกุล,ลูกๆของพ่อ โดยเฉลิมฉัตร, เมื่อสมเด้จพระพุทธเจ้าหลวงหลั่งน้ำพระเนตร โดยเวนิสา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

จากภาพด้านบนคือ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ สถานที่ประดิษฐานพระศพพระองค์เจ้าหญิงศรีวิไลยลักษณ์

สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พร้อมด้วยพระราชชายา พระเจ้าลูกเธอ เจ้าจอมมารดา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารฝ่ายใน ทรงฉายภาพเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ณ พระราชวังบางปะอิน โดยผู้มีพระชันษาสูงกว่าพระเจ้าลูกเธอในพระโกศ จะทรงสีดำไว้ทุกข์ส่วนผู้ที่มีพระชันษาอ่อนกว่าจะทรงชุดขาว ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร / ลงสีภาพโดย Disapong Netlomwong) ภาพนี้น่าจะถ่ายระหว่าง วันที่ ๘ – ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ ที่ฝ่ายในล่วงหน้าไปที่พระราชวังบางปะอินก่อน และก่อนที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ จะทรงประชวร ซึ่งต่อมาได้สิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ เพราะภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะทรงชุดขาวไว้ทุกข์ จึงเปลี่ยนมาแต่งขาวทั้งหมด
สีขาวดำไว้ทุกข์-696x343.jpg
สีขาวดำไว้ทุกข์-696x343.jpg (56.37 KiB) เปิดดู 6786 ครั้ง

การไว้ทุกข์ในสมัยก่อนนั้นมีอยู่หลายอย่างต่างชนิด คือ

๑. สีดำ สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
๒. สีขาว สำหรับผู้เยาว์หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
๓. สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่ สำหรับผู้ที่มิได้เป็นญาติเกี่ยวดองกับผู้ตายแต่ประการใด

ฉะนั้นในงานศพคนหนึ่งๆ หรือในงานเผาศพก็ตาม เราจะได้ความรู้ว่า ใครเป็นอะไรกับใครเป็นอันมาก เพราะผู้ที่แต่งตัวตัวไปในงานนั้นๆ จะต้องรู้เรื่องราวเกี่ยวข้องกับตัวเองโดยถูกต้องจึงจะแต่งสีให้ถูกได้ ถ้าผู้ใดแต่งสีและอธิบายไม่ได้ ก็มักจะถูกดูหมิ่นว่าเป็นผู้ไม่มีความรู้ แม้เรื่องเลือดเนื้อของตัวเอง

ของทุกอย่างมีดีก็ต้องมีเสีย แต่ก่อนก็ดีที่ได้รู้จักกันว่าใครเป็นใคร แต่ก็ลำบากในการแต่งกายเป็นอันมาก ถ้าจะต้องไปพร้อมกัน ๒ ศพในวันเดียวกัน ก็จะต้องกลับบ้านเพื่อไปผลัดสีให้ถูกต้องอีก

ฉะนั้นในการที่มาเลิกสีอื่นหมด ใช้สีดำอย่างเดียวเช่นทุกวันนี้ก็สะดวกดี แต่ก็ขาดความรู้จักกัน เด็กสมัยนี้จึงมักจะตอบเรื่องพืชพันธุ์ของตัวเองไม่ได้ แม้เพียงปู่ก็ไม่รู้เสียแล้วว่าเป็นใคร และได้ทำอะไรเหนื่อยยากมาเพียงใดบ้าง แต่ถ้าจะพูดกันถึงเพียงความสะดวกแล้ว การแต่งตัวสีดำเพียงสีเดียวก็ดีแล้ว
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » พุธ 01 ม.ค. 2020 4:23 pm

การส่ง “ส.ค.ส.” หรือ ส่งความสุข เริ่มครั้งแรกในประเทศไทย คือรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่๔) ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์คัดลอกเพื่อที่จะพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และชาวต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน โดยมีการค้นพบ ส.ค.ส. ที่เก่าแก่ที่สุดคือฉบับปี พ.ศ.๒๔๐๙ ผู้ที่ค้นพบ ส.ค.ส. ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดคือ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช ซึ่งค้นพบที่ประเทศอังกฤษ เป็นฉบับที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้แก่ กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิษฐ ที่ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น
ส.ค.ส.2-696x451.jpg
ส.ค.ส.2-696x451.jpg (75.69 KiB) เปิดดู 6785 ครั้ง

ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช. “ส.ค.ส. ฉบับแรกของสยาม”. สารคดี ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๑๙๑ มกราคม ๒๕๔๔
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อังคาร 17 พ.ย. 2020 11:26 am

๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ
1696.jpg
1696.jpg (146.96 KiB) เปิดดู 4065 ครั้ง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขึ้นเสวยราชสมบัติโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

พระองค์มีพระบรมราชโองการให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่ดินเพื่อสร้างพระนครใหม่ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕

ทรงประกอบพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ย่ำรุ่งแล้ว ๙ บาท (๕๔ นาที) ปีขาล จ.ศ.๑๑๔๔ จัตวาศก

ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ เวลา๐๖.๕๔ น.

ตามธรรมเนียมพิธีพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น

การฝังเสาหลักเมืองมีพิธีรีตองตามพระตำราที่เรียกว่า พระราชพิธีนครฐาน ใช้ไม้ชัยพฤกษ์ทำเป็นเสาหลักเมือง ประกับด้านนอกด้วยไม้แก่นจันทน์ที่มี เส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่โคนเสา ๒๙ เซนติเมตร สูง ๑๘๗ นิ้ว

กำหนดให้ความสูงของเสาหลักเมืองอยู่พ้นดิน ๑๐๘ นิ้ว ฝังลงในดินลึก ๗๙ นิ้ว มีเม็ดยอดรูปบัวตูม สวมลงบนเสาหลัก ลงรักปิดทอง ล้วงภายในไว้เป็นช่องสำหรับบรรจุดวงชะตาเมือง

การฝังเสาหลักเมืองเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น ได้เกิดอวมงคลนิมิตขึ้น

คือเมื่อถึงมหาพิชัยฤกษ์อัญเชิญเสาลงสู่หลุม ปรากฏว่ามีงูเล็ก ๔ ตัวเลื้อยลงหลุมในขณะเคลื่อนเสา

จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย โดยปล่อยเสาลงหลุมและกลบงูทั้ง ๔ ตัวตายอยู่ภายในก้นหลุม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทำนายชะตาเมืองว่าจะอยู่ในเกณฑ์ร้ายนับจากวันยกเสาหลักเมืองเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน จึงสิ้นพระเคราะห์

ทั้งยังทรงทำนายว่า จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา ๑๕๐ ปี

ชะตาแผ่นดินที่ร้ายถึงเจ็ดปีเศษนั้น เป็นช่วงที่ไทยติดพันศึกพม่าจนถึงศึกเก้าทัพ ซึ่งสิ้นสุดการพันตูหลังครบห้วงเวลาดังกล่าว

ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป ๑๕๐ ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพมหานคร จึงทรงแก้เคล็ดโดยโปรดให้ช่างแปลงรูปศาลหลักเมืองเสียใหม่ให้เป็นรูปปรางค์ และโปรดให้ถอนเสาหลักเมืองเดิมและประดิษฐานเสาหลักเมืองใหม่พร้อมบรรจุชะตาพระนครให้มีสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีอุดมมงคลฤกษ์ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๙๕ เวลา ๐๔.๔๘ น.

รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าให้ขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด

เป็นแกนไม้สัก ประกับนอกด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ๖ แผ่น สูง ๑๐๘ นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง ๗๐ นิ้ว บรรจุดวงเมืองในยอดเสาทรงมัณฑ์ที่มีความสูงกว่า ๕ เมตร

และอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานในอาคารศาลหลักเมืองที่สร้างใหม่ มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาว ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองกรุงศรีอยุธยา

พอถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่ ๑๕๐ ของการก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทำนายไว้ว่า

“จักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไปเป็นเวลา ๑๕๐ ปี“ เหตุการณ์อันไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นจริงๆ ดั่งคำทำนาย

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น เจ้านายที่ทรงความสำคัญรวม ๔ พระองค์ที่ทรงบังคับบัญชากิจสำคัญคือ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพระนครสวรรค์วรพินิต

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน

และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเพ็ชร์บุรีราชสิรินทร

ทั้ง ๔ พระองค์นี้มีพระราชสมภพและพระราชประสูติปีเดียวกันคือปีมะเส็ง (งูเล็ก)

ต่างกันเพียงรอบปีพระราชสมภพกับพระประสูติ

โดยทั้งสี่พระองค์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นอย่างยิ่ง

“นิมิตงูเล็กในเสาหลักเมืองจึงออกจะเป็นเรื่องอัศจรรย์”

กรณีคำทำนายการดำรงวงศ์กษัตริย์เป็นเวลา ๑๕๐ ปี เป็นไปตามคำทำนาย แต่ไม่เป็นไปตามคำนายครบทั้งหมด

เพียงเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

คือสิ้นสุด พระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองอีกต่อไป

กรณีนี้โหราจารย์ให้ความเห็นว่า คงเนื่องด้วยพระบารมีของรัชกาลที่ ๔ ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ถอนเสาหลักเมืองและวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่

ด้วยเหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระหลักเมืองจึงมีสองต้น เสาเดิมครั้งรัชกาลที่ ๑ คือต้นสูง ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว

แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้ จึงคงไว้ แกนในเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์ มีไม้จันทน์ประดับนอก ลงรักปิดทอง หัวเสาเป็นทรงบัวตูม ภายในกลวงสำหรับบรรจุชะตาพระนคร ดวงนี้อยู่ใจกลางยันต์สุริยาทรงกลด จารึกในแผ่นทอง เงิน นาก

ส่วนเสาพระหลักเมืองครั้งรัชกาลที่ ๔ คือต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมา แกนในเป็นเสาไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประดับนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑ์ เป็นต้นที่สถิตประทับของพระหลักเมือง

นอกจากนี้ ภายในศาลพระหลักเมืองยังเป็นที่ประดิษฐานพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และเจ้าพ่อหอกลอง เป็นเทพารักษ์สำคัญ ๕ องค์ที่ให้ความร่มเย็นแก่แผ่นดินและประชาราษฏร์ทั้งปวง

ความมหัศจรรย์ของไสยศาสตร์อันเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อาจเป็นจริงได้ ถ้าผู้ที่ทำเป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งเห็นจริงเท่านั้น

ข้อมูล : อัษฎางค์ ยมนาค
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » อาทิตย์ 25 เม.ย. 2021 2:48 pm

ภายในเรือยนต์เกษตร๒ ขณะเดินทางกลับกรุงเทพฯ ซ้ายสุดพระพิจารณ์พาณิชย์ หรือนายพิจารณ์ ปัณยวณิช (เทียดน้องคำแก้ว) ส่วนสุภาพสตรีผู้ควบคุมพวงมาลัยคือ MS.Josephine Faulkner เลขานุการของผู้แทนคณะกรรมการธนาคารโลก ถ่ายเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ เหตุการณ์หลังจากพระพิจารณ์พาณิชย์เกษียณอายุตำแหน่ง อธิบดีกรมสหกรณ์ ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๙๓ แล้วไปรับตำแหน่งคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ [ข้อมูลจากหนังสือ พระพิจารณ์พาณิชย์ แผ่นดินสำหรับสิ่งที่งอกเงยได้ เขียนโดย อาจารย์พิเศษ ดร.อาบ นคะจัด] ตัวหนังสือที่เขียนอธิบายเป็นลายมือของพระพิจารณ์พาณิชย์
216116_2.jpg
216116_2.jpg (50.21 KiB) เปิดดู 3780 ครั้ง


เรื่องราวตำนานรักที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตามหานี้ เกิดขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่๒ ซึ่งขณะนั้นกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพที่ จ.นครนายก ประเทศไทย
216057.jpg
216057.jpg (10.66 KiB) เปิดดู 3780 ครั้ง

ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างพากันมาขายของทั้งของกินของใช้ให้กับเหล่าทหารญี่ปุ่น และหนึ่งในนั้นก็มีหญิงสาวอายุราว ๆ ๑๘ ปี นามว่า “พันนา แสงอร่าม” เธอเป็นสาวน้อยหน้าตาน่ารักที่ทำขนมพื้นบ้านของไทยต่าง ๆ เช่น ขนมไข่หงส์ ซาลาเปาทอด กล้วยทอด มาขายให้กับนายทหารญี่ปุ่นด้วย

พันนาขายได้เรื่อย ๆ แต่มิได้ขายดีเท่าไรนัก แต่เธอก็ยังอดทนขายขนมต่อไปแถว ๆ ฐานทัพญี่ปุ่นอยู่สักพักหนึ่ง ก็ได้รู้จักกับนายแพทย์ทหารญี่ปุ่น ชื่อว่า “ซาโต้”

ทั้งคู่สนิทสนมกันจนกลายเป็นความรัก แต่ก็เป็นความรักที่ต้องรักษาระยะห่างกันไว้ตลอด เพราะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ การจะคบหากับทหารญี่ปุ่นไม่เป็นเรื่องที่น่ายินดีนักสำหรับคนไทย และสำหรับชาวญี่ปุ่นเองเรื่องหน้าที่ในการทำงานต้องมาก่อนสิ่งอื่นใด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั้งคู่คบหากันอย่างเงียบ ๆ

ช่วงเวลาแห่งความรักของทั้งสองคนดูจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพราะอยู่ ๆ ก็มีคำสั่งให้ซาโต้ย้ายไปปฏิบัติงานราชการที่อื่น แต่ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกจากกัน ซาโต้ได้สอนพันนาทำขนมโมจิ เพื่อให้ขนมชนิดนี้เปรียบเสมือนความรักอันแสนพิเศษที่เขาจะมอบให้แก่เธอ

(ขนมโมจิ หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า วากาชิ (Wagashi) เป็นขนมที่ชาวญี่ปุ่นจะทำขึ้นในงานมงคล อาทิ งานแต่งงาน หรือพิธีชงชา และเป็นขนมที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบอย่างมาก)

ขณะซาโต้สอนพันนาทำขนมโมจิอยู่นั้น เขาก็ได้บอกกับเธอว่า “ขนมหวานนี้ จะเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่นและเป็นตัวแทนความรู้สึกของผม หากแม้วันใดที่ผมไม่อยู่ และพันนายังระลึกถึงผม ได้โปรด...ทำขนมหวานนี้ หากผมยังไม่ตาย ผมจะกลับมาหาคุณ”

ขนมโมจิที่ซาโต้สอนพันนานั้น มิใช่ขนมโมจิแบบของฝากนครสวรรค์ หรือสระบุรีที่มีจุด ๆ อยู่ตรงกลางนะคะ แต่เป็นโมจิแบบญี่ปุ่น ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว มีไส้ถั่วแดงกวนอยู่ด้านใน และใช้วิธีการต้มสุก จากนั้นคลุกด้วยแป้งเพื่อป้องกันไม่ให้ขนมติดกัน มีรสชาติหวานนิดหน่อย

และเมื่อซาโต้สอนพันนาทำขนมโมจิจนเสร็จดีแล้ว เขาก็หยิบขนมขึ้นมาใส่ปาก เพื่อลิ้มรสชาติ เขาหลับตาแล้วค่อย ๆ กัดอย่างช้า ๆ จากนั้นก็หันไปบอกกับสาวพันนาด้วยหน้าเปื้อนยิ้มว่า

"คุณรู้มั้ย...คุณเป็นผู้หญิงที่ทำขนมโมจิได้อร่อยที่สุดในโลก คุณจำไว้นะหากวันใดที่คุณคิดถึงผม ขอให้คุณทำขนมโมจิ ถ้าวันนั้น ‘ซาโต้’ คนนี้ยังมีชีวิตอยู่ ผมจะกลับมาหาคุณอีกครั้ง "

ก่อนซาโต้จะจากพันนาไป เขาได้แนะนำพันนาให้ทำขนมโมจินี้มาขายแก่ทหารชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะยังมีทหารชาวญี่ปุ่นหลายคนที่คิดถึงบ้าน หากได้กินขนมโมจินี้คงจะทำให้เหล่าทหารคลายความคิดถึงลงไปบ้าง และซาโต้ยังบอกอีกว่าเธอจะต้องขายดีแน่นอน

และแล้วก็ถึงเวลาที่ทั้งคู่ต้องร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้าย แล้วมันก็เป็นครั้งสุดท้ายของทั้งคู่จริง ๆ ซาโต้ไม่เคยกลับมาอีกเลย…

ภายหลังการจากไปของซาโต้ ไม่มีวันไหนที่พันนาจะไม่คิดถึงเขา แต่เธอต้องเข้มแข็ง และแต่ละวันเธอยังคงทำอาชีพหาบขนมไปขายแก่เหล่าทหารญี่ปุ่นอยู่เช่นเดิม แต่ที่ต่างไปจากเดิมคือ เธอทำขนมโมจิไปขายด้วย แน่นอนเธอขายดีอย่างที่ซาโต้เคยบอกไว้จริง ๆ

วันเวลาผ่านไปจนถึงวันที่สงครามโลกครั้ง ๒ จบลง เหล่าทหารญี่ปุ่นต่างกลับไปประเทศของตนกันหมดแล้ว แต่พันนายังคงรอคอยการกลับมาของซาโต้ วันแล้ววันเล่า อย่างไร้วี่แวว… จนอยู่มาวันหนึ่ง มีกลุ่มทหารไทยเข้ามาแจ้งกับเธอให้ยุติการขายขนมโมจิ เพราะถือว่าขนมโมจิคือของต้องห้าม ห้ามทำ ห้ามขาย!

คำสั่งนี้ถือเป็นสิ่งทำร้ายจิตใจเธออย่างที่สุด และถึงแม้เธอจะไม่ได้ขายมันอีกต่อไปแล้ว แต่เมื่อใดที่เธอคิดถึงซาโต้ เธอก็จะแอบทำขนมโมจินี้พร้อมกับสวดมนต์ภาวนาขอให้ซาโต้กลับมาชิมขนมของเธออีกครั้ง แต่ก็อย่างที่บอกไป...ซาโต้ไม่เคยกลับมาอีกเลย

ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงได้ทราบประวัติความเป็นมาตำนานรักขนมโมจินี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารคนสนิทไปสืบหาขนมโมจิต้นตำรับสูตรนางพันนามาให้เสวย บรรดาข้าราชบริพารต่างก็ไปหาขนมโมจิต่าง ๆ มาถวาย แต่พระองค์ก็ไม่ถูกพระทัย พร้อมตรัสว่า

“นี่ยังไม่ใช่ขนมโมจิสูตรที่ตามหาอยู่”

ต่อมาอดีตผู้ว่าฯ จังหวัดนครนายก ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครนายก ไปประชาสัมพันธ์และสืบหาขนมโมจิต้นตำรับสาวพันนา กระทั่งได้ทราบจาก “นายมานพ ศรีอร่าม” ข้าราชการพัฒนาชุมชนว่า ผู้ทำขนมโมจิดังกล่าวคือมารดาของตนเอง

นางพันนาขณะนั้นอายุมากแล้ว แต่ยังความจำดี และสามารถทำขนมโมจิถวายได้อยู่

การทำขนมโมจิครั้งนี้ นางพันนารู้สึกปลื้มปิติเป็นล้นพ้น สมกับการรอคอยที่จะได้ทำขนมโมจิเพื่อระลึกถึงนายแพทย์ทหารซาโต้อีกครั้ง ที่แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใด นางพันนาก็ไม่เคยลืมเลือน…

และหากเปรียบชีวิตคุณยายพันนาเป็นต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้คงจะขาดน้ำจนใบทยอยร่วงหล่นลงไปตามกาลเวลา และรอวันล้มลง “กรมสมเด็จพระเทพฯ” เปรียบเสมือนน้ำชโลมใจ ที่ทำให้ต้นไม้ที่กำลังล้มกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปัจจุบัน คุณยายพันนาได้จากโลกนี้ไปแล้ว และในงานฌาปนกิจของนางพันนาก็ได้รับพระราชทานเพลิงศพจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกด้วย

ส่วนขนมโมจิของยายพันนานั้นก็ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมิได้เป็นสูตรต้นตำรับที่แท้จริง แต่ก็มีความคล้ายคลึงและอร่อยไม่แพ้กันเลย

นี่แหละ “ตำนานรักขนมโมจิ” อันน่าประทับใจ ของสาวน้อยพันนากับนายแพทย์ทหารซาโต้ ที่ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ถึงกับต้องทรงตามหา

ที่มา : http://www.blockdit.com Youtube FNDiary Cr.น้ำเงินเข้ม
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 68 ท่าน

cron