จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 30 ต.ค. 2015 9:17 am

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉิดโฉม ผู้ทรงบันดาลให้ "กุสุมา" แห่งผู้ชนะสิบทิศไม่ได้เข้าพิธีแต่งงาน

12193787_1034913843227318_4271701679122692803_n.jpg
12193787_1034913843227318_4271701679122692803_n.jpg (77.86 KiB) เปิดดู 18655 ครั้ง



สมัยก่อนสงคราม คนไทยติดนวนิยายเรื่องหนึ่งอย่างงอมแงมทั้งเมือง บางคนถึงกับไปเฝ้าโรงพิมพ์ในวันที่นิตยสารจะออกวางจำหน่าย ส่งผลให้โชติ แพร่พันธุ์ เจ้าของนามปากกา "ยาขอบ" กลายเป็นนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่อมตะคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรื่องนั้นคือ ผู้ชนะสิบทิศ พิมพ์รวมเล่มไม่รู้จะกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ยุคต่อมาถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไม่น้อยกว่า ๗ คราว


ตามเรื่องเดิมนั้น "ยาขอบ" กำหนดให้จะเด็ดแต่งงานกับตละแม่จันทราและตละแม่กุสุมาพร้อมกันที่เดียวสองคน เมื่อเรื่องทำท่าจะเป็นเช่นนั้น ก็บังเกิดมีผู้อ่านท่านหนึ่งเดือดร้อนเป็นที่สุด ถึงกับไปพบ "ยาขอบ" ที่สำนักงาน


"ยาขอบ" ผู้ประพันธ์ เล่าไว้ในข้อเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน (นิตยสารรายปักษ์ โบว์แดง ฉบับ ๒๖ วันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๔๙๐) ว่า ในการเขียนผู้ชนะสิบทิศนั้น ขอเรียกตามความนึกคิดของข้าพเจ้าว่า พยายามเขียนให้บ้าที่สุดที่จะบ้าได้ พฤติการณ์ของตัวละครทุกตัวในเรื่อง ถ้ามีโอกาสมักจะถูกบังคับให้ทำ ในสิ่งที่มนุษย์ธรรมดาสามัญเขาไม่ค่อยทำ เช่น ให้นางเอกถูกข่มขืนเสียบ้าง พ่อเจ็บใจถึงกับแทงลูกเสีย ตายกับมือตนเองบ้าง ฯลฯ


และการดึงเอากุสุมาคนเดียวโดด ๆ มาแต่งงานพร้อมกัน ในท่ามกลางประยูรญาติของจันทราแต่ฝ่ายเดียวทั้งสิ้นนี้ ก็เป็นความบ้าชนิดที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าคงไม่มีผู้ชายใดกระทำ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้จะเด็ดทำ


ฝ่ายหมอจะเด็ดนั่นก็ไม่เลว ตะล่อมทางโน้นตะล่อมทางนี้ ด้วยความคิดและอุบายอันแยบยล


จนกระทั่งจันทราก็ดี หรือพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ผู้ยิ่งใหญ่ น้องชายจันทราก็ดี ก็ยังเห็นชอบด้วยกัน ที่จะเด็ดจะเอาผู้หญิงอื่น (ซึ่งมีราคีถูกสอพินยาฉุดเอาไปเป็นเมียที่เมืองแปร) มาเข้าพิธีเทียมบารมีพระพี่นางของตนเองยาขอบอธิบายว่า การแต่งงานพร้อมกันนี้ ย่อมเป็นเครื่องเน้นลักษณะนิสัย ให้จันทราเป็นยอดหญิงหรือนางแก้ว ซึ่งเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตและการแผ่พระคุณ ทั้งพยายามที่สุดที่จะเพิ่มความสุขใจให้คนรัก


เรื่องราวตอนนี้ ยาขอบคิดว่า ได้สร้างปราสาทที่งดงามได้สัดส่วนขึ้นหลังหนึ่ง จนเมื่อมีเหตุให้ต้องรื้อปราสาทหลังนี้เสีย จึงอกสั่นขวัญหายเป็นอย่างยิ่ง เมื่อถูกยื่นคำขาดว่า "พ่อยาขอบ จะเขียนอย่างนั้นไม่ได้เป็นอันขาด"
ในบ่ายของวันที่ผู้ชนะสิบทิศกำลังอยู่ในตอนที่จะเด็ดกำลังจะเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมด้วยสองนาง...บังตาห้องที่ยาขอบทำงาน ก็ถูกเปิดออก มีเสียงถามหา ...อาคันตุกะ เจ้าของเสียงเป็นหญิงร่างใหญ่วัยเกือบ ๗๐ ท่วงทีสง่า ผมตัด แต่งกายเรียบแต่สะอาดภาคภูมิสวมเสื้อขาวเกลี้ยง ๆ แบบผู้ใหญ่ เมื่อเดินเข้ามา ก็ควงพัดด้ามจิ๋วในมือเล่น มีคนเลื่อนเก้าอี้ให้นั่ง


"ไม่ต้องย่ะ สมัยหลีปับลิกผู้หญิงก็ยืนได้"


ข้าพเจ้าได้ยิน คำหลีปับลิก ก็วาบในหัวใจ นี่ใครหนอ มองไปที่คอเสื้อ เห็นเข็มทองคำลงยาขนาดใหญ่ ทำเป็นลายเซ็นด้วยตัวหนังสือเอน ๆ ยาวราวสักสี่นิ้ว "พระปิ่นเกล้า" เข้าด้วย ก็รู้สึกว่ายากที่จะพูดจา จะเป็นเจ้าหรือเป็นคนสามัญก็ไม่รู้


ก็พอดีอาคันตุกะเขยิบใกล้เข้ามาอีก "พ่อเอ๊ย ฉันนี่คราวย่าเห็นจะได้ละกระมัง" ว่าแล้วก็ลูบหัวข้าพเจ้าเอาดื้อๆ ยาขอบอยู่ในอาการละล้าละลัง ตั้งตัวไม่ถูกจนพี่สาวคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ มาบอกว่า
"พระองค์เฉิดโฉมนี่แหละ ตัวทศกัณฐ์ชั้นอาจารย์ละ"


ทูลว่า รู้แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นใคร "เป็นใคร เป็นอะไรไม่สำคัญดอก เป็นคนเหมือนกัน สำคัญอยู่ที่กรรมชั่วและกรรมดี " ท่านรับสั่ง แล้วก็บอกจุดประสงค์ว่า "ที่ฉันมานี่ เพราะอยากตักเตือนพ่อยาขอบให้ทำแต่กรรมดี"


"ไม่มีใครเขาจะพิเรนทร์หรอกพ่อเอ๋ย จะได้เอาผู้หญิงที่ถูกฉุดคร่าจนเสียเนื้อเสียตัวไปเข้ามาสู่พิธีแต่งงานเชิดหน้าชูตา พร้อมผู้หญิงที่เป็นพรหมจารีย์ และดีอย่างเหลือแสนอย่างตะละแม่จันทรา"


ยาขอบจึงรู้ในบัดนั้น "กรรมชั่ว" ของเขา เกิดจากการเขียนเรื่องให้เอากุสุมาเข้าพิธีอุปภิเษกพร้อมกับจันทรานั่นเอง


ทูลไปว่า จะแก้ไขให้เป็นอื่นคงไม่ได้ เสด็จพระองค์หญิงผู้ชราหงุดหงิดพระทัย สุดท้ายก็ยื่นไม้ตาย "เอ้า ใครผิดใครถูก ไม่ต้องพูดกัน เอาแต่เพียงพ่อเปลี่ยนตามใจฉัน นึกว่าทำบุญให้คนแก่ตายสบายใจได้ไหม"


ข้าพเจ้างงงันเหมือนโดนทุบหัว อีกใจหนึ่งก็เศร้านัก เมื่อคิดว่า โอ้ปราสาทหลังงามของเราเอ๋ย ยาขอบรำพัน หลังการรับปากว่าจะเปลี่ยนถวาย ตามที่ประสงค์


กว่าจะดึงเอากุสุมามาแต่งงานกับจันทราได้ ก็ได้ผูกโยงเหตุผลแวดล้อมเสียแน่นหนา จนเป็นเงื่อนตาย ปัญหาก็คือ จะแก้เรื่องไม่ให้เสียรูปรส...แบบไหนดี


ตัวละครสำคัญ และมีน้ำหนักจะห้ามปรามจะเด็ด เช่นตัวตะละแม่จันทรา พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ หรือมังสินธูมหาเถรอาจารย์ ก็เอามาสนับสนุนข้างให้จะเด็ดแต่งงานพร้อมกันเสียแล้ว พวกนี้จะกลับความคิดข้างไม่ยอมขึ้นมา ก็บ้าเต็มทน จึงต้องหาตัวใหม่ ใครหนอ ที่จะมีความสำคัญและมีน้ำหนักพอ ข้าพเจ้าพบพระนมเลาชี มารดาของจะเด็ดเอง


ตามเรื่องที่ผ่านมาแล้ว แม้จะกล่าวถึงแม่เลาชีว่าเป็นคนซื่อทรงสัตย์ ทรงธรรม และภักดีในราชวงศ์ตองอูเต็มเปี่ยม แต่ก็ไม่มีพฤติกรรมอันใด ที่จะชูลักษณะนิสัยของแม่เลาชี ในข้อที่ว่านี้ได้เด่นชัดออกมาสักคราวเดียว แม่เลาชีมีบทบาทน้อยเหลือเกินในผู้ชนะสิบทิศที่แล้วมา


ยาขอบเริ่มคิดได้ ครั้งนี้จะให้แม่เลาชีแสดงบทบาทให้เด่นชัด "ข้าพเจ้าวางแผนให้ตัวละครตัวนี้เข้าขัดขวางจะเด็ด"


ดังนั้น ปราสาทเก่าก็หายวับไป แต่มิใช่การรื้อทำลาย หากด้วยการสร้างอันใหม่ ครอบลงไปบนอันเก่า


บทบาทของแม่เลาชีที่ออกมาห้ามโดยขู่ว่า หากตละแม่กุสุมานั่งเสมอกับตละแม่จันทราเมื่อใด นางก็จะผูกคอตายเมื่อนั้นตอนนี้ ทำให้ข้าพเจ้าได้รับจดหมายจากผู้อ่านนับเป็นจำนวนร้อย ยินดีปรีดากับพฤติการณ์อันเป็นผู้มีใจซื่อถือธรรมของพระนมผู้เฒ่า บ้างก็บอกว่าถึงกับน้ำตาคลอเพราะตื้นตันใจ


แม่นมเลาชีมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง


ยาขอบเขียนเรื่อง เหตุที่กุสุมาไม่ได้แต่งงาน ไว้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๔๘๙ ในวันที่ได้ยินวิทยุประกาศกำหนดวันพระราชทานเพลิง เสด็จพระองค์เฉิดโฉม ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส


"ในฐานผู้น้อยด้อยศักดิ์ ข้าพเจ้าย่อมหมดโอกาสที่จะไปสักการะพระศพด้วยดอกไม้ธูปเทียน แต่นักประพันธ์เล็กคนหนึ่ง ไม่เคยลืม ความปรารถนาดีที่ใครๆเคยมีต่อมันเลย จึงขอสักการะพระศพด้วยปากกา ซึ่งไหลออกมาเป็นข้อเขียนชิ้นนี้ แทนดอกไม้ธูปเทียน"


สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ สิริพระชนมายุได้ ๙๐ ปี ทรงเป็นเจ้านายฝ่ายวังหน้าที่พระชนมายุยืนยาวอีกพระองค์หนึ่ง


ที่มาจาก เรือนไทย , เวียงวังและคลังประวัติศาสตร์
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 30 ต.ค. 2015 9:19 am

ความลับในเรือนร่างเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แม้ผึ้งแมลงยังหลงใหลในกลิ่นรส!!!



12107793_1034944256557610_1857539936470723895_n.jpg
12107793_1034944256557610_1857539936470723895_n.jpg (39.51 KiB) เปิดดู 18654 ครั้ง





ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้บันทึกถึงสตรีที่มีบทบาทสูงสุดทางการเมืองไว้เพียงนางเดียว คือ เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ แต่ชื่อเสียงของนางกลับถูกกล่าวถึงในด้านเกมกามอันฉาวโฉ่ ควบคู่ไปกับการครองอำนาจทางการเมืองอย่างเด็ดขาด จนสามารถยกชายชู้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ได้

ท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็นสนมฝ่ายซ้ายของ สมเด็จพระไชยราชา กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๒ ของกรุงศรีอยุธยา นอกจากนางจะมีโอรสกับพระไชยราชาองค์หนึ่ง นามว่า “พระศรีศิลป์” แล้ว ยังได้รับมอบหมายให้ดูแล “พระยอดฟ้า” พระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากพระสนมฝ่ายขวาผู้ล่วงลับด้วย


เมื่อพระไชยราชายกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ได้มอบให้ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินแทน นางจึงได้รับยกย่องขึ้นเป็น “นางพระยาเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์” ถือพระราชอำนาจแทนกษัตริย์


ความฉาวโฉ่ในประวัติศาสตร์ได้เริ่มขึ้นในวันหนึ่ง เมื่อนางได้เสด็จไปพระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งเป็นหอพระนอก ทอดพระเนตรเห็น พันบุตรศรีเทพ คนเฝ้าหอพระ ก็เกิดความเสน่หา จึงให้สาวใช้นำเอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปให้ พันบุตรศรีเทพก็รู้ความหมาย จึงเอาดอกจำปาให้สาวใช้ไปถวายแก่พระนาง ทำให้นางเกิดความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพ มีพระเสาวนีย์ให้ย้ายพันบุตรศรีเทพไปเป็น ขุนชินราช รักษาหอพระใน แล้วให้ขุนชินราชคนเก่าออกมาเฝ้าหอพระนอกแทน


จากนั้นนางก็ลอบลักสมัครสังวาสกับขุนชินราชเป็นประจำจนตั้งครรภ์


เมื่อพระไชยราชายกทัพกลับมาจากเชียงใหม่ นางเกรงว่าความลับจะถูกเปิดเผย อันมีโทษถึงตาย จึงเสด็จไปรับถึงค่ายนอกเมือง และแล้วคืนนั้นพระไชยราชาก็สวรรคต กล่าวกันว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ


พระยอดฟ้า วัย ๑๑ พรรษา ถูกยกขึ้นครองราชย์สมบัติ โดยมี พระเฑียรราชา เชื้อพระวงศ์ของพระไชยราชา เป็นผู้ว่าราชการแทนพระองค์ แต่เจ้าแม่อยู่หัวยังไม่อาจเปิดเผยการตั้งครรภ์กับขุนชินราชได้ จนกว่าจะยึดอำนาจได้เบ็ดเสร็จ นางจึงเดินเกมข่มขู่ต่างๆจนพระเฑียรราชารู้ตัวดีว่า หากอยู่ในตำแหน่งต่อไปเห็นภัยจะถึงชีวิตแน่ จึงขอลาจากราชการไปผนวช เอาผ้ากาสาวพัสตร์คุ้มตัว


เมื่ออำนาจกลับมาอยู่ในมือ พระนางจึงดำริในพระทัยจะให้ขุนชินราชได้ราชสมบัติ จึงดำรัสสั่งให้ตั้งขุนชินราช เป็น ขุนวรวงศาธิราช และมีเสาวนีย์ให้นำราชยานและเครื่องสูงออกไปรับขุนวรวงศามาทำพิธีราชาภิเษก ยกเป็นเจ้าพิภพครองกรุงศรีอยุธยา และเอา นายจัน ผู้น้องขุนวรวงศา มาเป็นมหาอุปราช นายจันเป็นแค่ช่างตีเหล็ก เมื่อมาเป็นใหญ่แบบตั้งตัวไม่ทัน จึงใช้ความกักขฬะหยาบคายข่มเหงขุนนางข้าราชการ จนเป็นที่เกลียดชังไปทั่ว


ความมัวเมาในอำนาจของเจ้าแม่อยู่หัวกับชู้รักยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพื่อให้หมดเสี้ยนหนาม นางจึงให้นำพระแก้วฟ้า อดีตกษัตริย์ ไปสังหารเสียที่วัดโคกพระยา


เมื่อบ้านเมืองเป็นเสนียดจัญไรถึงเพียงนี้ คนที่รักชาติรักแผ่นดินสวามิภักดิ์ต่อราชบัลลังก์ สุดจะทนต่อไปได้ ขุนนางกลุ่มหนึ่งจึงคบคิดกันที่จะสังหารเจ้าแม่อยู่หัวและชู้รัก พอดีทางเมืองลพบุรีแจ้งมาว่าพบช้างต้องลักษณะเป็นช้างเผือก ขุนวรวงศาจึงจะไปจับ ให้มหาอุปราชจันขี่ช้างล่วงหน้าไปที่เพนียดก่อน หมื่นราชเสน่หา ขุนนางนอกราชการ จึงแอบซุ่มยิงตกช้างตาย รุ่งขึ้นเช้าตรู่ ขุนวรวงศากับเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และราชบุตรซึ่งเกิดด้วยกัน พร้อมกับพระศรีศิลป์โอรสพระไชยราชา ได้เสด็จไปทางเรือ กลุ่มขุนนางกู้ชาติที่ดักซุ่มอยู่จึงรุมสังหารเสียสิ้น เหลือแต่พระศรีศิลป์ นำตัวไปถวายพระเฑียรราชารับเลี้ยงไว้


แม้ขุนวรวงศาจะผ่านพิธีราชาภิเษกมาอย่างถูกต้องตามประเพณี และครองราชย์อยู่ได้ ๔๒ วัน แต่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาก็ไม่ยอมรับเป็นกษัตริย์ คงสุดจะทนรับได้ รายพระนามกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาจึงมีเพียง ๓๓ พระองค์ ไม่ปรากฏชื่อขุนวรวงศาธิราชรวมอยู่ด้วย


ฝ่ายยึดอำนาจล้างเสนียดให้บ้านเมือง ยังระบายความแค้นนำศพอันเปล่าเปลือยของพระนางไปโยนให้แร้งกิน ด้วยเหตุนี้ ความลับในเรือนกายของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์จึงถูกเปิดเผย และชีวิตแต่หนหลังตั้งแต่กำเนิด ก็ถูกขุดคุ้ยออกมาจารึกไว้ในแผ่นศิลาให้คนรุ่นหลังได้รับรู้


เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ถือกำเนิดจากคนสามัญในครอบครัวยากจนแสนเข็ญ บิดามารดาอยู่ที่บ้านนาเกลือปากน้ำเจ้าพระยา ตำบลสาขลา แขวงเมืองพระประแดง มีชื่อเดิมว่า บัวผัน


เมื่อแรกเกิด บัวผันก็เริ่มมีนิมิตที่ไม่เป็นมงคลเสียแล้ว พอตกฟากก็เกิดแผ่นดินไหว ต่อมาก็เกิดไฟไหม้เผาหมู่บ้านทั้ง ๕๐ หลังวอด พอ ๑ เดือนโกนผมไฟตามประเพณี ฟ้าก็ผ่าลงมาที่ต้นไม้ใหญ่ข้างบ้าน หักโค่นลงมาทับบ้าน ต้องไปปลูกกระท่อมพออาศัย แต่ในความอัปมงคลของบัวผัน กลับมีความมหัศจรรย์แฝงอยู่ในเรือนกายอย่างที่หญิงอื่นไม่มี ความพิเศษในเรือนร่างและกลิ่นกายของนางนี้ ทำให้ชายใดที่ใกล้ชิด ไม่อาจยับยั้งอารมณ์กามพิศวาสไว้ได้แผ่นศิลาที่จารึกเรื่องราวของศรีสุดาจันทร์ ได้บรรยายความมหัศจรรย์ในเรือนร่างของนางตั้งแต่เล็กไว้ว่า


“...ครั้นอำแดงบัวผันมีอายุ ๓ เดือนนอนอยู่ในเมาะ มีแมลงผึ้ง แมลงชันโรง แมลงวัน มารุมตอมโยนีกุมารีนั้นเป็นกลุ่ม บิดามารดาต้องให้เด็กนอนในมุ้งเสมอๆ เมื่ออำแดงบัวผันโตขึ้นมาหน่อย มารดาเอามานอนกลางแจ้ง พวกผึ้ง แมลงภู่ แมลงชันโรง และแมลงวัน ต่างก็มารุมตอมโยนีมากขึ้นกว่าเดิมอีก บิดามารดามีความสงสัยจึงลองดมที่โยนี โยนีมีน้ำใสๆไหลออกมา น้ำที่ไหลออกมามีกลิ่นหอมคล้ายดอกพิกุลแห้ง บิดามารดาไม่มีความรังเกียจในบุตร จึงลองชิมน้ำที่ไหลออกมาจากโยนี น้ำนั้นหอมหวานเหมือนน้ำตาลสด โคกโยนีมีลักษณะเหมือนปุ่มฆ้อง โยนีโตเท่ากำปั้น คล้ายหอยโข่ง รูปโยนีไม่รีเหมือนใบพลู มีรอยขีดยาวนิดหน่อย เมื่อแย้มรอยขีดออกจึงมีช่องกลมคล้ายกระบอกไม้ไผ่ เมื่ออำแดงบัวผันร้องไห้ เสียงร้องนั้นคล้ายเสียงแตรสังข์ ยามใดที่มีเหงื่อออกตามตัว กลิ่นเหงื่อจะหอมเหมือนกลิ่นข้าวใหม่ กลิ่นตัวตามธรรมชาติจะเหมือนกลิ่นดอกชำมะนาด...”
เมื่อบัวผันโตขึ้น ความงามของนางก็ยิ่งเด่นชัดขึ้นทุกวัน เป็นเลิศกว่าหญิงทั้งหลาย ดังข้อความที่จารึกบนแผ่นศิลาไว้ว่า


“...ใบหน้าเป็นรูปไข่ คิ้วโก่งสุดหางตา ดวงตาคมกลมดำเป็นมันเหมือนมณีนิล จมูกโด่งเรียวงามดังคันศร เมื่อใดที่นางยิ้ม แก้มทั้งสองจะปรากฏลักยิ้ม แก้มทั้งสองมีสีราวมะปรางสุก เนื้อหนังอ่อนละมุนดังผ้ากำมะหยี่หรือสำลี เนื้อละเอียดเกลี้ยงมีสองสี มีขาวเจือเหลืองเหมือนลูกจันทน์สุก เส้นผมอ่อนนุ่มดำเป็นเงาเจืออ่อนๆ เล็บมือเท้างุ้มคล้ายเล็บครุฑ ฟันเล็กๆเท่ากันทั้ง ๓๒ ซี่ ถันยุคลทั้งคู่อวบอูมดังดอกบัวสัตตบงกช ฐานคอดกลางป้องปลายงอน ดันฐานชิดติดกันเอาพลูเสียบไม่หล่น นมมีน้ำใสๆไหลออกมาบางคราว มีกลิ่นหอมคล้ายดอกพิกุล เมื่อบัวผันเริ่มมีระดู ระดูนั้นมีกลิ่นคล้ายคล้ายดอกพิกุลแห้ง แม้แต่ผ้าที่เปื้อนโลหิตระดู เมื่อซักด้วยน้ำแล้วนำไปตาก จะมีแมลงภู่ผึ้ง แมลงชันโรง แมลงวัน มาตอมเป็นกลุ่ม สูบกลิ่นหอมหวานโลหิตติดผ้านั้นทุกคราวตากผ้า...”


ความมหัศจรรย์ในความงามของบัวผันร่ำลือไปทั้งตำบล จนกำนันรายงานรูปลักษณ์อย่างละเอียดไปยังเจ้าเมืองพระประแดง ซึ่งได้ส่งต่อไปยังกรุงศรีอยุธยา นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ เหมือนได้พบช้างเผือกฉะนั้น สมเด็จพระอัครมเหสีรับสั่งให้นำบัวผันมาเข้าเฝ้า และทรงเมตตารับเลี้ยงไว้


ชีวิตในวังหลวง บัวผันได้รับพระกรุณาจากพระอัครมเหสีให้รับใช้ใกล้ชิด จนวันหนึ่งขณะมีอายุ ๙-๑๐ ขวบ เกิดฝนตกหนัก บัวผันได้แก้ผ้าไปเล่นน้ำฝนกับเพื่อนหญิงฝ่ายในอย่างสนุกสนาน จนวิ่งไปเล่นบนระเบียงมหาปราสาท สมเด็จพระไชยราชาทอดพระเนตรเห็นความพิเศษของบัวผันที่แตกต่างจากเด็กอื่น ทรงพิจารณาอยู่นาน จากนั้นก็รับสั่งขอตัวเด็กหญิงที่สะดุดพระเนตรต่อพระอัครมเหสี ซึ่งพระนางก็ได้นำตัวบัวผันไปถวายต่อพระราชสวามี


บัวผันรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนวัยล่วงเข้า ๑๔-๑๕ สมเด็จพระไชยราชาจึงยกขึ้นเป็นเจ้าจอม อยู่งานพระสนมเอก พระราชทานชื่อใหม่ว่า “นางศรีจันทร์” เพราะผิวเนื้อของนางละเอียดนวลเป็นสีเหลืองเหมือนสีผลจันทร์สุก ทั้งกลิ่นกายก็ยังหอมรัญจวนพระราชหฤทัย จึงโปรดปรานนางศรีจันทน์ยิ่งกว่าพระสนมองค์อื่นๆ
สิ่งที่ปรากฏในเรือนกายของบัวผัน ทั้งรูปลักษณ์และกลิ่นกายนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ชายที่ใกล้ชิดนางต้องหลงใหลเท่านั้น นางเองก็มีความเร่าร้อนต้องการชายมาสนองอารมณ์จนไม่อาจยับยั้งชั่งใจ จึงได้ก่อเรื่องบัดสีผิดประเวณีไว้อื้อฉาวในประวัติศาสตร์


ตอนท้ายของข้อความในแผ่นศิลาที่จารึกเรื่องราวของนาง ได้กล่าวไว้ว่า


“...ครั้งนั้น ไม่ช้าเสนาบดีผู้ใหญ่แลข้าราชการ พร้อมกันจับพระเจ้าแผ่นดินใหม่ ฆ่าเสียทั้งผัวทั้งเมียสองพระองค์ด้วยกัน เอาศพไปทิ้งไว้ที่วัดกะไดอิฐให้แร้งกิน เป็นการประจานความชั่วร้าย ด้วยเหตุนี้จึงได้รู้กันว่า โยนีไม่มีเส้นโลมาเลย เกลี้ยง สะอาด เตียนโล่ง จึงยกราชสมบัติถวายพระเจ้าช้างเผือกองค์ใหม่ พระองค์มีรับสั่งให้จารึกเรื่องนี้ลงบนแผ่นศิลาแผ่นหนึ่ง ติดไว้ที่ฐานพระเจดีย์แดงวัดกะไดอิฐ เพนียด เป็นการประจานความชั่วร้ายของนางศรีสุดาจันทร์...”


ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงนิยมสัปดน “เล่นเพื่อน” ได้นำแผ่นศิลาจารึกนี้มาจากวัดกะไดอิฐ คลองเพนียด กรุงศรีอยุธยา เอามาไว้ที่พระเจดีย์สามองค์ในวัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ ในต้นรัชกาลที่ ๓ และคัดลอกข้อความไว้


เมื่อกรมหลวงรักษ์รณเรศต้องโทษเป็นกบฏถูกประหารชีวิตใน พ.ศ.๒๓๙๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า แผ่นหินนั้นเป็นเรื่องอุบาทว์ คนเอามาก็อุบาทว์ ให้เอาแผ่นหินไปทิ้งน้ำถ่วงศพหม่อมไกรสรลงด้วยกัน แต่ก่อนที่แผ่นหินอุบาทว์นี้จะจมลงใต้น้ำในบริเวณที่ไม่เปิดเผย กรมหลวงบวรศักดาภิศาล ได้คัดลอกเอาไว้ แล้วนำไปถวายไว้กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนุชิตชิโนรสความลับของเจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ที่ปรากฏอยู่ในแผ่นศิลานั้น จึงถูกนำมาเปิดเผยให้คนรุ่นหลังได้รับรู้


ภาพประกอบ ใหม่ เจริญปุระ ในบท “ท้าวศรีสุดาจันทร์” จากภาพยนตร์เรื่องสุริโยไท

ข้อมูล โดย โรม บุนนาค
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 30 ต.ค. 2015 9:21 am

ตำนาน ๖ เสือ ปิดตลาดท่าเรือปล้น


6.jpg
6.jpg (67.71 KiB) เปิดดู 18654 ครั้ง




ปี พ.ศ.๒๕๐๘ ที่ตลาดอำเภอท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเหตุการณ์ปล้นครั้งยิ่งใหญ่ โดยการรวมตัวกันของโจรถึง ๑๗ คน โจรกลุ่มนี้บุกเข้าปิดล้อมตลาดและสถานีตำรวจ กวาดเงินทองและทรัพย์สินไปมากมาย รวมทั้งยิงถล่มสถานีตำรวจอำเภอท่าเรืออย่างไม่เกรงอาญาแผ่นดิน ก่อนจะพากันหลบหนีการจับกุมไปอย่างไร้ร่องรอย

การปล้นครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นที่ " เสือขาว " โจรชื่อดังของอยุธยาเป็นคนออกความคิด ตามปกติเสือขาวเป็นโจรที่มีคุณธรรมอยู่ในใจปล้นเพียงหวังเงิน แต่ไม่ฆ่าใคร " ไพลิน " เมียของเสือขาวเพิ่งคลอดลูกคนแรก ขาวเห็นแก่ลูกและเมียจึงตั้งใจจะทำงานใหญ่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วหอบเงินไปตั้งต้นชีวิตใหม่ แต่ไม่เป็นไปอย่างที่เขาคิด เสือขาวเดินทางไปหาเสือใบเพื่อเก่าที่เคยติดคุกด้วยกันเพื่อชวนเสือใบร่วมปล้นตลาดท่าเรือ แต่เสือใบเป็นลูกน้องคนสนิทของเสือละมายโจรเถื่อนที่เชื่อถือในไสยศาสตร์ของขลังเชื่อว่าคนเองมีวิชาอาคมแก่กล้า ละมายไม่ถูกชะตากับขาวตั้งแต่แรกเห็น แต่เมื่อขาวพูดถึงเรื่องปล้นตลาดท่าเรือ ละมายก็เริ่มสนใจขึ้นมาและรับปากยอมร่วมมือกับขาวแล้วให้คนไปตามเสือศักดิ์มาช่วยอีกแรง ในที่สุดเสือทั้ง ๓ ก๊ก รวม ๑๗ คน ก็มารวมตัวกันเพื่อทำงานใหญ่ แผนการปล้นก็เริ่มขึ้น เสือละมายเป็นผู้วางแผนในการปล้นทั้งหมด เสือขาวเป็นคนนำปล้น แบ่งพวกไปปล้นร้านทอง และอีกกลุ่มหนึ่งไปยิงสกัดด้านโรงพักไม่ให้ตำรวจออกมาวุ่นวาย หลังจากปล้นแล้ว เสือละมายออกความคิดให้ทุกคนแยกย้ายกันหนีตำรวจไปก่อนแล้วกลับมาแบ่งเงินกันทีหลัง พวกของเสือขาวไม่ไว้ใจละมายแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ละมายนัดวันแบ่งเงินกันเป็นที่เรียบร้อย โจรทั้งสามก๊กก็แยกย้ายกันไป การยิงถล่มสถานีตำรวจที่เกิดขึ้น ถือเป็นการกระทำที่ตบหน้าตำรวจฉาดใหญ่ สารวัตรพิชิตถูกเรียกตัวมาจากกองปราบเพื่อรับผิดชอบในคดีนี้โดยเฉพาะ สารวัตรพิชิต มีลูกน้องคู่ใจอยู่ ๒ นาย คือ จ่าพล และจ่าแม้น ทุกคนเริ่มงานไล่ล่าโจรกลุ่มนี้กันอย่างเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งจับสมุนของเสือศักดิ์ ได้ ๒ คน คือเปรี้ยว และ หวาน เมื่อพิชิตนำกำลังบุกรังเสือละมายก็พบว่าพวกเสือละมายหนีไปกันหมดแล้วเหลือแต่ " เดี่ยว " เด็กรับใช้ของเสือละมายที่หนีไม่ทัน เดี่ยวถูกจับขณะที่กำลังหลบตัวสั่นงันงก เดี่ยวให้ความร่วมมือกับตำรวจ บอกเล่าความเป็นมาทั้งหมดของกลุ่มโจร นับตั้งแต่ตอนที่มารวมตัวกัน ทำให้สารวัตรพิชิตได้เบาะแสเพิ่มเติมว่า เสือละมายเตรียมที่จะหักหลังเสือขาวอยู่แล้ว จนถึงวันนัดแบ่งเงิน เสือขาวไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนหักหลังอยู่ยังคงมาตามนัด แต่ที่นั่นกลายเป็นกับดักเพราะพวกสารวัตรพิชิตได้มาซุ่มรออยู่ก่อนแล้ว ขาว และ จุ่นคนสนิมเอาตัวรอดออกมาได้ ส่วน " แบน " เพื่อนรักของขาวถูกตำรวจยิงตายไปต่อหน้า สร้างความกดดันให้ขาวมากขึ้น เมื่อรู้ตัวว่าถูกเสือละมายกับเสือใบเพื่อเก่าหักหลังแล้วยังมีตำรวจที่ระดมกำลังตามล่าตัวเขาไปทั่วทุกหัวระแหง เสือขาวหอบลูก-เมีย หนีไปหลายที่อยู่อย่างไม่เป็นหลักแหล่งทำให้ยากต่อการติดตามตัว

ด้านเสือละมายนัดแบ่งเงินกับเสือศักดิ์ด้วยความลิงโลดที่ส่วนแบ่งหายไปหลายคน เสือศักดิ์รู้กันกับเสือละมาย ร่วมกันหักหลังเสือขาว แต่แล้วเสือละมายก็พบว่าทองที่ปล้นมาหายไป ในลังใบเดิมที่ซ่อนทองไว้กลับเต็มไปด้วยก้อนหิน เมื่อไม่มีใครเห็นทองทั้งเสือศักดิ์และเสือละมายต่างก็เข้าใจผิดกัน เสือศักดิ์กับฟุ้งคนสนิทถูกยิงตายไป แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้ว เงินและทองที่ปล้นมานั้นอยู่ที่ไหนกับใครกันแน่ เสือใบมั่นใจว่าขาวต้องเล่นไม่ซื่อแน่ แอบเอาเงินไปจึงออกตามล่าเสือขาวด้วยตนเอง แต่ใบก็เสียท่าให้ขาว ขาวไม่ยอมยิงใบเพราะเห็นแก่มิตรภาพเก่าๆ จึงปล่อยไป แต่ใบก็หนีไม่พ้นเขาและลูกน้องถูกพวกสารวัตรพิชิตจับได้ หลังจากที่เสือใบถูกจับก็มีคำสั่งให้ประหารชีวิตโจรทั้ง ๖ คน ที่ถูกจับมาได้ ส่วนเดี่ยวรอดจากการถูกประหารเพราะให้ความร่วมมือกับทางราชการ เมื่อเสือใบถูกจับเสือละมายจึงออกโรงตามล่าเสือขาวเอง เขาตามล่าเสือขาวไปถึงบ้าน และได้ฆ่าจุ่น ไพลินและลูกตายหมดทั้งบ้าน เมื่อขาวกลับมาเห็นศพของลูก-เมีย แทบคลั่ง เขาละทิ้งทุกอย่างออกตามล่าเสือละมายจนถึงที่ซ่อนตัวใหม่ของละมาย การดวลกันครั้งสุดท้ายของละมายและขาวเริ่มขึ้น ขาวพลาดถูกละมายยิงตกน้ำ พวกสารวัตรพิชิตตามมาทีหลังต่างเข้าใจว่าเสือขาวตายแล้ว แต่ก็ใช่ว่าละมายจะลอยนวลไปได้ พวกของสารวัตรพิชิตยิงกับเสือละมายต่อ เสือละมายที่ว่ามีคาถาอาคมหนังเหนียวที่จริงไม่ได้เป็นอย่างที่ใครๆ คิด วิชาอาคมใดๆ ก็ไม่สามารถช่วยเสือสะมายได้ เขาถูกยิงตายในที่สุด ส่วนโจรคนอื่นๆก็มีชะตากรรมแตกต่างกันไป ดังนี้

เสือใบ กุลแพ จับได้เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๘ หลังการปล้น ๓ วัน
เสือบุญ มากฤทธิ์ จับได้เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๘
เสือทวี เฉลิมสมัย จับได้เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๐๘
เสือบุญเลิศ ปรอดเกิด จับได้เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๘
เสือบัค(มะลิ) คาลามานนท์ จับได้เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๐๙
เสื้อน้อย เจริญสุข จับได้เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๐๙
เสือลำพอง มหาวิจิตร จับได้เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๐๙
เสือมาย(ละมาย) ภู่แสนสะอาด ถูกตำรวจยิงตายในคืนวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๐๙
เสือแบน วงษขำ ถูกยิงตาย วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙
เสือศิริ กุลวิบูลย์ ถูกยิงตายพร้อมเสือแบน
เสือศักดิ์ นันโต ถูกยิงตายที่ อ.บ้านแพรก จ.อยุธยา เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙
เสือตึ๋ง หรือบุญมา กลิ่นจำปา ถูกยิงที่วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๙
เสือเชื้อ พวงรักษ์ ถูกยิงตายพร้อมเสือตึ๋ง
เสือทอก หรือวิชิต (เปี๊ยก กีวี) เกตุคำศรี จับได้เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๐๙
เสือขาว (จำเนียร)ศรีม่วง หัวหน้าชุดผู้นำทีมปล้น ถูกยิงตายที่บ้านโป่งสวอง เมื่อ ๒๐ กันยายน ๒๕๑๐
เสือจุ่น ผลหาร หลบหนีได้ มีค่านำจับ ๕ พันบาท
เสือสง่า(โก๊ะ) เฉลิมทรัพย์ หลบหนีได้ มีค่านำจับ ๕ พันบาท

ที่มา ตำนานคดีดัง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 30 ต.ค. 2015 1:59 pm

รู้จักกับขุนส่า

234291.jpg
234291.jpg (78.01 KiB) เปิดดู 18653 ครั้ง



เสียงปืนนานาชนิด ทั้งปืนกลเบา เอ็ม ๖๐ ปืน ค.๘๘ ค.๘๑ จรวดอาร์พีจี ดังกึกก้องสะท้อนกลบไปทั้งขุนเขาบ้านหินแตก ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เขต ๖ จำนวน ๘๐๐ นาย ภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ทองอุณห์ เจริญสม ที่โอบล้อมฐานที่ตั้งกองกำลังขุนส่าราชายาเสพติดโลก ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า ๙๐๐ ชีวิต ๔๐๐ ครัวเรือน ต้องอพยพหนีตายกันจ้าละหวั่น


เสียงการต่อสู้ห้ำหั่นกินเวลานาน ๒ วันเต็ม ยุทธภูมิบ้านหินแตกจึงสิ้นสุดลง พร้อมกับชัยชนะของทางการไทยที่สามารถผลักดันกองกำลังนอกดินแดนพ้นอธิปไตยของไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ จับกุมกองกำลังได้บางส่วนและยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ได้รวมน้ำหนักกว่า ๕ ตัน ทั้งปืนเอ็ม ๑๖ ปืนยิงจรวดเอ็ม ๗๙ ระเบิดมือเอ็ม ๒๖ และกระสุนปืนนับหมื่นนัด แต่ไร้วี่แววของขุนส่าที่หลบหนีออกจากฐานที่มั่นไปก่อนการกวาดล้างจะเกิดขึ้น ไปตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองกาน ประเทศพม่า


นั่นคือภาพยุทธภูมิบ้านหินแตกเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๕ ปัจจุบันขุนส่าพร้อมสมุนกว่า ๒ หมื่นชีวิต ตัดสินใจเข้ามอบตัวกับทางการพม่า ยุติบทบาทอันลือเลื่องเมื่อครั้งอดีตให้เหลืออยู่แต่ในความทรงจำและบันทึกที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งบนโลกใบนี้ หนึ่งในนั้นคือพิพิธภัณฑ์บ้านหินแตก ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

"พิพิธภัณฑ์บ้านหินแตก" หรือจะพูดให้ถูกคือฐานที่ตั้งของกองกำลังขุนส่าในอดีต มาถึงวันนี้ยังหลงเหลือร่องรอยแห่งการต่อสู้ที่ยาวนาน แข็งแกร่ง มั่นคง และมีมนต์ขลัง เต็มไปด้วยกลิ่นอายของการต่อสู้ ที่ปรากฏอยู่ตามโรงเรือนฝึกทหาร โรงครัว คุกดิน สถานที่ประชุมก่อนปฏิบัติการแต่ละครั้ง รวมไปถึงบ้านพักของขุนส่าบนเนื้อที่ ๑๒ ไร่


ณ สถานที่แห่งนี้เองเมื่อครั้งอดีตจะมีกองกำลังของขุนส่าประจำอยู่ ๒,๐๐๐ คน ทุกๆ ๖ เดือนจะมีกองกำลังผลัดใหม่จากพม่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาฝึกยุทธวิธี ก่อนจะกลับไปปฏิบัติการตามฐานที่มั่นต่างๆ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยผู้คน มาบัดนี้กลับว่างเปล่า มีเพียง "เครือเดือน ตุงคำ" นักวิจัยท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาดอยตุง อยู่ดูแลในฐานะผู้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขุนส่าเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้


ขุนส่า เกิดเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๑๔๗๗ (ค.ศ.๑๙๓๔) ที่บ้านผาผึ้ง อ.ดอยหม่อ อ.เมืองใหญ่ จ.ล่าเสี้ยว แคว้นแสนหวี (รัฐฉาน) เป็นบุตรของขุนอ้าย (จีน) กับนางแสงชุ่ม (ไทยใหญ่) ขุนอ้ายเป็นอดีตมะโยจา (กำนัน) ดอยหม่อ จึงมีคำนำหน้าว่า "ขุน" เครือเดือนอธิบายว่าหมายถึงคนที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลชาวไทยใหญ่ ขุนส่าเกิดได้ไม่นานพ่อก็เสียชีวิต แม่ไปแต่งงานใหม่ จึงตกไปอยู่ในความดูแลของพ่อเลี้ยง


ต่อมา "ขุนยี่" ปู่ได้นำขุนส่าไปเลี้ยงที่เมืองดอยหม่อ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขาจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ ตั้งแต่เรื่องภาษาจีน การเลี้ยงม้า ผสมพันธุ์ม้า ล่อ รวมไปถึงการปลูกข้าว ไร่ชา ตลอดจนไร่ฝิ่น เมื่อโตเป็นหนุ่ม "ขุนจ่า" ผู้เป็นอาได้สอนยุทธวิธีการต่อสู้และปรัชญาชีวิต "ยอมหักไม่ยอมงอ" เพื่อไม่ให้ถูกทหารญี่ปุ่น พม่า หรือแม้แต่ทหารก๊กมินตั๋ง (เคเอ็มที) กองพล ๙๓ รังแก แต่กระนั้นเขาก็ยังจำภาพความโหดร้ายเมื่อครั้งหมู่บ้านถูกปล้นสะดมได้ติดตา


กระทั่งปี ๒๔๙๑-๒๕๐๕ พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ ขุนส่าจึงรวบรวมสมัครพรรคพวกต่อต้านขับไล่ทหารก๊กมินตั๋ง ที่เข้ามารุกรานชาวไทยใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้รบจากการปลูกฝิ่นและขายฝิ่น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชื่อของขุนส่าก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของขบวนการปลดแอกไทยใหญ่ "กองกำลังเขาแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางการพม่าต้องการตอบโต้ทหารก๊กมินตั๋ง จึงจับมือกับขบวนการปลดแอกไทยใหญ่ใช้ชื่อว่า กากวยเย (เคเควาย) หรืออาสาสมัคร แต่ขุนส่าเองก็ถูกลอบทำร้ายหลายครั้ง ครั้งที่โด่งดังที่สุดก็คือช่วงสงครามฝิ่น เมื่อวันที่ ๖-๙ กรกฎาคม ๒๕๑๐ ทหารก๊กมินตั๋งวางแผนถล่มขุนส่าที่บ้านขวัญ ประเทศลาว"


ไม่นานขุนส่าก็ขยายอาณาเขตด้วยการตั้งฐานที่มั่นอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า-ลาว ซึ่งขณะนั้นยังเต็มไปด้วยป่าเขายากแก่การเข้าปกครองของทางการ ปี ๒๕๐๖ กองกำลังติดอาวุธของขุนส่าก็เข้ามาบุกเบิกบนดอยหินแตก ภายหลังเกิดไข้ป่าระบาดผู้คนล้มตายลงจำนวนมาก สาเหตุที่ขุนส่าเลือกเอาบ้านหินแตกเป็นฐานที่มั่น ก็เพราะบ้านหินแตกเป็นที่ที่ชาวไทยใหญ่อพยพเข้ามาตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว เป็นที่พักแรมของบรรดาพ่อค้าวัว และยังเป็นจุดศูนย์กลางการค้าระหว่างรัฐฉานกับรัฐโยนก ไม่นานนักบ้านหินแตกก็เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการสร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน บูรณะซ่อมแซมวัดวาอารามต่างๆ โดยนำเงินที่ได้จากการขายฝิ่นมาสร้างสิ่งเหล่านี้


ขุนส่าลักลอบขนฝิ่นจากรัฐฉานมายังบ้านหินแตก ด้วยการปะปนมากับคาราวานม้าต่างๆ ของพ่อค้านายทุน จากฐานที่มั่นเมืองดอยหม่อเข้าเมืองต้างยาน บ้านผาผึ้ง บ้านหนองคำ ข้ามแม่น้ำสาละวินที่ท่าวัวนอง ปางกันฮ่อก ข้ามถนนใหญ่เส้นทางเชียงตุง-ตองจีที่เมืองเปียง เข้าเมืองขอน เมืองปั๊ก เมืองลุง ข้ามแม่น้ำสายเข้าประเทศไทยที่บ้านผาจี ห้วยอื้น บ้านหินแตก เขาทำการค้ายาเสพติดมานานและด้วยปริมาณที่มากมายที่กระจายไปทั่วโลก ชื่อของขุนส่าจึงติดอันดับราชายาเสพติดโลกในชั่วเวลาไม่นาน


เมื่อขุนส่ามาสร้างหลักปักฐานอยู่ที่บ้านหินแตก ทางการพม่าก็เริ่มไม่ไว้วางใจราชายาเสพติดโลกคนนี้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้หมดไปจากราชอาณาจักร โดยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) การกวาดล้างผลักดันครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น ขณะที่ทางการพม่าเองก็พยายามกันตัวเองให้พ้นจากข้อครหาของประชาคมโลกว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติดของขุนส่า เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจจึงจับกุมขุนส่าไปจำคุก ทว่าก็เป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพียง ๕ ปีเท่านั้น เพราะลูกสมุนขุนส่าได้ลักพาตัวแพทย์ชาวรัสเซีย ๒ คน ไปกักตัวไว้ที่บ้านหินแตก พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้แลกเปลี่ยนตัวประกันกับราชายาเสพติดโลก


พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีของไทยสมัยนั้น ร่วมกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เป็นตัวแทนช่วยเจรจากับทางการพม่า นำมาสู่การแลกเปลี่ยนตัวประกันในที่สุด แต่กระนั้นก็ยังกินเวลานานถึง ๖ เดือนกว่าการเจรจาจะเป็นผลสำเร็จ จากนั้นการแลกเปลี่ยนตัวประกันจึงเกิดขึ้นที่บ้านหินแตก


เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยตื่นตัวและเริ่มดำเนินนโยบายผลักดันกองกำลังติดอาวุธของขุนส่าอย่างจริงจัง นำมาสู่ยุทธการบ้านหินแตกเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๒๕ นั่นเอง


ขุนส่ามอบตัว


๗ มกราคม ๒๕๐๙ เป็นวันที่ชาวไทยใหญ่และทุกคนทั่วโลกต่างงุนงงสงสัยกับข่าวหนึ่ง ขุนส่าพร้อมกองกำลังยอมวางอาวุธและจำนนต่อรัฐบาลพม่า โดยไม่ทราบสาเหตุ แต่สำหรับ "เครือเดือน ตุงคำ" แล้ววิเคราะห์ได้ว่า เกิดจาก ๕ ประเด็นหลัก คือ

๑.สหรัฐร่วมมือกับทางการไทยปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง
๒.สหรัฐประกาศต่อประชาคมโลกว่า ต้องการตัวขุนส่าไปดำเนินคดีที่สหรัฐ
๓.ถึงเวลารามือของขุนส่า
๔.พ.อ.เจ้ากานยอดแยกตัวไปตั้งกองกำลังใหม่ทำให้กองทัพเมืองไตอ่อนกำลังลง
๕.กองกำลังต่อต้านพม่า ๑๖ กลุ่ม เจรจาหยุดยิงกับพม่า
"ทั้ง ๕ เหตุผลข้างต้นนี้ทำให้ขุนส่ากดดันอย่างหนัก จนหาทางออกไม่ได้" เครือเดือน ให้ความคิดเห็นส่วนตัว

ที่มา คมชัดลึก,ตำนานคดีดัง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 06 พ.ย. 2015 9:13 pm

ตำนานรักหญิงสามัญชนกับชายสูงศักดิ์ ต้นกำเนิดราชวงศ์ปราสาททอง


DSCF0095-1_zpse04f3818.jpg
DSCF0095-1_zpse04f3818.jpg (82.35 KiB) เปิดดู 18646 ครั้ง




เมื่อสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่ วันหนึ่งเสด็จประพาสลำน้ำมาถึงเกาะบางปะอิน เรือพระที่นั่งถูกพายุพัดจนล่มจึงต้องเสด็จไปอาศัยบนเกาะบางปะอิน จึงได้นางอิน หญิงบนเกาะมาเป็นบาทบริจาริกาจนนางคลอดบุตรเป็นชายนามว่าเจ้าไลย สมเด็จพระเอกาทศรถจะรับเป็นพระโอรสก็ละอายพระทัยจึงทรงให้ออกญาศรีธรรมาธิราชรับไปเลี้ยงแต่เด็กจนกระทั่งเติบใหญ่

เจ้าไลยได้เริ่มต้นรับราชการโดยเริ่มจากการเป็นมหาดเล็ก แล้วจึงได้เลื่อนเป็นหุ้มแพร และได้เลื่อนเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ เมื่อจมื่นศรีสรรักษ์มีอายุได้ ๑๘ ปี ได้ไปก่อเหตุทำร้ายพระยาแรกนาแล้วหนีไปหลบอยู่ในวัด พระเจ้าอยู่หัว(สมเด็จพระเอกาทศรถ)จึงให้จับตัวออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นบิดาไปขัง จมื่นศรีสรรักษ์จึงเข้ามามอบตัว มีรับสั่งให้จับไปขังคุก ๕ เดือน แต่ เจ้าขรัวมณีจันทร์ พระชายาม่ายในสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมาทูลขอพระราชทานอภัยโทษแทน จมื่นศรีสรรักษ์จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมารับราชการตามเดิม แต่จมื่นศรีสรรักษ์ก็ยังก่อเรื่องวุ่นวายอีกจนถูกจำคุกอีกสองหน ต่อมาได้เลื่อนเป็นจมื่นสรรเพชญ์ภักดี และได้เลื่อนเป็นออกญาศรีวรวงศ์ตามลำดับ เป็นขุนนางที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก

จนถึง พ.ศ. ๒๑๗๑ สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(เป็นโอรสของพระเอกทศรสกับพระสนมได้ราชสมบัติจากการแย่งชิงมาจากพระศรีเสาวภาคย์ผู้เป็นโอรสของพระอัครมเหสี) ทรงพระชวรหนัก จึงให้ออกญาศรีวรวงศ์เชิญกระแสรับสั่งออกในที่ประชุมขุนนางเรื่องรัชทายาท ซึ่งเหล่าขุนนางมีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนพระเชษฐาธิราช พระโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งมีพระชนมายุ ๑๔ ชันษา อีกฝ่ายสนับสนุนพระศรีศิลป์ พระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมซึ่งผนวชอยู่ที่วัดระฆัง ฝ่ายนี้มี ออกญากลาโหม ออกญาท้ายน้ำ ออกหลวงธรรมไตรโลก ออกพระศรีเนาวรัตน์และออกพระจุฬา (ราชมนตรี)

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมมีพระราชประสงค์ให้พระเชษฐาธิราชได้ครองราชสมบัติ ทรงมีรับสั่งให้ออกญาศรีวรวงศ์ แจ้งให้บรรดาเสนาบดีทราบ

วันรุ่งขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสวรรคต พระยาศรีวรวงศ์แจ้งให้เหล่าขุนนางทราบว่าทรงให้พระเชษฐาธิราชครองราชย์ต่อ สมเด็จพระเชษฐาธิราชจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบิดา ระหว่างพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระยาศรีวรวงศ์สั่งให้จับออกญากลาโหมกับขุนนางที่สนับสนุนพระศรีศิลป์ไปประหารชีวิตที่ท่าช้าง แล้วริบทรัพย์สมบัติมาแจกจ่ายผู้มีความชอบ สมเด็จพระเชษฐาธิราชทรงตั้งพระยาศรีวรวงศ์เป็น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม แทนเจ้าพระยามหาเสนาบดีที่ถูกประหาร เรียกกันสั้นๆว่า ออกญากลาโหม

ภายหลังออกญากลาโหมได้ให้ออกญาเสนาภิมุขไปลวงพระศรีศิลป์มาสังหารทิ้ง พ.ศ.๒๑๗๓ มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม (จดหมายเหตุวัน วลิตกล่าวว่าน้องชาย) เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต ขุนนางทั้งหลายต่างไปช่วย บางคนถึงกับไปนอนค้าง เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการ มีข้าราชการหายไปจำนวนมากจึงทรงพระพิโรธว่าจะลงอาญาข้าราชการเหล่านั้น เหล่าข้าราชการจึงไปขอพึ่งเจ้าพระยากลาโหม และไม่ไปเข้าเฝ้า พวกข้าหลวงเดิมก็ทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คิดเป็นกบฏ จึงทรงให้ข้าหลวงไปหลอกให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าวังมาเพื่อสังหารทิ้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อนจึงประกาศแก่คนทั้งปวงว่า

...เราได้ทำราชการมาด้วยความสุจริต เดี๋ยวนี้พระเจ้าแผ่นดินพาลเอาผิดว่าคิดกบฏ เมื่อภัยมาถึงตัวก็จำต้องเป็นกบฏตามรับสั่ง...

ข้าราชการทั้งปวงก็พากันเข้าด้วย จึงคุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปปลงพระชนม์

ข้าราชการทั้งปวงจึงอัญเชิญเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ให้ขึ้นครองราชย์ แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ปฏิเสธและอัญเชิญสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ พระโอรสองค์เล็กของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมขึ้นครองราชสมบัติสืบไป โดยมีเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะยังทรงพระเยาว์มาก วันๆ ได้แต่ทรงเล่นสนุก ขุนนางทั้งปวงจึงไปขอร้องให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ขึ้นครองบัลลังก์เพื่อเห็นแก่บ้านเมือง เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์จึงปลงพระอาทิตยวงศ์ลงจากราชสมบัติ แล้วจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. ๒๑๗๓ เมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๐ พรรษา ทรงพระนาม สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


ทรงครองราชย์ได้ ๒๕ ปี สวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๑๙๘ พระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา
สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงเป็นพระบิดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีกด้วย




ที่มา >> ราชินี เจ้าจอม หม่อมห้าม ในอดีต
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 11 พ.ย. 2015 8:26 pm

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี” พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในพระพุทธเจ้าหลวง


_1_~1.JPG
_1_~1.JPG (32.4 KiB) เปิดดู 18637 ครั้ง




พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี (๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๕— ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ และเป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติกาลพระราชบุตร

แต่เมื่อมีพระประสูติกาล พระราชบุตรพระองค์นั้นก็ได้สิ้นพระชนม์ไปอย่างกระทันหันภายในเวลาอันสั้น พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเสียพระทัยยิ่งนักจนสูญเสียพระจริตในเวลาต่อมา และมิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้ต่อไป ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดชีพตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่ตำหนักของกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ

พระประวัติ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๕ เป็นพระราชธิดาลำดับที่หกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ (สกุลเดิม สุขสถิต) ธิดาของพระยาพิพิธสุนทรการ (สุข สุขสถิต) เจ้าเมืองตราด พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา คือ พระองค์เจ้ามัณยาภาธร, พระองค์เจ้าศุขสวัสดี และพระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่ประสูติหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในปีแรก จึงทรงหนึ่งในเป็นกลุ่มราชธิดาที่พระราชบิดาทรงมีพระเมตตาสนิทเสน่หาเป็นพิเศษ ทั้งยังทรงอบรมเลี้ยงดูด้วยพระองค์เอง มักตามพระทัยและมิเข้มงวดดังรัชกาลก่อน ๆ พระองค์จึงได้รับพระราชทานสร้อยพระนามว่า นราธิราชบุตรี ซึ่งมีพระราชธิดาเพียงสามพระองค์ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับพระราชทานสร้อยพระนาม โดยอีกสองพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดาในเจ้าจอมมารดาแพ และพระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดาในเจ้าจอมมารดาเที่ยง นอกจากนี้พระนามของทั้งสามพระองค์ยังสอดคล้องกันโดยเรียงตามพระชนมายุ ได้แก่ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระองค์เจ้าโสมาวดี

ทั้งนี้พระองค์เจ้าทักษิณชาเป็นพระราชธิดาที่พระราชบิดาทรงโปรดปรานและยกย่องมากเป็นพิเศษพระองค์หนึ่ง ดังปรากฏในความตอนหนึ่งว่า


"...เมื่อพระชันษาได้ ๓ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสุภาวดีสักเลกพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ แต่กรมพระสัสดีกลับเอาเลกไปสักไว้กับพระอภัยสุรินทร์ เจ้ากรมพลฝ่ายขวา เป็นเหตุให้ทรงขัดเคืองพระทัยมาก ถึงแก่ทรงออกเป็นประกาศตักเตือนเจ้านาย ข้าราชการ และพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งอย่างเคร่งครัด มิให้ผิดไปจากรับสั่ง..."

ทรงประสบอุบัติเหตุ

เมื่อมีพระชันษาราว ๕-๗ ปี พระองค์ได้ประสบอุบัติเหตุขณะโดยเสด็จพระราชบิดา พร้อมกับพระพี่น้อง อีก ๓ พระองค์คือ พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์, พระองค์เจ้าโสมาวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะประทับบนรถม้าพระที่นั่งเพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยบริเวณใกล้พระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อรถม้าพระที่นั่งเข้ามาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรีใกล้ทางเลี้ยวไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าได้ตื่นเสียงแตรเสียงกลอง ทำให้รั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่งรถพระที่นั่งจึงเสียการทรงตัวแล้วพลิกคว่ำลงจากอุปัทวเหตุดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระเจ้าลูกเธอทั้งสี่ได้รับบาดเจ็บทุกพระองค์ ดังปรากฏดังนี้


“...ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง... แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว...อาการน่ากลัวมาก โลหิตไหล ไม่หยุด สักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้น ให้ชักกระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น...”

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชหัตเลขาเล่าพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าทักษิณชาให้เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี ความว่า


“...ทักษิณชา ลูกข้าค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังเดินไม่ได้ กับบางเวลาข้างเท้าและขาข้างดีอยู่นั้นสั่นระทุกไป เขาว่าเป็นเพราะเทพจรไม่เสมอกันทั้งสองข้าง ๆ หนึ่งเป็นแผลใหญ่อยู่จนเทพจรเดินไม่สะดวกจึงกลับมาลงเดินข้างหนึ่งแรงไปกว่าข้างหนึ่ง การก็จะไม่เป็นอะไรดอก เมื่อแผลหายแล้วอาการก็ปกติ...”

โสกันต์

ครั้นเมื่อทรงมีพระชันษาสมควรแก่การโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระดำริเห็นว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ทรงมีพระนามและพระเกียรติยศปรากฏกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น ๆ ด้วยรู้จักมักคุ้นเป็นที่นับถือกันในพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย ตลอดจนกงสุลนานาประเทศก็นับถือมาเฝ้าแหนไต่ถามอยู่เนือง ๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์เป็นพิธีใหญ่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในปี พ.ศ. ๒๔๐๕

เมื่อโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดให้ปีละ ๑๐ชั่ง เงินเดือนเดือนละ ๓ ตำลึง

เข้ารับราชการฝ่ายในและการประชวร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี เป็นพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวงพระองค์แรกในรัชกาล ด้วยทรงสนิทสนมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์และเป็นมเหสีที่พระราชสวามีทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ ทั้งยังสร้างความโสมนัสเมื่อทรงพระครรภ์ เพราะพระราชบุตรที่จะประสูติในภายหน้าจะเป็นเจ้าฟ้าพระองค์แรกในรัชกาล

จนเมื่อประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ แต่หลังจากนั้นเพียงแปดชั่วโมง ความโสมนัสกลับเป็นทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวงที่เจ้าฟ้าพระราชกุมารสิ้นพระชนม์ลง พระองค์เจ้าทักษิณชามิอาจปลงพระทัยเชื่อว่าพระราชกุมารที่ดูแข็งแรงเมื่อแรกประสูติจะสิ้นพระชนม์ในเวลาอันสั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนพระทัยแก่พระองค์เจ้าทักษิณชาอย่างมาก พระองค์ประชวรและไม่รับรู้สรรพสิ่งรอบข้างด้วยมีพระสัญญาที่ฝังแน่นแต่เรื่องราวของพระราชโอรสและทรงอยู่ในโลกส่วนตัว มิสามารถสนองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายในได้อีกต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงในนฤบาลสร้างพระตำหนักพิเศษให้พระองค์เจ้าทักษิณชาพักผ่อนแต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น ภายหลังจึงเสด็จไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดา ณ วังท้ายวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และย้ายไปประทับร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ พระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาอีกพระองค์หนึ่ง ณ วังตำบลสามเสนจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ สิริพระชนมายุได้ ๕๓ พรรษา

การนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 01 ธ.ค. 2015 12:01 pm

มหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย...

236742.jpg
236742.jpg (95.35 KiB) เปิดดู 18604 ครั้ง


"..ขืนตั้ง(มหาลัยขึ้นมา)ราชวงศ์จักรีจะแย่ ถ้าเจ้าคุณจะตั้งมหาวิทยาลัย ผมตายก็อย่ามาเผาผม เจ้าคุณตายผมก็จะไม่ไปเผาเจ้าคุณ มันยังไม่ถึงเวลาตั้ง(มหาวิทยาลัยในประเทศไทย).."

นี้คือถ้อยคำของผู้ขัดขวางการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้นก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งได้ต่อว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ว่าประเทศสยามยังไม่พร้อมที่จะมีมหาวิทยาลัยในประเทศ ตอนนั้นพวกเจ้านายชั้นสูง รวมไปถึงพวกขุนนางชั้นสูง บางท่านไม่สนับสนุนและเห็นด้วยกับรัชกาลที่ ๖ ในการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น ถึงขนาดที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (ต้นราชสกุลกิติยากร) เสนาบดีกระทรวงคลังสมัยนั้น ถึงกับบันทึกต่อว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า "..การตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ได้นั้น เสนาบดีกระทรวงธรรมการจะพารัฐบาลเข้าปิ้งทางการเงิน.." ว่ากันว่าท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีนั้น เป็นเจ้าพระยาที่ยากจนที่สุดในประเทศสยามเวลานั้น

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสอบถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงเรื่องตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศสยามว่า "เราพร้อมแค่ไหน" เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้กราบบังคมทูลว่า

"..ถ้าถือเอาอ๊อกฟอร์ดหรือเคมบริดซ์เป็นมาตรฐาน เรายังไม่พร้อมที่จะสถาปนามหาวิทยาลัย จะต้องลงทุนรอนมากมายนัก ทั้งเงินทั้งคนของเรายังไม่พร้อม แต่ถ้าจะลดหย่อนลงมาเพียงมหาวิทยาลัยรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นสะพรั่งราวกับดอกเห็ดทั้งในตะวันตกและตะวันออก เราก็พอทำได้ มหาวิทยาลัยใหม่ ๆ นี้เปรียบเหมือนเป็นโรงเรียนกลางวัน แต่ออกสฟอร์ด เคมบริดซ์ เปรียบเหมือนโรงเรียนประจำ...(ตัดข้อความลง)....มหาวิทยาลัยเก่าของอังกฤษเท่ากับเป็นที่ประทับตราว่าคนนี้ออกไปทำงานอะไร ๆ ก็ไว้ใจได้ เขาเป็นสุภาพบุรุษโดยสมบูรณ์แล้ว แต่มหาวิทยาลัยใหม่จะประทับตราให้ได้แต่เพียงว่า คนนี้มีวิชาเอนจิเนีย,แพทย์,กฎหมาย,วิทยาศาสตร์,อักษรศาสตร์ ฯลฯ ...จำนวนนักเรียนจบมัธยมบริบูรณ์ของเรายังน้อยมาก โรงเรียนข้าราชการพลเรือนยังต้องรับผู้จบมัธยมหก ในแง่นี้แง่เดียวก็อาจมีผู้คัดค้านได้ว่ายังไม่ถึงเวลา...."

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบกลับว่า

"....เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้...."

และในที่สุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย จนถึงวันนี้ครบรอบ ๙๘ ปี





ที่มาจาก เรื่องเล่า ตำนาน ประวัติศาสตร์ไทย
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พุธ 02 ธ.ค. 2015 8:05 pm

นางผู้เป็นรักแรกของในหลวงรัชกาล ๔

236820.jpg
236820.jpg (98.51 KiB) เปิดดู 18597 ครั้ง


เมื่อเจ้าฟ้าชายฉิม(รัชกาลที่๒)สวรรคต ตามกฎมณเฑียรบาลแล้วเจ้าฟ้าชายมงกุฎ หรือที่ชาววังเรียกว่าทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ผู้เป็นพระราชโอรสองค์โตที่ประสูติจากเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดผู้เป็นอัครมเหสีสมควรที่จะได้เสวยราชสมบัติขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ต่อไป แต่ในขณะนั้นเจ้าฟ้าชายมงกุฎเพิ่งจะโตเป็นหนุ่มยังไม่มีประสบการณ์ในงานราชการ จึงไม่สามารถขึ้นเสวยราชย์ได้ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอดจึงนำพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ไปมอบให้แด่พระองค์เจ้าชายทับ พร้อมกับตรัสว่า "พระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว น้องชายเจ้ายังเล็ก(หมายถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ) ปกครองบ้านเมืองไม่ได้ เจ้าจงรับราชการเป็นพ่ออยู่หัวปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเถิด” พระองค์เจ้าทับนี้เป็นพระราชโอรสองค์โตในรัชกาลที่๒แต่ประสูติจากพระสนม พระองค์เจ้าชายทับมีพระชันษาห่างจากเจ้าฟ้าชายมงกุฎเกือบ ๒๐ปีช่วยราชการพระเจ้าอยู่หัวมานาน จึงขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ต่อไป

ก่อนพระองค์เจ้าชายทับจะขึ้นครองราชย์ ขณะนั้นเจ้าฟ้าชายมงกุฎเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่มรูปงามปรากฏว่าพระองค์ทรงมีใจปฏิพัทธ์ต่อหญิงสาวคนหนึ่งผู้เป็นหน่อเนื้อเชื่อพระเจ้าตาก นามว่า”คุณหญิงน้อย”ซึ่งในขณะนั้นเปรียบดั่งดรุณีแรกรุ่น ไม่นานนักเจ้าฟ้าชายมงกุฎจึงรับคุณหญิงน้อยมาเป็นหม่อม เสมือนเป็นรักแรกของพระองค์ เมื่อเจ้าฟ้าชายมงกุฎมีพระชันษาครบ ๒๑ ปีจึงเข้าผนวชตามโบราณราชประเพณี และเมื่อพระองค์เจ้าชายทับเสวยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่๓ ทำให้เจ้าฟ้าชายมงกุฎต้องผนวชต่อด้วยเหตุผลในหลายๆประการ

ทำให้ชีวิตของหม่อมน้อยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะต้องทำหน้าที่แม่คอยเลี้ยงดูพระโอรสทั้งสองด้วยความลำบากอย่างโดดเดี่ยวเสมือนขาดคู่ชีวิต หม่อมเฝ้าคอยการกลับมาของเจ้าฟ้าชายมงกุฎอย่างใจจดจ่อและมีความหวัง เพราะใครจะไปรู้ว่าเจ้าฟ้าชายมงกุฎจะผนวชนานถึง ๒๗ ปี เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่3สวรรคตลง เจ้าฟ้าชายมงกุฎจึงทรงลาผนวชขึ้นเป็นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ นามว่าพระจอมเกล้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติที่เหล่าขุนนางผู้ใหญ่มักจะนำธิดาของตนเข้าถวายตัวเป็นสนมเจ้าจอมเพื่อหวังให้ลูกและครอบครัวมีความมั่นคง ซึ่งสนมแต่ละคนก็ล้วนแต่ยังสาวยังสวย ต่างจากหม่อมน้อยที่ในขณะนั้นก็มีอายุย่างห้าสิบแล้ว จึงทำให้ไม่เป็นที่โปรดและไม่อยู่ในสายพระเนตรอีกต่อไป

ความเสียใจต่างๆจึงสั่งสมขึ้นกลายเป็นความเจ็บปวดภายในใจ ตลอดอับจนหมดหนทางที่จะทำให้สวามีกลับมามีความสัมพันธ์ดังเดิม จนทำให้คุณหญิงน้อยซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าจอมมารดาน้อยได้กระทำการไม่บังควรขึ้นคือ ค่ำวันหนึ่งในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๔ เสด็จพระราชดำเนินทางเรืออยู่นั้นก็มีเรือเก๋งลำหนึ่งพายตามขึ้นมาตีเสมอเรือพระที่นั่ง พระเจ้าอยู่หัวจึงคิดว่านางข้าหลวงของพระนางเจ้ารำเพย(พระมเหสี)นำเสด็จเจ้าฟ้าหญิงตามมาหาที่เรื่อพระที่นั่ง พระองค์จึงร้องเรียกถามไปว่า”เรือใครรึนั่น” มีม่านบังมิดชิด แต่ก็ไม่มีเสียงตอบกลับมาหาพระองค์ จะมีก็แต่เสียงหัวเราะตลกขบขันของพวกผู้หญิงดังออกมาพร้อมกับเสียงเยาะเย้ยหลอกลิงสนุกปาก ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงโกรธ ถึงกับจะคว้าปืนไปยิงก็กลัวจะโดนคนอื่น จึงให้ตำรวจหลวงหลวงตามไปจับ ไล่กันไปมาจึงจับได้แล้วทราบว่าเป็นเรือของฝ่ายในที่มีเจ้าจอมมารดาน้อยและข้าหลวงของท่านอยู่ภายใน

พระเจ้าอยู่หัวจึงสั่งให้พนักงานจับกุมตัวเจ้าจอมมารดาน้อยไปขังไว้ในวังหลวงก่อน จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏความเป็นมาของเจ้าจอมท่านนี้อีกเลย นับได้ว่าคุณหญิงน้อยแทบจะเป็นหญิงเดียวในประวัติศาสตร์ที่กล้าทำผิดกฎร้ายแรงเสี่ยงต่อการถูกประหารชีวิต แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่ท่านทำลงไปนั้นก็มีเเค่เหตุผลเดียว คือ อยากให้คนที่เรารักสนใจแล้วเห็นเราอยู่ในสายตาบ้างเพราะท่านคือ"เมียเอก!"จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต ศพของเจ้าจอมถูกปลงในสวนหลังวังริมครองบางลำพู พระโอรสของท่านจึงสร้างพระอารามขึ้นและสร้างเจดีย์ที่ปลงศพไว้เป็นอนุสรณ์ในวัดแห่งนั้น ซึ่งก็คือ “วัดตรีทศเทพ”นั่นเอง พระราชโอรสของพระองค์เป็นต้นราชสกุล นพวงศ์ ณ อยุธยา และ สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

ที่มา คลังประวัติศาสตร์ไทย
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 10 ธ.ค. 2015 11:01 am

นางอันเป็นที่รักของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕

P1.jpg
P1.jpg (185.24 KiB) เปิดดู 18578 ครั้ง


เนื่องจากในสมัย ร.๕ นั้นพระองค์ทรงมีพระภรรยาเจ้าและพระสนมจำนวนมากถึง ๑๕๒ พระองค์ จึงมีการจัดลำดับชั้นพระอิสริยยศเอาไว้ ดังนี้ ตำแหน่งพระภรรยาเจ้า มี ๕ ตำแหน่ง คือ พระบรมราชินีนาถ ,พระบรมราชเทวี , พระราชเทวี , พระอัครชายา และพระราชชายา รวมทั้งหมด ๙ พระองค์ นอกนั้น ๑๔๓ พระองค์คำรงตำแหน่ง เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม โดย เจ้าจอมมารดาคือสามัญชนที่ถวายตัวรับใช้และมีพระโอรสพระธิดา ส่วนเจ้าจอมสามัญชนที่ถวายตัวรับใช้โดยไม่มีพระโอรสพระธิดา


พระภรรยาเจ้า คือ ตำแหน่งที่สำคัญของราชสำนักฝ่ายในที่สำคัญตำแหน่งหนึ่ง หมายถึง พระภรรยาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระยศเดิมเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ระดับสมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า พระภรรยาเจ้าอาจได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงอิสริยยศต่างกันไป อาทิ พระบรมราชินี พระอัครมเหสี พระอัครเทวี พระราชเทวี พระอัครชายา


ในส่วนของพระภรรยาเจ้านี้ นอกจากจะทรงรับเข้ามาด้วยความพอพระราชหฤทัยแล้ว อีกประการหนึ่ง ทรงรับเข้ามาด้วยเหตุผลเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทสืบพระราชสันตติวงศ์เชิดชูพระราชจักรีวงศ์ ตามคติความเชื่อที่ว่าพระมหาจักรพรรดิควรจะมีนางแก้วคู่พระบารมี คือ พระอัครมเหสีซึ่งเปี่ยมด้วยชาติตระกูลดี เหมาะสมที่จะเป็นพระราชมารดาของพระราชโอรสและพระราชธิดาต่อไป ซึ่งนับเป็นประเพณีความเชื่อแบบตะวันออกที่ว่าด้วยเรื่อง “อุภโตสุชาติ สังสุทธเคราหณี” หมายถึง ผู้ที่เกิดดีทั้งสองฝ่ายคือทั้งฝ่ายชนกและชนนี ส่วน “สังสุทธเคราหณี” หมายถึง มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์พร้อม ทังนี้ เพราะในการแต่งตั้งรัชทายาท ทรงคำนึงถึงพระชาติกำเนิดหรือสายพระโลหิตที่บริสุทธิ์ของรัชทายาท อันสืบเนื่องกับสกุลยศและพระอิสริยยศแห่งพระมารดา ตามแบบแผนราชประเพณี


ทีนี้มาว่ากันโดยลำดับ พระอิสริยยศของพระภรรยาเจ้าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีด้วยกัน ๕ ตำแหน่ง แจกแจงได้ดังนี้


(๑.) พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่ง “พระบรมราชินีนาถ”
– สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง / สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ (พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี)


(๒.) พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่ง “พระบรมราชเทวี”
– สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า /สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา)
– สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี (พระนามเดิม พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์)


(๓.) พระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ตำแหน่ง “พระราชเทวี”


(๔.) พระภรรยาเจ้าชั้นหลานหลวง ตำแหน่ง “พระอรรคชายา”
– พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา / พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ (หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์)
– พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์)
– พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา (หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์)


(๕.) พระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระราชชายา
– เจ้าดารารัศมี พระราชชายา (พระนามเดิม เจ้าดารารัศมี)


เคยทราบมาว่าอันที่จริงแล้ว ตำแหน่งพระภรรยาเจ้าที่ได้รับการสถาปนานั้นจะมีเพียง ๔ ตำแหน่ง คือ “พระบรมราชินีนาถ” “พระบรมราชเทวี” “พระราชเทวี” “พระอรรคชายา” เท่านั้น ตำแหน่งสุดท้ายคือ “พระราชชายา” เพิ่งมีสถาปนาในรัชกาลนี้นี่เอง ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตำแหน่งนี้น่าจะมีเพียงพระองค์เดียว คือ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เพราะในรัชกาลต่อๆ มาเห็นว่าไม่มีสถาปนาพระภรรยาเจ้าครบทุกตำแหน่งข้างต้นอีกเลย




๑.สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พระนามเดิม พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี (รัชกาลที่ ๕ ทรงออกพระนามเรียกโดยลำลองว่า "แม่เล็ก") พระชนนีในรัชกาลที่๖และ๗ “เป็นที่รู้กันในหมู่ชาววังว่าพระองค์ทรงหึงห่วงพระสวามีมาก เคยทรงสั่งทำลายพระรูปที่ร.๕ ฉายกับภรรยาเจ้าองค์อื่นและเจ้าจอม ทรงแต่งดำตลอดพระชนย์ชีพเมื่อ ร.๕ สวรรคตและไม่พอพระทัยถ้าเห็นท่านอื่นแต่งดำเช่นท่าน ตอนประชวรหนักทรงก้มกราบเท้าพระสมเด็จพระศรีสวรินทิราและพระนางสุขุมมาลเพื่อขออภัยกับสิ่งที่ท่านทรงทำไว้กับพี่นางทั้ง๒” มีพระราชโอรส-ธิดา ทั้งหมด ๘ พระองค์ และตกพระครรภ์อีก หลายองค์ ได้แก่




๒.สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่รู้จักกันในนาม พระนางเรือล่ม (รัชกาลที่ ๕ ทรงออกพระนามเรียกโดยลำลองว่า "แม่ใหญ่")


“ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่ง เด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก”


พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่มเมื่อวันจันทร์ที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ทรงมีพระธิดา๑องค์กับในพระครรภ์๑องค์


•สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ (สิ้นพระชนม์พร้อมพระมารดา)


๓.สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า(รัชกาลที่ ๕ ทรงออกพระนามเรียกโดยลำลองว่า "แม่กลาง") ทรงเป็นพระอัยยิกา (ย่า) รัชกาลที่ ๘และ ๙ เมื่อพระสถานะพระราชินีของพระองค์ท่านต้องเปลี่ยนไปเพราะการสิ้นพระชนม์ของพระโอรสเจ้าฟ้าวชิรุณหิศพระองค์ท่านต้องถูกลดพระฐานะลง พระขนิษฐาซึ่งเป็นพระมารดาขององค์รัชทายาทพระองค์ใหม่ขึ้นเป็นราชินีแทนท่านก็ทรงทำพระทัยได้ ไม่มีจิตริษยาในโชควาสนาของพระขนิษฐา เป็นพระอัครมเหสีที่ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์มีแต่ความทุกข์โศกที่เกิดจากการสูญเสีย มีพระราชโอรส-ธิดาทั้งหมด ๘ พระองค์


แม้สมเด็จพระพันวัสสาจะทรงพระอิศริยยศสูงส่ง แต่ก็ทรงประสบกับความทุกข์ด้วยพระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้แก่ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ ขณะมีพระชันษาเพียง ๒๑ วัน ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ และปี พ.ศ.๒๔๒๔ ทรงสูญเสีย เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา พระชันษาเพียง ๔ เดือน
ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๖ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) ซึ่งประสูติได้เพียง ๓ วัน สิ้นพระชนม์ จากนั้นก็มีเหตุให้ทรงโทมนัสแสนสาหัสอีกหลายครา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสีย เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคต อย่างกะทันหันด้วยโรคไข้รากสาดน้อย ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗
เล่ากันว่าสมเด็จพระพันวัสสาทรงล้มทั้งยืนในทันที สิ้นพระสติสมประดี ครั้นรู้สึกพระองค์ก็ทรงพระกันแสงอย่างรุนแรง ทรงใช้พระกรข้อนพระอุระด้วยปริเทวนาการดังจะสวรรคตตามไป ไม่ทรงฟังคำปลอบประโลมใดๆ ทรงโศกเศร้าจนไม่เสด็จกลับตำหนัก กั้นพระฉากบรรทมในที่ประดิษฐานพระบรมศพพระราชโอรส ไม่เสวยพระกระยาหาร จนทรงพระประชวรในที่สุด
เวลาผ่านไป พระสุขภาพเริ่มดีขึ้น เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พระชันษา ๑๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์ พระพันวัสสาทรงเสียพระทัยถึงกับประชวรอีกครั้ง แพทย์ต้องกราบบังคมทูลขอให้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ชายทะเล แต่ยังไม่ทันได้เสด็จไป เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ตามไปอีก ในปี พ.ศ.๒๔๔๒


สมเด็จพระพันวัสสาทรงพระประชวรหนักถึงทรงพระดำเนินไม่ได้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ทรงโศกสลดและแทบจะทรงหมดกำลังพระทัย พระราชพิธีพระราชทางเพลิงศพจัดขึ้นต่อเนื่องกัน ณ พระเมรุมณฑป วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) พระพันวัสสาทรงโศกเศร้าเกินจะห้ามพระทัย ไม่ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงทั้งสามพระองค์


ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระพันวัสสาทรงพระประชวรสลบไปทันที เล่ากันมาว่าทรงอธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูปว่า ขอให้ลืม ลืมให้หมด อย่าให้มีความจำอะไรเลย จำอะไรขึ้นมา ก็ล้วนแต่ความทุกข์ทั้งนั้น


ในพ.ศ. ๒๔๘๑ เจ้าพนักงานตำรวจเชิญ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ขณะนั้นเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจพระราชวัง ด้วยเหตุผลทางการเมือง (หลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว) พระพันวัสสาทรงต่อรองรับประกันด้วยพระราชทรัพย์ทั้งหมดเพื่อแลกกับอิสรภาพ ของพระโอรส เมื่อไม่สำเร็จทรงรับสั่งว่า ทำไมรังแกกันอย่างนี้ มันจะเอาชีวิตฉัน เห็นได้เทียวว่ารังแกฉัน ลูกตายไม่น้อยใจช้ำใจเลย เพราะมีเรื่องหักได้ว่าเป็นธรรมดาโลก ครั้งนี้ ทุกข์ที่สุดจะทุกข์แล้ว


ภาย หลัง สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทยพร้อม สมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) พระธิดาพระโอรสทั้ง ๓ (พระพี่นางฯ รัชกาลที่ ๘ รัชกาลที่ ๙)


ความสุขในวังสระปทุมหมดไปอย่างรวดเร็วเมื่อ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงประชวร พระอาการทรุดหนักสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จฯมาทอดพระเนตรพระอาการ ด้วยพระพักตร์สงบแม้จะตกพระทัยมาก ประทับอยู่ใกล้พระแท่น สมเด็จพระบรมราชชนกพระเนตรปรอย ลืมพระเนตรขึ้นแล้วเสด็จสวรรคตในทันที พระพันวัสสาทรงคุกพระชนฆ์ลง ยื่นพระหัตถ์ไปทรงปิดพระเนตร แล้วซบพระพักตร์ลง


ความโทมนัสแสนสาหัสที่เกิดขึ้นน่าจะจบลงเพียงแค่นั้น เพราะพระพันวัสสาทรงปีติปลาบปลื้มกับพระนัดดาทั้งสาม พระสุขภาพที่ทรุดโทรมก่อนหน้านี้ค่อยดีขึ้น ด้วย พระราชหฤทัยที่ชื่นบาน แต่.......


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลฯ เสด็จสวรรคต ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ ไม่มีผู้ใดกล้ากราบบังคมทูล ทรงรำลึกเสมอว่า "ทรงมีหลานชาย ๒ คน"


วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๙ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จ สวรรคต ณ วังสระปทุม ด้วยอาการพระทัยวาย รวมพระชนมายุ ๙๓ พรรษา ๓ เดือน ๗ วัน จากรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๙ รวม ๖ แผ่นดิน ทรงผ่านทั้งความสุข ความทุกข์โศกใหญ่หลวง แต่ก็ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้จนบังเกิดพระขันติธรรม นำให้เข้าพระทัยในธรรมดาแห่งชีวิต


นี่แหละ ความทุกข์ของผู้หญิงคนหนึ่ง ในฐานะมารดามิใช่ราชินี


๔.สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี มีพระนามเดิมว่า " พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงสุขุมาลมารศรี " ในรัชกาลที่ ๕ หรือที่ถวายเรียกกันว่า “เสด็จพระนาง” หลักฐานแห่งความ โปรดรักใคร่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง นั้น มีปรากฏอยู่เนือง ๆ เช่น พระมเหสีพระองค์นี้ น่าจะทรงเป็น "เมีย" คนแรกที่ทรงพระราชนิพนธ์โคลงพระราชทาน เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ทรงตรอมพระราชหฤทัยมาก ถึงกับมีพระราชประสงค์จะเสด็จสวรรคต ได้ทรงพระราชนิพนธ์ความในพระราชหฤทัย ส่งไปพระราชทานเจ้านายเพียง ๒ พระองค์เท่านั้น คือ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี และ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ แต่ก็แปลกที่ท่านไม่ได้แต่งตั้งเป็นพระมเหสีตลอดรัชากาลที่๕ จนเอ่ยปากน้อยใจกับโอรสว่า “แม่นี้น้อยบุญนัก” มีพระราชโอรส-ธิดา รวม ๒ พระองค์


๕.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา นราธิราชบุตรี ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจันทร์ และเป็นพระภรรยาเจ้าพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติพระราชบุตร ทรงมีพระชันษาแก่กว่า เป็นพระภรรยาเจ้าระดับ "ลูกหลวง" พระองค์แรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๓ ทรงประสูติพระราชบุตรเป็นพระราชโอรส ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ เป็นพระราชบุตรพระองค์ที่ ๕


สมเด็จเจ้าฟ้าชายที่ประสูติแต่ พระองค์เจ้าทักษิณชา ทรงเป็นเจ้าฟ้าลูกหลวงเอก พระองค์แรกในรัชกาล ทรงสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ “พระองค์เจ้าทักษิณชาทรงเสียพระทัยมากจนสูญเสียพระจริต ไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยตลอดพระชนม์ชีพ”


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าโปรดให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี กรมหลวงอดิศรอุดมเดช พระอนุชา ทรงรับพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา ไปบริบาล จนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ทรงอยู่ในสภาพผู้ป่วยนานถึง ๓๔ ปี


๖.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา (หม่อมเจ้าบัว ลดาวัลย์) ชาววังเอ่ยพระนามว่า “พระอรรคชายาพระองค์ใหญ่” พระธิดาของพระองค์เจ้าลดาวัลย์ กับ เจ้าจอมมารดาจีน มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว


๗.พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคย์นารีรัตน์ (หม่อมเจ้าปิ๋ว ลดาวัลย์) ชาววังเอ่ยพระนามว่า “พระอรรคชายาพระองค์กลาง” มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว


๘.พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (หม่อมเจ้าสาย ลดาวัลย์) ชาววังเอ่ยพระนามว่า “พระอรรคชายาพระองค์เล็ก”


“ทรงปฏิบัติราชการในหน้าที่อำนวยการห้องพระเครื่องต้นของเสวยคาวหวาน เป็นที่รู้กันทั่วว่าพระองค์ทรงทำอาหารอร่อยที่สุดทรงพิถีพิถันในเรื่องเครื่องต้นที่จะตั้งถวาย ทรงรับสั่งว่า " ขอให้ลูกให้ผัวสุขสบายก็เป็นที่พอใจแล้ว " อีกทั้งทรงเป็นผู้ที่ตั้งโรงเลี้ยงเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
๙.พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระนามลำลองว่า "เจ้าอึ่ง"


“เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม ผู้มากด้วยพระอัจฉริยภาพ เจ้าหญิงผู้เสด็จลงมาถวายตัว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ด้วยเหตุทางการเมือง ทรงดำรงพระองค์อย่างเรียบง่าย มิได้สนพระทัยต่อการถูกมองพระองค์ว่าเป็น "เจ้าหญิงเมืองลาว” แต่ทรงเอ่ยปาก" ใคร่ปิ๊กบ้านวันละร้อยเตื้อ " การสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีในคราวนี้นั้น พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก กล่าวโทษพระองค์เอง ว่า "ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก ที่ทรงมิได้สถาปนาพระยศพระราชธิดาให้เป็น "เจ้าฟ้า" เป็นเหตุให้พระธิดาสิ้นพระชนม์" แต่สำหรับ เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมีแล้วนั้น ทรงเสียพระทัยอย่างที่สุด ทรงฉีกทำลายพระฉายาลักษณ์ที่ "พระราชสวามี" ประทับร่วมอยู่กับ "พระองค์" และ "พระราชธิดา" เสียจนหมดสิ้น มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว คือ






•พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (สิ้นพระชนม์เมื่อทรงพระเยาว์)






ที่มา https://beauvajirakorn.wordpress.com/ และ http://panya-king5.blogspot.com/
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 11:41 am

อำแดงอยู่นักโทษประหารหญิงในสมัยรัชกาลที่ ๕

75.png
75.png (636.37 KiB) เปิดดู 17406 ครั้ง


เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเกี่ยวกับคดีชู้สาวคดีหนึ่งแต่มีรายละเอียดค่อนข้างซับซ้อนและพฤติกรรมที่รุนแรง เป็นเหตุให้คดีความเมื่อสิ้นสุดแล้ว คนผิดต้องโทษประหารชีวิต ไม่เพียงแต่แค่นั้น เพชฌฆาตยังได้ “ตัดศีรษะออกเป็นชิ้นๆ แล่เนื้อออกจากกระดูก ทิ้งตับไตไส้พุงให้กับแร้งกา ส่วนศรีษะเอาไปเสียบไม้ไผ่ปักประจาน”

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นที่บ้านแห่งหนึ่งในพระนคร พระบวรฤาสิงหนาทนั้นรักใคร่ชอบพอกับอำแดงอยู่ และได้แต่งงานกันได้พักใหญ่ เรือนของพระบวรฤาสิงหนาทนั้นมีทาสคอยรับใช้อยู่หลายคน เป็นเรื่องปกติของคนมีฐานะในสมัยนั้น

ต่อมาไม่นานอำแดงอยู่เกิดต้องใจกับไอ้ไฮ้ทาสหนุ่มในเรือน กระทั่งลักลอบเป็นชู้กันขึ้น อำแดงอยู่และไอ้ไฮ้ลักลอบมีความสัมพันธ์กันมานานกว่าสองปี และพระบวรฤาสิงหนาทนั้นยังไม่เห็นเหตุการณ์ก็อาจจะดำเนินไปเช่นนั้น และปล่อยให้อำแดงอยู่สวมเขาแก่สามีไปเรื่อยๆ แม้ไอ้ไฮ้จะได้นายหญิงเป็นภรรยาและในสมัยนั้น ถือว่าเป็นบุญวาสนานักแล้ว แต่ความที่ไอ้ไฮ้คงจะมีอะไรดี และคงเป็นที่หมายปองของบรรดาเพื่อนพ้องบ่าวไพร่ในเรือนนั้น

กระทั่งอำแดงอยู่เกิดมีคู่แข่งขึ้นมา ด้วยอีเกลี้ยงสาวใหญ่วัย ๕๗ ทาสในเรือนนั้นเกิดชอบพอไอ้ไฮ้ขึ้นมาทั้งสองเกิดลักลอบได้เสียกัน หลังจากไอ้ไฮ้และอีเกลี้ยงลักลอบได้เสียกันอยู่ประมาณ ๓ เดือน ความล่วงรู้ไปถึงอำแดงอยู่ อำแดงอยู่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยตนนั้นก็เป็นฝ่ายผิดที่เล่นชู้กับไอ้ไอ้อยู่นับว่ายังเป็นบุญนักที่พระบวรฤาสิงหนาทยังไม่รู้ความที่เกิดขึ้น

ต่อมาวันหนึ่งพระบวรสิงหนาทเกิดกลับบ้านผิดเวลา หรืออาจจะเป็นด้วยเหตุที่ว่าพอจะรู้ระแคะระคายอะไรขึ้นมาบ้าง จึงหาทางจับผิดภรรยาในวันนั้นเองพระบวรราชฤาสิงหนาทก็ได้รู้ความจริงด้วยตาตนเอง เมื่อเห็นว่าช่วงที่ตนไปราชการอำแดงอยู่ภรรยาก็ลักลอบเล่นชู้กับบ่าวไพร่ในเรือน พระบวรฤาสิงหนาทได้พบอำแดงอยู่กำลังร่วมสังวาสกับไอ้ไฮ้พอดี ความเลยแตก พระบวรราชฤาสิงหนาท โกรธจัดแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยความอับอายจึงได้ลงโทษไอ้ไฮ้ด้วยการเฆี่ยนแล้วนำตัวไปขังไว้ในครัว

เวลาผ่านไปได้พักหนึ่งหลังจากพระบวรสิงหนาทคลายความโมโหและเดือดดาลลง อำแดงอยู่ได้แต่ก็เจ็บแค้นในใจ ว่าพระบวรสิงหนาทนั้นไปรู้ความจริงมาจากใคร จึงทำทีกลับบ้านผิดเวลาและรู้เห็นเหตุการณ์ขึ้น อำแดงอยู่เพียรที่จะสืบเสาะว่ามีผู้ใดที่ปากสว่างนำความไปบอกสามีตน

บ่ายวันนั้นหลังจากที่อำแดงอยู่ดื่มสุราไปได้หน่อยนึงแล้ว ให้เรียกอีเกลี้ยงทาสในเรือนมาถามไถ่ ด้วยคิดว่าอีเกลี้ยงจะเป็นคนไปบอกเหตุแก่พระบวรสิงหนาท ครั้นเมื่อถามอีเกลี้ยง อีเกลี้ยงผู้ทาสก็ไม่ยอมรับ อำแดงอยู่ก็คว้าไม้แสมที่วางอยู่ข้างๆตีอีเกลี้ยงไปหลายที ด้วยความเป็นห่วงไอ้ไฮ้คืนนั้นอีเกลี้ยงจึงลักลอบไปหาที่ระเบียงครัวที่ไอ้ไฮ้ถูกล่ามโซ่ไว้ ภายหลังไอ้ไฮ้ได้ลักลอบพบกับอำแดงอยู่อีก ไอ้ไฮ้ได้ออดอ้อนอำแดงอยู่และเล่าให้ฟังว่าอีเกลี้ยงได้ลักลอบมาหาตน

เท่านั้นเอง ก็ถึงแก่คราวซวยซ้อนของอีเกลี้ยง โดนดุ้นแสมฟาดไปมิทันไร ต้องมาโดนดุ้นใหม่ให้ระอาอีกรอบ ด้วยแรงหึงของอีคุณนาย จึงตวาดเรียกทาสชื่อ "อ้ายฮาน" ให้เอาตรวนมาล่ามอีเกลี้ยงไว้ แล้วอีกคุณนายก็กระหน่ำฟาดอีเกลี้ยงด้วย "ดุ้นไม่ไผ่" ไป ๔-๕ ที จนสาแก่ใจ พอนึกแค้นอีเกลี้ยงขึ้นมาอีกเมื่อไร ก็เอาดุ้นไม่ไผ่กระหน่ำฟาดอีเกลี้ยงซ้ำๆ เช่นนั้น จนอีเกลี้ยงแทบจะตายคาตรวน แค่นี้ดูเหมือนจะแซ่บแล้ว แต่เหตุการณ์แต่ไปนี้ แซ่บกว่า....!! สำนวนไต่สวนได้บันทึกไว้ว่า....

"ครั้น ณ วันเดือนเก้า ขึ้นสี่ค่ำ ปีมะเส็งตรีศก เวลาเช้าประมาณโมงเศษ พระบรรฤๅสิงหนาทเข้าไปรับราชการในพระราชวังบวร อำแดงอยู่ไขกุญแจที่ข้อเท้าอีเกลี้ยง เอาตัวอีเกลี้ยงมาที่ชานเรือน อำแดงอยู่เมาสุราเอาไม้แสมรอน ตีอีเกลี้ยงประมาณ ๕ ที ๖ ที ในวันเดียวนั้นเวลาบ่ายโมงเศษ อำแดงอยู่ใช้อีเกลี้ยงหุงข้าวอยู่ในครัวไฟ อำแดงอยู่ตามอีเกลี้ยงเข้าไปในครัวไฟ อำแดงอยู่เห็นอีเกลี้ยงนั่งยองๆ หุงข้าวอยู่ อำแดงอยู่เอาเท้าถีบอีเกลี้ยงล้มนอนตะแคงลง อำแดงอยู่กระชากผ้านุ่งอีเกลี้ยงออก แล้วอำแดงอยู่เอาไม้แสมที่เตาหุงข้าวที่ติดไฟอยู่นั้น ตำที่ทวารเบาอีเกลี้ยง ๒ - ๓ ที "ถึงตอนนี้น่าสงสารอีเกลี้ยงนัก ที่โดนฟาดด้วยดุ้นแสม ดุ้นไม่ไผ่ยังไม่พอ ยังโดนเอาดุ้นฟืนที่ติดไฟแดงๆ กระทุ้งเข้าไปที่โยนีอีกสามที นึกไม่ออกเหมือนกัน ว่าจะเจ็บแสบทรมานแค่ไหน เคราะห์ของอีเกลี้ยงยังไม่หมดแค่นี้ พอตอนสี่โมงเย็น หลังจากอีคุณนายอยู่กระดกสุรายาดอง และกินข้าวเรียบร้อยแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจ เกิดแค้นอีเกลี้ยงขึ้นมาอีก อีเกลี้ยงก็ซวย เสือกเดินขวางหูขวางตาอยู่ชานเรือนพอดี

อีคุณนายจึงรีบตวาดเรียก "อ้ายฮาน" คนเดิม แต่คราวนี้มาพร้อม อ้ายสด และอีเทียน ทาสในเรือนเดียวกันมาช่วยกันยึดมืออีเกลี้ยงไว้คนละข้าง ให้อีเกลี้ยงนอนหงาย อีเกลี้ยงโดนดุ้นฟืนติดไฟทิ่มโยนีมาแล้ว ก็กลัวลนลานดิ้นรนสุดชีวิต อีคุณนายอยู่ก็เลยให้อีเทียนนั่งทับขาอีเกลี้ยงเอาไว้ไม่ให้ขยับ

ด้วยความวิปริตผิดมนุษย์ หรืออะไรก็สุดแต่จะคิด อีคุณนายหมายจะเล่นงานอีเกลี้ยงที่โยนีอีกครั้ง เอามือไปแก้ปมผ้านุ่งของอีเกลี้ยง อีเกลี้ยงผู้น่าเวทนา ทั้งร้องทั้งดิ้นพล่าน เพราะกลัวจะโดนอะไรมาทิ่มอีก อีคุณนายเห็นอีเกลี้ยงดิ้นพล่าน จึงสั่งให้อ้ายฮานส่งดุ้นฟืนแสมมาให้ พออีเกลี้ยงเห็นดุ้นแสมมหึมาจึงจำยอมให้อีคุณนายอยู่แก้ผ้านุ่งออก คุณนายอยู่ถกผ้านุ่งอีเกลี้ยงส่งให้อ้ายฮาน อ้ายฮานก็เอาใจนายโยนผ้านุ่งอีเกลี้ยงลงใต้ถุนเรือน เหตุการณ์ต่อไป ต้องเรียกว่า “แซ่บแบบระยะ เผาขน (ในที่ลับ” คำไต่สวนบันทึกว่า....
"อำแดงอยู่ ให้อ้ายฮานหยิบไม้ขีดไฟในครัวไฟมาส่งให้อำแดงอยู่ อำแดงอยู่ก็ขีดไฟเผาขนที่ลับอีเกลี้ยง สิ้นไม้ขีดไฟประมาณ ๘ อัน ๙ อัน แล้วให้อ้ายฮานเอาโซ่ล่ามเท้าอีเกลี้ยงไว้ได้ ๒ วัน..."

คราวนี้ ความยุติธรรมกำลังจะเข้าข้างอีเกลี้ยง เมื่อ "อำแดงติ้น" แม่เลี้ยงของอีเกลี้ยงมาเยี่ยมอีเกลี้ยง พอมาพบสารรูปอีเกลี้ยง อำแดงติ้นถึงกับตกใจ เพราะสภาพของอีเกลี้ยงเหมือนเดนมนุษย์ที่ถูกล่ามโซ่ และเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำ ห้อเลือดไปทั่วสรรพางค์กาย อำแดงติ้น จึงถามอีเกลี้ยงว่า ไปทำผิดอะไรมา เขาถึงได้ลงทัณฑ์ถึงเพียงนี้ อีเกลี้ยงก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะตอบอะไรอำแดงติ้นได้ จนอีคุณนายอยู่ได้เจอกับอำแดงติ้น อำแดงติ้นจึงไต่ถาม อีคุณนายอยู่ก็ปัดความบอกว่า“ไม่ใช่เรื่องของมึง อย่ามายุ่ง”

อำแดงติ้นไม่ลดความพยายาม จึงถามว่าจะเอาเงินสักเท่าไร เป็นค่าไถ่ตัวอีเกลี้ยงลูกเลี้ยงของตน จะได้ไปหามาให้ อีคุณนายอยู่หวังจะทรมานอีเกลี้ยงต่อไป จึงปฏิเสธแล้วด่าทออำแดงติ้นต่างๆ นาๆ

ด้วยความสงสารลูก แม้จะเป็นเพียงลูกเลี้ยงที่ตนไม่ได้อุ้มท้องมา อำแดงติ้นจึงไปฟ้องพระบรรฤๅ ฯ ที่รับราชการอยู่ในวังหน้า ไม่รู้ว่าด้วยความหลงเมียหัวปักหัวปำ หรืออะไรก็ไม่ทราบได้ พระบรรฤๅ ฯ จึงบอกกับอำแดงติ้นว่าว่าตนกำลังติดงานอยู่ ให้อำแดงติ้นกลับไปก่อน เดี๋ยวเสร็จงานแล้วจะรีบกลับไปชำระความให้ แต่กว่าพระบรรฤๅจะกลับไปชำระความ อีเกลี้ยงก็ถึงแก่การมรณา คำไต่สวนบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า....

"ครั้น ณ วันจันทร์ เดือนเก้า ขึ้นหกค่ำ ปีมะเส็งตรีศก เวลาเช้า ๒ โมงเศษ อำแดงอยู่ให้อีเกลี้ยงลงไปอาบน้ำ ที่หว่างพื้นดินหน้าบันได อำแดงอยู่เอาเท้าถีบอีเกลี้ยงพลัดตกบันไดลงไปถูกศิลาปูพื้นดินหน้าบันได หน้าคว่ำลงกับศิลา แขนซ้ายอีเกลี้ยงหัก ทันใดนั้นอำแดงอยู่ให้อ้านฮาน กับอ้ายสด อีเทียน จับข้อมือซ้ายขวาอีเกลี้ยง ฉุดลากขึ้นไปบนชานเรือน พอเวลาเช้าประมาณ ๓ โมงเศษ อีเกลี้ยงทาสต่าตัวเงินสามชั่ง อายุ ๕๘ ปี ทนเจ็บบาดแผลมิได้ขาดใจตาย..."

ความอำมหิตของอีคุณนายอยู่ยังไม่จบแค่นี้ เมื่อรู้ว่าอีเกลี้ยงตายโหงตายห่าแล้ว ก็กำชับบ่าวไพร่ ไม่ให้แพร่งพรายเรื่องอีเกลี้ยง ว่าตายอย่างไร แล้วสั่งให้อ้ายอัด อ้ายถึก อีแซม ผ่าไม้ไผ่ทำเฝือกห่อศพอีเกลี้ยงใส่เรือพายไว้ใต้ถุนเรือน ให้อ้ายฮานตัวดี ไปบอกความแก่พระบรรฤๅ ฯ ในวังหน้าว่า "อีเกลี้ยงเป็นไข้ปัจจุบันตาย" คุณพระผู้โง่เขลา จึงรีบกลับบ้านแล้วให้อีบัวไปตามอ้ายเอี่ยม อ้ายเทือง อ้ายลา อ้ายเยื้อที่คลองสวนหมู มาให้ทาสทั้ง ๔ นี้ เอาศพอีเกลี้ยงไปจัดการฝัง สั่งความเสร็จคุณพระฯ ก็กลับไปสนองราชการต่อ โดยยังไม่ทันเห็นหรือไม่สงสัยในการตายของอีเกลี้ยงเลยสักนิด

ทาสทั้ง ๔ เอาศพอีเกลี้ยงลงเรือไปที่วัดสามจีน (วัดสังเวชฯ) ปากคลองบางลำพู โกหกสัปเหร่อว่าศพอีเกลี้ยงตายด้วยโรคไข้ปัจจุบัน ตามธรรมเนียมสัปเหร่อต้องชันสูตร และให้แก้เฝือกดูศพก่อนถึงจะรับจัดการศพให้ อ้ายเอี่ยม ทาสผู้รับกรรมนี้ ก็อึกอักไม่ยอมให้สัปเหร่อแก้เฝือกดูศพอีเกลี้ยง ซ้ำปดแก่สัปเหร่อต่อไปอีกว่า "อีเกลี้ยงเป็นญวนเข้ารีต แก้เฝือกดูศพไม่ได้" เมื่อไม่ต้องตามขนบธรรมเนียมของสัปเหร่อ สัปเหร่อจึงปฏิเสธที่จะทำศพอีเกลี้ยง บอกว่าถ้าไม่ให้ดูศพ ก็ฝังให้ไม่ได้

ทาสทั้ง ๔ จึงต้องเอาศพอีเกลี้ยงลงเรือไปขึ้นฝั่งที่วัดดุสิดาราม ก็เจออุปสรรคแบบเดียวกันอีก ศพอีเกลี้ยงจึงลอยเรือเท้งเต้งอยู่อย่างนั้น เมื่อไม่ได้ความ อ้ายเอี่ยม จึงวานอ้ายเยื้อข้ามฟากมาหาพระบรรฤๅ ฯ ที่วังหน้า บอกปัญหาในการฝังศพอีเกลี้ยง พระบรรฤๅ ฯ ก็ยังคงงมโข่งอยู่ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ส่งขุนวิเสศสังหาร ปลักไปกับอ้ายเยื้อ เพื่อแก้ศพอีเกลี้ยงดูก็พบว่า สภาพศพนั้นยับเยิน น่าเวทนาเป็นยิ่งนัก แต่โชคก็ยังเข้าข้างอีเกลี้ยง เพราะตั้งแต่ทาสทั้ง ๔ เอาศพอีเกลี้ยงลงเรือ ขึ้นบกที่วัดนั้น วัดนี้ เหตุการณ์ทั้งหมด ล้วนอยู่ในการสังเกตการณ์ของ "นายหนู" พลเมืองดี ที่เห็นว่ามันชอบมาพากลอยู่ ที่เอาศพไปวัดไหนเขาก็ไม่รับฝัง

รุ่งขึ้น นายหนู จึงนำความผิดสังเกตนี้ ไปแจ้งแก่ "ขุนวารินสัญจร" นายตำรวจท้องที่ ศพอีเกลี้ยงจึงได้รับการชันสูตร มีรายละเอียดดังนี้..

“ มีแผลที่กลางกระหม่อมยุบโต กว้าง ๒ นิ้ว แห่ง ๑

หน้าบวมช้ำดำเขียวเต็มหน้า แห่ง ๑

หูข้างซ้ายช้ำบวมโลหิตไหลออกมาจากหู คราบเลือดยังติดอยู่ แห่ง ๑

ต้นแขนริมศอกขวา บวมช้ำ กระดูกหัก แห่ง ๑

ต้นแขนซ้ายบวมช้ำกระดูกหัก แห่ง ๑

อกบวมช้ำ โตกลมนิ้ว ๑ แห่ง ๑

สะโพกข้างขวาบวมช้ำดำเขียวเต็มทั้งสะโพก แห่ง ๑

เป็นรอยตีด้วยไม้ทั้ง ๗ แห่ง รวม ๙ แผล ”

ทาสทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการตายของอีเกลี้ยง ถูกตระลาการเรียกตัวไปสอบสวนในศาล โดยมี "นายหนู" พลเมืองดีเป็นโจทย์ ซึ่งทุกคนก็ให้การสารภาพตามความจริง ตระลาการเห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีสะเทือนขวัญ เหี้ยมโหดผิดมนุษย์ ล่วงพระราชอาญา มีความผิดมหันต์ จึงพิพากษาตัดสินโทษ ริบทรัพย์ข้าทาสชายหญิงของ "อีอยู่" ทั้งหมด (ต่อไปนี้จะเรียกว่า อีอยู่) ให้ตกเป็นของแผ่นดิน

แล้วให้เอาตัวไปเฆี่ยน ๓ ยก ๙๐ ที แล้วเอาอีอยู่ไปประหารให้คนทั้งปวงดูเป็นเยี่ยงอย่างว่าอย่าทำแบบนี้

ส่วนอ้ายไฮ้ ให้นำตัวไปเฆี่ยน ๓๐ ที แล้วส่งตัวไปให้พระบรรฤๅฯ ไปใช้อีก
คุณพระบรรฤๅสิงหนาท มีความผิดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าอีเกลี้ยงตาย แต่ก็ลุแก่ความผิดฐานปิดความแก่เจ้าพนักงาน ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้เอาศพอีเกลี้ยงไปฝัง จึงปรับตามบรรดาศักดิ์ ริบศักดินา ๕๐๐ ไร่ เป็นเงิน ๑๑ ตำลึงกึ่งสลึงเฟื้อง ๖๓๐ เบี้ย เป็นพินัยหลวง

เมื่อตระลาการตัดสินความแล้ว ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระปรีชาญาณ พระองค์เห็นว่าการชำระความของตระลาการยังชำระความอ่อนอยู่ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ทำการสอบสวนอย่างละเอียดอีกครั้ง ผลสรุปคือ อีอยู่ รับโทษตามเดิม คือ โดนตัดหัว เสียบประจาน

อ้ายฮาน อ้ายสด อีเทียน ผู้ช่วยอีอยู่ทรมานอีเกลี้ยงนั้น ให้เอาตัวไปเฆี่ยน ๒ ยก ๖๐ ที แล้วเอาตัวไปจำคุก

ทาสคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเอ่ยนามมานั้น ทรงเห็นว่าจำยอมทำตามคำสั่งนาย เป็นเหตุเฉพาะหน้า ไม่ทันได้ตั้งตัว จึงให้เฆี่ยนเฉพาะ อ้ายเอี่ยม อ้ายเทือง อ้ายลา อ้ายเยื้อ ที่สมรู้กันเอาศพอีเกลี้ยงไปอำพราง คนละ ๓๐ ที

อ้ายไฮ้ ทำผิดฐานชู้สาว แต่นายเงิน (พระบรรฤๅ ฯ) ก็ลงโทษไปแล้ว แม้จะเป็นตัวต้นเหตุให้เกิดการฆาตกรรมอันวิปริตนี้ แต่ก็ไม่มีส่วนร่วมในการทรมาน และฆ่าอีเกลี้ยง จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานอภัยโทษอ้ายไฮ้

พระบรรฤๅสิงหนาท ที่ถูกปรับเป็นเงิน ๑๑ ตำลึง กึ่งสลึงเฟื้อง ๖๓๐ เบี้ยนั้น ทรงเห็นว่ายังตัดสินอ่อนอยู่ เพราะเหมือนกับว่าจงใจปกปิดเรื่องราวทั้งหมด แม้จะไม่มีส่วนร่วมในการฆาตกรรมนี้ก็ตาม จึงมีโทษ ๒ ชั้น เพิ่มโทษปรับเงินเป็นรางวัลแก่นายหนู พลเมืองดี เป็นเงินอีก ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

ครั้นถึงเวลาประหารอีอยู่ ผู้ก่อการวิปริตวิตถาร หลังจากที่ถูกเฆี่ยน ๓ ยก ๙๐ ทีแล้ว ก็ถูกนำตัวไปประหารที่วัดโคก (วัดพลับพลาชัย) ประชาชนที่ทราบข่าว แห่กันไปดูเนืองแน่น จนศาลาวัดพังครืนลงมา แต่ไม่มีใครบาดเจ็บ

การประหารอีอยู่นี้ ต้องใช้เพชฌฆาตถึง ๖ คน เมื่อถึงเวลา อีอยู่ ที่อยู่ในอาการเซื่องซึม (ถูกมอมยามาก่อนถึงเวลาประหาร เพื่อไม่ให้นักโทษเกิดความกลัว) ถูกนำไปมัดกับหลักประหาร แต่ฤทธิ์เดชของ "อีอยู่" ก็หาได้เหือดไปไม่ นางสำแดงอภินิหารนางมารครั้งสุดท้าย ด้วยการตะโกนเสียงดังว่า...

"ฆ่าฉันเสียเร็วๆ ฆ่าฉันเร็วๆ !!!"

สิ้นเสียงที่เกิดจากอาการเสียจริต หรือจิตวิตถารของนาง เพชฌฆาตก็ลงดาบ เพียงดาบแรก หัวของอีอยู่ก็สะบั้นลงเกลือกกลิ้งอยู่กับพื้น ก่อนที่จะตัดข้อเท้าของนางซึ่งมีโซ่ตรวนพันธนาการไว้ และหั่นศพออกเป็นชิ้นๆ แล่เนื้อออกจากกระดูก ทิ้งตับไตไส้พุงไว้เป็นทานแก่แร้งกา ส่วนศีรษะเอาไปเสียบประจานไว้
หลังจากหัวอีอยู่หลุดจากบ่าแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจนางอีก ด้วยคนที่มาดูการประหาร ต่างคนต่างก็เกลียดชังในความชั่วของนาง ไม่มีใครเลยที่จะแสดงอาการสงสาร หรืออาลัยแม้แต่ญาติพี่น้องของนาง ต่างพึมพำกันว่า

" มันได้รับผลกรรมของมันแล้ว"

ที่มา เกร็ดประวัติศาสตร์
ภาพ : ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา ที่มา google
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 11:41 am

บุญเพ็งหีบเหล็ก นักโทษกุดหัวคนสุดท้าย

images.jpg
images.jpg (12.82 KiB) เปิดดู 12686 ครั้ง


ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการประหารนักโทษสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งที่รู้จักกันดีในสมัยนั้นเขาคือ “บุญเพ็ง” ซึ่งก่อคดีฆ่าคนตายหลายชีวิต และศพที่ “บุญเพ็ง” ฆ่านั้นก็ได้นำมาใส่หีบเหล็ก แล้วโยนทิ้งน้ำทุกครั้ง จนชาวบ้านขนานนามว่า “บุญเพ็ง หีบเหล็ก” (สมัยนั้นไม่มีการใช้นามสกุล คำว่าหีบเหล็กต่อท้ายเป็นฉายามาจากพฤติกรรมฆ่าแล้วหั่นศพ จากนั้นก็นำมาใส่หีบเหล็กแล้วยกขึ้นรถเจ๊กลากไปทิ้งคลอง) บุญเพ็ง คือ ฆาตกรฆ่าหั่นศพคนแรกของเมืองสยาม… ได้ฉายาจากชาวต่างชาติว่า “The Murderer Iron Box”



บุญเพ็ง เกิดที่ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พ่อมีเชื้อสายจีน แม่เป็นชาวญ้อ พออายุได้ ๓ ขวบ จึงอพยพมาอยู่ที่บางปะกอก พอเติบใหญ่เป็นหนุ่มได้ศึกษาทางไสยศาสตร์จากหลายสำนักจนเก่งในเรื่องพยากรณ์ เมตตามหานิยม เสน่ห์ยาแฝด ประกอบกับเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดีจึงเป็นที่หมายปองและถูกตาถูกใจเพศตรงกันข้าม (บางที่บอกว่าถูกเลี้ยงดูโดยตา-ยาย ซึ่งตา-ยายได้ห้ามไม่ให้เรียนพวกไสยศาสตร์ แต่บุญเพ็งเองก็ไม่ได้สนใจอะไร)

ด้วยความเป็นคนมีเสน่ห์จึงมักเกิดปัญหาสาวๆ แก่งแย่งกันบ่อยครั้ง พออายุได้ ๒๗ ปี ก็ไปบวชเป็นพระอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ได้ ๒ พรรษา ผ้าเหลืองร้อนจึงลาสิกขาบทออกมาประกอบอาชีพ หมอดู หมอยา รับทำเสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปฝังรอย ฯลฯ ใช้ชีวิตเสเพลดื่มสุรายาเมาและเล่นการพนัน

จนกระทั่งกลายเป็นผีพนันถอนตัวไม่ขึ้น เขาต้องการเงินจำนวนมากเพื่อเล่นกันพนัน วิธีง่ายๆ แต่ได้เงินมากและรวดเร็วที่สุดในสมัยนั้น คือ “ฆ่าชิงทรัพย์” และแล้วการฆาตกรรมต่อเนื่องก็บังเกิด

เหยื่อรายแรก คือนายล้อม พ่อค้าเพชรพลอย บุญเพ็งก็ร่วมมือกับนายจรัญลูกสมุนคู่ใจฆ่าแล้วนำเงินและทรัพย์สินแบ่งกัน และหั่นศพเป็นชิ้น (บางแหล่งข่าวบอกว่าไม่ได้หั่นศพ แต่ยัดใส่หีบเลย …บางแห่งบอกว่าจำเป็นต้องหั่นแขน-ขาของศพ เพราะยัดศพใส่หีบไม่ได้) ใส่หีบเหล็ก (ที่สำนักของเขามีหีบเหล็กโบราณ อยู่ถึง ๗ ใบ แต่บางที่บอกว่ามีแค่ ๓ ใบ) และให้นายจรัญจ้างรถเจ๊กไปทิ้งลงคลองบางลำพูเวลาเที่ยงคืนเพื่อทำลายหลักฐาน พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไป ๑ ใบ

เหยื่อรายที่ ๒ เป็นผู้ชายไม่ทราบชื่อ รู้แต่ว่าเป็นผีพนันและวันนั้นเขาได้เงินพนันมา บุญเพ็งและนายจรัญเลยวางแผนล่อไปฆ่าเพื่อชิงเงินพนันและแบ่งทรัพย์สิน หั่นศพเป็นชิ้นใส่หีบเหล็ก แล้วให้นายจรัญเอาไปทิ้งที่คลองบางลำพูอีกศพ พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไป ๑ ใบ

วันเวลาผ่านไป พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไปทีละ ๑ ใบ จนมาถึงเหยื่อรายสุดท้าสุดท้าย เป็นแม่หม้ายชื่อ นางปริก เป็นคุณนายของท่านขุนสิทธิคดี (ปลั่ง) รูปร่างดี แต่งกายทองเต็มตัว บุญเพ็งก็เสพสมแล้ว กลายเป็นขาประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งหญิงคนนั้นก็เกิดตั้งท้อง ยื่นคำขาดให้บุญเพ็งรับผิดชอบรับตนเป็นเมียอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งบุญเพ็งบ่ายเบี่ยงตลอดเวลา สุดท้ายบุญเพ็งทนไม่ไหวจึงต้องฆ่า

วันสุดท้ายที่คนพบเห็นนางปริก เธอแต่งตัวสวยงาม ประดับประดาด้วยเครื่องทองเพชรนิจจินดาเต็มตัวเหมือนตู้ทองเคลื่อนที่ จนใครๆ รู้สึกว่า สวยเป็นพิเศษ โดยหารู้ไม่ว่านี้คือวาระสุดท้ายของนางปริกและลูกในท้องของเธอ คราวนี้มาแปลก เพราะบุญเพ็งลงมือฉายเดี่ยว ฆ่านางปริก ปลดทรัพย์สินไปจนหมดสิ้นและหั่นศพเป็นท่อนๆ (บางก็ว่ายัดลงในหีบไปเลยไม่ต้องสับ) ยัดลงหีบ ใส่รถเจ๊ก นำไปทิ้งลงคลองอีกเช่นเคย


คราวนี้หีบเหล็กของนางปริก ดันไม่จมลงสู่ก้นคลองบางลำพู แต่ลอยไปติดกอสวะ คนงมกุ้งเกิดมาเห็นนึกว่าเป็นของมีค่า แต่เมื่อครั้นเปิดก็พบศพที่ไม่เน่าเปื่อยของนางปริกอยู่ข้างใน

หลังจากนั้นบุญเพ็งได้หนีไปบวชเป็นพระที่วัดแถวอยุธยา แล้วไม่รู้ว่าเป็นกรรมเวรอะไร ทำให้บุญเพ็งต้องสึกออกมาเพื่อแต่งงานกับผู้หญิงที่หมายปอง และคืนนั้นเองที่ยังไม่ทันจะได้ถึงสวรรค์ ก็มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาล้อมจับไว้โดยละม่อมในข้อหาฆ่าคนตายอย่างเหี้ยมโหด และศาลได้ตัดสินประหารชีวิตด้วยการตัดหัว (สมัยนั้นเรียกว่ากุดหัว) ให้ตายตกไปตามกัน ณ ป่าช้าวัดภาษี ซึ่งนักโทษรายนี้ใจแข็งมากร้องขอไม่ให้ผูกตาเพื่อขอดูโลกเป็นครั้งสุดท้าย…

ในช่วงประหารชีวิตนั้นได้มีผู้คนมากมายมาดูการประหารชีวิต แต่ว่าไม่มีญาติของบุญเพ็งเลยสักคน แม้กระทั่งเจ้าสาวซึ่งยังไม่ทันจะส่งตัวเข้าห้องหอก็ไม่มา

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒ (บางที่บอกว่าวันที่ ๑๙ สิงหาคม) ได้มีประหารบุญเพ็งโดยการตัดหัว ซึ่งเป็นนักโทษที่ถูกประหารด้วยการตัดหัวเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงประหารชีวิตนั้นเอง เพชรฆาตรำดาบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ลงดาบอันคบกริบลงบนคอ แทนที่คอจะขาดเลือดพุ่งกระฉูด กลับกลายเป็นว่าคมดาบนั้นไม่ได้ระคายผิวเลยแม้แต่น้อย จนเพชฌฆาต พูดว่า “มึงมีอะไรดี ให้เอาออกเสียเถอะ” หลังจากนั้นมีคนบอกว่าเห็นบุญเพ็งคายของบางอย่างออกมา แล้วเพชรฆาตจับเขวี้ยงทิ้งหายไปในกอไผ่ (บางที่บอกว่าเป็นพระและเพชรฆาตจับขว้างทิ้งเข้าไปในกอไผ่ …บางที่ไม่ได้บอกว่าเป็นวัตถุอะไร แต่มีสีดำ เมื่อบุญเพ็งคาย (ถุย !?) ออกมาก็หายไป !)

คราวนี้รำดาบใหม่ ดาบหน้ารำจนบุญเพ็งเคลิ้มเผลอ ทันใดนั้นดาบหลังฟันดัง ฉับ! คราวนี้ คอขาด หัวกระเด็น จนเลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มาดูต่างร้องวีดว้ายระงม ว่ากันว่าขณะที่ศีรษะถูกคมดาบของเพชรฆาตฟันฉับนั้น ในช่วงวินาทีสั้นๆ ชาวบ้านหลายคนได้เห็นมุมปากของบุญเพ็งขมุบขมิบเหมือนท่องคาถาอะไรสักอย่าง ซึ่งว่ากันว่าอาจจะเป็นไพ่ตายคุณไสยครั้งสุดท้ายของเขาเพื่อที่จะป้องกันชีวิตของเขาก็เป็นได้

ศพของ บุญเพ็ง หีบเหล็ก ถูกนำไปฝังไว้ในป่าช้านั้นเอง จนภายหลังญาติมาจัดการเผาศพตามพิธีและกล่าวกันว่ารอยสักช่วงแผ่นหลังของเขาเผาไฟไม่ไหม้ ส่วนกระดูกนั้น บรรดาญาติเก็บใส่เจดีย์ไว้ข้างอุโบสถ์วัด

พ.ศ. ๒๕๓๖ เจดีย์ถูกรื้อออก ทางวัดภาษีจึงได้ให้ช่างปั้นรูปปั้นจำลองไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และตั้งไว้ในศาลเล็กๆ ติดกับวิหาร และเรียกศาลว่า “ศาลปู่บุญเพ็ง” และหีบเหล็กที่ใช้ยัดศพได้มีคนไปกราบไหว้บูชา เสี่ยงโชคลาภและเข้าใจว่าวิญญาณของเขายังไม่ได้ไปผุดไปเกิดจนถึงปัจจุบัน

ที่มา namretteb
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 5:46 pm

IMG_7879.jpg
IMG_7879.jpg (26.59 KiB) เปิดดู 11072 ครั้ง
untitled.png
untitled.png (52.83 KiB) เปิดดู 15315 ครั้ง

วัลลภา ณ สงขลา และแดงไบเล่
แดง ไบเล่ แห่ง ๒๔๙๙อันธพาลครองเมือง

ชื่อจริงว่า นายบัญชา สีสุกใส แม่เป็นเจ้าของร้านซักรีด เกิดเมื่อปี ๒๔๘๓ ภายในตรอกสลักหิน หรือตรอกที่มีโรงงานผลิตน้ำอัดลมไบเล่นั่นเอง

ทั้งนี้ เมื่อ แดง ไบเล่ ย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็เป็นหัวโจกของบรรดาวัยรุ่นทั้งหลาย และมีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับการขนานนามว่า "แดง ไบเล่" ไม่ว่าไปที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก และเกรงกลัวกับอิทธิพลของเขา ทั้งนี้ นักเลงในยุคก่อน มักจะมีชื่อเรียกขานต่าง ๆ เช่น พจน์ เจริญพาศน์, พัน หลังวัง, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่, แหลมสิงห์, จ๊อด เฮาดี้, แอ๊ด เสือเผ่น, เบ้นเนอร์ พล ตรอกทวาย, เหลา สวนมะลิ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี แดง ไบเล่ ถือได้ว่าเป็นขวัญใจของเหล่าวัยรุ่นตัวจริง เนื่องจากเป็นบุคคลที่หน้าตาดี และเป็นนักเลงที่นิสัยดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า แดง ไบเล่ สามารถกอดคอกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้นได้เลยทีเดียว


ชีวิตเขาเคยนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวภาพยนตร์ แต่ตัวจริง แดง ไบเล่ย์ไม่เคยฆ่าคน ไม่เคยดื่มเหล้า เขาเป็นเพียงนักเลงวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป เสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำขณะกำลังเดินทางไปเป็นลูกน้องกับผู้มีอิทธิพลรายหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๐๗ ด้วยวัยเพียง ๒๔ ปี

9787_4202_resize.jpg
9787_4202_resize.jpg (17.99 KiB) เปิดดู 11072 ครั้ง


941854-img.rnhiea.3_resize.jpg
941854-img.rnhiea.3_resize.jpg (43.38 KiB) เปิดดู 11072 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน

cron