จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 11:41 am

บุญเพ็งหีบเหล็ก นักโทษกุดหัวคนสุดท้าย

images.jpg
images.jpg (12.82 KiB) เปิดดู 14406 ครั้ง


ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้มีการประหารนักโทษสำคัญคนหนึ่ง ซึ่งที่รู้จักกันดีในสมัยนั้นเขาคือ “บุญเพ็ง” ซึ่งก่อคดีฆ่าคนตายหลายชีวิต และศพที่ “บุญเพ็ง” ฆ่านั้นก็ได้นำมาใส่หีบเหล็ก แล้วโยนทิ้งน้ำทุกครั้ง จนชาวบ้านขนานนามว่า “บุญเพ็ง หีบเหล็ก” (สมัยนั้นไม่มีการใช้นามสกุล คำว่าหีบเหล็กต่อท้ายเป็นฉายามาจากพฤติกรรมฆ่าแล้วหั่นศพ จากนั้นก็นำมาใส่หีบเหล็กแล้วยกขึ้นรถเจ๊กลากไปทิ้งคลอง) บุญเพ็ง คือ ฆาตกรฆ่าหั่นศพคนแรกของเมืองสยาม… ได้ฉายาจากชาวต่างชาติว่า “The Murderer Iron Box”



บุญเพ็ง เกิดที่ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม พ่อมีเชื้อสายจีน แม่เป็นชาวญ้อ พออายุได้ ๓ ขวบ จึงอพยพมาอยู่ที่บางปะกอก พอเติบใหญ่เป็นหนุ่มได้ศึกษาทางไสยศาสตร์จากหลายสำนักจนเก่งในเรื่องพยากรณ์ เมตตามหานิยม เสน่ห์ยาแฝด ประกอบกับเป็นผู้มีรูปร่างหน้าตาดีจึงเป็นที่หมายปองและถูกตาถูกใจเพศตรงกันข้าม (บางที่บอกว่าถูกเลี้ยงดูโดยตา-ยาย ซึ่งตา-ยายได้ห้ามไม่ให้เรียนพวกไสยศาสตร์ แต่บุญเพ็งเองก็ไม่ได้สนใจอะไร)

ด้วยความเป็นคนมีเสน่ห์จึงมักเกิดปัญหาสาวๆ แก่งแย่งกันบ่อยครั้ง พออายุได้ ๒๗ ปี ก็ไปบวชเป็นพระอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ได้ ๒ พรรษา ผ้าเหลืองร้อนจึงลาสิกขาบทออกมาประกอบอาชีพ หมอดู หมอยา รับทำเสน่ห์ยาแฝด ฝังรูปฝังรอย ฯลฯ ใช้ชีวิตเสเพลดื่มสุรายาเมาและเล่นการพนัน

จนกระทั่งกลายเป็นผีพนันถอนตัวไม่ขึ้น เขาต้องการเงินจำนวนมากเพื่อเล่นกันพนัน วิธีง่ายๆ แต่ได้เงินมากและรวดเร็วที่สุดในสมัยนั้น คือ “ฆ่าชิงทรัพย์” และแล้วการฆาตกรรมต่อเนื่องก็บังเกิด

เหยื่อรายแรก คือนายล้อม พ่อค้าเพชรพลอย บุญเพ็งก็ร่วมมือกับนายจรัญลูกสมุนคู่ใจฆ่าแล้วนำเงินและทรัพย์สินแบ่งกัน และหั่นศพเป็นชิ้น (บางแหล่งข่าวบอกว่าไม่ได้หั่นศพ แต่ยัดใส่หีบเลย …บางแห่งบอกว่าจำเป็นต้องหั่นแขน-ขาของศพ เพราะยัดศพใส่หีบไม่ได้) ใส่หีบเหล็ก (ที่สำนักของเขามีหีบเหล็กโบราณ อยู่ถึง ๗ ใบ แต่บางที่บอกว่ามีแค่ ๓ ใบ) และให้นายจรัญจ้างรถเจ๊กไปทิ้งลงคลองบางลำพูเวลาเที่ยงคืนเพื่อทำลายหลักฐาน พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไป ๑ ใบ

เหยื่อรายที่ ๒ เป็นผู้ชายไม่ทราบชื่อ รู้แต่ว่าเป็นผีพนันและวันนั้นเขาได้เงินพนันมา บุญเพ็งและนายจรัญเลยวางแผนล่อไปฆ่าเพื่อชิงเงินพนันและแบ่งทรัพย์สิน หั่นศพเป็นชิ้นใส่หีบเหล็ก แล้วให้นายจรัญเอาไปทิ้งที่คลองบางลำพูอีกศพ พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไป ๑ ใบ

วันเวลาผ่านไป พร้อมกับหีบเหล็กที่หายไปทีละ ๑ ใบ จนมาถึงเหยื่อรายสุดท้าสุดท้าย เป็นแม่หม้ายชื่อ นางปริก เป็นคุณนายของท่านขุนสิทธิคดี (ปลั่ง) รูปร่างดี แต่งกายทองเต็มตัว บุญเพ็งก็เสพสมแล้ว กลายเป็นขาประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งหญิงคนนั้นก็เกิดตั้งท้อง ยื่นคำขาดให้บุญเพ็งรับผิดชอบรับตนเป็นเมียอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งบุญเพ็งบ่ายเบี่ยงตลอดเวลา สุดท้ายบุญเพ็งทนไม่ไหวจึงต้องฆ่า

วันสุดท้ายที่คนพบเห็นนางปริก เธอแต่งตัวสวยงาม ประดับประดาด้วยเครื่องทองเพชรนิจจินดาเต็มตัวเหมือนตู้ทองเคลื่อนที่ จนใครๆ รู้สึกว่า สวยเป็นพิเศษ โดยหารู้ไม่ว่านี้คือวาระสุดท้ายของนางปริกและลูกในท้องของเธอ คราวนี้มาแปลก เพราะบุญเพ็งลงมือฉายเดี่ยว ฆ่านางปริก ปลดทรัพย์สินไปจนหมดสิ้นและหั่นศพเป็นท่อนๆ (บางก็ว่ายัดลงในหีบไปเลยไม่ต้องสับ) ยัดลงหีบ ใส่รถเจ๊ก นำไปทิ้งลงคลองอีกเช่นเคย


คราวนี้หีบเหล็กของนางปริก ดันไม่จมลงสู่ก้นคลองบางลำพู แต่ลอยไปติดกอสวะ คนงมกุ้งเกิดมาเห็นนึกว่าเป็นของมีค่า แต่เมื่อครั้นเปิดก็พบศพที่ไม่เน่าเปื่อยของนางปริกอยู่ข้างใน

หลังจากนั้นบุญเพ็งได้หนีไปบวชเป็นพระที่วัดแถวอยุธยา แล้วไม่รู้ว่าเป็นกรรมเวรอะไร ทำให้บุญเพ็งต้องสึกออกมาเพื่อแต่งงานกับผู้หญิงที่หมายปอง และคืนนั้นเองที่ยังไม่ทันจะได้ถึงสวรรค์ ก็มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาล้อมจับไว้โดยละม่อมในข้อหาฆ่าคนตายอย่างเหี้ยมโหด และศาลได้ตัดสินประหารชีวิตด้วยการตัดหัว (สมัยนั้นเรียกว่ากุดหัว) ให้ตายตกไปตามกัน ณ ป่าช้าวัดภาษี ซึ่งนักโทษรายนี้ใจแข็งมากร้องขอไม่ให้ผูกตาเพื่อขอดูโลกเป็นครั้งสุดท้าย…

ในช่วงประหารชีวิตนั้นได้มีผู้คนมากมายมาดูการประหารชีวิต แต่ว่าไม่มีญาติของบุญเพ็งเลยสักคน แม้กระทั่งเจ้าสาวซึ่งยังไม่ทันจะส่งตัวเข้าห้องหอก็ไม่มา

๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๒ (บางที่บอกว่าวันที่ ๑๙ สิงหาคม) ได้มีประหารบุญเพ็งโดยการตัดหัว ซึ่งเป็นนักโทษที่ถูกประหารด้วยการตัดหัวเป็นคนสุดท้าย ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ในช่วงประหารชีวิตนั้นเอง เพชรฆาตรำดาบอยู่ครู่หนึ่ง แล้วได้ลงดาบอันคบกริบลงบนคอ แทนที่คอจะขาดเลือดพุ่งกระฉูด กลับกลายเป็นว่าคมดาบนั้นไม่ได้ระคายผิวเลยแม้แต่น้อย จนเพชฌฆาต พูดว่า “มึงมีอะไรดี ให้เอาออกเสียเถอะ” หลังจากนั้นมีคนบอกว่าเห็นบุญเพ็งคายของบางอย่างออกมา แล้วเพชรฆาตจับเขวี้ยงทิ้งหายไปในกอไผ่ (บางที่บอกว่าเป็นพระและเพชรฆาตจับขว้างทิ้งเข้าไปในกอไผ่ …บางที่ไม่ได้บอกว่าเป็นวัตถุอะไร แต่มีสีดำ เมื่อบุญเพ็งคาย (ถุย !?) ออกมาก็หายไป !)

คราวนี้รำดาบใหม่ ดาบหน้ารำจนบุญเพ็งเคลิ้มเผลอ ทันใดนั้นดาบหลังฟันดัง ฉับ! คราวนี้ คอขาด หัวกระเด็น จนเลือดพุ่งกระฉูด ผู้คนที่มาดูต่างร้องวีดว้ายระงม ว่ากันว่าขณะที่ศีรษะถูกคมดาบของเพชรฆาตฟันฉับนั้น ในช่วงวินาทีสั้นๆ ชาวบ้านหลายคนได้เห็นมุมปากของบุญเพ็งขมุบขมิบเหมือนท่องคาถาอะไรสักอย่าง ซึ่งว่ากันว่าอาจจะเป็นไพ่ตายคุณไสยครั้งสุดท้ายของเขาเพื่อที่จะป้องกันชีวิตของเขาก็เป็นได้

ศพของ บุญเพ็ง หีบเหล็ก ถูกนำไปฝังไว้ในป่าช้านั้นเอง จนภายหลังญาติมาจัดการเผาศพตามพิธีและกล่าวกันว่ารอยสักช่วงแผ่นหลังของเขาเผาไฟไม่ไหม้ ส่วนกระดูกนั้น บรรดาญาติเก็บใส่เจดีย์ไว้ข้างอุโบสถ์วัด

พ.ศ. ๒๕๓๖ เจดีย์ถูกรื้อออก ทางวัดภาษีจึงได้ให้ช่างปั้นรูปปั้นจำลองไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์และตั้งไว้ในศาลเล็กๆ ติดกับวิหาร และเรียกศาลว่า “ศาลปู่บุญเพ็ง” และหีบเหล็กที่ใช้ยัดศพได้มีคนไปกราบไหว้บูชา เสี่ยงโชคลาภและเข้าใจว่าวิญญาณของเขายังไม่ได้ไปผุดไปเกิดจนถึงปัจจุบัน

ที่มา namretteb
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 5:46 pm

IMG_7879.jpg
IMG_7879.jpg (26.59 KiB) เปิดดู 12792 ครั้ง
untitled.png
untitled.png (52.83 KiB) เปิดดู 17035 ครั้ง

วัลลภา ณ สงขลา และแดงไบเล่
แดง ไบเล่ แห่ง ๒๔๙๙อันธพาลครองเมือง

ชื่อจริงว่า นายบัญชา สีสุกใส แม่เป็นเจ้าของร้านซักรีด เกิดเมื่อปี ๒๔๘๓ ภายในตรอกสลักหิน หรือตรอกที่มีโรงงานผลิตน้ำอัดลมไบเล่นั่นเอง

ทั้งนี้ เมื่อ แดง ไบเล่ ย่างก้าวเข้าสู่วัยรุ่น เขาก็เป็นหัวโจกของบรรดาวัยรุ่นทั้งหลาย และมีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับการขนานนามว่า "แดง ไบเล่" ไม่ว่าไปที่ไหนก็มีแต่คนรู้จัก และเกรงกลัวกับอิทธิพลของเขา ทั้งนี้ นักเลงในยุคก่อน มักจะมีชื่อเรียกขานต่าง ๆ เช่น พจน์ เจริญพาศน์, พัน หลังวัง, ปุ๊ ระเบิดขวด, ดำ เอสโซ่, แหลมสิงห์, จ๊อด เฮาดี้, แอ๊ด เสือเผ่น, เบ้นเนอร์ พล ตรอกทวาย, เหลา สวนมะลิ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี แดง ไบเล่ ถือได้ว่าเป็นขวัญใจของเหล่าวัยรุ่นตัวจริง เนื่องจากเป็นบุคคลที่หน้าตาดี และเป็นนักเลงที่นิสัยดี นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า แดง ไบเล่ สามารถกอดคอกับ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้นได้เลยทีเดียว


ชีวิตเขาเคยนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวภาพยนตร์ แต่ตัวจริง แดง ไบเล่ย์ไม่เคยฆ่าคน ไม่เคยดื่มเหล้า เขาเป็นเพียงนักเลงวัยรุ่นธรรมดาทั่วไป เสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุรถคว่ำขณะกำลังเดินทางไปเป็นลูกน้องกับผู้มีอิทธิพลรายหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เมื่อปี ๒๕๐๗ ด้วยวัยเพียง ๒๔ ปี

9787_4202_resize.jpg
9787_4202_resize.jpg (17.99 KiB) เปิดดู 12792 ครั้ง


941854-img.rnhiea.3_resize.jpg
941854-img.rnhiea.3_resize.jpg (43.38 KiB) เปิดดู 12792 ครั้ง
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » จันทร์ 14 ธ.ค. 2015 1:36 pm

ย่างพระบาท สองกษัตริย์ ที่ชเวดากอง

11144486_987031808014936_8648479818511025647_n.png
11144486_987031808014936_8648479818511025647_n.png (253.04 KiB) เปิดดู 9869 ครั้ง


สำหรับประเทศพม่านั้น ถือว่าเป็นประเทศที่มีความละเอียดอ่อนในเรื่องความสัมพันธ์กับสยามประเทศของเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะในอดีตที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับพม่าส่วนใหญ่แล้ว ล้วนเป็นไปในเรื่องของการศึกสงครามเสียมากกว่า การเสด็จฯ เยือนประเทศพม่าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ จึงถือว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนพม่าในฐานะพระราชอาคันตุกะ ในลักษณะของความเป็นมิตรไมตรีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของพระมหากษัตริย์ไทย แต่อย่างไรก็ตาม การเสด็จฯ เยือนพม่าในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ นั้นเป็นเพียงการเสด็จฯ ผ่านเพื่อที่จะไปสู่ประเทศอินเดียอันเป็นเป้าหมายสำคัญของการเสด็จฯ ในครั้งนั้นเท่านั้น


ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ รัชกาลที่๕ เสด็จพระราชดำเนินเยือนมหาเจดีย์ชเวดากองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนั้นถือเป็นต้นแบบของการปฏิรูปขนบธรรมเนียม ประเพณี ในเรื่องของการใส่รองเท้าและการถอดรองเท้าในเขตศาสนสถานที่สำคัญของราชสำนักของไทย เนื่องจากในครั้งนี้ ได้ทรงใส่ฉลองพระบาทเข้าสู่เขตพุทธสถานและลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งในครั้งนั้นได้ถูกนายพันตรี อี.บี. สลาเดน (Mayor E.B. Sladen) บันทึกเหตุการณ์เอาไว้ ซึ่งนายพันตรีสลาเดนผู้นี้คือผู้ที่ทำการถอดถอนพระเจ้าสีป่อออกจากการเป็นกษัตริย์ และเป็นผู้เชิญพระองค์ลงเรือทอเรียะ จากนครมัณฑะเลย์ เนรเทศไปสู่เมืองรัตนปุระในเขตบังคลาเทศ พันตรีสลาเดนบันทึกไว้ว่า “...ข้อสังเกตประการหนึ่งของการเสด็จครั้งนี้คือ พุทธศาสนาที่สยามและที่พม่านั้น มีข้อแตกต่างกันหลายประการ โดยเฉพาะในเรื่องความเคร่งของพุทธศาสนิกชนพม่า ในการปฏิบัติตนในพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ ประการหนึ่ง คือ พุทธศาสนิกชนสยามนั้น สวมรองเท้าเข้าพุทธสถาน อีกทั้งสิ่งของที่นำมาสักการบูชานั้น มิได้ปรุงแต่งให้งดงามตามขนบธรรมเนียมของพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ดังที่พุทธศาสนิกชนในพม่าปฏิบัติในการถวายสักการะต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ผิดไปจากของพม่าดังกล่าว ก่อให้เกิดอคติในใจชาวพม่าอยู่บ้างว่า พุทธศาสนิกชนชาวสยามนั้น ได้รับขนบธรรมเนียมประเพณีตะวันตกมาก จนคล้อยตามฝรั่งที่ปลูกฝังให้ต่อต้านพิธีกรรมความเชื่อ และมีอคติต่อพุทธปฏิบัติอันเคร่งครัด และจริยวัตรอันงดงาม อย่างไรก็ตามชนพม่าส่วนใหญ่นั้น มีจิตใจงดงามและมีความอดกลั้นพอที่จะไม่ถือสากับเหตุการณ์ดังกล่าวของอาคันตุกะชาวสยาม ด้วยเห็นเป็นวาระสำคัญที่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จฯ และเป็นที่รับรู้ว่าฝ่ายสยามมิได้มีเจตนา และฝ่ายพม่าจึงไม่ถือโทษ...”

เหตุผลของ...”การสวมรองเท้าเข้าเขตพุทธสถาน...” ของรัชกาลที่ ๕ ในครั้งนั้นได้รับการอธิบายจากรัฐบาลสยามว่า.... “....ในการเสด็จฯ เยือนอังกฤษ พม่า (British Burma) ครั้งนั้น มิได้เป็นการเสด็จฯ เยือนพุกามประเทศ ในพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงอังวะ หากแต่เป็นการเสด็จฯ เยือน “จักรภพอังกฤษในลุ่มอิระวดี” จึงเป็นเหตุให้ทรงถือปฏิบัติตามธรรมเนียมนิยมตะวันตก ซึ่งธรรมเนียมอันสำคัญยิ่งในทัศนะผู้นำสยาม คือการ “ฉลองพระองค์” ให้เหมาะสมกับกาละและเทศะ ซึ่งในการนี้การฉลองพระองค์อย่างเป็นทางการ จะเน้นไปทางธรรมเนียมตะวันตก ตามสถานะของผู้ “ดำรงสิทธิเป็นเจ้าบ้าน” (คืออังกฤษ) และด้วยเหตุตามกล่าวนี้เอง จึงไม่ทรงเปลือยพระบาทในคราวเสด็จฯ เยือนมหาเจดีย์ชเวดากอง ด้วยเมื่อได้ฉลองพระองค์ตามธรรมเนียมตะวันตกนั้น โดยวัตรปฏิบัติแล้วจะต้องสวมรองเท้า หากมิสวมก็ถือได้ว่า เป็นผู้ไม่รู้ธรรมเนียมและผิดมารยาท ...”
ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศพม่า ในช่วงระหว่างวันที่ ๒ -๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของนายอู วิน หม่อง ประธานาธิบดีของสหภาพพม่าในขณะนั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศเป็นประเทศที่ ๓ ในรัชกาลปัจจุบัน

วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๐๓ เวลาแปดโมงครึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระภูษาโจงผ้าม่วงสีแดงเลือดนก ฉลองพระองค์หรือเสื้อราชปะแตนขัดกระดุม 5 เม็ด พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าไหมไทย พระภูษาซิ่นป้ายสำเร็จรูปเป็นไหมยกทองมีลายกรุยเชิง ตัวฉลองพระองค์เป็นฉลองพระองค์คอแหลมผ่าหน้าตลอด ขัดดุมเรียงเม็ดขี่กัน เข้ารูปที่บั้นพระองค์ จากบั้นพระองค์ปล่อยเป็นระบายผ้าเนื้อเดียวกัน ความยาวคลุมพระโสณีบน เสื้อเป็นเสื้อแขนยาวกรอมข้อพระหัตถ์ และทรงมีผ้าแพรไหมสะพายเฉียงจากพระอังศาซ้ายมาที่พระโสณีขวา บนพระอังศาซ้ายนั้นตรึงด้วยเข็มกลัดแบบไทยประดับเพชรซีก
การที่ทั้งสองพระองค์ฉลองพระองค์ตามแบบพระราชประเพณีของไทยในวันนั้นน่าจะมีมูลเหตุสืบเนื่องมาจากเรื่องของฉลองพระบาทในการเสด็จฯ มหาเจดีย์ชเวดากองในครั้งรัชกาลที่ ๕ เพราะในช่วง พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่เสด็จฯ พระราชดำเนินยังมหาเจดีย์ชเวดากองนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศพม่าได้ปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการถอดรองเท้าเข้าสู่ในเขตพุทธสถานแล้ว โดยกำหนดให้ทั้งชาวพื้นเมืองและชาวต่างชาติทุกคนต้องถอดรองเท้าเข้าสู่เขตพุทธาวาสของพม่า ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขแห่งชาติไทยและเสด็จพระราชดำเนินยังประเทศพม่า ในฐานะที่ประเทศพม่าเป็นพุกามประเทศ แม้จะไม่ได้อยู่ในพระบรมโพธิสมภารแห่งพระเจ้ากรุงอังวะแล้วก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศเอกราช ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษดังแต่ก่อน การที่พระองค์จะทรงฉลองพระองค์ตามแบบตะวันตกจึงจะเกิดการลักลั่นในการถอดฉลองพระบาท ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการพระราชทานพระราชไมตรีอันดีแก่ประเทศและชาวพม่า พระองค์จึงเลือกที่จะทรงฉลองพระองค์ตามขัตติยราชประเพณีไทยแต่ดั้งเดิมแทน

แม้ว่าในการเสด็จฯ ในครั้งนี้ ทางฝ่ายพม่าก็มิได้กะเกณฑ์ให้ทั้งสองพระองค์ต้องถอดฉลองพระบาทแต่อย่างใด หากแต่เป็นพระราชประสงค์ของทั้งสองพระองค์ที่จะถอดฉลองพระบาทและถุงพระบาท โดยเมื่อเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งถึงบริเวณลานชั้นล่างขององค์พระเจดีย์ชเวดากอง รถยนต์พระที่นั่งได้จอดเทียบที่ศาลาใกล้กับลิฟต์อันเป็นทางเสด็จฯ ขึ้น ณ ศาลา ในวันนั้น ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา องคมนตรี ได้เป็นผู้ถอดฉลองพระบาทถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเวลาเสด็จฯ ขึ้นถึงลานพระเจดีย์ได้มีประชาชนพม่าเฝ้าถวายช่อดอกกล้วยไม้พื้นเมืองแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงรับแล้วได้ทรงดึงช่อดอกกล้วยไม้นั้นออกมาช่อหนึ่งและนำขึ้นประดับที่มวยพระเกศาด้านหลัง ซึ่งเป็นพระราชจริยวัตรที่ประทับใจชาวพม่าที่ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่ ณ ที่นั้นเป็นอย่างยิ่ง

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศพม่าในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการเสด็จพระราชดำเนินครั้งสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ถือว่าเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ไทยเสด็จฯ ไปทรงเยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ และถือเป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์และยืนยันถึงมิตรภาพไมตรีจิตฉันพี่น้องระหว่างทั้งสองประเทศที่มีต่อกัน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนใกล้ชิดติดกันมากกว่า ๒,๔๐๐ กิโลเมตร สมดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สนามบินมิงกาลาดอน นครย่างกุ้ง ในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๐๓ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงว่า ...“..ยึดมั่นในสัจจะแห่งพระพุทธศาสนาอย่างเดียวกัน รวมทั้งการยึดมั่นในสันติภาพและความร่วมมือต่อกัน...” ถือเป็นการกระชับเกลียวสัมพันธ์ของประชาชนของทั้งสองประเทศไว้ทั้งในด้านวัฒนธรรม ศาสนา และความเป็นอยู่ซึ่งคล้ายคลึงกัน อันจะนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในโอกาสต่อไป

ที่มา รายการสืบสายใย ผ้าไทย-อาเซียน
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » เสาร์ 26 ธ.ค. 2015 6:27 am

#ตำนานรักโลงคู่วัดหัวลำโพง #สาบานรักข้ามเพศ

x238479_jpg_pagespeed_ic_I1Piql9peX.jpg
x238479_jpg_pagespeed_ic_I1Piql9peX.jpg (117.52 KiB) เปิดดู 9861 ครั้ง


เพียงชั่วข้ามคืนเหตุการณ์นี้ได้เลือนหายไปความทรงจำของคนไทย ก่อนที่ถูกนำกลับมาย้ำเตือนอีกครั้งในอีก ๒๒ ปีต่อมา ในรูปแบบของบทเพลง

บทเพลง “สีดา” กล่าวถึงความรักที่มีต่อกันอย่างลึกซึ้งระหว่างชาย ๒ คน แต่สุดท้ายกลับต้องจบลงด้วยการกระทำอัตวินิตบาตกรรมของคนทั้งคู่ เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความซาบซึ้ง และทำให้ “แจ้” ดนุพล แก้วกาญจน์ ตัดสินใจหยิบยกเรื่องราวนี้มอบให้ครูน้อย สุรพล โทณะวณิก ช่วยถ่ายทอดเป็นบทเพลงในปี ๒๕๓๒

“สีดา” เป็นเรื่องราวจากชีวิตจริงเมื่อ ปี ๒๕๑๐ ของสาวประเภทสองที่ชื่อ ประโนตย์ วิเศษแพทย์ แต่บางส่วนของเรื่องราวที่ผู้แต่งจำเป็นต้องดัดแปลงไป ทำให้มีบางเสี้ยวของเหตุการณ์ต่างไปจากความเป็นจริง

“สีดา” ในบทเพลง หมายถึง นางเอกนาฏศิลป์โขนของกรมศิลปากรเมื่อเกือบหลายสิบปีก่อน หากแต่ชีวิตจริง ประโนตย์ วิเศษแพทย์ กลับแทบไม่เคยออกแสดงในบทบาทนี้และสร้างชื่อเสียงให้กับกรมศิลปากรเลย แต่สิ่งที่ทำให้ประโนตย์โดดเด่นมากที่สุดในยุคนั้น ก็คือความสวย สุทิน ทับทิมทอง รุ่นพี่ที่สนิทสนมกับประโนตย์ เล่าว่า ปัจจุบันความสวยของสาวประเภทสอง เป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่สำหรับสมัยนั้น ประโนตย์สวยเกินกว่าผู้หญิงบางคน และไม่มีสาวประเภท ๒ คนใดเทียบได้

ปัจจุบันมีหลักฐานและภาพถ่ายของประโนตย์เหลืออยู่ไม่มากนัก ประโนตย์ เกิดเมื่อปี ๒๔๘๑ เป็นบุตรของนายยงค์ และหม่อมหลวงหญิง บุญนาค วิเศษแพทย์ ซึ่งครอบครัวมีฐานะดี

ประโนตย์มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน และด้วยความที่เป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของบ้าน จึงเปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจของพ่อแม่ ประโนตย์เติบโตขึ้นท่ามกลางการถูกรุมล้อมด้วยพี่น้องที่เป็นผู้หญิงทั้งสี่ และค่อย ๆ ซึบซับความอ่อนหวานเรียบร้อยแบบผู้หญิงของคนรอบข้างไว้อย่างไม่รู้ตัว

หลังเรียนจบระดับประถมที่โรงเรียนใกล้บ้าน ย่านซอยสวนพลู ประมาณปี ๒๔๙๒ ด้วยความสนใจในการแสดงตั้งแต่เยาว์วัย และการสนับสนุนของผู้เป็นแม่ ประโนตย์จึงตัดสินใจสอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์

โรงเรียนนาฏศิลป กรมศิลปากร หรือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งต่อมาทำให้ประโนตย์เป็นที่รู้จักในชื่อของ “สีดา” แล้ว ที่นี่ยังเปิดโอกาสให้เขาสามารถแสดงบุคลิกที่เบี่ยงเบนไปจากเพศที่แท้จริงของตนเองได้อย่างอิสระเสรี

หน้าตาที่คมคาย จมูกโด่งเป็นสัน ในครั้งแรกประโนตย์ถูกเลือกให้ฝึกฝนเป็น “พระ” ตัวแสดงสำคัญที่ต้องมีการคัดสรรอย่างพิถีพิถันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ แต่บุคลิกท่าทางเรียบร้อยนุ่มนวล ที่ซึมซับจากบุคคลรอบข้างมาตั้งแต่วัยเด็ก ต่อมาครูผู้สอนจึงเปลี่ยนให้ประโนตย์ ฝึกฝนเป็น “ตัวนาง”

การสวมบทบาทสตรีเพศ และ ความอ่อนหวานงดงามของศิลปะ เป็นส่วนส่งเสริมให้ร่างกายและจิตใจของประโนตย์ เปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว

ไพฑูรย์ ศราคนี เพื่อนร่วมชั้นที่สนิทสนมกับประโนตย์ เล่าว่า " ขณะนั้นเป็นช่วงหลังภาวะสงคราม ซึ่งนาฏศิลป์โขนกำลังอยู่ในภาวะทรุดโทรม กรมศิลปากรไม่มีการฝึกหัดศิลปินโขนคนใหม่เพิ่มเติมทำให้เกิดการขาดแคลน" ต่อมาทางราชการจึงมีคำสั่งให้โรงเรียนนาฏศิลป์เร่งฝึกหัดนักเรียนเป็นศิลปินโขน เพื่อร่วมออกแสดงในงานพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งมีนักเรียนโขนในรุ่นเพียงไม่กี่คน ที่มีโอกาสออกแสดงร่วมกับทางโรงเรียน ซึ่งไพฑูรย์และประโนตย์ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

การออกแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ร่วมกับทางโรงเรียน ถือเป็นการปฏิบัติราชการ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ ๘ บาท แต่นั่นไม่สำคัญสำหรับประโนตย์ เท่ากับการที่สามารถแต่งตัวเป็นผู้หญิงได้ตามอย่างที่ใจปรารถนา เพราะขณะนั้นสภาพสังคมไทยยังไม่ยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ แต่โอกาสได้ออกแสดงที่มีไม่มากนัก ประโนตย์ในวัย ๑๔ ปี จึงมักลักลอบหนีออกไปแสดงโขนกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนนาฏศิลป์ขณะนั้นไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาด รวมทั้งเริ่มคบหากับเพื่อนต่างโรงเรียนที่มีลักษณะเดียวกัน และทำให้ชีวิตในโรงเรียนนาฏศิลป์ของประโนตย์สิ้นสุดลงในเวลาเพียง ๓ ปี

ประโนตย์ออกจากโรงเรียนนาฏศิลป์กลางคันในปี ๒๔๙๕ ประโนตย์มีอิสระเสรีมากขึ้นและยังคงใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในแวดวงของนาฏศิลป์โขน โดยร่วมกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน ใช้วิชานาฏศิลป์ที่ติดตัวมารับแสดงโขนตามงานการกุศลต่าง ๆ ซึ่งต่อมาได้สร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักในนามของ “สีดา”

“สีดา” คือ นางในวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ ที่มีความงดงามอย่างมาก ความงดงามของนางสีดาทำให้พระรามปักใจรัก ทศกัณฐ์ต้องลุ่มหลง หมู่ยักษาต่างเข่นฆ่ากัน เพื่อแย่งชิงตัวนางสีดา และกลายเป็นชนวนหนึ่งของสงครามอันยาวนานระหว่างพระรามและทศกัณฐ์

แม้ระยะเวลาเพียง ๓ ปีในโรงเรียนนาฏศิลป์ ไม่อาจทำให้ท่วงท่าการร่ายรำของประโนตย์งดงามมากนัก แต่ความสวยของประโนตย์ ที่สามารถถ่ายทอดความงดงามของนางสีดา และทำให้ผู้ชมรู้สึกเคลิบเคลิ้มไปจินตนาการการแสดง อย่างยากที่จะหาผู้ใดในขณะนั้นเทียบได้

ช่วงเวลานี้เองที่ครูน้อย หรือสุรพล โทณวณิก ได้มีโอกาสชมการแสดงของประโนตย์ และความสวยของเธอที่ยังคงประทับอยู่ในความทรงจำ จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของบทเพลง “สีดา” ในอีก ๒๒ ปีต่อมา แต่ภาพของหญิงสาวที่งดงาม สามารถตรึงผู้ชมได้เฉพาะบนเวทีเท่านั้น เพราะหลังจากการแสดงจบลง ประโนตย์ต้องสลับคราบความเป็นหญิง และจำต้องกลับมาใช้ชีวิตปกติตามสรีระร่างกายของตน เพราะสภาพสังคมไทยในขณะนั้น ยังไม่ยอมรับพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ นอกเหนือไปจากการแสดงโขน เวลาส่วนใหญ่ของประโนตย์หมดไปกับการเที่ยวเตร่กับเพื่อนฝูงตามสวนสาธารณะ อย่างเช่น สะพานพุทธ ที่เกือบทุกเย็นจะเป็นแหล่งชุมนุมของบรรดาสาวประเภทสองในยุคนั้น แต่สถานที่ที่ประโนตย์สามารถแสดงความเป็นหญิงได้อย่างเปิดเผยมากที่สุด ก็คือ บ้าน ผิดกับเพื่อนหลายคนในกลุ่มเดียวกัน เพราะเธอโชคดีที่มีแม่ที่เข้าใจในตัวเธอมากที่สุด ดังนั้นบ้านพักของประโนตย์ในซอยสวนพลู จึงไม่เคยว่างเว้นจากการเยี่ยมเยียนของเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน

บริเวณที่เคยเป็นบ้านพักของประโนตย์ แต่เวลาที่ล่วงเลยมาหลายปี ทำให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีร่องรอยใดหลงเหลืออยู่ นอกจากเรื่องราวซึ่งบอกเล่าว่า ที่นี่เคยเป็นทั้งศูนย์กลางของบรรดาเพื่อนฝูง เป็นบ้านที่ประโนตย์ร่วมอยู่กินกับคนที่เธอรักมากที่สุด และเธอได้เลือกจะทิ้งลมหายใจเฮือกสุดท้ายไว้ที่นี่

ฉายา “นางงาม ๕๐ มงกุฎ”

ความงามของ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ นี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่กะเทยในยุคนั้น หลังออกจากการเป็นนักเรียนของวิทยาลัยนาฏศิลป์ เธอเริ่มเดินสายประกวด … นับครั้งไม่ถ้วน ลงเวทีไหนเป็นต้องชนะเวทีนั้น เรียกว่า “สวยไร้คู่แข่ง - สวยไม่ปรานีปราศรัย” จนบรรดากะเทยร่วมรุ่นถึงกับข่มขู่เวทีประกวดสาวงามประเภทสอง ในยุคนั้นว่า “ถ้าเวทีไหนมีปราโนตย์ นางโนตย์ อีโนตย์ (แล้วแต่จะเรียก) เข้าประกวด คนอื่นจะไม่ยอมลงประกวดด้วย”

ในแวดวงสาวงามประเภทสอง มีการตั้งฉายาให้ ปราโนตย์ วิเศษแพทย์ หรือ “สีดา” ว่า “นางงาม ๕๐ มงกุฎ” การสวยแบบไร้คู่แข่ง ลึกๆ แล้วสำหรับเธอเริ่มไม่สนุกกับการประกวดสักเท่าใด ประกอบกับข่าวที่เพื่อนนางงามไปเที่ยวข่มขู่ตามเวทีต่างๆ ทำให้เธอตัดสินใจ “แขวน” ตำแหน่งสาวงามประเภทสอง ตั้งแต่บัดนั้น … เธอร้างเวทีไปหลายปี จนในปีหนึ่งมีงานใหญ่ ที่สำคัญการประกวดในเวทีนั้นมีเงินสดเป็นรางวัลถึง ๕๐๐ บาท นอกเหนือจากมงกุฎ ขันน้ำ พานรอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการประกวดนางงาม “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ คนนี้แหละที่เป็นคนคะยั้นคะยอเพื่อนรุ่นน้องให้ลงประกวดอีกสักครั้ง ทั้งๆ ที่ “โนต” ยืนยันว่า เธออายุมากแล้ว !!

ครั้งนั้น … นับเป็นการประกวดครั้งสุดท้ายสำหรับปราโนตย์ วิเศษแพทย์ การจัดงานในคราวนั้นได้สร้างเวทีปิดทางลงท่าน้ำที่จะข้ามไปยังวัดระฆังโฆสิตาราม ครั้งนั้นเธอคว้าตำแหน่ง “ชนะเลิศ” มาอีกจนได้

คืนนั้น … ชายหนุ่มรูปงาม ผิวคล้ำ คมเข้มคนหนึ่งได้ปรากฏขึ้น เขาชื่อ “สมบูรณ์” เรียกกันในกลุ่มว่า “บูรณ์” เขาเข้ามาขอทำความรู้จักกับ “สีดา” โดยผ่านมาทาง “แอน” ทวีศักดิ์ เมื่อเธอนำความไปแจ้งแก่นางงาม “สีดา” เธอไม่ได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์แต่อย่างใด หลังจากที่ทำความรู้จักอย่างเป็นทางการแล้ว ทั้งคู่คบหาและอยู่กินกันนานถึง ๘ ปีเต็ม

ปีแรก ปราโนตย์ ไปที่บ้านของสมบูรณ์บ้าง บูรณ์มาค้างที่บ้านสีดาบ้าง และในปีที่ ๒ สมบูรณ์ก็ย้ายตัวเองเข้ามาอยู่ที่บ้านในซอยสวนพลูของปราโนตย์ ความรักของทั้งคู่ในหลายปีแรกก็ดูจะราบรื่นและดูดดื่มกันดี มีเพียงประการเดียวคือ ต่างฝ่ายต่างแสดงอาการหึงหวงซึ่งกันและกัน ในระยะหลังความหอมหวานในชีวิตก็เริ่มจืดจางและหมดลงในที่สุด ความหึงหวงถูกแปรเปลี่ยนเป็นการกระแหนะกระแหน ด่าทอ ตบตี ลงไม้ลงมือกัน บ่อยครั้งที่สมบูรณ์ต้องออกจากบ้านสวนพลูกลางดึกเพื่อกลับไปนอนที่บ้านตัวเอง ในปลายปีสุดท้าย ฝ่ายชายเริ่มมีผู้หญิงคนใหม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงแท้ๆ ไม่ใช่ผู้หญิงในร่างชายอย่างปราโนต

ที่สุดแห่งรักคือการจากพราก … ไม่ว่า “จากเป็น” หรือ “จากตาย” !

“จากเป็น” หนนี้ บูรณ์ตัดสินใจออกจากบ้านของปราโนตที่ซอยสวนพลูโดยที่ไม่ได้บอกใคร ปราโนตใช้เวลาหลายเดือนในการตามหาคนรัก ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น ทุกหนแห่งที่คิดว่าจะเจอเขา แต่ก็คว้าน้ำเหลวทุกครั้ง ถึงแม้ว่าปราโนตย์จะพาสมบูรณ์มาอยู่ด้วยกันที่บ้าน แต่พี่สาวและคนในครอบครัวของเขากลับไม่ค่อยรู้เรื่องราวและที่มาที่ไปของผู้ชายคนนี้มากนัก ทั้งๆ ที่อยู่ร่วมชายคาเดียวกันมานานถึง ๗ ปีเต็ม

ความชอกช้ำ สะเทือนใจของ “รักจำพราก” ในครั้งนั้น ปราโนตมีเพียง บุหรี่ และเหล้าเป็นเพื่อน สูบ และดื่มตลอดเวลา ตกกลางคืนก็ออกเที่ยวเตร่ (ชนิดหามรุ่งหามค่ำอย่างไร้จุดหมาย) เพื่อให้ผ่านพ้นค่ำคืนแห่งความเหงาและปวดร้าว เธอใช้เวลาอยู่กับภาวะโศกเศร้าเสียใจนี้นานถึง ๒ ปีเต็ม จนพบผู้ชายคนใหม่ที่เข้ามาเยียวยาหัวใจเธออีกครั้ง

ในคืนหนึ่งขณะที่ “แอน” ทวีศักดิ์ และปราโนตกลับจากงานเลี้ยง แอนตั้งใจโบกรถแท็กซี่เพื่อไปส่งสีดาที่บ้านก่อนจะเลยไปยังบ้านแอนซึ่งอยู่ในซอยสวนพลูเช่นเดียวกัน ช่างบังเอิญว่ามีรถแท็กซี่คันหนึ่งจอดอยู่บริเวณนั้นพอดี แอนจึงเข้าไปหมายจะต่อรองราคา และทันทีที่เธอเห็นหน้าโชเฟอร์เท่านั้นแหละ ราคาไม่ต้องต่อกันแล้ว !! เท่าไหร่เท่ากัน เพราะหน้าตาของคนขับแท็กซี่คันนั้น หล่อราวกับ “พระเอกหนัง” เลยทีเดียว แอนนั่งหน้าข้างคนขับ ส่วนสีดาเมามายไม่ได้สติกึ่งนอนกึ่งนั่งอยู่ทางเบาะหลัง ตลอดเส้นทางสู่ซอยสวนพลู โชเฟอร์หนุ่มถูก “แอน” ทวีศักดิ์ เกี้ยวพาราสี แทะโลมอยู่เป็นระยะ … หลังจากส่งโนตที่บ้านแล้ว คืนนั้น … โชเฟอร์หนุ่มกับแอนได้มุ่งสู่ปลายทางฉิมพลีด้วยกัน … หลังเสร็จกามกิจ เขาให้สัญญาว่า จะมาหาใหม่ในวันรุ่งขึ้น !!

บ่ายวันรุ่งขึ้นเขามาหาแอนที่บ้านตามที่สัญญาไว้ และบอกว่า วันนี้ … ไม่ขับรถ ๑ วัน ดังนั้น “นางกอ” ทั้งหลายจึงมารวมพลชุมนุมกันที่บ้าน ทำอาหารกินกันและดื่มกันบ้างตามสมควร และในช่วงหนึ่ง โชเฟอร์หนุ่มคนนั้นขอคุยกับ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นการส่วนตัว !!

“พี่อย่าโกรธผมนะครับ … ผมอยากจะบอกพี่ว่า ผมชอบสีดา ชอบมาตั้งแต่แรกเห็นที่เธอนอนฟุบอยู่ที่เบาะหลัง” …

นั่นทำให้ “แอน” ทวีศักดิ์ นึกถึงบางประโยคของเขาบนแท็กซี่เมื่อคืน …

“เพื่อนพี่สวยนะครับ ขนาดเมาไม่ได้สติยังสวยขนาดนี้ ถ้าไม่เมาจะสวยขนาดไหนน้อ” …

เขายอมรับว่า เหตุผลที่เขามาในวันนี้เพื่อจะบอก “บางอย่างในใจ” ที่เขารู้สึกกับสีดาตั้งแต่แรกเห็น “แอน” ทวีศักดิ์ไม่ได้โกรธ แต่พร้อมจะสนับสนุน ถ้าเขาจะรู้สึกดีกับ “โนต” เพื่อนรุ่นน้องของเธอ … บางทีผู้ชายคนนี้อาจจะเป็นความหวังใหม่ที่พา “โนต” ให้เป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง …

โชเฟอร์หนุ่มคนนี้ชื่อ “ชีพ” สมชาติ แก้วจินดา ไฟปรารถนาของเขาและปราโนต วิเศษแพทย์ เริ่มต้นตั้งแต่คืนนั้น … และชีพย้ายตัวเองมาอยู่ที่บ้านของโนตในซอยสวนพลูในเวลาต่อมา โดยยึดอาชีพขับรถแท็กซี่เหมือนเดิมและรายได้ทั้งหมด เขาให้โนตเป็นคนเก็บ เพื่อเลี่ยงคำครหาว่า เขามาเกาะกะเทยกิน !! เนื่องจากครอบครัวของโนตเป็นผู้มีฐานะ ทั้งคู่อยู่กันนานหลายปี เรื่องเดิมๆ ก็เกิดขึ้นมาอีก

ปราโนตได้ซุกซ่อนความเจ้าอารมณ์ , ปากคอจัดจ้าน ขี้งอน และมองโลกในแง่ลบกับตัวเองและคนรักอย่างสุดๆ อยู่ทุกอณูของลมหายใจ … คิดตลอดเวลาว่า เธอไม่ใช่ “หญิงแท้” เพราะสรีระของร่างกายในยุคนั้นยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เธอกังวลว่าความสุขที่เธอมอบแก่ชีพนั้นจะไม่เต็มที่อย่างที่เขาต้องการและพึงใจ เหตุนี้ … ทุกครั้งที่ชีพกลับบ้านช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ แม้ชีพจะแจงให้ฟังว่าไปส่งผู้โดยสารไกล แต่โนตก็หารับฟังแต่ประการใดไม่

ต่อมาปราโนตได้แก้ปัญหานี้ด้วยการให้ชีพเลิกขับรถแท็กซี่รับจ้าง โดยซื้อรถสองแถว (มือสอง) ให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในละแวกใกล้ๆ กับซอยสวนพลู เพื่อจะไม่เป็นข้ออ้างอีก โดย “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นคนที่ไปติดต่อเสียเงินค่าหัวคิวรถให้ เส้นทางเดินรถจะวิ่งจาก ตลาดบางรัก (ฝั่งตรงข้าม) เข้าซอยเซนต์หลุยส์ และไปสิ้นสุดที่ตรอกจันทร์ สะพาน ๓

คนขับรถหน้าใหม่ รูปหล่อคนนี้ สุภาพ เรียบร้อย พูดจาดีกลายเป็นที่หมายปองของสาวแท้ - สาวเทียมที่ต้องเดินทางโดยสารไปบนถนนเส้นนี้ ในแต่ละวันมีทั้งแม่ค้าและสาวๆ ซื้อมาลัยมาคล้องกระจกหน้ารถและแย่งกันนั่งข้างคนขับอยู่เป็นประจำ พอข่าวทำนองนี้ถึงหูของโนตเท่านั้นแหละ เธอก็เดินสายออกอาละวาดทุกคนที่มายุ่งกับชีพ ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม จนมีเหตุต้องขึ้นโรงพักหลายครั้ง คนในละแวกนั้นต่างทราบถึงชื่อเสียงในทางหึงหวงของกะเทยนางนี้เป็นอย่างดี เธอแก้ปัญหาเรื่อง “ผู้หญิงอื่น” ที่มาติดพันชีพด้วยการนั่งเป็นตุ๊กตาหน้ารถ ออกและกลับบ้านพร้อมกัน นั่งอยู่หลายเดือนจนชีพเริ่มอึดอัด โดยชีพได้มาขอร้องให้ “แอน” ทวีศักดิ์ เป็นหนังหน้าในการคอยไกล่เกลี่ยเรื่องทั้งหมด และยอมกลับไปอยู่ที่บ้านตามเดิม

ปราโนตยอมรับที่จะให้ชีพออกไปขับรถส่งผู้โดยสารเพียงลำพังอีกครั้ง แต่ต้องแลกด้วยคำสาบาน “ ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน" ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป”

นี่คือถ้อยความที่ทั้งคู่ให้กันไว้ที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมือง โดยมี “แอน” เป็นพยานที่ได้ยินกับหูในคราวนั้น หลังสัตย์สาบานในครั้งนั้น ทั้งคู่ก็ยังทะเลาะเบาะแว้งกันเหมือนเดิม โดยชีพขอแยกตัวไปเช่าบ้านอยู่ที่ซอยเซนต์หลุยส์ จนเมื่อปราโนตระแคะระคายว่ามีผู้หญิงมาติดพันจึงชวนญาติชื่อ วรสิทธิ์ คชสุนทร ไปบ้านเช่าของชีพ เธอไปด้วยอาการเมามายจึงคุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องนี้เองที่ตอกย้ำความเชื่อของเธอจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้น โนตจึงทำเรื่องให้ ชีพ ครอบครัว และเพื่อนฝูง ตกใจเป็นระยะๆ ด้วยการกินยาตายอยู่หลายครั้ง ในวาระที่ใกล้ๆ กัน เธอผ่านการล้างท้องมาถึง ๗ ครั้ง ร่างกายผ่ายผอม ทรุดโทรม จนไม่หลงเหลือเค้าความสวยของ “สีดา” และนักล่ารางวัลบนเวทีนางงามสาวประเภทสอง อีกเลย

หัวค่ำของคืนวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๑๐ ฝนตกหนัก!!

บรรดาพี่สาวทั้งหลายของโนตยังไม่กลับบ้าน พี่สาวคนหนึ่งไปบ้านน้องสาวในละแวกนั้นและติดฝนอยู่ ขณะที่น้องสาวอีกคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลศิริราชติดเวรอยู่ที่โรงพยาบาล ชีพยังติดคิวรถอยู่ที่ตลาดบางรัก ใครจะคิดว่า คืนนั้นโนตจะกินยาหมายจะปลิดชีวิตตนเองเป็นครั้งที่ ๘ หลังจากฝนเริ่มซา พี่ๆ น้องๆ เริ่มกลับบ้าน น้องสาวคนที่เป็นนักเรียนพยาบาลต้องเดินผ่านห้องของโนตก่อนจะถึงห้องตัวเอง เธอเห็นห้องนอนของโนตแง้มบานประตูไว้ เธอมองลอดเข้าไปในห้อง ภาพที่เห็นนั้นทำให้เธอถึงกับผงะ โนตนอนน้ำลายฟูมปากอยู่บนเตียง ลมหายใจระทวยเต็มที เธอวิ่งออกจากบ้านไปเรียกให้เพื่อนบ้านมาช่วยอุ้มโนตไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน และส่งคนไปบอกชีพที่คิวรถ “แอน” ทวีศักดิ์ ชวนานนท์ มาทราบความจากชีพเมื่อตอน ๖ โมงเช้าและเริ่มกระจายข่าวสู่เพื่อนฝูง บางส่วนไปรับศพที่โรงพยาบาลตอน ๕ โมงเช้า บางคนที่ไม่ว่างก็ตรงไปรดน้ำศพที่วัดหัวลำโพงในตอนเย็น

“ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย” ชีพพร่ำพูดแต่ประโยคนี้พลางร้องไห้กอดศพของโนตแน่น ประหนึ่งความเสียใจที่พระรามพร่ำพรรณนาเมื่อเห็นศพนางสีดาที่นางเบญจกายแปลงลอยทวนน้ำในบทโขน “นางลอย” ไม่มีผิด ชีพไม่ยอมแม้จะให้เอาศพโนตใส่โลงจนเพื่อนๆ ต้องปลอบและยกเหตุผลนานัปการมาแจกแจงจนยอม

เย็นวันเดียวกันนั้นเอง ชีพได้แสดงเจตจำนงที่จะบวชอุทิศส่วนกุศลให้กับโนต หลังบวช ชีพมานั่งฟังสวดศพทุกคืน ตามกำหนด ศพของสีดาจะตั้งบำเพ็ญกุศลเพียง ๓ คืน แล้วเก็บศพไว้ ๑๐๐ วันจึงเผา ไม่มีใครทราบว่าชีพคิดอะไรอยู่ในใจ

หลังสวดศพครบ ๓ คืน วันรุ่งขึ้นหลังเลี้ยงพระเพลก็เก็บศพไว้ เพื่อนๆ มาส่งเณรชีพที่กุฎิ และบอกว่า ถ้าเณรสบายใจก็บวชต่อไปเรื่อยๆ เขาไม่ได้ตอบความนี้ว่ากระไร จนเมื่อเพื่อนฝูงลากลับ ๖ โมงเย็นวันนั้น เณรชีพก็ไปพบหลวงตาเจ้าอาวาสและบอกว่าอยากสึก!! หลวงตาได้ตรวจดูดวงชะตาแล้ว พบว่า “ดวงขาด ชะตาถึงฆาต” จึงพยายามจะทัดทานเพื่อให้ชีพผ่านพ้นชะตาในระยะนี้ไปก่อน แต่สุดท้ายเมื่อชีพยืนยันหนักแน่น หลวงตาจึงต้องดำเนินตามประสงค์ และได้ให้โอวาทเพื่อเตือนสติไป

ใครจะคิดว่า ชีพได้ตัดสินใจเตรียมการทุกอย่างให้กับชีวิตในเวลาต่อมา!! เริ่มต้นจากการกลับไปที่ห้องของโนตที่บ้านสวนพลู เพื่อจับต้องและมองข้าวของทุกชิ้นเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นได้นำพัดลม โทรทัศน์ที่เป็นสมบัติร่วมกันของเขากับโนตไปจำนำ ได้เงินมาหลายพันบาท และนำเงินจำนวนนี้ไปให้แก่คนในบ้าน จากนั้นได้เขียนจดหมายสั่งเสียว่า “ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวนี้เพื่อทำศพของเขา ขอให้พี่ๆ ช่วยเป็นภาระในการเลี้ยงดูแม่ ส่วนศพของเขาให้เอาไว้ที่วัดหัวลำโพงคู่กับศพของโนต” ชีพกินยาฆ่าแมลงและเสียชีวิตเมื่อตอนเที่ยงวันที่ ๑๕ ในเดือน - ปีเดียวกัน

วัดหัวลำโพง คือสถานที่บำเพ็ญกุศลให้กับดวงวิญญาญที่จากไปของประโนตย์ แต่หลังจากที่งานศพเสร็จสิ้นลงเพียงไม่กี่วัน อีกหนึ่งชีวิตที่ผูกพันก็ติดตามไป เหมือนดั่งคำสาบานที่ได้ให้ไว้ต่อกัน

ภาพของร่างไร้วิญญาณในโลงศพที่ตั้งเคียงคู่กัน ณ วัดหัวลำโพง เพื่อรอการฌาปนกิจ ได้สร้างความโศกสลดให้กับคนทั่วไป และยุติความแคลงใจของคนรอบข้างที่มีต่อความรักของทั้งสองได้อย่างสิ้นเชิง

ความงดงามของนางสีดาที่สามารถครอบครองหัวใจใครต่อใครในโลกละคร แต่ความสวยของประโนตย์ กลับไม่สามารถฉุดรั้งคนที่เธอรักมากที่สุดเพียงคนเดียวไว้ได้ เพราะในโลกชีวิตจริง ความสวยเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่เพียงพอสำหรับความรัก นี่อาจเป็นสิ่งที่เธอมองข้ามไป ทำให้ชีวิตของเธอต้องมาถึงทางตัน และมีบทสุดท้าย คือ ความตาย

ที่มา:http://www.missladyboys.com/webboard/
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 27 ธ.ค. 2015 4:27 pm

ความตายมิอาจพราก..หัวใจรักคงมั่น “ตำนานแม่นาคพระโขนง”

untitled.png
untitled.png (716.36 KiB) เปิดดู 9856 ครั้ง


ตำนาน "แม่นาคพระโขนง” หรือ แม่นาค (แม่นาก) เป็นเรื่องราวความรักที่ความตายมิอาจขวางกั้น ระหว่างวิญญาณแม่นาค “ผีตายทั้งกลม” กับพ่อมากผู้เป็นสามี ซึ่งเรื่องราวของแม่นาคเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทยหลายต่อหลายรุ่นเล่าสืบทอดต่อกันมา เชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันมีศาลแม่นาคตั้งอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ซอยอ่อนนุช ๗ (สุขุมวิท ๗๗) เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร

เรื่องเล่าของแม่นาคพระโขนง

ขณะนั้น มีผัวหนุ่มเมียสาวคู่หนึ่ง อาศัยอยู่กินด้วยกันที่ย่านพระโขนง ฝ่ายสามีชื่อนายมาก ส่วนภรรยาชื่อนางนาค ทั้งสองอยู่กินกันจนนางนาคตั้งครรภ์อ่อน ๆ นายมากก็มีเหตุจำเป็นให้ต้องไปเป็นทหารประจำการณ์ที่บางกอกตามหมายเรียก นางนาคจึงต้องอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง

ยิ่งนานวัน ท้องของนางนาคก็ยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ จนครบกำหนดคลอด หมอตำแยก็มาทำคลอดให้ ทว่าลูกของนางนาคไม่ยอมกลับหัว และคลอดออกมาตามธรรมชาติ ยังผลให้นางนาคเจ็บปวดเป็นยิ่งนัก และในที่สุดนางนาคก็ทานความเจ็บปวดไว้ไม่ไหว สิ้นใจไปพร้อมกับลูกในท้อง กลายเป็นผีตายทั้งกลม

หลังจากนั้น ศพของนางนาคได้ถูกนำไปฝังไว้ยังป่าช้าท้ายวัดมหาบุศย์ ส่วนนายมากเมื่อปลดประจำการก็กลับจากบางกอกมายังพระโขนงโดยที่ยังไม่ทราบความว่าเมียของตัวได้หาชีวิตไม่แล้ว นายมากกลับมาถึงในเวลาเข้าไต้เข้าไฟพอดี จึงไม่ได้พบชาวบ้านเลย เนื่องจากบริเวณบ้านของนางนาค หลังจากที่นางนาคตายไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้เพราะกลัวผีนางนาคซึ่งต่างก็เชื่อกันว่าวิญญาณของผีตายทั้งกลมนั้นเฮี้ยน และมีความดุร้ายเป็นยิ่งนัก

ครั้นเมื่อนายมากกลับมาอยู่ที่บ้าน นางนาคก็คอยพยายามรั้งนายมากให้อยู่ที่บ้านตลอดเวลา ไม่ให้ออกไปพบใคร เพราะเกรงว่านายมากจะรู้ความจริงจากชาวบ้าน นายมากก็เชื่อเมีย เพราะรักเมีย ไม่ว่าใครที่มาพบเจอนายมากจะบอกนายมากอย่างไร นายมากก็ไม่เชื่อว่าเมียตัวเองตายไปแล้ว จนวันหนึ่งขณะที่นางนาคตำน้ำพริกอยู่บนบ้าน นางนาคทำมะนาวตกลงไปใต้ถุนบ้าน ด้วยความรีบร้อน นางจึงเอื้อมมือยาวลงมาจากร่องบนพื้นเรือนเพื่อเก็บมะนาวที่อยู่ใต้ถุนบ้าน นายมากขณะนั้น บังเอิญผ่านมาเห็นพอดี จึงปักใจเชื่ออย่างเต็มร้อย ว่าเมียตัวเองเป็นผีตามที่ชาวบ้านว่ากัน

นายมากวางแผนหลบหนีผีนางนาค โดยการแอบเจาะตุ่มใส่น้ำให้รั่วแล้วเอาดินอุดไว้ ตกกลางคืนทำทีเป็นไปปลดทุกข์เบา แล้วแกะดินที่อุดตุ่มไว้ให้น้ำไหลออกเหมือนคนปลดทุกข์เบา จากนั้นจึงแอบหนีไป นางนาคเมื่อเห็นผิดสังเกตจึงออกมาดู ทำให้รู้ว่าตัวเองโดนหลอก จึงตามนายมากไปทันที นายมากเมื่อเห็นผีนางนาคตามมาจึงหนีเข้าไปหลบอยู่ในดงหนาด นางนาคไม่สามารถทำอะไรได้เพราะผีกลัวใบหนาด นายมากหนีไปพึ่งพระที่วัด นางนาคไม่ลดละพยายาม ด้วยความที่เจ็บใจชาวบ้านที่คอยยุแยงตะแคงรั่วผัวตัวเองอีกประการหนึ่ง ทำให้นางนาคออกอาละวาดหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวกันไปทั้งบาง ซึ่งความเฮี้ยนของนางนาค ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ถูกฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนคู่นั่นเอง ในที่สุด นางนาคก็ถูกหมอผีฝีมือดีจับใส่หม้อถ่วงน้ำ จึงสงบไปได้พักใหญ่

จนกระทั่งตายายคู่หนึ่งที่ไม่รู้เรื่องเพิ่งย้ายมาอยู่ใหม่ เก็บหม้อที่ถ่วงนางนาคได้ขณะทอดแหจับปลา นางนาคจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ถูกสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) สยบลงได้ กะโหลกศีรษะส่วนหน้าผากของนางนาคถูกเคาะออกมาทำปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัดโบราณ) เพื่อเป็นการสะกดวิญญาณ และนำนางนาคสู่สุคติ หลังจากนั้น ปั้นเหน่งชิ้นนั้นก็ตกทอดไปยังเจ้าของอื่นๆ อีกหลายมือ ตำนานรักของนางนาค นับเป็นตำนานรักอีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจผู้ฟังอย่างมิรู้คลาย กับความรักที่มั่นคงของนางนาคที่มีต่อสามี แม้แต่ความตายก็มิอาจพรากหัวใจรักของนางไปได้

ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์

เอนก นาวิกมูล ผู้ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ไทยได้ค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยเกี่ยวกับเรื่องแม่นากพระโขนงนี้ พบว่า จากหนังสือพิมพ์สยามประเภทฉบับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ น่าจะมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ของ อำแดงนาก ลูกสาวกำนันตำบลพระโขนงชื่อ ขุนศรี ที่ตายลงขณะยังตั้งท้อง และทางฝ่ายลูก ๆ ของอำแดงนากก็เกรงว่าบิดาของตน (สามีแม่นาก) จะไปแต่งงานมีภรรยาใหม่ และต้องถูกแบ่งทรัพย์สิน จึงรวมตัวกันแสร้งทำเป็นผีหลอกผู้คนที่ผ่านไปมา ด้วยการขว้างหินใส่เรือผู้ที่สัญจรไปมาในเวลากลางคืนบ้าง หรือทำวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อให้คนเชื่อว่าผีของมารดาตนเองเฮี้ยน และพบว่าสามีของอำแดงนาก ไม่ใช่ชื่อ มาก แต่มีชื่อว่า นายชุ่ม ทศกัณฑ์ (เพราะเป็นนักแสดงในบท ทศกัณฑ์) และพบว่า คำว่า แม่นาก เขียนด้วยตัวสะกด ก ไก่ (ไม่ใช่ ค ควาย) แต่การที่สามีแม่นากได้ชื่อเป็น มาก เกิดขึ้นครั้งแรกจากบทประพันธ์เรื่อง "อีนากพระโขนง" ซึ่งเป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ และกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์เคยทรงครอบครองกระดูกหน้าผากของแม่นากนี้ด้วยเช่นกัน โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำมาถวาย

ความเชื่อของคนไทยเรื่องแม่นาค

๑.เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นากอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นากได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านเป็นคนเจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นากทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาก และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นสมัยที่ท่านยังเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นเรือนของแม่นากด้วย เป็นเรือนลักษณะเหมือนเรือนไทยภาคกลางทั่วไปอยู่ติดริมคลองพระโขนง มีเสาเรือนสูง มีห้องครัวอยู่ด้านหลัง ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

๒.เชื่อว่ายังมีผู้สืบเชื้อสายจากแม่นากมาจนถึงปัจจุบัน หนึ่งในนั้น คือ พีท ทองเจือ ดารานักแสดงชื่อดัง ซึ่งครั้งหนึ่ง พีท ทองเจือ ก็เคยได้รับแสดงบทพ่อมาก ในละครเรื่องแม่นาค ของทางช่อง ๗ อีกด้วย

๓.เชื่อว่าเป็นปั้นเหน่งที่ทำจากหน้าผากกะโหลกแม่นาก ปัจจุบันถูกครอบครองโดยนักสะสมพระเครื่องผู้หนึ่ง

วิเคราะห์คุณค่า ตำนานแม่นาคพระโขนง เป็นตำนานรักอมตะที่แม้แต่ความตายก็มิอาจขวางกั้น แสดงถึงความรักแท้ของหญิงไทย ซึ่งรักสามีเมื่อมีชีวิตอยู่ และเมื่อตายไปก็ยังกลับมาปรากฏร่าง ทำหน้าที่ภรรยา และคุ้มครอง สามี ลูก ทรัพย์สมบัติของครอบครัว ในท้ายที่สุดตำนานเรื่อง “แม่นากพระโขนง” แสดงลักษณะเด่นของคำสอนทางศาสนาพุทธ ที่แสดงว่า “ธรรมย่อมชนะอธรรม” และการหมดสิ้นบาปกรรมก็คือการอโหสิกรรม ยอมรับชะตากรรม ประพฤติตนเป็นคนดี เพื่อหวังผลจะได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดี

อ้างอิง : http://www.theshocklive.com/content/%E๐%B๘%๙๕%E๐%B๘%B๓%E๐%B๘%

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พิมลนาฏ จันทร์กลั่น

เรื่องปั้นเหน่งแม่นาค และวัดมหาบุศย์
วัดมหาบุศย์ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๐๕ ก่อนเสียกรุงเก่าพม่า ๕ ปี เล่ากันว่าเดิมชื่อ "วัดสามบุตร"กล่าวคือ บุตรชาย สามคนพี่น้องร่วมกันสร้างขั้น และเข้าใจว่าเสนาสนะสิ่งก่อสร้างในวัดในขณะนั้นคงจะเป็นเครื่องไม้เสียเป็นส่วนมาก ซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทนครั้งกาลต่อมามีสภาพเป็นวัดร้าง

ต่อมาเมื่อพระมหาบุตร เปรียญ ๕ ประโยค สำนักวัดเลียบ (ต่อมาในรัชกาลที่ ๑ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชบูรณะ") กรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมญาติโยมของท่านซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในลำคลองพระโขนง ในเวลานั้น บรรดาชาวบ้านพระโขนงจึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ให้ท่านอยู่วัดสามบุตร เพื่อช่วยเป็นผู้นำในการบูรณะวัดสามบุตรหรือจะเรียกว่าสร้างวัดใหม่ทั้งวัดก็น่าจะได้

เมื่อการสร้างหรือการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจึงเปลี่ยน นามวัดใหม่จาก "วัดสามบุตรเป็นวัดมหาบุตร" ตามนามของพระมหาบุตร ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของภาษาไทย จึงได้เขียนชื่อวัดเป็นทางราชการว่า วัดมหาบุศย์ ดังที่เห็นและใช้อยู่ตราบจนในปัจจุบัน แต่ยังมีประชาชนนิยมเรียกอีกนาม หนึ่งว่า "วัดแม่นาคพระโขนง"ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยอิทธิพลของวรรณกรรมเรื่อง นาคพระโขนง

วัดมหาบุศย์ ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ฉบับกรมการศาสนาจัดพิมพ์ ตอนหนึ่งว่า วัดมหาบุศย์มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์อยู่หลายปี ตราบถึงประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ต้นรัชกาลที่ ๖ จึงได้มีการบูรณะสังฆเสนาสนะขึ้นอีกด้วย โดยได้รับ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๙ มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒ เส้น ยาว ๒ เส้น๗ วาครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ อุโบสถหลังที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ นั้นชำรุดทรุดโทรม จึงได้ทำการรื้อออกแล้วก่อสร้างขึ้นใหม่กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๒๓ เมตร หน้าบัสลักเป็นลายกนกไทยรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หลังคาสองชั้นลด ถึงพ.ศ. ๒๕๐๐ ทางวัดได้ทำการบูรณะใหม่ เปลี่ยนกระเบื้องเป็นกระเบื้องเคลือบสี เปลี่ยนช่อฟ้าใบระกาหงส์และหน้าบันใหม่ทั้งหมด เสร็จเรียบร้อยแล้วได้เชิญ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมาเป็นประธานพิธียกช่อฟ้าวัดมหาบุศย์

เคยมีหลายคนพยายามค้นหาว่าตำนานของแม่นาคพระโขนงนั้นมีจริงหรือไม่ แต่ท้ายสุดแล้วทุกคนต่างก็ได้รับการยืนยันว่า " จริง " ในแบบไร้ซึ่งหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะไม่ว่าจะเป็นประวัติความเป็นมาของ " วัดมหาบุศย์ " หรือเรื่องของ " แม่นาค " ต่างก็มาแบบลมปากที่เล่าต่อกันมาแบบค่อนข้างหน้าเชื่อถือ และนี่คือตำนานแม่นาคฉลับวัดมหาบุศย์ที่ท่านเจ้าอาวาส เล่าความทรงจำสมัยเมื่อเป็นเด็กที่ฟังจากโยมแม่บุญธรรม ซึ่งเป็นเหลนของนางนาค

ตำนานรักของแม่นาคเป็นเรื่องจริง เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๓๑๐ สมัยก่อนเสียกรุงครั้งที่สอง ช่วงนั้นมีการตั้งค่ายฝึกกองกำลังที่วัดมหาบุศย์ นางนาคได้ตั้งท้อง และเมื่อถึงกำหนดคลอดปรากฏว่าหมอตำแย และพี่เลี้ยงไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ และตามธรรมเนียมศพผีตายโหงจะต้องถูกนำไปฝัง จึงได้ฝังศพของนางนาคไว้ใต้ต้นตะเคียนคู่ ส่วนผีนางนาคไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ได้เล่ากัน ...นางแค่อาลัยรักในตัวสามีจนกระทั่ง ผู้ที่มีความดี และมีเมตตาท่านหนึ่งได้พูดขอร้อง และชี้ทางสว่างให้ผีนางนาค สุดท้ายนางจึงยอมจากไป จากคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสมาสู่งานเขียนหยิบยกกันอย่างมากมาย จนกระทั่งวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๔๔๒ มีการเขียนที่เป็นเวอร์ชั่นที่เก่าแก่ที่สุด ก.ศ.ร.กุหลาบอธิบายว่า พระศีสมโภช ( บุด ) แห่งวัดสุวรรณ ผู้สร้างวัดมหาบุศย์ เล่าถวายเสด็จพระอุปัชฌาย์สมัยรัชกาลที่ ๓ นางนาคอาศัยอยู่ที่พระโขนง โดยเป็นภรรยาของนายชุ่ม ก่อนจะเสียชีวิตระหว่างคลอดบุตร นายชุ่มจึงนำศพไปฝังไว้ที่วัด แต่เพราะนายชุ่มเป็นคนรวย ลูก ๆ กลัวว่าพ่อจะมีภรรยาใหม่แล้วแจกจ่ายเงินไปหมด จึงแกล้งเป็นผีหลอกคน ไม่ให้พ่อแต่งงานใหม่

อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นงานเขียนประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังสี ) รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้บรรยายไว้ว่า " หลังจากที่นางนาคออกอาละวาดหนัก สมเด็จพุฒาจารย์ ท่านรู้เรื่องจึงลงไปค้างที่วัดมหาบุศย์ และเรียกนางนาคมาคุยกัน ผลสุดท้ายท่านเจาะเอากระดูกหน้าผากของนางนาคมาลงยันต์ และทำเป็นปั้นแหน่งคาดเอว ผีนางนาคจึงไม่ออกมาอาละวาดอีกเลย ...เรื่องนี้ สมบัติพลายน้อยเป็นผู้หนึ่งที่ค้นคว้าและเขียนเรื่องของแม่นาค พอสรุปได้ว่ากระดูกหน้าผากแม่นาคนั้น สมเด็จพุฒาจารย์ โต ได้ประทานให้กับสมเด็จหม่อมเจ้าสมเด็จพุฒาจารย์ ทัต และประทานให้หลวงพ่อ พริ้ง ( พระครูวิสุทธิ์ศีลาจารย์ ) อีกต่อ จนมาถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไม่นานนักแม่นาคก็มากราบลา " จากนั้นก็ไม่มีใครพบกระดูกแม่นาคอีก "

มีเรื่องเล่ากันว่าวัดมหาบุศย์ เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๐๕ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย พระมหาบุตร วัดเลียบ ( วัดราชบูรณะ ) ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่านในคลองพระโขนงชาวบ้านรู้ข่าวจึงนิมนต์ให้อยู่ และนำสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า " วัดมหาบุศย์ " ตามชื่อของท่าน และยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหนังผีที่อยู่คู่เมืองไทยอย่างเรื่องแม่นาคพระโขนงอีกด้วย

ใครไดไปแวะที่วัดมหาบุศย์เมื่อไปถึง จะเห็นป้ายชี้ทางไปยังศาลย่านาค ซึ่งศาลนี้เองเป็นจุดมุ่งหมายของใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคู่รัก ก่อนที่จะไปยังศาลย่านาค ควรจะแวะไปกราบขอพรหลวงพ่อยิ้ม เสียก่อนเพราะอยู่ตรงด้านหน้าวัด วิหารนี้เป็นวิหารเล็ก ๆ ภายในประดิษฐานหลวงพ่อยิ้ม ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปรางมารวิชัย และพระพุทธรูปอีกหลายองค์ คนที่เข้ามากราบไหว้หลวงพ่อยิ้มมักจะเสี่ยงเซียมซีคู่ไปด้วย ...ถัดจากโบสถ์ จะเห็นป้ายบอกทางไปริมน้ำคลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งมีศาลย่านาคที่มีวัยรุ่นหญิงจุดธูปเทียนขอพรจากย่านาค

ที่ศาลย่านาคจะมีผ้าเจ็ดสีเจ็ดศอกพันอยู่ที่ต้นไม้อย่างหนาแน่น ชุดไทย ชุดเด็ก ของเล่นเด็ก รวมถึงรูปวาดแม่นาค นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทองอยู่ด้วย คนที่มาขอพรหลาย ๆ เรื่อง แต่เรื่องที่ขอโดดเด่นก็คงจะเป็นเรื่องของความรัก เพราะตามตำนานเรื่องแม่นาคพระโขนงในละแวกแถวนี้ เขาเล่ากันมาว่า " ที่ริมคลองวัดมหาบุศย์ มีเรือนหลังเล็กๆ ไกลผู้คนที่ชาวบ้านต่างรู้จักกันดีว่า นี้คือเรือนของแม่นาคและทิดมาก คู่ผัวเมียที่รักกันมาก

นี่เป็นส่วนหนึ่งในหลาย ๆ ตำนานแม่นาคพระโขนงที่เล่าต่อ ๆ กันมา ส่วนที่มีจริง หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน แต่ในตำนานแม่นาคพระโขนงคงความอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ได้ นอกจากเรื่องที่ชวนขนหัวลุกแล้ว ตำนานความรักที่มั่นคงของแม่นาคที่มีต่อทิดมากนั้นถือเป็นเรื่องหนึ่งในรักอมตะของเมืองไทย ...ความตายแม้พรากจาก แต่ความรักของแม่นาคยังคงอยู่เป็นนิรันดร์...

แม่นาคในความเชื่อทางสังคม

เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ปรากฏอยู่ทั่วไปตามความเชื่อของคนไทยร่วมสมัยและตราบจนปัจจุบัน เช่น เชื่อว่าชื่อสี่แยกมหานาค ที่เขตดุสิตในปัจจุบัน มาจากการที่แม่นาคอาละวาดขยายตัวให้ใหญ่ และล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ก็ยังเคยเสด็จทอดพระเนตรด้วย หรือ เชื่อว่าพระรูปที่มาปราบแม่นาคได้นั้นคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นต้น อีกทั้งยังเชื่อว่า ท่านได้เจาะกะโหลกที่หน้าผากของแม่นาคทำเป็นปั้นเหน่ง เพื่อสะกดวิญญาณแม่นาค และได้สร้างห้องเพื่อเก็บปั้นเหน่งชิ้นนี้ไว้ต่างหาก หรือหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ยังได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า เมื่อสมัยเด็ก ๆ ท่านเคยเห็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นรอยเท้าแม่นาคบนขื่อเพดานวัดมหาบุศย์ด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว

ถึงอย่างไร ความเชื่อเรื่องแม่นาคพระโขนง ก็ยังปรากฏอยู่ในความเชื่อของคนไทย ณ วัดมหาบุศย์ เขตสวนหลวง ปัจจุบันนี้ มีศาลแม่นาคตั้งอยู่ ซึ่งเป็นที่สักการะ เคารพบูชาอย่างมากของบุคคลในและนอกพื้นที่ โดยบุคคลเหล่านี้จะเรียกแม่นาคด้วยความเคารพว่า "ย่านาค" บ้างก็เชื่อกันว่าแม่นาคได้ไปเกิดใหม่แล้ว

การแสดงและบทประพันธ์

เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ได้กลายมาเป็นบทประพันธ์ในรูปแบบการแสดงเป็นครั้งแรก เป็นบทละครร้อง ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ในชื่อ "อีนากพระโขนง" โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ แสดงที่โรงละครปรีดาลัย (โรงเรียนตะละภัฏศึกษา) ได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องเปิดการแสดงติดต่อกันถึง ๒๔ คืน

ในทางบันเทิง เรื่องราวของแม่นาคพระโขนง ได้ถูกสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายต่อหลายครั้ง ในรอบหลายปี อีกทั้งยังสร้างเป็นละครหรือภาพยนตร์ตลกล้อเลียนก็เคยมาแล้ว โดยล่าสุดเป็นละครเวทีโอเปร่าอำนวยการแสดงโดย สมเถา สุจริตกุล ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕

ที่มา : พิมลนาฏ จันทร์กลั่น จากบล็อก GotoKnow , http://www.nightsiam.com/ ,วิกิพีเดีย
ภาพ : หวยเด็ดไทย
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 27 ธ.ค. 2015 5:25 pm

ตำนานรักสะพานนวลฉวี (สะพานนนทบุรี)
182485.jpg
182485.jpg (74.44 KiB) เปิดดู 5575 ครั้ง


ยามรัก..ความรักคือยาชูกำลังอันล้ำค่า ทว่ายามหมดรักแล้ว ความรักนั้นกลับกลายเป็นเพชฌฆาตที่มีแต่ความโหดเหี้ยม สามารถทำลายล้างได้ทุกสิ่ง เช่นเดียวกับความรักของนวลฉวี พยาบาลสาวผู้บูชาความรักยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ชีวิตรักของเธอเริ่มต้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ซึ่งนวลฉวีได้เดินทางเที่ยวทางภาคเหนือกับเพื่อนชื่อโมทนี และพบรักกับหมออธิป สุญาณเศรษฐกร ผู้เปลี่ยนชีวิตของเธอไปตลอดกาล

หมออธิป สุญาณเศรษฐกร เกิดและโตในกรุงเทพฯ เป็นบุตรคนสุดท้องในลูก ๕ คน ในครอบครัว พ่อแม่เป็นข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ อดีตเคยเป็นคนในจังหวัดฉะเชิงเทรา หมออธิปเป็นหนุ่มที่หน้าตาค่อนข้างดี ใจเย็น และฉลาดเฉลียว เขาสามารถศึกษาชั้นเตรียมวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนจบเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยช่วงเวลาว่างหมออธิปจะสมัครทำงานที่อู่รถใกล้บ้าน เพื่อเก็บเงินซื้อหนังสือเรียนและซื้อขนมกิน

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หมออธิปจบการศึกษาแพทย์ศาสตร์ จากสิริราชพยาบาล ได้รับหมายเกณฑ์เข้าประจำสำรองราชการ กรมกำลังพลทหารอากาศ ได้รับว่าที่เรืออากาศโท เข้ารับราชการเป็นนายแพทย์อยู่โรงพยาบาลรถไฟ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หมออธิปย้ายไปเป็นแพทย์รถไฟ หัวหน้าเขต ๔ จังหวัดลำปาง จนพบรักกับนวลฉวีในเวลาต่อมา..

ด้วยความเปล่าเปลี่ยวของหนุ่มเมืองที่ต้องห่างไกลความเจริญมาอยู่ท่ามกลางความสงบเงียบแห่งบ้านป่า เมื่อมีโอกาสได้ทำความใกล้ชิดกับหญิงสาวที่มีเสน่ห์ และรู้จักเอาใจอย่างนวลฉวี ทำให้หมออธิปมีความสุขและมีชีวิตชีวา ความรักใคร่ที่ค่อยๆ ก่อเกิด ชั่วระยะเวลาไม่นานที่ได้อยู่ด้วยกันนี้ สองคนหนุ่มสาวก็ผูกจิตปฏิพัทธ์ และต่างรู้ว่าอีกฝ่ายก็มีใจให้เช่นกัน

หมออธิปได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์พาหญิงสาวทั้งสองเที่ยวด้วยกันประมาณ ๓-๔ วัน หลังจากนั้นนวลฉวีกับเพื่อนก็อำลาหมอเดินทางไปที่เชียงใหม่ต่อ ทิ้งความหลังอันหวานชื่นไว้ที่นครลำปาง ดินแดนแห่งการคร่ำครวญหวนหาของนวลฉวี เธอพบชายหนุ่มในดวงใจเข้าแล้ว

ต่อมาจดหมายจากกรุงเทพฯ ของนวลฉวี ถูกส่งไปถึงมือหมออธิปที่นครลำปางเป็นระยะๆ จนกระทั้งผ่านไป ๖ เดือน หมออธิปย้ายกลับโรงพยาบาลดังเดิม เขาทำการติดต่อนวลฉวี โดยใช้สื่อทางจดหมายแทนโทรศัพท์เป็นระยะ ความรักทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นจนกลายเป็นสามีภรรยาโดยพฤตินัย โดยใช้บังกะโลและโรงแรมเป็นเรือนหอชั่วคราว

ความรักของคนสองคนดำเนินไปอย่างหวานชื่น โดยต่างฝ่ายปิดบังอำพรางธาตุแท้ของตนเอง...

เดือนกุมภาพันธ์-ธันวาคม ๒๕๐๑ นวลฉวีล้มป่วยในโรงพยาบาลยาสูบ ๑ เดือน หมออธิปไปเยี่ยมนวลฉวีหลายครั้ง อาการของเธอบ่งบอกว่าตกเลือดมาก แต่เธอไม่บอกใครว่าเธอป่วยเป็นโรคอะไร แต่ดูจากอาการหมออธิปรู้ทันทีว่าเธอคงแท้งลูก

ชีวิตของหมออธิปเริ่มยุ่งเหยิงขึ้น เนื่องจากการมีผู้หญิงเข้ามาในหัวใจของหมอ นางสาวสมบูรณ์ สืบสมาน นักศึกษาสาวแห่งมหาวิทยาลัยเทคนิคทุ่งมหาเมฆ ปีสุดท้าย เธอเป็นเพื่อนตั้งแต่เด็กของหมออธิป และเธอสวยเหลือเกิน

ต่อมาหมออธิปสอบได้ทุนฮุมโบลก์ไปเรียนต่อที่ประเทศเยอมัน เนื่องจากโรงพยาบาลรถไฟจะเป็นแผนกใหม่ พอกลับมาหมออธิปก็เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกตาที่นี่

ในเดือนมกราคม ๒๕๐๒ ทางการรถไฟส่งหมออธิปไปฝึกงาน โรคหู ตา จมูก ที่โรงพยาบาลศิริราช ๖ เดือน ตอนเย็นก็ไปเรียนภาษาเยอรมันที่เลขาทูต ทำให้เวลาที่หมอได้เจอนวลฉวียิ่งหดหายไป ฝ่ายนวลฉวีเริ่มระแคงระคายความรักของหมออธิป ด้วยความหึงหวง เธอถึงกลับใช้วิธีต่างๆ เพื่อจับหมออธิปให้อยู่หมัด ไม่ว่านั่งเฝ้าหมอในที่ทำงาน ตามทุกหนทุกแห่งเหมือนเงาตามตัว แทนที่หมออธิปจะรักกลับเพิ่มความรำคาญมากขึ้นเสียอีก

๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒ หมออธิปจดทะเบียนสมรสกับนวลฉวี เพชรรุ่ง ที่ อำเภอยานนาวา หมออธิปกล่าวถึงวันนั้นว่า "ที่จริงผมไม่อยากจดทะเบียนกับเธอหรอก เพราะอะไรหรือ มันก็พูดยาก หลายเรื่องบอกไม่ถูก คือเขาชอบตามผมทุกวันทุกคืน งานการเขาก็ไม่ทำ มานั่งเฝ้า ผมรำคาญสุดๆ ผมไม่อยากจดหรอก แต่จดก็จด มันอยากให้จดก็จดไป จะได้ตัดปัญหาซะที"

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๒ หมออธิปจดทะเบียนสมรสกับ นางสมบูรณ์ สืบสนาม ที่อำเภอพระเนตร โดยเป็นการสมรสซ้อน "....พอผมจดทะเบียนกับนวลฉวี สมบูรณ์เขารู้ ขอจดทะเบียนกับเขาอีก ผมก็ตัดปัญหานี้ไป อยากให้เรื่องมันเงียบหาย จะได้ไม่ไปบอกใครให้เป็นขี้หูคนอื่น" แต่กระนั้นนวลฉวีและสมบูรณ์ก็มีเรื่องระหองระแหงกัน นับตั้งแต่จดทะเบียนกับหมออธิปถึง ๗ ครั้ง เคยทะเลาะกันในโรงพยาบาลที่หมออธิปทำงานอยู่ จนหมออธิปเคยขอผู้หลักผู้ใหญ่ให้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงสองคนนี้เข้าในโรงพยาบาลอย่างเด็ดขาด"

นวลฉวีเองก็เคยไปฟ้องเรื่องของนางสมบูรณ์กับอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคทุ่งมหาเมฆหลายครั้ง เพราะแม้ว่านวลฉวีจะจดทะเบียนสมรส แต่เธอยังไม่ได้แต่งงานกับหมออธิปสักที แถมหมอก็ไม่เอาใจใส่ตนเหมือนครั้งก่อนๆ เธอต้องการแต่งงานกับเขา เธอต้องใช้วิธีต่างๆ ที่จะจับเขาให้อยู่หมัด และนีเป็นจุดเริ่มต้นที่นวลฉวีก้าวผิดจังๆ

พฤษภาคม ๒๕๐๒ นวลฉวีบอกครอบครัวว่าเธอกับหมออธิปจะแต่งงานกัน ครอบครัวจึงเชิญให้หมออธิปมากินข้าวเย็นด้วยกัน เพื่อคุยเรื่องแต่งงาน แต่หมออธิปไม่รู้เรื่อง ตอบไปว่า "ผมไม่ได้บอกเธอครับ เธอคิดไปเอง"

๔ มิถุนายน ๒๕๐๒ พ่อของนวลฉวี มาพบนวลฉวีที่กรุงเทพฯ นวลฉวีบอกพ่อว่าเธอได้เสียกับหมอแล้วตอนทำงานที่โรงพยาบาลรถไฟ หมออธิปรู้ข่าวจึงบอกว่าจะเลี้ยงดูนวลฉวีให้ แต่เรื่องก็เงียบหายไป

๕ มิถุนายน ๒๕๐๒ นวลฉวีพบหมออธิปอยู่กับผู้หญิงในโรงพยาบาลรถไฟ เกิดการทะเลาะวิวาทขึ้น

๑๑ หรือ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๐๒ นวลฉวีบอกกับพี่เขยว่า จะไปอยู่กับหมออธิป โดยเตรียมขนของแล้ว ส่วนหมออธิปรู้เรื่องนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้

๑๓ มิถุนายน ๒๕๐๒ นวลฉวีถูกไล่จากบ้านหมออธิป(ตอนนั้นหมออธิปไม่อยู่บ้าน) เพราะเธอมารอตั้งแต่เช้าจนถึงตี ๑ ไม่ยอมกลับ พอหมออธิปกลับมาบ้านก็โดนครอบครัวด่าว่า "เมียแกคนบ้าหรือเปล่าเนี้ย"

เหตุการณ์ครั้งนี้นวลฉวีได้ระบายเรื่องทั้งหมดลงใน "สมุดบันทึก" ซึ่งภายหลักสมุดเล่มนี้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่ใช้สืบหาฆาตกรที่ก่อคดีฆ่าเธอยกแก๊ง ปัจจุบันหลักฐานนี้อยู่ในการดูแลของห้องพิพิธภัณฑ์นิติเวชวิทยา โรงพยาบาลศิริราช เคียงข้างกับร่างสงบนิ่งของฆาตกรใจโหดนาม "ซีอุย"

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๐๒ เวลา ๑๑.๓๐ น. นวลฉวีเข้ามาหาคุณหมออธิปที่โรงพยาบาล เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดบันทึกดังนี้... "ดิฉันพบนายแพทย์อธิปสามีฉันที่โรงพยาบาลรถไฟ จากนั้นก็คุยเรื่องปัญหาชีวิตของเราทั้งสอง...."

หมออธิปเริ่มระงับอารมณ์ไม่อยู่ นี่ผมทำต้องทำงานนะ มากวนอยู่ได้ ว่าแล้ว หมอก็กำหมัด ต่อยไปที่ใบหน้านวลฉวีจังๆ นวลฉวีกรีดร้อง "ช่วยด้วย หมอรังแกผู้หญิง" , "หมอจะฆ่าเมีย ช่วยด้วยหมอจะฆ่าเมีย" จนหมออธิปเข้ามาปลอบและพาไปยังห้องคนไข้ พร้อมสายตาคนเกือบทั้งโรงพยายามที่มองไปยังคนทั้งสอง

๑๓ กรกฎาคม ๒๕๐๒ นวลฉวี แจ้งความตำรวจว่าถูกหมออธิป ทำร้ายร่างกายตน

๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๒ หมออธิปตกลงเงื่อนไขนวลฉวีให้ปรองดองกัน เพราะเป็นสามีภรรยากันแล้ว เรื่องเลยจบลงที่การบันทึกประจำวัน

๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๒ บาดแผลที่หมออธิปชกหน้านวลฉวีลุกลาม และเจ็บปวดมาก แต่นวลฉวีขอตำรวจไม่เอาผิดหมออธิปเพิ่ม เพราะกลัวเขาเสียอนาคต เธอบันทึกเรื่องราวนี้ในสมุดบันทึกอย่างละเอียด...เรื่องนี้ส่งผลให้นวลฉวีต้องเข้าไปในนอนโรงพยาบาล โดยนวลฉวีขอให้หมออธิปเป็นผู้รักษาเธอ แต่ถึงกระนั้นหมออธิปก็ไม่มาหาเธอบ่อยนัก เรื่องนี้หมออธิปเดือดดานสุดๆ ถึงกับระบายเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า "อยากจะบ้าตาย ถูกมาบังคับให้นอนเฝ้าด้วย โอ๊ย! ผมต้องทำงานนะ บางคืนก็เฝ้าทั้งที่ทำงานอยู่ ไปเฝ้านานก็ไม่ได้ เดี๋ยวสมบูรณ์เข้าไปอาละวาดอีกเรื่องมันจะวุ่น"

๑๗ กรกฎาคม ๒๕๐๒ พ่อของนวลฉวีมาหาเพื่อเอาเรื่องกับหมออธิป โดยหมอตอบสั้นๆ ว่า "แล้วแต่ศาล" นวลฉวีบันทึกเหตุการณ์นี้ลงสมุดบันทึก ด้วยคำสาปแช่งถึงหมออธิป"เชิญแกไปหาเมียใหม่ตามสบายเถอะ ฉันรู้นะว่าปีศาจในตัวแกจะแสดงบทบาทอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้......."

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๒ นวลฉวีทำหนังสือร้องเรียนให้สารวัตรฝ่ายสืบสวน เล่าว่าหมออธิปไม่ทำตามทัณฑ์บนที่ทำไว้ให้ นอกจากนั้นยังทำทารุณกับเธออีก โดยดึงสะโพกไปกระแทกกับก๊อกน้ำและเลือดไหล ความเจ็บปวดยากจะบรรยาย จึงอยากขอให้พิจารณาดำเนินคดีใหม่อีกครั้ง

๒๘ สิงหาคม ๒๕๐๒ หมออธิปไปที่โรงพัก เพื่อการทำการสอบสวน เขาสารภาพทุกอย่างตามที่กล่าวหา

๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๒ หมออธิปได้รับโทรศัพท์จากนวลฉวีให้ไปหานายธวัชเพื่อนของเธอ และเป็นที่ปรึกษาคดีทำร้ายร่างกายชองเอด้วยในครั้งนี้ หมออธิปไปตามสถานที่ที่นวลฉวีนัด คือที่ทำการรถไฟสทานกษัตริย์ศึก เวลา ๑๐.๐๐ น. นายธวัชแนะนำให้หมอกับนวลฉวีคืนดีกัน หมออธิปรับปาก จึงได้เขียนจดหมายใส่ซองปิดผลึกให้ พ.ต.อ. เจ้าของคดีนี้ ใจความว่า "เราจะคืนดีกันแล้ว....."

๑ กันยายน ๒๕๐๒ หมออธิปและนวลฉวีเข้าพบสารวัตรใหญ่พญาไท ขอให้ระงับคดีทำร้ายร่างกาย แล้วไปนั่งรับประทานอาหารที่โรงหนังคิงส์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ

๙ กันยายน ๒๕๐๒ นายธวัชไม่สบาย จึงขอลางานเพื่อไปเยี่ยมนวลฉวี นวลฉวีชวนนายธวัชไปวัดสามง่ามเพื่อเอายาไปถวายพระ และให้พระดูดวงให้ พระบอกนวลฉวีไว้ว่า "ต่อไปนี้ซะตาจะดีแล้ว”

เวลา ๒๐.๓๐ น. หมออธิปเข้าพบนวลฉวีและนายธวัช พูดจาเรื่องเรือนหอของเราสองคน

เวลา ๒๓.๐๐ น. นายธวัชกลับไปก่อน ต่อมา นางพยาบาลเรียกให้หมออธิปไปดูคนไข้ที่กำลังจะคลอด หมออธิปช่วยคนไข้อยู่นานจนถึงเที่ยงคนจึงพานวลฉวีไปส่งโรงพยาบาลยาสูบเพราะนวลฉวีรบเร้า จนกระทั่ง..นวลฉวีโทรศัพท์ถึงนายธวัชบอกว่า เมื่อคืน ตอนที่หมออธิปพาไปส่งโรงพยาบาลยาสูบ เราทะเลาะกัน รายละเอียดจะคุยให้ฟังตอนเย็น ถ้าเลิกงานแล้วให้ไปพบที่โรงพยาบาลยาสูบเย็นวันนั้น นายธวัชมัวไปทำธุระที่อื่น ก่อนจะไปโรงพยาบาลยาสูบเป็นที่ต่อไป จวนเวลา ๑ ทุ่ม แต่ไม่พบนวลฉวี ยามโรงพยาบาลเห็นเธอแต่งตัวออกไปข้างนอกนานแล้ว.....นวลฉวี จากไป และไม่กลับมาอีกเลย

พบศพ..เช้าวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๐๒ เวลา ๘.๔๕ น.

นายจำลอง จิรัตฐิตกุล ช่างกลปากเกร็ดนั่งเรือแท็กซี่จากบ้านไปทำงาน ระหว่างที่นั่งเรือแท็กซี่นั้นเขาได้พบศพ!

ศพนี้ลอยมาอย่างน่าเวทนา ในแม่น้ำเจ้าพระยาห่างจากตัวนนทบุรีประมาณ ๒ กิโลเมตร อยู่ระหว่างโรงงานกระดาษเก่ากับวัดเฉลิมพระเกียรติ นายท้ายเรือเข้าไปดูศพ พบว่าสวมเสื้อสีฟ้าอ่อน นุ่งกระโปรงดำเป็นลายปัก ศพอยู่ในลักษณะหงายมือพาดหน้าอก คาดเข็มขัดโตสีฟ้า ที่ข้อมือและแหวนทองลงยาจารึกนามสกุล "รามเดชะ"(สกุลเดิมของหมออธิป) เมื่อเรือแล่นมาถึงจังหวัดนนทบุรี นายจำลองจึงแจ้งความติดต่อตำรวจนนทบุรีทันที ต่อมาศพถูกส่งไปวัดนครอินทร์ ต่อด้วยโรงพยาบาลตำรวจนนทบุรี เพื่อการชันสูตรศพเป็นการด่วน ผลจากการชันสูตร สาเหตุการตายเนื่องจากบาดแผลถูกแทงจนเลือดตกในมากและสิ้นใจก่อนถูกโยนลงน้ำ บาดแผลที่ถูกแทงมีทั้งหมดสีข้างข้างขวาและที่หลังด้านซ้ายรวม ๓ แผล แต่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของศพไม่พบรอยฉีดขาด

"ท่ามกลางความมืดของคืนวันหนึ่งในเดือนกันยายน ๒๕๐๒ ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งได้ลงมือสังหาร นวลฉวี นางพยาบาลสาวถึงแก่ชีวิตตามที่ได้รับว่าจ้าง ..."

วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๐๒ ๒๒.๐๐ น. ศพที่พบลำน้ำเจ้าพระยาถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าผู้ตายชื่อนวลฉวี (สืบจากชื่อที่สลักของแหวน) หมออธิปทราบข่าวการตายของนวลฉวี และเผชิญหน้ากับกองทัพนักข่าว หมอตอบสั้นๆ ว่า "เธอเป็นภรรยาผมก็จริง แต่เราไม่อยู่ด้วยกันครับ แยกกันอยู่ พรุ่งนี้ค่อยไปรับศพครับ เพราะมันดึกแล้ว แหะๆ" คดีนี้เดาผู้ต้องสงสัยไม่ยาก เพราะนวลฉวีไม่มีศัตรูภายนอกที่ไหน ยกเว้นภายใน และมากที่สุด เห็นจะไม่เกินสามีที่อยากกำจัดภรรยาจอมยุ่งให้ไปพ้นๆ ทาง

๑๔ กันยายน ๒๕๐๒ ตำรวจเชิญตัวหมออธิปไปสอบสวน และพบรอยข่วนที่ข้อมือหมอ ตำรวจไม่รอช้าถ่ายบาดแผนนี้เก็บเป็นหลักฐานพร้อมกับแจ้งข้อหา "หมอฆ่าเมีย" ทันที

ในกลางดึกของกลางเดือนกันยายน ภายหลังจากหมออธิปถูกจับ ขบวนรถตำรวจรับหมอและคุ้มกันอย่างแน่นหนา โดยหมออธิปนั่งมา เพื่อไปสถานที่แห่งหนึ่ง พร้อมกับบอกว่า "จอมพลสฤษดิ์อยากพบหมอครับ มีอะไรก็รับๆ เสียนะครับ ถ้าไม่รับหมอโดนยิงเป้าแน่ คิดดูให้ดีนะครับหมอ"

หมออธิปหน้าซีด เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ และเป็นนายกรัฐมนตรี พ่วงด้วยอธิบดีกรมตำรวจ และมีนิสัยชอบสั่งยิงเป็นคนเป็นว่าเล่นเหมือนกับผักปลา โดยขณะตำรงตำแหน่งก็สั่งยิงเป้าไปถึง ๖ คน

ภายในห้องทำงานบุรุษร่างใหญ่ผิวคล้ำ ท่าทางเด็ดขาดน่าเกรงขามนั่งรอท่าอยู่ก่อนแล้ว หมออธิปเย็นวาบถึงไขสันหลัง สักครู่ท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติไม่พูดพล่ามทำเพลง ถามเสียงเด็ดขาด "หมอฆ่าเมียตัวเองอย่างที่เป็นข่าวจริงไหม ถ้าจริงจงรับมาเสียอย่าปากแข็ง พูดตรงๆ แบบลูกผู้ชายดีกว่า จะได้ไม่เสียเวลา"

"ผมไม่ได้ทำครับ ผมขอปฏิเสธ" หมออธิปรวบรวมกำลังใจกล่าวปฏิเสธ

ทางด้านตำรวจยศสูงต่างๆ ในสถานีตำรวจนนทบุรีได้ร่วมทำการสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ และทราบว่าหมออธิปมีเพื่อนสนิทคือนายชูยศและนางสุขสม พ่อของเขาเคยเป็นคนไข้ของหมออธิปมาก่อน หมอรักษาพ่อจนหาย ทำให้ชูยศซึ้งในน้ำใจของหมออธิป ถึงขนาดยอมตายแทนหมอได้เลย

๑๗ กันยายน ๒๕๐๒ หนังสือพิมพ์แต่ละสำนักต่างลงข่าวว่า นายชูยศ มีส่วนเกี่ยวข้องคดีฆ่านวลฉวี เพราะผลจากการตรวจสอบบนสะพานพบรอยหยดเลือดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แสดงถึงการนำศพมาถึงจุดนั้น ต่อมาหลักฐานการสืบสวนคดีฆ่านวลฉวีเพิ่มขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ตำรวจพบกระดุมสีน้ำตาลแก่ตก ๑ เม็ดบนพื้นถนนริมทางหลวง รอยเลือดจากราวสะพานเหล็กที่เป็นคราบสีน้ำตาล ฯลฯ

๒๐ กันยายน ๒๕๐๒ ตำรวจบุกไปบานของนายชูยศในสวนบางบำหรุ ธนบุรี แต่ไม่มีคนอยู่ ประตูใส่กุญแจไว้ จากการตรวจสอบบ้านได้พบรอยเลือดที่พื้นบันได้หลังบ้าน ตำรวจจึงเก็บหลักฐานเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังพบเลือดที่พื้นห้องครัวเรือนบนเตียงและที่พื้นบันได ทั้งพบหลอดยาเอทิลคลอไรด์ พร้อมมีดปลายแหลมในห้องครัว

๒๗ กันยายน ๒๕๐๒ นายชูยศพร้อมภรรยาเข้ามอบตัวกับตำรวจ มีการสอบสวนพอเป็นพิธี ก่อนจะปล่อยตัวกลับไป โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา

๑๔ ตุลาคม ๒๕๐๒ เจ้าหน้าที่คุมนายชูเกียรติและภรรยาไปหาจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะคดีฆ่านวลฉวีดังมากในยุคนั้น และตัวจอมพลก็สนใจ แต่กระนั้นนายชูยศไม่ได้เข้าพบจอมพล มีเพียงแต่ภรรยาชูยศเท่านั้นที่พบ นายกรัฐมนตรีถามนางสุขมภรรยาของนายชูยศ "มีความสัมพันธ์กับหมออธิปอย่างไร" นางสุขุมคิดว่านายกถามเรื่องเงินทองๆ จึงตอบว่า "มี” ทำให้รุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ก็พาดหัวข่าวว่า "นางสุขสมยอมรับจอมพลว่าเสียตัวให้หมออธิป
"
๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๒ นายมงคล เรื่อเรืองรัตน์ สัปเหร่อและช่างไม้ที่มีบ้านติดๆ กับนายชูยศมาก่อนถูกตำรวจควบคุมตัวที่วัดน้อยนางหงส์ ฐานสงสัยว่าเป็นคนฆ่านวลฉวี

๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ คำให้การจากพยานหลายคน ทั้งเพื่อนของนวลฉวี และยามยาสูบ ให้การเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจเชื่อว่าหมออธิปต้องเป็นฆ่านวลฉวีแน่นอน และไม่นานนักตำรวจก็สามารถจับผู้ต้องสงสัยฆ่านวลฉวีได้ยกแก๊งประกอบด้วย นายชูยศและนางสุขสม ตัวกลางประสานแผนการ นายมงคล เรื่อเรืองรัตน์ สัปเหร่อมือสังหาร ซึ่งเคยมีประวัติหนีคดีที่อื่นมาก่อน มีอาชีพเป็นสัปเหร่อและช่างไม้อาศัยอยู่บ้านแม่ยายติดๆ กับนายชูยศ นายชูเกียรติ ผู้ช่วยฆ่านอกจากนี้มีผู้ต้องสงสัยอีกคือ นายยง ยิ้มกมล และนายเยี่ยม แต่ตำรวจกันไว้เป็นพยาน ทั้งหมดให้การรับสารภาพในเวลาต่อมา....แต่ก็น่าแปลกที่ก่อนหน้านี้ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดไม่มีท่าทีคิดจะหนีสักนิด...แต่กระนั้นช่วงเวลาการสังหารโหดนวลฉวี ตำรวจไม่เห็นภาพมากนัก ฆาตกรไม่ได้มีคนเดียว มันทำเป็นหมู่คณะ ภายใต้การนำของหมออธิป ตำรวจเชื่ออย่างนั้น แต่จากประมวลคำให้การของพยานและหลักฐานวัตถุการสังหารนวลฉวีมีการวางแผนเป็นขั้นๆ เป็นตอนๆ เรียบเรียงได้ดังนี้

เริ่มจากหมออธิปคิดฆ่านวลฉวีภรรยาของตนเอง หมออธิปจึงบึ่งรถไปที่บ้านของนายชูยศเพื่อนสนิทเพื่อต่อรองราคา นายชูยศตกลงทันที พร้อมกับเรียกเงินจำนวนมากสมน้ำสมเนื้อกับความเสี่ยง


เดือนสิงหาคม เวลา ๑๑.๐๐ น.นายชูยศและนางสุขสม ไปที่สวนบ้านนายยง ยิ้มกมล ถามว่าแถวนี้มีใครสามารถฆ่าผู้หญิงโดยไม่มีหลักฐานได้บ้าง นายยงบอกว่ามีสัปเหร่อคนหนึ่งซึ่งเคยฆ่าคนมาก่อน นายชูยศสนใจจึงให้ภรรยาทำการว่าจ้าง นายยง ยิ้มกมล โดยจ้างนายยงเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้พานายคนนั้นมาหา โดยได้รับเงินค่าจ้าง ๕,๐๐๐ บาท ครึ่งหนึ่งไปก่อน

วันรุ่งขึ้น นายยงจึงพาตัวนายมงคลมาหานายชูยศ นายชูยศบอกว่าให้ไปฆ่าผู้หญิงคนหนึ่ง และจะได้เงินว่าจ้างหมื่นกว่าบาท โดยให้เงินล่วงหน้าห้าพันบาทก่อน นายมงคลตอบตกลงไม่มีลังเล

วันรุ่งขึ้น ทั้งหมดพบหมออธิปผู้ว่าจ้างตัวจริง นายชูยศแนะนำหมอให้ผู้รับจ้างทราบกันโดยทั่วกัน จากนั้นหมออธิปก็ให้เงินนายยง ล่วงหน้า ๕,๐๐๐ บาท เป็นเงินมัดจำ จากนั้นหมออธิปก็วางแผน โดยตกลงกันว่าจะพานวลฉวีภรรยาของหมอมาฆ่าที่โรงครัวบ้านหลังนี้ ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือหมออธิปจะเตรียมไว้ให้

จากนั้นก็ถึงเวลาลงมือสังหาร วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๐๒

ตอนเช้าหมออธิปโทรศัพท์นัดนางนวลฉวีและรับนางนวลฉวีจากโรงพยาบาลยาสูบ โดยพาไปที่บ้านนายชูยศที่สวนบางบำหรุ เวลาบ่ายโมงเศษ นายยง ไปที่บ้านนายชูยศ สมทบกับนายชูเกียรติ เพื่อดูสถานที่ทำการฆ่า เตรียมมีดปลายแหลม ผ้าพลาสติก และสายไฟคู่สีเหลือง ๑ ขด และไม้ไผ่เพื่อหามศพ เตรียมเสร็จแล้วนายยงก็กลับบ้านนอนเอาแรง

๕ โมงเย็น นายยง นายชูเกียรติ และ นายชูยศ พากันมาซุ่มที่ห้องน้ำรอดูหมออธิปพาผู้หญิงมาฆ่า เวลา ๑๘.๐๐ น. เศษ หมออธิปนำนวลฉวีมาทางหน้าบ้านของนายชูยศ แล้วพาเข้าห้องครัว ปิดประตูลงกลอน หมออธิปรอจังหวะที่นวลฉวีเผลอโป๊ะยาสลบจนเธอนอนหลับ ก่อนออกจากห้อง ปล่อยลูกสมุนมาจัดการ จากนั้นก็ถึงเวลาสังหาร!!

นายยงข่มขืนนวลฉวี ๑ ครั้ง นวลฉวีไม่รู้สึกตัวเพราะโดนยาสลบ นายมงคลจับแขนซ้ายหญิงนั้นลงตะแคงทางขวา

จากนั้นนายมงคลได้หยิบมีดปลายแหลมทำการแทงนวลฉวีไป ๓ ครั้ง นวลฉวีร้อง นายมงคลจึงแทงซ้ำจนมั่นใจว่าเธอตายแล้ว จึงบอกนายเยี่ยมน้องชายมาช่วย( นายเยี่ยมถูกกันไว้เป็นพยาน) จากนั้นทั้งสองคนช่วยกันเอาเสื้อชั้นนอกที่หัวเตียงสวมให้ศพ แล้วยกศพวางบนผ้าพลาสติกซึ่งปูไว้แล้ว นายมงคลเอาสายไฟมัดที่ข้อเท้าศพ มัดบั้นเอว และมัดที่หัวไหล่ จากนั้นก็ใช้ไม้ไผ่สอดใต้สายไฟที่มัดไว้แล้วหามศพออกจากบันไดหลังบ้าน โดยมีเลือดหยดตามพื้นเป็นรายทาง นายยงและนายเยี่ยมหามศพ ส่วนนายมงคลทำความสะอาดจุดสังหาร.....

ศพของนวลฉวีถูกขนย้ายผ่านสวนพจน์ที่อยู่ใกล้ๆ ที่เกิดเหตุ นายมงคลตามมา ทั้งสามข้ามคูถนนจรัลสนิทวงศ์ ลุยคูน้ำที่มีน้ำลึก ๕๐ ซม. ไปหานายมงคลตรงหลักกิโลเมตรที่เดิม จากนั้นก็วางศพไว้ข้างถนน หมออธิปเปิดประตูรถ จ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างไว้ให้ทั่วหน้าทุกคน จากนั้นก็ช่วยกันเอาศพขึ้นรถ บรรทุกโฟล์คสวาเก้น กข.ข.๐๒๕๓ มุ่งหน้าไปทางสะพานพระราม ๖

สำหรับไม้ไผ่หามศพ นายเยี่ยมเป็นคนนำไปทิ้ง แต่ทิ้งที่ไหนไม่มีใครทราบ แต่อย่างไรดี ก่อนที่ฆาตกรจะทิ้งศพนวลฉวี มีรถคนหนึ่งผ่านมา และเกิดความสงสัยว่า ทำไมรถของฆาตรถึงจอดกลางทาง จึงถามว่ารถเสียหรือ ก็แค่ได้เสียงตอบกระชากๆ ว่า "เปล่า" แทน เวลา ๒ ทุ่ม ศพของนวลฉวีจึงถูกทิ้งลงจากสะพานนนทบุรีลงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านละแวกนั้นได้ยินเสียงตูม! กันทั่ว

ขุนสุญาณเศรษฐกร บิดาหมออธิป เห็นท่าว่าหมออธิปจะแพ้คดี จึงจ้างนายชมพู อรรถจินดา ทนายความที่มีชื่อเสียงด้วยราคาสูงลิบลิ่ว หมออธิปเริ่มมั่นใจว่ามีทนายฝีมือดีตนต้องชนะคดีแน่นอน การพิจารณาศาลเป็นไปด้วยความดุเดือดเลือดพล่านเพราะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึก ประชาชนทั้งประเทศต่างก็สนใจคดีนี้ อยากรู้ว่าผลความยุติธรรมจะทำให้นักโทษทั้งหมดถูกประหารหรือไม่ "ถ้าผมจะฆ่าภรรยาผม ทำไมผมต้องจ้างคนอื่นให้เสียเวลาทำมาหากินด้วยละ สู้เอามือบีบคอภรรยาให้ตายคามือดีกว่ามั้ง" หมออธิปแก้ตัวต่อศาล

วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๐๓ ณ ศาลอาญา บังลังก์ที่สอง คือวันพิพากษาหมออธิปและพรรคพวก...

ผู้พิพากษาทั้งสี่ประกอบด้วย นายเฉลิม กรพุกกะณะ นายพินิจ เพชรชาติ นายสว่าง เวทย์ และนายวุฒิกรรม วงษ์ศิริ ออกมานั่งบัลลังก์ตัดสินคดีประวัติศาสตร์อาชญากรรมท่ามกลางประชาชนนับหมื่นที่แห่มาฟังคำพิพากษาอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนถึงขนาดต้องต่อลำโพงโดยรอบสนามหญ้าบริเวณศาลทหารอาญา เก้าอี้หลายตัวในศาลหักเพราะทานแรงคลื่นมนุษย์ไม่ไหว จนกระทั่ง นาทีระทึกขวัญมาถึง ทุกคนพากันสงบนิ่ง รอฟังผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินช่วงสุดท้าย

"นายอธิปจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามที่กล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๙ อนุมาตรา ๔) ๘๓ ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานก่อให้คนอื่นกระทำความผิดให้ต้องโทษประหารชีวิตนายอธิปจำเลยที่ ๑ ส่วนนายมงคล จำเลยที่ ๕ มีความผิดฆ่าคนโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ และ ๘๓ ให้ระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และริบมีดสั้นปลายแหลมที่ใช้กระทำผิดเสีย ส่วนนายชูยศ และนางสุขสม จำเลยที่ ๒ และ ๓ และนายชุเกียรติ จำเลยที่ ๔ ศาลไม่มีหลักฐานเอาผิดเลยให้ปล่อยตัวพ้นผิดไป"

แต่กระนั้น ต่อมาหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จกลับจากนิวัตพระนคร ถือว่าเป็นวันมงคล หมออธิปจึงได้รับการอภัยโทษ ประกอบกับที่บิดา-มารดาของหมอวิ่งเต้น ทำให้หมออธิปถูกจำคุกเพียง ๑ ปีเศษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หลังหมออธิปพ้นโทษ ชีวิตที่เหลือก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่เสมอ เนื่องจากโรคติดตัวตอนอยู่ในคุก และจนถึงวาระสุดท้าย หมออธิปนอนอยู่บนเตียงในโรงพยาบาล ท่ามกลางญาติสนิท หมออธิปเอยปากก่อนตายเรื่องนวลฉวี

"นวลฉวี พี่ขอโทษ พี่เป็นคนฆ่าเธอเองแหละ" พูดจบหมออธิปก็สิ้นลม

หลังจากนั้นมา ทุกคนต่างเรียกสะพานสะพานนนทบุรีสถานที่ทิ้งศพนวลฉวีนี้ว่า "สะพาน นวลฉวี"

ส่วนบ้านที่นวลฉวีถูกฆ่าในสวนบางบำหรุก็มีเสียงเล่าลือว่า เห็นผีผู้หญิงอยู่ในบ้านหลังนั้น ทุกคนจึงเรียกบ้านหลังนั้นว่า"บ้านผีสิง"


เรียบเรียงจาก teenee.com
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 21 ก.พ. 2016 6:16 pm

สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณฯ สตรีผู้ทำให้กษัตริย์หลงใหลจนเสียบัลลังก์

x12520_jpg_pagespeed_ic_YCZFuuAPCL.jpg
x12520_jpg_pagespeed_ic_YCZFuuAPCL.jpg (58.64 KiB) เปิดดู 9698 ครั้ง


สมเด็จเจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ บ้างออกพระนามว่า พระราชกัลยาณี เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่ประสูติแต่ พระนางสิริธิดา เมื่อปีกุน พ.ศ.๒๑๗๙ เป็นพระขนิษฐาร่วมพระชนนีในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา หลังจากพระราชเทวี สิริกัลยาณีประสูติพระธิดาพระองค์นี้แล้วก็ทรงตกพระโลหิตและสวรรคต ในขณะที่พระราชกัลยาณีมีพระชนมายุเพียง ๙ วัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงแต่งตั้งให้พระองค์บัว (เจ้าแม่วัดดุสิต) และพระนมเปรมเป็นผู้อภิบาล พระราชกัลยาณีทรงเป็นกุลสตรีที่ทรงพระสิริโฉม


หลังจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเสด็จสรรคต เจ้าฟ้าไชยจึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงศรีอยุธยาสืบต่อพระราชบิดา แต่สมเด็จพระนารายณ์ไม่ทรงเห็นด้วย จึงส่งคนสอดออกมาคิดราชการด้วยพระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นพระเจ้าอา พระเจ้าอาก็กำหนดเข้าไปครั้งเพลาค่ำ สมเด็จพระนารายณ์ก็พาพระราชกัลยาณีหนีออกมาทางประตูตัดสระแก้วไปหาพระเจ้าอา แล้วร่วมกันสุมผู้คนยกเข้ามาในพระราชวัง กุมเอาเจ้าฟ้าไชยไปสำเร็จโทษเสีย ณ วัดโคกพระยา พระศรีสุธรรมราชาจึงได้ราชสมบัติสืบต่อมา

เนื่องจากพระราชกัลยาณีมีสิริโฉมงดงามมาก กล่าวกันว่าแม้นใครได้ยลพระราชกัลยาณีแล้วจะไม่เสน่หานั้นเป็นไม่มีเลย ดังนั้น เมื่อพระศรีสุธรรมราชาได้ราชสมบัติแล้วประมาณสองเดือนเศษ ทอดพระเนตรเห็นพระราชกัลยาณีผู้เป็นราชนัดดาทรงพระรูปสิริวิลาศ ก็มีพระทัยเสน่หาผูกพัน ปราศจากลัชชีสมโภค จึงให้หาขึ้นไปบนที่หวังจะร่วมรสสังวาสกับพระราชกัลยาณี พระราชกัลยาณีจึงหนีลงมายังพระตำหนักแล้วบอกเหตุกับพระนม พระนมจึงเชิญพระราชกัลยาณีเข้าไว้ในตู้พระสมุด แล้วหามออกมา แสร้งว่าจะเอาพระสมุดไปยังพระราชวังบวรสถานมงคล นายประตูก็มิได้สงสัยครั้นไปถึงพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชกัลยาณีก็ออกจากตู้เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ แล้วทรงพระกันแสงทูลเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงเกี่ยวกับพระเจ้าอาให้ฟัง สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงฟังดังนั้นก็ทรงโทมนัสน้อยพระทัย ตรัสว่า "พระเจ้าอาก็เหมือนพระบรมราชบิดา... ควรหรือมาเป็นดังนี้ จะละไว้ก็มิได้ ด้วยพระองค์ก่อแล้วจะสานตาม จะเสี่ยงเอาบารมีเป็นที่พึ่ง"

ต่อจากนั้น ก็ตรัสให้หาขุนนางเข้ามาภายในพระราชวัง แล้วจัดแจงแต่งรี้พล สมเด็จพระนารายณ์ฯ เองเสด็จช้างต้นพลายมงคลไอยรา เสด็จไปทางหน้าวัดพลับพลาชัยครั้นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทราบเหตุจึงจัดทัพเข้าสู้ ได้รบพุ่งกันตั้งแต่ค่ำจนรุ่ง โดยฝ่ายพระนารายณ์มีทหารญี่ปุ่นร่วมด้วยต่อมา ทหารฝ่ายสมเด็จพระนารายณ์กระทุ้งประตูเข้าไปในวังได้ สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาจึงหนีไปยังวังหลัง แต่ถูกจับได้ พระนารายณ์ก็ให้ประหารเสียที่วัดโคกพระยาตามประเพณี

ครั้นพ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์แล้ว พระราชกัลยาณีก็มีบทบาทสำคัญอีก คือเมื่อพระเพทราชาขึ้นครองราชสมบัติ ก็โปรดให้พระราชกัลยาณี (เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ) เป็นกรมหลวงโยธาทิพ ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวาข้อนี้ เห็นทีกรมหลวงโยธาทิพจะไม่ร่วมตกลงปลงพระทัยด้วย เพราะเมื่อพระเพทราชาจะเสด็จไปเข้าที่บรรทม ณ พระตำหนักตึกกรมหลวงโยธาทิพ พระนางกลับให้ทูลพระอาการว่าประชวรอยู่ เมื่อเสด็จไปคราวหลังพระนางจึงยินยอม ต่อมาสมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวากรมหลวงโยธาทิพ ประสูติราชโอรสได้นามว่า เจ้าพระขวัญกล่าวกันว่า ในวันประสูติเจ้าพระขวัญนั้น เป็นอัศจรรย์ด้วยแผ่นดินไหว จึงมีคนนับถือมาก ประกอบกับเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าพระขวัญพระชนมายุครบ ๑๓ พรรษา จึงมีพระราชพิธีโสกันต์ ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาทต่อมา กรมพระราชวังบวร (พระเจ้าเสือ) ทรงพระราชดำริแคลงเจ้าพระขวัญ ด้วยเห็นข้าไทมาก จึงร่วมคิดกับเจ้าฟ้าเพชรคอยทีอยู่เมื่อพระเพทราชาประชวรหนักใกล้สวรรคต จึงให้มหาดเล็กไปทูลเชิญเจ้าพระขวัญ ว่ามีรับสั่งให้ไปเฝ้า เพื่อให้ทรงม้าเทศให้ทอดพระเนตร เจ้าพระขวัญกำลังเสวยผลอุลิตหวานค้างอยู่ เมื่อทราบว่ามีรับสั่งให้หาก็มิได้เสวยต่อไป และซีกซึ่งยังมิได้เสวยนั้นเอาใส่ไว้ในเครื่อง แล้วทูลลาสมเด็จมารดา เสด็จไปเฝ้ากรมพระราชวังบวร ณ พระตำหนักหนองหวาย เมื่อเจ้าพระขวัญไปถึง ก็มีพระบัณฑูรห้ามพระพี่เลี้ยงและข้าไททั้งปวงมิให้เสด็จเข้าไป และให้ปิดประตูกำแพงแก้ว แล้วให้จับเจ้าพระขวัญสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ ต่อจากนั้นให้เอาพระศพใส่ถุงแล้วใส่ลงในแม่ขัน ให้ข้าหลวงเอาไปฝังไว้ ณ วัดโคกพระยาพี่เลี้ยงและข้าไททั้งปวงจึงชวนกันร้องไห้ แล้วกลับไปทูลเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ

เหตุการณ์ตอนนี้ เป็นเรื่องราวของอภินิหาร พระราชพงศาวดารกล่าวว่า สมเด็จพระอัครมเหสี เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ เมื่อเจ้าพระขวัญทูลลาไปนั้น กำลังเข้าที่บรรทมอยู่ พอเคลิ้มหลับก็ได้ยินพระราชบุตรมาทูลว่า ข้าพเจ้าขอพระราชทานผลอุลิตหวานซีกซึ่งเหลืออยู่นั้นเสวยต่อไป ก็ตกพระทัยตื่นขึ้นมาทันทีทันใดพอดีกับมหาดเล็กมาทูลว่าเจ้าพระขวัญถูกปลงพระชนม์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพได้ฟังก็ตกพระทัย ทรงพระกันแสงถึงพระราชบุตร แล้วเสด็จขึ้นไปเฝ้าพระเพทราชา ซึ่งกำลังทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชาได้ทรงฟังก็ทรงเศร้าโศกเสียพระทัยอาลัยในพระราชโอรส จึงตรัสเวนราชสมบัติให้แก่เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ราชนิกูล และเสด็จสวรรคตในคืนนั้นเอง แต่เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ไม่กล้ารับราชสมบัติ จึงน้อมถวายราชสมบัติแด่ พระเจ้าเสือ

เมื่อพระเจ้าเสือได้ราชสมบัติแล้ว สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายขวา กรมหลวงโยธาทิพก็ทูลลาออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธศวรรย์ พร้อมกับกรมหลวงโยธาเทพ สมเด็จพระอัครมเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระอัครมเหสี เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงโยธาทิพ ได้เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักนั้นเอง พระองค์เสด็จสวรรคต ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ช่วงปี พ.ศ. ๒๒๔๙

ภาพ : google

ที่มา เพจ ราชินี เจ้าจอม หม่อมห้าม ในอดีต
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 28 ก.พ. 2016 11:39 am

สตรีต่างชาติคนแรกที่ได้เป็นเจ้าคุณในพระราชวงศ์จักรี


x12574_jpg_pagespeed_ic_C814MDBmC_.jpg
x12574_jpg_pagespeed_ic_C814MDBmC_.jpg (63.99 KiB) เปิดดู 9682 ครั้ง




ในปี พ.ศ. ๒๓๒๑ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ไปตีกรุงเวียงจันทน์ และเชิญเสด็จพระราชบุตรในพระเจ้าศิริบุญสารมายังสยาม โดยประกอบด้วย เจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ และเจ้าอนุวงศ์ ในการเดียวกันนี้ก็ยังได้รับเอานางคำแว่น ซึ่งเป็นนางกำนัลของพระอัครมเหสีของพระเจ้าสิริบุญสารมาเป็นชายาอีกด้วย


เมื่อเจ้าจอมแว่นมาอยู่ในทำเนียบสมเด็จเจ้าพระยาฯ แล้ว ท่านผู้หญิง (สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) ก็หึงหวงมาก มีปากเสียงกับสมเด็จเจ้าพระยาฯ ด้วยเรื่องคุณแว่นนี้อยู่บ่อย ๆ จนคืนวันหนึ่ง ท่านผู้หญิงถือดุ้นแสมไปยืนดักคอยอยู่ในที่มืด บนนอกชานเรือน พอคุณแว่นเดินออกมาจากเรือนหลังใหญ่ อันเป็นที่อยู่ของสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านผู้หญิงก็เอาดุ้นแสมตีหัว คุณแว่นก็ร้องขึ้นว่า "เจ้าคุณขา คุณหญิงตีหัวดิฉัน"

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็โกรธมาก ฉวยได้ดาบออกจากเรือนจะมาฟันท่านผู้หญิง ฝ่ายท่านผู้หญิงก็วิ่งเข้าเรือนที่ท่านอยู่ แล้วปิดประตูลั่นดาลไว้ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เอาดาบฟันประตูอยู่โครม ๆ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษก สถาปนาราชวงศ์จักรีและสถาปนากรุงเทพมหานคร ฯ เป็นราชธานีใหม่ นางคำแว่นจึงได้รับสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าจอม พระสนมเอก และโปรดให้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทจนชาววังยกย่องเป็น เจ้าคุณข้างใน และเป็นเจ้าคุณท่านแรกในจักรีวงศ์

เจ้าจอมแว่นเป็นผู้มีความกล้าหาญและมีศิลปะในการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ ที่ไม่มีผู้ใดกล้าจะกราบทูล ถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควรและถูกต้องแล้ว ก็จะกราบทูลทันทีมิได้เกรงกลัวพระราชอาญา

ความกล้าหาญของเจ้าจอมแว่นเป็นที่ประจักษ์เมื่อ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๙ คราวที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาราช ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายจากการว่าราชการเมือง ขณะบรรทมหลับก็เกิดพระสุบินและทรงละเมอทำให้ข้าราชบริพารตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เจ้าจอมแว่นใช้ความหาญกล้าตัดสินใจกัดนิ้วพระบาท จนพระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกพระองค์และตื่นบรรทม เจ้าจอมแว่นได้รับความดีความชอบและเป็นที่โปรดปรานของพระองค์

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเสวยไข่เหี้ยกับมังคุดเป็นอย่างยิ่ง แต่ไม่มีใครสามารถหาได้เลย เพราะไม่ใช่ฤดูกาลเหี้ยวางไข่ เจ้าจอมแว่นจึงประดิษฐ์ "ขนมไข่เหี้ย" ขึ้นตั้งเครื่องถวายแทนต่อมาหลายท่านเรียกขนมไข่เหี้ย ด้วยชื่อใหม่ที่ฟังดูหรูหราว่า"ขนมไข่หงส์"

และนับตั้งแต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างกรุงเทพมหานคร และพระบรมมหาราชวังขึ้นนั้น สมเด็จพระอมรินทราฯ ก็ไม่ได้เคยเสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังเลย ประทับอยู่ที่บ้านเดิมจนสวรรคต เจ้าจอมแว่น จึงเป็นพระสนมเอก ที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังมีหน้าที่คอยอภิบาลพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์อย่างเข้มงวด จนได้รับฉายาว่า "คุณเสือ"

แม้ว่าเจ้าจอมแว่นจะมีอุปนิสัยเข้มงวดจริงจังปานใดก็ตาม แต่ความจงรักภักดีอย่างจริงใจเป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อพระองค์ใดทรงมีปัญหาสำคัญ แก้ไขไม่ได้ด้วยพระองค์เอง มักจะขอร้องให้เจ้าจอมแว่นช่วยซึ่งทุกพระองค์ก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มใจเสมอ จึงเป็นที่เกรงกลัวและนับถือของทุกพระองค์


เจ้าจอมแว่นรับราชการในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ให้ประสูติพระหน่อ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีเชื้อสายเป็นชาวเวียงจันทน์เหมือนกัน รวมทั้งยังเป็นผู้ถวายการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี อีก ๓ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอาภรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากลาง (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) และสมเด็จเจ้าฟ้าปิ๋ว

เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯสวรรคต เจ้าจอมท่านใดที่มีพระราชโอรส-พระราชธิดากับพระเจ้าอยู่หัวก็นับได้ว่ามีบุญวาสนาอยู่กินสบายไปเพราะมีลูกให้คอยพึ่งพาได้ ถ้ามีพระราชธิดาก็ต้องอยู่กับพระราชธิดาในวังหลวง แต่ถ้าหากมีพระราชโอรสก็จะได้รับพระราชทานวังออกมาอยู่ข้างนอกกับพระราชโอรส ถึงแม้เจ้าคุณเสือจะไม่มีพระราชโอรส-พระราชธิดาแต่เจ้าคุณเสือก็ยังคงมีบทบาทในราชสำนักฝ่ายใน ในฐานะของผู้อภิบาลพระราชโอรสของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ อยู่ ซึ่งนับได้ว่าเจ้าคุณเสือเป็นพระสนมเอกที่ได้มีอิทธิพลต่อราชสำนักฝ่ายในเป็นอย่างสูง จนชาววังได้ยกย่องให้เป็น เจ้าคุณข้างใน ถือเป็นเจ้าคุณคนแรกในพระราชวงศ์จักรี

ที่มา : ร้อยเรื่องราว ไปกับ เจ้าประคุณปราบสุราพินาศ
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ อาทิตย์ 28 ก.พ. 2016 11:50 am, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 28 ก.พ. 2016 11:45 am

พระนางสุจันทรี มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งรัฐฉาน

x240479_jpg_pagespeed_ic_4WHuXpFsi8.jpg
x240479_jpg_pagespeed_ic_4WHuXpFsi8.jpg (58.92 KiB) เปิดดู 9682 ครั้ง



อิงเง่ ซาเจ้น สาวน้อยชาวออสเตรีย ผู้มาจากครอบครัวประชาธิปไตยอันผาสุก ด้วยพ่อและแม่เป็นคนทันสมัยและเข้าใจโลก ในเวลา ๗๐ ปีเศษที่ผ่านมา เธอไปเรียนชั่วระยะเวลาหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา อาจจะคล้ายกับนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ในไทยสมัยก่อน ที่นั่นเธอได้พบกับสุภาพบุรุษชาวพม่า ในนามว่าจาแสง ได้คุ้นเคยกันด้วยสนทนากันถูกคอ และกลายเป็นความรักในที่สุด ไม่มีใครทราบสถานภาพอันแท้จริงของจาแสง ว่าเขาคือเจ้าฟ้าแห่งรัฐฉาน เครือรัฐหนึ่งของพม่า นอกจากท่านคณบดี

รักระหว่างเรียนของสองหนุ่มสาวผู้เยาว์วัยดำเนินไปอย่างราบรื่น จาแสงมีโอกาสไปเยี่ยมครอบครัวของอิงเง่ที่ออสเตรียด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ ทีท่าผู้ดีมีสกุลของเขาคงประทับใจผู้ปกครองของอิงเง่ เพราะครั้งต่อไปที่ได้มาเยี่ยมครอบครัวนี้พร้อมขอสมรสกับอิงเง่ ได้รับความยินยอม


การที่นักศึกษาต่างชาติ ใช้ชีวิตเพียงลำพังในอัสดงคตประเทศได้อย่างสะดวกสบายตามควรเพราะมีรถยนตร์ใช้ อิงเง่ก็รับทราบเพียงเท่านี้ จนวันที่เขากับเธอแต่งงานกัน และจาแสงพาภริยากลับบ้านเมือง การเดินทางด้วยเรือเดินสมุทร ทำให้คู่สมรสใหม่มีความสุขดี จนถึงเมืองท่าแห่งพม่า อิงเง่ในชุดสวมใส่ที่สบาย สวยเรียบๆ ออกมายืนข้างๆ สามีที่รัก มองเห็นผู้คนมากมายมาเป็นขบวนเรียบร้อยงดงาม ..คงจะมาต้อนรับท่านผู้ใดกระมัง นี่คือสิ่งที่เธอปรารภกับสามีที่รัก ผู้ซึ่ง...จับมืออิงเง่ไว้แล้วกล่าวว่า "ยอดรัก ผมมีความจริงบางอย่างที่ไม่ได้บอกให้คุณทราบมาก่อน คณะนั้นมารับเราสองคน เพราะผมคือเจ้าฟ้าจาแสงแห่งรัฐฉาน คุณคือชายาของเจ้าชายแห่งรัฐฉาน" อิงเง่ทั้งตกใจ และเสียดายโอกาส ที่มิได้แต่งตัวให้สวยงาม เพื่อผู้มาต้อนรับจะได้ประทับใจ นี่คือความต่างในความคิดของชายและหญิง

แล้วอิงเง่ก็ได้อยู่ในคุ้มหลวง หรือวังอันกว้างใหญ่สร้างเป็นตึกอย่างตะวันตก งดงามและสุขสบาย เพราะญาติสาวเจ้าฟ้าจาแสงผู้สนทนาภาษาแม่ของอิงเง่ได้ ช่วยเตรียมรับรองตามคำขอของเจ้าฟ้าจาแสง



เจ้าหญิงมายารีและเจ้าหญิงเกนรี ธิดาทั้งสองของเจ้าฟ้าสี่ป้อ

x240480_jpg_pagespeed_ic_EnccLEgO4W.jpg
x240480_jpg_pagespeed_ic_EnccLEgO4W.jpg (42.12 KiB) เปิดดู 9682 ครั้ง


อิงเง่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหญิงสุจันทรี ในตำแหน่งพระชายาในเจ้าฟ้าจาแสงแห่งรัฐฉาน คุณแม่ของเธอและญาติ ได้เดินทางมาร่วมพิธีอันมงคลนี้ด้วยความยินดี ชีวิตดุจเทพนิยายได้ดำเนินไปด้วยดี เจ้าหญิงสุจันทรี ปรับตัวเข้ากับสภาพใหม่ได้อย่างมีความสุข ครอบครัวเธอได้สมาชิกใหม่เป็นธิดาน้อยๆ สองคน ชื่อมายรีและเกนรี

ครั้นแล้ววันเวลาแห่งความสุขก็ได้สิ้นสุดลง เมื่อเจ้าฟ้าจาแสง ผู้นำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนของพระองค์ถูกจับไป ผู้อยู่เบื้องหลัง คือ นายพลเนวิน

ในที่คุมขัง ทหารผู้ควบคุมเจ้าฟ้าจาแสง ได้ไปกระซิบกราบทูลว่าเขามีความจงรักภักดีต่อพระองค์ หากจะทรงมีจดหมายถึงพระชายา เขายินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะหาทางส่งถึงพระชายาให้ได้ และจดหมายนั้นถึงสุจันทรี เป็นจดหมายอันล้ำค่าในยามยากโดยแท้ เธอได้นำตีพิมพ์ในหนังสือด้วย สุจันทรีพยายามติดต่อขอความช่วยเหลือจากมวลมิตรนักการทูตตลอดเวลา แต่ไม่มีผู้ใดช่วยเธอได้ จนข่าวเจ้าฟ้าจาแสงหายไป กัลยาณมิตรได้ช่วยเหลือด้วยความยากลำบากให้เธอและธิดาน้อยทั้งสอง กลับมาตุภูมิ โดยไม่มีเงินติดตัวเลย ดีที่เธอได้แจกจ่ายให้ผู้ใกล้ชิดที่คอยรับใช้เธอแล้ว แต่ทิ้งธนบัตรอันมีค่าลงชักโครกเสียดีกว่าให้คนโฉดมายื้อแย่งไป



๗๐ กว่าปีมาแล้ว พระชายาสุจันทรีประทับที่ออสเตรียบ้านเกิดกับ ธิดาทั้งสอง แสงฉานอันเคยโชนฉายสิ้นแล้ว เหลือเพียงความทรงจำอยู่ในใจของ



ที่มา เพจ ราชินี เจ้าจอม หม่อมห้าม ในอดีต
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 มี.ค. 2016 12:46 pm

"เจ้าจายหลวง เจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งเชียงตุง ผู้สืบสายสกุลมาจากราชวงศ์มังราย

x240793_jpg_pagespeed_ic_UtZ1_A--JC.jpg
x240793_jpg_pagespeed_ic_UtZ1_A--JC.jpg (71.97 KiB) เปิดดู 9653 ครั้ง


จากข้อมูลประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่า หลังจากอาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ใน พ.ศ.๒๑๐๑ เชื้อพระวงศ์ล้านนาราชวงศ์มังรายได้ทรงลี้ภัยไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงตุง ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าล้านนาและเชียงตุงนั้นมีความสัมพันธ์กันเสมือนบ้านพี่เมืองน้อง จวบจนมาถึงสมัย “เจ้าจายหลวง” เจ้าเมืองเชียงตุงองค์สุดท้าย

เจ้าจายหลวง ประสูติในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พระราชบุตรในเจ้าฟ้ากองไท เจ้าฟ้าแห่งเชียงตุง (ราชบุตรในเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง) ส่วนพระมารดาคือเจ้านางจ่ายุ้นท์ เจ้าจายหลวงมีพี่น้องด้วยกัน ๕ พระองค์ ส่วนพระมหาเทวีของพระองค์คือเจ้านางจันแก้วมหาเทวี มีพระทายาทด้วยกัน ๒ องค์ ส่วนเจ้าพ่อคือเจ้าฟ้ากองไท ได้ถูกลอบปลงพระชนม์ตั้งแต่เจ้าจายหลวงยังพระเยาว์อยู่ เมืองเชียงตุงจึงมีผู้สำเร็จราชการแทน โดยเจ้าจายหลวงได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ปีต่อมาจึงได้บวชเป็นเจ้าส่างที่วัดหัวข่วงเป็นเวลา ๑๕ วัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๙๐ เจ้าจายหลวงไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ เจ้าจายหลวงได้ราชาภิเษกเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้สละพระยศเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงตามข้อตกลงของพม่า โดยเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ นายพลเนวิน ได้ยึดอำนาจการปกครองพม่า และได้ดำเนินนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะการยกเลิกระบอบเจ้าฟ้า โดยเจ้าจายหลวงได้ถูกคุมองค์ไปคุมขัง ณ กรุงย่างกุ้ง เป็นเวลา ๖ ปี และหลังจากนั้นมา ทางการพม่าก็ให้เจ้าจายหลวงประทับอยู่ในกรุงย่างกุ้งต่อมา จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และได้รับการถวายพระเพลิงพระศพที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยพระอัฐิของท่านได้นำมาบรรจุภายในกู่เจ้าฟ้าเชียงตุง

ย้อนไปในสมัยที่เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ขึ้นเป็นเจ้าเชียงตุง พระองค์ได้ส่งโอรส ๒ พระองค์ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ โดยโอรสองค์โตของพระองค์ถือกำเนิดจากหญิงสามัญชน ส่วนองค์รองเกิดจากมเหสี ทั้งสองคนได้ศึกษาเล่าเรียนตามปกติ จนวันหนึ่ง เชียงตุงเกิดระส่ำระส่ายทางการเมือง เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงจึงเรียกโอรสทั้งสองกลับมา.. โอรสองค์โตชื่อเจ้ากองไท องค์รองชื่อเจ้าพรหมลือ.. เจ้ากองไท ไปสมัครเป็นทหารอังกฤษ.. เจ้าพรหมลือไปรับตำแหน่งสำคัญอื่นอยู่ (เจ้าเมืองเหล็ก..ตำแหน่งเจ้าหัวเมือง).. เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงทรงไม่พอพระทัยมากที่เจ้ากองไทไปเข้ากับทหารอังกฤษ.. จึงเรียกตัวกับมาเป็นเจ้าแกมเมือง (เจ้าแกมเมืองคือตำแหน่งรัชทายาท) พอเจ้าเชียงตุงสิ้น เจ้ากองไทจึงได้เป็นเจ้าเมือง.. สร้างความงุนงงว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งเจ้าพรหมลือขึ้นเป็นเจ้าเมือง (เนื่องจากเจ้าพรหมลือถือกำเนิดจากมเหสี) .. เจ้ากองไทครองราชย์อยู่ได้ไม่นานพระองค์ก็ถูกลอบปลงพระชนม์.. ทหารอังกฤษจับตัวคนร้ายได้..เมื่อสอบสวนมีการซัดทอดไปยังเจ้าพรหมลือ.. แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดบ่งบอกว่าเจ้าพรหมลือเป็นผู้บงการจริง..และไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าพระองค์ทรงกระทำจริงหรือถูกใส่ร้าย แต่หลังจากนั้นเจ้าพรหมลือก็ได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากเจ้ากองไทโดยการสืบสันตติวงศ์ แต่เจ้าเชียงตุงลำดับถัดมา ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าเชียงตุงองค์สุดท้ายคือ "เจ้าจายหลวง" (หรือเจ้าขุนศึก) เจ้าจายหลวงซึ่งเป็นโอรสของเจ้ากองไท

เจ้าจายหลวงไปศึกษาเล่าเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย .. แล้วจึงเสด็จกลับมาเป็นเจ้าเชียงตุง เมื่อเมืองเชียงตุงระส่ำระส่ายอีกครั้ง (ตรงกับราวๆสมัยรัชกาลที่ ๗) เนื่องจากขณะนั้นพม่าสมัยนายพลเนวินมีอำนาจมาก พระองค์ทรงขอลี้ภัย ขอสัญชาติมาเป็นคนไทย แต่ไม่สำเร็จ พม่าจึงสั่งกักบริเวณพระองค์ให้อยู่ภายในย่างกุ้ง เจ้าจายหลวงมีโอรสธิดา ๒ พระองค์ องค์โตเป็นผู้หญิง ปัจจุบันเป็นแพทย์อยู่ในสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย องค์สุดท้องเป็นชาย และมีลูกชายฝาแฝดสองคน.. ชื่อเขมเทพ กับ เขมธรรม ซึ่งต่อมาได้มีการขอสัญชาติไทย และใช้นามสกุลนามสกุล ขุนศึกเม็งราย เพราะเจ้าจายหลวงต้องการให้ลูกหลานรู้ว่า มาจากราชวงศ์มังราย แห่งล้านนา

เพิ่มเติมจากแอดมิน เจ้านายในวงศ์เชียงตุง จะใช้นามสกุล ขุนศึกเม็งราย , มังราย ,ณ เชียงตุง

เรียบเรียงข้อมูล จากประวัติศาสตร์ชาติไทยก่อนและหลัง๒๔๕๗
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 20 พ.ค. 2016 3:04 pm

บ้านพะโป้ หรือ บ้านห้างโบราณสมัยรัชกาลที่ ๕ แรงบันดาลใจภาพยนตร์ "ชั่วฟ้าดินสลาย"

ypafl20150223235346.jpg
ypafl20150223235346.jpg (516.04 KiB) เปิดดู 12661 ครั้ง



บ้านที่สวยที่สุดในอดีตของคลองสวนหมาก เห็นจะได้แก่บ้านพะโป้ หรือที่ชาวกำแพงเพชรเรียกกันติดปากในปัจจุบันนี้ว่า “บ้านห้าง ร.5” ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมาก คลองเล็กๆ ที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง บริเวณวัดพระบรมธาตุ

พะโป้ เป็นพ่อค้าไม้และเป็นคหบดีใหญ่ชาวกระเหรี่ยง ผู้ปฏิสังขรณ์เจดีย์โบราณพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม ต่อจากแซงพอ หรือพญาตะก่า ผู้เป็นพี่ชาย ได้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คราวเสด็จประพาสต้นวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ ดังมีชื่อในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ และมีภาพตัวบ้านในอัลบั้มภาพทรงถ่าย เคยมีชื่ออยู่ในนิยายอิงบรรยากาศจริงเรื่อง “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” หรือมาลัย ชูพินิจ นักเขียน ผู้ถือกำเนิดจากชุมชนปากคลองสวนหมากโดยตรง

จากถนนพหลโยธินเลี้ยวเข้าตลาดนครชุม ขับรถผ่านบ้านเรือนและตลาดเล็กๆ ที่น่ารักไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึงวัดสว่างอารมณ์ นั่งดื่มโอเลี้ยงอร่อยๆ ได้ต้นไม้อันร่มรื่นบริเวณหน้าวัด แล้วเดินเลียบคลองสวนหมากต่อไปเพียงเล็กน้อยก็ถึงบ้านพะโป้ ทันทีที่เห็นบ้านสองชั้นสูงตระหง่านตรงหน้า เราจะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของบ้านหลังนี้ได้โดยไม่มีใครต้องบอกเลย มันสูงใหญ่มาก สูงกว่าบ้านสองชั้นปกติทั่วไป มันตั้งอยู่บนเสาสูงเหนือพื้นและมีความกว้างถึง ๗ คูหา ข้างบนมีระเบียงไม้เป็นแนวยาว ทั้งเสาหลักและ ตัวราวกันตกกลึงเกลาอย่างบ้านฝรั่ง บนเชิงชายประดับด้วยลายลูกไม้ตามธรรมเนียมนิยม ในยามน้ำลดหน้าแล้ง หากเดินออกไปยืนดูวิวจากระเบียง จะมองเห็นลำคลองและหาดทรายแสนสวยคั่นระหว่างบ้านและตัวตลาด เป็นภาพที่งดงามยากยิ่งที่จะลืมเลือน

รูปทรงกลิ่นยุโรปของชาวบ้านให้นึกถึงคฤหาสน์แสนสวยที่เคยมีผู้คนพลุก พล่านอยู่ข้างใน มีนาย มีบ่าว มีเครื่องใช้ราคาแพง สมฐานะพ่อค้าไม่ผู้ร่ำรวย ยิ่งผู้ใดได้อ่านหนังสือทุ่งมหาราชอันหมายถึงท้องถิ่นแถบคลองสวนหมาก ที่พระปิยะมหาราช (รัชกลาที่ ๕) เคยสะเด็จประพาสต้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ก็จะยิ่งจินตนาการเห็นภาพลึกเข้าไปราวเดินอยู่ในบรรยากาศเมื่อครั้งกระโน้น อย่างสดใสเกินบรรยาย

มาลัย หรือครูมาลัย เขียนเรื่องทุ่งมหาราชเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ ขณะอายุ ๕๐ ปี ของปู่มาลัยเป็นข้าราชการ ส่วนพ่อของมาลัยเป็นพ่อค้า ประกอบอาชีพค้าไม้สักและไม้กระยาเลยเป็นอันทรัพยากรสำคัญของกำแพงเพชร ภายหลังพ่อของมาลัยได้เป็นกำนันตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นตำบลนครชุม

รายละเอียดของมาลัย และรายละเอียดเกี่ยวกับบ้านพะโป้ คลองสวนหมากตลอดจนภูมิประเทศประวัติศาสตร์แถบกำแพงเพชร มีอยู่ในหนังสือสามเล่มที่ผมขอแนะนำให้ผู้สนใจไปหาอ่านต่อ

เล่มแรก คือ วารสารเมืองโบราณ ฉบับเดือนเมษายน – มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๖ ปกพะโป้กับภรรยา ข้างในมีข้อเขียนของฆรณี แสงรุจิ และศรัณย์ ทองปาน ให้ภาพบ้านพะโป้และประวัติพะโป้ค่อนข้างดี รูปประกอบก็สวยงามชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปถ่ายพะโป้ที่กองบรรณาธิการสามารถขอก็อปปี้จากทายาทโดย ตรง จะเรียกว่าเป็นการเผยแพร่ภาพพะโป้สู่สาธารณชนครั้งแรกก็ว่าได้

เล่มที่สอง คือ หนังสือชื่อ “ทุ่งมหาราชกับประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร” งานวิจัยวรรณกรรมเรื่องทุ่งมหาราช โดยศูนย์พัฒนาการเรียนกราฟสอนวิชาภาษาไทยจังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม และสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดกำแพงเพชร เล่มหลังนี้ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ ข้างในมีประวัติครูมาลัย มีเรื่องบ้านคลองสวนหมาก และเรื่องพะโป้จากการสัมภาษณ์ลูกหลาน

เล่มที่สาม หนังสือชื่อ “เสด็จประพาสต้น ร.ศ.๑๒๕” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงศพนายภาวาส บุนนาค วันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ ข้างในมีภาพถ่ายคราวเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ อันเป็นคราวที่ ร.๕ เสด็จแวะบ้านพะโป้ มีภาพถ่าย (ฝีพระหัตถ์)อันล้ำค่าพิมพ์คมชัดงดงามมาก

พระราชนิพนธ์กล่าวตอนหนึ่งว่าวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เสด็จประพาสคลองสวนหมาก น้ำในคลองไหลเชี่ยวแต่ใสเพราะมาจากลำห้วย ถ้าไปตามลำคลองใช้เวลา ๓ วันจึงถึงป่าไม้ ซึ่ง “พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงทองย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวัน และอำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น ไปขึ้นถ่ายรูปที่หน้าบ้าน ๒ บ้านนี้แล้วจึงกลับมาจอดกินกลางวันที่หาดกลางน้ำ.......”

พระราชนิพนธ์กล่าวต่อไปว่า คลองสวนหมากเป็นที่มีไข้ชุม แต่เมื่อแซงพอพี่ชายของพะโป้มาตั้งการทำป่าไม้ ความเกรงกลัวไข้ก็เสื่อมไป มีคนมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นภายหลังแซงพอได้ปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดพระบรมธาตุ นครชุม แต่ทำยังไม่ทันสำเร็จก็ตายเสียก่อน พะโป้น้องชายจึงทำต่อ ขณะนั้นเพิ่งยกฉัตรซึ่งทำการจากเมืองมรแหม่งขึ้นบนยอดไม่นาน

ในส่วนวารสารเมืองโบราณ ให้ความรู้ที่น่าสนใจว่า บ้านพะโป้หลังเดิมเป็นเรือนปั้นหยาหลังเล็ก ส่วน “บ้านห้าง” ที่เป็นบ้านกว้างใหญ่บนเสาสูงนั้น ปลูกภายหลังเล่ากันว่าซื้อมาจากพระยาราม บริเวณบ้านห้างสมัยพะโป้ยังอยู่ มีโรงช้างและผู้คนบ่าวไพร่มากมาย

พะโป้ถึงแก่กรรมราว พ.ศ.๒๔๖๐ หลังจากนั้นกิจการทำไม้ของพะโป้ก็ตกเป็นของบริษัททำไม้แห่งหนึ่ง (ไม่ระบุชื่อ) จนเมื่อไม้มีไม่พอทำแล้ว บริษัทก็ปิดที่ทำการนี้ลงและบ้านห้างก็ถูกทิ้งนับตั้งแต่นั้น....

พะโป้ มีบุตรหลานหลายคน เช่น นางแกล นางทับทิม และนายทองทรัพย์ รัตนบรรพต นายทองทรัพย์ คนหลังเป็นพ่อของอาจารย์กัลยา รัตนบรรพต ที่คณะวารสารเมืองโบราณและคณะอาจารย์ชาวกำแพงเพชรเคยสัมภาษณ์

แม้บ้านพะโป้ในโลกปัจจุบันจะทรุดโทรมและเรือนบริวารก็ไม่มีให้เห็นเหมือน เมื่อครั้งเก่าก่อน แต่ก็คงประทับใจบ้านหลังนี้มาก เกิดความซาบซึ้งและอยากหวนกลับไปอีก

ที่มา เว็บไซต์เทศบาลนครชุม
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ อาทิตย์ 22 พ.ค. 2016 7:59 am, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 20 พ.ค. 2016 3:07 pm

การเล่นสวาทในอดีต (ผู้ชายกับผู้ชาย)

710555-img-1380608962-1.jpg
710555-img-1380608962-1.jpg (128.04 KiB) เปิดดู 12661 ครั้ง


คณะ "ละครนอก" ในราชสำนักที่ต้องเล่นเป็นตัวพระหรือตัวนาง ก็จะต้องใช้ผู้ชายแต่งกายเป็นหญิง ว่ากันว่าคณะละครของพระองค์เจ้าไกรสรนั้น เล่นดีไม่มีคณะไหนเทียมติด ครั้นเดินทางไปไหน พระองค์เจ้าไกรสรก็มี พวกนายละครแห่แหนหน้าตาคมสัน ผิวขาวบอบบาง แล้วพระองค์เจ้าไกรสรยังได้เอาใจใส่ให้เงินทองของใช้อย่างล้นหลาม แต่งตัวกันอย่างหรูหรา นุ่งผ้าราคาแพง สวมแหวนเพชร ผัดหน้า วางท่ากรีดกราย เป็นที่ขัดนัยน์ตาของผู้แลเห็น กระทั่งยอมให้พวกละครแต่งกายเป็นหญิงออกงานอย่างงานลอยกระทง

พระองค์ เจ้าไกรสร ทรงหมกมุ่นหลงใหลอยู่กับนายละคร ถึงกลับนอนค้างในเก๋งในเรือนร่วมกับพวกนักแสดง ไม่กลับเวียงวังเข้าห้องหับกับหม่อมห้ามนางในแต่อย่างใด มีบันทึกไว้ในหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ สยามว่า นายละครคนโปรดของท่านคือ นายขุนทอง รองลงมาคือ นายแย้ม ทั้งสองคนได้รับการชุบเลี้ยงให้อยู่ดีกินดีเป็นพิเศษ

การ "เล่นสวาท" หรือกิจกรรมทางเพศระหว่างชายกับชาย ถือเป็นเรื่องเสื่อมเสียอย่างมากทั้งกับตัวและตระกูล เพราะเป็นชายแต่มิได้ทำหน้าที่อย่างชาติชาย คือ ดูแลครอบครัวและสืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์ กลับไปงมงายเล่นสวาทกับชายด้วยกัน

พฤติกรรมของหม่อมไกรสรในขณะนั้น ชาวบ้านร้านช่องล้วนแต่ทราบทั้งสิ้น เพราะท่านไม่ได้ "แอบ" ตัวเองแต่อย่างใด ท่านมีรสนิยมส่วนตัวอย่างไร ก็ "แสดงออก" กันให้เห็นกันตรงๆ "ไม่เอาธุระ" แก่สายตาผู้ใดทั้งสิ้น เหตุผลหนึ่งก็เพราะว่า ท่านนักเลงพอ และท่านก็มีอำนาจบารมี ไม่มีผู้ใดกล้าแตะ แม้แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ก็ให้ความเกรงอกเกรงใจ จึงไม่ต้องเรียกร้องให้สังคมยอมรับเหมือนในยุคต่อๆ มา

ด้วยความที่ ท่านเป็นผู้มีอำนาจมากมายก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะอริสัตรูคอยใส่ความจ้องจะจับ ผิดทุกย่างก้าว เมื่อท่านถูกถามถึงเรื่องเล่นสวาทนี้คราวสอบสวนความผิดฐานเป็นกบฏ ท่านก็ตอบอย่างไม่สะทกสะท้านว่า "การที่ไม่อยู่กับลูกกับเมียนั้นไม่เกี่ยวข้องต่อการแผ่นดิน" ยืนยันความเป็นตัวเองอย่างชัดแจ้ง

บันทึกนี้ มีความน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ได้มีรับสั่งให้เอาพวกละครมาทำการสอบสวนไต่ถาม ได้ความว่าเป็นสวาทจริงแต่ไม่ถึงกับชำเรา เป็นเพียงการ "เอามือของนายละครและมือของท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน" กล่าวคือ” เป็นเพียงการเอามือมาจับอวัยวะเพศให้กันและกัน จากนั้นก็ช่วยเหลือกันจนสำเร็จเสร็จกิจด้วยกันทั้งคู่”

จากภาพด้านบน เป็นภาพตัวอย่างเหล่าละครนอกในขณะทำการแสดงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕

จาก ภาพด้านล่าง เป็นภาพตัวอย่างการแต่งกายเป็นหญิงของผู้ชายในการแสดงละคร ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๖ ในภาพคือ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา

ที่มา : เพจคลังประวัติศาสตร์ไทย
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 59 ท่าน

cron