จากอดีตสู่ความทรงจำ..ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองไทย

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 18 มี.ค. 2018 7:23 pm

เจ้าพระยาวิชเยนทร์จ่ายฟัน ๒ ซี่ เป็นค่าดูโขน! ฐานสึกพระเณรเอาไปทำงานกุลีก่อสร้างบ้านตัวเอง

220px-พระบรมรูป_สมเด็จพระเจ้าเสือ_วัดไทร.jpg
220px-พระบรมรูป_สมเด็จพระเจ้าเสือ_วัดไทร.jpg (18.59 KiB) เปิดดู 8781 ครั้ง


เรื่องเก่าเล่าสนุก โดย โรม บุนนาค

อดีตเด็กรับใช้ในสำเภาสินค้าชาวกรีก ซึ่งบุญมาวาสนาส่งได้เป็นถึงอัครเสนาบดีผู้มีอำนาจสูงสุดของกรุงศรีอยุธยา และอาจจะเป็นใหญ่กว่านี้ขึ้นไปอีก ถ้าแผนการที่เขารับใช้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย แม้จะมีระดับนายพลคุมกองทหารฝรั่งเศสติดอาวุธทันสมัยมาช่วย ก็ไม่อาจไปถึงฝั่งฝันได้ เพราะมีคนๆ หนึ่งซึ่งเกิดที่โคนต้นมะเดื่อจองล้างจองผลาญเขามาตั้งแต่เด็ก จนนำเขาไปสู่หลักประหารได้ในที่สุด

นักชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งถูกจารึกไว้ว่าเป็นกษัตริย์ดุร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์พระองค์นี้ ก็คือ พระสุริเยนทราธิบดี หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ กษัตริย์พระองค์ที่ ๒๙ ของกรุงศรีอยุธยา แต่รู้จักกันทั่วไปในพระสมัญญานามว่า “พระเจ้าเสือ” ผู้เป็นกษัตริย์ประสูติที่โคนต้นมะเดื่อในชนบทเมืองพิจิตร

พระเจ้าเสือเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงเข็ดหลาบกับการนำโอรสของพระเชษฐาที่สวรรคตมาเลี้ยง พอโตขึ้นก็ลอบปลงพระชนม์ แม้จะทรงอภัยให้ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่สำนึก จึงจำพระทัยต้องประหาร เลยเข็ดที่จะเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยง ทั้งยังขยาดที่จะมีลูกกับพระสนมด้วย แต่ก็ทรงพระปริวิตกที่จะไม่มีพระราชโอรสสืบบัลลังก์ จึงโปรดให้พระมเหสีทั้ง ๒ พระองค์ตั้งสัตยาธิษฐานขอพระโอรส ห้ามพระสนมขอ และถ้าหากพระสนมคนใดตั้งครรภ์ก็ให้รีดออก เพราะกลัวว่าจะเลี้ยงไม่เชื่องอย่างลูกพระเชษฐา

วันหนึ่ง สมเด็จพระนารายณ์ทรงสุบิน มีเทวดามาบอกว่าพระสนมที่ชื่อนางกุสาวดี ซึ่งเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่มีครรภ์ โอรสที่จะเกิดมามีบุญญาธิการมาก พระสุบินนี้ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ไม่สบายพระทัย จะรีดทิ้งตามที่ได้ตั้งสัตย์ไว้ ก็ติดที่พระโอรสองค์นี้มีบุญญาธิการ จึงรับสั่งให้ไปนิมนต์พระอาจารย์พรหม วัดปากน้ำประสบ ที่ทรงนับถือมาปรึกษา

พงศาวดารฉบับขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า

“พระมหาพรหมผู้เป็นอาจารย์จึ่งว่า อันทรงสุบินนี้ดีหนักหนา พระองค์จะได้พระราชโอรสเป็นกุมาร แต่ไม่ชอบใจอยู่สิ่งหนึ่งว่ามีพระราชโอรสกับพระสนมกำนัลแล้วให้ทำลายเสีย อันนี้กูไม่ชอบใจยิ่งนัก พระองค์มาทำดังนี้ก็เป็นบาปกรรมนั้นประการหนึ่ง ถ้าในพระอัครมเหสีและมิได้มีพระราชโอรส มีแต่พระราชโอรสในพระสนมนี้ พระองค์ก็จะทำประการใดที่จะได้สืบศรีสุริยวงศ์ต่อไป อันว่าน้ำพระทัยนี้ จะให้เสนาบดีเศรษฐีคหบดีและพ่อค้า ให้ขึ้นเสวยราชย์สืบศรีสุริยวงศ์หรือประการใด ถึงจะเป็นพระราชโอรสในพระสนมก็ดี ก็ในพระราชโอรสของพระองค์ที่จะได้สืบศรีสุริยวงศ์ต่อไป อันนี้สุดแต่กุศลจะคู่ควรและไม่คู่ควร ถ้าแลพระองค์ไม่ฟังกูว่า ดีร้ายกรุงศรีอยุธยาจะสูญหาย จะเป็นเมืองโกลัมโกลีมั่นคง ถ้าและทำดังกูว่า กรุงศรีอยุธยาจะได้เป็นสุขสุภาพต่อไป”

สมเด็จพระนารายณ์ได้ฟังพระอาจารย์ว่าดังนั้นก็โสมนัสยินดีในพระทัย แต่ขัดอยู่ที่ได้ลั่นพระวาจาไปแล้ว จึงคิดที่จะหาวิธีทำโดยอุบายไม่ให้เสียพระวาจา จึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์ ขุนนางคู่พระทัย ซึ่งเป็นบุตรพระนมคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นครูช้างของพระองค์ ให้เข้าไปในที่ลับบอกเรื่องนางกุสาวดีมีครรภ์ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์เอานางไปเลี้ยงเป็นภรรยา ถ้าลูกในครรภ์ออกมาเป็นผู้ชายก็ให้เป็นลูกเจ้าพระยาสุรสีห์ แต่ถ้าเป็นลูกผู้หญิงก็ให้ส่งคืนมา

ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ที่เมืองพิษณุโลก พระเพทราชาก็พานางกุสาวดีตามเสด็จไปด้วย พอมาถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร นางได้กำหนดครบทศมาสพอดี จึงได้คลอดบุตรเป็นชายที่โคนต้นมะเดื่อ และนำรกฝังไว้ที่โคนต้นมะเดื่อนั้น พระเพทราชาจึงตั้งชื่อกุมารว่า “เดื่อ”

ครั้นกุมารโตขึ้นรู้ความก็เข้าใจว่าพระเพทราชาคือบิดาของตัว จึงรักใคร่สนิทสนม ครั้นเจริญวัย พระเพทราชานำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก วันหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ให้เจ้าพนักงานเชิญพระฉายมาตั้ง ทรงส่องแล้วกวักพระหัตถ์เรียกนายเดื่อเข้าไปใกล้พระองค์ ทรงรับสั่งว่า

“เอ็งจงดูเงากระจกเถิด”

นายเดื่อก็คลานเข้าไปส่องพระฉายข้างสมเด็จพระนารายณ์ ทรงดำรัสถามว่า "เอ็งเห็นรูปเรากับรูปเอ็งนั้นเป็นอย่างไรบ้าง”

นายเดื่อก็กราบทูลว่า “รูปทั้งสองอันปรากฏอยู่ในพระฉาย มีพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกันพ่ะย่ะค่ะ”

โดยพระราชอุบายส่องพระฉายนี้ นายเดื่อก็รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วตัวเองเป็นใคร จึงวางตัวไม่เกรงกลัวผู้ใด กล้าที่จะบริโภคพระกระยาหารในพระสุพรรณภาชน์ที่เหลือเสวย ทั้งยังเอาพระภูษาทรงที่เจ้าพนักงานตากไว้มานุ่ง ถ้าเป็นคนอื่นก็ต้องโดนโทษหนักแล้ว แต่เมื่อเจ้าพนักงานไปกราบทูลฟ้อง สมเด็จพระนารายณ์ก็รับสั่งว่า

“อ้ายเดื่อนี้มันบ้าๆ อยู่แล้ว อย่าถือมันเลย มันชอบใจสิ่งของทั้งนั้น จึงบริโภคนุ่งห่มตามทีมันเถิด”

แต่นั้นมานายเดื่อทำอะไรก็ไม่มีใครกล้าว่ากล่าว เลยได้ใจวางอำนาจ ทั้งยังปากว่ามือถึง ขนาดเจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน อัครมหาเสนาบดีสัญชาติกรีก คนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ที่คนเกรงกันทั้งแผ่นดิน ยังโดนเอาเท้าลูบหัวเล่นเสียดื้อๆ

โดยวันหนึ่งท่านอัครมหาเสนาบดีเข้าเฝ้าขณะที่นายเดื่อเข้าเฝ้าอยู่ก่อนแล้ว พอเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก้มลงกราบ นายเดื่อก็แกล้งเหยียดเท้าออกไปจนถูกหัวท่านอัครมหาเสนาบดี สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรเห็นก็ทรงรับสั่งว่า

“อ้ายคนนี้มันเป็นเด็กไม่รู้เดียงสา อย่าถือโทษมันเลย”

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็จำใจต้องกราบทูลว่าไม่ได้ถือโทษ

220px-Constantin_Phaulkon.jpg
220px-Constantin_Phaulkon.jpg (40.84 KiB) เปิดดู 8781 ครั้ง


ต่อมาเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้สร้างตึกสี่เหลี่ยมใหญ่มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เป็นที่อยู่ใกล้วัดปืน กรุงละโว้ ขณะสมเด็จพระนารายณ์ไปประทับที่กรุงละโว้นั้นด้วย วิชเยนทร์ได้สึกเอาภิกขุสามเณรมาเป็นกุลีก่อสร้าง นายเดื่อที่เติบใหญ่เป็นหลวงสรศักดิ์ จึงนำความไปกราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบ แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็มิได้ทรงลงโทษวิชเยนทร์แต่อย่างใด หลวงสรศักดิ์จึ่งคิดว่าไอ้ฝรั่งคนนี้มันเป็นที่โปรดปรานยิ่งนัก จะกระทำผิดอย่างใดก็มิได้ทรงลงโทษ กูจะทำโทษมันเอง

ว่าแล้วก็ไปคอยดักเจ้าพระยาวิชเยนทร์อยู่ในวัง พอเช้าสมุหนายกฝรั่งมาทำงาน หลวงสรศักดิ์ก็ตรงเข้าไปชกหน้าเอาดื้อๆ ทำเอาเจ้าพระยาฝรั่งล้มทั้งยืน เลือดกบปาก ฟันหน้าหักไป ๒ ซี่ แล้วคุณหลวงก็เดินลงเรือกลับไปกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยาวิชเยนทร์ลุกขึ้นบ้วนฟันออกจากปากแล้วก็เข้าไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว กราบทูลขณะเลือดยังกลบปากว่าทั้งเจ็บทั้งอาย ขอทรงพระกรุณาลงพระราชอาชญาแก่หลวงสรศักดิ์จงหนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งจะสิ้นความเจ็บอาย

สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระพิโรธหลวงสรศักดิ์ยิ่งนัก ดำรัสสั่งตำรวจให้ไปเอาตัวหลวงสรศักดิ์มา แต่ตามหาจนทั่วก็ไม่มีใครเห็นแล้ว จึงตรัสแก่เจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าจะหาตัวมันให้ได้ก่อน เจ้าพระยาวิชเยนทร์เข้าเฝ้าเมื่อใดก็กราบทูลติดตามเรื่องนี้ทุกครั้ง สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบต้นเหตุของเรื่องนี้แล้วก็ดำรัสว่า ไอ้เดื่อมันเห็นท่านทำผิดจึ่งชกให้ได้ทุกขเวทนา เราจะมีโขนโรงใหญ่ทำขวัญให้แก่ท่าน เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็มิพอใจกับการปลอบขวัญแบบนี้ จึงกราบทูลขอแต่ให้ทำโทษหลวงสรศักดิ์ถ่ายเดียว

หลวงสรศักดิเมื่อรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวพิโรธ จึงไปเฝ้ากรมพระเทพามาตย์ เจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็กเจ้าพระยาโกษาปาน และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ให้ช่วยกราบทูลขอพระราชทานอภัยโทษ อ้างว่าที่ทำไปก็เพราะวิชเยนทร์ย่ำยีพระพุทธศาสนา

เจ้าแม่ผู้เฒ่าเห็นโทษที่เจ้าพระยาฝรั่งทำผิดมหันต์ จึงรีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองลพบุรี โดยนำหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปด้วย แต่ให้รออยู่ที่ท่าเรือก่อน เข้ากราบทูลโดยเหตุทั้งปวงนั้นทุกประการ สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชโองการให้หลวงสรศักดิ์มาเฝ้า ดำรัสบริภาษเป็นอันมาก แต่ก็ไม่ได้ทรงลงโทษแต่อย่างใด เจ้าพระยาวิชเยนทร์เลยจำใจต้องเสียฟัน ๒ ซี่เป็นค่าดูโขนไป

แต่โทษของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่หลวงสรศักดิ์เป็นผู้ชำระครั้งนี้ ก็คือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงโทษครั้งสุดท้ายที่จะตามมาอีก เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก หลวงสรศักดิ์ที่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสรศักดิ์ ก็ได้ให้คนไปบอกกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า คนรอบด้านเจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็เตือนว่าทหารของพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ล้อมวังไว้หมดแล้วไม่ควรไป อาจเป็นเรื่องลวงก็ได้ แต่วิชเยนทร์เชื่อมั่นในกองทหารฝรั่งที่อารักขา แต่เมื่อจะเข้าวังชั้นใน ทหารต่างชาติจำต้องวางปืนไว้ข้างนอก พอวิชเยนทร์ก้าวพ้นประตูเข้าไปประตูก็ปิด ทหารไทยถือดาบก็กรูออกมารอบด้าน ทหารฝรั่งมือเปล่าที่ติดตามวิชเยนทร์เข้าไปเพียงไม่กี่คนก็ถอยกรูด หลวงสรศักดิ์ก็จับเจ้าพระยาฝรั่งไปเข้าหลักประหารอย่างง่ายๆ

นี่ก็เป็นจุดจบของอดีตกลาสีเรือชาวกรีก ซึ่งเจ้านายเก่าสรรเสริญว่า “...เป็นฝรั่งที่เป็นใหญ่กว่าเจ้าของเมือง...”


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 18 มี.ค. 2018 9:42 pm

ท้าวทองกีบม้า (มารี ดอญา กีมาร์ เดอ ปีนา) เป็นชาวอยุธยาลูกครึ่งเชื้อสายโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ที่ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งท้าวทองกีบม้า หัวหน้าพนักงานวิเสทกลาง (ครัว) ดูแลของหวานแบบเทศ และได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับขนมตระกูลทอง ไม่ว่าจะเป็น ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารของโปรตุเกส

ท้าวทองกีบม้า.jpg
ท้าวทองกีบม้า.jpg (89.75 KiB) เปิดดู 8780 ครั้ง


ท้าวทองกีบม้า มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัวกับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยะมะดะ (Ursula Yamada; ญี่ปุ่น: 山田ウルスラ ?) ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น

จากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ ตามคำบัญชาของโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ทำให้เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ หรือ อิกเนซ มาร์ตินซ์ (ญี่ปุ่น: イグネス・マルティンス ?) ย่าบ้างก็ว่าเป็นยายของท้าวทองกีบม้า ถูกนำตัวมาไว้ที่เมืองไฮโฟในเวียดนาม ระหว่างนั้นนางได้สมรสกับลูกหลานไดเมียวตระกูลโอโตะโมะ ภายหลังครอบครัวของนางจึงได้อพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง แต่ข้อมูลบางแห่งก็ว่า ครอบครัวของนางไปอยู่ที่กัมพูชาก่อนถูกกวาดต้อนมาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคราสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตีเมืองละแวก ในปี ค.ศ. ๑๕๙๗ จากข้อมูลนี้มารีอาอาจมีเชื้อสายเขมรหรือจามผ่านทางมารดาด้วยก็เป็นได้

ครอบครัวของยะมะดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนา เซญอรา อิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นยาย อ้างว่านางเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (Saint Francis Xavier) นักบุญชื่อดัง ที่ได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งนามทางศาสนาให้ แต่อย่างไรก็ตามมารดาของท้าวทองกีบม้าค่อนข้างจะมีประวัติด่างพร้อยว่านางคบชู้กับบาทหลวงทอมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) บาทหลวงเยสุอิตเชื้อสายซิซิลี และกล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้า มิใช่ลูกของฟานิก สามีตามกฎหมายของนางยะมะดะ แต่เกิดกับบาทหลวงรูปดังกล่าว ดังปรากฏใน Mémoire touchant l'enlèvement et la reddition de Madame Constance ความว่า

"ส่วนนางอูร์ซูลนั้นเล่า พอเข้าพิธีแต่งงานกับสามีที่ถูกต้องนามว่าฟานิกได้ไม่ทันไร ก็ไปมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงวัลกัวเนรา ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเยสุอิต ผู้ออกแบบการก่อสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองให้สยาม มาดามฟอลคอน [ท้าวทองกีบม้า] ซึ่งผิวขาวยิ่งกว่านายฟานิกและน้อง ๆ ของเธอ ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้เอง ปรากฏว่าบาทหลวงวัลกัวเนราถูกเรียกตัวไปประจำที่มาเก๊าเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้เอง ว่ากันว่าท่านบาทหลวงข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่งเพื่อไปหานาง"

ทั้งยังปราฏใน Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique เช่นกัน มีเนื้อความว่า
"พ่อฟานิกคนนี้ เป็นคนผิวดำลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น [...] ที่ข้าพเจ้าระบุว่าเขาผิวดำนี้ มิพักต้องคัดค้านดอกว่าก็บุตรธิดาของเขาบ้างบางคนนั้นผิวขาว และคนอื่น ๆ กลับผิวคล้ำ ก็นี่ล่ะที่จะเป็นเหตุให้ต้องค้นหากันละสิ [...] ข้าพเจ้าจะบอกว่า นักบวชตาชาร์... ท่านทำให้ทุก ๆ คนหัวเราะกันอยู่เรื่อย เวลาที่พูดว่า มร. กงส์ต็องส์เรียกขานบาทหลวงเยสุอิตว่าเป็นพี่เป็นน้อง"

ทั้งนี้ไม่มีการชี้ชัดว่าฟานิกเป็นบิดาแท้จริงของมารีอาหรือไม่ ขณะที่งานเขียนของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยเมื่อกล่าวถึงฟานิกเขามักใช้คำว่า "ผู้เลี้ยงดู" หรือ "พ่อเลี้ยง" แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า ท้าวทองกีบม้าผิวคล้ำละม้ายฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียกฟานิกว่าเป็นบิดาของนาง
มารีอาได้สมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ ๑๖ ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย

หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า ดังปรากฏในงานเขียนของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de Bèze) ว่า"...สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน ๑๖ ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด..."

ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อควน ฟอลคอน (Juan Phaulkon) แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า ๑๒๐ คน แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลารา (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง

ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ขณะที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า "[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูกบาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลียอน (Artus de Lionne) ที่เข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในช่วงนั้น ได้ระบุเหตุการณ์การจัดการทรัพย์สินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ดังกล่าวว่า
"...วันที่ ๓๐ พฤษภาคม เขาได้เรียกตราประจำตำแหน่งของสามีนางคืนไป วันที่ ๓๑ ริบอาวุธ เอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วันต่อมาได้ตีตราประตูห้องหับทั่วทุกแห่งแล้วจัดยามมาเฝ้าไว้ วันที่ ๒ มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ ๑๐๐ คนมาขนเงิน เครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป..." แต่กระนั้นเธอยังลอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องเธอฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นนายร้อยไป แต่บาทหลวงเยสุอิตเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงฝากไว้กับนายพันโบช็อง แต่เมื่อทั้งบาทหลวงและนายพันโบช็องมาถึงบางกอก นายพลเดฟาร์ฌ (General Desfarges) จึงเก็บทรัพย์สินทั้งหมดไว้เอง ครั้นเมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของฟอลคอนแก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย "ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น" ด้วยเหตุนี้มารีอาจึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า "...สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น"

ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า "...ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ" ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง "...ถ้าพวกเขาพามาดามกงส์ต็องส์ออกไปแล้วไซร้ พวกคริสตังทั้งนั้นจะได้รับการข่มเหงจากพวกคนสยาม และจะพากันถูกลงโทษประหารอย่างอเนจอนาถ พวกคนป่าเถื่อนเหล่านั้นจะทำลายโรงคลังสินค้าของฝรั่งเศสเสีย อันจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงแก่กิจการค้าของบริษัทในชมพูทวีป..." นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "...เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม"หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่านางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง มีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า "...มาดามกงสต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า..." แต่ขณะเดียวกันนั้น นายพลเดฟาร์ฌซึ่งเดินทางออกจากสยามหวังคืนสู่ฝรั่งเศสโดยที่เขาหอบสมบัติของนางไปด้วย ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมที่แหลมกู๊ดโฮป ทั้งลูกน้องที่เหลือยังถูกชาวเนเธอร์แลนด์จับกุมเป็นเชลยที่นั่น ทรัพย์สินของฟอลคอนที่นางฝากมาก็พลอยถูกยึดและอันตรธานไปด้วย

หมอเองเงิลแบร์ท เคมพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า "...เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่..."

เรื่องราวของมาดามฟอลคอน หรือมารีอา กูโยมาร์ ปรากฏอีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๙ เพื่อขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง ความว่า "...พระผู้เป็นเจ้าจะไม่พิศวงในเวรกรรมและภาวะของข้าพเจ้าในขณะบ้างละหรือ ตัวข้าพเจ้านั้นหรือ เมื่อก่อนจะไปในที่ประชุมชนแห่งใดในกรุงศรีอยุธยาก็ไปเช่นพระราชินี ข้าพเจ้าได้เคยรับพระมหากรุณาโดยเฉพาะโดยเอนกประการจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงก็นับถือไว้หน้า ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนทั้งหลายก็รักใคร่ [...] ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยากและระกำช้ำใจ มืดมนอนธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่างบ้าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักนอนที่มุมห้องพระเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังเฝ้ารักษาเฝ้าห้องเครื่องต้น..."จากจดหมายดังกล่าวก็จะพบว่า ขณะนี้นางได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวังแล้ว สอดคล้องกับ จดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า "...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผุ้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา"

ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง (คนละท่านกับเชอวาลีเยเดอโชมง) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. ๒๒๖๒-๒๒๖๗ ได้ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า ๒,๐๐๐ คน ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า "...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."

จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง

ในปี พ.ศ. ๒๒๖๐ รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. ๒๒๖๕

ภาพ : mgronline.com

ที่มา ท้าวทองกีบม้าเจ้าตำรับขนมไทย". กระทรวงวัฒนธรรม,วิกิพีเดีย
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 22 มี.ค. 2018 7:25 am

พระโหราธิบดี มิใช่ตัวละครสมมติ ในละคร แต่เป็นตัวละครที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งในแวดวงวรรณกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ทั้งนี้ "พระโหราธิบดี" มิใช่ชื่อบุคคล แต่เป็นตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ พระโหราธิบดี เป็นตำแหน่งอธิบดีแห่งโหร หรือโหรหลวงประจำราชสำนัก อีกทั้งยังเป็นผู้ควบคุมหรือเป็นหัวหน้าการประกอบพิธีการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์อีกด้วย ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่เป็นผู้รู้หนังสือรวมถึงรอบรู้สรรพวิทยาต่าง ๆ

28167068_1991063791147771_7597810872251436362_n.jpg
28167068_1991063791147771_7597810872251436362_n.jpg (72.64 KiB) เปิดดู 8659 ครั้ง


สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระโหราธิบดีท่านนี้เป็นชาวเมืองพิจิตร นับถือกันว่าทำนายแม่นยำ เคยทายจำนวนหนูที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองครอบไว้อย่างถูกต้อง และเคยทายว่าไฟจะไหม้ในพระราชวังในสามวัน สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเชื่อจึงเสด็จไปอยู่นอกวัง และปรากฏเป็นจริงดังทำนาย เกิดฟ้าผ่าต้องหลังคาพระมหาปราสาท ทำให้ไฟไหม้ลามไปเป็นอันมาจริง ๆ พระโหราธิบดีเป็นที่รู้จักกันในฐานะของการเป็นผู้ประพันธ์ จินดามณี ในปี พ.ศ. ๒๒๑๕ ซึ่งเป็นหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย กล่าวว่าพระโหราธิบดีคงถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๒๒๒๓

พระโหราธิบดี (บางครั้งเรียกว่า พระมหาราชครู) เป็นชาวเมืองโอฆะบุรีหรือเมืองพิจิตรได้ไปรับราชการในกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการเป็นพระโหราธิบดี ทำหน้าที่ในการกำหนดพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง มีความเชี่ยวชาญทางด้านโหราศาสตร์ การทำนายดวงชะตาการพยากรณ์ จนได้รับสมญาว่า พระโหราทายหนู เพราะมีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง มีหนูตกลงมา พระองค์ได้เอาขันครอบไว้ และโปรดให้พระโหราธิบดีทายว่าเป็นอะไร พระโหราธิบดีทายว่าเป็นสัตว์สี่เท้า พระองค์ทรงถามต่อไปว่ามีกี่ตัว พระโหราธิบดีทรงคำนวณทางด้านโหราศาสตร์แล้วกราบทูลว่าสี่ตัว พระองค์ทรงตรัสว่า สัตว์สี่เท้าถูกแล้ว แต่มีสี่ตัวนั้นผิด แต่เมื่อพระองค์ทรงเปิดขันทองออกมาก็พบหนูแม่ลูกอ่อนคลอดมาอีก ๓ ตัว รวมเป็น ๔ ตัว พระองค์ทรงสรรเสริญความสามารถของพระโหราธิบดี และทรงพระราชทานรางวัลให้ ตามที่กล่าวมานี้แล้ว ปรากฏมีประวัติศาสตร์ใทยอีกประการหนึ่งที่นับว่าพระโหราธิบดี (หนู) ท่านทำนายไว้แม่นยำมาก นั่นคือ ชาตาของบุตรชายคนเดียวของท่านเองคือ ศรีปราชญ์ มหากวีเอกของไทยในสมัยพระนารายณ์มหาราชนั่นเอง (ดูประวัติพิสดาร ในหนังสือเรื่อง “กวีเรืองนามของไทย” ของผู้รวบรวมคนเดียวกันนี้) เพราะไม่รู้ที่สูงที่ต่ำ บังอาจต่อบทพระราชนิพนธ์ขององค์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต พระโหราธิบดีผู้เป็นพ่อ เห็นท่าจะไม่สู้ดีนักจึงกราบทูลว่า หากบุตรชายของตนกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นการล่วงละเมิดกฎมณเฑียรบาลถึงประหารชีวิตก็ขอได้โปรดเกล้าฯ เพียงจำคุก สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงยินยอมตาม แต่ด้วยเหตุที่ศรีปราชญ์บุตรชาย เป็นคนมุทะลุ คราวหนึ่งไปกระทำความผิดมีโทษถึงประหาร สมเด็จเจ้าฯ ทรงเนรเทศไปอยู่เมืองนคร (ศรีธรรมราช) โน้น บังเอิญปากกวีไม่มีวันอยู่เป็นสุข ยังบังอาจไปเกี้ยวพาราสีเมียของเจ้าเมืองนครฯ เข้าอีกเจ้าเมืองนครจึงจับประหารชีวิตจนได้ ทั้ง ๆ ที่ฤกษ์ตายเกิดของศรีปราชญ์ตกคราวจะต้องตายโหง ตามหลักโหราศาสตร์ที่บิดาตนได้พยากรณ์ไว้แต่เบื้องแรกแล้ว นี่ก็เท่ากับว่า วิชาหมอดูหรือโหราศาสตร์ มิใช่เรื่องเหลวไหล เลยขอให้เรียนรู้กันจริง ๆ เท่านั้นเอง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 22 มี.ค. 2018 7:29 am

ศรีปราชญ์
เล่าถึงพี่ชายของพระเอกละครบุพนิวาสบ้างดีกว่า พี่ชายของ หมื่นสุนทรเทวา คือ ศรีปราชญ์

29314484_1808791162506245_1222346726073958400_n.jpg
29314484_1808791162506245_1222346726073958400_n.jpg (85.7 KiB) เปิดดู 8659 ครั้ง


ศรีปราชญ์ เป็นบุตรของพระโหราธิบดี เกิดในปี พ.ศ.๒๑๙๖ รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๑๙๙ -๒๒๓๑) หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้น ครองราชย์แทนพระเจ้าศรีสุธรรมราชา ศรีปราชญ์นั้นแต่เดิมชื่อ ศรี ส่วนชื่อ ศรีปราชญ์ นั้นเป็นตำแหน่งที่พระนารายณ์ทรงพระราชทานให้

เมื่อศรีปราชญ์มีอายุได้ ๙ ขวบนั้น ในคืน วันหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชนิพนธ์โคลงไม่จบบท เพราะมีราชกิจอื่นเข้ามาแทรกเสียก่อน จึงโปรดให้พระโหราธิบดีนำไปแต่งต่อเพื่อให้จบบท แล้วนำมาถวายพระองค์ในวันรุ่งขึ้น พระโหราธิบดีพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อแต่งโคลงนั้นให้จบ แต่ก็คิดไม่ออกสักทีท่านจึงวางทิ้งไว้อย่างนั้น โคลงดังกล่าว คือ
...อันใดย้ำแก้มแม่...............หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย...........ลอบกล้ำ

จนรุ่งเช้าอีกวันหนึ่งเมื่อท่านจะนำมา แต่งต่อ ปรากฏว่าอีก ๒ บาทสุดท้ายนั้นได้มีผู้เขียนต่อให้แล้ว สำนวนที่แต่งนั้นมีความไพเราะ และถูกต้องตามฉันทลักษณ์ทุกประการ โคลงดังกล่าวถูกแต่งต่อว่า

ผิวชนแต่จักกราย................ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ.................ชอกเนื้อเรียมสงวน

จากนั้นพระโหราธิบดีได้เรียกบุตรชายมาสอบถามก็ได้ความว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้ที่แต่งโคลงนั้น จึงเกิดความตกใจด้วยเกรงพระราชอาญา แต่เมื่อนำโคลงบทไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ ปรากฏว่าพระองค์ทรงพอพระทัยมาก สมเด็จพระนารายณ์ เรียก ตัวศรีปราชญ์เข้าเฝ้าในทันที แล้วทรงแต่งตั้งให้ทำงานในราชสำนัก และถึงแม้ว่า พระโหราธิบดี จะมีความภาคภูมิใจกับอนาคตอันสดใสของบุตรชาย แต่ท่านก็ยังวิตกกังวลว่าในอนาคต ศรีปราชญ์อาจจะเผลอไผลจนกระทบกระเทือนพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนารายณ์ หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ท่านอื่น ๆ เนื่องจากศรีปราชญ์เป็นผู้ที่มีความทะนงตน พระโหราธิบดีจึงกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ ขอให้โปรดพระราชทานอภัยโทษไว้ถ้าหากว่าจะต้องราชทัณฑ์ ถึงประหารชีวิตขอให้พิจารณาลดหย่อนเพียงเนรเทศเท่านั้น พระองค์ก็ทรงยินยอม หลังจากรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาพอสมควรท่านก็ได้รับพระราชทินนามว่า “ ศรีปราชญ์ ”

ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประพาสยังป่าแก้ว พระยารามเดโชโดนลิงอุจจาระลงศีรษะบรรดาทหารต่างๆก็หัวเราะ สมเด็จพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่จึงตื่นขึ้นแล้วตรัสถามอำมาตย์แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูลเพราะกลัวจะไม่สบพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์จึงเรียกมหาดเล็กศรีมาถาม ฝ่ายเจ้าศรีรับใช้มานานจนทราบพระราชอัธยาศัยจึงกราบบังคมทูลด้วยคำคล้องจองว่า พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยเป็นอย่างมากแต่นั่นก็เป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้พระยารามเดโชเป็นอย่างมาก สมเด็จพระนารายณ์ถึงกับตรัสว่า ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้เถิด

ในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมาจากนั้นก็เดินไปข้าง ๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เพราะฤทธิ์สุรา ท้าวศรีฯ เห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆก็ไม่พอพระทัยจึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลงว่า

......หะหายกระต่ายเต้น......ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน..................ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน................ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย................ต่ำต้อยเดียรฉาน ฯ

ศรีปราชญ์ได้ยินดังนั้นก็รู้ว่าพระสนมเอกได้หาว่าตนเป็นเดียรฉานจึงย้อนไปเป็นโคลงว่า

.......หะหายกระต่ายเต้น.....ชมแข
สูงส่งสุดตาแล...................สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด..........................สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า.................อยู่พื้นเดียวกัน ฯ

สนมเอกได้ฟังก็ไม่พอพระทัยจึงไปทูลฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ฯ พระองค์จึงให้ศรีปราชญ์ไปอยู่ในคุกหลวงแต่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ พระยารามเดโชเห็นดังนั้นจึงให้ศรีปราชญ์มาทำงานเหมือนนักโทษคนอื่นๆ ฝ่ายศรีปราชญ์นั้นเก่งแต่ทางโคลงมิได้เก่งทางด้านการใช้แรงงาน ทางสนมเอกฯ ได้ข่าวก็เสด็จไปที่ที่ศรีปราชญ์ขุดคลองอยู่ เมื่อพระสนมเอกได้ตรัสว่าศรีปราชญ์สมพระทัยแล้วจึงเสด็จกลับ แต่ต้องสวนกลับทางที่ศรีปราชญ์ได้ขนโคลนไปแล้ว พวกนางรับใช้ของพระสนมเอกหมั่นไส้จึงขัดขาศรีปราชญ์ ดังนั้นโคลนจึงหกใส่พระสนมเอกซึ่งมีโทษถึงประหาร แต่พระโหราธิบดีได้เคยทูลขอกับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่า หากเจ้าศรีทำผิดแล้วมีโทษถึงประหาร ขอพระราชทานให้ลดโทษเหลือเพียงเนรเทศ ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราชนี้เองที่ศรีปราชญ์สามารถแสดงทักษะด้านกวีได้อีกเช่นกัน เพราะว่าท่านเจ้าเมืองเองก็มีใจชอบด้านกวีอยู่แล้ว และด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองโปรดปรานเขา ทำให้มีคนหมั่นไส้และเคืองแค้นศรีปราชญ์ จึงได้ใส่ร้ายศรีปราชญ์ ว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร พระยานครหลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า "สระล้างดาบศรีปราชญ์" และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

...........ธรณีนี่นี้...............เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์..........หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร...........เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง............ดาบนี้คืนสนอง ฯ

ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ ๓๐ หรือ ๓๕ ปี ได้ข่าวการประหารศรีปราชญ์ แพร่ไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระนารายณ์ผู้ซึ่งใคร่จะเรียกตัวศรีปราชญ์มาใช้งานในเมืองหลวง พระองค์ทรงพระพิโรธเจ้าเมืองนคร ฯ ผู้ซึ่งกระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์จึงมีพระบรมราชโองการให้นำเอาดาบที่เจ้าพระยานคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้นนำมาประหารชีวิตเจ้านครศรีธรรมราช ให้ตายตกไปตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”

ป.ล.ตัวละครตัวนี้เป็นพี่น้องกันในนิยายนะคะ ตามประวัติศาสตร์..ศรีปราชญ์นี่นักวิชาการบางคนบอกว่าไม่มีตัวตนจริง บ้างก็ว่ามีจริง ส่วนหมื่นสุนทรเทวา ตามประวัติบอกว่าเป็นลูกขุนนาง ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร

ที่มา สระล้างบาปศรีปราชญ์ ฐานข้อมูลทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนครศรีธรรมราช,
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » พฤหัสฯ. 22 มี.ค. 2018 2:17 pm

สมเด็จพระเพทราชา ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ "บ้านพลูหลวง" ผู้ต่อต้านอารยธรรมตะวันตก

prcha1.jpg
prcha1.jpg (85.07 KiB) เปิดดู 8652 ครั้ง


สำหรับประวัติ สมเด็จพระเพทราชา แต่เดิมเป็นสามัญชนชื่อว่า "ทองคำ" เป็นชาวพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๑๗๕ (บางแห่งว่า พ.ศ.๒๑๗๐) จุลศักราช ๙๙๔ จัตวาศก ปีเดียวกับ สมเด็จพระนารายณ์ และทรงเป็นพระสหายกับสมเด็จพระนารายณ์ มาตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ เนื่องจากพระมารดาของพระองค์เป็นพระนมโทในสมเด็จพระนารายณ์ (พระนมเอก คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาของ โกษาเหล็ก และ โกษาปาน)

ในตอนต้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ สมเด็จพระเพทราชา มีตำแหน่งเป็นจางวางกรมช้างมีความชำนาญในศิลปศาสตร์การบังคับช้าง และมีฝีมือในการสงคราม เคยได้รับความชอบจากสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเพทราชา หรือจางวางกรมช้างในขณะนั้น ได้ตามเสด็จไปทำศึกด้วย

การศึกในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์ตีได้เมืองเชียงใหม่ และได้มีสัมพันธ์กับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งจนตั้งครรภ์ แต่พระองค์ทรงคิดละอายที่จะรับราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ไว้เป็นพระสนม เนื่องจากในเวลานั้นยังถือว่าเมืองเชียงใหม่เป็นพวกเดียวกับเมืองลาว และยังเป็นที่ดูถูกว่าต่ำต้อย จึงทรงยกนางนั้นให้กับจางวางกรมช้าง เมื่อเดินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองพิษณุโลก ตำบลโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ในปัจจุบัน ราชธิดาองค์นั้นได้คลอดบุตรออกมาเป็นเพศชายตั้งชื่อให้ว่า "เดื่อ" ซึ่งก็คือหลวงสรศักดิ์ (ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์) สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร (ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา) หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเพทราชา นั่นเอง

จากการศึกษาประวัติศาสตร์จากพงศาวดารต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ มีฝรั่งต่างชาติเข้ามาติดต่อค้าขาย และเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาจำนวนมาก หนึ่งในชาวต่างชาติที่คนไทยรู้จักดีก็คือชาวกรีก ผู้ภักดีต่อฝรั่งเศสที่ชื่อ "เจ้าพระยาวิชาเยนทร์" (ฟอลคอน หรือ เยการี) สามีของ ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์ เดอ ปีนา) ลูกผสมญี่ปุ่น-โปรตุเกส ต้นตำรับขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหม้อแกงของไทย สมเด็จพระนารายณ์ ทรงโปรดเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความสามารถ และได้ทำประโยชน์ให้แก่ราชการเป็นอันมาก แต่การกระทำหลายอย่างของเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สร้างความไม่พอใจให้กับเสนาบดีกลาโหม (สมเด็จพระเพทราชาได้รับตำแหน่งนี้ต่อจากโกษาเหล็ก) และหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก เนื่องจากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ พยายามจะโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังได้กระทำการหมิ่นน้ำใจชาวพุทธหลายครั้ง เช่น จัดการสึกภิกษุสามเณร ให้ลาสิกขาออกมารับราชการ โดยไม่สมัครใจ เป็นต้น ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงโอนอ่อนตามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ในหลายเรื่อง ทำให้เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์ รู้สึกโกรธเคืองในตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ยิ่งนัก อีกทั้งมีความระแวงว่าเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จะนำทหารฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในเวลานั้นสมเด็จพระนารายณ์ ทรงพระประชวรอย่างหนัก เสนาบดีกลาโหมและหลวงสรศักดิ์ จึงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ และได้ประหารเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ รวมทั้งผู้อยู่ในข่ายที่จะได้สืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ เจ้าฟ้าน้อย (พระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์) และพระปีย์ (พระโอรสบุญธรรม) เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบ อาการประชวรก็หนักขึ้นและสวรรคตในเวลาต่อมา

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคต เสนาบดีกลาโหม จึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเพทราชา ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ นับเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา (ไม่นับรัชกาลขุนวรวงษาธิราช) ส่วนหลวงสรศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น สมเด็จลูกยาเธอกรมพระราชวังบวร
สมเด็จพระเพทราชา ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๑ จุลศักราช ๑๐๕๐ ขณะพระชนมพรรษา ๕๖ พรรษา (บางแห่งว่า ๖๑ ) ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาบุรุษ วิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิศร บรมนาถบพิตร สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว" เมื่อขึ้นครองราชย์พระองค์ได้ทรงแต่งตั้งกรมหลวงโยธาทิพ พระภคินีของสมเด็จพระนารายณ์ ให้เป็นพระมเหสีฝ่ายขวา ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ "เจ้าพระขวัญ" และแต่งตั้งกรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาองค์เดียวของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรสพระองค์หนึ่งคือ "ตรัสน้อย"

ในรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา ได้เกิดกบฏขึ้นหลายครั้ง อีกทั้งเกิดปัญหาหัวเมืองใหญ่อย่างเมืองนครราชสีมา และเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับการสถาปนาจากสมเด็จพระนารายณ์ ไม่ยอมรับพระราชอำนาจของพระเพทราชา เนื่องจากมองว่าพระองค์เป็นผู้แย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งในเวลานั้นชาวฝรั่งเศส นักสอนศาสนาคริสต์ และชาวต่างชาติบางกลุ่ม ถูกเนรเทศให้กลับประเทศ แต่ยังทรงอนุญาตให้บาทหลวง และพ่อค้าชาวฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อไปได้ และได้มีการทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศส เรื่องการขนย้ายทหาร และทรัพย์สินของฝรั่งเศสออกจากป้อมที่บางกอก โดยฝ่ายอาณาจักรอยุธยาเป็นผู้จัดเรือต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เป็นของกรุงศรีอยุธยาคืนทั้งหมด

สำหรับข้าราชการและราษฎรไทยที่ยังอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งผลการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับฝรั่งเศสสิ้นสุดลงตั้งแต่นั้นมา ส่วนพระพุทธศาสนาได้รับการทำนุบำรุงเป็นอันมาก

นอกจากนี้ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองใหม่ โดยกำหนดให้หัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความดูแลของสมุหนายก และหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหพระกลาโหม โดยแบ่งให้แต่ละฝ่ายรับผิดชอบดูแลกิจการทั้งด้านทหารและพลเรือนในภูมิภาคนั้น ๆ และเพิ่มจำนวนกำลังทหาร ให้แก่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือ วังหน้า เพื่อเป็นกำลังป้องกันวังหลวงอีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนงานทางด้านต่างประเทศ มีหัวเมืองประเทศใกล้เคียงเข้ามาอ่อนน้อมสวามิภักดิ์เป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๒๓๔ เขมรได้ส่งคณะราชทูตนำช้างเผือกเชือกหนึ่งมาถวาย ขอเข้ามาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๓๘ กษัตริย์กรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ส่งราชทูตนำพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวาย กับขอให้กองทัพอยุธยาไปช่วยต้านทานการรุกรานจากกองทัพหลวงพระบาง พระองค์ได้จัดกองทัพขึ้นไปช่วยไกล่เกลี่ย จนทั้งสองเมืองกลับเป็นไมตรีต่อกัน

สมเด็จพระเพทราชา ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี ก่อนที่จะทรงพระประชวรอย่างหนัก ระหว่างที่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่นั้น ได้เกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติขึ้น ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์คือ "เจ้าพระขวัญ" และ "ตรัสน้อย" พระราชโอรสแท้ๆ ของพระองค์ แต่เจ้าพระขวัญถูกกรมพระราชวังบวร (พระเจ้าเสือ) ลอบประหาร ส่วนตรัสน้อยทรงหนีไปบวชพระ เมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงทราบ ก็ทรงรีบตั้งพระราชนัดดาคือ "เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์" ให้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ แต่เมื่อพระเพทราชาสวรรคต (พ.ศ.๒๒๔๖) เจ้าพระยาพิไชยสุรินทร์ ไม่กล้าปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ ด้วยเกรงบารมีของกรมพระราชวังบวร และได้ขอให้กรมพระราชวังบวรขึ้นครองราชย์แทน กรมพระราชวังบวรจึงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘" (พระเจ้าเสือ) ครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นอันสิ้นสุดรัชสมัยของสมเด็จพระเพทราชา

พระเพทราชาทรงมีมเหสีสำคัญๆ ได้แก่

๑. กรมพระเทพามาตย์ (กัน) พระมเหสีเดิมในพระเพทราชาเป็นผู้อภิบาลพระเจ้าเสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภายหลังได้ขึ้นเป็นที่กรมพระเทพามาตย์
๒. กรมหลวงโยธาเทพ หรือ มเหสีฝ่ายซ้าย - พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชโอรสคือ เจ้าฟ้าตรัสน้อย ทรงสนใจทางด้านการศึกษาในหลายๆแขนงวิชา ช่วงหลังย้ายตามพระราชมารดาไปอยู่ ณ พระตำหนักใกล้วัดพุทไธศวรรย์
๓. กรมหลวงโยธาทิพ หรือ มเหสีฝ่ายขวา - พระขนิษฐาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระราชโอรสคือ เจ้าพระขวัญ (กรมพระราชวังบวรสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์)
๔. พระนางกุสาวดี มเหสีพระราชทานจากพระนารายณ์มหาราช พระธิดาพญาแสนหลวง เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่

ที่มา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา,๒๕๕๓.
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » พฤหัสฯ. 22 มี.ค. 2018 2:44 pm

พระเจ้าเสือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ กษัตริย์อยุธยาผู้มีเชื้อสายล้านนา

godfather (1).jpg
godfather (1).jpg (86.04 KiB) เปิดดู 8651 ครั้ง


สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือคำให้การชาวกรุงเก่าว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๙ แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๔๖ — พ.ศ. ๒๒๕๑ ผู้คนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ว่า พระเจ้าเสือ เพื่อเปรียบว่า พระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย โดยทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน และได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ระบุในหนังสือ ศิลปะมวยไทย ถึงพระองค์ในการปลอมพระองค์เป็นชาวบ้านมาชกมวยกับนักมวยฝีมือดีจากเมืองวิเศษชัยชาญ และสามารถชนะนักมวยเอกได้ถึง ๓ คน ซึ่งได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และนายเล็ก หมัดหนัก ปัจจุบัน กระทรวงวัฒนธรรม ได้กำหนดให้วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันที่พระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ตามหลักฐานในประวัติศาสตร์เป็นวันมวยไทย นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงฝึกเจ้าฟ้าเพชร และเจ้าฟ้าพร ผู้เป็นพระราชโอรส ให้มีความสามารถในด้านมวยไทย, กระบี่กระบอง และมวยปล้ำ

พระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าเสือนั้น เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับพระสนมพระองค์หนึ่ง ปรากฏในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ว่า นางเป็นพระราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ โดยคำให้การขุนหลวงหาวัด ได้ออกพระนามว่า พระราชชายาเทวี หรือ เจ้าจอมสมบุญ ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า นางกุสาวดี แต่ในเวลาต่อมา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พระราชทานพระสนมดังกล่าวให้แก่พระเพทราชา เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง (เจ้ากรมช้าง) โดยในคำให้การของขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่า มีเนื้อหาสอดคล้องกัน กล่าวคือนางเป็นสนมลับของพระนารายณ์ แต่แตกต่างกันเพียงชื่อของนาง และเหตุผลในการพระราชทานพระโอรสแก่พระเพทราชา แต่พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) กลับให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติกำเนิดแตกต่างไปจากคำให้การของขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงทำศึกสงครามกับเมืองเชียงใหม่แล้วได้ราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่เป็นสนม แต่นางสนมเกิดตั้งครรภ์ พระองค์ได้ละอายพระทัยด้วยเธอเป็นนางลาว พระองค์จึงได้พระราชทานแก่พระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) ความว่า

"แล้วเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาจากเมืองเชียงใหม่นั้น พระองค์เสด็จทรงสังวาสด้วยพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ และนางนั้นก็ทรงครรภ์ขึ้นมา ทรงพระกรุณาละอายพระทัย จึงพระราชทานนางนั้นให้แก่พระเพทราชา แล้วดำรัสว่านางลาวนี้มีครรภ์ขึ้นมา เราจะเอาไปเลี้ยงไว้ในพระราชวังก็คิดละอายแก่พระสนมทั้งปวง และท่านจงรับเอาไปเลี้ยงไว้ ณ บ้านเถิด และพระเพทราชาก็รับพระราชทานเอานางนั้นไปเลี้ยงไว้ ณ บ้าน"

โดยเหตุผลของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าว่า พระองค์ทรงเกรงว่าพระราชโอรสองค์นี้จะคิดกบฏชิงราชสมบัติอย่างเมื่อคราวพระศรีศิลป์ ส่วนคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า พระองค์ทรงต้องรักษาราชบัลลังก์ให้กับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระอัครมเหสีเท่านั้น

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) จดพระนามเดิมของพระองค์ว่า มะเดื่อ ส่วนในหนังสือปฐมวงศ์ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เรียกว่า ดอกเดื่อ เนื่องจากประสูติใต้ต้นมะเดื่อในแขวงเมืองพิจิตร ขณะพระมารดาเสด็จติดตามออกพระเพทราชาโดยเสด็จสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์) เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราชและพระพุทธชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก

จดหมายเหตุเอนเยลเบิร์ต แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) นายแพทย์ชาวเยอรมันประจำคณะทูตของบริษัทอีสต์อินเดียของฮอลันดาที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีราชสำนักสยามในปี พ.ศ. ๒๒๓๓ ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปีประสูติของออกหลวงสรศักดิ์ว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๓ พระสรศักดิ์ (Peja Surusak) พระมหาอุปราชมีพระชนม์ ๒๐ พรรษา แสดงว่าพระองค์ประสูติในปี พ.ศ. ๒๒๑๓

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิทรงเชื่อว่าหลวงสรศักดิ์จะเป็นพระราชโอรสลับในสมเด็จพระนารายณ์ ทรงวินิจฉัยว่าในเมื่อหลวงสรศักดิ์รู้อยู่เต็มอกว่าสมเด็จพระนารายณ์คือพระราชบิดา เหตุไฉนจึงร่วมมือกับพระเพทราชาบิดาบุญธรรมปราบดาภิเษกชนกแท้ ๆ ของตน แทนที่จะประจบเอาใจขอราชสมบัติกับพระราชบิดาเมื่อครั้งยังประชวร ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ว่า พระยาแสนหลวง เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ที่ตกเป็นเชลยมายังกรุงศรีอยุธยานั้นก็มิได้มีฐานะต่ำต้อยอันใด ซ้ำยังจะดูมีหน้ามีตาเพราะสามารถต่อโคลงกับศรีปราชญ์ กวีในรัชกาลได้ ถ้าหากพระยาแสนหลวงเป็นพระสัสสุระของสมเด็จพระนารายณ์จริง ก็น่าจะเป็นที่ความภาคภูมิมากกว่าอับอาย และยังสามารถใช้การเสกสมรสดังกล่าวเป็นเหตุผลทางการเมืองเข้าครอบครองล้านนาผ่านพระชายาได้

ครองราชย์

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าเสือได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการเป็นที่ โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาได้ตำแหน่งเป็นหลวงสรศักดิ์ สมัยสมเด็จพระเพทราชา หลวงสรศักดิ์ให้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระเพทราชา พระนาม สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ ราชาภิเษก พ.ศ. ๒๒๔๖ มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้าเพชร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) มีพระสมัญญานามว่า “เสือ” ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเป็น หลวงสรศักดิ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาแล้ว ทรงมีความเด็ดขาดในการมีรับสั่งให้ผู้ที่ปฏิบัติงานใดต้องสำเร็จผลเป็นอย่างดี หากบกพร่องพระองค์จะมีรับสั่งให้ลงโทษ ไม่เฉพาะข้าราชบริพารเท่านั้น แม้พระราชโอรสทั้งสองก็เช่นกัน อย่างเช่น ในการเสด็จไปคล้องช้างที่เมืองนครสวรรค์ มีรับสั่งให้เจ้าฟ้าเพชรและเจ้าฟ้าพรตัดถนนข้ามบึงหูกวาง โดยถมบึงส่วนหนึ่งให้เสร็จภายในหนึ่งคืน พระราชโอรสดำเนินงานเสร็จตามกำหนด แต่เมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ช้างทรงตกหลุม ทรงลงพระราชอาญาเจ้าฟ้าเพชร แต่ภายหลังก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ด้านศาสนา

ทรงปฏิสังขรณ์มณฑปสวมรอยพระพุทธบาทสระบุรี สร้างมาแต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งทำเป็นยอดเดียวชำรุด โปรดฯ ให้สร้างใหม่เป็น ๕ ยอด รวมทั้งปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งอาราม

ปี พ.ศ. ๒๒๔๙ เกิดอัสนีบาตต้องยอดมณฑปพระมงคลบพิตร เครื่องบนมณฑป ทรุดโทรมพังลงมาต้องพระศอพระมงคลบพิตรหัก โปรดฯ ให้รื้อเครื่องบนออก ก่อสร้างใหม่แปลงเป็นมหาวิหาร

เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธฉายและสันนิษฐานว่าค้นพบในสมัยพระองค์

พระราชกรณียกิจที่สำคัญอันเกี่ยวเนื่องเมืองพิจิตร เพื่อเป็นการรำลึกถึงชาติภูมิของพระองค์สมเด็จพระเจ้าเสือได้โปรดให้สร้างวัดโพธิ์ประทับช้างขึ้นที่เมืองพิจิตร โดยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระมหาเจดีย์ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์ มีอาณาบริเวณวัดกว้างขวางใหญ่โต ใช้เวลาสร้าง ๒ ปี จึงสำเร็จ เสด็จพระราชดำเนินมาทำการฉลองด้วยพระองค์เอง มีการฉลอง สามวันสามคืน มีมหรสพครึกครื้น และมีผู้คนมากมายมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและ ดูมหรสพ ฉลองเสร็จแล้วทรงพระราชอุทิศถวายเลขข้าพระไว้สำหรับอุปฐากพระอารามถึง ๒๐๐ ครัวเรือน นับว่าครั้งนั้นวัดโพธิ์ประทับช้างเป็นวัดที่เด่นที่สุดในเมืองพิจิตร

สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าแตงโม (พระสุวรรณมุนี) เป็นพระอาจารย์สอนวิชาความรู้แก่พระราชโอรสและพระราชนัดดา ทรงไม่พอพระทัยที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ฝรั่งคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงทรงโปรดการลาสิกขาของพระภิกษุเพื่อออกมารับราชการ ในรัชสมัยมีพระภิกษุชอบด้วยการนี้เป็นจำนวนมาก

ด้านคมนาคม

ทรงให้มีการตัดถนนข้ามบึงหูกวางที่เมืองนครสวรรค์

ทรงให้ขุดคลองโคกขามซึ่งคดเคี้ยวให้ตรง และขุดลัดคลองอ้อม

ทรงให้มีการปรับปรุงเส้นทางทางไปพระพุทธบาทสระบุรี ให้เดินทางมาสะดวกยิ่งขึ้น


สวรรคต

สมเด็จพระเจ้าเสือ เสด็จอยู่ในตำแหน่งที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๒๓๑ – ๒๒๔๖ เป็นเวลา ๑๕ ปี เสด็จอยู่ในพระราชสมบัติ พ.ศ. ๒๒๔๖ – ๒๒๕๑ เป็นเวลา ๕ ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๑ พระชนมายุ ๔๗ พรรษา

ที่มา ประวัติ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) , ศิลปะมวยไทย,พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (๒๕๕๓). กรุงเทพฯ: ศรีปัญญา, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ. เล่ม ๒. กรุงเทพฯ:องค์การค้าของคุรุสภา
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » ศุกร์ 23 มี.ค. 2018 6:22 am

พันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือผู้ซื่อสัตย์ในสมัยพระเจ้าเสือ

8_1298899360.jpg
8_1298899360.jpg (24.38 KiB) เปิดดู 8883 ครั้ง

ภาพจากอินเทอร์เน็ต


ตามพระราชพงศาวดาร บันทึกว่า พันท้ายนรสิงห์ มีชื่อเดิมว่า "สิน" เป็นชาวบ้านนรสิงห์ แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ (ปัจจุบัน คือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) มีภรรยาชื่อ "นวล" หรือ "ศรีนวล" ได้รู้จักกับพระเจ้าเสือด้วยการแข่งขันชกมวยไทยกัน เมื่อพระองค์แปลงองค์มาเป็นชาวบ้านธรรมดาและทรงโปรดในอุปนิสัยใจคอ ต่อมาได้กลายมาเป็นนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือ ในบรรดาศักดิ์ พัน

เมื่อครั้งที่พระเจ้าเสือ เสด็จโดยเรือพระที่นั่งเอกไชย ประพาสเพื่อทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี เมื่อเรือพระที่นั่งถึงตำบลโคกขามซึ่งเป็นคลองคดเคี้ยวและมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก พันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งมิสามารถคัดแก้ไขได้ทัน โขนเรือพระที่นั่งกระทบกับกิ่งไม้หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์จึงได้กระโดดขึ้นฝั่งแล้วกราบทูลให้ทรงลงพระอาญาตามพระกำหนดถึงสามครั้งด้วยกัน เนื่องจากในครั้งแรก พระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษ เพราะเห็นว่าเป็นอุบัติเหตุสุดวิสัย ครั้งที่สองก็รับสั่งให้สร้างรูปปั้นปลอมแล้วตัดหัวรูปปั้นนั้นแทน แต่ท้ายสุดก็ได้ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามคำขอ ในเวลาเช้าตรู่ ตรงกับวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๓๓๔๑ แล้วสร้างศาลไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นศาลไม้ในสมัยปัจจุบัน หลังคามุงกระเบื้องดินเผาหางมน พื้นศาลเป็นไม้ยกชั้น ๒ ชั้น มีเสารองรับ ๖ เสา พร้อมกับศีรษะของพันท้ายนรสิงห์และโขนเรือเอกไชยขึ้นตั้งไว้บูชาพร้อมกัน

ภายหลังพระเจ้าเสือได้ทรงให้พระยาราชสงคราม คุมไพร่พลจำนวน ๓,๐๐๐ คน ทำการขุดคลองลัดคลองโคกขามที่คดเคี้ยว ไปออกที่บริเวณแม่น้ำท่าจีน กว้าง ๕ วา ลึก ๖ ศอก สร้างเสร็จในสมัยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พ.ศ. ๒๒๕๒ ได้พระราชทานนามคลองนี้ว่าคลองสนามไชย ต่อมาเรียกเป็นคลองมหาชัย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเมืองมหาชัย แต่ชาวบ้านเรียกว่าคลองถ่าน ปัจจุบันชาวบ้านฝั่งธนบุรี เรียกชื่อว่า คลองด่าน

พันท้ายนรสิงห์เป็นเรื่องจริงหรือตำนาน

เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ มีปรากฏอยู่เฉพาะพงศาวดารที่ชำระขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้แก่ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้เล่าเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ไว้ละเอียดพิสดารนัก ในขณะที่พงศาวดารที่ชำระในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) หรือพงศาวดารอีกเล่มที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นิคือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้นไม่ปรากฏเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์เลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เรื่องพันท้ายนรสิงห์นั้น อยู่ดี ๆ ก็โผล่ขึ้นมาในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งชำระในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ ไม่มีหลักฐานใดกล่าวถึงเรื่องราวแวดล้อมที่เรารับรู้กันว่ามีคนวางแผนจะซุ่มประทุษร้ายพระเจ้าเสือจนเป็นเหตุให้พันท้าย “จงใจ” ทำให้หัวเรือพระที่นั่งหักนั้นเลย ส่วนในประวัติศาสตร์ถ้าหากจะมีการดักสังหารผู้ที่เดินทางด้วยทางเรือนั้น เห็นจะมีคราวที่ขุนพิเรนทรเทพซุ่มสังหารขุนวรวงศาธิราช ในคราวที่เสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคผ่านคลองสระบัว

อย่างไรก็ตามจากการศึกษาค้นคว้าหลักฐานสมัยอยุธยาทั้งสามชิ้น ผมพบว่าไม่มีการกล่าวถึงเรื่องพันท้ายนรสิงห์ไว้เลย แต่พบเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ปรากฏอย่างละเอียดในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ หรืออย่างช้าที่สุดก็สมัยต้นรัชกาลที่ ๒ (ที่มา สมเกียรติ วันทะนะ, ๒๕๒๗, น. ๓๖)

เรื่องพันท้ายนรสิงห์มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน โดยเป็นฉบับที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ โดยรัชกาลที่ ๒ เมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ ๑ ในปีเถาะ จุลศักราช ๑๑๖๙(พ.ศ.๒๓๕๐) ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้ชำระ แต่ดูจากเนื้อความน่าจะชำระเพิ่มเติมจากพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ(เจิม)ที่ชำระก่อนหน้าใน จ.ศ.๑๑๔๗(พ.ศ.๒๓๓๘) โดยมีเนื้อความพิศดารและอิทธิปาฏิหาริย์ สำนวนโวหารบทสนทนาจำนวนมากเพิ่มขึ้นมาผิดจากคติการเขียนพงศาวดารเก่าๆอย่างชัดเจน เรื่องของพันท้ายนรสิงห์ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกเพิ่มขึ้นมา จากนั้นพงศาวดารฉบับที่ชำระหลังจากนี้ก็จะมีเรื่องพันท้ายหมดทุกเล่ม

เนื้อหาของพันท้ายนรสิงห์ในพงศาวดารคือ 'ลุศักราชได้ ๑๐๖๖ ปีวอก ฉศก ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี ครั้นเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม และครองที่นั้นคดเคี้ยวนัก และพันท้ายนรสิงห์ซึ่งถือท้ายเรือพระที่นั่งคัดแก้ไขมิทันที และศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึ่งโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง และขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้า พระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการเถิด จึ่งมีพระราชโองการตรัสว่า ไอ้พันท้ายซึ่งโทษเอ็งนั้นถึงตายก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสีย ไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้น กูจะทำต่อเอาใหม่ แล้วเอ็งอย่าวิตกเลย พันท้ายนรสิงห์จึ่งกราบทูลว่า ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดมิให้เอาโทษข้าพระพุทธเจ้านั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าจะเสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายไป และซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดงนี้ ดูมิควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ และพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษเลย จงทรงพระอาลัยถึงพระราชประเพณี อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่บุราณนั้นว่า ถ้าและพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าพันท้ายผู้นั้นถึงมรณโทษ ให้ตัดศีรษะเสีย และพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้า เสีย ตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด

จึ่งมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้น แล้วก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย แล้วดำรัสว่าไอ้พันท้าย ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้น กูจะประหารชีวิตเอ็งเสีย พอเป็นเหตุแทนตัวแล้ว เอ็งอย่าตายเลย จงกลับมาลงเรือไปด้วยกับกูเถิด พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้น ก็มีความละอายนัก ด้วยกลัวว่าจะเสียพระราชกำหนดโดยธรรมเนียมโบราณไป เกรงคนทั้งปวงจะครหาติเตียนดูหมิ่นในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งตนได้ สู้เสียสละชีวิตของตัวมิได้อาลัย จึ่งกราบทูลไปว่าขอพระราชทานซึ่งทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้าทั้งนี้ พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ แต่ทว่าซึ่งตัดศีรษะรูปดินแทนตัวข้าพระ-พุทธเจ้าดังนี้ ดูเป็นทำเล่นไป คนทั้งหลายจะล่วงครหาติเตียนได้ ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสียโดย ฉันจริงเถิด อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดไปเลย ข้าพระพุทธเจ้าจะขอกราบทูลฝากบุตรภรรยาแล้ว ก็จะกราบถวายบังคมลาตายไปโดยลักษณยถาโทษอันกราบทูลไว้นั้น

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ดำรัสวิงวอนไปเป็นหลายครั้ง พันท้ายนรสิงห์ก็มิยอมอยู่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาภาพแก่พันท้ายนรสิงห์เป็นอันมาก จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้ จำเป็นจำทำตามพระราชกำหนด จึ่งดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงเพียงตา และให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้น ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น แล้วให้ออกเรือพระที่นั่งไปประพาสทรงเบ็ด ณ ปากน้ำเมืองสาครบุรี แล้วเสด็จกลับยังพระมหานคร และศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามนั้น ก็มีปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้

จึ่งพระบาทบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชดำริ ว่า ณ คลองโคกขามนั้นคดเคี้ยวนัก คนทั้งปวงจะเดินเรือเข้าออกก็ยาก ต้องอ้อมวงไปไกลกันดารนัก ควรเราจะให้ขุดลัดตัดเสียให้ตรงจึ่งจะชอบ อนึ่งพันท้ายนรสิงห์ซึ่งตายเสียนั้น เป็นคนสัตย์ซื่อมั่นคงนัก สู้เสียชีวิตมิได้อาลัย กลัวว่าเราจะเสียพระราชประเพณีไป เรามีความเสียดายนัก ด้วยเป็นข้าหลวงเดิมมาแต่ก่อน อันจะหาผู้ซึ่งรักใคร่ ซื่อตรงต่อเจ้า เหมือนพันท้ายนรสิงห์นี้ยากนัก แล้วดำรัสให้เอากเฬวรพันท้ายนรสิงห์นั้น มาแต่งการฌาปนกิจพระราชทานเพลิง และบุตรภรรยานั้นก็พระราชทานเงินทอง สิ่งของเป็นอันมาก'

พันท้ายนรสิงห์มีตัวจริงมั้ยก็ไม่ทราบแต่จากข้อความที่ว่า 'และศาลเทพารักษ์ที่ตำบลโคกขามนั้น ก็มีปรากฎมาตราบเท่าทุกวันนี้ ' น่าจะสื่อให้เห็นว่าคนในสมัยรัชกาลที่ ๑ คิดว่าพันท้ายนรสิงห์มีตัวจริงและมีศาลอยู่ให้เห็นในตอนนั้น แต่ก่อนนี้เป็นอย่างไรยังสรุปไม่ได้

ที่มา พระราชพงศาวดาร, (สมเกียรติ วันทะนะ, ๒๕๒๗, น. ๓๖)
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 23 มี.ค. 2018 9:58 am

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) (กรีก: Κωνσταντίνος Γεράκης, กอนสตันตีโนส เยราจิส; อังกฤษ: Constantine Phaulkon) เป็นนักผจญภัยชาวกรีก ผู้กลายมาเป็นสมุหนายกในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ฟอลคอลเป็นคนเก่ง มีไหวพริบดี นอกจากภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาแม่แล้ว ฟอลคอนยังสามารถพูดภาษาต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาโปรตุเกส และภาษามลายู

01_283.jpg
01_283.jpg (63.25 KiB) เปิดดู 8878 ครั้ง


ฟอลคอนเกิดที่แคว้นเซฟาโลเนีย (ประเทศกรีซ) เมื่อ พ.ศ. ๒๑๙๐ โดยมีเชื้อสายของชาวกรีกและเวนิส ฟอลคอนเข้าทำงานให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ พ.ศ. ๒๒๐๕ ฟอลคอนออกจากบ้าน และเดินเรือสินค้าไปค้าขายยังแดนต่าง ๆ จนมาถึงอยุธยา

พ.ศ. ๒๒๑๘ ฟอลคอนเดินทางมายังอยุธยาในฐานะพ่อค้า เนื่องจากฟอลคอนมีความสามารถพิเศษในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ เขาจึงเรียนรู้การใช้ภาษาไทยอย่างคล่องแคล่วในเวลาไม่กี่ปี และเข้ารับราชการในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในตำแหน่งล่าม นับเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่เข้ามารับราชการในสมัยอยุธยา เป็นตัวกลางการค้าระหว่างอยุธยากับฝรั่งเศส ฟอลคอนได้กลายมาเป็นสมุหเสนาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาอันรวดเร็ว

พ.ศ. ๒๒๒๕ ฟอลคอนแต่งงานกับดอญา มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ซึ่งภายหลัง เป็นผู้ประดิษฐ์ขนมไทยหลายอย่าง

ความใกล้ชิดระหว่างเจ้าพระยาวิชเยนทร์และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทำให้เกิดความริษยาขึ้นในหมู่ราชนิกุล ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียต่อตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์เองในเวลาต่อมา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวรหนักใกล้สวรรคต ก็มีข่าวลือว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ต้องการใช้องค์รัชทายาทเป็นหุ่นเชิด และเข้ามาเป็นผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาเสียเอง ซึ่งแม้เหตุดังกล่าวจะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ทำให้พระเพทราชาซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่พอใจกับนโยบายด้านต่างประเทศที่ส่งผลให้มีชาวต่างชาติมาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามากมาย วางแผนให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปประทับที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์ในลพบุรี และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้ไว้ใจมอบอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินให้พระเพทราชาใน พ.ศ. ๒๒๓๑

พระเพทราชา เมื่อกุมอำนาจการสำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว ก็จับกุมเจ้าพระยาวิชเยนทร์และผู้ติดตามรวมถึงราชนิกุลองค์ต่าง ๆ และนำไปประหารชีวิตในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๑ ในวัยเพียง ๔๐ ปี เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทราบถึงเหตุดังกล่าว พระองค์ทรงกริ้วมาก แต่ไม่มีพระวรกายแข็งแรงเพียงพอที่จะทำการใด ๆ และเสด็จสวรรคตในอีกไม่กี่วันต่อมา บรรดาขุนนางได้อัญเชิญ พระเพทราชา ขึ้นครองราชย์โดยการปราบดาภิเษก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม หรือ สมเด็จพระเพทราชา และปกครองโดยมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการขับไล่ชาวต่างชาติแทบทั้งหมดออกจากราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา การตีความกันไปต่าง ๆ นานาถึงเหตุจูงใจที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชาสั่งจับกุม และประหารชีวิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นผลให้จุดยืนของกรีกในประวัติศาสตร์ไทยเป็นเรื่องที่ยังหาข้อสรุปมิได้ นักประวัติศาสตร์ที่เห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์ มองเจ้าพระยาวิชเยนทร์ว่าเป็นชาวต่างชาติที่ฉวยโอกาสมาใช้อิทธิพลเข้าควบคุมราชอาณาจักรในนามของผลประโยชน์จากชาติตะวันตก แต่นักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นแพะรับบาป เป็นช่องว่างให้สมเด็จพระเพทราชาสามารถเข้ายึดอำนาจจากองค์รัชทายาทได้ โดยนำเอาความริษยาและความระแวงที่มีต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์มาเป็นมูลเหตุสนับสนุน

เอกสารประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงชายหนุ่มชาวยุโรปผู้หนึ่งซึ่งรับราชการในตำแหน่งสูงระดับ “อัครมหาเสนาบดี” เป็นที่โปรดปรานทำให้มีวาสนาบารมีเหนือกว่าผู้ใดในกรุงสยาม เขาผู้นั้นมีนามว่า “คอนสแตนติน ฟอลคอน” และได้รับบรรดาศักดิ์ที่ “ออกญาวิชเยนทร์” หรือ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ เรื่องราวของ คอนสแตนติน ฟอลคอน มีลักษณะเสมือนเป็นตัวละครในนวนิยายย้อนยุคมากกว่าจะเป็นชีวิตของคนเดินดิน ซึ่งพอสรุปสาระสำคัญได้ว่า

๑. เป็นฝรั่งเชื้อสายกรีกและอิตาเลียน ถือกำเนิดประมาณปี พ.ศ. ๒๑๙๐ (ค.ศ. ๑๖๔๗) ในแคว้นเซฟาโลเนีย ประเทศกรีซ เมื่อมีอายุได้ ๑๕ ปี ในปี พ.ศ. ๒๒๐๕ (ค.ศ. ๑๖๖๒) ได้ออกจากบ้านไปทำงานอยู่ในเรือสินค้าอังกฤษ ซึ่งท่องทะเลทำการค้าจากอังกฤษไปยังส่วนต่างๆ ของทวีปเอเชีย เป็นเวลานับ ๑๐ ปี จนกระทั่งลาออกไปทำงานอยู่กับนักธุรกิจใหญ่ชาวอังกฤษผู้ตั้งฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยา และมีโอกาสได้เดินทางไปเมืองจีนและญวนเหนือ คอนสแตนติน ฟอลคอน เข้ามาเมืองไทยประมาณปี พ.ศ. ๒๒๑๔ (ค.ศ. ๑๖๗๕) เมื่อมีอายุได้ประมาณ ๒๘ ปี มีความรอบรู้และประสบการณ์ในเรื่องการค้าขายเป็นอย่างดี และสามารถพูดได้หลายภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาอังกฤษ, โปรตุเกส, และมลายู ดังนั้นเมื่อนักธุรกิจผู้เป็นนายเดินทางกลับประเทศอังกฤษ ฟอลคอนก็ได้เข้ารับราชการกับเจ้าพระยาพระคลัง (โกษาเหล็ก) ในหน้าที่ล่ามในการดูแลการค้าต่างประเทศซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ “พระคลัง” จนกระทั่งมีโอกาสถวายตัวต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งราชการอย่างรวดเร็ว คอนสแตนติน ฟอลคอน สมรสกับดอญา มารี กีมาร์ (ท้าวทองกีบม้า) ผู้เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสและญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๒๒๒๕ (ค.ศ. ๑๖๘๒) ซึ่งขณะนั้นฟอลคอนได้รับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แล้วในวัย ๓๕ ปี มีความคล่องแคล่วในภาษาไทยและการใช้ราชาศัพท์ ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนัก

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ เริ่มปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๒๒๖ (ค.ศ.๑๖๘๓) เมื่อถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ไทยให้จัดส่งคณะทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเป็นคณะที่ ๒ ภายหลังที่ทูตไทยคณะแรกเคยส่งไปหลายปีก่อนหน้านั้นได้สูญหายไปในระหว่างเดินทาง การจัดส่งคณะทูตไทยคณะที่ ๒ ไปก็เพื่อเป็นการสนองรับพระราชไมตรีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่ได้ทรงมอบให้สังฆราชเอลิโอโปลิส อัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คณะทูตไทยได้เดินทางถึงฝรั่งเศสวาเช่ต์เป็นผู้นำทาง และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

การนั้นได้ทำให้ฝรั่งเศสกับไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการบาทหลวงฝรั่งเศสซึ่งได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสเตียนนิกายคาทอลิกในเมืองไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๒๐๕ (ค.ศ.๑๖๖๒) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในด้านต่างๆ จากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตลอดจนได้แสดงความสนพระราชหฤทัยในศาสนาคริสต์และในความเจริญก้าวหน้าของฝรั่งเศส, ได้สนับสนุนให้ฝรั่งเศสผูกไมตรีกับไทย ทั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้าถือศาสนาคริสเตียน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงรับคำแนะนำของบาทหลวงฝรั่งเศส และได้จัดส่งคณะทูตในฐานะผู้แทนพระองค์ ซึ่งมี เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เป็นเอกอัครราชทูต เดินทางมาเมืองไทยโดยเรือรบ มาถึงอยุธยาในครึ่งหลังของปี พ.ศ. ๒๒๒๘ (ค.ศ.๑๖๘๕) คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และการเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในข้อตกลงเรื่องการเผยแผ่ศาสนา และเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าของบริษัทอีสต์อินเดียของฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้จัดคณะทูตไทยซึ่งมีออกญาวิสุทธสุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต เดินทางไปถวายพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พร้อมกับ เดอ โชมองต์ ในการเดินทางกลับฝรั่งเศส ในการต้อนรับคณะทูตฝรั่งเศสครั้งนี้ คอนสแตนติน ฟอลคอน ได้เป็นที่รู้จักของฝรั่งเศสมากขึ้น หวังฝรั่งเศสเป็นที่พึ่งมากขึ้น และฝรั่งเศสก็คาดหมายความร่วมมือจากฟอลคอนมากขึ้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงจัดส่งทูตอีกคณะหนึ่งเดินทางมาอยุธยาอย่างต่อเนื่องไปเลย โดยมี เดอ ลาลูแบร์ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางจากฝรั่งเศสเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๒๓๐ (ค.ศ. ๑๖๘๗) ถึงอยุธยาในเดือนกันยายน และพำนักอยู่เมืองไทยประมาณ ๓ เดือน ออกเดินทางกลับในต้นปี พ.ศ. ๒๒๓๑ (ค.ศ. ๑๖๘๘) ในขณะที่ เดอ โชมองต์ มีภารกิจหลักในการโน้มน้าวให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเข้านับถือศาสนาคริสต์ และให้ฝ่ายไทยอนุเคราะห์ฝรั่งเศสในเรื่องการค้า เดอ ลาลูแบร์ ได้รับนโยบายจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้จัดการปูทางให้ฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการบริหารเมืองไทย ซึ่งรวมถึงการส่งกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาสนับสนุนความมั่นคงด้วย คอนสแตนติน ฟอลคอน ซึ่งหวังพึ่งฝรั่งเศสทั้งในทางส่วนตัวและในหน้าที่การงาน เป็นผู้นำเสนอนโยบายต่อฝรั่งเศสข้างต้น อย่างไรก็ดี เดอ ลาลูแบร์ ก็ขัดแย้งกับฟอลคอนในการปฏิบัติหลายเรื่องและในช่วงเวลานั้น เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็ไม่ค่อยจะมั่นใจในความมั่นคงในฐานะราชการ อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่คณะทูตฝรั่งเศสออกเดินทางไปจากเมืองไทยได้ไม่นาน เมืองไทยก็มีการยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยพระเพทราชาในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกจับและถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๓๑ (ค.ศ. ๑๖๘๘) และต่อมาในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ศกเดียวกัน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เสด็จสวรรคต เมื่อฟอลคอน ปิดชีวิตที่เสมือนนิยายลงไปนั้น มีอายุประมาณ ๔๐ ปี และได้พำนักอยู่ในเมืองไทยได้ประมาณ ๑๓ ปีเท่านั้น

๒. คอนสแตนติน ฟอลคอน เป็นบุคคลซึ่งมีความรู้ ความสามารถในหลายด้าน จึงเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งพอพระราชหฤทัยในผลงานที่ได้มอบหมายให้ฟอลคอนรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้าขายและการติดต่อกับชาวต่างประเทศ ซึ่งในเวลานั้นพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก หลายชาติหลายภาษา ฟอลคอนรับราชการโดยไม่มีเงินเดือนแต่สร้างฐานะให้มั่งคั่งอย่างรวดเร็วจากการประกอบธุรกิจส่วนตัวที่อาศัยอำนาจหน้าที่ทางราชการ สถานภาพอันโดดเด่นของ คอนสแตนติน ฟอลคอนย่อมเป็นที่ริษยาและไม่เป็นที่วางใจของบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่โดยทั่วไปจนกล่าวได้ว่าฟอลคอนปราศจากมิตร มีแต่ผู้เป็นศัตรูที่คอยเวลากำจัดให้สิ้นไป การที่ คอนสแตนติน ฟอลคอนมีอำนาจวาสนาและบารมี เป็นที่เกรงกลัวของบุคคลทั่วไป ก็เพราะเป็นผู้ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดปรานและไว้วางพระราชหฤทัย การที่ฟอลคอนพยายามฝากตัวเป็นคนฝรั่งเศส ภายใต้ความคุ้มครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็เพราะหวังพึ่งฝรั่งเศสในการช่วยค้ำจุ้นฐานะในราชการไทย ฟอลคอนได้วางแผนที่จะไปใช้ชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสเมื่อใดที่ไม่อาจจะอยู่ในเมืองไทยต่อไปได้ หากต้องประสบเคราะห์กรรมเสียก่อนที่จะมีโอกาสเช่นนั้น

การที่ต้องดำรงตนอยู่อย่างโดดเดี่ยวภายใต้ร่มพระบารมีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยปราศจากมิตรแท้ในแวดวงราชการไทย ทำให้ฟอลคอนมีความไม่ไว้วางใจบุคคลต่างๆ ที่มาเกี่ยวข้องด้วย โดยเลือกคบหาเฉพาะบุคคลที่จะอื้อประโยชน์ให้เท่านั้น สำหรับบุคคลที่มีพฤติกรรมขัดผลประโยชน์นั้น ฟอลคอนจะถือว่าเป็นศัตรูที่จะต้องกำจัดให้พ้นไป กลุ่มบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจาก คอนสแตนติน ฟอลคอน ก็คือคณะผู้สอนศาสนาและบาทหลวงฝรั่งเศส เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ทางฝ่ายผู้สอนศาสนาและบาทหลวงได้ฟอลคอนเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจในเมืองไทย ในฐานะที่สามารถเข้าถึงพระเจ้าแผ่นดินโดยตรง ในขณะที่ฟอลคอนก็ได้อาศัยบุคคลกลุ่มนี้ในการสร้างความเชื่อถือและไว้วางใจของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส ตลอดจนสำนักวาติกัน สำหรับตัวแทนการค้าชาวต่างประเทศนั้น, ฟอลคอนจะเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกันไปแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่ม โดยการอ้างนโยบายในการรักษาผลประโยชน์ของราชสำนักเป็นหลัก

foncon8.jpg
foncon8.jpg (61.67 KiB) เปิดดู 8878 ครั้ง



๓. พฤติกรรมต่างๆ ของ คอนสแตนติน ฟอลคอน จะถูกจะผิด หรือจะดีจะร้ายประการใด เป็นเหตุการณ์ที่ได้ผ่านไปนานแล้วกว่า ๓ ศตวรรษ และปราศจากหลักฐานที่เชื่อถือได้สำหรับวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ฟอลคอนมิใช่คนไทย และมาอยู่เมืองไทยเพียง ๑๓ ปี เพื่อสร้างฐานะ ดังนั้นจึงไม่อาจคาดหวังว่าจะมีความรักและความผูกพันอย่างสุดซึ่งกับเมืองไทยและคนไทย กระนั้นก็น่าจะต้องยอมรับว่าฟอลคอนมีความเคารพรักและเทิดทูนสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ได้บันดาลให้ฟอลคอนและครอบครัวได้รับความสุขและความเจริญอย่างไม่อาจคาดหมายมาก่อน การที่ คอนสแตนติน ฟอลคอน ถูกกำจัดจนถึงสิ้นสุดชีวิตก็มีสาเหตุทางการเมืองและความมั่นคงของชาติ ตลอดจนความรู้สึกเกลียดชังเป็นส่วนตัวของกลุ่มคนไทยที่เป็นปรปักษ์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานในด้านของคนไทยที่จะระบุชัดเจนว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน โดยแท้จริงแล้ว เป็นคนอย่างไร

เนื่องจากฟอลคอนได้ติดต่อใกล้ชิดกับชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาเมืองไทยในช่วงเวลาประมาณ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๒๒๘-๓๐/ค.ศ. ๑๖๘๕-๘๗) และมีชาวฝรั่งเศสบางคนได้บันทึกประสบการณ์อันเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้ พอที่จะมองเห็นได้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นคนอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจก็คือภาพ คอนสแตนติน ฟอลคอน จากประสบการณ์ของชาวฝรั่งเศสว่าเป็น “คนอย่างไร” มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยบางคนเห็นว่าฟอลคอนเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีเหตุผล, ขณะที่บางคนกลับเห็นว่าเป็นคนมักได้ชอบเงิน, และมีความอาฆาตพยาบาท ทุกๆเหตุผลเป็นเพียงการสันนิษฐาน ไม่มีผู้ใดล่วงรู้อดีตเราจึงทำได้เพียงคาดเดาจากหลักฐานที่หลงเหลือมายังปัจจุบัน

ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๑๒- ๑๒๓
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย ภาษาสยาม » ศุกร์ 23 มี.ค. 2018 10:34 am

เจ้าพระยาโกษาเหล็กเกิดในปี พ.ศ. ๒๑๗๕ เพราะอยู่ในวัยเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์ แต่มิทราบนามเดิมและนามบิดาของท่าน เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) หรือเจ้าพระยาโกศาเหล็กนี้มีน้องชายคนหนึ่ง คือ เจ้าพระโกษาธิบดี (ปาน) ซึ่งก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในประวัติศาสตร์สมัยแผ่นดินของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่า บิดาของท่านเป็นขุนนางเชื้อสายมอญ และบอกว่า ท่านมีน้องสาวอีกคน ชื่อ แช่ม หรือ ฉ่ำ)

kosa_lek_resize.jpg
kosa_lek_resize.jpg (55.11 KiB) เปิดดู 8871 ครั้ง



แม้จะมิใช่เป็นกษัตริย์ยอดนักรบ ทว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) นี้ ก็นับเป็นวีรบุรุษคนสำคัญอีกคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เช่นกัน เพราะก่อนหน้าที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น ท่านเป็นเสมียนยอดนักรบคู่ใจของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า “ขุนเหล็ก”


พ.ศ. ๒๒๒๔ ปีนั้น พม่าตามพวกมอญเข้ามาในเขตไทย ขันเหล็กก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาโกษธิบดี (เหล็ก) ในตำแหน่งแม่ทัพใหญ่นำทัพออกไปรับมือกับพม่า ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็สามารถนำทัพเข้าต่อสู้โรมรันกับพม่าจนแตกพ่ายไปได้ในที่สุด


พ.ศ. ๒๒๒๕ สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ไปรับมือกับศึกพระเจ้าอังวะที่เข้ามาล่วงล้ำรุกรานไทย


ศึกครั้งนั้นเป็นครั้งใหญ่กำลังพลของแต่ละฝ่ายนับได้ร่วมแสนคน ซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) มิได้เป็นแม่ทัพใหญ่ที่เตรียมการรุกและรับอย่างเดียว แต่ท่านได้ศึกษาการรบตามหลักพิชัยสงครามอย่างละเอียดรอบคอบ จนทำให้เอาชัยชนะพม่าได้อีกคำรบหนึ่ง การเอาชนะพม่าได้ในครั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้แสดงปรีชาสามารถในเชิงจิตวิทยา ครั้งหนึ่งได้แต่งหนังสือเป็นเชิงท้าทายพม่าให้ออกมาสู้รบกันข้างนอกเมืองด้วยเพราะได้ล้อมพม่าไว้เป็นเวลานาน จนใกล้จะขาดแคลนเสบียงอาหารแล้ว


ชั้นเชิงในการแต่งหนังสือนั้นทำให้พม่าเสียทีหลงกลไทยเป็นเหตุให้แพ้พ่ายแก่ไทยในที่สุด เมื่อชนะแล้วก็ยังได้ส่งหนังสือเข้าไปยังเมืออังวะอีก จนเป็นเหตุให้เมืองอังวะคิดว่าเป็นกลลวงอีกคำรบหนึ่ง จึงรู้สึกขยาดและครั่นคร้ามต่อกองทัพไทยเป็นยิ่งนัก หลังจากนั้นก็มิปรากฏว่าอังวะจะกล้ายกทัพออกจากเมืองมารุกรานไทยอีกเป็นเวลานานทีเดียว


เจ้าพระโกษาธิบดี (เหล็ก) ท่านเป็นแม่ทัพไทยที่มีความช่ำชองในการศึกษา และมีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญสมกับเป็นแม่ทัพใหญ่ ในเชิงพิชัยยุทธ์นั้นท่านมีความเฉลียวฉลาดและลึกซึ้งเป็นยิ่งนัก จึงกล่าวได้ว่าท่านกรำศึกษาอย่างโชกโชน คู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระนารายณ์


พ.ศ. ๒๒๒๖ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ได้เกิดล้มป่วยลงเนื่องจากผ่านการรบทัพจับศึกมาอย่างตรากตรำลำบากเป็นเวลานาน ซึ่งในระหว่างที่ล้มป่วยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงให้บรรดาแพทย์หลวงทั้งปวงมาทำการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ด้วยเพราะทรงรักใคร่เป็นห่วงเป็นใยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เสมือนหนึ่งดั่งพี่น้องแท้ ๆ ของพระองค์ แต่ทว่าในที่สุดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ก็ถึงแก่อสัญกรรมท่ามกลางความโศกเศร้าเสียพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งกล่าวกันว่าทรงหลั่งน้ำพระเนตรด้วยความอาลัยรักในขุนศึกซึ่งเปรียบเป็นเสมือนพระสหายสนิท และเป็นทั้งพี่น้องที่เห็นกันมาตั้งแต่ยังพระเยาว์ (ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี กล่าวว่าท่านถึงแก่อสัญกรรม เนื่องจากเมื่อมีการสร้าง ป้อมปราการ จำเป็นต้องมีการเกณฑ์แรงงานในการก่อสร้าง แต่บางคนไม่อยากทำจึงนำเงินไปให้ท่าน และท่านได้กราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระนารายณ์ว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างป้อมปราการ ท่านจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์สั่งลงทัณฑ์โดยการเฆี่ยนจนถึงอสัญกรรม)


สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงทำการฌาปนกิจศพเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) อย่างยิ่งใหญ่สมเป็นเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ได้ทรงสนับสนุนให้นายปานผู้เป็นน้องชายคนเดียวของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่แทนพี่ชายสืบต่อไป


King-6-768x444.jpg
King-6-768x444.jpg (86.14 KiB) เปิดดู 8876 ครั้ง


ในภาพคือ คณะราชทูตที่เดินทางไปเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่ห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายส์ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๒๒๙ ได้แก่ ซ้าย-ออกพระวิสูตรสุนทร ราชทูต, กลาง-ออกหลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต, ขวา-ออกขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต


เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต (บัว) ซึ่งเป็นพระนมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับขุนนางเชื้อสายมอญ เกิดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเอกาทศรถ เป็นเอกอัครราชทูตคนสำคัญ และท่านได้เดินทางไปพร้อมกับเชอวาเลีย เดอ โชมองต์ โดยขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็นออกพระวิสุทธิสุนทร ท่านได้อยู่ประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา ๖ เดือนท่านจึงกลับสยาม ภายหลังท่านถึงแก่อสัญกรรมในสมัยสมเด็จพระเพทราชา


นอกจากนี้เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ท่านยังเป็นบิดาของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) และเป็นปู่ของ พระยาราชนิกูล (ทองคำ) ซึ่งเป็นบิดาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกผู้เป็นพระปฐมวงศ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี

ชีวิตการรับราชการ ท่านได้ดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่างปี พ.ศ.๒๒๐๐-๒๒๒๖ ในเวลาต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระวิสูตรสุนทร โดยในสมัยที่โกษาปานดำรงตำแหน่งเป็นออกพระวิสูตรสุนทรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ซึ่งในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประเทศฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักเป็นอย่างมาก สำหรับจุดประสงค์ของฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาก็คือ ต้องการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และพยายามให้พระนารายณ์มหาราชเข้ารีตเป็นศริสต์ชนด้วย รวมทั้งพยายามที่จะมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยา ด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด

โกษาปาน หรือ ออกพระวิสูตรสุนทร ได้ออกทางไปประเทศฝรั่งเศส เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๒๒๙ และเดินทางกลับเมื่อ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๒๓๐ รวมเดินทางไปกลับอยุธยาฝรั่งเศสทั้งหมด ๑ ปี ๙ เดือน ออกพระวิสูตรสุนทร เป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกในสิ่งที่ได้พบเห็นระหว่างการเดินทางอย่างละเอียด

สำหรับการเข้าเฝ้าในครั้งนี้ ออกพระวิสูตรสุนทร ได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของราชสำนักอยุธยาอย่างถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีการเข้าเฝ้า จนชาวฝรั่งเศสได้กล่าวยกย่องชื่นชมคณะทูตไทย ซึ่งถือได้ว่าการไปเจริญสัมพันธไมตรีในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
การเจริญสัมพันธไมตรีของออกพระวิสูตรสุนทรและคณะราชทูตในครั้งนี้ได้สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือไปทั่วในทวีปยุโรป เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินทางด้านตะวันออกแต่งคณะราชทูตไปยังสำนักฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ทรงจัดการรับรองคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้จัดทำเหรียญที่ระลึกและมีการเขียนรูปราชทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส เป็นที่ระลึกอีกด้วย ทั้งนี้ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเรื่องความสามารถทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ และจากบุคลิกของท่านที่เฉลียวฉลาด มีมารยาทเรียบร้อย ช่างสังเกต ช่างจดจำ พูดจาหลักแหลมคมคาย ทำให้ท่านประสบความสำเร็จในการประกาศชื่อเสียง และเกียรติคุณของประเทศชาติ จากผลงานการเป็นหัวหน้าคณะราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสจนประสบผลสำเร็จของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ทำให้ไทยรอดพ้นจากการคุกคามของฮอลันดา

หลังจากที่ได้สิ้นรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราชแล้วนั้น ออกพระวิสูตรสุนทรได้เข้าเป็นฝ่ายของพระเพทราชา (สมเด็จพระเพทราชา พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๒๘ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา) โดยออกพระวิสูตรสุนทรได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เจรจากับนายพลฝรั่งเศสที่คุมป้อมอยู่ที่เมืองบางกอกให้ถอนทหารออกไปจากอาณาจักรไทยได้สำเร็จ และด้วยความที่ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) เป็นชายหนุ่มที่มีรูปงาม กิริยามารยาทเรียบร้อย มีไหวพริบดีรู้จักโต้ตอบ ได้ถูกเรื่องราวและกาลเทศะ ไม่มีอาการประหม่าสะทกสะเทิ้นเขินอาย เป็นคนช่างสังเกตจดจำสิ่งที่พบเห็นได้ทุกอย่าง เมื่อเปลี่ยนแผ่นดินเป็นสมเด็จพระเพทราชานั้น พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนซื่อสัตย์ต่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อเห็นว่าสมเด็จพระเพทราชากระทำการไม่สมควรคือ แต่งตั้งทั้งพระมเหสีและพระขนิษฐาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมเหสี โกษาปานก็ได้เตือนสมเด็จพระเพทราชาว่าไม่สมควรที่จะแต่งตั้งดังนั้น แต่สมเด็จพระเพทราชาไม่ทรงเห็นด้วย และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระเพทราชานั้นทรงกริ้วโกษาปานเป็นอย่างมาก จึงหาเหตุให้ต้องพระราชอาญา เมื่อ พ.ศ.๒๒๔๓ ภรรยาตลอดจนทรัพย์สมบัติของท่านก็ถูกริบจนหมดและมีโทษโบยด้วยเชือกจนสลบ โดยได้เล่ากันต่อมาว่า หลังของท่านไม่มีเนื้อดีเลย จนทำให้ท่านไม่กล้าที่กราบทูลเรื่องสำคัญแก่สมเด็จเพทราชาเลย เพราะเกรงกลัวพระราชอาญา จนในที่สุดก็ถึงแก่อสัญกรรม


โดยเรื่องการถึงแก่อสัญกรรมของ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น ได้มีการระบุเอาไว้ในจดหมายของบาทหลวงกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยาม ที่ได้ส่งถึงบาทหลวงบริซาซิเยร์ (Jacques-Charles de Brisacier) ผู้อำนวยการคณะมิสซังต่างประเทศ กรุงปารีส เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๒๔๓ มีเนื้อหากล่าวถึงการลงอาญาและประหารชีวิตขุนนางที่ส่งไปปราบกบฏที่เมืองนครราชสีมาจำนวนมาก รวมถึงเรื่องการมรณกรรมของโกษาปานซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้าสองเดือนแล้ว มีใจความสำคัญดังนี้

เจ้าพระยาพระคลังหาได้อยู่ในจำพวกขุนนางที่ถูกประหารชีวิตไม่ เพราะได้ตายเสียก่อนสองเดือนมาแล้ว เขาพูดกันว่าที่ตายนี้ก็เพราะถูกเฆี่ยนตายทั้งเสียใจที่ตัวต้องถูกเฆี่ยนและถูกลงอาญาบ่อยๆ ด้วย เพราะ ๔ ปีมาแล้วที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกริ้วและได้เอาพระแสงดาบตัดปลายจมูกเจ้าพระยาพระคลัง ตั้งแต่นั้นมาเจ้าพระยาพระคลังก็ต้องรับพระราชอาญาเรื่อยมา เพราะพระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงไว้พระทัยเสียแล้ว ก่อนที่เจ้าพระยาพระคลังจะตายนั้น บุตรสาวคนโตและบุตรชายสองสามคนกับภรรยาน้อยของเจ้าพระยาพระคลังได้ถูกจับตัวไป จึงได้เกิดลือกันว่าเจ้าพระยาพระคลังมีความเสียใจนักจึงได้เอามีดแทงชายโครงฆ่าตัวเองตาย

การที่เจ้าพระยาพระคลังตายนี้พระเจ้าแผ่นดินก็ออกตัวได้ดี ได้ทรงแกล้งทำเสียพระทัยว่าเจ้าพระยาพระคลังได้ถึงอสัญกรรมเสียแล้ว จึงได้โทษว่าหมอจีนซึ่งเป็นผู้รักษาเจ้าพระยาพระคลังได้เอายาพิษให้เจ้าพระยาพระคลังรับประทานจึงได้พระราชทานรางวัลโดยให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหมอคนนั้นและให้เฆี่ยนทั้งหลังและท้องด้วย เวลากลางคืนได้ยกศพเจ้าพระยาพระคลังไปฝังไว้ยังวัดหาได้มีการทำบุญให้ท่านอย่างใดไม่ และมิได้ทำการศพให้สมกับเกียรติยศ ซึ่งต้องมีการแห่ศพไปไว้ยังโรงทึมและเผาตามธรรมเนียม

นี่แหละเป็นที่สิ้นชื่อของอัครราชทูตสยามที่ได้ไปเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส และเป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ปัจจุบันนี้ด้วย ออกญาพิพัฒน์ผู้ช่วยของเจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นคนอัธยาศัยดีคงทำการให้พระเจ้าแผ่นดินโปรดอยู่เสมอ แต่ออกญาพิพัฒน์ก็พูดอยู่เสมอว่ามิช้ามิเร็วก็คงจะถูกเหมือนอย่างคนทั้งหลายเหมือนกัน

ส่วนครอบครัวของโกษาปานก็ได้แตกฉานซ่านเซ็นไปอยู่คนละทิศละทาง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย คุณทองดีซึ่งเป็นหลานปู่ของโกษาปานได้อพยพไปอยู่กับเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงบได้มาตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ตำบลสะแกกรัง เมืองอุทัยธานี ซึ่งในเวลาต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) ได้เสกสมรสกับพระอัครชายา (หยก) และมีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ พระองค์ โดยบุตรคนที่ ๔ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือมีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” ปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเท่ากับว่า เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) นั้น นับได้ว่าเป็นเทียดของรัชกาลที่ ๑ เลยทีเดียว
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

โพสต์โดย น้ำฟ้า » ศุกร์ 23 มี.ค. 2018 2:26 pm

พระปีย์ โอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

download.jpg
download.jpg (9.62 KiB) เปิดดู 8871 ครั้ง


พระปีย์ (Pra Py) หรือ ออกพระปีย์ (Ophra Py) หรือ หม่อมปีย์ (Monpit) หรือ พระปิยะ เป็นพระราชโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังได้ถูกสำเร็จโทษโดยพระเพทราชาในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ด้วยเหตุผลทางการเมือง

พระปีย์ อันมีความหมายว่า "ผู้เป็นที่รัก" ไม่ปรากฏประวัติส่วนตัวมากนัก ปรากฏเพียงว่าเป็นบุตรของขุนไกรสิทธิศักดิ์ ชาวบ้านแก่ง ขุนนางชั้นผู้น้อยในเมืองพิษณุโลก โดยในช่วงเวลาที่พระปีย์เกิดนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับเลี้ยงดูเด็กเล็กมาอุปถัมภ์ในพระราชวังหลายคนโดยเลี้ยงดุจลูกหลวง แต่หากเด็กคนใดร้องไห้อยากกลับไปหาพ่อแม่เดิมก็ทรงอนุญาตส่งตัวคืน แต่ลาลูแบร์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า "...พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเลี้ยงไว้จนกระทั่งเด็กนั้นมีอายุได้ ๗ ถึง ๘ ขวบ พ้นนั้นไปเมื่อเด็กสิ้นความเป็นทารกแล้วก็จะไม่โปรดอีกต่อไป..." พระปีย์จึงถูกถวายตัวแด่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยมีรูปพรรณต่ำเตี้ยพิการค่อมแคระ สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระกรุณาเรียกว่า อ้ายเตี้ย และเป็นที่โปรดปรานด้วยมีโวหารดี พูดจาไพเราะอ่อนหวาน มีการโจษจันกันว่าพระปีย์อาจเป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงวางเฉยกับเรื่องพระปีย์เป็นโอรสลับเสียด้วย

สมเด็จพระนารายณ์เองก็ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระปีย์อภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดา แต่กรมหลวงโยธาเทพไม่ทรงยินยอมพร้อมพระทัยด้วยและขัดขืนพระราชหฤทัยพระราชบิดา เพราะพระปีย์มีพื้นฐานชาติตระกูลต่ำต้อย หรืออาจเป็นเพราะเจ้าหญิงทรงมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันกับเจ้าฟ้าน้อยอยู่ก่อนแล้วก็ได้ ตามที่บันทึกของบาทหลวง เดอะ แบสระบุว่า

"ฝ่ายเจ้าฟ้าหญิงนั้น ครั้นทรงได้รับแจ้งพระราชดำริ ก็ทรงไม่ยินยอมพร้อมพระทัยด้วย ชะรอยจะทรงมีความหยิ่งในราชสมภพ ดังที่เธอทรงแสดงอยู่ให้ประจักษ์ จึงไม่อาจลดพระองค์ลงมาอภิเษกกับบุคคลในชั้นไพร่ได้ หรือชะรอยจะเป็นดังที่คนทั้งหลายเข้าใจกันอยู่ กล่าวคือเธอมีน้ำพระทัยโน้มน้าวและผูกพันในทางอภิเษกสมรสมาแต่ก่อนกับพระปิตุลา [สมเด็จเจ้าฟ้าน้อย] อยู่แล้ว ...เธอก็ยังทรงยึดมั่นในพระราชดำริดั้งเดิมของในหลวงที่จะอภิเษกเธอให้แก่เจ้าชายองค์นั้นอยู่เสมอ แต่เรื่องได้ดำเนินไปอย่างลับ ๆ ดังที่กระผม [บาทหลวงโกลด เดอ แบซ] ได้ยินเขาพูดกันมา ว่าแม้ในหลวง หรือ นายกงส์ต็องส์ [เจ้าพระยาวิชเยนทร์] ก็มิได้ล่วงรู้ระแคะระคายเลย ในหลวงทรงขัดพระทัยเป็นอันมาก ในการที่พระราชธิดาทรงขัดขืนพระราชประสงค์อย่างหนักแน่น ไม่ทรงยินยอมอภิเษกสมรสกับพระปีย์..."

ทั้งนี้พระปีย์มักตกเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ให้เป็นรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ ด้วยเขามองว่าพระปีย์ไม่มีพิษภัย มีใจโอนอ่อนทางคริสต์ศาสนา ด้วยเหตุนี้เจ้าพระยาวิชเยนทร์จึงหวังผลที่จะให้พระปีย์เป็นกษัตริย์เพื่อรักษาอำนาจและอิทธิพลของตน และหวังใจให้เป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่นับถือคริสต์ศาสนา นอกจากนี้พระปีย์ยังมีส่วนร่วมในการก่อกบฏเมื่อครากบฏมักกะสัน นีกอลา แฌร์แวสเป็นผู้เดียวที่ระบุว่า แขกมักกะสันจะลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์แล้วเลือกพวกเดียวกันขึ้นครองบัลลังก์ " หรือมิเช่นนั้นถ้าชาวสยามยังไม่คุ้นชินกับเจ้าต่างชาติ ก็จะยกบัลลังก์ให้พระราชโอรสบุญธรรมของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกซื้อได้ไม่ยาก โดยทรงยอมเข้าพิธีสุหนัต..."

ปลายรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระปีย์ได้อยู่รับใช้สนองพระยุคลบาทพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระประชวรหนัก ขณะที่พระปีย์กำลังล้างหน้าริมหน้าต่างยามเช้า ก็ถูกขุนพิพิธรักษา สมุนของหลวงสรศักดิ์ผลักจนพลัดตกลงจากหน้าต่าง ก่อนถูกพระเพทราชาจับไปสำเร็จโทษเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ และทิ้งศพไว้ที่วัดซาก ส่วนสาเหตุที่กำจัดพระปีย์ก็เพราะพระปีย์เป็นผู้หนึ่งที่มีสิทธิในการสืบราชบัลลังก์

อนึ่งในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ กรมศิลปากรได้ทำการขุดสำรวจบริเวณที่ดินเอกชนผืนหนึ่งตรงข้ามวัดสันเปาโล และพบโครงกระดูกมนุษย์สองโครงห่างกัน ๕ เมตร โดยโครงกระดูกโครงแรกมีรูปพรรณเตี้ย สูงเพียง ๑๔๐ เซนติเมตร สวมแหวนหินที่นิ้วมือ กระดูกหน้าแข้งหัก และไม่มีศีรษะ จึงสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโครงกระดูกของพระปีย์ ส่วนอีกโครงหนึ่งมีรูปกายสูงใหญ่ สันนิษฐานว่าอาจเป็นเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) และสันนิษฐานว่าอาจมีผู้นำศพของทั้งสองมาฝังตามธรรมเนียมคริสต์ศาสนา ณ บริเวณดังกล่าว

"เรื่องเล่า ครบรอบ ๓๒๖ ปี สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคตด้วยเหตุแห่งการรัฐประหาร". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑล
กรุงเทพฯ. ๑๖ กันยายน ๒๕๕๗. ขุดพบกระดูกมนุษย์สมัยพระนารายณ์ คาด 'พระปีย์-เจ้าพระยาวิชาเยนทร์'". ไทยรัฐออนไลน์. ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗.

ย้อนประวัติศาสตร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน พบหลักฐานถูกประหารจริง หลังเจอกระดูกไร้ส่วนหัวฝังข้างโบสถ์คริสต์ ส่วนใกล้กันพบกระดูกของพระปีย์

mSQWlZdCq5b6ZLkrg09j8fgAnAepttuQ.jpg
mSQWlZdCq5b6ZLkrg09j8fgAnAepttuQ.jpg (195.4 KiB) เปิดดู 8855 ครั้ง


คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีก ผู้ซึ่งมีบทบาททางการเมืองอย่างมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนที่สุดท้ายจะถูก พระเพทราชา สั่งประหารชีวิต สาเหตุเพราะฟอลคอนโดนนายพล เดอฟารจช์ หักหลัง เลยทำให้จุดจบเร็วขึ้น ส่วนเดอฟราจช์ก็ทำงานล้มเหลวไม่ได้แผ่นดินของกรุงศรีอยุธยาไปแม้แต่กระเบียดนิ้วเดียว ได้แค่ดีบุกที่ไปปล้นเอาจากเมืองถลางแล้วรีบลงเรือหนีกลับฝรั่งเศส ส่วนเรือก็ไปเจอพายุแตกกลางมหาสมุทรอินเดีย มีจุดจบไม่ต่างกัน

ส่วนหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๕๗ ทางกรมศิลปากร จังหวัดลพบุรี ได้ทำการขุดซากฐานอิฐที่บริเวณตรงข้ามกับวัดสันเปาโล โดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบสถ์คริสต์เก่าในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยพบโครงกระดูกมนุษย์ จำนวน ๒ โครง โครงกระดูกแรกเป็นมนุษย์มีความสูงไม่เกิน ๑๔๐ เซนติเมตร สวมแหวนหิน และอีกโครงอยู่ห่างกันไปประมาณ ๕ เมตร เป็นมนุษย์ร่างสูงใหญ่ แต่ไม่มีกะโหลกศีรษะ โดยคาดว่าน่าจะมีอายุราว ๆ ๓๐๐ กว่าปี

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ลพบุรี สันนิษฐานว่า โครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบนี้น่าจะเป็นของ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่ถูกประหารชีวิต ส่วนอีกโครงกระดูกนั้นน่าจะเป็นของพระปีย์ พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ถูกพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ สำเร็จโทษ เนื่องจากมีความสูงเพียง ๑๔๐ เซนติเมตร คาดว่าหลังการสำเร็จโทษทั้งสองแล้ว มีคนนำร่างของทั้งคู่มาฝังตามธรรมเนียมของศาสนาคริสต์ในบริเวณดังกล่าว
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 26 มี.ค. 2018 10:29 am

พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)

page-23.jpg
page-23.jpg (191.24 KiB) เปิดดู 7853 ครั้ง


พระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว) เกิดเมื่อปีใดไม่ปรากฏ บิดาคือพระยาศรีเนาวรัตน์ (อากามะหะหมัด) มารดาชื่อท่านชี เป็นน้องชายของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) เริ่มรับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนได้เป็นหลวงศรียศ (แก้ว) ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจุฬาราชมนตรีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่ทราบว่าเสียชีวิตเมื่อใด

ช่วงที่ท่านเป็นจุฬาราชมนตรีอยู่นั้น เป็นช่วงที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เรืองอำนาจและมีความขัดแย้งระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในราชอาณาจักรมาก และคาดว่าท่านเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เอ่ยถึงว่าลงไปเจรจาที่เมืองปัตตาเวีย เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมะละกาในจดหมายที่เขาส่งถึงบาทหลวงเดอลาแซ

พระยาจุฬาราชมนตรี ยังเป็นน้องชายของเจ้าพระยาศรีไสยหาญณรงค์ (ยี) มีศักดิ์เป็นหลานตาของเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) ซึ่งเฉกอะหมัด ได้เข้ามาตั้งรกรากที่กรุงศรีอยุธยา ค้าขายจนกลายเป็นเศรษฐีใหญ่ ช่วยปรับปรุงราชการกรมการท่าจนได้ผลดี สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาเฉกอะหมัดรัตนราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าขวา และ เป็นปฐมจุฬาราชมนตรีคนแรกในสยาม นับเป็นผู้ที่นำพาศาสนาอิสลามนิกายชีอะหฺอิษนาอะชะรียะหฺ มาสู่ไทย และท่านยังเป็นต้นตระกูลบุนนาค ในเมืองไทยอีกด้วย

ในปัจจุบันคนที่ใช้นามสกุลบุนนาคส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ทั้งที่ต้นตระกูลเป็นมุสลิม (ชีอะห์) ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยามีความตอนหนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ณ เดือนแปดแรมสิบค่ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนัก จนสะอึกสามชั้น ต่อกลางคืนตีสิบเอ็ดจึงคลาย ครั้นเดือนสิบสองขึ้น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมโพธน์พระพุทธบาท เป็นกระบวนรับเสด็จพัก ณ พระตำหนักท่าเจ้าสนุก แล้วทรงพระวอขึ้นไปประทับร้อนบ่อโศก เพลาเย็นเสด็จไปถึงท้ายพิกุล ครั้นสมโพธน์พระพุทธบาทครบเจ็ดวันแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับยังกรุงเทพพระนครศรีอยุธยา"

ในการเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบาทครั้งนั้น ข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนคงยินดีที่พระเจ้าอยู่หัวหายประชวร ต่างคนก็ต่างอยากตามเสด็จ แต่พระยาเพ็ชร์พิไชย (ใจ) ไม่มีชื่ออยู่ในจำนวนที่โปรดให้ตามเสด็จในกระบวน พระยาเพ็ชร์พิไชยจึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานตามเสด็จด้วย พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่าพระยาเพ็ชร์พิไชยเป็นแขก ไม่ควรไปนมัสการพระพุทธบาท แต่ถ้าทิ้งเพศแขกมาเข้ารีดไทย จึงจะให้ตามเสด็จ พระยาเพ็ชร์พิไชยกราบบังคมทูลว่า เต็มใจที่จะเป็นไทยตามพระบรมราชประสงค์ จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยาเพ็ชร์พิไชยตามเสด็จไปด้วย ครั้นเสด็จถึงพระพุทธบาทแล้ว พระยาเพ็ชร์พิไชยได้รับศีล ปฏิญาณ เป็นพุทธศาสนิกชนต่อสมเด็จพระสังฆราช หน้าที่นั่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน นี่เป็นต้นเหตุให้วงศ์เฉกอะหมัดละศาสนาเดิมมาถือพุทธศาสนา และเมื่อเสด็จกลับพระนครแล้ว พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย และให้ว่าราชการที่สมุหนายกด้วย

ลูกหลานของท่านเฉกอะหมัดนับถือศาสนาอิสลามมาจนถึง พระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ถือเป็นตระกูลเฉกอะหมัดชั้นที่ ๔ ท่านเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และท่านให้ลูกชายท่าน ๒ คน คือ เสน กับ หนู เปลี่ยนมาเป็นพุทธ ส่วนคนโตคือ เชน ให้นับถืออิสลามต่อไป

ซึ่ง "เชน" บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนที่ ๔ แห่งอยุธยา และบุตรของท่านชื่อ "ก้อนแก้ว" ต่อมาภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑

ผู้สืบเชื้อสายท่านเฉกอะหมัดในชั้นที่ ๖ นั้นมีท่านหนึ่งที่ถือเป็นต้นสกุลบุนนาค คือ "นายบุนนาค" เป็นบุตรเจ้าพระยามหาเสนา (เสน) เมื่อตอนเด็ก ๆ นั้นนายบุนนาคเคยเป็นเพื่อนสนิทกับ นายสินบุตรจีนแต้ไหฮอง (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นขึ้นครองราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี) ส่วนเพื่อนอีกคนคือนายทองด้วง บุตรหลวงพินิจอักษร (ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)

เมื่อเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกแล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งผู้ที่เคยทำความดีความชอบให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ นายบุนนาค หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม และ นายก้อนแก้ว หลานพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี คนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑

เจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี (บุนนาค) ถึงแก่อสัญกรรมในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ รวมอายุ ๖๗ ปี ถือว่าท่านเป็นต้นสกุลนับชั้นที่ ๑ ของสายสกุลบุนนาค และนับเป็นชั้นที่ ๖ ที่สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด)

วงศ์เฉกอะหมัดอันรวมเป็นวงศ์เดียวกันมา ๕ ชั่วคนนั้น ตั้งแต่ชั้นที่ ๖ นี้ไปแยกออกไป ๕ สาย และเมื่อครั้งตั้งนามสกุลคนไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สายหนึ่ง ๆ ยังแยกออกเป็นหลายสกุล

จะเห็นได้ว่าสายตระกูลเฉกอะหมัด จะแตกออกเป็น ๒ สายในชั้นที่ ๔ ของวงศ์ตระกูล แตกออกเป็นที่นับถือศาสนาพุทธ และที่นับถือศาสนาอิสลาม

สายที่นับถือศาสนาพุทธ คือ ท่านเสนกับท่านหนู บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น บุนนาค จาติกรัตน์ บุรานนท์ ศุภมิตร ภานุวงศ์ วิชยาภัย ศรีเพ็ญ ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลเข้ารับราชการต่อเนื่องกันมาตลอดจนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีที่ทรงอำนาจในหลายรัชกาล และเป็นที่ยินดีเมื่อสกุลนี้มีผู้สืบสกุลที่รับราชการทำความดีความชอบจนได้รับพระราชทานตำแหน่งสูงสุดคือ "สมเด็จเจ้าพระยา" มากถึง ๓ ท่าน ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คือตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี"

สายที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่าน เชน บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) มีสกุลภายหลัง เช่น อหะหมัดจุฬา จุฬารัตน อากาหยี่ ชิตานุวัตร์ ช่วงรัศมี บุญยรัตกลิน ฯลฯ ซึ่งสายนี้มีลูกหลานที่สืบสกุลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่ ๒๑ จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ในต้นรัชกาลที่ ๙ รวมทั้งสิ้น ๑๓ ท่าน

สายสกุลนี้ ถือเป็นสกุลหนึ่งที่เก่าแก่และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอดีต เนื่องเพราะบรรพชนในสกุลนี้ตั้งแต่ปฐมวงศ์เป็นต้นมาเข้ารับราชการสนองคุณแผ่นดินโดยแต่ละท่านล้วนได้ครองตำแหน่งเสนาบดีอันถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดในราชการแทบทุกคน นับเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านเลยมา ๔๑๖ ปีแล้ว ถือเป็นสกุลหนึ่งที่มีเครือญาติมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ที่มา : โบราณนานมา , news.muslimthaipost.com , สำละ วรนิวัฒน์. การเผยแพร่อิสลามในสยาม ใน มุสลิมมัสยิดต้นสนกับบรรพชน ๓ ยุคสมัย
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: จากอดีตสู่ความทรงจำ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 08 พ.ค. 2018 7:15 pm

'กรมขุนวิมลภักดี' ในละคร หรือ กรมขุนวิมลพัตร พระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

Dbt9x5uVAAAAsqf_resize.jpg
Dbt9x5uVAAAAsqf_resize.jpg (79.22 KiB) เปิดดู 7790 ครั้ง


กรมขุนวิมลพัตร หรือ กรมขุนวิมลวัต เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระอัครมเหสีในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระองค์ถูกกวาดต้อนไปประทับ ณ พระราชวังหลวงอังวะจนกระทั่งสวรรคต

กรมขุนวิมลพัตรมีพระนามเดิมว่าพระองค์เจ้าแมงเม่า บางแห่งออกพระนามว่า เม้า หรือเมาฬี "บัญชีพระนามเจ้านาย" ในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่าพระองค์เป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศรี มีพระเชษฐาและพระภคินีร่วมพระชนกชนนีคือ พระองค์เจ้าหญิงผอบ, พระองค์เจ้าชายสถิต, พระองค์เจ้าชายพงศ์ และพระองค์เจ้าชายแตง

พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า หลังสงครามพระเจ้าอลองพญาในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ สมเด็จพระอนุชาธิราชให้สึกพระองค์เจ้าแมงเม่าจากชี นำมาถวายเป็นบาทบริจาริกาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาจึงทรงยกเจ้าแมงเม่าเป็นพระอัครมเหสี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาขึ้นเป็นกรมขุนวิมลพัตร และทรงให้มเหสีอื่น ๆ มียศถาบรรดาศักดิ์เสมอกัน ส่วนบันทึกของบาทหลวงปีแยร์ บรีโก (Pierre Brigot) บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ระบุว่า "...ตั้งแต่สมัยก่อน ๆ มา พระราชโองการของพระเจ้าแผ่นดินเท่ากับเป็นกฎหมายในเมืองนี้ ครั้งมาในบัดนี้ เจ้านายผู้หญิงทุกองค์ก็มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการก็ต้องเปลี่ยนกันอยู่เสมอ..."

กรมขุนวิมลพัตรมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือเจ้าฟ้าหญิงสิริจันทรเทวี บางแห่งออกพระนามเป็นศรีจันทเทวี (คำให้การขุนหลวงหาวัด) หรือเจ้าฟ้าน้อย (คำให้การชาวกรุงเก่า) หลังประสูติกาลมีการประโคมดนตรีสามครั้งตามโบราณราชประเพณี

พระราชอำนาจ
พระนางมีบทบาททางการเมืองระดับหนึ่ง ดังที่ปีแยร์ บรีโก บาทหลวงฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายเหตุบันทึกไว้ว่า "... บ้านเมืองแปรปรวน เพราะฝ่ายใน [พระราชชายา] ได้มีอำนาจเท่ากับพระเจ้าแผ่นดินผู้มีความผิดฐานกบฏ ฆ่าคนตายเอาไฟเผาบ้านเรือนจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่ความโลภของฝ่ายในให้เปลี่ยนเป็นริบทรัพย์สิน ริบได้ก็ตกเป็นของฝ่ายในทั้งสิ้น พวกข้าราชการเห็นความโลภของฝ่ายใน ก็แสวงหาผลประโยชน์กับผู้ต้องหาคดีให้ได้มากที่สุดที่จะหาได้ จะได้แบ่งเอาบ้าง ความเดือดร้อนลำเค็ญก็ยิ่งทับถมราษฎรมากขึ้น..." และบาทหลวงคนนี้ยังสรุปว่าการที่ฝ่ายในมีอำนาจนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้อาณาจักรอ่อนแอ และเป็นแบบอย่างให้เหล่าข้าราชการทำตาม

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, กรมขุนวิมลพัตร และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ต่างพากันหลบหนีพม่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์เสด็จสวรรคต พม่าตามจับกรมขุนวิมลพัตรพระมเหสี พระราชบุตร และพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ กวาดต้อนไปยังกรุงอังวะ โดยพระเจ้ามังระโปรดให้พระองค์รวมทั้งเจ้านายฝ่ายในพระองค์อื่นประทับอยู่ภายในพระราชวังหลวงอังวะ พระองค์ประทับอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสด็จสวรรคต



ที่มา : พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. พระราชพงศาวดารพม่า. นนทบุรี : ศรีปัญญา,๒๕๕๐. ,ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม ๓ เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, ๒๕๕๓.
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 61 ท่าน

cron