ประวัติศาสตร์ล้านนา

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 7:35 pm

46586_resize.jpg
46586_resize.jpg (93.89 KiB) เปิดดู 15246 ครั้ง

ขอบคุณภาพจากเว็บพลังจิต เครดิตตามภาพ

ประวัติศาสตร์ล้านนา โดย ศาสตราจารย์ อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว

ประวัติของท่าน เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ภาคีสมาชิก สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศศ.บ. ประวัติศาสตร์) และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ.ม. ประวัติศาสตร์) เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความเชียวชาญประวัติศาสตร์ล้านนา และมีความสามารถในการอ่านและเขียนอักษรธรรมล้านนา มีงานวิจัยที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยคอล์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น และได้รับประเมินความรู้เทียบเท่าปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล, ๒๕๓๗

ประสบการณ์
ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่สำนักวิจัยและแปซิฟิคศึกษา คณะเอเซียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย วิจัยเรื่อง กฎหมายมังรายศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๖
ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่ศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ญี่ปุ่น ทำวิจัยเรื่อง กฎหมายตราสามดวง พ.ศ. ๒๕๓๐
ศาสตราจารย์อาคันตุกะที่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ทำวิจัยเรื่อง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (The Chiang Mai Chronicle) พ.ศ. ๒๕๓๗
นักวิจัยร่วมที่สำนักวิจัยและแปซิฟิคศึกษา คณะเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ประเทศออสเตรเลีย เรื่องประวัติศาสตร์ล้านนาในสมัยราชวงศ์มังราย พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาสตราจารย์อาคันตุกะ (Visiting Fellow) ที่ศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต(Kyoto) ญี่ปุ่น “กลุ่มชาติพันธุ์ศึกษาจากเอกสารคัมภีร์โบราณ” พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๔๖
นักวิจัยร่วมที่สถาบันชาติพันธุ์วิทยา มหาวิทยาลัยมืนสเตอร์ (Munster) เยอรมัน เรื่อง The traditional Tai Policy of Lanna in the Eyes of Yuan and Ming พ.ศ. ๒๕๔๘

ตัวอย่างผลงานของศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว
๑.วัดร้างในเวียงเชียงใหม
๒.พจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน
๓.พจนานุกรมภาษาถิ่นเหนือ
๔.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (เขียนร่วมกับศ.เดวิด วัยอาจ)
๕.มังรายราชธรรมศาสตร์ (เขียนร่วมกับดร.กีฮาน วิชัยวัฒนา)
๖.กฎหมายตราสามดวง (เขียนร่วมกับศ.โยเนโอะ นิชิอิ)
๗.เรื่องเมืองเชียงตุง (บรรณาธิการ)
๘.ลัวะหรือละว้า:ศึกษาจากเอกสารใบลานและศิลาจารึก เป็นต้น
๙.พระพุทธรูปในล้านนา ๑๐.สังคมและวัฒนธรรมล้านนาจากคำบอกเล่า ๑๑.ชุมชนหมู่บ้านลุ่มน้ำขาน (เขียนร่วมกับพรพิไล เลิศวิชา) ๑๒.งานปริวรรตคัมภีร์โบราณล้านนา (บรรณาธิการ) ๑๓.ธรรมศาสตร์หลวง และธรรมศาสตร์ราชกือนา (ปริวรรต) ๑๔.ตำนานพญาเจือง (ปริวรรตและวิเคราะห์ ร่วมกับอานันท์ กาญจนพันธ์) ๑๕.เมืองในเขตล้านนา ๑๖.มังรายธรรมศาสตร์ (ปริวรรตและวิเคราะห์) ๑๗.ตำนานเมืองพะเยาและคร่าวซอคำเล่นเป็นแท้ (ปริวรรติ จินตนา มัธยมบุรุษ แปลเป็นภาษาไทย) ๑๘.วิเคราะห์กฎหมายล้านนาโบราณ : ประชุมกฎหมายครอบครัว (เขียนร่วมกับ ลมูล จันทร์หอม) ๑๙.ธรรมศาสตร์หลวงและคลองตัดคำ (ปริวรรต) ๒๐.สิทธิชุมชนท้องถิ่นพื้นเมืองดั้งเดิมล้านนา (เขียนร่วมกับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา, สมบัติ บุญคำเยือง, ลมูล จันทร์หอม) ๒๑.LanNa in Chinese Historiography (เขียนร่วมกับ Foon Ming Liew-Herres และ Volker Grabowsky) ๒๒.Inter-Ethnic Relations in the Making of Mainland Southeast Asia and Southwestern China (เขียนร่วมกับ Hayashi Yukio)
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 7:40 pm

ประวัติศาสตร์จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ (สมัยราชวงศ์มังราย และสมัยพม่าปกครอง)



เมืองเชียงใหม่มีชื่อที่ปรากฏในตำนานว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาไทยมาตั้งแต่พญามังรายได้ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ นับถึงปัจจุบันมีอายุร่วมเจ็ดร้อยปี และเมืองเชียงใหม่ได้มีวิวัฒนาการสืบเนื่องกันมาในประวัติศาสตร์ตลอดมา เชียงใหม่มีฐานะเป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย ประมาณ ๒๐๐ ปี (ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑) ในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ เชียงใหม่ได้เสียเอกราชให้แก่กษัตริย์พม่าชื่อบุเรงนอง และได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่านานร่วมสองร้อยปี จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงช่วยเหลือล้านนาไทยภายใต้การนำของพญากาวิละและพญาจ่าบ้าน ในการทำสงครามขับไล่พม่าออกไปจากเชียงใหม่และเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสถาปนาพญากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงเทพ และมีเชื้อสายของพญากาวิละซึ่งเรียกว่าตระกูลเจ้าเจ็ดตนปกครองเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน และลำปางสืบต่อมา จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราชได้ยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลพายัพ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงการปกครองแบบจังหวัด เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนปัจจุบัน

เพื่อให้สะดวกในการอ่านเรื่องราวของเชียงใหม่และล้านนาไทย จึงขอแบ่งยุคสมัยใน ประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่เป็น ๔ สมัย ดังนี้

๑. สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙)
๒. สมัยราชวงศ์มังรายปกครอง (พ.ศ. ๑๘๓๙ - ๒๑๐๑)
๓. สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗)
๔. สมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๗๖)

สมัยก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ (ก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙)

ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้มีบ้านเมืองและชุมชนใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ เมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมืองหริภุญไชย เมืองพะเยา และยังได้มีการค้นพบเมืองเล็กๆ อีกมากมายหลายเมืองตามลุ่มน้ำต่างๆ เช่น เวียงฝาง เวียงปรึกษา เวียงสีทวง เวียงพางคำ เวียงสุทโธ เวียงห้อ เวียงมะลิกา และเวียงท่ากาน๑) ฯลฯ เป็นต้น เชื่อกันว่าบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ลุ่มแม่น้ำต่างๆ เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำโขง เป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีวัฒนธรรมอยู่มาก่อน ในบทความนี้จะกล่าวถึงเรื่องราวและเมืองต่างๆ ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พอสังเขปดังนี้

จากข้อมูลเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร ได้กล่าวถึงการที่ชุมชนเผ่าไทเข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนบนของภาคเหนือในสมัยแรกนั้น มีผู้นำสำคัญ ๒ ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ไทยเมืองของพระเจ้าสิงหนวัติกุมารและราชวงศ์ลวจังกราช ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในตำนานสิงหนวัติกุมาร พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสน และตำนานสุวรรณโคมคำ

ราชวงศ์สิงหนวัติกุมาร๒ ตำนานเล่าว่ามีราชบุตรชื่อ สิงหนวัติกุมาร ได้อพยพผู้คนมาจากเมืองไทยเทศเมื่อมหาศักราช ๑๗ (ตอนต้นพุทธกาล) มาตั้งบ้านเมืองใกล้กับแม่น้ำโขงและไม่ไกลจากเมืองสุวรรณโคมคำมากนัก เมืองใหม่ชื่อ นาคพันธุ์สิงหนวัตินคร ข้อความในตำนานต่อมาสับสนแต่จับใจความได้ว่า เมืองนาคพันธุ์ฯ นี้ได้เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า โยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน เมืองนี้มีกษัตริย์ปกครองสืบมาถึง พ.ศ. ๑๕๔๗ มีคนจับปลาไหลเผือกได้ ลำตัวโตขนาดต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา เมื่อฆ่าแล้วแจกจ่ายให้ผู้คนในเมืองได้นำไปประกอบอาหารรับประทาน ในเวลากลางคืน คืนนั้น เมืองนี้ได้เกิดภัยพิบัติฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว และเมืองได้ล่มจมเป็นหนองน้ำไป ชาวเมืองที่ไม่ประสบภัยได้ร่วมใจกันสร้างเมืองใหม่ชื่อ เวียงปรึกษาขึ้น๓ ราชวงศ์สิงหนวัติก็สิ้นสุดลง สำหรับศักราชส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน

เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน และเมืองเชียงแสน

ประมาณ พ.ศ. ๑๑๘๑ ได้เกิดเมืองชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสนขึ้นบริเวณดอยตุง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ตามตำนานเล่าว่า พญาลวจังกราชได้รับบัญชาจากพระอินทร์ให้ลงมา ปกครองเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นไม่มีกษัตริย์ปกครองและพญาอนิรุทธได้เชิญเจ้าเมืองทุกเมืองไปประชุมตัดศักราช เมืองนี้ไม่มีกษัตริย์ไปประชุม จึงทูลขอผู้ปกครองจากพระอินทร์ เทพบุตร ลวจังกราชจึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ พร้อมทั้งมเหสีและบริวารไต่ตามบันไดเงินลงมาบริเวณดอยตุง ชาวบ้านจึงพร้อมใจให้เป็นผู้ปกครองเมืองนี้ชื่อ หิรัญเงินยางเชียงแสน และทรงมีกษัตริย์ปกครองสืบมาหลายพระองค์จนถึงพญาลาวเมง พระราชบิดาพญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องจากตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน

มีนักวิชาการบางท่านตีความเรื่องนี้ว่า พญาลวจังกราชนั้น เดิมเป็นชาวพื้นเมืองในเขตดอยตุง เดิมคงเรียกว่า ปู่เจ้าลาวจก เพราะเป็นผู้มีจอบมาก (จก = จอบ) และให้ประชาชนเช่าจอบเพื่อทำนา ที่เป็นเช่นนี้เพราะการทำจอบเป็นเทคนิคชั้นสูง ผู้ใดผลิตจอบได้ก็จะสามารถควบคุมการผลิตได้ ปู่เจ้าลาวจกคงจะได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้าเผ่าไทบริเวณนั้น และปกครองเมืองเงินยางเชียงแสน และมีเชื้อสายสืบมาจนถึงพญามังราย
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ พุธ 16 ธ.ค. 2015 11:37 am, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 7:41 pm

เมืองหริภุญไชย

425250_335827956458355_100000934611880_902410_1454371784_n.jpg
425250_335827956458355_100000934611880_902410_1454371784_n.jpg (190.83 KiB) เปิดดู 15241 ครั้ง


นอกเหนือจากเมืองต่างๆ ดังกล่าวนามข้างต้นแล้ว บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงมีชุมชนสำคัญอีกชุมชนหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีวิวัฒนาการสืบต่อกันมาเป็นเวลานานคือ เมืองหริภุญไชย หรือลำพูน มีเอกสารหลายเรื่องที่กล่าวถึงเมืองนี้ ได้แก่ ตำนานลำพูน ตำนานพระธาตุหริภุญไชย จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และชินกาลมาลีปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาค้นคว้าจากโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซากเมืองโบราณต่างๆ เช่น เมืองท่ากาน เวียงมะโน เวียงเถาะ ซึ่งเป็นเมืองบริวารของลำพูน อาจารย์ ร.ศ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด ในรายงานเรื่องแคว้นหริภุญไชย : โบราณคดีไทยในทศวรรษที่ผ่านมา หลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือ ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ได้กล่าวถึงเมืองลำพูน ซึ่งตรงสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถมผู้ปกครองสุโขทัยก่อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง จาก หลักฐานต่างๆ พอช่วยให้ทราบเรื่องราวของหริภุญไชยได้พอสรุปดังนี้

เมืองนี้ตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นโดย ฤาษี ชื่อ วาสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จได้ไปทูลเชิญ พระนางจามเทวีจากเมืองละโว้มาปกครอง ราว พ.ศ. ๑๒๐๐ พระนางได้นำบริวารและพระสงฆ์เสด็จขึ้นมาทางน้ำมาปกครองเมืองหริภุญไชย และมีเชื้อสายของพระนางปกครองสืบมาหลายพระองค์ นับเวลานานถึงหกร้อยปี จนกระทั่งถึงสมัยพญาบาหรือยีบา ได้เสียเอกราชแก่พญามังรายในราว พ.ศ. ๑๘๒๔ หริภุญไชยจึงมีสภาพเป็นเมืองหนึ่งของดินแดนล้านนาไทยเรื่อยมา และในสมัยพระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองลำพูนให้เจริญขึ้น และมอบให้เชื้อสายของพระองค์ไปปกครองเรื่อยมา อนึ่งในสมัยพระนางจามเทวีนี้ พระนางได้ทรงสร้างเมืองลำปางหรือเขลางค์นครให้ราชบุตรปกครองอีกเมืองหนึ่งด้วย

เมืองหริภุญไชยเป็นเมืองโบราณที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศิลปวัฒนธรรมและพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก มีศิลปกรรมที่มีลักษณะของตนเอง คือ ศิลปสกุลช่างหริภุญไชย ตลอดจนพบว่ามีการใช้ภาษามอญโบราณในศิลาจารึกของหริภุญไชยด้วย ปัจจุบันหริภุญชัยหรือลำพูนมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือของไทย


เมืองพะเยา
เมืองพะเยาเป็นเมืองเก่าที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามเอกสารตำนานต่างๆ๖ เรียกชื่อว่า ภูกามยาว เรื่องราวของเมืองนี้ก็เช่นเดียวกับหริภุญชัย สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลต่างๆ ได้แก่ เอกสารประเภทตำนาน เป็นต้นว่า ตำนานพะเยา ฉบับวัดศรีโคมคำ ตำนานเมืองพะเยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ประชุมพงศาวดารภาค ๖๑ ข้อมูลจากศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่สอง ปรากฏชื่อเมืองพะเยาด้วยดังข้อความว่า

“ … เมืองใต้ออกพ่อขุนนำถุม เบื้องตะวันออกเถิง … เบื้องหัวนอนเถิงลุนคา ขุนคา ขุนด่าน … เบื้องในหรดีถึงฉอด เวียงเหล็ก … เบื้องตะวันตกเถิง … ลำพูน … บู .. เบื้องพายัพถึงเชียงแสนและพะเยา … ลาว … ๗”

ข้อความในจารึกแสดงว่ามีเมืองพะเยาก่อน พ.ศ. ๑๘๓๙ ตามตำนานเมืองพะเยา เขียนว่าเมืองนี้สร้างขึ้นโดยพ่อขุนจอมธรรม ซึ่งพระองค์ได้เป็นราชบุตรของพ่อขุนลาวเงินหรือขุนเงินแห่งเมืองเงินยางเชียงแสน พ่อขุนจอมธรรมได้อพยพประชาชนมาสร้างเมืองพะเยา และมีเชื้อสายของพระองค์ปกครองสืบมา กษัตริย์พระองค์สำคัญอีกพระองค์หนึ่งของพะเยาเป็นที่รู้จักของปัจจุบันดี คือ พญางำเมือง ซึ่งตามตำนานเล่าว่าพระองค์เป็นพระสหายของพญามังราย ได้ทรงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ด้วย

นอกจากพญางำเมืองแล้ว ตามตำนานต่างๆ ได้เล่าว่า พญาเจือง หรือขุนเจือง ผู้นำที่พะเยามีความสามารถมาก พระองค์มีพระชนมายุระหว่าง พ.ศ. ๑๖๒๕ - ๑๗๐๕ โดยพญาเจืองเป็นกษัตริย์พะเยา ในสมัยของพระองค์ ดินแดนล้านนาไทยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางถึงสิบสองพันนา เวียดนาม (แกว) ล้านช้าง๘ สมัยของพระองค์เป็นสมัยสำคัญอีกสมัยหนึ่งของล้านนาไทย อนึ่งจากการศึกษาค้นคว้าทางด้านโบราณคดีที่เมืองพะเยาของ ร.ศ.ศรีศักดิ์ ได้พบเครื่องมือหินและโลหะ คือ หัวขวานสำริดและผาลไถ ทำด้วยเหล็กกำหนดอายุไม่ได้ที่เมืองพะเยา สันนิษฐานบริเวณที่ราบลุ่มเชียงรายฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง ได้พัฒนาเป็นสังคมบ้านเมืองก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ นอกจากนี้เมืองพะเยายังมีความเจริญทางศิลปกรรม ได้พบศิลปวัตถุจำนวนมากที่พะเยา เรียกว่า ศิลปสกุลช่างพะเยา๙ และได้พบศิลาจารึกเป็นจำนวนมากอีกด้วย

เมืองพะเยามีกษัตริย์ปกครองสืบมาต่อจากพญาจอมธรรมหลายพระองค์จนถึงสมัย พญาคำลือ ซึ่งขณะนั้นเชียงใหม่มีกษัตริย์ชื่อพญาคำฟู ปกครองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๖๖ - ๑๘๗๙ กษัตริย์ลำดับที่ ๕ พญาคำฟูได้ร่วมมือกับพญาเมืองน่านยกกองทัพไปตีพะเยาและยึดครองพะเยาได้ในปี พ.ศ. ๒๐๓๘ ซึ่งปรากฏข้อความในศิลาจารึกวัดลี แต่ในตำนานพะเยาเขียนว่า พญาคำฟูยกทัพไป พ.ศ. ๑๘๘๑ อย่างไรก็ตาม สงครามครั้งนี้ ทำให้พะเยาเสียเอกราชตกเป็นเมืองในอาณาเขตของแคว้นล้านนาตั้งแต่นั้นมา

โดยสรุป ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย บริเวณแม่น้ำต่างๆ คือ แม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำอิง ฯลฯ มีชุมชนตั้งอยู่แล้วก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ดินแดนบริเวณนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองหลายด้าน และเมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว สันนิษฐานว่าจะมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดและรับเอาวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่และเจริญรุ่งเรืองแล้วมาเป็นของตนเอง เป็นต้นว่าล้านนาไทยเชียงใหม่อาจจะรับเอากฎหมายธรรมสัตถของมอญซึ่งใช้อยู่ในหริภุญชัยมาตราเป็นกฎหมายมังรายศาสตร์ และรับเอาอักษรมอญมาดัดแปลงเป็นอักษรพื้นเมืองล้านนาหรืออักษรไทย นอกจากนี้อาจจะรับเอาพุทธศาสนาของแคว้นหริภุญชัยมาด้วย เพราะหริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนามาจนถึงอย่างน้อยสมัยพระเจ้ากือนา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายปกครองเชียงใหม่เป็นลำดับที่ ๖ (พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘) พญากือนาจึงได้พยายามสร้างให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา

อนึ่ง สันนิษฐานว่า ก่อนที่พญามังรายจะสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ดินแดนบริเวณนี้คงจะเป็นที่อยู่ของพวกละว้าหรือลัวะ (Lawa, Sua) กล๋อมหรือขอมดำ พวกนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้เมื่อใด สันนิษฐานว่าจะอยู่นานแล้วก่อนจะสร้างเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจามเทวีวงศ์และชินกาลมาลีปกรณ์ได้เล่าว่า ขุนหลวงวิลังคะเป็นกษัตริย์ลัวะปกครองบ้านเมืองอยู่บริเวณดอยสุเทพ และเป็นผู้ที่ประสงค์จะได้พระนางจามเทวีเป็นพระมเหสีของตน

หลักฐานอื่นๆ เกี่ยวกับลัวะพบทั่วไปในบริเวณจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ได้พบเนินดินหรือกู่เก่าๆ ในเขตอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และปัจจุบันพวกลัวะก็ยังอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอแม่สะเลียง อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอจอมทองและอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ อาจารย์ถิ่น รัติกนก และคณะ ได้ทำการศึกษา วิจัยด้านประวัติศาสตร์และมนุษยวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของละว้า ที่บ้านบ่อหลวง บ้านกองลอย บ้านอุมลอง บ้านแม่โถ บ้านวังกอง บ้านขุน และบ้านนาฟ่อน รวม ๗ หมู่บ้าน อำเภอฮอด เชียงใหม่ ซึ่งประชาชนเป็น ชาติลัวะ และพวกลัวะนอกจากจะอาศัยอยู่ในดินแดนดังกล่าวแล้ว ยังมีชนเผ่าลัวะอาศัยอยู่ที่เวียงหนองสอง อำเภอป่าซาง ลำพูน และที่บ้านแม่เหียะ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่อีกด้วย ผลของการศึกษาพบว่า วัฒนธรรมประเพณีของลัวะหลายประการท่อาจจะตกทอดมาถึงคนในเชียงใหม่เพราะมีประเพณีคล้ายกับประเพณีเชียงใหม่ปัจจุบัน คือ ประเพณีการเกิดมี “แม่ฮับ” หรือหมอตำแย ประเพณีการอยู่ไฟหลังการคลอดบุตรเรียกว่า “อยู่เดือน” ความเชื่อเรื่องผีบ้าน ผีเมือง ผีบรรพบุรุษ ประเพณีการบูชาเสาหลักเมือง หรือเสาอินทขิล ความเชื่อเรื่องการปลูกบ้านที่เสามงคลหรือเสาเอก หลังคาบ้านนิยมทำไม้ไขว้เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า “กาแล” และประเพณีทำศพที่มีการจุดไฟยามหน้าศพ ตุงสามหางและตุงห่อข้าวใช้ในกระบวนแห่ศพไปฌาปนกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมประเพณีของลัวะที่พบในประเพณีของเชียงใหม่ในปัจจุบัน

ดังนั้น สันนิษฐานว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่โดยพญามังราย พ.ศ. ๑๘๓๙ นั้น บริเวณลุ่มน้ำต่างๆ มีเมืองสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายเมือง เป็นต้นว่า หริภุญชัย พะเยา เชียงแสน มีวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง และได้มีการผสมผสานทางด้านวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนต่างๆ ด้วย

400029_299017886806029_100000934611880_811884_1885077221_n.jpg
400029_299017886806029_100000934611880_811884_1885077221_n.jpg (163.09 KiB) เปิดดู 15241 ครั้ง
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ พุธ 16 ธ.ค. 2015 11:36 am, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 7:42 pm

พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่

พญามังรายตำนานเล่าว่าทรงเป็นราชบุตรของพญาลาวเมงและพระนางเทพคำข่าย เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงรุ้ง เสด็จขึ้นครองราชย์ที่เมืองเงินยางเชียงแสน ประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๕ พระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะรวบรวมแคว้นต่างๆ ที่กระจัดกระจายและเป็นอิสระต่างๆ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยจะทรงขยายอำนาจลงมาทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และพยายามขยายลงไปถึงบริเวณ ลุ่มน้ำเจ้าพญาและสาละวิน บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงขณะนั้นมีเมืองหริภุญไชยเป็นเมืองสำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ พญามังรายมีพระประสงค์จะยึดครองเมืองหริภุญไชยไว้ในอำนาจ จึงทรงย้ายเมืองหลวงหรือทรงมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เมืองเชียงรายทางใต้ลงมาในราว พ.ศ. ๑๘๐๖ แต่พระองค์พบว่าภูมิประเทศไม่เหมาะแก่การขยายอำนาจลงมาทางใต้ จึงทรงย้ายไปประทับที่เมืองฝางในราวปี พ.ศ. ๑๘๑๗ ที่เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองหริภุญไชยมากนัก พระองค์ทราบถึงความมั่นคงและความมั่งคั่งของรัฐหริภุญไชยดี จึงดำเนินนโยบายแบบบ่อนทำลาย โดยให้อ้ายฟ้าทหารของพระองค์มาเป็นไส้ศึกในเมืองหริภุญไชย โดยใช้เวลาทั้งหมดเกือบ ๗ ปี อ้ายฟ้าสามารถทำให้ประชาชนในเมืองนี้ไม่พอใจพญายีบาหรือพญาบา กษัตริย์ของตนโดยอ้ายฟ้าดำเนินกลวิธีต่างๆ หลายวิธี เช่น เกณฑ์แรงงานอย่างหนักในการไปขุดเหมืองชลประทาน ที่เรียกว่า เหมืองอ้ายฟ้าหรือเหมืองแข็ง เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ลากไม้ในฤดูฝนมาทำคุ้มที่ประทับของพญายีบา ทำให้ไร่นาของประชาชนได้รับความเสียหายมาก นอกจากนี้อ้ายฟ้ายังได้กราบทูลให้พญายีบาห้ามประชาชนเข้ามาร้องทุกข์กับกษัตริย์โดยตรงดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ให้ทุกคนติดต่อร้องทุกข์กับอ้ายฟ้า แล้วอ้ายฟ้าก็ตัดสินไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาก

อ้ายฟ้าได้กล่าวกับประชาชนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนทำไปนั้นเป็นบัญชาจากพญายีบา ทั้งสิ้น ประชาชนจึงไม่ชอบพญายีบามาก และเมื่อมีศึกพญามังรายมาประชิด ประชาชนจึงไม่กระตือรือร้นจะช่วยรบกับผู้ปกครอง ในที่สุดพญามังรายจึงยึดหริภุญชัยไว้ในอำนาจได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๔

ปัญหามีว่า ทำไมพญายีบาจึงเชื่อคำแนะนำของอ้ายฟ้า จึงให้อ้ายฟ้าเข้ามามีอำนาจในเมืองหริภุญชัยเช่นนี้ ทั้งที่อ้ายฟ้าเป็นขุนนางจากเมืองอื่น คำตอบหรือข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีได้หลายทาง ข้อแรกผู้เขียนขอเสนอข้อสันนิษฐานจากหลักฐานกฎหมายว่า ที่พญายีบาเชื่อคำแนะนำอ้ายฟ้าเพราะมีข้อความตอนหนึ่งในกฎหมายหลายฉบับระบุว่า “บุคคลผู้รู้สันฐานต่างประเทศ” เป็นบุคคลหรือไพร่เมืองชั้นดีและจัดว่าเป็นไพร่ที่หาได้ยาก ถ้าทำผิดให้ลงโทษสูงสุดให้เนรเทศแทนการประหารชีวิต อ้ายฟ้าเป็นขุนนางที่มาจากต่างประเทศและเป็นผู้รู้สันฐานเรื่องราวของต่างประเทศ นอกเหนือจากเมืองหริภุญไชย พญายีบาจึงยอมรับความเป็นผู้รู้ของอ้ายฟ้า และพร้อมที่ยกย่องอ้ายฟ้าโดยง่ายเพราะอ้ายฟ้าอาจจะมีความรู้เรื่องเมืองหิรัญเงินยางเชียงแสน เมืองเชียงราย และเมืองฝางดีกว่าทุกคนในเมืองหริภุญไชย อีกประการหนึ่งสันนิษฐานว่าพญายีบาอาจจะมีความขัดแย้งกับขุนนางของตน จึงได้ยกย่องอ้ายฟ้าขึ้นเป็นผู้ช่วยของพระองค์ทุกด้านโดยไม่เฉลียวใจว่าจะมาเป็นไส้ศึกของพญามังราย

เมื่อพญามังรายได้เมืองหริภุญไชยแล้ว ได้ประทับอยู่ระยะหนึ่ง แล้วยกให้อ้ายฟ้าไป ปกครองแทนพระองค์ โดยพระองค์ได้สร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อเมืองชะแว เมืองนี้น้ำท่วมจึงได้ย้ายมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง คือ เวียงกุมกาม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอสารภีในปัจจุบัน เมืองนี้น้ำก็ท่วมอีก ไม่เหมาะจะให้เป็นเมืองหลวงถาวรได้ จึงได้พยายามแสวงหาทำเล ภูมิประเทศเพื่อสร้างเมืองใหม่

ในที่สุดทรงพบบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง ตอนเหนือของเวียงกุมกาม บริเวณเชิงภูเขาสุเทพ จึงได้เชิญพระสหายของพระองค์มาช่วยคิดการสร้างเมือง คือ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) แห่งเมืองสุโขทัย พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา ดังปรากฏข้อความเรื่องนี้ในตำนาน ราชวงศ์พื้นเมืองเชียงใหม่ ความว่า

“ … สหายคำพญางำเมือง พญาร่วงทั้งสองนั้น กูจักเรียกร้องเสงปองโฟ่จา (ปรึกษา) แล้วจึงควรตั้งชะแล … พญามังรายก็ใช้อำมาตย์ผู้รู้ผู้หลวกไปเมืองพรุยาว (พะเยา) ที่อยู่พญางำเมือง และเมืองสุกโขทัยที่พญาล่วง (ร่วง) ก็เรียกร้องเอาพญาทั้งสองอันเป็นมิตรรักกับด้วยพญามังราย ก็ชักเชิญว่า จักตั้งบ้านใหญ่เมืองหลวง … พญา มังราย พญางำเมือง พญาร่วง ๓ คน ทั้งเสนาอามาตย์ไพร่บ้านไพเมือง สมณพรามณ์ ช่างไม้ ช่างต้อง (แกะสลัก) ช่างแต้ม ทั้งหลายพร้อมเพรียงเสงปองกัน จักเบิกบายชื่อโสรกยังเวียงว่า ชนพบุรีศรีนครเชียงใหม่ ก็โสรกมีสิ้นนี้”

เมื่อสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๑๘๓๙ จึงให้ชื่อเมืองนี้ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เป็น ศูนย์กลางการเมืองการปกครองและศูนย์กลางความเจริญของล้านนาตลอดมา



เชียงใหม่สมัยราชวงศ์มังราย

เมื่อพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว ได้ทรงปกครองและประทับอยู่เมืองนี้ตลอด พระชนม์ชีพของพระองค์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ทรงเป็นนักรบ นักปกครอง และอาจจะกล่าวว่าพระองค์เป็นนักพัฒนาก็ได้ ด้วยทรงเป็นผู้นำในการสร้างบ้านเมืองหลายเมือง ด้านการปกครองในสมัยนี้สันนิษฐานว่าพญามังรายจะทรงปกครองเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ส่วนเมืองอื่นเช่นเมืองเชียงราย เมืองหริภุญชัยนั้น คงแต่งตั้งให้ราชโอรสหรือข้าราชการขุนนางที่มีความสามารถไปปกครองแทน เช่น เมืองเชียงรายได้ให้ราชโอรสขุนครามไปปกครอง เมืองหริภุญชัยให้อ้ายฟ้าอามาตย์เอกไปครอง ส่วนด้านการตุลาการหรือการพิจารณาคดีนั้น สันนิษฐานว่าพญามังรายจะทรงรวบรวมกฎหมายขึ้นใช้ปกครองที่เรียกว่า มังรายศาสตร์ ซึ่งสันนิษฐานว่ามังรายศาสตร์นี้อาจจะได้รับ อิทธิพลมาจากกฎหมายธรรมศาสตร์ของมอญจากหริภุญชัยก็อาจเป็นได้ และกฎหมายนี้คงได้ใช้ปกครองบ้านเมืองสืบมา

ด้านการส่งเสริมอาชีพประชาชน พญามังรายได้ส่งเสริมให้ประชาชนประกอบอาชีพหลายอาชีพ นอกเหนือจากการเกษตรกรรม ได้พบข้อความในตำนานต่างๆ กล่าวว่าพระองค์ได้นำช่างฝีมือประเภทต่างๆ เช่น ช่างทอง ช่างต้อง ช่างเหล็ก ช่างเงิน ฯลฯ มาจากเมืองพุกามเมื่อคราวเสด็จไปเมืองพุกาม ระบุว่า

“ … ดังเจ้าอังวะพุกามนั้นก็เสงปองโฟ่จากันแล … คันแสงปองกันแล้ว ยังช่างหล่อ ช่างตี ช่างฆ้อง ผู้ทรงสราด (ฉลาด) ทั้งหลายมาก็เลือกเอาผู้อันช่างหล่อ ช่างตีทั้งหลาย ช่างตีฆ้อง ๒ หัว ทังลูกสิถ (ศิษย์) ลูกน้องทังมวล ๕๐๐ ทังเครื่องพร้อมแล้ว จักยื่นถวายท้าวล้านนา …”
ด้านความสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้านนั้น เชียงใหม่มีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรพะเยาตลอดจนอาณาจักรพุกาม ซึ่งความสัมพันธ์นี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนและการรับเอาวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยเชียงใหม่กับอาณาจักรใกล้เคียง เช่น ในเวลาต่อมาเชียงใหม่รับเอาพุทธศาสนานิกายหินยานจากสุโขทัย เป็นต้น พ่อขุนมังรายสิ้นพระชนม์ราว พ.ศ. ๑๘๕๔

เมื่อสิ้นสมัยพญามังรายแล้ว เชียงใหม่ได้ปกครองโดยราชโอรสเชื้อสายราชวงศ์มังรายอีกหลายพระองค์ คือ พญาคราม (พ.ศ. ๑๘๕๕ - ๑๘๕๕) พญาแสนภู (พ.ศ. ๑๘๕๕ - ๑๘๘๗) พญาน้ำท่วม (พ.ศ. ๑๘๖๕ - ๑๘๖๖) พญาคำฟู (พ.ศ. ๑๘๖๖ - ๑๘๖๙) และ (พ.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๗๙) และ พญาาผายู (พ.ศ. ๑๘๘๐ - ๑๘๙๙) ในช่วงระยะเวลาที่พญาดังกล่าวปกครองบ้านเมืองนั้น บ้านเมืองอยู่ในระยะก่อร่างสร้างเมืองให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงพระราชกรณียกิจของกษัตริย์เชียงใหม่เฉพาะพระองค์ที่สำคัญเท่านั้น หลังจากสมัยพญาผายูแล้วกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พญากือนา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๘ - ๑๙๒๘

พญากือนา ทรงเป็นราชโอรสของพญาผายูเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๖ ของราชวงศ์มังราย ในรัชสมัยของพระองค์นั้น พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้เข้ามาแพร่หลายและประดิษฐานในล้านนาไทย กล่าวคือ ในราว พ.ศ. ๑๙๑๒ พญากือนาได้อาราธนาพระสงฆ์จากอาณาจักรสุโขทัย สุมนเถระนำเอาพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ประดิษฐานในล้านนาไทยและเจริญรุ่งเรืองสืบมาจนทุกวันนี้ ในสมัยโบราณก่อนที่รับลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่พุทธศาสนาในล้านนานั้น จากหลักฐานทางโบราณคดีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่าง สันนิษฐานว่าล้านนาไทยจะนับถือพุทธศาสนามาก่อนแล้ว เป็นนิกายมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายาน เพราะได้มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูปแบบทวารวดีที่หริภุญไชย และพบเจดีย์มนต์ตามคติมหายานที่อำเภอเชียงแสนและล้านนาไทยมีประเพณีทำบุญปอยข้าวสัง อุทิศส่วนกุศลแก่ ผู้ตายซึ่งประเพณีนี้เหมือนพิธีกงเต๊กตามคติมหายาน เป็นต้น

เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาแพร่หลายในล้านนาแล้ว มีผลทำให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างล้านนาไทยกับอาณาจักรสุโขทัย ทั้งทางศาสนา ศิลปกรรม ประเพณีและพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนล้านนาไทยด้วย พระสงฆ์มีบทบาทและได้รับการยกย่องจากสังคมล้านนามาก เช่น ทางด้านการศึกษา พระสงฆ์มีฐานะเป็นครูของประชาชน ด้านการเมืองตั้งแต่สมัย พญากือนาเป็นต้นไปพบหลักฐานว่าพระสงฆ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีต่างๆ ร่วมกับขุนนางของบ้านเมือง นอกจากนี้พระสงฆ์ยังมีบทบาทในการว่ากล่าวตักเตือนกษัตริย์ล้านนาไทยผู้ประพฤติไม่ถูกต้องอีกด้วย และเป็นที่พึ่งของประชาชนในยามบ้านเมืองอยู่ในความยุ่งยาก เช่น สงคราม เป็นต้น นับว่าพระสงฆ์เริ่มมีบทบาทตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาเป็นต้นไป

เมื่อสิ้นสมัยพญากือนาแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พญาแสนเมืองมา (พ.ศ. ๑๙๒๙ - ๑๙๔๕) และต่อมาก็ถึงสมัย พญาสามฝั่งแกน ในรัชกาลของพระองค์ พ.ศ. ๑๙๖๗ มีพระเถระชาวเชียงใหม่ ๒๕ องค์ พระชาวลพบุรี ๘ องค์ พระรามัญ ๑ องค์ ได้ไปศึกษาภาษาบาลีและพุทธศาสนาในลังกา เมื่อกลับมาได้นิมนต์พระพุทธศาสนา ๓ คณะ คือ ๑. คณะพื้นเมือง ๒. คณะรามัญ ๓. คณะสีหล (พ.ศ. ๑๙๔๕ - ๑๙๘๕) กษัตริย์ต่อมาเป็นกษัตริย์องค์สำคัญพระองค์หนึ่งของล้านนาไทย คือ พญาติโลกราช ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐

พญาติโลกราช หรือพิลกราช ทรงเป็นราชโอรสของพญาสามฝั่งแกน เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๑๐ ของราชวงศ์มังราย ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถพระองค์หนึ่ง ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเมืองและศาสนา ทางด้านการเมืองนั้นฐานะของเมืองเชียงใหม่มั่นคงมาก พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางถึงเมืองแพร่ เมืองน่าน หัวเมืองไทยใหญ่ เช่น เมืองปั่น เมืองสี่ป้อ เมืองนาย เมืองลอกจอก เป็นต้น นอกจากนี้เชียงใหม่ยังได้ทำสงครามกับอาณาจักรอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถหลายครั้ง ในปี พ.ศ. ๑๙๙๔ เชียงใหม่กับอยุธยาทำสงครามชิงดินแดน เนื่องจากพญายุทธิษเฐียร เจ้าเมืองสองแคว เอาใจออกห่างจากอยุธยามาสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ ได้นำทัพเชียงใหม่ไปตีหัวเมืองเหนือของอยุธยา อยุธยาจึงส่งกองทัพมาขับไล่ และ พ.ศ. ๒๐๐๓ พญาเชลียง เจ้าเมืองสวรรคโลก เอาใจออกห่างจากอยุธยามาสวามิภักดิ์ต่อเชียงใหม่ นำกองทัพเชียงใหม่ไปตีหัวเมืองของอยุธยา จึงเกิดสงครามนี้ขึ้นปรากฏว่าเชียงใหม่ไม่สามารถตีเมืองได้ พอดีเกิดศึกฮ่อ เชียงใหม่จึงยกทัพกลับ พ.ศ. ๒๐๑๘ พญาติโลกราชจึงทรงติดต่อขอทำไมตรีต่ออยุธยาเป็นการยุติสงคราม อยุธยาเองก็บอบช้ำจากการทำสงครามกับล้านนาไทย ประกอบกับอยุธยาสามารถตีหัวเมืองเหนือคือสุโขทัยจากล้านนาไทยได้ใน พ.ศ. ๒๐๐๕ เมื่อได้ดินแดนทั้งหมดกลับคืนจึงไม่มีเหตุทำสงครามกันอีกต่อไป สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงยอมรับไมตรีจากล้านนาไทย ในตอนปลายสมัยพญาติโลกราช อย่างไรก็ตามสงครามนี้ยังผลให้ล้านนาไทยอ่อนกำลังและเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลง จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียเอกราชแก่พม่าในที่สุด

ในสมัยพญาติโลกราช พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด พระองค์ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนามาก ทรงสร้างวัดขึ้นหลายวัด เช่น วัดโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) ซึ่งต่อมาพระองค์ได้โปรดให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดนี้ ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกโลก ครั้งที่ ๘ นอกจากนี้ยังได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง มาประดิษฐานไว้ที่วัดเจดีย์หลวงด้วย อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยพญาติโลกราชนี้ล้านนาไทยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดสมัยหนึ่ง หลังจากสมัยพญามังรายแล้ว บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์เป็นปึกแผ่นมั่นคงมาก อาจเรียกว่าเป็นยุคทองล้านนาไทยก็ได้

เมื่อสิ้นสมัยพญาติโลกราชแล้ว กษัตริย์พระองค์ต่อมาคือ พญายอดเชียงราย (พ.ศ. ๒๐๓๑ - พ.ศ. ๒๐๔๐) และหลังจากนี้ก็เป็นสมัยของพญาเมืองแก้ว ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ ในสมัยนี้เป็นสมัยที่สำคัญอีกสมัยหนึ่ง พญาเมืองแก้วเป็นราชโอรสของพระยอดเชียงรายในสมัยนี้เป็นสมัยที่วรรณคดีของล้านนาไทยมีความเจริญรุ่งเรืองมาก พระสงฆ์มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมาก ซึ่งเป็นภาษาในพระไตรปิฎกฝ่ายหินยาน พระสงฆ์ในสมัยนี้ได้แต่งคัมภีร์ไว้มากมาย มีความไพเราะมาก เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์หรือชินกาลมาลินี แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ คัมภีร์ มังคลัตถทีปนี และเวสันตรปนี แต่งโดยพระศิริมังคลาจารย์ จามเทวีวงศ์ แต่งโดยพระโพธิรังสี เป็นต้น (คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ปัจจุบันใช้เป็นหลักสูตรสอบปริยัติธรรมประโยค ๔, ๖, ๗) หลังจากสมัยพญาเมืองแก้วแล้ว พระสงฆ์ล้านนาก็ได้แต่งคัมภีร์ที่มีชื่อเสียงไว้อีกหลายเล่ม เช่น สารัถทีปนี แต่งโดยพญาณวิลาสเถระ รัตนพิมพวงศ์ แต่งโดยพระพรมปัญญาชาวลำปาง และสิหิงคนิทาน ฯลฯ อาจจะกล่าวได้ว่าสมัยนี้เป็นยุคทองของวรรณกรรม
สิ้นสมัยพญาเมืองแก้วแล้ว ข้าราชการประชาชนได้แต่งตั้งพญาเกษเกล้า อนุชาของพญาเมืองแก้วขึ้นเป็นกษัตริย์สืบมา ด้วยพระเมืองแก้วไม่มีราชโอรส พญาเกษเกล้าหรือพระเมืองเกษเกล้าครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๐๖๙ - ๒๐๘๑ สมัยนี้บ้านเมืองตกอยู่สมัยเสื่อม ซึ่งเริ่มอ่อนแอลงตั้งแต่สิ้นสมัยพญาติโลกราชแล้ว ได้เกิดการจลาจลแย่งชิงราชสมบัติในสมัยพระเมืองเกษเกล้า อำนาจการ ปกครองตกอยู่ในมือของข้าราชการขุนนาง ข้าราชการมีอำนาจมากถึงกับสามารถถอดถอนและแต่งตั้งกษัตริย์ได้ ข้าราชการขุนนางได้พร้อมใจกันปลดพระเมืองเกษเกล้าออกจากตำแหน่งกษัตริย์เชียงใหม่แล้วเนรเทศพระองค์ไปอยู่เมืองน้อย และได้อัญเชิญท้าวซายคำ ราชโอรสของพระเมืองเกษเกล้าขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่แทน ต่อมาข้าราชการเห็นว่าท้าวซายคำปกครองบ้านเมืองไม่ชอบด้วยราชธรรม ปกครองไม่เป็นธรรม ข้าราชการจึงได้ร่วมมือกันปลงพระชนม์ท้าวคำซายเสีย แล้วกลับไปอัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าจากเมืองน้อยกลับมาครองราชย์อีกครั้งหนึ่ง และต่อมาไม่นานพระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์อีก ในระยะนี้ขุนนางเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระนางจิรประภาเทวีขึ้นปกครองอยู่ ระยะหนึ่ง

หลังจากนั้น ข้าราชการขุนนางได้พร้อมใจกันเชิญพระไชยเชษฐาธิราชแห่งเมืองล้านช้าง ซึ่งเป็นราชโอรสของพระนางยอดคำทิพ พระราชธิดาของพระเมืองเกษเกล้ากับพระเจ้าโพธิสารให้มา ปกครองเชียงใหม่ พระไชยเชษฐาปกครองระหว่าง พ.ศ. ๒๐๘๙ - ๒๐๙๐ ปกครองเชียงใหม่ได้ประมาณสองปี พระเจ้าโพธิสารราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงได้เสด็จกลับไปปกครองเมืองล้านช้าง เมืองเชียงใหม่จึงว่างกษัตริย์ลงอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมา ข้าราชการขุนนางจึงพิจารณาเห็นพ้องกันว่าให้อัญเชิญพระเมกุฏิ (เจ้าฟ้าแม่กุ) แห่งเมืองนาย ซึ่งพระเมกุฏิทรงเป็นเชื้อสายของขุนเครือราชบุตรพญามังรายมาปกครองเชียงใหม่ พระเมกุฏิปกครองระหว่าง ๒๐๙๔ - ๒๑๐๑ นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังรายที่ปกครองเชียงใหม่ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า

จากหลักฐานตำนานเชียงใหม่ฉบับวัดหมื่นล้านกล่าวว่า บ้านเมืองในสมัยพระเมกุฏินั้นอยู่ในสภาพยุ่งเหยิง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนนานับประการจากการกระทำของขุนนางพม่า ที่พระเมกุฏิมอบอำนาจให้ปกครองบ้านเมือง ได้มีการสั่งเกณฑ์แรงงานจากประชาชนอย่างหนัก เรียกเก็บภาษีมาก ทำให้ประชาชนไม่พอใจและเดือดร้อนมาก ดังปรากฏข้อความว่า

“ … ในขณะนั้นบ้านเมืองทั้งมวลก็คว่ำเขือก เป็นทุกข์ด้วยกาน (การ) บ้านกานเมืองมากนัก ผัวไปทางหนึ่งเมียไปทางหนึ่ง ต่อเก็บส่วยไรก็พ้นประหมาน (มาก) ชุอันเป็นหย่อมหญ้าข้าเมืองนั้นแล เขานั่งไหนไห้ (ร้องไห้) หั้น … ด้วยมหาราชเจ้ามีอาชญา หื้อคนพาลาเก็บส่วนไร้ร่ำล้นพ้นประมาณ ไพร่ฟ้าข้าเมืองหาสังจักออกจักเสียก็บ่ได้ เขาก็นั่งไหนไห้หั้น … ขณะนั้นบ้านเมืองทังมวลเกิดโกลาหนชุบ้านชุที่ ทุกขภัยอยากน้ำกั้นข้าวมากนัก บ้านเหนือรบบ้านใต้ บ้านใต้รบบ้านเหนือ ครุบชิงกัน (แย่งชิงกัน) เอาข้าวของหั้นแล บ้านเมืองทังมวล ก็ตระหมอดหอดหิว (อดอยาก) แห้งแล้งมากนัก น้ำฟ้าน้ำฝนก็บ่ตกมาได้แล … ”

สำหรับความเสื่อมของเมืองเชียงใหม่ ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณซึ่งได้เขียนไว้ในตำนานเชียงใหม่ ฉบับวัดหมื่นล้าน (พิมพ์โดยภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๑๙ ปัจจุบันเท่าที่พบเป็นตำนานเรื่องเดียวที่กล่าวถึงความเสื่อมของเชียงใหม่) กล่าวว่าเมื่อบ้านเมืองกำลังระส่ำระสายนั้น ประชาชนและขุนนางได้อาราธนาสมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระไปกราบทูลพระเมกุฏิทรงทราบว่า บ้านเมืองจะพินาศฉิบหายด้วยพระองค์ได้ละทิ้งจารีตประเพณีดั้งเดิมของบ้านเมือง และการกระทำบางอย่างเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือฉิบหาย ซึ่งภาษาล้านนาไทยเรียกว่า “ต้องขึด” สมเด็จสามีสังฆราชมหาเถระ กราบทูลขอให้พระเมกุฏิทรงปฏิบัติตามจารีตประเพณีของล้านนาไทย ทั้งนี้เพราะพระเมกุฏิและขุนนางจากเมืองนายมีวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างแตกต่างจากล้านนาไทย การกระทำบางอย่างคนเมืองเหนือถือว่าไม่เสียหายแต่คนล้านนาไทยถือว่าจะเป็นเหตุให้บ้านเมืองเสื่อมหรือ “ต้องขึด” จากตำนานเชียงใหม่พอสรุปว่าบ้านเมืองเชียงใหม่เสื่อมเพราะการกระทำของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ได้ดังนี้

ประการแรก พระเมกุฏิอนุญาตให้สร้างกำแพงใหม่ล้อมกำแพงเก่าในลักษณะราหูอมจันทร์ ประการที่สอง พระเมกุฏิไม่ควบคุมดูแลขุนนางพม่า (ที่มาจากเมืองนาย) อนุญาตให้ประชาชนนำศพผ่านออกประตูช้างเผือก อ้อมไปทางแจ่งหัวริน ผ่านประตูสวนดอกและแจ่งกู่เฮืองแล้วจึงเผา เชื่อว่าเป็นการย่ำอายุเมืองเชียงใหม่ ประการที่สาม ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนนำโลงศพที่เผาศพแล้วเหลือโลงไว้นำโลงกลับเข้ามาในเมือง ซึ่งผิดจารีตประเพณีเดิม ประการที่สี่ ขุนนางอนุญาตให้ประชาชนบางคนเผาศพภายในกำแพงเมือง ริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณเกาะ และในวัด ซึ่งไม่ทำกันมาก่อน ประการที่ห้า อนุญาตให้ประชาชนกวนน้ำและระบายน้ำในหนองบัว ๗ กอให้แห้ง (ปัจจุบันสันนิษฐานว่าคือบริเวณที่ลุ่มตรงข้ามคูเมืองบริเวณแจ่งศรีภูมิ) ซึ่งเป็นหนองน้ำสำคัญของเมือง ประการที่หก ลำน้ำห้วยแก้วมีประชาชนไปกั้นทางน้ำให้ไหลเข้าเมืองโดยสะดวก ประการที่เจ็ด เกณฑ์ประชาชนตัดไม้ชักลากมาในฤดูฝนล่องตามแม่น้ำและเหมืองฝาย ทำให้ทำนาได้ไม่สะดวก ประชาชนได้รับความลำบากมาก ประการที่แปด พระเมกุฏิห้ามประชาชนบูชาบวงสรวงเทพยดาอารักษ์ เสาอินทขีล และผีบ้านผีเมือง ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของคนล้านนาไทย การกระทำดังกล่าวของพระเมกุฏิและขุนนางของพระองค์ คนล้านนาไทยเชื่อว่าทำให้บ้านเมืองเสื่อม เทพยดาอารักษ์ไม่ปกปักษ์รักษาบ้านเมือง เมื่อพม่ายกกองทัพมาโจมตี จึงเสียเมืองแก่พม่า (พระเจ้าบุเรงนอง) โดยง่าย
ดังนั้น จะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่สมัยพระเมกุฏิปกครองนั้น บ้านเมืองอ่อนแอ ประชาชน ข้าราชการ ขุนนาง แตกความสามัคคี จนยากจะแก้ไขให้เข้มแข็งดังเดิมได้ จึงเสียเอกราชแก่พระเจ้า บุเรงนองในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานนับสองร้อยปีเศษ จึงสามารถขับไล่พม่าออกไปในสมัยราชวงศ์กาวิละ
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ พุธ 16 ธ.ค. 2015 11:35 am, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 7:57 pm

เชียงใหม่เมืองประเทศราชของพม่า
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในระยะแรกนี้พม่ามิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ได้แต่งตั้งให้พระเมกุฏิเจ้าเมืองเชียงใหม่ปกครองบ้านเมืองตามเดิม ในฐานะเมืองประเทศราชของพม่าซึ่งเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง จะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินปีละ ๑ ครั้ง เป็นอย่างน้อย จะต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของตามที่พม่าต้องการ เช่น ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ และจะต้องจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าในยามเกิดศึกสงคราม ต่อมาพม่าได้ปลดพระเมกุฏิออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๑๐๗ โดยพม่าอ้างว่าพระเมกุฏิคิดการเป็นกบฎ พม่าได้แต่งตั้งสตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่คือ นางพญาราชเทวี หรือพระนางวิสุทธิเทวี ซึ่งนับเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่เชื้อสายราชวงศ์มังรายองค์สุดท้ายที่ปกครองบ้านเมืองฐานะประเทศราชของพม่า เมื่อนางพญาราชเทวีสิ้นพระชนม์ พม่าก็ได้แต่งตั้งให้เจ้านายและข้าราชการของพม่ามาปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง กษัตริย์เชียงใหม่สมัยที่พม่าปกครองรวมทั้งสิ้นจำนวน ๑๓ พระองค์

การปกครองของพม่าในล้านนาไทย พม่าพยายามปกครองหัวเมืองล้านนาไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกบฏ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นผู้ปกครองบ้านเมือง พม่าจะควบคุมเป็นพิเศษ พม่าได้ควบคุมนโยบายสำคัญๆ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ โดยได้ควบคุมการแต่งตั้งโยกย้ายถอดถอนเจ้าเมืองล้านนาไทย ตลอดจนการปูนบำเหน็จและการลงโทษด้วย ควบคุมการเกณฑ์กำลังคนเพื่อใช้ในยามสงคราม และพม่าได้นำตัวราชบุตรหรืออนุชาเจ้าเมืองประเทศราชไปไว้เป็นตัวประกันที่เมืองพม่าด้วย

สำหรับการปกครองภายในบ้านเมืองนั้น กิจการใดที่ไม่ขัดกับผลประโยชน์ของพม่า สันนิษฐานว่าพม่าคงอนุโลมให้เจ้าเมืองในล้านนาไทยมีอิสระ ปกครองกันเองภายใต้อำนาจของพม่า สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้นในฐานะที่เป็นเมืองสำคัญ พม่าได้แต่งตั้งขุนนางและกษัตริย์พม่าเข้ามาทำการปกครองโดยตรง นับตั้งแต่สิ้นสมัยนางพระยาราชเทวีเป็นต้นมา ได้พบหลักฐานข้อความในเอกสารคัมภีร์โบราณ ได้เขียนเกี่ยวกับกฎหมายที่พม่าใช้ปกครองในเมืองเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าพม่า ดำเนินการปกครองตามจารีตประเพณีที่เคยปกครองมาแต่ก่อน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเชียงใหม่เกลี่ยดชังผู้ปกครองพม่าซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการต่อต้านพม่าก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามพม่าก็ได้ควบคุมและจัดการเกี่ยวกับบางเรื่องอย่างเข้มงวดกวดขัน ซึ่งได้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์ราชวงศาพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับวัดเชียงมั่น พอสรุปได้ดังนี้

พม่ากับไพร่เมือง เชียงใหม่ ได้พบว่าพม่ามีคำสั่งให้ข้าราชการขุนนางพม่าเลี้ยงดู รักษาไพร่ไทอย่าให้ไพร่ไทเดือดร้อนทุกข์ยาก ให้ไพร่มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ และให้ไพร่ยินดีที่จะทำงานให้ทางบ้านเมือง ดังปรากฏข้อความว่า

“ … สักราชได้ ๙๓๑ ตัว (พ.ศ. ๒๑๑๒) เดือน ๑๑ ออก ๑๐ ค่ำ วัน ๗ รักชื่อโกชนะ ๑๖ ลูก กินเมืองพิง จาเรนั้นก็หื้อมังแรส่วย ต้องเข้าภิทูรไหว้สาเจ้าตนบุญใหญ่ ธัมมราชาหลวงเมืองเชียงใหม่แต่เช่นเกล่า (เก่า) ราชาทั้งหลายมีรีดเกล่ารอยหลังมา อันได้แต่งกินเมืองเชียงใหม่ เก็บหอมไพร่ไทอวบฟักรักสา บ่หื้อรีดมล้าง เยืองสันใด (ฉันใด) ไพร่ไทไพร่บ้านไทเมืองบ่ร้อนบ่ไหม้บ่ทุกข์ยาก ก็หื้อเสมอกับด้วยกัน หื้อมีสมันตหื้อสุขหนุกชุ่มเย็น … ดั่งข้าใหญ่ไพร่ไทกูทั้งหลาย เช่น กูนี้ก็มีใจชื่นชมยินดีเวียกส้าง (ทำงาน) ซื้อขายกินไปใกล้ไปไกลนั่งนอนก็เสมอดั่งพร้อมกันพร้อมเพรียง …”

เกี่ยวกับการบุกเบิกที่นาของไพร่หรือประชาชน พม่าให้อนุโลมตามกฎหมายมังรายศาสตร์ว่าเรือกสวนไร่นาใดกลายเป็นนาร้างนาน ๑๐ ปี ต่อมาไพร่ไทได้แผ้วถางบุกเบิกให้เป็นไร่นา ให้ไพร่ ทำนาโดยไม่เก็บค่านา ๓ ปี ถ้าเกิน ๓ ปีไปแล้ว ให้ขุนกินเมืองเก็บภาษีตามประเพณีโบราณ ดังข้อความว่า

“ … ประการ ๑ ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลาย ไร่นาเรือกสวนห้วยร้องปลาบวกหนองทั้งหลายนั้น เปล่าห่าง ๑๐ ปี ไพร่ไทข้าเจ้า (ข้า หมายถึงทาส) เอาการทั้งหลาย แผ้วถางถากฟันเยียะไร่ แปลงนานั้น บ่ล้ำสามปี อย่าได้เอาของฝาก (ภาษีหรือค่าเช่า) คันล้ำสามปีไปหากเยียะสร้างก็ดี ขุนกินเมืองกินแคว้น แก่หัวทั้งหลาย หื้อได้หยั่งแยงหยุดผ่อน อย่าเอาเต็มอาเจียรบูราณ (โบราณ) ”

กรณีที่ไพร่ไปรบในสงครามได้กู้เงินในระหว่างทำสงคราม เมื่อกลับมาถึงบ้านเมืองแล้ว ให้ผู้กู้ใช้คืนสองเท่า ถ้าลูกหรือสามีไปกู้เงินในระหว่างไปรบ มีผู้รู้เห็นหลายคนว่ากู้ไปจริง (สันนิษฐานว่ากรณีนี้ผู้กู้อาจจะตายในสงคราม – ผู้เขียน) ให้ลูกเมียใช้หนี้แทนถ้าไม่มีเงินใช้เพราะยากจน ให้เจ้านายของไพร่ (อมวยขระกูล) ใช้แทน ถ้าเจ้านายไม่ใช้แทน ให้ข้าราชการขุนนางพม่าประชุมปรึกษากันแล้วใช้เงินแทนไพร่ เพื่อให้ไพร่ไปรบข้าศึก นับเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งของพม่าที่ให้แก่ไพร่ผู้อุทิศเวลาและชีวิตไปรบในสงคราม นอกจากนี้ พม่ายังได้ออกกฎหมายไพร่เกี่ยวกับความสะดวกสบายของลูกหลานไพร่ที่ไปรบว่า ถ้าลูกหรือสามีของไพร่ผู้ใดไปช่วยรบในสงครามต่างบ้านต่างเมือง ขุนกินเมืองหรือผู้ปกครองไพร่ผู้นั้นจะเรียกลูกหรือภรรยาของผู้ศึกษาไปใช้งานมิได้ ข้อนี้นับเป็นการให้สิทธิพิเศษแก่ลูกและภรรยาของผู้ไปรบสงครามประการหนึ่งเช่นกัน

เกี่ยวกับการควบคุมไพร่เมืองหรือประชาชนนั้น ได้พบข้อความที่แสดงให้เห็นว่าพม่าได้พยายามควบคุมไพร่เมือง เพราะไพร่เป็นกำลังสำคัญของบ้านเมืองทั้งยามสงบและยามสงคราม พม่าอนุญาตให้ไพร่เมืองย้ายถิ่นฐานได้ แต่ห้ามมิให้ไพร่เมืองหลบหนีไปอยู่ป่า หรือหลบออกจากเมืองไปอยู่ในที่ๆ พม่าควบคุมไม่ถึง ถ้าพบว่าคนใดหลบหนีไปอยู่ป่าให้จดชื่อของคนผู้นั้นแล้วนำไปแจ้งให้เจ้านายทราบ เพื่อจะได้สั่งดำเนินการกับไพร่ผู้นั้นต่อไป ดังปรากฏข้อความว่า

“ประการ ๑ ดั่งเมืองอันได้แต่งเก็บหอมนั้น แต่บ้าน ๑ ก็ย้ายออกไปอยู่บ้าน ๑ แก่หัวสิบซาว (นายสิบนายซาว) ทั้งหลายเรียกร้องเอานั้น ดังแก่บ้านพ่อเมืองนั้น อย่าเกิ้งอย่าเกิ๊ด (อย่าขัดขวาง) อย่าห้ามทาประมาณ ๑ ออกแต่บ้านนั้น ไปลี้ลับซงอยู่นั้น (ไปซ่อนอยู่) หื้อได้เหมียดหมายซื่อแล้ว หื้อได้เข้าไหว้สาที่สนามคา … ”

อนึ่ง พม่าได้กำหนดให้ไพร่ทำงานให้กับทางราชการบ้านเมืองตามประเพณีแต่โบราณมา ซึ่งในสมัยราชวงศ์มังรายไพร่ทุกคนมีหน้าที่มาทำงานให้บ้านเมืองตามที่กำหนด เรียกว่า “ไพร่เอาการเมือง” พม่าได้ควบคุมมิให้ไพร่หนีงาน ถ้าราชการมีงานให้ไพร่ทำ แล้วไพร่ทำอุบายหลบหนีงานให้ ควบคุมไว้ หากเมื่อทำงานเสร็จแล้วขุนนางพม่าอนุญาตให้กลับบ้าน ไพร่ต้องไปอยู่ที่เดิมหรือสังกัดเดิม แต่ทำอุบายจะหลบหนีอีกให้ลงโทษจำคุก (ปันราชวัตร) ไพร่ผู้นั้น

ถ้ากรณีบ้านเมืองมีงานให้ไพร่ทำ พ่อแม่ของไพร่ผู้นั้นทราบแล้วว่าจะต้องให้ลูกของตนไปทำงานนั้น แต่พ่อแม่ละเลยหลีกเลี่ยงโดยได้ส่งลูกของตนไปอยู่ที่อื่น หรือให้ลูกของตนไปหลบอยู่ตามป่าเขา ถือว่าหลีกเลี่ยงงานราชการ ให้จับกุมพ่อแม่แล้วให้ลงโทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นโทษสถานหนัก แสดงว่าพม่าควบคุมแรงงานไพร่อย่างเข้มงวดกวดขันมาก ในทางตรงกันข้ามก็สันนิษฐานได้ว่า พม่า ลงโทษอย่างรุนแรงนี้ก็อาจจะเป็นเพราะมีไพร่เมืองพยายามหลบหนีงานราชการมากก็เป็นได้ จึงลงโทษสถานหนักเพื่อให้คนเกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับนั้น ซึ่งข้อนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเชียงใหม่ไม่พอใจการปกครองของพม่าแล้วหาทางเป็นกบฏจากพม่าตลอดเวลา เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความระบุว่า

“ประการ ๑ ดั่งกิจการราชการเจ้าเกิดมีก็หากรู้จักว่า จักได้ลูกเอาราชการก็เอาลูกเต้าไปส่งเสียที่ไกลแล้ว ก็ซุกซ่อนหว่างห้วยพูดอยป่าเถื่อนบุบุ่นไปซุกซ่อนตั๋วอยู่ยังหว่างห้วยพูดอยพูเขา (ภูเขา) เป็นผู้หลีกเว้นยังการเจ้าดั่งเขาทั้งหลายนั้น ก็หื้อไล่กุมกำยับเอาทั้งแม่หญิงพ่อชายหื้อเสี้ยงแล้ว หัวเขาตกดินนับเสี้ยง (ฆ่าเสีย)”

เกี่ยวกับเรื่องของข้าทาสนั้น พม่ากำหนดว่าผู้ใดทุบตีทาส (ข้า) ของผู้อื่นตายให้แจ้งความให้ขุนนางพม่าทราบ อย่าได้ปิดบังไว้ แสดงว่าพม่าควบคุมทาสในเชียงใหม่ด้วย

ขบวนการยุติธรรมในบ้านเมือง กรณีมีคดีพิพาทเกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ผู้ปกครองหรือ เจ้าขุนเป็นผู้ตัดสินคดี ถ้าเป็นคดีสำคัญหรือคดีใหญ่ให้มีการประชุมเจ้าเมือง (ขุนกินเมือง) เลขานุการ (จาเรแคว้น) หัวหน้าแคว้นและล่าม ให้ประชุมพร้อมกันที่กว้าน (ศาล) แล้วจึงให้พิจารณาตัดสินตามธรรมศาสตร์ (รีดคลองธัมมสาด) ราชศาสตร์ อย่าได้ตัดสินโดยเห็นแก่สินบนหรือตัดสินโดยลำเอียง นับว่าพม่าได้ให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนในปกครองของพม่าพอสมควร

เกี่ยวกับการควบคุมข้าราชการของพม่านั้น ได้พบข้อความที่แสดงว่าพม่าปกครองเชียงใหม่อย่างมีระเบียบแบบแผน ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของขุนนางพม่าที่ทำหน้าที่ผู้ปกครองบ้านเมืองอย่างรัดกุม เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยและตามที่พม่าต้องการ และเป็นการป้องกันมิให้ข้าราชการพม่าใช้อำนาจข่มเหงประชาชน ดังพอจะสรุปถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับข้าราชการพม่าได้ดังนี้
ห้ามข้าราชการพม่า ปรับไหมหรือลงโทษประชาชน โดยที่กฎหมายมิได้กำหนดว่าเป็นความผิด ถ้าจะมีการพิจารณาตัดสินคดีห้ามตัดสินคดีตามใจชอบ ให้พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบก่อนแล้วจึงตัดสิน

ลูกหลานของขุนนางพม่าในเชียงใหม่ หากไปเที่ยวตามหมู่บ้านต่างๆ ห้ามใช้อำนาจไปบังคับประชาชนให้นำอาหาร หมู เป็ด ไก่ หมาก เมี่ยง พลู ของขบเคี้ยวต่างๆ จากชาวบ้าน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

สำหรับทหารพม่าที่มาจากหงสาวดีและอังวะ เข้าตั้งเมืองเชียงใหม่แล้วให้ปลูกโรงช้างโรงม้าบ้านเรือนขึ้นใหม่ อย่าได้ข่มเหงขุนนาง (ขุนกินบ้านกินเมือง) เชียงใหม่ทั้งหลายให้เดือดร้อน เขาแบ่งปันให้เท่าใดให้รับเอาเพียงเท่านั้น อย่าได้แก่งแย่งครุบชิงเอาของเขา ส่วนประชาชนพม่าในเมืองเชียงใหม่นั้น ห้ามแอบอ้างเอากฎหมายหรือหนังสือทางบ้านเมืองไปข่มเหงเบียดเบียน ปรับไหมประชาชน ถ้าผู้ใดได้กระทำเช่นนี้ ให้ขุนนางทั้งหลายจับกุมผู้ทำผิดและครอบครัวที่คนพม่าผู้นั้นไปละเมิดปรับไหมข่มเหงเขา ให้นำมามอบให้ขุนนางผู้ใหญ่พิจารณาลงโทษ

ด้านภาษีอากร พม่าได้พยายามควบคุมทรัพยากรต่างๆ ให้นำมาใส่พระคลังไว้ มิให้ข้าราชการซ่อนหรืออำหรือใช้สอยของของทางราชการ ดังความว่า

“ … วัตถุกับน้ำ คันไร่นา เรือกสวนบ้านป่าคนทั้งหลายฝูงนั้น ดั่งขุมกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย อย่าซ่อนอย่าอำไว้ … อย่าได้ใช้สอย ก็หอบขมาเข้าที่ราชสมบัติ …”

สำหรับของที่เป็นของทางราชการบ้านเมืองมาก่อน (สมัยราชวงศ์มังราย) อย่าได้เปลี่ยนแปลงล้มล้างเสีย เดิมเคยเก็บเข้าคลังอย่างใดก็ให้ปฏิบัติตามเดิมเช่นนั้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้สมบัติของบ้านเมืองในสมัยพม่าปกครองลดจำนวนลง กรณีที่ประชาชนหรือเจ้าขุนนำส่วยมาให้เป็นส่วยเดือนหรือส่วยปี เป็นน้ำมันดิน หรือ สิ่งของอื่นๆ ข้าราชการขุนนางพม่าอย่าได้เก็บไว้เป็นของตน ดังปรากฏข้อความว่า

“… คันข้าเจ้าคนในทั้งหลาย อันส่วยเขาด้วยเขาปลี (ปี) เขาเดือน เชาเดือน เชาน้ำมันดิน กาง (กลาง) ท่า หอบสิ่ง ดั่งข้าเจ้าคนในทั้งหลายฝูงนี้อย่าได้เก็บเอา”

ส่วนฉางหลวงหรือพระคลังหลวงนั้น ให้ได้นำข้าว พืชพันธุ์ (เครื่องปลูก) อาหารต่างๆ มาเก็บรักษาไว้ตามประเพณีที่เคยมา เพื่อฉางหลวงคลังหลวงจะได้มีข้าวของเงินทองไว้ใช้สอยในกิจการบ้านเมืองหรือคราวจำเป็น เช่น ยามสงคราม ดังปรากฏข้อความว่า

“… ประการ ๑ ดังสาง (ฉาง) หลวงเหล้ม (เล่ม หลวง อันได้หล่อได้ปันตาม เช่นเกล่า ตามเช่นเกล่า (เก่า) รอยหลัง ก็หื้อได้จัดถามแล้ว หื้อได้เปล่าเติน (ประกาศเตือน) สร้างแปลง ข้าว ยา ยาเคี้ยว เครื่องปลูกทั้งหลาย หื้อได้ใส่ได้หล่อ ตามเช้นเกล่าบูราณ …”

ในกรณีที่ทางราชการบ้านเมืองมีความจำเป็นรีบด่วนในการจะเรียกเกณฑ์เงินทอง ข้าวเปลือก ข้าวสาร เช่น ในภาวะสงคราม ทางราชการจะเรียกเก็บจากประชาชนก็ไม่ทันการณ์ ให้ข้าราชการเจ้าเมืองทั้งหลายจ่ายทดแทนไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากไพร่และอย่าได้เก็บค่าดอกเบี้ยหรือค่าตอบแทนที่จ่ายทดแทนครั้งนั้น ให้เรียกเก็บเท่าที่จ่ายทดแทนไป ดังปรากฏข้อความว่า

“ประการ ๑ ขุนกินบ้านกินเมืองแก่หัวจาเรทั้งหลาย ดั่งกิจจราชการหากเกิดมีมานั้นและดั่งเงินทองข้าวเปือก (เปลือก) ข้าวสาน (สาร) นั้น หากบ่ทันเก็บเป็นการอันรีบนั้น หื้อแก่หัวขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลายได้ออกปันก่อน คันออกแล้วเบี้ยเงินข้าวเปือกข้าวสานนั้นดั่งขุนกินบ้านกินเมืองทั้งหลาย ดั่งคนเวียกคนการทั้งหลาย ลูกบ้านลูกเมืองทั้งหลาย ก็อย่าได้ขึ้นดอกออกปลายเอามาเสียกว่า (มากกว่า) อันออกนั้น …”



จากข้อความในกฎหมายพม่า เกี่ยวกับเรื่องไพร่เมือง การควบคุมไพร่เมืองและข้าราชการพม่าด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนพ่อค้าประชาชนพม่าในเชียงใหม่ และเรื่องความยุติธรรมดังกล่าวข้างต้น อาจจะกล่าวได้ว่า พม่าได้พยายามปกครองเมืองเชียงใหม่อย่างรัดกุมและมีระเบียบ เพื่อให้การปกครองเป็นไปอย่างถูกต้องและเรียบร้อย ตลอดจนได้พยายามปกครองโดยอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา เช่น เรื่องเกี่ยวกับการบุกเบิกไร่นาของพม่า เป็นต้น

การที่พม่าอนุโลมให้ใช้กฎหมายมังรายศาสตร์และได้แก้ไขเพิ่มเติมบางตอนนั้น ด้วยได้พบข้อความในกฎหมายมังรายศาสตร์ว่า
“ ตามคลองยายีม่าน ว่าด้วยลักษณะมักเมียท่าน อันนี้อยู่นอกคลองมังรายศาสตร์แล …”

หมายว่าตามกฎหมายพม่าว่าด้วยการไปชอบเมียผู้อื่นให้ลงโทษหนัก ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่กฎหมายมังรายศาสตร์ ที่พม่าอนุโลมเช่นนี้อาจเป็นเพราะพม่าได้ป้องกันมิให้คนเชียงใหม่หรือล้านนาไทยเดือดร้อน และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองจากพม่า อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือประชาชนเกลียดชังพม่าทำให้ยากแก่การควบคุมและอาจจะมีการจลาจลขึ้นได้ อย่างไรก็ตามก็จะพบว่า แม้พม่าอนุโลมตามประเพณีดั้งเดิมของล้านนาไทยบางเรื่องที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของพม่าก็ตาม แต่เรื่องที่สำคัญและเป็นผลประโยชน์ของพม่า เช่น เรื่องการควบคุมไพร่ การทำงานของไพร่ ฯลฯ จะเห็นว่าพม่าได้เข้ามาควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนล้านนาไทยไม่พอใจและคิดการกบฏต่อพม่าตลอดมา เมื่อฝ่ายไทยมาช่วยเหลือเพื่อขับไล่พม่าออกจากบ้านเมืองคนล้านนาไทยจึงร่วมมือกับฝ่ายไทยด้วยดี จนสามารถขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:00 pm

วัฒนธรรมประเพณีพม่าในล้านนา


473607784_resize.jpg
473607784_resize.jpg (195.1 KiB) เปิดดู 15231 ครั้ง

ขอบคุณภาพจาก http://www.bsk.ac.th/

วัฒนธรรมประเพณีพม่าในล้านนา
ตลอดระยะเวลาที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๐๑ ถึง พ.ศ. ๒๓๑๗ นั้น พม่าได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีของตนเข้ามาเผยแพร่ในล้านนาหลายด้าน ทั้งด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ความเชื่อ การแต่งกาย อาหาร ฯลฯ ทางด้านศิลปกรรม โดยเฉพาะศิลปกรรมที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น เจดีย์ในเชียงใหม่หลายวัดสร้างตามแบบเจดีย์พม่า เช่น เจดีย์วัดแสนฝาง เป็นต้น ประเพณีการสร้างรูปสิงห์ตามวัดต่างๆ นิยมสร้างตามประเพณีพม่า ด้านปติมากรรมพบพระพุทธรูปแบบพม่าในวัดต่างๆ ในล้านนาทั่วไป เช่น พระพุทธรูปวัดพระแก้วดอนเต้า อำเภอลำปาง๕๓ การที่คนล้านนานิยมบวชเณรมากกว่าบวชพระภิกษุนั้น เป็นประเพณีนิยมของพม่าอย่างหนึ่งเช่น๕๔ การนิยมสักตามร่างกายเป็นประเพณีของพม่า ซึ่งคนพม่าถือว่าเด็กผู้ชายของพม่าจะถือว่าเป็นหนุ่มต่อเมื่อได้สักตามร่างกายแล้ว โดยสักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ และเชื่อว่าทำให้คงกระพัน ประเพณีการสักนี้ พม่านำเข้ามาใช้ในล้านนาด้านศาสนา๕๕ พม่าได้เอาพุทธศาสนาหีนยานแบบพม่า เรียกว่า นิกายม่าน เข้ามา เผยแพร่ในล้านนา แต่สันนิษฐานว่าไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แม้ว่าพม่าจะนำเอาพระสงฆ์เข้ามาและสร้างวัดพม่าก็ตาม๕๖ ส่วนความนิยมและสิ่งที่พม่านำไปจากเชียงใหม่หรือล้านนานั้น สันนิษฐานว่าพม่าคงนำไปน้อยมาก เพราะคนพม่าที่เข้ามาปกครองล้านนานั้นมีจำนวนน้อยและอยู่ในฐานะผู้ปกครองล้านนา จึงไม่เลื่อมใสยกย่องวัฒนธรรมของคนที่ตนปกครองอยู่ อย่างไรก็ตามพม่าได้นำเอาวิธีการบางอย่างที่พม่าไม่สามารถทำได้นำไปใช้ในบ้านเมืองของตน เช่น พม่านำเอาวิธีขุดพื้นรักลงเป็นรูปภาพต่างๆ ไปจากเชียงใหม่๕๗ พม่าปกครองเชียงใหม่นาน ๒๐๐ ปี จนถึงสมัยพระยากาวิละได้ร่วมมือกับฝ่ายไทยขับไล่อำนาจพม่าออกไปได้สำเร็จ ล้านนาจึงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทยเรื่อยมา

ประวัติศาสตร์การปกครองเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๗๖

(ตรงกับสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑ - ๗))

สรัสวดี อ๋องสกุล
เชียงใหม่ในช่วงเวลานับตั้งแต่เป็นประเทศราชของไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะการปกครองต่างไปจากสมัยก่อนหน้านั้น และเมื่อพิจารณาสามารถแบ่งออกเป็น ๒ สมัย ดังนี้

๑. เชียงใหม่สมัยเป็นประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕)

๒. เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๗๖)

๑.๑ เชียงใหม่สมัยเป็นประเทศราชของไทย (พ.ศ. ๒๓๑๗ - ก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕)

การฟื้นม่านและการเข้าสวามิภักดิ์ต่อไทย
เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นพม่าระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ ในช่วงเวลาสองร้อยกว่าปี เชียงใหม่ยังคงเป็นศูนย์กลางของหัวเมืองล้านนาที่พม่ายึดเป็นฐานที่มั่น โดยส่งข้าหลวงมาปกครองโดยตรง เข้าใจว่ามีการควบคุมอย่างเข้มงวด ชาวเชียงใหม่ได้ก่อการกบฏหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ซึ่งเป็นช่วงที่กษัตริย์พม่าอ่อนแอลง เชียงใหม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระอยู่ระยะหนึ่งและถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๖ พม่าก็สามารถตีเชียงใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งในครั้งหลังนี้พม่าได้กวาดต้อน ผู้คนไปเป็นเชลยจำนวนมาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “ … ไพร่ไทยชาวเชียงใหม่ไปอังวะนับ เสี้ยง …” ทั้งนี้เพื่อบั่นทอนกำลังมิให้เชียงใหม่รวมกำลังต่อต้านพม่าได้อีก
อย่างไรก็ตามความคิดของชาวเชียงใหม่ที่จะ “ฟื้นม่าน” ก็ยังมีอยู่เสมอดังปรากฏเหตุการณ์การต่อสู้กับโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่กลางเมืองเชียงใหม่มีสองครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๒ จักกายน้อยพรหมเสียชีวิตในที่รบ ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๓๑๔ โดยพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งมีกำลังน้อยและอาวุธก็ไม่พร้อมจึงพ่ายแพ้ พระยาจ่าบ้านหนีไปหาพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางเพื่อปรึกษาทางฟื้นม่านซึ่งได้ตกลงจะร่วมมือกัน โดยใช้วิธีหันไปสวามิภักดิ์ต่อฝ่ายไทยแล้วช่วยกันขับไล่พม่าออกไปในปี พ.ศ. ๒๓๑๗

ความคิดที่จะฟื้นม่านของผู้นำชาวล้านนา ตรงกับความต้องการของฝ่ายไทยที่พยายามขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาอยู่แล้ว กล่าวคือเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกู้อิสรภาพและจัดตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ตั้งตนเป็นอิสระจนสามารถรวบรวมหัวเมืองภายในให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่งในราว พ.ศ. ๒๓๑๓ หลังจากนั้น ทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาให้ได้ ทั้งนี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจุดยุทธศาสตร์ของล้านนา ซึ่งอยู่ระหว่างพม่ากับไทย หากไทยไม่สามารถครอบครองล้านนาไว้ในอำนาจ อันตรายจากพม่าจะมาถึง และเข้าใจว่าสาเหตุที่พระเจ้าตากสินและกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ให้ความสำคัญต่อหัวเมืองประเทศราชล้านนามากนั้น เพราะเป็นบทเรียนจากการเสียกรุงศรีอยุธยาทั้งสองครั้งพม่าสามารถยึดเอาล้านนาเป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหาร อาวุธ และกำลังคนเข้าร่วมในสงคราม ทำให้ไทยเสียเปรียบมากจนพ่ายแพ้สงคราม ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของไทยต้องยึดล้านนาให้ได้ แนวความคิดดังกล่าวเห็นได้จากพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๑ มีความตอนหนึ่งว่า “และราชการข้างหัวเมืองฝ่ายเหนือ แม้กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์คิดทำไม่สำเร็จ พระเศียรก็จะไม่ได้คงอยู่กับพระกายเป็นแท้” (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๓ โดยให้เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) เป็นทัพหน้า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพหลวง ๑๕,๐๐๐ คน เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยสามารถยกขึ้นไปถึงลำพูนได้โดยสะดวก ไม่ได้รับการต่อสู้ขัดขวางจาก หัวเมืองรายทางเลย แต่การตีเชียงใหม่ครั้งแรกไม่ได้ผล พระเจ้าตากสินมหาราชทรงยกกองทัพไปอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ครั้งนี้เป็นโอกาสของผู้นำชาวล้านนาจะได้ร่วมมือกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไป

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำล้านนาทำการฟื้นม่านและตัดสินใจเลือกข้างฝ่ายไทยนั้น ตามหลักฐานเท่าที่ปรากฏเข้าใจว่าเป็นผลมาจากการปกครองของโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ที่ใช้นโยบายแข็งกร้าวกระทำการกดขี่ข่มเหงชาวล้านนามากยิ่งกว่าโป่อภัยคามิณีเจ้าเมืองคนก่อนซึ่งปรากฏในหลักฐานพื้นเมืองว่า

“ในกาลหว่างนั้น อาชญามารก็แฮงกล้าแข็งฮ้อนไหม้ หาที่จักไว้อก วางใจก็บ่ได้ เก็บเงินคำใส่ฑัณฑ์กรรมผูกมัดฮักมุบแขนขา เอาแม่ฮ้าง นางสาว ส่งหาบนาบคาว ยามโป่หัวหงอก มาเป็นมยุโหงวร นั่งแต่งอยู่เมืองพิงซ้ำฮ้ายนักบางปีก็บ่มีสักเตื่อแล”
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า “โป่หัวขาวกระทำร้อนไหม้แก่บ้านเมืองแล”

นอกจากนั้นหลักฐานทางฝ่ายพม่าคือพงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวถึงโป่มะยุง่วน (โป่ หัวขาว) กระทำการริดรอนอำนาจของพระยาจ่าบ้าน พระยาสามล้าน พระยาแสนหลวงแห่งเมืองเชียงใหม่และพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ซึ่งผู้ปกครองพื้นเมืองดังกล่าวเคยคุมไพร่พลไปช่วย ราชการศึกจีนที่กรุงอังวะ มีความดีความชอบกษัตริย์พม่าให้อำนาจปกครองตามเดิม ความบาดหมางระหว่างพระยาจ่าบ้านกับโป่มะยุง่วน (โป่หัวขาว) ทำให้มีการปะทะกันที่กลางเมืองเชียงใหม่และพระยาจ่าบ้านชักชวนพระยากาวิละ “ฟื้นม่าน” ส่วนโป่มะยุง่วนใช้วิธีจับครอบครัวของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละคุมขังไว้ และออกคำสั่งจับพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละส่งไปชำระโทษที่กรุงอังวะ ซึ่งน่าจะเป็นแรงบีบคั้นให้พระยาทั้งสองเข้ามาสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทย

เมื่อพิจารณาการตัดสินใจเข้ากับฝ่ายไทยของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ล้านนาที่สำคัญ จากฐานะเมืองขึ้นของพม่ามาเป็นประเทศราชของไทย โดยที่ก่อนหน้านั้นผู้นำชาวล้านนาต่างยอมรับในอำนาจของพม่า เช่น พระยาสุลวะลือไชย (ทิพย์ช้าง) ในที่สุดต้องยอมรับอำนาจของกษัตริย์อังวะโดยส่งบรรณาการไปให้ ซึ่งความดีความชอบครั้งนั้น กษัตริย์อังวะได้พระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า พระยาไชยสงคราม เจ้าชายแก้ว ได้รับความ ช่วยเหลือจากกษัตริย์อังวะโดยส่งกองทัพมาช่วยปราบท้าวลิ้นกาง บุตรพ่อเมืองคนเก่าที่แย่งชิงเมืองไป เมื่อการสู้รบยุติลงกษัตริย์อังวะแต่งตั้งให้เจ้าชายแก้วเป็นเจ้าเมืองลำปางในปี พ.ศ. ๒๓๐๗

แผนการของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละที่จะเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายไทยนั้นเริ่มต้นโดยพระยาจ่าบ้านอาสากับโปสุพลาแม่ทัพพม่าที่อยู่เชียงใหม่ว่าจะเป็นกองหน้าล่องลงไปก่อนเพื่อเอาสวะและไม้ซุงออก ทัพเรือจะได้ยกไปตีกรุงธนบุรีสะดวก โปสุพลาเห็นชอบเกณฑ์ไพร่พลติดตามพระยาจ่าบ้านไป เมื่อสบโอกาสพระยาจ่าบ้านสังหารไพร่พลพม่าแล้วรีบไปหาเจ้าพระยาจักรี (รัชกาลที่ ๑) แม่ทัพฝ่ายไทยที่กำแพงเพชร

ส่วนพระยากาวิละได้ออกอุบายให้เจ้าคำโสมแต่งกองทัพคุมกำลังพม่าส่วนใหญ่แสร้งยกทัพไปสกัดกองทัพไทยเพื่อไม่ให้พม่าระแวงสงสัย เมื่อได้โอกาสพระยากาวิละคุมไพร่พลสังหารทหารพม่าซึ่งอยู่รักษาการณ์ในเมืองลำปางล้มตายจำนวนมาก รวมทั้งจักกายศิริจอสูแม่ทัพพม่าด้วย จากนั้นมอบให้เจ้าดวงทิพย์ล่วงหน้าไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วพระยากาวิละก็นำบรรณาการออกต้อนรับกองทัพหลวง และกองทัพพระยากาวิละได้ร่วมกับกองทัพหลวงเข้าตีเมืองเชียงใหม่สำเร็จ

เมื่อเสร็จสงครามเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๑๗ พระเจ้าตากสินมหาราชทรงตอบแทนความดีความชอบ โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่ พระยากาวิละครองเมืองลำปาง พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งญาติพี่น้องของพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เพื่อช่วยราชการบ้านเมืองทั้งสองด้วย นับเป็นการวางรากฐานการปกครองหัวเมืองประเทศราชล้านนาเป็นครั้งแรก และครั้งนี้พระเจ้าตากสินมหาราชทรงมอบ “อาญาสิทธิ์” แก่เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองกันเองตามธรรมเนียมเดิมของล้านนา

หลังจากที่เชียงใหม่ตกเป็นประเทศราชของไทยแล้ว พม่ายังพยายามยึดเชียงใหม่กลับคืนโดยยกกองทัพเข้าเมืองมาหลายครั้ง (ครั้งแรก พ.ศ. ๒๓๑๘) พระยาจ่าบ้านป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง แต่ในที่สุดก็รักษาเมืองไว้ไม่ได้เพราะผู้คนมีน้อยและอยู่ในสภาพอดอยาก ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นว่า

“ … เจ้าพระยาจ่าบ้านมีกำลังฉกรรจ์ ๑,๙๐๐ ข้ามขางเวียงอยู่ ผู้คนเป็นอันอยากน้ำกั้นเข้ามามากนัก ช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมา หัวบุกหัวบอน หัวกล้วย … จั๊กก่า จะเล้อ จิ้งหรีด ตึ๋กแตน ก็บ่ค้าง …” และ “ยามนั้นเวียงเชียงใหม่เป็นห่ารกอุกต้นอันด้วยคุ่มเครือเขาเถาวัลย์ เป็นที่แรดช้างเสือหมีผู้คนก็บ่หลายข้อนกันอยู่เท่าพอหมดแต่ร่มชายคาแลฯ หนทางเดินไปมาหากันเหตุว่าบ่มีโอกาสจักแผ้วจักถาง”

พระยาจ่าบ้านจึงต้องถอยไปตั้งมั่นที่วังพร้าวและลำปาง เมื่อกองทัพพม่ากลับไปพระยาจ่าบ้านก็จะกลับไปตั้งเมืองเชียงใหม่อีกในช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นลักษณะกลับไปกลับมา และช่วงปลายสมัยธนบุรี เชียงใหม่ถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างรวมทั้งเมืองอื่นๆ ในล้านนาด้วย จะมีแต่เมืองลำปางที่เป็นแหล่งที่มั่นของฝ่ายไทย

ขอบคุณภาพจาก http://www.bsk.ac.th/
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ ศุกร์ 18 ธ.ค. 2015 1:57 pm, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:01 pm

การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๓๓๙ - ๒๓๔๗)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕ พระยากาวิละพร้อมด้วยเจ้านายพี่น้องลงมาเฝ้าถวายเครื่องราชบรรณาการและกราบบังคมทูลข้อราชการ ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งเสียชีวิตลงในปลายสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้น้องพระยากาวิละดำรงตำแหน่งสำคัญในเมืองเชียงใหม่และลำปาง ดังนี้ เจ้าคำโสมเป็นเจ้าเมืองลำปาง เจ้าธรรมลังกาเป็นอุปราชเมืองเชียงใหม่ เจ้าดวงทิพย์เป็นอุปราชเมืองลำปาง เจ้าหมูล่าเป็นพระยาราชวงศ์เมืองลำปาง และเจ้าคำฝั้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์เมืองเชียงใหม่ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๗ จึงได้เป็นเจ้าเมืองลำพูน

จากการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวจะเห็นว่าเมืองเชียงใหม่มีฐานะสูงกว่าเมืองลำปางและลำพูน ในระยะแรกบรรดาเจ้าเจ็ดตนจะเลื่อนตำแหน่งจากเจ้าเมืองลำพูนเป็นเจ้าเมืองลำปาง และจากเจ้าเมืองลำปางเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นลำดับ แต่ในเวลาต่อมาการเลื่อนตำแหน่งเจ้าเมืองจะแต่งตั้งจากเจ้านายบุตรหลานของเมืองนั้นเอง จึงเป็นการแยกราชวงศ์เชียงใหม่ วงศ์ลำปาง และลำพูนเด่นชัดยิ่งขึ้น สำหรับอำนาจสิทธิขาด เจ้าเมืองเชียงใหม่มีอาญาสิทธิ์สูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตด้วยการใช้ดาบตัดศีรษะ เจ้าเมืองลำปางเข้าใจว่ามีสิทธิเพียงใช้หอกเสียบอก และเจ้าเมืองลำพูนมีสิทธิลดลงอีกโดยใช้หอกเสียบบั้นเอว อำนาจของเจ้าเมืองจึงลดหลั่นตามลำดับ

การที่รัชกาลที่ ๑ ทรงแต่งตั้งให้ตระกูลเจ้าเจ็ดตนครองเมืองเชียงใหม่และลำปางในทันที เข้าใจว่าเป็นเหตุผลที่ต้องการให้ร่วมกันสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่ล้านนาไทย โดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของล้านนาไทยขณะนั้นอยู่ในสภาพเมืองร้าง จำเป็นต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ พร้อมกับกวาดล้างอิทธิพลของพม่าให้หมดไป พระยากาวิละจึงมีหน้าที่ “สร้างบ้านแปงเมือง” เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง และโดยที่เชียงใหม่อยู่ในอิทธิพลพม่า พระยากาวิละไม่สามารถตั้งเมืองได้ทันที จึงเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ด้วยการตั้งเวียงป่าซางก่อน และตั้งมั่นอยู่ถึง ๑๔ ปี จึงสามารถตั้งเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ. ๒๓๓๙ ส่วนอิทธิพลของพม่าในล้านนาไทยถือว่าสิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่าปี พ.ศ. ๒๓๔๗ โดยกองทัพเชียงใหม่รวมกับกองทัพฝ่ายไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของพม่าสำเร็จ

การฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่เริ่มตั้งแต่ตั้งเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๓๓๙ จนถึงขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาไทยในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการรวบรวมพลเมืองเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ เป็นยุคที่เรียกว่า “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” พระยากาวิละกวาดต้อนชาวเมืองเชียงใหม่ที่หลบหนีเข้าป่าให้กลับสู่เมือง และเริ่มกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองปันนา ไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน และยอง ผู้คนที่กวาดต้อนมามีหลายชนิดเข้าใจว่าเป็นช่างฝีมือหรือไพร่เมืองชั้นดีจะให้ตั้งถิ่นฐานในตัวเมือง เช่น เขิน ที่ถนนวัวลาย ส่วนไพร่ที่ไม่เป็นช่างฝีมือจะไว้นอกเมือง เช่น เขินที่สันทราย ยองที่ลำพูน ผู้คนที่ถูกกวาดต้อนมาก็จะตั้งชื่อหมู่บ้านของตนตามชื่อบ้านเมืองเดิมที่ตนถูกกวาดต้อนลงมา เช่น เมืองวะ เมืองเลน เมืองขอน เมืองกาย พยาก เป็นต้น เชียงใหม่สมัยพระยากาวิละจึงพ้นจากสภาพเมืองร้าง

นอกจากพระยากาวิละจะ “เก็บข้าใส่เมือง” ดังกล่าวแล้ว ยังมีการฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ใน รูปแบบต่างๆ เช่น ราชประเพณี โดยการกระทำพิธีราชาภิเษก สถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนขึ้นปกครองสืบต่อจากราชวงศ์มังราย การทำนุบำรุงพุทธศาสนา โดยสร้างวัด พระพุทธรูป การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นรัตนตึงษาอภินวบุรี เป็นต้น นับว่าพระยากาวิละและเจ้านายบุตรหลานได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงแก่เมืองเชียงใหม่ และล้านนาไทยยิ่ง

การปกครองภายในเมืองเชียงใหม่ก่อนการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ

ในสมัยพระยากาวิละได้นำระบบการปกครองบางอย่างของไทยไปปรับปรุงใช้ที่เชียงใหม่ เช่น การแต่งตั้งพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน และพระยาเด็กชาย ให้อยู่ในตำแหน่งปฐมอัครมหาเสนาบดี ทั้ง ๔ ทำหน้าที่เหมือนจตุสดมภ์ของไทย คือเป็น เวียง วัง คลัง นา ตามลำดับ โดยถือว่าตำแหน่งดังกล่าวสูงกว่าข้าราชการอื่นๆ ดังตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า “ … มีพระยาแสนหลวง พระยาสามล้าน พระยาจ่าบ้าน พระยาเด็กชาย เป็นใหญ่แก่ท้าวพระยาทั้งหลาย …” และการตั้งตำแหน่งวังหน้าและวังหลังเพิ่มขึ้น ซึ่งพระยากาวิละแต่งตั้งให้พระยาอุปราชดำรงตำแหน่ง วังหน้า พระยาบุรีรัตน์ดำรงตำแหน่งวังหลังเป็นครั้งแรก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของไทยในด้านความคิดและแบบอย่างทางการปกครองที่มีต่อเมืองเชียงใหม่

โครงสร้างทางการปกครองของเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยเจ้าขัน ๕ ใบ ได้แก่ เจ้าเมือง และผู้ช่วยเหลือในการปกครองอีก ๔ ตำแหน่ง คือ พระยาอุปราช พระยาราชบุตร พระยาราชวงศ์ และพระยาบุรีรัตน์ ในทางทฤษฎีตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบนี้ จะได้รับการแต่งตั้งและถอดถอนจากกรุงเทพฯ แต่ในทางปฏิบัติเจ้านายชั้นสูงในเชียงใหม่จะเสนอชื่อผู้เห็นสมควรจะได้รับตำแหน่งนี้ขึ้นมา โดยทางรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จะแต่งตั้งตามที่เสนอมา นับว่าการเมืองภายในเชียงใหม่มีอิสระอยู่มาก

ส่วนหน้าที่ของตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ในระยะแรกซึ่งอยู่ในช่วงสงครามระหว่างไทยกับพม่า จึงเข้าใจว่าหน้าที่หลักคือการควบคุมกำลังรบ แต่ในระยะต่อมาเมื่อราชการสงครามเบาบางลง หน้าที่ของเจ้าขัน ๕ ใบ จึงเปลี่ยนแปลงไปดังมีผู้สันนิษฐานว่า ตำแหน่งอุปราชทำหน้าที่การคลัง เจ้าราชบุตรและเจ้าราชวงศ์มีหน้าที่เกี่ยวกับทหาร และเจ้าบุรีรัตน์เป็นผู้จัดการปกครองภายในเมือง โดยมีเจ้าเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดควบคุมกิจการทั่วไป

ตำแหน่งผู้ช่วยราชการของเจ้าเมืองนี้ ในสมัยต่อมาเมื่อราชการขยายออกไปและเจ้านายบุตรหลานก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงทำการแต่งตั้งเพิ่มเติมอีกหลายตำแหน่งและหลายครั้งเป็นลำดับดังนี้คือ เดิมนั้นมีเพียงเจ้าขัน 5 ใบ ครั้นในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ (พ.ศ ๒๓๙๙ - ๒๔๑๒) รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้าราชภาคินัย พระยาอุตรการโกศล พระยาไชยสงคราม ในสมัยต่อมาเจ้าอินทวิชยานนท์ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙) รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเพิ่มอีก ๓ ตำแหน่ง คือ เจ้าราชภาติกวงษ์ เจ้าราชสัมพันธ์สงศ์ และเจ้าสุริยวงศ์ ราว พ.ศ. ๒๔๓๗ ทรง โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๒ ตำแหน่ง คือ เจ้าทักษิณนิเกตน์ และเจ้านิเวศอุดร ครั้น พ.ศ.๒๔๔๑ หลังจากตราพระราชบัญญัติศักดินาเจ้านายแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มอีก ๔ ตำแหน่ง คือ เจ้าประพันธ์พงษ์ เจ้าวรญาติ เจ้าราชญาติ และเจ้าไชยวรเชษฐ

นอกจากตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ และตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าผู้ครองนครที่แต่งตั้งเพิ่มขึ้นตามลำดับดังกล่าวแล้ว ในการบริหารบ้านเมืองยังมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่าเค้าสนามหลวง ซึ่งจะประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูง ๓๒ คน เข้าใจว่าจะมีเจ้าขัน ๕ ใบ และเจ้านายอื่นๆ เช่น พระยาจ่าบ้าน พระยาสามล้าน พระยาแสนหลวง เค้าสนามหลวงมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองของเจ้าเมืองและช่วยเหลือในการบริหารบ้านเมือง มีที่ทำการอยู่ที่คุ้มของเจ้าเมือง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการปกครอง ตำแหน่งเค้าสนามหลวงไม่ปรากฏชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗) ก็ปรากฏว่ามีตำแหน่งเค้าสนามหลวงนี้แล้ว

ส่วนการปกครองในระดับท้องถิ่น จะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นตำบลและหมู่บ้าน ตำบลมีกำนัน (แคว่น) ปกครอง หมู่บ้านมีผู้ใหญ่บ้าน (แก่บ้าน) ปกครอง โดยทำหน้าที่ดูแลความทุกข์สุข ทั่วไปแต่อำนาจแท้จริงอยู่ที่เค้าสนามหลวง ทั้งแคว่นและแก่บ้านจะมียศเป็นแสนท้าว หรือพญา ซึ่ง เข้าใจว่าท้องถิ่นที่อยู่ใกล้และขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ เจ้าเมืองจะเป็นผู้แต่งตั้ง

การปกครองในส่วนหัวเมือง อาจจะแบ่งเป็นหัวเมืองภายใน และหัวเมืองชายแดน หัวเมืองภายในจะขึ้นโดยตรงต่อเชียงใหม่ เช่น ฝาง เชียงดาว พร้าว เข้าใจว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่จะแต่งตั้งคนที่ไว้วางใจไปปกครองและทำหน้าที่เก็บส่วยข้าวส่งฉางหลวง และในกรณีเมืองที่อยู่ห่างไกลจะให้ส่งของป่าหายากแทนการส่งส่วยข้าว ส่วนหัวเมืองชายแดนซึ่งขึ้นเชียงใหม่มีหลายเมือง เนื่องจากเชียงใหม่ในสมัยพระยากาวิละได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ในทางเหนือจดเมืองเชียงรุ้ง เชียงขวาง สิบสองปันนา ส่วนทางตะวันตกสามารถครอบครองหัวเมืองด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เช่น เมืองจวด เมืองทา เมืองต่วน เมืองสาด เมืองหาง หรือที่เรียกว่า “หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า” เมืองเหล่านี้ได้มาด้วยวิธีการ ๒ อย่าง คือ การเกลี้ยกล่อมเข้าไว้ในอำนาจโดยไม่ต้องสู้รบกัน ซึ่งหากไม่ยอมก็จะใช้วิธีการปราบปรามเมื่อปราบสำเร็จก็จะกวาดต้อนผู้คนในเมืองนั้นมา โดยปล่อยให้เมืองนั้นร้างไว้ ขณะเดียวกันก็ถือว่าเมืองร้างนั้นเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเชียงใหม่และหัวเมืองชายแดนจะปกครองตามธรรมเนียมเดิมของตน
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:03 pm

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราชของไทย

ในการปกครองเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ได้ใช้นโยบายและวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑. นโยบายการปกครองเมืองเชียงใหม่

รัฐบาลกลางทั้งในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่างมีนโยบายสนับสนุนให้เชียงใหม่เป็นเมืองหน้าด่านฝ่ายเหนือที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะป้องกันการรุกรานจากพม่า ดังจะเห็นได้ว่าพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความช่วยเหลือให้เชียงใหม่ฟื้นตัวโดยเร็ว โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจ่าบ้านเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้รักษาเมืองจากการโจมตีของพม่า แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเชียงใหม่อยู่ในสภาวะสงครามมานานบ้านเมืองจึงทรุดโทรม ขาดแคลนกำลังคนที่จะช่วยกันรักษาเมืองไว้ได้ ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์มีพระบรมราโชบายเช่นเดียวกับพระเจ้า ตากสินมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางให้ขึ้นไปครองเมืองเชียงใหม่ เพราะ พระยากาวิละมีฝีมือในการรบสามารถป้องกันการรุกรานของพม่าได้หลายครั้ง ด้วยเหตุนี้เมืองเชียงใหม่จึงได้รับการฟื้นฟูให้มั่นคงเป็นศูนย์กลางของดินแดนล้านนาไทยอีกครั้งหนึ่ง

วิธีการดำเนินงานเพื่อให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็ง รัฐบาลกลางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้กระทำการช่วยเหลือเชียงใหม่หลายรูปแบบ
ประการแรก การช่วยเหลือด้านอาวุธเพื่อใช้ในราชการสงครามนับเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางให้ความช่วยเหลือเสมอมา ดังปรากฏหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๑ ปี พ.ศ. ๒๓๔๕ เมื่อทรงมีพระราชดำริให้เมืองเชียงใหม่และลำปางยกทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงแสน ซึ่งเป็นที่มั่นของฝ่ายพม่า ทรงพระราชทานอาวุธปืนและกระสุนจำนวนหนึ่ง และในสมัยรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ เมืองเชียงใหม่ขอพระราชทานปืนหามแล่น ๑๐๐ กระบอก

ประการที่สอง การส่งกองทัพหลวงช่วยเหลือป้องกันเมืองเชียงใหม่ ในระยะที่เพิ่งจะตั้งเมืองในสมัยพระยากาวิละในปี พ.ศ. ๒๓๔๐ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวว่าพระยากาวิละไม่สามารถป้องกันเมืองเชียงใหม่ตามลำพัง เนื่องจากกำลังคนมีไม่เพียงพอจึงขอทัพหลวงมาช่วย ซึ่งรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรฯ ยกกองทัพไปช่วย ได้ร่วมกันสู้รบจนพม่าพ่ายไป และในสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงแสนใน พ.ศ. ๒๓๔๗ กองทัพหลวงก็ขึ้นไปช่วยกองทัพเชียงใหม่ด้วย

ประการที่สาม การคืนครัวเรือนที่เชียงใหม่กวาดต้อนมาได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นกำลังช่วยกันรักษาและทำนุบำรุงบ้านเมือง ดังเช่น พระยากาวิละยกทัพไปตีเมืองสาด เมืองปัน เมืองปุ แล้วกวาดครัวมาถวายรัชกาลที่ ๑ ๆ ทรงพระราชทานคืนครัวเรือนที่กวาดต้อนมาได้คืนเชียงใหม่ไป อีกทั้งยังพระราชทานเงินและเสื้อผ้าเป็นบำเหน็จความดีความชอบแก่นายทหารในครั้งนั้นด้วย การคืนครัวนี้สืบมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระราชทานกลับคืนไปเช่นกัน

ประการที่สี่ การตั้งเมืองลำพูนและเชียงรายเพื่อเป็นกำลังช่วยเหลือเชียงใหม่ เมื่อมีราชการสงครามเกิดขึ้น โดยตั้งเมืองลำพูนสมัยรัชกาลที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๕๗ ซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว ส่วนเมืองเชียงรายจัดตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๘๖ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูนขอพระราชทานตั้งเมืองขึ้นใหม่ อาจกล่าวได้ว่าเมืองลำพูนและเชียงราย ตลอดจนลำปางในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นเมืองบริวารของเชียงใหม่เพราะทรงถือว่าเมืองเชียงใหม่มีเจ้าเมืองเป็นญาติผู้ใหญ่กว่าเมืองอื่นๆ ซึ่งสืบสายตระกูลเจ้าเจ็ดตนเช่นเดียวกัน จึงให้สิทธิ์แก่เจ้าเมืองเชียงใหม่ เช่น สามารถว่ากล่าว ตักเตือน และลงโทษเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานเมืองอื่นๆ ได้ และยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและอุปราชเมืองลำพูน

อนึ่ง สารตราสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน จะเน้นเสมอถึงการให้ทั้งสามเมืองช่วยกันปกครองบ้านเมืองและป้องกันภัยจากพม่า

จากความพยายามสนับสนุนให้เชียงใหม่มีความเข้มแข็งได้ประสบความสำเร็จในปลาย รัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว สามารถขับไล่พม่าจากฐานที่มั่นในเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ. ๒๓๔๗ และหลังจากสงครามครั้งนั้นพม่าไม่ได้ยกทัพมาโจมตีหัวเมืองล้านนาไทยเป็นกองทัพใหญ่อีก จะมีแต่กองทัพจากเมืองเชียงใหม่และเมืองอื่นๆ ในล้านนาไทยร่วมกันยกไปตีเขตหัวเมืองขึ้นของพม่า ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๓๔๘ ก็สามารถขยายอาณาเขตไปถึงเชียงตุง เชียงรุ้ง เมืองลื้อ สิบสองปันนา อาณาเขตของล้านนาไทยจึงขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

๒) วิธีการควบคุมเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราช

เมื่อพิจารณาลักษณะการปกครองภายในเมืองเชียงใหม่ตามหัวข้อที่กล่าวมาแล้วจะ เห็นว่ารัฐบาลกลางให้เชียงใหม่มีอิสระในการปกครองตนเองอย่างมาก โดยที่รัฐบาลกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายใน เชียงใหม่สามารถกำหนดรูปแบบการปกครองตนเองตามขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น อย่างไรก็ตามรัฐบาลกลางก็ไม่ปล่อยให้เป็นอิสระเสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางใช้วิธีการควบคุมโดยอ้อม ซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกันที่จะให้เชียงใหม่ต้องตระหนักถึงอำนาจของรัฐบาลกลางที่เหนือกว่าอยู่เสมอ

วิธีการซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการควบคุมที่สำคัญคือ การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูงที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานตำแหน่งให้ โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งใหม่จะต้องเข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯ ทุกครั้งเพื่อรับตราตั้งและเครื่องยศ ในการพระราชทานเครื่องยศแล้วแต่โอกาส ตำแหน่งเดียวกันอาจจะรับเครื่องยศต่างกัน และเครื่องยศทุกชิ้นจะต้องคืนเมื่อถึงแก่กรรม โดยทางกรุงเทพฯ จะตรวจนับเครื่องยศ มีหลักฐานว่าการส่งคืนเครื่องยศของเจ้าเชียงใหม่พุทธวงษ์ (พ.ศ. ๒๓๖๗ - ๒๓๘๙) ขาดไป ๕ สิ่ง ซึ่งทางกรุงเทพฯ ไม่ทวงถาม

นอกจากนั้นมีพิธีการต่างๆ ที่ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ที่กรุงเทพฯ เช่น เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน เจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานต้องลงมาร่วมในงานพระบรมศพและเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ด้วย การกระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา ปีละ ๒ ครั้ง โดยประกอบพิธีที่วัดสำคัญ มีเจ้าขัน ๕ ใบและเจ้านายบุตรหลานอื่นๆ ร่วมด้วย พิธีนี้มีการให้สัตย์สาบาน รัฐบาลกลางจึงถือว่าเป็นพิธีสำคัญที่แสดงความจงรักภักดี ผู้ที่ไม่ร่วมพิธีจะถูกเพ่งเล็ง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และรัชกาลที่ ๔ พบหลักฐานเสมอที่ทรงย้ำให้กระทำพิธีนี้

อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาเป็นรูปพิธีการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางมากกว่า ส่วนวิธีการควบคุมที่แสดงอำนาจที่เฉียบขาด เช่น การเรียกตัวให้เข้าเฝ้าเพื่อสอบสวนความผิดดังกรณีพระเจ้าตากสินมหาราชเรียกตัวพระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละซึ่งมีการลงโทษตัดขอบหูพระยากาวิละและขังพระยาจ่าบ้านตามที่กล่าวมาแล้ว และกรณีรัชกาลที่ ๔ เรียกตัวเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์เข้าเฝ้าเพราะได้ข่าวว่าฝักใฝ่พม่า ซึ่งผลปรากฏว่าไม่มีความผิดจึงให้กลับไปครองเมืองตามเดิม นอกจากนั้นถ้ารัฐบาลกลางไม่แน่ใจว่าจะจงรักภักดีก็จะให้ทำราชการในกรุงเทพฯ เช่นกรณีพระยาแพร่มังไชยเคยถูกพม่าจับตัวไปและอยู่กับพม่า ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๓๑๘ - ๒๓๒๘) ได้หันมาช่วยกองทัพไทยโดยยกทัพไปตีเชียงแสนและสามารถจับตัวเจ้าเมืองเชียงแสนนำส่งมากรุงเทพฯ ได้ นับว่ามีความดีความชอบมาก แต่รัชกาลที่ ๑ ยังแคลงพระทัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาแพร่มังไชยรับราชการที่กรุงเทพฯ มิให้กลับไปครองเมือง

๓) พันธะของเมืองเชียงใหม่ต่อรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ

สิ่งที่เชียงใหม่ต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของเมืองประเทศราชแบ่งได้เป็น ๒ ประการ

ประการแรก การส่งเครื่องราชบรรณาการ ส่วย และสิ่งของต่างๆ

เครื่องราชบรรณาการ ต้องส่ง ๓ ปีต่อครั้ง เป็นเครื่องหมายของการยอมอยู่ใต้การบังคับบัญชา หากไม่ส่งจะถือว่ากบฏ เครื่องราชบรรณาการประกอบด้วยสิ่งสำคัญคือต้นไม้ทองเงินขนาดเท่ากัน ๑ คู่ และสิ่งของอีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสม โดยไม่กำหนดชนิดและจำนวน หลักฐานในสมัยรัชกาลที่ ๔ พบว่าส่งต้นไม้ทองเงินสูง ๓ ศอกคืบ ๗ ชั้น และไม้ขอนสัก ๓๐๐ ต้น หรือบางปีส่งน้ำรักแทนในจำนวน ๑๕๐ หรือ ๓๐๐ กระบอก ต้นไม้ทองเงินที่ส่งมาถวายเข้าใจว่าไม่น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากนัก เมื่อเทียบกับส่วยและการเกณฑ์สิ่งของซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ามาก

ส่วย เป็นสิ่งของที่ต้องส่งทุกปี ในอัตราที่ค่อนข้างแน่นอน ส่วยที่สำคัญของเชียงใหม่ คือ ไม้ขอนสัก ซึ่งเป็นของหาง่ายในท้องถิ่น ตามหลักฐานสมัยรัชกาลที่ ๓ พบว่าเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ส่งไม้ขอนสัก ๕๐๐ ต้น น่าน ๔๐๐ ต้น ลำปาง ๔๐๐ ต้น แพร่ ๒๐๐ ต้น ลำพูน ๒๐๐ ต้น

อย่างไรก็ตามการส่งส่วยบางครั้งไม่ครบจำนวน มีการค้างส่วย ซึ่งสำหรับเมืองเชียงใหม่ไม่พบหลักฐานการทวงส่วยให้ส่งให้ครบหรือเร่งให้ส่ง เท่าที่พบมีเมืองแพร่ส่งไม้ขอนสักไม่ครบรัฐบาลกลางเร่งให้ส่งด่วน และเมืองน่านเจ้าเมืองของดส่งส่วยไม้ขอนสัก ๓ ปี ซึ่งรัชกาลที่ ๔ ไม่ยอมและ ถูกว่ากล่าวตักเตือน

นอกจากไม้ขอนสักแล้วเชียงใหม่ส่งผ้าขาวเพลา ปีละ ๒๐๐ เพลา และน้ำรัก ๕๓๗ ทะนาน

นอกจากจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยแล้ว เมื่อมีงานพระราชพิธี เช่น พระบรมศพ รัฐบาลกลางจะเกณฑ์สิ่งของ ตามหลักฐานในงานพระราชพิธีบรมศพรัชกาลที่ ๑ พ.ศ.๒๓๕๒ เชียงใหม่ถูกเกณฑ์กระดาษหัว ๒๐,๐๐๐ แผ่น ลำปางส่งกระดาษหัว ๑๕,๐๐๐ แผ่น ลำพูนส่งกระดาษหัว ๕,๐๐๐ แผ่น แพร่ส่งกระดาษหัว ๒๐,๐๐๐ แผ่น ป่าน ๕ หาบ และเมืองน่านต้องส่งกระดาษหัว ๓,๐๐๐ แผ่น ป่าน ๕ หาบ และเมื่อรัฐบาลกลางมีการก่อสร้างพระราชวังและวัดก็จะเรียกเกณฑ์ไม้ขอนสัก เช่น รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระราชวังที่ลพบุรีต้องใช้ไม้ขอนสักจำนวนมาก เท่าที่ค้นคว้าไม่พบหลักฐานว่าเมืองเชียงใหม่ถูกเกณฑ์เท่าไร พบแต่หลักฐานว่าเมืองลำปางต้องส่งไม้ขอนสักครั้งนั้นถึง ๑,๐๐๐ ต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเชียงใหม่ส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยลงมา รัฐบาลกลางจะส่ง สิ่งของตอบแทนให้กลับไปใช้สอยในบ้านเมือง โดยพระราชทานแก่ผู้คุมบรรณาการหรือส่วย สิ่งของที่พระราชทานมักจะเป็นของที่ทางเชียงใหม่ขาดแคลนและขอร้องมา แต่ในการพระราชทานไม่แน่นอนว่าเป็นอะไร และมีจำนวนเท่าใด สมัยรัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๔๕ พระราชทาน ดังนี้

ปืนนกคุ้มกระสุน ๒ นิ้ว ๒ บอก
ปืนเล็กกระสุน ๓ นิ้ว ๒ บอก
๓ นิ้ว
กระสุนปืนใหญ่ ๔ นิ้ว ๒,๕๐๐ ลูก
๕ นิ้ว
ดีบุกหนัก ๕ หาบ
สุพันถันหนัก ๓ หาบ
ฉาบพล ๒,๐๐๐ ใบ
กะทะเหล็ก ๗ ใบ
ทองคำเปลว ๕,๐๐๐ แผ่น
กระจกหนัก ๑๐ หาบ
ฯลฯ เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๙๐ พระราชทานพานไถนาโดยให้แวะรับเจ้าภาษีเหล็กที่เมืองชัยนาท และพบว่าการเข้าเฝ้าครั้งนั้นมีเจ้าอุปราชเชียงใหม่นำมา มีผู้คนติดตามถึง ๓๔๙ คน ในระหว่างการเข้าเฝ้าและเดินทางกลับทรงพระราชทานสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งประกอบด้วย ข้าวสาร ๓๔๙ ถัง ฟืน ๕๐๐ ดุ้น เสื่อ ๔๒ ผืน น้ำมันมะพร้าว ๑๓๐ ทะนาน เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากการตอบบรรณาการและส่วยแล้วนับว่าทั้งเมืองเชียงใหม่และรัฐบาลกลางต่างมีพันธะที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และคงมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ สมัยก่อนการปฏิรูปการปกครองดำเนินไปด้วยความราบรื่น

ประการที่สอง การป้องกันประเทศ ถือเป็นหน้าที่สำคัญของเมืองประเทศราชที่ต้อง ช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เช่น ยามมีศึกสงครามจะถูกเกณฑ์กำลังทหารซึ่งจะต้องส่งกำลังมาช่วยอย่าง รวดเร็วเพื่อไม่ให้ถูกเพ่งเล็ง กองทัพเชียงใหม่เคยถูกเกณฑ์ราชการศึกหลายครั้ง เช่น คราวกบฏ เจ้าอนุวงศ์ พ.ศ. ๒๓๖๙ และเมื่อสถานการณ์ปกติเมืองประเทศราชต้องอยู่ในสภาพเตรียมพร้อมป้องกันบ้านเมืองเสมอ ดังสารตราในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ส่งถึงเมืองเชียงใหม่ตอนหนึ่งมีความว่า

“ … อีกประการหนึ่งให้ตรวจตราค่ายคูประตูเมือง ป้อมกำแพง หอรบเชิงเทินตึก ปืนดิน สำหรับบ้านเมือง สิ่งใดชำรุดหักอยู่ให้จัดแจงตกแต่งซ่อมแปลงทำขึ้นไว้ให้มั่นคงจะได้เป็นสง่างามกับบ้านเมือง สัตรูจะไม่ได้ประมาตขึ้นได้ กับให้บำรุงทหาร จัดแจงปืน กระสุนดินดำ เครื่องสาตราวุธ รวบรวมเสบียงอาหารใส่ยุ้งฉางให้พร้อมสรรพไว้กับบ้านเมือง มีราชการกิจสงครามคุกคามค่ำคืนประการใดก็ให้พร้อมมูล อีกประการหนึ่งให้แต่งกองลาดตระเวณตรวจตรารักษาด่านสืบราชการปลายแดนอย่าให้ขาด ถ้ามีเหตุการณ์ชายแดนให้บอกเมืองลคอร, ลำพูน แลหัวเมืองที่ไกลให้รู้ราชการ ให้เร่งรีบบอกลงกรุงเทพฯ ให้เมืองเชียงใหม่, ลำพูน, ลำปางช่วยกันรบพุ่งต้านทานไว้กว่ากองทัพกรุงเทพฯ กองทัพหัวเมืองจะขึ้นไปถึง อย่าให้เสียเขตแดนบ้านเมือง …”
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:05 pm

๒.๒ เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๕๗๖)

ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าเชียงใหม่นับตั้งแต่ตกเป็นประเทศราชของไทยใน พ.ศ. ๒๓๑๗ จนถึงช่วงก่อนการปฏิรูปสมัยรัชกาลที่ ๕ สถานการณ์โดยทั่วไปในเชียงใหม่อาจกล่าวได้ว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างใดต่อรัฐบาลกลาง แม้ว่าวิธีการควบคุมเมืองเชียงใหม่จะไม่รัดกุมเท่าไรนักก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมกิจการภายในมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งในที่สุดก็ผนวกเอาเชียงใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของไทยนั้น เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นยุคแห่งการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก ด้านการปกครองหัวเมืองมีการยกเลิกระบบการปกครองเมืองประเทศราชซึ่งเคยปฏิบัติกันมาช้านาน โดยจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน มีข้าหลวงเทศาภิบาลที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ส่งไปปกครองและขึ้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นจึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติรัฐ ซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ที่องค์พระมหากษัตริย์

มูลเหตุของการปฏิรูปการปกครอง เกิดจากปัญหา ๒ ประการ คือ ปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้และปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในเชียงใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไปหลังจากอังกฤษเข้าครอบครองดินแดนพม่า ทำให้คนในบังคับอังกฤษเข้ามามีความสัมพันธ์กับเชียงใหม่มากขึ้นและกลายเป็นปัญหาในเวลาต่อมา

ประการแรก ปัญหาเกี่ยวกับกิจการป่าไม้ ที่มาของปัญหาเกิดจากแต่เดิมป่าไม้ทั้งหมดเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานและยังไม่มีราคามากนัก มีการตัดไม้ขายแต่น้อย การขายมักจะอยู่ในรูปเจ้าของป่าอนุญาตให้ลูกหลานใช้บ่าวไพร่ตัดขายคราวละ ๑๐๐ - ๒๐๐ ต้น โดยไม่คิดเงินทอง ต่อมาคนในบังคับอังกฤษเข้ามาทำกิจการป่าไม้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ และกิจการได้ขยายตัวอย่าง รวดเร็ว ป่าไม้จึงมีมูลค่ามหาศาล เกิดการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ทำสัมปทานป่าไม้ ซึ่งเจ้าของป่าไม้ก็ให้สัมปทานซ้ำซ้อนในป่าเดียวกันเสมอ จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทฟ้องร้องต่อกงศุลอังกฤษและรัฐบาลไทยเป็นคดีความมากมาย ดังปรากฏว่า พ.ศ. ๒๔๑๖ ที่เชียงใหม่มีคดีฟ้องร้องด้วยเรื่องป่าไม้ ๔๒ เรื่อง เมื่อมีการชำระคดีต้องยกฟ้อง ๓ เรื่อง อีก ๑๑ เรื่อง มีหลักฐานว่าจำเลยคือเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๓๙) ผิดจริงต้องชดใช้เป็นค่าปรับถึง ๔๖๖,๐๑๕ รูปี ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก รัฐบาลกลางจึงจ่ายให้ก่อนโดยให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ผ่อนใช้ ๗ ปี

ประการที่สอง ปัญหาความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดน หัวเมืองชายแดนที่เกิดเป็นปัญหาคือบริเวณที่เรียกว่าหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้า ประกอบด้วยเมืองหาง เมืองสาด เมืองต่วน เมืองทา และเมืองจวด (จวาด) เมืองเหล่านี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินและอยู่ระหว่างเขตแดนของเชียงใหม่กับพม่า เชียงใหม่ได้หัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าในสมัยพระยากาวิละฟื้นฟูบ้านเมือง แต่ด้วยวิธีการปกครองเมืองขึ้นของเชียงใหม่ที่ปล่อยให้ปกครองตนเองอย่างอิสระ จึงมีฐานะเป็นเมืองขึ้นแต่เพียงในนาม เท่านั้น และเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองพม่า บรรดาหัวเมืองชายแดนพม่าต่างพยายามแยกตัวเป็นอิสระมีการรบพุ่งกันเสมอ และมักจะล้ำแดนเข้ามาเกณฑ์ราษฎรในเขตหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าเสมอ และ สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขจากทางเชียงใหม่ ทำให้ความวุ่นวายในหัวเมืองชายแดนขยาย วงกว้างยิ่งขึ้น เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมมีการปล้นฆ่าคนในบังคับอังกฤษซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายในล้านนาไทย ดังเช่นในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ เกิดกรณีปล้นฆ่ามองตาทวย มองอุนอง และลูกจ้าง ซึ่งต่างเป็นคนในบังคับอังกฤษ โดยเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจึงต้องการให้ รัฐบาลไทยรักษาความสงบในหัวเมืองชายแดนเพื่อคนในบังคับอังกฤษจะได้ปลอดภัย

จากปัญหาทั้งสองประการที่เกิดขึ้นนั้น เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องจัดการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพในเวลาต่อมา และเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของคนในบังคับอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียกับรัฐบาลไทยจึงตกลงทำสัญญาเชียงใหม่ (The Treaty of Chiengmai) ฉบับแรก พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อที่จะจัดการป้องกันผู้ร้ายที่ปล้นสดมภ์ตามชายแดนเชียงใหม่ และอังกฤษยินยอมให้คนเอเชียในบังคับอังกฤษที่มีคดีแพ่งขึ้นศาลที่จะจัดตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าในกรณีที่คนในบังคับอังกฤษยินยอมเท่านั้น หากไม่ยินยอมต้องส่งคดีนั้นให้แก่กงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ หรือเจ้าหน้าที่อังกฤษที่ยองสะลินในพม่าเป็นผู้ดำเนินการตัดสิน
สนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับนี้นับเป็นครั้งแรกที่อังกฤษยินยอมให้อำนาจทางการศาลแก่ไทยบ้าง แม้จะไม่สมบูรณ์นักก็ตาม อย่างไรก็ดีสนธิสัญญาฉบับนี้มีข้อบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันโจรผู้ร้ายตามบริเวณหัวเมืองชายแดน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่เกินกำลังที่เมืองเชียงใหม่จะจัดการให้เรียบร้อยได้ และด้านคดีความต้องส่งมาฟ้องร้องต่อกงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ เสมอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจึงเกิดทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยขยายอำนาจศาลไทยให้กว้างขึ้นอีกคือ กำหนดให้คนในบังคับอังกฤษต้องขึ้นศาลต่างประเทศทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ซึ่งเป็นการยกเลิกสิทธิของคนในบังคับอังกฤษที่เคยได้รับตามสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกที่ว่า จะขึ้นศาลไทย ต่อเมื่อตนเองยินยอม อย่างไรก็ตามการพิจารณาคดีต่างๆ กงศุลหรือรองกงศุลมีสิทธิถอนคดีจากศาลต่างประเทศไปชำระที่ศาลกงศุลได้ทุกเวลาที่เห็นสมควร

จากสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่สอง ทำให้รัฐบาลไทยยินยอมให้รัฐบาลอังกฤษจัดตั้งกงศุลประจำเมืองเชียงใหม่ และจากการทำสัญญาเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้ง แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของตะวันตกที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอังกฤษมีผลประโยชน์ผูกพันอยู่เป็นอันมาก จนรัฐบาลไทยต้องเร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ การปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๗
ข้าหลวงสามหัวเมืองกับการแก้ไขปัญหาที่เชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๒๖)

หลังจากทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๑๖ รัฐบาลกลางได้ส่งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองประจำที่เชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาในเมืองเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ตามที่ระบุในสัญญานั้นซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงขึ้นไปประจำการ ความมุ่งหมายของการส่งข้าหลวงสามหัวเมืองพอสรุปได้ ๓ ประการคือ ประการแรกเพื่อให้ข้าหลวงทำหน้าที่ชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับอังกฤษจึงมีฐานะเป็น “ข้าหลวงตระลาการ ศาลต่างประเทศ” ประการที่สองเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ประการที่สามเพื่อแนะนำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาเชียงใหม่และปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ดังนั้น ในระยะแรกนี้จึงไม่มีนโยบายถึงขั้นยกเลิกฐานะเมืองประเทศราชหรือยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ เพียงแต่ต้องการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ยอมปฏิบัติตามความต้องการของรัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ จึงอาจเปรียบเสมือน “หุ่น” หรือเครื่องจักรที่รัฐบาลกลางจะหมุนไปทางไหนก็ได้ นับว่าเป็นการเริ่มใช้วิธีการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะไม่สร้างความรู้สึกบังคับจิตใจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้เห็นได้จากพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีไปถึงข้าหลวงสามหัวเมือง (พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๒๘) มีความตอนหนึ่งว่า
“ … การที่เป็นข้าหลวงสามหัวเมืองนี้ ต้องถือว่าเป็นผู้รักอำนาจแลรักษาคำสั่งกรุงเทพฯ ที่จะให้เป็นไปได้ตามคำสั่งทุกประการ แลต้องรู้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ ว่าเราถือว่าเมืองเชียงใหม่ ยังไม่เป็นพระราชอาณาเขตรของเราแท้ เพราะยังเป็นประเทศราชอยู่ตราบใด แต่เราก็ไม่ได้คิดจะรื้อถอนวงษ์ตระกูลมิให้เป็นประเทศราช เป็นแต่อยากจะถือยึดเอาอำนาจ ที่จริง … เมื่อจะว่าโดยย่อแล้ว ให้ลาวเป็นเหมือนหนึ่งเครื่องจักร ซึ่งเราจะหมุนไปข้างน่าฤามาข้างหลังก็ได้ตามชอบใจ … แต่เป็นการจำเป็นที่จะต้องทำการอย่างนี้ด้วยสติปัญญาเป็นมากกว่าอำนาจกำลัง ต้องอย่าให้ลาวเห็นว่าเป็นการบีบคั้นกดขี่ ต้องชี้ให้เห็นในการที่เป็นประโยชน์ แลไม่เป็นประโยชน์เป็นพื้น …”
พระบรมราโชบายที่รัชกาลที่ ๕ ทรงวางไว้ดังกล่าวนับว่าเหมาะสมกับหัวเมืองประเทศราชเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าเมืองเชียงใหม่เคยปกครองบ้านเมืองอย่างค่อนข้างจะอิสระและมีความสัมพันธ์อันดีต่อกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับหัวเมืองประเทศราชในภาคใต้เช่น ไทรบุรี และปัตตานี ซึ่งพยายามต่อต้านอำนาจรัฐบาลกลางเสมอ การที่จะดำเนินการควบคุมเชียงใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิมย่อมจะต้องกระทบกระเทือนจิตใจต่อเจ้าเมืองผู้ต้องสูญเสียอำนาจต่างๆ ที่เคยได้รับ รัชกาลที่ ๕ จึงทรงกำชับข้าหลวงที่ส่งมาประจำการที่เชียงใหม่เสมอ เช่น ให้ระมัดระวังไม่ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่รู้สึกว่าถูกกดขี่, สิ่งที่ข้าหลวงกระทำต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าเมือง ข้าหลวงต้องสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับเจ้าเมือง หากข้าหลวงคนใดมีเรื่องบาดหมางกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานจะเรียกตัวกลับ นอกจากนั้นยังห้ามเรียกร้องกะเกณฑ์สิ่งใดที่จะสร้างความเดือดร้อนแก่เจ้าเมืองเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลกลางจะแก้ไขปัญหาโดยส่งข้าหลวงมาประจำการที่เชียงใหม่ แต่ปัญหาทั้งกรณีพิพาทเรื่องป่าไม้และปัญหาความวุ่นวายทางชายแดนก็หาได้ยุติลงไม่ ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลไทยต้องทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สาเหตุที่ทำให้ข้าหลวงสามหัวเมืองไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ พอสรุปได้ ๒ ประการ ประการแรก ข้าหลวงสามหัวเมืองไม่มีอำนาจชำระคดีเต็มที่ โดยข้อบังคับกำหนดให้มีอำนาจชำระความไม่เกิน ๕,๐๐๐ รูปี ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิน ดังนั้นคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่จะมาสิ้นสุดกันที่กรุงเทพฯ เสมอ ประการที่ ๒ นโยบายของรัฐบาลกลางยังไม่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงใดๆ มากนัก ทั้งนี้เพราะเกรงปฏิกิริยาจากเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานจึงเป็นแต่เพียงส่งข้าหลวงสามหัวเมืองมาปูทางให้กับการปฏิรูปในครั้งต่อไป ดังนั้นข้าหลวงที่ส่งมาประจำเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ จึงมียศเพียงชั้นพระ (พระนรินทรราชเสนี พุ่ม ศรีไชยยันต์) ข้าหลวงคนแรกตำแหน่งเดิมเป็นปลัดบัญชีกรมพระกลาโหม ซึ่งมีส่วนทำให้เจ้านายบุตรหลานไม่ยำเกรงเท่าที่ควร
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:07 pm

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ 'ช่วงแรกของการผนึกล้านนาเข้ากับสยามประเทศ'

หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษกับรัฐบาลไทยทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งสัญญาฉบับนี้อังกฤษมุ่งหมายให้ไทยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เชียงใหม่อย่างแท้จริง โดยอังกฤษต้องการให้ไทยส่งข้าหลวงที่มีอำนาจเต็มขึ้นไปดำเนินการ เพราะขณะที่กำลังเจรจาทำสัญญาฉบับนี้ บรรดา หัวเมืองขึ้นพม่าต่างเป็นอิสระทำการสะสมเสบียงอาหารโดยยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนลานนา ไทย และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนั้นเกินกำลังที่เมืองเชียงใหม่จะจัดการให้เรียบร้อยได้ ประกอบกับสถานการณ์ภายในเชียงใหม่ขณะนั้นกำลังยุ่งยาก เพราะเจ้าเทพไกรษรชายาของเจ้าอินทรวิชยานนท์ผู้มีความสามารถในการปกครองถึงแก่พิราลัย ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เจ้าอินทรวิชยานนท์ก็ไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ เจ้านายชั้นสูงในเชียงใหม่จึงแย่งชิงอำนาจกัน นับเป็นโอกาสดีของรัฐบาลกลางที่จะดำเนินการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพโดยมีศูนย์กลางการดำเนินงานที่เชียงใหม่

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ ซึ่งเป็นกระบวนการรวมหัวเมืองประเทศราชลานนาไทยเข้ากับส่วนกลาง รัฐบาลกลางวาง เป้าหมายของการปฏิรูปการปกครองเพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว ในการดำเนินการจะต้องกระทำสิ่งสำคัญ ๒ ประการ คือ ประการแรก ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าหลวงมา ปกครอง ขณะเดียวกันก็พยายามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเสีย โดยรัฐบาลกลางริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งในที่สุดตำแหน่งเจ้าเมืองก็สลายตัวไป ประการที่สอง การผสม กลมกลืนชาวพื้นเมืองให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยเช่นเดียวกับพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ กล่าวคือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ รัฐบาลกลางใช้วิธีจัดการปฏิรูปการศึกษาใน ลานนาโดยจัดระบบโรงเรียนหนังสือไทยซึ่งเป็นระบบการศึกษาแบบใหม่เข้าแทนที่ การเรียนในวัดและกำหนดให้เรียนภาษาไทยกลางแทนภาษาไทยยวน

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่มีลักษณะการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น ๒ สมัย

- สมัยก่อนจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒)

- สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๗๖)

เชียงใหม่สมัยก่อนจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒)

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองหัวเมืองลาวเฉียง (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๓๕)

การปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียงเป็นการเข้าควบคุมเมืองเชียงใหม่อย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก ซึ่งรัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริว่าในการวางรากฐานการปฏิรูปต้องส่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรไปปูทางเพราะนอกจากเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถรอบรู้และมีความตั้งพระทัยในการดำเนินงาน ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานยำเกรงและยอมรับการเปลี่ยนแปลง
การดำเนินงานกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงปรับปรุงด้านการปกครองให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น โดยยังคงให้มีตำแหน่งเค้าสนามหลวงแต่ลดความสำคัญลงจนยกเลิกไปเอง จากนั้นทรงแต่งตั้งเสนา ๖ ตำแหน่งขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วยกรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา แต่ละกรมมีเจ้านายบุตรหลานดำรงตำแหน่งเสนา เป็นผู้บังคับบัญชากรม ข้าราชการจากส่วนกลางเป็นผู้ช่วยเสนา ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือเจ้านายบุตรหลานที่ยังไม่ เข้าใจรูปแบบการปกครองอย่างใหม่ ดังนั้น ผู้ช่วยเสนาจึงเป็นผู้คุมอำนาจการปกครองและทำหน้าที่ จัดการด้านต่างๆ อย่างแท้จริง นอกจากนั้นมีตำแหน่งพระยารองซึ่งสงวนไว้ให้เจ้านายบุตรหลาน หรือขุนนางพื้นเมืองเป็นตำแหน่งที่ไม่มีความสำคัญมาก แต่มีไว้เพื่อถนอมน้ำใจชาวพื้นเมือง ในแต่ละกรมจึงประกอบด้วยตำแหน่งพระยาว่าการกรม (เสนา) พระยาผู้ช่วยไทย (ผู้ช่วยเสนา) และพระยารองลาว

ตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ ตั้งขึ้นเพื่อมิให้เจ้านายบุตรหลานรู้สึกว่าต้องสูญเสียอำนาจและ เกียรติยศไป สำหรับเหตุผลของการตั้งเสนา ๖ ตำแหน่ง เพื่อจะกระจายอำนาจของเจ้าเมือง ซึ่งเคยมีอย่างมากไปสู่เจ้านายบุตรหลานและโดยเฉพาะข้าราชการจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญของการควบคุมอำนาจ

อย่างไรก็ตามตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นตำแหน่งการเมืองซึ่งคัดเลือกโดยเค้าสนามหลวงแล้วเสนอให้เจ้าเมืองแต่งตั้งและมีสิทธิโยกย้ายหรือถอดถอนได้ ซึ่งเป็นการให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ควบคุมเสนาทั้ง ๖ ด้วย และเป็นนโยบายที่ต้องการไม่ให้ตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ เป็นอิสระจนเกินไป ซึ่งมีผลทำให้เสนาทั้ง ๖ และเค้าสนามหลวงมีความสัมพันธ์กัน

การจัดการปกครองแบบใหม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องเก็บภาษีจาก ท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย โดยที่รัฐบาลกลางไม่ต้องส่งเงินมาช่วย และเมื่อมีเงินเหลือจ่ายตามงบประมาณในแต่ละปีกำหนดว่าต้องนำส่งรัฐบาลกลาง เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของการปฏิรูปการปกครองจึงมีการปรับปรุงการเก็บภาษีอากรให้เป็นแบบเดียวกับระบบกรุงเทพ ดังนี้

ประการแรก การจัดระบบผูกขาดให้เจ้าภาษีนายอากรประมูล ครั้งแรกมีภาษี ๕ ชนิด คือ ภาษีสุรา ภาษีสุกร ภาษีนา ภาษีครั่ง และสมพัตสรต้นไม้

ประการที่สอง การเพิ่มชนิดของภาษีอากรขึ้นใหม่หลายอย่าง แยกตามหมวดหมู่ได้ถึง ๙ ประเภท ซึ่งแต่เดิมเท่าที่พบมีภาษีข้าวและภาษีหลังคาเรือนเท่านั้น

ประการสุดท้าย รูปแบบการเก็บภาษี เดิมเก็บเป็นผลผลิต เช่น ปลูกข้าวเสียภาษีเป็นข้าว แต่ระบบใหม่ต้องเสียภาษีเป็นเงิน ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรายังไม่แพร่หลาย ราษฎรยังเคยชินกับการแลกเปลี่ยนสิ่งของและระบบเศรษฐกิจคงเป็นแบบเลี้ยงตัวเอง

การจัดเก็บภาษี “ระบบกรุงเทพฯ” ดังกล่าว นับว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่ในล้านนาไทยที่มีผลกระทบกระเทือนต่อราษฎรอย่างยิ่ง เพราะราษฎรนอกจากจะถูกขูดรีดจากเจ้าภาษีนายอากรแล้วยังต้องจ่ายภาษีเป็นเงินจำนวนมาก ราษฎรจึงเดือดร้อน
กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงทำหน้าที่วางรากฐานกับการปฏิรูปหัวเมืองลาวเฉียงเท่านั้น โดยใช้เวลาเพียงปีเศษ (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๒๘) ก็เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อช่วยราชการด้านอื่นต่อไป รัฐบาลกลางได้จัดส่งข้าหลวงคนต่อมาปกครอง โดยมีนโยบายให้จัดการปกครองตามแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางรากฐานไว้ แต่รูปแบบที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงวางไว้เสื่อมคลายลงเป็นลำดับนับตั้งแต่พระยาเพชรพิไชย (จิน จารุจินดา) (พ.ศ. ๒๔๓๑) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงห้าหัวเมือง พระยาเพชรพิไชยแทนที่จะรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของรัฐบาลกลาง กลับเป็นใจให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ล้มเลิกระเบียบแบบแผนต่างๆ โดยเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยกเลิกเสนา ๖ ตำแหน่ง ยกเลิกระบบภาษีอากรแบบกรุงเทพฯ ขอใช้ระบบเดิมคือเก็บส่วยในอัตรา ๑๐ ชัก ๒ แล้วให้นำส่งเค้าสนาม ขอเก็บภาษีข้าวเป็นผลผลิตและเก็บภาษีหลังคาเรือน ในคำประกาศนั้นอ้างว่าเทพยดาที่รักษาบ้านเมืองไม่พอใจการดำเนินงานของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร จึงบันดาลให้ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และพืชพันธุ์ธัญญาหารก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนสมัยเจ้าเมืองเชียงใหม่คนก่อนๆ นับเป็นวิธีการที่อ้างความเชื่อถือของราษฎรเป็นเครื่องมือต่อรอง ซึ่งเข้าใจว่าราษฎรบางส่วนคงเห็นด้วยกับคำประกาศ เพราะกำลังเดือดร้อนกับการกดขี่ของเจ้าภาษีนายอากรอยู่แล้ว

หลังจากเจ้าอินทรวิชยานนท์ออกหนังสือประกาศให้ราษฎรทราบแล้ว ก็นำความกราบบังคมทูลต่อรัชกาลที่ ๕ ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เข้าสู่ระบบเดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน พระยาเพชรพิไชยกลับยินยอมให้เจ้าอินทรวิชยานนท์ยกเลิกระบบการเก็บภาษีแบบกรุงเทพฯ โดยพลการ นอกจากนั้นพระยาเพชรพิไชยยังใช้ตำแหน่งหาผลประโยชน์ เช่น ทุจริตเงินหลวงถึง ๑๖,๓๗๗ รูปี และร่วมมือกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้อนุญาตเปิดบ่อนการพนัน ทั้งที่เมื่อสมัยกรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงมีประกาศห้ามเล่นการพนันทุกชนิดเป็นอันขาด

พระยาเพชรพิไชยกระทำผิดอย่างร้ายแรงดังกล่าว จึงถูกเรียกตัวกลับกรุงเทพฯ ทันที และผลการปฏิบัติงานของพระยาเพชรพิไชยสร้างความแตกแยกในหมู่ข้าราชการไทยที่ส่วนกลางส่งมา เนื่องจากมีข้าราชการไทยอีกกลุ่มหนึ่งพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลางอย่างเต็มที่ ความแตกแยกของข้าราชการไทยทำให้ราชการต่างๆ หยุดชะงักลง และเป็นโอกาสให้เจ้าเมืองเชียงใหม่เรียกร้องอำนาจและผลประโยชน์คืน

ในการแก้ไขปัญหารัฐบาลกลางส่งข้าหลวงชุดใหม่มา ประกอบด้วย พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์ ดำรงตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ และพระยามหาเทพในตำแหน่งข้าหลวงห้า หัวเมือง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยพยายามรักษาอำนาจรัฐบาลกลาง แต่สถานการณ์กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ)

กบฏพระยาปราบสงครามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เรื่องราวเกี่ยวกับกบฏพระยาปราบสงครามเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง จึงมีการศึกษา ค้นคว้ากันมาบ้างแล้ว แต่ยังสามารถตีความในแนวทางอื่นได้อีก ซึ่งผู้เขียนพยายามศึกษาเรื่องนี้โดยใช้หลักฐานจากการสัมภาษณ์บุคคลที่สูงอายุในท้องถิ่น ประกอบกับหลักฐานของทางราชการที่ หอ จดหมายเหตุแห่งชาติ

จากการศึกษาพบว่า พระยาปราบสงครามผู้นำกบฏมีตำแหน่งเป็นแม่ทัพเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความสามารถสูง และเป็นผู้ปกครองระดับท้องถิ่นโดยได้รับความไว้วางใจจากเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้ ปกครองและเก็บภาษีด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง คือบริเวณแขวงจ๊อม (หนองจ๊อม) แขวงคือ (แม่คือ) และแขวงกอก จากหลักฐานของทางราชการระบุชัดเจนว่าพระยาปราบสงครามเป็นแคว่น (กำนัน) แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ของพระยาปราบสงครามซึ่งได้ปกครองแคว่นและแก่บ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) โดยพิจารณาจากคำกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ของเจ้าพระยาพลเทพ มีความตอนหนึ่งว่า “เป็นต้นท้าวขุนกรมการแขวงกำนันนายบ้าน” เพราะฉะนั้นหากเทียบอำนาจหน้าที่นี้คงเท่ากับนายอำเภอ แต่ในสมัยนั้นบริเวณ ๓ แขวงดังกล่าวขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ยังไม่มีการจัดตั้งเป็นอำเภอดังปัจจุบัน จากการสัมภาษณ์บุคคลในท้องถิ่นต่างมีความเห็นตรงกันว่า พระยาปราบสงครามเป็นผู้นำท้องถิ่นที่เก่งกล้าด้านไสยศาสตร์และการรบพุ่ง เป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่องลือในหมู่บ้านละแวกนั้น ซึ่งคงมีส่วนทำให้ราษฎรที่เดือดร้อนจากการเก็บภาษีเข้าร้องเรียนต่อพระยาปราบสงคราม พระยาปราบสงครามจึงออกปกป้องราษฎรจนลุกลามเป็นกบฏพระยาปราบสงคราม

เหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงครามมีจุดเริ่มต้นจากระบบเก็บภาษีอากรผูกขาด โดยเฉพาะภาษีหมาก พลู มะพร้าว เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์กำหนดให้เก็บอากรพืชสวนแบบกรุงเทพฯ คือออกเก็บปีละครั้งแทนระบบเดิมที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรกำหนดให้มีการเสียภาษีเฉพาะเมื่อมีการซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นระบบใหม่แม้ไม่มีการซื้อขายก็ต้องถูกเก็บภาษีหรือยังไม่ทันขายก็ต้องเสียภาษีแล้ว ทำให้ราษฎรไม่สามารถหาเงินมาเสียได้ทัน ราษฎรจึงต้องการเสียภาษีเป็นผลผลิตทางเกษตรตามระบบการเก็บภาษีแบบเดิมของลานนาไทย
น้อยวงษ์เป็นผู้ประมูลภาษีหมาก มะพร้าว พลู ได้ในอัตราปีละ ๔๑,๐๐๐ รูปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเดิมถึง ๑๖,๐๐๐ รูปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาให้มากที่สุด น้อยวงษ์ได้ออกเก็บภาษีตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นต้นมา ในอัตราที่สูงกว่าเดิม คือ หมาก ๒ ต้น ต่อวิ่น มะพร้าว ๑ ต้น ต่อวิ่น (๑ วิ่น = ๑๒.๕ สตางค์) ราษฎรที่ปลูกพืชสวนดังกล่าวได้รับการเดือดร้อนจากการข่มเหงของพวกเจ้าภาษีที่บังคับให้จ่ายค่าภาษีตามที่ตนกำหนดซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะแขวงคือ แขวงจ๊อม และแขวงกอก ในเขตพระยาปราบสงครามปกครอง เป็นบริเวณที่นิยมปลูกต้นหมากกันมากมายจนต้องใช้วิธีการนับโดยจักตอกมัดละร้อย นำไปมัดตามโคนต้นหมาก แล้วหักลบออกจากตอกที่เหลือ แต่ละบ้านจะต้องเสียภาษีระหว่าง ๘๐ - ๒๐๐ รูปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสมัยที่พระยาปราบสงครามทำหน้าที่เก็บภาษีส่งให้เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ จะเก็บภาษีหลังคาเรือนครอบครัวละ ๕ รูปี ส่วนข้าวก็เก็บตามจำนวนพันธุ์ที่ใช้ปลูกในอัตราพันธุ์ข้าวปลูก ๑ ถัง เสียส่วย ๒ ถัง

เมื่อพวกเจ้าภาษีมาเก็บอากรพืชสวนดังกล่าวในเขตแขวงจ๊อม (ตำบลหนองจ๊อม อำเภอ สันทรายในปัจจุบัน) ราษฎรส่วนหนึ่งไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าภาษีได้จึงขอเสียเป็นผลผลิต พวก เจ้าภาษีไม่ยอมกลับข่มเหงจำขื่อมือเท้าราษฎร สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรที่พบเห็นเกิดรวมตัวกันต่อต้านพวกเจ้าภาษีโดยมีพระยาปราบสงครามเป็นผู้นำ ซึ่งเริ่มต่อต้านด้วยการประกาศห้ามไม่ให้ เจ้าภาษีเก็บภาษีในเขตตำบลหนองจ๊อมแล้วลุกลามใหญ่โตถึงกับวางแผนจะเข้าโจมตีเมืองเชียงใหม่ โดยมุ่งหมายจะสังหารข้าราชการจากส่วนกลางและเจ้าภาษีชาวจีนในฐานะผู้สร้างความเดือดร้อน แต่ถูกทางการปราบปรามเสียก่อนโดยที่พระยาปราบสงครามหลบหนีไปได้จึงรวมกำลังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งหลังได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองเชียงตุง สามารถยึดเมืองฝางได้ อย่างไรก็ตามในที่สุดก็ถูกทางการปราบปรามจนสำเร็จ

สาเหตุของกบฏพระยาปราบสงครามเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการ ปกครองและเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงพยายามต่อต้านการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองตลอดมา และในเหตุการณ์กบฏพระยาปราบสงคราม เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ก็มีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ในการตีความเท่าที่ผ่านมาต่างก็ยอมรับว่าเจ้านายในเมืองเชียงใหม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏด้วย แต่ไม่มีผู้ใดพิจารณาต่อไปว่าการปฏิรูปการปกครองของกรมหมื่นพิชิตปรีชากรนั้น ได้กระทบกระเทือนถึงโครงสร้างทางการปกครองในระดับล่างทั้งหมด ซึ่งรวมถึงแคว่นและแก่บ้านด้วย ข้าราชการท้องถิ่นเหล่านี้ ก่อนหน้าจะปฏิรูปการปกครองเป็นกลุ่มที่เคยมีผลประโยชน์ต่อการเก็บ รวบรวมภาษีอากรให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ ข้าราชการท้องถิ่นจึงสูญเสียผลประโยชน์ และรู้สึกว่ารัฐบาลกลางเข้ามายุ่งเกี่ยวมากเกินไป หลักฐานที่สนับสนุนนั้นเห็นได้ชัดว่าผู้ร่วมก่อการกบฏครั้งนี้ล้วนเป็น ข้าราชการระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น เช่น พระยาปราบสงคราม แคว่นและแก่บ้าน ประกอบด้วย พระยาขัติยะ (แคว่นแม่คือ) ท้าวยาวิไชย (แก่บ้านป่าบง) พระยารัตนคูหา (แก่บ้านถ้ำ) พระยาจินใจ (แคว่นจ๊อม) พระยาชมภู (แก่หัวฝาย) ท้าวเขื่อนคำ (แคว่นกอก) และท้าวขัด ท้าวใจ ท้าวเขื่อนแก้ว ท้าวราช ท้าวขันคำ แสนเทพสุรินทร์ เป็นต้น

สำหรับสาเหตุที่ผลักดันให้พระยาปราบสงครามก่อการกบฏผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นผลโดยตรงจากการสูญเสียผลประโยชน์ด้านการจัดเก็บภาษีด้านแม่ปิงฝั่งตะวันออก นอกจากนั้นยังมีสาเหตุประกอบการตัดสินใจของพระยาปราบสงครามอีกด้วย ได้แก่ การได้รับความสนับสนุนจากเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ และไม่พอใจการทำทารุณต่อราษฎรในความปกครอง ซึ่งพระยาปราบสงครามตาม คำบอกเล่าเป็นคนดีรักความยุติธรรม

หลังจากเกิดกบฏพระยาปราบสงคราม อำนาจของรัฐบาลกลางเริ่มลดลงตามลำดับจนมีลักษณะคล้ายระบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ทรงเข้าพระทัยถึงความรู้สึกกระทบกระเทือนใจของเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาที่ดำเนินการปฏิรูป ในช่วงหลังกบฏพระยาปราบสงคราม (พ.ศ. ๒๔๓๒ - ๒๔๓๕) จึงไม่มีการแก้ไขปัญหาทันที


แอดมินมีความเห็นตรงกับผู้เขียนที่ว่าเจ้าอินทวิชยานนท์ไม่เข้มแข็งพอที่จะแก้ปัญญาของล้านนาเองได้ แต่เห็นต่างในส่วนของพระยาาผาบ ผู้เขียนบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของท่านที่ว่า พระยาผาบก่อการกบฏเพราะเสียผลประโยชน์เป็นหลัก ส่วนเหตุผลอื่นๆเป็นรอง ในส่วนของอิฉันมองว่า หากต้องการรักษาผลประโยชน์ตนมีวิธีมากมายที่จะทำให้ได้ผลประโยชน์แบบยั่งยืน ไม่จำเป็นต้องทำการอุกอาจเอาหัวตนเองเป็นประกันหรอกค่ะ ดิฉันเคยเห็นภาพที่ข้าราชการสยามถ่ายกับคนล้านนา ชาวบ้านต้องนั่งกับพื้น คนละระดับกันเลย ล้านนาน่าจะต้องการปลดแอกตนเองมากกว่า ข้อมูลก็ได้ระบุไว้ว่าท่านพระยาผาบเป็นคนที่รักความยุติธรรม อีกอย่างถ้าอยากรักษาผลประโยชน์นั้น ตำแหน่งอย่างพระยาผาบท่านเข้ากับสยามไม่ดีกว่าหรือ ต่อไปคงได้ตำแหน่งใหญ่โตเก็บกินได้นานกว่า รู้ๆกันอยู่ก่อการต่อต้านอำนาจรัฐ ถ้าไม่ชนะคือกบฏ โทษถึงตาย จะเสี่ยงทำไม
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย Namfar » ศุกร์ 11 ธ.ค. 2015 8:10 pm

เชียงใหม่สมัยปฏิรูปการปกครองมณฑลลาวเฉียง (พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒)

ความจำเป็นต้องปรับปรุงการปกครองมณฑลลาวเฉียงหรือมณฑลพายัพในเวลาต่อมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลไทยต้องยอมยกหัวเมืองเงี้ยวทั้งห้าและหัวเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งมีปัญหาวุ่นวายเสมอมาให้แก่รัฐบาลอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ และในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยก็เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศสในวิกฤตกาล ร.ศ. ๑๑๒ ทำให้เขตแดนด้านตะวันออกของมณฑลลาวเฉียงต้องเผชิญกับการรุกรานของฝรั่งเศสตลอดมา ในที่สุดไทยต้องเสียหัวเมืองฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งขึ้นกับเมืองน่านแก่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๔๔๖
การดำเนินงานครั้งนี้มีพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวเฉียงเป็นเวลา ๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๔๒) และได้ขยายเขตการปฏิรูปออกไปจากเดิมถึงเมืองแพร่และเมืองน่านด้วย ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะเมืองเชียงใหม่เท่านั้น พระยาทรงสุรเดชจัดการหลายด้านซึ่งสามารถรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลางสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง

ด้านการปกครองในระดับมณฑล พระยาทรงสุรเดชริเริ่มจัดตั้งกองมณฑลลาวเฉียงซึ่งเป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก กองมณฑลมีพระยาทรงสุรเดชข้าหลวงใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด และมีข้าหลวงรองในตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทย ข้าหลวงยุติธรรม ข้าหลวงคลัง ข้าหลวงป่าไม้ และมีข้าราชการระดับเสมียนพนักงานประจำอยู่ในกองมณฑล รูปแบบการปกครองดังกล่าวจะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับการปกครองมณฑลเทศาภิบาลซึ่งจะจัดในสมัยต่อมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่รัฐบาลกลางได้เตรียมพื้นฐานที่จะปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในมณฑลพายัพให้เป็นแบบแผนเช่นเดียวกับมณฑลภายใน และข้อบกพร่องครั้งนี้จะได้รับการแก้ไขในสมัยมณฑลเทศาภิบาล
ส่วนการปกครองในเมืองเชียงใหม่ พระยาทรงสุรเดชตั้งตำแหน่งพระยาผู้ช่วยเสนาทั้ง ๖ ให้ครบทุกตำแหน่ง หลังจากที่ถูกเจ้าเมืองเชียงใหม่ยกเลิกไปในครั้งที่เจ้าพระยาพลเทพเป็นข้าหลวงพิเศษในพ.ศ. ๒๔๓๓ การตั้งเสนา ๖ ตำแหน่ง พระยาทรงสุรเดชใช้วิธีการที่เรียกว่า “อุบายเกี้ยวลาว” โดยเกลี้ยกล่อมเจ้าเมืองเชียงใหม่ให้แต่งตั้งผู้ช่วยเสนา ๖ ตำแหน่งขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชดึงตัวข้าราชการที่ทำการในกองมณฑลมาดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น ผู้ช่วยเสนาคลังและผู้ช่วยเสนานา ทั้งยังดึงเอาตำแหน่งสำคัญทั้งสองมารวมไว้ที่ว่าการมณฑลลาวเฉียง การกระทำดังกล่าวก็เท่ากับที่ว่าการมณฑลแย่งตำแหน่งและงานต่างๆ ที่ระดับเมืองเคยทำ ซึ่งเจ้านายบุตรหลานเริ่มไม่พอใจเพราะเกรงว่าจะสูญเสียอำนาจต่างๆ ที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว และเกรงว่ารัฐบาลจะยกตำแหน่งต่างๆ ไปไว้ ณ ที่ว่าการมณฑลเสียหมดจนกระทั่งตนไม่มีอำนาจหน้าที่จะทำกิจการใดๆ ความไม่พอใจการกระทำของพระยาทรงสุรเดช เป็นสาเหตุให้เจ้านายในเมืองเชียงใหม่ทำหนังสือร้องเรียนนำขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕

การปกครองในเมืองอื่นๆ พระยาทรงสุรเดชจัดส่งข้าหลวงไปประจำเมืองตามลำดับความสำคัญคือ พระยาทรงสุรเดชถือเป็นข้าหลวงที่ ๑ ประจำอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ โดยเขตการปกครองรวมไปถึงเมืองลำพูนด้วย รองลงมามีข้าหลวงที่ ๒ ประจำอยู่ที่เมืองลำปางและเมืองน่าน และข้าหลวงที่ ๓ ประจำที่เมืองแพร่ ข้าหลวงที่ส่งไปประจำเมืองจะเป็นตัวแทนของข้าหลวงใหญ่ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่เจ้านายบุตรหลานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ตามในช่วงที่พระยาทรงสุรเดชดำเนินการปฏิรูปไม่ปรากฏว่า ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านแต่อย่างใด คงปล่อยให้มีสภาพดังเดิม การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นจะเด่นชัดในสมัยที่มีการปกครองแบบเทศาภิบาล
ในด้านการคลัง พระยาทรงสุรเดชรวบอำนาจไว้ไม่ให้เจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านาย บุตรหลานใช้จ่ายอย่างอิสระ โดยกำหนดให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้รับเงินผลประโยชน์ (ไม่รวมค่าตอไม้) ปีละ ๘๐,๐๐๐ รูปี ซึ่งในขณะที่ดำเนินการอยู่นั้นเจ้าเชียงใหม่อินทรวิชยานนท์ถึงแก่พิราลัย พระยาทรงสุรเดชจึงตัดเงินผลประโยชน์ให้เหลือปีละ ๓๐,๐๐๐ รูปี พร้อมทั้งลดเงินเดือนเจ้านายบุตรหลานที่รับราชการ และจัดการโยกย้ายถอดถอนบางตำแหน่งแล้วให้ข้าราชการไทยเป็นแทนพร้อมกับเพิ่มเงินเดือนให้

การจัดการของพระยาทรงสุรเดชสร้างความรู้สึกบีบคั้นต่อเจ้านายบุตรหลานในเมืองเชียงใหม่มากจนเกิดการแตกแยกแบ่งเป็นฝ่ายข้าหลวงและฝ่ายเจ้านายบุตรหลาน ซึ่งมีความรุนแรงถึงขนาดแบ่งเขตแดนกัน โดยฝ่ายข้าหลวงอยู่ด้านริมแม่น้ำปิง ส่วนเจ้านายบุตรหลานอยู่ในกำแพงเมืองและทั้งสองฝ่ายมุ่งประทุษร้ายต่อกัน สถานการณ์จึงตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ ทรงแก้ไขโดยเรียกตัวพระยาทรงสุรเดชกลับกรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระยานริศรราชกิจ (สาย โชติกเสถียร) ซึ่งไม่เข้มงวดเช่นพระยาทรงสุรเดชขึ้นไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลแทน และจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีพระยาศรีสหเทพ (เส็ง วิรยศิริ) ดำเนินการปฏิรูป (ธันวาคม ๒๔๔๒ - เมษายน ๒๔๔๓)

เชียงใหม่สมัยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ. ๒๔๔๒ - ๒๔๗๖)

การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเริ่มจากหัวเมืองชั้นในก่อน แล้วขยายไปยังหัวเมืองประเทศ-ราชเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๗ จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงทั่วพระราชอาณาจักร มณฑลพายัพจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. ๒๔๔๒ อย่างไรก็ตามดินแดนส่วนนี้ได้รับการปฏิรูปมาตั้งแต่ก่อนหน้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒) การจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลเป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชลานนาไทย มาเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรอย่างแท้จริง

รูปแบบของมณฑลเทศาภิบาลได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพการปกครองแบบเดิม โดยกำหนดให้แต่ละเมืองมีคณะกรรมการบริหารเรียกว่าเค้าสนามหลวง ประกอบด้วยข้าหลวงประจำเมือง เจ้าเมือง และข้าหลวงผู้ช่วย ซึ่งตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ คือ พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ (ม.ร.ว.ประยูร อิศรศักดิ์) เจ้าอุปราช (เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์) รั้งตำแหน่งเจ้าเมือง และขุนรัฐกิจข้าหลวงผู้ช่วย ด้านอำนาจหน้าที่เป็นของข้าหลวงประจำเมือง โดยเจ้าเมืองไม่มีหน้าที่ปกครองบ้านเมืองโดยตรง ได้แต่ยกย่องให้เกียรติในนามเท่านั้น อย่างไรก็ตามเจ้าอุปราชซึ่งรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่พอใจการเข้าควบคุมของรัฐบาล จึงเรียกร้องให้ข้าหลวงเทศาภิบาลลดอำนาจของข้าหลวงประจำเมืองลง และขอมีอำนาจกลับคืนดังเดิมแต่ไม่ได้ผล

นอกจากจัดตั้งเค้าสนามหลวงเป็นคณะกรรมการบริหารสูงสุดแล้ว ยังคงรูปแบบเสนา ๖ ตำแหน่งไว้ตามเดิม แม้ว่าจะไม่เหมาะสมกับกาลสมัยนักก็ตาม แต่เพื่อไม่ให้เจ้านายบุตรหลานซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาต่างๆ ไม่พอใจการดำเนินงานของรัฐบาล และรัฐบาลใช้วิธีค่อยๆ เลิกเสนา ๖ ตำแหน่งไป โดยจัดข้าราชการจากส่วนกลางเข้าดำรงตำแหน่งกรมการเมืองต่างๆ แทน เช่น ปลัดเมือง ยกกระบัตร จ่าเมือง และสัสดี เป็นต้น

ในด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรัฐบาลเข้าควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้เจ้าเมืองต้องเสียภาษีที่ดินเช่นเดียวกับราษฎรทั่วไป วิธีการนี้ทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ ๑๐ เท่า เพราะที่ดินส่วนใหญ่เป็นของเจ้านายเมืองเหนือ และรัฐบาลก็ได้จัดสรรรายได้ของเจ้าเมืองออกเป็นเงินเดือน เงินส่วนแบ่งค่าตอไม้ และเงินส่วนแบ่งค่าแรงแทนเกณฑ์ รวมแล้วปีหนึ่งเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์จะมีรายได้ไม่น้อยนักคือ ประมาณ ๒๔๐,๒๗๗ บาท แต่รายได้นี้ไม่คงที่ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินค่าตอไม้และเงินแทนเกณฑ์ซึ่งเก็บได้ไม่แน่นอน และในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้ขอรับพระราชทานผลประโยชน์เป็นเงินเดือนๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่จัดสรรรายได้ดังกล่าว เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ไม่พอใจนักแต่ก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง

ส่วนราษฎรก็ได้รับการกระทบกระเทือนจากการปฏิรูประบบการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเก็บเงินแทนเกณฑ์จากชายฉกรรจ์จำนวน ๔ บาทต่อปี ซึ่งมักจะเสียเงินแล้วยังถูกเกณฑ์แรงงานเสมอ โดยทางการไม่จ่ายค่าตอบแทนให้ ซึ่งตามปกติกระทรวงมหาดไทยกำหนดให้จ่ายค่าตอบแทนในอัตราวันละ ๒ สลึง ราษฎรจึงเดือดร้อนและไม่พอใจข้าราชการจากส่วนกลางที่กวดขันเกณฑ์แรงงานสร้างถนนและสะพานทั้งในเมืองและนอกเมือง

หลังจากจัดการปกครองแบบเทศาภิบาลผ่านไป ๓ ปี ปัญหาต่างๆ ก็ตามมา เนื่องจากความไม่พอใจของราษฎรและเจ้านายเมืองเหนือผู้เสียอำนาจและผลประโยชน์และปัญหาการขาดแคลนข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะตำแหน่งนายแขวง (นายอำเภอ) ซึ่งรัฐบาลกำหนดว่าต้องเป็นข้าราชการจากส่วนกลางนั้นมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้นแต่ละแขวงที่จัดตั้งขึ้นจึงมีพื้นที่กว้างขวางมาก ทั้งการคมนาคมก็ยากลำบากนายแขวงจึงดูแลไม่ทั่วถึง ซ้ำนายแขวงส่วนหนึ่งไม่เข้าถึงประชาชน ดูหมิ่นชาวพื้นเมืองและใช้อำนาจกดขี่เกณฑ์แรงงานจนเกินไป ปัญหาเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปตามเมืองต่างๆ ในมณฑลพายัพ แต่ที่ลุกลามเป็นการต่อต้านครั้งใหญ่เกิดที่เมืองแพร่ในเหตุการณ์กบฏเงี้ยว พ.ศ. ๒๔๔๕ พวกกบฏเป็นกองโจรเงี้ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้านายเมืองแพร่ ครั้นพวกกบฏยึดเมืองสำเร็จ เงี้ยวชาวเมืองและราษฎรได้ร่วมมือกับโจรเงี้ยวเข่นฆ่าข้าราชการจากส่วนกลางถึง ๒๐ กว่าคน

สำหรับเมืองเชียงใหม่มีการต่อต้านเช่นเดียวกันซึ่งเกิดก่อนกบฏเงี้ยวเมืองแพร่แต่ไม่รุนแรงเท่า การต่อต้านการเกณฑ์แรงงานของราษฎรในเมืองเชียงใหม่เท่าที่พบหลักฐานจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติครั้งแรกวันที่ ๑๘ มีนาคม ปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๔ โดยพระยานริศรราชกิจโทรเลขแจ้งทางกรุงเทพฯ ว่า “ราษฎรแลแก่บ้านแขวงเมืองเชียงใหม่ร้องว่าเค้าสนามหลวงได้กะเกณฑ์ทำถนนหนทาง แลว่าได้เสียเงินแทนเกณฑ์แล้วยังถูกเกณฑ์อีก” และวันที่ ๒๓ เมษายน ต้นปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ราษฎรแขวงแม่วังและแขวงเกืองหลายร้อยคนขัดขืนไม่ยอมทำถนน ความรุนแรงของการประท้วงไม่ยอมทำตามคำสั่งของทางราชการเกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ที่ทำการแขวงแม่งัด มีราษฎรประมาณ ๖๐๐ คน พร้อมอาวุธมีดดาบและไม้ พากันไปชุมนุมประท้วงกรมการแขวงแม่งัดและได้เกิดการปะทะกัน ตำรวจซึ่งอยู่ร่วมกับกรมการแขวงแม่งัดจำนวน ๑๐ นาย ใช้ปืนยิงถูกราษฎร ผลราษฎรตาย ๖ คน บาดเจ็บ ๒ คน ส่วนพวกกรมการแขวงบาดเจ็บ ๒ คน

ผลของกบฏเงี้ยวเมืองแพร่เปิดโอกาสให้รัฐบาลเข้าจัดการปกครองมณฑลพายัพได้อย่างเต็มที่ โดยส่งกำลังทหารเข้าปราบพวกกบฏอย่างเฉียบขาด พร้อมกับลงโทษเจ้านายเมืองแพร่ด้วยการปลดออก แล้วให้ข้าราชการจากส่วนกลางดำรงตำแหน่งใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นๆ เห็นว่าการต่อต้านรัฐบาลไม่มีทางสำเร็จ นอกจากยอมสนับสนุนแต่โดยดี หลังจากเกิดกบฏเงี้ยวท่าทีของเจ้านายเมืองเหนือจึงยอมรับอำนาจรัฐทุกอย่าง

ในการดำเนินงานปฏิรูปการปกครองช่วงหลังกบฏเงี้ยวมีพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) (พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๘) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง พระยา สุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์เริ่มต้นแก้ไขปัญหาบุคลากร โดยคัดเลือกข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถและเข้าถึงราษฎร นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากนั้นก็ใช้นโยบายผ่อนปรนไม่เกณฑ์แรงงานจนเกินไป ขณะเดียวกันก็สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่น ทั้งด้านการศึกษา การไปรษณีย์โทรเลข การสาธารณสุข และการซ่อมสร้างถนนและสะพานอย่างมากมาย
ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของเจ้าเมืองเชียงใหม่ปรากฏว่าเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ของ-รับเป็นเงินเดือนเพียงอย่างเดียว โดยรัฐบาลกลางใช้วิธีคำนวณจากรายได้เท่าที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยแล้วกำหนดเป็นเงินเดือนซึ่งได้เดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท ส่วนเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าเมืองคนสุดท้ายได้เงินเดือนๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาเพิ่มเป็น ๑๒,๐๐๐ บาท เงินเดือนนี้ถือเป็นการพระราชทานเฉพาะบุคคลเมื่อสิ้นชีวิตจะงดจ่ายทันที และการให้ผลประโยชน์เป็นเงินเดือนก็เท่ากับว่าเจ้าเมืองมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป นับเป็นความสำเร็จที่จะนำไปสู่การยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราชในเวลาต่อมา

พระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์จัดการปกครองอยู่ ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๘) ก็ประสบความสำเร็จเป็นที่พอใจของรัฐบาลยิ่ง โดยเฉพาะด้านการศึกษาเป็นช่วงที่เกิดการปฏิรูปการศึกษาในล้านนา ราษฎรนิยมเรียนหนังสือไทยกันมาก การผสมกลมกลืนให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยค่อยประสบความสำเร็จเป็นลำดับ ส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้านายบุตรหลานให้การสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลทั้งด้านการศึกษา และการทำนุบำรุงบ้านเมือง

มณฑลพายัพในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๘ จะจัดเป็นระเบียบแบบแผนเช่นเดียวกับมณฑลภายในทุกประการ และช่วงนี้มีการจัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ประกอบด้วย ลำปาง แพร่ น่าน แล้วรวมกับมณฑลพายัพเป็นมณฑลภาคพายัพ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชียงใหม่จะเกิดหลังจากทางรถไฟสายเหนือมาถึงปลายทางที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อส่งเป็นสินค้าออก และสินค้าจากส่วนกลางก็เข้ามาเชียงใหม่มากขึ้น รวมทั้งวิทยาการความเจริญในทุกๆ ด้านด้วย

การปกครองเมืองเชียงใหม่ช่วง พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๖ เป็นการปรับปรุงช่วงสุดท้ายก่อนยกเลิกระบบเทศาภิบาล ได้เริ่มเมื่อรัชกาลที่ ๗ ขึ้นครองราชย์ ทรงยกเลิกระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๘ - ๒๔๖๘ ทรงยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น ยุบมณฑลมหาราษฎร์เข้ากับมณฑลพายัพ ยุบเลิกตำแหน่งเสนาทั้ง ๖ ซึ่งว่างมานานแล้ว และทรงดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองโดยเด็ดขาด ซึ่งกำหนดว่านับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นต้นไป หากตำแหน่งเจ้าเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นอีก ส่วนเจ้าเมืองที่มีชีวิตอยู่ก็ได้เงินเดือนจนถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ และหลังจากคณะราษฎร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาลลงใน พ.ศ. ๒๔๗๖ มณฑลพายัพจึงสลายตัว ส่วนเมืองเชียงใหม่ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทยในอดีตก็มีฐานะเป็นเพียงจังหวัดเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ สืบมาจนปัจจุบัน

บทสรุป

เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาไทย ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ โดยเป็นอิสระในสมัยที่ราชวงศ์มังรายปกครอง ครั้นถึงสมัยพระเจ้าบุเรงนองพม่ามีความเข้มแข็งมากสามารถตีเชียงใหม่สำเร็จใน พ.ศ. ๒๑๐๑ และในเวลาต่อมาก็โจมตีอยุธยาสำเร็จอีกใน พ.ศ. ๒๑๑๒ อยุธยาสามารถเป็นอิสระจากพม่าหลังจากถูกครอบครอง ๑๕ ปี ส่วนล้านนาไทยพยายามดิ้นรนเป็นอิสระอยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สามารถพ้นจากอิทธิพลของพม่าได้ ล้านนาไทยมีสภาพที่อ่อนแอถูกพม่าครอบครองเกือบตลอดเวลา มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่ฝ่ายอยุธยาเข้าครอบครอง

อย่างไรก็ตามความคิดที่จะ “ฟื้นม่าน” (ต่อต้านพม่า) ของชาวเชียงใหม่เกิดขึ้นเสมอ แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดใน พ.ศ. ๒๓๑๗ พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละเข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แล้วร่วมกับกองทัพไทยขับไล่พม่าออกไปนับ ตั้งแต่นั้นมาเชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของไทย

ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น พม่ายังคงรุกรานเชียงใหม่และหัวเมืองประเทศราชล้านนาไทยเพื่อหวังจะกลับมาปกครองอีก รัฐบาลสมัยนั้นต้องช่วยเหลือให้ล้านนาไทยเข้มแข็งสามารถต่อต้านกับพม่าได้ สมัยรัชกาลที่ ๑ มีนโยบายฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางของล้านนาไทยที่เข้มแข็ง โดยแต่งตั้งพระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ทำหน้าที่ “ฟื้นเมืองเชียงใหม่” และขับไล่ อิทธิพลพม่าให้หมดไป ซึ่งประสบความสำเร็จในปลายรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงใหม่ฟื้นตัวอย่างมั่นคงและสามารถขับไล่พม่าออกไปจากที่มั่นที่เมืองเชียงแสนใน พ.ศ. ๒๓๔๗

การปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราช รัฐบาลกลางไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการภายในทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณี เจ้าเมืองเชียงใหม่จึงมีอิสระในการบริหารบ้านเมืองของตนเป็นอันมาก แต่มิได้หมายความว่ารัฐบาลกลางจะไม่ควบคุมเชียงใหม่เสียทีเดียว เพราะรัฐบาลกลางใช้วิธีการที่แสดงตนว่ามีฐานะที่เหนือกว่าเชียงใหม่ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าขัน ๕ ใบ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองในระดับสูง บุคคลที่ได้รับตำแหน่งต้องยอมรับในอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยการเข้าเฝ้าเพื่อรับตราตั้งและเครื่องยศ และวิธีการให้กระทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาซึ่งมีการสาบานว่าจะจงรักภักดี นอกจากนั้นยังให้เมืองเชียงใหม่ปฏิบัติตามพันธะของเมืองประเทศราชในรูปของการส่งต้นไม้เงินทอง เครื่องราชบรรณาการ ส่วยและการเกณฑ์ของ และการเกณฑ์ช่วยราชการสงคราม เป็นต้น

วิธีการปกครองเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองประเทศราชดังกล่าว นับว่าเหมาะสมกับ สภาวการณ์ในสมัยนั้น ซึ่งรัฐบาลกลางมีกำลังน้อยควบคุมไม่ถึง การคมนาคมไม่สะดวก และไม่จำเป็นต้องเพิ่มภาระเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับก็เพียงพออยู่แล้ว ในส่วนเจ้าเมืองเชียงใหม่ก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองตามขนบธรรมเนียมของตน อย่างไรก็ตามเมื่อตะวันตกเข้ามาสภาพการปกครองหัวเมืองประเทศราชดังกล่าว ได้กลายเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลกลางต้องเข้าไปควบคุมมากขึ้นตามลำดับ การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่จึงเกิดขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ซึ่งพร้อมกับเมืองลำปางและลำพูน รวมเรียกว่าหัวเมืองลาวเฉียง นับเป็นดินแดนแห่งแรกในพระราชอาณาจักรที่รัฐบาลกลางต้องเร่งดำเนินการด้วยมีปัญหาเกี่ยวพันกับคนในบังคับอังกฤษ

การปฏิรูปการปกครองในเมืองเชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครองมณฑลพายัพ โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางของการปฏิรูป ลักษณะการดำเนินงานเป็นการผนวกดินแดนหัวเมืองประเทศราชเชียงใหม่และล้านนาไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งในพระราชอาณาจักรที่ใช้เวลายาวนานถึง ๔๙ ปี (พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๗๖) โดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา และอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเฉพาะตำแหน่งเจ้าเมืองเชียงใหม่ รัฐบาลไม่ยกเลิกในทันทียังคงให้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ของเจ้าเมืองเชียงใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นว่าในช่วงแรกที่รัฐบาลกลางส่งข้าหลวงสามหัวเมืองขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่เมืองเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๑๗ - ๒๔๒๖ ยังไม่ได้ควบคุมเจ้าเมืองเชียงใหม่โดยตรง เพียงแต่ส่งข้าหลวงขึ้นไปแนะนำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามสนธิสัญญาเชียงใหม่และตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น ครั้นต่อมาในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๗ - ๒๔๔๒ รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปการปกครองซึ่งเริ่มเข้าควบคุมอำนาจและผลประโยชน์บางอย่างและเป็นการวางรากฐานก่อนการจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เพราะเมื่อจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นเวลาที่รัฐบาลสามารถดำเนินการขั้นตอนยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช พร้อมกับเข้าควบคุมอำนาจทางการปกครองและผลประโยชน์จากเจ้าเมืองเหนือได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะหลังกบฏเงี้ยว พ.ศ. ๒๔๔๕

ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ (ปี พ.ศ ๒๔๕๑) เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๕๒) ขอรับผลประโยชน์เป็นเงินเดือนประจำจึงเริ่มมีฐานะเหมือนข้าราชการทั่วไป และสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าเมืองเหนือที่เหลืออยู่ก็ขอรับพระราชทานเงินเดือนเช่นเดียวกันหมด ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระองค์ทรงดำเนินการในขั้นต่อมาคือ ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง โดยกำหนดว่าหากเจ้าเมืององค์ใดถึงแก่พิราลัยแล้วจะไม่โปรดเกล้าฯ ให้ผู้ใดดำรงตำแหน่งอีก เท่ากับยกเลิกตำแหน่งไปโดยปริยาย สัญลักษณ์ของเมืองประเทศราชจึงค่อยสลายตัวลง ครั้นเมื่อคณะราษฎรยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. ๒๔๗๖ มณฑลพายัพจึงถูกยุบ แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงในช่วงการปฏิรูปการ ปกครองคงเป็นรากฐานสืบมาถึงปัจจุบัน
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: ประวัติศาสตร์ล้านนา

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 13 ธ.ค. 2015 7:53 am

ประวัติศาสตร์ตำนานเมืองฮอด

903069.jpg
903069.jpg (86.15 KiB) เปิดดู 15609 ครั้ง

ภาพวัดอันเก่าแก่และสวยงามในแบบฉบับศิลปสกุลช่างล้านนา ที่ถูกกลืนหายและรื้อถอนออกไปเมื่อเริ่มโครงการสร้างเขื่อนภูมิพล ราวปี พุทธศักราช ๒๔๙๕ รวมถึงครอบครัวราษฏรทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง วัดต้องจมหายไปกับสายน้ำ และมีการกอบกู้วัตถุโบราณออกมา

หากย้อนกลับไปดูตำนานประวัติศาสตร์เมืองฮอดและตำบลฮอด จะพบว่า ฮอดนั้นเป็นชุมชนที่มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาเก่าแก่ยาวนานมาก

จากเอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์ โครงการสำรวจชุมชนโบราณท่าเชียงทอง ยุคก่อนหริภุญไชย ‘ย้อนรอยพระนางจามเทวี ตามหาท่าเรือเชียงทอง’ ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย สำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ ได้ระบุถึงการตั้งถิ่นฐานชุมชนบ้านเมืองสมัยก่อนรัฐล้านนา เอาไว้ว่า แอ่งพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน หรือเขตลุ่มแม่น้ำปิงตอนบนนี้ ปรากฏหลักฐานการตั้งถิ่นฐานชุมชน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอำเภอสันกำแพง-ดอยสะเก็ด และอำเภอจอมทอง-ฮอด

นอกจากนั้น จากการสืบค้นตำนานหลายตำนาน ยังระบุไว้อีกว่า ฮอด เคยเป็นชุมชนที่มีความสำคัญตั้งแต่ยุคของการก่อตั้งเมืองหริภุญชัยและอาณาจักรล้านนา เนื่องจากฮอดเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญของแม่น้ำปิงอีกแห่งหนึ่ง ที่ผู้คนสมัยนั้นได้ใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับหัวเมืองต่างๆ ทางท้ายน้ำ ล่องลงไปตามลำน้ำแม่ปิงไปจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

ว่ากันว่า ในสมัยก่อน ตั้งแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา และลพบุรี ระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือกับหัวเมืองฝ่ายใต้ได้มีการใช้เส้นทางคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยแม่น้ำปิงในการเดินเรือมาโดยตลอด

มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาว่า ประมาณ ๑,๓๐๐ ปี ล่วงมาแล้วครั้งนั้น เมืองหริภุญชัยนคร เมืองลำพูน ในสมัยนั้น มีพื้นที่ส่วนใหญ่รอบๆเมืองยังเป็นป่าที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย อีกทั้งยังมีไข้ป่าชุกชุม ตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีฤาษีสองตนนามว่า วาสุเทพฤาษี และสุภกทันตฤาษี ทั้งสองฤาษีเป็นสหายกัน ได้ปรึกษาหารือถึงการจะสร้างเมืองหริภุญชัย ริมฝั่งแม่น้ำกวง เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ขาดผู้ที่จะปกครองบริหารบ้านเมือง ฤาษีทั้งสองตนจึงส่งสารมอบให้ ควิยะบุรุษเป็นทูตไปอัญเชิญพระนางเจ้าจามเทวี ธิดาของพระเจ้าจักรวรรษดิ์ หรือบางตำนานเรียกว่า ลพราชา กษัตริย์ขอมแห่งกรุงละโว้ ลพบุรี เห็นชอบจึงมีพระบรมราชโองการให้พระราชธิดาทรงพระนามว่า ‘พระนางจามเทวี’ เสด็จครองเมืองหริภุญชัย พร้อมไพร่พลประกอบด้วย เศรษฐี คหบดี ๕๐๐ คน

พระนางจามเทวีได้รวบรวมไพร่พลโดยทางเรือรอนแรมขึ้นตามลำน้ำแม่ปิง ผ่านเกาะแก่งต่างๆ ด้วยความลำบากยากเข็ญ บรรดาไพร่พลหลายนายได้เสียชีวิตด้วยไข้ป่า สัตว์ป่าและเรืออับปาง

ในระหว่างการเดินทางอันยาวนานนั้น ได้เสด็จผ่านหมู่บ้านที่มีผู้คนอาศัยริมน้ำ เช่น เวียงระแกง หรือระแหง ได้หยุดพักทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องใช้ ออกตากแดด ณ สถานที่เวียงกะทิกะ (ปัจจุบันคืออำเภอบ้านตาก) รอนแรมจนกระทั่งถึงหมู่บ้านซึ่งผู้คนเซื่องซึม ง่วงเหงา ไม่ค่อยร่าเริง จึงขนานนามว่า เวียงเทพบุรีหรือจำเหงา ปัจจุบันคืออำเภอสามเงา จังหวัดตาก นับเวลาที่เสด็จรอนแรมมาได้หนึ่งเดือนเศษ ได้บรรลุถึงสถานที่กว้างขวางแห่งหนึ่งเห็นว่าประหลาดนักได้ให้ไพร่พลหยุดยั้งพักแรม พระนามจามเทวีได้ให้สร้างนครไว้ที่นี้เป็นที่ระลึกและได้สร้างวัดวาอาราม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ไพร่พลที่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทาง จนกระทั้งเสร็จเรียบร้อย ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ ขนานนามว่า ‘พิศดารนคร’

ปัจจุบัน สันนิษฐานว่า ‘พิศดารนคร’ อยู่บริเวณบ้านวังลุง หมู่ที่ ๓ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ในบางตำนาน ก็ระบุเอาไว้ใกล้เคียงกันว่า ในช่วงราวปี พ.ศ.๑๒๐๔ กษัตริย์กรุงละโว้(ลพบุรีในปัจจุบัน) ทรงมีพระราชดำริที่จะมอบหมายให้ราชธิดาของพระองค์ซึ่งมีนามว่า ‘พระนางจามเทวี’ เสด็จขึ้นครองเมืองหริภุญไชยในภาคเหนือ ทรงมีพระราชโองการสั่งให้พระนางจามเทวีนำไพร่พลเดินทางโดยทางเรือรอนแรมตามลำน้ำปิง ผ่าน เกาะแก่งต่าง ๆ อย่างลำบากยากเย็นแสนเข็ญแทบเอาชีวิตไม่รอด บรรดาไพร่พลต่าง ๆ ก็เสียชีวิตในขณะเดินทางด้วยไข้ป่า สัตว์ป่า และความลำบากยากเย็น จากแก่งหินที่ทำให้เรือแตกล้มตายเป็นอันมาก

ดังนั้นตามระยะเส้นทางเดินทัพของพระนางจามเทวีในสมัยนั้นจึงมีชื่อต่าง ๆ เช่น ผาสามเงา ผาอาบนาง ผานางนอน แก่งม้า ผาหมอน ฯลฯ ไปตลอดเส้นทางจนถึงบ้านชาวเขาและหมู่บ้านหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำปิง ปรากฏว่าจำนวนไพร่พลที่ยกกำลังติดตามมาล้มตาย เป็นจำนวนมาก อาหารก็ไม่เพียงพอ จึงสั่งให้หยุดพักรี้พลเพื่อหาเสบียงอาหารทำนาเพาะปลูกข้าวเพื่อเก็บเสบียง และได้โปรดให้สร้างวัดและเจดีย์ไว้เป็นอันมาก จากตำนานระบุไว้ว่า ได้ทรงสร้างวัดทั้งสิ้น ๙๙ วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างที่ร่วมเดินทางกับพระนางจามเทวีในครั้งนั้น

นอกจากนั้น ยังทรงสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นมาด้วย โดยชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า ‘พระเจ้าโท้’ ว่ากันว่า คำว่า ‘โท้’ นั้น แผลงมาจาก ‘โท๊ะ’ เป็นคำอุทานภาษาล้านนา แปลว่า ใหญ่โต

ในตำนาน ยังว่าไว้อีกว่า ได้มีการขานเรียกหมู่บ้านชุมชนแห่งนั้นว่า ‘เมืองหอด’ ซึ่งคำว่า ‘หอด’ นั้น แปลว่า ‘หิว’ หรือ ‘อดอยาก’ แต่ต่อมา เมื่อวันเวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายศตวรรษ การเรียกชื่อก็เพี้ยนไป กลายเป็น ‘ฮอด’ ซึ่งทำให้ความหมายนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะคำว่า ‘ฮอด’ นั้นแปลว่า "ถึง" หรือ "บรรลุ" ซึ่งหมายถึงการเดินทางของพระนางจามเทวีนั้นได้ผ่านความอดอยาก ทุกข์ยาก ลำบากมามากหลาย กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

สอดคล้องกับในหนังสือ ‘จอมนางหริภุญไชย’ ของอาจารย์กิตติ วัฒนะมหาตย์ ซึ่งมีความเห็นว่าในหนังสือตำนานในแต่ละเล่มได้แก่ ตำนานมูลศาสนา กรมศิลปากร พ.ศ.๒๕๑๙,ตำนานพื้นเมืองฉบับนายสุทธิวารี สุวรรณภาชน์ จากหนังสือ พระราชประวัติพระแม่เจ้าจามะเทวี บรมราชนารีศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย พ.ศ. ๒๕๒๕, ตำนานพื้นเมือง ฉบับพระมหาหมื่น วัดหอธรรม จ.เชียงใหม่ จากหนังสือ ประชุมตำนานลานนาไทย พ.ศ.๒๕๑๕ และตำนานพื้นเมือง ฉบับนายยุทธ เดชคำรณ จากหนังสือ ล่องแก่งแม่ปิง พ.ศ.๒๕๑๐ ที่กล่าวถึงเส้นทางขบวนเสด็จของพระนางจามเทวีจากละโว้ หรือกรุงลวปุระสู่เมืองหริภุญไชย นั้นมีรายละเอียดและคล้ายคลึงกันหลายแห่ง โดยในเอกสารดังกล่าว มีการระบุถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้อย่างสอดคล้องและใกล้เคียงกัน ว่าได้มีการเคลื่อนพลมาถึงเมืองฮอด และได้หยุดพักไพร่พลอยู่บริเวณนั้น

ในพงศาวดารโยนก มีการกล่าวถึง ท่าเชียงทองและเมืองฮอด เอาไว้ใน ปริเฉทที่ ๗ ว่าด้วยระยะทาง ไว้ว่า พระนางจามเทวี เสด็จออกจากละโว้มายังหริภุญไชยทางชลมารค โดยได้กล่าวถึงสถานที่พักพลของพระนางจามเทวีตามลำดับ คือ เมืองประบาง(ปากบางหมื่นหารใกล้ปากน้ำบางพุทรา) เมืองคันธิกะ(ชัยนาท) เมืองบุรัฐฐะ(นครสวรรค์) เมืองบุราณะ(ท่าเฉลียง) เมืองเทพบุรี(บ้านโคนหรือวังพระธาตุ) เมืองบางพล(กำแพงเพชร) เมืองรากเสียด(เกาะรากเสียด) หาดเชียงเรือ(เชียงเงิน) บ้านตาก จามเหงามหรือสยามเหงา(สามเงา) ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำวังบรรจบกับแม่น้ำปิง ผาอาบนาง และผาแต้มหรือผาม่าน บ้านโทรคาม ท่าเชียงทอง รมณียาราม และเสด็จเข้าสู่เมืองหริภุญไชย

“ถัดแต่นี้ขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง มีผาตั้งขวางน้ำกั้นหน้าไว้ ไม่แลเห็นช่องทางที่จะไปในเบื้องหน้า นางจามเทวีก็ปรึกษาปรารภกับพี่เลี้ยงทั้งหลายว่า ไม่มีช่องทางไปแล้วก็จักกลับคืน จึงให้คนใช้ไปเลียบดูตามริมแม่น้ำ เข้าก็ได้เห็นช่องทางที่น้ำเลี้ยวพ้นหน้าผานั้นขึ้นไปได้ คนใช้ก็กลับมาทูลแด่นางจามเทวีให้ทราบ นางก็เคลื่อนเรือที่นั่งขึ้นมาถึงหน้าผานั้น จึงให้ช่างวาดเขียนรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ที่หน้าผานั้น สถานที่นั้นมีนามปรากฏว่า ผาแต้ม ครั้นนานมา คนทั้งหลายบางพวกก็เรียกว่า ผาม่าน ด้วยเหตุสัณฐานเหมือนผ้าม่านอันขึงกั้นขวางแม่น้ำไว้ นางจามเทวี ยกจากที่นั่นขึ้นมาถึงเมืองร้างแห่งหนึ่ง ขึ้นตั้งพักรี้พลอยู่ มีฝูงเต่าปลามาเบียดเบียน คนทั้งหลายอยู่มิเป็นสุข สถานที่นั้นจึงได้ชื่อว่า ดอนเต่า ยกแต่ที่นั้นขึ้นไปถึงที่ตำบลหนึ่ง ชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นที่ราบรื่นรมย์สถานพอพระทัยนัก พระนางเธอจึงตั้งพักรี้พลอยู่ ณ สถานที่นั้น แล้วให้สถาปนาสถูปองค์หนึ่ง ชื่อ วิปะสิทธิเจดีย์ ครั้นก่อสร้างสำเร็จก็ฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก ครั้นยกจากตำบลโทรคามนั้นต่อไปถึงท่าเชียงทอง ก็หยุดประทับที่นั้น มีชาวบ้านหญิงชายพากันมาเป็นอันมาก นางจึงให้สาวใช้ไต่ถามคนทั้งหลายเหล่านั้นว่า “ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้เมือถึงเมืองลำพูน ยังประมาณมากน้อยดังฤาจักฮอดจา” คนทั้งหลายขานคำตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงเมืองลำพูนนั้น ดังข้าทั้งหลายได้ยินมาว่า หนึ่งโยชน์ แลนา” สถานที่นี้ คือ เมืองฮอดบัดนี้

ในขณะที่ชาวบ้านเมืองฮอดคนหนึ่ง ก็ได้บอกเล่าตำนานให้ฟังว่า “เมืองฮอด มีมาตั้งแต่สมัยนางจามเทวี ซึ่งอยู่ลพบุรี สมัยนั้น พอลำพูนไม่มีใครครอง ก็ได้เชิญนางจามเทวีให้มาอยู่ครองที่ลำพูน ก็เดินทางขึ้นมาตามแม่น้ำปิง พอมาถึงแถบอำเภอสามเงา ก็มายืนอยู่ที่ผา มองดูแล้วว่าคนเดียวนั้นมีสามเงา ต่อมา เลยชื่อว่าอำเภอสามเงา จังหวัดตาก พอขึ้นเหนือมาตามแม่น้ำปิงเรื่อยๆ ก็ได้ตากผ้า ตากเสื้อ เขาจึงเรียกว่าจังหวัดตาก ครั้นพอมาถึงที่ฮอด หลายคนก็เกิดการล้มหายตายจาก ลูกศิษย์ลูกหา และทหารก็มาถึงเมืองฮอด ก็บอกว่า ‘มาฮอดแล้ว ไม่ตายแล้ว’ ก็เลยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และมีการตั้งเมืองพิสดารอยู่ที่นี่ ก็เลยตั้งชื่อว่า เมืองฮอด หรืออำเภอฮอดในปัจจุบันนี้”

เช่นเดียวกับ ‘ตำนานพิสดารนคร’ ก็ได้บอกเล่าไว้ว่า ระหว่างเส้นทางโดยเสด็จทางเรือ สายน้ำเปี่ยมฝั่ง บางแห่งเป็นเกาะแก่ง หลั่นหิน โตรกธารซอกผา บางแห่งเป็นเวิ้งน้ำ เป็นวังวน ผ่านป่าเขาลำเนาอันโหดร้าย เส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ด้วยความเหนื่อยยากลำบาก ทำให้ไพร่พลต้องล้มตายไปด้วยไข้ป่าอ่อนล้า หิวโหย และเรืออับปางเป็นจำนวนมาก แต่พระนางหาได้ย่อท้อไม่

ครั้นเสด็จรอนแรมมาได้เดือนเศษ จึงบรรลุถึงที่แห่งหนึ่ง เป็นคุ้งน้ำ งดงามเรียบนิ่ง น้ำใส ทรายสะอาด ธรรมชาติมีเสน่ห์ งดงาม เหมือนมีมนต์ขลัง พระนางจึงหยุดพังการเดินทางไว้ ณ ที่แห่งนี้ บรรดาคหบดี ไพร่พลที่เดินทางมาด้วย ต่างอุทานว่า ฮอดแล้ว รอดตายแล้ว หรือบรรลุแล้ว ด้วยความงดงามของธรรมชาติพระนางจึงโปรด ที่จะสร้างเมืองไว้ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยปณิธานว่า เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันศัตรูของหริภูญชัย ยามเกิดศึกสงครามเป็นเมืองไว้พักค้างแรมยามเสด็จกลับเมืองละโว้เป็นเอนุสรณ์สถานอุทิศส่วนกุศลให้ไพร่พลที่เสียชีวิตจากการเดินทาง โดยพระนาง โปรดให้สร้างพระคู่เมืองนามว่า พระเจ้าโท้ พร้อมอนุสรณ์สถาน เจดีย์สูงไว้ใจกลางเมือง ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทรงสร้างวัดทั้งสิ้น ๙๙ วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับไพร่พลที่ล้มตายระหว่างการเดินทาง เมืองนี้จึงได้เริ่มก่อสร้างขึ้นและสร้างเสร็จเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง พุทธศักราช ๑๒๐๑ และขนานนามว่า พิสดารนคร เมืองหอด หรือ เมืองฮอด ในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ในตำนานพิสดารนคร ยังได้กล่าวถึง ผาวิ่งชู้ (ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านดงดำ ตำบลฮอด อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และกลายเป็นจุดชมวิวที่งดงามแห่งหนึ่งของอำเภอฮอด)

โดยในตำนานพิสดารนคร ตอนหนึ่ง ระบุไว้ว่า พระนางจามเทวีเมื่อสร้างเมืองพิสดารนครแล้ว ได้มอบหมายให้พระยาแสนโทปกครองเมืองพิสดารนคร(ฮอด)ต่อ พระยาแสนโทมีบุตรหญิง ๑ คนชื่อพระนางแอ่นฟ้า และมีบุตรชาย ๑ คน ชื่อพระนาย ต่อมาพระนางแอ่นฟ้าเกิดรักใคร่กับลูกของเสนาผู้หนึ่ง ชื่อน้อยสิงห์คำ ปัญหารักที่ต่าง ฐานันดร ข่าวทราบถึงพญาแสนโทจึงเรียกทั้งสองไปว่ากล่าวตักเตือนหากฝ่าฝืนกฎมณเฑียรบาลมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ด้วยรักแท้ที่ทั้งสองมีต่อกันพระนางแอ่นฟ้ากับน้อยสิงห์คำจึงได้พากันหนีออกจากเมืองในเวลากลางดึกสงัด โดยทั้งสองได้ขี่ม้าสีขาวมุ่งออกจากเมืองพิสดารนคร โดยทันทีฝ่ายพระนายผู้น้องเห็นผิดสังเกตจึงเข้าไปดูยังห้องบรรทมของพระนาง แต่ไม่พบจึงนำความเข้าไปกราบทูลบิดา

พระยาแสนโททรงกริ้วมากเรียกเสนาอำมาตย์และทหารออกติดตามตลอดทั้งคืนพร้อมด้วยพระนายและรับสั่งว่าถ้าพบทั้งสองให้ลงโทษประหารชีวิตเสียทันที

เสียงฝีเท้าม้ากระทบแผ่นดินสะเทือนเลือนลั่น กระชั้นชิดเข้าใกล้ ขณะนั้นพระนางแอ่นฟ้าและน้อยสิงห์คำเห็นจวนตัวจึงปรึกษากัน ณ ริมป่าชายทางว่าอยู่ก็ตายไปก็ตาย เราจะกระโดดหน้าผาอันสูงชันนี้ตายด้วยกันทั้งสองคน เห็นควรแล้วจึงเอาผ้าขาวผูกตาม้าเพราะไม่อยากให้เห็นหน้าผาที่สูงลิ่ว

พระนางแอ่นฟ้าเห็นว่า น้อยสิงห์คำไม่กล้าบังคับม้าให้กระโดดหน้าผา จึงเปลี่ยนเป็นผู้ขี่ม้าน้อยสิงห์คำนั่งซ้อนท้ายแล้วให้เฆี่ยนม้าอย่างแรงด้วยความเจ็บและตกใจม้าจึงวิ่งออกไปอย่างรวดเร็วกระโดดลงหน้าผาที่สูงชันกว่าห้าสิบเมตรร่างทั้งสองและม้าลอยละลิ่วตกลงเบื้องล่างสู่ ห้วงน้ำแม่ระมิงค์จมไปกับกระแสน้ำหน้าผาแห่งนี้จึงเรียกว่า ‘ผาวิ่งชู้’ ร่างของน้อยสิงห์คำลอยไปติดท่าน้ำห่างออกไปสองกิโลเมตรจึงเรียกที่นั้นว่า ‘บ้านน้อย’ ร่างของพระนางแอ่นฟ้าลอยไปติด ท่าน้ำแห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกว่า ‘บ้านแอ่น’ ส่วนผ้าขาวที่ปิดตาม้าจมอยู่ทางทิศเหนือจึงเรียกจุดนั้นว่า ‘วังผ้าขาว’ ร่างของม้าลอยไปติดอีกไม่ไกลนักทางทิศใต้เรียกกันว่า ‘ท่าม้า’

ส่วนขบวนติดตามของพระนายและทหารติดตามถึงหน้าผาเห็นรอยม้ากระโดดลงหน้าผาจึงถอยม้าหยุดนิ่ง ต่างรู้สึกเสียใจและอาลัยอาวรณ์อย่างยิ่งนัก จนทำให้พระนายผู้น้อง เสียใจตรอมใจจนขาดใจตายข้างลำห้วยที่ติดอยู่กับหน้าผาแห่งนั้น ที่ตรงนั้นจึงเรียกว่า ‘ห้วยพระนาย’ นับแต่นั้นมา พ่อแม่ฝ่ายหญิงก็เสียใจ มาทำบุญให้โดยทิ้งของทำบุญลงน้ำ ของต่าง ๆ ก็ลอยไปติดตามที่ต่าง ๆ เกิดเป็นชื่อหมู่บ้านขึ้นอีก เช่น ข้าวแต๋น กลายเป็น บ้านผาแตน หม้อ กลายเป็นวังหม้อ สลุง กลายเป็นวังสลุง หรือวังลุง เป็นต้น

จากประวัติศาสตร์ ตำนานดังที่กล่าวมาแล้ว เราจึงมองเห็นร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุกระจัดกระจายเต็มไปทั่วเมืองฮอด ซึ่งซากอิฐ พุทธปฏิมา เจดีย์ อนุสรณ์สถาน คือซากแห่งความหลังที่บ่งชี้และบอกเล่าว่าศรัทธาอันยิ่งใหญ่เคยเกิดขึ้นที่นี่ ครั้งหนึ่ง เมื่อกว่า ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ของตำบลฮอด เราจะพบว่ามีโบราณสถาน โบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดพระเจ้าโท้ วัดพระบาทแก้วข้าว วัดหลวงฮอด วัดเจดีย์น้อย วัดดอยจ๊อม วัดดอยอูปแก้ว นอกจากนั้น ยังพบเห็นร่องรอยของเศษซากวัดโบราณ เช่น วัดเจดีย์สูง วัดหลวงฮอด วัดศรีโขง วัดสันหนอง วัดดอกเงิน วัดดอกคำ ให้ทุกคนได้เข้าไปเรียนรู้ศึกษาต่อไปอีกด้วย
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1144
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน

cron