#ขะอูบหรือผอบที่ฐานพระเจดีย์วัดพระสิงห์วรวิหาร

- ขะอูบ.jpg (41.86 KiB) เปิดดู 3661 ครั้ง
วัดพระสิงห์คงจะร้างมาแล้วหลายครั้งด้วยกันและในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ก็ยังคงสภาพเป็นวัดร้างอยู่อีก ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๗ เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ หรือองค์สุดท้าย ทรงอาราธนาครูบาศรีวิชัยหรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปางมาช่วยสร้างวัดพระสิงห์ขึ้นใหม่ เนื่องจากกุฎิสงฆ์และวิหารที่พระเจ้ากาวิละสร้างขึ้นไว้ผุพังไปหมดแล้ว พระศรีวิชัยท่านรื้อพระเจดีย์ยอดหักท่ามกลางลานวัดลงเสียเพื่อสร้างพระวิหารขึ้น ณ ที่นั้น
ในการขุดที่ฐานพระเจดีย์ได้พบผอบทองคำขนาดเขื่อง เส้นผ่าศูนย์กลางที่ปากผอบ ๗ นิ้ว ๘ กระเบียด สูง ๑๔ นิ้ว น้ำหนักทองคำ ๑๒๒.๕ บาท มีกระดูกบรรจุอยู่ภายใน เข้าใจว่าเป็นพระอัฐิของพระเจ้าคำฟู กษัตริย์ลานนาไทยลำดับที่ ๖ ผู้เป็นพระชนกของพระเจ้าผายูผู้ทรงสร้างวัดพระสิงห์ก็เป็นได้ นอกจากผอบยังขุดพบแผ่นทองคำอีก ๔๗๗ แผ่น แต่ละแผ่นล้วนมีจารึกด้วยอักษรลานนา ทองคำแผ่นเหล่านี้ชั่งน้ำหนักรวมกันได้ ๓๖๐ บาท สิ่งของมีค่าเหล่านี้พระศรีวิชัยได้มอบให้ทางบ้านเมืองเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นและศึกษา แต่อย่างไรก็ตามสมบัติล้ำค่าเหล่านี้ ได้หายไปในระหว่างสงครามโลกครั้งหลัง เมื่อนครเชียงใหม่ถูกโจมตีทางอากาศและมีการย้ายที่ทำการจากศาลากลางไปตั้งที่วัดข่วงสิงห์
ครูบาศรีวิชัยสร้างวัดพระสิงห์ขึ้นใหม่ดังที่เห็นอยู่ในบัดนี้ แล้วอาราธนาเจ้าอาวาสจังหวัดมาจำพรรษาอยู่ประจำ วัดนี้จึงกลับเจริญรุ่งเรืองและมีสภาพเป็นพระอารามหลวงอยู่ในปัจจุบัน
ที่มาของเรื่อง : หนังสือ นำชมโบราณวัตถุสถานในจังหวัดเชียงใหม่ โดย รองอำมาตย์โท ชุ่ม ณ บางช้าง
ภาพ : หนังสือล้อล้านนา
การค้นพบได้พบกู่อัฐิพญาคำฟู ข้างในมีขะอูบหรือผอบบรรจุอัฐิซ้อนกัน ๓ ใบ เป็นทอง ทองเหลือง และเงิน และสูญหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ หรือที่เรียกกันสงครามมหาเอเชียบูรพา หลายท่านคงไม่รู้จักเจ้าของอัฐิดังกล่าว “พญาคำฟู” มาจะเล่าให้ฟัง

- 422793_335011553217554_1255574997_n.jpg (16.13 KiB) เปิดดู 3661 ครั้ง
พญาคำฟู หรือที่เรียกกันว่า เจ้าคำฟู หรือท้าวคำฟู เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๘๗๗ - ๑๘๗๙ รวมระยะเวลาการครองราชย์ ๒ ปี
พญาคำฟูเป็นพระราชโอรสในพญาแสนภู ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์กล่าวไว้ว่า "เจ้าพระญาแสนภูก็แต่งลูกตน เจ้าพ่อท้าวคำฟู อยู่รักษาเมืองเชียงใหม่ ส่วนตนเจ้าก็ไปส่งสะกานเจ้าพระญาไชยสงครามพ่อในเมืองเชียงราย ได้ ๑ เดือนบัวระมวลชุอัน ท้าวก็ลวดอยู่เสวยเมืองเชียงรายหั้นแล แล้วก็แต่งหื้ออภิเษกพ่อท้าวคำฟู ลูกตนอายุได้ ๒๖ ปี หื้อเป็นพระญาในเมืองเชียงใหม่ในปีเปิกสี ศักราชได้ ๖๙๐ ตัวปีหั้นแล"
สรุปคือพญาคำฟู เป็นหลานของขุนคราม หรือพญาไชยสงคราม โอรสพระองค์ที่ ๒ ในพญามังราย (ขุนเครื่อง ขุนคราม และขุนเครือ)
หลังจากเจ้าคำฟูได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ พญาแสนภูก็ทรงย้ายเมืองหลวงจากเชียงใหม่ไปไว้ที่เชียงแสน ภายหลังพญาแสนภูเสด็จสวรรคต เจ้าคำฟูจึงได้ครองราชย์เป็นกษัตริย์ล้านนาระหว่าง พ.ศ.๑๘๗๗-๑๘๗๙ พญาคำฟูได้พัฒนา ปกครองนครเชียงใหม่ให้เกิดความผาสุก ร่มเย็น ในรัชสมัยของพระองค์แม้จะเป็นเวลาเพียง ๒ ปี แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่มีความเจริญรุ่งเรือง สงบสุข ไม่มีศึกสงคราม ในยุคสมัยของพญาคำฟูนี้พระองค์ทรงร่วมมือกับพญาผานองเจ้าเมืองปัวเข้าตีเมืองพะเยา และสามารถที่จะผนวกเอารัฐพะเยาที่เป็นอิสระอยู่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาได้ หลังจากพญาคำฟูเสด็จสวรรคตพระราชโอรสในพญาคำฟูขึ้นครองราชย์ต่อ ออกพระนาม พญาผายู
พญาคำฟูสวรรคตจากการถูกเงือกหรือจระเข้กัด ถือเป็นการตายร้าย จึงได้รับการบูชาเป็นผีอารักษ์ปกป้องเมืองเชียงใหม่
การที่ทรงสิ้นพระชนม์เพราะจระเข้กัดตายนั้น ตามตำนานเล่าว่า เป็นเพราะพญาคำฟูเสียสัตย์สาบาน กษัตริย์ราชวงศ์มังรายที่สวรรคตยังแม่น้ำคำเพราะเงือก(จระเข้)ขบ เรื่องนี้ปรากฏในพงศาวดารโยนกและตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ได้บันทึกตรงกันว่าพญาคำฟู กษัตริย์ราชวงศ์มังรายรัชกาลที่๖ ได้กระทำผิดสาบานที่ได้ให้ไว้กับสหายเศรษฐีชื่อ งัวหง ว่าจะไม่คิดร้ายต่อกัน แต่พญาคำฟูกลับเสียสัตย์ลักลอบกระทำมิจฉาจารกับภรรยาของงัวหง การกระทำครั้งนั้นเป็นเหตุให้พระองค์ต้องสวรรคต ในสังคมสมัยนั้นเชื่อเรื่องลี้ลับมาก ดังปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า....
“พญาได้เห็นภรรยาของสหายนั้นทรงรูปลักษณะงามท่วงทีดี ก็มีใจปฏิพัทธ์จึงลอบลักสมัครสังวาสกระทำมิจฉาจารด้วยนางผู้เป็นภรรยาของสหายนั้น ด้วยเหตุพญาได้เสียสัตย์สาบานดังนี้ อยู่มาได้เจ็ดวัน พญาคำฟู ลงอาบน้ำดำเศียรในลำน้ำแม่คำ เงือกใหญ่ตัวหนึ่งออกมาจากเงื้อมผามาขบคาบสรีระพญาคำฟู พญาคำฟูก็ถึงกาลกิริยาในแม่น้ำนั้น ต่อครบเจ็ดวันศพพญาคำฟูจึงลอยขึ้นมา คนทังหลายจึงรู้ว่าพญาคำฟูสิ้นชีพวายชนม์แล้ว”
กู่อัฐิของพญาคำฟู เป็นกู่เล็ก ๆ ลักษณะเป็นทรงกลมเส้นรอบวงประมาณเมตรครึ่งด้านบนเป็นแผ่นศิลาทรงกลมปิดไว้ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถทางทิศเหนือเยื้องขวา ไปประมาณ ๑๐ เมตร คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพระธาตุหลวง เป็นที่บรรจุอัฐิของพญาคำฟู ในปี ๒๔๖๙ ครูบาศรีวิชัย มาแผ้วถางบูรณะวัดพระสิงห์ วรมหาวิหาร ได้พบกู่อัฐิค้นพบข้างในมีผอบบรรจุอัฐิซ้อนกัน ๓ ใบ ชั้นนอกทำด้วยทองเหลืองหนัก ๒๕๔ บาท ๓ สลึง สูง ๒๓ นิ้ว ชั้นกลางทำด้วยเงินหนัก ๑๘๕ บาท ๒ สลึง สูง ๑๘ นิ้ว ชั้นในสุด ทำด้วยทองคำหนัก ๑๒๒ บาท ๒ สลึง สูง ๑๔ นิ้ว และยังพบแผ่นทองจารึกเรื่องราวต่าง ๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอัฐิของพญาคำฟูผู้สร้างวัด ทางราชการได้นำไปเก็บไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่ที่ข่วงสิงห์ และขณะนั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ผอบทั้ง ๓ ใบ และจารึกตลอดถึงเครื่องราชูปโภคเหล่านั้นได้สูญหายไปในขณะเกิดสงครามซึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๔
ที่มา : รุ่งพงษ์ ชัยนาม. ประวัติศาสตร์ล้านนา : ประวัติศาสตร์ไทยที่คนไทยไม่ค่อยมีโกาสได้ศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สมหมาย เปรมจิตต์. (๒๕๔๐). ตำนานสิบห้าราชวงศ์ ฉบับชำระ . เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี, หน้า ๔๘.