ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 03 เม.ย. 2018 9:44 pm

#ขอทวงคืนผืนป่า..ด้วยหยดน้ำตาของคนเชียงใหม่
งานเขียนฉบับนี้เขียนขึ้นจากความรู้สึกในใจ ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็น “ลูกแม่ระมิงค์” ลูกหลานพญามังราย

29573219_1818846864834008_5418055512884521593_n.jpg
29573219_1818846864834008_5418055512884521593_n.jpg (55.97 KiB) เปิดดู 18268 ครั้ง


หมู่บ้านป่าแหว่ง (ชื่อที่เพจขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพตั้งให้) คือ บ้านพักศาลตุลาการ ตั้งอยู่บริเวณตีนดอยสุเทพ ด้านหลังสนามกีฬา ๗๐๐ ปี เป็น ๔ โปรเจกต์ ๑,๐๑๗ ล้าน บ้านพัก และแฟลต ๖๖๕ ล้าน

บ้านตีนดอยของท่านผู้พิพากษากับอาคารศาลที่กำลังประเด็น มีโครงการเกี่ยวข้อง ๔ โครงการ จัดซื้อจัดจ้างช่วงปี ๒๕๕๖-๒๕๕๙ ราคากลางโครงการรวม ๙๕๖,๓๙๑,๐๐๐ บาท เฉพาะบ้านพักกับแฟลตราคารวมกัน ๖๖๕ ล้านบาท เป็นบ้านพักระดับประธานศาล ๙ หลัง ผู้พิพากษากับผู้อำนวยการ ๓๙ หลัง แฟลตของข้าราชการตุลาการกับข้าราชการศาล รวม ๑๑๖ ยูนิต อาคารศาลอุทธรณ์ภาค ๕ และสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕

โครงการแรกสุดคือการสร้างบ้านพักระดับบิ๊กของศาลและแฟลตตุลาการ งบประมาณ ๓๔๓,๔๖๑,๐๐๐ บาท มีบ้านพักระดับประธานศาลรวม ๙ หลัง เป็นของประธานศาลอุทธรณ์ภาค ๕ รองประธานฯ ประธานแผนกคดีเยาวชน แผนกคดีผู้บริโภค แผนกคดีสิ่งแวดลอม แผนกคดีเลือกตั้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค ๕ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และอาคารชุดข้าราชการตุลาการ ๖๔ ยูนิต ประกาศประกวดราคาเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ทำสัญญาก่อสร้างเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน วงเงิน ๓๔๒,๙๐๐,๐๐๐ บาท

โครงการที่สอง สร้างบ้านพักผู้พิพากษาและแฟลตศาล งบประมาณ ๓๒๑,๙๕๐,๐๐๐ บาท มีบ้านพักผู้พิพากษา ๓๘ หลัง บ้านพักผู้อำนวยการ ๑ หลัง อาคารชุดข้าราชการตุลาการ ๑๖ ยูนิต และอาคารชุดข้าราชการศาลยุติธรรม ๓๖ ยูนิต ประกาศประกวดราคาเดือนกันยายน ๒๕๕๖ ทำสัญญาวงเงิน ๓๒๑,๖๗๐,๐๐๐ บาท

โครงการที่สาม สร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค ๕ งบประมาณ ๒๙๐,๙๘๐,๐๐๐ บาท ประกาศประกวดราคาเดือนมกราคม ๒๕๕๗ ทำสัญญาวงเงิน ๒๙๐,๘๘๕,๐๐๐ บาท

โครงการที่สี่ ใหม่สุดเกิดขึ้นช่วงปี ๒๕๕๙ สร้างอาคารที่ทำการสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ วงเงินสัญญา ๖๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท

เอกชนรายเดียวนามสกุลนักการเมืองเชียงใหม่ได้งานไปทั้งหมด ๔ สัญญา วงเงินรวม ๑,๐๑๗,๓๕๕,๐๐๐ บาท (ข้อมูลจากเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน)

โครงการนี้มีการอนุมัติโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๙ แต่ถูกคนเชียงใหม่คัดค้าน ทุกอย่างจึงเงียบไป ภายหลังมีการก่อสร้างเพราะได้รับอนุมัติงบประมาณเมื่อปี ๒๕๕๖ - ๒๕๕๗ ทำให้มีกลุ่มคนเชียงใหม่ยื่นคัดค้านในปี ๒๕๕๘ แต่ยังไม่มีการรวมตัวชัดเจน ติดขัดในเรื่องการชุมนุม เพราะการเมืองยังคุกรุ่นอยู่ แต่ทุกคนก็ยังจับตามองจนมีภาพแชร์กันในโลกโซเชียล ช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๙ หากผู้ใดขับรถไปทางสนามกีฬา ๗๐๐ ปี และหันไปมองทางทิศตะวันตกจะเห็นหมู่บ้านแห่งนี้เด่นหรา ขัดสายตายิ่งนัก ข้าพเจ้าหงุดหงิดตนเองเหมือนกัน ทั้งๆที่ตนเองมีเพจที่มีแฟนเพจหลักแสน แต่ในช่วงแรกๆที่เห็นข่าวนี้กลับเพียงแค่อ่าน คิดว่าคงมีหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันทวงคืน ซึ่งก็คงสำเร็จได้ไม่ยาก ทว่าเหตุการณ์ก็ดำเนินมาถึงวันนี้ ประชาชนต่อสู้ลำบากขึ้น เพราะบ้านพักใกล้เสร็จแล้ว อีกทั้งโครงการนี้เป็นโครงการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอนสิ บ้านพักตุลาการนี่ ก่อนทำเขาย่อมต้องศึกษากฎหมายมาอย่างดี จะพลาดได้อย่างไรในเมื่อเขาเป็นตุลาการ

จุดที่ตั้งบ้านพักดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุของกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ล่าสุดแม่ทัพภาคที่ ๓ แจงว่า พื้นที่ก่อสร้างอาคารศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ ทบ.แล้ว เนื่องจากส่งคืนไปกว่า ๑๐ ปีแล้ว) เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ๑๒๗๓ แปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่ ๓๙๔/๒๕๐๐ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตารางวา แม้ภายหลังจะมีประกาศ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ปี ๒๕๐๗ แต่ไม่ได้กระทบสิทธิการครอบครองใช้ประโยชน์ของกองทัพบกแต่อย่างใด ต่อมาในปี ๒๕๔๙ กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค ๕ บ้านพักและอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ เพิ่งได้รับงบประมาณ และเริ่มก่อสร้างในปี ๒๕๕๗ โดยในช่วงที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่เลือกใช้พื้นที่ตีนดอยสุเทพนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทางราชการ ทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินซึ่งปัจจุบันมีราคาสูง คงใช้งบประมาณเฉพาะการก่อสร้างเท่านั้น ทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้มาก

เขาขอจัดสรรที่ดินอย่างถูกกฎหมาย แต่ข้าพเจ้าก็มีคำถามในใจว่า ที่ราชพัสดุไม่ได้มีแห่งเดียว เหตุใดจึงเลือกบริเวณนี้ ที่ที่มีผืนป่าอย่างหนาแน่น มีคนเคยถามว่า “ถ้ายกเลิกโครงการแล้วใครจะรับผิดชอบ” ข้าพเจ้ามองเป็น ๒ แบบ แบบแรก ไม่จำเป็นต้องโทษใคร เมื่อประชาชนชาวเชียงใหม่ และคนไทยทั้งชาติไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้าง และแสดงถึงพลังอย่างจริงจัง หากต้องทุบหมู่บ้านแห่งนี้จริง เชื่อว่าทุกคนยินดีสูญเสียภาษีพันล้านของพวกเขา เพื่อผลประโยชน์สืบไปภายภาคหน้า แต่ถ้าจะเค้นเอาคนมารับผิดจริงๆ ท่านก็คงต้องหาคำตอบเอาเอง..?

ถ้าท่านมองภาพถ่ายทางอากาศ จะพบว่าบริเวณแนวเดียวกันกับหมู่บ้านป่าแหว่งเป็นป่าเพียวๆ ถึงจะไม่ใช่เขตป่าสงวน เป็นเพียงเขตติดต่อ แต่มันเหมาะสมไหม ที่ต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างที่พักให้คน ๒๐๐ คน หากปล่อยโครงการนี้เอาไว้ นับร้อยๆปี..ผืนป่าบริเวณนี้ก็จะกลายเป็นบ้านพักไปตลอดกาล นี่แหละหนามนุษย์ เราเป็นเพียงเศษธุลีเล็กๆบนโลก เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีสิทธิ์ใช้พื้นที่บนโลกนี้เพียงชั่วคราว เช่นเดียวกับพืช และสัตว์ทั้งหลาย แต่มนุษย์กลับใช้อภิสิทธิ์ตีตราจองว่าที่ตรงนั้นตรงนี้เป็นของตน ทั้งๆที่อีกไม่กี่ปีทุกคนก็ต้องตาย สูญสลายหลอมรวมกับธรรมชาติเช่นเดียวกับตอนก่อนเกิดมา

ข้าพเจ้าเป็นคนบ้านนอกที่มาเติบโตในเมืองใหญ่ ทุกๆก้าวของชีวิต ข้าพเจ้าสังเกตเห็นมาตลอด ท่านเห็นเหมือนกันไหม บ้านพักครูเก่าๆ จะล่มมิล่มแหล่ บ้านพักป่าไม้โทรมๆ โรงพยาบาลที่ต้องรองบจากการบริจาค ฯลฯ แล้วเหตุใดหน่วยงานบางหน่วยจึงมีการอนุมัติงบสร้างบ้านพักสุดหรูหรา เวลานี้ประเทศของเราร่ำรวยนักหรือ(อย่าบอกว่าคนละหน่วยงาน งบใครงบมัน เรากำลังพูดถึงวิธีคิด และการให้ความสำคัญต่อปัญหาต่างๆภายในประเทศ) ท่านเหล่านั้นทำคุณประโยชน์มากกว่าข้าราชการตัวเล็กๆที่ทุ่มเทเพื่องาน และประชาชนผู้เสียภาษีอย่างไร บางเรื่องมันใช้กฎหมายตัดสินความเหมาะสมไม่ได้หรอก มันต้องใช้จริยธรรม ในทุกๆคำถามมีคำตอบในตนเองเสมอ แน่นอนเราอ้างว่าเราทำถูกต้องได้ หากเราพบช่องโหว่ที่จะเอื้อผลอันพึงพอใจ ข้าพเจ้าเห็นตัวอย่างจาก "บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน" สมุทรปราการ งบประมาณเกือบหมื่นล้าน ตอนนี้ถูกทิ้งร้าง ไม่มีการดำเนินการต่อ เพราะประชาชนต่อต้าน แล้วเมืองเชียงใหม่ล่ะ ประชาชนคิดเห็นอย่างไร...อยากฟังคำตอบ...

การแสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้าครั้งนี้มาจากแรงขับภายใน ที่อยากบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับพื้นที่อื่นๆอีก อยากให้ข้าราชการไตร่ตรองให้ดีก่อนทำ บวกลบข้อดีข้อเสีย อย่าอ้างข้างๆคูๆ ตัดไม้ทำหมู่บ้านไปร้อยกว่าไร่ บอกจะปลูกป่าทดแทน ฟังแล้วร้อง เฮ้อ! มันไม่เหมือนกันหรอกนะ มันมีผลพวงต่อยอดไปอีกหลายอย่าง ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าการแสดงพลังของชาวเชียงใหม่ครั้งนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าก็ติดตามเพจ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ อยู่ตลอด และร่วมแสดงออกอย่างสันติ อ้อ! ลืมบอกไป

กลุ่มขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพ เราทำเพื่อลูกหลานชาวเชียงใหม่ ใครอยากก้าวไปด้วยกัน เชิญกดสมัครเข้าไปในกลุ่มได้เลยค่ะ https://www.facebook.com/groups/1964082183920017/

มีการลงชื่อขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพในลิงก์นี้นะคะ
https://goo.gl/N2cnns

หรือจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านกลุ่มไลน์ได้ที่
http://line.me/R/ti/g/VmTUbUyikQ

ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมแสดงเจตนารมณ์ เพื่อรักษาพื้นที่ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตารางวาให้เกิดประโยชน์แก่แผ่นดินอย่างสูงสุด

ทุกผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ และทุกลมหายใจ นั่นคือมรดกของบรรพบุรุษ ใครจะถือสิทธิ์ครอบครองอย่างไร แต่ความจริงเนื้อแท้“เป็นสมบัติของแผ่นดิน” ที่ต้องหวงแหนรักษาเอาไว้ นี่ไม่ใช่การเอาชนะคะคาน เป็นการปกป้องรักษาสมบัติที่ตกทอดมาตั้งแต่โบราณ จำได้ไหม ก่อนนั้นชนชาติอื่นต้องการครอบครองแผ่นดินนี้เพราะมีป่าไม้อันสมบูรณ์ ในอดีตกาลเราร่มเย็น อากาศดี เรามีความสุขเพราะมีป่าไม้ เราคือแผ่นดินต้นน้ำหล่อเลี้ยงคนทั้งชาติ มาเถอะ มาช่วยกันแสดงจุดยืน พลังมดอันน้อยนิดเมื่อรวมกันแล้ว สามารถสร้างความทรงจำอันยิ่งใหญ่ได้ ขอมือของคุณมาจับจูงมือเรา แล้วก้าวไปด้วยกัน ชาวเชียงใหม่ ภาคเหนือ และคนไทยทั้งประเทศ #เราต้องการมือคุณ

น้ำฟ้า
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 03 เม.ย. 2018 9:48 pm

#เสียงเพรียกจากวิญญาณป่าโหยหาวันปลดปล่อย..

29594496_1823933650991996_5214947347746426968_n.jpg
29594496_1823933650991996_5214947347746426968_n.jpg (138.18 KiB) เปิดดู 18267 ครั้ง


นานมากแล้วที่ไม่ได้ขับรถผ่านถนนสายแม่ริม เช้าวันนั้น ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ มีโอกาสได้เห็น “หมู่บ้านศาลตุลาการ” ที่ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ สูงขึ้นไปบนเชิงดอยสุเทพฝั่งแม่ริม ณ จุดนั้นความอุดมสมบูรณ์ของป่าหมดสิ้นไป มองเห็นเพียงคฤหาสน์หลังใหญ่เกาะกลุ่มกันอยู่แทน คงต้องขอบคุณที่หอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เกียรติเชิญไปขึ้นเวทีงาน CMU BOOK FAIR จึงทำให้ได้เห็นหมู่บ้านแห่งนี้กับตาสักครั้ง..โดยไม่ต้องผ่านเลนส์กล้องใดๆ

เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ก็เข้ามาสู่โสตประสาทอีกครั้ง เมื่อทหารออกมาสั่งให้ชะลอการก่อสร้าง แต่ไม่มีการชะลอใดๆ หลังจากนั้นลิงก์แคมเปญ #ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ก็ถูกส่งต่อมาเพราะเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นชาวเชียงใหม่ เรานำมาแชร์ พอแชร์ก็มีคนส่งลิงก์จากเพจ ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพมาให้ จึงลองเข้าไปดู เรื่องราวในเพจสะดุดใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ตอนที่เข้าไปดูเพจนี้มีคนกดไลก์อยู่ประมาณสองพันกว่าคนเท่านั้น จึงคิดว่าตนเองน่าจะพอช่วยเหลือได้ เนื่องจากมีคนติดตาม และแฟนเพจอยู่ค่อนข้างมาก ก็เลยเสนอตัวเข้าไปช่วยในส่วนของการประชาสัมพันธ์โครงการ

แล้วไม่รู้หรือว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ถูกกฎหมาย รู้ รู้และยังเข้าใจข้าราชการที่ต้องขึ้นไปพักในหมู่บ้านนั้นอีกด้วย เขาก็คงลำบากใจ เพราะกระแสโซเชียลรุนแรงมาก นอกจากนี้ยังมีกระแสต่อต้านจากคนในจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย แต่ไม่ว่าอย่างไร ก็ต้องขอคืนพื้นที่ดอยสุเทพอยู่ดี เหตุผลมีทั้งด้านความเชื่อ งบประมาณ ด้านสิ่งแวดล้อม และการเป็นแบบบทของการใช้พื้นที่ป่าที่เรายอมไม่ได้ คนเชียงใหม่ศรัทธาดอยสุเทพมาก ท่านก็รู้ ขึ้นไปทำไม ตอนที่จะสร้างใหม่ๆที่ราชพัสดุสวยๆข้างล่างมีเยอะแยะ งบประมาณในการสร้างบนดอยมันมากกว่าอยู่แล้ว เพราะสาธารณูปโภคทุกอย่างต้องทำใหม่หมด ด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งชัดเจน สร้างเสร็จต้องทำแนวกันไฟ ตัดไม้เพิ่ม สัตว์ป่า แมลง มันเจอแสงกลางคืนก็อยู่ไม่ได้ (เพิ่งเคยได้อ่านมา) ไหนจะน้ำเสียจากที่อยู่อาศัย จากที่จุดนั้นเคยมีตาน้ำ และมีอ่างเก็บน้ำแม่จอก ไม่มีน้ำเสียใดๆ หลังจากนี้อาจจะมีน้ำเสียจากการอุปโภค บริโภค และห้องสุขา ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้จะซึมจากใต้ผิวดินไปปนเปื้อนต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ สมัยก่อนคนสามารถดื่มน้ำจากบ่อน้ำซึ่งใสสะอาด แต่ในระยะหลังๆเหตุใดจึงมีสีเหลือง มีกลิ่นติดมา ก็เพราะผลกระทบจากการปนเปื้อนของน้ำใต้ผิวดินนี่แหละ ต่อไปก็ต้องมากังวลต่อเรื่องความสะอาดของน้ำมากขึ้น นอกจากนี้อันตรายจากไฟป่า น้ำป่า ดินสไลด์ ก็เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา การก่อสร้างของหน่วยงานรัฐควรมีการศึกษาเรื่องความปลอดภัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เพราะหากไม่รัดกุมต่อสิ่งเหล่านี้ อาจจะต้องมาเสียใจกับความสูญเสีย และการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุ ซ้ำๆ ซากๆ

เห็นการดำเนินงานของภาคีขอคืนพื้นที่ป่าแล้วอยากจะกราบด้วยหัวใจ ทุกคนทำงานอย่างตั้งใจ ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน และมีกฎเหล็กว่า จะไม่โยงการเมือง เราทำเพราะเรารักดอยสุเทพ รักเชียงใหม่ และรักสิ่งแวดล้อม เราจะทำการเรียกร้องอย่างสุภาพ และอยู่ในแบบบทกฎหมาย เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ที่น่าทึ่งมาก คือ ทีมงานหลายคนไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่มีหัวใจบริสุทธิ์ที่จะมาช่วยคนเชียงใหม่ทวงคืนป่า โดยเฉพาะ ดร.ทนง ทองภูเบศร์ ท่านไม่ใช่ชาวเชียงใหม่ ไม่ใช่ชาวเหนือ แต่ท่านเริ่มต้นทำเพจ และทำแคมเปญเรียกร้องตามลำพัง จนคนเชียงใหม่ทราบและทนไม่ไหว เข้ามาร่วมมือกันสร้างภาคี คนที่อื่นเขายังรักดอยสุเทพ แล้วคนเชียงใหม่จะอยู่เฉยได้อย่างไร

ภาคีของเราเติบโตไปเรื่อยๆ พร้อมกับจำนวนคนร่วมคัดค้านในแคมแปญในวันนี้ที่มากกว่าสามหมื่นหกพันคน ที่ดีใจมากก็คือคนในพื้นที่ต่างก็ให้ความร่วมมือ ประสานมือ ประสานใจกัน ไม่ว่าคนพื้นราบหรือชาวเขา เราหัวใจเดียวกัน หัวใจรักป่า หัวใจรักดอยสุเทพ

นั่งมองภาพบ้านพักแห่งนั้นอีกครั้ง ข้าพเจ้าถามตนเองว่า “ถ้ามีสิทธิ์จะไปอยู่ไหม” ไม่อย่างแน่นอน การมีคนด่า สาปแช่งมากขนาดนี้ หัวใจเราคงไม่สงบสุข ที่สำคัญการได้คุยกับ “มาร์ค สาโรจน์” หนุ่มแม่ริมที่ไปเป็นอาสาสมัครดับไฟป่าที่ออสเตรเลียทำให้ข้าพเจ้าเป็นห่วง เขาบอกว่า เห็นทำเลที่ตั้งหมู่บ้านแล้ว ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่ทางขึ้นจนถึงช่วงที่ตั้งหมู่บ้านเป็นช่องทางลมพัดเข้า หากเกิดไฟป่าจะเพิ่มความรุนแรงของไฟเป็นอย่างมาก ไฟป่ารุนแรงหนีไม่ทัน เพราะไฟมันกระโดดได้ทีละหลายเมตร ไม่ได้ไหม้ลามเรื่อยๆเหมือนไฟไหม้บ้าน ให้นึกถึงเตาถ่าน เวลาเราก่อไฟด้านบน ด้านล่างจะมีช่องเล็กๆสำหรับพัดหรือเป่าลมเข้าไป เพื่อช่วยให้ไฟติด และลุกโชนขึ้น ไฟจะไม่มีทางจุดติดหากไม่มีออกซิเจน ยิ่งมีช่องว่างด้านล่างมากเท่าใด ก็ยิ่งมีมวลอากาศให้เผาไหม้มากเท่านั้น การอยู่ในบ้านที่มีป่าล้อมรอบ และมีช่องสำหรับลมพัดขึ้นจากด้านล่างจึงอันตรายยิ่ง

ทางเดินของการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพยังอีกยาวไกล หนทางแสนขระขรุ เต็มไปด้วยหลุมบ่อ แต่ข้าพเจ้ารู้ดีว่า คนเชียงใหม่ คนเหนือ และคนไทยทั้งประเทศย่อมตระหนักดีว่า การสูญเสียงบประมาณเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้คนกลุ่มหนึ่ง และเงินนั้นมาจากภาษีเรา หากมันจะหมดไปเพื่อแลกผืนป่าคืนมาก็ย่อมคุ้มค่ากว่าปล่อยให้มีการก่อสร้างต่อ มีการใช้งบประมาณมาดูแลเพิ่มเติม มีการทำแนวกันไฟซึ่งต้องตัดต้นไม้ออก และที่สำคัญโครงการนี้จะเป็นแบบอย่าง “เป็นดอยสุเทพโมเดล” เราจะยอมหยุดในวันนี้ หรือจะสร้างแบบบทที่ไม่ดีสืบทอดไปวันข้างหน้า ถามหัวใจคุณดู ถ้ามีใจ ๘ เมษายนนี้ มาร่วมใจบวชป่า กับภาคีขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและชาวตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จุดนัดหมายคือ ศูนย์ประชุมนานาชาติ ๘ โมงเช้า แล้วเราไปห้วยตึงเฒ่า ไปบวชป่า ทำโรงทาน และทำพิธีอื่นๆด้วยกัน เราเป็นประชาชนคนรักป่าที่เดินหน้าอย่างสงบ พร้อมหรือไม่ที่จะก้าวไปด้วยกันในวันนี้
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 03 เม.ย. 2018 9:50 pm

#ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
เหตุผลที่ประชาชนชาวเชียงใหม่คัดค้านการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ภาค ๕

29572523_1823933634325331_3583781811062281178_n.jpg
29572523_1823933634325331_3583781811062281178_n.jpg (147.7 KiB) เปิดดู 18267 ครั้ง


การสร้างบ้านพักศาลตุลาการภาค ๕ บริเวณเชิงดอยสุเทพนั้นมีปัญหายืดเยื้อมายาวนาน เนื่องจากชาวเชียงใหม่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างนี้ และได้ยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จากที่ยังคนทั่วไปยังมองไม่เห็นปัญหา จนบ้านพักใหญ่โตสูงตระหง่านมองเห็นตั้งแต่ไกลๆ ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาเริ่มหันมอง ถ่ายภาพ ถ่ายคลิป จนปรากฏแก่สายตาของคนทั้งประเทศ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างนี้เช่นเดียวกัน

พวกเราชาวเชียงใหม่มีเจตนาบริสุทธิ์ที่ปกป้อง รักษา สมบัติของแผ่นดินเอาไว้ เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการเป็นป่าต้นน้ำ "ป่าไม้ผลัดใบสมบูรณ์" แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ หรือเขตป่าไม้ตามกฏหมายหวงห้ามก็ตาม แต่พื้นที่ป่าไม้ผลัดใบสมบูรณ์แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของป่าดอยสุเทพ เป็นระบบนิเวศน์ภูเขาที่เป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นปอดดูดซับมลพิษทางอากาศ ดอยสุเทพเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ ประชาคมชาวเชียงใหม่ได้มีข้อตกลงแล้วว่าจะไม่ให้มีสิ่งก่อสร้างใดๆ ขึ้นไปก่อสร้างบนดอยสุเทพ

การก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการเลือกใช้พื้นที่ไม่เหมาะสม การใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยขัดต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียง ก่อสร้างโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งการกระทำต่างๆที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะสามารถตรวจสอบ และสามารถฟ้องหน่วยงานของรัฐได้ตามกฎหมาย หากมีการกระทำใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมมนูญ ประชาชนมีสิทธิยื่นฟ้องศาล ข้อกล่าวข้างต้น บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังจะยกตัวอย่าง

มาตรา ๕ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มาตรา ๔๑ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(๑) ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ
ตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๒) เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
(๓) ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทําหรือการละเว้นการกระทําของข้าราชการ
พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

มาตรา ๔๓ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี
อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
(๒) จัดการ บํารุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดําเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
หรือชุมชน หรืองดเว้นการดําเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๔) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชนสิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดําเนินการดังกล่าวด้วย

มาตรา ๕๐ บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๒) ป้องกันประเทศ พิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
รวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(๓) ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
(๔) เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ
(๕) รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๖) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทําการใดที่อาจก่อให้เกิด
ความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
(๗) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคํานึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ
เป็นสําคัญ
(๘) ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม
(๙) เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๑๐) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ

มาตรา ๕๑ การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชน และชุมชนที่จะติดตาม
และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน
หรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา ๕๘ การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสําคัญอื่นใดของประชาชน หรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณาดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคล และชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดําเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่งในการดําเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดําเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๗๒ รัฐพึงดําเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ทรัพยากรน้ํา และพลังงาน ดังต่อไปนี้
(๑) วางแผนการใช้ที่ดินของประเทศให้เหมาะสมกับสภาพของพื้นที่และศักยภาพของที่ดิน
ตามหลกการพัฒนาอย่างยั่งยืน
(๒) จัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
(๓) จัดให้มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดินเพื่อให้ประชาชนสามารถมีที่ทํากินได้อย่างทั่วถึง
และเป็นธรรม
(๔) จัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมทั้ง
การประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น
(๕) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุน
ให้มีการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ประชาชนชาวเชียงใหม่จึงเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ขอให้ยุติการก่อสร้างโครงการบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ในพื้นที่ดอยสุเทพ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ ๑๒๗๓ แปลงหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ที่ ๓๙๔/๒๕๐๐ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อกลับคืนมาเป็นผืนป่าดังเดิม สมดังพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระราชทานเอาไว้ว่า

“ให้รักษาป่าให้มากที่สุด อย่าทำลายป่า เพราะว่ามนุษย์เรานี้ถ้าไม่มีป่าซึ่งเป็นทรัพยากรของโลก ป่าและสัตว์ป่าแล้วนี่ ชีวิตของคนเรานี่ไม่สมกับเป็นชีวิตคนเลย มันแห้งแล้ง ไม่ได้ยินเสียงนกร้อง ไม่ได้เห็นสิ่งที่สวยงามน่าดูต่างๆ ”
พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 03 เม.ย. 2018 9:51 pm

#ดอยสุเทพสำคัญอย่างไร #เหตุใดคนเชียงใหม่จึงต้องปกป้อง

29594606_1821809351204426_6921885782871403406_n.jpg
29594606_1821809351204426_6921885782871403406_n.jpg (38.85 KiB) เปิดดู 18267 ครั้ง


เมื่อเอ่ยถึงเมืองเชียงใหม่ เอกลักษณ์ที่คนมักจะนึกถึงอันดับต้นๆคือ “ดอยสุเทพ” ภูเขาสูงที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอเมืองเชียงใหม่ บนดอยสุเทพมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายจึงเป็นที่รู้จักของคนไทยและต่างประเทศ แต่ความผูกพันของคนเชียงใหม่ และชาวล้านนาในอดีต ต่อดอยสุเทพไม่ได้มีแค่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ ดอยสุเทพคือจุดเริ่มต้นของหลายตำนาน หลายความเชื่อ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนา

๑.ก่อนจะรวมตัวกันเป็นล้านนา ดินแดนแถบนี้มีเมืองใหญ่อันเข้มแข็งเมืองหนึ่ง คือ เมืองหริภุญชัย ซึ่งผู้สร้างเมืองแห่งนี้คือ พระฤาษีวาสุเทพ หรือสุเทวฤาษี ตามตำนานในพระราชประวัติพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์ ยังระบุว่า ฤๅษีวาสุเทพเป็นผู้พบ "หญิงวี" หรือพระนางจามเทวีในดอกบัว ท่านใช้วีรองรับเด็กคนนั้นขึ้นมาชุบเลี้ยง ‘พระฤาษีวาสุเทพ (สุเทวฤาษี) ซึ่งจำศีลภาวนาอยู่ ณ ดอยสุเทพ ได้ธุดงค์มาพบเข้าก็ทราบว่าทารกคนนี้คงไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ ต้องเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิดเป็นแน่ ท่านจึงใช้พัด (วี) ยื่นไปในสระน้ำนั้นพร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานว่า หากทารกนี้มีบุญจริงก็ให้พัดของเรารับร่างน้อยนั้นเข้าฝั่งมาได้เถิด และสิ้นคำอธิษฐาน ร่างของทารกน้อยก็ลอยขึ้นฝั่งได้พร้อมกับพัดที่ใช้รองรับ ดังนั้นท่านฤาษีวาสุเทพจึงได้นำทารกน้อยนี้ไปเลี้ยงดูโดยตั้งชื่อว่า “หญิงวี” ฤาษีวาสุเทพได้เลี้ยงดูหญิงวีจนกระทั่งอายุได้ ๑๓ ขวบ จึงได้ต่อแพยนต์จัดส่งพระนางไปตามนิมิต โดยให้นั่งไปบนแพยนต์ มีวานรติดตามไปดูแล ๓๕ ตัว แพยนต์ซึ่งพระฤาษีเสกด้วยเวทย์มนต์คาถาก็นำพาหญิงวีไปตามลำน้ำใหญ่ จนกระทั่งถึงวัดเชิงท่าตลาดเมืองละโว้(ลพบุรี) แพยนต์ของหญิงวีก็ลอยเป็นวงกลมอยู่ที่ท่าน้ำนั้น ประชาชนพลเมืองต่างช่วยกันชักลากขึ้นฝั่ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงพากันไปทูลกษัตริย์เมืองละโว้ เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวจึงเสด็จมาทอดพระเนตร พร้อมกับรับหญิงวีเป็นธิดาบุญธรรม ต่อจากนั้นก็ได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองและเจิมพระขวัญแต่งตั้งให้หญิงวีที่มากับสายน้ำนี้เป็นพระราชธิดา และทรงมีรับสั่งให้ปุโรหิตจารึกพระนามลงในแผ่นสุพรรณบัฏว่า

“เจ้าหญิงจามเทวีศรีสุริยวงศ์ บรมราชขัติยนารี รัตนกัญญาละโว้บุรีราไชศวรรย์”

เป็น รัชทายาทแห่งนครละโว้ในดิถีอาทิตยวาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย พ.ศ. ๑๑๙๐ ต่อมาเจ้าหญิงจามเทวีฯ ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายรามแห่งกรุงละโว้ และได้ครองราชย์ร่วมกัน ก่อนจะเสด็จมาเป็นปฐมกษัตริย์แห่งหริภุญชัย’

๒. เมื่อครั้งที่ พญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาได้สร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ทรงเลือกบริเวณเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันเนื่องจากเป็นชัยภูมิที่ดี ประกอบด้วย ชัยมงคล ๗ ประการ คือ
๑. มีกวางเผือกสองตัวแม่ลูกมาอาศัยอยู่ในที่นั้นและมีคนเคารพสักการะบูชา
๒. มีฟาน (เก้ง) เผือกสองตัวแม่ลูกมาอาศัยอยู่และได้ต่อสู้กับฝูงสุนัขไล่เนื้อ
๓. เห็นหนูเผือกพร้อมด้วยบริวารอีก ๔ ตัว วิ่งเข้าไปในรูใต้ต้นไม้มิโครธ
๔. พื้นที่สูงทางทิศตะวันตกเอียงลาดเทไปทางทิศตะวันออก
๕. มีน้ำตกไหลจากดอยสุเทพโอบล้อมตัวเมืองไว้
๖. มีหนองน้ำไหลอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมือง
๗. มีแม่น้ำระมิงค์ (แม่น้ำปิง) ซึ่งต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาผีปันน้ำ

ดังปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ดังนี้

“ ...อันแต่ก่อนเราได้ยินสืบมาว่ากวางเผือกสองตัวแม่ลูกลุกแต่ป่าใหญ่หนเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้ คนทั้งหลายย่อมกระทำบุชาเป็นชัยมงคลปฐมก่อนแลอันหนึ่งว่าฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมิที่นี้รบหมา หมาทั้งหลายพ่ายหนีบ่อาจจัดตั้งได้สักตัว เป็นชัยมงคลถ้วนสอง อันหนึ่งเล่าเราทั้งหลายได้หันหนูเผือกกับบริวาร ๔ ตัว ออกมาแต่ชัยภูมิที่นี้ เป็นชัยภูมิถ้านสาม อันหนึ่งภูมิฐานที่เราจัดตั้งเวียงนี้ สูงวันตกหลิ่งมาออก เป็นชัยภูมิถ้วนสี่ อันหนึ่งอยู่ที่นี้ หันน้ำตกแต่อุชอปัตตาดอยสุเทพ มาเป็นแม่น้ำไหลขึ้นหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออกแล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมือง อันเป็นชัยมงคลถ้วนห้า แม่น้ำนี้ไหลแต่ดอยมาที่ขุนน้ำ ได้ชื่อว่าแม่ข่า ไหลเมื่อวันออกแล้วไหลไปใต้เทียบข้างแม่น้ำปิง ได้ชื่อว่าแม่โถต่อเท่าบัดนี้แล อันหนึ่งหนองใหญ่มีวันออกเฉียงเหนือแห่งชัยภูมิ ได้ชื่อว่าอิสาเนราชบุรี ว่าหนองใหญ่หนอิสานท้าวพระยาต่างประเทศจักมาบูชาสักการะมากนัก เป็นชัยมงคลถ้วนหกแล อันหนึ่งน้ำระมิงคืไหลมาแต่อ่างสรงอันพระพุทธเจ้า เมื่อยังทรมาน ได้มาอาบในดอยอ่างสรง ไหลมาออกเป็นขุนน้ำแม่ระมิงค์ ภายวันออกเวียง เป็นชัยมงคลถ้วนเจ็ดแล...”

๓. พญากือนา กษัตริย์องค์ที่ ๖ แห่งอาณาจักรล้านนา ราชวงศ์มังราย พระองค์ทรงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหญ่ ที่ได้ทรงเก็บไว้สักการบูชาส่วนพระองค์ถึง ๑๓ ปี มาบรรจุไว้ที่นี่ ด้วยการทรงอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคลเพื่อเสี่ยงทายสถานที่ประดิษฐาน พอช้างมงคลเดินมาถึงยอดดอยสุเทพ มันก็ร้องสามครั้ง พร้อมกับทำประทักษิณสามรอบ แล้วล้มลง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึก ๘ ศอก กว้าง ๖ วา ๓ ศอก หาแท่นหินใหญ่ ๖ แท่น มาวางเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุม แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐานไว้ จากนั้นถมด้วยหิน แล้วก่อพระเจดีย์สูง ๕ วา ครอบบนนั้น ด้วยเหตุนี้จึงห้ามพุทธศาสนิกชนที่ไปนมัสการสวมรองเท้าในบริเวณพระธาตุ และมิให้สตรีเข้าไปบริเวณนั้น

๔.ชื่อเดิมของดอยสุเทพ คือ อุฉุปัพฉบรรพต หรือ ดอยอ้อยช้าง เป็นดอยต้นน้ำที่ส่งมายังรางลินของเวียงเจ็ดลิน น้ำนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ในการสรงมุรธาภิเษก เสด็จขึ้นครองเมืองของกษัตริย์ล้านนามาแต่ครั้งอดีต

๕. บริเวณเชิงดอยสุเทพมีรูปปั้นครูบาศรีวิชัย หรือ พระสีวิไชย พระมหาเถระซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างถนนทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับการขนานนามว่า ตนบุญแห่งล้านนา หมายถึงนักบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัยได้รับคำเรียกร้องจากศรัทธาประชาชน ให้ช่วยดำริและจัดการเรื่องนี้ จึงเริ่มลงมือสร้างเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ เชิงดอยสุเทพด้านห้วยแก้ว โดยมี พลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นผู้ขุดจอบเป็นปฐมฤกษ์ การสร้างถนนสายนี้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากวันหนึ่งๆ จะมีผู้คนช่วยทำงานประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ คน ถ้าคิดมูลค่าแรงงานเป็นเงินก็คงมากมายมหาศาลทีเดียว การสร้างทางสายนี้ใช้เวลา ๕ เดือน กับ ๒๒ วัน จึงแล้วเสร็จ และเปิดให้รถขึ้นลงได้ เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘

๖.พระธาตุดอยสุเทพ ถือเป็นเขาพระสุเมรุของล้านนา แฝงความคิดเป็นฮินดูอยู่ในพุทธศาสนา ทั้งยังเป็นหมุดหมายไว้สำหรับนักเดินทางสังเกตได้ว่าถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว

๗.เป็นหนึ่งในเจดีย์ประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะแม การนับถือเจดีย์ประจำปีเกิดเป็นวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาที่เผยแพร่มายังกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างน้อยที่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่คตินี้เริ่มแผ่เข้ามา

๘.นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะมีพิธีรับน้อง "ประเพณีลูกช้างขึ้นดอยนำน้องใหม่ไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ" โดยเจตนารมณ์ของประเพณีนี้ เพื่อระลึกถึงการจาริกแสวงบุญตามรอยครูบาศรีวิชัยที่ได้นำเหล่าพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาแผ้วถางทำทางขี้นพระธาตุดอยสุเทพ ดังนั้นการตามรอยเส้นทางนี้จึงเป็นเส้นทางมหามงคลที่นักศึกษาทุกคณะได้เจริญตามรอยในทุกๆปี

ที่มาของข้อมูล ตำนานเมืองเชียงใหม่ ,ประวัติศาสตร์ล้านนา,วิกิพีเดีย

ชาวล้านนา ถือว่า “ดอยสุเทพ” เป็นดอยอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของทุกคนมาอย่างยาวนาน บรรพบุรุษ ปู่ย่าตาทวดของเราเคยช่วยกันสร้าง ช่วยกันบูรณะ เคยกราบไหว้ เคยเดินขึ้นดอยกันด้วยหัวใจเปี่ยมด้วยความศรัทธา นี่คือความรู้สึกของคนล้านนาต่อดอยสุเทพ จงรักษาสิ่งดีงามนี้เอาไว้เถิด วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิตดั้งเดิมคือสิ่งยึดเหนี่ยวคุณธรรมความดีให้อยู่กับเราตราบนานเท่านาน เราจึงต้องช่วยกันปกป้องรักษา ดังเช่นที่บรรพบุรุษของเราเคยทำกันมา เพื่อให้สิ่งดีงาม และดอยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้คงอยู่ต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 03 เม.ย. 2018 9:51 pm

มีอำนาจ อยู่ในมือ ถือว่าเด็ด
สร้างเบ็ดเสร็จ บ้านพักใหญ่ ในป่าเขา
ถูกกฎหมาย แต่บ่ถ้อง ต้องใจ๋เฮา
เหมือนมีเงา ขึดขำ ดำมลทิน
.....เมืองผีป่า ห่าศพ บาปขบหัว
หลงเมามัว เลยสลำ ขำซอกหิน
คนล้านนา สาปสั่ง ทั้งแผ่นดิน
จงสูญสิ้น ฮ้อนไหม้ ด้วยไฟบรรลัยกัลป์

29594574_1824937967558231_2458478734783702453_n.jpg
29594574_1824937967558231_2458478734783702453_n.jpg (94.11 KiB) เปิดดู 18267 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 14 เม.ย. 2018 6:47 am

เหตุใดจึงขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บริเวณจุดที่ก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการ แล้วจุดอื่นเล่า เหตุใดคนเชียงใหม่จึงไม่มีปัญหา อันที่จริงทุกคำถามข้างต้นมีคำตอบในตัวอยู่แล้ว แต่ในวันนี้คงต้องอธิบายเพื่อความกระจ่าง และให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม

558.jpg
558.jpg (365.23 KiB) เปิดดู 17859 ครั้ง


ในปัจจุบันจะเห็นว่าบนดอยสุเทพมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับบ้านพักศาลตุลาการได้ ด้วยเหตุผลของความเหมาะสม และด้วยกฎหมายรองรับ แม้แต่สถานที่ที่ถูกดึงมาเป็นประเด็น คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้เช่นกัน เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไม่ทำให้เกิดปัญหาดังที่เกิดขึ้นในเวลานี้ กล่าวคือ การขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนั้น สาเหตุที่ต้องรื้อถอนบ้านพักออก เพราะจุดที่ตั้งโครงการเป็นที่ต้นน้ำ หากปล่อยไว้ตาน้ำและลำห้วยจะไหลลงมาไม่สะดวก ที่ไหลลงมาได้ก็จะเปลี่ยนทิศทาง เนื่องจากมีการก่อสร้างกั้นอยู่ อีกประเด็นที่ต้องมองเกี่ยวกับน้ำ คือ น้ำเสียจากการใช้สอย และน้ำจากห้องสุขา จะกลายเป็นน้ำผิวดินไหลลงอ่างนวมินทร์ และรวมกับน้ำจากลำห้วยไหลลงสู่ลำน้ำปิง อีกทั้งมีข้อมูลใหม่กล่าวถึงว่าบริเวณที่ตั้งบ้านพักศาลนั้นถือเป็นเส้นทางโบราณที่ีคนใช้เดินกัน ดังนั้น เป็นไปได้ว่าอาจจะมีแหล่งโบราณคดีที่ควรรักษาไว้

บริเวณที่ตั้งบ้านพักศาลตุลาการเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่บนดอยสุเทพ ไม่ใช่อยู่บนพื้นราบดังเช่นบริเวณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประเด็นนี้มีการพูดถึงอยู่เสมอว่าเหตุใดจึงไม่ลงมาสร้างโซนที่เป็นที่ราบ ป่าบนดอยกับป่าชุมชนนั้นระบบนิเวศต่างกัน ไม่สามารถนำมาเทียบกันได้ พื้นที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ พื้นที่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยนั้น บางส่วนเป็นที่ดินของมหาวิทยาลัยเอง ซึ่งมีการซื้อหรือเวนคืนในช่วงการจัดตั้งมหาวิทยาลัย บางส่วนหน่วยงานราชการอื่น และมีบางส่วนได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา บริเวณรอบๆเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของมนุษย์ ไม่ได้อยู่บนดอยสูงกลางป่า จึงไม่เกิดประเด็นว่าเหมาะสมหรือไม่

นอกประเด็นกันสักหน่อย ไหนๆก็พูดถึงแล้ว มาดูประวัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้ตั้งอยู่เชิงดอยสุเทพ อำเภอเมือง เชียงใหม่ ขนาบข้างด้วยถนนห้วยแก้ว และถนนสุเทพ ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๔ ก.ม. และมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่เศษ เปิดทำการสอน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๗

ปี พ.ศ.๒๔๘๔ รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคขึ้นแต่เกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ การดำเนินงานจึงชะงักลง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ รัฐบาลชุด จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาว่า "จะดำเนินการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ตลอดถึงการศึกษาชั้นสูง" พ.ศ.๒๕๐๒ ได้มีการประชุมโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค ภาคการศึกษา ๘ ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ม.ล.ปิ่น มาลากุล) เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นว่า "น่าจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่" พ.ศ.๒๕๐๓ รัฐบาลชุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ลงมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรียกชื่อมหาวิทยาลัยนี้ว่า "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๗ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๘

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๓ ในด้านการเรียนการสอนของประเทศไทย และเป็นอันดับ ๕ ในด้านการวิจัยของประเทศไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยของประเทศไทยใน "โครงการฐานข้อมูลออนไลน์เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย" เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙

นอกจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดยหน่วยงานในประเทศไทยแล้ว ยังมีหน่วยงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์การจัดอันดับและการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ได้แก่

การจัดอันดับโดย Centrum voor Wetenschap en Technologie Studies
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย Centrum voor Wetenschap en Technologie Studies หรือ CWTS Leiden University ประจำปี ๒๐๑๖ ของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารที่ปรากฏชื่ออยู่ในฐานข้อมูล Web of Science database มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ ๓ ของประเทศไทย และอันดับที่ ๖๙๑ ของโลก

จะเห็นได้ว่าการใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้นเกิดประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมหาศาล และยาวนาน จึงไม่เป็นเป็นข้อกังขา ว่าเหตุใดมหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงเป็นที่ยอมรับของบุคคลจากทั่วโลก
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 14 เม.ย. 2018 6:53 am

#บ้านพักศาลตุลาการ...
#เมื่อข้าพเจ้าถอยออกมามองอยู่ไกลๆ

03-Apr-18-1-52-38-PM.jpg
03-Apr-18-1-52-38-PM.jpg (199.41 KiB) เปิดดู 16778 ครั้ง


เป็นประเด็นมานานหลายปี สำหรับที่ดินราชพัสดุจุดที่กำลังก่อสร้าง ‘บ้านพักศาลตุลาการ’ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ สำนักอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ได้ทำเรื่องขอใช้พื้นที่ราชพัสดุที่ดูแลโดย มทบ. ๓๓ ใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ นสล. เลขที่ ๓๙๔/๒๕๐๐ จำนวน ๒๓,๗๘๗ ไร่ เพื่อให้ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม (ผสมม้า) ) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพและใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งเบื้องต้นกองทัพบกไม่ได้อนุมัติ และมีการทำเรื่องขอใช้อีกครั้งในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กองทัพบก จึงอนุมัติไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ให้ใช้พื้นที่ได้จำนวน ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตร.ว.

สำนักงานศาลยุติธรรมได้รับอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และเข้าไปทำการก่อสร้างบ้านพักและสำนักงาน โดยเริ่มดำเนินการโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ แบ่งเป็น ๔ ระยะที่ ๑ และระยะที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน ปี ๒๕๕๖ วงเงิน ๖๖๕ ล้านบาทเป็นการก่อสร้างบ้านพัก ๔๘ หลังอาคารชุด ๑๓ หลัง ระยะที่ ๓ เดือนมกราคม ๒๕๕๗ เป็นการก่อสร้างสำนักงานที่ทำงาน อาคาร ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ จำนวน ๒๙๐ ล้านและระยะที่ ๔ ปี ๒๕๕๙ วงเงิน ๖๑ ล้าน เป็นอาคารสำนักงานของอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๕ ทั้งหมด

จะเห็นได้ว่ามีการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุครั้งแรก ในเอกสารลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ซึ่งต่อมา ทภ.๓ ขัดข้องให้ที่ดินได้เพียงบางส่วน แต่ก็มีการขอใช้พื้นที่และตรวจสอบกันเรื่อยมาจนในเอกสารลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ป่าไม้เชียงใหม่ได้คัดค้าน แต่ก็มีการดำเนินการเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จในปี ๒๕๔๗ ได้รับอนุมัติพื้นที่อย่างถูกต้อง ระเบียบการขอใช้ราชพัสดุของธนารักษ์นั้น จะมีทำเรื่องขอไปยังธนารักษ์ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จบด้วยผู้ว่าราชการ เท่าที่อ่านระเบียบมา ถ้าผู้ว่าฯไม่อนุมัติ ธนารักษ์ก็จะมีการตั้งกรรมการพิจารณา หากกรรมการเห็นว่าควรให้ เรื่องก็ผ่าน แต่ก็นั่นแหละ พอมีเกิดการดราม่าเข้าจริงๆ กลับเป็นช่องทางโยงไปการเมือง โจมตีกันว่ารัฐบาลไหนอนุมัติ ทั้งๆที่รัฐบาลแค่อนุมัติส่วนของงบ สำหรับพื้นที่นั้นดำเนินงานภายในจังหวัด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาเอง อคติในใจทำให้มักจะโยนความผิดให้รัฐบาลฝ่ายตรงข้ามที่ตนเองไม่ถูกจริตอยู่เสมอ ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ดี การแก้ปัญหาให้ถูกจุด และเกิดความขัดแย้งน้อยที่สุด คือ แก้จุดที่เป็นปม คลี่คลายปมนั้น โดยไม่ไปพาดพิงในส่วนอื่นที่หลักฐานไม่ชัดเจน ที่ทำไปเพียงเพราะอยากเอาชนะคะคานกัน ดังนั้นเป้าหมายของกลุ่มผู้คัดค้านในนาม เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จึงเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ในขั้นแรกขอให้ทุกคนเปิดใจ ไม่ยึดติดกับสีทางการเมือง เพราะจะทำให้การดำเนินการขอคืนพื้นที่ป่าฯลำบากมากขึ้น เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกโจมตีว่าออกมาคัดค้านเพื่อดิสเครดิตทางการเมือง มิใช่เพื่อดอยสุเทพ เพื่อป่า และสิ่งแวดล้อมดังเนื้อแท้เจตนาที่แท้จริง

ศาล หรือตุลาการ คือผู้เป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากได้รับมอบพระราชอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์โดยตรงในการตัดสินคดีต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่สามารถโต้เถียงหรือวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาลได้ ใครบังอาจกระทำก็อาจถูกข้อหาหมิ่นศาล จะถูกศาลจำคุกได้ ตุลาการโดยทั่วไปนั้นมักจะวางตนได้อย่างเหมาะสม น่าเชื่อถือ กล่าวคือ วางตนให้อยู่เหนือความขัดแย้งในสังคม มีความเป็นกลางทางการเมือง เมื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีความก็จำกัดบทบาทของตนเองให้อยู่ในประเด็นของกฎหมายอย่างแท้จริง ตรงไปตรงมา ตัดสินคดีโดยอิงกับตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการใส่ดุลยพินิจจนเกินเลย ไม่เข้าข้างพวกพ้อง และมีใจเป็นกลาง จึงทำให้ประชาชนมีความยอมรับ ศรัทธา มาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จนไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีวันนี้ วันที่ประชาชนชาวเชียงใหม่หาญกล้าต่อกรกับผู้ที่สามารถชี้เป็นชี้ตายในแต่ละคดีความ ทั้งๆที่ในปี ๒๕๕๙ ประชาชนและสื่อเคยถอยร่นจากเรื่องนี้ เหตุเพราะเกรงจะถูกฟ้อง เนื่องจากศาลยืนยันว่า การขอใช้พื้นที่เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ซึ่งศาลยึดประเด็นนี้มาตลอด ชาวบ้านในเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และมีความรู้เรื่องกฎหมายน้อยมาก ทำให้กลัว ไม่กล้าคัดค้านการก่อสร้างในเบื้องต้น ทั้งๆที่ใจจริงแล้วคนเชียงใหม่ทุกคนไม่ต้องการให้เกิดรอยแผลเป็นใดๆบนดอยสุเทพอันศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมแห่งศรัทธา อาจจะเป็นเพราะศาลเห็นว่าตนเองทำตามระเบียบถูกต้อง และความเคยชินที่คนไทยจะยกย่องศาลไว้สูงส่ง ท่านจึงไม่สนใจที่จะเข้าเจรจาเมื่อทหารพยายามเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่ในอีกมุมหนึ่งการยกเลิกกะทันหัน อาจจะมาจากการระมัดระวังตัวของศาล เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามที่อาจจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายตน เพราะดูเหมือนในระยะหลังๆ จะเข้าอีหรอบ “คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด” พูดอะไรก็ไม่เข้าหูประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความอคติที่ทำให้มองในแง่ลบก็เป็นไปได้

ประชาชนชาวเชียงใหม่ ค้านการก่อสร้างหมู่บ้านตุลาการ ตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีการเอารถแบคโฮเข้าไปถากดอย กลางป่า โดย นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานชมรมร่มบินเชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากกลุ่มนักจักรยานเสือภูเขา ที่ขี่จักรยานไปตามเส้นทางจักรยานเสือภูเขาเป็นปกติ แต่ไปพบว่า มีเครื่องจักรกำลังทำลายป่าจำนวนมาก นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ จึงทำหนังสือถึง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย ให้มาตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบก็พบว่า การก่อสร้างอยู่นอกเขตอุทยานฯ และทุกอย่างก็เงียบไป แต่ก็มีการดำเนินการอย่างเงียบๆ จนมีกลุ่มคนเชียงใหม่ทำหนังสือขอคัดค้านไปยังอธิบดีกรมธนารักษ์ในปี ๒๕๕๘ ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะการก่อสร้างยังไม่เห็นเป็นโครงสร้างชัดเจน กลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านจึงยังมีไม่มาก ฝ่ายศาลจึงไม่เห็นความสำคัญ และในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๐ ประเทศไทยอยู่ในช่วงพระราชพิธีพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ ๙ คนไทยต่างเศร้าโศก ทุกคนวางตัวอย่างสงบเพราะเป็นช่วงไว้ทุกข์ ไม่ต้องการให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็มีการติดตามดูการก่อสร้าง และรอข่าวจากการคัดค้านมาโดยตลอด จนกระทั่งมีการแชร์ภาพการก่อสร้างในมุมสูง ทั้งจากคนที่นั่งเครื่องบินผ่าน และจากชมรมร่มบินเชียงใหม่ที่ถ่ายภาพทางอากาศต่อๆ ไปในโลกออนไลน์จึงเริ่มเป็นกระแส เนื่องจากภาพที่เห็นประจักษ์ชัดว่ามันกินพื้นที่ป่าเข้าไปลึก ประกอบกับกลุ่มคนในเชียงใหม่เริ่มรวมตัวกันได้ การดำเนินงานขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง ในวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักศาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้มีการประชุมหาข้อสรุปต่อกรณีปัญหาดังกล่าว ในการนี้ได้ข้อสรุปออกมาว่า “ให้รื้อบ้านพักศาลตุลาการ” ในบางส่วน แล้วชาวเชียงใหม่จะรวมตัวกันทำให้เป็นพื้นที่ป่าดังเดิม มตินี้เป็นเอกฉันท์

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เป็นภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องดอยสุเทพ เป้าหมายของเครือข่ายคือ “ขอคืนพื้นที่ป่า” ดังนั้นจุดยืนจะอยู่ที่การทำพื้นที่บ้านพักศาลให้กลับมาเป็นป่าเท่านั้น ไม่ได้ต้องการทะเลาะกับศาล รัฐบาล หรือทหาร แต่เป็นเพราะป่ามีความสำคัญ เครือข่ายฯจึงพยายามผลักดันให้ป่ากลับคืนมา บ้านพักศาลตุลาการสร้างทับตาน้ำ และเส้นทางลำห้วยแม่หยวก ห้วยชะเยือง การทุบคอนกรีตทิ้งทั้งหมดจะทำให้ต้นน้ำของคลองแม่ข่า และลำน้ำแม่ปิงกลับคืนมา ในส่วนของป่าไม้ หากไม่รื้อถอนบ้านพัก จะไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิมได้ การได้ป่ากลับคืนมามีประโยชน์หลายประการ อาทิ ลดปัญหาน้ำป่าไหลหลาก ฝนแล้ง ลดโลกร้อน ดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม รักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ภูเขา เป็นที่อยู่ของจุลชีพ พืช และสัตว์นานาชนิด ในส่วนของสัตว์ป่านั้น หากไม่ทุบบ้านพัก แต่กลับนำไปใช้ประโยชน์อื่นแทน สัตว์ป่าจะมีปัญหาในด้านแสงไฟ เช่นที่เคยเกิดวิกฤตแสงที่ดอยอินทนนท์ ซึ่งนายศรัณย์ โปษยจินดา ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เคยเปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังรณรงค์เรื่องเขตอนุรักษ์ความมืดสากล ด้วยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ การประหยัดพลังงาน และว่าด้วยเรื่องสุขภาพทั้งมนุษย์ และสัตว์ เช่น เมื่อต้นปีมีข่าวว่า แสงไฟทำให้ค้างคาวบนดอยอินทนนท์สับสน จนไปไหนไม่เป็น สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดร.คริสโตเฟอร์ ไคบา จากศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์ เยอรมัน การนำบ้านพักดังกล่าวไปใช้ทำประโยชน์อื่นจึงมีผลทำให้เสียสมดุลทางความหลากหลายทางชีวภาพ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว อีกทั้งทำให้ปัญหาน้ำผิวดินที่จะเกิดจากการใช้สอยบนบ้านพัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำนวมินทร์ และลำน้ำปิงในระยะยาว เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นต้นน้ำ จึงควรสงวนเอาไว้ให้ดีที่สุด นอกจากนี้หากยังคงสิ่งก่อสร้างเอาไว้ ก็จะต้องใช้งบประมาณดูแลอย่างต่อเนื่อง ต่อไปต้องตัดต้นไม้ทำแนวกันไฟ หากมีไฟป่า ดินถล่ม หรือน้ำป่า ก็ต้องนำงบประมาณแผ่นดิน (ภาษีประชาชน) มาซ่อมแซมดูแลอีก ซึ่งที่บริเวณนี้ย่อมได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ แน่นอน เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดขึ้นอยู่เสมอ และในส่วนของความรู้สึกของคนเชียงใหม่นั้น หากยังคงสิ่งก่อสร้างเอาไว้ ย่อมทำให้มองเห็นเป็นรอยแผลบนป่า ที่จะบาดลึกในใจคนเชียงใหม่ ไม่มีวันหาย คนเชียงใหม่และภาครัฐได้ตกลงกันไว้เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้วว่าจะไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ บนดอยสุเทพ อันเป็นดอยที่เราเคารพศรัทธา ดังนั้นจึงสมควรรื้อถอนสิ่งก่อสร้างทั้งหมดของ "บ้านพักศาลตุลาการ" และพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมเท่านั้นจึงจะเป็นผลดีในระยะยาว

เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” มีกติกาการเรียกร้องที่สำคัญ คือ ๑) ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองทุกระดับ ๒) ไม่สนับสนุนการใช้ความก้าวร้าว รุนแรง พึงใช้ภาษาสุภาพ และอยู่ในกรอบของกฎหมาย ๓) ไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ๔) ไม่สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นที่หมิ่นอำนาจตุลาการ ๕) เน้นการรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ ๖) ไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับบริจาค ยกเว้นการระดมเงินเพื่อจัดทำกิจกรรมเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” ก่อนทุกครั้ง เป้าหมายเดียวของ เครือข่าย “ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ” คือ รื้อทิ้งสิ่งก่อสร้างทั้งหมดที่ล้ำแนวเขตป่าธรรมชาติ เพื่อปรับพื้นที่และฟื้นฟูป่ากลับมาสมบูรณ์ดังเดิม

รัฐบาล รัฐบาลในที่นี้หมายรวมทั้งรัฐบาล คสช. และฝ่ายทหาร นับตั้งแต่เกิดปัญหาการคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการ ทหารมีบทบาทเป็นสื่อกลางมาโดยตลอด มีการขอนัดเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่หลายครั้ง ทำให้ทั้งศาล และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีความเป็นมิตร ให้เกียรติ และวางใจให้ทหารเป็นตัวเชื่อมเสมอมา ทหารทำหน้าที่ของตนเองได้ดี วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ พลโท วิจักข์ฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ ๓ เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออกกรณีโครงการ ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ ณ มณฑลทหารบกที่ ๓๓ ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้านพักศาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ได้มีการประชุมหารือต่อกรณีปัญหาดังกล่าว ในการนี้ได้ข้อสรุปออกมาว่า “ให้รื้อบ้านพักศาลตุลาการ” ในบางส่วน แล้วชาวเชียงใหม่จะรวมตัวกันทำให้เป็นพื้นที่ป่าดังเดิม มตินี้เป็นเอกฉันท์ โดยทางทหารจะนำมตินี้เสนอ คสช.ต่อไป

เวลาต่อมารัฐบาลจึงได้รับข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย คือ หน่วยงานและประชาชนชาวเชียงใหม่ต้องการให้รื้อ เพื่อให้กลับมาเป็นป่า ศาลต้องการสร้างต่อ และของบประมาณเพิ่มในการปลูกต้นไม้ ให้คนอยู่กับป่าได้ งบประมาณดังกล่าวจะใช้ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ คนงาน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ โดยเบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ออกสื่อครั้งแรกว่า “ต้องทำให้กลับมาเป็นป่า” แต่ภายหลังเปลี่ยนแนวทางมาเป็น “ไม่รื้อแต่จะทำบ้านพักศาลไปทำเป็นศูนย์เรียนรู้” อีกทั้งจะให้เจ้าหน้าที่ ออกเดินตามหมู่บ้านทำมวลชนสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านเห็นด้วยเรื่องไม่ทุบบ้านพักศาล

#ความเห็นส่วนตัว
เมื่อแนวทางของรัฐบาลเป็นดังที่กล่าวมาข้างต้น เรื่องนี้ย่อมไม่มีทางจบโดยง่าย เพราะเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีเป้าหมายเดียวคือ “คืนพื้นที่บ้านพักให้เป็นป่า” ประชาชนเองก็ได้รับข้อมูลจากสื่อต่างๆมามากพอที่จะทำความเข้าใจว่า “บ้านพักศาล” จะต้องใช้งบประมาณอีกมากในการปลูกต้นไม้ ดูแลรักษา และซ่อมแซม นอกจากนี้หากจะใช้งานบ้านพักต่อ จะต้องทำแนวกันไฟ ซึ่งต้องมีการตัดไม้โดยรอบออก หรือถ้าไม่ตัด มีการล้อมต้นไม้ไปปลูก ก็จะต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่สูญเสียไปคือ ต้นน้ำ ป่าไม้ และความสมดุลทางธรรมชาติ ข้าพเจ้ามองว่าสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือ รัฐบาลควรศึกษาบริบทของที่ดินบริเวณนั้น การเปิดหน้าดินในพื้นที่มีความลาดชันมากขนาดนั้น เสี่ยงการเกิดดินถล่มสูงมาก บ้านพักปิดทางน้ำห้วยเดิม เสี่ยงต่อการถูกน้ำป่าถล่มมาก บ้านพักที่มีป่าล้อมรอบ ๓ ด้าน โดยมีด้านล่างโล่ง เสี่ยงต่อไฟไหม้มาก แล้วเหตุใดจึงยังคิดจะเอาไปใช้งานด้านอื่น โดยเหตุผลว่า เสียดายงบประมาณที่เสียไป ทั้งๆที่เราก็เห็นกันมาหลายโครงการแล้ว ที่สูญงบประมาณแผ่นดินไปโดยเปล่าประโยชน์ อาทิ โครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่สูญไปหมื่นล้าน โดยไม่ได้อะไรกลับมา ต่างจากกรณีบ้านพักดอยสุเทพนี้ เราจะได้ป่า ได้ต้นน้ำ เราจะไม่มีปัญหาจากน้ำเสียของการใช้บนบ้านพัก ที่จะมีผลต่อลำน้ำปิง และอ่างเก็บน้ำนวมินทร์ เหตุเพราะจุดนั้นเป็นต้นน้ำสำคัญ และนัยยะสำคัญของเรื่องนี้คือ หากปล่อยโครงการนี้ไป ต่อไปจะมีอีกหลายโครงการที่รัฐปลูกสร้างแล้วทำลายป่า โดยมี ดอยสุเทพโมเดล เป็นต้นแบบ มันเป็นรอยแผล มันคือบทเรียน ศาลไม่ฟังประชาชนจึงเกิดปัญหา ทำให้สูญเสียความศรัทธาอย่างมหาศาล รัฐบาลจะยังไม่ฟังประชาชนอีกหรือ

ประชาชนคนไทยเห็นพ้องต้องกันว่า “โครงการก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการ” เป็นโครงการที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังมีบางกลุ่มแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายสีเสื้อ โยนใส่กันว่าเป็นเพราะรัฐบาลฝั่งตรงข้ามเป็นผู้อนุมัติโครงการ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ คนไทยเกิดอคติมาก จากการอ่านคอมเมนต์ต่างๆในยูทูป เพจ และตามเฟซบุ๊กบุคคล ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นคนไทยแม้แต่คนเดียวที่ชื่นชมโครงการนี้ มีแต่คนที่ไม่รู้ข้อมูลมาตำหนิคนเชียงใหม่ว่าคัดค้านช้า ด่ารัฐบาลที่ตนไม่ชอบว่าทำโครงการนี้ขึ้นมา และหาว่าเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งทางความคิดเห็นดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า “โครงการนี้เป็นโครงการที่แย่ถึงขีดสุด” เราคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า รัฐบาลจะมองเห็นปัญหาได้ทะลุปรุโปร่งจริงๆ มองการณ์ไกลไปถึงอนาคตจริงๆ บวกลบข้อดีข้อเสียในการรื้อถอนบ้านพักได้จริงๆ หรือจะมองแค่เปลือกนอกเรื่องงบประมาณ โดยไม่สนใจความคิดเห็นของคนไทย และผลเสียที่จะตามมาอย่างยาวนานในอนาคต นี่เป็นบททดสอบหนึ่งของรัฐบาลที่จะทำให้คนไทยทั้งชาติเห็นว่า ท่านมีศักยภาพทางการคิด มีมิติการคิดที่ลุ่มลึกเพียงใด โดยส่วนตัวมั่นใจว่า “โครงการบ้านพักศาลตุลาการ” จะต้องถูกรื้อถอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถึงแม้วันนี้จะได้คำตอบว่า “รื้อ” หรือ “ยังไม่รื้อ” ก็ไม่สามารถไปใช้ประโยชน์สถานที่แห่งนั้นได้
๑) เสี่ยงต่อภัยพิบัติ
๒) ประชาชนคนเชียงใหม่จะต้องต่อต้านอย่างไม่จบสิ้น
๓) จากข้อ ๒ นั้น อาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่เข้าไปใช้สถานที่แห่งนั้น ไม่ว่าหน่วยงานใด เพราะอย่างที่ทราบคือคนเชียงใหม่ศรัทธาดอยสุเทพ ยิ่งนานวันก็ยิ่งเคียดแค้นใจ ซึ่งจุดนี้ข้าพเจ้าเป็นห่วงมาก เพราะคนเราทุกวันนี้ขาดสติ ยั้งคิด มักทำอะไรตามอารมณ์มากกว่าเหตุผล

ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองของความถูกต้อง และเหมาะสม หากจะหาข้อดีสักข้อในโครงการนี้ก็น่าจะเป็น การที่คนไทยได้ออกมาแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ ดังที่เห็นตามสื่อว่า มีการตัดผมทรงป่าแหว่ง มีการวาดภาพบ้านป่าแหว่ง มีการแต่งและร้องเพลงป่าแหว่ง มีการขับเสภาป่าแหว่ง มีการแต่งกลอน แต่งนิทานเรื่องบ้านป่าแหว่ง ฯลฯ อ่านแล้วเรียกรอยยิ้มเล็กๆทุกครั้งที่ได้ฟัง ได้ดู และได้อ่านสิ่งที่เกิดจากความสร้างสรรค์เหล่านี้ ส่วนจุดจบของบ้านพักศาลตุลาการจะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป และคงยังไม่จบง่ายๆในเร็ววันนี้
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

โพสต์โดย น้ำฟ้า » เสาร์ 14 เม.ย. 2018 6:58 am

30411978_1830339357018092_5081902044470575104_n.jpg
30411978_1830339357018092_5081902044470575104_n.jpg (33.3 KiB) เปิดดู 17858 ครั้ง

#กลอนทำนายดอยสุเทพ
จะเล่าขาน ตำนาน แต่กาลเก่า
ผีกะยักษ์ ผู้เฝ้า ทางทิศเหนือ
แถวดงลาน อยู่ด้าน ทางผาเฮือ
เป็นความเชื่อ บุราณ เมืองล้านนา

เป็นผีป่า ผีไพร ใจเหี้ยมหาญ
ดวงวิญญาณ ผู้ปกปัก และรักษา
ดอยสุเทพ ขุนเขา อันศักดา
ศูนย์รวมแห่ง ศรัทธา ชาวนคร

ล่วงเลยกาล ผ่านเวลา มานานนัก
ผู้สูงศักดิ์ ขุนนางใหญ่ ในสิงขร
ปลูกสร้างเรือน ทับดงผี เหนือกองฟอน
แผ่นดินร้อน ฟ้าสะเทือน เลื่อนลั่นดัง

ผีกุดหัว ขุนนาง เซ่นกลางป่า
เป็นผีห่า วิญญาณ ถูกคุมขัง
อีมนุษย์ ใจต่ำ สูจงฟัง
กูจะฝัง ซากมึง ในกองไฟ

ไฟลุกท่วม ดงลาน นานจึงดับ
เรือนย่อยยับ เหลือเพียงซาก อันมอดไหม้
ร่างขุนนาง เสือกสน จนสิ้นใจ
ชีวิตเจ้า บรรลัย ด้วยอวดดี

เป็นตำนาน เล่าขาน บ้านป่าแหว่ง
ขุนนางผู้ กำแหง อวดศักดิ์ศรี
กับผีกะ ผู้ซื่อสัตย์ แห่งพงพี
มิยอมให้ เกิดราคี บนแผ่นดิน

S__2572301.jpg
S__2572301.jpg (214.76 KiB) เปิดดู 17858 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 15 เม.ย. 2018 5:31 pm

เฮาขอ...สุนทรี เวชานนท์ - ปฏิญญา ตั้งตระกูล



น้ำเป๋นของปล๋า ฟ้าเป๋นของนก ผกผินร่อนบิน หากิ๋นเจ๊าแลง
ไม้ใหญ่ไพรกว้าง กว๋างเก้งจั้งแฝง แมงภู่ผึ้งบิน ถิ่นนี้แดนเฮา

*เป๋นบ้านเฮาตี้เฮาเกิด เจ้นหนเก๊าตี้เฮาอยู่ สูจะเอา ก็แล้วเฮาจะไปอยู่ไหน
บ้านของเฮา เฮาก่อฮัก บ้านของสู สูก่อฮัก แล้วจะใด จะเอาบ้านเฮาไป บ่ถามไผซักกำ

บ้านสูอยู่ไหน สูลุกตางใดมา อยากขอความเมตต๋า ขอป่าไม้ม่อนดอย
(ซ้ำ*)

เฮาเป๋นหนูนกหน้อย ดูมันด้อยก้าสิน แต่ถิ่นป่าบ้านน้อย ดอยม่อนนี้เฮาขอ
(ซ้ำ*)

มันเป๋นบ้านเฮาตี้เฮาเกิด เจ้นหนเก๊าตี้เฮาอยู่ สูจะเอา ก็แล้วเฮาจะไปอยู่ไหน
บ้านของเฮา เฮาก่อฮัก บ้านของสู สูก่อซ้ำฮัก แต่ถิ่นป่าบ้านน้อย ดอยม่อนนี้เฮาขอ
แต่ถิ่นป่าบ้านน้อย ดอยม่อนนี้เฮาขอ ดอยม่อนนี้เฮาขอ


ทำงานใหญ่หัวใจต้องแกร่งพอ #ขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

จากการติดตามเรื่องราวการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพมาในระยะหนึ่ง พบว่าช่วงหลังๆนี้มีการแค็บภาพจากเฟซบุ๊กของผู้ที่ “เห็นด้วยกับการก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการ” มาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่บ่อยๆ บ้างก็ว่าอีกฝ่ายเริ่มใช้กลยุทธ โดยให้ผู้ใหญ่ออกมาตอบโต้แล้ว บ้างก็โกรธเคือง ด่าทอด้วยคำแรงๆและหยาบคาย ทั้งๆที่เราไม่จำเป็นต้องไปหงุดหงิดกับผู้คิดต่าง พูดออกมาสิดี ทำให้รู้ว่าคิดอะไรอยู่

สำหรับข้าพเจ้านั้นได้อ่านข้อความเหล่านั้นอยู่ตลอด แต่ไม่คิดจะไปคอมเมนต์ถกเถียงในพื้นที่ของเขาแต่อย่างใด เพราะมันเป็นการสร้างศัตรูโดยใช่เหตุ เราเห็นด้วยกับการขอคืนพื้นที่ป่าฯแต่ไม่ได้ทำเพราะความเกลียดชังบุคคล หรือหน่วยงานใด เราทำเพราะความรัก ความศรัทธา และต้องการรักษารากเหง้าชาติกำเนิด ส่วนใครจะมองอย่างไรนั้นแล้วแต่อคติส่วนบุคคล ถอยออกมามองแล้วเราจึงเห็นว่า ทุกคนก็มีมุมเล็กๆในหัวใจที่สุ่มเสี่ยงต่อการเอนเอียงเข้าข้างกลุ่มพวกของตน และมีอคติต่อฝ่ายตรงข้ามทั้งนั้นแหละ แต่เราจะทำอย่างไรให้มองโลกอย่างเข้าใจ ว่าเขาต้องคิดแบบนั้นเพราะบริบทสังคมของเขาเป็นแบบนั้น เราก็ต้องคิดแบบนี้เพราะบริบทสังคมเป็นแบบนี้ ฝ่ายหนึ่งบอกว่าตนเองขอใช้พื้นที่อย่างถูกกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ก็มันเห็นคาตาว่าตรงนั้นคือป่าไม้ การก่อสร้างดังกล่าวทำลายต้นน้ำ ป่าไม้ และทำลายศรัทธาของคนล้านนาต่อดอยสุเทพ แต่ที่ถูกต้องคือ การใช้หัวใจมอง มองตามความเป็นจริง ตามหลักธรรมชาติ ผู้ถือกฎหมายก็ย่อมยึดกฎหมายเป็นหลัก เพราะเป็นวิสัยที่เขาถือปฏิบัติมา ส่วนฝ่ายเราก็เรียกร้องหาหลักธรรมาภิบาล คือ การปกครอง การจัดการกิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม เพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์เขียนขึ้น มนุษย์ก็คือมนุษย์ มีรัก โลภ โกรธ หลง พลาดพลั้ง ไม่มีผู้ใด เพียบพร้อมถูกต้องไปทั้งหมด ยิ่งมีอำนาจในมือมานานก็จะยิ่งเกิดประเพณีปฏิบัติที่ถึงแม้จะมีแนวคิดที่ผิด แต่เมื่อได้รับการโอนอ่อนผ่อนตามสืบต่อกันมานาน จึงทำให้อาจมองข้ามหลักธรรมาภิบาลไปโดยไม่เจตนา

การถูกหาว่าเพิ่งมาคัดค้าน ได้ยินมาจนชิน และได้ชี้แจงไปแล้วว่า “คนเชียงใหม่มีการคัดค้านตั้งแต่ช่วงแรกๆ มีกลุ่มคนทำหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานต่างๆ ขอให้ตรวจสอบ ก็ใช้เวลาติดตามนานพอสมควร จนศาลออกมาแถลงในปี ๒๕๕๙ ว่าขอใช้พื้นที่อย่างถูกต้อง และจะฟ้องผู้ที่พาดพิงในทางเสียหาย ตอนนั้นคนเชียงใหม่ทั่วไปยังไม่รู้ เพราะอยู่ด้านล่าง ถ้าไม่ทำสิ่งก่อสร้างจริงๆ จะยังมองไม่เห็น กว่าจะมารู้กันก็ตอนที่เขาสร้างออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่ช่วงนั้นการเมืองยังไม่เข้าที่ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมหลายคนยังทำไม่ได้ ตามด้วยช่วงของความเศร้าโศกของคนไทย การคัดค้านจึงมาเริ่มกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๖๐ หลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้สนใจสามารถเข้ากูเกิ้ลค้นดูข่าวได้เลย แต่ก็มีบางคนที่เชื่อแต่ที่แชร์กันในเฟซบุ๊ก ชีวิตเขาตีกรอบไว้แค่นั้นจึงเชื่อตามโดยไม่เสาะหาข้อมูล ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ ทำได้เพียงอธิบายรายละเอียดไป จะเชื่อหรือไม่ก็สุดแท้แต่ปัญญา จริงๆก็น่าเวทนาอยู่นะ ชีวิตเขาก็คงจะจมอยู่กับข้อมูลข่าวปลอมๆในเฟซบุ๊กไม่จบสิ้น

การถูกกล่าวหาว่าเป็นเสื้อสีทางการเมือง ทำเพื่อดิสเครดิตรัฐบาล บางคนมาคอมเมนต์ถามเลยว่า แล้วทำไมถึงมาทำช่วงเลือกตั้ง จึงเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าใกล้เลือกตั้งแล้วหรือ ไม่ค่อยติดตามข่าวเหล่านี้ ได้ยินมาผ่านๆซึ่งก็ไม่ได้สนใจเท่าไร บางคนก็ดึงเหตุผลสารพัดมาเป็นตัวบ่งชี้ว่า กลุ่มที่คัดค้านการก่อสร้างมาจากสีเสื้อจริงๆ ทำให้ข้าพเจ้าได้ข้อคิด มุมมอง อีกประการหนึ่ง คือ เวลานี้คนไทยบางคนยังลุ่มหลงอยู่กับสีเสื้อ และคิดว่าสิ่งที่ตนเป็นเช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลงมันคืออุดมการณ์ โดยไม่ส่องกระจกดูการกระทำตนเองบ้างเลยว่า กำลังยึดติดบุคคล หรือสีเสื้อ จนลืมคำว่าเหตุผลไปหรือเปล่า เพราะหลายคนมักจะรับฟังข่าวด้านเดียว คือด้านที่เป็นฝั่งของตน ถ้าได้อ่านข่าวฝั่งตรงข้ามจะถึงกับแสลง นั่นแหละทำให้ท่านตกข่าว ยิ่งคนที่เชื่อตามข้อความในเฟซบุ๊กทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานยิ่งหนักมาก เพราะฉันอยากเชื่อ ฉันยินดีเชื่อแบบนี้ จึงทำให้มุมมองคับแคบอยู่ในกรอบของกลุ่มพวกของตนเท่านั้น แต่คนแบบนี้ยังไม่แย่เท่าคนที่ พอตนเองคลั่งสีแล้วคิดว่าคนอื่นจะต้องคลั่งตาม ซึ่งเมื่อนึกถึงแล้วข้าพเจ้าก็ถึงกับปลง สำหรับข้าพเจ้านั้น ความสุขคือการสอนหนังสือ เขียนนิยาย วาดภาพ และทำสวนเกษตรผสมผสาน ไม่เคยไล่ตามนักการเมือง หรือหลงกลเกมของใคร เพราะความใส่ใจในสิ่งเหล่านั้นมันไม่มี คงไม่ยอมเสียเวลา อุทิศตนเพื่อคำว่า “สีเสื้อ” ถึงขนาดนั้น ในเมื่อโลกนี้มีอะไรให้ใส่ใจอีกตั้งเยอะ

การดิสเครดิตศาลยิ่งแล้วใหญ่ ไม่เคยเป็นคดีความอะไรให้ต้องมาเคียดแค้นหน่วยงานนี้ ที่สำคัญมักจะพูดอยู่เสมอว่า ที่พึ่งสุดท้ายของทุกคน คือ ศาล ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาสืบไปภายภาคหน้าไม่ทำหรอก เอาเวลาไปทำงานดีกว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนในเฟซบุ๊กก็คงรู้ว่างานของข้าพเจ้ารัดตัวมาก ทุกอย่างคงจบลงที่ “ทุกคนก็รู้ก็เห็น ว่าแนวคิด แนวปฏิบัติต่อเรื่องการเมือง และทัศนคติต่อศาลของข้าพเจ้าเป็นอย่างไร” ก็คงไม่จำเป็นจะต้องตามไปอธิบายใครให้มันเสียเวลา ถ้าเรื่องนี้จบลงวันไหน ข้าพเจ้าจะไลฟ์สดเล่าให้ฟังทุกอย่าง โดยไม่ปิดบัง แต่ในขณะนี้..ไม่ว่าจะทำอะไรเราต้องระมัดระวังที่สุด เพื่อให้เดินไปถึงจุดหมาย

หลายวันที่ผ่านมา ข้อความที่บั่นทอน มุมมองผิดๆมีเข้ามาตลอด บ้างก็มาคอมเมนต์เฟซบุ๊กของข้าพเจ้าเอง บ้างก็มีคนแค็บมาให้อ่าน ซึ่งข้าพเจ้าก็อ่านไปเพื่อให้รู้เขารู้เรา เท่าทันความคิดคนอื่นเท่านั้น ไม่เคยมีมุมที่จะทำให้ท้อ พอปัญหาเข้ามาก็คิดหาทางแก้กันเท่านั้นเอง แต่แนวคิดที่เป็นบวกต่อฝั่งเรามีมากกว่า เชื่อเถอะว่าคนตรรกะเพี้ยน มองโลกเป็นลบ มีไม่มากหรอก แต่เพราะก่อความรำคาญ เขาจึงเป็นจุดสนใจ ถ้าจะวิเคราะห์กันจริงๆ ฝั่งเห็นด้วยกับการก่อสร้างมันก็ต้องมีสิ จะไม่มีได้ยังไง ในเมื่อเรามีคู่กรณี และฝั่งโน้นเขาก็มีคนทำงานในหน่วยงาน มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ที่ปกป้องกัน น้อยคนที่จะเข้าใจ และยอมรับจิตสำนึกดีๆของฝ่ายตรงข้ามได้ เพราะจะทำให้ฝ่ายของตนกลายเป็นฝ่ายผิด ดังนั้นไม่สมควรจะไปตื่นเต้นเมื่อมีคนแสดงความเห็นเชิงป้ายสี หรือมองกลุ่มคัดค้านว่ามีเจตนาแฝง มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาจะต้องพยายามสร้างมุมไม่ดี มุมที่จะถูกโจมตีของฝ่ายตรงข้าม เพื่อจะได้เห็นความชอบธรรมทางฝ่ายตนให้ชัดเจนขึ้น เท่านั้นเอง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » ศุกร์ 20 เม.ย. 2018 9:41 pm

ป่าแหว่ง “เสียงเตือน”จากความทรงจำ #เรื่องสั้นขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ

13899999_resize.jpg
13899999_resize.jpg (48.62 KiB) เปิดดู 16611 ครั้ง


อากาศรอบกายร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ วีนาชาไปทั้งฝ่าเท้า ความรู้สึกเหมือนยืนอยู่บนพื้นที่ซึ่งถูกเปลวเพลิงแผดเผาไปได้ไม่นาน ลมหายใจเริ่มติดขัด หูอื้อ ดวงตาพร่ามัว เธอพยายามมองฝ่าหมอกควันออกไป แล้วกลับต้องยกมือขึ้นทาบอก ถอยหลังกรูดอย่างทันที
แต่เพราะความร้อนอีกนั่นแหละที่ทำให้เธอหันหลังกลับไปมอง
“กรี๊ดดดด!” หญิงสาวกรีดร้องออกไปสุดเสียง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ นี่มันอะไรกัน เธออยู่ที่ไหน แล้วคนอื่นๆไปไหนกันหมด เหตุใดเธอจึงมาอยู่ที่นี่เพียงลำพัง
สถานที่อันเต็มไปด้วยความอับชื้นเนื่องจากมีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น ทว่ารอบกายของเธอนี่สิ มองเห็นซากศพซึ่งนอนอยู่บนกองฟอนและกำลังถูกไฟเผาอยู่เต็มไปหมด
ขณะที่วีนากำลังหันรีหันขวาง ซากศพซึ่งอยู่ใกล้ตัวเธอก็เริ่มขยับลุกขึ้น
“อย่านะ อย่าทำอะไรฉัน” เสียงแผ่วเบาอันสั่นเครือเอ่ยออกไป พร้อมกับถอยกรูด
ดวงตาปูดโปนจ้องมองมาอย่างเกลียดชัง แล้วซากศพจึงประกาศก้อง “มึง มาทับที่กู มึงต้องต๋าย!”
“ทะ ทับ อะไร ฉันไม่รู้เรื่อง” หญิงสาวใจดีสู้เสือถามออกไป คล้ายจะประวิงเวลา
ทว่าซากศพกลิ่นเหม็นคลุ้งมิได้สนใจ มันย่างสามขุมเข้ามาหาเธอในระยะประชิด วีนาหลับตาปี๋ ด้วยไม่สามารถข่มใจมองร่างอันฟอนเฟะที่มีกลิ่นเหม็นเน่ารุนแรงเบื้องหน้าได้ เธอถอยอีกไม่ได้แล้ว เพราะอีกเพียงคืบร่างก็จะปะทะกับกองฟอนอีกกอง
“หยุด!” น้ำเสียงบุรุษหนึ่งดังก้องหู
เพียงชั่วครู่ กลิ่นเหม็นเน่าก็เริ่มจางหายไป วีนาลืมตาขึ้นมองหาเจ้าของเสียง แต่ก็ไม่พบใครแม้แต่คนเดียว

“วีวี่ ตื่นได้แล้ว ต้องไปมหา’ลัยนะลูก” เสียงเคาะประตูดังลั่น ปลุกหญิงสาวให้ตื่นขึ้นมาด้วยหัวใจที่ยังเต้นโครมคราม เธอเพียงแค่ฝันไปเท่านั้น
“ค่ะ คุณแม่ ตื่นแล้วค่ะ กำลังจะอาบน้ำ” เธอรีบตอบมารดา ก่อนที่จะผุดลุกขึ้นจากที่นอน คว้าผ้าขนหนู แล้วก้าวเร็วๆเข้าไปในห้องน้ำซึ่งอยู่ด้านหลัง


“ทำไมวันนี้ทำหน้าเครียดล่ะลูก” ท่านปรีชาเอ่ยถามด้วยน้ำเสียงจริงจัง หลังวางช้อนและส้อมลงบนจาน แล้วเอนหลังพิงพนักเก้าอี้
วีนายกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ใช้ผ้าซับปากเบาๆ ก่อนเงยหน้าขึ้นตอบบิดา “หนูไม่อยากไปเรียนเลยค่ะคุณพ่อ”
“อ้าว! ทำไมล่ะลูก วีวี่เคยบอกแม่ว่าชอบบรรยากาศเชียงใหม่ และอยากมาเรียนมหา’ลัยที่นี่ไม่ใช่หรือลูก โชคดีแค่ไหนที่คุณพ่อได้ย้ายมาประจำที่นี่ พร้อมๆกับที่หนูเข้าปี ๑ พอดี” มารดาท้วง
หญิงสาวถอนใจก่อนตอบ “ค่ะ วีวี่เคยอยากมาเรียนที่เชียงใหม่ แต่พอเอาเข้าจริง วีวี่ไม่มีความสุขเลย เพื่อนๆมหา’ลัยมองวีวี่เหมือนเป็นศัตรู มีน้อยคนที่จะยอมคุยด้วย”
ผู้เป็นบิดาขยับขึ้นนั่งตัวตรง “ชักไปกันใหญ่แล้วคนพวกนี้ มันจะอะไรนักหนากับการที่พวกเรามาพักอยู่ที่นี่ เรามาทำงาน รัฐเขามีบ้านพักให้เราก็ต้องอยู่ ไม่งั้นก็ต้องลำบากหาซื้อบ้านอีก แล้วสถานะอย่างพ่อเนี่ย จะไปอยู่รวมกับคนทั่วไปก็ไม่ได้ มันไม่เหมาะสม”
“ใจเย็นๆค่ะคุณ สักพักลูกอาจจะปรับตัวได้ เด็กๆก็ไม่ค่อยมีเหตุผลแบบนี้แหละค่ะ” คุณวดีพยายามเกลี้ยกล่อม
ท่านปรีชาสั่นหน้า “ผมจะปล่อยให้ลูกเรียนอย่างไม่มีความสุขไม่ได้หรอก เห็นทีจะต้องโทร.ไปคุยกับคณบดี ว่าจะแก้ไขสถานการณ์ให้ลูกยังไง คนเมืองนี้เป็นบ้าไปหมด ไปที่ไหนก็มองพวกเราเหมือนเป็นตัวประหลาด”
คุณวดีเอื้อมมือไปวางบนหลังมือใหญ่ของสามีเบาๆ “อย่าคิดมากค่ะคุณ ฉันเชื่อว่าสักระยะคนจะเข้าใจทุกอย่างเอง เราเป็นคนดี คงไม่มีอะไรเลวร้ายหรอกค่ะ”
“งั้นวีวี่ไปเรียนก่อนนะคะ” วีนาลุกขึ้น แล้วหันไปพยักหน้าให้สาวใช้ที่ยืนรอ เพื่อช่วยถืออุปกรณ์การเรียนไปส่งที่รถ
ความเครียดเธอตอนนี้มาจากสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนนั้นมาจากความฝันที่คล้ายกับความจริงเสียเหลือเกิน



เวลาหนึ่งวันสำหรับวีนาผ่านไปอย่างเชื่องช้า เธอพยายามตั้งสมาธิฟังอาจารย์ผู้สอน ทั้งๆที่รู้สึกว่ามีสายตาหลายคู่มองมาอย่างเกลียดชัง จวบจนอาจารย์เดินออกจากห้องไป วีนาจึงเก็บของเตรียมลุกขึ้น
“ไปกินข้าวด้วยกันนะวีวี่” ชายหนุ่มผู้มีใบหน้าคมเข้มเอ่ยชวน พลางเอื้อมมือมาช่วยถือของให้
ธนัยเป็นเพื่อนเพียงคนเดียวที่ยอมรับเธอได้ ส่วนคนอื่นน่ะหรือ ต่างก็มองว่าเธอเห็นแก่ตัว เหตุผลเพียงเพราะเธอตามบิดาไปพักอยู่ในบ้านพักข้าราชการที่ตั้งอยู่บนภูเขา
“ธนัยนี่ดีจังนะ ทำใจคบกับคุณหนูวีวี่ได้โดยไม่รู้สึกอะไร” สาวสวยปากกล้าคนหนึ่งเอ่ยขึ้น ก่อนจะยิ้มมุมปาก และจ้องมองคนทั้งคู่เขม็ง
ชายหนุ่มส่ายศีรษะแล้วยิ้มจางๆ “เรื่องของผู้ใหญ่ ไม่เกี่ยวกับวีวี่หรอกน่าฝ้าย มีเหตุผลหน่อยสิ ยังไงวีวี่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับเรานะ”
“ฝ้ายไม่สนใจหรอก ฝ้ายมองส่วนรวมเป็นหลัก ถ้าคนพวกนี้มองเห็นหัวคนอื่นบ้าง ก็คงไม่คิดทำอะไรที่มันทำร้ายจิตใจพวกเราขนาดนี้หรอก พวกเรานับถือดอยนี้มาเป็นพันๆปี อยู่ดีๆมีใครก็ไม่รู้ขึ้นไปอยู่บนนั้น สูงกว่าพระกว่าเจ้า วัดวาอารามก็อยู่ข้างล่าง นี่ยังไม่รวมกับที่เราต้องเสียป่า เสียตาน้ำ ลำห้วยไปอีกนะ ” ฝ้ายจีบปากจีบคอตอบด้วยน้ำเสียงที่แสดงอารมณ์เต็มที่ ก่อนจะหันมองสาวสวยร่างระหงผู้เป็นหัวข้อสนทนา “หรือเธอว่าไม่จริง ยายคุณหนูวีวี่”
“เราหิวแล้วธนัย ถ้าจะไปก็ตามมา” วีนาตัดบทก่อนจะเดินลิ่วๆออกมา โดยมีธนัยก้าวตามมาติดๆ แต่ก็ยังได้ยินเสียงของฝ้ายที่ตะโกนตามมา
“ระวังเถอะ ธรรมชาติจะเอาคืน”
เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ผละมาจากฝ้าย วีนากลับพบว่ามีรุ่นพี่จากชมรมสิ่งแวดล้อมอีกสองคนยืนขวางทางอยู่ “เจอพอดีเลย เธอไปเอาใบสมัครชมรมคืนไปด้วยนะ พวกมือถือสากปากถือศีลพวกเราไม่ต้อนรับ”
“ทำไมละคะพี่ หนูตั้งใจเลือกชมรมนี้จริงๆนะคะ” วีนาครวญ นี่คงเป็นอีกบทลงโทษหนึ่งที่คนที่นี่ลงทัณฑ์ในสิ่งที่เธอไม่ได้ก่อ
ทว่าอีกฝ่ายกลับด้วยสายตาหมิ่นแคลน “อยากอยู่ชมรมสิ่งแวดล้อม แต่เป็นพวกทำลายป่าเนี่ยนะ”
อารมณ์โกรธแล่นเข้ามาในอก วีนาพยายามข่มมันไว้ แล้วตอบไปด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง “หนูก็แค่นักศึกษาเหมือนพี่ๆนี่แหละ เรื่องของผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องของเขาสิคะ หนูเกี่ยวอะไร ทำไมคนที่นี่ถึงไม่แยกแยะกันบ้าง พวกเราก็พยายามปลูกต้นไม้รอบๆบ้าน..”
เสียงหัวเราะอย่างขบขันดังแทรกขึ้นมาทันใด “ดอกลั่นทมนั่นน่ะเหรอ เขาเอาไว้ปลูกกันในป่าช้า อ๋อ ! หรือว่าจะปลูกเตรียมเผื่อหน้าดินสไลด์ น้ำป่าถล่ม ตรงนั้นจะได้เป็นป่าช้าจริงๆ”
วีนาฉุนกึก “มันจะเกินไปแล้วนะ”
ธนัยดึงมือบอบบางอันเย็นเฉียบเบาๆ “ไปกันเถอะ อย่าไปสนใจเลย เราห้ามความคิดคนไม่ได้หรอก คนที่นี่เขาไม่เหมือนที่กรุงเทพฯนะวีวี่”
วีนาไม่ตอบประการใด แต่ก็ยอมก้าวเดินตามธนัยออกไปด้วยแววตาที่ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา


โน้ตบุ๊กถูกปิดลงเมื่องานชิ้นสุดท้ายถูกปริ๊นต์ออกมาแล้ว ร่างสูงระหงลุกขึ้นจากเก้าอี้ ยืนพิงขอบหน้าต่างมองออกไปยังเบื้องล่าง บ้านพักของเธออยู่บนดอยสูง สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์เชียงใหม่ได้ทั้งเมือง เธอเคยตื่นเต้นมากเมื่อได้เห็นที่นี่ครั้งแรก แล้วทุกอย่างก็พังทลายเมื่อภายหลังทราบว่าคนที่นี่ไม่ต้อนรับทุกคนที่มาอยู่บ้านพักนี้ เพราะเขาหวงดอย ดอยที่มีคุณค่าต่อจิตใจของพวกเขามาอย่างยาวนาน แล้วเธอจะทำอย่างไรได้เล่า ในเมื่อครอบครัวจำเป็นต้องมาทำงานที่นี่ และบ้านหลังนี้คือบ้านพักของท่านปรีชา บิดาของเธอ
“ไปเหีย” เสียงใครบางคนดังมาจากที่ไกลๆ
วีนาชะโงกหน้าออกไปนอกหน้าต่าง ก็พบเพียงความมืดและแสงไฟที่ส่องลอดมาจากบ้านพักหลังอื่น บ้านพักของเธออยู่สูงที่สุด ติดพื้นที่ป่าสงวน จึงทำให้มีโอกาสใกล้ชิดธรรมชาติ และเห็นทิวทัศน์ที่สวยกว่าใครๆ เธอเคยภูมิใจในสิ่งที่ตนเองได้รับ ต่างจากเวลานี้ ถ้าเลือกได้เธอก็ไม่ต้องการเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมเหมือนที่เป็นอยู่
ลมเย็นโชยมาปะทะเรือนร่างของหญิงสาววูบใหญ่ ความหนาวยะเยือกเกิดขึ้นชั่วครู่ น่าแปลกทั้งๆที่ช่วงนี้เป็นฤดูร้อนที่แสนอบอ้าว แต่เธอกลับรู้สึกหนาวอย่างประหลาด อาจจะเป็นเพราะดึกมากแล้ว และช่วงนี้อากาศแปรปรวน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวก็พายุเข้า เดี๋ยวลูกเห็บตก เพียงไม่นานเธอจึงตัดสินใจเดินกลับขึ้นเตียงเข้าสู่นิทราอันแสนสุข


“ฝ้ายคำ ฝ้ายคำ” เสียงดังอยู่ข้างหู ทำให้หญิงสาวสะดุ้งสุดตัว จึงหันไปมองผู้เรียก
ชายหนุ่มร่างสูง ผิวสองสี ใบหน้าคมสัน ในชุดทหารโบราณกำลังเดินแกมวิ่งเข้ามาหา “พ่อพญาสิ้นแล้วเน้อ”
ใบตองที่กำลังจีบม้วนในมือของหญิงสาวร่วงลงโดยที่เธอไม่รู้ตัว น้ำตาเอ่อคลอตางาม “จะใดกั๋นพ่อพญาสิ้นได้จะใดอ้ายแสนคำ”
ชายหนุ่มนั่งลงข้างสาวคนรักแล้วจึงขยายความ “ตั้งแต่พ่อพญาเสียรู้องค์เทวีจ๋นอาคมเสื่อม พลาดพลั้งหมดเสี้ยงทุกอย่าง ก็เลยเสียอกเสียใจ๋จ๋นเจ็บไข้ขึ้นมา อาก๋ารก็ทรุดลงเรื่อยๆจ๋นวันนี้...”
หญิงสาวยกมือขึ้นจรดหัว “ไหว้สา”
ฝ้ายคำเกิดในตระกูลนักรบ เธอถูกปลูกฝังให้รักชาติบ้านเมือง และมีความจงรักภักดีเท่าชีวิต เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจึงทำให้เธอเศร้าใจนัก “เจ้าอุปราชคงจะขึ้นแว่นแก้วเสวยเมืองแตน”
“พ่อพญาสั่งเสียว่าหื้อเอาร่างของเพิ่นไปฝังไว้ตี้ดงลาน เพิ่นจะได้อยู่ปกปักรักษาเมือง” แสนคำกล่าวต่อ
ฝ้ายคำปาดน้ำตา “เพิ่นยังห่วงหมู่เฮา”
แสนคำพยักหน้าเบาๆ “แม่นละ เพิ่นยังทำหน้าที่จ๋นนาทีสุดท้าย”
“เฮาก็เหมือนกั๋นเจ้า ตระกูลเฮาทั้งสองรับใช้แผ่นดินมาเมินหลายยุคหลายสมัย พ่อแม่สั่งสอนหื้อรักแผ่นดิน น้องบ่มีวันลืม น้องจะบ่มีวันทรยศต่อเมืองเจียงบัวของเฮา” ฝ้ายคำกล่าวพลางปล่อยให้น้ำตาไหลริน ความรู้สึกหลายๆอย่างประดังเข้ามาในหัวใจ ชายคนรักจึงกอดประคองร่างนางไว้หลวมๆเพื่อปลอบขวัญ


เมื่อถึงวันอันโศกเศร้า ฝ้ายคำได้ตามไปส่งดวงพระวิญญาณของพ่อพญาถึงดงลาน หญิงสาวยืนมองเปลวเพลิงที่แผดเผาปราสาทบรรจุพระศพด้วยความสะเทือนใจ น้ำตาของหญิงสาวไหลริน แต่กลับทำให้เธอรู้สึกถึงความร้อนที่มากขึ้น...มากขึ้น พร้อมกับเสียงหนึ่งดังก้องโสต “ดงลานบ่ใช่ที่อยู่ของมนุษย์เมืองคน สูลบหลู่อารักษ์ป่าดอย หมู่สูจะต้องต๋าย”
“ฝ้ายคำ ตื่นได้แล้ว” น้ำเสียงของแสนคำดังแทรกเข้ามา พร้อมกับที่ร่างระหงถูกกระชากโดยแรง
พลันนั้นหญิงสาวผุดลุกขึ้นจากที่นอนด้วยความตกใจ แล้วเธอก็ต้องเบิกตาโพลง เมื่อเห็นเปลวไฟลุกโชนอยู่รอบด้าน
“คุณพ่อคะ คุณแม่” วีนาตะโกนเสียงดังลั่น แต่กลับไม่มีเสียงใดตอบกลับมา มีเพียงเปลวเพลิง และเสียงแตกหักพังของสิ่งของในบ้าน เธอพยายามวิ่งไปที่หน้าต่าง แล้วตะโกนอีกครั้ง “ช่วยด้วย!”
ภาพที่เห็นภายนอกตัวบ้านคือ หลายจุดในหมู่บ้านก็มีเปลวเพลิงแดงฉานลุกท่วม
“ไฟป่า” เธอกล่าวได้เพียงเท่านั้นก็ต้องยกมือขึ้นปิดจมูก เมื่อควันกลุ่มใหญ่โชยเข้ามา พร้อมกับเปลวไฟที่ค่อยๆลามเข้ามาในห้อง
เธอรู้สึกเหมือนในความฝันคืนนั้น ความอึดอัด แผดร้อน รัดรึงทั่งสรรพางค์ วีนาอ่อนแรงลงแต่ก็พยายามพยุงตัวเข้าไปหลบในห้องน้ำ เธอเปิดน้ำชโลมร่างให้เปียก แต่ก็ไม่สามารถออกไปด้านนอกได้ เนื่องจากความร้อนมากเกินจะต้านทาน
ราวสิบนาทีหญิงเริ่มหายใจไม่ออก หูอื้อ และดวงตาพร่ามัวลงเรื่อยๆ ทว่าภาพที่ปรากฏแก่สายตา คือ ภาพผู้คนที่กำลังถูกเผาบนกองฟอนตั้งอยู่รอบตัวเหมือนในฝันคืนนั้น
“ที่นี่เคยเป็นป่าช้า มิน่าเล่าเขาถึงไล่ให้พวกเราไปอยู่ที่อื่น”เธอรำพึงกับตนเองเบาๆ แต่ก่อนที่สติสัมปชัญญะจะดับวูบไปก็ได้ยินเสียงผู้คนมากมายดังก้องอยู่ในหัว
“ฝ้ายคำ!”
“พ่อแม่สั่งสอนหื้อรักแผ่นดิน น้องบ่มีวันลืม”
“อยู่ดีๆมีใครก็ไม่รู้ขึ้นไปอยู่บนนั้น สูงกว่าพระกว่าเจ้า วัดวาอารามก็อยู่ข้างล่าง”
“เราต้องเสียป่า ตาน้ำ ลำห้วยไปเพราะคนพวกนั้น”
“ขอให้มันตาย”
“ใครไปอยู่ที่นั่นขอให้มันตายโหง!”
เสียงเหล่านั้นค่อยๆจางหาย พร้อมๆกับร่างของวีนาแน่นิ่งไป ท่ามกลางเปลวไฟอันลุกโชนรอบบริเวณบ้าน
เปลวเพลิงได้คืนความสมดุลให้แก่ธรรมชาติแล้ว.....

น้ำฟ้า เขียน...
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 03 พ.ค. 2018 7:39 am

การคัดค้านการก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการดำเนินการครั้งแรกตั้งแต่มีการอนุมัติพื้นที่ใหม่ๆ ในปี ๒๕๔๗ ทุกอย่างเงียบไป จนมีการอนุมัติงบประมาณ และเริ่มเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างในปี ๒๕๕๗ ข้อมูลจากอดีตผู้พิพากษาเชียงใหม่กล่าวว่า มีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานทำหนังสือคัดค้านในปี ๒๕๕๗ ในปี ๒๕๕๘ กลุ่มร่มบินได้เห็นการตัดไม้ และก่อสร้างในบริเวณดังกล่าวจึงมีการร้องเรียน ติดตาม และสืบข้อมูล แต่สำหรับประชาชนทั่วไปนั้น ในการก่อสร้างช่วงแรกๆยังมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรกับพื้นที่บริเวณนั้น เนื่องจากบริเวณก่อสร้างอยู่ด้านหลังบ้านพักทหาร ไม่สามารถเข้าไปได้ ผู้ที่เห็นการก่อสร้างในช่วงนั้นจึงเป็นกลุ่มร่มบิน กลุ่มจักรยาน และเมื่อเครื่องบินเปลี่ยนทิศทางการบินผู้ที่นั่งอยู่บนเครื่องบินจึงมองเห็น และถ่ายภาพมาโพสต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ต่อมาในปี ๒๕๕๙ ศาลได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขอใช้พื้นที่จากธนารักษ์อย่างถูกต้อง หากมีการพาดพิงใดๆให้เสียหายจะเอาผิดผู้พาดพิง ทำให้นักข่าวไม่กล้าติดตามข่าวนี้ รวมถึงประชาชนก็ไม่กล้าแสดงออก ด้วยเกรงกลัวกฎหมาย ประกอบกับขณะนั้นการเมืองยังไม่เข้าที่ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมเป็นไปได้ยาก ต่อมาในหลวง ร.๙ สวรรคต การคัดค้านบ้านพักแห่งนี้จึงต้องชะงัก เพราะทุกคนต่างก็โศกเศร้า และกลุ่มคัดค้านไม่ต้องการให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ก็ยังมีการติดตามการก่อสร้างอยู่เรื่อยๆ เมื่อเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีเผาพระบรมศพ ปี ๒๕๖๐ การคัดค้านจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้มีการรวมกลุ่มของหน่วยงาน องค์กรต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ ๑๖ องค์กร เพิ่มเป็น ๔๔ องค์กรในเดือนเมษายน และเพิ่มเป็น ๕๒ องค์กรในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๑

u19d1c2bb6acedae47721095034c38880-7_1524969744293_resize.jpg
u19d1c2bb6acedae47721095034c38880-7_1524969744293_resize.jpg (181.69 KiB) เปิดดู 14264 ครั้ง


การคัดค้านของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากศาลเป็นหน่วยงานสังคมให้ความนับถือ ศรัทธา ยังมีกลุ่มที่ขัดแย้งทางการเมือง พยายามฉกฉวยโอกาสนี้แอบอ้างโจมตีทางการเมือง จึงยอมให้ทหารเป็นตัวกลางในการเจรจากับศาลหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากศาลไม่เคยเข้าร่วมการเจรจา (มีการโทรศัพท์มายกเลิกกะทันหันตลอด แต่ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ได้รับหนังสือบ้าง ไม่ได้รับเชิญบ้าง) ทางเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจึงแสดงออกโดยการแสดงจุดยืนการขอคืนพื้นที่ "รื้อถอน" สิ่งก่อสร้าง เพื่อฟื้นฟูป่า และคืนพื้นที่ให้ป่าสงวน เท่านั้น กิจกรรมต่างๆได้แก่ การบวชป่า ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๑ สงกรานต์สีเขียว ดำหัวครูอาจารย์ คนเฒ่าคนแก่ล้านนา และไหว้สาครูบาศรีวิชัย การชุมนุมแสดงจุดยืน ๒๙ เมษายน ฯลฯ
ไฟล์แนป
479186_resize.jpg
479186_resize.jpg (73.69 KiB) เปิดดู 14264 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 03 พ.ค. 2018 7:45 am

ร่วมแสดงจุดยืนครั้งยิ่งใหญ่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๑ คัดค้านการก่อสร้างบ้านพักศาลตุลาการ "บ้านป่าแหว่ง"

479183_resize.jpg
479183_resize.jpg (96.49 KiB) เปิดดู 14264 ครั้ง


ประชาชนกว่าห้าพันคนรวมตัวกันบริเวณข่วงประตูท่าแพ แล้วจึงเดินทางไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ โดยมีเอกลักษณ์ของสีเขียว และความเป็นล้านนา มีการตีกลองสะบัดชัย ตามด้วยพระสงฆ์ ช่างฟ้อน เครื่องสักการะ และประชาชนทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน เสียง รื้อ เต ตุ๊บ ดังก้องเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางแดดร้อนระอุ ก็ไม่มีผู้ใดท้อถอย ยังคงเปล่งเสียงแสดงเจตนารมณ์ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ งานวันนั้นเสร็จสิ้นลงด้วยดีตามเป้าประสงค์ของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ คือการแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน สุภาพ และปราศจากขยะ บรรยากาศอบอวลไปด้วยความรัก และมิตรภาพ
ไฟล์แนป
S__66412550_resize.jpg
S__66412550_resize.jpg (152.89 KiB) เปิดดู 14264 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน

cron