เล่าเรื่อง "คน" เมืองเชียงใหม

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

เล่าเรื่อง "คน" เมืองเชียงใหม

โพสต์โดย น้ำฝน ทะกลกิจ » พฤหัสฯ. 25 ต.ค. 2018 9:07 am

มาทำความรู้จักช่างซอพื้นเมือง ไอ่เก๋า – อี่ต่วม (พ่อครูสุรินทร์ หน่อคำ - แม่ครูสุจิตรา คำขัติย์ ) ผู้สืบสานวัฒนธรรมล้านนาจนถึงบั้นปลายชีวิต

hqdefault (1).jpg
hqdefault (1).jpg (16.53 KiB) เปิดดู 5752 ครั้ง


นางสุจิตรา คำขัติย์ หรือ ที่รู้จักกันทั่วไปว่า อี่ต่วม เกิดเมื่อ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ที่บ้านทุ่งแดง ตำบลโหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบุตรของนายคำ – นางสุจา คำขัติย์ มีพี่น้อง ๗ คน แต่งงานแล้วมีบุตร ๒ คน หลังจากจบประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนทุ่งแดงแล้ว ได้เรียนซอกับแม่ครูจันทร์สม สายธารา แม่ครูบุญปั๋น พ่อครูศรีทวน สอนน้อย และเริ่มเป็นช่างซอในคณะพวงพยอมเป็นคณะแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ ขณะอายุได้ ๑๕ ปี โดยแสดงเป็นนางเอกละครซอของคณะ จากนั้นได้ย้ายมาร่วมงานกับคณะศรีสมเพชร ๒ รับแสดงซอตามงานต่าง ๆ และเล่นละครซอ แสดงเป็นตัวแม่และตัวโกง ต่อมาเมื่อได้เล่นละครซอร่วมกับสุรินทร์ หน่อคำ ที่รู้จักกันในนามของ “ไอ่เก๋า” หรือ “มิสเตอร์เก๋า” ก็ได้เปลี่ยนมาเล่นเป็นตัวตลกที่รู้จักในนาม “อี่ต่วม” ปรากฏว่าได้รับความสนใจและนิยมชมชอบจากประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรูปแบบการแสดงที่ไม่ซ้ำแบบใคร กระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๘ ได้ตั้งคณะซอชื่อคณะเก๋าต่วม รับแสดงซอคู่ ละครซอ และซอสตริง ในงานต่างๆ ทั่วภาคเหนือ

นอกจากการแสดงซอในงานทั่วไปแล้ว แม่คำหน้อย (ต่วม) ยังทำการผลิตเทปซอจำนวนหลายชุดโดยส่วนใหญ่จะเป็นเทปที่มีเนื้อหาตลกสนุกสนานที่แฝงข้อคิด และสาระต่างๆ ทำให้ได้รับความนิยมจากคนฟังเป็นจำนวนมาก

ผลงานที่สำคัญ
- นำศิลปะการขับซอไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปางตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒
- นำสาระความรู้ด้านต่างๆ เช่น การต่อต้านยาเสพติด โรคเอดส์ การรณรงค์เลือกตั้ง การป้องกันไข้เลือดออก การป้องกันไฟไหม้ ผู้สูงอายุกับการรักษาสุขภาพ การปฏิบัติตามกฎจราจร เป็นต้น มาสอดแทรกในขณะแสดงละครซอ
- เข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นจังหวัดระยอง
- ร่วมงานรณรงค์เลือกตั้ง เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยใช้ซอเป็นสื่อ เผยแพร่
- นำศิลปะการขับซอไปเผยแพร่ในรายการชิงร้อยชิงล้าน
- แสดงซอออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ และร่วมแสดงซอในโครงการต่อต้านยาเสพติดของช่อง ๑๑
- นำศิลปะการขับซอไปสอนให้แก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา
- ให้ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการสอนพิเศษเรื่องศิลปะการขับซอ โดยเป็นวิทยากรผู้บรรยายให้ความรู้เรื่องซอกับองค์กร/หน่วยงานต่างๆ
- ผลิตเทปซอจำนวนหลายชุดโดยส่วนใหญ่จะเป็นเทปที่มีเนื้อหาตลกสนุกสนานที่แฝงข้อคิดและสาระต่างๆ

รางวัลและการเชิดชู
- ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นล้านนาร่วมกับสุรินทร์ หน่อคำ เมื่อปี ๒๕๓๖ รับเข็มพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

hqdefault.jpg
hqdefault.jpg (12.53 KiB) เปิดดู 5752 ครั้ง


ไอ่เก๋า นายสุรินทร์ หน่อคำ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๙ ที่ ตำบลสันผักหวาน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นบุตรของนายอินทร์ นางขันแก้ว หน่อคำ มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๖ คน ได้สมรสกับนางบังอร หน่อคำ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน เป็นชายทั้ง ๒คน

เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษา ก็มีความสนใจในด้านศิลปะการจ๊อย ซอ หรือการขับซอ ได้ติดตามมารดา คือแม่ขันแก้ว ซึ่งเป็นช่างซอ หรือนักขับซอไปแสดงในงานต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้เรียนอย่างจริงจัง เพราะต้องออกไปทำงานหาเงินมาจุนเจือครอบครัว จนกระทั่งมีอายุ ๑๖ ปี แม่ขันแก้วก็ให้มาเรียนเป็นจ้างซอหรือช่างซอ เมื่อเรียนจากมารดาได้ ๑ ปีก็ตระเวนซอไปกับรุ่นพี่เพื่อหาประสบการณ์ ต่อมาก็ได้หาความชำนาญเพิ่มเติมจากแม่ครูจันทร์สม สายธารา ซึ่งในขณะนั้นเป็นศิลปินแห่งชาติของจังหวัดเชียงใหม่ จากการที่ได้ออกมาสู่โลกแห่งศิลปิน ก็มองเห็นว่า ประสบการณ์ที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อการที่จะเป็นผู้ชำนาญจึงได้เดินทางไปขอเป็นลูกศิษย์ของ อาจารย์ศรีท้วน สวนน้อย ศิลปินซอชื่อดังของจังหวัดเชียงราย

เมื่อเรียนจบก็ออกแสดงไปทั่ว แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียง จึงเปลี่ยนแนวการแสดงมาเป็นแนวตลก โดยยึดแนวการแต่งตัวของตลกฝรั่งที่ชื่อ ชาลี และการแสดงออกหน้าเวที ก็ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าประกอบ ปรากฏว่า ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก ในนามของ ไอ่เก๋า หรือ มิสเตอร์เก๋า เกว้อวเว้อวร์ จากนั้นจึงนำเอาศิลปะการขับซอไปเผยแพร่ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยจังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๒ ในขณะที่นำเอาศิลปะพื้นบ้านไปแสดงในที่ต่างๆก็นำเอาสาระความรู้ในด้านการต่อต้านยาเสพติดโรคเอดส์ รณรงค์ให้ชาวบ้านออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ไข้เลือดออก การป้องกันไฟไหม้ ผู้สูงอายุกับการรักษาสุขภาพ การใช้รถใช้ถนนให้ถูกต้องตามกฎจราจร สอดแทรกในขณะทำการแสดง นอกจากนี้ ยังได้นำเอาศิลปะการขับซอไปสอนให้แก่เยาวชนตามโรงเรียนต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๑๐ กว่าปี ในส่วนขององค์กรต่างๆก็ได้ให้ความร่วมมือสอนพิเศษในเรื่องศิลปะพื้นบ้านการขับซอ ผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ ได้รับพระพิฆเนศทองพระราชทาน และรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น เมื่อปี ๒๕๓๗

วันเสาร์ที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ไอ่เก๋า ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลศูนย์วิจัยประสาท เชียงใหม่ ขณะอายุ ๖๓ ปี ๑๑ เดือน
น้ำฝน ทะกลกิจ
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 1111
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 30 ก.ย. 2018 1:00 pm

Re: เล่าเรื่อง "คน" เมืองเชียงใหม

โพสต์โดย admin » อาทิตย์ 17 พ.ย. 2019 10:31 am

"พระกู้ภัย" พระครูปรีชาภิวัฒน์ หรือหลวงพี่เดี่ยว เจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่


แม่บัวซอน ถนอมบุญ หรือบัวซอนเมืองป้าว (ศิลปินแห่งชาติ) ณ ไอคอนสยาม วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๒
ภาษาสยาม "งดงามความเป็นไทย"
ภาพประจำตัวสมาชิก
admin
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 309
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:28 pm


ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 62 ท่าน

cron