ตำนานดอยคว่ำหล้อง อ.แม่ริม เชียงใหม่

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

ตำนานดอยคว่ำหล้อง อ.แม่ริม เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 12 ต.ค. 2014 5:38 pm

ขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมือง ระมิงค์นคร ก่อน จะเป๋นเมืองเชียงใหม่

10494751_843627589011006_4260962938867889684_n.jpg
10494751_843627589011006_4260962938867889684_n.jpg (118.6 KiB) เปิดดู 2247 ครั้ง



ชนเผ่าละเวอะ(ลัวะ) เดิมทีได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ โดยมีชื่อเรียกว่า เมือง “ชวงไมย” อาจเป็นที่มาของการเพี้ยนมาเป็นเมืองเชียงใหม่ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีเจ้าเมืองชื่อขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้ปกครองดูแลเมือง ซึ่งขุนหลวงวิลังคะเป็นผู้มีที่วิชาอาคมแก่งกล้า ขุนหลวงวิลังคะอยากได้เจ้านางจามเทวีซึ่งเป็นเจ้าเมืองปกครองเมืองหริภุญชัย (จ.ลำพูนในปัจจุบัน)มาเป็นภรรยา เจ้านางจามเวทีเองก็ต้องการได้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองของตนเช่นกัน จึงได้ทำเล่ห์กลโดยใช้หมาก ใบพลูสอดไว้ในช่องคลอดสตรีมาให้ขุนหลวงวิลังคะกิน และใช้กางเกงในของผู้หญิงมาตัดเป็นหมวกให้ใส่ เวทมนต์และอำนาจต่างๆของขุนหลวงวิลังคะจึงเสื่อมลง เมื่ออำนาจและเวทมนต์ของขุนหลวงวิลังคะสิ้น เจ้านางจามเทวีก็ยกทัพมาตีเมือง “ชวงไมย” เมืองลัวะเลยถูกตีแตกพ่ายไป ชาวลัวะจึงหนีกระจายไปอยู่ยังที่ต่างๆ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้หนีไปไหน ยังคงอยู่ที่เมือง “ชวงไมย” แต่ก็ไม่กล้าประกาศตนว่า ตนคือ ลัวะ ( ความเชื่อเรื่องใบพลู จากครั้นที่เจ้านางจามเทวี นำใบพลูทำให้เวทมนต์ของขุนหลวงวิลังคะเสื่อม จึงเป็นที่มาของการที่ชาวลัวะจะฉีกใบพูลทิ้งนิดหนึ่งตรงปลายก่อนจะเคี้ยวหมาก เสมือนฉีกความชั่วร้ายหรือสิ่งที่ไม่ดีออกไป )




หรืออีกตำนานว่าเล่า กันว่า ในสมัยที่พระนางจามเทวีปกครองเมืองหริภุญไชยราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ในสมัยนั้นเล่ากันว่า นครหริภุญไชยเป็นนครของชนชาติมอญ หรือเม็ง และในขณะเดียวกันบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นที่ตั้งบ้านเมืองของชาวลัวะมี ขุนหลวงวิรังคะเป็นเจ้าเมืองหรือหัวหน้า ขุนหลวงวิรังคะมีความรักในพระนางจามเทวี มีความประสงค์จะอภิเษกกับพระนาง แต่พระนางไม่ปรารถนาจะสมัครรักใคร่กับขุนหลวงลัวะ เพราะเป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่ามอญในสมัยนั้น ขุนหลวงได้ส่งทูตมาเจริญไมตรีขอนางอภิเษกด้วย พระนางก็ผลัดผ่อนหลายครั้ง โดยมีเงื่อนไขต่าง ๆ ได้แก่ ขอให้ขุนหลวงสร้างเจดีย์ที่มีขนาดและลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย ให้ขุนหลวงพุ่งเสน้ามาตกที่ในเมือง พระนางจึงจะอภิเษกสมรสด้วย


ขุนหลวงวิรังคะ เป็นผู้ทรงพลังและชำนาญในการพุ่งเสน้า (เสน้า หมายถึง หอกด้ามยาวมีสองคม) ขุนหลวงพุ่งเสน้าครั้งแรกตกที่นอกกำแพงเมืองหริภุญไชยด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเรียกว่า หนองเสน้าพระนางจามเทวีเห็นว่าจะเป็นอันตรายยิ่ง ถ้าขุนหลวงวิรังคะพุ่งเสน้ามาตกในกำแพงเมืองตามสัญญา พระนางจึงใช้วิชาคุณไสยกับขุนหลวงวิรังคะ โดยการนำเอาเศษพระภูษาของพระนางมาทำเป็นหมวกสำหรับผู้ชาย นำเอาใบพลูมาทำหมากสำหรับเคี้ยวโดยเอาปลายใบพลูมาจิ้มเลือดประจำเดือนของพระ นาง แล้วให้ทูตนำของสองสิ่งนี้ไปถวายแด่ขุนหลวง ขุนหลวงได้รับของฝากจากพระนางเป็นที่ปลาบปลื้มอย่างยิ่ง นำหมวกใบนั้นมาสวมลงบนศีรษะ และกินหมากที่พระนางทำมาถวาย ซึ่งของทั้งสองสิ่งนี้ชาวล้านนาถือว่าเป็นของต่ำ ทำให้อำนาจและพลังของขุนหลวงเสื่อมลง เมื่อพุ่งเสน้าอีกครั้งต่อมาแรงพุ่งลดลงเสน้ามาตกที่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ชาวบ้านเรียกว่า หนองสะเหน้า เช่นเดียวกัน ขุนหลวงเมื่อเสื่อมวิทยาคุณเช่นนั้น ก็หนีออกจากบ้านเมืองไป


ก่อนสิ้นชีวิต ขุนหลวงวิรังคะได้ขอให้เสนาอำมาตย์นำศพของท่านไปฝังไว้ ณ สถานที่ที่ขุนหลวงจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ทหารได้จัดขบวนศพของขุนหลวงจากเชิงดอยสุเทพขึ้นสู่บนดอยสุเทพเพื่อหาสถานที่ ฝังตามคำสั่ง ขบวนแห่ศพได้ลอดใต้เถาไม้เลื้อยชนิดหนึ่งเรียกว่า เครือเขาหลง ซึ่งเชื่อว่าถ้าผู้ใดลอดผ่านจะทำให้พลัดหลงทางกันได้ ขบวนแห่ศพขุนหลวงได้พากันพลัดหลงกระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง นักดนตรีบางคนพลัดหลงไปพร้อมกับเครื่องดนตรีของตน นิทานเล่าว่าภูเขาที่นักดนตรีผู้นั้นหลงจะปรากฏมีรูปร่างคล้ายเครื่องดนตรี นั้น ๆ บนยอดเขาสุเทพ-ปุย จะมีภูเขาชื่อต่าง ๆ ดังนี้ ดอยฆ้อง ดอยกลอง ดอยฉิ่ง ดอยสว่า บางแห่งเป็นที่แคบและฝาครอบโลงศพปลิวตก บริเวณนั้นเรียกว่า กิ่วแมวปลิว (คำว่า แมว หมายถึง ฝาครอบโลงศพที่ทำด้วยโครงไม้ไผ่ใช้ตกแต่งด้านบนของฝาโลงศพ)


เสนาอามาตย์ที่หามโลงศพของขุนหลวงได้เดินทางไต่ตีนเขาไปทางทิศเหนือ ถึงบริเวณแห่งหนึ่ง โลงศพได้คว่ำตกลงจากที่หาม เสนาอามาตย์จึงได้ฝังศพของขุนหลวงไว้ ณ สถานที่บนภูเขาแห่งนี้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นเมืองหริภุญไชยได้ตลอดเวลา ยอดภูเขานี้ชาวบ้านเรียกว่า ดอยคว่ำหล้อง (หล้อง หมายถึง โลงศพ)


ปัจจุบันชาวบ้านยังเรียกชื่อภูเขาลูกนี้ว่า ดอยคว่ำหล้อง ตั้งอยู่บนภูเขาบริเวณเหนือน้ำตกแม่สา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ยอดเขาเป็นรูปสี่เหลี่ยมตัดลักษณะคล้ายโลงศพ บนยอดเขามีศาลของขุนหลวงวิรังคะตั้งอยู่ ชาวบ้านบริเวณเชิงเขาเล่าว่า กลางคืนเดือนเพ็ญบางครั้งจะได้ยินเสียงดนตรีบรรเลงบนยอดเขา เชื่อกันว่าวิญญาณของขุนหลวงสถิตอยู่บนดอยคว่ำหล้อง


บริเวณเชิงเขา มีหมู่บ้านลัวะหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่า บ้านเมืองก๊ะ มาจากชื่อของขุนหลวงวิรังคะ เชื่อกันว่า ชาวลัวะเหล่านี้เป็นเชื้อสายของขุนหลวงวิรังคะ ที่หมู่บ้านแห่ง นี้มีศาลที่สถิตวิญญาณของขุนหลวง และทหารซ้ายและขวาของขุนหลวงอีก ๒ ศาล ชาวบ้านจะเซ่นสรวงดวงวิญญาณขุนหลวงและทหารปีละครั้ง ชาวบ้านเล่าว่า ดวงวิญญาณของขุนหลวงจะสถิตอยู่ ๓ แห่งได้แก่ บนดอยคว่ำหล้อง ศาลที่บ้านเมืองก๊ะ อำเภอแม่ริมและอีกแห่งหนึ่งคือ บริเวณดอยคำ อำเภอเมือง ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของดอยสุเทพ ปัจจุบันบนยอดดอยมีวัดชื่อว่า วัดพระธาตุดอยคำ บนวัดแห่งนี้มีอนุสาวรีย์ขุนหลวงวิรังคะประดิษฐานที่ลานวัดใกล้เจดีย์ และที่ดอยคำแห่งนี้เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของหัวหน้าลัวะซึ่งเป็นบรรพบุรุษของขุนหลวงวิรังคะ ชื่อว่า ปู่แสะ ย่าแสะ ซึ่งจะมีการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ ด้วยควายทุกปี หรือ ๓ ปีครั้ง

"ตำนานนักรบเจนจบมหาเวท
เป็นใหญ่อยู่ยั้งเขตลุ่มน้ำระมิงค์
มีนามว่าขุนวิรังคะทรงฤทธิ์เดชเดชา
ปกป้องบ้านเมืองลุ่มฟ้าประชาร่มเย็นสืบมา
เมื่อเอ่ยเมื่อได้มาเห็น เชิงรบบ่เคยยากเข็ญ
แต่เชิงรักสิมันยากเย็น...บ่เป็นใจแท้
เมื่อมาต้องใจเจ้าแม่...จามเทวี
ขัตติยะนารี พระนามนี้ลือไกล
วิรังคะเปิงใจ ใคร่ได้มาเป็นคู่ข้าง
เจ้าแม่ชาติขัตติยะ จามเทวีบ่มีหมองหมาง
แต่คงยากที่จะเคียงข้าง เป็นนางคู่พระบารมีเจ้าลัวะ...แลเฮย
งามเจ้างามโอ้แม่เอ๋ย เลยอ่านเหตุการณ์งานเมือง
จำแต่งเครื่องไปคารวะ เป็นบรรณาการ ผลงานพี่เจ้า
แม้นมีมหาเวทฤทธิ์ไกร จูงพี่เจ้าแหลงสะเหน้ามา
ยังกลางใจเมือง แยบยลจนสนั่นธรณี
เจ้าแม่เทวีมีกลศึกแยบคาย
ใส่หมายไว้ที่ปลายใบปูผ้าหัวผืนงาม
ขุนศึกหุนหันบ่ทันคิด มนต์ฤทธิ์จึงเสื่อมสลาย
สะเหน้าที่พุ่งมาหมายจึงวายเสียที่นอกเมือง
เจ้าลัวะจึงตรอมใจตาย วายชนม์เสียที่บนดอย
เผ่าลัวะเลยล่มสลายแต่นั้นมา"


ภาพ : Phayon Aui Rattanakul

ผู้ให้ข้อมูล

นายพานแก้ว จันทร์แย
นายและ จันตา
นางแบ๊ะ จันตา
นายวิชาญ จันตา
พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าออนไลน์
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: ตำนานดอยคว่ำหล้อง อ.แม่ริม เชียงใหม่

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อาทิตย์ 12 ต.ค. 2014 5:50 pm

ดอยคว่ำหล้อง หรือ ม่อนหล้อง

4502-2.jpg
4502-2.jpg (41.07 KiB) เปิดดู 2247 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am


ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน

cron