หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโลกราช

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโลกราช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » อังคาร 22 ต.ค. 2013 3:02 pm

หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโลกราช เจ้าชายผู้วางตนอย่างชาวป่า และแม่ทัพใหญ่แห่งล้านนาที่แม่ทัพกรุงศรีอยุธยาต่างขยาดเป็นทิวแถว เพราะไม่เคยรบชนะท่านเลย จวบจนสิ้นหมื่นด้ง อยุธยาจึงตีเมืองเชลียงคืนได้

01_1_~1.JPG
01_1_~1.JPG (79.41 KiB) เปิดดู 9634 ครั้ง




พ.ศ.๑๙๓๒ เดือน ๑๐ เหนือ ราว ๖๒๔ มาแล้ว พญาแสนเมืองมา ผู้เป็นเจ้าแห่งเมืองเชียงใหม่ ได้เสด็จพระพาสป่าทางทิศใต้ของเมือง เรียกว่า "ป่าแม่วาง"เพื่อล่าสัตว์

ขบวนเสด็จมาถึง "ป่าแม่วาง" ข้าทาสบริวารก็ตั้งพลับพลาเพื่อเป็นที่ประทับระหว่างล่าสัตว์ ย่างเข้าวันที่ ๖ ก็เกิดฟ้าผ่าไฟไหม้พลับพลาที่ประทับ "แสนหลวง" อำมาตย์คู่ใจ จึงกราบทูลเชิญให้ไปประทับแรมที่บ้านญาติชื่อ "หนานเมือง"

ฝ่ายหนานเมืองเมื่อทราบว่าพญาผู้เป็นเจ้ามาเยือนถึงหมู่บ้าน ก็ยินดีปรีดายิ่งนัก จัดการหุงหาอาหาร พร้อมจัดที่ประทับให้พระผู้เป็นเจ้า นำลูกสาว นามว่า "แม่นางศรีวรรณ" เข้าถวายงาน ตลอดทั้งคืน.....

กาลเวลาผ่านไป พระผู้เป็นเจ้าเสด็จกลับศรีนครพิงค์เชียงใหม่ไปแล้ว ใน พ.ศ.๑๙๓๓ จุลศักราช ๗๕๒ เดือน ๖ เหนือ แม่นางศรีวรรณ ก็กำเนิดบุตรเป็นชาย ตั้งชื่อว่า "อ้าย" แสนหลวงจึงกราบบังคับทูลให้พญาแสนเมืองมาทราบ (เกิดก่อนพระเจ้าติโลกราช ๑๘ ปี)

พออายุได้ขวบเศษเด็ก "อ้าย" มีอุปนิสัยชอบนอนในกระด้ง จึงเรียกชื่อว่า "ด้ง"

อายุ ๘ ขวบ นางศรีวรรณ ผู้เป็นแม่ก็ตาย

อายุ ๑๒ ขวบ หนานเมือง ผู้เป็นตาก็ตาย

ใน พ.ศ.๑๙๔๗ หนุ่มน้อย "ด้ง" อายุได้ ๑๔ ปี แสนหลวง จึงนำหนุ่ม "ด้ง"ไปถวายตัวกับ พระนางสุนทรราชเทวี พระราชมารดาของพญาแสนเมืองมา ทรงรับไว้ในฐานะหลานหลวง

"หนุ่มด้ง" ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในราชสำนัก จนอายุได้ ๑๖ ปี ก็เล่าเรียนศิลปวิทยาการเจนจบทุกกระบวนวิชาของราชสำนักล้านนา ทั้ง มังรายศาสตร์ ธรรมนูญศาสตร์ คชศาสตร์เกี่ยวกับการคล้องช้าง บังคับช้างศึก วิชาพิชัยสงคราม การจัดทัพ

หลังจากนั้นแสนหลวง จึงนำ "หนุ่มด้ง" ไปฝึกการต่อสู้ การใช้อาวุธ กับ พญาสามล้าน ระหว่างฝึกฝนวิชาต่อสู้การใช้อาวุธ หนุ่มด้ง ได้ชอบพอกับ "แม่นางศรีเมือง" บุตรสาวของพญาสามล้าน

โดยที่ "แม่นางศรีเมือง" เป็นหญิงที่เติบใหญ่มาในสำนักดาบ ได้รับการฝึกฝนการต่อสู้การใช้การอาวุธมาแต่ยังเล็ก จึงจัดได้ว่าเป็นสตรีล้านนาผู้หนึ่งที่เชี่ยวชาญเรื่องการต่อสู้ป้องกันตัวและการใช้อาวุธเป็นอย่างดี

ด้วยความที่เป็นเด็กหนุ่มที่เฉลียวฉลาดหน่วยก้านฉายแววมาตั้งแต่เด็ก อีกทั้งเป็นหน่อพญาผู้เป็นเจ้า พญาสามล้าน จึงยก "แม่นางศรีเมือง" ให้เป็นศรีภรรยา หลังแต่งงาน"หนุ่มด้ง"รับราชการในราชสำนักและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

พ.ศ.๑๙๔๕ พญาใสลือไท แห่งเมืองสุโขทัยยกทัพมาตีเวียงละกอน แต่ไม่สำเร็จจึงยกทัพกลับ

พ.ศ.๑๙๕๒ พญาเวียงละกอน(ลำปาง) ถึงแก่พิราลัย พญาแสนเมืองมา จึงโปรดให้ หนุ่มด้ง ได้บรรดาศักดิ๋เป็น "หมื่นด้งนคร" และให้ไปครองเวียงละกอน ขณะนั้น "หมื่นด้งนคร" มีอายุเพียง ๑๙ ปี

หมื่นด้งนคร และ แม่นางศรีเมือง พญาแห่งเวียงละกอน ปกครองข้าราษฎร์ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ท้องพระคลังมีทรัพย์สินเสบียงอาหารบริบูรณ์

ต่อมาพญาใสลือไท กษัตริย์อยุธยา(พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.๑๙๔๓ - พ.ศ.๑๙๖๒ เมืองสุโขทัยเสียเอกราชให้แก่กรุงศรีอยุธยาในรัชกาลนี้) ทรงใช้อุบายมีพระราชสาส์นถึง พญาแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ พระราชบิดาของหมื่นด้งนคร ให้ยกทัพไปช่วยรบกับทัพกรุงศรีอยุธยา หวังให้พญาแสนเมืองมาหลงกลอุบายแล้วล้อมจับตัว เพื่อบังคับให้เชียงใหม่เป็นประเทศราชสุโขทัย

พญาแสนเมืองมา หลงเชื่อยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัย เมื่อไปถึงจึงถูกซุ่มตีทัพแตกหนีกลับมาทางเวียงละกอน ทัพสุโขทัยติดตามมาหวังจับตัวพญาแสนเมืองมาให้ได้ ม้าเร็วแจ้งข่าวให้หมื่นด้งนครทราบ จึงนำทัพไปช่วย พญาแสนเมืองมาไว้ได้ทัน

มีหลักฐานปรากฎว่าระหว่างแม่นางศรีเมืองกำลังตั้งครรภ์ หมื่นด้งนครไปราชการที่เชียงใหม่ ได้มีศึกเจ้าเมืองใต้มาประชิดเมือง (เข้าใจว่าเป็นเมืองสุโขทัย) แม่นางศรีเมืองจึงแต่งเป็นชายนำทัพออกรบ หมื่นด้งนครทราบเรื่องจึงยกทัพมาช่วยตีข้าศึกแตกพ่ายไป สถานที่รบได้สร้างวัดไว้ชื่อ "วัดพระธาตุจอมปิง" ส่วนบุตรในท้องเมื่อเกิดมาจึงให้ชื่อว่า "หาญแต่ท้อง"

พ.ศ.๑๙๕๔ พญาแสนเมืองมาเสด็จสวรรคต พระเจ้าสามฝั่งแกน ขึ้นครองราชย์สมบัติขณะมีพระชนม์เพียง ๑๓ พรรษา ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองพะเยาซึ่งเป็นพระเชษฐา ไม่ยอมรับ ไปขอพึ่งพญาใสลือไทแห่งกรุงสุโขทัย ให้ยกทัพมาล้อมเมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ปรากฎเรื่องราวของหมื่นด้งนคร แต่ปรากฎนักรบในหน้าประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ อีกหลายท่าน อาทิ หาญยอดใจเพชร นักรบเมืองเชียงใหม่ผู้ชำนาญเพลงดาบเขน เป็นตัวแทนชาวเชียงใหม่ เดิมพันรบตัวต่อตัวกับนักดาบสุโขทัย ใครชนะถือว่าทัพฝ่ายนั้นชนะด้วย ปรากฎว่า "หาญยอดใจเพชร" ชนะพญาใสลือไท จึงต้องยกทัพกลับ

เพ็ดยศ หนุ่มชาวเชียงใหม่ ที่รวบรวมคนหนุ่มราว ๒๐๐ คน เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ไล่ล่าตัดหัวทหารสุโขทัยที่ออกมาหาหญ้าให้ช้างม้า ถวายพญาสามฝั่งแกนทุกวัน จึงได้ตำแหน่ง "พญาเด็กชาย" พร้อมกับตำแหน่งอื่นๆที่ตั้งขึ้นใหม่สมัยนั้น คือ ๑)พญาเด็กชาย ๒) พญาแสนหลวง ๓)พญาสามล้าน ๔) พญาจ่าบ้าน

หลังเสร็จศึกสุโขทัย-พะเยา เมืองเชียงใหม่ก็มิได้สงบ มีศึกติดพันกับจีนมณฑลยูนาน เรื่อยมาหลายปี

พ.ศ.๑๙๗๗ ฟ้าผ่าเจดีย์วัดป่าญะ เมืองเชียงราย ปรากฏพระแก้วมรกต

พ.ศ.๑๙๗๙ พญาสามฝั่งแกน อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานเมืองเชียงใหม่ แต่ช้างทรง ฝืนบังคับไม่มาเมืองเชี่ยงใหม่ จึงโปรดให้ประดิษฐาน ณ เวียงละกอน ซี่งหมื่นดังนครรั้งเมืองอยู่ ขณะนั้นอายุได้ ๔๖ ปี

พ.ศ.๑๙๘๑ เจ้าสามพระยา แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้พระราเมศวร(พระบรมไตรโลกนารถ) ไปครองเมืองพิษณุโลกเพื่อรวมสุโขทัยและอยุธยาเป็นอาณาจักรเดียวกัน

ฝ่ายเมืองเชียงใหม่ การเมืองภายในก็ไม่สงบเกิดการแตกแยกในหมู่ขุนนางอำมาตย์ แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ยกเจ้านายของตนคือเจ้าชายทั้งสิบพระองค์เป็นหัวหน้าก๊ก

พ.ศ.๑๙๘๕ "สามเด็กย้อย" ขุนนางผู้หนึ่ง ยก "ท้าวลก" เจ้าชายองค์ที่ ๖ ปราบดาภิเษกเป็น "พระเจ้าติโลกราช" เนรเทศพญาสามฝั่งแกนกษัตริย์องค์เดิม ไปเมืองสาด(พม่า) หมื่นด้งนคร มีศักดิ์เป็นพระเจ้าอา โปรดให้ครองเมืองละกอนดังเดิม

(หลักฐานจากจารึกใบลานวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร)
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโล

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 22 มี.ค. 2016 7:23 am

เพิ่มเติมโดยแอดมิน

วาระสุดท้ายของเจ้าหมื่นด้งนครนั้นแสนนั้นแสนเศร้า เนื่องจากท่านถูกใส่ความว่าคิดชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าติโลกราชทำให้ถูกประหารชีวิต เมื่อสิ้นเจ้าหมื่นด้งไปแล้วหลังจากนั้นล้านนาจึงล้านนาจึงพ่ายแพ้แก่กรุงศรีอยุธยา จนเกิดเป็นวรรณคดีลิลิตยวนพ่าย การสงครามครั้งนั้นเริ่มต้นจาก เจ้าแม่ศรีเมืองผู้เป็นชายาของเจ้าหมื่นด้งเกิดความคับแค้นใจที่พระเจ้าติโลกราชมีรับสั่งประหารเจ้าหมื่นด้ง จึงส่งสาส์นไปยังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อให้ยกทัพมาช่วยเหลือเมืองเชียงชื่นซึ่งเป็นเมืองที่เจ้าหมื่นด้งปกครองอยู่ก่อนถูกประหาร เจ้าหมื่นด้งและเจ้าแม่ศรีเมืองเป็นผู้ที่มีผีมือทางการรบอย่างยิ่งยวด และแน่นอนที่ท่านจะมีเหล่าทหารฝีมือดีในกองทัพ เมื่อเชียงชื่นรวมตัวกับอยุธยา ทัพเชียงใหม่จึงพ่ายแพ้ หลังจากเคยเป็นผู้มีชัยมาก่อนหน้านี้
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโล

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 22 มี.ค. 2016 7:24 am

ประวัติวัดเวียงด้ง


79716683.jpg
79716683.jpg (54.61 KiB) เปิดดู 9354 ครั้ง




เมื่อจุลศักราช ๘๓๐ (๒๐๑๑) พระเจ้าติโลกราชโปรดให้เจ้าหมื่นด้งนครขึ้นมาช่วยราชการ ณ เมืองนครพิงค์ ทรงมอบอำนาจให้ตัดหัวข้าราชการชั้นอำมาตย์ได้โดยมิต้องกราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน เจ้าหมื่นทรงดำริเห็นว่าขณะนี้พระองค์ทรงมีพระชนม์ถึง ๗๘ พรรษา อยู่ในวัยชราแล้ว ทรงตั้งพระทัยว่าจะพักผ่อนให้สบายไปตลอดพระชนชีพ จึงทรงเลือกเอาพื้นที่กว้างใหญ่ทางด้านทิศตะวันตกของนครเชียงใหม่เป็นที่ประทับ ทรงสร้างคุ้มใหญ่แข็งแรงลงบนพื้นที่นั้นและทรงอนุญาตให้บริพารของพระองค์ซึ่งส่วนมากเป็นทหารมีจำนวนนับพันๆ ปลูกสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย ให้ขุดคูและก่อกำแพงรอบบริเวณอันเป็นที่อยู่อาศัย มีทหารรักษาการณ์อย่างเข้มแข็ง ที่นั้นจึงได้ชื่อว่า เวียงด้ง คือค่ายทหารของเจ้าหมื่นด้งนคร

เจ้าหมื่นทรงนับถือพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ทรงพระดำริว่าทางด้านที่พระองค์ทรงตั้งนิวาสถานอยู่นี้ไม่มีวัดแม้แต่แห่งเดียว ครั้นจะไปทำบุญที่วัดตาลวันวิหารหรือวัดป่าตาล ซึ่งอยู่นอกประตูทางด้านทิศตะวันตก (อยู่ทางตะวันออกของวัดสวนดอก) ก็ไกลมาก จึงทรงพระดำริว่าควรสร้างพระอารามขึ้นสักแห่งหนึ่งในบริเวณเวียงด้ง จึงรับสั่งให้บริพารของพระองค์ทำอิฐและตั้งเตาเผาขึ้น ทรงจัดช่างที่มีความชำนาญในการสร้างวัดให้สร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ และพระเจดีย์ขึ้นครบครันเมื่อพ.ศ.๒๐๑๒ นับเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง เก่ากว่าวัดตำหนักหรือวัดสวนขวัญ ซึ่งพระสิริมังคลาจารย์จอมปราชญ์ของล้านนาไทย สร้างหลายสิบปีนับจากปีเริ่มสร้างวัดเวียงด้งมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลายาวนานถึงห้าร้อยกว่าปี

ต่อมาในระยะหลังๆ ตั้งแต่พ.ศ.๒๑๐๐ เป็นต้นมา อาณาบริเวณทางด้านตะวันตกของนครเชียงใหม่ กลายเป็นสมรภูมิระหว่างเจ้าถิ่นกับผู้รุกรานเรื่อยมาจนถึงพ.ศ.๒๓๔๕ เป็นเวลาเนิ่นนานกว่า ๒๐๐ ปี ทำให้พระอารามต่างๆ ทางด้านนี้กลับกลายเป็นวัดร้างและชำรุดทรุดโทรมล่วงโรยลง เนื่องจากราษฎรพากันอพยพหลบหนีภัยสงครามไปหมด วัดเวียงด้งก็เลยทรุดโทรมลง พระอุโบสถและพระวิหารพังทลายลงสิ้น ยังเหลือเพียงแต่พระเจดีย์องค์เดียว ซึ่งเป็นโบราณวัตถุแลปูชนียสถานคู่กับวัดเวียงด้งอันเป็นนิวาสถานของอดีตขุนพลล้านนาผู้เกรียงไกร เป็นอนุสรณ์ให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงบรรพบุรุษผู้เอาเลือดทาแผ่นดินนี้ไว้เป็นมรดกตกทอดมาถึงพวกเรา เรื่องราวของผู้สร้างและประวัติเวียงด้งนครจึงยุติลงเพียงแค่นี้


(แหล่งที่มา : หนังสือประวัติวัดเวียงด้ง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เรียบเรียงโดย อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง)



วัดเวียงด้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๘๑ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๗๖ ตารางวา ส.ค.๑ สร้างเมื่อพ.ศ.๒๐๑๒ โดยเจ้าหมื่นด้งนครได้ให้บริวารของพระองค์สร้างวัดขึ้น ทรงให้สร้างอุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ต่อมาปี ๒๔๗๖ ท่านครูบาศรีวิชัย ได้มาทำการบูรณะวิหารและเจดีย์ขึ้นใหม่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณพ.ศ.๒๐๑๓ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ประมาน ๔๐ วา จดที่ดินเอกชน
ทิศใต้ ประมาน ๖๐ วา จดที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก ประมาณ ๘๐ วา จดแม่น้ำ
ทิศตะวันตก ประมาณ ๙๗ วา จดที่ดินเอกชน

อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ วิหาร กุฏิสงฆ์ และศาลา ปูชนียวัตถุมี พระพุทธรูป และเจดีย์

การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
รูปที่ ๑ พระต๋าคำ
รูปที่ ๒ พระดวงต๋า
รูปที่ ๓ พระเพ็ชรวชิรญาโณ
รูปที่ ๔ พระอธิการสมบูรณ์สีลเตโช ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา

(แหล่งที่มา : เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา. วัดเวียงด้ง และอนุสาวรีย์พ่อขุนหมื่นด้งนคร. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.namphrae.go.th/travel.php?id=2. (วันที่ค้นข้อมูล : ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙)
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: หมื่นด้งนคร (เจ้าหมื่นโลกนคร)ทหารเสือคู่บารมีพระเจ้าติโล

โพสต์โดย Namfar » อังคาร 22 มี.ค. 2016 7:25 am

79716663.jpg
79716663.jpg (65.32 KiB) เปิดดู 9354 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm


ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 51 ท่าน

cron