กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » พุธ 30 มี.ค. 2016 7:58 pm

เจ้าหญิงฟองแก้ว ณ เชียงใหม่ ผู้ยึดมั่นในฮีตฮอยล้านนา จนขอแยกทางกับสามี

K4770953-21.jpg
K4770953-21.jpg (92.4 KiB) เปิดดู 12652 ครั้ง


เจ้าหญิงฟองแก้ว เป็นธิดาในเจ้าน้อยบัวละวงษ์ ณ เชียงใหม่ พระบิดาถวายให้ตามเสด็จพระราชชายา เจ้าดารารัศมีตั้งแต่ยังเล็ก จึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในตำหนักของพระราชชายา ในพระราชวังจนเติบโตเป็นสาวรุ่นงดงาม

เมื่อเข้าสู่วัยสาว ด้วยความงามอันเลื่องลือของเหล่าข้าหลวงนางในตำหนักพระราชชายา ที่แต่งกายงามแบบชาวล้านนา คือ นุ่งซิ่น ผมยาว เกล้ามวย ทั้งยังเล่นดนตรี และร่ายรำได้งดงามอ่อนช้อย จึงไม่พ้นที่จะมีบุรุษมาสนใจและมอบความรักให้ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นเหล่ามหาดเล็กน้อยใหญ่ ไปจนถึงเสนาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เจ้าหญิงฟองแก้วเองก็เช่นกัน

โดยเริ่มจาก เจ้าจอมมารดาชุ่ม ได้มาสู่ขอเจ้าหญิงให้แก่พี่ชายของท่าน แต่พระราชชายาทรงปฏิเสธ ด้วยทรงมองว่าไม่เหมาะสม (คิดว่าพี่ชายของเจ้าจอมคงจะสูงอายุพอสมควร) ต่อมากรมหมื่นปราบปรปักษ์ ทรงสู่ของเจ้าหญิงฟองแก้วให้แก่โอรสของพระองค์ คือ ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ณ อยุธยา (ขณะนั้นรับราชการ กินตำแหน่งจมื่นภักดีจงขวา มหาดเล็กนั้นเอง ) พระราชชายาทรงอนุญาต ทั้งสองจึงได้สมรสกัน มีบุตรชายหนึ่งคน คือ มล. เทียม มาลากุล ณ อยุธยา

ทัศนคติของชาวกรุงสมัยนั้น มองว่าเชื้อสายทางฝ่ายเหนือทั้งหมดนั้นเป็นลาว และค่อนข้างจะมองไปในแง่ลบ คือเหยียดหยามว่าต่างชั้น และต้อยต่ำกว่าชาวสยาม เพราะเป็นเพียงประเทศราชเท่านั้น ผู้ใหญ่ทางฝ่ายสามีจึงไม่ใคร่จะพอใจในการสมรสกันของทั้งสองนัก ด้วยอับอายที่จะต้องตอบคำถามแก่ผู้คนในสังคม ถึงสาเหตุที่มีสะใภ้เป็นลาว จึงบังคับให้เจ้าหญิงฟองแก้วตัดผมแบบชาวสยามทั่วไป คือ ทรงดอกกระทุ่มจอนยาวและแต่งกายแบบชาวสยามทั่วไป เพื่อขจัดคำครหา แทนที่ ม.ร.ว.ปุ้มผู้เป็นสามีจะปกป้องภรรยาของตน กลับยื่นคำขาดแก่เจ้าหญิงฟองแก้วให้ตัดผมทิ้งเสียและเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้เหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่เช่นนั้นจะแยกทางกับเจ้าหญิง เพื่อล้างความอับอายที่มี

เจ้าหญิงฟองแก้วนั้นแม้จะรักบุตรมาก แต่ไม่ทรงคิดจะละทิ้งความเป็นล้านนาของตน จึงนำความกราบทูลพระราชชายา ซึ่งพระองค์ทรงกริ้วมาก และให้เจ้าหญิงแยกทางกับสามี มาอยู่ที่ตำหนักกับพระองค์เช่นเดิม โดยรับหน้าที่เป็นต้นห้องแทนคุณหญิงบุญปั๋น เทพสมบัติที่ออกเรือนไป เจ้าหญิงฟองแก้วจึงกลับมารับใช้พระราชชายาอีกครั้ง และพยายามจะนำบุตรชายมาเลี้ยงเอง แต่ทางม.ร.ว.ปุ้มไม่ยินยอม ท่านจึงใช้ชีวิตอยู่ในตำหนักและตามเสด็จพระราชชายา ต่อมาได้สมรสกับเจ้าวุฒิ ณ ลำพูน แต่ก็ได้แยกกันอยู่อีกครั้ง และท่านก็ใช้ชีวิตเพียงลำพังจนกระทั่งท่านเสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง ๔๐ เศษๆเท่านั้น

ที่มา หนังสือเพ็ชร์ลานนา
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 28 พ.ค. 2016 9:22 am

"เจ้านางบัวสวรรค์"

12144264_1490866001242354_1398036336_n.jpg
12144264_1490866001242354_1398036336_n.jpg (51.22 KiB) เปิดดู 12586 ครั้ง


เจ้านางบัวสวรรค์เป็นธิดาในเจ้าก้อนแก้วอินแถลงเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงหรือที่เรียกอย่างลำลองว่าเจ้าฟ้าเฒ่าและเจ้านางจันฟอง เจ้านางบัวสวรรค์เป็นที่โปรดปรานของเจ้าฟ้าและทุกคนในหอหลวงเพราะว่ามีหน้าตาหมดจดงดงาม

บรรดาธิดาเจ้าขุนส่าและเจ้าแว่นแก้วแห่งเมืองลอกจ๊อกยังกล่าวชมว่าเจ้าบัวสรรค์นั้นงดงามที่สุด กล่าวกันว่าเจ้าฟ้าโปรดเจ้านางบัวสวรรค์มากถึงให้ถือกุญแจหีบสมบัติท้องพระคลังหลวง ด้วยเหตุนี้ใครๆจึงเรียกเจ้านางบัวสวรรค์ว่า ”เจ้านางเศรษฐี”

ในสมัยนั้นชีวิตในหอหลวงเมืองเชียงตุงรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด เจ้านายชายหญิงในราชสำนักได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี ในขณะที่เจ้านายทางหัวเมืองล้านนายังคงนั่งช้างนั่งเกวียนแต่เจ้านางบัวสวรรค์มักขับรถไปพักผ่อนที่ดอยเหมยซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่เปรี้ยวและนำสมัยมาก มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งบรรดาเจ้านางไปพักผ่อนกันที่ดอยเหมย มีเจ้านางองค์หนึ่งถูกผีเข้า เจ้านางบัวสรรค์ต้องขับรถมารับเจ้าฟ้าเฒ่าที่หอหลวงเพื่อไปไล่ผี

เจ้านางบัวสวรรค์สืบทอดคาถาอาคมจากเจ้าฟ้าเฒ่ามาทั้งหมดและครองตัวเป็นโสดมาตลอดชีวิต หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือเจ้านางเพียบพร้อมไปด้วยรูปและทรัพย์สมบัติจึงไม่มีชายใดที่เหมาะสมเป็นคู่ครอง เจ้านางบัวสวรรค์มีสิ่งของราคาแพงใช้ อาทิเช่น ซิ่นไหมคำปิง ที่เจ้านางสุคันธาเล่าว่า
“ เจ้าพี่บัวสวรรค์นั้นเป็นคนสวย หุ่นดี คงมีซิ่นไหมคำปิงอยู่หลายผืนกระมัง..... .เจ้าปี้บัวสวรรค์เปิ้นฮ่างงาม ของเปิ้นมีนักก้าหา..."

เมื่อเจ้ากองไทพี่ชายร่วมมารดาของเจ้านางบัวสวรรค์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ในวันที่เกิดเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์เจ้ากองไท เจ้านางเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดและเห็นหน้าคนร้าย แต่ทว่าเจ้านางก็ไม่ยอมบอกว่าเป็นใครเเละความลับนี้ก็ตายไปพร้อมกับเจ้านางบัวสวรรค์นั่นเอง

เจ้านางบัวสวรรค์เดินทางมาบางกอกอยู่หลายครั้ง เมื่อหอหลวงเชียงตุงล่มสลาย เจ้านางอยากจะมาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่กับพี่น้อง แต่ด้วยเหตุผลบางประการเจ้านางบัวสวรรค์จึงต้องอยู่ที่เมืองเชียงตุงจนกระทั่งถึงแก่กรรมที่หอใหม่เมืองเชียงตุง

ที่มา : สุทธิศักดิ์ แต้มลิก

"เจ้านางบัวสวรรค์" เจ้านางบัวสวรรค์ ผู้เลอโฉม และฉลาดปราดเปรื่อง ผู้ครองความโสดชั่วชีวิต เป็นบุตรสาวของเจ้าฟ้าก้อนแก้วอินแถลงที่ท่านเมตตามากที่สุด โดยท่านได้ถ่ายทอดวิชาอาคมของท่านให้เจ้านางสืบต่อเพียงผู้เดียวเท่านั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เจ้าขุนศึกได้ช่วยบริหารบ้านเมือง และตรวจเยี่ยมชาวเมืองที่ต่างแตกแยกไปหลบสงครามแล้วกลับมารวมตัวกันใหม่ และส่งลูกมาเรียนที่เชียงใหม่ ที่บ้านหม่อมธาดาถนนวัวลายได้มีการประชุมของรัฐฉานกับพม่าที่ปางโหลง แต่เจ้าขุนศึกไม่ได้ไปเพราะเป็นทหารของอังกฤษ อยู่ จึงมีการเขม่นจากทหารพม่ากับเจ้าขุนศึก เจ้าขุนศึกได้รับโทรเลขจากย่างกุ้งให้ไปประชุมมีกำหนด ๒ วัน จึงรับคำเชิญไปโดยเครื่องบินออกจากเชียงตุงในตอนเช้า เมื่อไปถึงทหารพม่ากลับพาตัวไปกักกันไว้ และไม่ให้ใครทราบว่าอยู่ที่ใด คหบดีคนเชียงตุงที่ไปค้าขายที่ย่างกุ้งได้แอบส่งโทรเลขมายังเจ้านางบัวสวรรค์ ว่าเจ้าขุนศึกถูกกักขังโดยทหารพม่า แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ขอให้เจ้านางขึ้นไปด่วน และพักที่บ้านของเขา เมื่อเจ้านางทราบเรื่อง คืนนั้นเจ้านางก็นำบริวารหญิง-ชายมาที่โถง เจ้านางบัวสวรรค์เลือกเด็กสาวที่ขวัญอ่อนที่สุดมาปิดตาให้สนิท และให้หันหน้าไปยังเมืองย่างกุ้ง นั้นจึงท่องคาถาที่ได้รับการถ่ายทอดจากเจ้าพ่อ และบอกให้เด็กมองเข้าไปในเมืองย่างกุ้ง ถ้าเห็นแล้วให้บอก เมื่อเด็กเห็นแล้วก็บอกว่า เห็นเมืองย่างกุ้งแล้ว เจ้านางบัวสวรรค์ก็ถามว่า เจ้าฟ้าขุนศึกเป็นอย่างไร เด็กก็ตอบว่า เจ้าอยู่ในห้องเพียงผู้เดียว ไม่ได้รับอันตรายใดๆ เมื่อทราบเช่นนั้น วันรุ่งขึ้นเจ้านางบัวสวรรค์ก็ได้ออกเดินทางไปย่างกุ้ง และสั่งการจัด ทำพิธีบูชาที่หอหลวง โดยให้หม่อมธาดา ภริยาเจ้าขุนศึกทำพิธี ๑๑ วัน โดยทำของบูชาไปถวายตามจุดที่เจ้านางบัวสวรรค์บอกไว้ติดต่อกัน ทำอย่างนี้ด้วยจิตบริสุทธิ์ และครบถูกวิธี เจ้าขุนศึกจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ ในช่วงวันทำพิธีเจ้าแม่นางบุญยวงได้มานั่งเป็นประธานสั่งการบริวารอย่างละเอียด ในวันสุดท้ายของพิธีบูชาเป็นการส่งเคราะห์นพเกล้า เอารูปเจ้าฟ้าและเสื้อผ้าใส่ในพิธีนี้ด้วย ปรากฏผลบุญบันดาลให้เจ้าฟ้าขุนศึกได้รับการปล่อยตัวกลับเชียงตุงพร้อมเจ้านางบัวสวรรค์ ครบสิบเอ็ดวันพอดี หลังจากนั้นเจ้าขุนศึกก็อพยพมาอยู่เชียงใหม่ และไม่กลับไปเชียงตุงอีกเลย
แก้ไขล่าสุดโดย Namfar เมื่อ เสาร์ 28 พ.ค. 2016 10:49 am, แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง.
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 28 พ.ค. 2016 9:26 am

13315227_967458956686436_8490261768977582933_n.jpg
13315227_967458956686436_8490261768977582933_n.jpg (18.07 KiB) เปิดดู 12589 ครั้ง



หีบพระศพของเจ้านางบัวสวรรค์
483039_207898949341200_1751268571_n.jpg
483039_207898949341200_1751268571_n.jpg (73.26 KiB) เปิดดู 12589 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 29 มิ.ย. 2017 8:39 pm

งานพระศพเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้านครเจียงใหม่องค์สุดท้าย พระบิดาของเจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม

งานพระศพเจ้าแก้วนวรัฐ.jpg
งานพระศพเจ้าแก้วนวรัฐ.jpg (137.88 KiB) เปิดดู 12066 ครั้ง


เจ้าแก้วนวรัฐประสูติเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๕ เป็นราชโอรสในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ ๗ ประสูติแต่แม่เจ้าเขียว และเป็นเจ้านัดดา (หลานปู่) ในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง) พระยาราชวงศ์นครเชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา ๑ พระองค์ คือ เจ้าหญิงจอมจันทร์ ณ เชียงใหม่ เมื่อโตขึ้นได้เลื่อนอิสริยยศตามลำดับ จนกระทั่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๔ จึงได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้านครเชียงใหม่ มีราชทินนามว่า เจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธ์อินทนันทพงษ์ ดำรงนพิสีนครเขตร ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี ท่านถึงแก่พิราลัย เมื่อเวลา ๒๑.๔๐ น. ของวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒ รวมระยะเวลาที่ทรงครองนคร ๒๘ ปี สิริพระชันษา ๗๖ ปี
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » จันทร์ 10 ก.ค. 2017 9:36 pm

เจ้าสร้อยดารา สิโรรส พระธิดาเจ้าบัวทิพย์กับ ร้อยตรี เจ้ากุย สิโรรส เจ้าสร้อยดารา สิโรรส ถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๑๐ ปี
เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ เป็นพระธิดาในเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ เกิดแต่เจ้าจามรีวงศ์ มีพี่น้องคือ เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) และเจ้าราชบุตร (วงษ์ตวัน ณ เชียงใหม่)

เจ้าสร้อยดารา สิโรรส.jpg
เจ้าสร้อยดารา สิโรรส.jpg (69 KiB) เปิดดู 12035 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 22 ก.ค. 2017 6:27 am

ชีวิตอันแสนเศร้าในวังหลวงของเจ้าหญิงดารารัศมี ทรงเผชิญปัญหาชีวิตอย่างหนัก จนบางครั้งอยากจะเสวยลูกลำโพงให้วิกลจริตไปเสียเพราะทน “มือมืด” แกล้งไม่ไหว เผื่อบางทีทางกรุงเทพฯ จะส่งกลับบ้าน

12299368_936315633112905_2393841821679279911_n.jpg
12299368_936315633112905_2393841821679279911_n.jpg (80.41 KiB) เปิดดู 12835 ครั้ง


ความรักยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาติไทย พิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระปิยมหาราช กับพระราชชายาเจ้าดารารัศมี แห่งราชวงศ์ฝ่ายเหนือ อันมีผลสืบเนื่องทางการเมืองที่มิได้มีความหมายถึงการสามารถรวมกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของผืนแผ่นดินในแหลมทองเท่านั้น แต่เป็นความรักความหลังอันแฝงด้วยการเมืองด้วยเอกราชอธิปไตยเป็นเดิมพันนี้ไม่เคยมีปรากฏเป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือเล่มใดมาก่อน และจะเป็นบันทึกหลักฐานแห่งเดียวของอนุชนรุ่นต่อไป

รอบๆ เมืองไทยสมัยนั้น สมัยที่เมืองเชียงใหม่ ยังต้องส่งราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพฯ เป็นประจำปี มีเหตุผันผวนยุ่งเหยิงอุบัติขึ้นทุกแห่งหน ทางด้านเหนือ ด้านตะวันตก และด้านใต้ของพรมแดนกำลังถูกย่ำยีบีฑาโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษอย่างน่า สะพรึงกลัว ทางด้านตะวันออกเล่า ฝรั่งเศสก็กำลังจะกลืนอินโดจีนอันรวมญวน – เขมร – ลาวเข้าไว้ ประเทศไทยในฐานแดนกันชนระหว่างสองพี่เบิ้มจึงพลอยร้อนระอุคุกรุ่น พยายามประคับประคองมิให้แผ่นดินต้องถูกแล่เนื้อเถือหนัง ถูกเชือดเฉือนประดุจบ้านใกล้เรือนเคียงให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงกระทำ อันพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าที่ทรงธำรงรักษาประเทศรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกาจะประจักษ์เห็นเด่นชัดในระยะนี้เอง ถ้ามิฉะนั้นแล้วลักษณะรูปขวานของประเทศไทยก็คงจะเว้าแหว่ง เพราะการบั่นทอนทำลายอย่างไม่น่าดู
ณ ที่นี้จะขอเริ่มต้นด้วยความรักในประวัติศาสตร์ตอนที่ยังมิมีผู้ใดทราบมาก่อน คือตอนพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เสด็จพระราชดำเนินสู่กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ก่อนพระราชพิธีอภิเษกอันเกริกเกียรติในพระราชวังหลวงนั้น

หลังจากขบวนเรือหางแมงป่องที่พาพระองค์พร้อมทั้งเจ้านายราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่ไปส่งถึงนครสวรรค์แล้ว เรือยนต์พระที่นั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดมารับก็พาพระองค์ท่านต่อไปยังพระนครศรีอยุธยาและมีพระตำหนักประทับพักร้อนที่บางปะอินก็มีพระราชพิธีรับขวัญ ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราช บรรดาเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีเสด็จมารออยู่ก่อนแล้ว เจ้านายองค์เล็กๆ ที่ไม่ยอมห่างสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็มีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระราชชายาได้รับพระราชทานเงินร้อยชั่ง และของถวายอื่นๆ อีกและมีการฉลองกินเลี้ยงใหญ่โตมโหฬาร

ครั้นขบวนเรือถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าจอดเทียบที่แพวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) มีเจ้านายต่างกรม ๒ – ๓ องค์ เสด็จมารับพร้อมทั้งเจ้านายฝ่ายกรมโขน กรม จากแพที่ประทับขบวนแห่พระราชชายาเข้าสู่พระบรมมหาราชวังเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ มีพนักงานชาววังถือหีบหมากเงินหีบหมากทอง กระโถนเงิน กระโถนทอง ตามเสด็จ มีเจ้าหญิงฝ่ายเหนือตามขบวนหลายองค์ อาทิ เจ้าข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่ เจ้าบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ขบวนได้ผ่านเข้าประตูอนงคมนตรีไปยังพระราชวังกรงนก เข้าประทับยังห้องสมเด็จ พระตำหนักภายในห้องประดับประดาแพรวพราวตระการตา ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ตอนนั้นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี มีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษาเท่านั้น

ชีวิตทุกชีวิตย่อมหลีกหนีความยุ่งยากไม่พ้น แต่ “แดดดีมีมาภายหลังฝน” ฉันใด พระราชชายาเจ้าก็ทรงประสบมรสุมทำนองเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพระสนมกำนัลภายในวังพากันอิจฉาตาร้อน คิดเสียว่าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีพื้นอยู่ทางภาคเหนือและคนทางเหนือในสมัยนั้น ได้รับการคบค้าสมาคมและต้อนรับจากภาคกลางอย่างต่ำต้อยด้อยหน้า เมื่อพูดถึง “ลาว” แล้ว เจ้าจอมหม่อมห้ามคงเข้าใจว่า สมเด็จพระปิยมหาราชก็คงจะทางเห็นด้วยกับการกระทำกลั่นแกล้งหยามเหยียดต่างๆ ที่พวกเธอทั้งหลายมีต่อพระราชชายาของพระองค์ ซึ่งวิธีการเล่นสกปรกต่างๆ ก็ทำให้พระราชชายาทรงรู้สึกกลัดกลุ้มรุ่มร้อนพระทัยเป็นยิ่งนัก

ตามคำบอกเล่าของท่านผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า แม้แต่ในขันทองสรงน้ำของพระองค์ก็มีกระดาษเขียนตัวอักษรเลขยันต์คล้ายคาถาอะไรวางอยู่ และน้ำในห้องสรงของพระองค์ก็ถูกโรยด้วยหมามุ่ย อยู่ดีๆ บางทีก็มีถุงเงินพระราชทานของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง มาวางอยู่ตามทวารห้องบรรทมเพื่อหาเรื่องให้พระราชชายาว่าขโมยมา อย่าว่าแต่อะไรเลยภายในสวนสวรรค์ข้างๆ พระตำหนัก ยังมีสิ่งปฏิกูลของมนุษย์ทิ้งเรี่ยราดอยู่ทั้งๆ ที่เจ้านายหญิงฝ่ายเหนือที่ติดตามรับใช้พระราชชายาจะคอยระแวดระวังพระองค์ท่านทุกฝีก้าวปกป้องผองภัยให้ตลอดเวลา จู่ๆ ก็มีตัวบุ้งตัวหนอนไต่ยั้วเยี้ยตามพระแท่นบรรทมเล็กหน้าห้อง สร้างความรำคาญพระทัยมิให้ให้พระองค์ทรงสุขเกษมได้เลย

บางทีพระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า “ เหม็นปลาร้า” บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ยิ่งกว่านั้นเครื่องเพชรอันหาค่ามิได้ของในหลวงก็มาปรากฏวางทิ้งอยู่ในพระตำหนักของพระราชชายา ผู้ที่ปรนบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงมีขันติอดทนอย่างน่าชมเชย พระองค์ท่านมิได้ทรงแพร่งพรายเรื่องราวอะไรต่างๆนานาให้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทราบเลย นอกจากบุคคลที่ใกล้ชิดยุคลบาทเพียงไม่กี่คน อาทิ คุณประภาส สุขุม ธิดาของเจ้าพระยายมราช เป็นต้น ข้ารับใช้จากฝ่ายเหนือก็มี แม่เขียว – เจ้าบึ้ง หรือ เจ้าหญิงบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นคู่ทุกข์คู่ยากของพระองค์แท้จริง

ด้วยเหตุนี้เอง พระราชชายาเจ้าดารารัศมีซึ่งไม่เคยลืมเจ้าหญิงบัวระวรรณ ณ เชียงใหม่ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ถึงจะมีอะไรหนักนิดเบาหน่อยพระองค์ก็ไม่ทรงถือสาหาเรื่อง ซึ่งถ้าเป็นบุคคลอื่นก็มีหวังถูกเฆี่ยนตีหรืออัปเปหิไปแล้ว แต่นี่พระองค์ทรงรำลึกถึงเหตุการณ์ในพระราชวังหลวงครั้งนั้น ครั้งถวายตัวต่อสมเด็จพระปิยมหาราชด้วยกัน และโดยเฉพาะก็ตอนที่พระองค์ได้รับความวิปโยคโศกศัลย์ต่างๆ จาก “มือมืด” ทั้งหลายนี่เอง

หลายครั้งที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงเหนื่อยหน่ายต่อชีวิตอันไม่เที่ยงแท้แน่นอน พระองค์ท่านมิได้ทรงคาดคิดมาก่อนว่า ขนาดพระองค์ท่านเป็นถึงพระธิดาของเจ้าผู้ครองนครที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ เป็นพระธิดาองค์เดียวที่เจ้าพ่อโปรดปรานที่สุด จะเรียกร้องต้องการสิ่งใดเป็นได้สมพระประสงค์ทุกสิ่งอัน ทรงจับจ่ายใช้สอยเงินทองได้อย่างเต็มที่ และทรงมีข้าราชบริพารรับใช้ปราศจากอนาทรร้อนใจ เหตุไฉนพระองค์จึงต้องทรงตกระกำลำบากเมื่อมาประทับในพระราชวังหลวง ซึ่งควรจะอบอุ่นหฤหรรษ์ ด้วยความรักยิ่งยวดที่สมเด็จพระปิยมหาราช ราชสวามีทรงมีต่อพระองค์

พระราชชายาบ่นกับผู้ใกล้ชิดว่า พระองค์ใคร่จะเสวยลำโพง (มะเขือบ้า) เป็นคนวิกลจริต แล้วทางกรุงเทพฯจะได้ส่งกลับนครเชียงใหม่บ้านเกิดให้รู้แล้วรู้รอด จะได้พ้นจากความลำบากยากแค้นเสียที และผู้ใกล้ชิดของพระองค์ได้ทัดทานไว้ว่าขอให้อดใจรอจนกว่าเหตุร้ายจะกลายเป็นดีในวันหนึ่ง ว่ากันว่าเจ้าจอมแส (ข้าหลวงของพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์หรือพระนางเรือล่ม) ที่โดยลำดับเครือญาติเป็นน้องหม่อมของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยยั่วเย้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมีว่าหน้าอกไม่สวย ซึ่งพระองค์ท่านก็มิได้ทรงตอบโต้ว่ากล่าวประการใด

อย่างไรก็ดี ความก็ล่วงรู้ถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนได้พระองค์ทรงเล็งเห็นความร้าวฉานภายในพระราชฐานว่าเรื่องนี้มิใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยเสียแล้ว ถ้าทรงขืนปล่อยไว้จะลุกลามไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในประเทศและอาจถึงระหว่างประเทศก็ได้ อันเป็นการขัดแย้งกับนโยบายที่พระองค์ทรงหวังตั้งพระทัยจะรวบรวมหัวเมืองเหนือมารวมกับส่วนอื่นๆ ให้เป็นประเทศไทยอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกเสียมิได้ และขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเล็งเห็นการณ์ไกลว่าถ้าหากมิเช่นนั้นแล้ว แผ่นดินล้านนาไทยทั่วภาคก็มีหวังถูกอังกฤษฮุบเอาเพราะประเทศอังกฤษในเวลานั้น ได้กลืนเอาภาคเหนือของประเทศพม่าเข้าไว้โดยเรียบร้อยยกให้เป็นมณฑลหนึ่งของอินเดีย นักการเมืองของอังกฤษผู้แสวงประโยชน์จากความเป็นทาสของชาวเอเชียกำลังจ้องมองดูหัวเมืองฝ่ายเหนือด้วยความพิสมัยใคร่ตะครุบเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้เองสมเด็จพระปิยมหาราชจึงทรงว่ากล่าวตักเตือนบรรดาเจ้าจอม หม่อมห้ามพระสนมกำนัลให้ยุติการกลั่นแกล้งทำพิเรนทร์ต่างๆ กระทบกระเทือนพระทัยพระราชชายาโดยเด็ดขาด

แล้วก็โดยไม่นึกฝันเช่นเดียวกัน ดังภาษิตอังกฤษว่า “ ภายหลังพายุร้ายก็ถึงซึ่งความสงบ” พระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ผ่านยุคเข็ญทารุณทางจิตใจและไม่มีผู้ใดกล้ากลั่นแกล้งทำให้เสียชื่อเสียงอีกเลย บุคคลที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับท่านกลับยิ้มแย้มแจ่มใสผูกสนิทชิดชอบและเป็นญาติดี ทั้งนี้รวมทั้งเจ้าจอมแสอีกคนหนึ่ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นับว่าทรงมีพระคุณต่อพระราชชายาอย่างยิ่ง เป็นที่ทราบกันภายหลังว่า พระองค์มิได้ทรงเชื่อหรือสนพระทัยกับการยุยงส่งเสริมจากพระสนมกำนัลเลย พระองค์ท่านทรงทราบดีว่าคุณธรรมของเจ้านายฝ่ายเหนือนั้นสูงส่งเกินกว่าที่จะมาทำเสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียงของราชวงศ์ ลักขโมยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ดุจดังที่พระราชชายาโดนกล่าวหามาแต่แรก

ที่มา หนังสือ เพชร์ลานนา
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 22 ก.ค. 2017 11:53 pm

เจ้าชายสายเลือดล้านนาที่ถูกลืม พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์

1509929_625796927524695_2475960156881626270_n.jpg
1509929_625796927524695_2475960156881626270_n.jpg (55.25 KiB) เปิดดู 13147 ครั้ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าหญิงทิพเกสร ผู้เป็นธิดาในเจ้าสุริยะ ณ เชียงใหม่ (โอรสเจ้าหนานมหาวงศ์ ณ เชียงใหม่) และเจ้าสุวัณณา ณ เชียงใหม่ (ธิดาในเจ้าอุตรการโกศล หรือ น้อยมหาพรหม ณ เชียงใหม่) จึงนับเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักร พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ นับเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรกและเป็นคนไทยคนที่ ๒ ที่จบการศึกษาในวิชาระดับปริญญาเอก พระนาม "ดิลกนพรัฐ" หมายถึง "ศรีเมืองเชียงใหม่"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๔๔ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทิพเกษร เจ้านายฝ่ายเหนือในราชวงศ์ทิพย์จักร ประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ขณะที่มีพระชนมายุได้เพียง ๑๖ พรรษา เจ้าจอมมารดาก็ได้ถึงแก่อนิจกรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เป็นต้นมา จึงทรงอยู่ในความดูแลของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา

พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐได้ทรงเสกสมรสกับเจ้าศิริมา ณ เชียงใหม่ พระญาติซึ่งกล่าวกันว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งเมืองเหนือที่มีพระสิริโฉมยิ่งนัก ทรงครองรักอยู่ได้ไม่นาน พระชายาก็ถึงแก่พิราลัยอย่างกะทันหัน ด้วยทรงเป็นตะคริวขณะกำลังสรงน้ำในสระน้ำภายในพระราชวังดุสิต พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเสียพระทัยอย่างมิอาจจะหักห้ามได้ ประชวรหนักและท้ายที่สุดได้ทรงตัดสินพระทัยปลงพระชนม์เองด้วยพระแสงปืนในวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕ หลังจากทรงกรมได้เพียง ๒ เดือนเท่านั้น สิริพระชนมายุ ๒๘ พรรษา แต่ในหนังสือ เลาะวัง ซึ่งเขียนโดยจุลลดา ภักดิภูมินทร์ (หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์) ให้ข้อมูลว่า "...ไม่ปรากฏว่าทรงมีหม่อมห้ามและโอรส ธิดา จึงไม่มีทายาทสืบสกุล" และ "ว่ากันว่า ทรงขัดข้องพระทัยเรื่องราชการงานเมือง เมื่อไม่ได้ดังที่ตั้งพระทัยดีเอาไว้ ก็ทรงน้อยพระทัย หุนหัน ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับรัก ๆ ใคร่ ๆ ส่วนพระองค์แต่อย่างใด"

วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๕ เสียงพระแสงปืนสนั่นก้อง พร้อมกับดวงพระวิญญาณที่ปลิดปลิวออกจากร่างของพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี ด้วยการปลง พระชนม์พระองค์เอง ซึ่งขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง ๒๙ ชันษา

พระประวัติโดยย่อของพระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ ได้ปรากฏในหนังสือ ราชกุลวงศ์ ตอน “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอและพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ ๕” (อ้างใน สุพจน์ แจ้งเร็ว. ศรีเมืองเชียงใหม่ ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗ หน้า ๙๒) ว่า “ที่ ๔๔ พระองค์เจ้าชายดิลกนพรัฐ ประสูติ ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้เสด็จไปทรงศึกษาในประเทศอังกฤษแลเยอรมันเป็นดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิสเซนชัพท์ ในมหาวิทยาลัยทุบบิงเงน ในรัชกาลที่ ๕ เป็นอำมาตย์เอก เจ้ากรมพลัมภังกระทรวงมหาดไทย ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสรรควิไสยนรบดี เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ และเลื่อนเป็นมหาอำมาตย์ตรี คงตำแหน่งในกระทรวงมหาดไทย สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชันษา ๒๙ ปี เจ้าจอมมารดาคือ เจ้าทิพเกสร ณ เชียงใหม่”จะเห็นว่า มีพระองค์เจ้าดิลกนั้น มีพระมารดา เป็นเจ้าหญิงจากเชียงใหม่ ในตระกูล “เจ้าเจ็ดตน” หรือ “ทิพจักราธิวงศ์” ซึ่งเมื่อสืบสายตระกูลของพระองค์ จากหนังสือ “เจ้าหลวงเชียงใหม่” จะได้ดังนี้ พระมารดาของพระองค์ ซึ่งก็คือ เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสร ซึ่งเป็นเจ้าหญิงจากเชียงใหม่พระองค์แรกที่ไปเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

เจ้าหญิงทิพย์เกสร ได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งก่อนหน้าที่เจ้าหญิงทิพเกสรเข้าถวายตัว ก็ได้ลงมาศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณี ของการอยู่ในพระราชสำนัก ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าจอมมารดาแพ) ทรงเป็นผู้อภิบาล และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต (โต มานิตกุล) เป็นผู้อุปการะเป็นบุตรีบุญธรรม ด้วยตอนแรก ซึ่งตอนนี้ เจ้าจอมเจ้าทิพเกสรเป็นเจ้าจอมเพียงพระองค์ ที่ถือว่า มาจากที่อื่น ในตอนนั้นชาววังรู้จักล้านนา แต่เพียงว่า “ลาว” โดยที่ไม่รู้ว่า ล้านนา กับ ลาว นั้น แตกต่างกันอย่างไรบ้าง … และคำว่า ”ลาว” ในความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ เวลานั้น เห็นเป็นเพียง “อีกินกิ้งก่ากินกบ” เจ้าหญิงทิพเกสรนั้นเชื่อแน่ว่า ทรงได้รับการดูหมิ่นเหยียดยามจากบรรดาเจ้าจอมต่าง ๆ เป็นแน่ ซึ่งหลังจากนั้น ครั้นเมื่อเจ้าหญิงดารารัศมี ซึ่งมีศักดิ์เป็นถึงธิดาเจ้าหลวงเชียงใหม่ เข้ามาถวายตัวก็ไม่เว้นที่จะถูกกลั่นแกล้งต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น มีกระดาษที่เขียนอักษรเลขยันต์อยู่ในขันทองสรงน้ำ และน้ำในห้องสรงก็ถูกโรยด้วยหมามุ่ย หรือแม้แต่ใส่ร้ายป้ายสีว่าขโมยถุงเงินของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็มี เป็นต้น

เมื่อเจ้าจอมเจ้าทิพเกสรประสูตพระราชโอรส ในปี ๒๔๒๗ ด้วยเหตุที่มีสายพระโลหิตสัมพันธ์กับเจ้านายฝ่ายเหนือ พระองค์จึงได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า “ดิลกนพรัฐ”จดหมายเหตุ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิรุณหิศฯ ทรงบันทึกเมื่อพระชันษา ๖ พรรษาไว้ตอนหนึ่งว่า “วันอังคาร วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๗

สองโมงเช้าไปอ่านหนังสือ เลิกสามโมงนาน ให้แก้วเกล้าจุกแล้วกลับมาตำหนัก บ่ายสี่โมงนานไปบน เฝ้าที่ออกขุนนาง เสด็จขึ้นเกือบค่ำ เสด็จลงสมโภชน้องชายลูกทิพเกสร ทูลหม่อมบนประทานชื่อว่า ดิลกนพรัฐ สมเด็จแม่ทรงแปลประทานเราว่า ศรีเมืองเชียงใหม่ สมโภชเสร็จ เสด็จที่หอ ประทับตรัสกับเจ้านาย ทูลเหม่อมอาองค์น้องก็เสด็จมา เรากลับมาตำหนักนอนสี่ทุ่ม ฟังป้าโสมอ่านหนังสือสามก๊ก”
งานสมโภชที่ทรงบันทึกนั้น ก็คือ สมโภชเดือน พระชันษาครบ ๑ เดือนเต็ม และพระนามที่พระราชทาน อันมีความหมายว่า ศรีเมืองเชียงใหม่ นั้น นับว่าแสดงถึงความผูกพันระหว่าง สยาม กับ ล้านนา อันมีเชียงใหม่เป็นประธาน ทั้งนี้เนื่องจากว่า มีพระมารดา เป็นสายสกุล “ณ เชียงใหม่”และในอีกแง่หนึ่งก็คือการผสานความสัมพันธ์ในด้านการเมืองระหว่างสยามและล้านนาไปในตัวอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นศิษย์ของแหม่มแอนนา เลียวโนเวน ทรงศรัทธาในความเจริญก้าวหน้าทุกประการของยุโรป ฉะนั้น จึงทรงส่งพระราชโอรส ออกไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เพื่อนำเอาความเจริญต่าง ๆ มาพัฒนาสยามประเทศต่อไป

สำหรับพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐนั้น เสด็จไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ระหว่างเดือน เมษายน ถึงเดือน ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งขณะนั้น พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้มีพระชันษาครับ ๑๓ ปีบริบูรณ์ การเสด็จประพาสยุโรปในครั้งนั้นได้มีพระราชโอรสติดตามไปด้วย ๔ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย (กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์), สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร (กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์) ,พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) และ พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์(กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี)

เมื่อ ถึงอังกฤษ พระองค์เจ้าดิลกได้ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียน วอร์เรนฮิลล์ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก่อนที่จะย้ายไปที่โรงเรียนมัธยมชาร์เตอร์เฮ้าส์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากยุโรปในการเสด็จประพาสครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงทรงมีพระราชหัตเลขาถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เมื่อครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิ-สุทธสุริยศักดิ์ (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) มีข้อความที่บ่งชี้พระบรมราโชบาย และพระราชดำริในเรื่องการศึกษาของพระราชโอรส ได้ทรงมีรับสั่งถึงพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ไว้ดังนี้ "ยังมีอีกคนหนึ่ง ชายดิลก เป็นคนตาสั้นข้างหนึ่ง ตามตำราเขาก็จะไม่เอาเป็นทหารกันอยู่ ควรจะจัดให้เล่าเรียนฝ่ายพลเรือน ดิลกนั้นเป็นคนมีความขยันเล่าเรียน มีไอเดียเป็นลาว ๆ อยู่บ้าง ถ้ามีไม่ความรู้อาจจะฟุ้งซ่านได้เล็กน้อย แต่เป็นคนไม่สู้กล้า ยังจะเอาเป็นแน่ไม่ได้ ด้วยอยู่ในเวลากำลังที่จะเปลี่ยนแปลง นี่แลเป็นการที่สังเกตได้ในอัธยาศัยทั้งเก่าทั้งใหม่ดังนี้ แต่ต้องสังเกตเมื่อเวลาเจริญขึ้นต่อไป เมื่อตรวจเห็นผิดถูกประการใด ขอให้บอกมาให้ทราบ และคอยสังเกตตาไว้ จัดการป้องกันแลแก้ไขเข้าหาให้ทางที่จะเสียหย่อนไป ให้สิ่งที่หย่อนอยู่เจริญขึ้น” จากข้อความที่ว่า “มีไอเดียเป็นลาว ๆ อยู่บ้าง” จะเห็นว่า แม้แต่พระราชบิดาเอง ยังมองพระราชโอรสแบบแปลกแยกแตกต่างกับชาวสยามอยู่นั่นเอง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๔ นี้ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้ทรงมีเรื่องขัดแย้งกับพระยาประสิทธิศัลยการ และนายเวอร์นี ในเรื่องโรงเรียนที่ผู้ดูแลฯ จัดให้ทรงเข้าศึกษา ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ย้ายสถานที่ศึกษาจากอังกฤษ ไปที่เยอรมนีในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ในช่วงสองปีแรกที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศเยอรมนี ได้ทรงเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมในโรงเรียนที่ เมือง “ฮาลเล” ภายใต้การควบคุมของ ดร.ตริน ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน ทรงอุตสาหะวิริยะเล่าเรียนทั้งภาษาเยอรมันจนแตกฉานและสำเร็จชั้นมัธยมภายใน เวลาเพียง ๒ ปีเท่านั้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๖ ซึ่งพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐมีพระชันษาได้ ๑๙ ปีบริบูรณ์ พระองค์ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมิวนิค ในหลักสูตรวิชา “เศรษฐศาสตร์การเมือง” หรือที่รู้จักกันดีในสมัยนี้ว่า “เศรษฐศาสตร์” พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงค้นคว้าเพื่อเรียบเรียงวิทยานิพนธ์เรื่อง “เกษตรกรรมในสยาม : บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจของราชอาณาจักรสยาม”(Landwirtschaft in Siam : Ein Beitrag Zur Wirtschaftsgeschichte des Königreichs Siam) ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ซึ่งในด้านเอกสารข้อมูล ทรงรวบรวมจากกระทรวงเกษตราธิการ ส่งไปถวายจากสยาม ตลอดจนหนังสือและเอกสารต่าง ๆ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นภาษาเยอรมัน อังกฤษ และ ฝรั่งเศส หลังจากที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมิวนิคเป็นเวลา ๒ ปี ก็ทรงย้ายไปศึกษาต่อในแขนงเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยทึบบิงเงน ทางตอนใต้ของเยอรมนี ซึ่ง ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พระองค์ได้ทรงสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรปริญญาดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า“ดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิสเซนชัฟท์” คือ ดุษฎีบัณฑิตของรัฐในวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งที่โดดเด่นนั้น พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกทางเศรษฐศาสตร์และเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษาวิจัยสถานภาพและปัญหาเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ซึ่งนักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจทุกชาติที่สนใจประเทศไทย ต้องนำพระวิทยานิพนธ์ของ “ปรินซดิลก ฟอนสิอาม” มาศึกษา และทรงเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับปริญญาในระดับดุษฎีบัณฑิต ส่วนคนที่ได้มาก่อนนั้นเป็นสามัญชน ชื่อ ดร.ชู ในวิชา “เศรษฐศาสตร์” นี้ มีพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ที่ทรงศึกษาด้านนี้ หนึ่งก็คือ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ส่วนอีกพระองค์หนึ่งก็คือ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ซึ่งทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ โดยจะทรงศึกษาในช่วงทศวรรษสุดท้ายของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ส่วนพระองค์เจ้าดิลกฯ นั้นได้ทรงศึกษาในช่วงทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และการศึกษาวิชา “เศรษฐศาสตร์” ของทั้งสองพระองค์ก็แตกต่างกัน โดยศึกษาคนละส่วน โดยที่พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถนั้น ทรงเอาใจใส่ในส่วนทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์ อุปทาน การผลิต การบริโภค เป็นต้น ส่วนพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐนั้น ทรงใส่ใจในเรื่องของความยากจน การด้อยการพัฒนา โดยอาศัยจากการผสมระหว่าง สังคม เศรษฐกิจและการปกครอง หนึ่งนั้นเหมาะสำหรับรับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และหนึ่งเหมาะสำหรับรับผิดชอบความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท และทั้งสองแง่นี้มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นอย่างมากไม่ ว่าจะเป็นในสมัยไหน

หลังจากที่กลับถึงกรุงเทพฯ ในปลายปี ๒๔๕๐ ก็ได้เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่ง “ปลัดกรมพิเศษ” แผนกอัยการต่างประเทศ แล้วย้ายไปเป็น “ปลัดสำรวจ” กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ และต่อมาก็ดำรงตำแหน่ง “เจ้ากรมเลขาณุการ” ปฏิบัติงานขึ้นตรงต่อเสนาบดีการกลับมาของพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ หลังจากไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างประเทศ แล้วกลับมารับราชการสนองพระเดชพระคุณ นำมาซึงความปลาบปลื้มยินดีแก่พระมารดาเป็นที่ยิ่ง แต่เสียดายที่พระมารดาได้มีโอกาสเห็นความสำเร็จของลูกรักได้เพียงปีเดียว เท่านั้นก็ประชวร และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๐ ขณะมีพระชนมายุเพียง ๓๘ พรรษา

เจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรเป็นเจ้าหญิง จากเชียงใหม่ ฉะนั้นพระญาติและผู้ที่คุ้นเคยจึงมีน้อย ก็จะมีเพียงแต่ บุตร...ดร.ดิลกฯ และ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี เท่านั้น ที่เป็นเรี่ยวแรงในการจัดพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เล็งเห็นเหตุนี้ด้วย จึงมีพระบัญชาไปยังอธิบดีหญิงกรมหลวงพิทยรัตน์กิริฎกุลินี เนื่องจากเกรงว่าจะมีเจ้าจอมหม่อมห้ามมาร่วมงานน้อยในวันนั้นว่า งานศพนางทิพนี้ไม่มีญาติพี่น้อง จะมีก็นางดาราไปแกร่วอยู่คนเดียว ฉันเห็นว่าเงียบนัก ขอให้เจ้านายลูกเธอและเจ้าจอมมารดา เจ้าจอมอยู่งานชั้นพวกสูงที่ชอบพอกันไปช่วยบ้าง ตามแต่ใจที่เขาจะไปจะเป็นการช่วยองค์ดิลก แต่เจ้านายพี่นางน้องนางไว้แต่วันเผา เพราะถ้ามากนักจะขนลำบาก งานพระศพของเจ้าจอมมารดาเจ้าทิพเกสรนี้ได้รับพระกรุณาจากพระสวามีและบรรดาเจ้าจอมต่างๆ ที่มาช่วยงาน จึงผ่านไปด้วยดี พระองค์เจ้าดิลกนพรัตน์ได้เสกสมรสกับเจ้าศิริบังอร ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าธรรมวงษา (เจ้าธรรมวงษาเป็นบุตรชายของเจ้าอุบลวรรณา พระเจ้าน้าหญิงองค์เดียวของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี) ทั้งสองไม่มีโอรสหรือธิดาสืบสกุล

ต่อมาในปี ๒๔๕๓ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ก็ได้รับพระราชทานยศเป็น “อำมาตย์เอก” (เทียบยศทหารพลตรี) และดำรงตำแหน่ง “เจ้ากรมพลำภัง”และในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ก็ทรงสูญเสียพระราชบิดาในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่ทรงสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักทั้งสองพระองค์ในเวลาห่างกันไม่กี่ปี …แต่ความโศกาดูรไม่ได้หมดลงเพียงแค่นั้นไม่ ในปีถัดมาหลังจากพี่พระราชบิดาสวรรคต เจ้าหญิงศิริบังอร พระชายา ได้สิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุตกน้ำในสระในพระตำหนัก… แม้ว่าจะทรงประสบแต่เรื่องที่เศร้าโศกเสียใจเพียงใด ก็มิทรงที่จะท้อถอย ย่นย่อแต่ประการใด พระองค์ทรงวิริยะอุตสาหะตั้งใจปฏิบัติราชการอย่างเต็มพระสติกำลัง หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงลาเพื่อจะกลับไปพำนักอยู่ที่ภูมิลำเนายังดินแดนล้านนา และในครั้งนี้ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้ทรงตามเสด็จมาเยือนเชียงใหม่ อันเป็นมาตุภูมิของพระมารดาเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

ต่อมาในเดือน พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม ดังมีข้อความในประกาศว่า “จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี อัชนาม ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมในพระบรมมหาราชวัง จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติสรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคล วิบุลยศุภผลมโหฬารทุกประการ ให้ทรงตั้งเจ้ากรมเป็น หมื่นสรรควิสัยนรบดี ถือศักดินา ๖๐๐ ให้ตั้งปลัดกรม เป็น หมื่น อุไทยธานีนรสมาคม ถือศักดินา ๕๐๐ ให้ทรงตั้งสมุห์ยัญชี เป็น หมื่นมโนรมนรานุรักษ์ ถือศักดินา ๓๐๐” หลังจาก “ทรงกรม” เพียงสองเดือนถัดมา พระเจ้าน้องยาเธอฯ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดีก็ทรงปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยพระแสงปืน ด้วยพระชันษาเพียง ๒๘ หลังจากที่สิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามเป็น “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ” เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ พร้อมกับการสิ้นพระชนม์ บรรดาความรู้และแนวคิดทั้งหลายทั้งปวง อันเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของสยามที่กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี ได้ทรงค้นคว้าวิจัย จนกระทั่งมาสัมผัสครั้งเมื่อรับราชการในกระทรวงมหาดไทย ก็มลายหายไปด้วย แต่โชคยังดีที่ทางประเทศเยอรมนี กำหนดให้ผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับ “ดอกเตอร์ของรัฐ” ต้องพิมพ์วิทยานิพนธ์เผยแพร่ไปตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่งโลก สำหรับวิทยานิพนธ์ของพระองค์นั้น เป็นรูปเล่มที่เป็นหลักเป็นฐาน ด้วยมีเนื้อหาถึง ๒๑๖ หน้า และตารางแผ่นพับขนาดใหญ่อีก ๘ แผ่น ศ.ดร.ฉัตร ทิพย์ นาถสุภา และ ศ.ดร.ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ หลังจากได้อ่า “เกษตรกรรมในสยามฯ”แล้วได้วิเคราะห์โดยสรุปว่า “หลังจากที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ได้ทรงนิพนธ์งานวิทยานิพนธ์เรื่องดังกล่าวเสร็จไปเพียง ๓ – ๔ ปีก็เกิดกรณี “ขบถ ร.ศ. ๑๓๐ ” ขึ้น และหลังจากนั้นเพียง ๒๕ ปี ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งการปฏิวัติทั้งสอง มีวัตถุประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนาไทย เห็นชัดว่าปัญหาความยากจนของชาวนาไทยที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงมองเห็นก่อนใครๆ และทรงเสนอมาตรการปฏิรูปเป็นประเด็นรากฐานของสังคมไทยต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงพระองค์แรกๆ ที่มีความคิดก้าวหน้า” (ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร)

สำหรับเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่สุพจน์ แจ้งเร็ว ได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “ศรีเมืองเชียงใหม่” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๗ ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๒๗ ระบุไว้ว่า เมื่อปี ๒๔๕๓ ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ วันหนึ่ง หลังจากที่ทรงไปร่วมงานพระราชพิธี ได้ขับรถเพื่อเสด็จกลับวัง พอถึงมุมวังเปรมประชากร ของกรมหลวงชุมพรฯ รถรางซึ่งแล่นมาเร็วเต็มที่ และมิได้ให้สัญญาณก็พ้นมุมออกมา พอชนเอารถของพระองค์ตกลงไปในคลอง ทั้งพระองค์และมหาดเล็กไม่บาดเจ็บอะไรนักนอกจากฟกช้ำดำเขียว ฉลองพระองค์เต็มพระยศได้กันกระจกที่แตกละเอียดไว้ได้ สิ่งแรกที่ขึ้นมาจากคลอง แทนที่จะตั้งศาลเตี้ยชำระความ แต่กลับไปแจ้งความที่โรงพักเพื่อให้ตำรวจตัดสินคดี ซึ่งผิดวิสัยของเวลานั้น ซึ่งเป็นอย่างที่ ส.ธรรมยศ กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ดร.ดิลกแห่งสยาม” ว่าพระองค์ เป็น “เจ้าอย่างสามัญชน” ไม่โปรดคำราชาศัพท์ ชอบคุยเรื่องต่างๆสนุกสนาน

ส. ธรรมยศ กล่าวไว้ในบทความเรื่องดังกล่าวว่า การที่พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ ต้องปลงพระชนม์พระองค์เองนั้น เนื่องจากสภาพความกดดันต่างๆ มากมายในสมัยนั้น หนึ่งด้วยการที่พระองค์มีดีกรีเป็นถึง ดอกเตอร์ ซึ่งเจ้านายในสมัยนั้น ไม่มีใครที่ได้ดีกรีถึงขั้นนี้ อย่างมากก็แค่ปริญญาโทเท่านั้นเอง ความอิจฉาริษยาของผู้คนรอบข้าง มักจะนำมาซึ่งความเดือนเนื้อร้อนใจอยู่เสมอ ๆ และประเด็นใหญ่ก็ด้วยเหตุที่พระองค์ มีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากเชียงใหม่ ซึ่งในขณะนั้นสยามยังมองเชียงใหม่ว่า เป็น “ลาว” ความแตกต่างทางเชื้อชาติ ระหว่างสยามและล้านนายังมีอยู่ในใจลึก ๆ ของชาวสยามอยู่นั่นเอง จนถึงขั้นที่กล่าวหาพระองค์เจ้าดิลกนพรัฐว่า จะคิดแยกล้านนาออกจากสยามประเทศ ซึ่งทำให้พระองค์ช้ำใจมาก ทั้งที่พระองค์ได้เสด็จไปดินแดนล้านนาเพียงครั้งเดียว ซึ่งข้อกล่าวหานี้จะเป็นเพียงเพราะที่พระองค์มีพระมารดาเป็นชาวเชียงใหม่เท่านั้นเอง ทว่าข้อหานี้เป็นข้อหาที่หนักหน่วงเอาการ ความทุกข์ ความกดดันกับมรสุมที่เข้ามาในชีวิต และการที่ต้องฟันฝ่ากับการดูหมิ่นเหยียดหยามจากชาวสยามในสมัยนั้นจนประสบความสำเร็จยิ่งกว่าใคร คงทำให้พระองค์ทรงเศร้าหมอง จนทำให้ตัดสินพระทัยปลิดพระชนม์ชีพไปขณะที่อยู่ในวัยอันน้อยนิด ซึ่งนับเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ที่มา หนังสือ ราชกุลวงศ์, วิกิพีเดีย ,http://atcloud.com/stories/๘๔๗๐๗
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 23 ก.ค. 2017 2:38 pm

พญามังรายปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา

พญาล้านนา_resize.jpg
พญาล้านนา_resize.jpg (24.28 KiB) เปิดดู 13144 ครั้ง


พญามังราย เป็นราชโอรสของพระเจ้าลาวเมงแห่งราชวงศ์ ลวจังกราชผู้ครองหิรัญนครเงินยาง กับพระนางอั้วมิ่งจอมเมืองหรือพระนางเทพคำขยาย ราชธิดาของท้าวรุ่งแก่นชายเจ้าเมืองเชียงรุ้ง พระองค์ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุนเอกศกจุลศักราช ๖๐๑ ตรงกับพุทธศักราช ๑๗๘๑ เมื่อมีพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระบิดาได้สู่ขอ ธิดาเจ้าเมืองเชียงเรืองมาเป็นคู่อภิเษกแล้วโปรดให้ราชบุตรมังรายเป็นมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าลาวเมงสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๘๐๒ ราชบุตรมังรายราชโอรสจึงได้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางสืบแทน ในขณะที่มีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา

ครั้งนั้น เมืองเล็กเมืองน้อยต่าง ๆ ในแคว้นลานนาเกิดแตกความสามัคคี ต่างตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ทั้ง ๆ ที่เจ้าเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นพระญาติของพระองค์ คือสืบเชื้อสายมาจาก ลั๊วจักราชด้วยกัน พญามังรายจึงมีพระดำริที่จะรวบรวมเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน เพื่อความสงบสุขของอาณาประชาราษฎร์ซึ่งต่างก็เป็นชาวล้านนา ดังนั้นจึงมีใบบอกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระให้มาอ่อนน้อม เมืองใดแข็งข้อก็ส่งกองทัพไปปราบ ตีได้เมืองมอบเป็นเมืองแรก ต่อมาได้เมืองไร เมืองเชียงคำ ให้ถอดเจ้าผู้ตรองนครออกแล้วแต่งตั้งขุนนางอยู่รั้งเมืองแทน แต่นั้นมาหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายต่างพากันมาสวามิภักดิ์โดยสิ้นเชิง

เมื่อรวบรวมหัวเมืองฝ่ายเหนือได้แล้ว ก็คิดจะยกทัพไปปราบหัวเมืองฝ่ายใต้ต่อไป ในปี พ.ศ. ๑๘๐๕ ขณะยกทัพไปถึงเมืองลาวกู่เต้าและประทับบอยู่ที่นั่น เผอิญช้างทรงของพระองค์ซึ่งทอดไว้ที่ป่าหัวดอยทางทิศตะวันออก หลุดพลัดไป พระองค์จึงเสด็จตามรอยช้างไปจนถึงดอยจอมทอง ริมฝั่งแม่น้ำกก ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศเป็นชัยภูมิที่ดี จึงได้โปรดให้สร้างพระนครขึ้น โดยก่อกำแพงโอบรอบ เอาดอยจอมทองไว้ภายในขนานนามว่า เมืองเชียงราย แล้วให้ย้ายราชธานีจากเมืองหิรัญนครเงินยาง มาตั้งอยู่ที่เชียงรายนับแต่นั้นมา

ในปี พ.ศ. ๑๘๑๙ พญามังรายได้ยกกองทัพไปประชิดเมืองพะเยา พญาเมือง ผู้ครองเมืองพะเยาออกมารับเสด็จด้วยไมตรีและยกตำบลบ้านปากน้ำให้แก่พญามังรายแล้วปฏิญาณเป็นมิตรกัน ต่อมาอีกราว ๔ ปี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย พญางำเมือง และพญามังราย ได้กระทำสัตย์ปฏิญาณเป็นพระสหายกัน โดยทรงเอาโลหิตที่นิ้วพระหัตถ์ผสมกับน้ำสัตย์เสวยทั้งสามพระองค์สัญญาว่าจะไม่เบียดเบียนกันตลอดชีวิตและในปี พ.ศ. ๑๘๓๔ พญามังรายเสด็จไปสร้างเมืองใหม่ที่เชิงดอยสุเทพ ใช้เวลาสร้างนาน ๕ ปี พ.ศ. ๑๘๓๙ จึงเสด็จและสถาปนานครแห่งนี้ว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่"

ด้วยพระปรีชาสามารถพระราชกรณีกิจของพระองค์จึงมีมากมาย ดังนี้

๑. ทรงสร้างเมืองเอกในแว่นแคว้นถึง ๓ เมืองได้แก่
เมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๕
เมืองกุมกาม (ปัจจุบันคืออำเภอสารภีจังหวัดเชียงใหม่) เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๙
เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๔

นอกจากนั้น พระองค์ยังได้ทรงบูรณะเมืองหิรัญนครเงินยาง และในปี พ.ศ.๑๘๑๑ได้บูรณะเมืองฝางเพื่อใช้เป็นที่ชุมนุมไพร่พลของพระองค์ (ซึ่งแต่เดิมเมืองฝางตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองหิรัญนครเงินยางมาก่อน) และโปรดให้ขุนอ้ายเครือคำลก หรือขุนเครื่อง ราชโอรสองค์ใหญ่ไปครองเมืองฝาง

๒. ทรงแผ่พระเดชาในทางการรบ กล่าวคือหลังจากได้ส่งกองทัพไปปราบเมืองมอบ เมืองไร และเมืองเชียงคำได้แล้ว ในปี พ.ศ. ๑๘๒๔ ตีเมืองหริภุญชัยจากพระยายีบา กษัตริย์ขอม พระยายีบาหลบหนีไปอยู่กับพระเบิกที่นครเขลางค์พ.ศ. ๑๘๒๘ พระยายีบาและพระยาเบิกยกทัพขอมมาเพื่อตีเมืองหริภุญชัยคืน พญามังรายจึงทรงแต่พระโอรสคือ ขุนคราม ยกทัพออกไปต้านทาน ได้รบกับพระเบิก และจับพระยาเบิกสำเร็จโทษ พระยายีบารู้ข่าวว่าเสียบุตรจึงทิ้งเมืองเขลางค์หนีไปพึ่งพระยาพิษณุโลก เจ้าขุนครามจึงได้เมืองเขลางค์อีกเมืองหนึ่งนับว่าดินแดนภาคเหนือทั้งหมดพญามังรายได้ครอบครองโดยทั่วอาณาจักรลานนาในรัชสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างไกลดังนี้

ทิศเหนือ จด สิบสองปันนา
ทิศใต้ จด อาณาจักรสุโขทัย
ทิศตะวันออก จด แคว้นลาว
ทิศตะวันตก จด แม่น้ำสาละวิน

พ.ศ. ๑๘๒๙ ยกทัพไปตีเมืองหงสาวดีพระเจ้าหงสาวดีเจงพยุเจง เกรงพระบารมีจึงแต่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายขอเป็นไมตรีโดยยกพระราชธิดาพระนามว่านางปายโค (ตะละแม่ศรี) ให้เป็นบาทบริจาริกาแด่พญามังราย

พ.ศ. ๑๘๓๒ ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระเจ้าอังวะให้ราชบุตรนำเครื่องบรรณาการมาต้อนรับขอเป็นไมตรี

๓. ทรงนำความเจริญในด้านศิลปกรรม เกษตรกรรม และพาณิชยกรรมมาสู่แคว้นลานนา โดยเมื่อครั้งที่ยกทัพไปตีเมืองพุกาม พระองค์ได้นำช่างฝีมือต่าง ๆ เช่น ช่างฆ้อง ช่างทอง และช่างเหล็ก ชาวพุกามเข้ามาฝึกสอนขาวลานนาไทย จึงเข้าใจว่าศิลปต่าง ๆ ของพุกามที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบันน่าจะเริ่มมาแต่นั้นเมื่อจำนวนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์มีมากขึ้น ก็ทรงจัดหาทำเลที่เหมาะสมในการเกษตรและการค้าเพื่อให้มีอาชีพทั่วหน้า

๔. ทรงเป็นนักปกครองที่สามารถและประกอบด้วยคุณธรรมสูงส่ง พญามังรายทรงเลื่อมในและศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยเป็นองค์ศาสนูปถัมภกและทรงนำหลักธรรมทางศาสนามาใช้ในการปกครองราษฎรของพระองค์ได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขมีศีลธรรมอันดีมีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี แก่คนทั่ไปซึ่งเป็นมรดกด้านคุณธรรมที่ตกทอดถึงลูกหลานชาวลานนา จนตราบเท่าทุกวันนี้ แม้ว่าพระองค์ทรงเป็นนักรบผู้แกล้วกล้า แต่การใดที่เป็นทางนำไปสู่ความหายนะเป็นเหตุให้เสียเลือดเนื้อระหว่างคนไทยด้วยกัน พระองค์จะทรงหลีกเลี่ยง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงรับไมตรีจากเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ และการกระทำสัตย์ปฏิญาณระหว่างสามกษัตริย์ดังกล่าว

พระปรีชาสามารถในด้านการปกครองอีกเรื่องหนึ่งได้แก่ การวางระเบียบการปกครองหรือกฎหมายที่ทรงตามขึ้นไว้เป็นพระธรรมศาสตร์ ใช้ในการปกครองแผ่นดิน เรียกว่า กฎหมายมังรายศาสตร์ เพื่อให้ลูกขุนใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาในการพิพากษาผู้กระทำผิดสมควรแก่โทษานุโทษโดยมิให้เลือกเห็นแก่หน้าว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย หัวหมู่ หรือไพร่น้อยเมื่อกระทำผิดย่อมต้องได้รับโทษเช่นเดียวกัน

พญามังรายสวรรคตขณะเสด็จประพาสกลางเมืองเชียงใหม่ โดยถูกอสุนีบาตตกต้องพระองค์เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๖๐ รวมพระชนม์มายุได้ ๘๐
พรรษา

ที่มา http://www.chiangraifocus.com (นำมาปรับข้อมูลบางอย่างตามความเหมาะสมค่ะ)
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 23 ก.ค. 2017 2:50 pm

พระเจ้าติโลกราช(มหาราชแห่งล้านนา)

1385422601.jpg
1385422601.jpg (56.98 KiB) เปิดดู 12987 ครั้ง


พระเจ้าติโลกราช ทรงเป็น กษัตริย์พระองค์ที่เก้า แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ปกครองนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าลก (แปลว่า ๖ ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. ๑๙๕๒ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ ๖ ของพระเจ้าสามฝั่งแกน ครั้นเมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชันษาถึงกาลสมควร พระราชบิดาก็ทรงโปรดให้ไปครองเมืองพร้าววังหิน(ปัจจุบันคือ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่) ต่อมาเกิดราชการสงครามขึ้น ทัพของเจ้าลกยกไปสมทบพระราชบิดาช้า พระเจ้าสามฝั่งแกนจึงลงพระราชอาญา เนรเทศให้เจ้าลกไปครองเมืองยวมใต้(อำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน) ต่อมามีอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ สามเด็กย้อย คิดเอาราชสมบัติให้เจ้าลก จึงได้ซ่องสุมกำลังและลอบไปรับเจ้าลกจากเมืองยวมใต้มาไว้ที่เชียงใหม่ ในขณะที่พญาสามฝั่งแกนได้แปรพระราชฐานไปอยู่ที่เวียงเจ็ดริน เชิงดอยสุเทพ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ก่อการก็ยกกำลังไปเผาเวียงเจ็ดรินแล้วจึงบังคับให้พระเจ้าสามฝั่งแกนสละราชย์ จากนั้นจึงไปกราบทูลเชิญเจ้าลก มาขึ้นเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. ๑๙๘๕ โดยทรงมีพระนามว่า พระมหาศรีสุธรรมติโลกราช เมื่อทรงมีพระชนมายุ ๓๒ พรรษา ส่วนพระราชบิดานั้น พระเจ้าติโลกราชทรงโปรดให้ไปประทับอยู่ที่เมืองสาดในรัฐฉาน ประเทศพม่า และปูนบำเหน็จความชอบสามเด็กย้อยเป็น “เจ้าแสนขาน” แต่อยู่มาได้เพียง ๑ เดือน ๑๕วัน เจ้าแสนขานก็คิดก่อการเป็นกบฎอีก พระเจ้าติโลกราช จึงให้หมื่นโลกนคร พระเจ้าอาของพระองค์ ผู้ครองเมืองลำปาง เข้าจับตัวเจ้าแสนขานไปคุมขังแต่ไม่ให้ทำร้าย เมื่อพ้นโทษได้ลดยศเป็น หมื่นขาน และให้ไปครองเมืองเชียงแสน หลังขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีชัยชนะเหนือกองทัพอโยธยาของพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพระยา)ที่ยกมารุกราน จากนั้นจึงทรงขยายแสนยานุภาพไปยึดครองเมืองน่านและเมืองแพร่ได้สำเร็จ ทำให้เชียงใหม่สามารถรวมดินแดนทั้งหมดในล้านนาให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ ก่อนจะขยายอาณาเขตต่อไปถึงแคว้นเชียงรุ่งสิบสองปันนา แคว้นเชียงตุงและหัวเมืองไทใหญ่ทั้งสิบเอ็ดหัวเมืองในเขตรัฐฉานทางภาคตะวันออก รวมทั้งยังแผ่อำนาจเข้าครอบงำอาณาจักรล้านช้าง อีกทั้งยังทำสงครามได้ชัยชนะเหนือกับกองทัพจีนจากมณฑลยูนนานที่ยกมารุกรานล้านนาอีกด้วย

ใน ปี พ.ศ.๑๙๙๔ พญาสองแคว ยุทธิษเฐียร ได้แปรพักดิ์จากอโยธยามาขอสวามิภักดิ์ต่อล้านนา ครั้น เมื่อทางอโยธยาทราบเรื่อง จึงยกทัพมาตี เมืองสองแคว ทว่าพญาสองแควได้อพยพผู้คนมาพึ่งพระเจ้าติโลกราช และจากนั้น สงครามระหว่างเชียงใหม่กับอโยธยาก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง

โดยในช่วงแรกนั้น กองทัพเชียงใหม่ สามารถยึดเมืองเชลียง หรือ ศรีสัชนาลัยได้ จนในปี พ.ศ. ๒๐๐๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งอโยธยาต้องใช้วิธีออกผนวชและส่งสมณทูตมาขอบิณฑบาตรเมืองคืน แต่ พระเจ้าติโลกราชไม่ทรงคืนให้ ด้วยเห็นว่ามิใช่กิจของสงฆ์

ต่อมา ทางอโยธยาได้วางอุบายส่งไส้ศึกมาสร้างความปั่นป่วนในเมืองเชียงใหม่ โดยส่งพระเถระจากพุกามลอบเข้ามากระทำให้พระเจ้าติโลกราชเลื่อมใสและหลอกให้ทรงตัดไม้นิโครธ อันเป็นศรีเมือง จนทำให้เชียงใหม่เกิดเรื่องวุ่นวายถึงขั้นที่พระเจ้าติโลกราชได้สั่งให้ประหาร ท้าวศรีบุญเรือง พระโอรสองค์เดียวของพระองค์ด้วยข้อหากบฏ และยังสั่งประหาร เจ้าหลวงหมื่นด้งนคร แม่ทัพใหญ่คู่บัลลังก์ ด้วยทรงเกิดระแวงว่า หมื่นด้งจะแปรพักตร์ไปเข้ากับอโยธยา เหตุการณ์วุ่นวายทั้งหลายนี้ทำให้กองทัพเชียงใหม่อ่อนแอลง เป็นโอกาสให้ฝ่ายอโยธยาสามารถชิงเอาเมืองเชลียงกลับคืนไปได้ในปี พ.ศ.๒๐๑๘ และในปีต่อมา ล้านนาและอโยธยาก็ได้เจรจาสงบศึกกัน หลังสงครามกับอโยธยายุติลง พระเจ้าติโลกราชได้ทรงหันมาใฝ่พระทัยในทางศาสนาโดยทรงโปรดให้สร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก และที่สำคัญคือ ทรงโปรดให้ทำสังคายนา พระไตรปิฎกในปี พ.ศ.๒๐๒๐ ณ วัดเจ็ดยอด อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นการสังคายนา ครั้งที่ ๘ ของโลก

เข้าปี พ.ศ.๒๐๒๓ เวียดนามยกทัพใหญ่มารุกรานล้านช้างและเมืองน่านที่เป็นประเทศราชของล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงทรงยกทัพไปปราบปรามและสามารถตีทัพใหญ่รี้พลสี่แสนนายของเวียดนามจนแตกพ่ายยับเยิน ชัยชนะในครั้งนี้ ทำให้ทางจีนที่เป็นคู่ศึกกับเวียตนามในเวลานั้น ได้ยกย่องพระองค์ให้เป็นราชันย์ผู้พิชิตแห่งตะวันตกโดยให้มีฐานะรองลงมาจากองค์ฮ่องเต้ นอกจากนั้นฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิงของจีนยังทรงพระราชทานเครื่องยศและทองคำจำนวนมากมามอบให้พระเจ้าติโลกราชเพื่อเป็นพระเกียรติอีกด้วย

พระเจ้าติโลกราชเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.๒๐๓๐ พระชนมายุ ๗๘ พรรษา ครองราชย์รวมทั้งสิ้น ๔๖ ปี หลังจากนั้นพญายอดเชียงราย พระนัดดาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อ

ทั้งนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชนั้น นอกจากอาณาจักรล้านนาจะได้รวมกันเป็นปึกแผ่นเป็นครั้งแรกแล้ว ล้านนายังได้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญอย่างที่สุดในทุกด้านอีกด้วย

ตลอด ๔๖ ปีของรัชกาลพระเจ้าติโลกราช มีการทำสงครามขยายพระเดชานุภาพนับได้ หลายครั้ง ดังนี้

ปราบหัวเมืองฝางที่แข็งเมืองเจ้าเมืองหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเทิง (อ.เทิง จ.เชียงราย) แต่ถูกประหารชีวิตต่อหน้าเจ้าเมืองเทิง เป็นการกระทำที่ไม่ไว้หน้าเจ้าเมืองเทิง จึงส่งสารลับแจ้งให้อยุธยายกทัพมาตีเชียงใหม่ นับว่าเป็นปฐมเหตุแห่งศึกสิงห์เหนือ เสือใต้ (เชียงใหม่ -อยุธยา) ยืดเยื้อยาวนาน จนสิ้นรัชกาลทั้งพระเจ้าติโลกราชกับพระเจ้าสามพระยาและพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ

อยุธยามาตีเมืองเชียงใหม่ ตามที่เจ้าเมืองเทิงแปรพักตร์แจ้งให้ยกทัพมาชิงเมือง ผล อยุธยาถูกกลศึกตอบโต้โดนโจมตีแตกพ่าย ส่วนเจ้าเมืองเทิงถูกประหารชิวิต ตัดคอใส่แพหยวกกล้วยล่องนำปิง โดยมีนัยว่าเพื่อให้ไปถึงพระเจ้าอยุธยา (พระบรมราชาที่๒ หรือเจ้าสามพระยา)

ปราบเมืองน่านที่แข็งเมือง พระญาเมืองน่านหนีไปพึ่งบารมีเจ้าเมืองเชลียงของอยุธยา

ขับไล่เมืองหลวงพระบางที่ยกทัพลอบโจมตีเมืองน่าน

ปราบเมืองยอง ไทลื้อ (รัฐฉาน พม่า)

ปราบเมืองหลวงพระบาง เมืองขรองหลวง เมืองขรองน้อย

ปราบเมืองเชียงรุ่ง หรือ เชอหลี่ใหญ่ หรือจิ่งหง- Jinghong (สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) เมืองลอง เมืองตุ่น เมืองแช่

ปราบเมืองเชียงรุ่งที่แข็งเมืองอีกครั้ง และเข้าตีเมืองอิง

ปราบเมืองนาย ไลค่า ล๊อกจ๊อก เชียงทอง เมืองปั่น หนองบอน ยองห้วย เมืองสู่ เมืองจีด เมืองจาง เมืองกิง จำคา เมืองพุย สีป้อ กวาดต้อนผู้คนจำนวน ๑๒,๓๒๘ คนมาใส่เมืองเชียงใหม่

ยกทัพไปตีเมืองไทใหญ่ ครั้นถึงเมืองหาง (รัฐฉาน-พม่า) ทราบข่าวเวียดนามยกทัพ ๔๐๐,๐๐๐ นาย มาตีหลวงพระบาง และมาโจมตีเมืองน่านจึงยกทัพกลับมาช่วยเมืองน่าน เจ้าเมืองน่านต่อสู้อย่างทรหด รบชนะกองทัพมหาศาลของจักรพรรดิเลทันตองแห่งเวียดนาม ตัดศีรษะแม่ทัพ มาถวายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าติโลกราชจึงมีพระบรมราชโองการให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ควบคุมเชลยศึกเวียดนาม พร้อมศีรษะแม่ทัพ เดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง เพื่อถวายแด่จอมจักรพรรดิ์ ในตอนแรกจอมจักรพรรดิจีนไม่เชื่อว่ากองทัพล้านนาจะต่อตีกองทัพจักรพรรดิ๋เลทันตองแห่งเวียดนามได้ เพราะกองทัพจีนเพิ่งรบแพ้แก่กองทัพเวียดนามมาหยกๆจอมจักรพรรดิ์จีนจึงมีพระบัญชาสั่งสอบสวนเชลยศึกเวียดนาม ทีเดียวพร้อมๆกันโดยแยกสอบสวนคนละห้อง เพื่อป้องกันมิให้เชลยศึกเวียดนาม บอกข้อมูลให้แก่กัน ผลการสอบสวน ตรงกันหมดว่ากองทัพที่ยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิ์เลทันตองแห่งเวียดนาม พ่ายแพ้หมดรูปแก่กองทัพพระเจ้าติโลกราช ณ สมรภูมิที่ เมืองน่าน จักรพรรดิ์จีนถึงกับยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ตรัสด้วยพระสุรเสียงดังทั่วท้องพระโรงต่อหน้าเสนา อำมาตย์ ที่ชุมนุม ณ ที่นั้นว่า "เหวยๆ ข้าคิดว่าในใต้หล้ามีเพียงข้าผู้เดียวที่มีเดชานุภาพมาก แต่บัดเดี๋ยวนี้มี ท้าวล้านนาพระเจ้าติโลกราช มีเดชานุภาพทัดเทียมข้า ข้าจึงแต่งตั้งให้ท้าวล้านนาเป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก"ให้เป็นใหญ่รองจากข้า มีอำนาจที่จะปราบปรามกษัตริย์น้อยใหญ่ที่ก่อการแข็งเมืองต่อข้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป" พร้อมกับทรงส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องประกอบเกียรติยศ กองทหารพร้อมเสนาบดีผู้ใหญ่ เดินทางมาประกอบพิธีที่เชียงใหม่อย่างยิ่งใหญ่ อลังการโดยทรงยกย่องให้เป็น "รอง" จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์หมิง เป็น "ราชาผู้พิชิตแห่งทิศตะวันตก" (King of the West) ส่วนจักรพรรดิจีนเป็นจักรพรรดิแห่งทิศตะวันออก

ตีกำแพงเพชร (ชากังราว) แตก ส่งทัพหน้ามากวาดครัวถึงเมืองชัยนาท เข้าตีสุโขทัยมิได้ จึงถอยทัพกลับ

เจ้าเมืองเชลียงแห่งสุโขทัย มาสวามิภักดิ์

เจ้าเมืองพิษณุโลก หัวเมืองเหนือของอยุธยา มาสวามิภักดิ์ พร้อมนำไพร่พลเมือง ทหารกว่า หนึ่งหมื่นคน มาอยู่ในเชียงใหม่

ยกทัพไปล้อมเมืองพิษณุโลก พระบรมไตรโลกนาถ ใช้กลศึกหลบหนีออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเที่ยงคืนและเดือนมืดสนิท ทางลำน้ำน่านกลับอยุธยา พระเจ้าติโลกราชทรงพระพิโรธ รับสั่ง ให้"ควักลูกตา "ทหารทุกนายที่ซุ่มล้อม ณ พื้นที่ลำน้ำน่าน "หมื่นด้งนคร"แม่ทัพใหญ่รุดเข้าเฝ้า กราบบังคลทูลถวายรายงานว่า พระบรมไตรโลกนาถ ใช้ "กลศึก" ตีสัญญาณ ฆ้อง กลองล่องเรือหนีมาตามลำน้ำน่านโดยให้จังหวะเคาะสัญญาณ เลียนแบบสัญญาณ ของ "มหาราชเชียงใหม่" ทุกประการประกอบกับเดือนมืด มองเห็นไม่ถนัด ทหารที่ซุ่มเฝ้าระวัง จึงไม่เฉลียวใจ ต่างคิดว่า เป็นเรือพระที่นั่งของพระเจ้าติโลกราช เสด็จ จึงไม่ยับยั้ง และข้าในฐานะแม่ทัพ ขอรับโทษแทนทหารชั้นผู้น้อยทั้งหมด หากจะควักลูกตาทหารผู้น้อย ก็ขอให้ควักลูกตาของข้าแต่เพียงผู้เดียว พระเจ้าติโลกราช ได้ฟังทหารเอกผู้ภักดี ยอมสละแม้กระทั่งลูกนัยตาของตัวเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ปกป้อง รับแทนทหารลูกน้อง อีกทั้ง ความจงรักภักดีของหมื่นด้งนคร ที่มีต่อ มหาราชเชียงใหม่ รุกรบไปทั่วดินแดนใกล้ ไกล เคียงบ่า เคียงไหล่ ร่วมเป็น ร่วมตาย มาด้วยกัน นับครั้งไม่ถ้วน ทรงตรึกตรอง แล้วนิ่งเสีย ไม่ตรัสถึงอีกต่อไป ต่อมากองทหารม้าทัพหน้าไล่ตาม เรือพระที่นั่งของพระบรมไตรโลกนาถ ขณะยั้งพักที่ปากยม และกองทัพม้าได้รายล้อมทัพสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถไว้แล้ว จึงได้ส่งม้าเร็วรีบแจ้งขอรับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าติโลกราช พระองค์ทรงตรัสว่า "มันก็พญา (กษัตริย์) กู ก็ พญา กูแป้ (ชนะ) มัน มันก็ละอายแก่ใจแล้ว หมื่นด้ง มึงอย่าทำเลย" ต่อมากองทัพหน้าไปตีเมืองปากยม (พิจิตร)

แต่งให้หมื่นด้งนครไปตีเมืองเชลียง

อยุธยาถูกกลศึกผ่านสายลับที่ถูกจับได้ ให้เห็นกองทัพเชียงใหม่จะยกทัพไปทำศึกทางเหนือ จึงแจ้งให้อยุธยายกทัพมาชิงเอาเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่รอซุ่มโจมตีที่ดอยขุนตาล (รอยต่อ ลำพูนกับลำปาง) ตีกองทัพอยุธยาแตกพ่าย ถูกไล่ติดตามตลอดทั้งคืนผ่านห้างฉัตร ลำปาง เด่นชัย จนถึงเขาพลึง (เขตต่อแดน แพร่กับอุตรดิตถ์) ครั้งนั้นพระอินทราชา พระราชโอรสในพระบรมไตรโลกนาถต้องปืนที่พระพักตร์

อยุธยาสบโอกาส กองทัพเชียงใหม่ยกขึ้นขึ้นเหนือไปตี เมืองพง ไทลื้อ (มณฑลยูนนาน ประเทศจีน) จึงยกทัพเข้าตีเมืองแพร่ ฝ่ายหมื่นด้งนคร ผู้รักษาเมืองเชียงใหม่ ยกทัพไปช่วยเมืองแพร่ป้องกันเมือง ครั้นกองทัพพระเจ้าติโลกราชแผด็จศึกเมืองพงไทลื้อ เสร็จแล้วจึงกลับยังไม่ทันถึงเชียงใหม่ ทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปช่วยเมืองแพร่ พระบรมไตรโลกนาถ ทรงเห็นกองทัพเชียงใหม่ใหญ่เกินกำลังจะต้านทานได้จึง ถอยทัพกลับ โดยทัพหลวงมหาราชเชียงใหม่ไล่ติดตามไปแต่ไม่ทัน จึงไม่ได้รบกัน ทัพหลวงผ่านเมืองเชลียง เมืองเชลียงหวั่นเกรงจะเป็นภัยจึงขอเป็นข้าราชบริภาร จากนั้นทัพมหาราชเชียงใหม่เข้าตีเมืองพิษณุโลกสองแคว แต่ไม่สำเร็จ จึงถอยทัพไปตีเมืองปางพล แล้วกลับผ่านเมืองเชลียง ลำปาง เชียงใหม่

ต่อมาเจ้าเมืองเชลียงเป็นกบถจึงให้หมื่นด้งนครยกทัพไปจับกุมตัวเจ้าเมืองเชลียงมายังเชียงใหม่ และเนรเทศไปอยู่เมืองหาง พร้อมกับแต่งตั้งให้หมื่นด้งนคร ครองเมืองเชลียง (สวรรคโลก) เพิ่มขึ้นอีกเมืองหนึ่ง

ต่อมาเชียงใหม่ถูกพระเถระพุกามที่รับจ้างจากอยุธยา มาเชียงใหม่ หลอกให้ตัดต้นไม้นิโครธ ไม้แห่ง "เดชเมือง" ซึ่งชาวเชียงใหม่สักการบูชาที่แจ่งศรีภูมิ จนบ้านเมืองปั่นป่วน ต่อมามีเหตุการณ์ไม่คาดคิด คือ พระเจ้าติโลกราช สั่งประหารท้าวบุญเรือง พระราชโอรสองค์เดียวที่ถูกท้าวหอมุก (นางสนม) ใส่ความว่าจะชิงราชบัลลังก์ ภายหลังทราบว่าพระโอรสบริสุทธิ์ ก็ทรงเสียพระทัย อีกทั้งทรงกริ้วและหวาดระแวงว่าหมื่นด้งนคร ทหารเอกคู่บัลลังก์ ที่ส่งให้ไปต้านทานกองทัพอยุธยาที่ชายแดนเมืองเชลียง เชียงชื่น (สวรรคโลก จ.สุโขทัย) จะแปรพักตร์ไปเข้าอยุธยา จึงเรียกตัวไปเชียงใหม่และถูกประหารชีวิต เมื่อทหารเอกคู่บัลลังก์หมื่นด้งนครถึงแก่อนิจกรรมแล้ว พระเจ้าติโลกราชจึงให้หมื่นแคว่นผู้ครองเมืองแจ้ห่ม (อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง) ไปครองเมืองเชียงชื่น (สวรรคโลก) แต่ถูกพระยาสุโขทัยยกทัพเข้าตี จนหมื่นแคว่นตายในที่รบ เมืองสุโขทัยจึงได้เมืองเชียงชื่นกลับคืน หลังจากอยู่ใต้ธงมหาราชเชียงใหม่ มายาวนาน ๒๓ ปี อันเป็นต้นเรื่องและเป็นประเด็นหลักใน ลิลิตยวนพ่ายที่เทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ตีเมืองเชลียง เมืองเชียงชื่นหรือเมืองสวรรคโลก (อดีตเมืองลูกหลวงของสุโขทัย) กลับคืนมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารได้อีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๐๑๗


ศักราช ๘๓๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๑๘) มหาราช (เชียงใหม่) ขอมาเป็นไมตรี...พงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

นับจากนี้เป็นเวลา ๑๒ ปีที่อาณาจักรทั้งสองเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน และมหาราชทั้งสองพระองค์ล่วงเข้าสู่วัยชรา มหาราชเชียงใหม่สวรรคตในปี ๒๐๓๐ ขณะพระชนมายุได้ ๗๘ พรรษาครองราชย์ ๔๖ ปีและตามติดกันในปีต่อมา มหาราชอยุธยา สวรรคตในปี ๒๐๓๑ ขณะพระชนมายุได้ ๕๗พรรษา ครองราชย์ ๔๐ ปี


ที่มา ประวัติศาสตร์ล้านนา.สรัสวดี อ๋องสกุล
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 14 ส.ค. 2017 6:56 am

ราชวงศ์ทิพย์จักร "ทิพจักราธิวงศ์"

scan0133.jpg
scan0133.jpg (176.91 KiB) เปิดดู 12950 ครั้ง

ภาพจาก ฮักพะเยา



ราชวงศ์ทิพย์จักร ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งอาณาจักรอยุธยา โดย "หนานทิพช้าง" ควาญช้างและพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่าพระญาสุลวะฦๅไชย ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามจากราชสำนักกรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ถือเป็นนครรัฐอิสระในปี พ.ศ. ๒๒๗๕

เมื่อถึงแก่พิราลัย เจ้าชายแก้วพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งในช่วงดังกล่าวนครลำปางมีฐานะเป็นประเทศราชของพม่า โดยพระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดฯ เฉลิมพระนามให้เป็นเจ้าฟ้าสิงหราชธานี

เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระโอรสพระองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง ๖ พระองค์ และ "พระยาจ่าบ้าน" เจ้านครเชียงใหม่ กอบกู้ล้านนาภายใต้การสนับสนุนจากทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๓๑๗ ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ "เจ้าพระยาจักรี"และ "เจ้าพระยาสุรสีห์" ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองนครเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง ในการรบครั้งนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้พบรักกับเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาของพระยากาวิละ และได้ทูลขอจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งต่อมาเจ้าหญิงศรีอโนชาได้สร้างวีรกรรมสำคัญยิ่งในการปกป้องพระนครจากพระยาสรรค์ ซึ่งก่อการกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ พระสวามีติดการสงครามที่เขมร หลังจากปกป้องพระนครเสร็จ ได้เชิญเจ้าพระยาจักรีกลับพระนครและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในคราเดียวกันนั้นได้โปรดฯ สถาปนา "เจ้าพระยาสุรสีห์" พระอนุชาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯให้ พระยากาวิละขึ้นครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากพม่าได้เข้ามารุกรานจนพระยาจ่าบ้านต้องพาประชาชนอพยพหนี) โปรดฯ ให้พระยาคำโสม พระอนุชาพระองค์ที่ ๒ ขึ้นครองนครลำปาง และ โปรดฯ ให้ เจ้าคำฝั้น พระอนุชาพระองค์ที่ ๓ ขึ้นครองนครลำพูน ตลอดต้นรัชสมัยที่ครองนคร เจ้ากาวิละได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง ๖ พระองค์ กระทำการสงครามเพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาออกไปอย่างขจรขจาย ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งได้ทรงรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีทุกอย่างให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนา ด้วยพระปรีชาสามารถและความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดฯ เฉลิมพระอิสริยยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี พระเจ้านครเชียงใหม่ เป็นใหญ่ในล้านนา ๕๗ หัวเมือง

ที่มา เจ้าวงศ์สัก ณ เชียงใหม่, คณะทายาทสายสกุล ณ เชียงใหม่. เจ้าหลวงเชียงใหม่. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๓๙
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 14 ส.ค. 2017 7:09 am

กษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครลำปาง

800px-Thipchang.jpg
800px-Thipchang.jpg (95.67 KiB) เปิดดู 12950 ครั้ง


ลำปางเป็นเมืองใหญ่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย โดยกษัตริย์พระองค์แรกของนครลำปางคือพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี พระเจ้าอนันตยศทรงสร้างนครลำปางและขึ้นครองเมืองเมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๑ ซึ่งลูกหลานของพระเจ้าอนันตยศยังคงขึ้นครองลำปางสืบต่อมา จนถึงรัชสมัยของพญาเบิก ในปี พ.ศ. ๑๘๓๘ พญามังรายแห่งเชียงใหม่ ได้ให้ขุนสงครามยกทัพมาตีนครลำปาง พญาเบิกทรงช้างออกมากระทำยุทธหัตถี กองทัพนครลำปางแตกพ่าย พญาเบิกได้รับบาดเจ็บ และถูกขุนสงครามปลงพระชนม์ที่บ้านแม่ตาลน้อย ในเขตนครลำปาง ถือเป็นการสิ้นสุดยุคราชวงศ์หริภุญชัยในนครลำปาง

เมื่อพญามังรายมีอำนาจเหนือล้านนา ทรงแต่งตั้งให้ขุนมาครองนครลำปางสืบต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าได้กรีฑาทัพยึดล้านนาไว้ได้ทั้งหมด จึงสิ้นสุดยุคราชวงศ์มังรายในนครลำปาง ตลอดระยะที่พม่าได้ครอบครองอาณาจักรล้านนามาเป็นเวลา ๒๐๐ ปีนั้น ได้กดขี่ข่มเหงชาวบ้านอย่างมากมาย จนเกิดกบฏหลายครั้ง จนกระทั่งหนานทิพย์ช้างได้ชัยชนะเหนือท้าวมหายศแห่งนครลำพูน(ซึ่งอยู่ในอำนาจของพม่า) และชาวเมืองพร้อมใจสถาปนาหนานทิพย์ช้างเป็นพระญาสุลวะฤๅไชยสงคราม และเริ่มต้นยุคราชวงศ์ทิพย์จักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนในนครลำปาง ลูกหลานของพระญาสุลวะฤๅไชยได้ให้ความร่วมมือกับกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ในการขจัดอิทธิพลพม่าออกจากอาณาจักรล้านนาได้ทั้งหมด และสิ้นสุดยุคประเทศราชของพม่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้ครองนครลำปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

สมหมาย เปรมจิตต์,สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (ฉบับสอบชำระ). เชียงใหม่: มิ่งเมือง, ๒๕๔๐.
คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: กษัตริย์และเจ้านายฝ่ายเหนือ

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 14 ส.ค. 2017 7:11 am

กษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครลำปาง

King_Thip_Chak.jpg
King_Thip_Chak.jpg (126.69 KiB) เปิดดู 12950 ครั้ง


ลำปางเป็นเมืองใหญ่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย โดยกษัตริย์พระองค์แรกของนครลำปางคือพระเจ้าอนันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี พระเจ้าอนันตยศทรงสร้างนครลำปางและขึ้นครองเมืองเมื่อ พ.ศ. ๑๒๓๑ ซึ่งลูกหลานของพระเจ้าอนันตยศยังคงขึ้นครองลำปางสืบต่อมา จนถึงรัชสมัยของพญาเบิก ในปี พ.ศ. ๑๘๓๘ พญามังรายแห่งเชียงใหม่ ได้ให้ขุนสงครามยกทัพมาตีนครลำปาง พญาเบิกทรงช้างออกมากระทำยุทธหัตถี กองทัพนครลำปางแตกพ่าย พญาเบิกได้รับบาดเจ็บ และถูกขุนสงครามปลงพระชนม์ที่บ้านแม่ตาลน้อย ในเขตนครลำปาง ถือเป็นการสิ้นสุดยุคราชวงศ์หริภุญชัยในนครลำปาง

เมื่อพญามังรายมีอำนาจเหนือล้านนา ทรงแต่งตั้งให้ขุนมาครองนครลำปางสืบต่อมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่าได้กรีฑาทัพยึดล้านนาไว้ได้ทั้งหมด จึงสิ้นสุดยุคราชวงศ์มังรายในนครลำปาง ตลอดระยะที่พม่าได้ครอบครองอาณาจักรล้านนามาเป็นเวลา ๒๐๐ ปีนั้น ได้กดขี่ข่มเหงชาวบ้านอย่างมากมาย จนเกิดกบฏหลายครั้ง จนกระทั่งหนานทิพย์ช้างได้ชัยชนะเหนือท้าวมหายศแห่งนครลำพูน(ซึ่งอยู่ในอำนาจของพม่า) และชาวเมืองพร้อมใจสถาปนาหนานทิพย์ช้างเป็นพระญาสุลวะฤๅไชยสงคราม และเริ่มต้นยุคราชวงศ์ทิพย์จักร หรือราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนในนครลำปาง ลูกหลานของพระญาสุลวะฤๅไชยได้ให้ความร่วมมือกับกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ในการขจัดอิทธิพลพม่าออกจากอาณาจักรล้านนาได้ทั้งหมด และสิ้นสุดยุคประเทศราชของพม่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี เชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้ครองนครลำปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

สมหมาย เปรมจิตต์,สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. ตำนานสิบห้าราชวงศ์ (ฉบับสอบชำระ). เชียงใหม่: มิ่งเมือง, ๒๕๔๐.
คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 57 ท่าน

cron