เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

เรื่องราวของอาณาจักรล้านนา

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 11 ก.ย. 2016 9:30 am

ความเป็นมาของ "สลากย้อมเมือง"ลำพูน

1278062_10151902234648679_1695871972_o.jpg
1278062_10151902234648679_1695871972_o.jpg (162.71 KiB) เปิดดู 9918 ครั้ง


สลากย้อม เป็นพิธีทานสลากพิเศษของชาวไทยอง สลากย้อมนี้จะประดิษฐ์จากต้นไม้หรือ กิ่งไม้สูงประมาณ 4-5 วา มีร่มกางที่ปลายยอด ลำต้นของสลากจะมีฟางมัดเป็นกำ ๆ สำหรับปักไม้ไผ่ที่ผูกแขวนเครื่องปัจจัยไทยทาน ซึ่งเครื่องไทยทานนั้นจะเป็นเครื่องประดับ ของมีค่า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เห็นความเชื่อที่ว่า ผู้ที่ถวายทานสลากย้อมนี้มีเครื่องใช้ในการครองเรือนและมีคุณสมบัติครบถ้วนแก่การครองเรือนแล้วนั่นเอง ทั้งนี้สลากย้อมดังกล่าว เมื่อทำพิธีถวายแก่พระสงฆ์แล้ว เจ้าตัวก็จะรีบบูชากลับคืนไป และจากการสังเกตจากสำนวนคำร่ำสลากย้อมแล้ว พบว่ามีการเรียกสลากชนิดนี้ว่า "กัปปรุกขา" หรือต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นต้นไม้ในนิยายที่อาจบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามความประสงค์ของผู้ขอได้

การทานสลากย้อม เป็นการทานสลากภัตชนิดหนึ่ง ซึ่งต้นสลากมีขนาดใหญ่กว่าสลากชนิดอื่น ซึ่งจัดกันมาตั้งแต่โบราณกาลของวัดในหมู่บ้านชาวยองแถบตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า ตำบลเหมืองง่า และตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน การทานสลากย้อมมักจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะการทำต้นสลากที่มีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5 - 6 วา และประกอบด้วยเครื่องตกแต่งและเครื่องประดับมากมาย ปัจจุบันถ้าหากจะทำต้นสลากย้อมดังกล่าว คงต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท ครอบครัวที่จะทานสลากย้อมได้จึงเป็นครอบครัวที่ พอจะมีฐานะและมีลูกสาวอายุ 20 ปีขึ้นไป มีความพร้อมที่จะแต่งงานมีครอบครัว ในอดีตเชื่อกันว่าเป็นหน้าที่ของหญิงสาวที่จะพึงทาน โดยเฉพาะ ฉะนั้นเมื่อหญิงสาวคนใดมีความสามารถพอที่จะทำงานได้ พ่อแม่ ก็จะแนะนำให้ลูกทราบถึงหน้าที่ที่หญิงสาวพึงปฏิบัติเป็นเบื้องแรก คือการเก็บหอมรอมริบเงินทองที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง เพื่อจัดทำต้นสลากย้อม เพราะโบราณกล่าวว่าหญิงใดยังไม่ได้ทานสลากย้อมหญิงนั้นไม่สมควรจะแต่งงาน ถ้าหญิงใดทานสลากย้อมแล้วถือว่าพร้อมที่จะแต่งงานเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีได้ การทำสลากย้อมจึงเป็นการเรียนรู้ฝึกฝนต่าง ๆ เช่น การเย็บปักถักร้อย และงานอื่น ๆ ในหน้าที่แม่บ้าน แม่เรือนอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้หญิงชาวยองในชนบทเรียนจบการศึกษาเพียงภาคบังคับ คือชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่นิยมเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และครอบครัวมีอาชีพหลักในการทำการเกษตร เช่น การทำนา ทำสวน เป็นต้น สาวชาวยองเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง จึงทำนาน ทำสวน เก็บหอมรอมริบด้วยน้ำพักน้ำแรงเป็นเวลาหลายปี การทานสลากย้อมจึงมิได้มีทุกครอบครัว ครอบครัวที่ยังไม่พร้อมก็ถวายทานสลากภัตชนิดก๋วยสลาก หรือสลากโชค ส่วนหญิงสาวที่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ก็จะทานสลากต้นที่มีขนาดเล็กกว่าสลากย้อม แต่มีเครื่องประดับตกแต่งเหมือนสลากย้อมต้นใหญ่ทุกประการและ มีชื่อเรียกว่า “สำรับ”

หากวัดใดจะมีการทานสลากภัตในปีใด ก็จะป่าวประกาศให้ศรัทธาของตนทราบล่วงหน้าเป็นปี เพื่อให้เวลาในการตระเตรียมสำหรับผู้ที่จะทานสลากย้อม เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการตระเตรียมข้าวของเป็นเวลานาน การทานสลากจะเริ่มต้นตั่งแต่วันเพ็ญเดือนสิบ (เดือน 12 เหนือขึ้น 15 ค่ำ) ตามธรรมเนียมจะให้วัดที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัด หรือวัดหลวง จัดงานทานสลากภัตก่อน ในจังหวัดลำพูนคือ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จากนั้นวัดอื่น ๆ ก็จัดงานทานสลากภัตเรื่อยไป จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือเดือนเกี๋ยงดับ)

เมื่อทราบว่าทางวัดจะจัดให้มีการทานสลาก หญิงสาวที่มีความพร้อม มีกำลังทรัพย์พอที่จะทานสลากย้อม อาจจะมีพียง 4-5 ราย หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่ ต่างก็จะเริ่มจัดทำและซื้อของตระเตรียมไว้ทีละเล็กละน้อย เช่น สร้อยคอทองคำ เข็มขัดเงิน และเครื่องเรือนต่าง ๆ ซึ่งถ้าหญิงสาวคนใดมีพี่น้องที่อายุน้อยกว่า 20 ปี จะร่วมทานสลากย้อมกับพี่สาวด้วยก็ได้
การเตรียมต้นสลากย้อม

การจัดเตรียมจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อม นอกจากหญิงสาวจะจัดซื้อหาและจัดทำไว้บ้างแล้ว ยังมีงานที่จะต้องทำและประดิดประดอยอีกมากมายหลายอย่าง แต่ละครอบครัวที่จะทานสลากย้อม หญิงสาวจะขอให้ญาติพี่น้องและเพื่อนมาช่วยกันในการจัดทำเครื่องตกแต่งต้นสลากย้อมซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างในตอนเย็นและตอนกลางคืน บ้างก็จะมานอนค้างคืน ส่วนตอนกลางวันก็จะกลับบ้านไปทำงานบ้านตามปกติ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวันทานสลาก และเป็นช่วงเข้าพรรษาหลังจากฤดูทำนา จึงทำให้มีเวลาว่าง มีการ “จ่าตอง” คือการรีดยอดตองด้วยเตารีดถ่าน เพื่อไว้ใช้สำหรับมวนบุหรี่ (ทำบุหรี่) ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมาก แล้วนำบุหรี่ดังกล่าวมาถักเป็นแพ เรียกว่า “มูลีแป” (บุหรี่ที่ถักเรียงกันลงมามีความยาว 3-4 เมตร) เพื่อใช้แขวนประดับกับต้นสลากย้อม และมีการประดับจ้อง (ร่ม) ด้วยดอกไม้แห้ง มีดอกจำปา สร้อยคอ เข็มขัดตลับเงิน เพื่อประดับไว้ส่วนยอดของต้นสลาก รอบ ๆ ขอบชายร่มก็จะนำสตางค์แดงหรือเงินแถบ (เงินรูปี) ถักด้วยข้าวเปลือกเรียงรอบขอบเหรียญด้วยฝีมือประณีตสวยงาม เรียกว่าการถัก “ขะจา” มาร้อยแขวนโดยรอบขอบร่ม และมีการเตรียมมีดและไม้ไผ่สีสุกสำหรับเหลาเฮียวไว้

ในยามค่ำคืนของการเตรียมงานเช่นนี้ ก็จะมีหนุ่ม ๆ ทั้งจากบ้านใกล้และไกลเดินทางมาเที่ยว “แอ๋วสาว”หลอกล้อพูดคุย และช่วยทำงาน เช่น งานเหลาไม้เฮียว เป็นต้น ทำให้บรรยากาศครึกครื้น บ้างก็นำสิ่งของเครื่องใช้ที่ประดิษฐ์อย่างประณีตด้วยตนเองมามอบให้หญิงสาวร่วมนำเข้าของสลาก เพื่อร่วมถวายทาน ส่วนหนุ่มที่หมายปองหญิงสาวเจ้าของสลากย้อมก็จะช่วยทำเครื่องประกอบต้นสลากย้อมอย่างประณีตเป็นพิเศษ เช่น ตะกร้า (อ่านว่า ซ้า) กระบวยที่ประดิษฐ์เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

การทำต้นสลากย้อม ก็จะเป็นการช่วยกันทำในตอนกลางวัน ซึ่งมักจะเป็นกิจกรรมของผู้ชายที่มีความรู้ทางช่าง (ซึ่งรายละเอียดในการทำต้นสลากย้อมจะกล่าวถึงในตอนต้นต่อไป) โดยใช้บริเวณลานบ้านของเจ้าของต้นสลากนั่นเอง
ในระหว่างที่มีการเตรียมต้นสลากก็จะมีการตัดกระดาษสีต่าง ๆ เป็นลวดลายประดับต้นสลาก มีการย้อมเฮียวด้วยสีสันต่าง ๆ ซึ่งในการประดับต้นสลากด้วยเฮียวสีต่าง ๆ จึงทำให้เป็นที่มาของคำว่า “สลากย้อม” ละเมื่อทำต้นสลากเรียบร้อยแล้วก็พร้อมที่จะนำต้นสลากไปประดับตกแต่งด้วยของใช้ต่าง ๆ ที่เตรียมไว้

เมื่อถึงเช้าตรู่ของวันทานสลากย้อม ก็จะดำเนินการเอาวัสดุอุปกรณ์ สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับต่าง ๆ และเฮียวที่เตรียมไว้เป็นเวลาอันยาวนาน นำไปปักประดับสลากย้อม เนื่องด้วยต้นสลากย้อมมีขนาดใหญ่และสูงประมาณ 5-6 วา จึงต้องใช้คนหามโครงต้นสลากย้อมถึง 12 คน โดยต้องหามไปเทียบกับต้นไม้ที่สูงใหญ่ที่อยู่ริมถนนใกล้บ้านหรือบริเวณใกล้วัด เพื่อสะดวกแก่การประดับตกแต่งต้นสลากย้อม (เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกเช่น คนเครนหรือรถกระเช้าในปัจจุบัน) จึงต้องให้คนขึ้นไปยังต้นไม้ใหญ่เพื่อประดับต้นสลากย้อมที่มีความสูง

ต้นสลากย้อมแต่ละต้น จะมีป้ายชื่อและนามสกุลของเจ้าของสลากย้อมติดไว้ หรือบางคนจะมีการนำรูปภาพเจ้าของต้นสลากย้อม หรือวาดภาพทิวทัศน์มาตกแต่งประกอบอย่างสวยงาม เมื่อทำการตกแต่งต้นสลากย้อมด้วยเครื่องตกแต่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงมีการเคลื่อนย้ายต้นสลากย้อมไปยังวัดที่จัดงานสลากภัต ซึ่งในขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงงานคนในการเคลื่อนย้ายต้นสลากย้อมที่มีขนาดใหญ่ด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีน้ำหนักมากและมีความสูง โดยต้องใช้คนในการหามต้นสลาก และใช้เชือกผูกโยงกลางลำต้นถึง 4 ด้าน ให้คนช่วยดึงประคองไปไม่ให้ล้มหรือหักลงมาได้ (ที่สามารถหามไปได้สะดวก เนื่องจากในสมัยก่อนไม่มีสายไฟฟ้าเป็นเครื่องกีดขวาง)

ณ จุดที่ตั้งต้นสลากย้อม จะมีร้านสำหรับวางก๋วยสลากสำหรับญาติ ๆ และเพื่อนสาวที่นำมาร่วมทานสลากภัตด้วย การถวายสลากย้อมก็เหมือนกับการทานสลากภัตโดยทั่วไป เมื่อสลากย้อมตกแก่พระภิกษุหรือสามเณรรูปใดแล้ว ก่อนประเคนรับพรพระหรือสามเณรรูปนั้นจะต้องหารือจ้างคนที่สามารถอ่านกำฮ่ำได้อย่างไพเราะมาอ่าน กำฮ่ำหรือค่าวฮ่ำ หรือกะโลงให้จบเสียก่อนจึงจะประเคนเพื่อรับพรพระจึงเป็นอันเสร็จพิธี

เมื่ออดีตประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว การทานสลากย้อมเป็นที่นิยมกันมาก เพราะถือว่าเป็นประเพณีที่มีความสำคัญและยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา เชื่อว่าการทานสลากย้อมเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก ดังเอกสารที่กล่าวถึงอานิสงส์ของการถวายทานสลากภัต มีปรากฏอยู่อย่างมากมายตามวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ แต่ในปัจจุบัน ความเจริญทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นตัวแปรในการพัฒนา ปรับเปลี่ยน ส่งผลประเพณีวัฒนธรรมที่มีมาแต่ดั่งเดิมสูญหาย ลดน้องลงหรือแม้กระทั่งแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การทำมาหากินก็เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ผู้หญิงมีการศึกษาที่สูงขึ้น หรือบางส่วนที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็นิยมแต่งงานเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งทำให้ผู้คนไม่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีเหมือนแต่เดิม

ดังนั้น การจัดทำต้นสลากย้อมที่ร่วมในประเพณีการทานสลากภัต ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร นั้น จึงเป็นเพียงการทำบุญและนำต้นสลากย้อมมาร่วมตามประเพณีเท่านั้น ไม่ได้เกิดจากวิถีชีวิตและสถาบันครอบครัวครบถ้วนตามกระบวนการที่กล่าวข้างต้นต่อไป เป็นวัฒนธรรมที่ถูกนำมาแสดง โดยเน้นการประกวดและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเท่านั้น ซึ่งทำให้วัตถุประสงค์ของการจัดทำต้นสลากย้อมในอดีตและปัจจุบันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ต้นสลากย้อม แต่ละต้นที่นำมาร่วมประเพณีทานสลากภัตประจำปีของวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จึงถูกทำขึ้นในนามของวัดและศรัทธาวัด มีกระบวนการในการจัดทำต้นสลากย้อมโดยวัดและคณะศรัทธา ไม่มีหญิงสาวที่อายุ 20 ปี เป็นเจ้าของสลากย้อมเหมือนในอดีต หรือแม้กระทั่งกำฮ่ำ หรือค่าวฮ่ำ ซึ่งพรรณนาถึงความตั้งใจและปรารถนาของเจ้าของต้นสลากย้อมให้ผู้คนได้รับรู้และชื่นชม ปัจจุบันจะมีก็แต่การนำค่าวฮ่ำที่มีแต่ในอดีตมาอ่านประกวดกัน เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการทานสลากย้อมเพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นประเพณีการทานสลากย้อมตามแบบอย่างโบราณกาลคงจะเป็นเพียงตำนานเล่าขานกันสืบไป

บทความโดย อ.ลาภิณี
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 11 ก.ย. 2016 9:35 am

ถนนท่าแพ เส้นทางสายเศรษฐกิจเชียงใหม่

DSC_23201-800x531-800x531.jpg
DSC_23201-800x531-800x531.jpg (67.14 KiB) เปิดดู 9918 ครั้ง


เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว บนถนนสายต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ผู้คนจะนิยมเดินทางด้วยการเดิน ส่วนการใช้รถจักรยาน หรือ รถถีบ จะมีน้อยมากนอกเสียจากคนมีเงินมีฐานะจะนิยมใช้รถจักรยานเท่านั้น ส่วนรถยนต์แทบไม่มีให้เห็นเลยส่วนใหญ่จะเป็นพวกเจ้านาย คหบดี ดังนั้นสมัยก่อนหากใครมีรถจักรยานปั่นโชว์ก็นับเป็นเรื่องเท่อย่าบอกใคร… เชียงใหม่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการค้าที่สำคัญของภาคเหนือ นอกเหนือจากถนนช้างคลานแหล่งค้าขายขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแล้ว หากย้อนไปในอดีตเมื่อราว 50 – 60 ปีก่อน ถนนท่าแพนับว่าเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตลอดสองข้างทางจะร้านค้าของชาวจีนตั้งเรียงราย จนกระทั่งปัจจุบันร้านค้าเหล่านั้นก็ยังคงเปิดดำเนินการอยู่

ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนท่าแพตั้งแต่บริเวณสี่แยกอุปคุตเรื่อยไปจนถึงบริเวณวัดแสนฝาง ส่วนมากจะเป็นร้านค้าของพ่อค้าชาวพม่าและชาวตองสู เวลานั้นพ่อค้าชาวจีนยังมีน้อยส่วนคนไทยหรือคนพื้นเมืองแทบไม่มีเลย พ่อค้าชาวพม่าและตองสูเหล่านี้ มักจะนิยมเดินทางค้าขายไปมาระหว่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองมะละแหม่งของพม่า โดยใช้ช้างหรือวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกสินค้าผ่านเข้าออกที่ด่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำสินค้าจากเชียงใหม่ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าของพม่า จากนั้นก็จะนำมาจำหน่ายที่ร้านค้าบริเวณถนนท่าแพ ถนนท่าแพเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนต้าแป” เป็นย่านการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่อดีต แม้ว่าปัจจุบันจะมีแหล่งการค้าแห่งใหม่เกิดขึ้นมากมายทั่วเมือง แต่ชื่อเสียงและมนต์เสน่ห์แห่งถนนท่าแพยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของถนนสายการยุคโบราณเสมอมา ในสมัยก่อนร้านค้าสองฟากถนนเป็นของชาวพม่า ซึ่งเปิดขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า โดยทางร้านจะนำเสื้อผ้าออกมาแขวนห้อยอยู่หน้าร้านเป็นแถว ในหนังสือของบุญเสริม สาตราภัยชื่อ “ลานนาไทยในอดีต” ซึ่งมีภาพเก่าของถนนท่าแพ เป็นภาพที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน ในหนังสือดังกล่าวพูดถึงถนนท่าแพว่า บริเวณสองข้างทางของถนนท่าแพจะนิยมขายเสื้อผ้าซึ่งเป็นร้านค้าของชาวพม่า ส่วนในภาพที่เห็นผู้หญิงขี่รถจักรยานสองล้อคือบริเวณที่เป็นห้างตันตราภัณฑ์ในปัจจุบัน ถัดไปอีกเล็กน้อยจะสังเกตเห็นว่าตรงนั้นมีตรอกแคบ ๆ มีรั้วไม้สะลายอยู่หัวมุมบ้านไม้ชั้นเดียว บ้านหลังนี้ต่อมากลายเป็นโรงหนังมีชื่อของเชียงใหม่ชื่อ “โรงหนังตงเฮง” ต่อมาก็ได้กลายเป็นโรงยาฝิ่น มีคอขี้ยาระดับเถ้าแก่ เจ้าสัว อาเสี่ย อาแป๊ะ แม้กระทั่งกุลีจับกังเข้าไปสูบฝิ่นในโรงฝิ่นแห่งนี้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้มีการเลิกสูบฝิ่นทั่วประเทศ โรงฝิ่นแห่งนี้จึงได้เลิกกิจการ



ช่วงเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว บนถนนสายต่าง ๆ ของเชียงใหม่ ผู้คนจะนิยมเดินทางด้วยการเดิน ส่วนการใช้รถจักรยาน หรือ รถถีบ จะมีน้อยมากนอกเสียจากคนมีเงินมีฐานะจะนิยมใช้รถจักรยานเท่านั้น ส่วนรถยนต์แทบไม่มีให้เห็นเลยส่วนใหญ่จะเป็นพวกเจ้านาย คหบดี ดังนั้นสมัยก่อนหากใครมีรถจักรยานปั่นโชว์ก็นับเป็นเรื่องเท่อย่าบอกใคร… ส่วนอีกภาพหนึ่งก็เป็นภาพถ่ายถนนท่าแพ สันนิษฐานว่าถ่ายจากบริเวณทางม้าลายใกล้กับห้างตันตราภัณฑ์ และน่าจะเป็นคนละสมัยกันกับภาพแรก ระยะเวลาต่างกันไม่มากนักคงไม่เกิน 10 ปี ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นราวสะพานแม่ข่าอยู่ด้านหลังของผู้หญิงสองคนซึ่งเดินอยู่ตรงกลางภาพ สมัยนั้นสะพานแม่ข่าสร้างด้วยไม้ ส่วนร้านค้าสองฟากถนนเป็นโรงแถวไม้ชั้นเดียวหลังคามุมกระเบื้องดินเผาซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น นอกจากนั้นบริเวณใต้ต้นไม้ใหญ่ในภาพเดียวกัน จะเห็นศาลาประตูหน้าวัดแสนฝางเป็นเงาตะคุ่ม ด้านตรงข้ามกับศาลาวัดแสนฝางก็คือบริเวณโรงภาพยนตร์ศรีวิศาล ซึ่งเป็นโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ปัจจุบันได้เลิกกิจการไปแล้วหลังจากที่ได้มีโรงหนังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเชียงใหม่ ส่วนริมทางเท้าใกล้กับผู้หญิงสองคนจะเห็นคล้ายกับถังวางอยู่ ไม่ใช่ถังขยะแต่เป็น “ก๋วยหวาย” หรือกระบุงหวายสำหรับใช้ใส่ของเดินทางไกล สมัยก่อนไม่มีกระเป๋าเดินทางเมื่อเวลาชาวบ้านจะนำสินค้าไปขายยังต่างเมือง ก็จะนำก๋วยหวายนี้ใส่สินค้าแล้วบรรทุกบนหลังวัวหรือหลังม้า ก๋วยหวายนี้เป็นกระบุงสานด้วยหวายรูปสี่เหลี่ยม ข้างบนมีฝาปิดเปิดได้ เมื่อเวลาเปิดฝาออกจะมีชั้นตะแกงสานด้วยไม้ไผ่อย่างบาง สำหรับวางสิ่งของเบ็ดเตล็ด ก๋วยหวายจะมีน้ำหนักเบาและทนทานมาก ส่วนตรงข้ามก๋วยหวายจะเห็นคอกสี่เหลี่ยมล้อมต้นมะฮอกกานี ซึ่งเพิ่งปลูกได้ไม่นาน



หลังจากนั้นมาถนนท่าแพก็มีความเจริญขึ้นตามลำดับ ร้านค้าที่เคยเป็นโรงไม้ชั้นเดียวก็เปลี่ยนมาสร้างด้วยอาคารพานิช 2 ชั้น และมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งร้านค้าจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น จนชื่อเสียงของถนนท่าแพกลายเป็นถนนสายการค้าที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อเมืองเชียงใหม่มีเจริญมากยิ่งขึ้นมีพ่อค้า นักธุรกิจเดินทางเข้ามาค้าขายในเชียงใหม่เพิ่มขึ้น ย่านการค้าของเชียงใหม่จึงกระจายออกไปอยู่ทั่วเมือง ความสำคัญของถนนท่าแพก็ลดลง อย่างไรก็ตามแม้ว่าถนนเศรษฐกิจและการค้าของเชียงใหม่จะมีมากขึ้น แต่เสน่ห์ของถนนท่าแพในความทรงจำของคนยุคก่อนก็คือถนนแห่งการค้าสายแรกในยุครุ่งเรืองของเชียงใหม่

ที่มา : จักรพงษ์ คำบุญเรือง นสพ.เชียงใหม่นิวส์
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 11 ก.ย. 2016 9:42 am

ตามรอยเส้นทางสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

DSC_5681-399x600.jpg
DSC_5681-399x600.jpg (89.44 KiB) เปิดดู 9916 ครั้ง


“การเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยก่อนที่จะเข้าไปตีเมืองอังวะในประเทศพม่านั้น พระองค์ได้เดินทัพมายังเมืองงายในเขตอำเภอเชียงดาว ซึ่งปัจจุบันมีร่องรอยหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ ในตำนานได้กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำกองทัพไทยจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้วมุ่งหน้าต่อไปยังเมืองแหง”

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่ได้รับการยกย่องว่าทรงมีพระบรมเดชานุภาพขจรขจาย ทรงนำกองทัพเข้าประจัญบานในการรบจนเป็นที่เกรงขามของศัตรู จากเอกสารของชาวตะวันตกได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีความเข้มงวดในการปกครองมากที่สุดในประวัติศาสตร์สยาม ทรงสั่งประหารชีวิตผู้คนมากกว่า 50,000 คน ทั้งนี้ยังไม่นับผู้คนที่ล้มตายจากการทำสงครามอีกหลายแสนคน



อาณาจักรอังวะเกือบล่มสลาย หากพระองค์ไม่เสด็จสวรรคตเสียก่อน ขณะเดินทางกรีฑาทัพทหาร 200,000 คนเพื่อเข้ายึดศูนย์กลางอำนาจของพม่าในสมัยนั้น ทว่าประเด็นพื้นที่สวรรคตของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้กลับคลุมเครือไม่ชัดเจน ในบทความเรื่องพื้นที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ของชัยยง ไชยศรีในวารสารพิฆเนศวร์ซึ่งจัดพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ กล่าวถึงการบันทึกสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจากพงศาวดารไทยที่บันทึกมาตั้งแต่สมัยอยุธา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯให้ชำระขึ้นใน พ.ศ.2223 เป็นการบันทึกภายหลังที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตแล้ว 75 ปี นับว่าเป็นพงศาวดารไทยที่บันทึกใกล้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด

โดยได้บันทึกพื้นที่สวรรคตว่าอยู่ในเมืองหลวง ตำบลทุ่งดอนแก้ว ขณะที่มหาราชวงษ์พงศาวดารพม่า โดยพม่าได้บันทึกพื้นที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรไว้ชัดเจนว่า “…ครั้นลุจุลศักราช 974 พระเจ้าอยุธยา พระนเรศทรงเสด็จยกกองทัพ 20 ทัพ มาทางเชียงใหม่จะไปตีเมืองอังวะ ครั้นเสด็จถึงเมืองแหน แขวงเมืองเชียงใหม่ ทรงประชวรในเร็วพลันก็สวรรคตในที่นั้น”

นอกจากนั้นในตำนานพงศาวดารของพม่าได้กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าอังวะ ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมขึ้นกับกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงได้ยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ โดยได้ชักชวนให้กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีสัตนาคนหุตและเมืองเชียงใหม่ยกกองทัพไปช่วย กรุงศรีสัตนาคนหุตและเมืองเชียงใหม่ยกทัพไปตามกำหนด แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงถ่วงเวลาแกล้งเดินทัพไปช้า ๆ เพื่อรอให้ทัพหงสาวดีตีกรุงอังวะเสียก่อน หากทัพพระเจ้าหงสาวดีเพลี่ยวพล้ำแก่ทัพอังวะ สมเด็จพระนเรศวรจะได้ตีตลบหลังกองทัพหงสาวดี”

การเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในสมัยก่อนที่จะเข้าไปตีเมืองอังวะในประเทศพม่านั้น พระองค์ได้เดินทัพมายังเมืองงายในเขตอำเภอเชียงดาว ซึ่งปัจจุบันมีร่องรอยหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่ ในตำนานได้กล่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำกองทัพไทยจากกรุงศรีอยุธยาเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อออกจากเมืองเชียงใหม่แล้วจึงได้แบ่งทัพแยกทางกัน สมเด็จพระนเรศวรฯทรงนำกองทัพไทยออกจากเชียงใหม่พร้อมกับพระเจ้าเชียงใหม่และลูกพระเจ้าเชียงใหม่ทั้งสามไปโดยทัพหลวงยกพยุหโยธาไปทางเมืองหางและโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรสทรงนำทัพอีกส่วนหนึ่งไปทางเมืองฝางนอกจากนั้นในตำนานพระธาตุเมืองน้อย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชายแดนอยู่ติดกับพื้นที่อำเภอเวียงแหง มีการกล่าวอ้างถึงสถานที่เสด็จเดินทัพผ่านบริเวณบ้านเมืองน้อยเพื่อเข้าไปตีพม่าว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ใช้เส้นทางเดินทัพไปยังประเทศพม่าโดยผ่านเมืองน้อย ซึ่งตอนนั้นเป็นชุมชนของชนเผ่าลัวะ (ปัจจุบันมีเจดีย์โบราณศิลปะล้านนาปรากฏให้เห็น สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย-อยุธยา)

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จถึงเขตเมืองหาง ทรงทัพหลวงที่ตำบลทุ่งแก้วหรือทุ่งดอนแก้ว แรมทัพในตำบลนี้ ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวร รับสั่งให้ข้าหลวงไปอัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรสเสด็จจากเมืองฝางไปเข้าเฝ้าในวันเสาร์ขึ้น 6 ค่ำเดือน 6 ปีมะเส็งเบญจศก (พ.ศ.2136)



ในวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 ก็เป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคต ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาได้ 50 ปีเสด็จอยู่ในราชสมบัติได้ 15 พระพรรษา

สถานที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตได้ทรงเป็นพระสถูปเจดีย์ขึ้นที่เมืองหางในรัฐฉานประเทศพม่า ปัจจุบันพระสถูปเจดีย์อันเก่าแก่ได้ถูกทำลายลงหมดสิ้น ไม่มีแม้แต่ซากอิฐเหลือให้เห็น จนประมาณเมื่อปี พ.ศ.2502 ขณะนั้นรัฐบาลพม่าเริ่มปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวไทยใหญ่ที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าเพื่อแยกการปกครองเป็นอิสระแต่พม่าไม่ยอม ชนกลุ่มน้อยชาวไทใหญ่จึงได้ก่อการกบฏขึ้นทั่วทุกหนทุกแห่งในรัฐไทยใหญ่ ได้มีการจัดตั้งกองทัพกู้อิสรภาพของชาวไทยใหญ่ขึ้นเพื่อสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลพม่า

เมื่อเวลาที่จะออกศึกสู่รบกับฝ่ายรัฐบาลพม่า กองทัพกู้อิสรภาพชาวไทยใหญ่เหล่านี้จะต้องไปบวงสรวงสักการะดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่สถูปเจดีย์ของพระองค์เสียก่อน ปรากฏว่าในการสู้รบทุกครั้งฝ่ายกองทัพกู้อิสรภาพชาวไทยใหญ่มักจะประสบชัยชนะฝ่ายรัฐบาลพม่าอย่างง่ายดาย ทำให้พม่าเคียดแค้นเป็นหนักหนา จึงได้ใช้ระเบิดทำลายพระสถูปเจดีย์เหล่านี้เสียหมด หนำซ้ำยังใช้รถแทร็กเตอร์เกรดทำลายจนราบเรียบไม่เหลือซากให้คณะกู้อิสรภาพไทยใหญ่มาสักการะได้อีกต่อไป ทำให้คนไทยพลอยไม่ได้มีโอกาสเห็นสถานที่ซึ่งวีรบุรุษของชาติสวรรคตอีกเลย


บริเวณที่ประดิษฐานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนี้เรียกว่า “กองมูขุนหอคำไตย” เป็นภาษาไทยใหญ่หมายถึง “พระเจดีย์ของพระเจ้าแผ่นดินไทย” บริเวณนี้อยู่ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ทางด้านตะวันตกของอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร เหนือบริเวณนี้ขึ้นไปเล็กน้อย ปัจจุบันคือเมืองแกน เป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรพระนาภีอย่างหนัก ทรงตั้งทัพอยู่ ณ ที่นั่น คำว่า “แกน” เป็นภาษาล้านนาและไทยใหญ่แปลว่า “เจ็บปวดอย่างรุนแรง” เลยเมืองแกนนี้ไปอีกเล็กน้อยเป็นเมืองหาง

เมืองงายเป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกรีฑาทัพผ่านเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง มีผู้พบเสาพะเนียดอยู่เป็นจำนวนมากปรากฏอยู่ ต่อมาทางการได้เก็บรวบรวมและนำไปไว้ที่บริเวณพระสถูปแห่งนี้พร้อมกับซากอิฐจากพระเจดีย์สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่เมืองหาง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาจยังไม่ชัดเจน เนื่องจากเรื่องราวในพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งที่เขียนจากไทยและพม่ายังมีข้อมูลบางส่วนไม่ตรงกัน โดยเฉพาะชื่อเมืองที่สวรรคต บ้างก็กล่าวว่าทรงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง ขณะที่บางตำนานบอกว่าสวรรคตที่เมืองแหน จึงเป็นที่น่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์นักรบของแผ่นดินสยามสวรรคตที่เมืองไหนกันแน่


ที่มา จักรพงษ์ คำบุญเรือง นสพ.เชียงใหม่นิวส์
ไฟล์แนป
DSCF0133-450x600.jpg
DSCF0133-450x600.jpg (107.6 KiB) เปิดดู 9916 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » อังคาร 14 มี.ค. 2017 2:34 pm

ตำนานนางสงกรานต์

113245j0ue8kyg4pvjjq2k.jpg
113245j0ue8kyg4pvjjq2k.jpg (42.09 KiB) เปิดดู 9711 ครั้ง


ก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ข้างรั้วบ้านเศรษฐีมีครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวเป็นนักเลงสุรา ถ้าวันไหนร่ำสุราสุดขีด ก็จะพูดเสียงดังแสดงวาจาเยาะเย้ยเศรษฐีสบประมาทในความมีทรัพย์มาก แต่ไร้ทายาทสืบสมบัติเสมอ วันหนึ่งเศรษฐีจึงถามว่ามีความขุ่นเคืองอะไรจึงแสดงอาการเยาะเย้ยและสบ ประมาท เฒ่านักดื่มจึงตอบ ถึงท่านมั่งมีสมบัติมากก็จริง แต่เป็นคนมีบาปกรรมท่านจึงไม่มีบุตร ตายไปแล้วสมบัติก็ตกเป็นของผู้อื่นหมด สู้เราไม่ได้ถึงแม้จะยากจนแต่ก็มีบุตรคอยดูแลรักษายามเจ็บไข้ และรักษาทรัพย์สมบัติเมื่อเราสิ้นใจ

นับแต่นั้นมา เศรษฐียิ่งมีความเสียใจ จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึงสามปี ก็ไม่ได้บุตรดังที่ตนปรารถนา จนวันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ที่อยู่บนฝั่งแม่น้ำที่อาศัยของนกทั้งหลาย ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง ๗ ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ “ธรรมบาล” ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง ๗ ชั้น ถวายเทพต้นไทร

เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญ วัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม รอบรู้ และวัยเพียง ๗ ขวบก็เรียนจบไตรเพท ยังมีเทพองค์หนึ่งชื่อ “ท้าวกบิลพรหม” ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา ๓ ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง ๓ ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า

๑. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
๒. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
๓. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด

เมื่อ ได้ฟังปัญหาแล้ว ธรรมบาลไม่อาจทราบคำตอบในทันทีได้ จึงผลัดวันตอบปัญหาไปอีก ๗ วัน ครั้นเวลาล่วงจากนั้นไป ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดหาคำตอบปัญหานั้นไม่ได้ จึงหลบออกจากปราสาทหนีเข้าป่า และไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล ขณะนั้นบนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่ นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน” นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้” นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร” นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ ๓ ข้อ และหมายถึง

ข้อหนึ่ง ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อสอง ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อสาม ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน

ธรรมบาลกุมาร ได้ยินการไขปัญหาของนกอินทรี และจำจนขึ้นใจ ทั้งนี้เพราะธรรมบาลรู้ภาษานก จึงกลับสู่ปราสาทอันเป็นที่อยู่แห่งตน รุ่งขึ้นเป็นวันครบกำหนดแก้ปัญหา ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารกล่าวแก้ปัญหาตามที่นกอินทรีคุยกันทุกประการ ท้าวกบิลพรหมจึงเรียก ธิดาทั้ง ๗ ของตนอันเป็นบริจาริกา คือ หญิงรับใช้ของพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าตนจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าเอาศีรษะพ่อวางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้งฟ้าฝนจะหายไปสิ้น ถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งแล้งไปเช่นกัน จึงสั่งให้ นางทั้ง ๗ คน เอาพานมารองรับศีรษะ แล้วจึงตัดศรีษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต นางทุงษจึงเอาพานรับเศียรบิดาไว้แล้วแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว ๗ ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต ๗ ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุกๆ องค์ ครั้นครบ ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าเป็นหนึ่งปีเป็นสงกรานต์ ธิดา ๗ องค์ ของเท้ากบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขา พระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » เสาร์ 18 มี.ค. 2017 9:54 am

สามเณรแบงก์ [ธรรมากร อารยางกูร] รับบิณฑบาตแม่อุ๊ยดี ชาวบ้านสันฮกฟ้า อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ งดงามด้วยวิถีพุทธ งดงามด้วยวิถีล้านนา

17264789_1328626733864209_618648678510103713_n.jpg
17264789_1328626733864209_618648678510103713_n.jpg (166.97 KiB) เปิดดู 10425 ครั้ง
แก้ไขล่าสุดโดย pasasiam เมื่อ เสาร์ 18 มี.ค. 2017 10:08 am, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » เสาร์ 18 มี.ค. 2017 9:57 am

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน ที่ประดิษฐสถานพระธาตุศรีเวียงชัย

20110918143942_img_2428.jpg
20110918143942_img_2428.jpg (66.72 KiB) เปิดดู 10425 ครั้ง


วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่เลขที่ ๔๙๙ หมู่ที่ ๘ ต. นาทราย อ. ลี้ จ. ลำพูน ห่างจากที่ว่าการอำเภอลี้ไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร (อยู่บนเส้นทางลี้ไปเถิน)

มีความสำคัญคือ เป็นวัดที่มีรอยพระพุทธบาท ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญที่ทำให้ทราบว่า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ณ บริเวณสถานที่แห่งนี้ โดยได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนก้อนหิน

นับตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ ที่หลวงปู่ได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม จนกระทั่งมรณภาพในปี ๒๕๔๓ เป็นเวลาถึง ๕๔ ปี หลวงปู่ได้ใช้ความพยายามพัฒนาวัดจนสามารถพลิกสภาพความเป็นวัดร้างให้เป็นวัดที่มีความเจริญถึงขีดสุด จนทำให้ผู้คนจากทุกสารทิศทั้งในและต่างประเทศ ทุกระดับชั้นทางสังคมหลั่งไหลเข้ามาสักการะ สมกับที่เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

บ้านห้วยต้มเป็นหมู่บ้านของ ชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยงทั้งหมด ๖๐๐ หลังคาเรือนมีคนอาศัยอยู่เกือบ ๓,๐๐๐ คนซึ่งพวกเขาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านห้วยต้มเมื่อปี ๒๕๑๔ หลังจากที่ราชการ สร้างเขื่อนยันฮี หรือ เขื่อนภูมิพล ขึ้น ชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน การอพยพเข้ามาอยู่ในระยะแรกมีความยากลำบากมาก เพราะพื้นที่บางส่วนเป็นหินศิลาแลง และสภาพทั่วไป มีความแห้งแล้ง ชาวกะเหรี่ยงบางคนไม่สามารถทนอยู่ได้ต้องอพยพไปอยู่ในที่ใหม่ พวกที่ทนอยู่ได้ก็ตั้งหน้าทำงานต่อสู้กับอุปสรรคอันแห้งแล้งของธรรมชาติ

20110918144345_img_2452.jpg
20110918144345_img_2452.jpg (107.39 KiB) เปิดดู 10425 ครั้ง


พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย เป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองของคนเมืองลี้ จังหวัดลำพูน ที่เป็นที่สักการะของคนลำพูน คนภาคเหนือ และคนไทยทั่วทุกภูมิภาค รวมถึงคนต่างชาติต่างภาษาที่พากันมาสักการะบูชาอยู่โดยไม่ขาดสาย ตั้งอยู่ ใกล้วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งองค์ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีฐานของพระเจดีย์ขนาด ๔๐ X ๔๐ เมตร ความสูงขององค์พระเจดีย์ ๖๔.๓๙ เมตร เป็นพระธาตุเจดีย์จำลองจากพระธาตุชเวดากอง ประเทศพม่า สร้างบนพื้นที่ประมาณ ๖ไร่เศษ โดยหลวงปู่ครูบาชัยะวงศาพัฒนา ออกแบบและก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยได้อธิษฐานจิตแล้วขออาราธนาอัญเชิญพระเกศาของพระพุทธเจ้าโคตมะ แล้วเอาสิ่งของต่างๆได้แก่ บริขารของพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ที่ล่วงมาแล้วมาบรรจุไว้ในพระมหาธาตุเจดีย์อีกด้วย

20110918143954_img_2429.jpg
20110918143954_img_2429.jpg (114.22 KiB) เปิดดู 10425 ครั้ง


วัตถุประสงค์ของการสร้าง เพื่อให้ประเทศไทยได้มีพุทธเจดีย์ที่เป็นเครื่องหมายแห่งการตรัสรู้โปรด เวไนยสัตว์ของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ซึ่งได้แก่ พระพุทธเจ้ากกุสันธะ, พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ,พระพุทธเจ้ากัสสปะ,พระพุทธเจ้าโคตมะ องค์ปัจจุบันและพระศรีอริยเมตไตรย์ พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานนามพระมหาเจดีย์นี้ว่า พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย
ที่มา mcot.net
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » เสาร์ 18 มี.ค. 2017 4:02 pm

"กู่เจ้าย่าสุตา" โบราณสถานสำคัญบนถนนวังเหนือ จังหวัดลำปาง

IMG_0286.JPG
IMG_0286.JPG (54.5 KiB) เปิดดู 10363 ครั้ง


"กู่เจ้าย่าสุตา" เป็นสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีลวดลายปูนปั้นเทวดาอยู่ทั้ง ๔ มุม ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสวยงามมาก สันนิษฐาน ว่ากู่เจ้าย่าสุตาเคยเป็น "ซุ้มประตูโขงของวัดกากแก้ว" ในอดีต ซึ่งทางกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ซุ้มประตูนี้นับเป็นโบราณสถานที่เรียกได้ว่าเป็นโบราณสถานน้อยแห่งใน สมัยในล้านนา มีลวดลายศิลปกรรมปูนปั้นที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง เท่าที่พบเห็นได้ในจังหวัดลำปาง

ซุ้มประตูแห่งนี้ไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงยุคของล้านนา ประมาณปี พ.ศ.๑๘๙๘ – ๒๑๐๐( รัชสมัยของพญากือนา-พระเมืองแก้ว) และถ้าจะเจาะลึกลงไปน่าจะเป็นในยุคปลายรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ซึ่งในสมัยนั้นเขลางค์นครเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอาณาจักรล้านนา โดยซุ้มประตูก่ออิฐประดับลายปูนปั้นเหนือซุ้มเป็น ฝีมือของช่างสกุลล้านนาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งนักวิชาการลงความเห็นว่าน่าจะมีความเก่าแก่มากกว่าซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวงเสียอีก ปัจจุบันมีการขุดค้นวัตถุโบราณ จากบริเวณที่คาดว่าเป็นอุโบสถเก่า คงเห็นเป็นแนวกำแพงและชั้นอิฐ โดยเริ่มขุดค้นในปี ๒๕๕๓ พบวัตถุโบราณหลากหลาย ทั้งพระพุทธรูปสัมริด เครื่องกระเบื้องเคลือบลาย ฯลฯ

แม้กู่เจ้าย่าสุตาจะไม่มีประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด แต่ความงดงามและร่องรอยความรุ่งเรืองของอดีตกลับปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน และด้วยความสงบ เข้มขลัง นี้สามารถเป็นเครื่องเตือนใจคนที่ผ่านไป-มาได้ว่าจงรักษากริยา วาจา และใจ ให้สงบและสำรวม สมกับที่ได้อยู่พื้นที่แห่งความทรงจำของอดีต ‘เขลางค์นคร’ เมืองลูกหลวงแห่งอาณาจักรล้านนา

ภาพ : Kasira Kaoreang
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » เสาร์ 18 มี.ค. 2017 8:32 pm

ควรขานพระนามพญามังรายหรือพ่อขุนเม็งราย

A8347946-3.jpg
A8347946-3.jpg (71.23 KiB) เปิดดู 10361 ครั้ง


พระนาม "มังราย" นั้นปรากฏในศิลาจารึก ตำนาน และเอกสารดั้งเดิมทุกชนิด มีแต่หนังสือพงศาวดารโยนก เขียนโดย พระยาประชากิจกรจักร จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้คัดแปลจากอักษรไทยเหนือ (ตัวเมือง) ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์วชิรญาณ ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๑-๑๔๔๒ (อ้างอิงจาก ประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต) อธิบายเพิ่ม พระยาประชากิจกรจักร เป็นข้าราชการชาวสยาม เมื่อท่านแปลความจากตัวเมืองจึงมีความคลาดเคลื่อน ปัญหาคือเอกสารในสมัยหลัง ๆ ต่างก็อ้างอิงพงศาวดารโยนกทั้งนั้น จึงพากันออกพระนามว่า "เม็งราย" อย่างไรก็ดี มีสถานที่หลายแห่งใช้ชื่อว่า "เม็งราย" ไปแล้ว เช่น ตำบลเม็งราย อำเภอพญาเม็งราย โรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม และค่ายเม็งรายมหาราช ในจังหวัดเชียงราย กับทั้งวัดพระเจ้าเม็งราย ในจังหวัดเชียงใหม่

อ้างอิงข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ใกล้รุ่ง ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประเสริฐ_ณ_นคร.jpg
ประเสริฐ_ณ_นคร.jpg (16.8 KiB) เปิดดู 10361 ครั้ง


ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สนใจงานด้านคณิตศาสตร์ สถิติ การคำนวณปฏิทิน การแต่งเพลง พันธุศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทยโบราณ มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการอย่างกว้างขวาง ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ การชำระประวัติศาสตร์สุโขทัย ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไทย หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย การแบ่งกลุ่มไทยตามตัวหนังสือ พจนานุกรมไทยอาหม ตัวอักษรไทยในล้านนา ที่มาของอักษรไทยล้านนาและไทยลื้อ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ บทความ
เกิดในวันวสันตวิษุวัต ของปี ค.ศ.๑๙๑๙ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๑๔๖๑ สัมฤทธิ์ศก ปีมะเมีย ตรงปักขทืนล้านนา ในวันเต่าสัน แรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ จ.ศ. ๑๒๘๐ ปีเปิกสะง้า เป็นปีที่พิสูจน์ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เกิดที่ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของนายบุญเรือง และนางกิมไล้ ได้สมรสกับนางเยาวลักษณ์ (ลีละชาติ) มีบุตรคือ ดร.ปิยพร ณ นคร ซึ่งได้สมรสกับนางสมทรง (โหตรกิตย์) มีบุตรชื่อนางสาวเสมอใจ ณ นคร
ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในวงวิชาการว่า เป็นปรมาจารย์ในด้านไทยศึกษา ที่มีความรอบรู้ในลักษณะสหวิทยาการ ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ ประวัติศาสตร์ไทย ปฏิทินไทย ภาษาไทย จารึก ศิลปวรรณคดี และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนักวิชาการที่ให้ความสำคัญกับการขยายขอบเขตของไทยศึกษา ไปสู่ไทศึกษาหรือการศึกษาเรื่องของชนเผ่าไทอื่น ๆ นอกประเทศไทย ผลงานทางวิชาการของท่านมีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ถิ่นเดิมและตระกูลภาษาไท การสืบค้นภาษาไทในเมืองจีน แนวการปริวรรตอักษรพื้นเมืองล้านนา ประวัติศาสตร์สุโขทัยจากจารึก เล่าเรื่องในไตรภูมิพระร่วง ความสำคัญของวรรณคดีท้องถิ่น หลักการสอบค้นเมืองสมัยสุโขทัย ประวัติศาสตร์ล้านนาจารึก ความเห็นเรื่องจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรื่องเกี่ยวกับ ศิลาจารึกสุโขทัย และศักราชในจารึกสมัยสุโขทัย เป็นต้น ผลงานเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่อง และใช้อ้างอิงในวงวิชาการเสมอมา นักวิชาการหลายสาขาอ้างอิงแนวคิดหรือข้อเสนอของท่าน เพียงใช้อักษรย่อว่า ป.ณ.

ขอบคุณข้อมูลประวัติศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร จากวิกิพีเดีย
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » เสาร์ 18 มี.ค. 2017 9:26 pm

อาจารย์สุวภรณ์ ชูโต อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ปัจจุบันอายุ ๗๐ ปี (คาดว่าภาพนี้ถ่ายประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๕)

สาวลำปาง.jpg
สาวลำปาง.jpg (25.72 KiB) เปิดดู 10360 ครั้ง


นายพลู หัวนา กับ นางสุทัศน์ (กันนิกา) ชิดสนิท คนเจียงคำ จังหวัดพะเยา (คาดว่าถ่ายภาพนี้ประมาณปี ๒๕๑๕)

11873467_1600201760245086_5376440695691229431_n.jpg
11873467_1600201760245086_5376440695691229431_n.jpg (65.23 KiB) เปิดดู 10360 ครั้ง
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » อังคาร 21 มี.ค. 2017 5:23 pm

#วันนี้ในอดีต วันพระราชทานเพลิงศพ ครูบาเจ้าศรีวิชัย วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

S__33382404.jpg
S__33382404.jpg (22.35 KiB) เปิดดู 10355 ครั้ง


เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ถูกขับออกจากเมืองเชียงใหม่ ครูบาเจ้าฯ ได้ปวารณาตนว่าจะไม่กลับไปเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก เว้นแต่แม่น้ำปิงจะไหลย้อนกลับ ครูบาเจ้าศรีวิชัย มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สิริอายุได้ ๖๐ ปี ตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปาง เป็นเวลา ๑ ปี จึงได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ ณ วัดจามเทวี อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน จนกระทั่งวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ โดยมีประชาชนมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก และประชาชนเหล่านั้นได้เข้าแย่งชิงอัฏฐิธาตุของครูบาศรีวิชัย ตั้งแต่ไฟยังไม่มอดสนิท แม้แต่แผ่นดินตรงที่ถวายพระเพลิง ก็ยังมีผู้ขุดเอาไปสักการบูชา อัฏฐิธาตุของท่านที่เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมได้ได้ถูกแบ่งออกเป็น ๗ ส่วน แบ่งไปบรรจุตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินล้านนาดังนี้

ส่วนที่ ๑ บรรจุที่ วัดจามเทวี จ.ลำพูน
ส่วนที่ ๒ บรรจุที่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่
ส่วนที่ ๓ บรรจุที่ วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง
ส่วนที่ ๔ บรรจุที่ วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
ส่วนที่ ๕ บรรจุที่ วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ส่วนที่ ๖ บรรจุที่ วัดน้ำออกรู จ.แม่ฮ่องสอน
ส่วนที่ ๗ บรรจุที่ วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จ.ลำพูน

Publication : P.som ส.สกุณา
http://photobypsom.blogspot.com/2017/03/21-2489.html
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย ภาษาสยาม » พฤหัสฯ. 30 มี.ค. 2017 7:22 pm

“มณฑปกลางน้ำ” ณ “เวียงเกาะกลาง” : สังฆเจดีย์ อุทกสีมา หรือเขาพระสุเมรุ

ปริศนาโบราณฯ-2-1.jpg
ปริศนาโบราณฯ-2-1.jpg (229.9 KiB) เปิดดู 10338 ครั้ง


ที่กลางสระน้ำหน้าวัดเกาะกลาง บ้านบ่อคาว ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน อันเป็นแหล่งอาศัยของชุมชนชาวมอญกว่า ๕๐๐ ครัวเรือนนั้น มีโบราณสถานอยู่หลังหนึ่ง ลักษณะค่อนข้างแปลกประหลาด แปลกเสียจนนักวิชาการด้านโบราณคดีถกเถียงกันอยู่นานหลายปีว่าคืออะไรกันแน่ มณฑปหลังดังกล่าว ก่อนที่จะเห็นว่าตั้งอยู่กลางสระน้ำนั้น เดิมมีสภาพเป็นเนินดินสูง ชาวบ้านเรียกแบบลำลองแตกต่างกันไป บ้างเรียก “ศาลเพียงตา” “ประภาคาร” และบ้างก็เรียก “หอฟ้าผ่า” โดยชาวบ้านมีความกลัวว่าจะถูกฟ้าผ่า หากปีนขึ้นไปเหยียบบนยอดหอหลังนี้ เหตุที่ปู่ย่าตายายจะคอยเตือนลูกหลานอยู่เสมอว่า ในอดีตเคยมีคนถูกฟ้าผ่าตายมาแล้วหลายคน ประหนึ่งว่าหอดังกล่าวมีสายล่อฟ้าหรือเคยมีโบราณวัตถุอะไรบางอย่างที่สร้างด้วยทองแดงกระนั้น? ทำให้หอหรืออาคารดังกล่าวถูกทิ้งร้างอยู่ชั่วนาตาปี ไม่มีใครกล้าไปแตะต้อง จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๕๔๗ หรือ ๑๓ ปีก่อนนั้น กรมศิลปากรได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีก้อนแรก ๕ ล้านบาทจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ในยุคที่ นายสมาน ชมภูเทพ หรือ “หนานหล้า” (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) เป็นนายก อบจ. และต่อมาได้รับงบสนับสนุนในก้อนถัดๆ มาอย่างต่อเนื่องอีกหลายช่องทางสิริรวม ๑๓ ล้านบาท ๒ ล้านบาทก้อนสุดท้ายคือปี ๒๕๕๒ เป็นงบฯ สร้างพิพิธภัณฑ์ในวัดเกาะกลางสำหรับเก็บปูนปั้นที่ขุดได้จากเวียงเกาะกลางมากกว่า ๒,๐๐๐ ชิ้น และหลังจากนั้น เวียงเกาะกลางก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ จากภาครัฐอีกเลย ทั้งๆ ที่เป็นขุมทรัพย์มหาศาล สามารถนำมรดกของแผ่นดินมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทางการท่องเที่ยว หรืออย่างน้อยควรสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์แหล่งสำคัญในระดับชาติ เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับโบราณสถานจำนวนหลายแห่งในระดับอุษาคเนย์

ใครจะเชื่อว่า จากเนินดินพอกนูนสูงคล้ายภูเขาลูกย่อมๆ ด้วยถูกทิ้งร้างไปนานหลายร้อยปี เหตุเพราะเคยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากมีการเปลี่ยนเส้นทางไหลของแม่น้ำปิง เดิมชาวมอญจะตั้งบ้านเรือนอยู่แถววัดหนองดู่ริมแม่ปิงมากกว่าจะอาศัยอยู่แถวโบราณสถานร้างเวียงเกาะกลาง สำทับด้วยคำขู่ของคนเฒ่าคนแก่ว่าห้ามไม่ให้ใครเข้าไปยุ่มย่ามเหยียบย่ำอย่างเด็ดขาด ตามคำร่ำลือเรื่องฟ้าผ่านั้น แต่เมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นไปขุดค้นมา กลับกลายเป็นว่า โบราณสถานแห่งนี้มีฐานที่จมลึกลงไปใต้ชั้นบาดาลเลยทีเดียว กล่าวคือ ตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าถนนทางเท้าชั้นดินปัจจุบันถึง ๕ เมตร
ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา หลังจากที่กรมศิลปากรได้ขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดี ณ มณฑปแห่งนี้ ได้พบความแปลกประหลาดหลายประการดังนี้ ประการแรก ผังอาคารเป็นมณฑปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีลานประทักษิณซ้อนกันถึง ๒ ชั้น ชั้นแรกคือลานตอนล่าง และชั้นที่สองตั้งอยู่ประชิดล้อมรอบเรือนธาตุของมณฑปตอนบน ข้อสำคัญคือมณฑปจัตุรมุขนี้มีแกนเสาเป็นจุดสำคัญ

แกนเสาสีดำใช้ทำอะไร ไม่มีใครทราบว่ามณฑปหลังนี้มีหน้าที่ใช้ประดิษฐานอะไร โดยปกติแล้ว การทำมณฑปเปิดโล่งแบบจัตุรมุขนั้น มักใช้รองรับพระพุทธรูปสำคัญเป็นการเฉพาะ หรืออาจประดิษฐานต้นโพธิ์จำลองแต่ที่นี่บริเวณแกนกลางของมณฑป กลับก่ออิฐป็นแท่งเสาขนาดใหญ่ ก่อเพื่อใช้รองรับหลังคาตอนบน (เครื่องหลังคาก็หักหายไปหมดแล้ว) เท่านั้นเองล่ะหรือ มิได้เคยมีพระพุทธรูปสี่ด้านยืนหันหลังชนกัน ๔ ทิศมาก่อนเลยหรือ พิจารณาแล้วพบว่าแท่งเสานี้เต็มไปด้วยสีดำ ไม่มีใครทราบว่าเพราะเหตุไร ชาวบ้านบอกว่าอาจเป็นเขม่าควันซึ่งชาวประมงใช้จุดไฟกลางคืนบอกทางสัญจรแก่ชาวเรือ (ในลักษณะประภาคาร) หรืออาจเกิดจากการที่ฟ้าผ่าอาคารหลังนี้บ่อยครั้ง แต่นักโบราณคดีเห็นว่าน่าจะเกิดจากรอยของการลงรัก (ยางเหนียวสีดำ) อาจจะลงเพื่อใช้ปิดทองพระพุทธรูปที่เคยหันหลังชนกันที่แท่งเสา แต่ต่อมาพระพุทธรูปหายไปแล้วก็เป็นได้ หรือดีไม่ดี อาจไม่เคยมีพระพุทธรูปมาก่อนเลยตั้งแต่แรกสร้าง คือมีแต่เสาที่ลงรักสีดำสำหรับปิดทอง การใช้เสาแท่งใหญ่เป็นแกนกลางมณฑปเช่นนี้พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรพุกาม (พุกามอยู่ในพม่า เจริญขึ้นร่วมสมัยกับหริภุญไชยตอนกลางถึงตอนปลาย คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙) แต่โดยมากวิหารจัตุรมุขในพุกามนั้นมักใช้แท่งเสารองรับหลังคาที่เป็นเจดีย์แบบทรงพุทธคยาอยู่ตอนบน และมักประดิษฐานพระพุทธรูปหันหลังชนกัน ๔ ทิศ ในขณะที่มณฑปเวียงเกาะกลาง ไม่ได้มีเสาแท่งขนาดใหญ่มากพอที่จะเหลือพื้นที่ให้สามารถสร้างพระพุทธรูป ๔ องค์ในภัทรกัปขนาดนั้นได้ จะอย่างไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยที่สุด รูปแบบของเสาแกนกลางมณฑปทรงจัตุรมุขเช่นนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนว่าชุมชนในเวียงเกาะกลางแห่งนี้เคยมีความสัมพันธ์กับชาวพุกามมาก่อน อาจเคยไปมาหาสู่กัน กระทั่งมีการถ่ายทอดแบบศิลปะซึ่งกันและกัน ส่วนใครจะถ่ายทอดให้ใครนั้น จุดเริ่มต้นสถาปัตยกรรมรูปแบบนี้มีขึ้นครั้งแรกในวัฒนธรรมไหน เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

ประเด็นที่สอง ความแปลกประหลาดของศาสนสถานหลังนี้ คือพื้นล่างขององค์มณฑป มีการก่ออิฐเรียงเป็นแนวรูปวงกลม ซึ่งพบฐานแบบนี้ไม่มากนักบนแผ่นดินสยาม ภาพของฐานทรงกลมเช่นนี้ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่วงการโบราณคดี เพราะโดยปกติแล้วสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าเจดีย์ วิหาร อุโบสถ มณฑป กุฏิ ศาลา ที่พบในทุกๆ อารยธรรมอุษาคเนย์มักจบฐานล่างลงด้วยผังรูปสี่เหลี่ยมเสมอ นอกเหนือไปจากฐานเจดีย์ทรงลอมฟางหรือทรงกระบอกที่กู่ช้างในจังหวัดลำพูนแล้วนั้น ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าฐานมณฑปที่เวียงเกาะกลางมีลักษณะคล้ายกับฐานสระมรกตที่อำเภอดงศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี สระมรกตที่ปราจีนฯ มีต้นกำเนิดมาจากวิหารเมืองนาคารชุณโกณฑะในวัฒนธรรมอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๑) ซึ่งอมราวดีเป็นแผ่นดินต้นกำเนิดของชาวมอญตะเลงคณา (แขกกลิงค์) ที่อพยพจากแคว้นกลิงคราษฎร์ของอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ มาตั้งรกรากอยู่ในสุวรรณภูมิจนกลายเป็นบรรพชนของคนมอญ ฐานมณฑปกลางน้ำที่เวียงเกาะกลางนี้ ลึกลงไปเป็นแท่งทรงกระบอกสูง คือจงใจสร้างแต่งขอบฐานให้ตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตก แสดงว่าในอดีตแม่น้ำผิงเคยไหลผ่านด้านนี้มาก่อน ไม่ใช่ไหลผ่านด้านทิศเหนือของเวียงเกาะกลางเหมือนในปัจจุบัน ผิวอิฐมีร่องรอยของการถูกสายน้ำกัดกร่อนนานหลายศตวรรษ เมื่อขึ้นพ้นบันไดจากสระน้ำ พบว่าฐานกลมชั้นล่างแต่งขอบเป็นทางเดินคล้ายลานประทักษิณโดยรอบ มีการขุดพบผางประทีป (ตะคันดินเผาที่ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นจานเทียน) ฝังอยู่โดยรอบลานประทักษิณร่วมสองพันชิ้น แสดงว่าในอดีตเคยมีการเดินเวียนเทียนรอบมณฑปนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ

แล้วสิ่งที่ผู้คนไปเดินเวียนเทียนเพื่อนมัสการนั้นคืออะไรกัน ที่แน่ๆ ไม่ใช่ประภาคาร-ศาลเพียงตา นอกจากนี้ ยังมีความแปลกประหลาดอีกหลายประการ อาทิ ประติมากรรมปูนปั้นที่ค้นพบใต้ชั้นดินจำนวนสองพันกว่าชิ้นนั้น ล้วนไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพุทธศิลป์เลย มีแต่เทวดาและสัตว์หิมพานต์ (ซึ่งจักกล่าวอย่างละเอียดในตอนต่อๆ ไป) ทำให้บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นเทวาลัยของศาสนาฮินดูหรือเปล่า เพราะไม่มีลักษณะใดเลยที่บ่งชี้ว่าจะเป็นอาคารทางพุทธศาสนา บางท่านเห็นว่าจากรูปทรงของการทำเสาแกนกลาง และเปิดซุ้มโขงโล่งสี่ทิศ อาจเป็นสัญลักษณ์ของ “เสาอินทขีล” หรือเสาหลักเมืองก็เป็นได้ หรือการที่มีสัตว์หิมพานต์จำนวนมากมายมหาศาลมาประดับตกแต่งโดยรอบเช่นนี้ อาจตั้งใจสร้างให้เป็น “เขาพระสุเมรุ” หรือไม่ บางท่านว่าอาจเป็น “สังฆเจดีย์” หรือที่เรียกว่า “ซากว์เฆียะม้อย” เพราะชาวมอญมักสร้างเจดีย์กลางน้ำ ดังเช่นที่พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ บ้างก็เสนอว่าอาจเป็น “อุทกสีมา” (อุทก-น้ำ, สีมา-หินปักบอกเขตอุโบสถ) หรือโบสถ์กลางน้ำ ดังที่ชาวมอญเรียกว่า “เมียะเต่งตัน” เมียะ แปลว่ามรกต โดยนำความกลมของลานประทักษิณของมณฑปเวียงเกาะกลางไปเปรียบเทียบกับซากโบราณสถานของสระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยทวารวดี

ที่มา เพ็ญสุภา สุขคตะ,มติชนสุดสัปดาห์
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เกร็ดล้านนาและภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเหนือ โดย น้ำฟ้า

โพสต์โดย pasasiam » อังคาร 18 เม.ย. 2017 8:57 am

ประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลี-ไม้ค้ำโพธิ์ ของล้านนา

ไม้ค้ำจอมทอง.jpg
ไม้ค้ำจอมทอง.jpg (99.5 KiB) เปิดดู 10279 ครั้ง


การแห่ไม้ค้ำสะหลี หรือการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ อันหมายถึงพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพิธีกรรมที่ขยายจากการที่ปัจเจกชนนำไม้ค้ำที่ตนได้จัดทำขึ้นไปค้ำที่ต้นโพธิ์ ไม้ค้ำดังกล่าวอาจได้มาจากไม้ง่ามที่ใช้ในพิธีสืบชาตาหรือไม้ค้ำที่จัดหา ขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องในการถวายทานในเทศกาลสงกรานต์ การที่ได้นำเอาไม้ค้ำไปค้ำที่ต้นโพธิ์นี้ อาจจัดเป็นสัญลักษณ์หมายความว่าผู้นั้นมีส่วนในการค้ำชูพระพุทธศาสนา พบว่าต้นโพธิ์ที่มีไม้ค้ำมากที่สุด คือต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่ในบางท้องถิ่นแล้ว แทนที่แต่ละคนจะนำเอาไม้ค้ำไปค้ำต้นโพธิ์ตามประสงค์ของแต่ละคนนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ก็จะนัดหมายให้ชาวบ้านร่วมกันไปหาไม้ค้ำซึ่งจะมีขนาดใหญ่แล้วตกแต่งให้งาม จากนั้นจึงทำพิธีแห่ไม้ค้ำนั้นร่วมขบวนกันเพื่อไปถวายวัดและนำไปค้ำต้นโพธิ์ ดังจะเห็นได้จากกรณีของศรัทธาชาวบ้านในอำเภอจอมทองและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
ประชาชนในถิ่นดังกล่าว นั้นถือว่า เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ทุกคนควรจะทำพิธีสืบชะตาของตนเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่ตนเองได้มีชีวิตอย่าง มีความสุขผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปีและเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่จะต้องผจญ โลกอย่างมีความสุขในปีต่อไปอีกด้วย อุปกรณ์ส่วนหนึ่งในพิธีสืบชาตาราศีดังกล่าวคือไม้ที่มีง่ามขนาดต่างๆ สุดแล้วแต่ความพอใจ แต่ขอให้เป็นไม้ที่มีลักษณะเป็นง่ามและเป็นไม้ที่ตัดมาใหม่ๆ แล้ว นำไปเข้าพิธีสืบชะตา เสร็จแล้วจะนำไปตั้งค้ำต้นโพธิ์ที่อยู่ใกล้บ้าน ส่วนมากจะนำไปค้ำต้นโพธิ์ต้นใหญ่ที่มีอยู่ตามวัดต่างๆ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ชาวบ้านนิยมนำไปค้ำต้นโพธิ์ที่วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารและวัดต่าง ๆ ที่ตนเองและครอบครัวทำบุญเป็นประจำ

ในตอนเริ่มแรกก่อนที่พิธีการดังกล่าวจะถูกยึดถือปฏิบัติจนกลายมาเป็นประเพณีแห่งไม้ค้ำโพธิ์อย่าง ทุกวันนี้ ประชาชนยังไม่มีความคิดที่จะทำร่วมกัน ต่างคนต่างไปจัดหาและทำพิธีสืบชาตาราศีแล้วนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์เอง ต่อมาเมื่อได้ทำเป็นประจำทุกๆ ปี นานๆ เข้าพอถึงวันที่ ๑ - ๑๔ เมษายนของทุกปี ประชาชนก็ได้รวมกันเป็นหมวด เป็นหมู่บ้าน เป็นตำบล เช่น จัดรวมกันเป็นหมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านหลวง หมู่ที่ ๖ ตำบลข่วงเปา อำเภอจอมทอง เป็นต้น ต่างจัดหาไม้ง่ามที่มีลักษณะดีงามแล้วนำมาตกแต่งด้วยการทาขมิ้น และประดับกระดาษสี จากนั้นจึงนำขึ้นเกวียนแห่ไปทำพิธีค้ำต้นโพธิ์ในวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ในช่วงที่แห่ไปนั้น นอกจาจะมีผู้คนทั้งผู้เฒ่าผู้แก่หนุ่มสาวเข้าขบวนที่แต่งกายงดงามตามประเพณี พื้นเมืองแล้ว ยังมีการละเล่นแบบพื้นเมืองด้วย เช่น การฟ้อนเชิง ( อ่าน ” ฟ้อนเจิง ”) หรือร่ายรำในท่าต่อสู้ ขับเพลงซอเล่นดนตรีพื้นเมืองและแห่เป็นรูปขบวนไป และสองข้างทางที่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ง่ามจะมีการรดน้ำดำหัวอวยชัยให้พรกัน สนุกสนานไปด้วย

ต่อมาเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีนี้ ประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนาขึ้นตามยุคตามสมัย โดยเฉพาะในด้านการตกแต่งประดับประดาให้เข้าแบบมากขึ้น แทนที่ต่างคนต่างแห่ไปคนละเวลา ก็ได้พัฒนาเป็นการแห่ในเวลาเดียวกัน โดยมีการนัดหมายให้ไปพร้อมกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง แล้วเคลื่อนขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของแต่ละกลุ่มแห่ไปยังวัดพระธาตุศรีจอมทอง วรวิหาร เป็นรูปขบวนยาวเหยียดมองดูสวยงาม นับว่าเป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะให้มั่นคงยิ่งขึ้น ดนตรีที่นำมาแห่นอกจากจะมีดนตรีพื้นเมืองแล้วยังมีดนตรีสากลเข้าร่วม ประยุกต์ด้วยตามกาลสมัย ต่อมาทางราชการได้มองเห็นความสำคัญของประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นอันนี้ใน เรื่องของประเพณีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอจอมทอง และในเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยวจึงได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กร รัฐวิสาหกิจ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนภายในอำเภอจอมทอง ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้แต่ละกลุ่มไปดำเนินการประดับตกแต่งขบวนแห่ไม้ ค้ำโพธิ์ให้สวยงาม และจัดให้มีการประกวดและมอบรางวัลให้แก่ขบวนแห่ไม้ค้ำโพธิ์เพื่อเป็นการให้ กำลังใจแก่ประชาชนที่ยึดถือประเพณีนี้ด้วย

ประวัติความเป็นมาของประเพณีแห่ไม้ค้ำสะหลีที่อำเภอจอมทองมีอยู่ว่า เมื่อปี ๒๓๑๔ ครูบาปุ๊ด หรือครูบาพุทธิมาวังโส เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๔ ของวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารในขณะนั้น ได้เกิดลมพายุใหญ่พัดเอากิ่งไม้สะหลี (ต้นโพธิ์) ภายในวัดหักลงมา ต่อมาครูบาปุ๊ดเข้าจำวัดและเกิดนิมิตขึ้นว่า มีเทวดามาบอกว่าที่เกิดเหตุอาเพศลมพัดกิ่งไม้สะหลีหักนั้นเป็นเพราะครูบาปุ๊ดไม่ตั้งใจปฎิบัติธรรมโดยเคร่งครัด

ไม้ค้ำจอมทอง1.jpg
ไม้ค้ำจอมทอง1.jpg (102.96 KiB) เปิดดู 10279 ครั้ง


ต่อมาครูบาปุ๊ดจึงตั้งใจปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมอภิญญาณ และได้บอกเล่าเหตุการณ์ที่ไม้สะหลีหักต่อชาวบ้านที่มาร่วมประชุมฟังเทศน์ ที่ประชุมจึงตกลงไว้ว่า ปีต่อไปประมาณเดือนเมษายน จะร่วมกันไปตัดไม้ง่ามมาช่วยกันค้ำกิ่งต้นไม้สะหลีเอาไว้กันลมพัดหักโค่น และต่อมาในทุกช่วงเดือนเมษายน ในวันพญาวัน คือวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี ครูบาปุ๊ดและชาวบ้านได้กำหนดให้มีประเพณีการทำบุญแห่ไม้ค้ำโพธิ์ หรือไม้ค้ำสะหลี


ปัจจุบัน งานประเพณีแห่ไม้ค้ำโพธิ์ของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นงานใหญ่ที่ชาวจอมทองยังคงสืบสานไว้อย่างดี ในวันแห่ไม้ค้ำสะหลี ชาวจอมทองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนต่างก็จะพากันกลับบ้านมารดน้ำดำหัวบุพการีและร่วมกันแห่ไม้ค้ำสะหลีมายังวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ กันอย่างเนืองแน่น โดยแต่ละคุ้มบ้าน ชุมชน และห้างร้านต่างๆ จะจัดขบวนรถรวมกว่า ๓๐ ขบวน แห่ไม้ค้ำสะหลีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ไปรอบเมืองจอมทอง ก่อนจะมุ่งหน้าไปยังวัดพระบรมธาตุศรีจอมทองฯ ทั้งเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้เฒ่าผู้แก่จะมาร่วมขบวนแห่พร้อมทั้งฟ้อนรำอย่างสนุกสนานตามจังหวะเสียงดนตรีพื้นเมืองอีกด้วย

เมื่อถึงวัดพระธาตุศรีจอมทองฯ ทุกคนจะร่วมกันถวายไม้ค้ำสะหลี ค้ำต้นโพธิ์ให้มั่นคงแข็งแรง อีกทั้งทางวัดยังได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ในองค์เจดีย์ออกมาให้ประชาชนร่วมสรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย

ที่มา เว็บไซต์ล้านนาคดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ,ผู้จัดการ
ภาพ : ประเพณีแห่ไม้ค้ำจอมทอง จากเพจอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง ร้อยเรื่องเมืองล้านนา

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 47 ท่าน

cron