เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

ทำสวนผสมผสานทั้งปลูกพืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และเลี้ยงสัตว์ ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 02 เม.ย. 2017 12:52 pm

วิธีทำฮอร์โมนไข่เปิดตาดอกมะนาว

17634782_1269660733111760_6541614083711871834_n.jpg
17634782_1269660733111760_6541614083711871834_n.jpg (85.62 KiB) เปิดดู 11863 ครั้ง


สิ่งที่ต้องเตรียม

1.ไข่ไก่ ประมาณ 5 กิโลกรัม

2.น้ำตาลอ้อย หรือกากน้ำตาล 5 กิโลกรัม

3.นมเปรี้ยว 3 ขวด

4.แป้งข้าวหมาก 3 ลูก

วิธีการทำ

บดแป้งข้าวหมากให้ละเอียด เทผสมกับนมเปรี้ยว แล้วปั่นไข่ไก่ทั้งเปลือกให้ละเอียดผสมลงไป ผสมกากน้ำตาล หรือน้ำตาลอ้อยลงไป คนให้ส่วนผสมเข้ากัน จากนั้นปิดฝาภาชนะ หมักในที่ร่ม 7-10 วัน ก่อนการใช้ให้เราสังเกตว่าฮอร์โมนไข่ที่เราหมักนั้นหนืดหรือเหลว ถ้าหนืดหรือแห้งมากให้ใช้น้ำมะพร้าวอ่อนเติมลงไปเพื่อลดความหนืดแล้วจึงตวงออกมาใช้ ก่อนการใช้ฮอร์โมนไข้ให้เอาเศษหญ้า ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกออกจากโคนต้นเพื่อไม่ให้ไนโตรเจนละลายไปเลี้ยงลำต้น จากนั้นใช้ฮอร์โมนไข่ 50 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ราดลงที่โคนต้นที่เตรียมไว้แล้ว พร้อมๆ กันกับผสมฮอร์โมนไข่ 10 ซีซี บวกกับน้ำตาลทราย 2-3 ช้อนแกง ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพ่นทางใบ โดยอาจจะใช้ ร่วมกับปุ๋ย 0-52-34 อัตรา 10 กรัม, ไวตาไลเซอร์ 5 กรัม และ น้ำมะพร้าวอ่อน 100 ซี.ซี. เพิ่มเข้าไปอีกก็ได้เพื่อช่วยเสริมและกระตุ้นการเปิดตาดอกให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นโดยฉีดพ่นให้กระจายทั่วทรงพุ่มให้เปียกชุ่มโชก ฉีดอาทิตย์ละครั้งเพื่อให้กระตุ้นให้มะนาวเตรียมแตกใบอ่อนพร้อมต่อการออกดอก

สูตรเปิดตาดอกมะนาว(แบบฝนตกชุกๆ)มีปัญหาเรื่องกรดใบอ่อน

13-0-46 (1000)กรัม + ไธโอยูเรีย (1000)กรัม + ธาตุอาหารรอง-อาหารเสริม+สารหร่าย 200 ซีซี+แคลเซียมโบรอน200ซีซี +สมุนไพรกำกัดแมลง
ฉีดช่วงเข้าครับ 1 รอบแล้วหลังจากนั้นอีก 7 วันฉีดสูตรเดิมอีก 1 รอบ แล้วนับเวลาถอยหลัง อีก 15 วันดอกมะนาวจะเริ่มออกดอก

#หมายเหตุ ใบมะนาวจะร่วงครับไม่ต้องตกใจ แต่จะล่วงเฉพาะใบแก่เท่านั้นครับ แล้วหลังจากนั้นมะมาวจะออกช่อและดอกมาพร้อมกัน

#วิธีทำมะนาวออกนอกฤดู

ในการบังคับให้มะนาวออกดอกติดผลนอกฤดู ก็คือการทำให้มะนาวออกดอกในเดือนตุลาคม ดังนั้นเดือนกันยายนเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวต้องงดปุ๋ย งดน้ำ เพื่อที่จะบังคับมะนาวให้มีผลผลิตนอกฤดู โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ตัดแต่งกิ่งและเด็ดผลมะนาวที่เหลือบนต้นออกให้หมด เพื่อบำรุงต้น เร่งการสร้างยอดใหม่ ใบใหม่ เพราะผลมะนาวที่คุณภาพดีที่สุดคือผลที่เกิดจากยอดใหม่ ผลที่เกิดจากกิ่งเก่าคุณภาพจะด้อยลงมา ผลที่คุณภาพต่ำสุดคือผลที่เกิดติดกิ่ง

2. หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จใช้ปุ๋ยเคมี 15 – 15 – 15 ใส่หนึ่งกำมือต่อวง หากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย ต้นจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร และพบอาการผลเหลืองที่ไม่ได้เกิดจากอาการม้านแดดมากกว่าปกติ เนื่องจากการให้ผลผลิตในปีที่ผ่านมา ต้นมะนาวใช้ธาตุอาหารในการเลี้ยงลูกในปริมาณที่มากนั้นเอง จึงจำเป็นต้องได้รับปุ๋ยเคมีบ้าง

3. เพิ่มวัสดุปลูกในวงบ่อเนื่องจากในแต่ละปีวัสดุปลูกจะยุบลงผุพังไปบ้างในปีที่ผ่านมา อาจเพิ่มกาบมะพร้าว เศษฟาง ใบไม้ หรือขี้เถ้าแกลบ ซึ่งวัสดุพวกนี้จะช่วยเก็บความชื้นได้เป็นอย่างดีและยังเป็นวัสดุที่ช่วยเก็บรักษาปุ๋ยที่จ่ายมาทางระบบน้ำก่อนจะค่อย ๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นมะนาวใช้ ป้องกันการสูญเสียธาตุอาหารอันเกิดจากการไหลบ่า หรือการระเหย

4. ให้ใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ได้จากการหมักหอยเชอรี่ 30 กก. เศษผลไม้ 10 กก. กากน้ำตาล 10 กก. สารเร่งพด.2 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ20 ลิตร (สูตรนี้สามารถใช้ฉีดพ่นทางใบ ในอัตรา 20 - 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตรได้) ในส่วนของการให้ปุ๋ยชีวภาพทางระบบน้ำนั้น เทคนิคคือใช้ปุ๋ยชีวภาพในอัตรา 5 ลิตร ต่อน้ำ 1,250 ลิตร ให้ทุก 5 - 7 วัน โดยจะให้ครั้งละ 3 – 5 นาที เพื่อให้เศษวัสดุบริเวณโคนต้นชุ่มก็พอ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตามปกติ เพราะน้ำจะค่อย ๆ ละลายธาตุอาหารลงไปให้ต้นมะนาวและยังเป็นการใช้ปุ๋ยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

5. ในระยะนี้ต้องดูแลสวนมะนาวให้ดี เนื่องจากมีโรคและแมลงเข้าทำลายในระยะยอดอ่อน คือ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ควรใช้สารกำจัดแมลงที่สกัดจากสมุนไพรทางธรรมชาติ เช่น สมุนไพรที่ มีรสเผ็ด ขม เหม็น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด สะเดา หรือบอระเพ็ด คือให้ใช้สมุนไพรดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง 30 กก. กากน้ำตาล 10 กก. สารเร่งพด.7 จำนวน 25 กรัม ต่อน้ำ 30 ลิตร หมัก 20 วัน นำมาฉีดพ่นในอัตรา 25 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 - 15 วัน ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และควรใช้ในระยะก่อนเก็บเกี่ยวไม่น้อยกว่า 2 เดือน

6. ให้งดน้ำและงดปุ๋ยมะนาวจนเห็นว่าใบเหี่ยวและหลุดร่วงประมาณ 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นก็ให้น้ำตามปกติ ปุ๋ยเคมีที่ใช้เพื่อเปิดตาดอกในระยะนี้ คือ ปุ๋ยที่มีตัวกลางสูง เช่น 12 – 24 – 12 หรือ 15 – 30 -15 ปริมาณ 1 กำมือต่อวงบ่อ และควรรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้ปุ๋ยละลายต่อไป

สำหรับเกษตรกรบางท่าน เลือกใช้วิธีพลาสติกคลุมบ่อในช่วงนี้ด้วย แต่ต้องพิจารณาปัจจัยที่ว่า พลาสติกก่อให้เกิดไอน้ำเกาะบริเวณผิวด้านในพลาสติก ซึ่งทำให้ลดความชื้นในดินยาก หากจะให้ได้ผลดี ในวันที่แดดออกต้องแกะพลาสติกออกให้น้ำระเหย หากฝนตกต้องคลุมพลาสติก เป็นการจัดการที่ยากในกรณีที่ไม่มีแรงงานเพียงพอ

7. หลังติดดอกแล้วก็ให้น้ำตามปกติเช้า – เย็น (ระบบน้ำหยดจะใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที) จนกระทั่งมะนาวออกผลผลิต ก็เป็นจบขั้นตอนการทำมะนาวนอกฤดู

ติดตามข้อมูลได้ที่ :http://farmlandthai.blogspot.com/

เครดิตรูปภาพจากสวนมะนาววงบ่อพะเยา
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 02 เม.ย. 2017 4:57 pm

#วิธีทำฮอร์โมนเร่งรากสูตรเข้มข้น

17634328_1503080536403613_3735505792989567817_n.jpg
17634328_1503080536403613_3735505792989567817_n.jpg (17.68 KiB) เปิดดู 11860 ครั้ง


อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

1.กะปิ

2.ข้าวโพดหวานดิบ

3.น้ำมะพร้าวแก่

หากต้องแช่กิ่งพันธุ์ให้ผสมน้ำมะพร้าวแก่

หากต้องการทำเก็บใส่กระปุกไว้ ให้ใช้ข้าวโพดหวานและกะปิก็พอ

ไซโตไคนินเป็นฮอร์โมนของพืชที่พบครั้งแรกในน้ำมะพร้าว ข้าวโพดหวาน และต่อมาพบในกะปิโดยสารนี้มีความสามารถกระตุ้นการแบ่งเซลล์ กระตุ้นการแตกรากได้เป็นอย่างดี

ไซโตไคนิน (cytokinins)
ไซโตไคนินเป็นฮอร์โมนของพืชที่พบครั้งแรกในน้ำมะพร้าว โดยสารนี้มีความสามารถกระตุ้น การแบ่งเซลล์ ซึ่งต่อมาพบว่าสารนี้คือ 6-furfuryladenine เป็นสารที่มีสูตรโครงสร้างแบบพูรีน (Purine) จากคุณสมบัติที่สามารถกระตุ้นการแบ่งเซลล์ได้จึงเรียกสารนี้ว่าไคเนติน (Kinetin)

หลังจากนั้นก็มีผู้พบสารที่มีสูตรโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายกับไคเนตินอีก หลายชนิด จึงรวม เรียกสารเหล่านี้ว่าไซโตไคนิน ไซโตไคนินที่พบในพืชคือ ซีอะติน (Zeatin) แหล่งสร้างไซโตไค นินในพืชที่อยู่ปลายราก ปมราก และพบทั่วไปในต้นพืช เป็นส่วนประกอบของกรดนิวคลีอิก นอก จากนี้พบในรูปสารอิสระในเอมบริโอและผลที่กำลังเจริญเติบโต ผลของไซโตไคนินกับพืชจะเกิด ร่วมกับสารกระตุ้นการทำงาน (co-factor) อื่นๆ ถ้าไม่มีสารเหล่านี้ไซโตไคนินจะไม่แสดงผลกับพืช

ในปัจจุบันได้มีการสังเคราะห์ไซโตไคนินขึ้นในห้องปฏิบัติการหลายชนิดและนิยม ใช้กันอย่าง แพร่หลายในทางการเกษตรและทางการค้า ไซโตไคนินเหล่านี้มีคุณสมบัติช่วยในการแบ่งเซลล์ และสามารถใช้ชะลอหรือยืด อายุของส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ดอก และผลให้สดอยู่ได้นาน

ตลอดจนมีการนำมาใช้ในสูตรอาหารเพื่อเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างแพร่หลาย ไซโตไคนิน สังเคราะห์ที่สำคัญและนิยมใช้กันมากได้แก่ เบนซิลอะดีนิน (Benzyl aminopurine หรือ BAP) เททระไฮโดรไพรานิล เบนซิลอะดีนิน (Tetrahydropyranyl benzyl adenine หรือ
TBA) เป็นต้น

ศึกษาเกษตรแบบพอเพียงได้ที่ : http://www.farmlandthai.com/
ศึกษาเพิ่มเติมหลักการงาน : https://goo.gl/CJeJj
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย ภาษาสยาม » อาทิตย์ 02 เม.ย. 2017 4:58 pm

วิธีเลี้ยงปลาซิว

14925676_1337914836253518_3168067253450936136_n.jpg
14925676_1337914836253518_3168067253450936136_n.jpg (37.34 KiB) เปิดดู 11860 ครั้ง


ขั้นตอนการเลี้ยงปลาซิว

1.เตรียมบ่อเลี้ยงขนาดบ่อ 2x4 เมตร ลึก 1 เมตร (เป็นบ่อปูนหรือบ่อพลาสติกก็ได้)

2.หลังจากเตรียมบ่อแล้วให้ทำการเปิด น้ำเข้าบ่อสูง 80 เซนติเมตร และนำท่อนกล้วยลงแช่ในบ่อเพื่อดูดซับกลิ่นปูนแลกลิ่นเคมีจากพลาสติก แช่นาน 1 สัปดาห์

3.นำปลาซิวลงบ่อเลี้ยงประมาณ 10 กิโลกรัม

4.อาหารให้รำอ่อน วันละ 1 ครั้ง

5.ระบบการถ่ายน้ำให้ทำการถ่ายน้ำโดย การเปิดก๊อกน้ำใส่บ่อและทำตัวจุกระบายน้ำออกจากบ่อที่ก้นบ่อด้วย และนำมุ้งเขียวกันไว้ไม่ให้ปลาหลุดออกจากบ่อตามท่อระบายน้ำ(ให้ทำการถ่ายน้ำปีละ 1 ครั้ง)

6.ปรับปรุงสภาพน้ำโดยใส่น้ำหมักฮอร์โมนแม่ ½ ลิตร ต่อ เดือน

7.อาหารเสริมสามารถนำปลวกมาสับให้ละเอียดเพื่อนำไปเป็นอาหารเสริมเพิ่มโปรตีนให้ปลาซิวได้ เลี้ยงไว้ 2-3 เดือนสามารถจับขายหรือกินได้ การจำหน่ายราคากิโลกรัมละ 100 บาท

14937447_1337914682920200_2420840866599092668_n.jpg
14937447_1337914682920200_2420840866599092668_n.jpg (55.71 KiB) เปิดดู 11860 ครั้ง


สูตรน้ำหมักฮอร์โมนแม่

นำยอดผักบุ้ง หน่อไม้ หน่อกล้วยมาสับรวมกัน 10 กก. ใส่กากน้ำตาล ฟอสเฟต รำละเอียด เกลือ ในอัตราส่วน 10:10:2.5:2 ขีด และน้ำอีก 70 ลิตร คนให้เข้ากัน ตามด้วยหัวเชื้อ 1 ลิตร หมักไว้ 15 วันเป็นอันว่าเสร็จ

ข้อมูล : รักบ้านเกิดดอทคอม

ภาพประกอบ : อินเทอร์เน็ต
บาดแผลเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้
ภาพประจำตัวสมาชิก
ภาษาสยาม
Administrator
Administrator
 
โพสต์: 1145
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 06 ก.ค. 2008 9:43 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 06 เม.ย. 2017 8:56 pm

วิธีการปลูกชะอม และเทคนิคการปลูกชะอม 1 ต้น ร้อยยอด

14285638981428564067l.jpg
14285638981428564067l.jpg (100.38 KiB) เปิดดู 11854 ครั้ง


วิธีการขยายพันธุ์ชะอม สามารถทำได้โดย การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง หรือการโน้มกิ่งชะอมฝังดินทำให้แตกรากใหม่เกิดเป็นต้นใหม่เพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถทำการขยายพันธุ์เองได้ หรือหาซื้อกิ่งพันธุ์ได้ตามร้านขายกิ่งพันธุ์ไม้ทั่วไป

วิธีการปลูกชะอม

ถ้าใช้กิ่งตอนจะนิยมยกร่องแล้วขุดหลุมปลูกบนร่อง ทั้งนี้เพราะป้องกันน้ำท่วมขังทำให้รากชะอมเน่าตายได้ โดยทั่วไปจะปลูกห่างกันต้นละประมาณ 30-50เซนติเมตร เป็นแถวเป็นแนวหรือปลูกเป็นแปลงระยะห่างของแถวประมาณ 1 เมตร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ จะนิยมปลูกแบบแถวคู่ ระยะห่างของแถว 1 เมตร แต่ถ้าปลูกริมรั้วบางครั้งก็ใช้แถวคู่ ระยะห่างระหว่างแถวและระหว่างต้นประมาณ 30-50 เซนติเมตร

การดูแลและการเก็บยอดชะอม

เมื่อปลูกชะอมได้ประมาณสัก 3 เดือน ให้รดน้ำวันเว้นวัน ต้นชะอมจะชอบชื้นแต่ไม่ชอบแฉะเพราะจะทำให้รากเน่าตายได้ ชะอมก็จะเริ่มแตกยอดอ่อนมาให้เก็บไปขายหรือใช้บริโภคได้แล้ว

และเมื่อเก็บยอดชะอมไปขาย ชะอมก็จะแตกยอดใหม่มาเรื่อย ๆ ควรดูแลรักษาต้นชะอมโดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหลังจากปลูกชะอมได้ 2-3 เดือน จะทำให้ต้นชะอมแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี

การกระตุ้นการแตกยอดอ่อนของชะอม เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อกระตุ้นการแตกยอดใหม่ของชะอม แต่ควรใช้ในอัตราที่น้อยและต้องใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักด้วยจะทำให้ดินดีมีความอุดมสมบูรณ์มาก ต้นชะอมจะเจริญเติโตดีด้วยการกระตุ้นการแตกยอดอ่อนของชะอม

อีกวิธีหนึ่งก็คือใช้น้ำหมักชีวภาพ ที่หมักจากยอดอ่อนของพืชชนิดต่าง ๆ ปริมาณการใช้อัตราส่วนน้ำหมัก 1 ลิตร ต่อน้ำ 40 ลิตร รดทุก 7 วัน ชะอมจะแตกยอดอ่อนได้ดีและช่วยให้ต้นแข็งแรงดีด้วย แต่ก็ควรใส่ปุ๋ยหมักในดินให้กับต้นชะอมด้วยจะดีมากจากการปลูกชะอมโดยวิธีธรรมชาตินี้เกษตรกรทำกันมานานแล้วเป็นอย่างนี้สืบต่อเรื่อยมา

สำหรับวิธีการปลูกชะอม 1 ต้น ร้อยยอด

ต้นชะอมเป็นไม้เลื้อยจะแตกยอดตามกิ่งและเกษตรกรจะเก็บยอดอ่อนไปจำหน่ายหรือบริโภคฉะนั้นการปลูกชะอมก็ไม่จำเป็นต้องปลูกหลายต้น แต่เราจะปลูกต้นชะอม 1 ต้น แล้วปล่อยให้ชะอมมันเลื้อยทอดยอดไปเรื่อย ๆ โดยเราก็จะจับลำต้นชะอม ให้ทอดยอดสูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร แล้วใช้เชือกฟางมัดไว้กับหลักที่ปักไว้เป็นแถวห่างกัน ระยะ 50 เซนติเมตรให้ต้นชะอมเลื้อย ขนานกับพื้นดินสูง 50 เซนติเมตร ยาวไปเรื่อย ๆ โดยปักหลักมัดกิ่งไม่ให้ล้มชะอมก็จะออกยอดตามลำต้นยาวไปเรื่อย ๆ เรียกว่าปลูกชะอม 1 ต้นแต่เก็บได้ร้อยยอด เป็นการประหยัดพื้นที่ปลูกชะอม และถ้าเราจะเปลี่ยนหลักไม้ไปปลูกผักหวานแทนข้าง ๆ หลักที่ปักไว้ ก็จะมีผักอีกชนิดหนึ่งไว้รับประทานได้อีกด้วย และนี่ก็คือการจัดการการปลูกผัก วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง


สำหรับท่านที่สนใจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสรณพงษ์ บัวโรย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7 สำนักงานการเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม โทร.08-1315-3843


ที่มา: http://www.gotoknow.org/posts/129728
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 06 เม.ย. 2017 9:01 pm

ปลูกมะม่วงส่งออก 250 ไร่ ผลผลิต 1 ไร่ ได้ 1 ตัน แบบไม่ต้องพึ่งระบบน้ำ

4-8-e1491377203688-696x928.jpg
4-8-e1491377203688-696x928.jpg (128.78 KiB) เปิดดู 11854 ครั้ง


คุณสุวิทย์ คุณาวุฒิ มีอาชีพทำสวนมะม่วงมาตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อ ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อมาปี 2528 ได้เข้ามาซื้อที่ทำสวนมะม่วงจำนวน 35 ไร่ ที่บ้านเลขที่ 54 หมู่ 9 ตำบลหัวสำโรง อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.089-8343299 หลังจากนั้นได้มีการขยายสวนจนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ และเข้าสู่ระบบ GAP ตั้งแต่ พ.ศ. 2547

“ทำมะม่วงมาตั้งแต่เกิด รุ่นที่สองแล้ว พ่อแม่ทำมาก่อน เกิดมาก็อยู่กับมะม่วงเลย”คุณสุวิทย์บอก

ใจจริงคุณสุวิทย์อยากขยายสวนมากกว่านี้แต่ภรรยาห้ามไว้ก่อน

ที่สวนนี้ปลูกมะม่วงหลายพันธุ์ แต่จะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 150 ไร่ ส่วนพื้นที่เหลือก็ปลูกมะม่วงสายพันธุ์อื่นๆ คละเคล้ากันไป

“ถ้าพูดถึงเรื่องพันธุ์มะม่วง คุณสุวิทย์บอกว่า ตอนนี้ที่มาแนวหน้า สำหรับตลาดส่งออก ต้องเป็นน้ำดอกไม้สีทอง ส่วนตลาดภายในมะม่วงขายตึก” คุณสุวิทย์กล่าว



ราดสารเมื่อไหร่

ที่สวนคุณสุวิทย์ จะเริ่มราดสารช่วงเดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ตามลำดับ โดยจะไม่ทำทั้งหมด จะใช้วิธีทะยอยทำ โดยตั้งเป้าหมายไว้กี่ไร่ ก็ราดสารเท่านั้น ราดสารตามอัตราที่มีแนะนำและบวกเพิ่มตามสูตรของตัวเองอีกนิดหน่อย

วิธีการใส่ปุ๋ย

คุณสุวิทย์ได้กล่าวแนะนำการใส่ปุ๋ยว่า

“ปุ๋ยจะใส่ไม่เยอะ ใส่สองครั้ง ครั้งแรกใส่สูตรเสมอ 15-15-15 ถ้าต้นใหญ่ๆ ใส่ไม่เกิน 1 กิโลกรัม ต้นรองลงไปให้ใส่ประมาณครึ่งกิโลกรัม ใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง สูตร 15-5-20 เพราะว่าตัวกลางสวนนี้มีอยู่ค่อนข้างมาก ที่สวนคุณสุวิทย์เป็นที่ดอนไม่ได้รดน้ำ จะใส่ปุ๋ยช่วงหลังจากราดสาร คือให้กินให้อิ่ม แต่ถ้าสวนไหนมีระบบน้ำ ควรใส่ช่วงที่ติดผลผลิตแล้ว” คุณสุวิทย์กล่าว

คุณสุวิทย์นำดินไปวิเคราะห์ พบว่า แปลงปลูกของเขามีตัวกลางสูง หมายถึงฟอสฟอรัส

พื้นที่ปลูกมะม่วง 250 ไร่ ไม่มีระบบน้ำเลย อาศัยน้ำฝน เจ้าของให้ปุ๋ยตั้งแต่ก่อนฝนหยุดตก

ได้รับคำแนะนำว่า หลังฝนตกไม่ควรให้ปุ๋ย สำหรับสวนไม่มีระบบน้ำ เพราะต้นไม้นำไปใช้ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คุณสุวิทย์บอกว่า หากมีระบบน้ำจะได้เปรียบ เพราะหลังเก็บผลผลิต รีบเตรียมต้น ใส่ปุ๋ยให้น้ำ ผลผลิตจะมีเร็วขึ้น


มะม่วงมหาชนก


ผลผลิตมะม่วง 1 ไร่ 1 ตัน

หลังราดสารมะม่วงเขียวเสวย 60 วัน ถ้ามะม่วงพันธุ์เบา ฟ้าลั่น น้ำดอกไม้ ขายตึก ใช้เวลาประมาณ 45วัน

ผลผลิตที่ได้น้ำดอกไม้ต้นอายุ 20-30ปี ให้ผลผลิตประมาณ 200-300กิโลกรัม

ต้นอายุ 10ปี ได้ผลผลิต 100-150 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วมะม่วง 1 ไร่ ให้ผลผลิต 1 ตัน

ราคามะม่วงน้ำดอกไม้ถ้าส่งออกจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา ถ้าแปลงแรกเก็บผลผลิตช่วงเดือนพฤศจิกายน ช่วงนั้นขายได้กิโลกรัม ละ 110 บาท แต่ถ้าช่วงเมษายน ราคาจะเหลือประมาณ 70บาท


โรงคัดมะม่วงระบบปิด


เทคนิคผลิตมะม่วงส่งออก

คุณสุวิทย์พูดถึงการผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกว่า อันดับแรกที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของการคุมยา การห่อผลต้องเว้นระยะ มีการจดบันทึกชนิดของสารต้องห้าม สารชนิดใดใช้แล้วตกค้างนานก็ไม่ควรใช้

สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราบางตัวที่ใช้ไม่ได้



การห่อผล

มะม่วงมีอายุประมาณ 50-60 วัน เหมาะแก่การห่อ ห่อเสร็จทิ้งไว้อีก 45วัน ผลจะโต ยิ่งห่อเล็กเท่าไหร่ผิวยิ่งสวยเนียน

การห่อตั้งแต่มะม่วงผลยังเล็ก มะม่วงจะสลัดลูกเจ้าของต้องเสียเวลาแกะถุงที่ห่อมาห่อลูกใหม่


มะม่วงที่ห่อผล ที่สวนคุณสุวิทย์
“ช่อดอกก็สำคัญต้องฉีดยาบ่อยยิ่งถ้าทำนอกฤดูวันสองวันก็ต้องฉีดแล้ว เน้นฆ่าเชื้อราเพราะดอกจะเน่า ถ้าไม่ฉีด เช่นฝนตกวันนี้ดึกๆผมต้องไปฉีด ถ้าปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนผลผลิตก็จะติดน้อยลงมา ถ้าปล่อยไว้นานวันช่อดอกจะดำเสีย ตัวนี้สำคัญมาก ฉีดเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีแล้วก็ต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพด้วย”เจ้าของสวนพูดถึงการดูแลที่สำคัญมาก



มะม่วงน่าปลูกอย่างไร และปลูกอย่างไรถึงจะขายได้

คุณสุวิทย์ยืนยันว่ามะม่วงยังเป็นไม้ผลที่น่าปลูกอยู่ แต่เน้นว่าต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆ ถ้าจะให้ดีต้องมีกลุ่มไว้ปรึกษาหารือในเรื่องของปัญหา หรือมีการแลกเปลี่ยนความคิดกัน

“ตลาดมะม่วงยังไปได้อีกไกล ตอนนี้ผลผลิตไม่พอกับความต้องการ ราคามะม่วงค่อนข้างสูงอยู่ มะม่วงถือว่ายังเป็นพืชที่น่าสนใจ” คุณสุวิทย์กล่าว

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » พฤหัสฯ. 06 เม.ย. 2017 9:06 pm

ทำเกษตรอินทรีย์ส่งขาย สร้างรายได้จากราคา 10-12 บาท ให้เป็นกิโลกรัมละ 30 บาท ได้ไม่ยาก

ka-2.jpg
ka-2.jpg (178.95 KiB) เปิดดู 11854 ครั้ง


ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสรักสุขภาพกำลังมาแรงแซงโค้งกันเลยทีเดียว ผู้รักสุขภาพทั้งหลายก็จะหาเวลาให้กับตัวเอง ในช่วงเช้าหรือเย็นเพื่อออกกำลังกาย เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง

แม้แต่ในเรื่องของอาหารการกินนั้น ก็เป็นสิ่งที่ผู้รักสุขภาพใส่ใจด้วยไม่แพ้กัน จะเห็นได้จากการบริโภคข้าวอินทรีย์ หรือแม้แต่การกินผักออร์แกนิกต่างๆ ที่ปลูกโดยไม่มีเรื่องของการใช้สารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมดินตลอดจนการเก็บเกี่ยว ทุกขั้นตอนต้องเป็นไปตามการปลูกแบบระบบอินทรีย์เท่านั้น โดยจะเห็นผักอินทรีย์เหล่านี้มีจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น


คุณณรงค์ชัย ปาระโกน ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติดอกคำ อยู่ที่ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรในแถบนี้ได้มีการทำเกษตรแบบอินทรีย์มากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งเป็นแบบเกษตรที่ครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกผัก ตลอดจนถึงการปลูกข้าวอินทรีย์และแปรรูปส่งจำหน่ายทำการตลาดเอง


คุณณรงค์ชัย ปาระโกน กล่าวว่า “ผมเริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2538 เราก็ใช้การผลิตแบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (มอน.) ต่อมาเมื่อมีมาตรฐาน พีจีเอส ที่เป็นมาตรฐานระดับประเทศเข้ามา ทางสมาชิกภายในกลุ่มก็เริ่มที่จะสนใจ ทำให้เราได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็น พีจีเอส จึงทำให้เวลานี้ทางกลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และที่สำคัญในเรื่องของการตลาดก็เข้ามาหาทางกลุ่มเรามากขึ้นอีกด้วย” คุณณรงค์ชัย กล่าว

ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์แห่งนี้ และสมาชิกภายในกลุ่ม ได้มีการปลูกผักหลากหลายชนิด เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาด และที่สำคัญภายในกลุ่มยังได้เน้นการพัฒนาปรับปรุงดิน โดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมทั้งปุ๋ยพืชสดเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน

เมื่อดินที่ใช้สำหรับปลูกพืชมีคุณภาพดี คุณณรงค์ชัย บอกว่า จะทำให้พืชผักเจริญเติบโตได้ดีแม้ปลูกในระบบอินทรีย์แบบไม่ใช้สารเคมี

สำหรับผู้ที่อยากทำพื้นที่ของตนเองให้เป็นการปลูกพืชแบบระบบอินทรีย์ แต่เนื่องจากสมัยก่อนมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดแมลงศัตรูพืชมาก่อน คุณณรงค์ชัย บอกว่า ต้องให้พื้นที่ปลอดภัยจากสารเหล่านั้นอย่างน้อย 3 ปี โดยค่อยๆ ปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก จากนั้นเก็บตัวอย่างดินส่งไปตรวจสอบหาค่า pH ของดิน พร้อมทั้งตรวจว่าในดินมีธาตุอาหารตัวใดอยู่บ้าง หากตัวไหนที่ขาดแต่พืชมีความต้องการ ก็เพิ่มเติมลงไป แล้วจึงจะมาปลูกพืชในระบบอินทรีย์ได้แบบเต็มรูปแบบ

“เนื่องจากเราทำเกษตรแบบอินทรีย์ เรื่องการกำจัดแมลงศัตรูพืชนี่สำคัญ เมื่อเราปลูกผักแล้ว เราจะป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพร ใช้จำนวนไม่มากเท่าไหร่ นอกนั้นก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ บางทีธรรมชาติจะช่วยจัดการกันเอง เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี ฉะนั้น แมลงที่เป็นประโยชน์ก็จะไม่ได้ถูกทำลาย เขาก็จะช่วยทำลายแมลงศัตรูพืช เรื่องนี้สำคัญมาก” คุณณรงค์ชัย บอกถึงการป้องกันแมลงศัตรูพืช



ส่วนในเรื่องของการตลาด คุณณรงค์ชัย ให้ข้อมูลว่า ผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์ ณ เวลานี้ สินค้ามีจำนวนไม่พอจำหน่าย เนื่องจากมีซุปเปอร์มาร์เก็ตหลายที่เริ่มเข้ามาติดต่อขอซื้อสินค้ามากขึ้น แต่กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์มีวิธีการผลิตที่ไม่ง่ายนัก ซึ่งเกษตรกรที่ต้องการเข้าสู่การปลูกพืชในระบบนี้ต้องเรียนรู้และมีความอดทน

ซึ่งเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์จนประสบผลสำเร็จแล้ว คุณณรงค์ชัย บอกได้เลยว่า ในเรื่องของราคานั้นได้กำไรเพิ่มขึ้น 15-20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเกษตรแบบทั่วไป

“ยกตัวอย่าง แตงกวา ปลูกทั่วไปจำหน่ายอยู่ที่ราคา 10-12 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ถ้าปลูกในแบบระบบอินทรีย์ จะได้ราคาผลผลิตตกอยู่ที่ กิโลกรัมละ 30 บาท ราคาก็จะเห็นได้ว่าดีกว่าครึ่งต่อครึ่ง เมื่อทดลองปลูกแบบระบบอินทรีย์ คุณจะรู้เลยว่าผลผลิตที่ได้แทบจะไม่ต่างกัน ขอให้ดินเราดี เน้นเรื่องปรับปรุงบำรุงดินให้ดี ผลผลิตดีแน่นอน แถมจำหน่ายได้ราคาด้วย” คุณณรงค์ชัย อธิบาย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการการันตีถึงกระบวนการผลิตที่สามารถตรวจสอบได้ สำหรับท่านใดที่สนใจหรือท่านใดที่บริโภคผักอินทรีย์อยู่แล้ว ต้องการความมั่นใจว่ามีกระบวนการผลิตเป็นอย่างไร อยากเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถเข้ามาเยี่ยมชมภายในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้ ซึ่งคุณณรงค์ชัยยินดีต้อนรับและให้คำแนะนำ ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (089) 266-3880
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 7:42 am

การเพาะเลี้ยงปลาช่อน

cropped-e0b88ae0b988e0b8ade0b899.jpg
cropped-e0b88ae0b988e0b8ade0b899.jpg (51.21 KiB) เปิดดู 6549 ครั้ง


ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทยอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง และทะเลสาบ มีชื่อสามัญ STRIPED ANAKE-HEAD FISH และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Channa striatus ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดี ก้างน้อย สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด จึงทำให้การบริโภคปลาช่อนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันปริมาณปลาช่อนที่จับได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากการทำประมงเกินศักยภาพการผลิตตลอดจนสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเสื่อมโทรมตื้นเขิน ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ทำให้ปริมาณปลาช่อนในธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์และความต้องการบริโภค การเลี้ยงปลาช่อนจึงเป็นแนวทางหนึ่งซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยนำลูกปลาที่รวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติและจากการเพาะขยายพันธุ์มาเลี้ยงให้เป็นปลาโตขนาดตลาดต้องการต่อไป
อุปนิสัย

โดยธรรมชาติปลาช่อนเป็นปลาประเภทกินเนื้อ กินสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ รวมทั้งปลาขนาดเล็กและแมลงในน้ำชนิดต่างๆ เป็นอาหารเมื่ออาหารขาดแคลน ปลาจะมีพฤติกรรมกินกันเองโดยปลาช่อนตัวใหญ่จะกินปลาตัวเล็ก


รูปร่างลักษณะ

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีเกล็ด ลำตัวอ้วนกลม ยาวเรียว ท่อนหางแบนข้าง หัวแบนลง เกล็ดมีขนาดใหญ่ ปากกว้างมาก มีฟันซี่เล็กๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางกลม ลำตัวส่วนหลังมีสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียง มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ ปลาช่อนจึงสามารถเคลื่อนไหวไปบนบกหรือฝังตัวอยู่ในโคลนได้เป็นเวลานานๆ
การผสมพันธุ์วางไข่

ปลาช่อนสามารถวางไข่ได้เกือบตลอดปี สำหรับฤดูกาลผสมพันธุ์วางไข่จะเริ่มตั้งแต่ มีนาคม – ตุลาคม ช่วงที่มีความพร้อมที่สุดคือ มิถุนายน – กรกฎาคมในฤดูวางไข่ จะสังเกตความแตกต่างระหว่างปลาเพศผู้กับเพศเมียอย่างเห็นได้ชัดคือ ปลาเพศเมีย ลักษณะท้องจะอูมเป่ง ช่องเพศขยายใหญ่ มีสีชมพูปนแดง ครีบท้องกว้างสั้น ส่วนปลาเพศผู้ ลำตัวมีสีเข้มใต้คางจะมีสีขาว ลำตัวยาวเรียวกว่าปลาเพศเมีย

ตามธรรมชาติปลาช่อนจะสร้างรังวางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งความลึกของน้ำประมาณ 30 –100 เซนติเมตร โดยปลาตัวผู้จะเป็นผู้สร้างรังด้วยการกัดหญ้าหรือพรรณไม้น้ำ และใช้หางโบกพัดตลอดเวลาเพื่อที่จะทำให้พื้นที่เป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 –40 เซนติเมตร ปลาจะกัดหญ้าที่บริเวณกลางของรัง ส่วนพื้นดินใต้น้ำ ปลาก็จะตีแปลงจนเรียบ หลังจากที่ปลาช่อนได้ผสมพันธุ์วางไข่แล้ว พ่อแม่ปลาจะคอยรักษาไข่อยู่ใกล้ๆ เพื่อมิให้ปลาหรือศัตรูอื่นเข้ามากินจนกระทั่งไข่ฟักออกเป็นตัว ในช่วงนี้พ่อแม่ปลาก็ยังให้การดูแลลูกปลาวัยอ่อน เมื่อลูกปลามีขนาด 2 – 3 เซนติเมตร จึงแยกตัวออกไปหากินตามลำพังได้ ซึ่งระยะนี้เรียกว่า ลูกครอก หรือลูกชักครอก ลูกปลาขนาดดังกล่าวน้ำหนักเฉลี่ย 0.5 กรัม ปลา 1 กิโลกรัมจะมีลูกครอก ประมาณ 2,000 ตัว ลูกครอกระยะนี้จะมีเกษตรกรผู้รวบรวมลูกปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นอาชีพนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้เลี้ยงปลาอีกต่อหนึ่งในราคากิโลกรัมละ 70 – 100 บาท ซึ่งรวบรวมได้มากในระหว่างเดือนมิถุนายน – ธันวาคม

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

ปลาช่อนที่นำมาใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่มีรูปร่าง ลักษณะสมบูรณ์ ไม่บอบช้ำและมีน้ำหนักตั้งแต่ 800 – 1,000 กรัมขึ้นไป และอายุ 1 ปีขึ้นไป

ลักษณะแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ปลาช่อนที่ดีซึ่งเหมาะสมจะนำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ แม่พันธุ์ควรมีส่วนท้องอูมเล็กน้อย ลักษณะติ่งเพศมีสีแดงหรือสีชมพูอมแดง ถ้าเอามือบีบเบาๆที่ท้องจะมีไข่ไหลออกมามีลักษณะกลมสีเหลืองอ่อน ใส ส่วนพ่อพันธุ์ติ่งเพศควรจะมีสีชมพูเรื่อๆปลาไม่ควรจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอมมากเกินไป เป็นปลาขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน

ปลาช่อนเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่ประชาชนนิยมบริโภค ทำให้ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สำหรับเกษตรกรนิยมเลี้ยงปลาช่อน เนื่องจากเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรคและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ ลูกปลาช่อนที่เกษตรกรรวบรวมได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาช่อนดังนั้นการเพาะพันธุ์ปลาจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตพันธุ์ปลาช่อน

ในการเพาะพันธุ์ปลาช่อนต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาช่อนที่มีความสมบูรณ์ ซึ่งจะมีอายุ 1ปีขึ้นไป ขนาดน้ำหนัก 800 – 1,000 กรัม บ่อเพาะพันธุ์ควรมีระดับความลึกของน้ำประมาณ 1.0 – 1.5 เมตร และมีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ปลากินอาหารได้ดี มีการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ให้สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาช่อนมีน้ำเชื้อและไข่ที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การเพาะพันธุ์ปลาช่อน ทำได้ 2 วิธี คือ

1. การเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ วิธีนี้ควรใช้บ่อเพาะพันธุ์เป็นบ่อดินขนาด 0.5 – 1.0 ไร่ พร้อมทั้งจัดสภาพสิ่งแวดล้อมเลียนแบบธรรมชาติ โดยปล่อยพ่อแม่พันธุ์ในอัตรา 1:1 ให้ปลาเป็ดผสมรำเป็นอาหารในปริมาณ 2.5 – 3.0 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลา

2. การเพาะพันธุ์โดยวิธีการผสมเทียมด้วยฮอร์โมนสังเคราะห์ สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดสิงห์บุรี ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาช่อนด้วยวิธีผสมเทียมโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่เพื่อที่จะรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อหรือปล่อยให้ผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ใช้ได้แก่ LHRHa หรือ LRH – a โดยใช้ร่วมกับโดมเพอริโดน (Domperidone)

การฉีดฮอร์โมนผสมเทียมปลาช่อนโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์สามารถฉีดเร่งให้แม่ปลาช่อนวางไข่นั้น ด้วยการฉีดเพียงครั้งเดียวที่ระดับความเข้มข้น 30 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ร่วมกับโดมเพอริโดน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแม่ปลา 1 กิโลกรัม ส่วนพ่อพันธุ์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ระดับความเข้มข้น 15 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัมร่วมกับโดมเพอริโดน 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักพ่อปลา 1 กิโลกรัม จากนั้นประมาณ 8–10 ชั่วโมง สามารถรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อได้เนื่องจากไข่ปลาช่อนมีไขมันมากเมื่อทำการผสมเทียมจึงต้องล้างน้ำหลายๆครั้ง เพื่อขจัดคราบไขมัน นำไข่ไปฟักในถังไฟเบอร์กลาสขนาด 2 ตัน ภายในถังเพิ่มออกชิเจนผ่านหัวทรายโดยเปิดเบาๆ ในกรณีที่ปล่อยให้พ่อแม่ปลาผสมพันธุ์กันเอง หลังจากที่แม่ปลาวางไข่แล้วต้องแยกไข่ไปฟักต่างหากเช่นกัน

การฟักไข่

ไข่ปลาช่อนมีลักษณะกลมเล็ก เป็นไข่ลอย มีไขมันมาก ไข่ที่ดีมีสีเหลือง ใส ส่วนไข่เสียจะทึบ ไข่ปลาช่อนฟักเป็นตัวภายในเวลา 30 –35 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ 27 องศาเซลเซียส ความเป็นกรด – ด่าง 7.8 ความกระด้าง 56 ส่วนต่อล้าน

การอนุบาลลูกปลาช่อน

ลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆ ลำตัวมีสีดำ มีถุงไข่แดงสีเหลืองใสปลาจะลอยตัวในลักษณะหงายท้องขึ้นอยู่บริเวณผิวน้ำ ลอยอยู่นิ่งๆไม่ค่อยเคลื่อนไหว หลังจากนั้น 2 – 3 วันจึงพลิกตัวกลับลง และว่ายไปมาตราปกติโดยว่ายรวมกันเป็นกลุ่มบริเวณผิวน้ำ

ลูกปลาช่อนที่ฟักออกมาเป็นตัวใหม่ๆใช้อาหารในถุงไข่แดงที่ติดมากับตัว เมื่อถุงไข่แดงยุบ วันที่ 4 จึงเริ่มให้อาหารโดยใช้ไข่แดงต้มสุกบดละลายกับน้ำผ่านผ้าขาวบางละเอียดให้ลูกปลากินวันละ 3 ครั้ง เมื่อลูกปลามีอายุย่างเข้าวันที่ 6 จึงให้ไรแดงเป็นอาหารอีก 2 สัปดาห์ และฝึกให้อาหารเสริม เช่น ปลาป่น เนื้อปลาสดบด โดยใส่อาหารในแท่นรับอาหารรูปสี่เหลี่ยมซึ่งมีทุ่นผูกติดอยู่ ถ้าให้อาหารไม่เพียงพออัตราการเจริญเติบโตของลูกปลาจะแตกต่างกัน และพฤติกรรมการกินกันเอง ทำให้ตราการรอดตายต่ำจึงต้องคัดขนาดลูกปลา การอนุบาลลูกปลาช่อนโดยทั่วไปจะมีอัตราการรอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์และควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวันๆละ 50 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำ

การเตรียมบ่อเลี้ยงปลา

การเลี้ยงปลาช่อนเพื่อให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการนั้น นิยมเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งมีหลักการเตรียมบ่อดินเหมือนกับการเตรียมบ่อเลี้ยงปลาทั่วๆไป ดังนี้

1. ตากบ่อให้แห้ง

2. ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน ในอัตราประมาณ 60 – 100 กิโลกรัม / ไร่ ทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน

3. ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติสำหรับลูกปลา ในอัตราประมาณ 40 – 80 กิโลกรัม/ไร่

4. สูบน้ำเข้าบ่อโดยกรองน้ำเพื่อไม่ให้ศัตรูของลูกปลาติดเข้ามากับน้ำ จนกระทั่งมีระดับน้ำลึก 30–40 เซนติเมตร ระยะไว้ 1 – 2 วันจึงปล่อยลูกปลา ลูกปลาจะได้มีอาหารกินหลังจากที่ได้เตรียมอาหารธรรมชาติในบ่อ (ข้อ 3) เรียบร้อยแล้ว

5. ก่อนปล่อยลูกปลาลงบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพอุณหภูมิของน้ำ ในภาชนะลำเลียงและบ่อให้ใกล้เคียงกัน สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยลูกปลาควรเป็นตอนเย็นหรือตอนเช้า

ขั้นตอนการเลี้ยง

ปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อ อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาช่อนเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมเลี้ยงด้วยปลาเป็ด

1. อัตราการปล่อยปลา ลูกปลาขนาด 8 – 10 เซนติเมตร น้ำหนักตัว 30 – 35 ตัว / กิโลกรัม ควรปล่อยในอัตรา 40-50 ตัว/ตารางเมตร และเพื่อป้องกันโรคซึ่งอาจจะติดมากับลูกปลา ให้ใช้น้ำยาฟอร์มาลินใส่ในบ่อเลี้ยงอัตราความเข้มข้นประมาณ 30 ส่วนในล้าน (3 ลิตร / น้ำ 100 ตัน) ในวันแรกที่จะปล่อยลูกปลาไม่จำเป็นต้องให้อาหาร ควรเริ่มให้อาหารในวันรุ่งขึ้น

2. การให้อาหาร เมื่อปล่อยลูกปลาช่อนลงในบ่อดินแล้ว อาหารที่ให้ในช่วงลูกปลาช่อนมีขนาดเล็ก คือ ปลาเป็ดผสมรำในอัตราส่วน 4 : 1 หรืออัตราส่วนปลาเป็ด 40 เปอร์เซ็นต์ รำ 30 เปอร์เซ็นต์ หัวอาหาร 30 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณอาหารที่ให้ไม่ควรเกิน 4 – 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปลา วางอาหารไว้บนตะแกรงหรือภาชนะแบนลอยไว้ใต้ผิวน้ำ 2 – 3 เซนติเมตร ควรวางไว้หลายๆจุด

3. การถ่ายเทน้ำ ช่วงแรกความลึกของน้ำในบ่อควรอยู่ที่ระดับ 30 – 40 เซนติเมตร แล้วค่อยๆเพิ่มระดับน้ำ สัปดาห์ละ 10 เซนติเมตร จนได้ระดับ 50 เซนติเมตร จึงถ่ายน้ำวันละครั้ง หลังจากอนุบาลลูกปลาในบ่อดินประมาณ 2 เดือน ปลาจะเติบโตไม่เท่ากัน ใช้อวนลากลูกปลาเพื่อคัดขนาด มิฉะนั้นปลาขนาดใหญ่จะกินปลาขนาดเล็ก

4. ผลผลิต หลังจากอนุบาลปลาในช่วง 2 เดือนแล้ว ต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 4 – 5 เดือน จะให้ผลผลิต 1 – 2 ตัว/กิโลกรัม เช่นเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน จะได้ผลผลิตมากกว่า 6,000 กิโลกรัม

5. การจับ เมื่อปลาโตได้ขนาดตลาดต้องการจึงจับจำหน่าย ก่อนจับปลาควรงดอาหาร 1 – 2 วัน

6. การป้องกันโรค โรคของปลาช่อนที่เลี้ยงมักจะเกิดจากปัญหา คุณภาพของน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดี ซึ่งสาเหตุเกิดจากการให้อาหารมากเกินไปจนอาหารเหลือเน่าเสีย เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ โดยการหมั่นสังเกตว่าเมื่อปลาหยุดกินอาหารจะต้องหยุดการให้อาหารทันที
ผลผลิต

ช่วงเวลาในการเลี้ยงปลาช่อนประมาณ 8 – 9 เดือน สำหรับปลาลูกครอก ส่วนปลาช่อนที่เริ่มเลี้ยงจากขนาดปลารุ่น 20 ตัว / กิโลกรัม ถึงขนาดตลาดต้องการ ใช้เวลาเลี้ยงอีก 5 เดือน น้ำหนักจะอยู่ระหว่าง 0.6 – 1.0 กิโลกรัม โดยทั่วไปน้ำหนักปลาที่ตลาดต้องการขนาด 0.5 – 0.7 กิโลกรัม สำหรับอัตราแลกเนื้อประมาณ 5 – 6 : 1 กิโลกรัม ผลผลิต 12 ตัน/ไร่

สำหรับปลาผอมและเติบโตช้า เกษตรกรเลี้ยงปลาช่อนเรียกว่า ปลาดาบ นอกจากนี้น้ำที่ระบายออกจากบ่อปลาช่อน ควรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลาบึก ปลานิล ฯลฯ

การลำเลียง

ใช้ลังไม้รูปสี่เหลียมผืนผ้าภายในกรุสังกะสีกว้าง 58 เซนติเมตร ยาว 94 เซนติเมตร ความสูง 38 เซนติเมตร จุปลาได้ 50 กิโลกรัม สามารถขนส่งโดยรถยนต์บรรจุไปทั่วประเทศ จังหวัดสุพรรณบุรีจัดว่าเป็น

แหล่งเลี้ยงและส่งจำหน่ายปลาช่อนอับดับหนึ่งของประเทศโดยส่งไปยังภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่นๆ สำหรับภาควันออกเฉียงเหนือต้องการปลาน้ำหนัก 300 – 400 กรัม และ 700 – 800 กรัม ส่วนภาคเหนือต้องการปลาน้ำหนักมากกว่า 300 – 400 กรัม และ มากกว่า 500 กรัมขึ้นไป

โรคปลาและการป้องกัน โรคพยาธิและอาการของปลาช่อนส่วนใหญ่ได้แก่

1. โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ แอโรโมนาส โฮโดรฟิลา เฟลคซิแบคเตอร์ คอลัมนาริส และไมโครแบคทีเรียม อาการของโรคโดยทั่วไปที่พบ ได้แก่ ผิวหนังบริเวณเกล็ดเกิดแผลที่มีลักษณะช้ำเป็นจุดแดงๆ สีลำตัวซีดหรือด่างขาว เมือกมากผิดปรกติ เกล็ดหลุด แผลเน่าเปื่อย ว่ายน้ำผิดปรกติ เสียการทรงตัวหรือตะแคงข้าง เอาตัวซุกขอบบ่อ ครีบเปื่อยแหว่งตาฟางหรือตาขุ่นขาว ตาบอด ปลาจะกินอาหารน้อยลง

2. โรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก อาทิ เห็บระฆัง ปลิงใส ฯลฯ พยาธิเห็บระฆังจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง เป็นแผลขนาดเล็กตามผิวตัวและเหงือก การรักษาใช้ฟอร์มาลิน 150-200 ลิตร ต่อน้ำ1,000 ลิตรแช่ประมาณ 24 ชั่วโมง หรือ 25-50 ซีซี. ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ประมาณ 24 ชั่วโมง

3. โรคที่เกิดจากพยาธิภายใน เช่น พยาธิหัวหนาม พบในลำไส้ ลักษณะอาการตัวผอมและกินอาหาร ลดลง การรักษาใช้ยาถ่ายพยาธิ แต่ทางที่ดีควรใช้วิธีป้องกัน

วิธีป้องกันโรค

ในฟาร์มที่มีการจัดการที่ดีจะไม่ค่อยประสบปัญหาปลาเป็นโรคแต่ในฟาร์มที่มีการจัดการไม่ดี ปัญหาปลาเป็นโรคตายมักจะเกิดขึ้นเสมอบางครั้งปลาอาจตายในระหว่างการเลี้ยงสูงถึง 60 –70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับปลาเป็ดที่นำมาใช้เลี้ยงในปัจจุบันคุณภาพมักจะไม่สดเท่าที่ควรและหากมีเศษอาหารเหลือตกค้างในบ่อจะทำให้บ่อเกิดการเน่าเสียเป็นเหตุให้ปลาตาย ดังนั้นจึงควรมีวิธีป้องกันดังนี้ คือ

1. ควรเตรียมบ่อและน้ำตามวิธีการที่เหมาะสมและปลอดภัยก่อนปล่อยลูกปลา

2. ซื้อพันธุ์ปลาที่มีสุขภาพแข็งแรงและปราศจากโรค

3. หมั่นตรวจดูอาการของปลาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเห็นอาการผิดปรกติต้องรีบหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว

4. หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงแล้ว 3 – 4 วัน ควรราดน้ำยาฟอร์มาลิน 2 – 3 ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ

100 ตัน และหากปลาที่เลี้ยงเกิดโรคพยาธิภายนอกให้แก้ไขโดยสาดน้ำยาฟอร์มาลินในอัตรา 4 – 5

ลิตรต่อปริมาณ/ปริมาตรน้ำ 100 ตัน (การใช้น้ำยาฟอร์มาลินควรระวังเรื่องปริมาณออกซิเจนในน้ำ

ถ้าต่ำมากควรมีการให้อากาศด้วย)

5. เปลี่ยนถ่ายน้ำจากระดับพื้นบ่ออย่างสม่ำเสมอ

6. อย่าให้อาหารมากเกินความต้องการของปลา

ปลาช่อนเป็นปลาที่มีรสชาติดีอีกทั้งยัง สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ จึงมีผู้นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทำให้แนวโน้มด้านการตลาดดี สามารถส่งผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

ปัญหาอุปสรรค

1. เนื่องจากปลาช่อนเป็นปลากินเนื้อและกินจุ จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำในช่วงการเลี้ยง

2. ต้นทุนอาหารการเลี้ยงปลาส่วนใหญ่หากใช้ปลาทะเลเป็นหลักซึ่งมีราคาสูงขึ้นก็จะมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตปลาช่อนสูงขึ้นตามไปด้วย
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 7:49 am

การปลูกเมล่อน

1755453_1470196451.jpg
1755453_1470196451.jpg (86.27 KiB) เปิดดู 6549 ครั้ง

(ภาพจากฟาร์มเมล่อนเพื่อชุมชนหนองประดู่ เขาอีโก้ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี)

เมล่อน อยู่ในตระกูล Cucurbitaceae ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งพืชตระกูลแตง”กันเลยทีเดียว เพราะเป็นพืชที่มีรสหวาน กลิ่นหอม อร่อย โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปแอฟริกา
โดยเมล่อนจะสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม
1. C. melon var.cantaloupensis กลุ่ม Cantaloupe โดยสีของเนื้อเป็นสีส้ม เปลือกจะมีลักษณะผิวขรุขระ เป็นร่องยาว มีน้ำหนักประมาณ 1 – 3 กก.
2. C. melon var. recticulatus กลุ่ม Persian melon, musk melon โดยสีของเนื้อเป็นสีส้ม หรือ สีเขียว เปลือกจะมีลักษณะเป็นตาข่ายสานกัน เป็นลายนูน และจะมีขนาดเล็กกว่าแคนตาลูป
3. C. melon car.conomon กลุ่ม oriental picking melon
4. C. melon var.inodorus กลุ่ม winter melon เป็นเมลอนผิวเรียบ
5. C. melon var,flexuosus กลุ่ม snak melon เป็นกลุ่มของแตงไทย ที่เราคุ้นเคยกัน
โดยเมล่อนจัดว่าเป็นพืชที่โตได้ในดินหลากหลายชนิด แต่ด้วยความที่เมล่อนไม่สามารถอยู่ในน้ำขังได้
แต่ต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ สภาพดินที่เหมาะสมเลยเป็นดินร่วนปนทราย เพราะระบายน้ำได้ดี และไม่อมน้ำ
แต่ในเมลอนที่มีอายุมากจะต้องการน้ำที่ลดน้อยลง และค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 6.5 – 7 หรือเป็นกลาง และเหมาะกับสภาพอากาศ โดยรากของเมล่อนจะมีระบบรากแก้วที่อาจลงไปในดินลึกถึง 120ซม. และมีรากอยู่เยอะในแนวนอน ซึ่งอยู่ลึกลงไปในดินประมาณ 30ซม. ไม่ร้อนจนเกินไป อุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 25 – 35 องศาเซลเซียสต้องการแสงแดดที่เพียงพอให้อบอุ่น และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ
การเตรียมดิน
• ดินที่ปลูก ควรเป็นดินร่วนปนทราย
• หลังจากได้ดินแล้ว ก็เริ่มไถหน้าดิน ให้ลึกประมาณ 20-30ซม.
• ตากแดดทิ้งไว้ เพื่อฆ่าเชื้อโรค 13 – 15วัน โดยจำต้องปิดโรงเรือนที่ปลูกให้สนิท
พยายามไม่ให้มีอากาศถ่ายเท เพราะเราต้องการเพิ่มอุณหภูมิให้สูงขึ้น
• หลังจากนั้น ดูค่า pH ที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง 6.5 – 7 ถ้าดินเป็นกรดให้ใส่ปูนขาวช่วย
• ให้ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก และปุ๋ยรองพื้นสูตร 15-15-15 ประมาณ 40-60 กิโลกรัม/ไร่ และทำการไถแปร
• หลังจากนั้นให้พรวนดิน พร้อมกับยกแปลงให้สูงขึ้น 35 ซม. สันแปลงห่างกัน 1.5เมตร
• วางสายน้ำหยด ในลักษณะหงาย ให้น้ำ เพื่อความชุ่มชื่นของดิน
• คลุมด้วยพลาสติก เพื่อรักษาความชื้นให้กับดินและกับวัชพืข พร้อมกับเจาะหลุมปลูกไว้ให้ห่างกันประมาณ
50 x 60 ซม. แต่ถ้าหากดินนั้น เคยปลูกเมล่อนมาหลายครั้งติดต่อกัน ควรทำตามขั้นตอนดังนี้ก่อน

• ควรจะ พักการเพาะปลูกประมาณ 2-4 เดือน
• เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง เช่นพืชตระกูลถั่ว
• ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา พร้อมกับปุ๋ยคอก ในการช่วยปรับปรุงสภาพของดิน

วิธีการเพาะกล้าเมล่อน
1.การบ่มเมล็ด
• การบ่มเมล็ดให้เริ่มเหมือนการบ่มทั่วๆไปคือ แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำผสมอโทนิค (ต้องไม่แช่จนมากเกินปริมาณน้ำ) โดยอัตราส่วนคือ น้ำ1ลิตรกับอโทนิค 1 cc. แช่เมล็ด20นาที
• เมื่อแช่จนครบกำหนดเวลาแล้ว ให้วางบนผ้าขาวบาง หรือกระดาษเพาะกล้า
• นำถุพลาสติกมาห่ออีกครั้งและเก็บไว้ในที่มิดชิด และอยู่ในอุณหภูมิประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส ใช้เวลา1วัน

2. เพาะกล้า
• นำดินใส่ลงไปในถาดเพาะกล้า โดยให้วางทำมุม 45องศา ในแนวนอน โหยให้รากแทงลงในดิน ต้องระวังไม่ให้รากอ่อนเสียหาย และกลบด้วยดินเล็กน้อย พร้อมกับรดน้ำให้ชุ่ม
• หลังจากนั้น นำถาดเพาะกล้าไปเก็บในที่ๆมีแสงแดด หรือเก็บโรงเพาะกล้า
• ในระยะ 10-15วัน ต้องรดน้ำให้ชุ่มอยู่ตลอดทุกวัน
3. ย้ายกล้า
• เริ่มย้ายตั้งแต่อายุไม่เกิน 15วัน หรือ เห็นใบแท้ออกมาได้ประมาณ 2ใบ

สิ่งที่ควรทำและต้องระวังในระหว่างย้ายกล้า
1. ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก ต้องรดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มเป็นเวลา 2วัน
2. ควรระวังไม่ให้รากขาดหรือได้รับการกระทบกระเทือนมาก เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี
3. ฉีดยาป้องกันเชื้อรา
4. หากต้องย้าย ไปที่ห่างกันมากๆ เมื่อไปถึง ต้องพักต้นกล้าก่อนอย่างน้อย 1-2วัน
5. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้า คือช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน
6. ความกว้างของหลุมปลูก ควรมรขนาดพอๆกับหลุมถาดเพาะกล้า
7. กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว
การขึ้นยอดและเตรียมค้าง
• ช่วงเวลาที่ควรใช้ในการขึ้นยอดที่สุดคือช่วงเช้า
• การจัดเถาของเมล่อนคือ 1เถา ต่อ เมล่อน 1ต้น และเมื่อเริ่มออกยอด ให้ทำการพันยอดไว้กับ
เชือก พยายามอย่าปล่อยให้ยอดเลื้อย ควรทพอย่างน้อย 2วัน/ครั้ง
การเด็ดแขนง
• หลังย้ายแปลงปลูกเสร็จแล้วประมาณ 9-1วัน ให้เด็ดแขนงข้อที่ 1-8ออก
• ช่วงเวลาที่ควรทำคือช่วงเช้า และควรทำในช่วงที่ขนาดยังไม่ใหญ่ เพราะแผลจะแห้งเร็วกว่า
หลังจากนั้น พ่นกันเชื้อราในตอนเย็น
• การเด็ดแขนงมีส่วนช่วยทำให้ ยอดเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น
ไว้แขนงก่อนผสม และ การตัดแต่งแขนง
• เด็ดยอดแขนงให้เหลือ 2ใบ
• เลี้ยงแขนงข้อ 9-12 เพื่อไว้ผสม เหนือจากข้อ 12 ให้เด็ดแขนงย่อยออก
• ในข้อ 25 ให้เด็ดใบให้เหลือประมาณ 22- 25 ใบ


ผสมเกสร
• ช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่การผสมเกสรคือ ช่วง 7โมง ถึง 10โมง เช้าของวัน
• ให้เลือกผสมดอก 2-3 แขนง/ต้น
• ผสมน้ำกับนูริช อัตราส่วน 15 cc. ต่อน้ำ 20ลิตร โดยพ่นทุกๆ 3วัน เป็นเวลา 2อาทิตย์
• โดยดอกตัวผู้จะอยู่บริเวณข้อบนของลำต้น
• จดบันทึกจำนวนดอกที่ผสม อาจจะหาอะไรพันไว้เพื่อกำหนดวันที่จะเก็บเกี่ยวของแต่ละต้น
การแขวนผล และการคัดเลือก
• ยึดผลกับค้างที่ไว้ใช้ยึดต้นเมล่อน และใช้เชือกคล้องที่ขั้วผล เพื่อรองรับน้ำหนัก
• ให้เลือกผลที่มีรูปทรงไข่ ผลสมบูรณ์, ใหญ่, ไร้รอยขีดข่วน
• ไม่มีโรคและแมลง
• เมื่อคัดได้ลูกที่ดีที่สุดแล้ว ควรตัดที่เหลือทิ้ง ให้เหลือเพียงแค่ ผลเดียวเท่านั้น
• ภายหลังที่ผสมเกสร 18วัน ควรเพิ่มปุ๋ยและน้ำ เพื่อให้ผลเจริญเติบโตได้เต็มที่
• ควรให้ผลได้รับแสงสม่ำเสมอ และอยู่ในที่โปร่ง
การเก็บเกี่ยวและระยะเวลา
• ระยะเวลาจะประมาณ 40-45วัน หลังจากผสมดอกแล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์
และฤดูกาลด้วย
• โดยในช่วงระยะผลเริ่มสุก ความต้องการน้ำของเมล่อนจะลดน้อยลง
• ตาข่ายเริ่มขึ้นนูนเห็นได้ชัด สีเริ่มเขียวเข้ม
• ดูที่ก้นผล ถ้าก้นผลนิ่ม แสดงว่าสุกมากเกินไป
• ต้นต้องไม่มีโรค
• ตรงขั้วของผลจะยกนูนขึ้น
• ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ไม่ควรวางเมล่อนไว้บนพื้น ควรหาภาชนะมาใส่จะดีที่สุด
• ควรเก็บไว้ในที่อุณหภูมิไม่สูงและไม่โดนแดด เพื่อลดการหายใจของตัวเมล่อน
การเก็บรักษา
• ระยะเก็บรักษาจะอยู่ได้ประมาณ 2-3สัปดาห์
• จะต้อง ไม่มีโรค และแมลง ติดมาด้วย
• หลังจากเก็บให้ล้างทำความสะอาด และเก็บในอุณหภูมิประมาณ10 องศาเซลเซียส
โดยไม่เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
1. ก่อนย้ายกล้าลงแปลงปลูก ต้องรดน้ำแปลงปลูกให้ชุ่มเป็นเวลา 2วัน
2. ควรระวังไม่ให้รากขาดหรือได้รับการกระทบกระเทือนมาก เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี
3. ฉีดยาป้องกันเชื้อรา
4. หากต้องย้าย ไปที่ห่างกันมากๆ เมื่อไปถึง ต้องพักต้นกล้าก่อนอย่างน้อย 1-2วัน
5. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายกล้า คือช่วงเย็น เพราะอากาศจะไม่ร้อน
6. ความกว้างของหลุมปลูก ควรมรขนาดพอๆกับหลุมถาดเพาะกล้า
7. กลบดินต้นกล้าเมื่อย้ายเสร็จแล้ว
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 8:00 am

เทคนิคการปลูกเมล่อนแบบไร้สารของโอโซนฟาร์ม จังหวัดเชียงราย

nyatrn5s8o03wPmuTHQ-o_resize.jpg
nyatrn5s8o03wPmuTHQ-o_resize.jpg (77.68 KiB) เปิดดู 6486 ครั้ง


การปลูกเมล่อนแบบไร้สาร โดยใช้วัสดุปลอดเชื้อเป็นวัสดุปลูก คือ ทราย + กาบมะพร้าวสับ อัตรา 1:1 ใช้ถุงขาวขนาด 8 x16 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้นต่อ 1 ถุง ปลูกในโรงเรือนขนาด 5 x 20 เมตร ทั้งหมด 204 ต้นต่อโรงเรือน ระยะห่างระหว่างถุงคือ 50 x 50 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าเป็นการวางถุงปลูกแบบห่าง โดยทางฟาร์มมีวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการให้ใบเมล่อนหนาแน่นเกินไป เพราะนอกจากการสังเคราะห์แสงของพืชที่ไม่เต็มที่ยังก่อให้เกิดปัญหาโรคราน้ำค้างได้ง่ายด้วย

การควบคุมศัตรูพืช เราใช้โรงเรือนและมุ้งกันแมลงควบคุมแมลงศัตรูพืชตัวใหญ่ แต่สำหรับศัตรูพืชขนาดเล็กอาทิเช่นเพลี้ยไฟ เราจะเลือกใช้ชีวภัณฑ์กำจัดแมลง เชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiasna) และสำหรับโรคพืชอาทิเช่นโรคราน้ำค้างและโรคใบไหม้ เราใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา. ( Trichoderma sp. ) ในการควบคุม

บริเวณพื้นของโรงเรือนเราใช้ทรายหยาบปูทางเดินทั้งหมด นอกจากลดปัญหาด้านวัชพืชแล้ว ยังตัดวงจรโรคที่มากับดินได้อย่างดีเลยทีเดียว

สำหรับวิธีการให้ปุ๋ยนั้นทางโอโซนฟาร์มใช้ปุ๋ยไฮโดรโพนิกส์สูตรผสมเอง ที่คิดขึ้นมาใช้กับเมล่อนโดยเฉพาะ โดยจะให้ทางระบบน้ำหยดทุกวัน ช่วงแรกให้วันละ 1 ซีซี/ต้น/วัน หลังจากนั้นช่วงผสมเกสรจะให้อัตรา 2 ซีซี/ต้น/วัน และจะงดการให้ปุ๋ยในช่วง 10 วันก่อนตัดผลผลิต เพื่อไม่ให้ปุ๋ยตกค้างในผลผลิตเลย

ด้านการผลิตนั้นนอกจากเราจะเน้นเรื่องคุณภาพแล้วยังเน้นเรื่องความปลอดภัยอย่างที่สุด ในมาตรฐานที่ว่าเมล่อนทุกลูกในฟาร์มต้องปลอดภัยและสะอาดอย่างแท้จริง โดยทางฟาร์มได้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์กับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูงเชียงราย อย่างเสมอ จนได้รับการรับรอง GAP จากกรมวิชาการเกษตร โดยผลวิเคราะห์ที่ได้รับคือ ไม่พบสารตกค้างใดๆในผลผลิตเลย

จึงทำให้เมล่อนของโอโซนฟาร์มเป็นเมล่อนรสชาติดีเยี่ยม เพราะเรียกได้ว่า กลิ่นและรสชาติดีเยี่ยม ประกอบกับการปลูกไม่ถูกปนเปื้อนโดยสารเคมีทุกชนิด จนได้รับคำชมจากลูกค้าที่ซื้อไปรับประทานว่า “กินเมล่อนของโอโซนฟาร์ม เหมือนกินที่ญี่ปุ่นเลย”
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » เสาร์ 08 เม.ย. 2017 8:10 am

อินทผลัมไทย ปลูกง่ายให้ผลเร็วกว่าต่างประเทศ ฝีมือ ศักดิ์ ลำจวน แม่โจ้ 36

Date-Palm-5.jpg
Date-Palm-5.jpg (71.6 KiB) เปิดดู 6486 ครั้ง


อินทผลัมไทย เป็นผลงานการผสมพันธุ์ที่เป็นฝีมือของเกษตรกรไทย นามว่า คุณศักดิ์ ลำจวน หรือที่ชาวอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ รู้จักในนามของ โกหลัก เป็นศิษย์เก่าเกษตรแม่โจ้ รุ่นที่ 36 และเพื่อเป็นเกียรติแด่สถาบันการศึกษา จึงได้ตั้งชื่อว่า พันธุ์ KL.1. (แม่โจ้ 36) ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จได้สายพันธุ์ที่แน่นอนและคงที่ ได้เคยนำเสนอผลงานในงานพืชสวนโลกราชพฤกษ์ 2549

ผู้เขียนเองได้นำเสนอไปแล้วตั้งแต่ปีนั้น ทำให้มีเกษตรกรให้ความสนใจสั่งซื้อต้นอินทผลัมไทยไปปลูกทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงต่างประเทศที่นิยมบริโภค สั่งซื้อไปปลูกรายละไม่ต่ำกว่าหมื่นไร่ เช่น คูเวต ซาอุดีอาระเบีย โอมาน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะอินทผลัมไทยพันธุ์นี้ ให้ผลผลิตในระยะเวลาเพียง 3 ปี บางพื้นที่ 1-2 ปี เริ่มให้ผล แต่ในต่างประเทศต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี การปลูก ดูแลรักษาเหมือนกับการปลูกปาล์มหรือมะพร้าว โรคแมลงรบกวนน้อย สามารถผลิตแบบพืชปลอดสารพิษ ได้การรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ให้ผลดก รสชาติหวานมัน เนื้อมาก เมล็ดเล็ก รับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก เก็บไว้รับประทานได้นาน เป็นไม้มงคลและไม้ประดับได้สวยงาม มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ย่อยง่าย ลดอาการท้องผูก ป้องกันมะเร็งช่องท้อง มะเร็งลำไส้ รับประทานเพียงครึ่งชั่วโมงจะรู้สึกอิ่มท้อง มีสรรพคุณทางยาคือ ลดเสมหะในลำคอ แก้เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ

จากการติดตามผลการปลูกและการติดต่อสอบถามกลับไปยัง คุณศักดิ์ ลำจวน ทำให้ทราบว่า ก่อนที่เกษตรกรจะสั่งซื้อต้นอินทผลัมไปปลูก จะได้รับคำแนะนำวิธีการปลูก การดูแลรักษา และเกษตรกรบางรายเข้าเยี่ยมชมภายในสวน เกษตรกรหลายรายได้โทรศัพท์ติดต่อสอบถามข้อมูลในเรื่องของการจัดการดูแลรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพราะว่ายังไม่มีเอกสารคำแนะนำวิธีการปลูกต้นอินทผลัม แม้แต่ตำราในต่างประเทศก็ยังไม่มี คงมีแต่การปลูกอินทผลัมที่ใช้ในการจัดสวนเท่านั้น บ้านสวนโกหลักจึงได้รวบรวมวิธีการปลูก ขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษา และขั้นตอนต่างๆ การเก็บเกี่ยว จึงขอแนะนำแก่เกษตรกรที่ปลูกไปแล้วและสนใจที่จะปลูกต้นอินทผลัมไทย ดังนี้

ปีแรก ต้นอินทผลัมใช้ระยะปลูก 8x8 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักและเปลือกถั่วลิสงแห้ง หลังจากปลูกไปแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอดและโตเร็ว โดยใช้ปุ๋ย สูตร 27-5-5 หรือ 15-15-15 ใส่เดือนละ 2 ครั้ง ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 ศอก ในช่วงฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ในปีแรกอาจจะติดผลหรือออกจั่นบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตัวผู้ ปีที่สอง เป็นปีที่จะเริ่มให้ผล ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลค้างคาว มูลไก่ ควรใส่ช่วงต้นฝน เมื่อถึงปลายฤดูฝน ประมาณเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่สะสมอาหาร ควรใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 หากปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก อีกครั้งหนึ่ง แล้วหยุดให้น้ำ อินทผลัมจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนธันวาคม-มีนาคม ระยะที่เริ่มออกดอกควรช่วยในการผสมเกสรเพื่อจะได้ติดผลดก ดีกว่าปล่อยให้ผสมเองตามธรรมชาติที่ต้องอาศัยลมหรือแมลง ช่วงปีที่สาม ปฏิบัติเช่นเดียวกับปีที่สอง ไม่ควรใช้ปุ๋ยเร่งลำต้น แต่เน้นการใช้ปุ๋ยที่สะสมอาหาร สังเกตทรงต้น กิ่งก้านใบ ควรใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงก้านใบและทะลายผลที่มีจำนวนมาก น้ำหนักมาก ทำให้ก้านใบโค้งต่ำติดดินหรือหักได้ง่าย ใช้เชือกหรือยางในรถจักรยานยนต์ผูกก้านใบที่มีทะลายอินทผลัมช่วยรับน้ำหนัก และสามารถโยกไปมาตามกระแสลมได้ สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่จำกัด หรือต้องการปลูกเป็นไม้มงคลที่ให้ผลสีเหลืองทองไว้หน้าบ้าน สามารถปลูกในกระถางหรือเข่งขนาดใหญ่ ก็ให้ผลผลิตได้เช่นกัน

การปฏิบัติดูแลรักษาอินทผลัมทั่วไปคือ บางต้นอาจจะมีหน่อแตกออกด้านข้าง ควรขุดออกทิ้งไป เพราะจะเป็นการแย่งอาหารจากต้นแม่ อาจจะนำไปขยายพันธุ์ก็ได้แต่ต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงนานกว่าต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ด ปุ๋ยที่เหมาะสมกับอินทผลัมคือ ปุ๋ยจากมูลไก่ไข่ เพราะมูลไก่มีธาตุอาหารเสริมที่เหลือจากการให้อาหาร เป็นประโยชน์กับต้นอินทผลัม ศัตรูพืชของอินทผลัมคือ ด้วงมะพร้าว หนู ตุ่น และคน ควรหมั่นตรวจดูแลสวนบ่อยครั้ง ต้นที่อายุมากควรตัดใบแก่ด้านล่างออก คล้ายกับการตัดใบของปาล์มน้ำมันหรือปาล์มประดับ เพื่อไม่ให้เป็นที่วางไข่ของด้วงมะพร้าว ควรใช้สารอินทรีย์ชีวภาพราดบริเวณโคนต้นเพื่อกำจัดไข่ด้วงมะพร้าว หากปลูกในพื้นที่ใกล้กับสวนมะพร้าวหรือมีด้วงมะพร้าวระบาด ควรใช้สารเคมีฟูราดานหว่าน ปีละ 2 ครั้ง การป้องกันหนูขึ้นไปกัดกินผล ควรใช้แผ่นสังกะสี กว้างประมาณ 1 เมตร ล้อมรอบลำต้น และอย่าให้ก้านใบติดกับต้นไม้อื่นที่อยู่ใกล้เคียง ที่หนูสามารถเดินผ่านมายังต้นอินทผลัมได้

วิธีช่วยผสมเกสร เกษตรกรบางรายที่ปลูกอินทผลัมไทยพันธุ์ KL.1 หากพบว่ามีต้นเพศเมียมากจะทำให้ได้ผลผลิตมากด้วย มีต้นเพศผู้น้อยจะเป็นการดี แต่ควรช่วยในการผสมพันธุ์ การช่วยผสมพันธุ์ให้กับต้นเพศเมียนั้น ทำได้ง่าย ด้วยการนำถุงพลาสติคใสคลุมที่ช่อเกสรตัวผู้ เขย่าให้เกสรตัวผู้หล่นลงในถุง เกสรตัวผู้จะมีสีขาวขุ่นคล้ายแป้ง จากนั้นนำมาแบ่งลงในถุงเปล่าอีกหนึ่งใบ ตักเกสรตัวผู้ ประมาณ 1 ช้อนกาแฟ ใส่ในถุงใบใหม่ นำไปครอบที่ช่อเกสรตัวเมีย เขย่าให้ละอองเกสรตัวผู้ฟุ้งกระจายไปติดที่ยอดละอองเกสรตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้ที่เหลือนำไปใช้กับต้นตัวเมียอื่นได้อีกเป็นจำนวนมาก ที่เหลือจึงนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น สามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 1 ปี จากนั้นปล่อยช่อเกสรตัวเมียทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จะเริ่มติดผลเต็มทั้งช่อเกสร แล้วจะกลายเป็นผลที่เต็มทั้งทะลาย ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 100-200 กิโลกรัม ต่อต้น

การเก็บเกี่ยว เมื่อผลเริ่มออกสี ควรห่อช่อผลทั้งทะลายด้วยกระดาษหนาสีน้ำตาล แล้วใช้กระสอบปุ๋ยเก่าห่อทับอีกชั้นหนึ่ง เพื่อจะได้มีรูระบายอากาศ การห่อผลเป็นการป้องกันน้ำฝน นก หนู แมลง และช่วยให้ผลมีสีสวยงามน่ารับประทาน ในสภาพอากาศร้อนจะทำให้ผลสุกเร็ว พื้นที่อากาศเย็นจะสุกช้าลง ผลอินทผลัมจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน ผลผลิตจะทยอยออกเป็นรุ่นๆ บางปีอากาศแปรปรวนจะทำให้ผลผลิตอินทผลัมออกได้ถึง 2 รุ่น การเก็บเกี่ยวเมื่อผลสุกประมาณ 5% ของทะลาย จึงตัดลงมาเก็บไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิประมาณ 8 องศาเซลเซียส ผลจะสุกเองตามธรรมชาติไปเรื่อยๆ บางคนที่บริโภคอินทผลัม มีความเข้าใจว่าผลอินทผลัมต้องผ่านการแปรรูปด้วยการนำไปเชื่อมกับน้ำตาล แต่จากการศึกษาที่บ้านสวนโกหลัก พบว่าผลของอินทผลัมวางไว้ในอากาศปกติ ผลของอินทผลัมจะสุกเองตามธรรมชาติ เนื้อในจะอ่อนนุ่มและหวานมาก วัดความหวานได้ประมาณ 17-18 บริกซ์ ผิวเปลือกนอกของผลเป็นสีใสแยกออกจากเนื้อ หลังจากเก็บผลแล้วไม่ควรนำไปแช่น้ำ เพราะจะทำให้ผลแตก หากต้องการเก็บไว้นานหรือเก็บไว้ขายตลอดทั้งปี ควรเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 0-2 องศาเซียลเซียส ใช้ห้องเย็น ขนาด 4x4 เมตร ต้นทุนประมาณ 300,000 บาท จะทำให้มีผลผลิตอินทผลัมไทยรับประทานและจำหน่ายตลอดทั้งปี ไม่จำเป็นต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ

ผลพลอยได้จากการปลูกอินทผลัม เป็นผลการวิจัยของประเทศตะวันออกกลาง พบว่า กาบเกสรตัวผู้มีกลิ่นหอมเย็นคล้ายกับยาหอมยาดม สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วยกำจัดไขมันในลำไส้ ลดไขมันในเส้นเลือด แต่ที่บ้านสวนโกหลักทดลองสกัดเป็นน้ำด้วยวิธีคล้ายกับการต้มเหล้าแบบพื้นบ้าน แต่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยได้ส่งผลให้สถาบันการศึกษาวิเคราะห์ผล คาดว่าจะทราบผลเร็วๆ นี้

คุณศักดิ์ ลำจวน ได้บอกส่งท้ายว่า ต้นอินทผลัมเป็นพืชประเภทที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่คนละต้นกัน แต่ที่บ้านสวนโกหลักได้พบโดยบังเอิญว่า มีบางต้นที่เพาะเมล็ดแล้วนำไปปลูกกลายเป็นต้นกะเทย ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ต้นอินทผลัมกะเทย ทำให้ได้ต้นอินทผลัมที่มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จะได้สายพันธุ์ที่คงที่ อีกประมาณ 6-7 ปี ได้เป็นอินทผลัมสายพันธุ์ KL.2 ในอนาคต สนใจศึกษาดูงานหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บ้านเลขที่ 37 หมู่ที่ 1 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ 50320 โทรศัพท์ (053) 457-081, (089) 855-9569, (081) 582-4444 หรือ http://www.intapalum.com

โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย บ้านเพียงพอ » อาทิตย์ 09 เม.ย. 2017 2:58 pm

วิธีแก้ปัญหาบ่อน้ำดินลูกรังที่เก็บน้ำไม่อยู่

(1)วิธีแก้ปัญหาบ่อน้ำดินลูกรังที่เก็บน้ำไม่อยู่ไม่สามารถเลี้ยงปลาได้

(2)ใช้ขี้วัว50กก./บ่อ1งานโรยพื้นบ่อทำซ้ำประมาณ4-5 ปีจะสามารถช่วยได้

fr.jpg
fr.jpg (46.79 KiB) เปิดดู 6482 ครั้ง



สำหรับหลายๆ พื้นที่ที่เป็นดินลูกรัง ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ นั้น อาจจะเจอกับปัญหาหลายอย่างเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการ ทำเกษตรแบบผสมผสานที่ต้องใช้น้ำอยู่เป็นประจำ หรือ ไม่ก็ไม่สามารถที่จะทำ การเลี้ยงปลาได้ และอีกหลาย ๆ เรื่องที่ตามมา สำหรับคุณอำนาจ มอญ พันธุ์ เจ้าของศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนบ้านหนองผักแว่น ต.หนอง ผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี นั้น ถือว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา หลัก เพราะคุณอำนาจ ได้ทำการทดลองนำมูลวัวมาใช้ในการรองพืชก้นบ่อสำหรับ เลี้ยงปลา และบ่อกักเก็บน้ำไว้สำหรับการทำเกษตร ซึ่งเดิมทีแล้ว พื้นที่ ดังกล่าว หรือบ่อน้ำของคุณอำนาจนั้น ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เลย เพราะ พื้นที่บริเวณนั้น จะเป็นดินลูกรัง มีการดูดซึมน้ำอย่างรวดเร็ว มา วันนี้ คุณอำนาจสามารถเลี้ยงปลา และนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้อย่าง สบาย ด้วยวิธีการดังนี้



หลังจากที่ทำการขุดบ่อเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการปล่อยน้ำเข้าบ่อให้เต็ม เมื่อปล่อยน้ำได้ในระยะสั้น ๆ (ถ้าเป็นดินลูกรัง) น้ำก็จะแห้ง และในขณะที่บ่อแห้งนั้น ให้นำมูลวัว ประมาณ 3 กระสอบ (กระสอบละ 50 กิโลกรัม) ต่อพื้นที่ประมาณ 1 งาน โรยให้ทั่วก้นบ่อ หลังจากนั้นก็ให้ทำการสูบน้ำเข้าบ่อให้เต็ม โดยครั้งแรกนั้น อาจจะเก็บน้ำไว้ได้ไม่นาน เมื่อบ่อแห้งอีกรอบ ก็ให้นำมูลวัวมาโรยให้ทั่วบ่ออีกรอบ ทำอย่างนี้ประมาณ 4-5 ปี บ่อก็จะกักเก็บน้ำได้นานตลอดทั้งปี แถวยังช่วยให้หน้าดินภายในบ่อดีขึ้นอีกด้วย
ซึ่งวิธีดังกล่าว คุณอำนาจ บอกว่า สามารถกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี จากเดิม ที่ไม่สามารถกักเก็บได้เลย หรือกักเก็บได้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งถือว่า มูลวัวจะช่วยในการเคลือบ หรือรองกันบ่อ ทำให้ก้นบ่อเกิดดินเลน ปกปิดดินทรายที่จะคอยดูดซึมน้ำทำให้คุณอำนาจสามารถใช้บ่อดังกล่าวเลี้ยงปลา ได้ตลอดทั้งปี


ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.สระบุรี
โลกใบเก่าเหงาเหมือนเคย
ภาพประจำตัวสมาชิก
บ้านเพียงพอ
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 136
ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 20 ก.ค. 2008 8:47 am

Re: เทคนิคต่างๆในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์

โพสต์โดย Namfar » เสาร์ 22 เม.ย. 2017 1:00 pm

วิธีการแต่งกลิ่นกล้วย

การเพิ่มมูลค่าของกล้วยด้วยวิธีการแต่งกลิ่นเข้าไป อยากได้กล้วยรสทุเรียน รสสตรอเบอรี่ รสวานิลลา หรือรสสละก็สามารถทำได้ตามใจชอบ

เริ่มจากเมื่อกล้วยออกปลีก็เจาะหรือกรีดลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยมจนถึงไส้ทำให้เกิดแผล จากนั้นนำหัวเชื้อเข้มข้นและกลิ่นต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ในท้องตลาดจำพวกเดียวกับที่ใช้ทำกลิ่นไอศครีม ตกขวดละ ๑๐ กว่าบาท นำมาชุบสำลีแล้วยัดเข้าไปในไส้ต้นกล้วย จากนั้นปิดไส้ต้นกล้วยให้เหมือนเดิม สักสองเดือนกล้วยก็สุกและจะได้กล้วยตามกลิ่นที่ใส่เข้าไป

Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับต่อไป

ย้อนกลับไปยัง บ้านเพียงพอ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 18 ท่าน

cron