พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ข้อมูลความรู้ทั่วไปและการทำบุญ

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:23 am

“สมเด็จพระราชินีฯ” เคยเล่าไว้ว่า ในหลวงทรงรับสั่งกับพระองค์ว่าไม่ให้ยืนค้ำหัวราษฎร ถ้ายิ่งเป็นเวลานาน ต้องให้นั่งลงพูดกับเขา

“พระเจ้าอยู่หัวไม่ยอมให้ไปยืนค้ำหัวพูดกับราษฏร ถ้ายิ่งเป็นเวลานาน ท่านต้องการให้นั่งลงพูดกับเขา ข้าพเจ้าก็คลานรับประชาชนตลอดเลย เป็นกิโลเลย ท่านมาดูหัวเข่าข้าพเจ้าเดี๋ยวนี้สิ ดำปี๋เลย” (พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕)

il_36853.jpg
il_36853.jpg (70.83 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง



ตลอด ๗๐ ปีของการครองราชย์ด้วยทศพิธราชธรรม เป็นที่ประจักษ์แก่ราษฎรไทยว่า ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงงานหนักมาโดยตลอด ท่านเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอย่างแท้จริง ทรงห่วงใยพสกนิกรและลงไปทุกพื้นที่แม้ถิ่นทุรกันดาร เรื่องราวการทรงงานของพระองค์ล้วนถูกถ่ายทอดจากผู้ที่ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

โดยเฉพาะ อ.ปราโมทย์ ไม้กลัด ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาปริญญาโทวิศวกรรมชลประทาน ที่สหรัฐอเมริกา และเป็นคนที่ทำงานถวายพ่อหลวงมากว่า ๒๐ ปี ได้บอกเล่าเรื่องราวประทับใจผ่านหนังสือ "การทรงงานของพ่อในความทรงจำ" โดยตอนหนึ่งระบุว่า...

ขณะที่ในหลวงทรงงาน เพื่อหาที่สร้างฝายทดน้ำ โดยมี อ.ปราโมทย์ ช่วยถือแผนที่ให้พระองค์ ปรากฏว่ามีตัวคุ่นได้กัดที่มือของอาจารย์ แต่อาจารย์ก็ได้เก็บอาการเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าพระพักตร์ แต่อาจารย์คิดว่าพระองค์คงไม่ทรงสังเกตเห็น อาจารย์ก็ได้แต่เอามือถูเพื่อคลายความเจ็บปวดแบบเนียน ๆ

ก่อนจะเสด็จฯ กลับ ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปที่รถยนต์พระที่นั่ง (การเสด็จฯ ครั้งนั้น ทรงขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง) เหมือนทรงค้นหาอะไรบางอย่าง สักพักพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับไปหาอาจารย์ โดยถือหลอดยามาด้วย

"นายช่าง ยื่นมือมาสิ จะทายาให้"

อาจารย์ได้แต่ยืนตะลึง ใจมิกล้าอาจเอื้อมยื่นมือไปให้พระองค์ และไม่คิดว่าจะทรงสังเกตเห็นและมีพระเมตตาใส่พระราชหฤทัยถึงขนาดนี้... พระองค์ทรงทายาให้อาจารย์ พร้อมตรัสว่า...

"ตัวคุ่นมันกัด ถ้าแพ้จะบวม ไม่เป็นไร ทายานี้แล้วเดี๋ยวก็ค่อยยังชั่ว"

แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ แต่ยังคงติดตราตรึงใจไม่รู้ลืม พระองค์ทรงมีพระเมตตา และใส่พระราชหฤทัยกับเจ้าหน้าที่ทุกคน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงต้องทรงงานหนักตลอด ๗๐ ปีนั่นก็เพราะพระองค์ทรงรักและห่วงใยประชาชนของพระองค์ทุกคน

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก N a R a Peace ( น ร า สันติ ), หนังสือ "การทรงงานของพ่อในความทรงจำ" โดยปราโมทย์ ไม้กลัด
ไฟล์แนป
hjyjyrr.jpg
hjyjyrr.jpg (33 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:29 am

รอยพระบาทบนดอยพญาพิภักดิ์ ประทับไว้ครั้งเสด็จฯ พื้นที่สีแดง จ.เชียงราย

picture2.jpg
picture2.jpg (23.14 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


‘รอยพระบาท’ บนดอยพญาพิภักดิ์ อ.เทิง จ.เชียงราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน ประทับลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ เป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕

ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช องค์จอมทัพไทย, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาธินัดดามาตุ ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยือนทหารหาญและราษฎร ณ ฐานปฏิบัติการ ดอยพญาพิภักดิ์ บนดอยยาว เขต อ.เทิง จ.เชียงราย (ปัจจุบันเป็น อ.ขุนตาล) และในวโรกาสอันเป็นมิ่งมหามงคลนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานประทับรอยพระบาทของพระองค์ลงบนแผ่นปูนปลาสเตอร์ที่จัดเตรียมไว้ เพื่อเป็นมิ่งขวัญแก่ทหารกล้าทั้งปวง ประดิษฐานไว้บนดอยพญาพิภักดิ์
ไฟล์แนป
Image (1).jpg
Image (1).jpg (70.56 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:31 am

สายใยแห่งธรรมระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

paragraph__110_289.jpg
paragraph__110_289.jpg (106.16 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ พระสงฆ์องค์แรกในประเทศไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงส่ง และนอกจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระบรมราชินีนาถแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ได้ทรงพระกรุณา เสด็จเยี่ยมหลวงปู่อยู่เนืองๆ

นับแต่โบราณกาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่มีพระคณาจารย์รูปใดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เท่าหลวงปู่แหวน ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ในหลวงท่านเสด็จมากราบหลวงปู่แหวนแต่ละครั้ง ตั้งแต่บ่ายสองโมง จนถึงหนึ่งทุ่มสองทุ่มเป็นประจำ การเสด็จมาวัดดอยแม่ปั๋งแต่ละครั้ง ถือเป็นการส่วนตัวพระองค์เอง

นอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินถึงวัดดอยแม่ปั๋ง เพื่อนมัสการและสนทนาธรรม กับหลวงปู่หลายครั้งหลายครา แล้วยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จัดสร้างสิ่งมงคล โดยใช้รูปของหลวงปู่ นำมาแจกในพระราชพิธีสำคัญ

ข้าราชบริพารผู้หนึ่ง ได้เปิดเผยถึงหลวงปู่กับล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ภายหลังจากที่ข่าวพระองค์ทรงประชวรและประทับที่เชียงใหม่แล้ว หลังจากนั้น ก็เสด็จดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่แหวนได้กราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนหนึ่งว่า

" พระองค์นั้นมัวแต่ห่วงคนอื่น ไม่ห่วงพระองค์เองเลย"

เมื่อได้ฟังหลวงปู่กล่าวเช่นนั้น ล้นเกล้าฯ ทรงพระสรวลด้วยความพอพระทัย

มีข่าวอีกครั้งหนึ่งว่า สมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรและประทับรักษาพระองค์ที่เชียงใหม่นั้น ข้าราชบริพาร ได้นำเฮลิคอบเตอร์มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปที่พระตำหนักเพื่อแผ่พลังจิต ช่วยรักษาอาการประชวรของพระองค์ท่าน

หลวงปู่ท่านปฎิเสธการนิมนต์ และได้บอกว่า “อยู่ที่ไหน ฮาก็ส่งใจไปถึงพระองค์ได้ ก็ส่งไป ทุกวันอยู่แล้ว”

หลวง ปู่แหวน ท่านตั้งสัจจธิษฐานว่า แม้ท่านจะเจ็บป่วยก็ไม่ยอมไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ในช่วงท้ายของชีวิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาราธนา ท่านจึงยอมทำตาม และบอกว่า ในฐานะประชาชน หลวงปู่จึงไม่กล้าขัดพระราชประสงค์ได้

ต่อมาเมื่อหลวงปู่แหวนอาพาธหนัก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านได้อาราธนาให้ หลวงปู่แหวนไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงใหม่ ตึกสุจิณฺโณ ในหลวงท่านได้รับเอาหลวงปู่ไว้เป็นคนไข้ของพระองค์เอง จนในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ หลวงปู่แหวนท่านก็ได้ละขันธ์อย่างสงบนิ่ง ในเวลา ๒๑.๕๓ น.

ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่แหวน ซึ่งตรงกับวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๘ ก็ได้ทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราและพระบรมราชินีนาถ เหมือนกับว่าดินฟ้าถล่มไปทั่วเมืองไทย ในหลวงก็ได้พระราชทานโกศหลวง และรดน้ำอาบศพ ที่สถานพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นก็ได้มี บุคคลทั่วทิศานุทิศ ไปเคารพศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ เป็นครั้งสุดท้าย แล้วก็ได้นำศพของหลวงปู่แหวนมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดดอยแม่ปั๋ง ตามเดิม

สิริอายุหลวงปู่แหวนได้ ๙๙ ปี ในหลวงท่านขออายุหลวงปู่แหวนให้ได้ ๑๒๐ ปี แต่หลวงปู่ก็พูดกับในหลวงว่า เอาเพียง ๙๙ ปี ก็พอเถอะ มันลำบากผู้อยู่ แล้วก็ได้ ๙๙ ปี ตามที่ว่าเอาไว้จริงๆ อันนี้คือพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาแท้จริง ขอให้พวกเราทุกๆ คน จงนำเอาเป็นตัวอย่างเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป ศาสนาของเราจะได้เจริญรุ่งเรืองสืบไป

ที่มา คัดบางตอนมาจาก : หนังสือชีวประวัติหลวงพ่อทวี จิตฺตคุตฺโต
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:40 am

#พระเจ้าแผ่นดินในรอยธรรม!! ผลของการฝึก "สมาธิ" ทำให้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ สามารถทรงงานหนักได้อย่างต่อเนื่อง...โดยไม่มีอาการง่วงหรือเหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย!!

king13.jpg
king13.jpg (35.76 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


"เท่าที่ผมสังเกตเอานะครับ... พระเจ้าอยู่หัวไม่เพียงทรงศึกษาสมาธิแต่อย่างเดียว แต่ได้ทรงนำสมาธิมาใช้ในพระราชกรณียกิจประจำด้วย ในเรื่องนี้เราจะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตามที่โดยปกติแล้ว อย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พระองค์ทรงทำได้ อย่างงานที่ต้องประทับเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันถึง ๒-๓ ชั่วโมง จะทรงปฏิบัติได้อย่างไม่น่าเชื่อ คือไม่ทรงมีอาการเหนื่อยหรือง่วงเลยแม้แต่น้อย ตลอดเวลาที่ผมอยู่ในตำแหน่ง ๑๑ ปี ๑๑ เดือน ผมยังไม่เคยเห็นเลยว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินที่ใดแล้วจะทรงแสดงอาการเหนื่อยจนถึงขนาดนั่งหลับ...ไม่มี แม้จะเป็นการทรงงานทั้งวันก็ตาม ดังเรื่องที่จำได้และจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้"

ทรงขับรถพระที่นั่งเองทั้งขาไปและกลับ...แม้ระยะทางไกลเพียงไหนหรือเวลานานเท่าใด

"คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง

ผมได้เคยตามเสด็จฯ ทั้งในและนอกรถพระที่นั่งมาหลายต่อหลายครั้ง เป็นระยะทางทั้งใกล้และไกล ถนนเรียบบ้าง ขรุขระบ้าง ลุ่มดอนบ้าง ตามสภาพภูมิประเทศ บางครั้งเมื่อเสด็จฯ ถึงที่หมายแล้ว ทรงจอดรถพระที่นั่งและเสด็จฯ ลงไปประกอบพระราชกรณียกิจด้วยความตรากตรำพระวรกาย เช่น พระราชดำเนินเป็นระยะทางไกลและเป็นเวลาหลายชั่วโมง ขากลับนึกว่าจะทรงพักผ่อนพระวรกายและให้นายสารถีทำหน้าที่ขับรถพระที่นั่งถวายก็เปล่า ... กลับทรงขับเองอีกโดยไม่ทรงแสดงพระอาการเหนื่อยหรือง่วง!!

เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯ นั้น พอกลับขึ้นไปบนรถก็ต้องผลัดกันทำหน้าที่และผลัดกันหลับไปในรถเพราะความเหน็ดเหนื่อย!!"

ในหลวงทรงสามารถประทับเก้าอี้ติดต่อกัน ๒-๓ ชั่วโมง และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตถึง ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน

"ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่เคยรับพระราชทานปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์ คงจะเคยตระหนักและอัศจรรย์ใจกันมาแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนั่งอยู่บนพระเก้าอี้ที่ประทับได้เป็นเวลาติดต่อกัน ๒-๓ ชั่วโมง ทรงรับปริญญาบัตรหรือประกาศนียบัตรที่เจ้าหน้าที่ทูลเกล้าฯ ถวาย แล้วพระราชทานให้แก่บัณฑิตเหล่านั้นคนแล้วคนเล่า บางครั้งรวมเป็นจำนวน ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ คน โดยไม่ทรงมีพระกิริยาที่ส่อความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายพระวรกาย และอยู่ในท่าตรงเช่นนั้นจนเสร็จพระราชกรณียกิจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นการพระราชทานปริญญาบัตรเหมือนกัน ผมได้เดินทางไปล่วงหน้าเพื่อดูความเรียบร้อยก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนที่จะมีพิธีรับพระราชทานปริญญาแต่ละครั้งนั้น เขาจะต้องมีการซ้อม จะมีการเกณฑ์เอาอาจารย์มานั่งแทน มีการผลัดเปลี่ยนกัน ๓-๔ คน กว่าการซ้อมจะแล้วเสร็จ และทุกคนก็ต้องบ่นว่าปวดเมื่อยเหมือนกันหมด

ทีนี้มาลองคิดดู ... พอถึงวันพระราชทานจริง ๆ ช่วงเวลาที่ครูบาอาจารย์ต้องผลัดกัน ๓-๔ คน ในเวลาซ้อมนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวเท่านั้น พระราชทานจนเสร็จพระราชกรณียกิจ ไม่ได้เปลี่ยนเลย!!

มิหนำซ้ำ บางครั้งพอกลับจากพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว กลับถึงพระตำหนักสวนจิตรลดาก็ยังเสด็จไปวิ่งบริหารกายอีกด้วย!!"

เรื่องอัศจรรย์ในวันครบรอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส

"วันที่ ๒๘ เมษายน มีความสำคัญอย่างยิ่งอยู่ประการหนึ่งคือ...เป็นวันครบรอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ในวันนั้นนอกจากจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ตามประเพณีแล้ว ตอนค่ำก็มักจะมีงานพระราชทานเลี้ยงอาหารแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และข้าราชบริพารที่ไปเฝ้าฯ ถวายพระพรในโอกาสนี้

ถ้าเป็นขณะที่ประทับอยู่ที่วังไกลกังวล การพระราชทานเลี้ยงก็มักจะจัดที่สนามหญ้าริมทะเล หน้าพระตำหนัก นอกจากโต๊ะเสวยซึ่งใช้มหาดเล็กเชิญพระกระยาหารและนำอาหารไปวางให้ผู้รับพระราชทานจนถึงโต๊ะแล้ว ผู้รับพระราชทานเลี้ยงคนอื่นจะลุกไปตักอาหารเองแบบบุฟเฟต์แล้วยกไปนั่งรับประทานตามโต๊ะต่าง ๆ ที่จัดไว้รอบ ๆ โต๊ะเสวย

สมัยนั้น (พ.ศ. ๒๕๑๓) เป็นธรรมเนียมที่พอเสวยเสร็จ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังเวทีที่จัดเตรียมไว้ แล้วทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีสมัครเล่นวง อ.ส. (ย่อมาจาก 'อัมพรสถาน' ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งอัมพรสถานในพระราชวังดุสิต) พระราชทานแก่ผู้ที่ไปเฝ้าฯ รับพระราชทานเลี้ยงในงานนั้น โดยเริ่มทรงดนตรีเมื่อเวลาประมาณ ๒๑ นาฬิกา และครั้งหนึ่งประทับอยู่บนเวทีโดยไม่ทรงลุกหรือเสด็จฯ ลงไปที่ไหนเลย จนกระทั่งพระอาทิตย์ขึ้น ระหว่างนั้น นักดนตรีของ อ.ส. ได้ผลัดกันถวายบังคมแล้วถอยออกไปเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนอิริยาบถกันเป็นครั้งคราว

ครั้งนั้นจำได้ว่า พอสว่างจึงเสด็จฯ ลุกจากเวที ทรงเป่าแตรนำขบวนนักดนตรีและผู้ที่ยังเหลือเฝ้าฯ อยู่ เดินลงไปยังชายหาดหน้าวังไกลกังวล แล้วประทับบนเรือใบเพื่อทรงเรือใบต่อ!!

ผมจำได้ว่า เมื่อเห็นเหตุการณ์ครั้งแรก ผมมีความวิตกกังวลอย่างยิ่งในพระอนามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจนถึงกับต้องปรารภกับ พล.ท. ม.จ.จินดา สนิทวงศ์ นายแพทย์ประจำพระองค์ผู้หนึ่ง ว่าประทับอยู่เป็นเวลานานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่ทรงลุกและเสด็จห้องสรงเลยอย่างนั้นจะไม่ทำให้ทรงพระประชวรด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบดอกหรือ ... คุณหมอจินดาได้แต่ยิ้มและเฉยอยู่

ต่อมาเมื่อได้ตามเสด็จฯ และสังเกตเห็นมากและบ่อยขึ้น ผมจึงได้เริ่มรู้ว่า ที่ทรงสามารถอดทนปฏิบัติพระราชกรณียกิจได้เป็นเวลานานติดต่อกันโดยไม่ทรงมีพระอาการเหน็ดเหนื่อยหรือเบื่อหน่ายเลยนั้น...เป็นผลของพระราชสมาธิโดยแท้!!"


เวลาทรงเรือใบหรือวิ่ง... ในหลวงทรงสามารถทำได้เป็นเวลานานโดยที่พระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) ยังคงมีความสม่ำเสมอ

"ผู้ที่เคยเฝ้าฯ ดู หรือตามเสด็จฯ เวลาทรงเรือใบหรือทรงกีฬาอย่างอื่น ย่อมตระหนักด้วยกันทุกคนในพระราชสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว เพราะทรงด้วยความตั้งพระราชหฤทัย เช่นเดียวกับในการประกอบพระราชกรณียกิจอย่างอื่นโดยทั่วไป ... เรือใบนั้นประทับอยู่ได้นานเป็นเวลาหลายชั่วโมง อย่างเมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงแข่งขันเรือใบข้ามอ่าวไทยจากหัวหินไปพัทยา เป็นต้น

เมื่อก่อนนี้โปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง ถ้าเป็นที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานก็ทรงวิ่งในศาลาดุสิดาลัย ครั้งหนึ่ง ๆ เป็นระยะทางประมาณ ๓ กิโลเมตร

เมื่อยังปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชสำนักประจำอยู่นั้น ผมเคยตามเสด็จเป็นประจำเวลาทรงวิ่ง สังเกตเห็นทุกครั้งที่ตามเสด็จฯ ว่าทรงก้าวยาวและพระองค์ลอย พระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) สม่ำเสมอ ในขณะที่พวกเราตามเสด็จฯ ซอยเท้าถี่ยิบเพื่อให้ทัน และหอบกันอย่างไม่อับอาย"



[พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร]

---------------------------------------------------------------------------


ที่มา : หนังสือ "สองธรรมราชา", อัครวัฒน์ โอสถานุเคราะห์
ไฟล์แนป
109841454.jpg
109841454.jpg (80.66 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:48 am

"เราดูสมรักษ์ชกวันนั้น เห็นสมรักษ์ถือรูปเราขึ้นเวที ชูมือ เรานึกว่าเราเป็นคนชกเอง พอสมรักษ์ชกชนะ เราก็เผลอตัวกระโดดโลดเต้นดีใจ จนข้าราชการผู้ใหญ่หัวเราะเรา เราก็เลยรู้สึกอาย เราก็เลยนั่งลง"

somrak1.jpg
somrak1.jpg (60.32 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


ในหลวงรับสั่งต่อสมรักษ์ คำสิงห์ เมื่อครั้งเข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเหรียญทองโอลิมปิก แอตแลนตาเกมส์ ๑๙๙๖

หลังจบการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ๑๙๙๖ ที่เมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา จบลง นายสมรักษ์ คำสิงห์ นักมวยสากลสมัครเล่น และเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้รับเหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

โดยวันนี้นายสมรักษ์ ได้เล่าถึงวินาทีประทับใจ ว่าก่อนเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก มีการซักซ้อมการใช้คำราชาศัพท์นานถึง ๒ ชั่วโมง แต่เมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กลับรู้สึกอบอุ่น พระองค์ท่านมีรับสั่งแบบเป็นกันเอง เหมือนพ่อคุยกับลูก สร้างขวัญกำลังใจเป็นอย่างดี และรับสั่งอีกว่า ให้สมรักษ์ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักกีฬา เยาวชน ประชาชน ทั่วไป

เมื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของไทย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นเหรียญโอลิมปิกเหรียญเดียว ที่พระองค์ท่านทรงเก็บไว้

หลังจากนั้นเมื่อนักกีฬาโอลิมปิกคนอื่นๆ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช จะพระราชทานคืน โดยคล้องคอให้กับนักกีฬาทุกคน
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 10:59 am

เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์

king24-blackwhite.jpg
king24-blackwhite.jpg (41.92 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ เป็นพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานแก่ วงวรรณคดี อันเป็นบันทึกความทรงจำ หลังจากที่ทรง ‘รับ’ คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นสืบสันตติวงศ์ไอศวรรย์สมบัติแล้ว จำต้องเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙

นับถึงวันนี้พระราชนิพนธ์ฉบับนี้มีอายุครบ ๗๐ ปีเต็มบริบูรณ์แล้ว ถือเป็นงานทรงคุณค่าสูงสุดอีกองค์หนึ่งที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้แก่ปวงชนชาวไทย

ในการนี้แพรวขอน้อมอัญเชิญมาเผยแพร่อีกครั้งอย่างครบถ้วนทุกถ้อยความและสะกดตามต้นฉบับ เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้

“วงวรรณคดี” ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียงความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ปรารถนาที่จะสนองความต้องการของ “วงวรรณคดี” อยู่บ้าง และเนื่องด้วยไม่สามารถที่จะเขียนเรื่องที่ข้าพเจ้ารู้บ้าง เช่น ดนตรี ศิลป วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือ กฎหมาย ฯลฯ ได้ เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้ดีพอ ฉะนั้นจึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้ จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุกๆ คนที่มาถวายความจงรักภักดีที่มีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดีที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้นจึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย.

เมื่อไปถึงวัดบวรนิเวศน์วิหารตอนบ่ายวันนี้ มีประชาชนผู้รู้ว่าข้าพเจ้าจะมา มายืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จพระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงให้มารู้จัก โดยปรกติได้เคยเห็นหน้าท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อ พระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคยทรงเล่าประวัติให้ฟังมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา.

ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่า รถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มีอันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอรับกันอยู่วันนี้ จำได้ว่า มีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวัน อังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน.

วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙

เก็บของลงหีบและเตรียมตัว…

วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙

เราจะต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว! อะไรก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม… บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมลาพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆ ให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง.

เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า “ให้เข้ามาซิ” เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไรได้ และยิ่งกว่านั้นยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไปด้วย ข้าพเจ้าก็อยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก… วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนอย่างเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ที่มากันคน ช้าเกินไป…

วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๙
วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว…พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้วเพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์ พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง ๒๐๐ เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถแล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลังปรากฎว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง

รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆ ว่า “อย่าละทิ้งประชาชน” อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ “ทิ้ง” ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ “ละทิ้ง” อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว.

เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ๑๑.๔๕ นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคนซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย.

เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นเหล่าราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหวกลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง ๑๒ นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนครสามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่วถนนทุกสายในพระนคร.

บ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา (ซีลอน) เสียงเครื่องบินสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้นจึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือหลับตาเสียแล้วนิ่งคิด… แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมาเมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่ เพราะเสียงทุกๆ เสียงจากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่มของเครื่องยนต์นั้น หวนกลับไปนึกดูเมื่อ ๙ เดือนที่แล้วมา เรากำลังบินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยียนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง ๗ ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบไม่รู้เรื่องและข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย… เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่ล่วงแล้วมาด้วย… สจ๊วตเข้ามาขัดจังหวะเสีย ทำให้ความคิดที่กำลังเพลิดเพลินจางไปเสียจากสมอง เขานำอาหารกลางวันที่มีรสกลมกล่อมเข้ามาให้ การเดินทางในระยะต่อมาช่างเปล่าเปลี่ยวเสียจริงๆ สิ่งที่มองเห็นในเบื้องหน้าไม่มีอะไรเสียเลย นอกจากท้องทะเลเขียวครามอันแสนลึก นานๆ จะแลเห็นเกาะบ้างเป็นครั้งคราว.

เรามาถึงเมืองเนแกมโบ (Negambo) ใกล้ๆ กับโคลัมโบ เมืองหลวงของเกาะลังกา ภายหลังจากที่ได้บินมาเป็นเวลานานถึง ๘ ชั่วโมงกับ ๑๕ นาที เดี๋ยวนี้ ๑๘.๔๕ นาฬิกาตามเวลาของลังกาแล้ว เมื่อเทียบเวลาที่กรุงเทพฯ ที่นี่ช้ากว่า ๑ ชั่วโมงกับ ๓๐ นาทีพอดี.

ข้าหลวงประจำเกาะลังกาคือ เซอร์ยอห์น เฮาเวิรด (Sir John Howard) ได้เดินทางจากโคลัมโบมาเพื่อต้อนรับเรา ข้าพเจ้าขึ้นนั่งรถยนต์มีท่านข้าหลวงตามมาด้วย ส่วนแม่นั้นไปกับภรรยาของเขา ระยะทางจากสนามบินไปยังจวนข้าหลวงในเมืองโคลัมโบต้องนั่งรถไปราว ๓๐ นาที อันเป็นระยะที่กำลังสบายและมีโอกาสได้ชมภูมิประเทศตามถนน – ตามที่เห็นมาด้วยตาและตามคำบอกเล่าของเซอร์ยอห์น เฮาเวิรด รู้สึกว่าเกาะลังกานี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเมืองไทยเราเสียจริงๆ เป็นเมืองที่อุดมดี และดูก็งามตา ประชาชนก็สุภาพและมีนิสัยดี เหตุที่ทำให้เหมือนมากนี้ข้อสำคัญอยู่ที่นับถือศาสนาร่วมกันกับไทยเรา.

พอมาถึงจวนข้าหลวง ก็ตรงเข้าห้องพัก เป็นห้องกว้างและสบาย ที่นี่ไม่ค่อยร้อนเหมือนเมืองไทย ทั้งไม่มียุงด้วย ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีมุ้ง เราได้พักผ่อนชั่วครู่ภายหลังที่ได้เดินทางมาอย่างเหน็ดเหนื่อย หูยังอื้ออยู่เพราะเสียงเครื่องบิน กินข้าวมื้อเย็นกับข้าหลวง และรู้สึกดีใจเหลือเกินที่ได้หลับนอนตามสบาย เพราะรุ่งเช้าพรุ่งนี้จะต้องบินต่อไปยังเมืองการาจี
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 11:04 am

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

1354255921.jpg
1354255921.jpg (137.48 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา ก่อนที่จะออกเดินทาง เราไปที่วัดในพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมือง เข้าไปในโบสถ์แล้วจุดเทียน (เทียนไขเราดีๆ นี่เอง) เอาดอกไม้ที่ข้าหลวงจัดมาให้บูชาพระ สมภารเจ้าวัดนี้ เป็นคนคนเดียวกันกับที่ได้เคยต้อนรับเราเมื่อคราวมาเที่ยวที่แล้ว ที่วัดนี้เองเมื่อ ๘ ปีมาแล้ว พี่ชายของข้าพเจ้าได้มาปลูกต้นจันทน์… บนแท่นที่บูชายังมีรูปถ่ายเป็นรูปพี่ที่เคยมาด้วยกัน กำลังตั้งท่าปลูกอยู่ทีเดียว สมภารได้นำเราไปยังต้นจันทน์ต้นนั้น คาดว่าจะใหญ่โต แต่ดูไม่เจริญงอกงามเสียเลย สูงยังไม่เกินสองฟุต.

เมื่อออกมาจากวัด มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาคอยเฝ้า บางคนยกมือขึ้นไหว้อย่างไทยๆ เรา บางคนตบมือ บางคนตะโกนออกมาด้วยความพออกพอใจ มาถึงสนามบินเวลาประมาณ ๙.๐๐ นาฬิกา เราลาข้าหลวงและภริยาผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และให้ความเอื้อเฟื้อต่อเราเป็นอย่างดี แล้วขึ้นเครื่องบินจากมา.

การเดินทางเป็นไปอย่างปกติ สจ๊วตนำอาหารมาให้เรากินตามเวลามิได้ขาด บางทีก็ได้รับรายงานจากนักบิน แสดงด้วยแผนที่ ให้เห็นว่า เดี๋ยวนี้เราอยู่ตรงไหน บางทีก็รายงานอากาศที่เราจะต้องประสบในเบื้องหน้า ตลอดจนความเร็ว และระยะสูงของเครื่องบิน ฯลฯ เป็นการเดินทางที่สะดวกและสบายดี…

ในตอนจวนจะถึง อากาศไม่สู้ดีเหมือนที่แล้วมา เพราะมรสุมกำลังตั้งเค้า แต่เรากำลังจะถึงการาจีอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินบินเร็วทำเวลาได้ดีมาก เมื่อบินอยู่เหนือเมือง มองดูรอบๆ ลักษณะเป็นทะเลทรายเราดีๆ นี่เอง ช่างไม่มีชีวิตจิตใจเสียเลย ที่ตั้งเป็นเมืองขึ้นได้ ก็เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ อยู่ในทำเลที่เหมาะ เครื่องบินลงถึงพื้นดินเมื่อเวลา ๑๗ นาฬิกา บินมาได้ ๘ ชั่วโมง มีพวกข้าราชการมาคอยรับอยู่ ขึ้นรถตรงไปศาลาว่าการของรัฐบาลเป็นแขกของข้าหลวงเช่นเดียวกับที่เกาะลังกา.

พรุ่งนี้เราจะต้องบินเป็นระยะทางไกล ฉะนั้นจึงอยากจะนอนแต่หัวค่ำสักหน่อย แต่ว่าต้องกินข้าวกับข้าหลวงและคณะ จำต้องสนทนาปราศรัยถึงเรื่องที่ไม่มีเรื่องเหมือนที่พวกฝรั่งนิยมกัน กว่าจะได้พักผ่อนหลับนอนก็เกือบสองยาม เราเพลียมาก รู้สึกว่าหลับได้อย่างง่ายดาย.

วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙

จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบิน รถวิ่ง ๒๐ นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ- พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ข้างทางและตามประตู พวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ๆ กับที่นอน และเขาทำกันอย่างนี้ ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ในย่านการค้าเช่นนั้น!

ประชาชนพลเมืองเหล่านี้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ขาดวิ่น สีของเสื้อผ้านั้นขาวหรือก็คงต้องเป็นสีขาวมาก่อน ที่มาแลเห็นเป็นสีเทาไปมากกว่าสีขาวนั้น ก็เพราะระคนปนไปกับฝุ่น นอกจากนี้ยังได้เห็นวัวศักดิ์สิทธิ์เดินท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ตามท้องถนนหลวง จะไปไหนมาไหนไม่มีใครกล้าจะขับไล่ ไม่ว่าจะเกิดหิวขึ้นมาเมื่อไร พบร้านขายผัก ก็เดินเข้าไปเลือกกินได้ตามใจชอบ ส่วนเจ้าของร้านนั้น เมื่อวัวเข้าไปก็ถือว่าเป็นมงคล…

ถึงสนามบินเวลา ๘.๓๐ นาฬิกา และออกบินในทันทีที่มาถึง เครื่องบินบ่ายหัวตรงไปสู่ท้องทะเลด้วยอัตราความเร็ว ๓๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท้องฟ้าแจ่มกระจ่าง จนสามารถมองเห็นเรือหาปลาเล็กๆ ในท้องทะเลได้ถนัด ทั้งๆ ที่บินอยู่สูงถึง ๒,๕๐๐ เมตร ข้าพเจ้าชอบเดินไปที่ๆ นักบินขับบ่อยๆ และนั่งลงข้างๆ ตรงที่นั่งของนักบินสำรอง ช่างมีเครื่องบังคับหลายอย่างเสียจริงๆ บังคับปีก บังคับใบพัด เครื่องยนต์ ถังน้ำมัน และอื่นๆ อีกมาก ในตอนต้นๆ ออกจะงงๆ แต่นักบินเป็นคนที่สุภาพมาก ได้พยายามชี้แจงให้เข้าถึงเครื่องทุกๆ ส่วนที่มีอยู่.

ที่ข้อมือนักบิน สังเกตเห็นว่าผูกนาฬิกาไว้ถึงสองเรือน เรือนหนึ่ง ๖ นาฬิกา อีกเรือนหนึ่ง ๔ นาฬิกา แต่ของเราเองเป็น ๙.๓๐ นาฬิกา เขาอธิบายให้เข้าใจว่า ๔ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรีนิช (Greenich) ๖ นาฬิกานั้น เป็นเวลาที่กรุงไคโรที่เรากำลังจะไป และ ๙.๓๐ นาฬิกานั้นเป็นเวลาที่การาจี เราจะไปไคโรจึงเลื่อนเข็มถอยหลังกลับไปสามชั่วโมงครึ่ง.

ราวๆ เที่ยงเราบินอยู่เหนือทะเลทรายอาหรับ มีหลุมอากาศหลายแห่ง ฝรั่งเรียกว่า “bumps” เป็นลมสูงขึ้น เกิดจากความร้อนของทรายจากเบื้องล่างที่ถูกพระอาทิตย์แผดเผา หลุมอากาศเหล่านี้มีอยู่ตลอดทาง กระทั่งผ่านพ้นเขตต์ของทะเลทรายนั้นไป คือราว ๑๔.๓๐ นาฬิกา การผ่านหลุมอากาศวับๆ หวำๆ เช่นนี้ไม่มีความสบายเลย และความไม่สบายใจที่ทวีขึ้นเมื่อพวกประจำเครื่องบินเล่าให้ฟังว่า หากเราจำเป็นต้องร่อนลงยังท้องทะเลทรายนี้แล้ว ออกจะน่าวิตกอยู่มาก ที่ชาวพื้นเมืองเบื้องล่างนี้ มิค่อยจะเป็นมิตรที่ดีของคนแปลกหน้านัก.

ล่วงไปอีกชั่วโมงหนึ่งก็ผ่านคลองสุเอซ กำลังมีเรือแล่นเข้าคลอง มีเรือรบขนาดหนักลำหนึ่งจอดอยู่ที่นั่น ขนาดของเรือลำนี้เห็นจะหนักกว่าเรือศรีอยุธยา ประมาณ ๑๖ เท่า แม้กระนั้นมองดูช่างเล็กเสียเหลือเกิน เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของท้องทะเลและความเวิ้งว้างของทะเลทรายอันมหึมานั้น.

เรามาถึงสนามบินอัลมาซ่า (Almaza) ใกล้ๆ กับกรุงไคโร หลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา ๑๑ ชั่วโมง ๔๕ นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบินด้วยหลุมอากาศ และด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำเอาเรางงไปหมด…

เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่ง และได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญ ในตอนเย็นสมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุคได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร นอกประตูของห้องเรา มีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา.

กรุงไคโรเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสมัยใหม่ แต่เบื้องหลังของตึกเหล่านี้ มีบ้านกระจอกงอกง่อยอยู่เป็นอันมาก บ้านเหล่านี้เป็นที่อยู่ของคนจน เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่และสัตว์อื่นๆ อีกตามถนน รถรางก็เต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดห้อยโหนกันจนไม่มีที่ว่าง และล้วนแต่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าปุปะไม่มีชิ้นดี เป็นผู้ชายทั้งนั้นเกือบไม่มีผู้หญิงปะปนอยู่ด้วยเลย คล้ายๆ กับที่การาจีอยู่มาก ผู้คนหลับอย่างแสนสบายตามสนามหญ้าข้างถนน รถยนต์มีมาก แต่เป็นรถรับจ้างที่ขับกันอย่างเร็วปรื๋อโดยมาก
วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙


คืนนี้สบายดีแท้ ถ้าไม่คำนึงถึงเสียงที่มาจากโรงหนังใกล้ๆ ที่พัก กินอาหารเช้าแล้วก็ออกเดินทางไปสนามบินด้วยรถยนต์ สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค มาส่งและเชิญพระพรให้เดินทางโดยสวัสดีของพระองค์มาประทาน…ข้าพเจ้าตอบขอบพระราชหฤทัยและขอให้นำความไปทูลขอให้ทรงพระเจริญสุข กับขออำนวยพรให้ประชาชนพลเมืองของพระองค์มีความสุขสำราญด้วย

รอบๆ เครื่องบินมีตำรวจอียิปต์รักษาการณ์อยู่อย่างกวดขันยิ่งนัก เวลา ๘.๑๕ นาฬิกา เริ่มออกเดินทาง ต่อมาอีก ๔๐ นาที ก็ผ่านเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองท่าใหญ่ที่สุดของอียิปต์ วันนี้ต้องบินถึง ๙ ชั่วโมง กับ ๕๐ นาที จะถึงกรุงเจนีวาราวๆ ๑๗.๐๕ นาฬิกา.

ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อสามวันที่แล้ว เรายังอยู่เมืองไทย และวันนี้เราจะถึงสวิทเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง ๑๐,๐๐๐ กิโลเมตรกว่า…เวลากว่า ๑๕.๐๐ นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง และช้าไปกว่ากำหนด ๑๕ นาที เมื่อเวลา ๑๖ นาฬิกา ช้ามากขึ้นอีกเป็น ๔๕ นาที เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่างๆ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะซารดิเนียและคอร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ ๑๖.๔๐ นาฬิกา เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้น เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว…จากขอบฟ้าสลัวๆ ที่บดบังด้วยเมฆหมอก แลเห็นเมืองๆ หนึ่งอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เมืองนั้นๆ คือ เมืองเจนีวา อันเป็นที่หมายปลายทางที่เรามาด้วยเครื่องบิน และเราจะต้องจากพวกประจำเรือไป คนประจำเครื่องบินเหล่านี้เป็นคนที่ดีต่อเรามาก ได้ให้เครื่องถมเป็นที่ระลึก บินอยู่รอบเมืองรอบหนึ่งแล้วก็ร่อนลงสู่พื้นดินเมื่อเวลา ๑๗.๕๕ นาฬิกา.

อธิบดีกรมพิธีการแห่งรัฐบาลสวิสได้มารับรองในนามของรัฐบาล และแนะนำให้รู้จักกับบรรดาข้าราชการที่มารับนักเรียนไทย อัครราชทูตไทย และข้าราชการไทยก็พากันมารับด้วย รัฐบาลสวิสจัดรถยนต์ไว้ส่งเราถึงเมืองโลซานซึ่งอยู่ห่างจากเจนีวาไปราว ๖๐ กิโลเมตร.

อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย อธิบดีกรมพิธีการได้เล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่างๆ ที่ผ่านมา โดยคิดว่า ข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจมากเมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้เป็นอย่างดีเพราะอยู่ที่นี่มาถึง ๑๔ ปีเศษแล้ว เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้ แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไป ได้ทราบต่อมาว่า เขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของชาวตะวันออกและพระพุทธศาสนาด้วย.

พอถึง “วิลลาวัฒนา” เขาก็ลากลับ อำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อท่านประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย.

เรากลับถึงโลซานแล้ว…ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเข้าเรียนต่อไป…

(พระปรมาภิไธย) ภูมิพลอดุลยเดช

หมายเหตุ : พระราชนิพนธ์ ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือรายเดือน วงวรรณคดี ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » พฤหัสฯ. 20 ต.ค. 2016 12:39 pm

เรื่องราวดี ๆ จากความ "ไม่โกรธ" พระราชธรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาชาวโลก ที่ทรงใช้แก้สถานการณ์อย่างดีเยี่ยม

Phum1.jpg
Phum1.jpg (41.84 KiB) เปิดดู 17453 ครั้ง


ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๗๐ ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทย นอกจากทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนแล้ว ยังทรงมีจริยวัตรงดงามอันเป็นแบบอย่างแก่ปวงชนทั้งหลายที่สามารถนำมาเป็นแนวทางเดินตามรอยพระบาทของพระองค์ได้

โดยหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เปี่ยมด้วยพระราชธรรมจากความ "ไม่โกรธ" จนเป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลก ก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขณะที่พระองค์เสด็จฯ ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย


ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงถูกท้าทายจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีความคิดรุนแรง ไม่เข้าใจพระองค์และเมืองไทย โดยบ้างก็ถือป้ายที่มีข้อความกล่าวร้ายต่อพระองค์ท่าน บ้างก็ส่งเสียงโห่ปนฮาลบหลู่พระเกียรติ และเกียรติภูมิของชาติไทยอย่างแรง

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งร่วมเสด็จฯ ด้วยในครั้งนั้น ได้ทรงบรรยายภาพไว้ในบทพระราชนิพนธ์ "ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ" ตอนหนึ่ง ระบุว่า

"... ต่อจากนั้นก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องขยายเสียงกลางเวที ยังไม่ทันจะอะไร ก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่มปัญญาชนข้างนอกอีกแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจหวิว ๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่านด้วยความสงสารและเห็นพระทัย ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย แต่แล้วข้าพเจ้านั่นเองแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวทีเห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเองคนที่อยู่ในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหวคล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน

พอเสียงปรบมือเงียบลง คราวนี้ข้าพเจ้ามองขึ้นไปบนเวทีอีกก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับกลุ่มที่ส่งเสียงเอะอะอยู่ข้างนอกอย่างงดงาม และน่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิด ๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อย ๆ แต่พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก

"ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน"

รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันพระองค์มารับสั่งต่อกับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะออกมาดัง ๆ ด้วยความสะใจ เพราะเสียงฮานั้นเงียบลงทันทีราวกับปิดสวิทช์ แล้วตั้งแต่นั้นก็ไม่มีอะไรเลย ทุกคนข้างนอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉยท่าทางดูขบคิด ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสด ๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย

ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของตนเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา 700 ปีกว่ามาแล้ว ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า 700 ปีกว่ามาแล้ว ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิด ๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพ เมื่อตรัสว่า ขอโทษลืมไป ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย

แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนจึงจะตัดสินว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ โดยไม่ใช้เหตุผล ..."

ทั้งนี้ผลจากการแสดงพระอัจฉริยภาพอย่างสูงในสถานการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้ร่วมพิธีต่างเข้ามากราบบังคมทูลสรรเสริญถึงพระราชดำรัสนั้น และสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้น ต่างก็มีอากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บ้างก็มีสีหน้าเฉย ๆ เจื่อน ๆ ดูหลบพระเนตร ไม่มีการมองดูพระองค์อย่างประหลาดอีก แต่บางพวกก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้แก่ทั้งสองพระองค์ตลอดทางจนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่



ที่มา : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภาพ : เฟซบุ๊ก ป๊อกเก้า รักในหลวงและแผ่นดินไทย
ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย pasasiam » ศุกร์ 21 ต.ค. 2016 11:10 am

เรียงความ รางวัลชมเชย เรื่อง “ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี”

เรียงความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี จาก รัฐสภา วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๔๙

________________________________________________


of0omde8zKW49kV1jlv-o.jpg
of0omde8zKW49kV1jlv-o.jpg (167.76 KiB) เปิดดู 13560 ครั้ง


ประเทศไทยเรานั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เราดำรงความเป็นไทยมาจนทุกวันนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถแห่งองค์พระประมุข ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชนชาวไทย นับเป็นระยะเวลา ๖๐ ปีแล้วที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปรียบเสมือนร่มโพร่มไทรให้แก่ปวงชนชาวไทย ยามใดที่ประเทศชาติประสบกับปัญหาไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใด พระองค์จะทรงเป็นผู้คอยแนะแนวทาง ทำให้ปัญหาต่างๆล้วนคลี่คลายไปในทางที่ดี ฉันจำไม่ได้แล้วว่าได้ยินพระของพระองค์ครั้งแรกเมื่อใด แต่เท่าที่รับรู้ขณะนี้คือ พระราชจริยวัตรของพระองค์เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกประทับใจยิ่งนัก


ในความทรงจำที่ข้ามผ่านวันและคืนอันยาวนาน ฉันถือกำเนิดในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร อำเภอที่ฉันอาศัยอยู่มีภูเขาล้อมรอบจนเป็นเหมือนก้นกระทะ มองไปทางใดก็พบแต่ความเขียวขจี ประชากรส่วนใหญ่จะยึดอาชีพชาวนา ซึ่งถือว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ขณะนั้นความเจริญยังเข้าไปไม่ถึง ถนนยังเป็นฝุ่นคลุ้งในยามที่รถจักรยานยนต์วิ่งผ่าน ในยามค่ำคืนยังต้องพึ่งพาแสงสว่างจากตะเกียง ข่าวสารที่ได้รับรู้ก็มาจากวิทยุราคาร้อยกว่าบาท บ้านยังคงเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง ฉันจำได้ว่าใต้หิ้งพระข้างฝาบ้านจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวติดอยู่ ฉันเคยแหงนคอมองดูหลายครั้ง ก็จะได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯประทับอยู่ท่ามกลางราษฎร ที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ พระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรอย่างใกล้ชิด ฉันเคยถามแม่ว่า “ ทำไมในรูปยายคนนั้นจึงต้องร้องไห้ ” ก็ได้รับคำตอบว่า “ ยายเขาคงดีใจ ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมา เพราะตลอดชีวิตอาจจะหาโอกาสอันล้ำค่าเช่นนี้ไม่ได้อีกแล้ว ” แม่บอกว่า “ พระองค์ คือ พระเจ้าแผ่นดิน ” นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้ยินแม่กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แม้จะยังไม่เข้าใจความหมายเท่าใดนัก แต่ฉันก็รู้สึกได้ถึงพระบารมีของพระองค์ในสายตาแม่..ว่ายิ่งใหญ่เพียงใด


ภายใต้ความเขียวขจีของแมกไม้บนดอยสูง ยังมีชาวเขาที่ยังมีความเป็นอยู่อย่างลำบาก ยิ่งในฤดูฝนนั้นไม่สามารถเดินทางลงมาในเมืองได้ เพราะการเดินทางไม่สะดวก และอันตรายอันเกิดจากถนนลื่นและเต็มไปด้วยหุบเหวในสมัยที่ยังเป็นเด็ก ฉันมักจะได้ยินเสมอว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจะเสด็จไปพระราชทานสิ่งของแก่ชาวเขาอย่างสม่ำเสมอ โดยมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จไปด้วย เพื่อรับเอาคนป่วยเป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมภ์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมชาวเขาทางภาคเหนือแล้ว ได้ทอดพระเนตรเห็นการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น จึงมีกระแสพระราชดำรัสที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ด้วยน้ำพระทัยที่เปี่ยมไปด้วยความห่วงใยราษฎร ฉันเชื่อว่าชาวเขาทุกคนล้วนสัมผัสได้ ต่อมาพวกเขาจึงเลิกปลูกฝิ่น แล้วหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นแทน นับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะลดปัญหาด้านยาเสพติดแล้ว ยังทำให้ชาวเขาเลิกการตัดไม้ทำลายป่าอีกด้วย ไม่เพียงแต่ชาวเขาเท่านั้นแต่เป็นพสกนิกรทั้งหมดไม่ว่าภาคใดถิ่นฐานใด ไม่ว่าจะเกิดไฟไหม้ น้ำท่วม พายุใหญ่ หรือวิกฤตการณ์ใดๆ เราคนไทยต่างได้รับพระราชทานพระกรุณาจากพระองค์ตลอดมา ตราบจนถึงวันนี้นานหลายสิบปีแล้ว ที่พระองค์ยังทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแผ่กิ่งก้านสาขาเพื่อให้ความร่มเย็นแก่ปวงประชาราษฎร์


พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ตามที่อับราฮัม ลินคอร์น ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ ประชาธิปไตย คือการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ” พระองค์นั้นทรงกระทำตามแนวคิดนี้โดย ได้มอบอำนาจอธิปไตยให้เป็นของประชาชนโดยแท้จริง แต่ในยามใดที่บ้านเมืองประสบปัญหา พระองค์ก็จะทรงแนะแนวทางการแก้ปัญหาอย่างแยบยล “ เมื่อบ้านต้องมีเสาเอกฉันใด บ้านเมืองย่อมจะต้องมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจฉันนั้น ”


ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ฉันเห็นว่าประเทศไทยมีรากฐานความเป็นประชาธิปไตยมาแต่โบราณ ในสมัยสุโขทัยนั้น “ ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า” แสดงถึงการให้สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ทำให้ฉันคิดเอาเองว่าเป็น “ ประชาธิปไตยแบบพ่อปกครองลูก” จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวไทยจึงได้มีโอกาสอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะราษฎร์ได้ทำการปฏิวัติสำเร็จ จึงนำพาประเทศเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยในปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้อำนาจแก่ประชาชนทุกคน โดยผ่านทางตัวแทนที่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่แบ่งชนชั้น หรือเชื้อชาติ ทรงให้สิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาจากเชื้อชาติใด เมื่อมาอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร พระองค์ก็ทรงถือว่าเป็นคนไทยทั้งสิ้น และแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองพุทธ แต่พระองค์ก็ทรงให้สิทธิ และเสรีภาพในการนับถือศาสนา และให้ความเสมอภาค ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามฯลฯต่างก็มีเสรีภาพในการเลือกนับถือ และปฏิบัติตามหลักคำสอนโดยเท่าเทียมกัน ทรงเป็นตัวอย่างของนักประชาธิปไตยที่ดี ฉันเคยอ่านพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยของพระองค์ว่า



“ ในบ้านเมืองนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครสามารถจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การปกครองบ้านเมืองให้เป็นปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่อยู่ที่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่ การส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ”


การดำเนินชีวิตในวิถีประชาธิปไตยนั้น หากมีผู้นำที่ดีบ้านเมืองก็จะประสบแต่ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง แต่การเลือกสรรคนดีเข้าไปบริหารประเทศนั้น ฉันมีความคิดเห็นว่า ควรให้ความรู้แก่ประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อให้เขาสามารถวิเคราะห์และเลือกสรรคนดีเข้าไปบริหารประเทศได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ดังจะเห็นได้จากโครงการสร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารซึ่งเรียกว่า “ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ ” แม้จะอยู่ในถิ่นห่างไกล และทุรกันดารเพียงใด การศึกษาก็ยังเข้าไปถึง “ พระองค์เปรียบดังดวงอาทิตย์ที่ไม่เลือกว่าเป็นสถานที่แห่งใดก็ให้แสงสว่างและความอบอุ่นแก่ชนทุกผู้ทุกนามเสมอภาคกัน ”นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อเด็กไทย ผู้เป็นอนาคตของชาติ


เมืองไทยเป็นเมืองแห่งธรรมะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของพุทธศาสนิกชน ทรงยึดมั่นในหลักธรรมไม่ว่าจะเป็นทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และละเว้นจากอคติทุกประการทรงได้รับการอบรมจากพระชนนี คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ให้เป็น “ คนดี มีเมตตา กรุณา ” สิ่งที่ฉันได้รับรู้ตลอดมา คือ พระองค์จะทรงตรากตรำทำงานอยู่ตลอดเวลา วันใดที่เปิดดูข่าวในพระราชสำนัก จะเห็นได้ว่าพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรไม่ว่าถิ่นฐานใด ไม่ว่าการเดินทางลำบากยากแค้นเพียงใดก็ตาม พระองค์ไม่ทรงย่อท้อ พระเสโทที่รินไหลแสดงถึงน้ำพระทัยที่แน่วแน่ ที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาราษฎร์ สมดังที่ได้ตั้งพระราชสัตยาธิษฐานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “ เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม ” ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทุกประการ


ในสายตาของฉันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯนับเป็นผู้มีอัจฉริยภาพทางความคิดพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีโครงการอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย โดยเฉพาะโครงการหลวงซึ่งทำให้พระองค์ทรงได้รับรางวัลแม็กไซไซในฐานะองค์กรดีเด่น สาขาส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ฉันเคยไปเยี่ยมชมโครงการหลวงดอยปุย จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาพันธุ์ไม้เมืองหนาว และนำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกเป็นอาชีพต่อไป นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีโครงการตามพระราชดำริอีกหลายโครงการที่ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและชลประทาน เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม พระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งถือเป็นหัวใจของการเกษตรเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตชนชาวไทยในถิ่นทุรกันดารแล้ว ก็ยังถือเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจของเขาเหล่านั้น ว่าท่ามกลางความทุกข์ยาก พระองค์ก็ยังทรงมีน้ำพระทัยห่วงใยเขาอยู่เสมอ


“ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ” เนื้อเพลงกราวกีฬาของท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีประโยคนี้ ช่างแสดงความสามารถของท่านผู้ประพันธ์ได้เป็นอย่างดี เป็นประโยคสั้นๆที่แสดงความหมายได้ชัดเจนอย่างยิ่ง นอกจากกีฬาจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังสามารถลดปัญหาทางสังคมได้อีกด้วย เพราะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์วิธีหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวฯนั้นทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างไม่เป็นรองใคร ดังจะเห็นได้จากที่ทรงเป็นนักกีฬาเหรียญทอง จากการแข่งขันเรือใบในกีฬาเซ้าท์เอเซี่ยนเพนนินซูล่าเกม
ที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนไทย ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่หันไปพึ่งพายาเสพติด หรือเที่ยวเตร่กระทำในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร


สุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกชีวิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงจัดตั้งโครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน เช่น แพทย์หลวงเคลื่อนที่ สำหรับรักษาอาการป่วยของคนไข้ในถิ่นทุรกันการ ทรงเป็นที่พึ่งของผู้พิการพวกเขาเหล่านั้นได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ และทรงพระราชทานพระบรมราโชบายว่า “ เมื่อพวกเขาเหล่านั้นพิการทางกายแล้วก็ไม่ควรพิการทางใจอีก จะต้องให้เขารีบฟื้นฟูทางกายใจ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคม ” พระองค์ทรงมีโครงการตามพระราชประสงค์เพื่อค้นคว้า วิจัย และทดลองส่วนพระองค์ เพื่อศึกษาหาแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ใช้ได้จริง เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป ฉันยังเคยมีความคิดว่า ในวันหนึ่งจะมีสักกี่นาทีที่พระองค์จะทรงผ่อนคลายพระอิริยาบถ ในเมื่อพระองค์ทรงงานหนักถึงเพียงนี้
ไฟล์แนป
kg(1).jpg
kg(1).jpg (102.76 KiB) เปิดดู 13560 ครั้ง
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย pasasiam » ศุกร์ 21 ต.ค. 2016 11:16 am

king24-blackwhite.jpg
king24-blackwhite.jpg (41.92 KiB) เปิดดู 13560 ครั้ง


ก่อนหน้านี้ฉันเคยมีความคิดว่า ผู้ที่เป็นนักวิชาการมักจะไม่มีอ่อนไหวพอที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะได้ แต่เมื่ออ่านพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วจึงพบว่าตนเองนั้นคิดผิดมาตลอด เมื่อพบว่านั้นทรงมีพระปรีชาสามารถทางศิลปะหลายแขนง สังเกตได้จากการที่ทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ ติโต ” และพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งมีคติสอนใจให้มีความเพียรพยายาม และทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงอีกหลายเพลง เช่น เพลงสายฝน ซึ่งเป็นบทเพลงที่ฉันได้ยินครั้งแรกขณะที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษา นับเป็นบทเพลงที่มีความไพเราะ และมีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง


คนไทยทุกคนคงพอจำกันได้ เมื่อหลายปีก่อนประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกต้องประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองนั้นค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาก จนเศรษฐีบางคนถึงกับต้องล้มละลาย ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีพระราชดำริ เรื่อง “ การเกษตรทฤษฎีใหม่”มาเป็นแนวทางช่วยแก้ปัญหา โดยส่วนตัวฉันเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เป็นอย่างยิ่งเพราะถ้าทุกคนพยายามจ่ายให้น้อยกว่ารายรับ และดำรงชีวิตอย่าง “ พออยู่พอกิน ”ทุกคนย่อมหมดปัญหาเรื่องหนี้สิน นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางความคิดของพระองค์ที่ทรงสามารถปลูกจิตสำนึกคนไทยให้ลดความฟุ่มเฟือยลงได้ ด้วยเหตุนี้ฉันจึงมีความภาคภูมิใจยิ่งนักที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย และมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถ ยากที่จะหาผู้ใดจะเสมอเหมือน


ในด้านการปกครองนั้นแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงมอบอำนาจอธิปไตยให้แก่ปวงชนแล้วพระองค์ก็มิได้ทรงละเลย ในยามที่ประเทศชาติประสบปัญหา พระองค์ก็ทรงแก้ไขได้ทันท่วงที ดังจะยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ ซึ่งเหล่าวีรชนผู้มาร่วมเดินขบวนนั้น มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกังวลพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการชุมนุมขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความรุนแรงขึ้น พระองค์ทรงมีพระบรมราโชวาทถึงประชาชนที่มาชุมนุม ฝูงชนเหล่านั้นจึงสลายตัวตามพระราชประสงค์ สิ่งที่น่าสังเกตคือ ทุกคนล้วนพร้อมใจกันทำตามพระราชประสงค์อย่างสงบ ฉันเชื่อว่าทุกคนกระทำตามด้วยความจงรักภักดี และสำนึกในน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับเหตุการณ์ “ พฤษภาทมิฬ”เมื่อวันที่ ๗-๑๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ เมื่อเหตุการณ์เริ่มบานปลาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงใช้พระบารมีคลี่คลายสถานการณ์ที่ตึงเครียด โดยทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ เพื่อเตือนสติให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งสองจึงหันหน้าเข้าหากัน และประชุมหารือเพื่อยุติปัญหา เหตุการณ์ครั้งนี้ช่วยสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ”


ด้านหนึ่งพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงมีพระบารมีปกครองบ้านเมืองอย่างสงบสุข แต่ฉันได้รับรู้ถึงอีกด้านหนึ่งของพระองค์ ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกประทับใจมาก นั่นคือ การที่พระองค์ทรงปฏิบัติตามหน้าที่ของผู้เป็นลูกได้อย่างน่าชื่นชม ฉันได้อ่านหนังสือเรื่อง “พระมหากษัตริย์ยอดกตัญญู” แล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงพระองค์ว่า “ในหลวงได้เสด็จจากวังสวนจิต..ไปวังสระปทุมตอนเย็นทุกวัน เสด็จไปกินข้าวกับแม่สัปดาห์ละ ๕ วัน ทุกครั้งที่ในหลวงไปหาสมเด็จย่า ในหลวงจะต้องเข้าไปกราบที่ตัก แล้วสมเด็จย่าก็จะดึงตัวในหลวงมากอด ” ฉันสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นระหว่างสองพระองค์ได้เป็นอย่างดี“ เป็นความรักบริสุทธิ์ระหว่างแม่กับลูก” จากหนังสือเล่มเดียวกันยังกล่าวอีกว่า“ คราวหนึ่งในหลวงป่วย สมเด็จย่าก็ป่วย ไปอยู่ศิริราชด้วยกัน..อยู่คนละมุมตึก ตอนเช้าในหลวงเปิดประตูออกมา พยาบาลกำลังเข็นรถสมเด็จย่าออกมารับลมอยู่พอดี ในหลวงนั้นพอเห็นแม่ก็รีบออกจากห้องมาแย่งพยาบาล เข็นรถ มหาดเล็กกราบทูลว่า ไม่เป็นไร..มีพยาบาลเข็นให้อยู่แล้ว ในหลวงมีรับสั่งว่า“ แม่ของเรา ทำไมต้องให้คนอื่นเข็น เราเข็นเองได้” เมื่ออ่านถึงตอนนี้ฉันตื้นตันใจยิ่งนัก พระองค์ทรงงานแทบไม่ได้พักผ่อน ทรงปกครองประเทศที่มีประชากรถึง ๖๒ ล้านคน แต่ก็ยังแสดงความกตัญญูต่อสมเด็จย่าได้อย่างไม่มีที่ติ ตัวฉันเองเป็นคนธรรมดาสามัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ถึงเสี้ยวธุลีของพระองค์ แต่ยังไม่สามารถปรนนิบัติและดูแลแม่ได้ถึงเพียงนั้น ไม่ผิดเลยหากจะกล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของลูกที่ดี และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในใจชาวไทยทั้งชาติ

เขียนโดย น้ำฟ้า นามปากกาของ น้ำฝน ทะกลกิจ
______________________________________________________________________
ที่มา หนังสือผลงานเรียงความที่ได้รับรางวัล เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีหัวข้อ " ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี "
ไฟล์แนป
14690865_1285382614847105_1118171484293738891_n.jpg
14690865_1285382614847105_1118171484293738891_n.jpg (20.31 KiB) เปิดดู 13560 ครั้ง
pasasiam
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 153
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:59 pm

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย น้ำฟ้า » จันทร์ 31 ต.ค. 2016 2:51 pm

รวมใจไทยเทิดไท้องค์ราชัน #สรรเสริญพระบารมี

ผู้หญิงธรรมดา..แต่ใจมันด้านชาผู้ชาย
ภาพประจำตัวสมาชิก
น้ำฟ้า
นักเขียนแห่งปี
นักเขียนแห่งปี
 
โพสต์: 886
ลงทะเบียนเมื่อ: ศุกร์ 11 ก.ค. 2008 10:19 am

Re: พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โพสต์โดย Namfar » อาทิตย์ 18 มิ.ย. 2017 1:02 pm

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมราษฎรภาคเหนือ ในปี พ.ศ.๒๕๐๑

312790_265507446823740_540028089_n.jpg
312790_265507446823740_540028089_n.jpg (80.74 KiB) เปิดดู 13358 ครั้ง
Namfar
นักเขียน VIP
นักเขียน VIP
 
โพสต์: 499
ลงทะเบียนเมื่อ: พุธ 20 พ.ย. 2013 5:56 pm

ย้อนกลับ

ย้อนกลับไปยัง ทั่วไป

ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน

cron